-
Category: ประวัติวัดในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เขต 3
-
Published on Tuesday, 08 December 2015 03:11
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 10146
วัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด (บางสะแก)
เลขที่ 21/1 วุฒากาศ 37 ถนนวุฒากาศ แขวงบางค้อ
เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร 10150
โทร. 0-2468-1641, 0-2875-3987, โทรสาร 0-2476-4913
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
website: http://www.bangsakea.ob.tc
ในรายงาน ค.ศ. 1901 พระสังฆราชหลุยส์เวย์ กล่าวถึงคุณพ่อแดส์ซาลส์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) และมีคุณพ่อริชาร์ด กับพระสงฆ์พื้นเมืองอีก 2 องค์ คือ คุณพ่อยอแซฟชิน (TSHIN) และคุณพ่อมัทธิวอัส บุญธรรม ช่วยกันดูแลวัดสาขาด้วย ซึ่งมีวัดบางเชือกหนัง, บางสะแก, ปากลัด, ปากน้ำ และหัวตะเข้ คุณพ่อแดส์ซาลส์ได้จัดสร้างวัดแม่พระลูกประคำ (หลังปัจจุบัน) และวัดสาขาเหล่านี้ทั้งหมด
ที่บางสะแก (วัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด ปัจจุบัน) สมัยนั้นเป็นสวนผลไม้นานาชนิด ร่มรื่นและอุดมสมบูรณ์ น้ำในคูคลองสะอาด ทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย ยังไม่ตัดผ่านทางคมนาคมที่สะดวกและใช้กันประจำ คือทางแม่น้ำลำคลอง พาหนะก็คือเรือสองแจว
คุณพ่อแดส์ซาลส์ มาบุกเบิกซื้อที่ดินในปี ค.ศ. 1900 และสร้างโรงสวดในปี ค.ศ. 1901 นี่เอง คริสตังสมัยนั้นมี 3 ครอบครัวเท่านั้นและวัด (โรงสวด) หลังแรกก็ปลูกอยู่ในที่ดินของคริสตังคือ ของคุณตา “เคี้ยน” ตัววัดทำด้วยฝาไม้ไผ่ขัดแตะเรือนสูง หลังคามุงจาก (ปัจจุบันอยู่หลังโรงเรียนแม่พระ ตรงทางรถไฟเยื้องซอยอาทิตย์)
เนื่องจากคุณพ่อแดส์ซาลส์มีงานทำมากมาย นอกจากการดูแลวัดต่างๆ แล้ว ที่วัดกาลหว่าร์ก็มีองค์การสงเคราะห์เด็ก มีการแปลคำสอน โปรดศีลล้างบาปแก่คนชราในโรงพยาบาลจีนมีสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าสตรี โรงสอนคำสอนแก่สตรี และดังนี้คุณพ่อแดส์ซาลส์ไม่ทันให้จัด วัดบางสะแกมั่นคงถาวร คุณพ่อก็ป่วย ต้องไปรักษาตัวฟื้นกำลังที่บ้านเกิดเมืองนอน คุณพ่อกลับมาเมืองไทยปี ค.ศ.1906 มีความมุ่งมั่นจะทำโครงการต่างๆ ของท่านรุดหน้าต่อไป โดยเฉพาะที่วัดบางสะแก แต่อนิจจา ปี ค.ศ. 1907 ด้วยความสลดใจเหลือที่จะบรรยายได้ คุณพ่อต้องละทิ้งโครงการทั้งหมด ละทิ้งวัดสุดที่รักของท่านโดยกะทันหัน เนื่องจากเรื่องพินัยกรรมของ คุณพ่อแก็นตริก พร้อมกับคุณพ่อที่ขยันที่สุดอีก 3 องค์
เมื่อ “พินัยกรรมของคุณพ่อแก็นตริก” สิ้นสุดแล้วคุณพ่อเจ้าอาวาสที่พระสังฆราชหลุยส์เวย์ แต่งตั้งแทนนั้น ต้องออกไปตามคำสั่งของสมณกระทรวง ดังนั้น คุณพ่อเปอตีต์ ที่ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์แทนคุณพ่อแดส์ซาลส์ (ค.ศ. 1907-1910) ก็กลับไปปกครองวัดเพลงอย่างเดิม แต่โดยที่คุณพ่อแดส์ซาลส์ไม่กลับมา พระสังฆราชแปร์รอส จึงแต่งตั้งคุณพ่อฟูยาห์ (ค.ศ. 1910-1914) เป็นเจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์และสาขา เช่นเดียวกับคุณพ่อเจ้าวัดอื่นที่มาสืบตำแหน่ง อาทิ คุณพ่อกิยู (ค.ศ. 1915-1937) คุณพ่อโอลลิเอร์ อยู่ตั้งแต่ ค.ศ. 1937-1942 ก็ต้องดูแลวัดสาขาด้วย แต่สำหรับวัดบางสะแก ซึ่งเป็นน้องสุดท้องของคุณพ่อแดส์ซาลส์ ไม่มีใครเอาใจใส่ดีเท่าไรนัก เป็นแต่ส่งปลัดมาทำมิสซาในโอกาสวันฉลองใหญ่ๆ เท่านั้น ปลัดวัดกาลหว่าร์มีไม่พอกับความต้องการ ได้มีระยะหนึ่งตั้งแต่ ค.ศ. 1919-1928 พระสังฆราชแปร์รอสเห็นว่าวัดกาลหว่าร์ ไม่สามารถส่งคุณพ่อปลัดมาบางสะแกได้ ก็สั่งให้คุณพ่อฮุย เจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญ รับหน้าที่ไปดูแลวัดบางเชือกหนังและวัดบางสะแกด้วย
ปลาย ปี ค.ศ.1941 (สงครามโลกครั้งที่ 2) ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาททางทหารในประเทศไทย ประเทศไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา ทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่–มหาชัย จึงเกิด ขึ้น เมื่อทางรถไฟตัดผ่านที่วัด ทำให้ที่ดินของวัดแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ รวมทั้งป่าช้าก็อยู่ติดกับทางรถไฟมาก คุณพ่อราฟาแอล จึงได้ย้ายป่าช้าจากที่เดิม (ใกล้บ้านครูประสงค์ ชีวะบุตร และบ้านคุณประเสริฐ มะกรครรภ์) มาตั้งอยู่ที่ปัจจุบัน
วันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1942 สัมพันธมิตรเริ่มทิ้งระเบิดกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก แล้วก็ทิ้งระเบิดเรื่อยๆ เป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากละทิ้งบ้านช่องในเมืองหลวงอพยพออก ไปอยู่ชนบทกันมาก ไม่มีใครอยากตายเพื่อญี่ปุ่น และก็ได้มีคริสตังจำนวนมากอพยพไปอยู่ที่ บางสะแก จึงทำให้วัดคับแคบลงถนัดใจ
คุณพ่อโอลลิเอร์ เจ้าอาวาสวัดแม่พระลูกประคำ กาลหว่าร์ สมัยนั้นและสัตบุรุษอีกหลายท่านโดยการนำของ เถ้าแกสูน เจ้าของบริษัทเคียมฮั่วเฮง และบริษัทบ้วนฮั่วเส็ง ซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ที่หน้าวัดกาลหว่าร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ปัจจุบันทั้งสองบริษัทได้ย้ายไปแล้ว สถานที่ตรงนั้นได้สร้างโรงเรียนชาย-หญิงของวัดขึ้นแทน คือโรงเรียนกุหลาบวิทยาและกุหลาบวัฒนา)
วัดหลังที่สอง (ปี ค.ศ. 1942)
การก่อสร้างวัดหลังที่สอง ได้ย้ายจากที่เดิมซึ่งอยู่ในที่ดินของคุณตาเคี้ยน มาสร้างในที่ดินของวัดซึ่ง คุณพ่อแย และคุณพ่อราฟาแอล เป็นผู้ซื้อที่ริมคลองต้นไทร (ปัจจุบันคือลานหน้าวัด) วัดหลังที่สองนี้ สร้างเป็นเรือนไม้เตี้ยสูงประมาณ 1 เมตร หลังคามุงสังกะสีครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งมุงด้วยใบจาก เนื่องจากงบประมาณมีไม่พอประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งราคาค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในสมัยนั้นแพงมาก เพราะอยู่ในสภาวะสงคราม
ต่อมาคุณพ่อบุญไทย สิงห์เสน่ห์ ได้บอกบุญตามวัดต่างๆ จึงได้เปลี่ยนหลังคาเป็นสังกะสีทั้งหมด ส่วนฝาวัดเป็นไม้ยางและพื้นก็เป็นไม้เนื้อแข็ง ทำให้วัดแข็งแรงพอบรรจุสัตบุรุษได้ประมาณ 50-60 คน ยังมีสัตบุรุษบางส่วนที่มาหลบภัย เห็นว่าผู้คนย่านนี้หนาแน่นมากขึ้นก็ได้ขยับขยายไปอยู่ที่บางแวก และบางเชือกหนังอีกหลายครอบครัว
วัดหลังที่สองนี้ กรรมการดูแลวัดตลอดจนคนดีดออร์แกนในวัดมีอยู่หลายท่าน ซึ่งท่านได้เสียชีวิตไปหมดแล้วคือ
1. คุณปู่เคี้ยน
2. คุณปู่ตึ๋ง (บิดาป้ากี, ป้าเง็ก)
3. คุณปู่กื้อ
4. คุณปู่หู่
5. คุณปู่ลิ้ม (บิดาของคุณพ่อบุญไทย สิงห์เสน่ห์ ซึ่งได้มรณภาพแล้ว)
6. คุณปู่ยิ่ง
7. คุณปู่เซ่งค้วง (บิดาคุณปู่คุ้ย)
ได้เป็นผู้ดูแลสืบทอดมาตั้งแต่มีวัดหลังแรก จนถึงวัดหลังที่สอง ยังไม่มีพระสงฆ์อยู่ประจำ แต่ก็มีคุณพ่อจากวัดกาลหว่าร์มาทำมิสซาโปรดศีลแพร่ธรรมทุกวันอาทิตย์ สมัยแรกได้แก่คุณพ่อเสวียง ศุระศรางค์ โดยที่การเดินทางระยะนั้นลำบากมาก คุณพ่อจะต้องข้ามมาในตอนเย็นวันเสาร์และอยู่ค้างคืนทุกครั้งที่มาถวายมิสซา
วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ หลังจากโดนลูกระเบิดปรมาณูลูกที่สอง คนจีนกลับสู่กรุงเทพมหานคร คริสตังวัดแม่พระลูกประคำ กาลหว่าร์ ก็เช่นกัน วัดบางสะแกกลับเงียบเหงาอย่างเก่า คุณพ่อปลัดจากวัดกาลหว่าร์ ก็นานๆ กว่าจะได้เห็นหน้า พระธรรมคำสอนนานๆ จะมาสอนสักครั้งหนึ่ง
แต่มีคุณพ่อปลัดองค์หนึ่งชื่อคุณพ่อราแป็ง (ค.ศ.1956-1958) รักและสงสารคริสตัง วัดบางสะแก คุณพ่อคิดถึงพ่อแม่คริสตังที่ห่างวัด คิดถึงครอบครัวซึ่งเป็นคริสตังแต่ฝ่ายเดียวคุณพ่อคิดถึงเด็กลูกคริสตังซึ่งยังมิได้รับศีลล้างบาป ถึงแม้ท่านเป็นปลัดวัดกาลหว่าร์ แต่ก็ได้ตั้งโครงการอยู่ในใจไว้ก่อนแล้วว่า “วันหนึ่งฉันจะมาอยู่บางสะแก ขอแม่พระเมืองลูร์ดช่วยบันดาล”
ในสมัยนั้น คุณพ่ออาแมสตอย เจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์ กำลังสร้างวัดแม่พระฟาติมาและคุณพ่อราแป็งก็ต้องช่วยดูแลวัดกาลหว่าร์แต่คุณพ่อก็หาโอกาสไปวัดบางสะแกบ่อยๆ เพราะในใจของคุณพ่ออยู่ที่นั่นแล้ว ต้นเดือนเมษายน ค.ศ. 1958 คุณพ่ออาแมสตอยอำลาจากหน้าที่เจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์ไปอยู่วัดแม่พระฟาติมา พระสังฆราชหลุยส์โชแรง จึงแต่งตั้งคุณพ่อราแป็งให้เป็นเจ้าอาวาสสืบไป
