วัดศีลมหาสนิท (วัดตลิ่งชัน)

 
 
 
วัดศีลมหาสนิท (วัดตลิ่งชัน)
 
เลขที่ 2 ถนนราชพฤกษ์ 36 แขวงตลิ่งชัน  
เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170  
โทร. 08-4512-2288 
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
website: www.jhsbkk.com
 
วัดศีลมหาสนิท  เดิมชื่อ วัดพระสัตถา  ปรากฏในประวัติวัด  ซึ่งค้นพบจากห้องเอกสารอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ  เขียนโดยคุณพ่อลาร์เก  มีข้อความตอนหนึ่งดังนี้  “แต่เดิมนั้นมีคริสตังทั้งญวนและจีนไปอยู่ในเขตตลิ่งชัน ทางวัดกาลหว่าร์ก็จัดให้มีคุณพ่อปลัดไปทำมิสซาตามบ้านคริสตังนานๆ ครั้ง แต่ก็เป็นปัญหาสำหรับคุณพ่อเจ้าอาวาส  เพราะว่าเมื่อจัดให้ไปทำมิสซาบ้านคนญวน คนจีนก็ไม่ไปร่วมทำมิสซาบ้านคนจีน  คนญวนก็ไม่ไป ดังนั้นคุณพ่อกิมฮั้ง  แซ่เล้า  เป็นเจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์  ก็ได้พยายามหาซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง เนื้อที่ 1  ไร่  2 งาน 56 ตารางวา เพื่อที่จะได้สร้างวัด บ้านพักพระสงฆ์  บ้านพักซิสเตอร์  พระอัครสังฆราช ยอแซฟ  ยวง  นิตโย  จึงอนุมัติเห็นชอบให้สร้างวัดและอาคารดังกล่าว”
 
ความเป็นมาของวัดสวนผัก  ตลิ่งชัน  สัตบุรุษดั้งเดิมของวัดมีสองกลุ่ม  คือ กลุ่มคนญวนที่สวนแดน  และกลุ่มคนจีนที่สวนผัก  สมัยแรกๆ สัตบุรุษทั้งสองกลุ่มนี้อยู่ในความดูแลของวัดกาลหว่าร์  ซึ่งในขณะนั้นมีคุณพ่อกิมฮั้ง  แซ่เล้า  เป็นเจ้าอาวาส คุณพ่อได้มาเยี่ยมเยียน และถวายมิสซาให้กับสัตบุรุษทั้งสองกลุ่มในคราวเดียวกัน
 
ประมาณกลางปี ค.ศ.1962-1972  ได้มอบหมายให้คุณพ่อเจ้าวัดบางสะแก (คุณพ่อราแป็ง  ต่อมาคือ คุณพ่อฟอร์แตง) ดูแลและถวายมิสซาให้กับกลุ่มคนจีนที่สวนผัก โดยกลุ่มคนจีนร่วมกันสร้าง  โรงสวดเพื่อให้สวดภาวนา ร่วมมิสซาและเป็นที่สอนคำสอนสำหรับลูกหลาน ซึ่งมีอาโกวชุนฮวงจากวัดกาลหว่าร์มาช่วยสอน ในขณะเดียวกันก็มอบหมายให้คุณพ่อเจ้าวัดบางเชือกหนัง  (คุณพ่อลออ  สังขรัตน์  ต่อมาคือ  คุณพ่อถาวร  กิจสกุล)  ดูแลและถวายมิสซาให้กับกลุ่มคนญวนที่สวนแดน  โดยใช้บ้านของนายพยนต์  สุระศรางค์  หรือบ้านของนายบำรุง   พิศพาน  เป็นที่ถวายมิสซา
 
ปี  ค.ศ. 1973  คุณพ่อกิมฮั้ง  แซ่เล้า  โดยความเห็นชอบของพระอัครสังฆราชยวง นิตโย  ได้มาซื้อที่ดินที่สวนผัก ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างกลุ่มคนญวนกับกลุ่มคนจีน โดยใช้ชื่อของนายเจริญ กอหะสุวรรณ  (สัตบุรุษวัดบางเชือกหนัง)  เนื้อที่  1  ไร่  3  งาน 56  ตารางวา เป็นสถานที่สำหรับสร้างบ้านพักและวัด เมื่อสร้างเสร็จคุณพ่อกิมฮั้ง ได้ขอลาออกจากหน้าที่ เจ้าวัดกาลหว่าร์  เนื่องจากสุขภาพไม่ดี  และขอพักอยู่วัดนี้  คุณพ่อกิมฮั้ง  จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคุณพ่อเจ้าวัดคนแรก  โดยมีซิสเตอร์คณะพระหฤทัยฯ  มาประจำเพื่อช่วยงานที่วัดด้วย  ตั้งแต่นั้นมาสัตบุรุษทั้งสองกลุ่มก็มาร่วมมิสซาที่วัดสวนผักทุกอาทิตย์
 
ปี  ค.ศ.1973 โปรดศีลล้างบาปให้แก่เด็กคนแรก  (สำหรับเด็กที่เกิดก่อนหน้านี้  จะอยู่ในบัญชีศีลล้างบาปที่วัดกาลหว่าร์  วัดบางสะแก  และวัดบางเชือกหนัง)
 
ปี  ค.ศ.1981  เณรใหญ่จากบ้านเณรแสงธรรม  2  คน  เริ่มมาช่วยงานคำสอน  และมีเรื่อยมาจนถึงประมาณปี  ค.ศ.  1998  หลังจากนั้นจะมีเณรมาช่วยเป็นบางปี
 
ปี  ค.ศ.  1983  ซื้อที่ดินด้านหลังอีก  6  ไร่  เพื่อเตรียมสร้างวัดใหม่
 
ปี  ค.ศ. 1985  สัตบุรุษที่อยู่ตามบ้านจัดสรร และย้ายมาอยู่ใหม่ก็เริ่มเป็นสมาชิกของวัดสวนผัก  ในปีนี้เอง  คุณพ่อชัชวาล  ศุภลักษณ์  ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ที่โรงเรียนโยนออฟอาร์คพาณิชยการ  ได้มาช่วยถวายมิสซาวันอาทิตย์  เนื่องจากสุขภาพของคุณพ่อกิมฮั้งไม่ค่อยแข็งแรงนัก  เพราะเป็นโรคหัวใจ  
 
คุณพ่อเปโตร ชัชวาล  ศุภลักษณ์  
ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลวัดสวนผักปี  ค.ศ.1988  แทนคุณพ่อกิมฮั้ง จึงมาอยู่ประจำที่วัด คุณพ่อริเริ่มให้สัตบุรุษอดออมเงินเพื่อให้สมทบทุนในการสร้างวัดใหม่ในปีนี้เอง  ได้ซื้อที่ดินเพิ่มทางด้านหน้าติดกับถนนสวนผัก  จากนายไพฑูรย์  จริยะธนา  เนื้อที่ 4  ไร่  เพื่อเตรียมสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กในเขตนี้ต่อไป
 
คุณพ่อโยเซฟ ศุภศิลป์  สุขสุศิลป์
ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส  ปี  ค.ศ. 1989  แทนคุณพ่อชัชวาล  ซึ่งย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบางเชือกหนัง (ในช่วงต้นปีนี้เอง สุขภาพของคุณพ่อกิมฮั้ง ทรุดลงมาก  และพระได้ยกคุณพ่อไปอยู่กับพระองค์ในวันที่  2  กรกฎาคม)  ต่อมาคุณพ่อศุภศิลป์  ตั้งสภาอภิบาลวัดขึ้น  มีกรรมการ  12  คน  เพื่อให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและช่วยกิจการต่างๆ ของวัด  รวมทั้งตั้งกลุ่มเยาวชนของวัดด้วย
 
คุณพ่อเปโตร ชัชวาล  ศุภลักษณ์  
ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส ปีค.ศ. 1990 (ครั้งที่สอง) และให้ทำงานที่สภาเยาวชนคาทอลิกแห่งประเทศไทยด้วย คุณพ่อชัชวาล ร่วมกับสภาอภิบาลของวัดได้เรียนเชิญพระคาร์ดินัล มีชัย  กิจบุญชู  มาถวายมิสซาเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีที่สร้างวัดนี้ เป็นโอกาสดีที่สัตบุรุษได้พบปะกับ พระคาร์ดินัลในบรรยากาศที่อบอุ่น และร้องขอพระคาร์ดินัลอยากจัดงานฉลองประจำปีเหมือนวัดอื่น  หลังจากนั้นอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้ตั้งชื่อวัดนี้อย่างเป็นทางการว่า “วัดศีลมหาสนิท” มีความหมายเดียวกับชื่อเดิม  “วัดพระสัตถา”  “พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในศีลมหาสนิท”  เพื่อให้สัตบุรุษทุกคนมีความรัก ความศรัทธา  และถวายเกียรติต่อพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทและจัดงานฉลองวัดตรงกับวันฉลอง  “พระคริสตกายา”
 
ปี ค.ศ. 1991  มีการขยายตัววัดซึ่งคับแคบลง  เพราะสัตบุรุษเริ่มมาวัดมากขึ้น  ประกอบกับยังไม่เคยมีการเสกวัด  และสัตบุรุษที่อื่นก็ยังไม่รู้จักวัดนี้  ดังนั้นคุณพ่อชัชวาลร่วมกับสภาอภิบาลได้มีมติให้จัดพิธีเสก และฉลองตามที่วัดมีชื่ออย่างเป็นทางการแล้ว  จึงจัดงานฉลองวัดครั้งแรกในวันอาทิตย์ที่  30  มิถุนายน ค.ศ. 1991  เวลา 10.00  น.  โดยพระคาร์ดินัล  มีชัย  กิจบุญชู  เป็นประธาน  นับเป็นปีที่  18  ของการสร้างวัดนี้
 
เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1993  เวลา  10.00  น.  คุณพ่อชัชวาล ร่วมกับสภาอภิบาลจัดงานฉลองวัดครบ 20 ปี และฉลองการบวชเป็นพระสังฆราชครบ 20  ปี ของพระคาร์ดินัล  มีชัย  กิจบุญชู  เนื่องจากวัดนี้สร้างขึ้นในปีที่พระคาร์ดินัล  บวชเป็นพระสังฆราช  (ปี ค.ศ.  1973)
 
คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ พงศ์เทพ  ประมวลพร้อม 
ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสปี ค.ศ.  1996  แทนคุณพ่อชัชวาล  ซึ่งอยู่ครบวาระ  6  ปีที่วัดนี้  และย้ายไปเป็นหัวหน้าแผนกงานอภิบาลผู้เดินทะเล
 
