วัดเซนต์แอนโทนี (วัดแปดริ้ว)

 

 
วัดเซนต์แอนโทนี (วัดแปดริ้ว)

เลขที่ 129  ถนนสรรค์ประศาสน์  ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง
จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000  โทร. 038-512-015  โทรสาร  038-818-158
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
 
 
ในปีคริสตศักราช 1840 ซึ่งตรงกับพุทธศักราช 2383 ที่เขตแปดริ้วหรือจังหวัดฉะเชิงเทรา คุณพ่อเอเจียน เรมงด์ อัลบรังค์ (ALBRAND) ได้สร้างวัดชั่วคราวหลังแรกขึ้นที่ตำบลบ้านใหม่ บริเวณที่เป็นประตูน้ำในปัจจุบันนี้ วัดหลังนี้มีลักษณะเป็นบ้านสร้างด้วยไม้ไผ่ ใช้เป็นวัดร่วมสำหรับกลุ่มคริสตชนในเมืองฉะเชิงเทรา และกลุ่มคริสตชนริมคลองเนื่องเขต(ท่าไข่) คุณพ่อเอเจียน เรมงด์  อัลบรังค์ จะเดินทางมาดูแลคริสตังค์ ที่วัดนี้เป็นครั้งคราว ครั้นเมื่อปี ค.ศ.1846 คุณพ่ออัลบรังค์ เดินทางไปเมืองจีน ก็มีคุณพ่อแฟร์ดินัง เอมเม ออกูสแตง ยอแซฟ ดือปองด์ (DUPOND) มาดูแลแทนเป็นระยะๆ ต่อมาคุณพ่อแฟร์ดินัง เอมเม ออกูสแตง ยอแซฟ ดือปองด์ ต้องเดินทางออกนอกประเทศ คุณพ่อยัง มาแร็ง (MARIN) ก็มาเยี่ยมเยียนดูแลครัสตังวัดบ้านใหม่แทนตั้งแต่ปีค.ศ. 1849 - 1853
 
 
ปี ค.ศ. 1857 คุณพ่อเซเวอแรง ยักส์ มารี ดานิแอล (DANIEL) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านใหม่เป็นองค์แรก และในปี ค.ศ. 1858 คุณพ่อได้สร้างวัดด้วยไม้จริงเป็นหลังแรก แทนวัดไม้ไผ่หลังเดิม
 
ปี ค.ศ.1863 คุณพ่ออาเล็กซิส อาดอลฟ์ เปอัง (PEAN) ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าอาวาสปกครองดูแลวัดบ้านใหม่เป็นองค์ที่สอง คุณพ่อเห็นว่าวัดนี้เก่าแก่และสร้างมานานแล้วกำลังผุพังลงทุกวันๆ จึงตั้งใจจะสร้างวัดใหม่เป็นตึกที่สวยงาม แต่ยังขาดเงินอยู่ จึงเขียนจดหมายถึงพระสังฆราชในสังฆมณฑลลาวาล ประเทศฝรั่งเศส ขอรับเงินบริจาคเพื่อสร้างวัดใหม่ในเขตแปดริ้ว แต่ยังไม่ทันได้สร้างวัดใหม่ คุณพ่อเปอังก็ต้องเดินทางไปต่างประเทศก่อนในปี ค.ศ. 1867
 
ปี ค.ศ.1868 คุณพ่อฟรังซัว โยเซฟ ชมิตต์ (SCHMITT) ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดใหม่องค์ที่สาม ปี ค.ศ. 1896 คุณพ่อชมิตต์ป่วย ต้องกลับไปรักษาตัวที่ฝรั่งเศส วัดบ้านใหม่ก็ได้คุณพ่อหลุยส์ ฟรังซัว เอมิล ชาลาแด็ง มาเป็นเจ้าอาวาสรักษาการณ์แทน ต่อมาในปี ค.ศ.1872  คุณพ่อชมิตต์ก็กลับมาอยู่ที่บ้านใหม่อีกครั้ง คุณพ่อก็ได้คิดถึงการสร้างวัดใหม่ เนื่องจากคุณพ่อชมิตต์ท่านเป็นผู้รับเงินบริจาคจากสังฆมณฑลลาวาล ไว้ในนามของคุณพ่อเปอัง ในปี ค.ศ.1873 คุณพ่อชมิตต์ได้ซื้อที่ดินผืนหนึ่งบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำ บางปะกง แล้วสร้างวัดนักบุญเปาโล หรือวัดเซนต์ปอล วัดนี้สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1875 เป็นวัดก่อสร้างด้วยอิฐมั่นคงแข็งแรง มีหอระฆังไม้สองหอเล็กๆ เป็นวัดที่สวยงามมาก ด้านขวาของวัดสร้างเป็นบ้านพักพระสงฆ์หนึ่งหลัง สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าหนึ่งหลัง ส่วนทางด้านซ้ายของวัดสร้างเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กชาย
 
