-
Category: ประวัติวัดในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เขต 2
-
Published on Friday, 15 July 2016 03:39
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 29198
วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน
94 ซอยมิตตคาม ถนนสามเสน
แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทร. 0-2243-0060 ถึง 2 , 0-2243-0063 (บ้านซิสเตอร์)
โทรสาร 0-2669-7441
ประวัติหมู่บ้านมิตรคาม สามเสน
ถิ่นฐานดั้งเดิมของบรรพบุรุษชาวมิตรคาม สามเสน อยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเทพมหานคร อยู่ในประเทศซึ่งไม่ได้มีดินแดนติดต่อกับประเทศไทย เพราะเหตุใดจึงอพยพมา มาด้วยวิธีใด เป็นสิ่งที่น่าศึกษา ก่อนที่จะกล่าวถึงการอพยพเดินทางน่าจะทราบถึงสภาพสามประเทศของภูมิภาคส่วนนี้ ซึ่งมีผลต่อการอพยพโยกย้ายมาสู่หมู่บ้านมิตรคาม เสียก่อน
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประเทศเขมรอยู่ในอิทธิพลการปกครองของประเทศไทย ล่วงมาถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศญวนเริ่มขยายอำนาจมาทางประเทศเขมร และได้มีอิทธิพลในประเทศเขมรบางส่วน ญวนกับไทยจึงต้องเกิดมีความผิดพ้องหมองใจกันขึ้น
ประเทศญวนในสมัยพระเจ้า “ยาลอง” พระมหาจักรพรรดิของญวน ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 3 ของไทย ได้ให้เสรีภาพในการถือศาสนาแก่ชาวญวนอย่างเต็มที่ แต่เมื่อพระเจ้ายาลองสวรรคตในปี ค.ศ. 1820 แล้วพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ขึ้นเสวยราชสมบัติแทน ทรงพระนามว่า “พระเจ้ามินหม่าง”
ตอนต้นของรัชกาลของพระเจ้ามินหม่าง พระญาติของพระองค์ก่อนการกบฏแย่งชิงราชสมบัติ ในการปราบพวกกบฏ พระเจ้ามินหม่างทรงระแวงพระทัยว่า ชาวฝรั่งเศสช่วยเหลือพวกกบฏ จึงมีความเกลียดชังฝรั่งเศสตั้งแต่นั้นมา โดยมีฝรั่งเศสเป็นผู้นำศาสนาคริสตังค์มาเผยแพร่ในประเทศญวน พระเจ้ามินหม่างจึงต้องการปราบพวกคริสตังค์ให้หมดไปด้วย ก่อนจะลงมือปราบ พระเจ้ามินหม่างได้รับการทัดทานจาก “เลวันเหยียด” ซึ่งเป็นมหาอุปราช และเป็นผู้หนึ่งที่มีอำนาจสูงสุดทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน เคยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการปราบกบฏไกเซน ในรัชกาลของพระเจ้ายาลอง เป็นผู้ที่พระเจ้ายาลองไว้วางพระราชหฤทัย ทรงมอบหมายหน้าที่ให้คอยว่ากล่าวตักเตือนพระเจ้ามินหม่าง พระเจ้ามินหม่างจึงต้องระงับแผนการปราบปรามบรรดาคริสตังค์ไว้ก่อน
ครั้นถึง ค.ศ. 1833 พระมหาอุปราชเลวันเหยียดถึงแก่ทิวงคต พระเจ้ามินหม่างจึงเริ่มปราบปรามคริสตังค์ เริ่มต้นด้วยการห้ามชาวฝรั่งเศสเข้าประเทศ ห้ามมิให้ราษฎรญวนเข้ารีตถือคริสตังค์ ผู้ใดขัดขืนจะมีโทษถึงประหารชีวิต ดังนั้น พระสงฆ์ชาวฝรั่งเศส และคริสตังค์ชาวญวนจำนวนมาก ต้องถูกฆ่าด้วยการรัดคอบ้าง ตัดศีรษะบ้าง บ้างก็ถูกทรมานด้วยวิธีการต่างๆจนถึงแก่ความตาย
นอกจากกระทำทารุณกรรมต่อชาวคริสตังค์แล้ว พระเจ้ามินหม่างยังรับสั่งให้ขุดศพมหาอุปราชเลวันเหยียดขึ้นมาทำการประจาน เนื่องด้วยมีพระทัยเจ็บแค้นที่มหาอุปราชทัดทานพระองค์มิให้กำจัดคริสตศาสนา ยิ่งกว่านั้นยังทรงกำจัดพรรคพวกของมหาอุปราชอีกด้วย
ในขณะที่พระเจ้ามินหม่างกำลังปราบปรามบรรดาคริสตังค์อยู่นั้น พระสังฆราชตาแบรด์ ประมุขของมิสซังโคชินไชนา ได้ลี้ภัยจากการเบียดเบียนศาสนามาอยู่กรุงเทพฯ พร้อมด้วยเณรหลายคน ซึ่งพระสังฆราชตั้งใจว่าจะส่งไปสิงคโปร์บ้าง และไปเข้าบ้านเณรใหญ่ที่ปีนังบ้าง ในเวลาใกล้เคียงกันนั้น คุณพ่อกือโนต์ และคุณพ่อวีอัลล์ พร้อมด้วยเณร ภคีนี และคริสตังค์จำนวนหนึ่งก็หนีการเบียดเบียนมาลี้ภัยอยู่ที่เมืองจันทบุรีอีกด้วย
ในขณะที่ประเทศญวนกำลังประสบความยุ่งยากในการปราบปรามกบฏ และปราบบรรดาคริสตังอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะได้ประกาศให้เขมรทั้งหมด กลับมาอยู่ในอิทธิพลของไทยตามเดิม จึงโปรดเกล้าให้ พระเจ้ายาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพบกและเจ้าพระเจ้าคลัง (ดิศ บุนนาค) ซึ่งต่อมาภายหลังได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เป็นแม่ทัพเรือ ยกกองทักไปทำศึกกับญวน เพื่อนำประเทศเขมรกลับคืนมาเป็นของไทยตามเดิม