วันอาทิตย์ที่  14  มิถุนายน  ค.ศ. 1998  เวลา 10.00 น.  พ่อพงศ์เทพร่วมกับสภาอภิบาล จัดงานฉลองวัดครบ  25 ปี และฉลองการบวชเป็นพระสังฆราชครบ  25  ปี  ของพระคาร์ดินัล  มีชัย กิจบุญชูโดยพระคาร์ดินัล เป็นประธาน โอกาสพิเศษนี้ได้จัดพิธีโปรดศีลกำลัง และศีลมหา นิทอย่างสง่าแก่สัตบุรุษ
 
ความเป็นมาของชื่อวัด
 
คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ กิมฮั้ง  แซ่เล้า สร้างวัดแห่งนี้  ยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ  แต่ทางทะเบียนของอุดมสารได้ใช้ชื่อ  “วัดพระคริสตกายา” ตั้งแต่ปี  ค.ศ. 1973  ซึ่งส่วนใหญ่คนทั่วไปเรียกวัดสวนผัก  ส่วน  “ซิน  กั้ง”  เป็นชื่อที่คนจีนเรียกโรงสวดที่คุณพ่อราแปงสร้างไว้ในสวนผัก  แปลว่า  วัดคลองใหม่  (คลองขุดมหาสวัสดิ์)
 
ปี ค.ศ. 1983 คุณพ่อกิมฮั้งพยายามตั้งชื่อวัดนี้  โดยปรึกษากับพระอัครสังฆราช ยวง นิตโย  ว่าน่าจะเป็น “พระสัตถาสถิต” แปลว่า พระอาจารย์อยู่ที่นี่ พระอัครสังฆราช ยวง แนะนำว่า  “พระสัตถา”  ก็ให้ความหมายชัดเจนแล้ว  จึงใช้ชื่อนี้เรื่อยมา แต่เนื่องจากเป็นชื่อที่หลายคนฟังแล้วไม่เข้าใจความหมาย
 
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1990  เมื่อพระคาร์ดินัล มีชัย กิจบุญชู  มาถวายมิสซาที่วัดนี้เป็นครั้งแรกในรอบ  17  ปีที่สร้างวัดนี้  สภาอภิบาลจึงขอให้คาร์ดินัลพิจารณาชื่อที่เหมาะสมกับวัดนี้
 
เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1990 พระคาร์ดินัลพร้อมคณะที่ปรึกษาได้พิจารณาและตั้งชื่อเป็น “วัดศีลมหาสนิท” แต่เนื่องจากความผิดพลาดบางประการในหนังสือเอกสารแจ้งการตั้งชื่อวัดพิมพ์ผิดเป็น  “วัดแห่งศีลมหาสนิท”  ซึ่งที่ถูกต้องคือ  “วัดศีลมหาสนิท”
 
ส่วนคำว่า วัดสวนผัก เป็นชื่อที่ชาวบ้านนิยมเรียกกัน  เพราะเขตตลิ่งชันบริเวณนี้เดิมทำสวนผักและปลูกดอกไม้กันมากแต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพเป็นบ้านจัดสรรมากขึ้น  จนแทบไม่มีบรรยากาศสวนผักให้เห็นอีก
 
วัดตลิ่งชัน ก็เป็นอีกชื่อหนึ่งที่ชาวบ้านเรียก เพราะอยู่ในเขตตลิ่งชัน และเพราะไปเข้าใจไขว้เขวกับวัดบางเชือกหนัง  ซึ่งอยู่ในเขตตลิ่งชันด้วย  ชื่อนี้จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมเรียกมากนัก
 
เพราะฉะนั้น  ชื่อที่ถูกต้องและเข้าใจชัดเจนจึงเป็น  “วัดศีลมหาสนิท”  (สวนผัก)
 
 
 
 
ประวัติกลุ่มคริสตชน
 
คริสตชนวัดศีลมหาสนิทตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน  จำแนกเป็นกลุ่มใหญ่สามกลุ่ม  คือ  กลุ่มสวนผัก กลุ่มสวนแดน และกลุ่มหมู่บ้าน คริสตชนดั้งเดิมมีเพียงสองกลุ่ม  ได้แก่ กลุ่มสวนผัก  และกลุ่มสวนแดน ในสมัยที่ยังไม่มีวัด จะมีพระสงฆ์มาดูแลและถวายมิสซา โดยใช้บ้านของสัตบุรุษเป็นสถานที่ประกอบพิธี จนกระทั่งปี  ค.ศ.1973  คุณพ่อกิมฮั้ง  แซ่เล้า  ได้รับอนุมัติจากอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ  ให้สร้างวัดที่สวนผัก
 
คริสตชนทั้งสองกลุ่มดังกล่าวจึงมาร่วมฟังมิสซาที่วัด และอยู่ในความดูแลของคุณพ่อกิมฮั้ง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
 
ราวปี ค.ศ. 1986 เริ่มมีคริสตชนกลุ่มใหม่จากบ้าน และหมู่บ้านสร้างใหม่ในอาณาบริเวณ ใกล้เคียงกับวัดมาร่วมมิสซาเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ทำให้สมาชิกทวีจำนวนมากขึ้น คริสตชนรวมทั้งสามกลุ่มตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันมีประมาณ 70 ครอบครัว มาจากหลายจังหวัด ได้แก่ อยุธยา  สุพรรณบุรี กาญจนบุรี  ราชบุรี  สมุทรสงคราม  นครปฐม  พิษณุโลก  ฯลฯ  และจากวัดในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ  ประกอบอาชีพหลายสาขา  เช่น  ทำสวน  จับปลา  ช่างไม้  ค้าขาย  ทำธุรกิจส่วนตัว  รับราชการ  พนักงานรัฐวิสาหกิจ  และรับจ้าง  เป็นต้น
 
อย่างไรก็ดี เมื่อได้มาเป็นสมาชิกวัดเดียวกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด ถือว่าได้มาอยู่ร่วมในครอบครัวเดียวกัน คือ “วัดศีลมหาสนิท”  ถ้ามีอะไรที่จะช่วยกันก็ยินดีให้ความร่วมมือร่วมใจอย่างเต็มที่  และชุมชนของเราจะได้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น  ดังคำกล่าวที่ว่า  “ทำอะไรได้ดังฝันใฝ่   ถ้าเราร่วมใจ”
 
คริสตชนกลุ่มสวนผัก
 
คริสตชนสวนผักระยะแรกมีประมาณ 10 ครอบครัว ประกอบอาชีพปลูกผัก ทำสวนดอกไม้  ส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน  จึงนิยมไปร่วมมิสซาที่วัดกาลหว่าร์ เนื่องจากมีพระสงฆ์หลายองค์พูดภาษาจีนได้ และยังประกอบพิธีเป็นภาษาจีนด้วย  การเดินทางไปวัดลำบากมาก  ต้องตื่นแต่เช้ามืด  นั่งเรือแท็กซี่ไป - กลับ  ถ้าไม่ได้แวะที่ไหนกว่าจะกลับถึงบ้านก็บ่ายมากโขทีเดียว   จึงพากันไปวัดปีละ 1 - 2  ครั้ง เฉพาะวัดฉลองบังคับเท่านั้น หลังจากนั้นอาโกวชุนฮวง ซึ่งเป็นพลมารีวัดกาลหว่าร์และสนิทสนมกับ คริสตชนสวนผักในสมัยนั้น ได้แนะนำคุณพ่อราแป็ง ปลัด วัดกาลหว่าร์ให้มาถวายมิสซาที่สวนผัก จึงมี “โรงสวด” ขึ้น เรียกตามบัญชีวัดว่า “วัดซินกั้ง” โรงสวดหรือวัดซินกั้งนี้ เป็นที่เก็บอุปกรณ์ทำสวนผักของสัตบุรุษครอบครัวหนึ่ง คุณพ่อราแป็ง มาถวายมิสซาและสอนคำสอนเดือนละครั้ง การเดินทางของคุณพ่อก็มาทางเรือด้วยความยาก ลำบากเช่นเดียวกัน  ถ้ามีเวลาว่างหลังจากถวายมิสซาแล้ว คุณพ่อก็จะเยี่ยมสัตบุรุษตามบ้าน และถ้ามีเด็กล้างบาปคุณพ่อก็จะประกอบพิธีให้ที่บ้าน คุณพ่อมีภารกิจมากมาย  การสอนคำสอนทำได้ไม่ดีนัก จึงมีเด็กบางรุ่นต้องไปอยู่ประจำที่วัดกาลหว่าร์เรียนคำสอน  เพื่อรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ  บางครั้งถ้าไม่มีที่พักคุณพ่อก็จะติดต่อให้ไปเรียนที่วัดสามเสน  จำได้ว่ารุ่นอาหรือรุ่นพี่ๆ กว่าจะได้รับศีลก็อายุมากแล้ว
 
เมื่อคุณพ่อราแป็ง ย้ายไปอยู่ที่วัดบางสะแก วัดซินกั้งก็ไม่มีพระสงฆ์มาถวายมิสซาอยู่ระยะหนึ่ง แต่อาม่าอาโกวได้ชักชวนเด็กๆ ให้มาร่วมสวดสายประคำแทนการฟังมิสซาทุกเดือนๆ ละครั้ง หลังจากนั้นไม่นาน คุณพ่อฟอร์แตงซึ่งทำงานกับคุณพ่อราแป็งที่วัดบางสะแก ได้มาถวาย มิสซาให้ทุกวันเสาร์เป็นเวลาประมาณ 2  ปี  จนกระทั่งมีวัดใหม่  ในช่วงนี้มี   คริสตชนย้ายจากสุพรรณบุรีมาเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 1 ครอบครัว เมื่อคุณพ่อกิมฮั้งดูแลสร้างวัดใหม่เสร็จแล้ว ทางอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯได้แต่งตั้งคุณพ่อกิมฮั้งเป็นเจ้าอาวาส กลุ่มคริสตชนสวนผักจึงอยู่ในความดูแลของคุณพ่อกิมฮั้ง และมาร่วมมิสซาที่วัดนับตั้งแต่ปี  ค.ศ.1973  เป็นต้นมา
 
