-
Category: ประวัติวัดในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เขต 5
-
Published on Tuesday, 08 December 2015 03:19
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 8523
วัดพระตรีเอกภาพ (วัดหนองหิน)
เลขที่ 27 หมู่ 13 ตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000
โทร. 0-3438-7060 FAX 0-3437-8339
website: www.boscopitak.ac.th
คุณพ่อยอแซฟ ซิน ผู้ริเริ่มบุกเบิกก่อน ค.ศ. 1890
เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกในปี ค.ศ. 1890-1892
วัดหนองหิน เปรียบเสมือนลูกของวัดดอนกระเบื้อง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1840 ที่คุณพ่ออัลบรังด์ ได้มาเทศน์สอนชาวจีน และเปิดวัดให้ชาวจีนที่บางนกแขวก, ดอนกระเบื้องกับที่แห่งอื่นด้วย วัดทั้งหลายของชาวจีนก็ขึ้นอยู่กับวัดกาลหว่าร์ทั้งสิ้น เมื่อคุณพ่ออัลบรังด์ไปเมืองจีนแล้ว คุณพ่อดือปองด์ เจ้าอาวาสองค์ใหม่ จึงเป็นหัวหน้าการแพร่ธรรมในหมู่ชนจีน ทั้งมีการไปเยี่ยมเยียนเสมอ ปี ค.ศ. 1862 พระสังฆราชปัลเลอกัวถึงแก่มรณภาพ และคริสตังชาวจีนก็มากขึ้น คุณพ่อดือปองด์จึงรับหน้าที่เป็นอุปสังฆราชด้วย คุณพ่อทำการแยกวัดบางนกแขวกและดอนกระเบื้องออกจากการปกครองของวัดกาลหว่าร์ และแต่งตั้งคุณพ่อราบาร์แดล ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบางนกแขวก ให้คุณพ่อยอแซฟ ซิน ผู้เพิ่งบวชใหม่ เป็นเจ้าอาวาสวัดดอนกระเบื้อง
คุณพ่อยอแซฟ ซิน องค์นี้ เกิดในเขตวัดใดไม่ปรากฏเหลือหลักฐานเลย ทราบแต่ว่าคุณพ่อเป็นชาวจีน และอุทิศตนเพื่อการแพร่ธรรมในหมู่ชาวจีน คุณพ่อคงเรียนที่บ้านเณรใหญ่อัสสัมชัญและบวชที่นั่นด้วย (เวลานั้นบ้านเณรอัสสัมชัญยังไม่ถูกย้ายไปอยู่ที่บางนกแขวก)
ตอนแรก คุณพ่อยอแซฟ ต้องไปแพร่ธรรมชาวจีนที่ท่าหว้า (กาญจนบุรี) แต่นับว่าไม่เป็นที่พอ เหมาะกับกำลังใจและความขยันของคุณพ่อ คุณพ่อจึงคิดไปตามชนบทที่ห่างไกลออกไปตามหมู่บ้าน ชาวจีนสมัยนั้น ยังไม่มีถนนลาดยาง หรือถนนใหญ่ใดๆ เลย คุณพ่อเดินทางโดยขี่ม้าถึงชนบทต่างๆ ของชาวจีน เช่น บ้านยาง ทุ่งน้อย หนองหิน ฯลฯ
ช่วงบุกเบิกหนองหิน
ห่างจากดอนกระเบื้อง ระยะเวลาขี่ม้าราว 15 กม. ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ก็พบชุมชนจีน คือ หมู่บ้านหนองหิน คุณพ่อยอแซฟซิน เจ้าอาวาสวัดดอนกระเบื้อง มีความสนใจที่จะเผยแพร่ศาสนาแก่ชาวจีนเหล่านี้ คุณพ่อมุ่งที่จำนำพวกเขาให้มาหาพระ ตอนแรกนับว่ายากลำบาก เพราะว่าพวกเขาเป็นเจ้าของสวน เป็นผู้บำรุงรักษาเอง จึงไม่เห็นความจำเป็นอันใด ที่จะละทิ้งความเชื่อดั้งเดิมแต่บรรพบุรุษ เพื่อหันมาปฏิบัติตามพระศาสนาคริสต์ ก่อนที่คุณพ่อยอแซฟ ซิน จะอำลาจากวัดดอนกระเบื้อง เพื่อไปแพร่ธรรมแก่ชาวจีนที่จันทบุรีนั้น คุณพ่อต้องเดินทางมาเยี่ยมที่หนองหินสักกี่ครั้งกี่หน กว่าจะโน้มน้าวบางคน บางครอบครัว ให้กลับใจ และอาศัยความช่วยเหลือจากพระเบื้องบน พวกเขาจึงมีความยินดีรับการโปรดศีลล้างบาป
ศีลล้างบาปแรกเริ่มที่คุณพ่อยอแซฟ ซิน ได้โปรดให้ที่หนองหิน และได้บันทึกในบัญชีศีลล้างบาปของวัดดอนกระเบื้อง กระทำในเดือนกันยายน ค.ศ. 1890 ส่วนก่อนหน้านั้นเคยมีการโปรดศีลล้างบาปแก่ชาวหนองหินที่ดอนกระเบื้อง หรือไม่ ก็ไม่เป็นที่ประจักษ์ เพราะคุณพ่อยอแซฟ ซิน มิได้จดที่อยู่อาศัยของพวกผู้ใหญ่ซึ่งรับการล้างบาปที่ดอนกระเบื้อง
สร้างวัดหลังแรก ปี ค.ศ. 1890
และโปรดศีลล้างบาป ในปี ค.ศ. 1890-1891
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1890 มีการโปรดศีลล้างบาปที่หนองหิน ในวัดน้อยหลักแรก ซึ่งเพิ่งสร้างใหม่ โดยคุณพ่อยอแซฟซิน เป็นวัดอนาถาคล้ายกับบ้านพักของชาวสวน ฝาผนังทำด้วยไม้ไผ่หลังคามุงด้วยใบตาล ด้านหลังพระแท่นมีห้องเล็กๆ สงวนไว้สำหรับพระสงฆ์เพื่อเป็นที่พักแรมได้ วัดน้อยนี้มีประโยชน์มากทั้งต่อคุณพ่อเองและแก่คริสตังใหม่ เช่น คุณพ่อสามารถมาพักอยู่หนองหินได้นานสักพักเพื่อจะได้ทำการอบรมคริสตังใหม่ ให้มีความรู้สึกซึ้งด้านศาสนา และเป็นสถานที่สัตบุรุษใหม่ใช้เป็นที่ร่วมชุมนุมได้ง่ายเพื่อโมทนาคุณพระในวันอาทิตย์กับวันฉลองต่างๆ วัดหลังแรกนี้สร้างติดกับสุสานปัจจุบันของวัดหนองหิน ปีต่อมา คือ ค.ศ. 1891 คุณพ่อยอแซฟชิน มีความยินดี ที่ได้โปรดศีลล้างบาปแก่ผู้ใหญ่หลายคนที่วัดนี้ แต่แล้วอีกไม่กี่เดือนต่อมา คุณพ่อก็ขอย้ายไปจันทบุรี นับจากนั้นคุณพ่อไม่มีโอกาสมาเยี่ยมกลุ่มกลุ่มคริสตชนนี้ ซึ่งคุณพ่อได้ตั้งขึ้นด้วยความยากลำบากเหลือคณา คุณพ่อทิ้งโอกาสขยายกลุ่มคริสตชนนี้ให้เจริญก้าวหน้า ตกเป็นหน้าที่ของผู้แพร่ธรรมคนต่อไป แต่อนิจจา มิได้เป็นไปเช่นนี้ ด้วยเหตุผลหลายประการ เป็นต้นว่า การอยู่ห่างกันของครอบครัวชาวจีน ต่างคนต่างอยู่ในที่ดินของตน ประกอบกับวัดก็ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองด้วย คุณพ่อยอแซฟชินไม่สนใจที่หาทรัพย์สินปัจจัยใดๆ ให้แก่วัดซึ่งคุณพ่อดูแลอยู่ ทั้งมิได้คำนึงถึงอนาคตหรือการใช้จ่ายอันจำเป็นต้องมี ในการบำรุงรักษากลุ่มคริสตชนใหม่นี้
