วัดพระวิสุทธิวงส์ (วัดลำไทร)

 

วัดพระวิสุทธิวงส์ (วัดลำไทร)


3 ม.5 ต. ลำไทร อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 12150
โทร. 0-2563-1013 โทรสาร 0-2997-4377
 
ในสมัยพระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ปกครองมิสซังสยาม จำนวนคริสตังได้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มชาวจีนที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในสยาม อีกทั้งมีคริสตังจำนวนไม่น้อยที่โยกย้ายถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพกระจายตัวออกไปยังหัวเมืองต่างๆของสยาม บางครอบครัวอยู่ห่างจากวัดมากทำให้ขาดการประกอบศาสนกิจ ดังนั้น ใน ค.ศ. 1896 คุณพ่อเอเตียน บาร์เทโลมี แดซาลส์ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดแม่พระลูกประคำ กาลหว่าร์ ได้มีดำริที่จะจัดตั้งชุมชนคริสตชนขึ้นใน ดังที่ปรากฎในรายงานประจำปีของมิสซังสยาม ค.ศ. 1898 ความว่า
 
“จากประสบการณ์ที่ผ่านมานานแล้วในอดีต จะเห็นว่า หากเราสามารถจัดให้คริสตังใหม่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันได้ ก็จะเป็นวิธีดีที่สุดที่จะให้พวกเขาสามารถปฏิบัติพระศาสนาได้”
 
ประกอบกับในเวลานั้นได้มีการขุดคลองขึ้นหลายสายผ่านทุ่งราบว่างเปล่าทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่เรียกว่า ทุ่งรังสิต คุณพ่อแดซาลส์จึงได้เรียกประชุมบรรดาเถ้าแก่ที่เป็นสัตบุรุษวัดกาลหว่าร์เพื่อปรึกษาในเรื่องนี้ และได้ทำการตกลงจัดตั้งบริษัทขึ้น ในวันที่ 6 มกราคม รัตนโกสินทรศก 115 ตรงกับ ค.ศ. 1897 โดยในช่วงเริ่มแรกได้ใช้ชื่อว่า “ลำไซบริษัท” มีจุดประสงค์เพื่อจะได้รับพระราชทานสิทธิ์ในการซื้อที่ดินแปลงใหญ่จากรัฐบาลมาเป็นพื้นที่ทำการเกษตร โดยบรรดาเถ้าแก่ได้สละเงินคนละพันสองพันหรือ 2-3 ร้อยอัฐ (ค่าเงินในสมัยนั้น) ตามฐานะของตนเพื่อเป็นทุนในการก่อตั้งบริษัทและจัดซื้อที่ดิน เมื่อได้รับพระราชทานสิทธิ์จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว จึงได้จัดซื้อที่ดินบริเวณที่ราบเหนือกรุงเทพฯ ตามคลอง 6 วาในระหว่างคลองที่ 11-12 จำนวนประมาณ 8,000  ไร่
 
ใน ค.ศ. 1897 เมื่อการจัดซื้อที่ดินแล้วเสร็จ คุณพ่อแดซาลส์จึงได้เริ่มโครงการเปิดกลุ่มคริสตังใหม่ขึ้นในโดยส่งคุณพ่อปลัดของท่านคือ คุณพ่อยวง เฮียง แซ่ลิ้ม (นิตตะโย) ซึ่งในขณะนั้นกำลังทำงานแพร่ธรรมอยู่แถบปากลัดและปากน้ำมาหลายปีแล้ว ให้เป็นผู้แทนของท่านมาอยู่ที่ลำไทร โดยเริ่มแรกคุณพ่อยวง เฮียง ได้จัดสรรที่ดินให้คริสตังจีนหลายครอบครัวที่มาขอทำมาหากินได้ทำนา ท่านยังได้สร้างวัดน้อยเป็นไม้ไผ่ โดยใช้ห้องหนึ่งเป็นที่พักอาศัยของท่าน อีกทั้งได้ทำการเปิดบัญชีศีลล้างบาปขึ้นในปีแรกของการก่อตั้งชุมชนคริสตชน และได้ถวายวัดน้อยไว้ภายใต้ความอุปถัมภ์ของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่แรกสร้างวัด โดยทราบจากรายงานประจำปีของมิสซังสยาม ความว่า
 
“ดังนั้น จึงมีคนต่างศาสนาจำนวนมากมาขอตั้งหลักแหล่งในที่ดินดังกล่าวและจะเรียนพระศาสนาได้โดยไม่ต้องถูกรังแก ดินแดนดังกล่าวได้แก่ ลำไทร ซึ่งวัดเป็นนามชื่อครอบครัวศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งพื้นที่ในการจัดตั้งวัดน้อยดังกล่าวนี้อยู่บริเวณการประปาสุขาภิบาลในปัจจุบัน และสภาพโดยทั่วไปในช่วงแรกของการก่อตั้งชุมชนคริสตังลำไทรได้ถูกบรรยายไว้ในรายงานประจำปีของมิสซังสยาม ค.ศ. 1898 ความว่า
 
“ปัจจุบันมีพระสงฆ์พื้นเมืององค์หนึ่ง (คุณพ่อยวง เฮียง-ผู้เขียน) สร้างที่พักขึ้นท่ามกลางพวกเขาที่มีประมาณ 300 คน กำลังช่วยกันถางป่าหรือเพาะปลูก ยิ่งกว่านั้น ตามลำคลองที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ มีชาวจีนกลุ่มหนึ่งซึ่งเก่งทางการค้าได้จัดตั้งตลาดขึ้น เป็นที่คาดการณ์ได้ว่า ไม่นานจำนวนคริสตังจะเพิ่มขึ้น เพราะที่ดินดังกล่าวอุดมสมบูรณ์มาก”
 
 
นอกจากบรรดาคริสตังที่มาขออยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ในคราวเดียวกันก็มีชาวจีนที่เป็นคนต่างศาสนามาขออาศัยอยู่ด้วย ซึ่งคุณพ่อยวง เฮียงก็ยินดีต้อนรับ ดังที่มีบรรยายไว้ในรายงานประจำปีของมิสซังสยาม ค.ศ. 1900 ความว่า
 