คุณพ่อกิมฮั้งได้ขอซิสเตอร์มาช่วยงานที่วัดและช่วยสอนคำสอน ในระยะแรกปรากฏว่าเด็กที่จะต้องเรียนคำสอนมีมาก และไม่สามารถมาเรียนที่วัดได้ เนื่องจากการเดินทางสมัยนั้นค่อนข้างลำบาก คุณพ่อจึงขอบราเดอร์จากบ้านเณรมาช่วยงานที่วัดและช่วยสอนคำสอนการทำงานของบราเดอร์รุ่นแรกลำบากมาก ต้องถีบจักรยานไปสอนตามบ้านซึ่งอยู่กระจัดกระจายกัน บางครั้งน้ำท่วมต้องลุยน้ำไป แต่บราเดอร์ก็ไม่หวั่นกลัวเลย ได้เสียสละในการทำหน้าที่สั่งสอนตามพระวาจาของพระคริสตเจ้าด้วยความเอาใจใส่ ตลอดจนรวบรวมเด็กให้มาวัดเพื่อที่จะได้รู้จัก และใกล้ชิดพระมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ด้วยความเสียสละดังกล่าว  ทำให้ บราเดอร์ที่เคยมาช่วยงานที่วัดนี้ได้บวชเป็นพระสงฆ์เกือบทุกคน
 
ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันของกลุ่มคริสตชนวัดสวนผัก มีครอบครัวสมาชิกเพิ่มขึ้นมากมายจากครอบครัวดั้งเดิม และจากครอบครัวที่ย้ายมาอยู่ในบริเวณใกล้เคียงสวนผัก ได้แก่แถบซอยขุนสามศรที่ย้ายมาจากวัดสามเสนและจากกาญจนบุรี แถวถนนฉิมพลี ถนนทุ่งมังกร และถนนสวนผัก
 
คริสตชนกลุ่มคลองสวนแดน
 
สัตบุรุษในเขตบ้านสวนแดนในทีแรกมีประมาณ 5-7 ครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่ย้ายมาจากวัดอยุธยา บ้านแพน และเจ้าเจ็ด ประมาณ 35 - 40 ปีที่ผ่านมา โดยเช่าที่คนย่านนั้นปลูกบ้านอยู่  ประกอบอาชีพหาปลา  ค้าขาย  และช่างไม้
 
แต่ก่อนนั้นสัตบุรุษที่สามารถไปวัดได้  ก็ไปวัดบางเชือกหนังเป็นส่วนใหญ่  มีครอบครัวสุระศรางค์ ที่ไปวัดสามเสน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถไปวัดได้ เนื่องจากเดินทางลำบาก  ดังนั้น  คุณพ่อลออ  สังขรัตน์  ซึ่งขณะนั้นประจำอยู่ที่วัดบางเชือกหนังจึงเดินทางมาประกอบพิธีบูชามิสซาให้ที่บ้านคุณประกอบ สุระศรางค์  โดยมีคุณครูมนัส  (เป็นครูโรงเรียนตรีมิตรวิทยา) เป็นคนขับเรือรับส่ง เนื่องจากต้องเดินทางโดยทางน้ำ ในสมัยนั้นเด็กในหมู่บ้านมักต้องไปอยู่บ้านซิสเตอร์ที่วัดบางเชือกหนัง  เพื่อเรียนคำสอนคำสอน  และเรียนหนังสือไปด้วย โดยมีคุณพ่อ ลออและครูมนัสเป็นผู้สอน  หลังจากนั้นคุณพ่อลออก็มีโครงการสร้างวัดในเขตสวนแดนขึ้น แต่น่าเสียดายที่คุณพ่อถูกย้ายไปวัดปากลัด  คุณพ่อถาวรซึ่งมาประจำแทนจึงเป็นผู้ดำเนินการต่อ
 
ในปี ค.ศ.1973  คุณพ่อกิมฮั้งได้ขออนุมัติจากทางอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ  หาซื้อที่เพื่อสร้างวัด แต่เนื่องจากคุณพ่อได้ทราบว่ามีสัตบุรุษอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ในถนนสะพานผัก จึงซื้อที่ดินเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างสองหมู่บ้าน และในปีนั้นก็ได้สร้างวัดในซอยเทพประวิทย์ตามที่คุณพ่อต้องการ คือ  เป็นศูนย์กลางระหว่างสองหมู่บ้าน  โดยมีคุณพ่อกิมฮั้งมาประจำอยู่
 
ในปีแรกที่สร้างวัด  มีสัตบุรุษมาเพียง  2 - 3  ครอบครัวเท่านั้นที่มาวัด  เด็กในหมู่บ้านส่วนใหญ่ยังไม่กระตือรือร้นในเรื่องนี้ ดังนั้นในปี ค.ศ. 1981  คุณพ่อกิมฮั้งเห็นว่าเด็กในหมู่บ้านมีมากขึ้น  จึงได้ขอเณรมาช่วยดูแลเรื่องคำสอนของเด็กในหมู่บ้าน แต่ก็ไม่เต็มที่เท่าไร เนื่องจากซิสเตอร์ก็มีภารกิจมากอยู่แล้ว  ดังนั้น  เมื่อบราเดอร์มาสอนจึงทำให้เด็กใกล้ชิดพระมากขึ้น แต่มีปัญหาบ้างก็แต่สถานที่เรียน ซึ่งระยะทางระหว่างหมู่บ้านถึงวัดก็ไกลพอดู  บราเดอร์จึงมาสอนที่บ้านของครอบครัวพิศพาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน
 
 
ในตอนนั้น  เด็กในหมู่บ้านถึงแม้ได้เรียนคำสอนสม่ำเสมอ  แต่ก็ไม่ได้รับการกระตุ้นจากครอบครัวให้ไปวัด  เด็กจึงไม่ค่อยไปวัดเท่าไหร่  บราเดอร์จึงคิดเช่ารถกระบะของครอบครัวคชไกรเพื่อรับส่งเด็กไปวัดในวันอาทิตย์  แต่ด้วยน้ำใจดีของคุณอุดม  คชไกร  ก็ไม่ได้คิดเงินแต่อย่างใด  และได้รับ - ส่งเด็กไปวัดเรื่อยมา  แต่เมื่อใดที่รถไม่ว่างหรือคุณอุดมไม่สามารถไปวัดได้  เด็กในหมู่บ้านก็ไม่ได้ไปด้วยเช่นกัน
 
จากวันนั้นถึงวันนี้  เด็กในหมู่บ้านได้รับการปลูกฝังอย่างใกล้ชิดให้รู้จักพระรู้จักวัด ถึงแม้ จะไม่มีรถรับส่ง  แต่เด็กในหมู่บ้านก็สามารถไปวัดเอง  คนในหมู่บ้านก็ไปวัดกันมาขึ้น  แต่สัตบุรุษส่วนใหญ่ก็ยังคงประกอบอาชีพค้าขาย  จับปลา  ช่างไม้  เช่นเดิม  ที่ก็ยังเช่าอยู่  บางส่วนกำลังถูกไล่ที่
 
คริสตชนกลุ่มหมู่บ้าน
 
ในสมัยก่อนที่ดินแถวตลิ่งชันมีลักษณะเป็นสวน  สงบ  ร่มรื่น  การเดินทางส่วนมากต้องใช้เรือเป็นพาหนะ  มีทางรถไฟผ่านแต่ไม่สะดวก ต้องเดินเป็นระยะทางไกลมาก  การสร้างถนนในระยะแรกประมาณ  25  ปีก่อน  เป็นถนนลูกรังแคบๆ พอให้รถแล่นได้  หลายปีต่อมาได้ปรับปรุงเป็นถนนลาดยาง  การเดินทางก็ยังไม่สะดวกเท่าที่ควร  เพราะรถยนต์มีน้อย  ราวปี  ค.ศ. 1978 เริ่มมีโครงการสร้างถนนสายพุทธมณฑล-นครชัยศรี  เค้าโครงความเจริญเริ่มปรากฏขึ้น  ในระยะนั้นหมู่บ้านจัดสรรยังไม่เฟื่องฟูเจ้าของที่ดินเพียงแต่นำมาจัดสรรขายให้ผู้ซื้อสร้างบ้านเอง ในขณะที่ถนนสายพุทธมณฑล-นครชัยศรีอยู่ในระหว่างดำเนินการสร้างนั้นได้มีการพัฒนาถนนที่มีอยู่เดิมในท้องที่เขตตลิ่งชันจากถนนลาดยางเป็นถนนคอนกรีต  รวมทั้งสร้างถนนเพิ่ม เติมอีกหลายสายควบคู่กันไป เมื่อการสร้างถนนดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยประมาณปี ค.ศ.1984 การคมนาคมสะดวกขึ้น หมู่บ้านจัดสรรในเขตนี้ก็เกิดขึ้นมากมาย ชุมชนขยายตัวรวดเร็วมาก ส่งผลให้ชุมชนใกล้เคียงแถวบางขุนนนท์เจริญขึ้นด้วย เพราะเป็นทางผ่านจุดสำคัญของหมู่บ้านเช่นเดียวกัน
 
คริสตชนกลุ่มหมู่บ้านเริ่มมาร่วมมิสซาที่วัดสวนผัก  ราวปี  ค.ศ. 1986  หรือประมาณ  10  ปีที่ผ่านมา  ในระยะแรกมีจำนวนไม่มากนักเนื่องจากหมู่บ้านจัดสรรเจริญเติบโตแบบค่อยเป็นคอยไป ประกอบกับคริสตชนตามหมู่บ้านมักไปร่วมมิสซาตามวัดที่เคยไปอยู่แล้วมากกว่า  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความเคยชินกับวัดเดิม  หรือยังไม่รู้ว่ามีวัดนี้ก็เป็นไปได้  ต่อมาเมื่อรู้ว่ามีวัดอยู่ใกล้บ้านจากการบอกเล่าของผู้อื่น  หรือเมื่อผ่านวัดเห็นป้าย “วัดคาทอลิก” ก็ลองมาสัมผัสบรรยากาศ ใหม่ๆ บ้าง จากการสังเกตการณ์โดยทั่วไปพอจะประมวลได้ว่า กลุ่มหมู่บ้านที่มาส่วนใหญ่คงจะชอบบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะเฉพาะตัวของวัดนี้ที่ไม่เหมือนวัดอื่นๆ กล่าวคือ เป็นสถานที่เงียบสงบ  คริสตชนดั้งเดิมมีความเป็นอยู่เรียบง่าย  จริงใจต้อนรับสมาชิกใหม่ด้วยอัธยาศัยไมตรี  มีบรรยากาศที่เป็นแบบครอบครัวคริสตชนอย่างแท้จริง  ทำให้มีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี  คริสตชนกลุ่มใหม่นี้มาจากหลายวัดหลายจังหวัดด้วยกัน
 
 
พระสงฆ์ที่ทำงานอภิบาลสัตบุรุษก่อนมีวัดศีลมหาสนิท
 
คุณพ่ออันเดร ลออ สังขรัตน์ สมัยที่เป็นเจ้าอาวาสวัดบางเชือกหนัง ได้มาถวายมิสซาให้สัตบุรุษที่สวนแดน ปี ค.ศ. 1962-1972
 