ในกองทัพเรือไทยที่จะแยกไปรบกับญวนนั้น มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่นับถือคริสต์ศาสนาอยู่สองท่าน คือพระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว) พระยาณรงค์ฤททธิโกษา ก่อนที่กองทัพจะยกไป พระยาทั้งสองได้ไปหาพระสังฆราชตาแบรต์ ขอบาทหลวงองค์หนึ่ง ไปเป็นล่ามในกองทัพ พระสังฆราชตาแบรต์เกรงว่า ถ้าจัดคุณพ่อให้ไปตามที่ขอ และทางประเทศญวนรู้เรื่อง ก็จะยิ่งทำทารุณกรรมต่อชาวคริสตังค์มากขึ้น จึงได้ยอมจัดให้ พระยาทั้งสองจึงไปพบ พระสังฆราชฟลอรังส์ ประมุขของมิสซังกรุงสยามขอพระสังฆราชให้ช่วยจัดบาทหลวงให้ พระสังฆราชจึงได้จัดให้คุณพ่อเกลมังโซ ไปกับกองทัพเรือ พระยาทั้งสองได้จัดเรือพิเศษสำหรับคุณพ่อมีทหารคริสตตังค์ 15 อยู่ในเรือลำเดียวกับคุณพ่อด้วย
กองทัพบกจำนวน 30,000 คน ออกเดินทางไปก่อน ไปถึงเมือง “ฮ่าเตียน” ซึ่งเป็นเมืองของญวนอยู่ชายแดนประเทศญวน ติดต่อกับประเทศเขมรกองทัพบกจึงยึดเอาไว้ เมื่อ วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1834 รอกองทัพเรือส่วนกองทัพเรือจำนวน 10,000 คน ยกไปทางจังหวัดจันทบุรี ผ่านจันทบุรีวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1833 หยุดพักอยู่ชั่วระยะหนึ่งจึงเดินทางต่อไป แล่นเรือเลียบฝั่งประเทศเขมรเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1834 ถึงเมืองฮาเตียนเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1834
เมื่อญวนได้ข่าวว่ากองทัพไทยยึดเมืองฮาเตียนได้แล้ว จึงส่งกองทัพเรือมาได้เกิดกับกองทัพเรือไทยขึ้น คุณพ่อเกลมังโซซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ด้วย เล่าว่าการรบครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1834 เวลาเช้า การสู้รบดำเนินไปตลอดทั้งวันตั้งแต่เข้าจนถึงค่ำ ในแควสองสายของแม่น้ำสายใหญ่ ใต้เมือง “เจาด๊ก” ทหารญวนเป็นฝ่ายแพ้ กองทัพเรือไทยจึงได้ไล่ติดตามไปประมาณ สาม สี่วัน ก็เกิดยุทธนาวีใหญ่ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ต่อสู้กันถึงห้าวัน ถ้าคืน ในที่สุดกองทัพเรือไทยได้ชัยชนะอีกครั้งหนึ่ง ส่วนกองทัพบกก็ได้รุกรบตีเมืองในประเทศญวนได้หลายเมือง
เมื่อกองทัพเรือได้ชัยชนะแล้ว ก็ได้จัดให้พักผ่อนอยุ่ในบริเวณนั้นเอง ในป่าใกล้เคียงกับที่ทหารเรือไทยอยู่ มีคริสตตังค์ญวนจำนวนเกือบ 1,500 คน หลบหนีการตามฆ่าของทหารพระเจ้ามินหม่าง พวกเขาต้องหลบซ่อนอยู่ด้วยความยากลำบาก เมื่อทราบว่าทหารเรือไทยมาตั้งมั่นอยู่ จึงส่งผู้แทนมาติดต่อกับทหารไทย ขอความคุ้มครองจากทหารไทย ทหารเรือไทยได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ชักชวนให้ออกจากป่ามาอยู่กับกองทัพเรือไทย บรรดาผู้ใหญ่ที่มาติดต่อก็ยังลังเลใจ ไม่แน่ใจในการชักชวนของทหารไทย พระยาวิเศษสงครามรามรามภักดี และพระยาณรงค์ฤทธิ์โกษา จึงไปเชิญคุณพ่อเกลมังโซ ให้มาพบกับบรรดาหัวหน้าคริสตังค์ญวนเท่านั้น เมื่อได้เห็นคุณพ่อ และได้ฟังคุณพ่อพูดถึงประเทศไทย คริสตังค์ญวนเกือบทั้งหมดได้ออกมาขออยู่ในอารักขาของกองทัพเรือไทย คริสตังค์เหล่านี้ส่วนมากมาจากวัด “เจาโด๊ย” และวัด “ก๊ายโด๊ย” กองทัพเรือไทยได้คุ้มครองคริสตังค์ญวนเหล่านี้ให้ปลอดภัย เมือกองทัพเรือไทยเดินทางกลับก็ได้เรือลำเลียงและเรือคุ้มกันจนมาถึงกรุงเทพฯ ได้พึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
กองทัพบกได้ปราบหัวเมืองญวนได้หลายหัวเมือง ได้กวาดต้อนชาวญวนที่ไม่ใช่คริสตังค์มาด้วยประมาณ 1,500 คน ในจำนวนนี้ มีทั้งพวกที่เป็นกบฏต่อพระเจ้ามินหม่าง และพรรรพวกของพระเจ้ามินหม่างที่ไล่ติดตามพวกคริสตังค์ เมื่อปราบพวกญวนตามชายแดนเขมรเสร็จแล้ว ได้ยกกองทัพเข้าไปในประเทศเขมรเกลี้ยกล่อมหัวเมืองต่างๆ ของเขมรให้กลับมาสวามิภกัดิ์ต่อพระเจ้าแผ่นดินไทยตามเดิม
ครั้นกองทัพกลับถึงกรุงเทพฯแล้ว เจ้าพระยาบดินทร์เดชา และเจ้าพระยาคลัง พร้อมด้วยพระยาวิเศษสงคราม พระยาณรงค์ฤทธิ์โกษา ตลอดจนนายทหารชั้นผู้ใหญ่อื่นทั้งหลาย ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาบดินทร์เดชาได้กราบบังคมทูลรายงานการสงครามให้ทรงทราบทุกประการ พระยาวิเศษสงคราม และพระยาณรงค์ฤทธิโกษา ได้กราบทูลขอชาวญวนคริสตังค์ไปชุบเลี้ยง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระทัยเมตตากรุณาต่อคริสตังค์เหล่านี้มาก ทรงเห็นว่าต้องพลัดบ้านพลัดเมือง หนีร้อนมาพึ่งเย็น โดยหวังแต่เพียงได้มีเสรีภาพในการถือและประกอบกิจศาสนา และยังได้แสดงน้ำใจของเข้าสามิภักดิ์ ขอพึ่งพระบรมพิสมภารจึงทรงอนุญาตตามที่พระยาทั้งสองทูลขอไว้