“เมื่อคุณพ่อยวง เฮียงไปตั้งหลักอยู่ที่นี่ (ลำไทร-ผู้เขียน) ก็ประสบผลสำเร็จอย่างรวดเร็วพอควร คริสตังหลายคนที่เคยเช่านาข้าวของคนต่างศาสนา คริสตังเหล่านี้ก็เดินทางมาจับกลุ่มอยู่กับคุณพ่อยวงที่ลำไทร ต่อมามิช้า ครอบครัวคนต่างศาสนาบางครอบครัวมาขอตั้งหลักรวมอยู่ด้วยในบริเวณนี้ก็ได้รับอนุญาต แน่นอน คนต่างศาสนาที่น่าสงสารเหล่านั้นมิได้เคยคิดถึงเรื่องพระศาสนาเลย แต่เนื่องด้วยพวกเขามีความสัมพันธ์อันดีกับพวกคริสตัง และอาศัยการดำเนินการที่รอบคอบของคุณพ่อยวง พวกเขาค่อยๆ เข้ามาฟังคำสอนกันทีละคนสองคน กลุ่มคริสตังน้อยๆจึงเติบโตใหญ่ขึ้นทุกที ขณะนี้มีคริสตัง 450 คน นอกนั้น ยังมีผู้ที่กำลังเรียนคำสอนอีก 150 คน ที่ถือโอกาสใช้เวลาว่างในการศึกษาพระธรรมคำสอน และไม่ช้า พวกเขาเหล่านี้ก็จะกลายเป็นคริสตังเช่นกัน”
 
ใน ค.ศ. 1899 เมื่อการแพร่ธรรมเริ่มรุดหน้ามากขึ้น คุณพ่อแดซาลส์จึงได้ส่งคุณพ่อปลัดมาช่วยคุณพ่อยวง เฮียงอีกองค์หนึ่งคือ คุณพ่ออะลอยซีอุส มัทธิอัส บุญธรรม ต่อมาใน ค.ศ. 1901 ในรายงานประจำปีของมิสซังสยาม ได้รายงานความว่า
 
“เขตลำไทร มีคุณพ่อยวง เฮียง พระสงฆ์พื้นเมืองเป็นผู้ปกครอง ท่านเป็นพระสงฆ์ที่กระฉับกระเฉง ศรัทธา และปฏิบัติงานการต่างๆมากมาย ท่านรู้ภาษาไทย ญวนและภาษาจีนอีก 3 ภาษา ท่านสามารถสนทนาและเทศน์ภาษาเหล่านี้ได้ทุกภาษา งานที่อยู่ในความดูแลของท่านยากลำบากขึ้น เพราะสัตบุรุษของท่านอยู่ห่างไกลกันมาก”
 
ใน ค.ศ. 1903 คุณพ่อแดซาลส์ป่วยจึงต้องกลับไปรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศส คุณพ่อฟูยาต์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการณ์แทนเจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์ และดูแลวัดลำไทรด้วย คุณพ่อยวง เฮียงเห็นว่ามีตลาดอีกแห่งหนึ่งซึ่งกำลังขยายตัวเหมาะที่จะไปตั้งกลุ่มคริสตชน ท่านจึงขอผู้ช่วยอีกท่านหนึ่งเพื่อท่านเองจะได้มีเวลาว่างมากพอที่จะไปก่อตั้งศูนย์การแพร่ธรรมแห่งใหม่ที่คลอง 17 ได้ คุณพ่อเลออง กีญารต์จึงถูกส่งมาเป็นผู้ช่วยจนถึง ค.ศ. 1904  คุณพ่อกีญารต์ได้ย้ายไปยังวัดคอนเซปชัญ ส่วนคุณพ่อยวง เฮียงเองก็ได้ไปเปิดวัดใหม่ที่เสาวภา (วัดหัวควาย) ขณะนั้นวัดลำไทรได้เริ่มมีจำนวนคริสตังเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทราบจากรายงานประจำปี ค.ศ. 1904 ความว่า
 

“เรามีผู้ที่กำลังเรียนคำสอนอยู่ประมาณ 250 คนที่ลำไทรและบริเวณใกล้เคียง พวกเขาจะได้รับศีลล้างบาป เมื่อเห็นว่าพวกเขาพร้อมที่จะเข้าได้ คริสตังที่นี่ทั้งเก่าและใหม่มีจำนวน 560 คน สำหรับคริสตชนกลุ่มนี้ ทุกสิ่งยังเป็นแต่การก่อสร้างชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นวัด บ้านพักพระสงฆ์มิชชันนารี โรงเรียน และโรงสอนคำสอน”
 
ใน ค.ศ. 1905 คุณพ่อเดซิเร ยัง บัปติสต์ ดือรังด์ ได้รับแต่งตั้งให้มาเป็นเจ้าอาวาสอย่างเป็นทางการของวัดลำไทร โดยวัดลำไทรเป็นอิสระไม่ต้องขึ้นกับวัดกาลหว่าร์อีกต่อไป คุณพ่อยวง เฮียงก็ยังคงทำหน้าที่คุณพ่อปลัดอยู่โดยช่วยที่วัดลำไทรบ้าง ไปที่คลอง 17 (หัวควาย) เพื่อตั้งกลุ่มคริสนใหม่ให้มั่นคง และตั้งแต่ ค.ศ. 1906 คุณพ่อยวง เฮียงก็ยังต้องดูแลวัดบ้านเล่า (นครนายก) และวัดหนองรี ดังนั้นคุณพ่อดือรังด์จึงต้องขอคุณพ่อปลัดองค์อื่นเพื่อมาช่วยงาน 
 
เนื่องจากวัดหลังเก่าเล็กเกินไปสำหรับคริสตังที่กำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้น คุณพ่อดือรังด์จึงได้เริ่มสร้างวัดหลังใหม่ขึ้นเป็นอิฐฉาบปูนที่ถาวร แข็งแรงและสวยงาม มีลักษณะของตัววัดเป็นแบบกางเขนโรมัน กว้าง 20.70 เมตร ยาว 55.10 เมตร มียอดโดมเป้นแท่งแปดเหลี่ยมสูง 4 ชั้น ตัววัดประดับกระจกสีจากประเทศฝรั่งเศส สร้างเสร็จใน ค.ศ. 1910 และทำพิธีเสกอย่างสง่าในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1911 โดยพระสังฆราชเรอเน มารี ยอแซฟ แปร์รอส เนื่องจากวัดนี้ตั้งแต่แรกเริ่มได้ถวายแด่ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ดังนั้นจึงได้ตั้งชื่อวัดอย่างเป็นทางการว่า “วัดพระวิสุทธิวงส์” โดยเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้ถูกบันทึกไว้ในรายงานประจำปีของมิสซังสยาม ค.ศ. 1912 ความว่า
 