ในปี ค.ศ. 1891 คุณพ่อยอแซฟชิน ซึ่งอายุนั้นก็มากแล้ว และสุดวิสัยที่จะดูแลปกครองเขตวัดของคุณพ่อด้วยดีได้ เนื่องจากว่า นอกเหนือจากวัดดอนกระเบื้อง ก็ยังต้องไปแพร่ธรรมตามกลุ่มคริสตชนใหม่ซึ่งคุณพ่อเองเป็นผู้เปิด คือ กลุ่มบ้านยาง กลุ่มทุ่งน้อย และกลุ่มหนองหิน บางฤดูขี่ม้าไปได้สะดวกแต่หน้าฝนการไปมาแสนลำบาก คุณพ่อจึงขอพระสังฆราชเวย์ ให้กรุณาแต่งตั้งคุณพ่อไปอยู่ที่พอเหมาะกับพลังแรงอันถดถอยลงไปแล้วของคุณพ่อ พระสังฆราชยอมตกลงตามความปรารถนานี้ และส่งคุณพ่อไปแพร่ธรรมแก่ชาวจีนในเขตจันทบุรี
คุณพ่อ ยัง ปิแอร์ ตาร์ดิแวล
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สอง ในปี ค.ศ. 1891-1906
ปลายปี ค.ศ. 1891 เมื่อคุณพ่อยอแซฟซิน ย้ายไปอยู่ที่จันทบุรี จำเป็นต้องหาพระสงฆ์ที่มีสุขภาพแข็งแรง อันดับหนึ่ง เพื่อมาปกครองวัดดอนกระเบื้อง
คุณพ่อ ยัง ปิแอร์ ตาร์ดิแวล มาถึงมิสซังกรุงสยาม วันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1887 คุณพ่อถูกส่งไปอยู่ที่วัดดอนกระเบื้อง เพื่อเรียนภาษาจีนกับคุณพ่อยอแซฟซิน ผู้มีเชื้อสายจีน คุณพ่อตาร์ดิแวล อยู่วัดนี้ได้เพียงไม่กี่เดือนก็ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นปลัดของมิสชันนารีองค์หนึ่ง ที่บางนกแขวก เจ้าอาวาสวัดบางนกแขวกองค์นี้ คงบอกได้ถึงการช่วยเหลือของคุณพ่อตาร์ดิแวล ผู้กระตือรือร้นในการช่วยสร้างวัดหลังใหม่ คุณพ่อตาร์ดิแวลเป็นปลัดที่บางช้าง (บางนกแขวก) จากปี ค.ศ. 1888 ถึง 1891 จึงรับเลือกแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนกระเบื้อง และวัดสาขา
การอภิบาลสัตบุรุษ
คุณพ่อตาร์ดิแวล ใช้พลังแรงแต่เก่าก่อน ที่ยังเหลือทั้งหมด ในเขตวัดใหม่ของคุณพ่อ บ่อยครั้งทีเดียว คุณพ่อต้องขี่ม้าตากกรำแดดตลอดทั้งวัน บางทีต้องลุยน้ำลึกครึ่งตัว และต้องพอใจรับประทานอะไรก็ได้ที่เป็นอาหาร
จากวัดดอนกระเบื้อง คุณพ่อไม่ท้อถอย ไปดูแลคริสตังใหม่ตามสาขาทั้งหลาย คือ บ้านยาง หนองหิน และทุ่งน้อย
ในรายงานประจำปี ค.ศ. 1895 พระสังฆราชเวย์ได้บันทึกไว้ว่า เป็นเวลา 6 เดือนมาแล้ว ที่คนจีน 42 ครอบครัวที่ทุ่งน้อย มาขอให้คุณพ่อตาร์ดิแวลช่วยสอนคำสอน พวกเขาบอกกับคุณพ่อว่า รู้จักกับคริสตังและต้องการกลับใจ พระสงฆ์ของเราจึงได้สร้างที่พักชั่วคราว ถึงจะชั่วคราวก็จริง แต่คงพอกับความต้องการเร่งด่วน คุณพ่อออกเยี่ยมผู้เรียนคำสอนรุ่นแรกเหล่านี้บ่อยครั้ง โดยมอบหมายให้คนแปลคำสอนใจร้อนรนผู้หนึ่ง เป็นผู้สอน การสอนมักจะทำกันตอนเย็น หลังจากทำงานมาตลอดวันในไร่อ้อย
เมื่อปี ค.ศ. 1897 คุณพ่อตาร์ดิแวลได้รับ คุณพ่อดอมินิก ดงปาเล่อ ผู้บวชใหม่ เป็นปลัดผู้ช่วย และส่งไปดูแลปกครองวัดหนองหินแทน แต่ปี ค.ศ. 1900 คุณพ่อดอมินิก รับคำสั่งย้ายไปเป็นปลัดผู้ช่วยที่วัดเพลง
ปี ค.ศ. 1901 คุณพ่อแอสเตวัง (เหวี้ยน โชติผล) มาแทนคุณพ่อดอมินิกเป็นปลัด คุณพ่อตาร์ดิแวล ซึ่งส่งคุณพ่อแอสเตวังไปดูแลคริสตังวัดหนองหินสม่ำเสมอ
การสร้างวัดหนองหิน และวัดดอนกระเบื้องใหม่
เมื่อคุณพ่อตาร์ดิแวลเข้าปกครองคริสตังกลุ่มดอนกระเบื้อง คุณพ่อสังเกตเห็นว่าวัดดอนกระเบื้องอยู่ในสภาพผุพัง จนเก็บศีลมหาสนิทด้วยความเคารพมิได้อีกต่อไป จำเป็นจะต้องสร้างวัดหลังใหม่แทนที่
ในรายงาน ที่พระสังฆราชเวย์บันทึกว่า กลุ่มคริสตชนที่วัดดอนกระเบื้องของคุณพ่อตาร์ดิแวลในจังหวัดราชบุรี มีเพียงวัดน้อยเก่าๆ และคับแคบเกินไปสำหรับสัตบุรุษจำนวน 750 คน ส่วนวัดอนาถาของคุณพ่อยอแซฟซิน ที่วัดหนองหิน ย่ำแย่กว่าเสียอีก
การเสกวัดหลังที่สองนี้ ทำในปี ค.ศ. 1903 ตรงกับวันฉลองพระตรีเอกภาพ เป็นโอกาสให้คุณพ่อฝรั่งหลายองค์ โดยเฉพาะ คือ คุณพ่อกิยู กับคุณพ่อกีญารด์ ได้มาเยือนกลุ่มคริสตชนวัดหนองหิน นับเป็นนักทัศนาจรกลุ่มแรกที่มาเยือนหนองหิน ฉะนั้น คุณพ่อตาร์ดิแวลกับคุณพ่อปลัดจึงมีความปิติยิ่งที่ได้ต้อนรับ ความจริงแล้วสมัยนั้น การมาวัดหนองหินมิใช่สะดวก ใช้เส้นทางเรือถึงนครปฐม จึงเดินตามทางเกวียนระหว่างสวนผลไม้ ระยะทางยาวและเหน็ดเหนื่อยพอแรง ปี ค.ศ. 1903 นี้เอง ที่ทางรถไฟสายเชื่อมกรุงเทพฯ กับราชบุรี เริ่มใช้การได้แล้ว หรือไม่ก็ขึ้นรถไฟสถานีบางกอกน้อยโดยตรง อีกทางหนึ่งคือขึ้นรถไฟที่สถานีนครชัยศรี ลงปลายทางที่สถานีพรมมะเดื่อต่อจากพรมมะเดื่อ ใช้เดินเท้าอีก 3 กม. ก็ถึงหนองหินได้