ปี ค.ศ.1875 เมื่อรื้อวัดบ้านใหม่และสร้างวัดเซนต์ปอลเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณพ่อชมิตต์ ได้สร้างวัดชั่วคราวขึ้นที่ตำบลท่าไข่ บริเวณสี่แยกท่าไข่ ริมคลองเนื่องเขต ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแปดริ้ว ให้เป็นวัดสำหรับกลุ่มคริสตชนท่าไข่ วัดน้อยที่สี่แยกท่าไข่นี้จัดเป็นวัดสาขาของวัดเซนต์ปอล เรียกว่า วัดนครเนื่องเขต
 
 
ปี ค.ศ. 1904 คุณพ่อชมิตต์มรณภาพ คุณพ่อยัง ฟรังซัว เรจีส์ แปร์แบต์ (PERBET) ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อมาเป็นองค์ที่สี่ของแปดริ้ว คุณพ่อเห็นว่าวัดนครเนื่องเขตกำลังจะผุพังแล้ว เพราะเป็นวัดชั่วคราวไม่ทนทานและเล็กไป จึงได้ทุ่มเทกำลังทรัพย์ส่วนตัว ซื้อที่ดินและอุปกรณ์สิ่งก่อสร้างที่จำเป็นทุกอย่างเตรียมไว้  แล้วขอให้คุณพ่อญัง อังรี การีเอ  พ่อปลัดวัดเซนต์ปอล  ไปจัดการสร้างวัดใหม่อย่างแข็งแรงที่ท่าไข่ โดยให้เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างเองด้วย ดังนั้นในปี ค.ศ. 1912  วัดเซนต์ร็อค ท่าไข่   จึงได้เกิดขึ้นจากการร่วมมือของพ่อเจ้าวัดกับพ่อปลัด
 
ปี ค.ศ. 1924  คุณพ่อแปแบต์มรณภาพ คุณพ่อญัง อังรี การีเอ  (CARRIE) จึงรับเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ห้าอย่างเป็นทางการ   ในเขตแปดริ้วปกครองดูแลอภิบาลสัตบุรุษวัดเซนต์ปอลและวัดเซนต์ร็อค สืบต่อมา
 
 
ปี ค.ศ.1944  ทางสมณกระทรวงในกรุงโรมได้ประกาศกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1944  แบ่งแยกจันทบุรี ตราด ระยอง ปราจีนบุรี นครนายก และส่วนฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางปะกงในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา คือวัดเซนต์ปอลให้เป็นของมิสซังจันทบุรี  ส่วนฝั่งขวาคือท่าไข่ ซึ่งมีวัดเซนต์ร็อคให้เป็นของมิสซังกรุงเทพฯ ตามประกาศกฤษฎีกา คุณพ่อญัง อังรี การีเอ จะต้องย้ายจากวัดเซนต์ปอล ไปอยู่วัดเซนต์ร็อค แต่คุณพ่อการีเอเกิดมีความคิดที่ดีเลิศอย่างหนึ่งคือ แทนที่จะไปอยู่วัดเซนต์ร็อค ริมคลองเนื่องเขตนั้น คุณพ่อตัดสินใจข้ามแม่น้ำบางปะกงไปเปิดวัดใหม่ถวายแด่นักบุญอันตน โดยตั้งอยู่เยื้องวัดเซนต์ปอลขึ้นไปทางเหนือนิดเดียว ติดกับตัวเมืองฉะเชิงเทรา และที่ตั้งของวัดใหม่นี้จะดีกว่าของวัดเซนต์ปอลด้วย นอกจากเปิดวัดใหม่แล้ว คุณพ่อการีเอยังคิดให้โรงเรียนเด็กชายของภราดาเซนต์คาเบรียลกับโรงเรียนเด็กหญิงของภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ข้ามแม่น้ำมาอยู่ฝั่งขวาเช่นเดียวกัน
 
เมื่อตัดสินใจแล้วคุณพ่อก็ซื้อที่ดินทันที แม้ขณะนั้นคุณพ่อการีเอยังดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเซนต์ปอลอยู่ แต่คุณพ่อก็ได้เริ่มทำงานก่อสร้างวัดใหม่ไปด้วย เนื่องจากในเวลานั้นไม้มีราคาสูงมาก คุณพ่อจึงรื้อย้ายโรงเรียนหญิงบ้านพักบราเดอร์และอู่เรือไปสร้างวัดเซนต์แอนโทนี โดยเริ่มสร้างอาคารไม้ใหญ่ขนาดสองชั้นที่มั่นคงแข็งแรงหลังหนึ่งก่อน ชั้นบนใช้เป็นที่พักพระสงฆ์ มีห้องอาหาร และห้องใหญ่ๆ สามห้อง มีระเบียงอยู่โดยรอบ ชั้นล่างใช้เป็นวัดชั่วคราว จนกว่าจะสามารถสร้างวัดถาวรได้ในสักวันหนึ่ง  นอกจากวัดชั่วคราวแล้วก็ได้สร้างบ้านพักภคินี และอาคารเบ็ดเตล็ดอีกด้วย
 