คุณพ่อปอล ถาวร  กิจสกุล เป็นเจ้าอาวาสแทนคุณพ่อลออที่บางเชือกหนัง ได้มาถวายมิสซา จนถึงปี ค.ศ. 1973  เมื่อคุณพ่อกิมฮั้งสร้างวัดซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างคนจีนกับคนญวน
 
คุณพ่อโคลด ราแป็ง สมัยเป็นปลัดวัดกาลหว่าร์ ได้มาถวายมิสซาให้คนจีนในสวนผัก  (คลองขุดมหาสวัสดิ์)  และให้อาโกวชุนฮวงมาสอนภาษาจีน  และสอนคำสอนแก่เด็กๆ  และได้ให้สร้างกงซ้อ  (โรงสวด) สำหรับใช้เรียนคำสอนและร่วมมิสซา
 
คุณพ่อฟอร์แตง สมัยเป็นเจ้าอาวาสวัดบางสะแกได้มาถวายมิสซาให้คนจีนในสวนผักต่อจากคุณพ่อราแป็ง และเมื่อมีวัดเป็นการถาวร คุณพ่อก็งดมาทำมิสซาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973
 
 
 
ลำดับเจ้าอาวาสวัดศีลมหาสนิท
 
1. คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ กิมฮั้ง  แซ่เล้า
เป็นผู้เริ่มก่อสร้าง และเจ้าอาวาสวัดศีลมหาสนิทองค์แรก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1916-1989 
 
ปี ค.ศ.1973 คุณพ่อกิมฮั้ง แซ่เล้า โดยความเห็นชอบของพระอัครสังฆราชยวง นิตโย ได้มาซื้อที่ดินที่สวนผัก ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างกลุ่มคนญวนกับกลุ่มคนจีน ใช้ชื่อของนายเจริญ กอหะสุวรรณ  (สัตบุรุษวัดบางเชือกหนัง) เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 56 ตารางวา เป็นสถานที่สำหรับสร้างบ้านพักและวัด เมื่อสร้างเสร็จคุณพ่อกิมฮั้ง ได้ขอลาออกจากหน้าที่ เจ้าวัดกาลหว่าร์  เนื่องจากสุขภาพไม่ดี  และขอพักอยู่วัดนี้  คุณพ่อกิมฮั้ง จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคุณพ่อเจ้าวัดคนแรก โดยมีซิสเตอร์คณะพระหฤทัยฯ มาประจำเพื่อช่วยงานที่วัดด้วย ตั้งแต่นั้นมาสัตบุรุษทั้งสองกลุ่มก็มาร่วมมิสซาที่วัดสวนผักทุกอาทิตย์ 
 
ปี ค.ศ.1973 โปรดศีลล้างบาปให้แก่เด็กคนแรก (สำหรับเด็กที่เกิดก่อนหน้านี้ จะอยู่ในบัญชีศีลล้างบาปที่วัดกาลหว่าร์ วัดบางสะแก และวัดบางเชือกหนัง)

ปี ค.ศ. 1976 สามเณรใหญ่จากบ้านเณรแสงธรรม รุ่น 1 และ 2 เริ่มมาฝึกงานอภิบาลสัตบุรุษ ช่วยเหลือแบ่งเบางานด้านเยี่ยมเยียนและพิธีกรรม กับงานสอนคำสอน
 
ปี ค.ศ.1981 สามเณรใหญ่จากบ้านเณรแสงธรรมอีก 2 คน เริ่มมาช่วยงานคำสอนและมีเรื่อยมาจนถึงประมาณ ปี ค.ศ.1998 หลังจากนั้นจะมีเณรมาช่วยเป็นบางปี
 
ปี ค.ศ.1983 ซื้อที่ดินด้านหลังอีก 6 ไร่  เพื่อเตรียมสร้างวัดใหม่
 
ปี ค.ศ.1985 สัตบุรุษที่อยู่ตามบ้านจัดสรร และย้ายมาอยู่ใหม่ก็เริ่มเป็นสมาชิกของวัดสวนผัก ในปีนี้เอง คุณพ่อชัชวาล ศุภลักษณ์ ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ที่โรงเรียนโยนออฟอาร์ค พาณิชยการ ด้มาช่วยถวายมิสซาวันอาทิตย์ เนื่องจากสุขภาพ ของคุณพ่อกิมฮั้งไม่ค่อยแข็งแรงนัก เพราะเป็นโรคหัวใจ
 
2. คุณพ่อเปโตร ชัชวาล  ศุภลักษณ์  
ได้รับมอบหมายให้มาดูแลวัดนี้ ปี ค.ศ. 1988 - 1989
 
ปี ค.ศ.1988 คุณพ่อเปโตร ชัชวาล ศุภลักษณ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลวัดสวนผัก แทนคุณพ่อกิมฮั้ง จึงมาอยู่ประจำที่วัด คุณพ่อริเริ่มให้สัตบุรุษอดออมเงินเพื่อให้สมทบทุนในการสร้างวัดใหม่ในปีนี้เอง ได้ซื้อที่ดินเพิ่มทางด้านหน้าติดกับถนนสวนผัก จากนายไพฑูรย์ จริยะธนา เนื้อที่ 4 ไร่ เพื่อเตรียมสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กในเขตนี้ต่อไป 
 
3.  คุณพ่อโยเซฟ ศุภศิลป์  สุขสุศิลป์
ได้รับมอบหมายให้มาดูแลวัดนี้ ปี ค.ศ. 1989 - 1990
 
ปี ค.ศ.1989 คุณพ่อโยเซฟ ศุภศิลป์ สุขสุศิลป์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสแทนคุณพ่อชัชวาล ซึ่งย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบางเชือกหนัง (ในช่วงต้นปีนี้เอง สุขภาพของคุณพ่อกิมฮั้ง ทรุดลงมาก และพระได้ยกคุณพ่อไปอยู่กับพระองค์ในวันที่ 2 กรกฎาคม) ต่อมาคุณพ่อศุภศิลป์ ตั้งสภาอภิบาลวัดขึ้น  มีกรรมการ 12 คน เพื่อให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและช่วยกิจการต่างๆ ของวัด รวมทั้งตั้งกลุ่มเยาวชนของวัดด้วย 
 
4. คุณพ่อเปโตร ชัชวาล  ศุภลักษณ์  
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1990 - 1996
 
ปี ค.ศ.1990 คุณพ่อเปโตร ชัชวาล ศุภลักษณ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส (ครั้งที่สอง) และให้ทำงานที่สภาเยาวชนคาทอลิกแห่งประเทศไทยด้วย คุณพ่อชัชวาล ร่วมกับสภาอภิบาลของวัดได้เรียนเชิญพระคาร์ดินัล มีชัย  กิจบุญชู มาถวายมิสซาเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีที่สร้างวัดนี้ เป็นโอกาสดีที่สัตบุรุษได้พบปะกับ พระคาร์ดินัลในบรรยากาศที่อบอุ่น และร้องขอพระคาร์ดินัลอยากจัดงานฉลองประจำปีเหมือนวัดอื่น หลังจากนั้นอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้ตั้งชื่อวัดนี้อย่างเป็นทางการว่า “วัดศีลมหาสนิท” มีความหมายเดียวกับชื่อเดิม “วัดพระสัตถา” แปลว่า “พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในศีลมหาสนิท” เพื่อให้สัตบุรุษทุกคนมีความรักความศรัทธาและถวายเกียรติต่อพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทและจัดงานฉลองวัดตรงกับวันฉลอง “พระคริสตกายา”
 
ปี ค.ศ.1991 มีการขยายตัววัดซึ่งคับแคบ เพราะสัตบุรุษเริ่มมาวัดมากขึ้น ประกอบกับยังไม่เคยมีการเสกวัด และสัตบุรุษที่อื่นก็ยังไม่รู้จักวัดนี้ ดังนั้นคุณพ่อชัชวาลร่วมกับสภาอภิบาลได้มีมติให้จัดพิธีเสกและฉลองตามที่วัดมีชื่ออย่างเป็นทางการแล้ว จึงจัดงานฉลองวัดครั้งแรกในวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน ค.ศ.1991เวลา 10.00 น. โดยพระคาร์ดินัล  มีชัย กิจบุญชู เป็นประธาน นับเป็นปีที่ 18 ของการสร้างวัดนี้
 
ปี ค.ศ.1993 เดือนมิถุนายน เวลา 10.00 น. คุณพ่อชัชวาล ร่วมกับสภาอภิบาลจัดงานฉลองวัดครบ 20 ปี และฉลองการบวชเป็นพระสังฆราชครบ 20 ปี ของพระคาร์ดินัล  มีชัย กิจบุญชู เนื่องจากวัดนี้สร้างขึ้นในปีที่พระคาร์ดินัล บวชเป็นพระสังฆราช (ปี ค.ศ.1973)
 
5. คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ พงศ์เทพ  ประมวลพร้อม 
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1996 - 1999
 
ปี ค.ศ.1996 คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ พงศ์เทพ ประมวลพร้อมได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส แทนคุณพ่อชัชวาล ซึ่งอยู่ครบวาระ 6 ปีที่วัดนี้ และย้ายไปเป็นหัวหน้าแผนกงานอภิบาลผู้เดินทะเล
 
วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน ค.ศ.1998 เวลา 10.00 น. คุณพ่อพงศ์เทพร่วมกับสภาอภิบาล จัดงานฉลองวัดครบ 25 ปี และฉลองการบวชเป็นพระสังฆราชครบ 25 ปี ของพระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชูโดยพระคาร์ดินัล เป็นประธาน โอกาสพิเศษนี้ได้จัดพิธีโปรดศีลกำลัง และศีลมหาสนิทอย่างสง่าแก่สัตบุรุษ
 
6. คุณพ่อฟรังซิสเซเวียร์ อนุรัตน์  ณ สงขลา
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1999 - 2004
 
ปี ค.ศ. 1999 คุณพ่อฟรังซิส เซเวียร์ อนุรัตน์ ณ สงขลา ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส แทนคุณพ่อยอห์น บับติสต์ พงศ์เทพ ประมวลพร้อม ได้ดำเนินการพัฒนางานอภิบาลสัตบุรุษ จัดสำรวจทะเบียนคริสตชนและพัฒนากิจการด้านต่างๆ กับพัฒนาอาคารสถานที่พักและภายในวัดอย่างเหมาะสม สวยงาม
 