“วันที่ 21 กันยายน 1911 เรา (พระสังฆราชเรอเน แปร์รอส-ผู้เขียน) ดีใจที่มีโอกาสเสกวัดสวยสร้างด้วยอิฐ ที่สร้างขึ้นแทนวัดไม้หลังน้อย ซึ่งคับแคบเกินไปและผุพังลง คุณพ่อดือรังด์ปลาบปลื้มมากที่สามารถสร้างวัดที่ใช้เวลานานนี้สำเร็จลงได้ ท่านกล่าวชมสัตบุรุษของท่านว่า “พวกเขาขยันขันแข็งในการมาวัดวันอาทิตย์กัน วัดใหม่อันกว้างใหญ่นี้ เกือบจะเต็มทุกวันอาทิตย์ เมื่อมีการฉลองใหญ่ ทุกคนก็รับศีลมหาสนิทมาก โดยอาศัยพระหรรษทานช่วย ผมหวังว่าจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจถึงผลดีมากมายในการรับศีลมหาสนิทบ่อยครั้ง”
 
นอกจากนั้นคุณพ่อดือรังด์ยังได้สร้างบ้านพักพระสงฆ์ซึ่งตั้งอยู่บรเวณหน้าวัด เมื่อจำนวนคริสตังได้เพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ คุณพ่อเจ้าอาวาสจึงจำเป็นต้องสร้างโรงสวดอื่นๆเพื่อใช้เป็นที่ประชุมแปลคำสอน เช่น ที่คลองสิบ และที่สกัดห้า ใน ค.ศ. 1918 คุณพ่อดือรังด์ได้เปิดโรงสวดที่หนองจอก และเนื่องจากสุขภาพคุณพ่อไม่แข็งแรง ใน ค.ศ. 1921 ท่านจึงได้เดินทางไปพักผ่อนที่ฝรั่งเศส คุณพ่อยัง บัปติสต์ ฟูยาต์จึงได้เป็นเจ้าอาวาสองค์ต่อมา นอกจากท่านจะต้องดูแลวัดลำไทรแล้ว ยังต้องปกครองวัดหนองจอกด้วย ทั้งไปดูแลเองและส่งคุณพ่อปลัดไปแทน ในสมัยของคุณพ่อฟูยาต์ เป็นช่วงเวลาที่วัดลำไทรมักจะประสบกับปัญหาหลายด้านทั้งปัญหาจากผู้ร้าย ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศ และปัญหาจากภัยธรรมชาติ ดังที่ได้มีการกล่าวถึงในรายงานประจำปีของมิสซังสยาม ค.ศ. 1925 ความว่า
 
“ที่ลำไทร คุณพ่อฟูยาต์เขียนรายงานให้ข้าพเจ้าว่า “ผมได้สังเกตเห็นพวกสมาคมลับ (อั้งยี่) เริ่มต่อต้านการเผยแพร่ศาสนาของเราใหม่อีก และยังมีพวกโจรผู้ร้ายดำ
เนินการปล้นสะดมอย่างห้าวหาญอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จนกระทั่งว่าบริเวณตลาด ทุกคนกลัวว่าจะถูกปล้นทำลายเกือยตลอดหนึ่งเดือนตอนสิ้นฤดูร้อน”
 
ในรายงานประจำปีของมิสซังสยาม ค.ศ. 1931 ความว่า
 
“สำหรับปี 1930-1931 สภาพวัดด้านความศรัทธาคงเป็นเช่นเดิม อยู่ในระดับน่าพอใจพอสมควร ไม่ก้าวหน้ามากนัก สัตบุรุษเป็นจำนวนมากอยู่ไกลโบสถ์ จึงทำหน้าที่คริสตังบ่อยเท่าที่เขาอยากทำไม่ได้ ถึงแม้ว่าไปให้ศาสนบริการถึงบ้านเขา เราก็มิอาจเรียกร้องให้เขามีความร้อนรนได้... ในด้านเศรษฐกิจ ปีนี้เป็นปีที่สูญเปล่าเพราะน้ำเกิดท่วมอย่างกระทันหันและรุนแรงผิดปกติ นาทุกแห่งจมอยู่ใต้น้ำ แล้วแต่พระเป็นเจ้าจะทรงโปรดเถิด”
 
และในรายงานประจำปีของมิสซังสยาม ค.ศ. 1932 ความว่า
 
“ผลของปีนี้น้อยกว่าปีกลาย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะทุกวันนี้ทุกข์ยากลำบาก ต้องเป็นห่วงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้พวกชาวนาลำบากมาก”
 
คุณพ่อฟูยาต์ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดลำไทรจนถึง ค.ศ.1935 คุณพ่อจึงได้เดินทางไปจากประเทศสยามไปอาศัยที่บ้านนาซาแร็ธ อันเป็นบ้านของพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสที่เกาะฮ่องกง คุณพ่อดือรังด์จึงได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดลำไทรอีกเป็นครั้งที่สอง และใน ค.ศ. 1939 คุณพ่อดือรังด์ได้รายงานความเป็นไปของวัดลำไทรแก่พระสังฆราชเรอเน แปร์รอส ความว่า
 

“กลุ่มคริสตังที่ลำไทร เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วอยู่เสมอ แต่ก็ยังไม่เร็วเท่าที่ควร เมื่อก่อนนี้ ตอนที่ผมมาอยู่ที่นี่ในระยะแรก (ค.ศ. 1905-1921) สัตบุรุษมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยมีพวกผู้ใหญ่ชาวจีนกลับใจกันมาก แต่เวลานี้ ผู้เตรียมตัวรับศีลล้างบาปมากันทีละคน ที่มีจำนวนคาทอลิกสูงขึ้นได้นั้น เป็นเพราะมีลูกคริสตังเกิดใหม่เป็นส่วนมาก ที่เป็นเช่นนี้ มีสาเหตุหลายประการด้วยกัน ประการแรก เป็นเรื่องวิกฤติการณ์ทั่วไปเกี่ยวกับราคาข้าวตกต่ำ ชาวจีนซึ่งไม่อาจมีรายได้ดีเหมือนสมัยก่อน ต้องหันมากังวลเรื่องการหาเลี้ยงปากท้องไปวันๆหนึ่ง และไม่กังวลเรื่องการช่วยวิญญาณให้รอดเท่ากับสมัยก่อนอีก ประการที่สอง เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆร้อนๆ คือ เรื่องการเข้มงวดของพระราชบัญญัติใหม่ว่าด้วยการศึกษา ที่ทำให้ผมต้องปิดโรงเรียนสอนคำสอน ซึ่งใช้สอนศาสนาให้พวกผู้ใหญ่ กับพวกเด็กที่มิได้ไปเรียนหนังสือในโรงเรียนจีน
 
