วัดนักบุญยูดา อัครสาวก (ชินเขต)

 

วัดนักบุญยูดา อัครสาวก (ชินเขต)
 
25/79-82 ม.6 ถ.งามวงศ์วาน 43 แยก 2-25
ซ.ชินเขต 1/45 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
 
โทร. 089-036-7235 
E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
 
พ่อได้รับมอบตึกสำนักข่าวคาทอลิกแห่งเอเชีย (UCAN:Union of Catholic Asian News) จากคุณบัณฑิต ศรีพิทักษ์ เจ้าหน้าที่บริษัทสันติพิทักษ์ วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ.2015 กว่าจะพบตึกนี้ก็หลงไปห้างเซ็นทรัล ถนนแจ้งวัฒนะ หลักสี่ เพราะชื่อศูนย์อภิบาล หลักสี่ ทั้งๆ ที่ตึกนี้อยู่ใกล้ เดอะมอลล์ ถนนงามวงศ์วาน แยกพงษ์เพชร ชินเขต 1 งามวงศ์วาน 43 ซอยชินเขต 1/45 (แยก 2-25)
 
วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 2015 พระคุณเจ้าเกรียงศักดิ์  โกวิทวาณิช และคุณพ่อทนุ เจษฎาพงศ์ภักดี ได้มาเยี่ยมให้งาน หนึ่งให้เป็นศูนย์ที่นักบวชชายและนักบวชหญิงมาพักและทำงานแพร่ธรรม สองให้เป็นสำนักงานแพร่ธรรมภาคกลางวันของฆราวาสประกาศข่าวดีประจำวัด (PMG: Parish Missionary Group) และสามให้เป็นวัดสำหรับสัตบุรุษในพื้นที่
 
ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 2015 ได้ไปช่วยงานอภิบาลที่วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ เป็นเวลา 3 เดือนเต็ม ท่องไว้ว่าหกโมงครึ่งเช้าถึงสามโมงเย็น ช่วยฟังแก้บาป ทำมิสซาและสอนคำสอน สมัยคุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์ ระหว่างนั้นก็จัดบ้าน ปรับปรุงบ้านให้เข้าที่ใช้การได้ โดยมีทีมงาน ปิยะมิตร์ (ปาแมน) สุขสุธิ์  ยักษ์ริชาร์ด ปากีสถานลี้ภัย กิตติศักดิ์ (หลีเหว่ยคัง) ลาหู่นะ คุณจินตนา (น้อง) วงษ์วุฒิ แม่บ้าน และคุณสุเมธ (เก๋) พุฒเสือ สามีแม่บ้าน พักอาศัยในวัดช่วยกัน ลิฟต์เสียมานานแล้ว เพราะตึกสร้างโดยคุณพ่อบ๊อบ อัสคาริโน ใช้งาน 10 ปี ปล่อยร้างสามปี แต่ยังอยู่ในสภาพดี เพราะแม่บ้านรักษาไว้ เมื่อลิฟต์เสียจึงยกของขึ้นลงลำบากมาก เพราะตึกมีสี่ชั้นและมีชั้นหลังคาเหมือนชั้นที่ห้า
 
พ่อได้จัดทำซุ้มแม่พระเหมือนที่ได้ทำหน้าวัดแม่พระปฏิสนธินิรมลแห่งเหรียญอัศจรรย์ (วัดโรงหมู) ท่าเรือคลองเตย โดยปิยะมิตร์ (ปาแมน) ต่อมาภายหลังได้รื้อออก เมื่อทลายกำแพง ทำโรงจอดรถใหม่ เอาเครื่องปั่นไฟฟ้าออก ทำหลังคาใหม่ และทำซุ้มแม่พระใหม่ไว้มุมกำแพง โดยบริษัทรับเหมาก่อสร้างของคุณสมบูรณ์ (เล็ก) ชัยพรแก้ว ลูกคุณประภาสและมาลัย ชัยพรแก้ว สัตบุรุษวัดนักบุญยูดาของเราเอง
 