ทางราชการได้ตัดถนนราชพฤกษ์ ผ่านบริเวณที่ดินของวัดแปลงหนึ่ง ซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่ง ตรงข้ามกับที่ตั้งของวัด ด้านซอยสวนผัก 5 หรือซอยราชพฤกษ์ 36 ส่งผลให้การเดินทางโดยรถยนต์สะดวกมากขึ้นอย่างมาก มีหมู่บ้านจัดสรรใหญ่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นจำนวนมาก ถนนราชพฤกษ์เป็นถนนเชื่อมต่อถนนกัลปพฤกษ์ ถนนเพชรเกษม(บริเวณบางไผ่ บางหว้า) ถนนบรมราชชนนี บริเวณซอย 46 เยื้องกับสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน ตัดผ่านถนนสวนผัก บริเวณซอย 7 - 9 มีทางยกระดับข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ผ่านถนนนครอินทร์ ไปจังหวัดปทุมธานี และเชื่อมต่อเส้นทางไปตำบลบางม่วง ตำบลบางใหม่ ตำบลมหาสวัสดิ์ จ.นนทบุรี บรรจบกับถนนกาญจนาภิเษก หรือพุทธมณฑล สาย 1, สาย 2 ทำให้การคมนาคมสะดวกมากยิ่งขึ้น ประชาชนย้ายเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก มีศูนย์การค้าและแหล่งชุมชนขยายตัวมากขึ้น 
 
7. คุณพ่อยอแซฟ จินตศักดิ์  ยุชัยสิทธิกุล
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2004 - 2009
 
ปี ค.ศ. 2004 คุณพ่อยอแซฟ จินตศักดิ์ ยุชัยสิทธิกล ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส แทนคุณพ่อฟรังซิส เซเวียร์ อนุรัตน์ ณ สงขลา ได้ดำเนินการพัฒนางานอภิบาลสัตบุรุษ จัดสอนคำสอน และเริ่มโครงการเลี้ยงอาหารสามเณรใหญ่และชีลับ คณะคาร์แมล และคณะคาปูชิน ที่สามพราน
 
8. คุณพ่อเปโตร สุรพันธ์  ดาวพิเศษ
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2009 - 2013
 
ปี ค.ศ. 2009 คุณพ่อเปโตร สุรพันธ์ ดาวพิเศษ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส
 
ปี ค.ศ. 2011 คุณพ่อเจ้าอาวาสร่วมกับสภาภิบาลฯ จัดพิธีเสกและวางศิลาฤกษ์วัดหลังใหม่ ในโอกาสวันฉลองวัดประจำปี 
 
9. คุณพ่อวิวัฒน์ แพร่สิริ
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2013 - 2021
 
ปี ค.ศ. 2013 คุณพ่อยอห์น บัปติสตา วิวัฒน์ แพร่สิริได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ย้ายมาจากวัดนักบุญยอแซฟ องค์อุปถัมภ์ของกรรมกรสากล คุณพ่อได้ร่วมกับสภาภิบาลฯ จัดงานฉลองวัด ในวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 2013 โดยพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เป็นประธาน

สภาพของวัดศีลมหาสนิทและชุมชนวัดมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการเดินทางและสภาพทำเลของวัด ที่ตั้งของวัดจากเดิมที่อยู่ซอย 5 หรือเข้าทางซอย 7 ซอยเทพประวิทย์ จึงเปลี่ยนทำเลที่ตั้งอยู่ริมถนนสวนผัก ไม่ได้อยู่ในซอย 5 และ 7 ดังเดิม และอยู่ติดหน้าถนนราชพฤกษ์ ปากซอยราชพฤกษ์ 34 ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานี(อู่)รถเมล์ ขสกม. สาย 89 (สวนผัก - เทคนิคกรุงเทพฯ ถนนนราธิวาสฯ) ทางราชการได้ตัดถนนสายหลัก ได้แก่ ถนนพระบรมราชชนนี ผ่านถนนสวนผัก บริเวณบางขุนนนท์ วัดชัยพฤกษ์มาลาราชวรวิหาร ตลิ่งชัน ถนนราชพฤกษ์ ตัดผ่านถนนสวนผัก ซอย 7 และซอย 9 ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ตัดผ่านถนนสวนผัก ซอย 40 ถนนกาญจนาภิเษก ตัดผ่านถนนสวนผัก ซอย 52 จึงมีหมู่บ้านจัดสรรและอาคารพาณิชย์เพิ่มจำนวนมากขึ้น ประชาชนย้ายเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มจำนวนมากขึ้น

อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ โดยพระอัครสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ได้ดำเนินการสร้างวัดหลังใหม่ ตามหนังสืออนุญาตก่อสร้างวัดจากกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 2013 เริ่มลงมือก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2013 คาดว่าจะสร้างเสร็จภายในปี ค.ศ. 2015

ปี ค.ศ. 2014 จัดงานฉลองวัดประจำปี ในวันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2015 โดยพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เป็นประธาน พระสังฆราชกิติคุณ ยอแซฟ สังวาลย์ ศุระศรางค์ มีพระภิกษุ เจ้าอาวาสวัดชัยพฤกษ์มาลา ได้ส่งรองเจ้าอาวาสมาร่วมพิธีมิสซา มีผู้อำนวยการเขตตลิ่งชัน และผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน กทม. ได้ส่งรองผู้กำกับฯ มาร่วมพิธีมิสซา และมีพี่น้องสัตบุรุษมาร่วมฉลองจำนวนมาก
 
มีคริสตชนรุ่นใหม่จากประเทศเวียดนามมาร่วมมิสซาวันอาทิตย์สัปดาห์ละ 60 - 80 คน และมิสซาภาษาเวียดนามเดือนละครั้ง ประมาณ 150-180 คน
 
ปี ค.ศ. 2016 จัดงานครอบครัวชุมชนวัดศีลมหาสนิท วันอาทิตย์ที่ 2 เดือนมกราคม มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 340 คน โต๊ะจีน แจกของที่ระลึกแก่ทุกครอบครัว และแจกของขวัญจากลุงซานต้า ให้เด็กๆ ผู้ทำดีในรอบปีที่ผ่านมาและเขียนจดหมายถึงลุงซานต้า เด็กๆ ชอบและดีใจมาก ตั้งใจทำดีและวาดภาพความหวังให้ตนเองในปีต่อไป มีเยาวชนเขียนจดหมายของขวัญ จำนวน 5 คน
 
- งานวันฉลองตรุษจีน มีแจกส้ม และอั่งเปา แก่ทุกคนที่มาร่วมมิสซา สัตบุรุษพร้อมใจกันแต่งชุดชาวจีนสีแดงมาร่วมเป็นจำนวนประมาณ 200 คน
 
- เลี้ยงอาหารสามเณรเล็กและใหญ่ สามเณรคณะนักบวชชีลับ จัดเลี้ยงอาหารสามเณรเล็ก 3 แห่ง (บ้านเณรนักบุญยอแซฟ สามพราน, บ้านเณรคณะรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ และบ้านเณรคณะธรรมทูตมารีย์นิรมล) และสามเณรใหญ่ 1 แห่ง กับซิสเตอร์อารามชีลับ สามพราน 2 แห่ง รวม 6 แห่ง พร้อมเงินทำบุญ
 
- สอนคำสอนภาคฤดูร้อน มีเด็กเยาวชนมาเรียนคำสอน ประมาณ 23 คน เตรียมรับศีลมหาสนิท ศีลกำลังและศีลสง่า จัดค่ายคำสอนและค่ายปัสกาให้เยาวชนได้ฝึกจิตภาวนา มีบทบาทในการนำสวดภาวนาและร้องเพลง อ่านบทอ่านในมิสซา และเป็นผู้นำในกิจกรรมงานต่างๆ เช่น ร้องเพลงเต้นรำและการแสดงในงานคริสตมาสแฟร์ สงกรานต์ สมโภชปัสกา ฯลฯ ทุกคนยินดีและมีความสุขมาก
 
- ค่ายคำสอนและค่ายปัสกา ได้รับความร่วมมืออย่างมากจากกรรมการสภาภิบาลวัดและสัตบุรุษ
 
- พิธีกรรมสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ มีผู้แทนอัครสาวกระดับผู้ใหญ่ตอนต้น และจัดพิธีเดินรูป 14 ภาคนอกวัด เปิดโอกาสให้ครอบครัวเป็นผู้แบกกางเขน เดินรูป 14 ครอบครัว บรรยากาศเหมาะสม สัตบุรุษร่วมพิธีอย่างศรัทธา คณะทำงานได้ปรับเส้นทางเดินรูปให้เหมาะสม เรียบร้อย มีป้ายและสถานที่ตั้ง 14 ภาคเป็นระเบียบเรียบร้อย
 
- จัดส่งผู้แทนสัตบุรุษ 3 คน วัดให้ทุคนส่วนหนึ่ง ประมาณ 2 ใน 3 ส่วน  ผู้ไปศึกษาออกเงินสมทบ 1 ใน 3 ส่วน และมีสัตบุรุษผู้ใหญ่ร่วมสมทบอีก 1 คน จ่ายเงินเองทั้งหมด ไปศึกษาเพิ่มเติมพระวรสารนักบุญยอห์น ที่ประเทศอิสราเอล จัดโดยอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ นำโดย คุณพ่อสมเกียรติ ตรีนิกร แผนกพระคัมภีร์
 
- สัมมนาสภาภิบาลวัด จัดศึกษาสัมมนางานอภิบาลด้านชีวิตครอบครัวและงานอภิบาลเยาวชน ความเชื่อในบริบทพระคัมภีร์และการประกาศข่าวดี ความไว้วางใจ และความรัก เน้นกิจเมตตาช่วยเหลือเพื่อนบ้าน และวางกำหนดการโร้ดแม็ปแบ่งปันพระวาจาคริสตชนกลุ่มเล็กรวมทั้งบริหารหลังมิสซาวันอาทิตย์ บรรยากาศดี รับใช้ช่วยเหลือ รู้จักกันแบบครอบครัวเดียวกัน มีเจ้าภาพเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ บางคนได้บริจาคเงินสมทบล่วงหน้า
 
- คริสตชนกลุ่มเล็ก มีส่วนร่วมในพิธีกรรมวันอาทิตย์
 
จัดทำทะเบียนครอบครัวคริสตชนอย่างเป็นระบบ และเชิงระบบ โดยใช้สารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และความร่วมมือของสัตบุรุษอย่างเป็นขั้นตอน
 