คุณพ่อยัง บัปติสต์ ฟูยาห์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สาม ปี ค.ศ. 1906-1910
คุณพ่อฟูยาต์ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนกระเบื้อง คุณพ่อมีคุณพ่อผู้ช่วย คือ คุณพ่อเอมมานูแอล เป็นปลัดผู้ช่วย คุณพ่อฟูยาต์พยายามซื้อสวนผัก สวนผลไม้ ขยายที่ดินวัดหนองหิน แต่คุณพ่อเองไปอยู่ที่หนองหินไม่กี่ครั้งให้คุณพ่อเอมมานูแอลอยู่ประจำ คุณพ่อเมมานูแอลเรียนภาษาจีนและพยายามอบรมเหล่าสัตบุรุษใหม่กับลูกของเขา คุณพ่อตั้งใจให้คริสตังของคุณพ่อเป็นคริสตังที่ดีพร้อม ปฏิบัติพระธรรมคำสอนอย่างเคร่งครัด ดังนั้น คุณพ่อจึงขาดความสนใจเรื่องเรือกสวนของวัด และเมื่อคุณพ่อย้ายออกไปในปี ค.ศ. 1910 ที่ดินทั้งหมดของวัดหนองหิน แม้นกระทั่งส่วนใกล้วัดที่สุด ก็มีหญ้าขึ้นรก เป็นที่เลี้ยงแพะหลายตัว แต่ก็ยังกินไม่ทันหญ้าก็ขึ้นรกเร็วกว่าเสียอีก
คุณพ่อเอมมานูแอล เปิดบัญชีศีลลล้างบาปเล่มแรก ในนามของวัดหนองหิน วันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1906 ก่อนหน้านั้น ศีลล้างบาป ก็จดอยู่ในบัญชีของวัดดอนกรเบื้องทั้งสิ้น
คุณพ่อเลออง ริชารด์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สี่ ปี ค.ศ. 1911-1939
คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนกระเบื้อง และวัดสาขาทั้งหมด คุณพ่อมีใจร้อนรนมาก คุณพ่อไม่ชอบนั่งเก้าอี้เพื่อคอยพระจิตเจ้าทำงานแทน คุณพ่อเป็นคนขยันที่ยากจะหาพระสงฆ์ใดเสมอเหมือน พอมาวัดดอนกระเบื้อง คุณพ่อก็เรียกคุณพ่อเอมมานูแอล จากวัดหนองหิน ให้มาประจำวัดดอนกระเบื้อง เพื่อคุณพ่อจะได้มีเวลาที่จะเดินทางไปเยี่ยมสาขาต่างๆ และดูแลว่าที่ใด มีความหวังในการตั้งศูนย์คริสตชน ที่ใดล้มเลิกดีกว่า ดังนั้นสำหรับหนองหิน คุณพ่อริชารด์จึงส่งลูกศิษย์ของคุณพ่อคนหนึ่ง ชื่อ ครูฮวด (ประเวศ ภารนันต์) ให้เปิดโรงเรียนชั้นประถม แก่เด็กคริสตังชาวหนองหิน เพื่อให้รู้จักการอ่านเขียน อันเป็นความปรารถนาแรงกล้าของบรรดาพ่อแม่ทั้งหลาย สมัยนั้นยังไม่มีการใช้พระราชบัญญัติการศึกษา ครูประเวศได้เป็นครูสอนคนแรก ประจำบ้านหนองหิน นอกจากสอนวิชาความรู้ ก็สอนคำสอน และบรรดาสัตบุรุษมาสวดภาวนาวันอาทิตย์ ส่วนคุณพ่อริชารด์ กับคุณพ่อเมมานูแอล สลับกันมาเยี่ยม และโปรดศีล
ในตอนแรก คุณพ่อริชารด์ให้ครูประเวศเปิดโรงเรียน สอนเขียนอ่าน ในวัดนั่นเอง วัดนั้นเป็นวัดหลังที่สอง ซึ่งคุณพ่อตาร์ดิแวล ให้คุณพ่อแอสเตวัง สร้างที่หนองหินแทนหลังแรกของคุณพ่อยอแซฟ ซิน สร้างอยู่ติดสุสานวัดหนองหิน หลังที่สองของคุณพ่อตาร์ดิแวลเวลานี้ สร้างและเสกปี ค.ศ. 1903 สร้างตรงที่คุณพ่อริชารด์จะสร้างบ้านพักพระสงฆ์ จะมีการแบ่งมิสซังบางนกแขวก ให้คณะซาเลเซียนในปี ค.ศ. 1927 เริ่มเปิดโรงเรียนสมัยครูฮวดและเริ่มเปิดการเรียนการสอนในวัดหลังที่สองนั้น เมื่อมีพระสงฆ์มาพักอยู่ที่หนองหิน เป็นเวลาหลายๆ วัน หรือนานเป็นเดือน คุณพ่อริชารด์จึงจัดสร้างศาลาห่างออกไปเล็กน้อย เพื่อใช้เป็นโรงเรียน ส่วนคุณพ่อก็อยู่ที่วัด แปลคำสอนให้คริสตังสำรอง กับโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์แก่บรรดาสัตบุรุษ
ปี ค.ศ. 1911 ขณะที่ครูฮวดดูแลคริสตังหนองหินแทนนั้น คุณพ่อริชารด์ไปเยี่ยมสาขาทุ่งน้อย ก็เป็นว่า เป็นการยากที่สุดที่จะรวบรวมบ้านให้เป็นกลุ่มคริสตังได้ คุณพ่อจึงตั้งศูนย์ใหม่ให้เหล่าคริสตังทุ่งน้อย และคริสตังสำรองที่กระจัดกระจายไป มารวมอยู่ที่ศูนย์ใหม่ คือ ศูนย์วัดบางตาล โดยอาศัยความร่วมมือช่วยเหลือของคริสตังบ้านโป่ง (ตระกูลหลวงสิทธิ์เทพการ) ดังนั้น ปีแรก คุณพ่อริชารด์สามารถซื้อที่กว้างใหญ่ ให้พวกคริสตังย้ายมาปลูกบ้านอาศัยและทำมาหากินได้ และคุณพ่อก็ได้สร้างวัดบางตาล ไม่ไกลจากทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-เพชรบุรี
เดือนเมษายน ค.ศ. 1912 คุณพ่อเอมมานูแอล ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดปากน้ำ คุณพ่อซมแลต์ มาแทน คุณพ่อองค์นี้มาเป็นปลัดของคุณพ่อริชารด์ที่หนองหิน และเป็นผู้โปรดศีลล้างบาปตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน ค.ศ. 1912
เมื่อคุณพ่อซมแลต์ย้ายจากหนองหินไป คุณพ่อริชารด์จึงมาที่หนองหิน โปรดศีลล้างบาปในเดือนกันยายน ค.ศ. 1912 - กรกฎาคม ค.ศ. 1913 พระสังฆราชแปร์รอสมอบหมายให้ คุณพ่อมาร์แซล(จงสวัสดิ์ อารีอร่าม) จากแม่กลองและท่าจีน มาเป็นปลัดแทน คุณพ่อมาร์แซลเซ็นชื่อในบัญชีศีลล้างบาป ของวัดหนองหิน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1913 พอถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 คุณพ่อริชาร์ด ต้องไปราชการสงคราม คุณพ่อมาร์แซลจึงรักษาการแทนเจ้าอาวาส จนกว่าคุณพ่อริชารด์กลับมาในปี ค.ศ. 1917
