คุณพ่อ เรอเน นิโกลาส แปร์โรซ์

 
 
คุณพ่อ เรอเน นิโกลาส แปร์โรซ์
 
René PERRAUX
 
คุณพ่อ เรอเน นิโกลาส แปร์โรซ์ เกิดวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1842 ที่เมืองเซซ์ ในเขตวัดแซงต์ ลอรังต์  คุณพ่อศึกษาระดับมัธยมในบ้านเณรเล็กชื่อแม่พระปฏิสนธินิรมล คุณพ่อเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ ตอนต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 1863 และรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1866  ได้รับมอบหมายให้มามิสซังกรุงสยาม และออกจากกรุงปารีส วันที่ 15 กรกฎาคม ถึงกรุงเทพฯ วันที่ 8 กันยายน ตรงกับวันฉลองแม่พระบังเกิด  คุณพ่อพักอยู่กับประมุขมิสซัง คือ พระสังฆราชดือปองด์ ระยะหนึ่งเพื่อเริ่มเรียนภาษาสยาม
 
สามเขตที่มีมิสชันนารีทำงานอยู่ คือ จันทบุรี แปดริ้ว และบางช้าง คุณพ่อแปร์โรซ์ ถูกส่งไปอยู่ที่บางช้าง เวลานั้นกลุ่มคริสตังที่นั่นเป็นชาวจีนแทบทั้งหมด เราเพิ่งมีความหวังว่าจะมีชาวสยามกลับใจบ้าง
 
พระภิกษุอาวุโสรูปหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าอาวาสโบสถ์ และเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนที่อยู่รอบๆ นั้น เขามีบุญที่ได้รู้จักความจริงในศาสนาคริสตัง เขาแสดงความเชื่อมั่นเมื่อพระหรรษทานของพระเป็นเจ้าส่องสว่างในจิตใจของเรา มากพอๆ กับที่เขาเคยยึดมั่นในพุทธศาสนาและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดทุกประการ เมื่อครั้งที่ยังเป็นพระภิกษุอยู่
 
คำขู่ต่างๆ  ของหัวหน้าพระภิกษุที่เมืองหลวง และของพระเจ้าแผ่นดินเองด้วยก็มิได้ทำให้เขาหวั่นไหวเลย  ในเมื่อเขาตกลงใจแล้วที่จะรับศีลล้างบาป
 
พระเจ้าแผ่นดินทรงมีรับสั่งให้เขามากรุงเทพฯ เขาตอบอย่างที่บรรดามรณสักขีตอบ คือ : พระองค์ท่านมีอำนาจเหนือร่างกายของข้าพเจ้า แต่ไม่มีอำนาจเหนือวิญญาณของข้าพเจ้า
 
เขาถอดจีวรพระภิกษุออก และหลังจากนั้นไม่ช้า เขาก็สวมเสื้อหล่อ เพราะว่าพระสังฆราชดือปองด์ปรารถนาให้เขาอยู่ในเพศบรรพชิต จึงโปรดศีลโกนให้เขา
 
พายุร้ายที่เกิดขึ้นกับคริสตังใหม่ใจกว้างผู้นี้ค่อยๆ สงบลงที่ละเล็กละน้อย แบบอย่างของเขายังดำรงอยู่ บรรดาศิษย์เก่าของเขาซึ่งเคยเชื่อฟังดีเวลาเขาอธิบายหลักพุทธศาสนาให้ฟัง รู้สึกประหลาดใจในการกลับใจของเขา แต่ก็ยังรักใคร่ชอบพอเขาอยู่ ศิษย์พวกนี้ยังเคารพนับถือเขาอยู่ และก็มาเยี่ยมเยียนเขา เขากลายเป็นครูคำสอน และชนะใจหลายคนที่ขอรับศีลล้างบาปด้วยเหมือนกัน และนี่แหละ คือพวกแรกของกลุ่มคริสตังชาวสยามล้วนๆ ปัจจุบัน คุณพ่อเปอตีต์ ปกครองดูแลกลุ่มคริสตังนี้อยู่ เป็นกลุ่มคริสตังวัดเพลง
 
ด้วยประการฉะนี้ พระสังฆราชดือปองด์ จึงมอบหมายให้มิสชันนารีใหม่ไปอยู่เขตบางช้าง คุณพ่อต้องช่วยมิสชันนารีผู้อาวุโสกว่า ปกครองดูแลกลุ่มคริสตังชาวจีนนี้ และก็เปิดโอกาสให้มิสชันนารีอาวุโสเอาใจใส่ดูแลกลุ่มคริสตังที่เกิดจากชาวสยามได้อย่างพิเศษยิ่งขึ้น
 
