-
Category: ประวัติวัดในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เขต 4
-
Published on Tuesday, 08 December 2015 03:16
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 12538
วัดเซนต์ร็อค (ท่าไข่)
เลขที่ 66/1/1 หมู่ 2 ตำบลคลองนครเนื่องเขต อำเภอเมือง
จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000
โทร. 08-6899-8880
เรื่องราวของ วัดเซนต์ร็อคท่าไข่ เปรียบประดุจต้นไม้ใหญ่ที่ค่อยๆ แตกตัวเติบโต ท่ามกลางระยะเวลาและองค์ประกอบต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงนับร้อยปี เมื่อผู้อ่านเริ่มต้นอ่านประวัติวัดเซนต์ร็อค ซึ่งคุณพ่อวิกเตอร์ลาเกได้กรุณาขุดคุ้ยค้นคว้าด้วยความอุตสาหะ โปรดสังเกตสักนิดว่า สัตบุรุษวัดเซนต์ร็อคเติบโตมาพร้อมกับชาวเซนต์ปอล และเซนต์แอนโทนี โดยพระญาณสอดส่องของพระเจ้า ความเมตตาของท่านนักบุญร็อค ประกอบกับหัวใจอันเปี่ยมด้วยความเชื่อของอดีตคณะพระสงฆ์ในสมัยเก่าก่อน ที่ค่อยๆ เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเชื่อลงในจิตใจของสัตบุรุษที่นี่ พยายามพรวนดินรดน้ำ ใส่ปุ๋ยด้วยน้ำเหงื่อ น้ำพักน้ำแรง และแม้กระทั่งชีวิตสมควรอย่างยิ่งที่บุคคลผู้ได้ชื่อว่า “ลูกวัดเซนต์ร็อค” ทั้งที่ยังคงอยู่หรือแยกย้ายไปตั้งหลักแหล่ง ณ ที่ใดไม่ว่า จะได้รำลึกถึงพระคุณของท่านเหล่านั้นด้วยจิตใจอันเปี่ยมด้วยความกตัญญูรู้คุณ
การเริ่มวางรากฐาน
1. พระสังฆราชกูร์เวอซี เป็นพระสังฆราชมิสซังสยามองค์แรก ต้องการให้แพร่ธรรมในหมู่คนจีนในประเทศไทย
ในสมัยนั้นมิสซังสยามกว้างใหญ่ไพศาลมีเนื้อที่รวมทั้งประเทศไทย มลายู ประเทศมอญภาคใต้ประเทศพม่า เกาะสุมาตรา กับหมู่เกาะนีโกบาร์ และปูเลาปูเลาด้วย และเมื่อมิสชันนารีมาจากยุโรปหลายองค์ พระสังฆราชก็ต้องส่งแบ่งกันตามเขตต่างๆ เหล่านั้น
เมื่อปี ค.ศ.1834 คุณพ่อกูร์เวอซี ได้รับเลือกตั้งจากสมเด็จพระสันตะปาปาให้เป็นพระสังฆราช ปกครองมิสซังสยามอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ และได้รับมอบหมายให้เตรียมแบ่งแยกมิสซัง ฉะนั้น เมื่อ ปี ค.ศ. 1835 พระสังฆราชกูร์เวอซี แต่งตั้งคุณพ่อปัลเลอกัว เป็นอุปสังฆราช เพื่อดูแลพระศาสนจักร ในเมืองไทยเป็นพิเศษ แล้วท่านเดินทางไปสิงคโปร์ มะริดและปีนัง เพื่อเยี่ยมเยียนสัตบุรุษที่สิงคโปร์ ท่านกูร์เวอซีได้ทราบว่าคุณพ่ออัลบรังด์ ได้สอนคนจีนประมาณ 200 คน กลับใจภายในเวลาหนึ่งปี พระสังฆราชจึงนึกได้ว่า ขณะนั้นมีคนจีนเป็นจำนวนมากเข้ามาในเมืองไทย ท่านกูร์เวอซี จึงคิดถึงคำที่ คุณพ่อกูเด ได้เขียนไว้คราวที่มาถึงกรุงเทพฯ หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้สว่า “ที่นี่มีคนจีนมากดูเหมือนจะสอนคนจีนให้กลับใจง่ายกว่าคนไทย พระเจ้าแผ่นดินไม่ห้ามเขาเป็นคริสตังและเขาเป็นเหมือนคนต่างด้าว มิสชันนารีที่รู้จักภาษาจีนจะทำประโยชน์ในเมืองไทยได้มาก” พระสังฆราชกูร์เวอซี จึงให้คุณพ่ออัลบรังด์มาสอนคนจีนในเมืองไทย
2. ปี ค.ศ.1835 คุณพ่ออัลบรังด์ มาประจำอยู่ที่วัดอัสสัมชัญแล้วตั้งแต่ ค.ศ.1837 ที่วัดกาลหว่าร์
ต่อมาวัดกาลหว่าร์ได้กลายเป็นวัดของคนจีน ท่านได้ทำให้คนจีนกลับใจเป็นอันมาก ทั้งที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งคุณพ่ออัลบรังด์ได้ไปเยี่ยมเขามิได้ขาด
คริสตังหมู่บ้านแรกที่บางช้าง (บางนกแขวก) นครชัยศรี และท่าจีน ปากลัด และปากน้ำดอนกระเบื้อง แปดริ้ว ท่าไข่ บางปลาสร้อย ฯลฯ ก็ได้เกิดขึ้นเพราะคุณพ่ออัลบรังด์นี้เอง
สามปีแรก ท่านแพร่ธรรมในกรุงเทพฯ ซึ่งมีคนกลับใจเป็นจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันท่านเตรียมจะไปแพร่ธรรมในต่างจังหวัด
โดยฝึกอบรม พวกหนุ่มๆ ใจร้อนรนให้เป็นซินแซ ดูแลและอบรมคริสตังใหม่ในหมู่คริสตชน ซึ่งท่านจะเปิดต่อไปในต่างจังหวัด จำนวนมิสชันนารีน้อยเต็มที ซินแซจะเป็นผู้แทน
สำรวจ ตำบลต่างๆ ซึ่งมีคนจีนมาก สมัยนั้นถนนหนทางยังไม่มี คนจีนที่อพยพจากเมืองจีน มาหาหลักแหล่งทำมาหากินในเมืองไทย มักจะรวมกลุ่มกันตามตลาดหรือตามทุ่งตามแม่น้ำลำคลอง เช่น แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำนครชัยศรี แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางประกง
วิธีการแพร่ธรรม จะเป็นแบบเดียวกันทุกแห่ง คือ
1.ไปหาคนจีน ชักชวนให้เข้าถือศาสนาคริสตัง อย่างคนจีนที่วัดกาลหว่าร์และสอนเขาตามบ้านระยะหนึ่ง
2. เมื่อเห็นว่ามีคนสมัครเรียนหลายคนจัดแจงสร้างบ้านพักด้วยไม้ไผ่ ให้ซินแซมีห้องใหญ่ ห้องหนึ่งใช้เป็นห้องอบรม และห้องสวดภาวนา คุณพ่ออยู่ด้วยประมาณ 15 วัน บางครั้ง 1 เดือนแล้ว คุณพ่อไปที่อื่น ทิ้งซินแซคนหนึ่งอยู่กับพวกเขาต่อไป
3. ผ่านกลับมาสอบความรู้ เตือนให้ฟังซินแซสอน และสวดภาวนา ก่อนที่คุณพ่อจะได้โปรดศีลล้างบาปเมื่อเห็นว่าสมควรแล้ว
แม้ว่าตัววัดเซนต์ปอลสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1873 และตัววัดเซนต์ร็อคในปี ค.ศ. 1912 นั้นก็จริงแต่กลุ่มคริสตชนทั้งสองกลุ่มนี้ก็ถือกำเนิดอันเดียวกันจากคุณพ่ออัลบรังด์นี้เอง
วัดแรกของคุณพ่ออัลบรังด์ที่บ้านใหม่เป็นวัดร่วมของคนจีนในเขตแปดริ้ว
คุณพ่อสมัยบุกเบิก
1. สมัยคุณพ่อ เอเจียน เรมงค์ อัลบรังด์ ค.ศ. 1838-1846
หลังจากไปทางวัดนครชัยศรีและบางช้างเป็นครั้งแรก แล้วไปทางภาคกลางที่ปากเพรียวและอยุธยานั้น ท่านได้ไปสำรวจแหล่งชาวจีนทางภาคตะวันออกของกรุงเทพฯ คือเขตแปดริ้ว บางปลาสร้อย สมัยนั้นยังไม่มีทางรถไฟ ไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง มีแต่ทางเกวียนบ้างเป็นบางระยะๆ การไปไหนมาไหนต้องอาศัยแม่น้ำลำคลอง ท่านสังเกตว่ามีชาวจีนมากตามคลองเนื่องเขต ตามทุ่งนาและในบริเวณแปดริ้ว ท่านก็ขึ้นสนทนากับเขา
เมื่อได้ทำการรู้จักกัน คุยกันเรื่องความทุกข์สุขของเขา คุณพ่ออัลบรังด์ไม่เสียเวลาพูดเรื่องศาสนาทันที ซึ่งพวกเขายินดีฟังและแสดงความสนใจ เพราะคุณพ่อพูดภาษาของเขาเหมือนคนจีนทีเดียว เมื่อท่านเห็นว่า มีคนสนใจมากพอใช้ ทั้งทางบริเวณคลองเนื่องเขต ตั้งแต่สี่แยกมาและในบริเวณตำบลแปดริ้ว จึงตัดสินใจสร้างบ้านหลังหนึ่งด้วยไม้ไผ่ที่บ้านใหม่ ซึ่งอยู่ตรงที่ตั้งประตูน้ำปัจจุบัน ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของซินแซ เป็นที่แปลคำสอน แพร่ธรรมเวลาค่ำ และใช้เป็นวัดชั่วคราว เมื่อคุณพ่ออัลบรังด์กลับมาเยี่ยมสอบความรู้และโปรดศีลล้างบาป
คุณพ่ออัลบรังด์ได้ไปๆ มาๆ ในระหว่างกลุ่มคริสตชนที่ตั้งขึ้นแล้ว อยู่ที่นี่ 15 วัน อยู่ทางโน้นเดือนหนึ่ง ส่วนซินแซก็จะอยู่กับเขาตลอดไป ผู้สมัครเรียนก็ไปเรียนและสวดภาวนาเวลาค่ำที่วัดชั่วคราว กลางวันก็จะมีเวลาไปเยี่ยมเขาตามบ้านและหาคนใหม่ต่อไป
* เป็นอันว่าคุณพ่ออัลบรังด์เป็นผู้สร้างวัดชั่วคราวหลังแรกที่ “บ้านใหม่” เมื่อปี ค.ศ. 1840 เป็นวัดร่วมสำหรับกลุ่มคริสตชนในเมืองฉะเชิงเทรา
ใน ปี ค.ศ. 1846 คุณพ่ออัลบรังด์ได้ไปเมืองจีนและรับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชประมุขมิสซังกุยเชว
2. สมัยคุณพ่อ แฟร์ดินัง โยเซฟ ดือปองด์ ค.ศ. 1846-1864
คุณพ่อดือปองค์ มาถึงกรุงเทพฯในปี ค.ศ.1839 พระสังฆราชปัลเลอกัว สั่งให้เรียนภาษาจีนที่วัดกาลหว่าร์ และแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยคุณพ่ออัลบรังด์ และเป็นผู้รักษาการแทนขณะที่คุณพ่ออัลบรังด์ ไปเยี่ยมกลุ่มชาวจีนต่างๆ
ในปี ค.ศ.1845 คุณพ่อดือปองด์ ไปนครชัยศรี และสร้างวัดหลังแรกเป็นไม้ไผ่ และในภายหลังท่านไปดูแลคริสตังใหม่ในบริเวณแปดริ้วที่บ้านใหม่