- จัดทำรูปปั้นและอนุสาวรีย์สำหรับคุณพ่อยอห์น บัปติสตา กิมฮั้ง แซ่เล้า พระสงฆ์ผู้ก่อตั้งวัดศีลมหาสนิท โอกาสครบ 100 ปี และจัดสวนหย่อมรอบๆ สำเร็จเรียบร้อย มีพิธีเสกรูปปั้นคุณพ่อในวันฉลองวัดประจำปี 26 มิถุนายน 2016 เพื่อสอนและเป็นศูนย์รวมจิตใจพี่น้องสัตบุรุษ ลูกหลานเยาวชนให้รักกตัญญูและมีจิตใจติดตามพระเยซูเจ้าผ่านทางพระสงฆ์ผู้มีพระคุณต่อวัด 
 
- แม่บ้านสัตบุรุษในโซนสวนแดน มีน้ำใจดี ช่วยจัดอาหารว่าง ขนมเลี้ยงสัตบุรุษเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ และครอบครัวจิตรพรทรัพย์ ช่วยจัดงานสอยดาวเป็นปีที่ 3 เยาวชนพร้อมใจกันกับกรรมการสภาภิบาลวัด จัดกิจกรรม การแสดงในโอกาสสมโภชพระคริสตสมภพ วัดฉลองวัดและสมโภสปัสกาอย่างสมพระเกียรติ 
 
- งานช่วยเหลือผู้ยากไร้และสงเคราะห์ มีสมาชิกเพิ่ม 6 คน ปฏิบัติกิจเมตตาช่วยเหลือผู้ยากจนในชุมชนเขตตลิ่งชัน และช่วยเหลือด้านให้ทุนการศึกษาเยาวชนของวัดฯ จำนวน 3 คน
 
พิธีเสกวัดศีลมหาสนิท หลังใหม่ วันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 2017
หลังงานฉลองวัดประจำปี ค.ศ.2017 ในห้วงเวลาที่ชุมชนวัดกำลังเตรียมจัดสมโภชพระคริสตสมภพอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ โดยอุปสังฆราช คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม และพระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช กำหนดให้ทางวัดจัดเตรียมพิธีเสกระฆังชุดใหม่จำนวน 12 ใบ ในวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 2017 คณะสัตบุรุษจึงได้จัดเตรียมพิธีเสกระฆังในบรรยากาศฉลองคริสต์มาส ทุกคนมีความยินดี จัดงานฉลองกันด้วยชุดเสื้อผ้า ฉลองคริสต์มาส และชุดการแสดงละครคริสต์มาสที่จัดขึ้นในตอนเย็น
 
 
 
พิธีอำลาวัดหลังเก่า สู่วัดหลังใหม่ วันที่ 18 พฤศจิกายน  ค.ศ. 2018
 
สัตบุรุษวัดศีลมหาสนิทได้ร่วมใจกันจัดพิธีอำลาวัดหลังเก่า สู่วัดหลังใหม่ โดยเชิญพระสังฆราช ยอแซฟ พิบูลย์ วิสิฐนนทชัย แห่งสังฆมณฑลนครสวรรค์ ศิษย์คุณพ่อยวง บัปติสตา กิมฮั้ง แซ่เล้า เป็นประธานพิธีบูชาขอบพระคุณ มีคุณพ่อยวง บัปติสตา วิวัฒน์ แพร่สิริ เจ้าอาวาสร่วมพิธีด้วย หลังพิธีมิสซามีพิธีแห่พระเมตตาของพระเยซูเจ้า และแห่แม่พระ เพื่อขอองค์พระผู้เป็นเจ้า และพระมารดามารีย์ พระมารดาแห่งพระศาสนจักร ได้นำพวกเราทุกคนไปสู่วัดหลังใหม่หรือพระวิหารของพระเจ้าอย่างดีและสง่า นอกจากนี้วันอำลานี้ซึ่งเป็นวันคนยากจนสากล ตามดำริของพระสันตะปาปาฟรังซิส ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 33 เทศกาลธรรมดา กลุ่มคริสตชน 28 กลุ่มแห่งวัดศีลมหาสนิทได้เชิญเพื่อนบ้าน คนยากจนในละแวกหมู่บ้านมาเป็นแขกของชุมชนของเรา เลี้ยงอาหาร และมอบปัจจัยเงินเป็นกำลังใจในชีวิตและหน้าที่เลี้ยงดูครอบครัว มีความยากจนผู้ได้รับเชิญชายและหญิงมาร่วมงานจำนวน 34 คน ขอบพระคุณพระเป็นเจ้า และขอพระเจ้าทรงโปรดอวยพรชีวิตของเรา ครอบครัวของเรา งานพิธีเสกวัดใหม่และงานชุมนุมเคารพศีลมหาสนิท อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ให้ภารกิจทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จเป็นคารวกิจถวายเกียรติแด่พระเป็นเจ้าผู้สูงสุด
 
 
 
พิธีเสกวัดศีลมหาสนิท หลังใหม่ วันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 2018
 
ทางวัดได้จัดโครงการ “100 วันอาทิตย์ เตรียมชีวิต สู่งานเฉลิมฉลอง 350 ปี มิสซังสยาม” (ค.ศ. 2018-2019) และหลังจัดงานฉลองวัดประจำปี ค.ศ. 2018 พระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ได้นัดพบเจ้าอาวาสและสภาภิบาลวัดศีลมหาสนิท เรื่องการเสกวัดใหม่ พระคุณเจ้าได้กำหนดให้เป็นงานระดับอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และจัดงานชุมนุมเคารพศีลมหาสนิท อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ควบคู่กัน เป็น 2 ฉลองใน 1 งาน พระคุณเจ้าได้มอบหมายให้เจ้าอาวาสละคณะสัตบุรุษเป็นเจ้าภาพจัดงาน กำหนดจัดในวันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2018 ซึ่งเป็นงานใหญ่ในความรับผิดชอบของวัดเล็กที่กลายเป็นวัดสาธารณะขนาดใหญ่ มีพันธกิจแห่งพระวรสาร รักและรับใช้ปวงชน เพื่อนำพาทุกคนสู่ชีวิตศักดิ์สิทธิ์ และอาณาจักรสวรรค์ที่พระเจ้าทรงสัญญาและจัดเตรียมแล้วไว้ให้แก่มนุษย์ทุกคน
 
ปี ค.ศ. 2017 งานวัดครอบครัวชุมชนวัดศีลมหาสนิท
 
- จัดเลี้ยงอาหารสามเณรเล็กและใหญ่ สามเณรคณะนักบวชและชีลับ  จัดเลี้ยงอาหารสามเณรเล็ก 4 แห่ง (บ้านเณรนักบุญยอแซฟ สามพราน, บ้านเณรคณะรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ บ้านเณรคณะเยสุอิตและบ้านเณรคณะธรรมทูตมารีย์นิรมล) และสามเณรใหญ่ 1 แห่ง กับซิสเตอร์อารามชีลับ สามพราน 2 แห่ง รวม 7 แห่ง 
 
- จัดส่งผู้แทนสัตบุรุษ 3 คน วัดให้ทุนส่วนหนึ่ง ประมาณ 2 ใน 3 ส่วน ผู้ไปศึกษาออกเงินสมทบ 1 ใน 3 ส่วน ต่อเนื่องจากปี ค.ศ. 2016 ไปศึกษาเพิ่มเติม พระวรสารนักบุญยอห์น ที่ประเทศอิสราเอล จัดโดยอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ นำโดยคุณพ่อสมเกียรติ ตรีนิกร แผนกพระคัมภีร์
 
- สัมมนาสภาภิบาลวัดศีลมหาสนิท จัดการศึกษาสัมมนางานอภิบาลด้านชีวิตแบบวอล์ค แรลลี่ 
 
- จัดทำทะเบียนครอบครัวคริสตชนอย่างเป็นระบบ และเชิงระบบ โดยใช้สารสนเทศคอมพิวเตอร์ และความร่วมมือของสัตบุรุษอย่างเป็นขั้นตอน ปรากฏว่าระบบของส่วนกลางไม่สามารถทำงานเป็นปกติ จึงใช้ระบบเดิม
 

ปี ค.ศ. 2018 จัดงานวันครอบครัวชุมชนของวัดในวันที่ 14 มกราคม , งานวันฉลองตรุษจีน ,เลี้ยงอาหารสามเณรเล็กและใหญ่ สามเณรคณะนักบวชและชีลับ รวม 7 แห่ง , สอนคำสอนภาคฤดูร้อนมีเด็กเยาวชนมาเรียนคำสอน ประมาณ 39 คน , ค่ายคำสอนและค่ายปัสกาเด็กเยาวชน ประมาณ 27 คน และผู้ใหญ่ 10 คน

พิธีเสกวัดใหม่ และชุมนุมเคารพศีลมหาสนิท อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ในวันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน มีสัตบุรุษประมาณ 3,000 คน โดยพระคาร์ดินัลเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช เป็นประธานในพิธี

หลังพิธีเสกวัดฝ่ายรับผิดชอบก่อสร้างได้นำตู้ศีลของวัดใหญ่และวัดน้อยไปซ่อมแซม และเตรียมการส่งมอบอาคารของวัดและเครื่องใช้ อุปกรณ์แก่ทางวัด

กลุ่มครอบครัว กลุ่มพระเมตตา ที่จัดตั้งเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริมสัตบุรุษศรัทธา รู้จักและช่วยเหลือกันและกัน ตามลำดับและโอกาสเหมาะสม สามารถดำเนินการได้อย่างดีพอสมควร

ปี ค.ศ. 2019 วัดศีลมหาสนิทได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเขตตลิ่งชัน และหน่วยราชการต่างๆ มีความสัมพันธ์ ดีกับชุมชนรอบปริมณฑลของวัด รวมทั้งวัดพุทธศาสนา และมัสยิด สวนผัก
 
- วัดได้เริ่มโครงการชุมชนสัมพันธ์อย่างมีเป้าหมายและขั้นตอน เริ่มจากกิจกรรมสัมพันธ์ ตั้งแต่ ค.ศ. 1986 จนปัจจุบัน เชิญชวนเพื่อนบ้านในชุมชนมาร่วมฉลองคริสตมาสเป็นประจำทุกปี และเชิญคนยากจนมารับเลี้ยงอาหาร ในโอกาสวันคนยากจนสากล  ตามพระดำริของสมเด็จพระสันตะปาปา ตั้งแต่ ค.ศ. 2017 ในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 33 เทศกาลธรรมดาของปี
 
- วัดกำลังเตรียมจัดใช้วัดหลังเก่าเป็น "ศูนย์สงเคราะห์" และ "ศูนย์เยาวชน" กับใช้อาคารและห้องทำงาน ห้องประชุมชั้นใต้ดินวัดใหม่ เปิดบริการจัดงานและกิจกรรม เช่น ค่ายคำสอน ค่ายเยาวชน 
 
