คุณพ่อ แปรูดง

 
  
คุณพ่อ แปรูดง
 
Léon PERROUDON
 
คุณพ่อ แปรูดง เกิดในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1878  ที่แขวงลัวร์ สังฆมณฑลลีออง เมื่ออยู่บ้านเณรเล็ก คุณพ่อเรียนเก่งมาก ต่อมาเข้าศึกษาต่อในบ้านเณรใหญ่ของสังฆมณฑลลีออง เป็นเวลา 2 ปี แล้วจึงรับราชการทหารเป็นเวลา 1 ปี 
 
ปี ค.ศ. 1901  คุณพ่อเข้าศึกษาในสามเณราลัยใหญ่ ของคณะมิสซังต่างประเทศที่เมืองเบียเรอ คุณพ่อได้ศึกษาในสามเณราลัยของคณะนี้เป็นเวลา 1 ปี แล้วเรียนเพิ่มเติมอีก 2 ปี ที่กรุงปารีส
 
ปี ค.ศ. 1904  คุณพ่อได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์  ผู้ใหญ่กำหนดให้คุณพ่อไปทำงานแพร่ธรรมในมิสซังลาว ถึงมิสซังแล้ว ได้รับหน้าที่ให้ไปอยู่ที่โคราชนฐานะพ่อปลัดของคุณพ่อแอกส์กอฟอง โคราชเป็นเมืองใหญ่ เป็นชุมทางระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดอุบลราชธานีและอุดรธานี
 
ปี ค.ศ. 1910  คุณพ่อแปรูดง ย้ายมาทำงานในสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ภายใต้การปกครองของพระสังฆราชแปร์รอส ผู้ปกครองสังฆมณฑลสยามได้ 1 ปีแล้ว คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์บ้านเณรเล็กบางช้าง
 
ปี ค.ศ. 1911 คุณพ่อการต็อง ซึ่งขณะนั้น ปกครองวัดนักบุญอันนา ปากน้ำโพ ได้รับแต่งตั้งเป็นเหรัญญิกของมิสซัง พระสังฆราชแปร์รอสจึงแต่งตั้งคุณพ่อแปรูดง ให้เป็นเจ้าอาวาสที่วัดปากน้ำโพ แทนคุณพ่อการต็อง  วัดนี้มีคริสตังไม่นานนัก
 
ปี ค.ศ. 1914  สงครามโลกก็เกิดขึ้นในยุโรป พระสังฆราชแปร์รอส และมิสชันนารีอีกหลายองค์ ซึ่งในจำนวนนี้มี คุณพ่อแปรูดง รวมอยู่ด้วย ถูกเกณฑ์เป็นทหารต้องกลับฝรั่งเศส คุณพ่อแปรูดง เคยเป็นบุรุษพยาบาลที่เมืองมุแลงมาแล้ว เป็นพระสงฆ์ประจำกองทัพที่แวร์เดิง และที่สุดเป็นล่ามภาษาจีน
 
ปี ค.ศ. 1919  สงครามโลกครั้งแรกสิ้นสุดลง คุณพ่อเดินทางมากรุงเทพฯ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญยาก๊อบฟิลิป หัวไผ่ การปกครองหมู่บ้านวัดนี้มีปัญหายุ่งยากมากพอสมควร เนื่องจากวัดนี้มีที่นาจำนวนมาก
 
ปี ค.ศ. 1922 คุณพ่อย้ายไปวัดเพลง แทนคุณพ่อฟูยาต์  ในเวลาต่อมาปี ค.ศ. 1924  คุณพ่อรู้สึกเหน็ดเหนื่อยมาก จึงรับแต่งตั้งเป็นจิตตาธิการภคินีคณะรักไม้กางเขนที่สามเสน แล้วที่คลองเตย ในเมื่อภคินีคณะนี้ย้ายไปอยู่ที่นั่น เมื่อคุณพ่อกอลมเบต์ คุณพ่อเจ้าอาวาสอาสนวิหาร และผู้ตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ คุณพ่อแปรูดง จึงได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสอาสนวิหารอัสสัมชัญในปี ค.ศ. 1934  คุณพ่อประจำอยู่ที่นี่จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ปี ค.ศ. 1934  คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นรองประมุขมิสซังสยามและอุปสังฆราชด้วย
 
