-
Category: หนังสือเก่า
-
Published on Tuesday, 05 June 2018 04:41
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3259
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระเมตตาต่อท่าน ฟ.ฮีแลร์ เป็นอย่างยิ่งด้วยว่าพระองค์ท่านจะทรงตรวจแก้ไขงานที่ ฟ.ฮีแลร์แต่งขณะนั้นคือ หนังสือดรุณศึกษา ด้วยจะใช้เป็นตำราแทนตำรามูลบทบรรพกิจ ครั้นเอาความไปเล่าให้บาทหลวงกอลมเบต์ฟัง ท่านก็เห็นด้วย ครั้นสมเด็จฯ เสด็จมาที่โรงเรียน ท่านบาทหลวงจึงนำเฝ้าและเล่าเรื่องถวายเลยทีเดียว ท่านว่าอายก็อาย ดีใจก็ดีใจ ที่สมเด็จฯ ตรัสเรียกเอาต้นฉบับไปทอดพระเนตร แต่ที่ไหนได้ทรงแก้ไขประทานและตรัสชมเชยมามากเป็นเหตุให้ท่านเกิดกำลังใจ ครั้นตีพิมพ์ออกไปใครต่อใคร ก็ยกย่องสรรเสริญมา ท่านเลยแต่งต่อจนครบ 5 เล่ม
หนังสือดรุณศึกษาเมื่อแรกแต่งมีทั้งหมด 3 เล่ม ได้แก่ ดรุณศึกษาตอน กอ ขอ ดรุณศึกษาตอนกลาง และดรุณศึกษาตอนปลาย กาลต่อมาท่านเห็นว่าดรุณศึกษาตอน กอ ขอ มีขนาดรูปเล่มหนากว่าจะเรียนจบหนังสืออาจจะชำรุดไปมาก ดังนั้น ในการพิมพ์ครั้งที่ 4 จึงได้แบ่งเป็น 2 ตอน กล่าวคือ ตอนที่ 1 ยังคงกล่าวถึง ก ข จนจบแม่ ก กา ตอนอากู๋ และใช้หนังสือดรุณศึกษาตอน กอ ขอ ส่วนตอนที่ 2 เรียกว่า ดรุณศึกษาตอนต้น อีกทั้งท่าน ฟ.ฮีแลร์ ยังได้ปรับปรุงสำนวนภาษาให้เข้าใจง่าย
กลวิธีในการแต่งหนังสือดรุณศึกษา
ในการเรียนภาษาไทยให้ได้ผลเร็ว สามารถอ่านได้รวดเร็วในชั้นประถมนั้น ฟ. ฮีแลร์ ได้คิดแบ่งสระและพยัญชนะออกเป็นตอนๆ ผสมเป็นมาตราขึ้น บทละน้อยๆ ซึ่งนักเรียนจะสามารถเรียนในวันเดียวก็จะเข้าใจได้เป็นบทๆ ไป และเมื่ออ่านจบแล้วนักเรียนก็จะได้ความรู้เรื่อง มาตรา สระ และพยัญชนะเลยทีเดียว ดังตัวอย่างจากหนังสือดรุณศึกษาตอน กอ ขอ
การพิมพ์หนังสือดรุณศึกษาในสมัยของ ฟ.ฮีแลร์ เป็นที่น่าสังเกตได้อีกประการหนึ่งก็คือ ท่านจะพิมพ์คำเป็นคำๆ อย่างภาษาฝรั่ง ดังตัวอย่างข้างต้นนี้ การแยกเป็นคำๆ การใช้เครื่องหมายวรรคตอนอย่างภาษาฝรั่ง ทำให้เหตุผลว่าการเขียนติดๆ กันนั้น เราต้องคิดถอดคำนั้นออกในใจเรา เป็นการเสียเวลาโดยที่เราไม่รู้สึกตัว เราจึงทราบได้อีกว่าท่าน ฟ.ฮีแลร์ นิยมนำเครื่องหมายวรรคตอนมาใช้ในภาษาไทยเราเฉกเช่นภาษาฝรั่ง เช่นเครื่องหมายจุลภาค การใช้เครื่องหมายจุดเมื่อจบประโยคแบบภาษาฝรั่ง ทั้งการวางประธาน กริยา และกรรมในประโยค ท่านก็เลือกที่เขียนให้แยกเป็นคำๆ เป็นส่วนๆ ออกจากกัน เหมือนภาษาฝรั่ง ดังตัวอย่างจากหนังสือดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ
ความโดดเด่นของหนังสือดรุณศึกษาที่ฟ.ฮีแลร์ ได้เพียรพยายามที่จะให้ตำราของท่านเป็นที่น่าสนใจทรงคุณค่าในด้านเนื้อหาและสารัตถะ ดังจะเห็นว่าท่านได้พยายามรวบรวมถ้อยคำ ซึ่งมีทั้งตัวสะกด ตัวการันต์และศัพท์บัญญัติต่างๆ ที่ใช้พูดและนิยมเขียนกันอย่างแพร่หลายในเวลานั้น มารวมไว้เป็นบทๆ พอที่จะให้นักเรียนได้สังเกต และจดจำง่ายเป็นสัดส่วนของบทเรียน ดังจะเห็นได้จากหนังสือดรุณศึกษาตอนกลาง ซึ่งจะมีทั้งเนื้อหาที่เป็นการเขียนการสะกดคำให้ถูกต้อง นอกจากนี้ท่านยังได้ค้นคว้าเรื่องราวนิทานที่เป็นเรื่องจริงบ้าง นิยายสนุกๆ คติธรรมจากศาสนา ตำนานพงศาวดาร มาต่างเป็นเรื่องสั้นๆ พอที่นักเรียนจะสามารถคิดและเข้าใจได้โดยตลอด ประกอบในหนังสือเป็นอีกแผนกหนึ่งของหนังสือดรุณศึกษา ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจโดยไม่เบื่อหน่ายต่อบทเรียน นับเป็นการฉีกแนวตำนาที่มีในสมัยนั้นโดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังมีรูปภาพประกอบ โดยที่ท่านทราบตระหนักชัดว่าเด็กนักเรียนทุกคนย่อมที่จะชอบใจอย่างมาก ที่จะได้ดูรูปของผู้ที่เป็นตัวการสำคัญในนิทานที่นักเรียนกำลังเรียนรู้ เป็นการเข้าใจจิตวิทยาของเด็กนักเรียน ที่ต้องการเห็นภาพมากกว่าที่จะต้องคิดจินตนาการเอง เป็นกลวิธีการนำเสนอตำราเรียนที่น่าสนใจยิ่ง และท่านยังได้เอาใจนักเรียนที่ชื่นชอบกวีนิพนธ์ ท่านจึงได้เลือกโคลงกลอนมาผนวกแถมในตอนท้ายของเรื่องที่อ่าน เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนคุ้นเคยกับวรรณคดีและสำนวนโวหารต่างๆ เหนือไปกว่าเรื่องที่เรียน นักเรียนจะได้คติธรรมสอนใจ ที่ทรงคุณค่าดังที่ท่านได้ตั้งปณิธานในการแต่งตำราจากคำนำของหนังสือดรุณศึกษาตอนกลาง แสดงถึงความมีจิตใจที่ฉายส่งออกมาให้ทุกคนได้ทราบ ดังข้อความที่ว่า
“หากว่าหนังสือ "ดรุณศึกษาตอนกลาง" เล่มนี้ได้เป็นเหตุทำให้นักเรียน บางคนยิ่งชอบเรียนหนังสือไทยและของน่ารู้อื่นๆ มากขึ้น, ทั้งทำให้เขายิ่งนิยมนับถือในสิ่งที่ควรนับถือ เช่น ความประพฤติอันชอบธรรม, ความเลื่อมในศรัทธาในการปฏิบัติพระผู้เป็นเจ้า, ความนบนอบต่อบิดามารดา ครูบาอาจารย์, ความจงรักภักดีต่อชาติ และพระมหากษัตริย์ ฯลฯ เป็นต้นแล้ว ข้าพเจ้าก็จะมีความยินดีอย่างยิ่ง, จะถือว่าหนังสือดรุณศึกษาเล่มนี้มีผลสำเร็จเต็มความประสงค์ของข้าพเจ้าทุกอย่างทุกประการ” และคำนำจากดรุณศึกษาตอนปลาย ความว่า
“ทั้งหวังจะได้เป็นประดุจหนึ่งดวงประทีปย่อมๆ คอยส่งให้เห็นหนทางสัมมนาปฏิบัติบ้าง นักเรียนจะได้หัดประพฤติชอบด้วยกฎหมายบ้านเมืองและกฎหมายของพระผู้เป็นเจ้าที่มีจารึกอยู่ในใจของมนุษย์ทุกผู้คน และซึ่งเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของครูทั้งปวง ควรจะต้องสอนและของนักเรียนควรจะต้องเริ่มฝึกฝนอบรมนิสัยไว้จนชินแต่เล็กๆ โตขึ้นจะได้เป็นพลเมืองและสัปบุรุษที่ดีโดยเกือบไม่รู้ตัวก็ว่าได้”
ดังคำกลอนที่ท่านสอนไว้จากหนังสือดรุณศึกษาตอนปลายดังนี้
เตรียมเสบียง
สิ่งใดบาปหยาบชั่วเร่งกลัวหนี,
สิ่งใดดีเป็นกุศลรีบขวนขวาย
จะได้เป็นเสบียงไปเลี้ยงกาย
ถึงคราวตายบุญคงตามส่งเอย
หนังสือดรุณศึกษากับยุคปัจจุบัน