7 มีนาคม ค.ศ. 1949 คุณพ่อการีเอพร้อมภคินีคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร และภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ก็ได้อำลาวัดเซนต์ปอล และโรงเรียนวัดซึ่งได้มอบให้แก่มิสซังจันทบุรี มาอยู่ฝั่งตรงข้ามคือ วัดเซนต์แอนโทนี ส่วนวัดเซนต์ร็อคก็เปลี่ยนมาเป็นวัดสาขาของวัดเซนต์แอนโทนี แทนการเป็นสาขาของวัดเซนต์ปอล มีคุณพ่อการีเอเป็นเจ้าอาวาสเช่นเดิม
 
17 พฤษภาคม ค.ศ.1947 คุณพ่อการีเอได้เปิดโรงเรียนเซนต์แอนโทนีสำหรับสอนนักเรียนหญิง มอบให้ภคินีคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร เป็นผู้บริหาร
 
17 พฤษภาคม ค.ศ.1948  เปิดโรงเรียนเซนต์หลุยส์ สำหรับสอนนักเรียนชาย มอบให้ภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ระยะนี้คุณพ่อการีเอชรามากแล้ว คุณพ่อวิลเลียม ตัน จึงได้รับแต่งตั้งเป็นคุณพ่อปลัดผู้ช่วยที่วัดเซนต์แอนโทนีตั้งแต่เดือนกันยายน  ค.ศ. 1948 ถึงเดือนตุลาคม  ค.ศ. 1950 
 

ค.ศ. 1951 มีการสร้างหอระฆังจนแล้วเสร็จ ระฆังที่นำไปแขวน คุณพ่อการีเอได้สั่งมาจากต่างประเทศ ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือจากสัตบุรุษ ต่อมาคุณพ่อการีเอมีความคิดริเริ่มตั้งกลุ่มคริสตชนใหม่ที่ตำบลบางวัว เพราะว่าที่นั่นมีคริสตังบางคนอยู่แล้ว จึงได้ขอให้ครูถนอม จิรานนท์   ไปติดต่อซื้อที่ดินริมคลอง ตำบลบางวัว ใกล้อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการเตรียมการเพื่ออนาคต และในปีนี้คุณพ่อยวง เคียมสูน ได้รับแต่งตั้งเป็นพ่อปลัดผู้ช่วยที่วัดเซนต์แอนโทนี คุณพ่อได้ใช้เวลาว่างแปลหนังสือจากภาษาฝรั่งเศส, ภาษาอิตาเลียน เป็นภาษาไทยไว้หลายเล่ม เช่น หนังสืออธิบายคำสอน, จำลองแบบพระคริสต์, คู่มือศีลกล่าว ฯลฯ 
 
1 มีนาคม  ค.ศ. 1952   คุณพ่อการีเอทำพิธีเปิดสถานีอนามัยและห้องแถวเล็กๆ 4-5 ห้อง เพื่อรับรักษาและเลี้ยงดูคนชราที่ไม่มีญาติพี่น้อง ขณะเดียวกันก็เปิดโรงเรียนเด็กกำพร้าหญิงอีกด้วยโดยขอให้ภคินีคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร เป็นผู้ดูแล
 
22 มิถุนายน ค.ศ. 1952 คุณพ่อการีเอ โอกาสครบบวชเป็นพระสงฆ์ 50 ปีพอดี จึงมีการฉลองสุวรรณสมโภชน์ในวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1952 อันเป็นวันฉลองนักบุญเฮนรี ศาสนนามของคุณพ่อ  ในปี ค.ศ.1952 หลังจากที่ครูถนอมได้พยายามติดต่อซื้อที่ดินเป็นพื้นที่ 8 ไร่ 2 งาน 48 ตารางวา  คุณพ่อการีเอ ได้ลงมือสร้างบ้านหลังหนึ่งก่อน จากนั้นได้ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 30 กว่าไร่สร้างโรงเรียน บ้านพักภคินี บ้านพักพระสงฆ์ และอาคารอื่นๆ ตั้งเป็นกลุ่มคริสตชนบางวัว วัดแม่พระฟาติมา บางวัวนี้เป็นสาขาของวัดเซนต์แอนโทนี มีเจ้าอาวาสองค์เดียวกันคือคุณพ่อการีเอ
 
ค.ศ.1953 พอสิ้นเดือนมีนาคม คุณพ่อยวง เคียมสูน ที่เซนต์แอนโทนี ย้ายไป คุณพ่อบีญอลล์  ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพ่อปลัดช่วยคุณพ่อการีเอแทน
 
ค.ศ. 1954  คุณพ่อยอห์น บัปติสต์  ชัชวาลย์  แสงแก้ว  รับแต่งตั้งเป็นพ่อปลัดถาวรที่เซนต์แอนโทนี
 
ค.ศ.1955 คุณพ่อกอสเตต์ มาช่วยงานที่เซนต์แอนโทนีตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน
 