ผมพยายามดำเนินการต่างๆนานา เพื่อจะหาผู้มีความสามารถสักคนหนึ่ง และเพื่อขออนุมัติจัดตั้งโรงเรียนสอนคำสอนขึ้น ตราบจนถึงวันนี้ ผมยังไม่ได้รับอนุมัติให้เปิดโรงเรียนสอนคำสอนเลย ประการที่สาม อันเป็นการสำคัญ คือ ผมไม่อาจหาครูคำสอนชาวจีนที่พอรู้ภาษาไทยบ้างได้ บุคคลที่ผมให้ทำหน้าที่ครูคำสอนอาสาสมัครไม่มีเงินเดือนเวลานี้ ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปทำการค้าของเขาเอง จึงไม่อาจมาดูแลเรื่องการสอนคำสอนได้อีกแล้ว”
 
คุณพ่อดือรังด์ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดลำไทรจนถึงสงครามอินโดจีน เนื่องจากท่านเป็นชาวฝรั่งเศสที่รัฐบาลสยามในขณะนั้นมีกรณีพิพาทด้วย ท่านจึงต้องออกเดินทางพร้อมด้วยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสอีก 13 องค์ไปลี้ภัยอยู่ในโคชินไชน่า ใน ค.ศ. 1940 คุณพ่ออาแบล เก่ง พานิชอุดม ซึ่งเป็นคุณพ่อปลัดในช่วงนั้นจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสแทน นับเป็นพระสงฆ์ไทยองค์แรกที่เป็นเจ้าอาวาสวัดลำไทร นอกจากดูแลวัดลำไทรแล้วคุณพ่อยังดูแลวัดหนองจอกด้วย แต่ท่านก็มีคุณพ่อปลัดมาเป็นผู้ช่วยแบ่งเบาภาระอยู่เสมอ จนถึง ค.ศ. 1970 ท่านจึงย้ายไปยังวัดนักบุญเปโตร นครชัยศรี
 
ในสมัย คุณพ่อโทมัส บัณฑิต ปรีชาวุฒิ เป็นเจ้าอาวาส ใน ค.ศ. 1970 ท่านได้ปรับปรุงบูรณะวัดให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น อีกทั้ง ให้เหมาะสมกับการประกอบศาสนพิธีเพื่อขานรับกับสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 คุณพ่อยอแซฟ อติญาณ พงศ์หว่าน (ค.ศ. 1979-1984) ได้ปรับปรุงบริเวณรอบวัดและหารายได้เข้าวัดโดยการเลี้ยงปลา งานที่สำคัญได้แก่ การดำเนินงานก่อสร้างสะพานข้ามคลองเพื่อให้รถสามารถเข้ามาถึงบริเวณวัดได้ คุณพ่อยอแซฟ วิจิตร ลิขิตธรรม (ค.ศ. 1984-1989) ได้รื้อบ้านพักพระสงฆ์หลังเก่าออกไป และย้ายมาอยู่ในอาคารเรียนซึ่งไม่ได้ใช้ทำการสอนแล้ว และปรับปรุงบริเวณบ้านพักพระสงฆ์หลังเก่านี้ให้เป็นถ้ำแม่พระ คุณพ่อประสาร คูรัตนสุวรรณ เป็นเจ้าอาวาสใน ค.ศ. 1989 ได้ซ่อมแซมบูรณะวัดครั้งใหญ่ทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกได้ทาสีและซ่อมแซมประตูหน้าต่าง รวมทั้งหอระฆังใหม่ ส่วนภายในได้ปรับปรุงบริเวณพระแท่น โดยใช้รูปการตัดสินครั้งสุดท้าย  (The Last Judgement) ของไมเคิ้ล อันเจโล
 
ตั้งแต่ ค.ศ.1994 เป็นต้นมา ก็ได้มีคุณพ่อเจ้าอาวาสผัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเพื่อทำหน้าที่คือ ค.ศ.1994-1995 คุณพ่อเปโตร วิทยา แก้วแหวน, ค.ศ.1995-1999 คุณพ่อยอแซฟ ประทีป กีรติพงศ์, ค.ศ. 1999-2004 คุณพ่อ หลุยส์ ธนันชัย กิจสมัคร, ค.ศ. 2004 - 2006 คุณพ่อ เปาโล สมพร เส็งเจริญ 
 
ใน ค.ศ. 2007 สมัย คุณพ่อ เปโตร ธนากร เลาหบุตร เป็นเจ้าอาวาส ได้โยกย้ายชาวบ้านในเขตแนวโรงเรียนใหม่ ถมดินเขตวัด (แนวโรงเรียน) สร้างบ้านพักคนชราใหม่ (มูลนิธิเซนต์หลุยส์)  (บ้านพักคนชราสร้างแล้วเสร็จ ในปี ค.ศ. 2008) และปรังปรุงสวนหย่อมรอบวัดใหม่ 
 
ใน ค.ศ. 2009 คือ สมัยคุณพ่อยอแซฟ ศุภกิจ เลิศจิตรเลขา เป็นเจ้าอาวาสและคุณพ่อปลัด คือ คุณพ่อโทมัส ประทีป สุทธินาวิน ในวันที่ 22 มิถุนายน ได้ย้ายป้ายวัดพระวิสุทธิวงส์  และป้ายโรงเรียนพระวิสุทธิวงส์ ให้ตั้งทำมุม 45 องศา กับถนน วันที่ 28 มิถุนายน มีมิสซาฉลองครบรอบบวช 25 ปี ของคุณพ่อศรีปราชญ์ ผิวเกลี้ยง ซึ่งเป็นพระสงฆ์ลูกวัด ในวันที่ 11 สิงหาคมมีพิธีเสกศิลาฤกษ์ อาคารเรียนหลังใหม่ โดยพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เป็นประธานในพิธี และในวันที่ 18 สิงหาคมพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้เดินทางมาที่ศูนย์คอมมูนิต้าอินคอนโทร ในวันที่ 12 พฤศจิกายน เวลา 17.00 น. พระอัครสังฆราช ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวานิช ได้เดินทางมาเยี่ยมวัดพระวิสุทธิวงส์  จากนั้นในวันที่ 24 ธันวาคม ได้ติดตั้งเสาไฟแบบโบราณ 4 ต้น  บริเวณวัดพระวิสุทธิวงส์  และในวันที่ 26 ธันวาคม  มีพิธีฉลองวัดพระวิสุทธิวงส์ โดยพระอัครสังฆราช ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวานิช เป็นประธานในพิธี 
 