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้คริสตังค์ญวนจำนวนประมาณ 1,350 คน นั้น ตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณวัดส้มเกลี้ยง เหนือบ้านเขมรซึ่งมีคริสตังค์จำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ทรงใช้เงินส่วนพระองค์ซื่อที่ดินสวนแปลงใหญ่ใกล้เคียงกัน พระราชทานให้อาศัยอยู่ โปรดเกล้าให้สร้างโรงใหญ่เพื่อเป็นที่พักอาศัย พร้อมทั้งพระราชทานเครื่องอุปโภคให้อีกเป็นจำนวนมาก ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโบสถ์หลังแรก ซึ่งเป็นโบสถ์ชั่วคราวทำด้วยไม้ไผ่ ใช้ชื่อว่า “วัดแซงต์ฟรังซาเวียร์” เพื่อใช้เป็นประกอบกิจกรรมทางศาสนาญวนที่มิได้เป็นคริสตังค์อีกประมาณ 1,500 คน ทรงพระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่วัด แคนางเลิ้ง ส่วนหนึ่งอีกส่วนหนึ่งทรงจัดให้อยู่ในบริเวณวัดโพธิการาม ทางทิศใต้ของสะพานพระรามหก ลูกหลานยังอาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าวจนกระทั่งทุกวันนี้
เมื่อมีวัดหลังแรกขึ้นแล้ว พระสังฆราชตาแบรด์ ซึ่งอพยพหนีภัยการเบียดเบียนศาสนาจากประเทศญวนมาอยู่ที่กรุงเทพฯแล้ว ได้ช่วยจัดบาทหลวงสามองค์มาอยู่กับคริสตังค์ที่วัดนี้คือ คุณพ่อปอล คุณพ่อดัด และคุณพ่อยวง วัดหลังแรกนี้อยู่ได้เพียง 3 ปี ถึงปี ค.ศ. 1837 เกิดพายุใหญ่พัดวัดพังเสียหายหมด พระสังฆราชกูรเวอซี ประมุขมิสซังกรุงสยาม ได้ออกเงินให้สร้างวัดใหม่ เป็นวัดไม้ และยังได้สร้างบ้านพ่อ บ้านพักซิสเตอร์ เมื่อได้สร้างเสร็จแล้ว พระสังฆราชได้นำพระรูปแม่พระ และรูปนักบุญฟรังซัวซาเวียร์ จากมะนิลา มาตั้งในวัดหลังที่สองนี้อีกด้วย ต่อจากนั้น ได้จัดสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กชาย 1 หลัง โรงเรียนสำหรับเด็กหญิง 1 หลัง เพื่อสอนเด็กๆ ให้อ่านภาษาญวนได้ สะดวกในการสอนคำสอนคริสตังค์ ในโรงเรียนชาย ได้อาศัยทั้งคนหนุ่มและผู้สูงอายุที่สมัครใจ และมีความรู้พอสมควรช่วยสอน ส่วนโรงเรียนหญิงมีซิสเตอร์และหญิงสาวอาสาสมัครชายเป็นครูสอนให้ นอกจากการสอนคำสอนเป็นหลักแล้ว ในโรงเรียนยังมีการสอนวิชาอื่นๆ เช่น เลขคณิต ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ให้อีกด้วย
ใบบรรดาคริสตังค์ที่อพยพมานั้น มีซิสเตอร์คณะ “รักไม้กางเขน” จำนวนซึ่งมาด้วย เมื่อเห็นว่ามีวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บรรดาซิสเตอร์เหล่านั้น ได้ขอร้องคุณพ่อเจ้าวัด ขอให้รับกลับมาเป็นซิสเตอร์ ปฏิบัติวินัยดังเดิม พระสังฆราชกูรเวอซีเห็นสมควร จึงได้สร้าง “อารามแซงต์ ฟรังซัวซาเวียร์” ขึ้น รับซิสเตอร์ได้ 15 คน ให้ถือวินัยอย่างเดียวกับที่เคยใช้ในโคชินไชนา คณะซิสเตอร์เหล่านี้เป็นกำลังในการสอนนักเรียนหญิงดังได้กล่าวข้างต้น และยังได้ทำหน้าที่รับเลี้ยงเด็กหญิงกำพร้าด้วย
ในด้านการปกครองของบ้านเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้พระยาวิเศษสงคราม นำชายฉกรรจ์คริสตังค์ ไปสักท้องมือว่า “ญวนสวามิภักดิ์” ให้มีนายกอง ปลัดกรม นายหมวด นายหมู่ ให้ทำมาหากินตามภูมิลำเนา แต่ให้อยู่ในบังคับบัญชาของพระยาวิเศษสงคราม
เมื่อเกิดมีทะเลาะวิวาท หรือผิดพ้องหมองใจกันขึ้น บรรดาคริสตังค์ไม่นิยมนำความไปฟ้องศาลหลวง แต่จะมีคณะกรรมการผู้อาวุโสและครูสอนคำสอนซึ่งได้รับการเลือกด้วยการลง คะแนน และได้รับการแต่งตั้งจากมุขนายกมิซซัง เป็นผู้พิจารณาตัดสินความให้ ถ้าคำตัดสินไม่เป็นที่พอใจ ก็จะเชิญบาทหลวงผู้ดูแลมาสมทบร่วมการพิจารณาใหม่ หากทั้งสองฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้ ก็จะส่งเรื่องไปให้มุขนายกมิซซังวินิจฉัย ซึ่งการตัดสินของมุขนายกมิซซังถือว่าสิ้นสุดคดี
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาไต่ถาม พระยาวิเศษสงครามและพระยาณรงค์ฤทธิโกษา ถึงอาชีพพระยาทั้งสองได้กราบทูลว่า ชาวคริสตังค์ญวนเคยทำนามาก่อน พระองค์จึงทรงประทานที่ดินตำบลดอนเมืองพร้อมด้วยสัตว์พาหนะ และเครื่องอุปกรณ์อื่นๆ ในการทำนาให้ ชาวคริสตังค์ทำนาได้ประมาณสี่ห้าปี ก็เกิดความเบื่อหน่าย จึงเลิกอาชีพทำนา กลับมาอยู่บ้านญวนสามเสนตามเดิม โดยที่ทรงพระกรุณาเป็นอย่างมาก เมื่อทรงทราบว่า คริสตังค์ญวนเลิกทำนาแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ อนุญาตให้ทำการเลี้ยงชีพได้ตามสมัครใจ และทรงยกเว้นส่วนภาษีอากรให้ทุกอย่าง
