-
Category: ประวัติวัดในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เขต 5
-
Published on Tuesday, 08 December 2015 03:19
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 8467
วัดพระคริสตกษัตริย์ (นครปฐม)
เลขที่ 222/4 ถนนราชดำเนิน ตำบลพระปฐมเจดีย์
อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000
โทร. 0-3425-8507, 0-3425-9113
โทรสาร 0-3425-9113
เมื่อปี ค.ศ. 1876 มีคริสตังบางคนไปทำมาหากินที่นครปฐม ได้มีโอกาสคุยกับคนต่างศาสนา และชักชวนเขาให้เข้าเป็นคริสตังด้วย และแนะนำเขาให้ไปหาพระสังฆราชที่กรุงเทพฯ ให้หาคนมาสอนคำสอน เพื่อพวกเขาจะได้รับพระคุณแห่งศีลล้างบาป และถ้ามีมิสชันนารีไปตั้งหลักที่นั่นสักองค์หนึ่งก็จะมีคริสตังใหม่นับร้อยคน แต่พระสังฆราชก็ไม่มีพระสงฆ์พอที่จะส่งไปได้ในเวลานั้น
คุณพ่อเลออง ริชาร์ด
เจ้าอาวาสองค์แรกและผู้สร้างวัดหลังแรก
คุณพ่อริชาร์ด เป็นผู้ริเริ่มและสร้างวัดพระคริสตกษัตริย์ ฉะนั้นจึงขอเล่าประวัติของคุณพ่อควบคู่ไปกับประวัติวัดนี้ด้วย เพื่อบรรดาคริสตังจะได้คิดถึงและรู้จักผู้มีพระคุณองค์นี้เป็นพิเศษ
คุณพ่อเลออง ริชาร์ด เกิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1871 ในสังฆมณฑลแรนส์ เข้าศึกษาในบ้านเณรของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ในปี ค.ศ. 1890 บวชเป็นพระสงฆ์ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1894 เดินทางมาถึงประเทศไทยวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1894 ถึงกรุงเทพฯ วันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1894 ไม่นานต่อมาเป็นปลัดวัดแปดริ้ว ดูแลเฉพาะวัดดอนกระทุ่มยางอยู่ 1 ปี
ต่อมาไปประจำที่วัดปากลัดและวัดปากน้ำ โดยเป็นปลัดของวัดกาลหว่าร์ คุณพ่อยังไปดูแลคริสตังที่อำเภอพระโขนง และช่วยตั้งกลุ่มคริสตชนที่หัวตะเข้ ทำงานนี้อยู่มานานราว 10 ปี ในปี ค.ศ. 1907 คุณพ่อเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสและกรุงโรม ปี ค.ศ. 1910 คุณพ่อเป็นเจ้าอาวาสวัดแม่กลองและท่าจีน จากนั้นคุณพ่อไปประจำที่วัดดอนกระเบื้อง ที่นี่คุณพ่อทุ่มเทดูแลวิญญาณสัตบุรุษและแนะให้พวกเขาประกอบอาชีพด้วย คุณพ่อได้ซื้อที่ดินและสร้างวัดที่บางตาลด้วย นอกนั้นคุณพ่อยังเห็นว่าบ้านโป้งเป็นทำเลดีมีลู่ทางทำมาหากินแจ่มใสกว่า คุณพ่อจึงได้ซื้อที่ดินไว้ และต่อมาได้สร้างวัดน้อยขึ้นที่นั่นด้วย คุณพ่อได้บันทึกไว้ในปี ค.ศ. 1923 ว่า “ที่บ้านโป่ง ข้าพเจ้าได้เปิดโรงเรียนขึ้น...มีนักเรียน 50 คนแล้ว มีเด็กเรียนคำสอน 12 คน โรงเรียนนี้ตั้งอยู่ชั่วคราวในวัดซึ่งเพิ่งได้สร้างขึ้นนั้น จนกว่าข้าพเจ้าจะได้มีปัจจัยเพื่อสร้างโรงเรียนที่เหมาะสม”