ปี ค.ศ. 1917 คุณพ่อริชารด์ รายงานถึงศูนย์ที่ปารีสว่า
“ที่หนองหิน มีความทุกข์ยากมากมายไม่ขาดสาย ความลำเค็ญต่างๆ นี้เกิดเพราะพวก “อั้งยี่” (สมาคมลับของชาวจีน) และพวกอาโปสตาตา (พวกทิ้งศาสนา) บางคน แต่นอกจากความยุ่งยากเหล่านี้ ก็ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าบรรเทาใจแจ้งให้ทราบ ไม่ไกลจากหนองหิน มีหมอทำคลอดคนหนึ่งเป็นชาวต่างศาสนา เธอได้เคยเรียนรู้ความเชื่อ แต่ยังไม่ได้รับศีลล้างบาป คุณพ่อมาร์แซล ได้สอนวิธีการโปรดศีลลล้างบาปแก่เธอ และแล้วเธอก็ได้โปรดศีลล้างบาปให้แก่เด็กคนหนึ่ง ซึ่งตายหลังรับศีลไม่นาน ผมหวังอย่างยิ่งว่า พระเป็นเจ้าคงไม่ทรงปล่อยให้เธอทำกิจกุศลโดยไร้บำเหน็จ และพระองค์คงจะทรงโปรดความเชื่อร้อนรนแก่เธอ ผู้ซึ่งขณะนี้ยังเป็นคนต่างศาสนาอยู่ ก็ได้นำผู้รับเลือกสรรมาถวายแด่พระองค์อย่างเต็มความสามารถ”
เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1917 คุณพ่อมาร์แซลย้ายไปอยู่โคกวัด คุณพ่อริชารด์อยู่ผู้เดียว ดูแลวัดดอนกระเบื้อง วัดบางตาล วัดหนองหิน เป็นประจำจากเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1917 ถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1919 ดังนั้นคุณพ่อจึงขอจากพระสังฆราชให้ช่วยจัดคุณพ่อปลัดมาสักองค์หนึ่ง พระสังฆราชส่งคุณพ่อยอแซฟยี่ มาเป็นปลัดวัดดอนกระเบื้องให้มีหน้าที่ดูแลวัดหนองหิน คุณพ่อปลัดองค์นี้เป็นผู้เซ็นชื่อในบัญชีศีลล้างบาปของวัดหนองหิน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1919 ถึง เดือนธันวาคม ค.ศ. 1923
ในนิตยสารสงฆ์สัมพันธ์ ภาษาฝรั่งเศส TU 1920 หน้า 148 เล่าว่า ในโอกาสฉลองอัครเทวดามีคาแอล พระสังฆราชได้ไปโปรดศีลกำลังที่วัดดอนกระเบื้อง และอีกไม่กี่วัน ก็โปรดศีลกำลังที่วัดหนองหินด้วย ซึ่งนอกจาก คุณพ่อริชารด์กับคุณพ่อยอแซฟยี่ มีคุณพ่อดาวิด กับคุณพ่อเบเชต์ มาร่วมพิธีด้วย
คุณพ่อริชารด์ จาดวัดดอนกระเบื้องและวัดหนองหิน
เมื่อคุณพ่อริชารด์กลับจากราชการสงคราม มาที่วัดดอนกระเบื้อง ในปี ค.ศ. 1917 นั้น คุณพ่อสังเกตว่า “คริสตังบางครอบครัวได้ออกจากเขตวัดดอนกระเบื้อง ไปอยู่ที่บ้านโป่ง ชื่อสถานีรถไฟสำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการดำรงอาชีพแบบง่ายๆ คาดการณ์หลายปีมาแล้วว่า จะมีการอพยพไปอยู่ที่นั่น จึงได้ซื้อที่ดินไว้แปลงหนึ่ง หากยังมีคริสตังอพยพไปที่นั่นต่อไปอีก จะสร้างโบสถ์น้อยสักหลังที่ศูนย์บ้านโป่งนี้ ซึ่งกำลังเจริญอย่างไม่หยุดยั้ง... คุณพ่อคาดการณ์ถูกต้อง และที่สุด คุณพ่อก็สร้างวัด สร้างโรงเรียน และบ้านพักพระสงฆ์ ในปี ค.ศ. 1924 มีคริสตังถึง 200 คน
เดือนมกราคม ค.ศ. 1924 คุณพ่อยอแซฟยี่ ย้ายไปเขตหัวไผ่แล้ว คุณพ่อริชารด์ก็คงอยู่ผู้เดียว ดูแลวัดดอนกระเบื้อง บ้านโป่ง บางตาล และหนองหินจนถึงเดือน มกราคม ค.ศ. 1925
ในปีค.ศ.1924 เริ่มมีการกล่าวขวัญกันแล้วว่า จะมีการแบ่งมิสซังให้พระสงฆ์คณะซาเลเซียน คุณพ่อริชารด์จึงต้องเตรียมรับสถานการณ์ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงในไม่ช้า
เดือนมกราคม ค.ศ. 1925 ถึง เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1926 มีพระสงฆ์มาแทนคุณพ่อริชารด์ที่วัดหนองหิน คือ คุณพ่อบอนิฟาซ (ยวง) คุณพ่อเกลแมนเต (แฉล้ม พานิชเกษม) และคุณพ่อเอดัวร์ด (ถัง นำลาภ) สลับกันและจากเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1926 ถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1928 มีคุณพ่อเกลแมนเตกับ คุณพ่อริชารด์ สลับกันมาที่วัดหนองหิน
เดือนตุลาคม ค.ศ. 1928 ถึง เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1939 เหลือคุณพ่อริชารด์ อยู่เป็นเจ้าอาวาสที่วัดหนองหิน และโปรดศีลล้างบาปแต่องค์เดียว
คณะซาเลเซียนกลุ่มแรก มาเมืองไทย วันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1927
วันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1927 กลุ่มแรกเป็นพระสงฆ์คณะซาเลเซียนของนักบุญยวง บอสโก ซึ่งในขณะนั้นมีสมาชิก 18 ท่าน เป็นพระสงฆ์กับสามเณร เดินทางถึงประเทศไทย เพื่อรับผิดชอบในการดูแลบางท้องที่ของมิสซัง และเป็นที่ตกลงกันว่า วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1929 จะมีพิธีมอบการปกครองแก่คณะซาเลเซียน ระหว่างนั้น คุณพ่อซาเลเซียนพยายามเรียนภาษาไทย ภาษาจีน ดำรงชีพอยู่กับพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส MEP หรือกับพระสงฆ์ไทยของมิสซังสยาม จนกว่าจะถึงกำหนด วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1929