ได้ขอให้คุณมิตต์ (เหลา) กุลอนุสถาพร บริษัทไฟฟ้าประดับ วัดนักบุญมาร์โก ปทุมธานี มาติดกางเขนใหญ่ที่ยอดหัวตึก เป็นสีน้ำเงินเวลากลางวัน เป็นสีฟ้ากางคืนเพราะใส่ไฟภายใน ให้เป็นสัญลักษณ์ว่าแม่พระเรียกลูกๆ มาวัด มาหาพระเยซูคริสตเจ้า ขอบคุณคุณมิตต์และทีมงานที่ได้ช่วยทำบุญติดกางเขนให้ กว่าจะยกขึ้นไปถึงชั้นบนดาดฟ้าได้ ก็หนักมากเอาการต้องใช้หลายคนช่วยกันดึงขึ้นไป ยังจำภาพนั้นได้ 
 
ได้จัดห้องพักที่มีเดิมชั้นสามและชั้นสี่ จำนวน 12 ห้อง แบบห้องพักเดี่ยว 2 ห้อง ห้องพักเตียงคู่  8 ห้อง ห้องพักครอบครัว 2 ห้อง (เตียงคิงไซส์) และห้องพักพนักงานชั้นล่าง 2 ห้อง ห้องพักพระสงฆ์ 1 ห้อง
 
พระสังฆราชวุฒิเลิศ แห่ล้อม (สมัยนั้นเป็นอุปสังฆราช) อนุญาตให้เปิดวัดได้ มีวัดน้อยของตึกอยู่เดิม พ่อจึงได้เปิดถวายมิสซาขอบพระคุณ อาทิตย์แรก วันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 2015 เวลา 11 : 00 น.  เพราะเป็นเวลาเก็บตก   เหลื่อมกับมิสซาของวัดเซนต์จอห์น  ลาดพร้าว และวัดมารีย์สวรรค์ ดอนเมือง วันแรกมีสัตบุรุษในพื้นที่มา 8 คน มีพลมารีย์วัดพระมารดานิจจานุเคราะห์ คลองจั่น  และพลมารีย์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล โรงหมู มาร่วมมิสซา  ได้ทราบว่า คุณพ่อชวลิต กิจเจริญ บอกให้มาช่วย ขอขอบพระคุณคุณพ่อไว้ ณ ที่นี้ด้วย รวมๆ วันอาทิตย์แรกได้ 15 คน จากนั้นก็เริ่มเป็น 25…35…45 และมาเป็น 60 คน ในปัจจุบัน อีกทั้งมีกลุ่มคริสตชนเวียดนามในพื้นที่มาเข้าวัดอีกประมาณ 15-20 คน หลังมิสซามีรับประทานอาหารร่วมกันแบบเรียบง่าย เรียกว่า “วาระครอบครัวชินเขต” เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ปัสกา 27 มีนาคม ค.ศ. 2016
 
เพื่อเชิญชวนคนให้มาวัด ได้เดินไปเยี่ยมตามบ้านของสัตบุรุษ ทำโบว์ชัวร์ประชาสัมพันธ์ในโอกาสฉลองวัดต่างๆ ในเขต 2 อุดมสารรายสัปดาห์ช่วยลงเวลามิสซาและที่อยู่ตลอดหนึ่งปี ได้ทำป้ายวัดริมถนนงามวงศ์วาน และถนนซอยชินเขต 1 งามวงศ์วาน 43 และซอยชินเขต 2 งามวงศ์วาน 47 โดยคุณนรินทร์ (นก) ชัยกิจ และทีมงานกันสาดเซ็นเตอร์ ของคุณสมเกียรติ (หนุ่ม) ชัยพรแก้ว (พี่ของคุณสมบูรณ์ (เล็ก) ช่วยติดตั้ง  จึงใช้คำว่า “วัดคาทอลิกชินเขต / ศูนย์อภิบาลหลักสี่”
 
ได้ก่อตั้งคณะพลมารีย์เปรสิเดียมแม่พระองค์บรรเทาทุกข์ และต่อด้วยคณะอาสาสมัครคาทอลิกสงเคราะห์ (อาสาโคเออร์) ตามด้วยสภาภิบาลวัด โดยคุณนรินทร์ (นก) ชัยกิจ เป็นผู้อำนวยการคนแรก และต่อมาเมื่อได้มีการตั้งสภาภิบาลวัดวาระปัจจุบัน คุณภาริษา (มิน) อภิฑาวงษ์ เป็นผู้อำนวยการ
 
