-
Category: ประวัติวัดในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เขต 4
-
Published on Tuesday, 22 September 2015 07:32
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 8587
วัดแม่พระแห่งเหรียญอัศจรรย์
(วัดประจำบ้านเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร)
ตั้งอยู่เลขที่ 44/2 ต. คลองเนื่องเขต อ.เมือง ฉะเชิงเทรา จ. ฉะเชิงเทรา 2400
โทร. 0-3859-3371 ถึง 2 โทรสาร. 0-3859-3371
วัดแม่พระแห่งเหรียญอัศจรรย์ เป็นวัดที่มีลักษณะเป็น “วัดน้อย” ตั้งอยู่ภายในบริเวณเดียวกับบ้านบำเพ็ญภาวนา คณะภคินี เซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ณ ที่เลขที่ 44/2 ต.คลองเนื่องเขต อ. เมืองฉะเชิงเทรา จ. ฉะเชิงเทรา อยู่ในอาณาเขตการปกครองฝ่ายศาสนาของมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ
ฯพณฯ พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู มุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิก กรุงเทพฯ เป็นผู้อนุญาตให้ก่อสร้างวัดนี้ถวายเป็นเกียรติแด่พระแม่มารีอา และได้ให้การสนับสนุน โดยอุทิศที่ดิน 30 ไร่ ซึ่งอยู่ต่อจากอาณาเขตวัดเซนต์ร็อค นับว่าเป็นเครื่องหมายอันประเสริฐจากเบื้องบน เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นพอลที่ 2 ได้ทรงประกาศ “ปีแม่พระ” เมื่อวัดนี้ได้เริ่มลงมือสร้างแล้ว ศิลปะการตกแต่งภายในวัด เป็นสถาปัตยกรรมที่จำลองส่วนหนึ่งมาจากวัดแม่พระแห่งเหรียญอัศจรรย์ ถนนดือบัก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งพระแม่ได้เคยประจักษ์แก่นักบุญคัทรินลาบูเร พระแม่ได้ทรงขอร้องให้ทำเหรียญนี้ เป็นเครื่องหมายถึงการร่วมไถ่บาปกับองค์พระบุตรผู้ทรงเป็นท่อธารแห่งพระหรรษทานทั้งปวงแก่มวลมนุษย์
เนื่องจากภายในช่วงเวลา “ปีแม่พระ” ซึ่งเริ่มจากวันที่ 7 มิถุนายน 1987 และสิ้นสุดในวันที่ 15 สิงหาคม 1988 เราชาวไทยจะมีงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ในวันที่ 5 ธันวาคม ศกนี้ และงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ในวันที่ 2 กรกฎาคม ศกหน้า คริสตศาสนิกชนชาวไทยถือเป็นอภิลักขิตกาลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในวาระมงคลเดียวกัน คริสตชนคาทอลิกชาวไทยจึงขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายวัดแม่พระแห่งเหรียญอัศจรรย์และวัดเซนต์ร็อค ซึ่งได้กำหนดจัดพิธีเสกในวันเดียวกัน เป็นราชสักการะด้วยดวงจิตน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันเป็นเพียงส่วนน้อยนิดร่วมกับชาวไทยอีกห้าสิบกว่าล้านคน เฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยคงมลให้ทรงพระเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน เป็นมิ่งขวัญของชาวไทยสืบไป