เมื่อคุณพ่ออัลบรังด์ไปเมืองจีนใน ปี ค.ศ.1846 พระสังฆราชปัลเลอกัว จึงได้ตั้งคุณพ่อดือปองด์ ซึ่งอยู่กับพวกคนจีนหลายปีมาแล้วแทนคุณพ่ออัลบรังด์ คุณพ่อดือปองด์ดูแลคริสตชนในบ้านใหม่และบางปลาสร้อย เป็นต้นจนกระทั่งท่านได้รับตำแหน่งพระสังฆราช ในปีค.ศ.1864
คุณพ่อดือปองด์ ต้องจากสยามไปในปี ค.ศ. 1849-1851 พร้อมกับมิสชันนารีอื่นๆ หลายองค์ เนื่องด้วยเกิดปัญหายุ่งยากเกี่ยวกับเทวศาสตร์ เรื่องหลงงมงาย และภายหลังคุณพ่อดือปองด์กลับมาสยามอีก โดยปกครองดูแลวัดแม่พระลูกประคำกาลหว่าร์ จนท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งอาซ๊อต และเป็นประมุขมิสซังสยาม ในปี ค.ศ. 1864
ในระหว่าง ปี ค.ศ. 1849-1851 มีพระสงฆ์ไทยสับเปลี่ยนกับมิสชันนารีเคลื่อนที่มาดูแล แต่ไม่ได้มีบันทึกชื่อไว้
3. มิชชันนารีเคลื่อนที่ ค.ศ. 1846-1856
พระสงฆ์ที่ดูแลคริสตังจีน เคยมีพระสงฆ์ผู้ช่วย 2 องค์เสมอ เพราะต้องไปเยี่ยมคริสตังใหม่และผู้ที่กำลังเรียนคำสอนอยู่มิได้ขาด ปีละสองครั้ง คุณพ่อองค์หนึ่งต้องไปเยี่ยมหมู่บ้านคริสตังทางตะวันตก ส่วนอีกองค์หนึ่งต้องไปเยี่ยมทางภาคตะวันออกที่บางปลาสร้อยและบ้านใหม่
ก. พระสงฆ์ไทย องค์หนึ่งสับเปลี่ยนกันซึ่งในเวลานั้นมีพระสงฆ์ไทยไม่กี่องค์
ปี ค.ศ. 1849 เกิดเรื่องหนึ่งเรียกว่า “เรื่องไก่” ทำให้มิสชันนารีทุกๆ องค์ รวม 8 องค์ต้องถูกเนรเทศ เหลือแต่พระสังฆราชปัลเลอกัวที่กรุงเทพฯ และคุณพ่อรังแฟงก์ที่จันทบุรี กับพระสงฆ์ไทย 5 องค์ พระสังฆราชปัลเลอกัวได้ส่งพระสงฆ์ไทยที่เหลือไปตามค่ายคริสตังต่างๆ แต่ท่านมีความร้อนใจเมื่อคิดถึงหมู่คริสตังจีนในต่างจังหวัดที่ตั้งขึ้นใหม่ เพราะถ้าไม่มีพระสงฆ์ไปเยี่ยมแล้วก็น่าเกรงว่าคนที่กำลังเรียนคำสอนหรือเป็นคริสตังใหม่จะพากันหมดกำลังใจ
ข. คุณพ่อ ยัง มาแร็ง ค.ศ. 1852-1854
เดชะบุญ มีมิสชันนารีองค์ใหม่มาจากฝรั่งเศส ปลายปีค.ศ.1849 คือ คุณพ่อมาแร็ง พระสังฆราชส่งไปนครชัยศรีก่อนท่านได้เริ่มเรียนภาษาจีน และไปเยี่ยมบางช้างกับดอนกระเบื้อง กลับมาอยู่นครชัยศรีเป็นหลักแล้วไปบ้านใหม่เป็นระยะๆ
เมื่อมิสชันนารีกลับมาเมืองไทยแล้ว เมื่อปี ค.ศ.1851 สถานการณ์ก็เป็นปกติอย่างเดิม และในปี ค.ศ. 1852-1854 การไปเยี่ยมคริสตังที่บ้านใหม่ดำเนินอย่างเรียบร้อย คุณพ่อมาแร็ง อยู่ดูแลจนถึง ปี ค.ศ. 1854 จึงย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดคอนเซปชัญ และในปี ค.ศ. 1855 ก็มีมิสชันนารีเคลื่อนที่มาดูแล แต่ไม่ได้มีบันทึกชื่อไว้
บัญชีวัด : ในสมัยคุณพ่ออัลบรังด์ คุณพ่อดือปองด์ และมิสชันนารีเคลื่อนที่ บัญชีศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของทุกวัดได้รวบรวมไว้ในบัญชีศีลศักดิ์สิทธิ์ของวัดแม่ คือ วัดกาลหว่าร์ ซึ่งสูญเสียไปหมดสิ้นเมื่อเกิดเพลิงไหม้บ้านพักพระสงฆ์ของวัดกาลหว่าร์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1864
สมัยคุณพ่อเจ้าอาวาส
1. คุณพ่อ เซเวอแรง ยักส์ มารี ดานิแอล
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ปี ค.ศ. 1856-1863
ประจำบางปลาสร้อยและแปดริ้ว
สร้างวัดไม้ที่บ้านใหม่ ค.ศ. 1857
ปี ค.ศ. 1857 คุณพ่อดานิแอล ได้ไปประจำอยู่ที่บางปลาสร้อย และอยู่จนถึงปี ค.ศ. 1863 เพื่อสอนคริสตังให้ดีขึ้น คุณพ่อเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านใหม่ด้วย จากบางปลาสร้อย คุณพ่อดานิแอลไปเยี่ยมคริสตังใหม่ที่บ้านใหม่และแพร่ธรรมในหมู่ชาวจีนตามคลองเนื่องเขตและใกล้ตำบลแปดริ้ว
**ในปีต่อมา คือปี ค.ศ.1858 คุณพ่อดานิแอล ได้สร้างวัดใหม่หลังแรกที่บ้านใหม่แทนวัดไม้ไผ่ ของคุณพ่ออัลบรังด์ ปี ค.ศ. 1864 คุณพ่อได้รับมอบหมายให้ดูแลวัดแม่พระลูกประคำ กาลหว่าร์
2. คุณพ่อ อาเล็กซิส อาดอลฟ์ เปอัง
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สอง ปี ค.ศ.1863-1867
และประจำที่แปดริ้วและบางปลาสร้อย
คุณพ่อเปอัง ออกเดินทางจากปารีส เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.1862 คุณพ่อมาถึงกรุงเทพฯ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1863 เวลานั้น บรรดามิสชันนารีทั้งหลายต่างหันมามุ่งประกาศศาสนาให้แก่พวกชาวจีนที่มาแสวงโชคในกรุงสยามและเริ่มประสบผลสำเร็จบ้างแล้ว
คุณพ่อเปอัง ก็ทำงานแพร่ธรรมอยู่กับพวกชาวจีนด้วยเหมือนกัน เมื่อได้เรียนรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาจีนที่วัดนครชัยศรี อันเป็นวัดสำคัญอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองบางกอก คุณพ่อก็ได้รับ มอบหมายให้ไปดูแลวัดบ้านใหม่ ในเขตแปดริ้ว ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการเขตจังหวัดและตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกมีเนื้อที่ยาว 200 กิโลเมตร และกว้าง 150 กิโลเมตร คุณพ่อยังรับผิดชอบดูแลวัดบางปลาสร้อยด้วย ระหว่าง ปี ค.ศ.1863-1865 ความใจดีและความมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำให้คุณพ่อสามารถ ชนะใจพวกคริสตังใหม่ ในเขตวัดดังกล่าวนี้ได้อย่างรวดเร็ว คุณพ่อตั้งใจจะสร้างวัดใหม่เป็นตึก ที่สวยงามที่บ้านใหม่ แต่ยังหาเงินไม่ได้ท่านจึงคิดเขียนจดหมายถึงพระสังฆราชในสังฆมณฑลลาวาลของท่านที่ฝรั่งเศส
บรรดาสัตบุรุษในสังฆมณฑลลาวาลใจกว้างบริจาคเงินเป็นจำนวนมาก แต่พอเงินบริจาคมาถึงกรุงสยามก็มีผู้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแปดริ้วแทนคุณพ่อเปอัง และได้ใช้เงินบริจาคนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยสร้างวัดที่มิสชันนารีของเราใฝ่ฝันไว้ ส่วนตัวคุณพ่อเปอังเองถูกเรียกตัวไปเป็นอาจารย์อยู่ในบ้านเณรมิสซังต่างประเทศ ในปี ค.ศ. 1867
คุณพ่อเปอัง ถึงแก่มรณภาพลงที่บ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1893
3. คุณพ่อ ฟรังซัว โยเซฟ ชมิตต์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สาม ปี ค.ศ. 1868-1904
เมื่อคุณพ่อเปอังต้องจากแปดริ้วไปที่ศูนย์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสแล้ว พระสังฆราชดือปองด์ จึงแต่งตั้งคุณพ่อชมิตต์ให้ไปแทน เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านใหม่
ก. คุณพ่อชมิตต์ ที่บ้านใหม่ ค.ศ. 1868-1873
คุณพ่อฟรังซัว โยเซฟ ชมิตต์ ออกเดินทางมามิสซังกรุงสยาม วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1863 ในช่วงเวลา 2 ปี คุณพ่อทำงานอยู่ที่สำนักมิสซังกรุงเทพฯ เป็นเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญองค์แรกด้วย
ในปี ค.ศ.1868 คุณพ่อได้รับมอบหมายให้ดูแลเขตวัดบ้านใหม่ แปดริ้วด้วย แปดริ้วเป็นเมืองใหญ่ที่สุดทางภาคตะวันออก ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง และห่างจากแม่น้ำประมาณ 25 กิโลเมตร ที่แปดริ้วและในชนบทกำลังดำเนินการจัดตั้งบางกลุ่มอยู่ การปกครองกลุ่มคริสตังในเขตแปดริ้ว ดำเนินไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องไปเยี่ยมเยียนอยู่เสมอๆ
จากบ้านใหม่แปดริ้ว คุณพ่อชมิตต์ คงตระเวนไปทั่วทั้งจังหวัด และออกนอกจังหวัดด้วย เช่น ที่ท่าเกวียน หัวสำโรง เมืองพนัส บางปลาสร้อย ปราจีนบุรี
ตามปกติ คุณพ่อชมิตต์พักอยู่ที่บ้านใหม่ ณ ที่นี้ คุณพ่อพบแต่วัดไม้ทุเรศเพียงหลังหนึ่ง สร้างขึ้นในปีค.ศ.1857 และตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง บ้านพักของมิสชันนารีก็คล้ายกับวัด ในเมื่อ มิสชันนารีของเราไม่เคยพิถีพิถันเรื่องที่พักและอาหาร