ได้จัดคริสต์มาสมาสามครั้งแล้ว (ปี 2015/2016/2017) เรียกว่าคริสต์มาสชุมชน โดยเชิญคนชุมชนมาร่วม มีสอยดาว สัตบุรุษมาก็มากคนชุมชนมาเป็นร้อยกว่า ครั้งที่สองเป็นคริสต์มาสในช่วงถวายอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช วัดไม่จัดสอยดาว แต่จักแจกบัตรรับของขวัญคริสต์มาสให้กับคนชรา ผู้หญิงและเด็ก เน้นคนชุมชนห้องแถว คนงานรับจ้าง คนบ้านไร้กำแพง แค้มป์คนงานก่อสร้าง ให้ผ้าขนหนูแก่คนชราและผู้หญิง ให้ตุ๊กตาแก่เด็กๆ คนมาร่วมจำนวนมา ได้จัดพิธีถวายอาลัย กล่าวสดุดีเทิดเกียรติพระองค์ท่าน ยืนสงบนิ่ง และร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีร่วมกัน แล้วรับประทานอาหารมากมายหลากหลาย ที่มีสัตบุรุษร่วมกันทำบุญ ครั้งที่สามได้จัดสอยดาวอีกครั้ง มีการแสดงของเด็กชุมชนเป็นสีสัน คริสตจักรมาร่วมส่งความสุขร้องเพลง มีประชาชนและสัตบุรุษร่วมงานจำนวนมากเช่นเคย
 
พระสังฆราชวุฒิเลิศ แห่ล้อม สมัยเป็นอุปสังฆราชได้มาเยี่ยมวัด  และพูดคุยเรื่องสภาภิบาล โดยการเชิญของคุณนรินทร์ ชัยกิจ เมื่อวันเสาร์ที่ 23 เมษายน ค.ศ. 2016 
 
พระคาร์ดินัลเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ได้มาเยี่ยมอภิบาลและถวายบูชาขอบพระคุณ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 2016 นำความชื่นชมยินดีให้กับสัตบุรุษที่มาเข้าวัดเป็นประจำ แล้วเริ่มรวมตัวกันเป็นชุมชนแห่งความเชื่อแห่งใหม่นี้เป็นอย่างยิ่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 2018 พระคุณเจ้าเกรียงศักดิ์ได้ประทานชื่อนักบุญองค์อุปถัมภ์ให้กับวัด เมื่อประกาศชื่อวัดที่ได้รับพันธกิจประกาศข่าวดีสู่ปวงชน ได้แก่ วัดนักบุญยูดา อัครสาวก ชินเขต และวัดต่างๆ อีกหลายวัด 
 
คุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร อุปสังฆราชใหม่ ก็ได้มาเยี่ยมวัดนักบุญยูดา วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน ค.ศ. 2018
 
ดังนั้นคุณพ่อผู้อภิบาล  สัตบุรุษจึงมีความยินดีที่จะฉลองนักบุญยูดา องค์อุปถัมภ์ของวัดในปีแรกที่วันอาทิตย์ตรงกับวันฉลองของท่านนักบุญ คือ วันอาทิตย์ที่  28 ตุลาคม ค.ศ. 2018 พระคุณเจ้าเกรียงศักดิ์ได้จัดให้มีบริเวณพระแท่นใหม่ทั้งหมดอย่างสวยงาม  เหมาะสมถวายสรรเสริญแด่พระผู้เป็นเจ้า และเทิดเกียรติท่านนักบุญยูดา อัครสาวก องค์บรรเทาทุกข์ผู้สิ้นหวัง สำหรับบทสวดนักบุญยูดา ได้รับการแปลโดยคุณปานจิตต์ เฮาว์ (พูนสมบัติเลิศ) ซึ่งได้ย้ายครอบครัวไปอยู่อเมริกาและได้ไปเข้าวัดนักบุญยูดาที่นั่น บทสวดนี้ได้รับการรับรองจากฝ่ายพิธีกรรมของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ โดยคุณพ่อเชษฐา ไชยเดช  (บันทึกโดย คุณพ่อยอแซฟ  อนุชา  ชาวแพรกน้อย 22 ต.ค. 2018)
 
คุณพ่อชูศักดิ์ บุญอนันตบุตร ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ. 2022 - ปัจจุบัน