ด้วยความซื่อสัตย์ต่อพระเป็นเจ้า ยอมละทิ้งบ้านช่อง ทรัพย์สินและทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งเดียวที่ไม่ยอมคืนพระเป็นเจ้า ดังนั้นพระองค์จึงทรงโปรดให้บรรดาคาทอลิกเหล่านี้ได้พบแต่ผู้ที่มีใจกรุณาตลอดมา เริ่มด้วยการพบกับกองทัพเรือไทย ซึ่งมีแม่ทัพพร้อมด้วยความสามารถมีน้ำใจอารีย์ มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นคาทอลิกมีพระสงฆ์ร่วมไปในกองทัพด้วย เมื่อพวกเขาตัด สินใจขอมาพึ่งแผ่นดินไทยเพื่อเสรีภาพในการถือศาสนา ก็ได้รับความกรุณาอย่างเหลือล้นจากท่านแม่ทัพเรือและบรรดาทหารทั้งหลาย จัดเรือให้ได้เดินทางพร้อมกับทหารเข้ามายังกรุงเทพฯในระหว่างรอนแรมในทะเล ได้รับความกรุณาทั้งด้านอาหารและส่งจำเป็นต่างๆ เมื่อมาถึงกรุงเทพฯแล้ว พวกเขาได้พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดขจัดให้มีที่อยู่ ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินเพิ่มให้อยู่ ทรงพระราช ทานอาหาร ทรงโปรดจัดวัดน้อยให้ ทรงสนับสนุนจัดที่ให้ประกอบอาชีพ ทรงยกเว้นภาษีอากรให้ จนระยะหนึ่งผ่านไป พวกเขาส่วนมากพอเอาตัวรอดได้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดโอกาส ทรงชักชวนให้ชายฉกรรจ์ เข้ารับราชการทหารรักษาพระองค์ ทรงให้ชื่อว่า “ทหารปืนใหญ่ญวนหน้า” มีชาวต่างประเทศเป็นผู้ฝึกสอน การแต่งตั้งคนคาทอลิกญวนเป็นพระยาบันลือสิงหนาทจางวาง (ทั้น) เป็นผู้บังคับบัญชา
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเกล้าเจ้าอยู่ ทรงตรากฎหมาย ร.ศ. 128 อนุญาตให้มิซซังโรมันคาทอลิกในกรุงสยาม ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล จึงประกาศยกเนื้อที่บ้านญวนแซงต์ฟรังซาเวียร์ และบ้านเขมรอิมมากูเลตกองเซปชัง ในตำบลสามเสนสองแห่งนี้ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมิซซังโรมันคาทอลิก ดังนั้น หมู่บ้านญวน และหมู่บ้านเขมร สองหมู่บ้านติดกัน จึงมีขอบเขต ดังนี้
ทิศเหนือ มีคลองบ้านญวนเป็นเขต ตั้งแต่ปากคลองจนถึงเขตถนนสามเสน ยาว 12 เส้น 6 วา ทิศตะวันออก มีเส้นห่างจากขอบถนนสามเสน ไปทางตะวันตก 6 วา เป็นเขตตั้งแต่คลองบ้าน ญวนจนคลองวัดราชาธิวาส ยาว 6 เส้น 5 วา
ทิศใต้ มีคลองวัดราชาธิวาสเป็นเขต ตั้งแต่ปากคลองวัดราชาธิวาส ไปจนเขตถนนสาม เสน ยาว 12 เส้น
ทิศตะวันตก มีฝั่งแม่น้ำเจ้าพระเจ้าเป็นเขต ตั้งแต่ปากคลองบ้านญวนฝั่งใต้จนปากคลองวัดราชาธิราธิวาส ฝั่งเหนือ ยาว 6 เส้น 19 วา รวมเนื้อที่พระราชทาน 68 ไร่ 2 งาน 90 ตารางวา
ด้วยความรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ ชาวคาทอลิกชาวมิตรคาม ขอถวายความจงรักภักดีพร้อมเสมอที่สนองพระมหากรุณาธิคุณ แม้ชีวิต ก็พร้อมจะถวายให้ได้ทุกเวลา
ชาวสามเสนในที่พระราชทานนี้ ส่วนหนึ่งได้อพยพไปตั้งหมู่บ้านใหม่ในต่างจังหวัดที่เหลือ ได้รับการพัฒนาขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งมีวัดเพียงพอสำหรับประกอบพิธีทางศาสนา สมตามที่บรรพบุรุษหวังไว้ ในที่ดินพระราชทานนอกจากวัดแล้ว สวนมากใช้เป็นที่อยู่อาศัย ส่วนหนึ่งใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียน อันเป็นแหล่งอบรมบ่มนิสัย สั่งสอนวิทยาการ เตรียมตัวเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป โรงเรียนดังกล่าวได้รับความนิยมโดยทั่วไป มีผู้ส่งลูกหลานเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก จากการสำรวจในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1984
เมื่อเลิกอาชีพการทำนาแล้ว คริสตังค์จำนวนมาก ได้ยึดอาชีพตีอวน ปิดคลองจับปลา เป็นช่างไม้ รับจ้างต่อเรือ ปลูกบ้าน ฯลฯ บรรดาผู้ที่นิยมอาชีพจับปลาจะแบ่ง ยกกันเป็นกลุ่มๆ พากันไปสำรวจหาแหล่งที่มีสัตว์น้ำชุบ เมื่อพบแล้วจะจับสัตว์น้ำนั้นกลับมาบ้านที่บ้านสามเสน และชักชวนให้เพื่อนจัดหาอุปกรณ์ไปทำอาชีพร่วมกัน จากการกระทำดังกล่าว ฐานะความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นตามลำดับ การพบแหล่งประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น การโยกย้ายครอบครัวจากหมู่บ้านสามเสนก็มีมากขึ้นตามลำดับ
คุณพ่อปอลและคุณพ่อยวง ซึ่งอยู่กับคริสตังค์สามเสนพร้อมกับคุณพ่อดัดนั้น เป็นห่วงบรรดาคริสตังค์ซึ่งต้องหลบซ่อนอยู่ในประเทศญวน คุณพ่อปอลและคุณพ่อยวง พร้อมด้วยพระสังฆราชกือโนต์ และคุณพ่อวีอัลล์ จึงตัดสินใจเสี่ยงชีวิตเดินทางไปหาคริสตังค์เหล่านั้น พระสังฆราชกือโนต์ คุณพ่อปอล คุณพ่อยวงถูกจับกุมและถูกประหารชีวิตด้วยความเป็นมรณสักขี เพราะไม่ยอมเดินเหยียบไม้กางเขน ส่วนคุณพ่อดัดได้รับการขอร้องให้อยู่กับคริสตังค์สามเสนไปก่อน