ดังนั้น ไม่น่าประหลาดใจที่มิสชันนารีหนุ่มองค์หนึ่งซึ่งเพิ่งคุ้นกับอากาศ ได้ที่พักไม่ดี อาหารไม่ดี จึงไม่สามารถสู้ทนกับความเหน็ดเหนื่อยต่างๆ ที่ได้รับจากการปกครองดูแลวัดของท่าน หลังจากมาอยู่จังหวัดแปดริ้วได้ 4 ปี คุณพ่อชมิตต์ เกิดเป็นโรคบิด จึงต้องกลับไปฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. 1869-1870 ตามคำแนะนำของบรรดาอธิการและแพทย์
เมื่อกลับมาจากฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.1871 พระสังฆราชดือปองด์ ส่งท่านไปสำรวจเส้นทางสู่เชียงใหม่ โดยผ่านทางพม่า แต่ท่านไม่สามารถข้ามภูเขาป่าทึบได้จึงต้องกลับมาที่กรุงเทพฯ
ตลอดเวลา 2-3 ปี ที่คุณพ่อชมิตต์มิได้อยู่ “บ้านใหม่” นั้น พระสังฆราชดือปองด์ จัดให้มีพระสงฆ์องค์อื่น ไปดูแลคริสตังทางคลองตีนเป็ด คลองท่าไข่ เช่น คุณพ่อบาร์บิเอร์ไปอยู่วัดท่าเกวียน ช่วยดูแลคริสตังในปี ค.ศ.1869
คุณพ่อฟ็อก ซึ่งเคยเป็นปลัดของคุณพ่อเปอังที่บ้านใหม่ เมื่อปีค.ศ.1867 นั้น ก็ไปช่วยแทนคุณพ่อชมิตต์ ที่ท่าเกวียน ระหว่างปี ค.ศ.1867-1869ในฐานะเป็นปลัดแล้วเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าเกวียน ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1869-1872
ส่วนคุณพ่อซาลาแด็ง พอเรียนภาษาใช้ได้แล้ว ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าอาวาสรักษาการที่วัดบ้านใหม่ ในปี ค.ศ.1869-1873 มีหน้าที่ปกครองคริสตัง แปดริ้ว และท่าไข่ และในปี ค.ศ. 1871-1872 ท่านได้รับคุณพ่อแก็นตริก เป็นปลัดผู้ช่วย
เรื่องบัญชีของวัด
คุณพ่อเปอัง เป็นผู้เปิดบัญชีวัดประจำวัดบ้านใหม่ และอีกชุดหนึ่งประจำวัดบางปลาสร้อย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1863 ใช้บัญชีกระดาษบางๆ และน้ำหมึก (ที่กัดกระดาษทะลุ)
ที่วัดบางปลาสร้อย คุณพ่อเจ้าวัดอื่นๆ สืบต่อจากคุณพ่อเปอัง ก็ใช้บัญชีเล่มแรกต่อไป แต่เมื่อคุณพ่อเล็ตแชร์ ไปเป็นเจ้าอาวาส คุณพ่อเห็นว่ากระดาษบัญชีเก่าจะหมดอายุในไม่กี่ปีข้างหน้าคงจะอ่านไม่ได้แล้ว และแผ่นกระดาษจะขาดกลายเป็นชิ้นๆ คุณพ่อจึงจัดการเอาบัญชีเล่มใหม่ และลอกรายการศีลล้างบาป ตั้งแต่ปีแรก ค.ศ.1863 ลงในเล่มใหม่ เป็นอันว่าสำหรับวัดบางปลาสร้อย มีบัญชีศีลล้างบาปประจำวัด ตั้งแต่ปี ค.ศ.1863 ถึงปัจจุบัน จนครบ เพราะความเอาใจใส่ของคุณพ่อเล็ตแชร์
ส่วนบัญชีของวัดบ้านใหม่ คุณพ่อชมิตต์ ได้ใช้บัญชีเก่าของคุณพ่อเปอัง จนหมดเล่มในปีค.ศ.1898 ในวัดเซนต์ปอล จึงเริ่มใช้บัญชีเล่มใหม่ในปี ค.ศ.1898 แต่ไม่เอาใจใส่เรื่องบัญชีเล่มเก่า ไม่ลอกไว้เป็นเหตุให้วัดแปดริ้วมีรายการศีลล้างบาปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1898 เป็นต้นไป ทั้งวัดเซนต์ปอลและวัดท่าไข่
ข. คุณพ่อชมิตต์ ที่วัดเซนต์ปอล ค.ศ. 1873-1904
เหตุการณ์ตอนแยกวัด แยกกลุ่ม ค.ศ. 1873
ปี ค.ศ.1872 คุณพ่อชมิตต์ กลับมาอยู่ที่บ้านใหม่อีกครั้งหนึ่ง สภาพการณ์ดีขึ้น เพราะมีมิสชันนารีเพิ่มมากขึ้น ท่าเกวียน หัวสำโรง เมืองพนัส บางปลาสร้อย อยู่ในการปกครองดูแลของ คุณพ่อบาร์บิเอร์ และคุณพ่อเกโก คุณพ่อชมิตต์ซึ่งไม่ต้องเดินทางอีก จึงคิดถึงการสร้างวัดใหม่ แยกวัดแยกกลุ่ม แต่ก่อนที่จะมาอยู่ในเขตแปดริ้วเป็นการถาวร ท่านไปสำรวจคริสตังทางจังหวัดนครนายก และสร้างวัดน้อย (พระยาสามองค์) ที่บ้านเล่า โดยท่านจะไปเยี่ยมนานๆ ครั้ง ถึง ค.ศ. 1876
1. สร้างวัดเซนต์ปอลสำหรับคริสตังชาวแปดริ้ว ค.ศ. 1873
โดยที่ คุณพ่อชมิตต์ เป็นผู้รับเงินจากสังฆมณฑลลาวาล ในนามคุณพ่อเปอัง คุณพ่อได้ซื้อที่ดินผืนหนึ่งบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำด้วยความร่วมมือของคุณพ่อเยิง ผู้เป็นปลัดของท่านในปี ค.ศ.1873-1876 บนที่ดินผืนนี้คุณพ่อจึงสร้างวัดนักบุญเปาโล ซึ่งเปิดทำจารีตเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.1873 วัดนี้สร้างเสร็จปี ค.ศ. 1875 เป็นอิฐพร้อมด้วยหอระฆังไม้สองหอเล็กๆ นับว่าเป็นวัดที่สวยงามหลังหนึ่งในกรุงสยาม
ในระหว่างปี ค.ศ. 1891-1892 พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ส่งคุณพ่อเย็นวัวส์ ซึ่งกลับมาจากฝรั่งเศสเป็นปลัดผู้ช่วยคุณพ่อชมิตต์ อีกท่านหนึ่ง
2. สร้างวัดสี่แยกท่าไข่ สำหรับคริสตังท่าไข่ ค.ศ. 1875
สมัยวัดสี่แยกท่าไข่ ค.ศ. 1875-1912
เมื่อรื้อวัดบ้านใหม่ และสร้างวัดเซนต์ปอลเรียบร้อยแล้ว คุณพ่อชมิตต์สังเกตว่า คริสตังท่าไข่ มาวัดเซนต์ปอลน้อยมาก เพราะอยู่ห่างเกินไปจึงตัดสินใจสร้างวัดชั่วคราวในเขตท่าไข่ตรงสี่แยกท่าไข่ริมคลอง และส่งคุณพ่อปลัดไปฟังแก้บาป แปลคำสอน และทำมิสซาวันเสาร์ แทนวันอาทิตย์
ตอนแรกก็เป็นคุณพ่อเยิง ผู้เป็นปลัด ที่ไปท่าไข่ในปี ค.ศ.1875-1876 แต่เมื่อคุณพ่อเยิงย้ายไปแล้ว คุณพ่อแปร์แบต์ มาเป็นปลัดของคุณพ่อชมิตต์ ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ.1877 ดังนั้น คุณพ่อแปร์แบต์ จึงไปแพร่ธรรมที่วัดท่าไข่ ทุกวันเสาร์นอกจากว่าคุณพ่อชมิตต์ไม่อยู่หรือไม่สบาย
ค.ศ.1891-1892 ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว คุณพ่อเย็นวัวส์ กลับจากฝรั่งเศส รับแต่งตั้งเป็นปลัดของคุณพ่อชมิตต์ ก่อนที่จะย้ายไปปากคลอง ท่าลาด ในฐานะเจ้าอาวาส เวลานั้นผลัดกันไปวัดสี่แยกท่าไข่กับคุณพ่อแปร์แบต์
ตั้งแต่ ค.ศ.1894 คุณพ่อชมิตต์ หมดกำลัง จำเป็นต้องให้คุณพ่อแปร์แบต์ รับหน้าที่ดูแลวัดเซนต์ปอลแทน ดังนั้น คุณพ่อแปร์แบต์ จะไปท่าไข่ทุกๆ วันเสาร์คงไม่ได้ถึงแม้ว่าท่านรักคริสตังวัดท่าไข่มาก และมีโครงการพิเศษสำหรับท่าไข่
ปี ค.ศ.1904 คุณพ่อชมิตต์ รู้สึกว่าถึงวาระจะต้องไปสวรรค์แล้ว ท่านจึงพยายามลงไปโปรดศีลล้างบาปเป็นครั้งสุดท้าย และเขียนรายงานในบัญชีศีลล้างบาป ด้วยน้ำหมึกสีแดง เลขที่ 188 วันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1904 ท่านเข้าโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม และมรณภาพในวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 1904
4. คุณพ่อ ยัง ฟรังซัว เรจีส์ แปร์แบต์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สี่ กันยายน ค.ศ. 1904 - พฤษภาคม ค.ศ. 1924
เนื่องจากว่า คุณพ่อแปร์แบต์ เป็นผู้ซื้อที่ดินทั้งหมดของวัดเซนต์ร็อค ทั้งทุ่งนาอันกว้างใหญ่ให้ชาวคริสตังมีที่เลี้ยงชีพ และซื้อที่ดินแปลงพิเศษให้เป็นที่ตั้งของวัด เนื่องจากคุณพ่อเป็นผู้จัดให้สร้างวัดเซนต์ร็อคให้เสร็จพร้อม ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1917 ถึง ค.ศ. 1920 นั้น เราจึงถือว่า คุณพ่อเป็นบิดาโดยตรงของวัดเซนต์ร็อค ดังนั้นจึงขอเสนอชีวประวัติของคุณพ่อเพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณของท่านด้วย
คุณพ่อ ยัง ฟรังซัว เรจีส์ แปร์แบต์ เกิดวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1850 ที่เมืองอาโรลส์ ในสังฆมณฑลปุย บิดาของคุณพ่อซึ่งเป็นคนเข้มแข็งอย่างไม่ค่อยมีใครเหมือน ได้อบรมบ่มนิสัยบุตรและทำให้คุณพ่อมีนิสัยมั่นคง และสามารถใช้วิจารณญาณได้อย่างถูกต้องตามที่พวกเราทุกคนทราบ แต่วิกฤติ การณ์สงครามใน ปี ค.ศ.1870 ทำให้การอบรมนิสัยต้องหยุดชะงักไปอย่างกะทันหัน
เมื่อสงครามยุติลง คุณพ่อก็ทำการศึกษาต่อไป แล้วก็ได้รับอนุมัติจากพระสังฆราชของท่านให้เข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศได้ ที่นั่น ท่านได้พบกับบรรยากาศที่ท่านต้องรู้สึกต้องการเพื่อดำรงชีวิตตามที่ท่านปรารถนา ความเมตตากรุณาแบบพี่น้องกันของเพื่อนๆ และความใจดีของคณาจารย์ ทำให้ใจของท่านกว้าง และตั้งใจเป็นพระสงฆ์อย่างร้อนรนตลอดชีวิต