 
ใน ค.ศ. 2010 คือ วันที่ 4 พฤษภาคม ได้ปิดวัดพระวิสุทธิวงส์ เพื่อทำการบูรณะ ซ่อมแซม เตรียมฉลอง 100 ปีของวัด และบูรณะหน้าต่าง ประตู วงกบ เพราะอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก ในวันที่ 9 พฤษภาคม ได้ถวายมิสซาครั้งแรกที่วัดชั่วคราว บริเวณอาคารบ้านผู้สูงอายุหลังเดิม และฉลอง ครบ 50 ปี การก่อตั้งบ้านผู้สูงอายุเซนต์หลุยส์ โดยพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เป็นประธานในพิธี และได้ฉลองวัดพระวิสุทธิวงส์ ในวันที่ 26 ธันวาคม โดยพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เป็นประธานในพิธี
 
ปี ค.ศ. 2012 เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ไฟไหม้ห้องอาหารพระสงฆ์ เพดานไฟไหม้พัดลม 2 ตัว แอร์ 2 ตัว มีโครงการปรับปรุงบ้านพักพระสงฆ์  
 
วัดได้รับการบูรณะซ่อมแซมโอกาส 100 ปี ยังไม่เสร็จเรียบร้อย รูปอัครสาวกรอบพระแท่น มีขนาดรูปทรงแตกต่างกัน และงานยังไม่เรียบร้อย
 
วันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 2013 เสกอาคารเรียนคอมมูนิต้า หลังใหม่ โดยพระอัครสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช
 
วันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013 ซ่อมใบหน้ารูปครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ในวัด
 
คุณพ่อ สุขุม กิจสงวน ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2014 - 2022
 
วันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 2015 บริษัทสันติพิทักษ์ ได้นำเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี เข้ามาทำการรื้อถอนบ้านที่ถูกฟ้องขับไล่ เพราะไม่ยอมจ่ายค่าเช่าออกจากพื้นที่ 
 
วันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 2015 ได้มีการจัดงาน เฉลิมฉลอง “ปีศักดิ์สิทธิ์พระศาสนจักรคาทอลิกไทย” มีสัตบุรุษทุกวัดในเขต 4 มาร่วมงานจำนวนประมาณ 1,000 กว่าคน 
 
ปี ค.ศ. 2016 มีโครงการพัฒนาการขับร้องในเขต 4 รวมตัวกันซ้อมเพื่อจะออกไปในโอกาสเขตมีงานใหญ่ๆ งานชุมนุม หรืองานสำคัญของเขต มีคุณพ่อประชาชาติ ปรีชาวุฒิ ดำเนินการ เพราะเป็นผู้ชำนาญการในเรื่องนี้
 
โครงการสอนคำสอนผู้ใหญ่ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ผู้สอนหลักคือ คุณพ่อเอกชัย โสรัจจกิจ ซึ่งรับผิดชอบ และเชี่ยวชาญในงานนี้ มีผู้มาสมัครเรียนทั้งผู้ใหญ่และเยาวชน ประมาณปีละ 5-6 คน เป็นอย่างน้อย มีการส่งเข้าเตรียมรับศีลล้างบาป ตามขั้นตอนที่ฝ่ายคำสอนของอัครสังฆมณฑลจัดขึ้น และให้รับศีลกำลังร่วมกับเด็กเรียนคำสอนในช่วงฤดูร้อนถ้าเป็นไปได้ เพื่อรับศีลกำลังกับพระสังฆราช
 
โครงการสร้างครูจิตตาภิบาล ชำนาญการเพื่อให้โรงเรียนพระวิสุทธิวงส์ มีครูจิตตาภิบาลชำนาญการตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 3 คน ปัจจุบันมีเพียง 1 คน 
 
โครงการส่งเสริมสนับสนุนวิถีชุมชนวัด วัดพระวิสุทธิ์วงส์ เริ่มมีกลุ่มวิถีชุมชนวัดแล้ว หลังจากได้มีผู้เข้าร่วมรับการอบรมพร้อมกับผู้สนใจจากวัดอื่นๆ ในเขต 4 ทางวัดพยายามส่งเสริม สนับสนุนให้ร่วมพบปะ แบ่งปัน เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจร่วมกันในเขต 4 ในความดูแลของคุณพ่อพลาพล ลิ้มสุธาโภชน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเซนต์ร็อค ท่าไข่ และคุณพ่อปิยะชาติ มะกรครรภ์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานอภิบาล
 
โครงการปรับปรุงเกี่ยวกับน้ำ ซึ่งมีความสำคัญสำหรับวัดและโรงเรียน เนื่องจากวัดมีอาคารใหญ่ 4 หลัง โรงอาหาร 2 หลัง บ้านซิสเตอร์ บ้านพักพระสงฆ์ บ้านพักคนงาน วัดและสานสานใหญ่ การขาดแคลนน้ำจะเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่ง ดังนั้น หลังจากได้เปลี่ยนหม้อแปลงไฟฟ้าให้มีขนาดที่เพียงพอ และปรับปรุงไฟฟ้าตามทางเข้าทางด้านติดถนนใหญ่ รอบวัด และทางเข้า-ออก ติดสุสาน คุณครูผู้รับผิดชอบก็เห็นสมควรแก้ปัญหา 2 ประการ
 
1. เปลี่ยนท่อน้ำประปา ซึ่งเข้ามาในวัดและโรงเรียน เพราะขนาดท่อน้ำนั้น เป็นขนาดที่ใช้กับบ้านเรือนมีขนาดเล็กไปสำหรับโรงเรียนและวัด ซึ่งมีนักเรียน ครู บุคลากรและพนักงานรวมกันกว่า 2,000 คน สมควรเปลี่ยนเป็นท่อประปาที่เข้ามาขนาดระดับโรงงานใหญ่ๆ
 