รายละเอียดของแต่ละจุดงาน
ประตูทางเข้าริมถนนใหญ่ ทำด้วยโครงเหล็กดัดลวดลายประดับลายดอกลีส มีประตูบานเล็กด้านข้างหนึ่งบานเป็นเหล็กดัดรูปกางเขน ซุ้มประตูสองข้างได้ตกแต่งคิ้วบัวปูนและประดับลายหล่อปูนศิลปะแบบกอธิคไว้บนส่วนยอดซุ้ม เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้ามาในบริเวณมีพระรูปจำลองพระหฤทัย ประดิษฐานอยู่เป็นองค์ประธานด้านหน้าฐานที่รองรับพระรูปจารึกคำอวยพร ซึ่ง ฯพณฯ พระอัครสังฆราช ยวง นิตโย เป็นผู้กำหนดคำนี้
วัดตั้งอยู่หลังพระรูปพระหฤทัย เป็นอาคาร 2 ชั้น กว้าง 16 เมตร ยาว 36 เมตร มีลักษณะทรงไทยประยุกต์ ส่วนบนหลังคาตกแต่งเป็นซุ้มของแม่พระ มีงานประติมากรรมปั้นนูนต่ำหล่อด้วยไฟเบอร์ ผิวทาสีธรรมชาติประดับอยู่ทางมุมทิศตะวันตก ส่วนมุมด้านทิศตะวันออกเป็นรูปอักษรย่อ AM ประดับอยู่ในซุ้มเช่นกัน ใต้ซุ้มทั้งสองด้านนี้เป็นพื้นลวดลายตามแนวหลังคา กันสาดทั้ง 2 ชั้น ตกแต่งด้วยลายคิ้วบัววิ่งตลอดแนวขอบบนและล่าง ประดับประดางานประติมากรรมปั้นลอยตัว รูปเทวดาประคองแจกันเทน้ำลงสู่เบื้องล่าง ตามช่องระบายน้ำฝนทั้งสองชั้น
ส่วนหน้าบันอาคาร ตกแต่งรูปลักษณะงามของศิลปะกอธิค มีซุ้มใหญ่เล็กเรียงสลับลวดลายวงกลมและลายสามเหลี่ยมจัดช่วงจังหวะให้สมดุลกัน ลวดลายต่างๆ เป็นงานปั้นปูนซีเมนต์เสริมเหล็กทาสีผิว จุดเด่นของหน้าบันอยู่ที่รูปกางเขนตั้งบนลูกโลก ซึ่งประดับประดาจนงามวิจิตรสามารถมองเห็นได้เด่นชัดในระยะไกลๆ
ส่วนภายในวัด ปูลาดด้วยหินอ่อนสีเทาขาว ประตูทางเข้าสู่ภายใน ทำเป็นซุ้มลวดลายคิ้วบัวและลาย ปั้นปูนต่ำรูปใบปาล์มสองข้างซุ้มประตู บานประตูเป็นไม้สักสลักลวดลายศิลปะกอธิค เพื่อให้ดูมีความขลังและน่าเกรงขาม ด้านขวาของซุ้มประตูทางเข้า มีซุ้มตั้งพระรูปจำลองแม่พระราชินีแห่งสากลโลก หล่อด้วยไฟเบอร์ผิวทาสี ปิดทอง
ผ่านประตูเข้าไปภายในห้อง มีเสากลมใหญ่ประดับหัวเสาด้วยลายปูนปั้น ลักษณะใบอะแคนตัส ช่วงกลางเสามีงานประติมากรรมปั้นลอยตัวหล่อไฟเบอร์เป็นรูปเทวดาสององค์นำหอยใส่น้ำเสก เก้าอี้ภายในวัดออกแบบให้เหมาะกับการใช้ในวัดนี้เป็นพิเศษ แกะสลักลวดลายดอกลีสทาสีผิวด้วยสีโอ๊คเข้ม