ประมาณปี ค.ศ. 1961 คุณพ่อราแป็งท่านมองการณ์ไกล เห็นว่าคริสตังที่ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินของวัด หนาแน่นมากขึ้นทุกวัน ขนาดวัดหลังเดียวกันอยู่ 3-4 ครอบครัว คุณพ่อจึงคิดขยับขยายให้สัตบุรุษได้ข้ามมาอยู่ที่บางสะแกโดยจะสร้างวัด โรงเรียนและหมู่บ้านคริสตังใหม่ ให้เป็นปึกแผ่นขึ้นที่นี่ คุณพ่อจึงได้นำความคิดนี่ไปปรึกษากับพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง ซึ่งเป็นผู้ปกครองอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ในสมัยนั้น ซึ่งก็ได้รับความชอบจากพระสังฆราชด้วยดี คุณพ่อก็ได้เงินสนับสนุนโครงการจากพระสังฆราชมาก้อนหนึ่ง คุณพ่อราแป็งก็ได้เริ่มงานทันที โดยได้เชิญผู้อาวุโสหลายท่านมาปรึกษาหารือ ถึงเรื่องการจัดสรรที่ดินของวัดแบ่งให้สัตบุรุษได้เช่าปลูกบ้าน มี นายเล็ก. คุณปู่คุ้ยตั้งถาวร ฯลฯ กรรมการชุดนี้ได้สำรวจที่ดินของวัด และได้ตัดแบ่งออกเป็นล็อคๆ ละ 36 ตารางวา ไม่มีการเสียค่าหน้าดินเพียงแต่จ่ายค่าเสียหายให้คนเช่าสวนเก่าล็อคละ 200 บาท เท่านั้น
คุณพ่อได้รับความร่วมมือจาก คุณพ่อเปแรย์ สำรวจคริสตัง ที่อยู่ปะปนกันกับกลุ่มชนต่างศาสนา ให้มาปลูกบ้านรวมอยู่ในหมู่เดียวกัน บางรายปลูกบ้านแล้วเงินหมดไม่พอคุณพ่อยังได้กรุณาช่วยออกเงินให้ จนปลูกบ้านเสร็จเรียบร้อยหลายราย
สร้างบ้านพักพระสงฆ์
ต้น ปี ค.ศ. 1962 คุณพ่อราแป็งได้ดำเนินการปลูกบ้านพักพระสงฆ์ เรือนครัว แทนบ้านหลังเล็กๆ ซึ่งคุณพ่อโอลลิเอร์ ปลูกเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นสัญลักษณ์ว่าในไม่ช้าจะมีพระสงฆ์มาอยู่ประจำอย่างแน่นอน
เดือนธันวาคม ค.ศ. 1962 คุณพ่อราแป็ง เปิดบัญชีวัดบางสะแก ไม่ต้องพึ่งบัญชีวัดแม่พระลูกประคำ กาลหว่าร์ ต่อไป และคุณพ่อราแป็งก็มาอยู่บางสะแกเป็นส่วนมาก เท่ากับว่าวัดแม่พระลูกประคำ กาลหว่าร์ กลับเป็นสาขาให้พ่อปลัดดูแล
วัดหลังปัจจุบัน
หลังจากคุณพ่อปลูกบ้านพักพระสงฆ์เสร็จ คุณพ่อก็ได้เตรียมงานเพื่อการก่อสร้างวัดใหม่ ซึ่งในเวลานั้นคุณพ่อได้ตั้งกรรมการขึ้นอีกชุดหนึ่ง เพื่อการก่อสร้างวัดโดยเฉพาะมีรายชื่อดังนี้
1. คุณปู่คุ้ย ตั้งถาวร
2. นายจุ่น แซ่ตั้ง (จุ่นซินแซ)
3. นายฉลาด มะกรครรภ์ (บิดานายประเสริฐ, นายไพบูลย์ (จิ๋ว) มะกรครรภ์)
4. นายเล็ก เซี้ยง
5. นายสมหมาย
6. คุณตาเซ็ง ลัทธพันธ์
7. นายชิ่ว แซ่ใช้
ยังมีอีกหลายท่านที่สอบถามแล้วไม่มีผู้ใดจำได้
คุณพ่อและกรรมการชุดนี้ได้บอกบุญไปยังสัตบุรุษ ผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ซึ่งก็ได้เงินบริจาคมาพอสมควร คุณพ่อเริ่มลงมือก่อสร้าง โดยจ้างช่างที่สร้างวัดบ้านนามาเป็นผู้ก่อสร้าง คนงานส่วนมากเป็นชาวศรีษะเกษ โดยไม่มีพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1962
รูปวัด คุณพ่อได้ลอกแบบจากฝรั่งเศส ซึ่งเป็นตึกทั้งหลังมาเป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ เพราะราคาคอนกรีตในขณะนั้นสูงมาก ซึ่งถ้าจะก่อสร้างเป็นตึกทั้งหลังจะต้องสิ้นเงินถึง 6 แสนบาท
การก่อสร้างวัดเริ่มได้เพียงครึ่งเดียว เงินเริ่มขาดมือ คุณพ่อต้องบอกบุญไปตามวัดต่างๆ และสัตบุรุษอีกครั้งหนึ่งซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี พระสังฆราชหลุยส์ เคลเมนต์ โชแรง เป็นผู้เสกวัด
หลังจากรีบเร่งเสกวัด วัดก็สร้างเสร็จภายในเวลา 6 เดือน สมเจตนารมณ์ที่คุณพ่อตั้งไว้ การก่อสร้างอย่างรีบร้อนทำให้งานบางส่วนไม่ค่อยเรียบร้อย อีกทั้งกรรมการชุดดังกล่าวไม่มีท่านใดดำริถ่ายรูปไว้เป็นอนุสรณ์การก่อสร้างวัด ตลอดจนพิธีเสก จึงไม่มีภาพให้คนรุ่นหลังได้ชมกัน
วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1962 ตรงกับวันสมโภชพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล ได้ประกอบพิธีเสกและเปิดวัดอย่างเป็นทางการ คุณพ่อได้อัญเชิญนาม “แม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด” เป็นองค์อุปถัมภ์วัด โดย พระสังฆราชหลุยส์ เคลเมนต์ โชแรง เป็นประธานในพิธี สัตบุรุษที่อยู่ในที่ของวัดและอาณาบริเวณนี้ได้พร้อมใจกันจัดงานฉลองอย่างมโหฬาร กลางคืนมีการฉายภาพยนตร์ ให้ชมด้วย