ส่วนคุณพ่อริชารด์ทราบว่าต้องจากวัดดอนกระเบื้อง วัดบ้านโป่ง วัดบางตาล เหลือแต่วัดหนองหิน ซึ่งอยู่ปลายเขตจังหวัดนครปฐม
ในรายงานปี ค.ศ. 1928
“คุณพ่อริชารด์รายงานว่าเหตุการณ์เด่นๆ ในเขตวัดของคุณพ่อ คือ มีการเสกวัดบ้านโป่ง ผู้รับศีลกำลังในวัดมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่จำนวนหนึ่ง ยังความชื่นชมยินดีแก่ทุกคน คุณพ่อเสริมว่ามีเรื่องน่าชื่นชมยิ่งสำหรับพวกคริสตังที่หนองหิน วัดหลังเก่ากำลังจะผุพังแล้ว จำเป็นต้องสร้างใหม่ เหล่าสัตบุรุษให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และช่วยออกค่าใช้จ่ายเท่าที่มีทุนทรัพย์น้อยนิด อีกอย่างหนึ่ง วัดนี้หลังแห่งเดียวในเขตที่จะยังคงอยู่ในความดูแลของคุณพ่อ (หลังจากได้มอบหมายแก่คณะซาเลเซียนให้ดูแลมิสซังที่จัดตั้งขึ้นใหม่) ดังนั้น จำต้องสร้างบ้านพักพระสงฆ์ขึ้นสักหลัง โดยคริสตังใจบุญผู้หนึ่งออกค่าใช้จ่ายและเวลานี้ มิสชันนารีสามารถไปพักประจำอยู่วัดหนองหินได้แล้ว
ดังนั้น วัดหลังที่สอง (ของคุณพ่อตาร์ดิแวล ที่คุณพ่อแอสเตวังสร้าง) ก็ถูกรื้อลง และตรงที่นั้นเอง คุณพ่อริชารด์ก็ได้สร้างบ้านพักพระสงฆ์ เป็นบ้านไม้แข็งแรงมาก
วัดหลังที่สาม คุณพ่อริชารด์สร้าง ตั้งอยู่เหนือบ้านพักพระสงฆ์ไปเล็กน้อย และอยู่ตรงกับสถานที่ตั้งวัดหลังที่ 4 หรือหลังปัจจุบัน
คุณพ่อริชารด์สร้างวัดหลังที่สาม สร้างบ้านพักพระสงฆ์ และโรงเรียนใหม่ ให้สอดคล้องกับระเบียบใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนครูประเวศ (ครูฮวด) ก็ยังเป็นครูใหญ่ของโรงเรียน คุณพ่อยังสร้างบ้านพักแก่ซิสเตอร์หลังหนึ่ง
ในหน้าแรก ของบัญชีศีลล้างบาปเล่มแรก ของวัดหนองหิน คุณพ่อริชารด์ได้บันทึกเป็นภาษาลาติน และเป็นภาษาไทยดังนี้ :
“ปีคริสตราช ค.ศ. 1928 ณ วันที่ ยี่สิบสอง กรกฎาคม พระสังฆราช เรอเน แปร์รอส พระสังฆราชแห่งโซอารา และประมุขเทียบสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้กระทำพิธีสง่า เสกวัดใหม่ซึ่งสร้างขึ้นที่หนองหิน และได้ถวายนามชื่อว่า “วัดพระตรีเอกภาพ” ต่อหน้าคุณพ่อการ์ตอง คุณพ่อตาปี มิสชันนารีคณะ MEP และคุณพ่อปีนาโฟ คุณพ่อเปาโล คณะซาเลเซียน และคุณพ่อเกลแมนเตกับคุณพ่อเอดัวร์ด พระสงฆ์ไทย.”
วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1929 คุณพ่อริชารด์ อำลาวัดดอนกระเบื้อง วัดบ้านโป่ง วัดบางตาล มอบแก่คณะซาเลเซียน แล้วคุณพ่อมาอยู่ที่วัดหนองหิน
วัดหนองหินเป็นเอกราช วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1929
มีคุณพ่อริชารด์ เป็นเจ้าอาวาสองค์เดิม
คุณพ่อริชารด์กับวัดหนองหิน คุณพ่อย้ายมาจากเขตวัดดอนกระเบื้อง มาอยู่ในเขตวัดหนองหินแต่เพียงวัดเดียว คุณพ่อเริ่มอบรมแบบคริสตัง มิใช่แก่เด็กเท่านั้น รวมทั้งพ่อแม่ของเด็กด้วย เนื่องจากไม่มีพระสงฆ์อยู่ประจำที่วัดนี้ สัตบุรุษจึงมีความรู้น้อย ใครมาที่นี่จะเห็นเรื่องนี้ได้ในไม่ช้า แต่อันที่จริงเราจะเรียกร้องจากเขา ให้มีคุณสมบัติเหมือนอย่างคริสตังซึ่งมีพระสงฆ์อยู่กับเขาเสมอก็มิได้ เมื่อก่อนนั้นมีการสอนแบบหยุดบ่อยเกินไป และไม่นานพอสำหรับเด็กที่สติปัญญาไม่ตื่นตัว บัดนี้ เราต้องแก้ไขเรื่องนี้ และชี้แนะให้พ่อแม่เข้าใจว่าลูกของเขาก็เป็นผู้ที่พระเป็นเจ้าทรงสร้างมา สำหรับให้ไปเสวยสุขในสวรรค์เช่นกัน เพราะฉะนั้นพวกเขามีหน้าที่ต้องส่งลูกๆ มาโรงเรียนและเรียนคำสอน...ปี ค.ศ. 1933 คุณพ่อริชารด์รายงานถึงเรื่องที่พระสมณทูตเดรแยร์แวะมาเยี่ยมที่วัดหนองหิน ทำให้คุณพ่อและสัตบุรุษ ที่วัดหนองหินปลื้มปิติ และรู้สึกเป็นเกียรติ แล้วคุณพ่อรายงานต่อว่า “ก่อนอื่น ขอแจ้งให้ทราบว่า ในบรรดาพระคุณมากมายที่พระทรงประทานแก่เรานั้นมีการรับศีลล้างบาปของผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น ถึงแม้จะยังน้อยกว่าที่ต้องการมากนัก จำนวนผู้รับศีลมหาสนิทก็เพิ่มขึ้น แต่ก็เพิ่มได้มากกว่านี้ยากแท้ ตราบเท่าที่กลุ่มคริสตังที่นี่ยังไม่ได้รับการพัฒนายิ่งกว่าที่เป็นอยู่
ต้นปี ค.ศ. 1935 คุณพ่อริชาร์ด ย้ายครูประเวศ (ครูฮวด) จากวัดหนองหินไปอยู่วัดบางภาษี คุณพ่อจึงต้องหาครูใหญ่คนใหม่มาแทนที่วัดหนองหิน ต่อมาได้รับและบรรจุครูหนุ่มคนหนึ่งเป็นครูใหญ่ ซึ่งได้รับการอบรมด้านครูคำสอน และสอบไล่เป็นครูใหญ่ได้ตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ในปีเดียวกันพระสังฆราชแปร์รอส ยังได้แต่งตั้งคุณพ่อริชารด์ เป็นจิตตาธิการภคินีอารามพระหฤทัยคลองเตย สมทบกับหน้าที่หลักคือเจ้าอาวาสวัดหนองหิน ดังนั้น คุณพ่อริชารด์จึงมาพำนักอยู่ที่วัดกาลหว่าร์ กรุงเทพฯ ไปอารามที่คลองเตย และนานๆ ครั้งจึงมาเยี่ยม ทำมิสซาโปรดศีลที่วัดหนองหิน