คุณพ่อ ยัง ยอแซฟ สตานิสลาส โกลเดต์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ในปี ค.ศ. 1845-1849
พระสงฆราชปัลเลอกัว ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประมุขของมิสซังสยามแทนพระสังฆราชกูเวอซีแล้ว พระสังฆราชได้แต่งตั้งคุณพ่อโกลเดต์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดอิมมากูเลต “คอนเซปชัญ (วัดเขมร) ให้ดูแลวัดแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์ ในฐานะเจ้าวัดอีกวัดหนึ่ง และขอให้คุณพ่อดัด อยู่ต่อไป เพื่อแนะนำให้คุณพ่อโกลเดต์ คุ้นเคยกับคริสตังค์ญวน และเพื่อสอนภาษาญวนให้ คุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ใหม่ด้วยใน ปี ค.ศ. 1849 คุณพ่อโกลเดต์มีความจำเป็นต้องกลับไปต่างประ เทศ พระสังฆราชจึงแต่งตั้งให้คุณพ่อดัด เป็นเจ้าอาวาสแทน นับเป็นเจ้าวัดองค์ที่สอง
เมื่อคนเพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้ที่อยู่อาศัยเดิมคับแคบลง ประกอบกับพวกเขามีความกระตือรือร้นที่จะหาแหล่งประกอบอาชีพที่มั่นคง เนื่องด้วยคริสตังค์เหล่านี้มีความถนัดในการจับเลี้ยงสัตว์น้ำ พวกเขาจึงพยายามหาทำเลประกอบอาชีพการประมง คริสตังค์กลุ่มแรกอพยพไปอยู่ที่อยุธยา ไปอยู่กับคริสตังค์ญวน ของวัดนักบุญยอแซฟ ซึ่งถูกพม่าทำลายเมื่อเสียกรุงอยุธยาครั้งที่สอง พระสังฆราชปัลเลอกัว ได้จัดให้คุณพ่ออัลแบร์ด ซึ่งเป็นพระสงฆ์ไทย ไปสร้างวัดนักบุญยอแซฟขึ้นใหม่ เมื่อปี ค.ศ. 1843 เป็นวัดไม้
คุณพ่อโกลเดต์ สมัยที่สอง ในปี ค.ศ. 1851-1853
คุณพ่อโกลเดต์กลับจากต่างประเทศ มาปกครองวัดสามเสนอีกครั้ง เมื่อปี ค.ศ. 1851 คุณพ่อสนใจอารามภคีนี ซึ่งพระสังฆราชกูรเวอรซี่สร้างขึ้นและมีภคินีอยู่แล้ว 15 รูป คุณพ่อใคร่จะขยายอารามและเพิ่มจำนวนภคินีขึ้น จึงเริ่มรับสมัครหญิงสาว ซึ่งทำหน้าที่ช่วยสอน คำสอนอยู่แล้ว ให้เข้ารับการอบรมเพิ่มขึ้น แล้วจัดให้ได้เข้าพิธีสวมเสื้อภคินีกระทำ คือให้สวมเสื้อคำยาว กางเกงดำ มีรูปไม้กางเขนแขวนห้อยที่หน้าอก ภายนอกมองดูคล้ายภคินี แต่ควาจริง ยังมิได้เป็นภคินีแท้ ถือระเบียบวินัยน้อยกว่า นับเป็นหญิงสาวถวายตัวเพื่อทำงานวัดทำหน้าที่เป็นครูสอน คำสอนและสอนวิชาอื่นๆ ให้เด็กหญิง พวกเขาอยากถวายตัวเป็นภคีนี แต่อารามยังไม่พร้อมกนะนั้นก็ดี ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเหมือนภคีนีแท้ บรรดาหญิงสาวตัวแบบนี้ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นภคินีคณะรักไม้กางเขน โดยครบถ้วน ในสมัยของคุณพ่อดองต์ ใน ปี ค.ศ. 1900
คุณพ่อโกลเดต์เป็นผู้มองการไกล จึงสนับสนุนและจัดให้ชาวคริสตังค์ เริ่มเรียนภาษาไทย ให้ทั้งอ่านและเขียนได้ เพื่อจะได้ปรับตัวกลายเป็นคนไทยได้โดยสมบูรณ์ต่อไป ในช่วงระยะเวลาที่ทางราชการไทย ห้ามมิให้พิมพ์หนังสือคำสอน หนังสือภาวนา และหนังสือเกี่ยวกับความศรัทธาอื่นๆ ตัวอักษรไทย พระสังฆราชปัลเลอกัว ได้จัดพิมพ์แบบเรียนภษาไทย โดยใช้อักษาโรมัน เพิ่มเครื่องหมายต่างๆ ขึ้น ซึ่งเรียกกันว่า “ภาษาวัด” โดยที่ภาษาญวนใช้อักษรโรมันคล้ายคลึงกับภาษาวัด ชาวคริสตังค์จึงเรียนรู้ภาษาวัดได้รวดเร็ว และมีผลให้เรียนภาษาไทยได้เร็ว มีความรู้ทั้งในด้านศาสนาและวิชาอื่นๆ ได้เร็วตามไปด้วย คุณพ่อโกล์เดต์ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1853 ศพของคุณพ่อฝังอยู่ในวัดแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์ หรือ วัดเซนต์ฟรังซิส ซาเวียร์ สามเสน ในปัจจุบัน
คุณพ่อ ปิแอร์ มอริส ยิบาร์ตา
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในปี ค.ศ. 1853-1871
คุณพ่อยิบาร์ตา ได้รับแต่งเป็นคุณพ่อเจ้าวัดแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์ ต่อจากคุณพ่อโกลเดต์ ขณะนั้นยังใช้วัดไม้หลังที่สอง เป็นวัดเล็กไม่เพียงพอสำหรับสัตบุรุษ คุณพ่อจึงมีความตั้งใจจะสร้างวัดใหม่ขึ้น เป็นวัดใหญ่ สร้างด้วยอิฐปูน ให้สมศักดิ์ศรี เป็นวัดในเมืองหลวง ปัญหาอยู่ที่เงิน การหวังพึ่งเงินจากสัตบุรุษเป็นหลักย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกคนยังยากจน คงจะช่วยได้เพียงจำนวนน้อย กระนั้นก็ดี ทุกคนยืนยันจะอุทิศกำลังกายช่วยอย่างเต็มที่