2. เปลี่ยนแท๊งค์น้ำรูปดอกเห็ด ซึ่งเป็นเหล็ก มีขนาดใหญ่ ใช้งานมานานแล้ว ไม่ต่ำกว่า 25 ปี ผ่านการผุมาแล้ว 1 ครั้ง ปัจจุบันไม่สามารถซ่อมแซมแล้ว ดังนั้น หลังจากได้เปลี่ยนมอเตอร์ดูดน้ำบาดาล และท่อบาดาล บางท่อนที่เกลียวชำรุดแล้วในปีที่ผ่านมา ปัจจุบันจำเป็นต้องเปลี่ยนแท๊งค์ในราคาประมาณ 300,000 บาท ในต้นเดือนมีนาคม 2560 ทั้งนี้เพื่อให้น้ำที่ใช้ที่วัดและโรงเรียนได้มีเพียงพอ 
 
ปี ค.ศ. 2017 
 
- อนุญาตให้กลุ่มตัวชุมชนวัดลำไทร โดยการนำของ นายกมล ธุวจิตต์ ดำเนินการเปิดตลาดนัดวิถีชุมชนคนเดินริมถนน บริเวณเส้นในจากแยกบ้านพักคนชราถึงแยกตลาดคลอง 12 ในวันอาทิตย์ ที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 2017 โดยมี นายดรณ์ สมิตะเกษตรริน นายอำเภอลำลูกกามาเป็นประธานเปิดงาน
 
- ตลาดนัดวิถีชุมชนกำหนดวัดทุกเดือน เดือนละ 1 วัน แต่เดือนมกราคม ไม่ได้เปิดเดือนกุมภาพันธ์  ก็งดเช่นเดียวกัน เพราะมีงานเสกสุสาน เป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะส่งเสริมการค้าขายของคนในชุมชน แต่จะดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ เพราะชุมชนก็ยังไม่พร้อมนัก
 
- โครงการส่งเสริมและพัฒนาวิถีชุมชนวัด (วิถีชุมชนย่อย) ตลอดเวลาท 1 ปี วิถีชุมชนของวัดได้รับการส่งเสริมและพัฒนา โดยการนำของคุณพ่อปิยชาติ มะกรครรภ์ ซึ่งได้ดำเนินการอบรม ประชุม สัมมนา ร่วมกันในระดับวัด ระดับเขต และระดับชาติ ส่วนทางวัดคุณพ่อเจ้าอาวาสส่งเสริมสนับสนุนด้านร่วมประชุมให้ข้อคิดแนะนำ โดยเฉพาะส่งสเริมสนับสนุนด้านงบประมาณในการไปประชุมกับวัดในเขต ในระดับสังฆมณฑล และในระดับชาติ 

ปี ค.ศ. 2018 

- จัดทัวร์เพื่อให้สัตบุรุษไปร่วมพิธีอภิเษกพระสังฆราชยอแซฟ วุฒิเลิศ แห่ล้อม ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย วันศุกร์ที่ 6-8 กรกฎาคม เพื่อร่วมงานในวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม มีผู้ไปร่วมงาน 40 คน

- วันที่ 12 สิงหาคม เชิญพระสังฆราชยอแซฟ วุฒิเลิศ แห่ล้อม มาประกอบพิธีบูชาของพระคุณให้กับสัตบุรุษที่วัดหลังจากที่ได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราช มีสัตบุรุษร่วมงานประมาณ 1,000 คน ในวันดังกล่าวทางวัดได้รวบรวมเงินจากสัตบุรุษเพื่อทำบุญช่วยกิจการของสังฆมณฑลเชียงรายเป็นจำนวนเงิน 164,207 บาท และถวายพระคุณเจ้าจำนวน 100,000 บาท จากวัดพระวิสุทธิวงส์ ลำไทร 50,000 บาท และจากโรงเรียนพระวิสุทธิวงส์ 50,000 บาท สัตบุรุษที่มาร่วมมิสซาร่วมยินดีกับพระสังฆราชใหม่

- สัตบุรุษของวัด มีความเชื่อที่เข้มแข็ง และมีความศรัทธา ในอดีต ปัจจุบันความเจริญด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคม อาจทำให้ความเชื่อศรัทธาลดลงทั้งในรุ่นเยาวชนและเด็ก แต่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ยังเป็นแบบอย่างที่ดี และนำพาลูกหลานมาวัด

ปี ค.ศ. 2020 

- ปิดวัดช่วงระบาดของไวรัสโควิด-19 ปิดวัดไม่มีพิธีบูชาขอบพระคุณสำหรับวันอาทิตย์ (ค่ำวันเสาร์และเช้าวันอาทิตย์) ต้นเดือนเมษายน 2020 ถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020 เป็นเวลารวม 4 เดือน แต่มีบูชาขอบพระคุณที่ศูนย์อภิบาลผู้สูงอายุ สำหรับผู้สูงอายุ มาเซอร์ ซิสเตอร์ จำนวนหนึ่งทุกวัน

- การระบาดรอบใหม่ เกิดราววันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 2020 จึงปิดวัดตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม ค.ศ. 2021 เป็นเวลารวม ราว 5 อาทิตย์ กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้โรงเรียนทุกสังกัดและทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งยังระบาดหนัก เปิดทำการเรียนการสอนภายใต้มาตรการควบคุมเข้มข้น รักษาอนามัย ตรวจไข้ รักษาระยะห่างในห้องเรียน ห้องอาหาร และสถานที่ต่างๆ ของโรงเรียน ในวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021

- ยกเลิกการเสกอาคาร "ดือรังด์" อาคารอนุบาลซึ่งสร้างได้กว่า 1 ปีแล้ว และการฉลองวัดที่กำหนดและเตรียมงานไว้แล้วในวันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 2020 ได้มีการเตรียมจิตใจสัตบุรุษก่อนแล้ว 3 อาทิตย์ โดยคุณพ่อวิทยา ลัดลอย คุณพ่อสมเกียรติ บุญอนันตบุตร และคุณพ่ออนุชา ไชยเดช ประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณวันอาทิตย์ เวลา 07.00 น. และ 09.30 น. ส่วนการเสกอาคารเรียน "ดือรังค์" และเป็นประธานฉลองวัดได้เรียนเชิญ พระคาร์ดินัลฟรังซิส เซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช แต่ไม่สามารถจัดฉลองได้

