-
Category: ประวัติวัดในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เขต 4
-
Published on Tuesday, 08 December 2015 03:15
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 6270
วัดนักบุญยอแซฟ หนองรี
129 หมู่ 8 ถนนสุวรรณศร ตำบลศรีกะอาง
อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก 26110 (ตู้ ปณ.11)
โทร. 0-3730-6523 ถึง 4
0-3730-6111 (บ้านซิสเตอร์) โทรสาร 0-3730-6111
คุณพ่อยวง เฮียง แซ่ลิ้ม คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 1
ในปี ค.ศ. 1907 และ ค.ศ. 1909 ได้มีคนบ้านพร้าว ไปรู้จักกับคริสตัง วัดบ้านเล่า ก็สนใจในศาสนา และขอรับศีลล้างบาปหลายคน สมัยนั้นคุณพ่อยวงเฮียง แซ่ลี้ ซึ่งในภายหลังได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น “นิตตะโย” เป็นพ่อปลัดที่วัดพระวิสุทธิ์วงศ์ ลำไทร และได้รับภาระดูแลคริสตังของวัดบ้านเล่า และบริวาร คุณพ่อเฮียง นอกจากวัดเสาวภาก็ยังสนใจ เขตหนองรี ในตำบลบ้านพร้าว อำเภอบ้านนา
1. คนจีนหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย หาที่ทำมาหากิน
พอดีเวลานั้น เป็นเวลาที่คนจีนจำนวนมากกำลังอพยพจากประเทศจีนลงมาสู่ประเทศไทยหาแหล่งที่ทำมาหากิน ไม่ต้องการที่ดินที่พัฒนาแล้ว มีที่ดินไม่ว่าอยู่ในสภาพไหนคนจีนเหล่านั้นก็พอใจไม่ท้อถอย ไม่กลัวการงาน ดังนั้น คุณพ่อยวงก็มาสนใจเตรียมหาที่ทำมาหากิน ให้คนจีนซึ่งกำลังหาดูตามวัดต่างๆ เช่น ปราจีน แหลมโขด บ้านเล่า หลายๆ ครอบครัวเป็นคริสตังอยู่แล้วแต่เมืองจีน เขามากับญาติพี่น้องและเพื่อนขอที่อยู่อาศัย
คุณพ่อยวง เห็นมีที่ว่างเปล่าอยู่ทางหนองรี เป็นที่รกที่หนามมาก คนจีนไปเลือก ยินดีเสมอถึงแม้ว่าไม่มีทางหนองรี ซึ่งอยู่ห่างจากถนนสุวรรณศร กว่า 2 กม.
2. คุณพ่อยวง จับจองและซื้อที่ดินต้อนรับเขา
คุณพ่อยวง ได้ขอให้คุณพ่อเจ้าวัดลำไทร ช่วยซื้อที่ดินแปลงหนึ่งเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ อยู่ริมถนนสุวรรณศร เชิงสะพานวังต้น เป็นที่พักอาศัยกลางทางไปหนองรี
ปี ค.ศ. 1910 คุณพ่อยวงเฮียง แจวเรือจากลำไทรไปบ้านเล่าจากบ้านเล่าไปวังต้น แล้วจากวังต้นก็เดินไป ผ่านทุ่งหนองรี ตามหัวคันนาบ้าง บุกป่าบ้าง ข้ามห้วย เดินไปถึงหนองซึ่งเป็นรูปรี และได้ให้ชื่อแก่หมู่บ้านในบริเวณว่า “หนองรี” ติดกับหนองนี้ ทางทิศเหนือ มีจีนคนหนึ่ง ชื่อ นายตั้งไล้ แซ่เล้า พ่อของนายซุ่นหลี ฯลฯ ได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง เนื้อที่ 10 ไร่ ถวายให้คุณพ่อยวง คุณพ่อมอง ทุ่งใหญ่อยู่เหนือหนองรีนี้ ก็จะไปทำการจับจองเพื่อต้อนรับคนจีน ปรากฏว่าชาวบ้านที่อยู่รอบๆ ก็รีบไปขอจับจองจากอำเภอหลายคน คนมีใบจับจองเก่าก็มี แต่ไม่มีปัญญาทำดินให้เป็นประโยชน์ได้ ที่ดินเป็นป่าหนาม ผู้จับจองก็ไม่มีเงิน ต่างคนต่างมาหาคุณพ่อยวง ขอเงินแลกใบจับจอง ทำหนังสือจับจองที่ดินบ้าง ขายที่ดินบ้าง, มีครอบครัวนิตตะโย มาตั้งอยู่ที่บ้านหนองรี ช่วยคุณพ่อยวงเฮียง (นิตตะโย) ทำการถางป่าที่จับจอง และเตรียมที่ตั้งวัด เพราะคุณพ่อยวงต้องไปๆ มาๆ ระหว่างลำไทร, บ้านเล่า, เสาวภา, หนองรี
3. คุณพ่อยวงเฮียง สร้างวัดหลังแรก ปี ค.ศ. 1912
เมื่อเตรียมที่ที่จะสร้างวัดแล้ว มีคริสตังวัดบ้านเล่า ย้ายสำมะโนครัวมาอยู่รอบที่แปลงนี้ เช่น นายทา นางเสริม, นายทา นางสงวน, นายสี นางริ้ว ฯลฯ ปี ค.ศ. 1912 เป็นปีเริ่มสร้างวัด นักบุญยอแซฟ หลังแรก บ้านคริสตังหนองรีได้เห็นวัดคริสตังขึ้นอยู่กลางป่า หนองรี
ลูกหลานคริสตังที่มาจากบ้านเล่า ก็ยังอยู่รอบๆ วัด “คนจีนที่มาจากเมืองจีนก็ไปทำการค้าขายนิดๆ หน่อยๆ บ้างถางป่า (หนาม) ทำสวน ทำนาบ้าง กับมีครอบครัวคริสตังบางครอบครัว อพยพเข้ามาจากวัดอื่นๆ บ้าง ล้วนอาศัยอยู่ในที่ดินซึ่งคุณพ่อยวงกับครอบครัว “นิตตะโย” ได้ซื้อหรือจับจองไว้
แต่โดยที่คุณพ่อยวงเอียง มิได้อยู่ประจำบ้านหนองรี ก็มิได้เปิดบัญชีศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างหากประจำวัดนักบุญยอแซฟ แต่ได้จดร่วมในบัญชีของวัดบ้านเล่า ซึ่งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1912 มีการจดศีลล้างบาปดังนี้ “ในวัดประจำหมู่บ้านหนองรี ข้าพเจ้า ยวง ได้โปรดศีลล้างบาปให้แก่ นาย......... นาง .......... เด็กชาย ........ เด็กหญิง ..........” เป็นต้น บัญชีคนแต่งงาน บัญชีผู้ตาย ก็เช่นเดียวกัน ทำที่หนองรี และไปจดไว้เป็นหลักฐานในบัญชีบ้านเล่า และเป็นดังนี้จนถึง ค.ศ. 1929 ซึ่ง คุณพ่อโอลลิเอร์ สร้างวัดหลังที่สอง และมาอยู่ประจำหมู่บ้านจึงแยกบัญชีต่างหาก