คุณพ่อยิบาร์ตา เป็นพระสงฆ์หนุ่มที่มีความขยันขันแข็ง เมื่อได้รับการสนับสนุนด้านกำลังใจจากพระสังฆราชปัลเลอกัว และหวังในความกรุณาของท่านนักบุญฟรังซิสซาเวียร์ คุณพ่อตัดสินใจจะสร้างวัดใหม่ให้ได้ คุณพ่อขอเงินบริจาคจากคริสตังค์คนและเล็กละน้อยตามความสามารถ เมื่อคุณพ่อมีโอกาสไปเยี่ยมคริสตังค์ที่อพยพไปทำอาชีพการประมงตามแม่น้ำ คุณพ่อก็ได้ขอร้องให้พวกเขาได้มีส่วนในการสร้างวัดด้วย ทุกคนก็ให้ด้วยความเต็มใจ แม้แต่เมื่อมีโอกาสพบกับคนต่างศาสนา คุณพ่อก็พูดขอร้องด้วยถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน จึงได้รับการร่วมมือเป็นส่วนมาก
วันหนึ่งคุณพ่อนั่งเรือเข้าใกล้เรือฝรั่งลำหนึ่ง ซึ่งทอดสมออยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา คุณพ่อขึ้นเรือไปทำความเคารพและทักทายกัปตันเรือ ซึ่งคุณพ่อคิดว่าเป็นคาทอลิก ขอเชิญชวนให้เขาลงชื่อในใบบอกบุญซึ่งคุณพ่อจัดทำขึ้นสำหรับชาวยุโรปในนกรุงเทพฯ โดยที่กัปตันคนนั้นเป็นชาวโปรเตสแตน เขาไม่เต็มใจต้อนรับคุณพ่อ เขาปฏิเสธด้วยถ้อยคำที่ไม่น่าฟัง คุณพ่อไม่ได้แสดงความผิดหวัง แต่ได้ลากัปตันด้วยถ้อยคำสุภาพอ่อนหวาน กัปตันรู้สึกเสียใจที่ได้แสดงกิริยาไม่ดีต่อคุณพ่อ วันรุ่งขึ้นกัปตันได้ไปขอโทษคุณพ่อ และถวายเงินจำนวนมากพอสมควรให้คุณพ่อ
งานสร้างวัดหลังที่สาม ซึ่งใช้ชื่อว่าวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ ส่วนมากใช้แรงงานจากคริสตังค์ ใช้เวลาสร้างอยู่ 10 ปีจึงเสร็จ ได้มีพิธีมิสซาอย่างมโหฬาร โดยมุขนายกมิซซัง ในวันฉลองนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ ปี ค.ศ. 1867
หลังจากคริสตังค์กลุ่มแรกจากสามเสน ได้อพยพไปอยู่ที่อยุธยาแล้ว ในสมัยคุณพ่อโกลเดต์ และคุณพ่อยิบาร์ตา คริสตังค์จากสามเสน ได้พบทำเลดีซึ่งเหมาะแก่การตั้งหลักฐานประกอบอาชีพ จึงอพยพกันไปเป็นกลุ่มๆ จำนวน 6 กลุ่ม คือ กลุ่มเจ้าเจ็ด กลุ่มบ้านปลายนา กลุ่มเกาะใหญ่ กลุ่มบ้านแป้ง กลุ่มสองพี่น้อง และกลุ่มปากน้ำโพ ในขณะที่แต่ละกลุ่ม คุณพ่อยิบาร์ตา ได้ออกไปเยี่ยมเป็นครั้งคราว แต่หากกลุ่มใดมีคริสตังค์ประพฤติตัวไม่ถูกต้อง คุณพ่อจะรีบไปเยี่ยม ตักเตือนให้กลับมาอยู่ในทางที่ถูกต้องตามพระศาสนจักร คริสตังค์ที่สามเสนและบรรดาที่อพยพไปต่างจังหวัดต่างก็รักคุณพ่อยิบาร์ตากันมาก
เนื่องด้วย คุณพ่อยิบาร์ตา ตรากตรำทำงานหนักมาโดยตลอด คุณพ่อจึงล้มป่วย เมื่อปี ค.ศ. 1871 พระสังฆราชจึงได้ส่งตัวคุณพ่อกลับไปรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อหายกลับมา พระสังฆราชจึงมีความประสงค์ให้คุณพ่อได้ลดงานลงบ้าน จึงย้ายคุณพ่อไปอยู่วัดซางตาครู้ส กุฎีจีน คุณพ่อยิบาร์ตา มรณภาพด้วยโรคมะเร็งที่ตับ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1886 ศพของคุณพ่อฝังอยู่ในวัดซางตาครู้ส
คุณพ่อ ปิโอ ดงต์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1871-1916
คุณพ่อดงต์ได้รับการแต่งตั้งเป้นเจ้าอาวาสเป็นองค์ต่อมา คุณพ่อเป็นชาวเบลเยี่ยม เกืดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1843 บวชเป็นพระสงฆ์เมื่ออายุ 25 ปี เมื่อมาถึงเมืองไทย คุณพ่อไปเป็นปลัดที่วัดแม่พระลูกประคำกาลหว่าร์ 1 ปี ไปอยู่ที่วัดจันทบุรี 2 ปี มาเป็นเจ้าอาวาสวัดสามเสน เมื่อ ปี ค.ศ. 1871 ชาวบ้านมักเรียกคุณพ่อว่า “คุณพ่อปีโอ”
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1883 พระสังฆราชเวย์ ได้ประกอบพิธีถวายท่านเองและพระสงฆ์ที่มาร่วมเข้าเงียบประจำปี แด่พระหฤทัยอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า และได้สั่งให้ทุกวัดทั่วมิซซังทำพิธีถวายตัวแต่พระหฤทัยในวันที่ 22 มิถุนายนค.ศ. 1887 ซึ่งตรงกับวันฉลองของพระเยซูเจ้ามากอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่เพียงแต่พระทำตามที่พระสังฆราชปรารถนาเท่านั้น คุณพ่อยังได้ขอสมัครให้วัดสามเสนเป็นสมาชิกของคณะ “เทิดทูนพระคริสตหฤทัย” ที่มงมาตร์ นครปารีส อีกด้วย นับได้ว่าคุณพ่อเป็นผู้กระทำให้ชาวสามเสนมีความรักและศรัทธาต่อดวงพระทัยของพระเยซูเจ้าจนกระทั่งทุกวันนี้
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า คณะภคินีไม้กางเขนได้รับการพัฒนาโดยคุณพ่อโกลเดต์ แต่ยังไม่ถึงขั้นสำเร็จเป็นอารามโดยครบถ้วน เมื่อพระสังฆราชเวย์มอบหมายงานนี้ให้คุณพ่อดงต์แล้ว ในปี ค.ศ.1897 คุณพ่อจึงลงมือสร้างอารามแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์ ขึ้นใหม่ แทนหลังเก่าซึ่งทรุดโทรมมาก สร้างตรงที่ปัจจุบันที่เป็นโรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ เป็นตึก 2 ชั้น ชั้นบนเป็นห้องนอน ชั้นล่างแบ่งเป็น 6 ห้อง หน้ามุขเป็นห้องครัว ต่อไปเป็นห้องเก็บของใช้ในครัว ห้องเก็บอาหาร ห้องเก็บของวัด ห้องเรียน และห้องขายวัตถุศักดิ์ศิทธิ์