คุณพ่อแปร์แบต์ ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์วันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1876 และได้รับมอบหมายให้มามิสซังสยาม คุณพ่อออกจากกรุงปารีสวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1876 ถึงกรุงเทพฯ เดือนธันวาคม
พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ประมุขมิสซังเวลานั้น ให้มิสชันนารีใหม่ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมเมืองของท่านอยู่กับท่านระยะหนึ่ง แล้วก็ส่งไปเรียนภาษากับคุณพ่อชมิตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์คนหนึ่ง ในขณะที่มุ่งเรียนภาษาไทยอยู่ มิสชันนารีหนุ่มผู้นี้ก็พยายามช่วยงานผู้ดูแลเท่าที่ทำได้ บางครั้งก็มากกว่าที่ต้องการ เพื่อเป็นการแบ่งเบางานแพร่ธรรมประจำวันซึ่งอาจจะหนักสำหรับเพื่อนพระสงฆ์ที่อายุมากแล้ว การเอาใจใส่อันละเอียดอ่อนเหล่านี้ ทำให้คุณพ่อแปร์แบต์เป็นที่ชอบพอของคุณพ่อเจ้าวัดของท่านอย่างลึกซึ้ง ด้วยเหตุนี้ คุณพ่อแปร์แบต์จึงเป็นปลัดอยู่ที่แปดริ้วถึง 28 ปี เมื่อคุณพ่อชมิตต์ มรณภาพในปี ค.ศ. 1904 คุณพ่อแปร์แบต์ก็ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบไป ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1904-1924 เพื่อความสะดวกขอแบ่งระยะการปกครอง 20 ปีของท่านเป็น 2 ช่วง คือ
คุณพ่อแปร์แบต์ ค.ศ. 1904-1912
ก. ที่วัดเซนต์ปอล แปดริ้ว
หลังจากคุณพ่อชมิตต์ มรณภาพลง คุณพ่อแปร์แบต์ก็สืบตำแหน่ง หัวหน้าเขตวัดแปดริ้ว ต่อไปอันที่จริงคุณพ่อได้ปลูกฝังนิสัย และวิธีปฏิบัติของหัวหน้าคนก่อนจนไม่มีคริสตังคนใดเลยสามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองดูแลวัด ถ้ามีก็เป็นการแสดงเมตตาจิตต่อพวกสัตบุรุษเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าซึ่งเจ้าอาวาสคนใหม่ทำในบรรดาสัตบุรุษของวัดนี้ไม่มีใครสักคนเดียวที่มาขอความช่วยเหลือจากคุณแปร์แบต์ เมื่อเกิดปัญหายุ่งยากใดๆ แล้วไม่ได้รับความบรรเทาจากความทุกข์ยาก
การแสดงเมตตาจิตของมิสชันนารีใจดีผู้นี้ ยังแผ่ไปถึงเพื่อนมิสชันนารีของท่านด้วยและเราอาจพูดได้ว่า บ้านพักพระสงฆ์ที่แปดริ้วเป็นบ้านที่ให้การต้อนรับอย่างดีเสมอๆ ทุกคนได้รับการต้อนรับเอาใจใส่ด้วยใจจริงและพวกมิสชันนารีที่ป่วยก็ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีด้วย
เช่น ปี ค.ศ. 1905 คุณพ่อวัวะแซ็ง ขอไปพักเกษียณที่วัดแปดริ้วกับคุณพ่อแปร์แบต์ซึ่งยินดีต้อนรับดูแลรักษาอย่างดีแล้วคุณพ่อวัวะแซ็ง ก็สามารถช่วยคุณพ่อเจ้าวัดในการดูแลปกครองสัตบุรุษ จนถึง ค.ศ.1915 ทำให้คุณพ่อแปร์แบต์ไปเยี่ยมกลุ่มคริสตังต่างๆ ได้โดยเฉพาะกลุ่มท่าไข่
ข. ที่วัดสี่แยกท่าไข่
โครงการพัฒนา กลุ่มท่าไข่
กลุ่มท่าไข่ มีวัดน้อยแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1875 แต่วัดนี้กำลังผุพังแล้วเพราะคุณพ่อชมิตต์ได้สร้างแต่วัดชั่วคราว ไม่ทนทานและเล็กไป ส่วนคริสตังก็กระจัดกระจายไปริมคลองเนื่องเขต หรือตามทุ่งนา ดังนั้น คุณพ่อแปร์แบต์ จึงตั้งโครงการพัฒนากลุ่มนี้เป็นพิเศษ คือ
1. จะต้องหาวิธีรวบรวมคริสตังให้มาอยู่ใกล้วัดและให้เขามีที่ทำมาหากินคุณพ่อแปร์แบต์มีเงินส่วนตัว ซึ่งได้รับเป็นมรดกจากพ่อแม่ ท่านจึงใช้เงินจำนวนนี้ซื้อทุ่งนาแปลงใหญ่ๆ มุ่งให้คริสตังเป็น ผู้เช่าและมาร่วมกลุ่ม
2. จะต้องสร้างวัดใหม่ แข็งแรง กับบ้านพักพระสงฆ์และโรงเรียนให้เด็กๆ ชายหญิง ได้มีโอกาสเรียนหนังสือ เรียนคำสอน ท่านเตรียมหมดทุกอย่างซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง สงวนไว้เพื่อจะเป็นที่ตั้งศูนย์วัด
ในสมัยนั้น สยามมิได้ปกครองแบบทุกวันนี้ มีพวกที่ชอบก่อความไม่สงบ คือ “พวกอั้งยี่” เป็นสมาคมลับประกอบด้วยชาวจีนโดยเฉพาะ สมาชิกของสมาคมลับประเภทนี้เป็นพวกฆาตกร ที่สมควรถูกลงโทษ พวกเขามีเป้าหมายเดียว คือ ก่อเรื่องไม่สงบและเบียดเบียนพวกที่ซื่อตรง ด้วยการกระทำเช่นนี้ พวกเขาจึงเป็นศัตรูดั้งเดิมของพวกคริสตัง ซึ่งถูกห้ามมิให้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมลับเหล่านี้ วันหนึ่ง พวกใจร้ายเหล่านี้มุ่งไปล้อมบ้านที่คุณพ่อแปร์แบต์และคนรับใช้อาศัยอยู่ แล้วก็แสดงความตั้งใจเป็นศัตรูอย่างเห็นได้ชัด แต่พระญาณสอดส่องทรงคุ้มครองก่อนที่คุณพ่อจะได้ทันห้ามพวกคนรับใช้ คนรับใช้คนหนึ่งของท่านเป็นคนคุ้มดีคุ้มร้ายได้คว้าปืนของมิสชันนารีและนัดแรกที่ยิงออกไป ก็ทำให้ผู้รุกราน 2 คน ล้มพับลงกับดิน พวกที่เหลือจึงรีบหนีไป สถานที่ที่เกิดเหตุนี้เป็นสถานที่ตั้งของวัดน้อยในปัจจุบัน ทำด้วยไม้ดีพอสมควร รอบๆ วัดนี้มีพวกคริสตังอยู่รวมกันมากกว่า 300 คน วัดนี้คือ “วัดนครเนื่องเขต”
หลายปีก็ผ่านไป เมื่อเตรียมทุกอย่างเรียบร้อยแล้วท่านจึงขอให้พระสังฆราชแปร์รอส จัดส่งปลัดหนุ่มสักคนมาช่วยดำเนินการ
คุณพ่อแปร์แบต์ ค.ศ. 1912-1924
ก. ที่ท่าไข่
1. คุณพ่อแปร์แบต์ จัดสร้างวัดเซนต์ร็อค คุณพ่อการิเอ เป็นผู้คุมการก่อสร้าง
ตามคำร้องขอของ คุณพ่อแปร์แบต์ พระสังฆราชแปร์รอส ส่งคุณพ่อการิเอ มาเป็นปลัดที่วัดเซนต์ปอล ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1912 เมื่อปี ค.ศ.1903 คุณพ่อการิเอ เคยมาเรียนภาษาที่แปดริ้วอยู่ได้ 3 เดือนก็ย้ายไปอยู่อยุธยากับคุณพ่อแบส์แรสต์ เพียงไม่กี่เดือนก็ต้องรีบกลับมารักษาตัวที่กรุงเทพฯ เป็นการด่วน
คุณพ่อแปร์แบต์ ก็ยินดีมากที่ได้พบคุณพ่อการิเออีกครั้ง ท่านไม่เสียเวลา และขอให้คุณพ่อการิเอ ไปจัดสร้างวัดใหม่อย่างแข็งแรงที่ท่าไข่ คุณพ่อแปร์แบต์จัดหาให้หมดทุกอย่างเพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลหาทุนซื้อสิ่งก่อสร้างโดยคุณพ่อการิเอเป็นแต่ผู้ออกแบบ และคุมการก่อสร้าง
ดังนั้นใครเป็นผู้ก่อสร้างวัดเซนต์ร็อค คุณพ่อแปร์แบต์ หรือคุณพ่อการิเอ ความจริงผลลัพธ์คือวัดเซนต์ร็อค เกิดมาจากความร่วมมือระหว่างคุณพ่อเจ้าวัดและคุณพ่อปลัดองค์แรกทุ่มเทกำลังทรัพย์ส่วนตัวซื้อที่ดินและซื้ออุปกรณ์สิ่งก่อสร้างทุกอย่างเท่าที่จำเป็นด้วยใจกว้างและความรัก คนทั้งสองทุ่มเทสติปัญญา กำลังกาย และกำลังใจจนเป็นวัดขึ้นมา ชื่อ วัดเซนต์ร็อค
2. คุณพ่อแปร์แบต์จัดสร้างบ้านพักพระสงฆ์ บ้านภคินี และโรงเรียนชายหญิง
คุณพ่อการิเอ เป็นผู้คุมการก่อสร้าง ค.ศ. 1918-1920
เมื่อสร้างวัดหลังนี้เสร็จแล้ว คุณพ่อการิเอไปเป็นประจำและโปรดศีลล้างบาปในวัดนี้ คริสตัง ไม่จำเป็นต้องนำเด็กเกิดใหม่ไปล้างบาปที่วัดเซนต์ปอล กระนั้นก็ดีคุณพ่อแปร์แบต์ก็ยังถือว่ากลุ่มท่าไข่ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มแปดริ้ว รายการโปรดศีลล้างบาปลงอยู่ในบัญชีศีลล้างบาปของวัดเซนต์ปอลปะปนกับรายการศีลล้างบาปของชาวจีนคลองตีนเป็ด แต่คราวนี้ก็เขียนว่า “ในวัดตามทุ่งนา” แทนที่จะว่า “ในวัดเซนต์ปอลแปดริ้ว” ได้โปรดศีลล้างบาป “ในวัดตามทุ่งนา” เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1912 โดยคุณพ่อการิเอ
เมื่อปี ค.ศ. 1914 เกิดสงครามโลก คุณพ่อการิเอถูกเกณฑ์เป็นทหาร ต้องไปฝรั่งเศสรับราชการ ทหาร คุณพ่อแปร์แบต์ต้องทำงานหนัก ดูแลวัดทั้งสองแห่งเป็นประจำ ส่วนกลุ่มเล็กอื่นๆ ก็ต้องไปเยี่ยมด้วยแต่ห่างๆ ไปหน่อย พระสังฆราชแปร์รอส จึงแต่งตั้งคุณพ่อฮุยให้เป็นปลัดของคุณพ่อแปร์แบต์ ตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 1916
