-
Category: ประวัติวัดในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เขต 3
-
Published on Tuesday, 08 December 2015 03:11
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 12282
วัดธรรมาสน์นักบุญเปโตร (วัดบางเชือกหนัง)
146 ถ.พุทธมณฑลสาย 1 แขวงคลองขวาง
เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร 10160
โทร.0-2865-2371 (บ้านพักพระสงฆ์)
0-2685-2373 (บ้านพักซิสเตอร์) โทรสาร 0-2865-2372
โดย คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์
ประวัติวัดธรรมาสน์นักบุญเปโตรเท่าที่ผมพยายามค้นหาตามหนังสือเก่าๆ รวมทั้งที่มีผู้รู้บางท่านได้จัดทำขึ้น ผมพบว่าในหนังสือสารคาทอลิก (Newsletter) ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1967 ได้มีผู้ที่ใช้นามปากกาว่า "ผู้ใกล้ชิด" ได้เขียนประวัติย่อของวัดนี้ไว้เป็นครั้งแรกอีก 12 ปี ต่อมาคือในปี ค.ศ. 1979 ในหนังสืออุดมศานต์ปีที่ 59 ฉบับที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1979 โอกาสสมโภช 25 ปีของวัดหลังปัจจุบันนับตั้งแต่สร้างขึ้นมาในปี ค.ศ. 1954 ก็ได้มีผู้ที่ใช้นามปากกาว่า "ลูกวัดบางเชือกหนัง" รวบรวมประวัติวัดนี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง คำนำของประวัติย่อทั้งสองนี้ได้พูดในทำนองเดียวกันว่าเอกสารในการเขียนประวัติวัดนี้ไม่มี จึงต้องอาศัยทะเบียนศีลล้างบาปบ้าง หรือไม่ก็สอบถามผู้อาวุโสของวัดบ้าง ต่อมาคุณพ่อวิกตอร์ ลาร์เก ได้พยายามรวบรวมเอกสารทั้งที่เป็นภาษาไทยและต่างประเทศ พร้อมทั้งได้ตรวจสอบทะเบียนศีลล้างบาป และนำมาเขียนประวัติย่อๆ ของวัดนี้ขึ้นในหลักฐานเล่มที่ 10 ที่มีชื่อว่าวัดต่างๆ ในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ หนึ่งในชุดหลักฐาน 10 เล่ม ที่คุณพ่อและคณะได้ทำขึ้นมา รวมทั้งได้ทำตารางบอกถึงรายชื่อพระสงฆ์ต่างๆ และระยะเวลาที่เคยมาดูแล มาประจำ และมาช่วยที่วัดนี้จนถึงสมัยที่มีเจ้าอาวาสประจำโบสถ์ ตั้งแต่องค์แรกจนถึงองค์ปัจจุบัน เมื่อผมได้ตรวจสอบประวัติทั้ง 3 ประวัตินี้แล้ว ก็พบว่ามีบางตอนที่สมควรจะเพิ่มเติม และบางตอนที่สมควรจะตัดทิ้งไป เพราะเหตุผลที่ว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง เวลาเดียวกันก็นำเอาหลักฐานเท่าที่มีมาเรียบเรียงเสียใหม่ เพื่อให้ประวัตินี้สมบูรณ์และถูกต้องมากที่สุด การสอบถามผู้อาวุโสบางท่านก็เป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตามก็คงมีบางสิ่งที่อาจผิดพลาดได้ เพราะประวัติศาสตร์ไม่อาจหวนกลับมาได้อีก ปัญหาเกิดจากการขาดการบันทึก และขาดเอกสารที่เพียงพอ ผมจึงยึดถือประวัติที่คุณพ่อลาร์เกเขียนเป็นหลัก เพราะท่านได้ใช้เอกสารเป็นแนวทางในการเขียน ผมต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าหากจะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นในประวัตินี้ โปรดสังเกตด้วยว่าในการเขียนประวัติวัดธรรมาสน์นักบุญเปโตรครั้งนี้ ผมเขียนในรูปแบบบรรยายเหตุการณ์และเรื่องราวตามลำดับเวลา ไม่ใช่เป็นการตีความหลังศึกษาประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อจะได้มีประโยชน์ในการศึกษาต่อไป ผมขอแบ่งประวัติวัดนี้ออกเป็น 2 สมัย ดังนี้
1. สมัยที่อยู่ภายใต้การดูแลของวัดอื่น
2. สมัยที่ปกครองตนเอง
1. สมัยที่อยู่ภายใต้การดูแลของวัดอื่น (ค.ศ. 1885 – ค.ศ. 1952)
คุณพ่อแดส์ซาลส์ (Desalles) เจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์ในสมัยนั้นได้เริ่มส่งคุณพ่อปลัดของวัดมาบุกเบิกกลุ่มคริสตชนที่บางเชือกนี้เป็นคนแรก จากรายงานประจำปีของพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสปี ค.ศ. 1889 หน้า 187 ได้รายงานว่า "ที่บางเชือกหนังในเขตของกรุงเทพฯ คุณพ่อแดส์ซาลส์กำลังสร้างวัดไม้ขึ้นมาหลังหนึ่ง" ซึ่งจนถึงตอนนั้นที่บางเชือกหนังมีแต่เพียงโรงสวดทำด้วยไม้ไผ่ ซึ่งแสดงว่าในระหว่างปี ค.ศ. 1885-1888 ได้มีโรงสวดไม้ไผ่อยู่แล้ว วัดหลังแรกจึงถูกสร้างขึ้นโดยคุณพ่อแดส์ซาลส์นี้เอง สร้างเสร็จใช้งานได้ในปี ค.ศ. 1890 ในระหว่างปี ค.ศ. 1888 - 1890 ปลัดวัดกาลหว่าร์อีกองค์หนึ่งได้แก่ คุณพ่อกิโยม กิ๊นดา ครู้ส พระสงฆ์ลูกครึ่งไทย-โปรตุเกส เป็นผู้มาดูแลรักษาการณ์ที่วัดนี้ เพราะเหตุว่าคุณพ่อกียู ถูกย้ายไปประจำที่วัดบางปลาสร้อย วัดหลังแรกนี้ถูกยกถวายแด่ "พระตรีเอกภาพ" วัดที่บางเชือกหนังนี้จึงได้ชื่อว่า "วัดพระตรีเอกานุภาพ" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนี้คุณพ่อแดส์ซาลส์ ยังได้สร้างบ้านพักพระสงฆ์ขึ้นมาด้วย วัดพระตรีเอกานุภาพนี้จึงอยู่ภายใต้การดูแลของวัดกาลหว่าร์ พระสงฆ์จากวัดกาลหว่าร์ก็สับเปลี่ยนกันมาดูแลวัดนี้
จนมาถึงปี ค.ศ.1902 เราทราบแต่เพียงว่ามีพระสงฆ์องค์หนึ่งชื่อ คุณพ่อยอแซฟ เป็นพระสงฆ์ชาวจีนประจำอยู่ที่นี่ เพราะเหตุว่ามีบันทึกอยู่ในประวัติของคุณพ่อดือรังด์และคุณพ่อฟูยาต์ว่า "พระคุณเจ้าเวย์ ประมุขมิสซัง ส่งท่านไปที่วัดแม่พระลูกประคำ เพื่อเรียนภาษาจีนแคระพร้อมกับคุณพ่อฟูยาต์ เจ้าอาวาสส่งท่านทั้งสองไปอยู่วัดสาขาที่บางเชือกหนัง คุณพ่อยอแซฟ พระสงฆ์ชาวจีน เป็นอาจารย์สอนท่าน"
เราไม่ทราบว่าคุณพ่อยอแซฟผู้นี้เป็นใคร เพราะไม่มีที่ใดบันทึกเรื่องราวของท่านมากไปกว่านี้แต่ท่านคงได้ประจำอยู่ที่วัดนี้ เพราะต้องดูแลสัตบุรุษชาวจีนที่อาศัยอยู่ที่บางเชือกหนัง ระหว่างที่คุณพ่อฟูยาต์และคุณพ่อดือรังด์มาเรียนภาษาจีนที่วัดบางเชือกหนัง ก็ได้ช่วยงานที่วัดนี้ไปด้วย อย่างไรก็ตามคุณพ่อทั้งสองก็ได้อยู่เรียนภาษาจีนที่นี่เพียง 1 ปี เพราะในปี ค.ศ. 1903 คุณพ่อฟูยาต์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์ และคุณพ่อดือรังด์ไปเป็นปลัดวัดเพลง
ในระหว่างปี ค.ศ.1907-1910 คุณพ่อเอเตียน หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า แอสเตวัง เหวี้ยน โชติผล เป็นพระสงฆ์จากจันทบุรี ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดวัดกาลหว่าร์และเป็นผู้ดูแลวัดบางเชือกหนังและวัดหัวตะเข้ คุณพ่อจึงเดินทางไปๆ มาๆ เพื่อดูแลทั้ง 2 วัดนี้ และตั้งแต่ปี ค.ศ. 1910 จนถึงปี ค.ศ. 1912 คุณพ่อเอเตียนได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ดูแลประจำที่วัดบางเชือกหนัง เราจะพบว่าบัญชีศีลล้างบาปของวัดบางเชือกหนังนี้เริ่มต้นในสมัยของคุณพ่อผู้นี้ในปี ค.ศ. 1910
การมาประจำอยู่ที่วัดเช่นนี้ ยังมิใช่หมายความว่าวัดบางเชือกหนังเป็นอิสระจากวัดกาลหว่าร์ เพราะยังคงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของวัดกาลหว่าร์อยู่ดี ในระหว่างนี้เองคุณพ่อเอเตียน ก็มีพระสงฆ์ผู้ช่วยองค์หนึ่งอยู่ด้วย ได้แก่ คุณพ่อดาเนียลองค์เก่า มาอยู่ช่วยในฐานะปลัด ในปี ค.ศ. 1912 คุณพ่อเอเตียนได้รับมอบหมายให้ไปแพร่ธรรมที่โคราช คุณพ่อดาเนียลจึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลวัดนี้ประจำต่อไป โดยมีคุณพ่อแบลามี (Bellamy) เป็นผู้ช่วย ซึ่งคุณพ่อแบลามีก็อยู่ช่วยได้เพียงไม่กี่เดือนก็ต้องย้ายไปช่วยดูแลวัดปากลัด และเนื่องจากการแพร่พระวรสารสมัยนั้นกำลังขยายตัวออกอย่างรวดเร็วพระสงฆ์มิชชันนารี และพระสงฆ์พื้นเมืองก็มีไม่เพียงพอ ในระหว่างปี ค.ศ. 1916 และ ปี ค.ศ. 1917 คุณพ่อดาเนียลก็ต้องไปช่วยงานที่วัดปากลัดและวัดปากน้ำด้วย