คุณพ่อยวงเฮียง พัฒนาที่ดิน ปลูกสวนยางพารา เมื่อซื้อที่ดิน จับจองเรียบร้อยแล้ว ก็มีคริสตังคนไทยและคนจีนค่อยๆ ทยอยเข้ามาขอเช่าที่ทำกิน คุณพ่อยวงเฮียงก็แบ่งให้ พี่ๆ น้องๆ ของท่านช่วยจัดการ คนจีนถางป่าหนามทำเป็นสวนกันส่วนมาก ทำนาบ้าง คนไทยก็ถางป่าหนามทำเป็นนาบ้าง เพาะไม้ไผ่รอบบ้านอาศัยบ้าง ส่วนคุณพ่อยวงเฮียงเองกับพี่น้อง ก็ถางป่าหนามเช่นเดียวกัน และหาต้นยางพารามาปลูก ปลูกเป็นสวนยางเนื้อที่ 25 ไร่ และเตรียมโรงงานทำยาง อยู่ริมห้วยที่ผ่านสวนยาง นับว่า คุณพ่อยวงเฮียง ได้เป็นผู้นำ ทำหน้าที่ผู้หนึ่ง ทำการพัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์ และหางานทำช่วยชีวิตชนบท
4. คุณพ่อยวง เฮียง แซ่ลิ้ม สิ้นชีวิต
เมื่อ ค.ศ. 1924 คุณพ่อยวงเฮียง หมดกำลัง คุณพ่อเดินไปถึงหนองรีไม่ได้แล้ว ได้แต่ลงเรือจากวัดลำไทร ไปบ้านเล่า และวัดเสวภา ค.ศ. 1925 คุณพ่อได้เสียชีวิต คุณพ่อได้ทำหน้าที่อยู่ที่วัดเสาวภา นำความสลดใจให้แก่คริสตังวัดลำไทร วัดบ้านเล่า วัดเสาวภา และวัดหนองรี เป็นอย่างยิ่ง คุณพ่อเป็นพระสงฆ์ผู้ขยันขันแข็งบุกเบิก หว่านข่าวดี ในเขตจังหวัดนครนายก
คุณพ่อยวงเฮียง นิตตะโย (แซ่ลิ้ม) เกิดปี ค.ศ. 1858 บวชเป็นพระสงฆ์ ปี ค.ศ. 1888 มรณะ ปี ค.ศ. 1925
ชาวหนองรี ไม่ได้เห็นหน้าคุณพ่อยวงเฮียง เสียแล้ว ก็มีคุณพ่อใหม่มาแทน โดยพี่น้องครอบครัว “นิตตะโย” ยังอยู่ต่อไป ช่วยให้งานซึ่งคุณพ่อยวงเฮียง ริเริ่มนั้น ไม่ต้องชะงักลง แต่ดำเนินต่อไปจนเป็นผลสำเร็จ
คุณพ่อเฟรเดริก เจ้าอาวาสองค์ที่ 2
คุณพ่อเฟรเดริกเป็นผู้ดูแลวัดหนองรีตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ.1924 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1926
คุณพ่อคาเบรียล เจ้าอาวาสองค์ที่ 3
คุณพ่อคาเบรียลเป็นผู้ดูแลวัดหนองรี ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 1926 ถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1927
คุณพ่อโอลลิเอร์ เจ้าอาวาสองค์ที่ 4
คุณพ่อโอลลิเอร์เป็นผู้ดูแลวัดหนองรีตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 1928 ถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1934
คุณพ่อโอลลิเอร์สร้างวัดหลังที่สอง ในสมัยนั้นมีคริสตังไทยและจีนจำนวนมาก คนไทยอยู่หนองรี ตำบลบ้านพร้าว ส่วนคริสตังจีนอยู่หนองรี ทำสวนและทำนา อีกส่วนแยกไปอยู่ในตำบลบ้านนา ทำการค้าขาย หรือในตำบลป่าขะ อำเภอบ้านนา เช่าสวนอยู่ จำนวนครอบครัวคนไทยและคนจีน ปลายปี ค.ศ. 1928 มีถึง 184 ครอบครัว ตามทะเบียนครอบครัวคริสตัง ซึ่งคุณพ่อโอลลิเอร์ ได้เขียนไว้
มีคริสตังเพิ่มจำนวนขึ้นทุกที คุณพ่อโอลลิเอร์ไม่ยอมอยู่ลำไทร หรือวัดบ้านเล่าไปๆ มาๆ เรื่อยๆคุณพ่อเห็นความจำเป็นที่จะต้องอยู่ประจำในท่ามกลางคริสตัง ที่ดินก็มีอยู่แล้ว วัดเก่าของคุณพ่อยวงเฮียงก็ยังอยู่ คุณพ่อจึงตัดสินใจอยู่หนองรี และได้ขอคุณพ่อเอดูอารต์ ซึ่งเวลานั้นยังดูแลวัดบ้านเล่า อนุญาตและช่วยสร้างบ้านพระสงฆ์ บ้านซิสเตอร์ และสร้างวัดใหม่ให้พอกับความต้องการ เริ่มสร้างวัด ค.ศ. 1928 เสกวัดใหม่ในปี ค.ศ. 1929 และเปิดบัญชีใหม่ทุกอย่าง ประจำวัดนักบุญยอแซฟ หนองรี โดยไม่ต้องไปจดทะเบียนที่บัญชีวัดบ้านเล่าอีกแล้ว
วันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1932 ได้มีหนังสือของ “นายอำเภอบ้านนา ถึงขุนบำรุง กำนัน ตำบล บ้านพร้าว” ขอให้คุณพ่อโอลลิเอร์ มาแจ้งจำนวนที่ดินทั้งหมด ซึ่งมิสซังคาทอลิกปกครองที่บ้านหนองรี ให้บาทหลวงมาแจ้งเอง และส่งหลักฐานทั้งหมดมาแสดงด้วย ที่ดินทั้งหมดของมิสซังฯ นั้น จากใบจับจองได้กลายเป็น ส.ค. 1 เลขที่ 94, 95, 98, 115 และ141 ก่อนที่จะเป็นโฉนดในภายหลัง
คุณพ่อโอลลิเอร์ ได้เป็นคุณพ่อเจ้าอาวาสประจำวัดหนองรีจนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1934 ซึ่งพระสังฆราชแปร์รอส สั่งย้ายไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแม่พระเมืองลูร์ด ที่นครราชสีมา
คุณพ่อโทมาส คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 5
คุณพ่อโทมาส ได้เป็นคุณพ่อเจ้าอาวาสแทนคุณพ่อโอลลิเอร์ ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม ค.ศ. 1934 ถึงเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน
คุณพ่อนอร์แบร์ต คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 6
คุณพ่อนอร์แบร์ต เป็นคุณพ่อเจ้าอาวาสตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1934 ถึงเดือนตุลาคม ค.ศ.