ได้เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1926 ระบาดทั่วบ้านโป้งนานหลายเดือน มีคนตายเป็นจำนวนมาก แต่มีคริสตังเสียชีวิตเพราะโรคระบาดนี้เพียง 3 คนเท่านั้น สำหรับคุณพ่อแล้วเห็นว่า เป็นท่านนักบุญยอแซฟ ที่ได้ช่วยปกป้องบรรดาคริสตังให้พ้นภัยพิบัติดังกล่าว และที่นี่เองคุณพ่อเริ่มพบกับการต่อต้านศาสนาบ้างเล็กน้อย วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1929 มิสซังสยามได้มอบการปกครองทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่จังหวัดราชบุรีไปจนถึงทางเหนือของแหลมมะละกาให้คณะซาเลเซียน คุณพ่อริชาร์ด จึงต้องย้ายไปวัดหนองหิน ซึ่งคุณพ่อดูแลอยู่แล้ว หนองหินเป็นวัดเล็กๆ อยู่นอกเมืองนครปฐม มีคริสตังกลุ่มเล็กๆ ที่ยากจนและได้รับความยากลำบากมาก “ที่หนองหิน คริสตังได้รับความลำบากตลอด 3 ปี ติดๆ กัน 2 ปี แรกน้ำท่วม ปีต่อมาเกิดฝนแล้งทำนาไม่ได้ผล”
คุณพ่อริชาร์ด เคยมองจากดอนกระเบื้อง มุ่งจะไปบ้านโป่ง ที่หนองหินนี้ คุณพ่อหนักใจต้องการจะไปตั้ง ไปเปิดวัดใหม่ในเมืองใกล้เคียง คือ ที่นครปฐม
ความตั้งใจของ
คุณพ่อริชาร์ด ปี ค.ศ. 1912
ในช่วงที่คุณพ่อเป็นเจ้าอาวาสที่ดอนกระเบื้อง ซึ่งมีสาขาใหม่ในเวลานั้น คือ บ้านยาง ทุ่งน้อย และหนองหิน คุณพ่อก็มุ่งจะไปแพร่ธรรมในเมืองหรือตลาดใหญ่ๆ เช่น บ้านโป่ง นครปฐม ดังนั้นในปีนั้นเอง คุณพ่อได้มาซื้อที่ดินหลายแปลงในนครปฐม โดยตั้งใจที่จะเปิดกลุ่มคริสตชนใหม่ในเมืองนี้ แต่ขาดบุคลากร และขาดปัจจัย จึงต้องเลื่อนโครงการนี้ไปเนิ่นนาน กว่าจะได้มาพิจารณาใหม่และดำเนินให้สำเร็จลงได้
ความหวัง ปี ค.ศ. 1932
จากรายงานถึงกรุงปารีส คุณพ่อกล่าวว่า “เมื่อเดือนกันยายนที่แล้ว ผมมีความหวังว่าจะไปตั้งวัดขึ้นที่นครปฐม เพราะนานแล้วที่ผมอยากไปตั้งหลักขึ้นที่นั่น แต่พระเป็นเจ้ายังไม่โปรดให้ความพยายามของผมสำเร็จ เพราะขาดปัจจัยและขาดคนช่วยเหลือ คริสตังที่หนองหินก็ยากจนและน้อยเกินไป ไม่อาจจะมีอิทธิพลอะไร...แต่ถึงอย่างไร ผมก็ยังหวังว่าพระเป็นเจ้าจะทรงอวยพระพรความพยายามของผม...”