ในปัจจุบัน ยังปรากฏว่าโรงเรียนหลายแห่งยังคงใช้หนังสือดรุณศึกษากันอย่างแพร่หลาย แม้แต่โรงเรียนรัฐบาลบางแห่งก็ยังใช้เป็นตำราเรียน จึงนับได้ว่าภูมิปัญญาของท่าน เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ ได้รังสรรค์ไว้แก่แผ่นดินแก่วงการศึกษาของไทย ด้วยท่านเป็นผู้มีความคิดริเริ่มใหม่ๆ ก่อให้เกิดความเจริญงอกงามไพบูลย์แก่เยาวชนไทยอย่างไม่มีวันจบสิ้นได้ด้วยเป็นตำราเรียนที่ท่านได้ทุ่มเทแรงกาย สติปัญญาอย่างเต็มกำลังเกือบตลอดชีวิตของการเป็นครู แม้ท่านมิใช่คนไทย แต่ท่านก็ได้ก่อสร้างคุณาประโยชน์แก่ชาติไทยทั้งแก่กุลบุตร กุลธิดาให้เป็นผู้มีการศึกษาที่เต็มเปี่ยมด้วยความรู้ และคุณธรรมของศาสนานั้นๆ ให้สมกับคุณค่าของผู้รับใช้ที่ดีในคริสต์ศาสนาผู้มีความจงรักภักดี เสียสละ และอดทน และหวังเป็นที่สุดคือ การขึ้นไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์
หนังสือดรุณศึกษา จะยังคงใช้เป็นตำราไปตราบนานเท่านานที่ทุกคนยังใคร่ต่อการศึกษาดังดำกล่าวสรรเสริญจากวัชรสมโภช ปี 1901-1976 ปี 2507 ความว่า
"กิจกรรมที่ท่านเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ ได้สร้างไว้ในโรงเรียนอัสสัมชัญ คือ หนังสือแบบเรียนภาษาไทยชื่อ "ดรุณศึกษา" จำนวน 5 เล่ม สอนแต่ชั้นประถมมูล ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ยังใช้กันตราบเท่าทุกวันนี้ แพร่หลายไปทั่วประเทศ แถมคนที่ไปเมืองนอกยังส่งหนังสือดรุณศึกษา จากเมืองไทยไปสอนพวกฝรั่งที่จะเข้ามาเมืองไทยอีก" เช่นนี้นับว่าท่านได้ดำรงไว้ซึ่งภาษาไทยให้เป็นเกียรติยศ ศักดิ์ศรีแก่ประเทศไทย งานชิ้นนี้นับว่าเป็นชิ้นโบว์แดงทีเดียว
ขุมทรัพย์ทางปัญญา
เป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่าวิทยาการความรู้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น มีที่มาประการสำคัญจากการที่ไทยมีสัมพันธภาพกับชนต่างชาติมานับแต่สมัยอยุธยา โดยเฉพาะความเจริญด้านตำรา หนังสือวิชาการ และการศึกษาในระบบใหม่ในประเทศไทย เริ่มต้นช้า เพราะในสังคมไทยการศึกษาและตำราวิชาการนั้นเผยแพร่ในวงแคบในกลุ่มผู้รู้หนังสือ ซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง และถ่ายทอดกันในตระกูลผู้ใกล้ชิด
การเขียนตำราวิชาการเผยแพร่โดยกว้างขวาง สำหรับทุกชนชั้นในประเทศไทย เริ่มโดยชาวตะวันตกในสมัยกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า สังฆราช ลาโน (Louis Laneau) บาทหลวงคาทอลิก ได้ริเริ่มแต่งหนังสือและแปลหนังสือทางศาสนาออกเป็นภาษาไทยหลายเล่ม และมีการจัดพิมพ์ขึ้น ณ โรงพิมพ์หลวง เมืองลพบุรีในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในจำนวนหนังสือที่พิมพ์ขึ้นนี้มีหนังสือไวยกรณ์ และพจนานุกรมภาษาไทยด้วย
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น บทบาทของการศึกษาแผนใหม่ได้รับการพัฒนาเผยแพร่โดยชาวตะวันตกเช่นกัน กล่าวได้ว่าเป็นผลงานของคณะเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นก่อนหน้ารัฐบาลไทยจะดำเนินการหลายปี ดังรายละเอียดที่ได้กล่าวมาแล้วถึงความเป็นมาของโรงเรียนคริสตังต่างๆ ในตอนต้น