อีกด้านหนึ่ง ทางเหนือของเขตวัด บนฝั่งแม่น้ำแม่กลอง มีครอบครัวคริสตังหลายครอบครัว ซึ่งกระจัดกระจายกันอยู่ทั้งสองฝั่ง ขอให้มีมิสชันนารีองค์หนึ่งไปดูแลพวกเขา คุณพ่อแปร์โรซ์ จึงถูกส่งไปอยู่กับพวกเขา หลังจากอยู่บางช้างได้หนึ่งปี คุณพ่อไปประจำอยู่ที่หวายเหนียว ณ ที่นั้น มีแต่อาคารไม้ไผ่เรียบๆ ธรรมดาหลังหนึ่งซึ่งใช้เป็นวัด เป็นที่สอนคำสอน และเป็นที่พักของมิสชันนารี ต่อมาภายหลังวัดนี้ก็อยู่ในการปกครองดูแลของคุณพ่อกรางด์ และกลายเป็นวัดสำคัญ  ปัจจุบัน วัดนี้มีคริสตังอยู่  1,200 คน  แต่ในสมัยก่อน วัดนี้ยากจน  แม้จะมีปัญหายุ่งยากต่างๆ นานา คุณพ่อแปร์โรซ์ก็ยังรับคนกลับใจได้มากพอสมควร มีกลุ่มคริสตังเล็กๆ อีกกลุ่มหนึ่งเกิดขึ้นในที่แห่งหนึ่งเรียกว่า สำโรง อยู่ห่างจากหวายเหนียวครึ่งวันเดินทางเรือ มิสชันนารีผู้นี้ทำงานด้วยความกระตือรือร้นอยู่ที่กลุ่มคริสตังใหม่นี้เป็นเวลาสองปี 
 
ปี ค.ศ.1869 คุณพ่อได้รับมอบหมายให้ปกครองดูแลกลุ่มคริสตังที่อยุธยา ซึ่งประกอบด้วยครอบครัวชาวจีนอยู่รวมกันกับครอบครัวชาวญวน ณ ที่นั้น จะเห็นซากปรักหักพังของวัดนักบุญยอแซฟหลังเก่าแก่สมัยก่อนซากปรักหักพังเหล่านี้บาดใจคุณพ่อ สำหรับที่พักนั้น พระคริสตเจ้ามีแต่วัดเล็กๆ หลังหนึ่งที่ตั้งอยู่ทั้งครบในบริเวณพระแท่นของวัดเก่า ตั้งแต่ที่ท่านมาถึง ท่านก็ได้ฝากโครงการอันหนึ่งที่คุณพ่อทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ไว้ในอุปถัมภ์ของท่านนักบุญยอแซฟ เป็นโครงการถวายวัดหลังหนึ่งให้กับผู้อุปถัมภ์อันยิ่งใหญ่ของมิสซังทั้งหลาย  วัดนี้สวยเท่าที่ทุนทรัพย์เล็กน้อยสามารถทำได้ ซากปรักหักพังต่างๆ ที่เหลืออยู่บนพื้นดินนั้น แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคริสตังเก่านั้นคงจะเจริญและมีอำนาจมาก การบุกเข้ามาของพม่าในปี ค.ศ. 1765 ทำลายวัดนี้อย่างสิ้นเชิง
 
ซากปรักหักพังเหล่านี้ยังเป็นเครื่องเตือนใจ ให้ระลึกถึงการริเริ่มแพร่ธรรมไปยังมิสซังต่างๆ ของคณะมิสซังต่างประเทศทั้งคณะในกรุงสยามและภาคตะวันออกไกล บรรดาพระสังฆราชและมิสชันนารีพวกแรกของเรามาถึงที่อยุธยานี้ เพื่อไปประเทศญวนและประเทศจีน สรุปแล้วก็คือ อยุธยาเป็นแหล่งกำเนิดของมิสซังทั้งหมดของเรา
 
กระนั้นก็ตาม โครงการของคุณพ่อแปร์โรซ์มิใช่เป็นการบูรณะวัดเก่านั้นขึ้นมาทั้งครบ เพราะว่าสัดส่วนต่างๆ นั้น กว้างใหญ่มาก เมื่อเทียบกับกลุ่มคริสตังซึ่งอยู่ที่อยุธยาปัจจุบัน คุณพ่อเพียงแต่ต้องการเก็บรักษาอนุสรณ์อันประเสริฐของช่วงเวลาหนึ่งในอดีต ดังนั้น คุณพ่อจึงลงมือก่อสร้าง โดยได้รับความเห็นชอบ และการให้กำลังใจจากอธิการของคุณพ่อ ความกระตือรือร้นของคุณพ่อ และพระพรของท่านนักบุญยอแซฟ ทำให้คุณพ่อได้รับความเห็นอกเห็นใจอย่างอุ่นหนา ฝาคั่ง วันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.1883  พระสังฆราชเวย์ พร้อมด้วยมิสชันนารีจำนวนมาก มาทำพิธีเสกศิลาฤกษ์ของวัดใหม่อย่างสง่างามที่สุดเท่าที่จะสง่าได้ พวกคริสตังหลายพันคน จากวัดต่างๆ ของมิสซัง มาร่วมงานฉลองอันสง่างามนี้ อย่างไรก็ตาม คุณพ่อแปร์โรซ์สามารถทำการก่อสร้างวัดนี้สำเร็จลงได้เพียง 8 ปีให้หลังเท่านั้น
 
วันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1891  วัดนักบุญยอแซฟหลังใหม่ ได้รับการเสกอย่างสง่า ส่วนพระแท่นนั้นได้รับการอภิเษกด้วย
     