เตรียมสร้างวัดในปี ค.ศ. 1936
คุณพ่อริชาร์ด ซึ่งมีหน้าที่เป็นจิตตาธิการอารามภคินีรักไม้กางเขน และเป็นผู้ดูแลกลุ่มคริสตังที่หนองหิน ได้รับความบรรเทาใจที่มีผู้เตรียมตัวรับศีลล้างบาปหลายคน แต่คุณพ่อสามารถไปพักอยู่ในหมู่บ้านบางครั้งบางคราวเท่านั้น”
กระนั้นก็ดี คุณพ่อริชาร์ด ก็ยังคิดถึง...นครปฐม ที่อำเภอเมืองนครปฐม ใกล้ๆ นั้นมีคริสตังอยู่หลายคน นานแล้วที่เราปรารถนาจะสร้างโบสถ์ย่อมๆ ขึ้นมาสักหลังหนึ่งเพื่อรวบรวมคริสตังพวกนี้ โดยหวังว่าจะหาผู้เตรียมตัวรับศีลล้างบาปเป็นต้นจากชาวสวนใกล้ๆ หมู่บ้าน ความปรารถนานี้ก็เริ่มมีการดำเนินการ คุณพ่อริชาร์ด กำลังรวบรวมวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้ก่อสร้างอยู่...”
วัดพระคริสตกษัตริย์เป็นจริง ปี ค.ศ. 1936-1937
กันยายน – ตุลาคม ค.ศ. 1936 สร้างวัด
ในหน้าแรกบัญชีศีลล้างบาปเล่มที่สองของวัดหนองหิน คุณพ่อริชาร์ดได้บันทึกไว้เป็นภาษาลาติน แปลว่า “ในวัดหลังนี้ : ซึ่งสร้างเสร็จภายในเดือนกันยายน – ตุลาคม ค.ศ. 1936 ได้กระทำมิสซาเป็นครั้งแรก วันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1936 ตรงกับวันฉลองพระคริสตกษัตริย์”
24 พฤษภาคม ค.ศ. 1937 เสกวัดอย่างสง่า
“ในปี ค.ศ. 1937 แห่งพระคริสตศักราช วันที่ยี่สิบของเดือนพฤษภาคม ในเมืองนครปฐม พระสังฆราชแปร์รอส พระสังฆราชแห่งโซอาราและประมุขมิสซัง กรุงเทพฯ ได้กระทำพิธีอย่างสง่า เสกวัดที่สร้างขึ้นที่นครปฐม และได้ตั้งชื่อให้ว่า “วัดพระคริสตกษัตริย์”
ผู้มีร่วมพิธีมี คุณพ่อซันลีแอร์ คุณพ่อตาปี คุณพ่อโชแรง คุณพ่อยวง แห่งเทียบสังฆมณฑลกรุงเทพฯ สังฆมณฑลกรุงเทพฯ และคุณพ่อกาวัลลากับคุณพ่อเลาแรนเตของมิสซังราชบุรี” แล้วนั้น คุณพ่อริชาร์ดเซ็นชื่อรับรองไว้ แต่คุณพ่อได้เขียนเป็นภาษาลาติน อ่านแล้ว เห็นมีชื่อ “คุณพ่อยวง” คือ ใครกันแน่ๆ
ในนิตยสาร สงฆ์สัมพันธ์ Trait d’Union ปี ค.ศ. 1937 ฉบับที่ 7 หน้า 24 คุณพ่อโชแรง กล่าวถึงการเสกวัดนครปฐม วันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1937 บอกชื่อพระสงฆ์ที่มาร่วมพิธี ตรงกับที่ คุณพ่อริชาร์ด บันทึกไว้ แต่เมื่อมาถึง คุณพ่อยวง คุณพ่อโชแรงเขียนว่า “และยอแซฟ เคียมสูน ผู้มาแทนคุณพ่อ (นครชัยศรี) ซึ่งได้ทำบุญเป็นพิเศษช่วยสร้างวัดนี้” (เวลานั้น คุณพ่อยอแซฟ ยวง เคียมสูน เป็น ปลัดวัดนครชัยศรี ใครๆ ก็เรียกท่านว่า คุณพ่อยวง)
คุณพ่อริชาร์ดได้สร้างบ้านพ่อด้วยหลังหนึ่ง
คุณพ่อริชาร์ด ไปฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1939 เพื่อรักษาตัวและพักผ่อน ปี ค.ศ. 1940 กลับประเทศไทยและไปเป็นเจ้าอาวาสวัดปากคลองท่าตลาดและท่าเกวียน ปลายปีเดียวกัน ก็เริ่มมีกรณี พิพากอินโดจีน