ภายในวัดขณะนั้นพระแท่นถวายมิสซาอยู่ด้านในส่วนผนังด้านบนยังไม่มีไม้กางเขนและเป็นช่องกระจกเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นจะสาดแสงเข้ามาอย่างเจิดจ้า ทำให้ภายในวัดร้อนระอุไปหมด คุณพ่อจึงได้เปลี่ยนจากกระจกมาเป็นไม้ระแนงแทน จากนั้นจึงได้อัญเชิญกางเขนใหญ่ขึ้นประดิษฐานบนผนัง พร้อมกับรูปแม่พระและรูปนักบุญยอแซฟ
ต่อมาไม่นานพระสังคายนาวาติกันที่ 2 ได้เปลี่ยนจารีตพิธีถวายมิสซาจากหันหลังให้สัตบุรุษ มาเป็นหันหน้าเข้าหาสัตบุรุษ คุณพ่อราแป็ง จึงได้ย้ายพระแท่นและเปลี่ยนจากหินขัด มาเป็นหินอ่อนดังในปัจจุบัน
ระหว่างที่ดำเนินการสร้างวัดอยู่ คุณพ่อก็มิได้นั่งนอนใจที่จะสร้างโรงเรียน เพื่อให้ความรู้และอบรมบ่มนิสัยเด็กๆ ในหมู่บ้าน ให้เรียน เขียนอ่านหนังสือได้และรู้จักปรนนิบัติพระเป็นเจ้า ซึ่งคุณพ่อก็ได้ลงมือก่อสร้างทันทีที่สร้างวัดสำเร็จตามโครงการที่วางไว้ แต่ต้องล่าช้าไปบ้าง เพราะขาดทุนทรัพย์ สัตบุรุษจึงได้ช่วยกันเรี่ยไรกันคนละเล็กละน้อย ตามกำลังความสามารถเพื่อช่วยการก่อสร้างโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง ที่สุดโรงเรียนของวัด ชื่อ แม่พระประจักษ์ ก็สำเร็จลงด้วยดี โดยมีโรงอาหารและเรือนไม้หลังยาว ใช้เป็นห้องเรียน
เหตุการณ์หลังจากเปิดวัดแล้ว
เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้ว คุณพ่อไม่หยุดอยู่กับที่ คุณพ่อได้ฟื้นฟูจิตใจของสัตบุรุษ ให้มีความเชื่อและศรัทธาต่อพระเป็นเจ้ายิ่งๆ ขึ้นโดยจัดตั้งกลุ่ม ย.ก.ค. (ยุวกรรมการคาทอลิก) ขึ้นซึ่งมี คุณกำธร ชื่อรุ่งเรือง, คุณสนั่น วงศ์สุธี เป็นผู้นำ โดยมี คุณอภิรมย์ ปรีชาวุฒิ เป็นผู้สนับสนุน จุดประสงค์เพื่อพัฒนาวัดและหมู่บ้าน ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ของวัดเช่น การขับร้อง
คณะนักขับร้องของวัดชุดแรก คุณพ่อได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยการทำของ คุณมงคล มะกรครรภ์, คุณธรรมนูญ มะกรครรภ์, คุณไพบูลย์ มะกรครรภ์, คุณกำพล มารีวงศ์ จัดคณะนักขับขึ้นมารวมกับคณะ ย.ก.ค. ได้มีเยาวชนหญิง- ชาย สมัครเข้าเป็นสมาชิกพอสมควร
คุณพ่อได้อัญเชิญพระรูปแม่พระออกไปเยี่ยมบ้านสัตบุรุษทุกครัวเรือน ภายในเดือนแม่พระ ซึ่งสมัยนั้นทำกันอย่างคึกคักมากด้วยยังเป็นหมู่บ้านใหม่ มีการสวดและขับร้องภาษาไทยและจีนสลับกันไป
มีเหตุการณ์หนึ่งที่ควรจะจารึกไว้ คือ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1965 ฉลองแม่พระประจักษ์ที่ลูร์ด พระสังฆราช หลุยส์ เคลเมนต์ โชแรง จึงประกาศว่า วัดบางสะแกเป็นเอกราช คือไม่ขึ้นกับวัดใดอีกต่อไป และแต่งตั้งคุณพ่อราแป็งเป็นเจ้าอาวาสประจำวัดองค์แรก
ปี ค.ศ. 1966 ถึงกำหนดกลับไปพักผ่อนของคุณพ่อ คุณพ่อจึงลาไปฝรั่งเศส 6 เดือน คุณพ่อหลุยส์ ซาฮึก จึงมาเรียนภาษาและรักษาการณ์แทน
คุณพ่อราแป็ง พยายามรักษาวิญญาณของกลุ่มคริสตชนของวัดให้เป็นคนดี โดยเฉพาะเยาวชน จึงคอยไล่หนุ่มแปลกหน้าต่างถิ่นซึ่งเข้ามาในหมู่บ้านแพร่เชื้อร้ายคือ การพนัน ให้ออก ไปจากหมู่บ้านอยู่เนืองๆ และเหตุการณ์ซึ่งไม่น่าจะเกิดก็เกิดขึ้นจนได้
คืนหนึ่งประมาณ 2 ทุ่ม เดือนมีนาคม ค.ศ. 1967 พวกที่ถูกขัดขวาง ก็คอยดักทำร้ายคุณพ่อตามทางเดินเข้าวัด พวกเขาเข้ารุมทำร้ายโดยใช้ไม้ตีที่ศีรษะ ทำให้คุณพ่อถึงกับสลบไป มีคริสตังเดินผ่านมา เห็นคุณพ่อนอนสลบแน่นิ่ง จึงเรียกอีกหลายคนช่วยกันนำร่างคุณพ่อไปปฐมพยาบาลที่บ้านพัก จนอาการค่อยๆ ดีขึ้น
คุณพ่อราแป็ง ได้ปกครองสัตบุรุษวัดนี้เป็นเวลานานถึง 9 ปี จึงได้ขอย้ายตนเองตามคณะ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ปกครองสังฆมณฑลนครสวรรค์ โดยมีพระสังฆราชมิแชล ลังเยล์ เป็นประมุข หลังจากนั้น คณะ ย.ก.ค. ก็ค่อยๆ สลายไปพร้อมกับกรรมการชุดนั้น อย่างน่าเสียดาย
คุณพ่อ เยราลด์ แอนดรู ยอแซฟ ฟอร์แตง
คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1970-1976