ในฐานะที่เป็นเจ้าอาวาสอาสนวิหาร คุณพ่อแปรูดง นอกจากทำงานด้านอภิบาลสัตบุรุษ เช่น สอนคำสอนเด็ก อธิบายคำสอนแก่ผู้ใหญ่ เทศน์ในวันอาทิตย์แล้ว คุณพ่อยังไปเยี่ยมครอบครัวที่อาศัยอยู่บริเวณวัด ฯลฯ นอกนั้น คุณพ่อยังเอาใจใส่ด้านวัตถุ คือ คุณพ่อได้สร้างบ้านพักพระสงฆ์ เป็นอาคาร 3 ชั้น โรงเรียนประจำวัด  ปรับปรุงบ้านพักของภคินีรักไม้กางเขน ซึ่งดูแลวัดอยู่ คุณพ่อจัดการให้โรงเรียนดำเนินไปด้วยดี คุณพ่อคิดถึงงานแพร่ธรรมต่อคนต่างศาสนาด้วย จึงจัดสร้างโรงเรียนขึ้นที่ตรอกจันทน์ เป็นโรงเรียนสำหรับนักเรียนหญิง มอบให้คณะอุร์สุลินดูแล แล้วจึงจัดสร้างโรงเรียนชาย โดยให้คุณพ่อบากอง ซึ่งเป็นพ่อปลัด ช่วยคุมการก่อสร้างโรงเรียนจนเสร็จ คุณพ่อแปรูดงไม่ลืมว่า กลุ่มคริสตชนเกิดขึ้นมิใช่เฉพาะบริเวณโรงเรียนเท่านั้น แต่มีรอบวัดด้วย ดังนั้น ในบริเวณโรงเรียน คุณพ่อจึงสร้างวัดใหญ่ ชื่อวัดนักบุญยอแซฟ  ซึ่งเมื่อคุณพ่อแปรูดงสิ้นใจนั้น วัดนี้ยังสร้างไม่เสร็จ เพราะคุณพ่อยึดหลักว่า ทำเท่าที่มีเงินในตู้เซฟ  แต่ในไม่ช้า การสร้างวัดนี้ก็สำเร็จ เพราะว่าการก่อสร้างได้ดำเนินงานไปมากแล้ว
 
เมื่อคุณพ่ออายุมากขึ้น เดินเหินก็ไม่ค่อยสะดวก คุณพ่อคิดว่าคงไม่สามารถครองวัดที่มีสมาชิกจำนวนมากเช่นนี้ได้โดยไม่เกิดความเสียหาย คุณพ่อจึงขอลาจากหน้าที่เจ้าอาวาสอาสนวิหารอัสสัมชัญ เมื่อปี ค.ศ. 1960  คุณพ่อวิลเลี่ยม ตัน ซึ่งเป็นพ่อปลัด ก็ได้เป็นคุณพ่อเจ้าอาวาสแทน ต่อมาไม่ช้าคุณพ่อแปรูดง ขอลาออกจากหน้าที่รองประมุขและอุปสังฆราช มีคุณพ่อเมอนิเอร์รับหน้าที่แทน
 
คุณพ่อแปรูดงเข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ พออาการดีขึ้น ก็ออกจากโรงพยาบาล แล้วกลับเข้าไปใหม่ คุณพ่อเมอนิเอร์โปรดศีลเจิมสุดท้ายแก่คุณพ่อ คุณพ่อมรณภาพวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1961  ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กรุงเทพฯ