ในปี ค.ศ. 1936 คุณพ่อริชาร์ด ซึ่งมีหน้าที่เป็นจิตตาธิการอารามภคีนีรักไม้กางเขน และดูแลกลุ่มคริสตชนที่หนองหินด้วย มีผู้เตรียมตัวรับศีลศีลล้างบาปหลายคน แต่คุณพ่อสามารถไปพักที่วัดหนองหินได้บางครั้งบางคราวเท่านั้น จึงไม่อาจสอนคำสอนให้เสร็จเร็วตามปรารถนาได้ คุณพ่อสังเกตด้วยความทุกข์ว่า ในโรงเรียนวัดยังมีการสอนข้อความเชื่อไม่ลึกซึ้งเพียงพอ... อย่างไรก็ดี การปกครองวัดหนองหินแต่วัดเดียว ก็ไม่พอสำหรับความกระตือรือร้นของคุณพ่อริชารด์ ก่อนนั้น วัดหนองหินเป็นสาขาของวัดดอนกระเบื้อง และสาขาสำคัญที่สุด ที่คุณพ่อมีน้ำใจจะตั้งขึ้น คือที่นครปฐม แต่คุณพ่อยังคอยหาโอกาสเหมาะอยู่ ส่วนสาขาแรกที่คุณพ่อจะไปบุกเบิกก่อน คือ บางภาษี
คุณพ่อริชารด์และวัดหนองหิน กับ วัดบางภาษี
เมื่อคุณพ่อริชารด์มาประจำที่วัดหนองหิน ในเวลานั้น คุณพ่อกิยู เป็นเจ้าอาวาสที่วัดกาลหว่าร์ และเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรีมาก่อน ได้แจ้งให้คุณพ่อริชารด์ทราบว่า ในตลาดบางภาษี มีคริสตังทำมาหากินอยู่ คุณพ่อจึงไปสำรวจดูว่ามีคริสตังมากน้อยเท่าไร แล้วคุณพ่อก็พบครอบครัวคริสตังอพยพมาจากนครชัยศรีหลายครอบครัว และคุณพ่อริชารด์ยังทราบอีกว่า ยังมีคริสตังอีกมากมายอยู่กระจัดกระจาย แม้คุณพ่อริชารด์อายุมากแล้ว และการคมนาคมสมัยนั้นลำบากมาก คุณพ่อก็ยังสัญญาว่า จะกลับไปอยู่หลายๆ วัน เพื่อสำรวจครอบครัวคริสตัง แล้วคุณพ่อก็ไปที่บางภาษีบ่อยๆ เดือนละครั้ง ตามคำพูด ครั้งแรก โปรดศีลล้างบาปแก่เด็กคริสตัง 10 คน ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1929 และมีผู้ใหญ่มาสมัครเป็นคริสตังหลายคน คุณพ่อพักอยู่ที่ร้านของนายก๋งแดงทำมิสซา แปลคำสอนในห้องหลังร้าน ซึ่งไม่สะดวกแก่คริสตัง เมื่อปรึกษากันแล้ว จึงตัดสินใจสร้างวัดหลังหนึ่ง เป็นวัดไม้ ลงมือสร้างในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1930 และเสกเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน คุณพ่อริชารด์ไปที่บางภาษีเดือน 1-2 ครั้ง จนถึงปี ค.ศ. 1935 พระสังฆราชแปร์รอส ได้แต่งตั้งคุณพ่อริชารด์ เป็นจิตตาธิการภคินีรักไม้กางเขน ณ อารามพระหฤทัยคลองเตย ทั้งๆ ที่คุณพ่อยังเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองหิน และวัดบางภาษี
นอกจากนี้ก็กำลังจะเปิดสาขาที่นครปฐมอีก คุณพ่อริชารด์จึงขอมอบวัดบางภาษีให้อยู่ในความดูแลของวัดสองพี่น้องต่อไป
คุณพ่อริชารด์ และวัดหนองหิน กับ วัดนครปฐม
คุณพ่อริชารด์ตั้งใจจะเปิดวัดนครปฐม ตั้งแต่ปี ค.ศ.1912 คุณพ่อซื้อที่ดินหลายแปลงบริเวณเมืองนี้ แต่ยังหาซื้อในหัวเมืองมิได้ และต้องคอยอีกนาน เพราะไม่มีปัจจัย
ในปี ค.ศ. 1936 คุณพ่อริชารด์รายงานว่า
“ใกล้ๆ นครปฐม มีคริสตังหลายคน นานมาแล้วที่คุณพ่อปรารถนาจะสร้างโบสถ์ย่อมๆ สักหลังเพื่อรวบรวมคริสตัง โดยหวังว่าจะหาผู้เตรียมตัวรับศีลล้างบาปได้ เป็นต้นว่า จากชาวสวนในหมู่บ้านใกล้เคียงที่สุด... ในที่สุด”
คุณพ่อริชารด์ก็พบผู้หนึ่งเป็นคนใจบุญ ช่วยจ่ายเงินให้คุณพ่อ เพื่อรวบรวมวัสดุอุปกรณ์ใช้ในการก่อสร้าง เดือนกันยายน – เดือนตุลาคม ค.ศ. 1936 คุณพ่อได้สร้างวัดน้อยกับบ้านพักพระสงฆ์ได้ ใกล้สนามจันทร์ โดยเงินบริจาคของคุณพ่อเออแยน เล็ตแชร์ MEP แห่งวัดนครชัยศรี
พระสังฆราชแปร์รอส ได้ทำพิธีเสกวัด วันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1937 มีพระสงฆ์มาดูแลเหล่าคริสตังเสมอ ส่วนมากพระสงฆ์มาจากวัดหนองหิน
ในบัญชีศีลล้างบาปหน้าแรก เล่มที่สอง ของวัดหนองหิน คุณพ่อริชารด์ ได้บันทึกข้อความเป็นภาษาลาติน ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยดังนี้ :
“ในปีคริสตศักราช1937 ณ วันที่ ยี่สิบสี่ ของเดือนพฤษภาคม ในเมือง Nakhon Pathom พระสังฆราชเรอเน แปร์รอส พระสังฆราชแห่งโซอารา ประมุขมิสซังเทียบสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้ประกอบพิธีอย่างสง่า เสกวัดที่สร้างขึ้นภายในเมือง และพระสังฆราชได้ถวายชื่อวัด คือ วัดพระคริสตกษัตริย์
“ผู้มาร่วมพิธีมาเป็นพยาน มีคุณพ่อซันลิแอร์ คุณพ่อตาปี คุณพ่อโชแรง และคุณพ่อยวง (เคียมสูน) จากมิสซังกรุงเทพฯ พร้อมด้วยคุณพ่อกาวัลลา กับคุณพ่อเลาแรนเต จากมิสซังราชบุรี วัดนี้ ซึ่งสร้างขึ้นได้ในเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1936 ได้มีพิธีมิสซาเป็นครั้งแรก ณ วันที่ 25 ตุลาคม อันเป็นวันฉลองพระคริสตกษัตริย์.”