บริเวณพระแท่น ได้ยกระดับพื้นสูงขึ้น พระแท่นสำหรับถวายมิสซา ด้านหน้าแกะเป็นรูป “อาหารค่ำมื้อสุดท้าย” ตรงกลางหลังพระแท่นเป็นกำแพงสูง ทำเป็นซุ้มโค้ง ด้านข้างเจาะเป็นช่องประตูทั้งสองข้าง ส่วนบนของซุ้มมีงานจิตรกรรมแบบเฟรสโกเต็มพื้นที่ รูปนักบุญคัทริน ลาบูเร กับ แม่พระและเหล่าเทวดาร้องเพลงอยู่รอบข้าง
ส่วนล่างของแผงซุ้มนี้ ตรงกลางทำเป็นห้องลึกเข้าไปและมีโดมรูปลักษณะ ¼ วงกลมติดลวดลายปั้นนูนต่ำ รูปดวงพระหฤทัยมีรัศมีโดยรอบ ทาสีปิดทองแลดูสะพรั่งตา ตัวโดมทั้งหมดทำจากไฟเบอร์ เพราะต้องการให้มีน้ำหนักน้อยและให้ความคงทน ภายในห้องนี้เป็นที่ตั้งของแท่นตู้ศีลมหาสนิท ตัวแท่นเป็นงานคอนกรีตเสริมเหล็ก ผิวภายนอกปูหินอ่อนสีขาวเทา ตกแต่งแท่นโดยการเดินคิ้วบัวโดยรอบ ช่วงบนด้านหน้าของพระแท่นจัดแบ่งเป็นซุ้มเล็กๆ 10 ซุ้ม ช่วงล่างตกแต่งลวดลายศิลปะแบบกอธิคผิวปิดทอง บนแท่นตั้งตู้เก็บศีลมหาสนิท แกะสลักทองเหลืองรูปดาวดวงใหญ่เปล่งรัศมี หลังตู้ศีลมหาสนิท มีรูปปั้นแม่พระแห่งเหรียญอัศจรรย์ประดิษฐานอยู่เหนือก้อนเมฆ เป็นองค์ประธานของวัดนี้
หน้าต่าง 12 ช่องภายในวัด ได้ตกแต่งทำเป็นลักษณะซุ้มโค้งแบบกอธิค แต่ได้ประยุกต์ใหม่ให้ได้สัดส่วนกับพื้นที่ผนังโดยรอบ เป็นกรอบรูปโค้งเดินคิ้วบัว แต่ละช่องมีขนาดกว้าง .80 เมตร สูง 1.50 เมตร ภายในกรอบเหล่านี้ได้แบ่งงานจิตรกรรมแบบเฟรสโก เรื่องราวของพระมารดาในพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้า 6 ตอน ส่วนอีก 5 ช่องใส่ข้อความเป็นอักษรไทยตัวนูนปิดทอง เพดานห้องส่วนเหนือพระแท่นบูชา ทำเป็นรูปโค้งแบบไข่ผ่าซีก ประดับด้วยดวงดาวน้อยใหญ่ ทั้งหมดทำด้วยไฟเบอร์เสริมเหล็ก เพิ่มความแข็งแรงแต่มีน้ำหนักเบากว่าการใช้คอนกรีตเสริมเหล็กมาก จึงไม่มีผลกระทบกระเทือนในด้านการรับน้ำหนักของตัวอาคารแต่อย่างใด ขอบรอบๆ โค้งประดับด้วยลายใบอะแคนตัส ซึ่งหล่อโดยกรรมวิธีพิเศษ มีน้ำหนักเบามาก แต่ให้ความงามและคงทนเท่ากับการหล่อด้วยปูนซีเมนต์
เพดานทางด้านปีกซ้ายและขวา ซึ่งมีส่วนสูงจากพื้นน้อยมาก ได้ทำการตกแต่งด้วยคิ้วบัวลวดลายละเอียดและมีตัวลายขมวดหัวกลมแบ่งช่องไฟ ช่วยทำให้เกิดความรู้สึกเพดานสูง ดวงไฟติดเพดานยังได้ออกแบบเป็นพิเศษ
บริเวณเวที ยกระดับจากพื้นห้องขึ้นมา .80 เมตร มีบันไดขึ้นลงสองด้าน ลูกบันไดและพื้นเวทีปูลาดด้วยหินอ่อนสีขาวเทา ทำให้ดูมีเนื้อที่กว้างเข้าไปถึงภายใน ด้านหน้าเวที ตกแต่งลายปูนปั้นนูนสูง เป็นใบอะแคนตัสขนาดใหญ่ม้วนตัวอยู่ มีช่อแตกแขนงทิ้งตัวไปตามจังหวะที่ให้ความรู้สึกอ่อนหวาน ส่วนตรงบันไดขึ้นลง ประดับลวดลายปูนปั้นรูปช่อกุหลาบและพิณ