ดังที่กล่าวแล้ว เนื่องจากงานแพร่ธรรมมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามสถานที่ต่างๆ ขาดแคลนพระสงฆ์ที่จะไปทำงาน คุณพ่อดาเนียลเองก็ต้องไปทำงานที่อื่น ดังนั้นในระหว่างปี ค.ศ. 1917-1918 คุณพ่อกียูซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์ จึงต้องเป็นผู้มาดูแลวัดบางเชือกหนังนี้ด้วยตนเอง ในระหว่างระยะเวลานี้เองที่สงครามโลกครั้งที่1 ได้เกิดขึ้นในภาคพื้นยุโรป บรรดามิชชันนารีหลายองค์จำต้องกลับประเทศฝรั่งเศส เพื่อช่วยเหลือประเทศชาติตามกฎ หมายของเขา เหตุนี้เองงานแพร่ธรรมในประเทศสยามจึงมีความยากลำบากมากขึ้นเป็นหลายเท่าหลังจากที่พวกมิชชันนารีฝรั่งเศสเข้าเกณฑ์ทำสงครามกลับมาแล้ว วัดคอนเซปชัญก็ยังขาดเจ้าอาวาส คุณพ่อกาบริแอล-อัลฟรองซ์ ฮุย (Houille) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดคอนเซป ชัญ โดยพ่วงวัดบางเชือกหนังเข้าไปด้วย ในประวัติของคุณพ่อฮุยซึ่งจัดทำขึ้นโดยคณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศเขียนไว้ว่า "กลุ่มคริสตังนี้อยู่ริมคลอง ห่างจากเมืองหลวงไม่กี่กิโลเมตร ดังนั้น ท่าน (คุณพ่อฮุย) จึงเป็นเจ้าอาวาสในเมืองบ้าง เจ้าอาวาสในชนบทบ้าง ท่านรู้สึกชอบบางเชือกหนังมากกว่า เพราะทำให้ท่านคิดถึงวัดหวายเหนียวของท่านในสมัยก่อน ท่านรู้สึกสบายใจอยู่กับชาวชนบทมากกว่าอยู่กับชาวเมือง ซึ่งหลายคนมีตำแหน่งสำคัญที่ต้องทำงานถึงในพระราชสำนักของพระเจ้าแผ่นดินสยาม"
ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างวัดบางเชือกหนัง และวัดคอนเซปชัญเป็นครั้งแรก แต่ก็ยังไม่ได้หมายความว่าวัดบางเชือกหนังอยู่ภายใต้การดูแลของวัดคอนเซปชัญอย่างเด็ดขาด ดังจะเห็นต่อไป คุณพ่อฮุยได้ดูแลวัดบางเชือกหนังเป็นเวลานานถึง 10 ปี จะสังเกตได้ว่าระยะเวลาที่ผ่านมานั้น พระสงฆ์ที่มาดูแลวัดบางเชือกหนังจะดูแลอยู่ได้นานเพียง 2-3 เดือน หรืออย่างมากก็ 2-3 ปี มีเพียงคุณพ่อดาเนียลองค์เก่าเท่านั้นที่อยู่นานถึง 5 ปี ด้วยเหตุนี้เองตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่บางเชือกหนัง คุณพ่อฮุยได้สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่วัดบางเชือกหนังมิใช่น้อยเลย
นอกจากดูแลวัดและอภิบาลสัตบุรุษเป็นอย่างดีแล้ว ท่านเห็นว่าจำนวนเด็กๆ ในหมู่บ้านทวีมากขึ้นเรื่อยๆ การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ท่านจึงได้สร้างโรงเรียนขึ้นหลังหนึ่ง และตั้งชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนพระตรีเอกานุภาพ" สอนถึงชั้นประถม โรงเรียนหลังนี้พระสังฆราชเรอเนแปร์รอส ได้ทำพิธีเสกในโอกาสที่มาโปรดศีลกำลัง คุณพ่อฮุยดูแลวัดบางเชือกหนังตั้งแต่ปี ค.ศ. 1918-1928 ความรู้ทางด้านภาษาไทยและการเทศน์ของท่านมีชื่อเสียงไปทั่ว ท่านป่วยด้วยโรคหัวใจ และสิ้นใจที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ในวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1928 หลังจากที่พระได้ยกคุณพ่อฮุยไปแล้ว คุณพ่อกียูและคุณพ่อยออากิม เทพวันท์ ประกอบกิจ ซึ่งเป็นปลัดอยู่ที่วัดกาลหว่าร์ ก็ผลัดกันมาดูแลวัดบางเชือกหนังเป็นเวลา 1 ปี คุณพ่อยออากิมผู้นี้ยังต้องไปช่วยดูแลวัดหัวตะเข้และวัดท่าจีนด้วย ในที่สุดพระคุณเจ้าแปร์รอสก็ได้แต่งตั้งคุณพ่อปาสกัล (ฟิลิป ลิฟ) เป็นผู้มาดูแลประจำที่วัดบางเชือกหนัง โดยย้ายมาจากวัดโคกวัด จะสังเกตเห็นว่าการมาดูแลวัด บางเชือกหนังครั้งนี้ค่อนข้างจะเป็นอิสระจากวัดกาลหว่าร์ แต่ขณะเดียวกันก็มาขึ้นอยู่กับวัดซางตาครู้สแทน ตอนนั้นคุณพ่อกิ๊น ดาครู้ส ซึ่งเคยดูแลวัดบางเชือกหนังมาก่อนเป็นเจ้าอาวาสอยู่ ท่านก็สนับสนุนงานของคุณพ่อปาสกัลเป็นอย่างดี ในปี ค.ศ. 1933 คุณพ่อปาสกัลล้มป่วยบ่อยครั้ง จนไม่สามารถทำหน้าที่ได้
ในช่วงเวลาสั้นๆ นี้เอง ที่วัดบางเชือกหนังได้รับเกียรติที่มีคุณพ่อผู้ศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งคือ คุณพ่อนิโคลาส ชุนกิม กฤษบำรุง หรือ บุญเกิด กฤษบำรุง มาดูแลแทนคุณพ่อปาสกัล ประจวบเหมาะกับในปี ค.ศ. 1933 นี้เอง สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 11 ได้ประกาศให้เป็นปีศักดิ์สิทธิ์ มอบพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์แก่คริสตังทั่วโลก ในสมัยนั้นยังคงเรียกว่าพระคุณยูบีเลว คริสตังวัดบางเชือกหนังจึงได้รับพระคุณนี้ด้วยความเอาใจใส่ของคุณพ่อนิโคลาส แต่คุณพ่อนิโคลาสก็ไม่สามารถอยู่ดูแลวัดนี้ได้นานนัก เนื่องจากคุณพ่อต้องรับผิดชอบงานแพร่ธรรมทางเชียงใหม่และลำปาง คุณพ่อปาสกัลเสียชีวิตต่อมาอีก 2 ปีคือในปี ค.ศ. 1935
ในสมัยนั้นวัดกาลหว่าร์มีขอบเขตในการดูแล มีความรับผิดชอบต่อวัดหลายๆ วัดด้วย กัน แต่จำนวนพระสงฆ์นั้นมีไม่เพียงพอ ประกอบกับวัดบางเชือกหนังก็เคยอยู่ภายใต้การเอาใจใส่ของวัดคอนเซปชัญมาก่อน พระคุณเจ้าแปร์รอสจึงมอบวัดบางเชือกหนังให้อยู่ภายใต้การดูแลของวัดคอนเซปชัญ ดังนั้นต่อจากคุณพ่อปาสกัล คุณพ่ออังเดร พลอย โรจนเสน ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดคอนเซปชัญ ก็เป็นผู้มาดูแลวัดนี้ ในระยะนี้เองที่การปกครองวัดนี้ค่อนข้างจะหละหลวม เพราะเหตุว่าคุณพ่ออังเดร พลอย มีงานมาก คุณพ่อจึงต้องส่งปลัดของท่านมาช่วยดูแล จะเห็นว่าในปี ค.ศ. 1935 นี้เอง มีคุณพ่อถึง 4 องค์ ผลัดกันมาดูแลวัดบางเชือกหนังนี้ ได้แก่ คุณพ่อเฟรเดริก วิศิษฏ์ อุ่น จิตต์ชอบค้า, คุณพ่ออัมบรอซิโอ กิ๊น มิลลุกูล หรือที่เรียกกันว่าพ่อเตี้ย, คุณพ่อเซแลสติโน และคุณพ่อราฟาแอล บุญมี รักสงบ การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้คงไม่ดีแน่สำหรับสัตบุรุษบางเชือกหนัง ดังนั้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1935 ทางมิสซังจึงแต่งตั้ง คุณพ่อเฟรเดริก อุ่น จิตต์ชอบค้า ซึ่งเวลานั้นอยู่ที่วัดคอนเซปชัญให้เป็นผู้ดูแลประจำที่วัดบางเชือกหนัง คุณพ่อเฟรเดริก อุ่น อยู่ประจำที่วัดนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1935 จนถึงปี ค.ศ. 1951 รวมทั้งสิ้น 16 ปี นับเป็นพระสงฆ์ที่อยู่ประจำที่วัดนี้นานที่สุด คุณพ่อได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนของวัดใหม่ให้ชื่อว่า "โรงเรียนตรีจิตวิทยา" สอนทั้งภาษาไทยและจีนโดยมีนายจอก จิตต์ชอบค้า เป็นผู้จัดการ และนายสง่า เอกบุสย์ เป็นครูใหญ่ ในสมัยของคุณพ่อเฟรเดริก อุ่น นี้เอง ทางวัดบางเชือกหนังได้มีโอกาสสมโภชวัดครบรอบ 50 ปี ในปี ค.ศ. 1940 จากการสอบถามผู้อาวุโสของวัด เราทราบว่ามีการจัดงานใหญ่โตมาก มีทั้งการแสดงและการละเล่นต่างๆ เป็นที่จดจำของทุกคนที่มาร่วมฉลอง มีน้อยคนแล้วที่ยังคงมีชีวิตอยู่เพื่อที่จะร่วมสมโภชวัดโอกาสครบรอบ 100 ปี
เนื่องจากสุขภาพของคุณพ่อเฟรเดริก อุ่น ไม่แข็งแรง ป่วยบ่อยๆ ในระหว่างปี ค.ศ. 1948-1949 คุณพ่อมาร์แซล จงสวัสดิ์ อารีอร่าม อาวาสวัดคอนเซปชัญเวลานั้น จึงมาช่วยงานที่วัดบางเชือกหนัง นอกจากนี้ในระหว่างเดือนมีนาคมจนถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1951 คุณพ่อเฟรเดริกก็ล้มป่วยลงอีก คุณพ่อบอนิฟาสจึงมารักษาการณ์แทน
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1951 พระสังฆราชหลุยส์ โชแรง ประมุขมิสซัง ได้สั่งให้ปิดวัดบางเชือกหนัง จะเป็นด้วยเหตุผลประการใดนั้น ไม่ปรากฏในหลักฐานแน่ชัด ในประวัติวัดธรรมาสน์นักบุญเปโตรที่คุณพ่อลาร์เกเขียน ได้ให้ข้อสันนิษฐานไว้ว่า คงจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับที่ดินของวัด เป็นอันว่าวัดบางเชือกหนังนี้ไม่อาจใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนพิธีกรรม พร้อมทั้งไม่มีพระสงฆ์มาประจำด้วยเป็นเวลา 2 เดือน แค่นี้ก็อาจเป็นเครื่องหมายที่ดีสำหรับสัตบุรุษวัดบางเชือกหนังด้วย พระญาณสอดส่องของพระได้จัดเตรียมสิ่งที่ดีกว่าเสมอสำหรับผู้ที่รักพระองค์ เพราะจุดนี้เอง นับเป็นจุดเริ่มต้นของสมัยที่สองของวัด นั่นคือสมัยที่วัดนี้จะปกครองตนเองโดยไม่ขึ้นกับวัดใดอีกต่อไป.