ค.ศ. 1959 คุณพ่อยัง ปอล ลังฟังต์ ย้ายมาเป็นคุณพ่อปลัดของคุณพ่อการีเอ แทนคุณพ่อชัชวาลย์ ที่ต้องย้ายไปในเดือนมกราคม
 
เดือนธันวาคม ค.ศ. 1960 คุณพ่อการีเอลาออกจากหน้าที่เจ้าอาวาส แล้วมอบอำนาจปกครองทุกอย่างเกี่ยวกับวัดแปดริ้ว,ท่าไข่ และบางวัว ให้แก่คุณพ่อปลัด คือคุณพ่อยัง ปอล ลังฟังต์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสแทน
 
คุณพ่อยวง เฮนรี การีเอ มรณภาพเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.1961  โดยได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกอย่างและคำเตือนใจสุดท้ายจากคุณพ่อยัง ปอล ลังฟังต์ ที่วัดเซนต์แอนโทนี แปดริ้ว
 
ค.ศ.1962 คุณพ่อโรแบรต์ บีโยต์ มาเรียนภาษาไทยที่วัดเซนต์แอนโทนี แล้วย้ายไปเดือนมกราคม ค.ศ. 1963 คุณพ่อยังปอล ลังฟังต์ (LENFANT) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์ที่สอง ปกครองวัดเซนต์แอนโทนี แปดริ้ว, วัดฟาติมา บางวัว และวัดเซนต์ร็อค ท่าไข่ ตั้งแต่เดือนธันวาคม  ค.ศ. 1960 ถึง ธันวาคม ค.ศ. 1970  คุณพ่ออยู่ผู้เดียวที่วัดเซนต์แอนโทนีตามปกติ ไม่มีเหตุการณ์อะไรเป็นพิเศษ
 
ค.ศ.1965 คุณพ่อแวร์นิเอร์ มาอยู่กับคุณพ่อยังปอลลังฟังต์ เดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน เพียงสองเดือนก็ย้ายไป
 
1 ธันวาคม ค.ศ. 1970 คุณพ่อยังปอลลังฟังต์  ย้ายไปรับหน้าที่ใหม่ที่กรุงเทพฯ คุณพ่อมอริส ยอลี (JOLY) รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สาม แทนคุณพ่อลังฟังต์ ดูแลวัดเซนต์แอนโทนี แปดริ้ว, วัดเซนต์ร็อค ท่าไข่, วัดแม่พระฟาติมา บางวัว คุณพ่อมอริส ยอลีได้สร้างกำแพงล้อมรอบบริเวณวัดและโรงเรียนเซนต์แอนโทนี พร้อมทั้งซื้อก้อนหินใหญ่มาทำเขื่อนริมแม่น้ำบางปะกงด้วย
 
ท่านได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง ขยายที่ของวัดหลังตัวอาคารบ้านพ่อออกไป และยังปรารถนาจะซื้ออีกแปลงหนึ่ง ด้านติดถนนสรรค์ประศาสน์เพื่อว่าที่ของวัดจะได้มีสัดส่วนสวยงาม แต่เจ้าของที่ยังไม่ยอมขาย คุณพ่อยอลีจึงทิ้งรูปแม่พระ 1 เหรียญไว้บนที่ดินแปลงนั้น ฝากให้แม่พระเป็นผู้เปลี่ยนใจ ส่วนที่ดินผืนที่ซื้อได้แล้วก็ถมดินเตรียมสร้างวัดใหม่ต่อไป
 
ค.ศ.1977 คุณพ่อคิดจัดงานกองบุญสร้างโบสถ์ และเนื่องจากท่านเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ดีเยี่ยมกับผู้อื่นไม่ว่าคริสตังหรือพุทธศาสนิกชน ในปีนี้จึงได้มีการแห่ผ้าป่ามายังวัดเซนต์แอนโทนี  ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในงานด้วย การนี้ทำให้กองบุญสร้างวัดได้เงินถึง 6 แสนกว่าบาท พอที่จะเริ่มสร้างวัดได้ บรรดาสัตบุรุษวัดเซนต์แอนโทนีเองก็พร้อมที่จะออกทุนสร้างให้เสร็จเรียบร้อยเพราะทุกคนต่างปรารถนาแล้วที่จะได้วัดแท้ๆ 
 
แต่พระอัครสังฆราชมีชัย กิจบุญชู มีโครงการสร้างอาคารต่างๆ ให้เข้ากัน วัดอยู่บริเวณหนึ่ง โรงเรียนอยู่อีกส่วนหนึ่ง แยกจากกัน เพื่อดูเป็นสัดส่วน เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมาะสมถูกต้องตามหลักภูมิสถาปัตย์ มิฉะนั้นแล้วเจ้าอาวาสอาจจะสร้างอาคารต่างๆ ปะปนกัน ระเกะระกะ พระอัครสังฆราชจึงให้ระงับความตั้งใจดีทั้งหลายนั้นไว้พลางก่อน จนกว่าจะได้โครงการอันสมบูรณ์แบบมาดำเนินงานนี้
 