มิสชันนารีต่างๆ ต้องไปอยู่ไซ่ง่อนและได้กลับประเทศไทยในราวปลายปี ค.ศ. 1941 คุณพ่อริชาร์ดยู่วัดหนองหิน ดูแลวัดนครปฐมด้วย ครั้งหนึ่ง ปี ค.ศ. 1944 มีการฉลองสุวรรณสมโภช แห่งการเป็นพระสงฆ์ของคุณพ่อ ที่วัดหนองหิน
ปีค.ศ. 1945 คุณพ่อมีปัญหาสุขภาพจึงมาพักที่ศูนย์กลางของมิสซังที่บางรัก กรุงเทพฯ วันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 1953 คุณพ่อเข้าโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ วันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1945 คุณพ่อริชาร์ด ฉลองวชิรสมโภชแห่งการเป็นพระสงฆ์ (ครบ 60 ปี) พระสังฆราชโชแรงและพระสงฆ์จำนวนมากมาร่วมในงานฉลองที่คลองเตย คุณพ่อ ริชาร์ดออกจากโรงพยาบาลเป็นครั้งสุดท้าย
ต้นเดือนเมษายน ค.ศ. 1956 สุขภาพของคุณพ่อเสื่อมโทรมมาก คุณพ่อถวายวิญญาณคืนแด่พระเป็นเจ้า ในวันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1956 เวลา 10.00 น. วันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1956 พระสังฆราชโชแรง ทำมิสซาปลงศพคุณพ่อ มีพระสงฆ์จำนวนมากมาร่วมพิธี พร้อมกับสัตบุรุษ วัดบ้านโป่ง หนองหิน นครปฐม เต็มอาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ
คุณพ่อริชาร์ด เป็นแบบฉบับชีวิตมิสชันนารีดียอดเยี่ยม คุณพ่อเป็นนักเดินทางผ่านป่าดงพงไพร เป็นนักก่อสร้าง คุณพ่อช่วยคนต่างศาสนาให้กลับใจมากมาย คุณพ่อเอาใจใส่คริสตังเป็นอย่างดี พร้อมทั้งเป็นคนศรัทธาแก่กล้า ในบั้นปลายของชีวิต ภาพที่คุณพ่อทำวัตรประจำวันนั้นเป็นที่ประทับใจ ทุกคนที่ได้พบเห็น คุณพ่อถือการสวดนี้เป็นกิจวัตรที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ บางครั้ง คุณพ่อหลงลืมเพราะวัยชรา จำวันไม่ได้ หรือจำได้ประเดี๋ยวก็ลืมไป คุณพ่อสวดไม่ตรงกับวันบ่อยๆ พอรู้ตัวก็เริ่มใหม่ คุณพ่อพอใจสวดภาวนาบทที่สั้นๆ ดีกว่าสวดบทที่ยาวแต่สวดผิด ชีวิตของคุณพ่อเป็นแบบฉบับที่เราน่าเลียนแบบเท่าทีสามารถทำได้
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 เป็นต้นมาพระสงฆ์ที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองหินก็จะเป็นเจ้าอาวาสวัดนครปฐมด้วย ได้แก่ คุณพ่อเลาแรนเต (ค.ศ. 1946-1949) คุณพ่อองค์นี้ภายหลังเมื่อลาพักเกษียณแล้วในปี ค.ศ. 1956 ท่านยังมาพักอยู่ที่วัดนครปฐมจนถึงปี ค.ศ.1967, คุณพ่อเดอซูซา (ค.ศ. 1949-1954) ปกติท่านจะพักประจำอยู่ที่หนองหิน และไปทำมิสซาวันอาทิตย์ที่นครปฐมเป็นครั้งคราว, คุณพ่อเลโอนารด์ กลิ่น ผลสุวรรณ (ค.ศ. 1954-1958), คุณพ่อบรูซ์ (ค.ศ. 1958-1968) คุณพ่อพักประจำที่วัดนครปฐมเป็นส่วนมาก, คุณพ่อฮาแบสโตร (ค.ศ. 1968-1976) ท่านส่งปลัดของท่านที่หนองหินคือ คุณพ่อบรูโน มาดูแลวัดนครปฐมและพักประจำที่วัดนี้