เดชะบุญ คุณพ่อการิเอถูกปลดจากราชการทหาร ต้นปี ค.ศ.1918 คุณพ่อจึงรีบกลับมาประเทศสยามรับหน้าที่เป็นปลัดของคุณพ่อแปร์แบต์ อีกครั้งหนึ่ง โดยคุณพ่อไปประจำอยู่ที่วัดท่าไข่อย่างเก่า ในบัญชีศีลล้างบาปของวัดเซนต์ร็อค คุณพ่อฮุย จดไว้ว่า “ในวัดตามทุ่งนา เซนต์ร็อค เนื่องเขต คุณพ่อ ฮุยโปรดศีลล้างบาป” แต่คุณพ่อแปร์แบต์เป็นผู้เซ็นชื่อ ตามหลักปฏิบัติในสมัยนั้นเมื่อคุณพ่อการิเอกลับมาแล้วในเดือนเมษายน ค.ศ. 1918 พระสังฆราชแปร์รอส สั่งย้ายคุณพ่อฮุย จากเขตแปดริ้ว ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1918 ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดคอนเซปชัญ
ส่วนคุณพ่อการิเอ พอกลับมาก็ได้รับมอบหมายจากคุณพ่อแปร์แบต์ให้สร้างบ้านพักพระสงฆ์ ใหม่ และบ้านภคินีด้วย เพราะบัดนี้อารามเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน สามารถส่งภคินีไปตามวัดช่วยคุณพ่อในงานแพร่ธรรม คุณพ่อการิเอซึ่งไม่ต้องกังวลการหาทุนซื้ออุปกรณ์การก่อสร้างอันเป็นธุระของคุณพ่อแปร์แบต์ ได้สร้างอาคารเหล่านั้นด้วยไม้อย่างดีและแข็งแรง
นอกนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลเพิ่งประกาศเกี่ยวกับการศึกษา คุณพ่อแปร์แบต์ เป็นคนหนึ่งที่รีบพัฒนาการศึกษาของเยาวชน ปรับปรุงโรงเรียนวัด และหลักสูตรการสอนให้เหมาะสมกับกาลสมัย จึงมอบหมายให้ คุณพ่อการิเอ สร้างโรงเรียนประจำวัดท่าไข่ให้แข็งแรงมั่นคง
3. การเสกวัดและอาคารอื่นๆ ของวัดเซนต์ร็อค ค.ศ. 1920
ในรายการ C.R. ของปี ค.ศ. 1920 พระสังฆราชแปร์รอส รายงานถึงปารีสว่า “เดือนมิถุนายน (ความจริงเป็นเดือนเมษายน) ค.ศ.1920 มีพิธีเสกวัดหลังหนึ่งที่คุณพ่อการิเอ ผู้ช่วยคุณพ่อแปร์แบต์ เป็นผู้สร้างเสร็จมาได้หลายปีแล้ว (ค.ศ.1912) ทางตะวันตกของแปดริ้ว ริมคลองที่มีน้ำทำให้นาอุดมสมบูรณ์ ที่นี่มีคริสตังตั้งรกรากอยู่อย่างถาวรจำนวนประมาณ 300 คน (วัดท่าไข่) วัดนี้สร้างครบพร้อมด้วยโรงเรียน บ้านภคินีและบ้านพักพระสงฆ์ สร้างแข็งแรงมาก จะเจริญรุ่งเรืองต่อไป”
ส่วนนิตยสาร “สงฆ์สัมพันธ์” ปี ค.ศ. 1920 หน้า 148 คุณพ่อโชแรง เขียนว่า “การเสกวัดเซนต์ร็อคได้กระทำโดยพระสังฆราช ในวันพุธที่ 28 เมษายน การสร้างวัดนี้ อันเป็นสาขาของวัดแปดริ้ว เนื่องมาจากการที่มีคริสตังอพยพเรื่อยๆ เข้าทำนาในทุ่งริมคลองท่าไข่ คุณพ่อแปร์แบต์ โดยมี คุณพ่อการิเอเป็นผู้ช่วย มีความตั้งใจที่จะให้กลุ่มนี้มีศูนย์ที่ถาวรมั่นคง พร้อมด้วยบ้านพักพระสงฆ์ บ้านพักภคินี และโรงเรียนด้วยมีหอระฆัง ซึ่งมองแต่ไกลในทุ่งราบนี้เป็นเครื่องประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า “นี่แนะสถานที่สวดภาวนาสำหรับชาวคริสตัง พระสงฆ์ที่ห้อมล้อมพระสังฆราชแปร์รอส ร่วมฉลองนอกจากคุณพ่อแปร์แบต์และคุณพ่อการิเอแล้วก็มีคุณพ่อฮุย คุณพ่อยือกลาร์ คุณพ่อดือรังค์ คุณพ่อแบลล์ และคุณพ่อบรัวซาต์”
ข. ที่เซนต์ปอล แปดริ้ว
คุณพ่อแปร์แบต์ ให้ความเอาใจใส่ทางด้านการศึกษาเป็นพิเศษ ได้จัดให้มีโรงเรียนวัด ทั้งระดับประถม, ระดับสูง และโรงเรียนฝึกหัดครูคริสตัง
ระหว่างที่ดำเนินงานเหล่านี้อยู่นั้นสุขภาพอันแข็งแกร่งของคุณพ่อแปร์แบต์ ก็เริ่มอ่อนแรงลงเมื่อมีโรคภัยไข้เจ็บซึ่งต้องทำให้ทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส คุณพ่อทนรับความเจ็บปวดด้วยความอดทนอย่างน่าสรรเสริญ แต่กลัวอย่างเดียว คือ จะเป็นภาระแก่บรรดาเพื่อนมิสชันนารีของท่าน ดังนั้น คุณพ่อจำเป็นต้องพักจากงานแพร่ธรรมทั้งหมดโดยมอบให้ปลัดของท่านทำแทน และจากนั้นก็เริ่มเตรียมตัวอย่างดีสำหรับบั้นปลายชีวิตของท่าน
คุณพ่อแปร์แบต์ทำพินัยกรรม มอบกรรมสิทธิ์ที่ดินทุ่งนาของวัดเซนต์ร็อคท่าไข่ ให้แก่คุณพ่อการิเอเป็นการส่วนตัว เพราะคุณพ่อปลัดองค์นี้ได้ทุ่มเทกำลังกายและใจตลอดเวลาช่วยพัฒนาโครงการของท่านทั้งที่วัดเซนต์ร็อคและเซนต์ปอล
5. คุณพ่อ ยัง ฮังรี การิเอ
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ห้า พฤษภาคม ค.ศ. 1924 - ธันวาคม ค.ศ. 1960
เมื่อคุณพ่อแปร์แบต์สิ้นชีวิตแล้ว คุณพ่อการิเอได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเขตแปดริ้วสืบต่อไป เนื่องจากคุณพ่อการิเอเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างอาคารต่างๆ ทั้งในกลุ่มคริสตชนเซนต์ร็อค ท่าไข่ และเซนต์ปอล แปดริ้ว ให้แข็งแรงมั่นคงดังได้บรรยายมาแล้ว ทั้งเป็นผู้ตั้งกลุ่มคริสตชนใหม่ คือ เซนต์แอนโทนี
1. คุณพ่อการิเอ ค.ศ. 1924 - พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 ดูแลเขตเซนต์ปอล และเขตเซนต์ร็อค
ก. คุณพ่อปลัดผู้ช่วย
5 ปีแรกคุณพ่อการิเอเป็นผู้ดูแลแต่ผู้เดียว เนื่องจากวัดทั้งสองกลุ่มตั้งอย่างแข็งแรงมั่นคง คุณพ่อจึงไม่ต้องเป็นกังวลถึงการก่อสร้างเหลือแต่การอภิบาลสัตบุรุษ คุณพ่อไปๆ มาๆ เสมอในระหว่าง สองกลุ่มสองวัด แปลคำสอนให้นักเรียนโรงเรียนวัดและโรงเรียนชั้นมัธยม ฯลฯ ซึ่งนับว่างานมากเหมือนกัน
ตั้งแต่ ค.ศ. 1929 พระสังฆราชแปร์รอส ส่งคุณพ่อปลัดผู้ช่วยดังนี้ คือ
คุณพ่ออาแล็กซิส ตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ.1929 ถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1933
คุณพ่อเอมิล ตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 1932 ถึง เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1934
คุณพ่อเทโอฟิล ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1933 ถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 1938
คุณพ่ออังแซลม์ ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1933 อยู่เพียงสองเดือนสามเดือน
คุณพ่อโรแบรต์ ประพลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1934 ถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1940
คุณพ่อทองดี กฤษเจริญตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1939 ถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1940
จากวัดเซนต์ปอล คุณพ่อการิเอไปที่ท่าไข่เสมอ เรื่องเกี่ยวกับนา ค่าเช่านา ฯลฯ และโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ ผลัดกันกับคุณพ่อปลัดซึ่งตามปกติคุณพ่อปลัดจะเป็นผู้แปลคำสอนในโรงเรียน หรืออธิบายพระธรรมให้คริสตังสำรอง
ข. คุณพ่อโอลลิเออร์ รักษาการแทนเจ้าอาวาส ค.ศ. 1935
เมื่อปี ค.ศ. 1935 คุณพ่อการิเอได้รับอนุญาตให้ไปพักผ่อนเยี่ยมพี่น้องที่บ้านเกิดเมืองนอน พระสังฆราชแปร์รอส จึงแต่งตั้งคุณพ่อโอลลิเออร์เป็นเจ้าอาวาสรักษาการณ์ ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 1935 ถึง 30 เมษายน ค.ศ. 1936
ค. คุณพ่อการิเอ กลับมา ค.ศ. 1936 : รายงาน
ในรายงาน C.R. ค.ศ. 1938 พระสังฆราชแปร์รอสบันทึกไว้ว่า คุณพ่อการิเอรายงานถึงข้าพเจ้าว่า “เขตวัดนี้เจริญก้าวหน้าทีละเล็กทีละน้อย อาศัยการให้การศึกษาอบรมแบบคริสตังในโรงเรียนต่างๆของเรา มีคนเอาลูกๆมาฝากกับเราโดยไม่ลำบากมากนัก เด็กๆบางคนมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ทำให้เราสามารถสอนคำสอนได้อย่างลึกซึ้ง การศึกษาก็ดี ทำให้มีหน้าตาในสังคม โรงเรียนเซนต์ปอล ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของภราดาเซนต์คาเบรียลก็ได้ช่วยเราอย่างดียิ่ง ในการสอบปลายเดือนมีนาคม ที่ตัวจังหวัด เด็กกำพร้าคนหนึ่งสอบได้อันดับหนึ่ง”
2. คุณพ่อการิเอ พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 - พฤศจิกายน ค.ศ. 1945
ดูแลเขตเซนต์ปอล และเซนต์ร็อค