- การสร้างบ้านพักพระสงฆ์ใหม่ และการปรับปรุงอาคาร "คุณพ่ออาแบล" ให้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนคอมมูนิต้า อินคอนโทร สันติพิทักษ์ ได้ดำเนินการพร้อมๆ กัน สำหรับบ้านพักพระสงฆ์เริ่มตอกเข็มวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2020  และเสกเสาเอกวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 ผู้เสกคือคุณพ่อสมเกียรติ ตรีนิกร อุปสังฆราช แล้วเสร็จราวกลางเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 พระสงฆ์เข้าพักในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2020

- การสร้างที่จอดรถ (ลานจอดรถ) ต้นปี 2020 บริเวณหลังวัด และหลังอาคารโรงอาหารเก่า 

- สงเคราะห์ผู้ยากไร้ ช่วงที่มีการระบาดครั้งแรกในไทย จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 ทางวัดโดยสภาภิบาล พระสงฆ์ ซิสเตอร์ สามเณรที่มาช่วยงาน ได้สำรวจบ้านที่ยากจน แล้วนำของอุปโภค บริโภคไปแจก 3 ครั้ง และทางวัดได้ช่วยเหลือคนยากจน ผู้ปกครองที่ขาดทุนทรัพย์ และชาวปากีสถานที่มาขอความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

- จัดแสวงบุญระดับวัด คือไปร่วมงานบวชพระอัครสังฆราช ยอแซฟ วีระเดช ใจเสรี พระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่ หนองแสง

ปี ค.ศ. 2021

 - ฉลองวัดวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 2021 มีพิธีเสกอาคารดือรังค์ อาคารเรียนอนุบาล  ซึ่งสร้างเสร็จมา 2 ปี แต่ยังไม่ได้เสกเพราะไม่สามารถฉลองวัดเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 

- พิธีฉลองวัด โดย พระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช เป็นประธาน ปีนี้ไม่มีการแห่ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์รอบวัด หลังมิสซาประธานถวายกำยานและดอกไม้ที่ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ และสัตบุรุษถวายดอกไม้ที่ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ โดยการเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัยจากโรคโควิด-19 

คุณพ่อธนันชัย กิจสมัคร ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2022 - ปัจจุบัน

ปี ค.ศ. 2022

- วันพุธที่ 7 กันยายน ฝนตกหนักเป็นเวลานานหลายชั่วโมง เป็นเหตุให้น้ำท่วมสูงขึ้นบริเวณรอบวัด จนน้ำท่วมเข้าไปในวัดซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ไม่ได้ทำความเสียหายกับอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในวัด น้ำท่วมอยู่ประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง น้ำก็เริ่มลดโดยใช้เครื่องสูบน้ำจากเทศบาลลำไทรมาช่วยสูบน้ำออก

- งานสมโภชพระคริสตสมภพ เป็นโครงการที่มีคนมาร่วมงานทั้งคริสตชนและคนต่างศาสนาเป็นการแบ่งปันความรักให้แก่กันและกัน

- งานเสกสุสานประจำปี ทำให้ลูกหลานและญาติพี่น้องมาร่วมแสดงความรัก ความกตัญญูต่อผู้ล่วงลับ

- วัดพระวิสุทธวงส์ เป็นวัดเก่าแก่หลังหนึ่ง สร้างด้วยศิลปะแบบโกธิคมีภาพวาดบนเพดานวัดเกี่ยวกับพระคัมภีร์ จึงเป็นวัดที่มีคนแวะมาแสวงบุญอยู่เป็นประจำ สัตบุรุษให้ความร่วมมือกับพระสงฆ์เป็นอย่างดี มีความศรัทธาต่อพระ

ปี ค.ศ. 2023

- วันเสาร์ที่ 15 เมษายน กลุ่ม Fazenda da Esperanca จำนวน 4 คน จากประเทศบราซิลเข้ามาอยู่ที่ศูนย์คอมมูนิต้า เพื่อฟื้นฟูผู้ติดยา การพนัน เกมส์ ฯลฯ

- วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน ซิสเตอร์คณะดอมินีกัน 3 ท่าน ได้มาประจำที่วัดเพื่อช่วยงานทางด้านโรงเรียนเด็กพิการทางการมองเห็น และได้ทำการเปิดเสกอาคารเรียนและบ้านพักไปเมื่อวันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม โดย พระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช

- วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน ฤาษีคณะซิโตเซียน จากเวียดนาม จำนวน 4 คน ได้มาประจำที่บ้านคลารา ของคณะฟรังซิสกัน และได้ทำการเปิด-เสกบ้าน วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม โดย พระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช

- โครงการจัดงานวันกตัญญูต่อผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นวันครอบครัวของวัด

- โครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม

- โครงการเชิดชูเกียรติผู้สูงอายุ 80 ปี

- ปัจจุบันวัดชำรุดทรุดโทรมมาก หลังจากได้ทำการบูรณะเมื่อปี 2010 โอกาสฉลอง 100 ปี หลังคาตรงหอระฆัง และห้องซาคริสเตียน้ำรั่วไหลลงมาเวลาฝนตก มีภายในวัดถลอก ร่อนหลุด เพดานหอระฆังชำรุด บานหน้าต่างชำรุด เห็นสมควรต้องปรับปรุงเพื่อไม่ให้ชำรุดมากไปกว่านี้

สัตบุรุษของวัดมีความเชื่อ มีความศรัทธาในพระเจ้า นบนอบเชื่อฟังพระสงฆ์ พร้อมที่จะร่วมมือกับพระสงฆ์ในทุกๆด้าน

 
 
รายชื่อเจ้าอาวาส - ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระวิสุทธิวงส์ ลำไทร
 

เจ้าอาวาส

ผู้ช่วย

ระยะเวลา

หมายเหตุ

1. คุณพ่อ เอเตียน  บาร์เทโลมี  แดส์ซาลส์

 

1896-1903

ตั้งบริษัทลำไทร ปี 1896

2. คุณพ่อ ยวง  เฮียง แซ่ลิ้ม  (นิตตะโย)

 

1897-1903

ปลัดรักษาการณ์แทน

 

คุณพ่อ มัทธิอัส  บุญธรรม

1899-1903

 

3. คุณพ่อ ยัง  บัปติสต์  ฟูยาต์ 

 