บริเวณพื้นกว้างหน้าเวที ทำพื้นด้วยกรรมวิธีหินขัดเป็นลวดลายผสมแบบกอธิคโรมัน เสากลมใหญ่มากมายในอาคารหลังนี้ได้ตกแต่ง หัวและเชิงเสา ให้เป็นแบบศิลปะกอธิคที่ได้นำมาประยุกต์ขึ้นเพื่อความเหมาะสมกับยุคสมัย เมื่อยืนอยู่บนเวที มองออกไปเบื้องหน้าส่วนบน จะเห็นมีแผงกั้นไว้โดยรอบเจาะเป็นช่องหน้าต่างทำซุ้มแบบศิลปะกอธิคอยู่หลายช่อ มีวงกลมใหญ่ประดับขอบรอบด้านลวดลายระยับ ภายในวงกลมนี้มีงานประติมากรรมปั้นนั้นต่ำรูปนักบุญคัทรินกับแม่พระ ซึ่งหล่อไฟเบอร์ ผิวทาสีธรรมชาติอ่อนหวานกลมกลืนไปกับสีผนังรอบข้าง
เพดานในห้องโถงใหญ่ ตกแต่งโดยทำโครงเหล็กเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เพื่อติดตั้งผลงานจิตรกรรมแบบแสตนกลาสศิลปะของกอธิคเช่นกัน เป็นรูปแม่พระเหรียญมหัศจรรย์, พระหฤทัย, และอักษรย่อ M† ล้อมรอบด้วยดาว 12 ดวง ห้องแสดงหนังสือและตั้งโชว์งานต่างๆ ตกแต่งโดยการทำรั้วเหล็กดัดเตี้ยๆ แบ่งบริเวณหน้าประตูเข้าวัดกับห้องใต้บันไดขึ้นชั้นสอง มีตู้ใส่หนังสือ , แผงวางหนังสือ, ตู้ตั้งหุ่นขนาดเล็ก เป็นวัสดุที่ประกอบจากไม้ย้อมผิวสีโอ๊ค
บันไดขึ้นชั้นสอง ได้ตกแต่งราวบันไดและลูกบันไดในลักษณะบันไดรูปพัด พื้นลูกบันไดและที่ตกแต่งลวดลายหินขัด ช่วงที่พักบันไดมีงานประติมากรรมปั้นปูนรูปดอกไม้นานาพันธุ์ เรียงรายอยู่รอบฐานรูปปั้นนักบุญคัทริน ลาบูเร ซึ่งเป็นรูปปั้นลอยตัวสูง 60 ซม. หล่อไฟเบอร์
บริเวณชั้นสอง ได้จัดแบ่งเป็นห้องรวม 18 ห้องมีทางเดินรอบได้ตลอดภายในห้อง แต่ละห้องจัดตั้งหุ่นซึ่งเคลื่อนไหวได้ มีฉากประกอบเพื่อให้ดูสมจริง มีการใช้เทคนิคด้านแสงและเสียงเข้าช่วยเพื่อเร้าอารมณ์ผู้ดู
บริเวณภายนอกด้านทิศเหนือ ทำทางเดินไปสู่สวนให้กลมกลืนกับภูมิภาคโดยรอบ ปูพื้นด้วยหินกาบ ซึ่งแสดงวิธีการจัดสีของหิน เพื่อให้เกิดรูปแบบและได้ความความงามอีกลักษณะหนึ่งต่างออกไป ทั้งยังเป็นวัสดุที่เหมาะสมสำหรับทำพื้นนอกอาคารและมีความทนทาน