เดือนเมษายน ค.ศ. 1970 คุณพ่อเยราลด์ ฟอร์แตง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสแทน คุณพ่อราแป็ง คุณพ่อได้บูรณะวัดและโรงเรียน สืบต่อมาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะ โรงเรียน คุณพ่อได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงได้หาทุนทรัพย์ มาเพื่อขยับขยายโรงเรียนให้เจริญ คุณพ่อได้ต่อเติมให้ใหญ่ขึ้น รวมทั้งก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม ห้องพยาบาล ห้องวิทยาศาสตร์ และได้เพิ่มชั้นเรียนถึงชั้น ม.ศ. 3
ระหว่าง ปี ค.ศ.1974 ได้มีบราเดอร์ประจักษ์ เจียจวบศิลป์ มาช่วยงานคุณพ่ออีกแรงหนึ่ง บราเดอร์ได้เป็นผู้ชักชวนให้สัตบุรุษภายในหมู่บ้าน ตั้งกลุ่มเครดิตขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และฝึกฝนให้ตนเองรู้จักประหยัด อดออม หลังจากนั้นเป็นต้นมากลุ่มเครดิตยูเนี่ยนก็ได้เจริญก้าวหน้าเรื่อยมาจนเป็นปึกแผ่นมั่นคงจนกระทั่งทุกวันนี้
คุณพ่อ ยอห์น สุเทพ พงษ์วิรัชไชย
คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1976-1979
เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1976 พระอัครสังฆราช มีชัย กิจบุญชู ได้แต่งตั้ง คุณพ่อสุเทพ พงษ์วิรัชไชย ให้มาเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด สืบแทนคุณพ่อฟอร์แตง
ด้วยคุณพ่อเป็นคนหนุ่มซึ่งมีพลังความคิด พลังใจ พลังกาย ในอันที่จะพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เช่น วัด, โรงเรียน ภายในหมู่บ้านให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น คุณพ่อได้เริ่มงานอย่างเข้มแข็ง เริ่มงานชิ้นแรกด้วยการจัดตั้งกลุ่มเยาวชนชาย-หญิงของวัดขึ้น จุดประสงค์เพื่อให้เยาวชนใช้เวลาว่างบำเพ็ญประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม กลุ่มเยาวชนนี้ได้มีบทบาทช่วยเหลือกิจการงานของวัดอย่างเข้มแข็งด้วยดีตลอดมา
อันดับต่อมาก็คือ การจัดตั้งสภาวัดขึ้นเมื่อกลางเดือนกันยายน ค.ศ. 1976 ซึ่งได้จัดตั้งสำเร็จเรียบร้อยเร็วกว่าบางวัด ก็เพราะคุณพ่อได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้เพื่อสภาวัดได้มีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของพระสงฆ์ในด้านแพร่ธรรม ด้านศาสนสัมพันธ์ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการงานต่างๆ ภายในขอบเขตของวัด
สารวัดที่พิมพ์ออกแจกจ่ายเป็นประจำทุกสัปดาห์ก็ได้อุบัติขึ้นในสมัยคุณพ่อสุเทพ พงษ์วิรัชไชย ขณะที่คุณพ่อย้ายมาอยู่ได้ประมาณ 4 เดือนเท่านั้น ด้านโรงเรียนคุณพ่อได้บูรณะและพัฒนาอย่างประหยัด ซึ่งก็ได้ผลดียิ่ง คุณพ่อขอแรงจากสัตบุรุษที่มีเวลาว่างช่วยกันขนทราย อิฐ หิน ปูน เทพื้นสนามบาสเกตบอล ซ่อมแซมพื้นห้องเรียน ทำท่อระบายน้ำ และได้ก่อสร้างรั้วโรงเรียนเป็นคอนกรีตคงทนถาวรสืบมาจนทุกวันนี้
คุณพ่อได้ริเริ่ม อัญเชิญพระกุมารไปอวยพระพร ตามบ้านสัตบุรุษทุกครอบครัว ภายในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน
ผลงานอีกชิ้นหนึ่งในสมัยนั้นของคุณพ่อ ก็คือดำริสร้างศาลาแม่พระ (หลังปัจุจบัน) ซึ่งคุณพ่อเห็นชอบในโครงการและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ที่ประชุมสภาวัดสมัยแรกได้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้น เพื่อหาทุนสร้างศาลาขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จด้วยดี มีผู้บริจาคกว่า 5 แสนบาท
แต่ค่าก่อสร้างเป็นเรือนล้านคุณพ่อได้เป็นธุระนำเรื่องนี้เสนอต่อพระสังฆราชมีชัย กิจบุญชู ไม่นานต่อมาพระสังฆราชก็อนุญาตก่อสร้างได้ และได้อนุมัติเงินของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จำนวน 7 แสนบาทมาสมทบ การก่อสร้างจึงแล้วเสร็จเรียบร้อย แต่คุณพ่อไม่ทันได้เห็นผลงาน เพราะคุณพ่อย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดบางเชือกหนังเสียก่อน
คุณพ่อ ยอแซฟ พิบูลย์ วิสิฐนนทชัย
คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1979-1983