1935 ต่อมาคุณพ่อโทมาสกลับมาอยู่ที่วัดหนองรีถึงสิ้นปี ค.ศ. 1935
คุณพ่อซามูแอล (สมุห์ พานิชเกษม) คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 7
เปิดโรงเรียนประชาบาลปี ค.ศ. 1937
คุณพ่อซามูแอลเป็นผู้ริเริ่มคิดสร้างโรงเรียนเพื่อเด็กคริสตังและเด็กชาวพุทธ ในบริเวณนั้น จะได้รับความรู้ในวิชาต่างๆ ตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ต่างคนต่างดีใจ จึงช่วยออกแรงและบริจาคทรัพย์คนละเล็กละน้อย สร้างโรงเรียนหลังแรก และขออนุญาตเปิดเป็นโรงเรียนประชาบาล ซึ่งทางกระทรวงได้อนุญาตเปิดเป็นโรงเรียนประชาบาลได้ โดยบาทหลวงสมุห์ พานิชเกษม เป็นประ ธานกรรมการ
คุณพ่อเดอนีส์ (มานิต สรรเพชร) คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 8
คุณพ่อเดอนีส์ ได้เป็นพ่อเจ้าวัดแทนคุณพ่อสมุห์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1939 ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1945 เคยไปทำงานที่บ้านนาเป็นประจำ เดือนละครั้งหรือสองครั้ง
คุณพ่อลารเก คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 9
คุณพ่อลารเก ได้แบ่งมิสซังจันทบุรีออกจากมิสซังกรุงเทพฯ และได้เป็นคุณพ่อเจ้าอาวาสวัดอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 1945 ถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1947 สิ้นปี ค.ศ. 1945
คุณพ่อลารเกจัดการเตรียมสร้างวัดบ้านนา จึงได้ขอให้พระสังฆราชช่วยส่งคุณพ่อปลัดองค์หนึ่ง สำหรับดูแลวัดหนองรี คุณพ่อเลโอนาร์ดจึงมาอยู่หนองรีในฐานะเป็นปลัด แต่เพื่อความสะดวก คุณพ่อลารเกได้มอบหน้าที่ของคุณพ่อเจ้าวัดทั้งหมดให้แก่คุณพ่อเลโอนาร์ด
คุณพ่อเลโอนาร์ด (สิงหนาท ผลสุวรรณ) คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 10
คุณพ่อเลโอนาร์ด เป็นคุณพ่อเจ้าอาวาสตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1947 ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1950 คุณพ่อได้เปลี่ยนโรงเรียนประชาบาลเป็นโรงเรียนราษฎร์ ในปี ค.ศ. 1946
ต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1946 คุณพ่อได้ซ่อมแซมโรงเรียนของคุณพ่อสมุห์ และยื่นคำขอให้เป็นโรงเรียนราษฎร์ ชื่อโรงเรียนราษฎร์ “สิงห์ประสาทวิทยา” ได้รับหนังสืออนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ เลขที่ 1314/2489 ลงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2489 โรงเรียนนี้เกิดขึ้นมาเป็นโรงเรียนมีลัคนาอยู่ราศีสิงห์ก็ว่าได้ และยังประสาทความรู้ให้เด็กบ้านหนองรีอยู่ตลอดจนทุกวันนี้
คุณพ่อเปแรง คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 11
คุณพ่อเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 1950 ถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 1955 คุณพ่อเปแรงอยู่ที่บ้าน และดูแลวัดหนองรีด้วย ในปี ค.ศ. 1951 ได้รับคุณโกเชต์มาเป็นคุณพ่อผู้ช่วย
คุณพ่อมาร์แซล โกเชต์ คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 12
คุณพ่อโกเชต์ได้อยู่ที่วัดหนองรี ค.ศ. 1951 ในฐานะคุณพ่อปลัด ต่อมาเมื่อคุณพ่อเปแรง เกิดอุบัติเหตุ ตกรถจักรยานยนต์และขาหัก ต้องกลับไปฝรั่งเศส คุณพ่อโกเชต์ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคุณพ่อเจ้าอาวาสวัดบ้านนา และหนองรี ดำรงตำแหน่งถึงปี ค.ศ. 1968
คุณพ่อโกเชต์ สร้างถนนเข้าวัดหนองรี ยาว 3 กิโลเมตร ในปี ค.ศ. 1956