- วันที่ 13 มกราคม จัดงานวันครอบครัวชุมชนวัดศีลมหาสนิท, งานวันฉลองตรุษจีน, เลี้ยงอาหารสามเณรเล็กและใหญ่ สามเณรคณะนักบวชและชีลับ รวม 7 แห่ง , สอนคำสอนภาคฤดูร้อน มีเด็กเยาวชนมาเรียนคำสอน ประมาณ 42 คน , ค่ายคำสอนและค่ายปัสกาเด็กเยาวชนวัด
 
- ฉลองวัดประจำปี วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน โดยคุณพ่อสุเทพ พงษ์วิรัชไชย เป็นประธาน 
 
- ปรับพัฒนาการจัดทำทะเบียนครอบครัวคริสตชนอย่างเป็นระบบ และเชิงระบบ โดยใช้สารสนเทศคอมพิวเตอร์ และความร่วมมือของสัตบุรุษอย่างเป็นขั้นตอน ปรับเขตพื้นที่ของครอบครัวคาทอลิกจากเดิม เป็นยึดถนนเป็นหลัก และเขตพื้นที่ของราชการ จัดถ่ายภาพครอบครัวคาทอลิก สมาชิกของวัด และปรับสมาชิกกลุ่มคริสตชนในแต่ละเขตใหม่ตามแนวทางข้างต้น ปรากฏว่าระบบของส่วนกลางไม่สามารถทำงานเป็นแหล่งข้อมูลตามปกติ จึงใช้วิธีการผสมผสานระบบเดิมกับแนวทางใหม่
 
ปี ค.ศ.2020  - จัดงานวันครอบครัววัดศีลมหาสนิทประจำปี,  งานวันฉลองตรุษจีน
 
- งดสอนคำสอนภาคฤดูร้อน ค่ายคำสอน พิธีกรรมสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์  ฉลองวัดประจำปี  งานคริสตมาสแฟร์ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
 

คุณพ่อประยุทธ ศรีเจริญ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2021 - 2023

คุณพ่อวินัย ฤทธิบุญไชย ช่วยงานอภิบาล ปี ค.ศ. 2021- 2024

- วันที่ 6 มีนาคม มิสซาแรก ในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดของคุณพ่อประยุทธ ศรีเจริญ และคุณพ่อวินัย ฤทธิบุญไชย

- วันที่ 29 มีนาคม - 8 เมษายน สอนคำสอนของเด็กๆ ชั้นศีลมหาสนิท ศีลกำลัง และศีลสง่า

- วันที่ 25 เมษายน สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลปัสกา ฉลองนายชุมพาบาลที่ดี พิธีโปรดศีลกำลัง พิธีรื้อฟื้นคำสัญญาแห่งศีลล้างบาป และการรับศีลมหาสนิทครั้งแรก

- วันที่ 6 มิถุนายน ฉลองวัด สมโภชพระกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้า โดยคุณพ่อปิยะชาติ มะกรครรภ์ อุปสังฆราช

- วันที่ 1-3 กันยายน พิธีมิสซาตรีวาร (ออนไลน์) โอกาสครบ 100 ปี คณะพลมารีย์ เวลา 18.00 น.  โดยคุณพ่อชวลิต กิจเจริญ

- วันที่ 1-31 ตุลาคม สวดสายประคำเดือนแม่พระลูกประคำ Live ทางเพจชุมชนคริสตชนวัดศีลมหาสนิท

- วันที่ 20 พฤศจิกายน วัดจัดเข้าเงียบฟื้นฟูจิตใจ สภาภิบาล กลุ่มองค์กรฆราวาสแพร่ธรรม และสัตบุรุษในหัวข้อ “ความเป็นหนึ่งเดียวกัน และก้าวไปด้วยกัน” โดยคุณพ่อสมเกียรติ ตรีนิกร และคุณพ่อชวลิต กิจเจริญ เป็นผู้ให้การอบรม

- วันที่ 4 ธันวาคม พิธีบูชาขอบพระคุณฉลอง 95 ปี คณะอัศวินแห่งศีลมหาสนิท ณ วัดศีลมหาสนิท ทุกวันเสาร์ สัปดาห์ที่ 3 ของทุกเดือน เวลา 16.00 -17.00 น. ที่ตึกเบธานี คุณพ่อชวลิต กิจเจริญ เปิดสอนคำสอนครอบครัว สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง เรียนร่วมกับบุตรหลาน เพื่อให้ครอบครัวของเรามีภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตในสังคมยุคปัจจุบัน โดยมีพระวาจาเป็นจุดศูนย์กลางในชีวิตครอบครัวของเรา

- ในช่วงระบาดของโรคติดต่อ โควิด-19  เป็นต้นมา ทางวัดได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม EVERGREEN ในการเริ่มต้นจัดทำ “ถุงปันรัก” ประกอบไปด้วยข้าวสาร อาหารแห้ง บะหมี่แห้ง เพื่อให้พี่น้องสัตบุรุษในวัดช่วยกันนำถุงปันรักไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องผู้ยากไร้ที่ประสบปัญหาในบริเวณชุมชนรอบๆ วัด อีกทั้งยังได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากพี่น้องสัตบุรุษร่วมบริจาคทรัพย์ในการซื้อเครื่องบริโภคเพื่อใส่ในถุงปันรัก จนกระทั่งทำให้เกิดโครงการ “เวชภัณฑ์ปันรัก” ซึ่งประกอบด้วยยาสามัญประจำบ้านประกอบด้วยยาฟ้าทลายโจร ยาขมิ้นชัน ยาพารา เครื่องวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ บรรจุใส่กล่องเพื่อนำไปมอบให้กับพี่น้องผู้ยากไร้ที่ติดเชื้อโรคระบาดด้วย

ปี ค.ศ. 2022

- วันที่ 8 มกราคม เริ่มจัด “คำสอนสำหรับครอบครัว” โดยเชิญชวนสัตบุรุษของวัด ให้นำลูกหลานมาเรียนคำสอนร่วมกับผู้ปกครอง ทุกวันเสาร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน

- วันที่ 24 มกราคม เจ้าหน้าที่จากกรมศาสนาขอเข้าเยี่ยมชมวัดอย่างเป็นทางการ คุณพ่อชาญชัยร่วมกับคุณพ่อประยุทธ เป็นผู้นำเยี่ยมชมและแนะนำวัด

- วันที่ 14 กุมภาพันธ์ กลุ่ม EVERGREEN ร่วมกับ คุณพ่อเจ้าอาวาส สมาชิกสภาภิบาล และสมาชิกกลุ่มอาสาโคเออร์ของวัด โดยความร่วมมือของสัตบุรุษของวัดที่ร่วมบริจาคทรัพย์และอาหารแห้งในการจัด “ถุงปันรัก” จำนวน 1,000 ถุง เพื่อมอบให้กับพี่น้องผู้ประสบความเดือดร้อนด้านเศรษฐกิจในชุมชนรอบๆ วัด

- วันที่ 28 มีนาคม “ค่ายคริสต์สนิท 2022” โดยมีสารเณร 2 ท่าน ครูคำสอนอาสา พี่ๆ เยาวชนของวัด มาช่วยกันสอนคำสอน และจัดกิจกรรมภายใต้การแนะนำของคุณพ่อประยุทธ และคุณพ่อเชาวลิต ให้กับเด็กๆ ของวัด ในปีนี้ มีเด็กรับศีลล้างบาป 1 คน รับศีลมหาสนิทครั้งแรก 10 คน ศีลกำลัง 4 คน และรื้อฟื้นคำสัญญาแห่งศีลล้างบาป 2 คน

- วันที่ 4 มิถุนายน ฝ่ายงานอภิบาลอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ร่วมมือกับวัดศีลมหาสนิท จัดสัมมนาวันครอบครัวของวัดในหัวข้อ “ครอบครัวเราก้าวไปด้วยกัน” โดยมีคุณพ่อพรศักดิ์ ชื่นจิตอภิรมย์ มาเป็นผู้บรรยาย มีสัตบุรุษของวัดเข้าร่วมงานจำนวน 97 คน

- วันที่ 10 กรกฎาคม วัดเริ่มจัดคอร์สคำสอนผู้ใหญ่ที่สนใจเป็นคาทอลิก และพี่น้องคริสตชนที่ต้องการทบทวนความรู้ด้านคำสอน โดยจะสอนทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.45-12.00 น. (มีผู้สนใจเป็นคาทอลิกจำนวน 36 คน ผู้สนใจทนบทวน 25 คน) โดยมีคุณพ่อวินัย คุณพ่อเชาวลิต คุณพ่อประยุทธ และบร.วีรภัทร คูหาจิต บร.วุฒิชัย ก่อไพบูลย์ถาวร สามเณรจากบ้านเณรใหญ่แสงธรรม และครูคำสอนอาสาของวัดมาช่วยสอนคำสอน

- วันที่ 21 กรกฎาคม เนื่องจากมีสัตบุรุษมาขอใช้วัด เพื่อจัดพิธีสมรสมากขึ้น ทางวัดจึงได้จัดทำระเบียบการในการจัดงานแต่งงาน และโพสต์ระเบียบการลงในเฟสบุ๊คของวัดอย่างเป็นทางการ

- วันที่ 6 สิงหาคม มหาวิทยาลัยนเรศวรขอนำนักศึกษาและอาจารย์ ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ จำนวน 67 คน ขอเข้าเยี่ยมชมวัด โดยมีคุณมาโนช สุขชัย สถาปนิกผู้ออกแบบวัด เป็นผู้บรรยายให้ความรู้

- วันที่ 30 สิงหาคม คุณพ่ออนุสรณ์ แก้วขจร นำสามเณรใหญ่แสงธรรมมาเยี่ยมชมวัด เพื่อศึกษาเรียนรู้เรื่องพิธีกรรมและศิลปะศักดิ์สิทธิ์

- วันที่ 10 กันยายน งานชุมนุม BEC ปี 2022 เลาดาโดซีกับวิถีชุมชนวัด บรรยายโดย คุณพ่อยอดชาย เล็กประเสริฐ มีการแบ่งปันความรู้เรื่องการดูแลรักษาโลกจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน มีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 130 คน

- วันที่ 2 ตุลาคม เริ่มการเฝ้าศีลทุกวันอาทิตย์ต้นเดือนเวลา 17.30 น. โดยกลุ่มอัศวินแห่งศีลมหาสนิทเป็นผู้นำสัตบุรุษร่วมเฝ้าศีล เพื่อเป็นการส่งเสริมความรักและศรัทธาต่อศีลมหาสนิท