ปี ค.ศ. 1976 ในสมัยที่คุณพ่อจิลล์เป็นเจ้าอาวาส ทางอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ โดยพระอัครสังฆราช ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้ทำการบูรณะกลุ่มคริสตชนนครปฐม โดยการสร้างวัดใหม่เป็นตึกทันสมัย มีพิธีเสกอย่างสง่า ในวันฉลองพระคริสตกษัตริย์ วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1981 โดยพระอัครสังฆราช ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เป็นประธาน มีพระสงฆ์มาร่วมฉลองกว่า 60 องค์ นอกจากนี้ยังได้จัดสร้างหอระฆัง และบ้านพักพระสงฆ์เป็นตึกหลังใหญ่อีกด้วย เนื่องจากไม่มีพระสงฆ์ประจำอยู่ที่วัดนครปฐม จึงมีพระสงฆ์จากบ้านเณรเล็กสามพราน มาทำมิสซาให้เป็นประจำทุกวันอาทิตย์ จนถึงปี ค.ศ. 1984 คุณพ่ออติญาณ พงษ์หว่าน เจ้าอาวาสวัดหนองหินได้มาดูแลวัดนครปฐมจนถึงวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1986 พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้แยกวัดนครปฐม จากวัดหนองหิน โดยแต่งตั้งคุณพ่อศักดิ์ชัย ทรัพย์อัประไมย มาเป็นเจ้าอาวาสดูแลเฉพาะวัดนครปฐมเป็นครั้งแรกจนถึงปี ค.ศ. 1990 คุณพ่อบรรจบ โสภณ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 1990-1994 คุณพ่อได้ดำเนินงานจัดสร้างอนุสาวรีย์พระคริสตกษัตริย์ขึ้นจนสำเร็จในปี ค.ศ. 1991
ปี ค.ศ. 2016 ฉลองวัดโอกาสครบรอบ 80 ปี ชุมชนแห่งความเชื่อ
ปี ค.ศ. 2017 ทำสวนหย่อมหน้าบ้านพระสงฆ์ ทำห้องประชุมใหม่ที่บ้านพักพระสงฆ์ ทำกำแพงรอบวัด
ปี ค.ศ. 2019 - วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม บรรดาสัตบุรุษร่วมพิธีฉลองเปิด 350 ปี มิสซังสยามที่หอประชุมยอห์น ปอลที่ 2
- วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน บรรดาสัตบุรุษร่วมรับเสด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ที่วัดนักบุญเปโตร สามพราน
- วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน ฉลองชุมชนแห่งความเชื่อวัดพระคริสตประจักษ์ นครปฐม
- จัดตั้งเวชบุคคลคาทอลิกของวัด เพื่อช่วยให้บริการสัตบุรุษโอกาสฉลองวัด
- โครงการเยี่ยมเยียนสัตบุรุษของสภาภิบาลวัด เพื่อสร้างความสามัคคี
ปี ค.ศ. 2020 - เดือนกุมภาพันธ์ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มมากขึ้น
- ก่อนอาทิตย์แห่ใบลาน รัฐบาลประกาศให้งดกิจกรรมรวมในที่สาธารณะ