คุณพ่อวิบูลย์ วิสิฐนนทชัย เป็นนักพัฒนาด้านจิตใจและด้านวัตถุ คุณพ่อเอาใจใส่ดูแลวิญญาณของสัตบุรุษอย่างใกล้ชิด คุณพ่อได้ดำเนินชีวิตของท่านเองเป็นตัวอย่างในด้านความอดทน การเสียสละ ไม่ว่าท่านจะไปทำกิจธุระ ณ ที่ใด ห่างไกลแค่ไหน คุณพ่อจะรีบกลับวัด มาถวายบูชามิสซามิได้ขาด แม้ว่าดูภายนอกคุณพ่อจะไม่สู้แข็งแรง แต่คุณพ่อก็เป็นผู้นำด้านพัฒนา ออกแรงลอกคูคลองเอง ทำความสะอาดบริเวณหมู่บ้านและบริเวณวัดแม้ว่าในสมัยของคุณพ่อมีน้ำท่วมเป็นเวลานาน คุณพ่อมิได้นิ่งดูดาย ได้ทุ่มเทพละกำลังพร้อมกับสัตบุรุษช่วยกันขนดิน ขนทราย มาทำเขื่อนกั้นน้ำมิให้ท่วมขังในหมู่บ้าน คุณพ่อยังเป็นธุระในด้านการก่อสร้างศาลาจนแล้วเสร็จเรียบร้อยทำพิธีเสกและเปิดใช้ในสมัยของท่าน ทำให้สัตบุรุษอยู่เย็นเป็นสุข มีความเงียบสงบสมกับเป็นหมู่บ้านคริสตชนตัวอย่าง
คุณพ่อ ยอห์น ไพฑูรย์ หอมจินดา
คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1983-1988
คุณพ่อไพฑูรย์ หอมจินดา เป็นพระสงฆ์หนุ่มที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความคล่องแคล่วในหน้าที่การงาน บทเทศน์ของคุณพ่อพยายามปลูกฝัง และฟื้นฟูจิตใจของลูกวัดให้เข้มแข็งในด้านความเชื่อต่อพระเป็นเจ้า รักแม่พระ พิธีกรรมต่างๆ ภายนอกอีกเป็นจำนวนมาก จัดหารูป 14 ภาคติดแทนรูปเก่า
ในสมัยคุณพ่อไพทูรย์ หอมจินดา มีผู้ช่วยหรือคุณพ่อปลัด ดังนี้คือ
1. คุณพ่อ อันดรู ศรีปราชญ์ ผิวเกลี้ยง (ปี ค.ศ. 1983-1984)
2. คุณพ่อ ยอแซฟ เสวียง ศุระศรางค์ (ปี ค.ศ. 1984-1985)
3. คุณพ่อ ฟรังซิสเซเวียร์ เดชา อาภรณ์รัตน์ (ปี ค.ศ. 1986)
4. คุณพ่อ เปโตร สุรพันธ์ ดาวพิเศษ (ปี ค.ศ. 1986-1990)
คุณพ่อ ยอแซฟ ธวัช พันธุมจินดา
คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1988
คุณพ่อธวัช พันธุมจินดา มารับตำแหน่งเจ้าอาวาสในขณะที่สุขภาพไม่เอื้ออำนวยเท่าที่ควรจึงต้องรักษาตัวอยู่นานถึง 2 เดือน แต่มีคุณพ่อสุรพันธ์ ดาวพิเศษ ซึ่งเป็นปลัดได้ทำหน้าที่ดูแลรักษาการณ์แทนอย่างเข้มแข็ง ต่อมาคุณพ่อธวัช พันธุมจินดา ได้กลับมาทำหน้าที่ตามเดิม โครงการของคุณพ่อนอกจากจะชุบชูความเชื่อของลูกวัดให้มีความมั่นคงถาวรแล้ว คุณพ่อได้พยายามลดค่านิยมของสัตบุรุษด้านภายนอกที่ฟุ่มเฟือยให้น้อยลงเพื่อความเสมอภาค และความเป็นหนึ่งเดียวของสัตบุรุษทุกคน
โครงการใหญ่ที่รออยู่คือ การบูรณะซ่อมแซมวัดครั้งใหญ่หรือสร้างใหม่ โครงการต่อเติมป่าช้า ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความคิด วันเวลา และใช้เงินจำนวนมากทั้งสิ้น การตระเตรียมงานฉลองวัด ตลอดจนจัดพิมพ์หนังสืออนุสรณ์ครบรอบ 25 ปี คุณพ่อได้สนับสนุนให้ความอนุเคราะห์อย่างเต็มที่ เพื่อให้การฉลอง 25 ปีของวัดครั้งนี้สำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย มีความสง่างาม ทั้งภายในและภายนอก ชวนให้มีความศรัทธา ก่อเกิดความรักในองค์พระเป็นเจ้าและแม่พระทวีขึ้น และนี่คือความภูมิใจและความชื่นชมของลูกวัดทุกคน
ในสมัยคุณพ่อ ยอแซฟ ธวัช พันธุมจินดา มีผู้ช่วยหรือคุณพ่อปลัด ดังนี้คือ
1. คุณพ่อ เปโตร สุรพันธ์ ดาวพิเศษ (ปี ค.ศ. 1986-1990)
2. คุณพ่อ แอนโทนี พรชัย บรัศวกุล (ปี ค.ศ. 1990-1992)
คุณพ่อเปาโล สมพร เส็งเจริญ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 1991-1994
คุณพ่อได้ริเริ่มสำรวจโรงเรียนของวัดเพื่อดำเนินการปรับปรุงและเตรียมจัดสร้างอาคารเรียนใหม่ ในสมัยคุณพ่อ เปาโล สมพร เส็งเจริญ มีผู้ช่วยหรือคุณพ่อปลัด ดังนี้คือ คุณพ่อฟรังซิสเซเวียร์ อนุรัตน์ ณ สงขลา (ปี ค.ศ. 1992-1994)
คุณพ่อแอนโทนี่ บัณฑิตย์ ประจงกิจ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 1994-1999
ในสมัยคุณพ่อแอนโทนี่ บัณฑิตย์ ประจงกิจ มีผู้ช่วยหรือคุณพ่อปลัด ดังนี้คือ
1. คุณพ่อ ยอห์น บัปติสต์ ไพโรตน์ เกตุรัตน์ (ปี ค.ศ. 1994-1995)
2. คุณพ่อ เปโตร ฉลองรัตน์ สังขรัตน์ (ปี ค.ศ. 1995-1998)
3. คุณพ่อ ยอแซฟ อนุชา ชาวแพรกน้อย (ปี ค.ศ. 1998-2000)
คุณพ่อนิโคลาส ศักดิ์ชัย ทรัพย์อัประไมย ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 1999-2000
คุณพ่อ โยเซฟ ศุภศิลป์ สุขสุศิลป์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 2000-2004
ในสมัยคุณพ่อ โยเซฟ ศุภศิลป์ สุขสุศิลป์ มีผู้ช่วยหรือคุณพ่อปลัด ดังนี้คือ
1. คุณพ่อ ยอห์น บัปติสต์ บัญชา วงษ์วุฒิพงษ์ (ปี ค.ศ. 2000-2001)
2. คุณพ่อ เปโตร วิบูรณ์ ลิขิตธรรม (ปี ค.ศ. 2001-2002)