นอกจากการจัดหาที่ดินเพิ่มเติมเพื่อสร้างวัดแล้ว คุณพ่อมอริส ยอลียังเล็งเห็นความสำคัญของบรรดาคริสตังด้วย จึงจัดให้มีสภาวัดโดยให้คริสตังวัดเซนต์แอนโทนีเลือกตั้งตัวแทนของตนเข้าเป็นสมาชิกสภาวัด ทำหน้าที่ช่วยคุณพ่ออภิบาลวัดให้เจริญก้าวหน้าพัฒนาไปในทางที่ดีงาม ต่อมาเรียกว่าสภาภิบาลระดับวัด นอกจากนี้ได้ทำคุณประโยชน์แก่บรรดาคริสตังซึ่งปลูกบ้านอยู่ในบริเวณวัดด้วย คือ ตัดถนนผ่านหมู่บ้านคริสตัง เชื่อมถนนสรรค์ประศาสน์กับแม่น้ำบางปะกง
 
 
1 พฤษภาคม ค.ศ.1979 คุณพ่อยอห์นบัปติสต์  ชัชวาลย์ แสงแก้ว รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สี่ สืบจากคุณพ่อยอลีที่ย้ายไป มีคุณพ่อยอห์น ไพฑูรย์  หอมจินดา เป็นคุณพ่อปลัดผู้ช่วย เป็นเจ้าอาวาสอยู่ไม่กี่วัน คุณพ่อชัชวาลย์ก็ป่วยลง ต้องกลับไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ คุณพ่อปลัดคือคุณพ่อไพฑูรย์ต้องรักษา การณ์แทนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสองค์ใหม่
 
1 กันยายน ค.ศ. 1980 คุณพ่ออาเล็กซิส สุรชัย กิจสวัสดิ์ มาเป็นปลัดผู้ช่วยอีกองค์หนึ่ง ช่วยอภิบาลสัตบุรุษที่วัดเซนต์แอนโทนี วัดเซนต์ร็อค และวัดแม่พระฟาติมา จนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน  ค.ศ.1981
 
10 พฤษภาคม ค.ศ. 1981 คุณพ่อยอแซฟ ประสาน คูรัตนสุวรรณ รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ห้า ปกครองวัดเซนต์แอนโทนี และวัดฟาติมา บางวัว ส่วนคุณพ่อไพฑูรย์  หอมจินดา รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส วัดเซนต์ร็อค ท่าไข่ ซึ่งได้แยกเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์ ไม่เป็นสาขาหรือขึ้นกับวัดเซนต์แอนโทนีอีกต่อไป
 
 
ที่วัดเซนต์แอนโทนีสมัยคุณพ่อประสาน สามารถซื้อที่ดินแปลงที่คุณพ่อยอลีฝากเหรียญแม่พระไว้เป็นผลสำเร็จ
 
1 พฤษภาคม  ค.ศ. 1985 คุณพ่ออาเล็กซิส สุรชัย กิจสวัสดิ์ มาเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่หก แทน   คุณพ่อประสานที่ย้ายไป
 
คุณพ่อสุรชัยได้ริเริ่มสร้างสรรค์พัฒนาวัดเซนต์แอนโทนี และวัดแม่พระฟาติมาบางวัวให้เจริญ ก้าวหน้าในหลายๆ ด้าน เช่น ในเทศกาลคริสต์มาส ได้จัดกลุ่มอัญเชิญพระกุมารไปอวยพรตามบ้านคริสตัง พร้อมกลุ่มนักร้องเพลงคริสต์มาสด้วย ซึ่งบรรดาสัตบุรุษทั้งหลายต่างก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่พระกุมารเสด็จไปถึงบ้านที่อยู่อาศัยของพวกเขา ในคืนวันเสาร์แรกของทุกเดือนที่วัดเซนต์แอนโทนี มีการจัดขบวนอัญเชิญพระแม่มารีเสด็จรอบอาณาบริเวณวัดเป็นการเฉลิมฉลองพระคุณ และยังได้จัดซื้อออร์แกนไฟฟ้าเครื่องใหม่ (อิเล็กโทน) ไว้ประจำวัด ทำให้การขับเพลงในพิธีมิสซาฟังแล้ว สง่างาม ไพเราะกว่าเดิมมาก 
 