ในปี ค.ศ. 1939 ได้เกิดสงครามขึ้น แต่ยังไม่กระทบกระเทือนมาถึงประเทศไทย ทว่าเมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่เยอรมัน ในไม่กี่เดือนปลายปี ค.ศ. 1940 ก็เกิดกรณีพิพาทระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส เช่นเดียวกับมิสชันนารีทุกองค์ที่อยู่กระจัดกระจายตามชนบท คุณพ่อการิเอ ต้องลาจากกลุ่มคริสตชนของท่าน เพื่อมาอยู่กรุงเทพฯตามคำสั่งของรัฐบาล พระสังฆราช แปร์รอส จึงได้ขออนุญาตจากหลวงพิบูลฯ ให้ส่งมิสชันนารี 13 องค์ ออกเดินทางไปนอกประเทศเป็นการชั่วคราว เพราะอยู่ที่สำนักอัสสัมชัญก็คับแคบ หลวงพิบูลฯก็อนุญาตตามที่ขอและเสริมว่าเมื่อสถานการณ์ปกติแล้วจะกลับมาเมืองไทยก็ได้ ดังนั้น คุณพ่อการิเอก็ออกเดินทางไปอินโดจีน ในปลาย ปี ค.ศ.1941 ท่านกลับมาประเทศไทย แล้วกลับไปอยู่ที่แปดริ้วดังเดิม พระสังฆราชแปร์รอส ยังมอบหมายให้ท่านไปขอที่ดินของวัดปากคลองท่าลาด และวัดท่าเกวียนกลับคืนมาให้รวบรวมเหล่าคริสตัง และก่อสร้างวัดกับบ้านพักพระสงฆ์ชั่วคราวไปพลางก่อน เพราะสองวัดนั้นได้ถูกทำลายราบเรียบ
ก. คุณพ่อประพล เจ้าอาวาสรักษาการณ์ พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 - พฤศจิกายน ค.ศ. 1941
เมื่อคุณพ่อการิเอลงมากรุงเทพฯแล้ว คุณพ่อประพลผู้เป็นปลัดก็ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรักษาการณ์ ดูแลวัดเซนต์ปอลและวัดท่าไข่เช่นเดียวกับคุณพ่อการิเอส่วนคุณพ่อทองดียังคงเป็นปลัดผู้ช่วยต่อไป
ในเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน ค.ศ.1941 หลังจากได้เผาวัดท่าเกวียน รื้อทำลายวัดปากคลองท่าลาดแล้ว มีคุณพ่อซาเลเซียนองค์หนึ่งชื่อคุณพ่อเครสปี ได้ไปแปดริ้วและท่าไข่เพื่อดูเหตุการณ์แต่ในเขตสองวัดนี้ มิได้มีการเบียดเบียนรุนแรงเหมือนที่อำเภอพนมสารคามและคุณพ่อประพล ก็สามารถรักษาการณ์ให้ปกติได้ กับมีคริสตังจำนวนมากที่ทิ้งศาสนาจากปากคลองท่าลาด เดินทางมาแปดริ้วขออภัยและขอกลับใจอย่างเดิม
ข. คุณพ่อการิเอกลับมา พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 - 1945
สิ้นเดือนกรกฎาคมค.ศ.1941 สถานการณ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสคลี่คลายเป็นปกติแล้วและทางรัฐบาลประกาศอนุญาตให้ชาวฝรั่งเศส กลับเข้ามาได้ไปไหนมาไหนในประเทศไทยได้เหมือนอย่างแต่ก่อน คุณพ่อการิเอก็กลับมาจากอินโดจีนในปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1941 และรับเข้าเขตปกครองของท่าน ส่วนคุณพ่อประพลรับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดพนัสนิคมส่วนคุณพ่อทองดีก็ย้ายไปด้วย
1. คุณพ่อปลัดผู้ช่วย
ก. คุณพ่อดือรังค์ กลับมาจากอินโดจีนได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดผู้ช่วยที่วัดเซนต์ปอล ตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 1942 อยู่จนถึง ค.ศ. 1944 ก็ไปดูแลบ้านเณรศรีราชา
ข. คุณพ่อแปร์รัวย์ กลับมาจากอินโดจีนได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดของคุณพ่อการิเอ และไปอยู่ประจำที่วัดเซนต์ร็อค ท่าไข่ ท่านอยู่ที่ท่าไข่ 6 ปี คือ ถึง ปี ค.ศ.1948 ในฐานะปลัดของแปดริ้วดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเซนต์ร็อค
ค. คุณพ่อมิแชล ส้มจีน เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1942- เดือนเมษายน ค.ศ. 1945
2. แปดริ้ว และการแบ่งแยกจากสังฆมณฑลจันทบุรี ค.ศ. 1943-1944
เมื่อต้นปีค.ศ.1943 มีข่าวแพร่สะพัดไปทั่วว่าจะมีการแบ่งสังฆมณฑลกรุงทพฯ และจะสถาปนาเทียบสังฆมณฑลใหม่ที่จันทบุรี โดยแยกจังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง ปราจีนบุรี แปดริ้ว นครนายก ประกอบกันเป็นสังฆมณฑลใหม่เพื่อมอบให้แก่พระสงฆ์ไทย
เมื่อได้ยินเช่นนี้ คุณพ่อการิเอก็รีบไปหาพระสังฆราชแปร์รอส และชี้แจงให้พระสังฆราชทราบว่าท่านต้องไม่ลืมว่า ยังมีพินัยกรรมอยู่ คุณพ่อแปร์แบต์เป็นผู้ซื้อที่ดินทั้งหมด ไม่ว่าที่นาหรือที่ดินสร้างวัดเซนต์ร็อคท่าไข่ ด้วยเงินของคุณพ่อแปร์แบต์เอง และก่อนมรณะ คุณพ่อได้ทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินทั้งหมดเหล่านั้นให้เป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะตัวของคุณพ่อการิเอ คุณพ่อจึงไม่ยอมสละสิทธิ์ดังกล่าว
ในเรื่องของวัดท่าไข่ พระสังฆราชแปร์รอส จำเป็นต้องแจ้งให้สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อทราบถึงกรณีพินัยกรรมเกี่ยวกับวัดท่าไข่ ดังนั้นทางสมณกระทรวงจึงประกาศกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ.1944 แบ่งแยกจังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง ปราจีนบุรี นครนายก และส่วนฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางปะกงของจังหวัดฉะเชิงเทราให้เป็นของสังฆมณฑลจันทบุรี ส่วนฝั่งขวา (คือ ท่าไข่) เป็นของสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
3. คุณพ่อการิเอ และการโยกย้ายจากวัดเซนต์ปอล
เปิดวัดเซนต์แอนโทนี ค.ศ. 1944-1945
“คุณพ่อการิเอ เกิดมีความคิดที่ดีเลิศอย่างหนึ่ง คือ แทนที่จะไปอยู่ที่วัดเซนต์ร็อค ริมคลองเนื่องเขตนั้น คุณพ่อตัดสินใจข้ามแม่น้ำบางปะกงนั้นเองไปเปิดวัดใหม่ซึ่งจะถวายแด่นักบุญอันตน อยู่เยื้องวัดเซนต์ปอลลงมาทางใต้นิดเดียว ติดกับตัวเมืองฉะเชิงเทรา และที่ตั้งของวัดใหม่นี้จะดีกว่าของวัดเซนต์ปอลด้วย”
ที่วัดเซนต์ร็อคท่าไข่ ค.ศ.1945-1960 สาขาของวัดเซนต์แอนโทนี
เมื่อคุณพ่อการิเอเปิดวัดเซนต์แอนโทนีคุณพ่อก็ยังคงเป็นเจ้าอาวาสวัดเซนต์ร็อคอีกต่อไปและแทนที่จะเป็นสาขาของวัดเซนต์ปอลก็เปลี่ยนเป็นสาขาของวัดเซนต์แอนโทนี
คุณพ่อการิเอ ได้มอบกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดทั้งที่นาและที่วัด ให้กับมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ แม้ว่าท่านจะไปท่าไข่เกี่ยวกับที่นาและค่าเช่านาก็ตาม แต่ท่านก็มอบการอภิบาลสัตบุรุษทีวัดเซนต์ร็อคให้กับคุณพ่อปลัด และให้คุณพ่อปลัดอยู่ประจำที่ท่าไข่
คุณพ่อปลัดที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสมีดังนี้
1. คุณพ่อแปร์รัวย์ ค.ศ. 1945-1948
คุณพ่อแปร์รัวย์ เคยเป็นปลัดประจำอยู่ที่ท่าไข่ในฐานะเป็นปลัดขึ้นอยู่กับวัดเซนต์ปอล ตั้งแต่ปี ค.ศ.1942-1945 บัดนี้ ท่านคงอยู่ท่าไข่ต่อไป โดยอยู่ในฐานะเป็นปลัดขึ้นอยู่กับวัดเซนต์แอนโทนี
ท่านจึงเริ่มเปิดบัญชีวัดประจำวัดเซนต์ร็อคต่างหากเป็นครั้งแรก โดยไม่ต้องไปลงหลักฐานการโปรดศีลล้างบาป ฯลฯ ในบัญชีร่วมที่แปดริ้ว นับว่าเป็นก้าวแรกนำไปสู่ความเป็นอิสระของวัดเซนต์ร็อค
ในปี ค.ศ. 1948 คุณพ่อแปร์รัวย์ ย้ายไปเป็นจิตตาธิการที่อารามพระหฤทัย คลองเตย
2. คุณพ่อเอากุสติโน สำอางค์ ดำรงธรรม ค.ศ. 1948-10 เมษายน ค.ศ. 1969
ปลัดวัดเซนต์แอนโทนีในฐานะเจ้าอาวาสวัดเซนต์ร็อค คุณพ่อแปร์รัวย์ย้ายไปแล้ว คุณพ่อเอากุสติโน รับแต่งตั้งเป็นปลัดของคุณพ่อการิเอ โดยอยู่ประจำวัดเซนต์ร็อค โดยที่วัดตั้งอยู่อย่างแข็งแรงมั่นคงแล้ว คุณพ่อเอากุสติโนจึงทำการอภิบาลสัตบุรุษเป็นปกติ
3. คุณพ่อแวร์นิเอร์ รักษาการณ์แทน เมษายน ค.ศ. 1955 - มีนาคม ค.ศ. 1956
เนื่องจากคุณพ่ออังแซลโม เจ้าอาวาสวัดซางตาครู้สป่วยเจ็บที่ดวงตา คุณพ่อเอากุสติโนจึงรับไปช่วยท่านเป็นการชั่วคราว และคุณพ่อแวร์นิเอร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดชั่วคราวของคุณพ่อการิเอ เพื่อมาอยู่ประจำวัดเซนต์ร็อค พอถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1956 คุณพ่อแวร์นิเอร์ก็ย้ายไปเป็นจิตตาธิการโรงเรียนโชติรวี นครสวรรค์ และคุณพ่อเอากุสติโน ก็กลับมาปกครองวัดเซนต์ร็อคดังเดิม ปี ค.ศ. 1957 ได้มีการโปรดศีลกำลังที่วัดเซนต์แอนโทนี โดยพระสังฆราชลากอสต์แห่งคณะเบธาราม เชียงใหม่ คุณพ่อการิเอและคุณพ่อชัชวาลย์ จากแปดริ้วก็ได้มาฉลองที่ท่าไข่ด้วย