- วันที่ 13-14 ตุลาคม ส่งเด็กช่วยมิสซาไปร่วมค่ายกระแสเรียกที่บ้านเณรยอแซฟ สามพราน จำนวน 11 คน

- วันที่ 23 ตุลาคม ร่วมแสดงความยินดีกับคริสตชนใหม่ (ผู้ใหญ่) ที่ได้รับศีลล้างบาป จำนวน 4 ท่าน

- วันที่ 29 ตุลาคม คณะกรรมการครอบครัวเขต 3 จัด “งานรื้อฟื้นศีลสมรส เขต 3” โดยมีครอบครัวเขต 3 เข้าร่วมจำนวน 29 คู่ เป็นสัตบุรุษของวัดจำนวน 19 คู่

- วันที่ 3 ธันวาคม คุณพ่อประยุทธ ศรีเจริญ คุณพ่อเชาวลิต กิจเจริญ นำสมาชิกกลุ่มนักขับร้องของวัด นำพระกุมารไปอวยพร และร้องเพลงอวยพรคริสต์มาสตามบ้านสัตบุรุษเป็นครั้งแรก หลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ลดการระบาดลง มีบ้านที่แสดงความสมัครใจรับพระกุมารจำนวน 21 หลัง

- วันที่ 11 ธันวาคม การจัดพิธีต้อนรับผู้เตรียมเป็นคริสตชน ตามกระบวนการ RCIA หลังจากผู้สมัครได้ร่วมเรียนคำสอนมาเป็นเวลา 22 สัปดาห์ โดยคุณพ่อและบราเดอร์ ร่วมกันทำเครื่องหมายกางเขน และมอบพระคัมภีร์ให้แก่ผู้สมัครจำนวน 28 คน

คุณพ่ออนุสรณ์ แก้วขจร ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2023 - ปัจจุบัน

คุณพ่อชวลิต กิจเจริญ ช่วยงานอภิบาล ปี ค.ศ. 2023 - ปัจจุบัน

ปี ค.ศ. 2023

- การเปลี่ยนเจ้าอาวาสจากคุณพ่อเปโตร ประยุทธ ศรีเจริญ เป็น คุณพ่อเปาโล อนุสรณ์ แก้วขจร

- การฉลอง 50 ปี วัดศีลมหาสนิท 

- ปรับปรุงวัดหลังเก่า

- เริ่มการก่อสร้างถนน (ทางด่วนต่างระดับ) หน้าวัด เดือนพฤษภาคม กำหนดแล้วเสร็จ 2 ปี 6 เดือน

- การจัดกิจกรรมลานปันสุข หลังมิสซาวันอาทิตย์ รอบ 08.00 น. และ 09.30 .น

 
 
  
วันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 2023 พิธีบูชาขอบพระคุณ เวลา 10.00 น.
โอกาสฉลอง 50 ปี วัดศีลมหาสนิท โดย พระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช 
 
 
รายชื่อพระสงฆ์และผู้ช่วยเจ้าอาวาส
 

ปี ค.ศ. 1962-1972

ภายใต้การดูแลของวัดบางเชือกหนัง วัดกาลหว่าและวัดบางสะแก

ปี ค.ศ. 1973-1988

คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ กิมฮั้ง แซ่เล้า คุณพ่อเป็นผู้เริ่มก่อสร้าง
และเจ้าอาวาสวัดศีลมหาสนิทองค์แรก

ปี ค.ศ. 1988–1989

คุณพ่อเปโตร ชัชวาล ศุภลักษณ์

ปี ค.ศ. 1989-1990

คุณพ่อโยเซฟ ศุภศิลป์ สุขสุศิลป์

ปี ค.ศ. 1990-1996

คุณพ่อเปโตร ชัชวาล ศุภลักษณ์ สมัยที่ 2

ปี ค.ศ. 1996-1999

คุณพ่อยอห์น บัปติสต์ พงศ์เทพ ประมวลพร้อม

ปี ค.ศ. 1999-2004

คุณพ่อฟรังซิสเซเวียร์ อนุรัตน์ ณ สงขลา

ปี ค.ศ. 2004-2009

คุณพ่อยอแซฟ จินตศักดิ์ ยุชัยสิทธิกุล

ปี ค.ศ. 2009-2013

คุณพ่อเปโตร สุรพันธ์ ดาวพิเศษ

ปี ค.ศ. 2013-2021

คุณพ่อวิวัฒน์ แพร่สิริ

ปี ค.ศ. 2021-2023

คุณพ่อประยุทธ ศรีเจริญ

ปี ค.ศ. 2023- ปัจจุบัน

คุณพ่ออนุสรณ์ แก้วขจร

พระสงฆ์ที่เคยมาทำงานระหว่างปี ขณะยังเป็นเณร (ฝึกงานอภิบาลฯ ระหว่างปี และปิดภาคเรียน)

คุณพ่อกิมฮั้ง แซ่เล้า

ปี ค.ศ. 1976

คุณพ่อไพฑูรย์ หอมจินดา, คุณพ่อทวีศักดิ์ กิจเจริญ

ปี ค.ศ.1981

คุณพ่อชัชวาล ศุภลักษณ์, คุณพ่อสันติ สุขสวัสดิ์ (สังฆมณฑลจันทบุรี),
คุณพ่อสุวนารถ กวยมงคล

ปี ค.ศ.1982

คุณพ่อชาญชัย ทิวไผ่งาม, คุณพ่อบุญเสริม เนื่องพลี, คุณพ่ออนุรัตน์ ณ สงขลา

ปี ค.ศ.1983

คุณพ่อชัชวาล ศุภลักษณ์, บร.สถาพร มังกร

ปี ค.ศ.1984

คุณพ่อสุข ศรจันทร์  (สังฆมณฑลนครราชสีมา)

ปี ค.ศ.1985

คุณพ่อนิรันดร์ ศิลามงคล, คุณพ่อศุภศิลป์ สุขสุศิลป์ คุณพ่อวิชชุกรณ์ เกตุภาพ

ปี ค.ศ.1986

คุณพ่อสุนัย  สุขชัย  คุณพ่อสุทธิชัย  บุญเผ่า

ปี ค.ศ.1987

ไม่มีเณรมาทำงานระหว่างปี

คุณพ่อชัชวาลย์

ปี ค.ศ. 1988

 

คุณพ่อ

ศุภศิลป์

ปี ค.ศ. 1989

 

คุณพ่อชัชวาลย์

ปี ค.ศ.1990

คุณพ่ออุทิศ นามโยธา (อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง)

ปี ค.ศ.1991

ไม่มีเณรมาทำงานระหว่างปี

ปี ค.ศ.1992

ปี ค.ศ.1993

คุณพ่อถนอมศักดิ์ เลื่อนประไพ

ปี ค.ศ.1994

คุณพ่ออนุชา ไชยเดช

ปี ค.ศ.1995

คุณพ่อยุทธการ ยนปลัดยศ (สังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี) 
คุณพ่อมานพ ผงละเอียด (คณะรอยแผลศักดิ์สิทธิ์)

คุณพ่อพงศ์เทพ

ปี ค.ศ.1996

คุณพ่อโกวิท จันทรังษี (ส.ท่าแร่), คุณพ่ออดิศักดิ์  กิจบุญชู, คุณพ่อเอกชัย โสรัจจกิจ

ปี ค.ศ.1997

ไม่มีเณรมาทำงานระหว่างปี

ปี ค.ศ.1998

คุณพ่อประสิทธิ์ ตันเจริญ, คุณพ่อธนันต์ธง สุขสุทิพย์, คุณพ่อวรพจน์ วิสิฐนนทชัย,

คุณพ่ออนุรัตน์

ปี ค.ศ.1999

คุณพ่อธรรมรัตน์ เรือนงาม (ส.จันทบุรี),

ปี ค.ศ.2000

บร.(เจิ่ง, ท่าแร่), คุณพ่อ เกรียงชัย ตรีมรรคา

ปี ค.ศ.2001

บร.สามเณรใหญ่ (อส.ท่าแร่), คุณพ่อพรชัย วิลาลัย

ปี ค.ศ.2002

คุณพ่ออนุสรณ์ พงศ์สิริ, บร วิทยา ศิริถนอมวงศ์

ปี ค.ศ.2003

คุณพ่อเอกภพ ผลมูล, คุณพ่ออิทธิพล ศรีรัตนะ, คุณพ่อบุญชลัสม์ สุขสว่าง

คุณพ่อจินตศักดิ์

ปี ค.ศ.2004

บร.เทวฤทธิ์ สุขเกษม, คุณพ่อวิทยา เลิศทนงศักดิ์, คุณพ่อธนายุทธ ผลาผล

ปี ค.ศ.2005

บร.ยุทธนา วิทยานุลักษณ์, คุณพ่อธนายุทธ ผลาผล (ซ้อมเพลงฉลองวัด)

ปี ค.ศ.2006

คุณพ่อเลิศอัมพร พรมผาย, คุณพ่อบุญชรัสม์ สุขสว่าง (ซ้อมเพลงฉลองวัด)

ปี ค.ศ.2007

คุณพ่อณาณารณพ มหัตถกุล, คุณพ่อบุญชรัสม์ สุขสว่าง (ช่วยงานคริสตมาส)

ปี ค.ศ.2008

คุณพ่อสิทธิโชค แสวงกาญจน์

คุณพ่อสุรพันธ์

ปี ค.ศ.2009

บร.นฤนาท (ส.นครสวรรค์), บร.สมศักดิ์ (อส.กรุงเทพฯ)

ปี ค.ศ.2010

คุณพ่อวัชรพล กู้ชาติ (ส.จันทบุรี), คุณพ่อพนม ลือประสิทธิ์ (อส.ท่าแร่ หนองแสง)

ปี ค.ศ.2011

คุณพ่อสะอาด ประทานสันติพงษ์ (คณะเบธาราม)

ปี ค.ศ.2012

 

คุณพ่อวิวัฒน์

ปี ค.ศ. 2013

บร.ชัยณรงค์ ฤทธิ์สารพิทักษ์ (โจ) (ส.สุราษฏร์ธานี)

ปี ค.ศ. 2014

บร.ประธาน ตันเจริญ

ปี ค.ศ. 2017

คุณพ่อสหพล ตั้งถาวร 

ปี ค.ศ. 2021

คุณพ่อวินัย ฤทธิบุญไชย ช่วยงานอภิบาล

 

คุณพ่อไพริน เกิดสมุทร  พักประจำ

ปี ค.ศ. 2023  คุณพ่อชวลิต กิจเจริญ
 
 
                
 แผนที่การเดินทาง