2. สมัยปกครองตนเอง (ค.ศ. 1952-ปัจจุบัน)
เราอาจพูดได้ว่าสมัยนี้เป็นสมัยของการเปลี่ยนแปลง เพราะเหตุว่าในมิสซังกรุงเทพฯ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่หลายประการด้วยกัน ฯพณฯโชแรง เป็นประมุขมิสซังสืบต่อจาก ฯพณฯ แปร์รอส ตั้งแต่ปี ค.ศ.1947 ประกอบกับในมิสซังมีวัดต่างๆ มาก รวมทั้งมีมิชชันนารีและพระสงฆ์พื้นเมืองเพิ่มขึ้นมามากพอสมควร การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นับว่าเป็นผลดีต่อพระศาสนาจักรทั้งสิ้น รวมทั้งเป็นผลดีต่อวัดบางเชือกหนังด้วย
หลังจากวัดถูกปิดมาเป็นเวลา 2 เดือนในปี ค.ศ. 1951 ฯพณฯ โชแรง เห็นว่าถึงเวลาอันสมควรที่จะต้องเปิดวัดเพื่อเห็นแก่ความเชื่อของสัตบุรุษวัดนี้ จึงได้แต่งตั้งคุณพ่อวิกตอร์ลาร์เก ให้มาเปิดวัดพร้อมทั้งเตรียมต้อนรับเจ้าวัดใหม่ด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ฯพณฯ โชแรง มิใช่เพียงแต่เล็งเห็นว่าถึงเวลาจะเปิดวัดใหม่เท่านั้น แต่ยังสมควรยกระดับวัดนี้ให้อยู่ในฐานะปกครองตนเอง โดยมีเจ้าอาวาสของตนเอง และไม่ต้องขึ้นหรือพึ่งพาความช่วยเหลือจากวัดใดวัดหนึ่งอีกต่อไปด้วย
คุณพ่อลาร์เก มาเตรียมตัวต้อนรับเจ้าวัดใหม่ที่บางเชือกหนังประมาณ 3 เดือนในระหว่างระยะเวลาอันสั้นนี้ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1951 ได้มีการทำพระคุณยูบีเลวที่วัดบางเชือกหนัง เช่นเดียวกับที่วัดอื่นๆ ในสมัยนั้น คุณพ่อลาร์เกและคุณพ่ออาแมสตอย ได้เป็นผู้เทศน์ในการทำพระคุณยูบีเลวครั้งนี้ ตลอดเวลา 4 วัน ทั้งเช้าและค่ำ วัดเนืองแน่นไปด้วยสัตบุรุษซึ่งมาฟังเทศน์และสวดภาวนาให้คนบาปกลับใจ เช้าวันอาทิตย์ได้มีสัตบุรุษมารับศีลมหาสนิทเป็นจำนวนถึง 400 คน ในหนังสือสารสาสน์ ฉบับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1952 หน้า 78 ได้บรรยายเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียด พร้อมทั้งได้ลงรูปถ่ายที่น่าสนใจมากไว้ด้วย เวลาเย็นของวันอาทิตย์นั้นเอง ทุกคนต่างปลื้มปิติยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อพระรูปแม่พระฟาติมาเสด็จมาถึงเวลาตอนเย็น ทำให้ทุกคนตื่นเต้นอย่างถึงขนาดสัตบุรุษได้พร้อมใจกันอดนอนสวดภาวนาตลอดทั้งคืน รุ่งขึ้นวันจันทร์เวลา 9.00 น. เรือลำหนึ่งได้มาเทียบท่าหน้าวัด นำพระสงฆ์มาจนเต็มลำเรือ แล้วจึงเริ่มมิสซาขับเป็นมิสซาโมทนาพระคุณ วัดบางเชือกหนังเล็กเกินไปสำหรับผู้คนที่มาวัดในวันนั้น บางเชือกหนังกลับสงบเงียบตามเดิมเมื่อพระรูปแม่พระฟาติมาเสด็จกลับแล้ว นับเป็นเกียรติประวัติและเป็นบุญของชาวบางเชือกหนัง ที่ได้มีโอกาสต้อนรับแม่พระฟาติมาอย่างใกล้ชิดในครั้งนั้น
ความศรัทธาอย่างแรงกล้าของสัตบุรุษบางเชือกหนังเช่นนี้เอง คงทำให้พระสังฆราชโชแรง เห็นสมควรที่จะให้วัดนี้ปกครองตนเองเสียที ในที่สุดในเดือนมกราคม ค.ศ. 1952 คุณพ่อลาร์เกและสัตบุรุษบางเชือกหนัง จึงได้จัดพิธีต้อนรับคุณพ่อเจ้าอาวาสองค์แรกอย่างเป็นทางการขึ้นได้แก่ คุณพ่อวิลเลียม ตัน ซึ่งเป็นพระสงฆ์พื้นเมือง และจบการศึกษามาจากกรุงโรม แต่เป็นที่น่าเสียใจที่คุณพ่ออยู่กับชาวบางเชือกหนังเป็นเวลาเพียง 1 ปีครึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตามงานที่คุณพ่อได้ทำไว้ที่วัดนี้มิได้น้อยเหมือนกับเวลาเลย
งานแรกที่คุณพ่อวิลเลียมทำได้แก่ ต่อระเบียงวัดสองข้าง ปรับปรุงภายในวัดให้สวยงาม ที่หน้าวัดมีสะพานข้ามคลอง เป็นสะพานไม้อยู่ในสภาพทรุดโทรม คุณพ่อจึงบอกบุญชาวบ้านท่านได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี แม้จากคนต่างศาสนาก็ให้ความร่วมมือ คุณจุลศิริ กาญจนพิบูลย์ สมาชิกสภาตำบลในขณะนั้น กับคุณโปกั๊ก แซ่ลี้ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการบอกบุญครั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ภายในปีแรกที่คุณพ่อวิลเลียมอยู่ที่นี่ ก็มีงานฉลองเปิดสะพานใหม่กันอย่างมโหฬาร ทราบว่าคุณพ่อองค์หนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนเก่าของคุณพ่อวิลเลียม ได้ส่งภาพยนตร์เรื่องโคว-วา-ดีส ฉายในงาน
นอกจากนี้ คุณพ่อวิลเลียม ยังได้สร้างโรงเรียนเพิ่มอีกหลังหนึ่ง เพราะมีเด็กเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คุณพ่อได้ส่งเสริมการเลี้ยงไก่เลี้ยงหมู ทั้งยังได้เลี้ยงเป็นแบบอย่างด้วย และแล้วในเดือนกันยายน ค.ศ. 1953 คุณพ่อก็ต้องย้ายไปรับหน้าที่ใหม่ที่วัดอัสสัมชัญ ในขณะที่วัดบางเชือกหนังได้มีคุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ที่ 2 ได้แก่ คุณพ่อยัง ปืแอร์ เปรดาญ (Prdagne) มิชชันนารีหนุ่มจากคณะสงฆ์ M.E.P. โครงการที่สำคัญโครงการหนึ่งของคุณพ่อวิลเลียม ตัน ได้แก่ โครงการสร้างวัดใหม่แทนวัดหลังเก่าที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ความดำริของคุณพ่อวิลเลียม ตัน ถูกทำให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาในสมัยของคุณพ่อเปรดาญนี้เอง
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้คุณพ่อเปรดาญจะเป็นสงฆ์มิชชันนารีใหม่ เพิ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ประสบการณ์ในประเทศไทยยังมีน้อยแต่ก็ได้รับการแต่งตั้งมาปกครองดูแลวัดเก่าแก่ ซึ่งคงต้องมีการงานมากพอสมควรโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับที่ดิน คุณพ่อคงต้องใช้ความกล้าหาญมิใช่น้อยที่เมื่อมาถึงวัดบางเชือกหนัง คุณพ่อก็เริ่มวางแผนสร้างวัดใหม่ทันที เราทราบจากการดูระยะเวลาที่คุณพ่อเริ่มมาประจำที่วัดบางเชือกหนัง ซึ่งได้แก่เดือนตุลาคม ค.ศ. 1953 และระยะเวลาที่ใช้ในการสร้างวัดใหม่นี้ซึ่งใช้เวลาทั้งสิ้น 1 ปี นั่นหมายความว่าวัดหลังใหม่สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1954 คุณพ่อเปรดาญพร้อมกับผู้หลักผู้ใหญ่ของวัดหลายคน ได้ร่วมมือร่วมใจกันอย่างเต็มที่ต้องเดินทางบ่อยๆ ทั้งเข้ามาที่ศูนย์กลางของมิสซัง ทั้งต้องสืบเสาะหาซื้อไม้ในราคาถูกๆ ซึ่งบังเอิญผู้หลักผู้ใหญ่บางคนของวัดรู้จักกับเจ้าของโรงไม้อรัญประเทศ คุณพ่อจึงไปซื้อไม้ถึงที่นั่น บรรทุกเรือมากรุงเทพฯ หลังตรุษจีนปี ค.