“เดือนธันวาคม ค.ศ. 1960 คุณพ่อการิเอ ลาออกจากหน้าที่เจ้าอาวาส และได้มอบอำนาจปกครองทุกอย่างเกี่ยวกับ วัดแปดริ้ว เซนต์ร็อค และบางวัว ให้แก่คุณพ่อปลัด คือ คุณพ่อลังฟังต์ พระสังฆราชหลุยส์ โชแรงได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสแทน”
6. คุณพ่อ ปอล ลังฟังต์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่หก เดือนธันวาคม ค.ศ. 1960 - ธันวาคม ค.ศ. 1970
เมื่อคุณพ่อการิเอ ลาออกจากหน้าที่เจ้าอาวาสแล้ว ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1960คุณพ่อลังฟังต์ผู้เป็นปลัดได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองวัดเซนต์แอนโทนี แปดริ้ว วัดฟาติมา บางวัว และเซนต์ร็อคท่าไข่
ที่วัดเซนต์ร็อคท่าไข่ ค.ศ. 1960 - 1970
1. การอภิบาลสัตบุรุษ
การอภิบาลสัตบุรุษเป็นหน้าที่ของคุณพ่อเอากุสติโน สำอางค์ ดำรงธรรม ผู้เป็นปลัดของคุณพ่อ ลังฟังต์ ปกครองวัดเซนต์ร็อค ทำหน้าที่เสมือนเจ้าอาวาส โดยคุณพ่อลังฟังต์ไม่ได้มาเกี่ยวข้อง การปกครองสัตบุรุษแต่อย่างใด คุณพ่อเอากุสติโนถึงแก่มรณภาพในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ.1969 คุณพ่อเคยเป็นปลัดของวัดเซนต์แอนโทนี ประจำอยู่ที่ท่าไข่ ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1948
เมื่อคุณพ่อเอากุสติโนมรณภาพแล้ว คุณพ่อแวร์นิเอร์ พยายามมาฟังแก้บาป ทำมิสซาทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน จนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1969 วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ.1969 คุณพ่อบริสซอง จากสระบุรี-ลพบุรี ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดของคุณพ่อลังฟังต์ ประจำอยู่ที่วัดเซนต์ร็อคทำการอภิบาลสัตบุรุษแบบเดียวกับคุณพ่อเอากุสติโน ท่านจะคงอยู่ที่ท่าไข่ถึงวันที่ 15 มกราคม ค.ศ.1972 จึงย้ายไปรักษาการที่อยุธยา
2. การรักษาอาคารและจัดการเรื่องที่นา
กิจการดังกล่าวนั้นเป็นธุระของคุณพ่อเจ้าวัด คือ ของคุณพ่อลังฟังต์ ชาวบ้านตำบลท่าไข่ ได้กล่าวว่า คุณพ่อลังฟังต์มาบ่อยๆ มาตรวจงาน การทำไร่ทำนา แล้วเขาก็เสริมว่า ท่านค่อนข้างเคร่งสักหน่อย
คุณพ่อลังฟังต์ได้จัดสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ที่วัดเซนต์ร็อค และได้สร้างถนนที่เชื่อมคลองหน้าวัด จนถึงทางหลวงมีนบุรี-ฉะเชิงเทรา
วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1970 คุณพ่อลังฟังต์ย้ายไปรับหน้าที่ใหม่
7. คุณพ่อ มอริส มารีโยเซฟ ยอลี
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่เจ็ด 1 ธันวาคม ค.ศ. 1970 - 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1979
หลังจากมอบวัดฟาติมา กรุงเทพฯ ให้มิสชันนารีคณะธรรมทูตมารีย์นิรมล แล้วสักระยะหนึ่ง คุณพ่อยอลี ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในเขตเซนต์แอนโทนี แทนคุณพ่อลังฟังต์ ท่านเป็นเจ้าอาวาสของวัดทั้งสามเช่นเดียวกัน
ที่วัดเซนต์ร็อคท่าไข่ ค.ศ. 1970-1979
ที่วัดท่าไข่ ตอนแรกมีคุณพ่อบริสซอง ยังอยู่จนถึงวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1972 ต่อจากนั้น คุณพ่อยอลีอยู่ผู้เดียว ดูแลทั้งสามวัดในการอภิบาลสัตบุรุษและยังจะต้องดูแลที่นาของวัดเซนต์ร็อค
วันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1976 พระอัครสังฆราชมีชัย กิจบุญชู แต่งตั้ง คุณพ่ออนันต์ เอี่ยมมโน เป็นปลัดของคุณพ่อยอลี ประจำอยู่วัดเซนต์ร็อค จนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1979 ทำให้คุณพ่อยอลีแบ่งเบาภาระลงบ้าง
ที่วัดเซนต์ร็อค คุณพ่อยอลีได้จัดสร้างสะพานไม้ข้ามคลองหน้าวัด ทำให้ชาวบ้านไปไหนมาไหนได้สะดวกและอีกสิ่งหนึ่งที่นำความเจริญมาสู่บริเวณท่าไข่ ก็คือ คุณพ่อยอลีได้ขอให้มีการเดินไฟฟ้าจากทางหลวงมีนบุรี-ฉะเชิงเทรามาถึงบ้านท่าไข่
วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1979 คุณพ่อยอลีได้รับแต่งตั้งไปเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองจอกและหัวตะเข้
8. คุณพ่อ ยอห์น บัปติสต์ ชัชวาลย์ แสงแก้ว
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่แปด ปี ค.ศ. 1979-1981
คุณพ่อชัชวาลย์ แสงแก้ว รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในเขตเซนต์แอนโทนีสืบจากคุณพ่อยอลี มีคุณพ่อไพฑูรย์ หอมจินดา ผู้ช่วยที่วัดบ้านนา และเพิ่งบวชใหม่ๆ ได้รับแต่งตั้งเป็นพ่อปลัดผู้ช่วยเป็นเจ้าอาวาสไม่กี่วันคุณพ่อชัชวาลย์ ก็ป่วยลง ต้องกลับไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ ดังนั้น คุณพ่อปลัดคือ คุณพ่อไพฑูรย์ ก็ต้องรักษาการณ์แทน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งใหม่ และท่านได้ทำหน้าที่อยู่คนเดียวไม่มีใครเป็นผู้ช่วย ท่านต้องดูแลทั้งสามวัดจนถึงวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1980
ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1980 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1981 มีคุณพ่อสุรชัย กิจสวัสดิ์ เป็นปลัดผู้ช่วยอภิบาลสัตบุรุษใน 3 วัดของเขตนี้ ค่อยยังชั่วลงบ้าง
วันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1981 ช่วงเวลาการแยกวัดเซนต์ร็อคจากวัดเซนต์แอนโทนี
พระอัครสังฆราชมีชัย กิจบุญชู ได้พิจารณาว่า วัดเซนต์ร็อค ขึ้นกับวัดเซนต์แอนโทนีมานานพอสมควร บัดนี้ถึงเวลาแล้วจึงได้แต่งตั้งเจ้าอาวาสให้ปกครองวัดเซนต์แอนโทนีกับวัดบางวัวองค์หนึ่ง และเจ้าอาวาสปกครองวัดเซนต์ร็อคอีกองค์หนึ่ง
คุณพ่อประสาน คูรัตนสุวรรณ เป็นเจ้าอาวาสที่เซนต์แอนโทนี ส่วนคุณพ่อไพฑูรย์ หอมจินดา เป็นเจ้าอาวาสวัดเซนต์ร็อคอย่างสมบูรณ์
9. คุณพ่อ ยอห์น ไพฑูรย์ หอมจินดา
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่เก้า ปี ค.ศ. 1981-1983
คุณพ่อไพฑูรย์ รักษาการณ์ที่เซนต์แอนโทนี บางวัว และเซนต์ร็อค และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเซนต์ร็อคโดยสมบูรณ์ จากนั้น จึงย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบางสะแกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1985
10. คุณพ่อ เปโตร วิทยา แก้วแหวน
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบ ปี ค.ศ. 1983-1989
คุณพ่อวิทยา แก้วแหวน จากวัดนักบุญยอแซฟ ตรอกจันทน์ (ผู้ช่วย) มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดเซนต์ร็อค ซึ่งจะมีบุญรับการอุปการะจากพระคาร์ดินัลในสมัยเป็นเจ้าอาวาสของท่าน
ปี ค.ศ. 1983 วางศิลาฤกษ์และเริ่มก่อสร้างย้ายจากวัดเซนต์ร็อคหลังเก่า วันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1987 เริ่มใช้วัดหลังใหม่ เสกอนุสาวรีย์นักบุญร็อคและวัดหลังใหม่
คุณพ่อวิทยาเป็นเจ้าอาวาสอยู่จนถึงปี ค.ศ. 1989 จึงย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะใหญ่
11. คุณพ่อ วินเซนต์ เอกพงษ์ พงษ์สูงเนิน
ได้รับแต่งตั้งให้มาเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบเอ็ด ในปี ค.ศ. 1989- 1993
ในปี ค.ศ. 1991 คุณพ่อเอกพงษ์ ได้จัดการปรับปรุงพื้นที่ เพื่อเตรียมก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่
12. คุณพ่อ ยอห์น บัปติสต์ บุญเสริม เนื่องพลี
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบสอง ปี ค.ศ. 1993-1999