ในสมัยคุณพ่อโอลลิเอร์เป็นต้นมา มีคนจีนจำนวนมากมาอยู่หนองรี ย้ายมาจากปราจีนหรือแหลมโขดบ้าง มาจากเมืองจีนโดยตรงบ้าง แต่บางครอบครัวอยู่ชั่วคราวเท่านั้นก็อพยพไปที่อื่น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947 เป็นต้นมา คนจีนค่อยๆ ไปหาที่ทำกินที่อื่น คนที่เคยทำการค้าในประเทศจีน จะอยู่ที่หนองรีก็ไม่มีอาชีพแล้ว ถึงแม้ว่ามีคนมาก ทางคมนาคมก็ไม่มี ไปซื้อข้าวของมาขายก็ยากที่สุด หน้าฝนยิ่งยากขึ้นไปอีกต้องเดินตามหัวคันนาบ้าง ตามน้ำบ้าง ข้ามห้วยหรือคลองบ้าง ไม่สะดวก ส่วนผู้ที่ทำสวน ส่งผลิตผลไปขายก็แสนยากเช่นกัน ต่างคนต่างไปหาแหล่งอาศัยที่เจริญกว่า
ทางอำเภอมีโครงการสร้างถนน ตั้งแต่สุวรรณศรไปหนองรี แต่ก็ไม่สำเร็จ ไม่มีใครทำ พ่อโกเชต์ไม่กลัวการงาน มีแต่ดูมือดูนิ้วของท่านเป็นมือของกรรมกรแท้ๆ จึงตัดสินใจ ทางวังต้น-หนองรี จะเป็นงานฝีมือของท่าน ก่อนจะสร้างวัด จะลงมือสร้างถนน คุณพ่อไปหานายอำเภอ ขอแบ่งเงินที่ได้จากภาษีที่ดินของอำเภอ มาช่วยกันทำทาง ซึ่งนายอำเภอมีความไว้ใจในฝีมือและในความสุจริตของคุณพ่อ ก็ตกลงช่วย นายอำเภอช่วยการเงินบ้าง, คุณพ่อโกเชต์ทำงานกับชาวบ้าน ซื้อรถไถนามาดันดินถมถนน และเป็นผู้ช่วยแรงสร้างสะพานด้วย และในที่สุด ทางวังต้น-หนองรี ก็เสร็จเรียบร้อย เป็น “ถนนโกเชต์” ก็ว่าได้
“ถนนโกเชต์” นี้ นำความเจริญมาสู่บ้านหนองรี และแถบเหนือหนองรีไปถึงดง ต่อไปที่ดินที่เป็นหนาม ทุ่งหญ้าไร้ผู้คนอาศัย ในไม่ช้าจะแปรสภาพเป็นนา เป็นสวน เป็นหมู่บ้าน คุณพ่อโกเชต์เป็นผู้ริเริ่ม แต่คนจีนส่วนมากไปจากหนองรีแล้ว
ชาวจีนส่วนมากได้อพยพไปอยู่จังหวัดอื่นเกือบหมดแล้ว เพราะทางสายนี้สร้างขึ้นมาช้าไป คุณพ่อโกเชต์ถูกไล่ออกจากประเทศจีนช้าไปสัก 10-15 ปี ต่อมานายอำเภอก็ได้จัดการขยาย “ถนนโกเชต์” แล้วต่อถนนสายนี้ไปถึงเขาชะโงกถึงในดง ฯลฯ
คุณพ่อโกเชต์ ได้เป็นผู้เปิดทางความเจริญไปสู่ชนบท ในส่วนนี้ของตำบลบ้านพร้าว แต่ผู้ใช้ถนนสายนี้ในปัจจุบันคงไม่รู้จักประวัติ และเกียรติคุณของคุณพ่อโกเชต์
คุณพ่อโกเชต์ สร้างวัดใหม่เป็นตึก ในปี ค.ศ. 1957 คุณพ่อได้เห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างวัดใหม่ และบ้านซิสเตอร์ใหม่เพราะวัดไม้ของคุณพ่อโอลลิเอร์กับบ้านซิสเตอร์ชำรุดทรุดโทรมมากโดนปลวกทำลายฝาผนัง แต่ไม่มีงบประมาณสร้าง ถนนเสร็จเรียบร้อย จะลงมือสร้างวัดใหม่ทันที
สมัยนั้น ใครจะสร้างวัด หรือบ้านพักชีสงฆ์ ได้รับก็แต่คำอวยพร และคำแสดงความยินดี แต่ส่วนปัจจัยนั้น ต้องไปหาเอง เรี่ยไรตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ไปเป็นคนขี้ขอ เคาะประตูต่อประตูทั้งเมือง คงไม่มีวัดใด หรือครอบครัวใด ที่ไม่รู้จักคุณพ่อโกเชต์ จนได้รับสมญาว่า “คุณพ่อวิตามิน ง” (เงิน) ได้เงินบ้างแล้วก็ไปก่อสร้างทันที เงินหมดแล้วก็ไปเรี่ยไรทันที
วันหนึ่ง พระสังฆราชโชแรง เรียกคุณพ่อโกเชต์มาว่ากล่าว
“คุณพ่ออยู่บ้านนา-หนองรี หรือว่าอยู่กรุงเทพฯ ? เราเห็นพ่อมากรุงเทพฯ เรื่อยๆ เราสั่งให้อยู่โน่น ไม่ให้มากรุงเทพฯ เช่นนี้ต่อไป ฯลฯ.”
คุณพ่อโกเชต์เสียใจ ก็ตอบพระสังฆราชว่า
“อ้าว.... ท่านเคยแสดงความยินดี ทั้งอวยพรให้ผมสร้างวัดจนสำเร็จ ไม่เห็นว่าท่านจะให้เงินช่วยผมบ้าง ท่านไม่ให้ผมก็ต้องหาเอง ต้องไปเรี่ยไรขอคริสตังช่วยจึงจะสำเร็จ ถ้าผมไปเรี่ยไรหาทุนสร้างวัดไม่ได้แล้ว ผมขอลาออกจากหนองรีทันที.”
วันรุ่งขึ้น พระสังฆราชโชแรงเรียกคุณพ่อโกเชต์มาหาใหม่ คุณพ่อก็ไปหา ยื่นใบลาให้ แต่พระสังฆราช...คราวนี้แสดงหน้ายิ้มๆ กล่าวว่า
“ไม่ต้องลาออก จะสร้างวัดให้เสร็จ บรรดาคริสตังทั่วไปยินดีช่วยในการสร้างวัดก็เป็นการสร้างบุญกุศล ไปเถิดเรี่ยไรต่อไป จึงจะสำเร็จได้ ที่เราพูดเมื่อวานก็พูดเล่นๆ เอามากินเหล้าดีๆ สักแก้ว บำรุงกำลังใจ.”