1903-1905

 

 

คุณพ่อ ยวง เฮียง  แซ่ลิ้ม (นิตตะโย)

 

ไปเปิดวัดหัวควาย

 

คุณพ่อ เลออง กีญารด์

1903-1904

 

4. คุณพ่อ เดซิเร  ยัง บัปติสต์ ดือรังด์

 

1905-1921

สร้างวัดใหม่เป็นอิฐ  เสกวันที่ 21 ก.ย. 1911

 

คุณพ่อ ยวง เฮียง  แซ่ลิ้ม (นิตตะโย)

1907-1911

มาเดือนละวัน

 

คุณพ่อ ยออากิม

1907

 

 

คุณพ่อ ยวง เฮียง  แซ่ลิ้ม (นิตตะโย)

1911

ไปบุกเบิก  เปิดวัดหนองรี

 

คุณพ่อ โทมาส แซน

1911-1914

มาช่วยเป็นระยะๆ

 

คุณพ่อ โทมาส แซน

1918-1921

มาช่วยเป็นระยะๆ

 

คุณพ่อ กาสต็อง แบลล์

1917-1919

 

5. คุณพ่อ เฟรเดอริก  วิศิษฏ์ (อุ่น) จิตต์ชอบค้า

 

1921

 

6. คุณพ่อ ยัง  บัปติสต์  ฟูยาต์

 

1921-1935

 

 

คุณพ่อ เอเตียน แอสเตวัง เหวี้ยน  โชติผล

1926

 

 

คุณพ่อ เอเจียน โอลิเอร์

1927-1928

 

 

คุณพ่อ กาบริแอล  โร  ประดิษฐ์ศิลป์

1929

 

 

คุณพ่อ เทโอฟิล ยวง  กิจเจริญ

1930-1933

 

 

คุณพ่อ เอเจียน โอลิเอร์

1931-1933

อยู่หนองรี สร้างวัด

 

คุณพ่อ ซามูแอล สมุห์  พานิชอุดม

1934-1935

 

7. คุณพ่อ เดซิเร ยัง  บัปติสต์  ดือรังด์

 

1935-1940

 

 

คุณพ่อ อาแบล เก็ง พานิชอุดม

1936-1940

 

 

คุณพ่อ อังตวน  เอมมานแอล เดชังป์  แบร์แยร์

1938-1939

 

8. คุณพ่อ อาแบล  เก็ง  พานิชอุดม

 

1940-1970

 

 

คุณพ่อ กาบริแอล  โร  ประดิษฐ์ศิลป์

1942-1944

 

 

คุณพ่อ นอร์แบรต์ วิทยา  สาทรกิจ

1944-1945

 

 

คุณพ่อ วิกตอร์ วิวัฒน์  สาทรกิจ

1944-1945

 

 

คุณพ่อ ปอล ถาวร กิจสกุล

1949-1952

 

 

คุณพ่อ เปรดัญ

1953

 

 

คุณพ่อ กีรติ บุญเจือ

1961-1962

 

 

คุณพ่อ ยอแซฟ เสวียง ศุระศรางค์

1962

 

 

คุณพ่อ ยวง มารี เวียนเน  ทัศไนย์ คมกฤส

1965

 

9. คุณพ่อ อาแบล  เก็ง  พานิชอุดม

 

1968

 

 

คุณพ่อ เปโตร บัญชา  ศรีประมงค์

1968

 

 

คุณพ่อ บุญเลิศ เกตุพัฒน์

1968-1970

 

10. คุณพ่อ โทมัส บัณฑิต ปรีชาวุฒิ

 

1970-1979

 

11. คุณพ่อ ยอแซฟ อติญาณ พงศ์หว่าน

 

1979-1984

 

 

คุณพ่อ ยอห์น วรวุฒิ   กิจสกุล

1982-1985

 

12. คุณพ่อ ยอแซฟ วิจิตร ลิขิตธรรม

 

1984-1989

 

 

คุณพ่อ แอนโทนี บัณฑิตย์ ประจงกิจ

1985-1988

 

13. คุณพ่อ ยอแซฟ ประสาร คูรัตนสุวรรณ

 

1989-1994

 

 

คุณพ่อ โยเซฟ ศุภศิลป์ สุขสุศิลป์

1990-1994

 

 

คุณพ่อ เปโตร สมเกียรติ  บุญอนันตบุตร

1992-1994

 

14. คุณพ่อ เปโตร วิทยา  แก้วแหวน

 

1994-1995

 

15. คุณพ่อ ยอแซฟ ประทีป กีรติพงศ์

 

1945-1999

 

 

คุณพ่อ ยอแซฟ อนุชา  ไชยเดช

1994-1996

 

 

คุณพ่อ แอนโทนี สุทธิชัย บุญเผ่า

1996-1997

 

 

คุณพ่อ เปาโล มาโนช  สมสุข

1997-1998

 

 

คุณพ่อ ยอแซฟ กุลบุตร  ตรีมรรคา

1998-2000

 

16.คุณพ่อ หลุยส์ ธนันชัย  กิจสมัคร

 

1999-2004

 

 

คุณพ่อ อันตน นิพนธ์ สิริวราวุธ

2000-2003

 

 

คุณพ่อ ฟรังซิสเซเวียร์ สุนัย  สุขชัย

2003-2004

 

17.คุณพ่อ เปาโล  สมพร  เส็งเจริญ

 

2004-2006

 

18.คุณพ่อ เปโตร  ธนากร เลาหบุตร

 

2006-2009

 

 

คุณพ่อ ฟรังซิสเซเวียร์ สุนัย  สุขชัย

2004-2009

 

19.คุณพ่อ ยอแซฟ  ศุภกิจ  เลิศจิตรเลขา

 

2009- 2014

 

 

คุณพ่อ โทมัส ประทีป สุทธินาวิน

2009-2012

 

 

คุณพ่อ อันตน เอกชัย โสรัจจกิจ

2012- 2017

 

20. คุณพ่อ สุขุม กิจสงวน

 

2014-2022

 

 

คุณพ่อเทวฤทธิ์ สุขเกษม

2019-ปัจจุบัน 

 

21. คุณพ่อธนันชัย กิจสมัคร 

 

2022-ปัจจุบัน 

 

  คุณพ่อดิษพล รุ่งโรจน์วรวัฒนา  2024-ปัจจุบัน  
 
 
 แผนที่การเดินทาง