ศ. 1953 ก็ลงมือขุดหลุมตีเข็มวัดใหม่ การสร้างวัดใหม่ครั้งนี้ คุณพ่อเปรดาญได้ดำเนินงานอย่างรอบคอบ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง ทั้งจากพวกพระสงฆ์ด้วยกันที่ให้คำปรึกษาหารือ ทั้งจากสัตบุรุษชาวบางเชือกหนังเองที่ออกกำลังกายกำลังทรัพย์ช่วยกัน ก๋งบัวผู้เป็นบิดาของพระสังฆราชมิแชล มงคล ประคองจิต ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างวัดโดยตลอด สิ้นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างวัดนี้ประมาณ 130,000 บาท ไม่นับค่าอาหาร ค่าแรง เพราะไม่เสีย เนื่องจากสัตบุรุษบางเชือกหนังร่วมมือร่วมใจกันดังกล่าวแล้ว การสร้างวัดใหม่นี้ใช้เวลาทั้งสิ้นในการก่อสร้างประมาณ 10 เดือน ก็แล้วเสร็จ และเพื่อเป็นเกียรติแด่คุณพ่อผู้ซึ่งมีนามนักบุญเปโตร วัดนี้จึงได้รับชื่อใหม่ว่าวัดนักบุญเปโตร แต่เพื่อมิให้ชื่อไปซ้ำซ้อนกับชื่อของวัดอื่นที่มีนามนักบุญเปโตร จึงยกถวายแด่นักบุญ เปโตรนั่งบัลลังก์ นามวัดใหม่จึงเป็น "วัดธรรมาสน์นักบุญเปโตร" ซึ่งก็เป็นโอกาสเหมาะทีเดียว เพราะการฉลองธรรมาสน์นักบุญเปโตรตรงกับวันที่ 18 มกราคม ของทุกปีอยู่แล้วการเสกวัดใหม่และการโปรดศีลกำลังจึงถูกกำหนดขึ้นเป็นวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1955 สารสาสน์เดือนมีนาคม ค.ศ. 1955 ได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการฉลองและเสกวัดคราวนี้ไว้อีกว่า "นอกจากบรรดาสัตบุรุษช่วยกันบริจาคแล้ว ชาวพระนครหลายท่านที่เคยหลบภัยสงครามไปอยู่บางเชือกหนัง ก็ได้ช่วยกันสมทบทุน" และการเปลี่ยนชื่อวัดใหม่จากวัดพระตรีเอกานุภาพ มาเป็นวัดธรรมาสน์นักบุญเปโตรนี้ก็เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะปกติวันฉลองพระตรีเอกานุภาพตกเป็นวันสิ้นกำหนดปาสกา พระสงฆ์จะไปร่วมฉลองต่างก็ติดภาระที่วัดของตน อนึ่งในฤดูนั้นน้ำในคลองมีน้อย เรือเข้าออกไม่สะดวก การคมนาคมทางอื่นก็ยังไม่มี
นอกจากนี้เรายังทราบว่าในปีที่เสกวัดใหม่นี้มีสัตบุรุษอยู่ราว 800 คน เนื่องในโอกาสเสกวัดใหม่ครั้งนั้น มีความหมายต่อสัตบุรุษชาวบางเชือกหนังเป็นอย่างยิ่ง เพราะวัดนี้มาจากน้ำพักน้ำแรงของชาวบางเชือกหนังโดยแท้ ผมจึงขอนำรายละเอียดมากล่าวไว้ ณ ที่นี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำสืบต่อไป ก่อนการฉลองวัดก็มีพระสงฆ์หลายองค์ล่วงหน้าไปช่วยเตรียมสัตบุรุษ เช่น ในการเทศน์เข้าเงียบ และฟังแก้บาป เช้าวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1955 ทางวัดจัดเรือไปรับ ฯพณฯ พระสังฆราชหลุยส์ โชแรง ที่ท่าน้ำหน้าวัดอัสสัมชัญ มีพระสงฆ์และสัตบุรุษติดตามไปด้วยหลายท่าน วงดนตรีของโรงเรียนอัสสัมชัญก็ได้ไปร่วมส่งเสริมงานมหกรรมนี้ด้วย พอถึงหน้าวัดกาลหว่าร์ก็ได้หยุดรับพระสงฆ์และสัตบุรุษสมทบขบวนอีกพวกหนึ่ง ในจำนวนพระสงฆ์ที่ไป มีองค์หนึ่งที่น่าสังเกตคือคุณพ่อตาปี เพราะท่านเพิ่งจะไปบางเชือกหนังเป็นครั้งแรก ทั้งๆ ที่ท่านก็ได้ฉลองสุวรรณสมโภชแล้ว เรือแล่นเรื่อยไปจนถึงวัดอรุณฯ แล้วเลี้ยวเข้าคลองบ่ายหน้าไปสู่จุดหมาย เวลา 8.15 น. ได้ยินเสียงกลองระฆังดังขรม ที่ท่าน้ำหน้าวัดมีเจ้าอาวาส พระสงฆ์ และสัตบุรุษ มารอรับพระสังฆราชอยู่เนืองแน่น ต่างฝ่ายต่างแสดงความปลาบปลื้มจนเห็นได้ถนัดชัดเจนจากใบหน้า แลไปก็เห็นวัดใหม่สวยงามตระหง่าน เห็นวัดไม้เทรากคอนกรีต หลังคามุงกระเบื้องสีเขียว ต่างคนต่างชมความมานะพยายามของ คุณพ่อเจ้าอาวาส และสัตบุรุษวัดบางเชือกหนังที่ทำงานชิ้นนี้เป็นผลสำเร็จ เวลา 8.30 น. พระสังฆราช หลุยส์ โชแรง เริ่มพิธีเสกวัด สัตบุรุษชุมนุมสวดที่หน้าวัด เสกแล้วแห่รอบวัด พระสังฆราช หลุยส์ โชแรง ถวายมิสซามโหฬาร โดยมีคุณพ่อตาปี คุณพ่อวิลเลียม และ คุณพ่อบริสซองเป็นผู้ช่วย คริสตังค์ทุกคนช่วยกันขับร้องสุดความสามารถ แต่เสียงที่แหลมกว่าใครคือเสียงคุณพ่ออาแมสตอย และคุณพ่อซัลดือเบแฮร์ แห่งวัดกาลหว่าร์ทั้งสององค์ คุณพ่อบุญไทยแสดงพระธรรมเทศนาอย่างจับใจทั้งภาษาจีนและภาษาไทย เสร็จพิธีในวัดแล้ว วงดนตรีก็เริ่มบรรเลงอย่างสุดฝีไม้ลายมือ ทั้งสัตบุรุษและแขกต่างวัดต่างจับกลุ่มฟังด้วยความเพลิดเพลิน ต่างชมเชยศิลป์ของผู้เล่นที่พยายามใช้ศิลป์นั้นมาส่งเสริมงานของพระเป็นเจ้า
ตอนบ่ายเริ่มพิธีด้วยการโปรดศีลกำลังและอวยพรตามปกติ แล้วก็ถึงพิธีแห่พระสังฆราช หลุยส์ โชแรง เป็นประธานในขบวน วงแตรบรรเลงเพลงคริสตังค์นำขบวน ยังความปลาบปลื้มเป็นล้นพ้นแก่ผู้ที่เข้าร่วมขบวนแห่และชาวบ้านที่มาชม เวลา 16.30 น. บรรดาแขกผู้มีเกียรติต่างก็ทยอยกันกลับด้วยความอาลัย วงแตรได้ถือโอกาสบรรเลงเพลงต่างๆ ระหว่างขากลับด้วยไม่มีใครจะเชื่อเลยว่าคุณพ่อเปรดาญ ได้รับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ โดยคุณหมอ Girod เพียงไม่กี่วันก่อนวันฉลองอันสำคัญนี้ (Trait D'Union ปี ค.ศ. 1955, หน้า 48)
งานฉลองวัดปีต่อมาคือปี ค.ศ. 1956 วัดธรรมาสน์นักบุญเปโตรก็ได้รับเกียรติเป็นพิเศษ เพราะว่า ฯพณฯ บาเยต์ ประมุขแห่งมิสซังอุบลฯ เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เพื่อเตรียมตัวไปประชุมเคารพศีลมหาสนิทที่ประเทศพม่า พร้อมกับพระสงฆ์อีกหลายองค์ ได้ถือโอกาสมาร่วมฉลองวัดบางเชือกหนังด้วย ฯพณฯ ได้เป็นประธานในพิธีรื้อฟื้นคำปฏิญาณแห่งศีลล้างบาปของผู้รับศีลสง่า และเป็นประธานการอวยพรศีลมหาสนิท และพิธีแห่พระรูปองค์อุปถัมภ์ นำความปลาบปลื้มมาสู่คุณพ่อเจ้าอาวาสและสัตบุรุษโดยมิได้คาดฝันเลย (สารสาสน์ ฉบับที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1956)