พ่อโกเชต์จึงได้ไปเรี่ยไร เรี่ยไรจนกว่าวัดจะสร้างสำเร็จ และมีการเสกวัดใหม่ ในปี ค.ศ. 1957
คุณพ่อโกเชต์พัฒนาที่ดิน ปลูกสวนยางพาราใหม่
ขณะที่สร้างถนน สร้างวัดใหม่ คุณพ่อโกเชต์ไม่ลืมที่ดินของมิสซัง ซึ่งเป็นที่ดินของคุณพ่อยวงเฮียง แซ่ลิ้ม จับจองและกลายเป็น ส.ค. 1 แล้ว วันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1955 คุณพ่อโกเชต์ไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัด ยืนหนังสือขอทำการรังวัด เพื่อจะได้รับโฉนดที่ดินในนามของมิสซัง ชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ยังพูดถึงคุณพ่อโกเชต์ เดินตามทุ่งนาทั่วไป ปักไม้ไผ่สูงๆ มีธงแดง เพื่อจะได้เห็นแต่ไกล เพราะยังมีพุ่มไม้สูงๆ อยู่มากมาย ปักหลักธรรมดามองไม่เห็น เจ้าหน้าที่นัดมาทำการรังวัด เริ่มวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1956 กะให้รังวัดเสร็จภายใน 20 วัน แต่ต้องมารังวัดหลายๆ ครั้ง วัดแล้ววัดเล่า เป็นที่ดินแปลงใหญ่ 500 กว่าไร่ กินเวลาหลายวันกว่าจะเสร็จ คุณพ่อโกเชต์ไม่ทันได้รับโฉนด ก็ต้องย้ายไป รังวัดใหม่ทางนี้ รังวัดใหม่ทางโน้น ในสมัยคุณพ่อวิศิษฎ์ หริพงศ์ จึงได้รับโฉนด
เวลานั้นคนจีนอพยพไปที่อื่นเสียแล้ว เหลือไม่กี่ครอบครัวที่ทำสวน ส่วนคริสตังคนไทยทำนา ไม่มาก คุณพ่อโกเชต์จึงต้องแบ่งนาเช่าใหม่ให้ชาวนาที่อยู่บริเวณนั่นเสีย แบ่งครอบครัวละ 20 ไร่ 30-40-50 ไร่ แล้วแต่ความสามารถคิดว่าเช่านาถูก เพราะที่เป็นนาเตียนแล้ว ที่ยังรกอยู่เป็นหนาม ก็ให้ค่อยๆ ถางขยายที่ทำนาให้มากที่สุด โดยไม่คิดขึ้นค่าเช่าเลย
ส่วนคุณพ่อโกเชต์เอง ก็ถอนต้นยางพารา ซึ่งคุณพ่อยวงเฮียงได้ปลูกไว้ เพราะเป็นต้นยางที่แก่แล้ว ไม่ผลิตน้ำยางเสียแล้ว คุณพ่อยังปรับที่เสียใหม่ แล้วติดต่อรัฐบาลขอพันธุ์ไม้ยางมาปลูกใหม่ 2 แปลง กับได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้รับเป็นประจำทุกปี ในภายหลัง คุณพ่อวิศิษฎ์ ไม่ชำนาญในการทำสวนยางพารา และไม่มีเวลาสนใจเรื่องต้นยางพารา ก็ได้ขอเลิกรับเงินช่วยเหลือดังกล่าว แต่สวนยางพาราก็ยังอยู่ ยังเจริญอยู่ ให้ความเอาใจใส่ของคุณพ่อแวรดิแอร์ อธิการของพระคริสตาราม
คุณพ่อโกเชต์เป็นคุณพ่อเจ้าอาวาสผู้หนึ่งที่เข้าอยู่ในประวัติของวัดนักบุญยอแซฟ หนองรี เป็นผู้ได้นำความเจริญมาสู่บ้านหนองรี และชนบทตำบลบ้านพร้าว อำเภอบ้านนนา เป็นผู้สมควรได้รับคำชมเชย และอิสริยาภรณ์ประจำตำบลบ้านพร้าว แต่ก็คงจะได้รับก็แต่ในสวรรค์เท่านั้น
คุณพ่อร็อค วิศิษฎ์ หริพงษ์ คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 13
คุณพ่อวิศิษฎ์ หริพงษ์ เป็นคุณพ่อเจ้าอาวาสวัดบ้านนาและวัดหนองรี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1968 ถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 1973
1. เป็นผู้สร้างบ้านพักพระสงฆ์ใหม่ ดังที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ บ้านพักหลังเก่าชำรุดโทรมมาก
2. เป็นผู้ขอโฉนดของที่ดินวัดหนองรีเป็นผลสำเร็จ
3. เป็นผู้ตั้งเขตยกที่ดินให้พระคริสตาราม ในสมัยของคุณพ่อวิศิษฎ์ พระสังฆราชยวง นิตโย ได้อนุญาตให้คุณพ่อแวรดิแอร์ เปิดอารามฤษี อยู่ในที่ดินแปลงหนึ่งใกล้วัดนักบุญยอแซฟ หนองรี คุณพ่อวิศิษฎ์ จึงยกที่ดินแปลงหนึ่ง เนื้อที่ประมาณ 33 ไร่ ให้เป็นที่พักและที่ทำกินของฤาษีใหม่
ปี ค.ศ. 1969 คุณพ่อแวร์ดิแอร์ ผู้ดำริจะเปิดอารามฤาษีคริสตังในประเทศไทยนั้น จึงไปหนองรีไปรับที่ดินที่จะเป็นของอารามฤาษี เป็นที่ดินเคยเป็นสวนประมาณ 5-6 ไร่ นอกนั้นเป็นสวนยางพารา คุณพ่อแวรดิแอร์เห็นที่แล้วไม้ท้อถอย ปลูกกระท่อมเล็กๆ 1 ตารางวา มีเตียงนอนกับห้องน้ำอย่างเดียว ไม่ต้องมีบ้านใหญ่ๆ อยู่สบาย แล้วเอาจอบถากหญ้า ถากหนาม เริ่มทำเป็นสวนปลูกผักทันที แล้วหาทุนสร้างบ้านพักบราเดอร์ที่จะสมัครมาบวช ที่พักฤาษีสร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1970 พระสังฆราชยวง นิตโย ไปเสกบ้านพักฤาษีวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1970 แล้วมีผู้สมัครมาบวชชั่วคราวหลายคน ต่อจากนั้น คุณพ่อฤาษีชุดแรกก็ไปทำความสะอาดในสวนยางปลูกโรงทำยางแผ่นใหม่ ฯลฯ
เมื่อเล่าประวัติวัดนักบุญยอแซฟ หนองรี แล้ว จำเป็นต้องกล่าวถึง “พระคริสตาราม” ด้วย
จุดประสงค์ของอารามใหม่นี้ มีอยู่สองประการ
ประการที่หนึ่ง คือ ต้อนรับผู้ชายฆราวาสที่อยากจะบวชชั่วคราว จะบวชนาน 1 ปี หรือ 2 ปี 3 ปี หรือนานกว่านั้นก็ตาม 15 วัน 1 เดือน 2 เดือน ฯลฯ ก็ตาม ก็จะบวชเป็นฤาษีถือระเบียบวินัยของฤาษี ซึ่งชีวิตฤาษีเป็นชีวิตสวดภาวนา และทำงานตั้งแต่ตี 4 ถึง 3 ทุ่ม ผู้ที่ได้บวชประจำอยู่อารามมี 3-4 คนเรียกว่าบราเดอร์ นอกนั้นเป็นผู้ที่อยากจะบวชชั่วคราวสั้นๆ เช่น 15 วัน หรือเป็นเดือน หนีความอึกทึกและเสียงยุแหย่ของโลกหาความสงบทางใจ ซึ่งจำนวนผู้บวชชั่วคราวนี้ เปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ แล้วแต่พระจิตดลใจ และพระสงฆ์ไทยสนับสนุน