13. คุณพ่อ ยอแซฟ สมโภชน์ พูลโภคผล
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบสาม ปี ค.ศ. 1999-2002
14. คุณพ่อ ยอแซฟ อนุชา ไชยเดช
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบสี่ ปี ค.ศ. 2002-2006
15. คุณพ่อ ยอแซฟ ทนุ เจษฏาพงศ์ภักดี
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบห้า ปี ค.ศ. 2006-2009
ในปี ค.ศ. 2007 คุณพ่อทนุ ปรับปรุงสุสาน ถมดินคูน้ำรอบสุสาน ศาลาพักศพ และถนนในสุสาน
16. คุณพ่อ ยอห์น วรวุฒิ กิจสกุล
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบหก ปี ค.ศ. 2009-2014
ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.2009 อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้อนุมัติสร้างศาลาเซนต์ร็อค (ศาลาอเนกประสงค์) 1 หลังไว้ข้างวัดได้ทำการสร้างจนเสร็จและทำพิธีเปิดและเสกโดยพระอัครสังฆราช ฟรังซิสเซเวียร์เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 2009 (ค่ำคืนวันคริสต์มาส) เวลา 17.00 น. และเนื่องด้วยการสร้างศาลาใหม่ ทำให้ต้องปรับระดับถนนบริเวณใหม่ทั้งหมด จึงได้เปลี่ยนบันไดเข้าวัดเป็น ทางลาดทั้ง 2 ข้างของวัด ปรับถนนรอบวัดให้กว้างขึ้นเป็น 5 เมตร ปรับเปลี่ยนจากตัวหนอนเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีฟุตบาทโดยรอบวัด ยกถนนและสวนย่อมรอบๆ วัดสูงขึ้น 25 เซนติเมตร ปรับเปลี่ยนสวนหย่อม ต้นไม้ หญ้ารอบๆ วัด ใหม่ทั้งหมด ปรับภูมิทัศน์รอบๆ วัด และถ้ำแม่พระใหม่ ติดตั้งระบบไฟฟ้ารอบๆ วัดและโรงเรียนใหม่ทั้งหมด เพราะของเดิมชำรุดเสียหาย ติดตั้งหินแกรนิตที่ฐานท่านนักบุญร็อคพร้อมประวัติย่อทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จัดทำลานจอดรถหน้าวัด-ข้างสนามฟุตบอล สำหรับจอดรถ ได้โดยประมาณ 100 คัน ปรับปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นจำนวนมากบริเวณรอบๆ วัด และบริเวณโรงเรียน ขุดลอกบ่อหลังวัดและบ่อหน้าโรงเรียน โดยทำเขื่อนไม้ยูคาลิปตัสกันตลิ่งพัง ทำเป็นบ่อเลี้ยงปลาและบ่อน้ำใช้ คุณพ่อเจ้าวัด และสัตบุรุษผู้มีน้ำใจดีได้ร่วมใจกันทำนาประมาณ 100 ไร่ เป็นที่ดินที่ผู้เช่าต้องคืนให้กับวัดเพราะผิดข้อสัญญากับมิสซังฯ ได้ผลดี พอสมควร
ส่วนสัตบุรุษมีความศรัทธาดีพอสมควร แม้จะค่อนข้างยากจน เพราะส่วนใหญ่เป็นชาวนา ผู้ใช้แรงงานและผู้สูงอายุ ส่วนเยาวชนและผู้ใหญ่ไปศึกษาเล่าเรียนและทำงานใน กรุงเทพฯ หรือต่าง จังหวัด โดยจะกลับมาเยี่ยมบ้านเดิมเพียงตามโอกาส
ไม่พบสมุดบันทึกจดหมายเหตุของวัด จึงได้จัดทำสมุดบันทึกจดหมายเหตุของวัดใหม่ ตั้งแต่ได้เข้ามารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 2009
ช่วงเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.2010 คุณพ่อวรวุฒิ ได้ทำการซ่อมประตูและหน้าต่างวัด ซึ่งเป็นแบบบานเลื่อน และชำรุดเสียหาย จึงได้ทำการเปลี่ยนแปลงเป็นแบบบาน ปิด-เปิด และติดตั้งเครื่องปรับอากาศภายในวัด จำนวน 6 เครื่อง ยี่ห้อ Central (ตัวละ 120,000 บาท) เป็นเงินประมาณ 1,500,000 บาท
ได้ทำหลังคาคลุมทางเดินในสุสาน ด้วยซาแลนและพลาสติก เพื่อกันแสงแดดและน้ำฝน ตลอดแนวทางเดินในสุสานทั้งหมดประมาณ 90 เมตร เป็นเงินประมาณ 600,000 บาท
ส่วนสัตบุรุษมีความศรัทธาดีพอสมควร แม้จะค่อนข้างยากจน เพราะส่วนใหญ่เป็นชาวนา ผู้ใช้แรงงานและผู้สูงอายุ ส่วนเยาวชนและผู้ใหญ่ไปศึกษาเล่าเรียนและทำงานในกรุงเทพฯ หรือต่าง จังหวัด โดยจะกลับมาเยี่ยมบ้านเดิมเพียงตามโอกาส
17. คุณพ่อพรชัย บรัศวกุล
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบเจ็ด ปี ค.ศ. 2014-2021
18. คุณพ่อวิชชุกรณ์ เกตุภาพ
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สิบแปด ปี ค.ศ.2021-ปัจจุบัน
ผู้ช่วยเจ้าอาวาส คุณพ่อชูศักดิ์ บุญอนันตบุตร ค.ศ. 2021-2022
คุณพ่อธนบูรณ์ พูนผล ค.ศ. 2022 - 2024
คุณพ่ออิทธิศักดิ์ กิจสกุล ค.ศ. 2024 - ปัจจุบัน
ปี ค.ศ. 2021
- ชุมชนของวัด พร้อมเผชิญเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสามารถอยู่ร่วมพร้อมปฏิบัติตนเอาตัวรอดพ้นจากวิกฤตดังกล่าวได้ดี
- มีกิจกรรมพื้นฐานการอภิบาล การสอนคำสอน และการปกครองที่สอดคล้องกับอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และมีปฏิสัมพันธ์กับหน่วยงานท้องถิ่น และเพื่อนบ้านต่างความเชื่อเป็นอย่างดี รวมถึงเพื่อนบ้านต่างวัดในเขต
- ชุมชนของวัดเป็นชุมชนคริสตชนที่มีความเป็นอยู่เรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม (ทำนา) เป็นหลัก มีความเชื่อศรัทธาเป็นรากฐานชีวิตส่วนตัวและครอบครัวที่ดีมาก
ปี ค.ศ. 2023
- แห่นักบุญร็อคโดยรถยนต์รอบหมู่บ้านเตรียมจิตใจก่อนวันฉลองวัดเป็นครั้งแรก
- คริสตชนในชุมชนวัดเซนต์ร็อคจำนวนหนึ่ง และตัวแทนครูนักเรียนโรงเรียนดาราสมุทร ร่วมงานแห่ประจำปีวัดพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา
อดีตคุณพ่อสมัยบุกเบิก
ชื่อพระสงฆ์
|
ช่วงเวลาทำงาน
|
งานที่ทำ
|
คุณพ่อ เอเจียน เรมงด์ อัลบรังด์ (ไม่มีรูป)
|
1838-1846
|
- บุกเบิกตั้งกลุ่มคริสตชนที่บ้านใหม่
- สร้างวัดไม้ไผ่ชั่วคราว ปีค.ศ. 1840
|
คุณพ่อแฟร์ดินัง โยเซฟ ดือปองด์
|
1846-1848
|
หมุนเวียนกันมาทำงาน
|
คุณพ่อ ยัง มาแร็ง (ไม่มีรูป)
|
1852-1854
|
หมุนเวียนกันมาทำงาน
|
คุณพ่อเจ้าอาวาสที่ได้รับการแต่งตั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน
ชื่อพระสงฆ์
|
ช่วงเวลาทำงาน
|
งานที่ทำ
|
1. คุณพ่อ เซเวอแรง ยักส์ มารี ดานิแอล (ไม่มีรูป)
|
1856-1863
|
- คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์แรก
-ปีค.ศ.1858 สร้างวัดใหม่หลังแรกที่บ้านใหม่
แทนวัดไม้ไผ่ของ คุณพ่ออัลบรังด์
|
2. คุณพ่อ อาเล็กซิส อาดอลฟ์ เปอัง (ไม่มีรูป)
|
1863-1867
|
|
3. คุณพ่อ ฟรังซัว โยเซฟ ชมิตต์
|
1868-1904
|
|
4. คุณพ่อ ยัง ฟรังซัว เรจีส์ แปร์แบต์
|
1904-1924
|
- ซื้อที่ดินสำหรับสร้างวัด
-ซื้อที่ดินเพิ่มให้สัตบุรุษมีที่ทำกิน
- สร้างวัดเซนต์ร็อค
|
5. คุณพ่อ ยัง ฮังรี การิเอ
|
1924-1960
|
- คุณพ่อเป็นผู้ช่วยคุณพ่อแปร์แบต์
- เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างวัด
ให้แล้วเสร็จ
- ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส
|
*** คุณพ่อ เอากุสตินโน สำอางค์ ดำรงธรรม
|
1948-1969
|
เป็นเสมือนหนึ่งเจ้าอาวาส
|
6. คุณพ่อ ปอล ลังฟังต์
|
1960-1970
|
-
|
7. คุณพ่อ มอริส มารียอแซฟ ยอลี
|
1970-1979
|
สร้างสะพานข้ามคลอง
|
8. คุณพ่อ ยอห์น บัปติสต์ ชัชวาลย์ แสงแก้ว
|
1979-1981
|
-
|
9. คุณพ่อ ยอห์น ไพฑูรย์ หอมจินดา
|
1981-1983
|
แยกการปกครองวัดเซนต์ร็อค
เป็นอิสระจากวัดเซนต์แอนโทนี
|
10. คุณพ่อ เปโตร วิทยา แก้วแหวน
|
1983-1989
|
-ปี ค.ศ. 1983 วางศิลาฤกษ์
เริ่มก่อสร้าง
-ปี ค.ศ. 1986 ย้ายจากวัดหลังเก่า
และเริ่มใช้วัดหลังใหม่
- 22 สิงหาคม ค.ศ. 1987 เสกวัด
หลังใหม่และเสกอนุสาวรีย์ น.ร็อค
|
11. คุณพ่อ วินเซนต์ เอกพงษ์ พงษ์สูงเนิน
|
1989-1993
|
|
12. คุณพ่อ ยอห์น บัปติสต์ บุญเสริม เนื่องพลี
|
1993-1999
|
|
13. คุณพ่อ ยอแซฟ สมโภชน์ พูลโภคผล
|
1999-2002
|
|
14. คุณพ่อ ยอแซฟ อนุชา ไชยเดช
|
2002-2006
|
|
15. คุณพ่อ ยอแซฟ ทนุ เจษฎาพงศ์ภักดี
|
2006-2009
|
|
16. คุณพ่อ ยอห์น วรวุฒิ กิจสกุล
|
2009-2014
|
|
17. คุณพ่อ พรชัย บรัศวกุล
|
2014-2021
|
|
18. คุณพ่อ วิชชุกรณ์ เกตุภาพ
|
2021-ปัจจุบัน |
|
แผนที่การเดินทาง