หลังจากสร้างวัดเสร็จได้เพียง 2 ปีเศษ คุณพ่อเปรดาญก็สามารถสร้างบ้านพักพระสงฆ์เสร็จอีก ในหนังสือ Trait D'Union ปี ค.ศ. 1957 หน้า 136 ได้กล่าวชมเชยคุณพ่อเปรดาญว่า "บ้านพักพระสงฆ์หลังนี้มีความสวยงามมาก" บ้านพักพระสงฆ์หลังเดิมเก่าแก่มาก คุณพ่อจึงสร้างใหม่โดยย้ายจากที่เดิมมาสร้างไว้หลังวัดใหม่ สิ้นค่าใช้จ่าย 40,000 บาท มุงกระเบื้องฟูกสีขาว เป็นบ้านสองชั้นมีมุขด้านหน้า แต่การก่อสร้างของคุณพ่อมิได้หยุดแต่เพียงเท่านี้ คุณพ่อยังมองโรงเรียนด้วยความห่วงใย เพราะมีผู้ปกครองซึ่งเป็นคนต่างศาสนา ขอฝากลูกเข้าเรียนในโรงเรียนของวัดมากขึ้น ดังนั้นคุณพ่อจึงได้จัดสร้างโรงเรียน 2 ชั้น ยาว 24 เมตร กว้าง 9 เมตร โดยใช้ไม้และวัสดุจากวัดเก่าและซื้อเพิ่มเติมบางส่วน คุณพ่อยังได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนตรีจิตวิทยา เป็นโรงเรียนตรีมิตวิทยา นอกจากนั้นคุณพ่อยังสร้างห้องให้ครูพักโดยไม่เสียค่าเช่า เป็นการช่วยสวัสดิการแก่ครูด้วย คุณพ่อเปรดาญได้ทำงานมากมายให้แก่วัดบางเชือกหนัง คุณพ่อประจำอยู่ที่วัดนี้จนถึงปี ค.ศ. 1959 เพราะราวๆ ต้นปีนี้เองคือในเดือนมกราคม ค.ศ. 1959 คุณพ่อก็เดินทางกลับประเทศฝรั่งเศส
คุณพ่อลออ สังขรัตน์ ย้ายจากวัดนักบุญเทเรซา หนองจอก มารับหน้าที่เจ้าอาวาสแทนงานชิ้นแรกของคุณพ่อก็คือทำม้านั่งในวัด แล้วติดพัดลมในวัดเพื่อให้บรรยากาศในวัด ช่วยให้ผู้มาวัดสำรวมใจง่ายขึ้น บริเวณติดกับวัดด้านตะวันตกเป็นที่ฝังศพ (ป่าช้า) แลดูเกะกะตา คุณพ่อจึงเริ่มขุดกระดูกในเดือนมีนาคม ค.ศ.1960 แล้วเสร็จในปีรุ่งขึ้น ขุดกระดูกคราวนี้ต้องเสียค่าใช้จ่าย ปัญหานี้กรรมการของวัดก็วิตกอยู่ไม่น้อย พอมีข่าวว่าทางวัดจะขุดกระดูกย้ายไปไว้ในซองที่สร้างใหม่ ก็มีสัปเหร่อจริงและสัปเหร่อกิตติมศักดิ์มาเสนอราคาเป็นการใหญ่ มีตั้งแต่หลุมละ 200 บาท 100 บาท ลงไปถึง 70 บาท เป็นขั้นต่ำ แต่ปัญหาหนักใจผ่านไปด้วยดี เนื่องจากชาวบางเชือกหนังชำนาญบรรจุศพของญาติได้เรียบร้อย เขาก็ชำนาญในการขุดกระดูกได้เรียบร้อยเช่นกัน
สำหรับงานด้านจิตวิญญาณ โอกาสฉลองนักบุญทั้งหลายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1959 ซึ่งนับเป็นปีแรกที่คุณพ่อมาประจำที่วัดนี้ คุณพ่อก็ได้จัดให้มีการแห่แม่พระทางน้ำขึ้น ซึ่งเป็นที่กล่าวขานและจดจำมาจนถึงทุกวันนี้ว่า เป็นการแห่ที่สง่างามสมเกียรติแด่พระแม่เจ้าอย่างแท้จริง ในหนังสืออุดมพันธุ์ฉบับที่ 33 วันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1959 ได้บรรยายเรื่องการแห่นี้ไว้อย่างน่าฟัง ผมขอคัดมาเล่าไว้เป็นอนุสรณ์สืบไปดังนี้
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนศกนี้ ซึ่งตรงกับวันฉลองนักบุญทั้งหลาย วัดบางเชือกหนังได้มีการฉลองเป็นพิเศษ กล่าวคือ ตอนเช้า 8.00 น. มิสซาขับร้องประกอบพิธีโดยคุณพ่อยาโกเบ กิ๊น บุญเจือ พร้อมทั้งแสดงธรรมเทศนาอย่างจับใจ
ตอนบ่าย 13.30 น. เข้าวัดสวดลูกประคำ อวยพรศีลมหาสนิท เริ่มแห่เวลา 14.00 น. บรรดาธิดาแม่พระได้อัญเชิญแม่พระลงเรือ ซึ่งขบวนยาวเหยียด นำด้วยเรือเร็วของคุณอุดม 4 ลำ เรือหางยาว 12 ลำ เรือฉล่า 6 ลำ เรือแตรวงใหญ่ของ ร.ร.ดอนบอสโก 70 คน และติดตามด้วยเรือประทุนและเรืออื่นๆ ประมาณ 60 ลำ กระบานแห่ผ่านตามลำคลองบางเชือกหนังอันคดเคี้ยว ประกอบด้วยทิวทัศน์อันร่มรื่น เสียงแตรวงกระหึ่ม เสียงสวดภาษาต่างๆไม่ขาดระยะเป็นที่สะดุดใจและเตือนความศรัทธาของผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง ตามหมู่บ้านคาทอลิกได้จัดตั้งแท่นบูชาประดับประดาด้วยเชิงเทียนดอกไม้ และรูปแม่พระเรียงรายไปตลอดทาง
กระบวนแห่เวียนจบกินเวลา 2 ชั่วโมงเต็ม การแห่ครั้งนี้นับว่าเป็นการแห่ครั้งแรกทางน้ำของวัดบางเชือกหนัง จัดขบวนแห่ได้เรียบร้อยน่าชมเชย คณะกรรมการทุกท่านต่างเหงื่อไหลไปตามๆ กัน แต่ใบหน้ายิ้มแย้มตลอดเวลา
ด้านสัตบุรุษที่มาแห่กันในวันนั้น ถึงแม้จะไม่มากนัก แต่ก็ทำให้วัดบางเชือกหนังแคบไปถึงกับล้นออกมาหน้าวัด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าทางวัดมิได้ประกาศทั่วถึงกัน ทางวัดก็มิได้นิ่งนอนใจ ได้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งเรือยนต์ 4 ลำ ไปคอยรับที่ท่าน้ำหน้าวัด เวลาเที่ยงได้จัดเลี้ยงทุกคนที่มาด้วยอาหารกลางวัน มีแกงเผ็ดไก่ เป็ดเปรี้ยวหวาน แกงจืด และอะไรอีกจำไม่ได้เพราะมากอย่างและอร่อยไปทั่งนั้น ซึ่งอาหารดังกล่าว ชาวบางเชือกหนังต่างมีจิตศรัทธาร่วมกันจัดหามา
ทุกคนต่างว่า "แหมวันนี้เจริญ อาหารดีแท้" เมื่อเสร็จพิธีแห่แล้ว ทางวัดยังจัดอาหารว่าง มีขนม ผลไม้ น้ำอัดลม และข้าวต้มมาบริการ เพื่อรองท้องในการเดินทางกลับ ผู้เขียนอดที่จะชมเจ้าหน้าที่ทุกท่านตลอดจนท่านเจ้าอาวาสมิได้ ที่ให้การต้อนรับทุกๆ คนอย่างเป็นกันเอง
ผู้เขียนได้มีโอกาสพบกับท่านผู้เฒ่าผู้หนึ่งสัตบุรุษวัดบางเชือกหนัง เดินโขยกเขยกเป็นอัมพาตอายุราว 70 ปี ซึ่งพยายามพยุงกายมาร่วมแห่กับเขาด้วย กับผู้เขียนผู้เฒ่าได้บอกว่า "ดิฉันชื่อ ถนอม เสนะวีณิน อยู่ที่นี่มาตั้ง 40 กว่าปีแล้ว เพิ่งจะได้มีบุญแห่พระแม่เจ้าทางน้ำในครั้งนี้แหละคุณ อ๋อเรื่องราวการแห่ครั้งนี้หรือค่ะ" เขาเสริมต่อ "ไม่มีอะไรมากนักดอกค่ะ คือดูโน่นซิคะ ต้นก้ามปูมหึมานั่นไง อายุราว 70 ปี ตามปกติต้นไม้ต้นนี้เอนมาทางวัด และแน่เหลือเกินเมื่อโค่นเองจะต้องทับวัดไม่มีปัญหา แต่คืนนั้นดูเหมือนวันที่ 16 ตุลาคม ราว 23.00 น. ชาวบ้านกำลังหลับแล้ว มีเสียงดังครืนใหญ่ ทุกคนที่อยู่ใกล้เคียงวัดต่างวิ่งมาดูปรากฏว่าต้นก้ามปูต้นนี้โค่น ทีแรกทุกคนตกใจ นึกว่าต้องซ่อมวัดกันอีกแล้ว แต่ที่ไหนได้การกลับตรงกันข้าม เจ้าต้นก้ามปูล้มนอนอย่างสบายตรงกันข้ามกับที่คุณเห็นอยู่นี่แหละค่ะเป็นเรื่องน่าขบคิดไม่ใช่น้อย จากวันนั้นมา พวกเราต่างเห็นพ้องกันที่จะต้องจัดการแห่เพื่อโมทนาคุณแม่พระ จึงพากันไปปรึกษากับคุณพ่อเจ้าอาวาส ขอแห่ทางน้ำให้ใหญ่ยิ่งสักทีเรื่องก็มีเพียงเท่าที่เล่ามานี้เอง และก็อีกอย่างหนึ่ง หากพวกเราชาวบางเชือกหนังมีอะไรบกพร่อง ก็ช่วยอภัยด้วยนะคะ และหวังใจว่าในโอกาสฉลองวัดต่อๆ ไป ขอเชิญพวกคุณๆ มากันอีกนะคะ" สาเหตุการแห่แม่พระของวัดบางเชือกหนังโดยทางน้ำก็มีเพียงเท่านี้.