แม้คุณพ่อแปร์โรซ์จะวุ่นกับการก่อสร้างวัด แต่ก็มิได้กินเวลาเสียทั้งหมด คุณพ่อได้จัดตั้งกลุ่มคริสตังเพิ่มขึ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่ ดอนพุด ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งในเขตจังหวัดอยุธยา
 
ชาวหมู่บ้านนี้เป็นทาสเชลยศึก เหมือนกับพวกชาวลาวจำนวนมากที่กระจัดกระจายอยู่บนผื่นแผ่นดินสยาม บรรพบุรุษของพวกเขาถูกจับเป็นเชลยมา เมื่อเกิดสงครามกับพระเจ้าแผ่นดินลาวที่คิดขบถกับเจ้าแผ่นดินที่กรุงเทพฯ อนิจจา ช่วงแรกของกลุ่มคริสตังที่ดอนพุดนี้ พบศัตรูที่มีอำนาจจำนวนมาก ชาวลาวพวกนี้ซึ่งเคยตกอยู่ใต้อำนาจเด็ดขาดของบรรดาเจ้านาย บางทีอาศัยการที่กลับใจเป็นคริสตัง จึงอาจพบวิถีทางร้องเรียนเอาชนะการสบประมาทเหลือคณานับที่รับเคราะห์อยู่    ฝ่ายเจ้านายทั้งหลายเมื่อพิจารณาเรื่องนี้ทำให้เห็นว่า อำนาจเด็ดขาดของพวกตนตกอยู่ในอันตราย  จึงลุกฮือขึ้น มีการขู่บังคับชาวลาวทุกคนในเขตใกล้เคียง ผู้ที่กล้าขัดสู้ก็มีจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กลุ่มคริสตังนี้ยังมีจำนวนเพียงแค่ 200 คนเท่านั้น จำนวนพวกเขาคงจะมีมากในปัจจุบันนี้ ถ้างานของพระเป็นเจ้าไม่ประสบกับการต่อต้านมากมายเช่นนั้น
 
คุณพ่อแปร์โรซ์มีส่วนมากเหมือนกัน ในการจัดตั้งกลุ่มคริสตังที่หัวแก่ง (แก่งคอย) ที่ซึ่งคุณพ่อโปรดอมได้รับมอบหมายให้ทำการจัดตั้ง จากที่แห่งนี้ มิสชันนารีผู้กล้าหาญนี้และเพื่อนมิสชันนารีของคุณพ่อ คือ คุณพ่อซาเวียร์ เกโก เป็นพวกแรกที่ไปประกาศข่าวดี ภายใต้การคุ้มครองของ      พระเป็นเจ้า จนถึงใจกลางภูมิภาคอันกว้างใหญ่นี้ ที่ซึ่งเทียบสังฆมณฑลลาวเพิ่งได้รับการจัดตั้งขึ้น
 
ปี ค.ศ. 1893  คุณพ่อแปร์โรซ์เดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อทำการรักษาสุขภาพ เมื่อกลับมากรุงสยาม คุณพ่อก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้สที่นครหลวง  ดังนั้น ในช่วง 33 ปีที่ทำงานแพร่ธรรม  คุณพ่อทำงานช่วงปีหลังๆ อยู่ที่วัดซางตาครู้สซึ่งเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในบางกอก
 
ตั้งแต่ที่คุณพ่อกลับมาจากฝรั่งเศส คุณพ่อทรมานเป็นระยะๆ ด้วยโรคหลอดลมอักเสบซึ่งคุณพ่อไม่เอาใจใส่เลย บางทีคุณพ่อก็ละเลยคำแนะนำให้ทำการรักษาโรคของตนเอง
 
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1899  โรคของคุณพ่อมีอาการทรุดหนักลงอย่างฉับพลัน และถึงแม้นายแพทย์และบรรดาภคินีของโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ จะให้การเอาใจใส่ดูแลเต็มที่แล้วก็ตาม  คุณพ่อยิ่งมีอาการน่าวิตกขึ้น ผู้ป่วยรู้ถึงสภาพของตัวเองดี และเตรียมตัวตายอย่างสมศักดิ์สงฆ์ วันที่ 24 เมษายน ค.ศ.1899 ในขณะที่คุณพ่อนั่งพูดอยู่ที่เตียงกับคริสตังวัดซางตาครู้สที่มาเยี่ยม คุณพ่อรู้สึกเหนื่อยขึ้น จึงเอนตัวลงนอน และหลังจากนั้นเล็กน้อย คุณพ่อก็ถวายวิญญาณคืนแด่พระเป็นเจ้าโดยไม่รู้ตัว
 
ศพของคุณพ่อถูกนำไปฝังที่วัดอยุธยา และฝังไว้ในหลุมที่คุณพ่อเตรียมไว้เอง อยู่กับโครงกระดูกต่างๆ ของบรรดาพระสังฆราชและมิสชันนารีพวกแรกของเราหลายองค์ที่คุณพ่อได้เก็บรวบรวมไว้เวลาสร้างวัดนี้.