- ตั้งแต่วันอาทิตย์แห่ใบลาน งดสัตบุรุษเข้าร่วมพิธีมิสซาแต่ให้ติดตามทางออนไลน์
- ฉลองวัดประจำปีจัดได้เพราะเริ่มให้สัตบุรุษเข้าร่วมพิธีได้แบบ New Normal
- ตลอดปีที่ผ่านมา การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การดำเนินชีวิตของคนเราเปลี่ยนไป รวมทั้งชีวิตฝ่ายจิตของคริสตชน ต้องติดตามพิธีผ่านทางออนไลน์ แต่ก็เห็นว่า พี่น้องคริสตชนก็ไม่ท้อถอยแต่ปรับตัวโดยทำให้ชีวิตสนิทกับพระในรูปแบบที่เหมาะสม
ปี ค.ศ. 2021 แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงอยู่จนปัจจุบัน กิจกรรมต่างๆ ของวัดยังคงดำเนินการอยู่เป็นปกติ มิสซาวันเสาร์ - อาทิตย์ ยังมีอยู่ กิจกรรมอื่นๆ มีตามปกติ ฉลองวัดประจำปีจัดผ่านไปได้ด้วยดี
ปี ค.ศ. 2022 ยังอยู่ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 มิสซาบูชาขอบพระคุณ กิจกรรม - พิธีกรรม ต่างๆ ยังมีตามปกติ จัดฉลองวัดแบบ New Normal
รายชื่อเจ้าอาวาสและผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดพระคริสตกษตริย์ นครปฐม
ลำดับที่
|
เจ้าอาวาส
|
ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
|
ระยะเวลา
|
1.
|
คุณพ่อริชาร์ด
|
|
1936-1939
|
2.
|
คุณพ่อลารเก
|
|
1939-1941
|
|
|
คุณพ่อยอลี
|
1939-1941
|
3.
|
คุณพ่อริชาร์ด
|
|
1942-1945
|
4.
|
คุณบอนิฟาส
|
|
1945-1946
|
5.
|
คุณพ่อเลาแรนเต กิมควง
|
|
1946-1949
|
6.
|
คุณพ่อยอแซฟ เดอซูซ่า
|
|
1949-1954
|
7.
|
คุณพ่อเลโอนารด์ สิงหนาท ผลสุวรรณ
|
|
1954-1958
|
8.
|
คุณพ่อบรูซ์
|
|
1958-1968
|
9.
|
คุณพ่อเปโอล์ต (รักษาการแทน)
|
|
1966-1966
|
10.
|
คุณพ่อฮาแบรส์โตร
|
|
1968-1976
|
|
|
คุณพ่อบรูโน อเรนส์
|
1974-1976
|
11.
|
คุณพ่อจิลล์
|
|
1976-1984
|
|
|
คุณพ่อปรีชา ธรรมนิยม
|
1977-1979
|
|
|
พณฯ มีชัย กิจบุญชู
|
1981-1981
|
|
|
คุณพ่อซิลวาโน มายิสตราลี
|
1977-1979
|
12.
|
คุณพ่ออติญาณ พงศ์หว่าน
|
|
1984-1986
|
13.
|
คุณพ่อศักดิ์ชัย ทรัพย์อัประไมย
|
|
1986-1990
|
14.
|
คุณพ่อบรรจบ โสภณ
|
|
1990-1994
|
15.
|
คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์
|
|
1994-1995
|
16.
|
คุณพ่อเอกพงษ์ พงษ์สูงเนิน
|
|
1995-1997
|
17.
|
คุณพ่อพงษ์เกษม สังวาลย์เพ็ชร
|
|
1997-1998
|
18.
|
คุณพ่อวิทยา ลัดลอย
|
|
1998-2003
|
19.
|
คุณพ่อมาโนช สมสุข
|
|
2003-2005
|
20.
|
คุณคมสันท์ ยันเจริญ
|
|
2005-2009
|
21.
|
คุณพ่อประสาร คูรัตนสุวรรณ
|
|
2009-2014
|
22.
|
คุณพ่อกิตติศักดิ์ กาญจนธานินทร์
|
|
2014-2021
|
23.
|
คุณพ่อศรีปราชญ์ ผิวเกลี้ยง
|
|
2021-ปัจจุบัน
|
แผนที่การเดินทาง