ปี ค.ศ. 1898 คุณพ่อจึงรับผู้สมัครเข้าอบรมเป็นภคินีแท้ได้ 12 คน คือได้จากอารามเดิม 6 คน อีก 6 คนเป็นผู้สมัครใหม่ คุณพ่อดงต์เอาใจใส่ให้การอบรมเองอย่างดีที่สุด ในเดือนเมษายน ปีเดียวกัน ภคินีคณะเซนต์ปอลเดอชารตร์ 7 รูป มาถึงกรุงเทพฯ เพื่อทำงานในโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ คุณพ่อดงต์จึงมีหนังสือไปยังท่านอธิการิณีคณะเซนต์ปอลเดอชารตร์ ขอร้องให้ส่งซิสเตอร์มาให้การอบรมแก่คณะภคีนีรักไม้กางเขน เพื่อจะได้เป็นกำลังของพระศาสนจักรในประเทศไทยต่อไป เพื่อให้เกิดความสำเร็จ คุณพ่อได้วิงวอนขอพระกรุณาจากดวงพระทัยของพระเยซูเจ้า และยังได้ขอให้คริสตังค์ชาวสามเสนร่วมกันภาวนาด้วย ในที่สุดคุณพ่อก็ได้รับตามความประสงค์ มาแมร์ฮงเรียด และซิสเตอร์ยุสตินแห่ง คณะเซนต์ปอลเดอชาตร์ก็มาถึงสามเสน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1900 จึงนับกันว่า วันนี้เป็นวันเริ่มต้นของภคินีคณะรักไม้กางเขน และยังนับเป็นวันเริ่มต้นของคณะภคีนีพระหฤทัยแห่งกรุงเทพด้วย นับตั้งแต่บัดนี้ ผู้สมัครเข้ารับการอบรมเป็นภคินีก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ
คุณพ่อดงต์ คาดการไว้ว่า ต่อไปคริสตังค์เพิ่มจำนวนมากขึ้น จะมีปัญหาเรื่องที่อยู่ใกล้วัด ดังนั้น เมื่อคริสตังค์ครอบครัวใดย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดและต้องการขายที่ดิน คุณพ่อจะซื้อไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของวัด โดยเฉพาะที่ดินด้านทิศเหนือของซอยพระอรรถหมอวาศ ทำให้วัดมีที่ดินมากขึ้น เตรียมไว้ให้คริสตังค์ต่อไป
คุณพ่อดงค์ป่วย ไปรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ.1916 รับศีลเจิมคนไข้เมื่อ 15 พฤศจิกายน ค.ศ.1916 ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 ศพของคุณพ่อฝังในวัดสามเสน เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916
คุณพ่อ ยอแซฟ บรัวซาต์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1917-1926
พระสังฆราชแปร์รอส จัดให้คุณพ่อบรัวซาต์ มาเป็นเจ้าอาวาสองค์ต่อไป คุณพ่อเป็นนักพัฒนา ได้ทำงานชิ้นสำคัญหลายอย่าง โดยที่คุณพ่อเห็นว่า มีหญิงสาวสมัครเข้ารับการอบรมเป็นภคินีมากขึ้น สถานที่เดิมเริ่มคับแคนลง คุณพ่อจึงสร้างอาคารเพิ่มขึ้นอีกหลังหนึ่ง ต่อจากหลังแรก เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นบนเป็นวัดน้อย 1ห้อง ที่เหลือเป็นห้องตัดเย็บเสื้อผ้าทั้งหมด ชั้นล่างเป็นห้องรับแขก 2 ห้อง ที่เหลืออีก 1 ห้อง เป็นห้องแต่งตัว ห้องพักผ่อน และศึกษาอบรม คุณพ่อยังได้สร้างบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้า เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น อีก 1 หลัง ราคาขณะนั้น 17,756 บาท อาคารทั้งสองหลังได้รับการเสกจากคุณพ่อ แฟร์เลย เมื่อวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1917
วัดแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์ได้จัดให้มีโรงเรียนคู่กับวัดมาตั้งแต่แรก สอนให้เด็กเรียนภาษาญวนเพื่อจะได้รู้คำสอนและสอนการอ่าน เขียนภาษาไทยเพิ่มเติมให้ เมื่อกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกระเบียบเพิ่มขึ้น คุณพ่อบรัวซาต์จึงได้สร้างอาคารเรียนครึ่งตึกครึ่งไม้ขึ้นสองข้างของวัด หลังแรกสำหรับนักเรียนชาย สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1918 เป็นเงิน 7,917 บาท หลังที่สองสร้างปีต่อมา ค.ศ.1919 เป็นเงิน 9,486 บาท สำหรับนักเรียนหญิง ได้รับอนุญาตให้เปิดเป็นโรงเรียนได้เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1919 ใช้ชื่อ โรงเรียนแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์ ตามเดิม จนถึงปี ค.ศ. 1925 เมื่อคณะภคินีเซนต์ปอลเดอชาตร์มาเปิดโรงเรียนที่สามโดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์คอนแวนต์” คุณพ่อบรัวซาต์จึงได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนของวัดมาเป็น “โรงเรียนยออันนาด๊าร์ค” สำหรับนักเรียนชาย และโรงเรียนเทเรซาเยซูกุมาร สำหรับนักเรียนหญิง ในปี ค.ศ. 1921 คุณพ่อยังได้สร้างบ้านซิสเตอร์ของวัดสามเสน และโรงเรียนที่เกาะใหญ่พร้อมกันไปอีกด้วย