ประการที่สอง คือ ต้อนรับผู้คนหรือกลุ่มผู้ที่ต้องการจะเข้าเงียบ จะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม เคยมีผู้ขอไปอาศัยในเขตพระคริสตาราม แต่เย็นวันศุกร์ถึงเย็นวันอาทิตย์ หาความสงบ เคยมีบรรดาหนุ่มสาวไปหาความเงียบห่างไกล และตลอดอาทิตย์หนึ่ง เคยมีกลุ่มนักบวชชายหรือหญิง ไปเข้าเงียบในพระ คริสตาราม โดยคุณพ่ออธิการเป็นผู้เทศน์อบรม
นี่แหละจุดประสงค์ของคุณพ่อแวดิแอร์ ในการเปิดพระคริสตารามที่หนองรี ใครต้องการจะบวชชั่วคราว หรือหาความสงบ หรือเข้าเงียบ โปรดจดหมายถึงคุณพ่ออธิการพระคริสตาราม ตู้ ป.ณ. 1 อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
คุณพ่อมีคาแอล อดุล คูรัตน์ คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 14
คุณพ่ออดุล คูรัตน์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านนา และหนองรีสองปี ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ค.ศ. 1973 ถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1975 แล้วย้ายไปอยู่ที่วัดเซนต์หลุยส์
คุณพ่อวิกเตอร์ ลารเก คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 15
คุณพ่อลารเก กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านนา และหนองรีเป็นครั้งที่แล้ว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1975
1. แบ่งนาขายชาวบ้าน
พอดีเป็นเวลาที่รัฐบาลมีนโยบายต้องการให้ผู้เช่านาได้เป็นเจ้าของที่ดิน ดังนั้น พระสังฆ ราชจึงสั่งให้ขายที่นาของวัดหนองรีให้แก่ผู้เช่าที่ประสงค์จะซื้อ
วัดหนองรีเคยเก็บค่าเช่าเป็นข้าวเปลือก ถึงแม้ว่าค่าเช่าถูก ก็จะเก็บเต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่ได้ คนนี้ขอลด คนนั้นไม่ขอลดแต่ลดเอาเอง ครึ่งหนึ่งก็มี กว่าครึ่งก็มี และวัดต้องจ่ายเงินเดือนครูแสนลำบากทุกเดือน เพราะโรงเรียนสิงห์ประสาทวิทยาเป็นโรงเรียนสอนฟรี ไม่ได้เก็บค่าเล่าเรียนแต่อย่างไร เมื่อขายที่ดิน จะเอาเงินที่ได้มาฝากธนาคารประจำ ใช้ดอกเบี้ยมาสมทบเงินอุดหนุน มาจ่ายเงินเดือนครูได้ง่าย
คุณพ่อลารเก จึงได้จัดแบ่งที่นาวัดหนองรี ขอให้ผู้เช่าเดิม หรือลูกหลานที่เคยช่วยกันทำ ได้มีบางคนมาด่ามาว่า ทำไมไม่ประกาศให้คริสตังชาวอีสาน หรือคริสตังวัดอื่นๆ ทราบ จะเป็นโอกาสให้จำนวนคริสตังวัดหนองรีได้ทวีขึ้น คุณพ่อลารเกตอบว่า มีคริสตังมากๆ อยู่รอบวัดก็เป็นสิ่งดีอยู่ แต่ใช้วิธีนี้ไม่ได้ เราจะไล่คนที่เคยเช่านา เคยถางป่ารกป่าหนามให้เป็นนาเตียน ทำไม่ได้ มีกฎหมายของรัฐบาลบังคับ ทำใบเช่าให้ใคร ใบเช่านี้มีอายุเช่า 6 ปี โดยอัตโนมัติถ้าเราจะขายที่ จะต้องคอยให้ครอบกำหนดเช่าหมดไป และถ้าผู้เช่าอยากจะซื้อไว้เอง เราจำเป็นต้องขายให้เขา ขายให้คนอื่นมิได้เป็นอันขาด ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเคยเคร่งในเรื่องนี้
เคยมีชาวอีสานมาติดต่อเหมือนกัน 2-3 ครอบครัว พ่อลารเกบอกว่า ถ้ามีผู้เช่าขอคืนนาให้วัด ไม่ขอเช่าต่อไป จะแจ้งให้ทราบ แต่ว่าเป็นแบบเดียวกันทุกราย
2-3 ปีมาแล้วข้าพเจ้าทำนาไม่ได้ ฝนแล้ง จะคอยหน้าฝนใหม่ ถ้าฝนตกก็จะทำนาที่โน้น ถ้าฝนไม่ตกก็จะประกาศขายแล้ว จะมาซื้อที่หนองรี
ทางวัดหนองรีจะทำอย่างไรได้ ทิ้งนาไห้ร้างเสีย หนึ่งปี สองปี หรือ? ก็จำเป็นต้องให้คนอื่นเช่า เช่าแล้วผู้เช่ามีสิทธิ์ซื้อได้
ปรากฏว่าชาวนาที่เคยเช่าที่นา ที่เคยตรากตรำถางที่ดินให้เป็นนาเตียน ต่างคนต่างอยากซื้อ ค่อยๆ เตรียมเงินค่าที่ดิน จึงมาแจ้งความจำนงอยากจะซื้อที่ที่เช่า และวางมัดจำ จึงจะสำเร็จได้ ไม่มีอุปสรรค ใดๆ จากสำนักงานที่ดิน
เพื่อให้ชาวบ้านผู้ซื้อที่ดินทำนาจะได้รับความสะดวกก็ได้ตัดและถมถนนกว้าง 8 เมตร ถนนซอยกว้าง 6 เมตร นับเป็นระยะยาวหลายกี่กิโลเมตร และยกให้เป็นทางสาธารณะ
เป็นโอกาสให้เราแสดงคุณของครอบครัวธรรมนิตย์ ที่ดินทั้งหมดที่เคยเป็นที่ดินของวัด พ่อเจ้าวัดเองก็ไม่สามารถไปดูแลขอบเขตจัดการเช่า หรือไปดูสภาพของข้าวตามทุ่งนา ฯลฯ ตั้งแต่แรก นายสี ธรรมนิตย์ ได้มีน้ำใจไปดูแลและแจ้งให้คุณพ่อทราบ และเมื่อนายสีถึงแก่กรรมแล้ว ลูกชายของเขาคือ นายเพชร ธรรมนิตย์ ก็สมัครช่วยคุณพ่อเจ้าวัดทุกๆ องค์ ในหน้าที่ผูกองผู้ดูแลที่ดินของวัดนักบุญยอแซฟ ซึ่งทางวัดขอแสดงความรู้คุณ ณ ที่นี้ด้วย
2. สร้างรั้วรอบที่วัด โรงเรียน และสุสาน