งานด้านก่อสร้างก็มีการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ของโรงเรียนเซนต์แอนโทนีบนที่ดินที่ซื้อไว้ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น ยาว 90 เมตร มั่นคงแข็งแรง และสง่างาม ชั้นล่างซีกตะวันตกเป็นห้องธุรการของโรงเรียนซีกตะวันออกใช้เป็นวัดชั่วคราว ชั้น 2,3,4 ใช้เป็นห้องเรียน ชั้นดาดฟ้าใช้เป็นที่จัดกิจกรรมของโรงเรียน ด้านติดกับแม่น้ำสร้างเป็นบ้านพักพระสงฆ์หนึ่งหลังเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น มีเฉลียงอยู่ด้านทิศตะวันออกติดริมแม่น้ำบางปะกง ระหว่างอาคารเรียนกับบ้านพักคุณพ่อเป็นโรงอาหารขนาดใหญ่ และหอระฆังชั่วคราว เมื่อเปิดใช้อาคารเรียนหลังใหม่แล้ว ก็ได้รื้อวัดหลังเก่า พร้อมอาคารเรียนหลังเก่า แล้วนำไม้ไปสร้างเป็นบ้านพักภคินี อาคารอนุบาล หอพัก ส่วนพื้นที่บริเวณที่ว่างลงได้ซื้อที่ดินมาถมปรับเป็นสนามกีฬาโรงเรียนส่วนหนึ่ง และเตรียมพื้นที่อีกส่วนหนึ่งไว้สำหรับสร้างวัดใหม่ถวายแด่นักบุญอันตน แห่งปาดัว 
 
 
1 พฤษภาคม ค.ศ.  1989 คุณพ่อยอห์น บอสโก สุขุม กิจสงวน ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่เจ็ด ปกครองวัดเซนต์แอนโทนี และวัดแม่พระฟาติมาบางวัว แทนคุณพ่อสุรชัย ระหว่างนี้ที่วัดเซนต์ แอนโทนี มีการเตรียมสร้างวัดใหม่ด้วย
 
1 พฤษภาคม ค.ศ. 1990 คุณพ่อยอแซฟ ไพโรจน์ หอมจินดา ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่แปด ได้ลงมือปรับพื้นที่ และมีพิธีวางศิลาฤกษ์บริเวณที่สร้างวัดใหม่ในวันฉลองวัดเดือนมิถุนายนจนกระทั่งปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1991  จึงเริ่มลงมือตอกเสาเข็มต้นแรก
 
และในวันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน ค.ศ.1992 บรรดาสัตบุรุษวัดเซนต์แอนโทนีทุกคนต่างนำพาดวงใจอันอิ่มเอิบด้วยความสุข มาร่วมเฉลิมฉลองวัดใหม่ของเขาด้วยความสมหวัง ท่ามกลางความชื่นชมยินดีของพี่น้องสัตบุรุษทั่วทุกสารทิศในพิธีเสกวัดใหม่ “วัดเซนต์แอนโทนี” ศาสนสถานอันศักดิ์ สิทธิ์ที่เขาทั้งหลายจะได้มาร่วมกันนมัสการพระเป็นเจ้าด้วยความเลื่อมใสศรัทธา และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดไป
 
 
ปี ค.ศ. 2013 มีโครงการปรับปรุงบูรณะวัดโดยการเปลี่ยนพัดลมในวัด เปลี่ยนหลอดไฟบนเพดานใหม่ทั้งหมด ทาสีหลังคาวัดใหม่
โครงการรื้อฟื้นการแต่งงานครบ 5 ปี 10 ปี 15 ปี 20 ปี 25 ปี 30 ปี 50 ปี ซึ่งถือเป็นวันครอบครัวของวัด
 
ปี ค.ศ. 2014 โครงการปรุบปรุงบูรณะวัด โดยการปรับปรุงเครื่องเสียงในวัด เพิ่มหลอดไฟบริเวณพระแท่น โครงการปรับปรุงอาคารเรียนชั้น 5 และบ้านพักภคินี
 
ปี ค.ศ. 2015 ปรับปรุงอาคารไม้ 4 หลัง เป็นอาคารอนุบาล 1 หลัง และบ้านพักคนงาน 3 หลัง
 
ปี ค.ศ. 2016 ร่วมแสวงบุญ เขต 4 โอกาสปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม และเดินผ่านประตูศักดิ์สิทธิ์อาสนวิหารอัสสัมชัญ  สักการะสถานและเยี่ยมศูนย์เกิดใหม่ที่บางคล้า โอกาสปิดปีศักดิ์สิทธิ์ของวัด
 
ติดตั้งกระจกใสประตูหน้าวัด 6 บาน
 
โครงการฉลองและฟื้นฟูคำสัญญาแห่งศีลสมรสครบ 5 ปี 10 ปี 15 ปี 20 ปี 25 ปี 30 ปี 40 ปี ของกลุ่มงานอภิบาลครอบครัวของวัด และถือเป็นวันชุมนุมครอบครัวของวัดด้วย
 
โครงการวันกตัญญูผู้สูงอายุในวันอาทิตย์ปัสกา ของกลุ่มผู้สูงอายุ และถือเป็นวันครอบครัวของวัด
 
ปี ค.ศ. 2017 จัดโครงการและฟื้นฟูคำสัญญาแห่งศีลสมรสครบทุก 5 ปี ของกลุ่มงานอภิบาลครอบครัวของวัด และถือเป็นวันชุมนุมครอบครัวของวัดด้วย
 