ในโอกาสฉลองวัดปี ค.ศ.1960 เมื่อวันที่ 18 มกราคมนี้เอง ทางวัดได้รับเกียรติต้อนรับสมณทูต องค์ผู้แทนของสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นครั้งแรก และก็เป็นสมัยคุณพ่อลออนี้เองที่ได้เปลี่ยนกำหนดฉลองวัดจากเดิมวันที่ 18 มกราคม มาเป็นวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เพราะเหตุว่าพระศาสนาจักรได้ยกเลิกการฉลองธรรมาสน์นักบุญเปโตร ณ กรุงโรม เหลือแต่ฉลองธรรมาสน์นักบุญเปโตรที่เมืองอันติโอเกียเพียงวันเดียว วันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1960 คุณพ่อลออก็ได้จัดให้มีพิธีแห่ทางเรืออีกครั้งหนึ่ง นำความปลาบปลื้มมาสู่ชาวบางเชือกหนังทั้งคริสตังค์และคนต่างศาสนาเป็นอย่างมาก
โรงเรียนของวัดไม่มีที่พอรับเด็ก เมื่อคุณพ่อมาประจำอยู่ใหม่ๆ มีนักเรียน 150 คนเศษก่อนท่านย้ายไปมีเกือบ 400 คน คุณพ่อจึงต่อโรงเรียนยาวอีก 12 เมตร ทางด้านตะวันตกตรงที่เดิมซึ่งเป็นป่าช้าเก่าย้ายกระดูกแล้ว แต่ยังมีที่ว่างอยู่ คุณพ่อจึงสร้างอาคารไม้ยาว 40 เมตร ใช้เป็นห้องเรียนเด็กอนุบาล ห้องอาหาร เวทีแสดงในงานของวัดและของโรงเรียน อาคารหลังนี้สำเร็จได้เพราะพี่น้องคาทอลิกในกรุงเทพฯ ช่วยกันชมภาพยนตร์เรื่อง "ทางสงบ" ที่คุณพ่อจัดฉายที่หอประชุมโรงเรียนอัสสัมชัญ ในการนี้คุณพ่อได้รับการช่วยเหลือจากสมาคมคาทอลิกโดยคุณแสวง เตียวไพบูลย์ อดีตนายกของสมาคม และคณะกรรมการเป็นอย่างดีเลิศ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็มีส่วนช่วยอยู่มาก ในปี ค.ศ. 1961 กระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะโรงเรียนของวัดถึงประถมปีที่ 4 สามปีต่อมาคือปี ค.ศ. 1964 กระทรวงก็รับรองถึงประถมปีที่ 7
ศาลาหน้าวัดเป็นไม้ ทรุดโทรมไปตามสภาพ คุณพ่อทำใหม่เป็นคอนกรีตพร้อมกับทำเขื่อนปูนที่หน้าวัดเพื่อป้องกันดินพัง ในการนี้คุณพ่อได้รับความช่วยเหลือจาก พ.อ. ปิ่น มุทุกันฑ์ อธิบดีกรมการศาสนาเป็นเงิน 18,000 บาท ขออนุโมทนาไว้ด้วย
เดือนมีนาคม ค.ศ. 1965 คุณพ่อติดต่อกับคุณหลวงสัมฤทธิ์ วิศวกรรม ผู้ว่าการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย ขอไฟฟ้าหลวงมาที่วัดและสำหรับประชาชนในตำบลคลองขวาง-บางแวกกับบางเชือกหนัง ทางการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน นอกนั้นคุณพ่อยังต่อบ้านพักภคินีสำหรับเป็นที่พักของเด็กประจำ และทาสีวัดทั้งภายนอกและภายใน
วันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1966 คุณพ่อย้ายจากบางเชือกหนังไปเป็นเจ้าอาวาสวัดแม่พระ อำเภอพระประแดง และคุณพ่อปอล ถาวร กิจสกุล มารับตำแหน่งแทนในวันที่ 15 เดือนเดียวกัน
คุณพ่อถาวรเริ่มงานปรับปรุงวัด โรงเรียน พัฒนาจิตใจของชาวบางเชือกหนังในทุกด้าน คุณพ่อถาวรเป็นพระสงฆ์ที่มีจิตใจดี สัตบุรุษรักท่านมาก มุ่งเน้นด้านจิตใจเป็นสำคัญ ในโอกาสหิรัญสมโภชศีลบรรพชาของคุณพ่อ สัตบุรุษวัดบางเชือกหนังจึงร่วมใจกันจัดฉลองให้แด่คุณพ่ออย่างสมเกียรติ คุณพ่อถาวรประจำอยู่ที่วัดนี้ตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 1966 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1973 รวมเวลาทั้งสิ้น 7 ปี จึงย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดซางตาครู้ส ต่อจากคุณพ่อถาวรแล้ว วัดบางเชือกหนังก็ได้รับเจ้าอาวาสใหม่ทุกปี คือ คุณพ่อเสวียง ศุระศรางค์, คุณพ่อประมวล พุฒตาลศรี, คุณพ่อสานิจ สถะวีระวงส์ คุณพ่อทุกท่านก็ได้พยายามเน้นด้านจิตใจของชาวบางเชือกหนังอย่างสม่ำเสมอ
คุณพ่อยัง ฮาแบสโตร เป็นพระสงฆ์คณะ O.M.I. องค์แรกและองค์เดียวที่เคยมาประจำอยู่วัดนี้ คุณพ่ออยู่ได้ 3 ปี แต่เนื่องจากคุณพ่อมีภาระกิจมาก รวมทั้งแนวทางการปกครองก็แตกต่างจากพระสงฆ์คนไทย จึงเกิดความไม่เข้าใจกันขึ้นระหว่างคุณพ่อและสัตบุรุษชาวบางเชือกหนัง ในที่สุดเหตุการณ์ก็รุนแรงมากขึ้น จนกระทั่งพระคุณเจ้ามีชัย กิจบุญชู พระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้สั่งให้ปิดวัดชั่วคราวเพื่อมิให้สถานการณ์บานปลายต่อไปพระคุณเจ้าได้แต่งตั้งคุณพ่อสุเทพ พงษ์วิรัชไชย ให้มาเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งคุณพ่อได้ประจำอยู่ที่วัดนี้รวมทั้งสิ้น 4 ปี คือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1983 คุณพ่อได้จัดทำระเบียบการเช่าที่ดินของวัด รวมทั้งได้เป็นผู้ริเริ่มมูลนิธิตรีมิตรวิทยา เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ยากจน ซึ่งมีผลงานมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ คุณพ่อบัณฑิต ปรีชาวุฒิ ได้รับแต่งตั้งมาเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 10 ของวัดนี้เป็นเวลา 2 ปี คุณพ่อเอาใจใส่งานด้านสอนคำสอนและการกลับในของสัตบุรุษอย่างเต็มที่ โดยมีสังฆานุกรสุขุม กิจสงวน และต่อมามีคุณพ่อศรีปราชญ์ ผิวเกลี้ยงมาช่วยทำงานด้วย คุณพ่อศรีปราชญ์จึงแบ่งเบางานด้านที่ดินของวัด ได้ทำแผนผังและจัดทำรังวัดที่เช่าต่างๆ อย่างละเอียด
ต่อจากคุณพ่อบัณฑิต คุณพ่อสุทศ ประมวลพร้อม ก็รับแต่งตั้งมาเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 11 ในปี ค.ศ. 1985 ตลอดเวลา 4 ปี ที่คุณพ่อเป็นเจ้าอาวาส งานพัฒนาจิตใจควบคู่ไปกับงานพัฒนาท้องที่ก็เริ่มต้นขึ้นใหม่อย่างจริงจัง การปกครองเดินไปด้วยความเด็ดขาด เด็ดเดี่ยวแต่เวลาเดียวกันก็ประกอบไปด้วยความเมตตา และความรักที่คุณพ่อได้มอบให้แก่สัตบุรุษวัดนี้ด้วยความจริงใจ เป็นที่รักของสัตบุรุษเป็นอันมาก คุณพ่อได้ให้ความหมายและความสำคัญต่อการเป็นคริสตชน เอาใจใส่งานด้านพิธีกรรม การเทศน์ การสอน ระยะนี้เองงานในอัครสังฆมณฑล และงานของพระศาสนาจักรส่วนกลางมีมากขึ้น คุณพ่อจึงต้องรับหน้าที่เป็นจิตตาธิการคณะ พลศีลแห่งประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ตามงานที่วัด คุณพ่อก็ได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ส่วนงานด้านที่ดินนั้น คุณพ่อสุทศได้ทบทวนกฎระเบียบการเช่าที่ดินของวัดเสียใหม่จากนั้นก็บำรุงรักษาเนื้อดินของวัดโดยการสร้างเขื่อนในส่วนที่เห็นว่าเหมาะสม ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสัตบุรุษ
คุณพ่อชัชวาล ศุภลักษณ์ รับแต่งตั้งมาเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 1989 เพียง 1 ปี ที่คุณพ่อประจำที่นี่ ก็ได้พัฒนาหมู่บ้านในหลายด้าน ได้จัดตั้งกลุ่ม อส. ของวัดขึ้นเพื่อดูแลหมู่บ้านและรักษาความปลอกภัยของประชาชน รวมทั้งอาสาสมัครที่จะช่วยพัฒนาหมู่บ้านในทุกด้าน
คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ ได้รับแต่งตั้งมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางเชือกหนังและเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1990 งานชิ้นแรกที่คุณพ่อลงมือทำก็คือ สำรวจและรวบรวมเอกสารต่างๆ ของทางวัด ซึ่งมีความสำคัญและเป็นหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ ช่วงนี้เองที่ทำให้ทราบว่าชุมชนวัดธรรมาสน์นักบุญเปโตรมีอายุครบ 100 ปีแล้ว (อันที่จริงครบ 100 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 แล้ว แต่เนื่องจากไม่มีใครทราบจึงไม่ได้ทำการฉลอง) คุณพ่อได้เตรียมการเพื่อจัดฉลองครบรอบ 100 ปีของวัด ได้จัดทำหนังสืออนุสรณ์ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ขึ้นมาเล่มหนึ่ง ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากสัตบุรุษเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในการมอบภาพถ่ายเก่าๆ ที่เก็บรักษาไว้ นอกจากนี้ยังได้ติดต่อคุณพ่อคุณพ่อโกโธร และคุณพ่อพิชาญ ใจเสรี พระสงฆ์คณะมหาไถ่ มาเทศน์เพื่อเตรียมจิตใจสัตบุรุษเป็นพิเศษในโอกาสฉลองวัดประจำปี และโอกาสฉลองครบ 100 ปีของกลุ่มคริสตชน การจัดฉลองนี้มีขึ้นวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1991