เมื่อได้แบ่งขายที่ดินให้ชาวคริสตังและชาวบ้านตามกำหนดของพระอัครสังฆมณฑลแล้ว ก็เหลือที่ดินดังต่อไปนี้ คือ
ก. ที่ของพระคริสตาราม 1 โฉนด ซึ่งพระอัครสังฆราชได้มอบให้สภาพระสังฆราช
ข. ที่ดินที่ตั้งของวัด บ้านพ่อ บ้านพักภคินี และศาลาประชาคม 1 โฉนด
ค. ที่ดินที่ตั้งของโรงเรียน สิงห์ประสาทวิทยา 1 โฉนด
ฆ. ที่สุสาน 1 โฉนด
ง. ที่ดินทำสวนมะม่วงของวัดอีก 1 โฉนด
สำหรับ 4 แปลงสุดท้ายนี้ ได้ล้อมรอบตัวรั้วปูนซีเมนต์ตลอดแล้ว
3. การสร้างศาลาประชาคม
บัดนี้ รอบวัดนักบุญยอแซฟ และรอบอาราม มีแต่ครอบครัวคริสตัง ส่วนครอบครัวคริสตังที่เคยอยู่หนองรีแต่ก่อน และได้อพยพทำมาหากินที่อื่นมีมากมาย กระจัดกระจายไปแทบทุกจังหวัด เมื่อถึงกำหนดฉลองวัด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวันเสกป่าช้า ต่างคนต่างกลับมาเยี่ยมวัดเดิมของตน มาไหว้ปู่ย่าตายาย หรือลูกหลานที่พักผ่อนอยู่ในสุสานนักบุญยอแซฟ หนองรี
ต่างคนต่างคิดถึงหนองรี จึงได้ช่วยกันไปเรี่ยไรสร้างศาลาประชาคม ปี ค.ศ. 1981 นายง้วนเต็ก จากระยอง เสนอตัวเป็นผู้จัดการสร้างศาลาประชาคมนี้ เพื่อเป็นที่พักศพผู้ตาย คริสตังหนองรีจากต่างจังหวัด จะได้เฝ้าสวดภาวนา ก่อนที่จะนำไปฝังในสุสานนักบุญยอแซฟ ใกล้กุฎิของญาติ เขาก็สร้างดีเหมือนกัน แต่เมื่อหมดทุนก็ต้องหยุด มีแต่เสา พื้นปูนซีเมนต์โครงหลังคาเหล็ก มุงลูกฟูก แต่แรกก็ทราบว่าทุนจะไม่พอสร้าง คุณพ่อลารเกจึงไปหาคริสตังผู้ใจบุญคนหนึ่งที่กรุงเทพฯ เขาก็บอกว่าช่วยได้ ช่วยกันหลายๆ คนก็ได้ จะสร้างให้เสร็จครบครันได้เหมือนกัน ไม่ว่าแพงสักเท่าไร แต่สมัยนี้ไม่เหมือนแต่ก่อน ขอก็ให้ สมัยนี้ต้องมีแบบแปลนมาแสดงและมีหนังสือให้รู้ว่าจะสร้างอะไรที่ไหน เมื่อไร เพื่อประโยชน์อะไร พ่อลารเกจึงขอแบบแปลนจากนายง้วนเต็ก เขาตอบว่า ไม่มีแบบแปลน เสียเงินเปล่าๆ แบบแปลนอยู่ในสมองก็พอแล้ว ไม่มีแปลนอะไรไปแสดงให้ ผู้ใจบุญก็เอาบุญไว้ในสมองเช่นกัน กระนั้นก็ดี คุณพ่อลารเกกับนายง้วนเต็กแน่ใจว่าคริสตังหนองรีในต่างจังหวัด จะต้องพยายามช่วยกันให้ศาลาประชาคมเสร็จสมบูรณ์พร้อมอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์...อย่างแน่นอน
4. โรงเรียนและศาลานักเรียน
ปี ค.ศ. 1976-1977 ด้วยคำแนะนำและความเห็นชอบของพระอัครสังฆราช มีชัย กิจบุญชู คุณพ่อลารเกได้จัดสร้างอาคารเรียนใหม่ เพราะตัวโรงเรียนเก่าของคุณพ่อสมุห์บูรณะโดยคุณพ่อสิงห์นาท ใช้การไม่ได้แล้ว จำนวนและขนาดห้องเรียน ไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการ และได้กลายเป็นโรงเรียนปลวกมากกว่า จึงได้สร้างโรงเรียนใหม่ และในปี ค.ศ. 1981 ได้สร้างศาลาให้นักเรียนมีที่รับประทานเที่ยง และที่อาศัยเมื่อฝนตก นายประกิจ จันทรกิติวุฒิ หจก.เจริญชัย 669 ซอยปรีชา 2 ถนนสาธุประดิษฐ์ หรือที่เขาเรียกว่านาย “อาก้อน” จากกรุงเทพฯ เป็นผู้ทำ และติดโครงเหล็กหลังคา แล้วมุงหลังคาด้วยกระเบื้องลูกฟูกเสร็จ
ปี ค.ศ. 1982 ได้สร้างสนามบาสเกตบอลในเขตโรงเรียนด้วย เป็นการค่อยๆ พัฒนาวัดนักบุญยอแซฟ และโรงเรียนสิงห์ประสาทวิทยา ให้เจริญขึ้น
5. งานชิ้นสุดท้าย
ฉลอง 70, 50 และ 25 ปี ของวัดหนองรี วันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1982
วันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1982 ก่อนที่จะลาออกจากหน้าที่เจ้าอาวาสอย่างเป็นทางการ คุณพ่อลารเก ได้จัดให้มีการฉลองเป็นพิเศษ คือ
ฉลอง 70 ปี ของวัดแรกของคุณพ่อยวงเฮียง นิตตโย และของการบุกเบิกตั้งกลุ่มคริสตชนกลุ่มแรกที่บ้านหนองรี ตำบลบ้านพร้าว อำเภอบ้านนา เมื่อ ปี ค.ศ. 1912
ฉลอง 50 ปี ของวัดหลังที่สอง ซึ่งเป็นวัดของคุณพ่อโอลลิเอร์ สร้างขึ้นเป็นไม้ แทนวัดหลังแรกที่ทรุดโทรมมาก และเล็กเกินไปเสียแล้ว
ฉลอง 25 ปี ของวัดหลังใหม่ ซึ่งคุณพ่อโกเชต์สร้างไว้เป็นตึก คือวัดปัจจุบันนั่นเอง สร้างเมื่อ ปี ค.ศ. 1957
โอกาสการสมโภชน์นี้ บรรดาคริสตังหนองรีและเพื่อนชาวพุทธ ได้พร้อมใจกันทาสีใหม่ทั้งหลัง ทั้งข้างในและข้างนอก ใต้ความควบคุมของคุณพ่อปลัดผู้ช่วย คือ คุณพ่อยวงไพริน เกิดสมุทร
คุณพ่อยวง ไพรินเกิดสมุทร คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 16
คุณพ่อไพริน ได้รับแต่งตั้งเป็นคุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 16 นับตั้งแต่ วันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1983 ถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1986 คุณพ่อได้เอาใจใส่หนองรีทุกวันผลัดเปลี่ยนกับคุณพ่อปลัด คือ คุณพ่อเดชา อาภรณ์รัตน์ และ คุณพ่ออัครพล พันธุมจินดา
คุณพ่อได้ปรับปรุงบ้านพักพระสงฆ์ให้ดีขึ้น ได้ทาสีวัดหลังปัจจุบันเสียใหม่ ทาสีบ้านพักซิสเตอร์ ร่วมกับบรรดาสัตบุรุษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาอภิบาลปรับปรุงศาลาประชาคมนักบุญยอแซฟ ซึ่งแต่ก่อนยังไม่มีฝาผนังเป็นห้องเรียบร้อย