จึงขอเซ็นชื่อเป็นหลักฐาน
ล.ริชารด์ เจ้าอาวาสวัดพระตรีเอกภาพ หนองหิน
คุณพ่อริชารด์เตรียมจะลาหนองหิน ไปพักผ่อน
หลังจากเสกวัดพระคริสตกษัตริย์ (วัดนครปฐมแล้ว) คุณพ่อริชารด์ขอกลับไปพักผ่อนบ้าง ที่ประเทศบ้านเกิดของคุณพ่อท่ามกลางญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ และจะกลับมาอยู่ที่มิสซังไทยอีก ดังนั้น คุณพ่อจึงขออนุญาตต่อพระสังฆราชแปร์รอสและบอกกับพระสังฆราชว่าจะหาพระสงฆ์มาแทนสักองค์ เพื่อไปดูแลแทนที่วัดหนองหินและสาขาวัดที่นครปฐม
คุณพ่อฮิปโปลิต วิกตอร์ ลาร์เก
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ห้า ปี ค.ศ. 1939-1941
ต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1939 พระสังฆราชแปร์รอส แต่งตั้งคุณพ่อลาร์เก เป็นเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรี แทนคุณพ่อเล็ตแชร์ซึ่งลาเกษียน และพร้อมกันนั้น ให้คุณพ่อลาร์เก เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองหิน และวัดสาขาที่นครปฐม แทน คุณพ่อริชารด์ ซึ่งจะไปพักผ่อนในประเทศฝรั่งเศส ในเดือนนั้น คุณพ่อลาร์เกจึงรีบไปวัดหนองหิน เยี่ยมคุณพ่อริชารด์ ก่อนที่คุณพ่อริชารด์จะเดินทางกลับบ้านเกิดที่ต่างประเทศ เมื่อคุณพ่อลาร์เก มาพบคุณพ่อริชารด์ คุณพ่อทั้งสององค์จึงไปดูวัดนครปฐม เดือนมิถุนายน คุณพ่อลาร์เกจึงไปทำมิสซา โปรดศีลล้างบาป เดือนละครั้ง ส่วนครูใหญ่โรงเรียน ก็เป็นผู้นำคริสตังมาประชุมในวัดทุกวันอาทิตย์กับเป็นผู้แปลคำสอนในโรงเรียนด้วย และในวันที่ 23 กรกฎาคม ในปีเดียวกัน พระสังฆราชแปร์รอสได้ส่งพระสงฆ์อีกหนึ่งองค์มาเป็นปลัดผู้ช่วย ที่วัดนครชัยศรี
วัดหนองหิน และวัดนครปฐม คือ คุณพ่อมอริส ยอลี ย้ายมาจากบ้านเณรศรีราชา คุณพ่อมาเยี่ยมทำมิสซา โปรดศีลที่วัดหนองหิน นอกเหนือจากการอภิบาลสัตบุรุษแล้ว ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ
กรณีพิพากอินโดจีน และการเบียดเบียนศาสนา
เมื่อเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน ถึงวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1941 ทางรัฐบาลไทยได้มีคำสั่งให้ชาวฝรั่งเศสทุกคนที่ยังเหลืออยู่ในประเทศไทย ให้มาอยู่ที่กรุงเทพฯ ภายใน 72 ชั่วโมง จนกว่าจะมีคำสั่งให้กลับมาได้ใหม่ คุณพ่อลาร์เกกับคุณพ่อยอลี จึงอำลาวัดนครัยศรี เข้ากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 มกราคม ในปีนั้น ดังนั้น วัดหนองหิน วัดนครปฐม ก็ไม่มีเจ้าอาวาสแล้ว
คณะเลือดไทยเปิดฉากการเบียดเบียนทันที เข้ามารื้อโรงเรียนของคุณพ่อริชารด์ เอาไปปลูกที่ตำบลลำพะยา เด็กๆ คริสตังถูกบังคับให้เข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐบาล บังคับให้ละทิ้งศาสนาคริสตังต่างๆ นานา พระสังฆราชแปร์รอสได้มีจดหมายถึง พระสังฆราชปาซ็อตตี แห่งคณะซาเลเซียนขอให้ช่วยส่งพระสงฆ์ซาเลเซียนมาเยี่ยมคริสตังที่วัดหนองหินบ้าง... เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1941 คุณพ่อยอห์น อุลลิอานา มาโปรดศีลล้างบาปแก่เด็ก 3 คน เดือนสิงหาคม ในปีเดียวกันคุณพ่อเลาแรนเต (กิมค้วง มณี กฤษเจริญ) ได้โปรดศีลแก่เด็ก 2 คน และเดือนธันวาคม คุณพ่อก็ได้โปรดศีลล้างบาปอีก1 คน เดือนธันวาคม มีคุณพ่อมนตรี มณีจิตร (พระสงฆ์ราชบุรี) มาทำพิธีฉลองพระคริสตสมภพ ที่วัดหนองหิน ส่วนวันปีใหม่มีคุณพ่อเชกาแรลลี
คุณพ่อเลออง ริชารด์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่หก ในปี ค.ศ. 1942-1945
กรณีพิพาทอินโดจีน สงบลง โดยประกาศคำสั่ง เลขที่ 9 ของอธิบดีกรมตำรวจ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1941 และพระสงฆ์ฝรั่งเศสที่ต้องออกนอกประเทศ ให้กลับมาได้ แต่โดยทางปฎิบัติแล้ว การเบียดเบียนศาสนาคริสต์ก็ยังคงดำเนินต่อไป เช่นในภาคอีสาน ซึ่งมิสชันนารีกลับมามิได้ ส่วนมิสชันนารีชุดที่สอง จากภาคกลาง ที่ไปอยู่ไซ่ง่อน ทยอยกลับมาได้ สำหรับคุณพ่อริชารด์กลับมาเมืองไทยในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1941 คุณพ่อขอไปอยู่ที่วัดหนองหินเหมือนเดิม ในปี ค.ศ. 1944 ได้มีการจัดฉลองสุวรรณสมโภชการบวชเป็นพระสงฆ์ของคุณพ่อที่วัดด้วย และในปี ค.ศ. 1945 คุณพ่อรู้สึกเหนื่อยอ่อนกำลังลง คุณพ่อจึงขอไปพักที่ศูนย์กลางของมิสซัง ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ สุขภาพของคุณพ่อเสื่อมโทรมลงมาก ต่อมาไม่นานคุณพ่อถวายวิญญาณคืนแด่พระในวันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน ค.ศ.1956 เวลาประมาณ 10.00 น.ร่างของคุณพ่อได้รับการบรรจุที่สุสานใต้พระแท่น อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ
เมื่อคุณพ่อริชารด์ได้อำลาจากวัดหนองหินไปแล้ว พระสังฆราชแปร์รอส ได้ส่งคุณพ่อบอนิฟาซ (ยวง) มารักษาการแทน ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1945 ถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 1946
คุณพ่อ เลาแรนเต กิมค้วง (มณี กฤษเจริญ)
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่เจ็ด ปี ค.ศ. 1946-1949
เดือนเมษายน ค.ศ. 1946 พระสังฆราชแปร์รอสแต่งตั้งคุณพ่อเลาแรนเต กิมค้วง เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองหิน กับวัดสาขานครปฐม
คุณพ่อ ยอแซฟ วิเวียน เดอซูซา
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่แปด ปี ค.ศ. 1949-1954
ปี ค.ศ. 1949 คุณพ่อเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองหิน และวัดนครปฐม คุณพ่อพักประจำที่วัดหนองหิน และไปทำมิสซาวันอาทิตย์ที่วัดนครปฐมเป็นครั้งคราว คุณพ่อได้ขอเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการ และได้สร้างโรงเรียนไม้ 3 ชั้นๆ ละ 3 ห้อง
คุณพ่อ เลโอนารด์ (กลิ่น) สิงหนาท ผลสุวรรณ
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่เก้า ปี ค.ศ. 1954-1958
คุณพ่อเลโอนารด์ เป็นเจ้าอาวาสที่วัดหนองหิน และวัดนครปฐม ในปี ค.ศ. 1954 พอดีตรงกับปีศักดิ์สิทธิ์ ระลึกถึงการที่พระนางมารีรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1954 เป็นวันปิดปีศักดิ์สิทธิ์ คุณพ่อเลโอนารด์ จัดให้มีการแห่พระรูปแม่พระอย่างมโหฬาร จากวัดหนองหิน เวลา 07.00 น. (เช้า) ถึงวัดนครปฐม มีการทำมิสซาอวยพรศีลมหาสนิท แห่รอบวัด แล้วแห่กลับวัดหนองหิน ที่วัดหนองหินมีพิธีมิสซาค่ำ ปิดท้ายรายการด้วยการแห่โคม นับเป็นการปิดปีแม่พระอย่างประทับใจ
คุณพ่อ มิแชล ญัง ยอแซฟ บรูซ์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบ ปี ค.ศ. 1958-1968