3. บราเดอร์ ยอห์น บัปติสต์ เกรียงชัย ตรีมรรคา (ปี ค.ศ. 2002-2004)
คุณพ่อ ยอแซฟ ศุภกิจ เลิศจิตรเลขา ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 2004-2009
ในสมัยคุณพ่อ ยอแซฟ ศุภกิจ เลิศจิตรเลขา มีผู้ช่วยหรือคุณพ่อปลัด ดังนี้คือ
1. คุณพ่อ โทมัส ประทีป สุทธินาวิน (ปี ค.ศ. 2004-2009)
2. คุณพ่อ เปโตร สุทธิ ปุคะละนันท์ (ปี ค.ศ. 2006-2007)
คุณพ่อ แอนโทนี พรชัย บรัศวกุล ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ.2009-2014
คุณพ่อปิยะชาติ มะกรครรภ์ ช่วยงานอภิบาลในปี ค.ศ.2009-2010
คุณพ่ออนุชา ชาวแพรกน้อย ช่วยงานอภิบาลในปี ค.ศ. 2010-2015
ปี ค.ศ. 2012 ทางวัดได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณรอบวัด
คุณพ่อจินตศักดิ์ ยุชัยสิทธิกุล ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ.2014-2016
คุณพ่อพรศักดิ์ ชื่นจิตย์อภิรมย์ ช่วยงานอภิบาลในปี ค.ศ. 2015-2021
คุณพ่ออนุศักดิ์ กิจบำรุง ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 2016-2022
คุณพ่อวุฒิไกร ชินทร์นลัย ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 2021-2023
วันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 2017 น้ำท่วมในหมู่บ้านชุมชนรอบวัด และเข้าไปในวัดถึงบริเวณหน้าพระแท่นที่พรม เนื่องจากฝนตกหนักและน้ำในคลองสูงมาก ต้องย้ายที่ถวายมิสซาไปที่ศาลาแม่พระประมาณ 10 วัน จึงกลับมาใช้วัดได้เหมือนเดิม เหตุการณ์วันนั้นถือเป็นน้ำท่วมใหญ่ และสร้างความเสียหายกับชุมชนและวัดเป็นอย่างมาก
ต่อเติมหลังคาศาลาแม่พระ ทำหลังคาชั่วคราวที่อนุสาวรีย์แม่พระ ติดกล้องวงจรปิดในวัด, รอบวัด, ในหมู่บ้าน โครงการสวดค่ำพร้อมกันในครอบครัว เวลา 20.00 น. ในวันจันทร์-วันศุกร์
สร้างกลุ่มอภิบาลครอบครัว สภาภิบาลได้จัดทำเทปูนหน้าประตูรั้ววัด บริเวณทางรถไฟ
ปี ค.ศ. 2018 ให้สัตบุรุษได้ไปแสวงบุญ ในเขตสังฆมณฑลราชบุรี เป็นการเตรียมจิตใจเพื่อฉลอง 350 ปี มิสซังสยาม โดยไป 4 วัด ด้วยกัน 1. วัดยาโกเบ 2. วัดเพลง 3. วัดบางนกแขวก 4. วัดดอนกระเบื้อง
ปี ค.ศ. 2019 สัตบุรุษที่วัด เริ่มย้ายไปอยู่ด้านนอก เพราะวัดรกไม่สามารถเข้าถึงบริเวณวัดได้ต้องเดินไกลพอสมควร อีกทั้งทางรถไฟที่ปรับทางใหม่ เป็นอุปสรรคในการเดินข้ามโดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ที่ต้องนั่งรถเข็น ไม่สามารถมาได้ หลายคนไปเข้าวัดอื่นและผู้อาวุโสที่อยู่ในหมู่บ้านและลูกหลาน ก็เริ่มย้ายออกไปหลายครอบครัวแล้ว
ปี ค.ศ. 2020 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จึงไม่สามารถจัดมิสซาฉลองสำคัญๆได้ เป็นปีที่ไม่ได้จัดมิสซาวันฉลองปัสกา และคริสต์มาส
ปรับปรุงสุสาน และทำช่องไว้กระดูกเพิ่มเติม 92 ช่อง เนื่องจากที่บรรจุศพของวัดเต็ม และพื้นที่ของวัดมีจำกัด จึงต่อเติมช่องไว้กระดูกเพิ่มอีก 1 ชั้น ทำด้านซ้าย และขวา
ปี ค.ศ. 2021 เนื่องจากเกิดโรคระบาดรุนแรง และมีหลายคนติดโควิด -19 ไม่มีที่รองรับการรักษา (ก.ค.-ก.ย.) ทางวัดและโรงเรียนได้ใช้โรงเรียนเปิดเป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราว โดยใช้ห้องเรียนเป็นที่พัก และดูแลรักษาตามอาการ จึงทำให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัย และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
โครงการต่างๆ ของวัด ที่ต้องจัดกิจกรรม ต้องงดทั้งหมด เพราะสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงมาก จึงเปลี่ยนเป็นการนำของไปบริจาคตามบ้าน ทุกบ้าน เป็นข้าวสาร อาหารแห้ง ไข่ไก่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
สัตบุรุษบางครอบครัวเริ่มย้ายออกไปอยู่นอกชุมชนคาทอลิก เหตุผลเพราะวัดไม่มีทางเข้า-ออก ของรถยนต์ ทำให้ไม่สะดวกกับผู้สูงอายุในเวลาจะต้องไปหาหมอ
คุณพ่อธนากร เลาหบุตร ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 2022 - ปัจจุบัน
คุณพ่อสักรินทร์ ศิรบรรเทิง ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในปี ค.ศ. 2023 -ปัจจุบัน
ปี ค.ศ. 2023
ทำการเปลี่ยนแอร์วัดใหม่ ใช้ยี่ห้อHisense ส่งผลทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงมาก
องค์อุปภัมภ์ของวัด
พระรูปแม่พระที่ประดิษฐานบนบุษบกอันสง่างามองค์นี้ มีประวัติว่า คุณพ่อฮุย ได้อัญเชิญมาจากประเทศอิตาลี โดยทางเรือ และคริสตังได้อัญเชิญมาประทับที่วัดบางสะแก (วัดเรือนเตี้ย หลังที่สอง) โดยทางเรือเช่นดัน พระรูปแม่พระนี้เนื้อในเป็นดินแดงสุก เป็นพระรูปที่งดงามมาก และได้บูรณะตกแต่งทั้งองค์ 2 คารั้ง โดยได้รับความร่วมมือจากสัตบุรุษที่วัด
ความเป็นมาของรูป 14 ภาคในวัด
สมัยคุณพ่อพิบูลย์ วิสิฐนนทชัย เป็นเจ้าอาวาส มีอาจารย์ท่านหนึ่งพำนักอยู่ในหมู่บ้าน ท่านสอนหนังสืออยู่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ทับแก้ว) นครปฐม เป็นบุคลตัวอย่างที่สมควรจารึกคุณงามความดีประดับไว้ในหนังสืออนุสรณ์ 25 ปีฉลองวัด
อาจารย์เอกชัย แอสุวรรณ คือผู้ที่ผู้เขียนกล่าวขวัญถึงในขณะนี้นั่นเอง อาจารย์มีชีวิต สมถะ ท่านอุทิศเวลาว่างสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม คือหมู่บ้านนี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะวัดและโรงเรียนนับเป็นอเนกประการ
นอกเหนือจากการรับเป็นที่ปรึกษาให้แก่สภาวัด ในขณะนั้นแล้วอาจารย์ได้เสียสละเวลา สละแรงกาย แรงใจ ความคิด ทำงานช่วยเหลือวัดและโรงเรียนแทบไม่เว้นว่างมือ
คราวสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เยือนไทย อาจารย์ต้อนรับการรับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปาด้วยการเขียนรูปเหมือนพระองค์ท่าน ประดับไว้หน้าซุ้มประตูของวัด
ถึงวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาจารย์เอกชัย ก็บรรจงวาดพระบรมสาทิสลักษณ์องค์ใหญ่อย่างงดงาม ประดิษฐานไว้เหนือซุ้มประตูด้านหน้าวัดใครเดินผ่านไปผ่านมาต่างมองและชื่นชมในฝีมือกันทั้งสิ้น และที่โรงเรียนอาจารย์ก็ได้ฝากฝีมือให้ประจักษ์จนบัดนี้
เมื่อถึงวันหยุด หรือว่างงานสอนหนังสือ อาจารย์กลับมาบ้านแทนที่จะพักผ่อนอยู่กับบ้านหรือเที่ยวหย่อนใจไปในสถานที่ต่างๆ ทว่าผู้เขียนกลับเห็นอาจารย์ขลุกอยู่กับการปลูกต้นไม้ตกแต่งไม้ดอกไม้ใบ หรือไม่ก็รดน้ำพรวนดินเป็นประจำ ทำให้บริเวณหน้าวัดและด้านข้างริมคลองสะพรั่งด้วยไม้ดอกไม้ใบหลากชนิดปลูกประดับไว้เต็มเนื้อที่เพิ่มความสดสวยเด่นสง่าให้แก่วัดยิ่งขึ้น
คุณพ่อพิบูลย์ วิสิฐนนทชัย เล็งการณ์ไกลเห็นฝีมือบวกกับน้ำใจอันประเสริฐของอาจารย์ท่านจึงปรึกษากับอาจารย์เอกชัยเกี่ยวกับรูป 14 ภาค ในวัดทันที ท่านว่ารูปเก่าเล็กมากดูไม่ถนัดตา ทั้งสีก็ซีดเซียว อาจารย์จะเป็นธุระเขียนให้ใหม่ได้ไหมอาจารย์รับคำคุณพ่อด้วยความเต็มใจ แต่มีข้อแม้เพียงนิดเดียวว่า จะเขียนให้เสร็จในเร็ววันคงเป็นไปได้ยากเพราะว่าเวลาเขียนมีจำกัด จะเขียนได้เฉพาะวันหยุดงานเท่านั้น คุณพ่อพิบูลย์ ยิ้มพยักหน้าอย่างเข้าใจ พลางตอบว่าไม่เป็นไรอาจารย์เขียนอย่างสบายใจนานเท่าไรก็ได้
จากวันนั้นเป็นต้นมา อาจารย์เอกชัย แอสุวรรณ ได้อุทิศเวลาว่างในวันหยุดทุ่มเทให้กับงานเขียนภาพครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตทันที อาจารย์บรรจงวาดรูป 14 ภาค จาก 1 รูป 1 ภาค เป็น 2 รูป 2 ภาค กระทั่งครบ 14 รูป 14 ภาค อาจารย์ใช้เวลาเขียนถึง 2 ปี เต็ม ช่างอุตสาหะจริงๆ
ผลงานชิ้นยิ่งใหญ่นี้ สำเร็จลงด้วยความชื่นชมยินดีของคนรอบข้าง นับเป็นงานชิ้นโบว์แดงสดสวยแล้วมีชีวิตชีวางดงามเกินคำบรรยายเรียกว่าทรงคุณค่าคุ้มกับเวลาอย่างที่สุด
ถ้าเราจะมาคิดกันเล่นๆ ถึงค่าเขียน ค่าเสียเวลา ค่าฝีมือ หากไปจ้างศิลปินที่มีฝีมือวาดรูป 14 ภาคชุดนี้ ผู้เขียนประเมินราคาว่าคงเสียค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทเป็นแน่ ทว่าอาจารย์ไม่คิดค่าแรงเลยแม้แต่สตางค์แดงเดียว
ผู้เขียนเข้าวัดวันอาทิตย์ตอนค่ำครั้งใดเหลือบตามองรูป 14 ภาค ประดับด้วยกรอบสีทองงามอร่ามตายามแสงไฟสาดส่องสะท้อนให้เห็นประกายแวววับจับตาทุกครั้งไป ผลงานของอาจารย์จะตราตรึงอยู่ในความรู้สึกของผู้เขียนและสัตบุรุษวัดนี้ต่อไปอีกนานเท่านาน
ข้อมูล...จากหนังสืออนุสรณ์หิรัญสมโภชวัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด บางสะแก
แผนที่การเดินทาง