โครงการวันกตัญญูผู้สูงอายุในวันอาทิตย์ปัสกา ของกลุ่มผู้สูงอายุ และถือเป็นวันครอบครัวของวัด 

วันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 2018 มิสซาบูชาขอบพระคุณเตรียมจิตใจสู่การเฉลิมฉลอง 350 ปี มิสซังสยาม

วันที่ 28 กรกฎาคม มิสซาบูชาขอบพระคุณ วอนขอพรพระถวายพระพรชัยมงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูล (รัชกาลที่ 10)

ปี ค.ศ. 2019 ฉลองชุมชนความเชื่อ 75 ปี และฉลองวัดประจำปี วันเสารที่ 8 มิถุนายน 2019 โดยพระคาร์ดินัลไมเกิ้ลมีชัย กิจบุญชู เป็นประธาน 

- โอกาสสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ มีสัตบุรุษของวัดเดินทางไปร่วมรับเสด็จฯ ณ สนามศุภชลาศัย จำนวน 58 คน วันที่ 21 พฤศจิกายน 2019 

- โครงการขอพรโอกาสวันตรุษจีนเพื่อเป็นการวอนขอพระพรวันขึ้นปีใหม่ชองคริสตชนไทยเชื้อสายจีน 

- โครงการวันกตัญญูผู้สูงอายุในวันอาทิตย์ปัสกา ของกลุ่มผู้สูงอายุ และถือเป็นวันครอบครัวของวัด

ปี ค.ศ. 2020 ประกาศงดการประกอบพิธีกรรมและพิธีบูชาขอบพระคุณ (ครั้งที่ 1) เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (Covid-19) ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม  และเปิดวัดให้สัตบุรุษมาร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ ในวันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม

- ฉลองวัดประจำปี แบบภายใน (จำกัดจำนวนผู้ร่วมพิธี 100 คน) วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน  พิธีบูชาขอบพระคุณ เวลา 10.00 น. โดยคุณพ่ออนุชา ไชยเดช เป็นประธาน

- โยกย้ายถ้ำแม่พระ จากข้างโรงเรียนเซนต์แอนโทนี มาไว้ที่บริเวณวัดฝั่งซ้าย และมีการเสกถ้ำแม่พระวันที่ 3 ตุลาคม

- ประกาศงดการประกอบพิธีกรรมและพิธีบูชาขอบพระคุณ (ครั้งที่ 2) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (Covid-19) ปิดวัดตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

ปี ค.ศ. 2021 - เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารเรียนชั้น 4 โรงเรียนเซนต์แอนโทนี เมื่อวันที่ 24 มกราคม  โดยห้องต้นเพลิงเป็นห้องเก็บผ้า ทำให้ห้องเสียหายทั้งหมดและไฟไหม้ลุกลามไปห้องพักครูภาษาต่างประเทศจนได้รับความเสียหาย ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่าสาเหตุเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร

- ประกาศเปิดวัดให้สัตบุรุษเข้าร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณที่วัดได้ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ หลังจากปิดวัดตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ.2020 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ระลอกใหม่ โดยปิดวัดตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน ค.ศ.2021 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

- งดการฉลองวัดประจำปีเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) แต่จัดฉลองนักบุญอันตนแบบภายในที่โรงเรียนเซนต์แอนโทนี เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน โดยมีคณะเซอร์ ครู และพนักงาน มาร่วมฉลอง และมีการแห่เทิดเกียรติท่านนักบุญอันตนรอบวัด

- เดือนแม่พระ (ตุลาคม) เปิดให้สัตบุรุษร่วมสวดสายประคำหน้าถ้ำแม่พระ เวลา 18.30 น. และจัดให้มีพิธีบูชาขอบพระคุณทุกวันอาทิตย์ เวลา 19.00 น. ตลอดเดือนตุลาคม ที่หน้าถ้ำแม่พระ

- เดือนแห่งการภาวนาแด่ผู้ล่วงลับ (พฤศจิกายน) เปิดวัดให้สัตบุรุษร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณทุกวันอาทิตย์ เวลา 19.00 น.

- ประกาศเปิดวัดให้สัตบุรุษเข้าร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ.2021 วันอาทิตย์ (1 มิสซา) เวลา 09.00 น. และวันจันทร์ - วันเสาร์ เวลา 06.30 น.