สระใหญ่ ขุดคดเคี้ยวไปมา ให้บรรยากาศสงบร่มเย็น มีสะพานเดินข้าม 3 แห่ง ขนาดกว้างประมาณ 4 เมตร ยาว 19 เมตร โครงสร้างของสะพานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ตกแต่งเพิ่มความงามด้วยการทำขั้นบันไดให้มีขนาดยาวแตกต่างกัน ทำให้ได้แนวราวสะพานเป็นเส้นโค้งสวยงามประดับคิ้วบัว ตามแนวราวสะพาน และใช้ลูกกรงปูนหล่อลวดลายเข้าเสริมตำแหน่งไฟส่องทางเดิน ซึ่งได้ออกแบบเป็นพิเศษให้ทั้งความงามและประโยชน์ใช้สอยราวสะพานส่วนล่างประดับงานปั้นปูนนูนต่ำเป็นมาลัย เชื่อมต่อกันตลอดแนวสะพาน ทำให้ดูเพิ่มคุณค่าตัวสะพานขึ้นมาก ส่วนใหญ่บริเวณโดยรอบ สะพรั่งไปด้วยพันธุ์ไม้ที่ได้เลือกสีสันเป็นพิเศษ เพื่อสร้างบรรยากาศพันธุ์ไม้ ณ ถิ่นกำเนิดของพระแม่มารีอา อันประกอบด้วยสน ปาล์ม นานาพันธุ์ รากไม้และลำต้นก็นำมาสื่อความหมายตามพระคัมภีร์ทั้งสิ้น มิได้ใช้วัสดุแปรรูปแต่อย่างใด การจัดสวนทั้งหมดอยู่ในความควบคุมของคุณสุมนา ณ ระนอง ซึ่งมีความประสงค์จะอุทิศแรงกาย ใจ ด้วยตนเอง โดยสุดสิ้นความสามารถ เพื่อถวายแด่พระแม่ในนามของคณะพลมารี มีผู้ร่วมงานจากบ้านต่างๆ ของคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร มาร่วมปลูกด้วย
การก่อสร้างและตกแต่งอาคารทุกจุดดำเนินไปตามจุดมุ่งหมายการสร้างวัด ซึ่งบริษัท ภัทรโยธา จำกัด โดยคุณสมชาย ภัทรธราดล และคณะผู้ก่อสร้างทั้งหมดขอถวายร่วมกับคริสตชนและมิตรเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความศรัธราและความเคารพต่อพระแม่มารีอา ให้เป็นประโยชน์ฝ่ายจิตใจเป็นสำคัญแก่ทุกคนที่ใช้สถานที่นี้
พิธีเสกวัดแม่พระแห่งเหรียญอัศจรรย์ได้จัดขึ้นในวันเดียวกับ พิธีเสกวัดเซนต์ร็อคท่าไข่ ซึ่งอยู่บนผืนดินเดียวกัน ฯพณฯ พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เป็นผู้ประกอบพิธี พร้อมกับพิธีเปิดสวนและจารึกสดุดีพระเกียรติคุณ “นพรัชรัตนะ” โดย ฯพณฯ ดร.ประกอบ หุตะสิงห์ องคมนตรี ได้กรุณาให้เกียรติเป็นผู้ประกอบพิธี ณ วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม คริสตศักราช 1987
คาทอลิกชาวไทย เฉพาะอย่างยิ่งสัตบุรุษวัดเซนต์ร็อค ขอโมทนาคุณและสรรเสริญพระเจ้าในพระราชกิจทั้งสิ้นของพระองค์และขอขอบคุณ ฯพณฯ พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ผู้ให้ความสนับสนุนการสร้างวัด ถึง 2 แห่ง เป็นศิริมงคลอันประเสริฐแก่คริสตชน และประชาชนที่ตั้งถิ่นฐานบนผืนดินนี้ และทุกท่านที่มาบำเพ็ญภาวนา ณ สถานที่นี้
คุณพ่อโทมัส ศิริพจน์ สกุลทอง พระสงฆ์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ปี ค.ศ. 2004 - 2009
คุณพ่อสุนัย สุขชัย จิตตาภิบาลวัดแม่พระเหรียญอัศจรรย์ ปี ค.ศ. 2009 - 2015
ปี ค.ศ. 2015 - ปัจจุบัน จิตตาภิบาลวัดแม่พระเหรียญอัศจรรย์ คือ พระสงฆ์จากวัดเซนต์ร็อค ท่าไข่
แผนที่การเดินทาง