ในเวลาเดียวกันกับที่คุณพ่อกอลมเบต์ กำลังทุ่มเทการก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญให้เติบโตรองรับเยาวชนไทยซึ่งต้องการการศึกษามากขึ้นทุกขณะ วัดอัสสัมชัญก็เป็นอีกสถาบันหนึ่ง ซึ่งมีส่วนสนับสนุนประคับประคองวิชาการความรู้แผนใหม่ ให้ปรากฏเป็นตัวอย่างแก่สังคมไทย อาทิ การผลิตเอกสารความรู้ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ศาสนาและความรู้แขนงอื่นๆ สิ่งหนึ่งซึ่งนับได้ว่าก่อประโยชน์มหาศาลแก่คนไทย คือ การจัดทำหนังสือประมวลศัพท์ หรือที่รู้จักกันในระยะหลังว่าปทานุกรม หรือพจนานุกรมนั่นเอง
พจนานุกรม ปทานุกรมไทยในยุคแรกๆ เกิดขึ้นโดยชาวตะวันตกทั้งสิ้น แม้ว่าวัตถุประสงค์ในระยะแรกจะเป็นการรวมคำศัพท์ เพื่อใช้ประโยชน์และเผยแพร่ในหมู่ชาวคริสตังด้วยกัน แต่ระยะต่อมา วัตถุประสงค์ได้ปรับเปลี่ยนไปในการทำประโยชน์แก่สังคมไทยอย่างกว้างขวางมากขึ้น จะเห็นได้ว่าวัดอัสสัมชัญได้จัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้น และผลิตพจนานุกรมที่มีประโยชน์ต่อการศึกษา และการสื่อสารทางภาษาเป็นมรดกความรู้มาจนถึงยุคหลังๆ นับเป็นวัฒนธรรมของการรวบรวม เผยแพร่ความรู้อันเป็นวิทยาทานยิ่งขึ้น เกิดขึ้นเป็นวาระแรกในสังคมไทย
ตัวอย่างผลงานที่ถือกำเนิดจากวัดอัสสัมชัญในยุคแรกๆ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่ พจนานุกรมภาษาลาติน-ไทย พ.ศ.2393 (Dictionarium Latinum Thai (Ad Usum Missionis Siamensis Ex Lypographia Collegii Assumptionis B.W.V. 1850), ศิริพจน์ภาษาไทย ซึ่งเป็นพจนานุกรมไทย-ฝรั่งเศส-อังกฤษ โดย บาทหลวง เวย์ (J.E. Vey) เป็นบรรณาธิการจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2439 เป็นต้น ผลงานเหล่านี้เป็นตัวอย่างของขุมทรัพย์ทางปัญญาในสังคมไทย และเป็นรากฐานของการสร้างตำราเผยแพร่อย่างกว้างขวางตามปรัชญาของการให้ความรู้ เพื่อสร้างคนดีเป็นแบบอย่างที่ดีงาม และเป็นส่วนผลักดันความเจริญในสังคมไทย บาทหลวงและคณาจารย์แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญที่ได้สืบทอดเจตนารมณ์อันดีงามนี้ ก่อประโยชน์ให้กับนักเรียนอัสสัมชัญ และสังคมไทยต่อมาเป็นระยะเวลายาวนาน
เวลากว่าศตวรรษที่ผ่านมา นำพาสังคมไทยก้าวผ่านยุคที่ยิ่งใหญ่ยุคหนึ่ง ซึ่งได้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นยุคของการก่อกำเนิดสิ่งใหม่ๆ ในสังคมไทยที่เป็นความเจริญและพัฒนาการแบบสมัยใหม่ในทุกๆ ด้าน และหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยได้จารึกไว้แล้วว่า โรงเรียนอัสสัมชัญ คือ หลักฐานพยานสำคัญที่แสดงถึงพัฒนาการการศึกษาแบบโรงเรียนที่มีกำเนิดจากความอุตสาหะ วิริยะ ของภราดาคาทอลิกที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์และความเมตตา ผนวกกับการสนับสนุนจากประชาชนไทยหลายฐานะ หลายกลุ่ม ความผสมผสานที่กลมกลืนนี้ ได้สร้างสรรค์คุณธรรมที่ดีงาน บุคลากรที่มีคุณภาพ มรดกวรรณกรรม ตำรา ตลอดจนแบบแผนของกิจกรรม ได้สร้างขึ้นจนได้รับการยกย่องว่าเป็นโรงเรียนที่เป็นผู้นำในทุกๆ ทางที่กล่าวมา.
จาก…หนังสืออัสสัมชัญประวัติ หน้า 128-137