ปี ค.ศ. 2022 - เป็นช่วงเวลาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า จึงทำให้ไม่มีการรวมกลุ่มและจัดกิจกรรม แต่ได้รวมกลุ่มสวดภาวนาและประชุมกลุ่มวิถีชุมชนวัดรวมถึงแบ่งปันพระวาจาผ่านทางระบบออนไลน์

ปี ค.ศ. 2023 - คุณพ่อเทิดศักดิ์ กิจสวัสดิ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส

- วันที่ 17 มิถุนายน ฉลองวัดโดยพระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์เกียงศักดิ์ โกวิทวาณิช เป็นประธาน

- ซ่อมบูรณะพระรูปพระเยซูเจ้า แม่พระที่ตั้งบริเวณรอบวัดซึ่งเสียหายจากแดด ลม ฝน แผดเผา สีร่อนและกร่อน ส่งไปบูรณะ

- ได้ย้ายการสวดศพไปยังอาคารหลังอาคารพักของมาเซอร์ เนื่องจากหลังเก่าได้ทรุดเอียง และผุพัง อีกทั้งรับน้ำหนักโรงเย็นไม่ได้

- ได้จัดตั้งสภาภิบาลชุดใหม่ ตามประกาศจัดตั้งของสังฆมณฑล

 

 

 
เรื่องราวความเป็นมาของวัดเซนต์แอนโทนี ที่ท่านได้อ่านไปแล้วนั้น เป็นการย่อความและเรียบเรียงจาก “ประวัติวัดในจังหวัดฉะเชิงเทรา” ซึ่งได้บันทึกไว้โดยคุณพ่อวิกเตอร์ ลาเก (พระสงฆ์คณะ MEP) ผู้เรียบเรียงได้เน้นเรื่องราวเกี่ยวกับวัดเซนต์แอนโทนีเป็นสำคัญ โดยเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป มิได้เล่าเหตุการณ์ต่างๆ ตามประวัติของแต่ละเจ้าอาวาสเหมือนในต้นฉบับของคุณพ่อ วิกเตอร์ ลาเก 
 
 
รายชื่อคุณพ่อเจ้าอาวาสและคุณพ่อผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเซนต์แอนโทนี
 

เจ้าอาวาส

ผู้ช่วยเจ้าอาวาส

ระยะเวลา

คุณพ่อญัง อังรี การิเอ

ผู้สร้างวัดเซนต์แอนโทนี

 

 

 

คุณพ่อญัง อังรี การิเอ

 เปิดกลุ่มบางวัวปี ค.ศ. 1952

 

 

 

 

 

คุณพ่อยังปอล ลังฟังต์

 

 

 

 

คุณพ่อยอลี

 

 

คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ ชัชวาลย์  แสงแก้ว

 

 

 

คุณพ่อยอแซฟประสาน  คูรัตนสุวรรณ

คุณพ่ออเล็กซิส สุรชัย  กิจสวัสดิ์

คุณพ่อยอห์น บอสโก สุขุม  กิจสงวน

คุณพ่อยอแซฟ ไพโรจน์  หอมจินดา

คุณพ่อยอแซฟ วิจิตร  ลิขิตธรรม

คุณพ่อยอแซฟ สมศักดิ์  ธิราศักดิ์

คุณพ่ออันแซล์ม อดิศักดิ์  กิจบุญชู

คุณพ่อหลุยส์ ธนันชัย  กิจสมัคร

คุณพ่อเปาโล พจนารถ นิรมลทินวงศ์

คุณพ่อสราวุธ อมรดิษฐ์

คุณพ่อไพฑูรย์ หอมจินดา

คุณพ่อเทิดศักดิ์ กิจสวัสดิ์

 

คุณพ่อแปร์รัวย์

คุณพ่อเอาคุสติโน สำอางค์  ดำรงธรรม

คุณพ่อวิลเลียม  ตัน

คุณเคียมสูน นิตโย

คุณพ่อบีญอลล์ (เบธาราม)

คุณพ่อเลาแรนเต กิมด้วง ประจำบางวัว

คุณพ่อยอห์น บัปติสต์  ชัชวาลย์ แสงแก้ว

คุณพ่อแวร์นิเอร์ แทนคุณพ่อสำอางชั่วคราว

คุณพ่อกอสเตต์

คุณพ่อมัวซอง ประจำบางวัว

คุณพ่อยังปอล ลังฟังต์

 

คุณพ่อบีโยต์

คุณพ่อแวร์นิเอร์

คุณพ่อแวร์นิเอร์

คุณพ่อบริสซอง ประจำเซนต์ร็อค

 

คุณพ่อเฟลอรี

คุณพ่อยอแซฟ อนันต์  เอี่ยมมโน ประจำเซนต์ร็อค

 

คุณพ่อยอห์น ไพฑูรย์  หอมจินดา

คุณพ่อยอห์นไพฑูรย์  หอมจินดา รักษาการแทน

คุณพ่ออเล็กซิส สุรชัย  กิจสวัสดิ์

 

 

1945-1960

1942-1948

1948-1969

1948-1950

1953

1953

1955-1956

1954-1959

1955-1956

1955

1956-1957

1959-1960

1960-1970

1962

1965

1969

1969-1972

1970-1979

1973

1976-1979

1979-1981

1979-1979

1979-1981

1980-1981

1981-1985

1985-1989

1989-1990

1990-1994

1994-1999

1999-2004

2004-2009

2009-2014

2014-2017

2017-2022

2022-2023

2023-ปัจจุบัน

 


 
แผนที่การเดินทาง