ด้านโรงเรียน ก็ได้ปรับปรุงบริเวณสถานที่ให้ดูสวยงามมากขึ้น หาต้นไม้ต่างๆ มาปลูกให้ความร่มเย็น และได้หารถมารับนักเรียนที่อยู่ห่างไกล (ในดง) อีกด้วย ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากบรรดาสุตบุรุษ ทั้งที่อยู่ในปัจจุบันและบรรดาผู้จากหนองรีไปทำมาหากินที่อื่นๆ เป็นอย่างดี
ปี ค.ศ. 1984 ในโอกาสวันเสกสุสาน สัตบุรุษคริสตังได้พร้อมใจกันบริจาคทรัพย์มอบให้คุณพ่อเจ้าวัด เพื่อสร้างศาลาประชาคมนักบุญยอแซฟให้สมบูรณ์ และบัดนี้ วัดนักบุญยอแซฟ หนองรี จึงมีศาลาประชาคมที่สวยงามไม่กลัวฝนฟ้าอากาศแน่นอน
คุณพ่อไพรินตั้งสภาวัดเป็นผลสำเร็จ มีสมาชิก 30 คน ทางคุณพ่อปลัดทั้งสองคน ต่างก็เอาใจใส่ดูแลวัดหนองรีและโรงเรียน ส่งเสริมการกีฬา การเรียน จนกระทั่งส่งผลให้มีนักเรียนเข้ามาเรียนจำนวนเพิ่มมากขึ้น และสุดท้ายที่จะลืมไม่ได้ นักบวชคณะพระหฤทัยแห่งกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ดูแลทั้งโรงเรียน และวัดหนองรีเสมอมา ในท่ามกลางความยุ่งยากความลำบากเกินที่จะบรรยายได้ ขอขอบ คุณ ณ ที่นี้เป็นพิเศษ
คุณพ่อเปาโล สมพร เส็งเจริญ คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 17
คุณพ่อเปาโล สมพร เส็งเจริญ ได้รับแต่งตั้งเป็นคุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 17 แทนคุณพ่อยวงไพริน เกิดสมุทร ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1986 จนถึงปี ค.ศ. 1991 และในปี ค.ศ. 1986 วัดหนองรีก็แยกออกจากวัดบ้านนา หลังจากที่รวมกันมาเป็นเวลานาน ที่พระสงฆ์จะต้องดูแลทั้งวัดบ้านนาและหนองรี ถึงแม้จะแยกจากกันก็ตาม แต่สายสัมพันธ์แห่งวัดพี่วัดน้องก็ยังคงมีอยู่ต่อกันตลอดไป
ในปี ค.ศ. 1987 บรรดาสัตบุรุษได้ร่วมใจกับคุณพ่อเจ้าวัด จัดโมทนาคุณพระเป็นเจ้า และนักบุญยอแซฟขึ้น และโอกาสครบ 75 ปี ของการดำเนินกลุ่มคริสตชนหนองรี และในโอกาสนี้ก็พยายามรวบรวมหาทุนปรับปรุงและซ่อมแซมหลังคาวัดและพื้นวัดที่ชำรุด
คุณพ่อโทมัส ศิริพจน์ สกุลทอง คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 18
ได้รับแต่งตั้งเป็นคุณพ่อเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1991 - 1994
คุณพ่อเปโตร สุรพันธ์ ดาวพิเศษ คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 19
ได้รับแต่งตั้งเป็นคุณพ่อเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1994 -1999
คุณพ่อเปาโล คมสันท์ ยันต์เจริญ คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 20
ได้รับแต่งตั้งเป็นคุณพ่อเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1999 -2004
คุณพ่อยอแซฟ พงษ์เกษม สังวาลย์เพ็ชร คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 21
ได้รับแต่งตั้งเป็นคุณพ่อเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2004 -2005
คุณพ่อเปาโล มาโนช สมสุข คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 22
ได้รับแต่งตั้งเป็นคุณพ่อเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2005-2009
คุณพ่อสุทศ ประมวลพร้อม คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 23
ได้รับแต่งตั้งเป็นคุณพ่อเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2009-2011
คุณพ่อวิจิตต์ แสงหาญ คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 24
ได้รับแต่งตั้งเป็นคุณพ่อเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2011-2016
คุณพ่อเอกพงษ์ พงษ์สูงเนิน คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 25
ได้รับแต่งตั้งเป็นคุณพ่อเจ้าอาวาส 30 เม.ย. 2016 - 17 พ.ค. 2019
คุณพ่อศักดิ์ชัย ทรัพย์อัประไมย คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 26
ได้รับแต่งตั้งเป็นคุณพ่อเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2019-2021
คุณพ่อถนอมศักดิ์ เลื่อนประไพ คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 27
ได้รับแต่งตั้งเป็นคุณพ่อเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2021-ปัจจุบัน
ปี ค.ศ. 2021 วัดและโรงเรียนอยู่ในภาวะเฝ้าระวังและป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ตลอดทั้งปี
ปี ค.ศ. 2023 - มีการเปิด “บ้านบุตรยอแซฟ” เด็กๆ ถูกโอนย้ายมาจากคอมมูนิต้า ลำไทร โดยมีฆราวาสถวายตัวพระแม่มารีย์ภายใต้ความดูแลรับผิดชอบของพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช โดยตรง
- เตรียมซ่อมบำรุงศาลาสวดศพ
แผนที่การเดินทาง