คุณพ่อได้มองเห็นว่าชาวบางเชือกหนังควรจะมีวัดที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากวัดหลังเดิมซึ่งสร้างด้วยไม้นั้น เก่ามากและกำลังผุพังลงไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา จึงได้ปรึกษาหารือกับพระคาร์ดินัล ซึ่งพระคุณเจ้าได้ให้แนวทางว่าจะต้องเตรียมสถานที่สำหรับการก่อสร้างวัดและโรงเรียนใหม่ด้วย เนื่องจากโรงเรียนตรีมิตรวิทยามีบริเวณพื้นที่คับแคบและไม่เพียงพอที่จะให้บริการทางด้านการศึกษาต่อไป คุณพ่อได้เรียกประชุมชาวบ้านเพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจตกลงกันเพื่อเวนคืนที่ดิน และลงมือดำเนินการทันที การปรับสภาพหมู่บ้านครั้งนี้เป็นไปแบบไม่หลงเหลือสภาพเดิมไว้เลย มีการถมดิน ตัดถนน จัดสรรที่ดินให้สัตบุรุษผู้เช่าที่ดินได้จองเช่าเพื่อปลูกบ้านเป็นที่พักอาศัย และมีการจัดสาธารณูปโภคที่เหมาะสม การดำเนินการทุกอย่างเหล่านี้สำเร็จเป็นไปด้วยความเสียสละและน้ำใจดีของบรรดาสัตบุรุษวัดบางเชือกหนังทั้งหมด ที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน งานต่างๆ กำลังดำเนินไปได้ด้วยดี คุณพ่อก็ต้องย้ายไปรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดนักบุญอันนา ท่าจีน ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1993
คุณพ่ออดิศักดิ์ สมแสงสรวง เข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสแทน ได้มีการประสานงานที่เริ่มต้นอย่างต่อเนื่อง มีการถมดินในพื้นที่ที่เคยเป็นสวนทั้งหมด เวลาเดียวกันก็จัดสรรที่ให้บรรดาสัตบุรุษเดิมได้มีที่อยู่ คุณพ่อเห็นว่าการที่สัตบุรุษได้มาอยู่รวมกันเป็นสัดส่วน น่าจะมีผลดีต่อบรรดาสัตบุรุษเอง จึงได้ประกาศให้สัตบุรุษที่อยู่ในสวนทุกราย คืนที่ดินซึ่งเช่าทำสวนและย้ายบ้านมาอยู่ในที่ดินซึ่งทางวัดได้จัดสรรไว้ให้ การปรับพื้นที่และการโยกย้ายสัตบุรุษเป็นไปอย่างเรียบง่าย เพราะทุกคนรู้ตัวล่วงหน้าเป็นเวลานานพอสมควร และรู้ว่าที่ดินผืนนี้จะใช้สำหรับสร้างวัดและโรงเรียนใหม่ ทางอัครสังฆมณฑลฯ ได้ให้บริษัทสันติพิทักษ์เข้ามาดำเนินการ และวางแบบแปลนอาคารต่างๆ เมื่อได้ข้อสรุปชัดเจนแล้ว ก็เริ่มลงมือก่อสร้างด้วยการเสกและวางศิลาฤกษ์วัดใหม่ในบริเวณที่จะดำเนิการก่อสร้างวัด ในวันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1997 ซึ่งเป็นวันฉลองวัดธรรมาสน์นักบุญเปโตร โดยมีพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เป็นประธานประกอบพิธี หลังจากนั้นได้ดำเนินการก่อสร้างทันที โดยในระยะแรกได้เริ่มงานก่อสร้างอาคารเรียนก่อนเพราะเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า ในปีการศึกษาต่อมา จึงได้ย้ายโรงเรียนไปใช้อาคารหลังใหม่ หลังจากนั้นก็ลงมือก่อสร้างวัดอย่างจริงจัง การก่อสร้างสำเร็จสมบูรณ์ มีพิธีเสกและเปิดทั้งวัดและโรงเรียนในวันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1999.
คุณพ่อเรนาตุส ธีรวัฒน์ เสนางค์นารถ เป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1999 - 2003
คุณพ่อยวง บัปติสตา สำรวย กิจสำเร็จ เป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2003 - 2009
คุณพ่อวิชุกรณ์ เกตุภาพ เป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2009 - 2014
ปี ค.ศ. 2012 วัด โรงเรียนและชุมชนธรรมาสน์นักบุญเปโตรร่วมกิจกรรมต่างๆ กับหน่วยงานของชุมชนโดยรอบระดับเขตปกครองท้องถิ่น (เขตภาษีเจริญ)
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013 จัดกิจกรรมกายกรรมกวางเจา เพื่อรายได้หักรายจ่ายแล้วเป็นทุนการศึกษาให้นักเรียนคาทอลิกที่ครอบครัวยากจน
คุณพ่อธนันชัย กิจสมัคร เป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2014 - 2017
ปี ค.ศ. 2015 ได้จัดงานเดินวิ่ง ตรีมิตรมินิมาราธอน ครั้งที่ 6 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเดิมโรงเรียนเป็นผู้จัด
โครงการจัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านวัดนักบุญธรรมาสน์นักบุญเปโตร เพื่อให้คณะกรรมการได้บริหารหมู่บ้าน ด้วยการดูแลด้านความปลอดภัย ด้านสาธารณูปโภค ความสะอาดเรียบร้อยของหมู่บ้าน
วันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 2016 ได้จัดงานเดินวิ่ง ตรีมิตรมินิมาราธอน ครั้งที่ 7 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ปี ค.ศ. 2016 มีสัตบุรุษทั้งของวัดและจากที่อื่นมาร่วมปฏิบัติศาสนกิจเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเดินทางสะดวก สัตบุรุษให้ความร่วมมือกับทางวัดเป็นอย่างดีในทุกๆด้าน
คุณพ่อพจนารถ นิรมลทินวงศ์ เป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2017 - 2023
ปี ค.ศ. 2017
- การจัดระเบียบร้านค้าปากซอยบางแวก 75 ให้เป็นระเบียบ
- ติดเครื่องปรับอากาศในวัด และได้เปิดใช้ในคืนสมโภชน์พระคริสตสมภพปี ค.ศ. 2017
- ปรับปรุงเครื่องเสียงในวัด ทาสีเพดานไม้ ทาสีภายในวัดและจัดความเรียบร้อยภายในวัด
- ปรับปรุงบริเวณสุสาน บริเวณพระแท่นและเครื่องเสียงในสุสาน
- โครงการที่จอดรถและสนามฟุตบอลของโรงเรียน
- มีการจัดตั้งกลุ่มธรรมทูตแพร่ธรรมของวัด มีสมาชิก 4 ท่าน
- มีการรื้อฟื้นกลุ่มวิถีชุมชนวัด และกลุ่มคูร์ซิลโลของวัด
ปี ค.ศ. 2018
- มีการโยกย้ายพระสงฆ์ประจำปี โดยมีคุณพ่อสักรินทร์ ศิรบรรเทิง มาเป็นพระสงฆ์ผู้ช่วยเจ้าอาวาส แทนคุณพ่อเทิดศักดิ์ กิจสวัสดิ์
- มีการจัดฉลอง 25 ปี แห่งศีลบรรพชา ของคุณพ่อจินตศักดิ์ ยุชัยสิทธิกุล ซึ่งเป็นพระสงฆ์ลูกวัดในวันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน
- ปรับปรุงวงเวียนให้สวยงามด้วยการตั้งรูปพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าเพื่อเป็นพระพรสำหรับการเดินทาง
- เริ่มการนำแม่พระไปสวดสายประคำตามกลุ่มคริสตชนละแวกวัด
- มีการจัดการสัมมนาฟื้นฟูจิตใจกลุ่มผู้ช่วยพิธีกรรมของวัด
ปี ค.ศ. 2019
- จัดกิจกรรมเตรียมฉลองครบ 130 ปีชุมชนความเชื่อวัด (ค.ศ. 1980-2020) ซึ่งจะจัดฉลองในวันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 ด้วยการเทศน์ฟื้นฟูจิตใจเตรียมฉลองในทุกอาทิตย์สุดท้ายของเดือนจากอดีตเจ้าอาวาส ทุกอาทิตย์ที่สองของเดือนจากคุณพ่อสมเกียรติ ตรีนิกร อุปสังฆราช
- จัดทำม้านั่งในวัดด้านข้างปีกวัด ฝั่งละ 16 ตัว รวม 32 ตัว สำหรับสัตบุรุษจะได้ร่วมมิสซาอย่างดี
- ก่อสร้างอาคารบ้านพักพนักงาน 3 ชั้น
- สร้างหลังคาคลุมสุสานต่อเติมจากหลังคาเดิมออกมาถึงบริเวณหน้าประตูสุสาน
- จัดทำทะเบียนสัตบุรุษด้วยโปรแกรมทะเบียนวัด เพื่อจัดทำสมุดครอบครัวให้กับทุกครอบครัวโอกาสฉลอง 130 ปีวัด
ปี ค.ศ 2020
- จัดกิจกรรม นิทรรศการ ฉลองครบ 130 ปี ชุมชนแห่งความเชื่อของวัด (ค.ศ. 1980-2020) ในวันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ โดยพระคาร์ดินัลเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช เป็นประธาน มีพระสงฆ์และสัตบุรุษมาร่วมฉลองพอสมควร เพราะมีการแพร่ระบาดของโควิด -19
- สร้างหลังคาคลุมดาดฟ้าอาคารอนุบาลเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึมภายในอาคาร
- จดทำทะเบียนสัตบุรุษด้วยโปรแกรมทะเบียนวัด
- จัดทำห้องปันสุขเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ยากไร้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหมู่บ้าน
- สภาภิบาลและคณะกรรมการหมู่บ้านได้ปรับปรุงเสียงตามสายในหมู่บ้านเพื่อทำการถ่ายทอดเสียงตามสายเพื่อประชาสัมพันธ์ และการถ่ายทอดเสียงในพิธีกรรมต่างๆ ของวัด ในช่วงปิดวัดของการระบาดโควิด-19 พร้อมกับปิดประตูหมู่บ้านเพื่อป้องกันบุคคลภายนอกนำการแพร่เชื้อของโรค
ปี ค.ศ. 2021
- มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนมาก ทางวัดจึงได้งดพิธีกรรมแบบสาธารณะในวันเสาร์ที่ 9 มกราคม จนถึงวันเสาร์ที่ 23 มกราคม และมีมิสซาตามปกติในวันอาทิตย์ที่ 24 มกราคมตามปกติ
- มีการประกาศโยกย้ายพระสงฆ์ประจำปี ในวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ ให้คุณพ่อทัศนุ หัตถการกุล มาเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสแทนคุณพ่อสักรินทร์ ศิรบรรเทิง
- เนื่องจากสถานการณ์โควิด ทางวัดจึงได้จัดฉลองชุมชนแห่งความเชื่อของวัดแบบปิด โดยได้เชิญพระคาร์ดินัลเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช มาเป็นประธานและเป็นการอภิบาลเยี่ยมเยียน ในวันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ มิสซาเวลา 09.00 น.
- วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม ได้มีการประกาศล็อคดาวในพื้นที่สีแดงเข้มพร้อมกับห้ามออกนอกเคหสถานในเวลา 21.00 - 04.00 น. ทางวัดจึงได้ประกาศปิดวัดอีกครั้งหนึ่ง และในวันพุธที่ 1 กันยายน ได้ประกาศคลายล็อค ทางวัดจึงได้เปิดวัดแบบสาธารณะในวันเสาร์ที่ 4 กันยายน
- ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ในระลอก 3 นี้ ได้มีการติดเชื้อในชุมชนวัด และมีสัตบุรุษในชุมชนวัดเสียชีวิตเพราะโควิดจำนวน 6 ราย
- สภาภิบาลและกรรมการหมู่บ้านได้จัดถุงยังชีพแจกอาหารให้กับทุกครอบครัวที่ติดเชื้อโควิดในชุมชนวัด พร้อมกับการจัดการเรื่องเผาศพของผู้เสียชีวิตด้วยโควิด
ปี ค.ศ. 2022
- คุณพ่อวรพจน์ วิสิฐนนทชัย ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2022 - 2024
- การฉลองวัดยังเป็นแบบปิด จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ได้เชิญพระคาร์ดินัลเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช มาเป็นประธานในการอภิบาลเยี่ยมเยียน ในวันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ มิสซาเวลา 09.00 น. หลังมิสซามีผู้แทนสภาภิบาลวัดร่วมรับประทานอาหารกับพระคุณเจ้า
- มีการซื้ออีเล็กโทนใหม่ของยามาฮ่า สำหรับโบสถ์แทนเครื่องเก่าที่ชำรุด โดยมีครอบครัวคุณวรเดช เปี่ยมสุวรรณ เป็นผู้บริจาคเพื่ออุทิศแก่บิดาผู้เสียชีวิต
- มีการเสริมฐานรากและยกปรับระดับหอระฆังที่เอียง โดยบริษัทสยามเอ็นจิเนียฟอรั่มจำกัด
- สอนคำสอนภาคฤดูร้อนและโปรดศีลมหาสนิทจำนวน 14 คน ศีลสง่า 10 คน และโปรดศีลกำลังจำนวน 8 คน โดยคุณพ่อเจ้าอาวาส ได้รับมอบอำนาจจากพระสังฆราชในโอกาสช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
- จัดทำเวทีใหม่แทนของเดิมที่ทรุดและแตกร้าว ที่ตึกมัธยมสำหรับทำกิจกรรมหน้าเสาธงของโรงเรียน
- มีการซ่อมฐานวัดที่ลอยตัว โดยช่างทางมิสซังได้ทำแผงกันดินและล้างกรวดกันเปื้อนโดยรอบวัด ทำให้บริเวณรอบวัดดูเรียบร้อย
คุณพ่ออภิเดช สุภาจักร์ เป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2023 - ปัจจุบัน
คุณพ่อพรชัย แก้วแหวน ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2024 - ปัจจุบัน
ปี ค.ศ. 2023
- วันศุกร์ที่ 21 เมษายน ประกาศโยกย้ายคุณพ่ออภิเดช สุภาจักร์ มาเป็นเจ้าอาวาสแทนคุณพ่อพจนารถ นิรมลทินวงศ์
- วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม มิสซา 08.45 น. ต้อนรับคุณพ่ออภิเดช สุภาจักร์ และซิสเตอร์เอมอร แซ่เล้า เข้ารับหน้าที่ใหม่
- วันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม เปลี่ยนเวลามิสซาจาก 08.45 น. เป็น 09.00 น. โอกาสสมโภชนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล
- วันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม ประชุมสภาภิบาลชุดใหม่ จำนวน 25 ท่าน
- วันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม เปิดเสกบ้านเยาวชนบริเวณหลังบ้านพักพระสงฆ์
ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดธรรมาสน์นักบุญเปโตร
ลำดับที่
|
รายชื่อเจ้าอาวาส
|
ระยะเวลา
|
1.
|
คุณพ่อแดส์ซาล
|
1885
|
2.
|
คุณพ่อกิยู
|
1885-1887
|
3.
|
คุณพ่อกิโยม
|
|
4.
|
คุณพ่อแดส์ซาล
|
1889-1890
|
5.
|
คุณพ่อยอแซฟ
|
1902
|
6.
|
คุณพ่อฟูยาต์
|
1902-1903
|
7.
|
คุณพ่อดือรังด์
|
1902-1903
|
8.
|
คุณพ่อเอเตียน
|
1910-1912
|
9.
|
คุณพ่อดาเนียล
|
1911-1912
|
10.
|
คุณพ่อเบลามี
|
1912-1912
|
11.
|
คุณพ่อดาเนียล
|
1912-1917
|
12.
|
คุณพ่อกิยู
|
1917-1918
|
13.
|
คุณพ่อฮุย
|
1918-1928
|
14.
|
คุณพ่อกิยูและคุณพ่อยออากิม ผลัดกันรักษาการแทนเจ้าอาวาส
|
1928-1929
|
15.
|
คุณพ่อปาสกัส
|
1929-1935
|
16.
|
คุณพ่อนิโกเลา (ชุมกิม) รักษาการแทนคุณพ่อปาสกัลซึ่งป่วย
|
1933
|
17.
|
คุณพ่ออันเดร พลอย โรจนเสน
|
1935
|
18.
|
คุณพ่อเฟรเดริก อุ่น
|
1935-1951
|
19.
|
คุณพ่อบอนีฟาส
|
1951-1951
|
20.
|
คุณพ่อลาร์เก
|
1951-1952
|
21.
|
คุณพ่ออาแมสตอย
|
|
22.
|
คุณพ่อวิลเลี่ยม
|
1952-1953
|
23.
|
คุณพ่อเปรดาญ
|
1953-1959
|
24.
|
คุณพ่อลออ สังขรัตน์
|
1959-1966
|
25.
|
คุณพ่อถาวร กิจสกุล
|
1966-1973
|
26.
|
คุณพ่อเสวียง ศุระศรางค์
|
1973-1974
|
27.
|
คุณพ่อประมวล พุฒตาลศรี
|
1974-1975
|
28.
|
คุณพ่อสานิจ สถะวีระวงส์
|
1975-1976
|
29.
|
คุณพ่อยัง ฮ าเบรสโตร
|
1976-1979
|
30.
|
คุณพ่อสุเทพ พงษ์วิรัชไชย
|
1979-1983
|
31.
|
คุณพ่อบัญฑิต ปรีชาวุฒิ
|
1983-1985
|
32.
|
คุณพ่อสุเทศ ประมวลพร้อม
|
1985-1989
|
33.
|
คุณพ่อชัชวาล ศุภลักษณ์
|
1989-1990
|
34.
|
คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์
|
1990-1993
|
35.
|
คุณพ่ออดิศักดิ์ สมแสงสรวง
|
1993-1999
|
36.
|
คุณพ่อเรนาตุส ธีรวัฒน์ เสนางค์นารถ
|
1999-2003
|
37.
|
คุณพ่อยวง บัปติสตา สำรวย กิจสำเร็จ
|
2003-2009
|
38.
|
คุณพ่อวิชชุกรณ์ เกตุภาพ
|
2009-2014
|
39.
|
คุณพ่อธนันชัย กิจสมัคร
|
2014-2017
|
40.
|
คุณพ่อพจนารถ นิรมลทินวงศ์
|
2017-2023
|
41.
|
คุณพ่ออภิเดช สุภาจักร์
|
2023-ปัจจุบัน
|
แผนที่การเดินทาง