คุณพ่อบรูซ์ เป็นพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส MEP คุณพ่อเดินทางมาถึงประเทศไทยเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1956 คุณพ่อมาเรียนภาษาไทยที่วัดนครชัยศรี ต่อมาในปี ค.ศ. 1957-1958 คุณพ่อได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสวัดนครชัยศรี ให้ไปช่วยงานที่วัดนครปฐม ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งนำความชื่นชมยินดีแก่สัตบุรุษที่ได้มีพระสงฆ์มาทุกวันอาทิตย์
ต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. 1958 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1968 คุณพ่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองหิน วัดนครปฐม เมื่อคุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองหิน คุณพ่อบรูซ์ไม่ได้ให้ซิสเตอร์ทำงานที่โรงครัว คุณพ่อให้ชาวบ้านวัดหนองหินมาเป็นแม่ครัวแทน และคุณพ่อได้ทำการรื้อโรงเรียน 3 ชั้น ของคุณพ่อเดอซูซา ที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมลง แล้วสร้างเป็นโรงเรียนชั้นเดียวยาวตลอด
ส่วนมากคุณพ่อบรูซ์อยู่ที่วัดนครปฐมมากกว่า จนกระทั่งคุณพ่อย้ายไป
คุณพ่อ ญัง อาร์มังด์ ฮาแบร์สโตร
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบเอ็ด ปี ค.ศ. 1968-1976
พระอัครสังฆราช ยวง นิตโย ได้ขอพบคุณพ่อจากคณะ OMI ซึ่งมาใหม่ เพื่อขอให้คุณพ่อจากคณะ OMI ส่งพระสงฆ์สักองค์หนึ่งมาประจำที่วัดหนองหินและสาขาวัดนครปฐม และพระสังฆราช ยังมอบหมายธุระให้คุณพ่อองค์ใหม่ คือ คุณพ่อฮาแบสโตร สร้างวัดใหม่ เป็นตึก แทนวัดไม้หลังเดิมของคุณพ่อริชารด์
ห้องใหญ่หลังพระแท่นแบ่งเป็น 2 ห้อง ใช้เป็นห้องซาคริสเตีย และห้องพักพระสงฆ์ วัดหลังนี้ทำพิธีเสกวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1969
เกี่ยวกับการฉลองเปิดวัดหลังใหม่นี้ ในหน้าแรกของบัญชีศีลล้างบาปที่วัดหนองหิน คุณพ่อฮาแบสโตรได้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยดังนี้ :
ผู้เป็นปลัดผู้ช่วยของคุณพ่อฮาแบสโตร คือ คุณพ่อบรูโน อาแร็น โดยพ่อปลัดผู้นี้ทำงานและพักอยู่โดยเฉพาะที่วัดนครปฐม เท่านั้น จากปี ค.ศ. 1974-1976 จึงย้ายไปวัดสองพี่น้อง ส่วนคุณพ่อฮาแบส โตร เจ้าอาวาส ได้ย้ายไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1986 ไปรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตลิ่งชัน
คุณพ่อคริสติอัง จิลล์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบสอง ปี ค.ศ. 1976-1984
คุณพ่อมาประจำที่วัดหนองหินและวัดนครปฐม ทางอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ โดย พระอัครสังฆราช มีชัย กิจบุญชู ได้จัดให้สร้างวัดใหม่ที่นครปฐม เป็นตึกใหญ่ทันสมัย วัดใหม่นี้ได้รับการเสกเมื่อวันฉลองพระคริสตกษัตริย์ ปี ค.ศ. 1981 โดยมี พระอัครสังฆราช ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เป็นประธาน มีพระสงฆ์มาร่วมกว่า 60 องค์
นอกนั้น พระอัครสังฆราชยังได้จัดให้สร้างบ้านพักพระสงฆ์ เป็นตึกใหญ่หลังใหญ่ อันคู่ควรกับเมืองนครปฐม
สมัยที่คุณพ่อจิลล์เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดหนองหินและวัดนครปฐม มีสัตบุรุษราว 400 คน เป็นสภาวัด 19 คน เยาวชน 300 คน แต่วัดนครปฐมก็ยังขึ้นอยู่กับวัดหนองหิน ต่อมาในปี ค.ศ. 1977-1980 คุณพ่อมีปลัดผู้ช่วยงาน คือ คุณพ่อเปโตร ปรีชา ธรรมนิยม ซึ่งทำงานและพักอยู่แต่เฉพาะที่วัดนครปฐม
คุณพ่อจิลล์ได้ย้ายจากวัดหนองหินและวัดนครปฐม ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1984 และเข้ารับตำแหน่งใหม่ เป็นเจ้าอาวาสวัดสะพานใหม่ ดอนเมือง
คุณพ่อยอแซฟ อติญาณ พงศ์หว่าน
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบสาม ปี ค.ศ. 1984-1989
ปี ค.ศ. 1984 พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้แต่งตั้งพระสงฆ์ไทยของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เป็นเจ้าอาวาส โดยมี คุณพ่ออติญาณ พงศ์หว่าน เป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 1984-1989 ในสมัยคุณพ่ออติญาณ พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้แยกวัดนครปฐมออกจากวัดหนองหิน เมื่อวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1986 โดยมี คุณพ่อศักดิ์ชัย ทรัพย์อัประไมย เป็นเจ้าอาวาสวัดนครปฐม ส่วน คุณพ่ออติญาณ พงศ์หว่าน ยังคงเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองหิน แห่งเดียว
สมัยที่คุณพ่ออติญาณ เป็นเจ้าอาวาสประจำอยู่ที่วัดหนองหิน พระคาร์ดินัลได้จัดการให้สร้างโรงเรียนของวัดใหม่ เป็นตึกใหญ่โต 4 ชั้น มีห้องเรียน 38 ห้อง สร้างบ้านพักซิสเตอร์ และเชิญภคินีจากคณะธิดาพระราชินีมารีอาผู้นิรมล 3 ท่าน มาทำหน้าที่ครูใหญ่หนึ่งท่าน ส่วนอีกสองท่าน เป็นผู้ช่วย และพระคาร์ดินัลยังให้สร้างโรงอาหารและหอพักนักเรียนประจำ คุณพ่ออติญาณ ได้ประจำอยู่ที่วัดหนองหินถึงวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1989
คุณพ่ออเล็กซิส สุรชัย กิจสวัสดิ์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบสี่ ปี ค.ศ. 1989-1994
คุณพ่อสุรชัย กิจสวัสดิ์ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองหิน พระคาร์ดินัล ได้มอบหมายให้คุณพ่อจัดสร้างบ้านพักพระสงฆ์ใหม่ สร้างกำแพงรอบวัดและโรงเรียน ส่วนเรือนไม้หลังยาว 1,103 เมตร ที่คุณพ่อริชารด์ได้สร้างไว้นั้น ได้รับการซ่อมแซมมาหลายครั้ง จึงจำเป็นต้องสร้างตึกใหม่ นอกจากนี้ พระคาร์ดินัล ยังให้ปรับพื้นที่สนามหน้าโรงเรียนให้เรียบร้อย และมีโครงการจะสร้างหอระฆัง อาคารอเนกประสงค์ ถ้ำแม่พระ และสร้างสุสานใหม่ที่ทันสมัย พร้อมกับทำการบูรณะวัดและจัดฉลองสมโภช 100 ปี ในปี ค.ศ. 1990
คุณพ่อยอแซฟ ประมวล พุฒตาลศรี
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบห้า ในปี ค.ศ. 1994 - 1995
คุณพ่อยอแซฟ กิตติศักดิ์ กาญจนธานินทร์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบหก ในปี ค.ศ. 1995 - 1999
คุณพ่อเปโตร สานิจ สถะวีระวงส์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบเจ็ด ในปี ค.ศ. 1999 – 2004
คุณพ่อยอห์น วรวุฒิ กิจสกุล
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบแปด ในปี ค.ศ. 2004 – 2009
คุณพ่อยอห์น ไพริน เกิดสมุทร
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบเก้าในปี ค.ศ. 2009-2014
คุณพ่อสุเทพ พงษ์วิรัชไชย
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ยี่สิบ ปี ค.ศ. 2014-2016
ปี ค.ศ. 2015 มีกลุ่มจากเขตครูคาทอลิกมาแสวบุญที่วัด
- จัดฉลองคู่แต่งงาน ครบ 25 ปี และ 50 ปี
คุณพ่อวิจิตต์ แสงหาญ
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ยี่สิบเอ็ด ปี ค.ศ. 2016-2021
คุณพ่อสุรพันธ์ ดาวพิเศษ
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ยี่สิบสอง ปี ค.ศ. 2021-ปัจจุบัน
แผนที่การเดินทาง