เพื่อพัฒนาและยกระดับการศึกษาของคริสตังค์สามเสนให้สูงขึ้น คุณพ่อบรัวซาต์ ได้ติดต่อเชิญภราดาคณะ “เซนต์คาเบรียล” ซึ่งเปิดโรงเรียนอัสสัมชัญที่บางรักแล้ว ให้มาเปิดโรงเรียนขึ้นในเขตวัดสามเสน คณะภราดาเซนต์คาเบรียล ก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี หลังจากการขออนุญาตและได้รับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้เปิดโรงเรียนขึ้น ณ บ้าน BERIL HOUSE ได้ชื่อว่า โรงเรียนเซนต์คาเบรียล เริ่มทำการสอนเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920 ในขณะ เดียวกันก็เริ่มสร้างอาคารในที่ตั้งปัจจุบันซึ่งได้รับการเสกจาก พระสังฆราชแปร์รอส เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1922 หลังจากนั้นได้ย้ายจากบ้าน BERLI HOUSE ไปยังสถานที่ใหม่
ในขณะที่ คณะภราดาเซนต์คาเบรียล รับจัดตั้งโรงเรียนสอนนักเรียนชายไปแล้ว ความกังวลเป็นห่วงของคุณพ่อบรัวซาต์ ยังมีอีก 2 ประการ ประการแรกยังไม่มีโรงเรียนรับสอนนักเรียนหญิงคู่กับโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ประการที่สองอารามภคินีรักไม้กางเขนไม่มีสถานที่เพียงพอสำหรับผู้สมัครที่เพิ่มขึ้นอีก
ระหว่างกำลังหาทางแก้ปัญหาอยู่นั้น พระสังฆราชแปร์รอส ได้แจ้งกับคุณพ่อว่า ท่านมีโครงการจะย้ายอารามภคีนีรักไม้กางเขนไปยังที่ใหม่ ข่าวนี้ทำให้คุณพ่อสบายใจขึ้นและมองเห็นความสำเร็จในการจัดตั้งโรงเรียนหญิงขึ้น คุณพ่อจึงไปติดต่อกับภคินีคณะเซนต์ปอลเดอชาตร์ ซึ่งได้จัดตั้งโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ขึ้นแล้ว ขอให้ส่งคณะภคินีไปตั้งโรงเรียนในเขตวัดสามเสนด้วย
นับตั้งแต่คุณพ่อดงต์ ตั้งภคินีรักไม้กางเขนขึ้น เมื่อปี ค.ศ.1900 คณะฯอยู่ในปกครองของคุณพ่อเจ้าอาวาสวัดสามเสน ต่อมาเมื่อคณะเจริญก้าวหน้า มีภคินีมากขึ้น การอยู่ภายใต้การดูแลปกครองของคุณพ่อเจ้าวัด ซึ่งมีภาระมากอยู่แล้ว อาจมีปัญหาได้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความยุ่งยากขึ้น ในปี ค.ศ. 1925 พระสังฆราชแปรรอส ได้จัดการเปลี่ยนให้คณะภคินีรักไม้กางเขนพ้นจากการปกครองของเจ้าอาวาสวัดสามเสนไปขึ้นตรงต่อมุขนายกมิซซัง ท่านอธิการิณีเป็นผู้ปกครองคณะภคีนีในนามของพระสังฆราช พระสังฆราชแปร์รอสได้แต่งตั้งคุณพ่อแปรูดอง เป็นจิตตาธิการ คุณพ่อจึงได้มาอยู่ที่วัดสามเสน ในฐานะปลัดของวัดสามเสน แต่หน้าที่โดยตรงคือเป็นจิตตาธิการของคณะภคินี ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องตามประมวลกฎหมายของพระศาสนจักร ซึ่งประกาศ เมื่อ ปี ค.ศ. 1917 ดังนั้น ปี ค.ศ. 1925 จึงเป็นปีสุดท้ายที่คณะภคินีรักไม้กางเขนอยู่กับประวัติของวัด ขึ้นตรงกับคุณพ่อเจ้าอาวาส และยังเป็นปีแรกที่คณะภคินีรักไม้กางเขนไปขึ้นตรงกับมิซซังแยกการปกครองจากวัดสามเสน แม้จะตั้งอยู่ในเขตวัดสามเสนต่อไปอีกระยะหนึ่ง จนกระทั่งย้ายไปอยู่ในที่ปัจจุบันคืออารามคลองเตย
ปี ค.ศ. 1922 คุณพ่อบรัวซาต์ได้ซื้อระฆังสำหรับวัดสามเสน เสียง โ-ลา เป็นเงิน 1,520 บาท ได้สร้างกำแพงรั้วสุสาน ปี ค.ศ. 1923 ได้ซ่อมแซมและขยายบ้านพักพระสงฆ์ ได้ซื้อที่ดินเตรียมสร้างวัดบางบัวทอง คุณพ่อได้นำนโยบายของคุณพ่อดงต์ ในการซื้อที่ดินของคริสตังค์ที่ย้ายไปอยู่จังหวัดและต้องการขายมาเป้นของวัด เพื่อเตรียมให้เป็นที่อยู่อาศัยของคริสตังค์สมัยต่อไป คุณพ่อย้ายไปอยู่บ้านปลายนา เมื้อ ปี ค.ศ.1926 คุณพ่ออยู่ที่บ้านปลายนาถึง ปี ค.ศ. 1953 ปีต่อมาจึงกลับไปประเทศฝรั่งเศส คุณพ่อมรณภาพที่นั่น เมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1968
คุณพ่อ ยวงบัปติสตา ตาปี
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 1926-1967
คุณพ่อตาปีย้ายมาจากวัดสองพี่น้อง มาเป็นเจ้าอาวาสวัดสามเสน แทนคุณพ่อบรัวซาต์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1926 คุณพ่อตาปีเป็นพระสงฆ์ที่ว่องไว มีใจหนักแน่น เสียงขับร้องดีมาก หาผู้เสมอเหมืนได้ยาก คุณพ่อตาปีได้ทำงานซึ่งคุณพ่อบรัวซาต์ทำค้างอยู่ต่อไป คือ งานสร้างวัดแม่พระสกลสงเคราะห์ บางบัวทอง ให้กลุ่มคริสตังต์ที่อพยพจากสามเสนไปอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีวัด มีเพียงพระสงฆ์ไปเยี่ยมเยียนเป็นครั้งคราวเท่านั้น คุณพ่อบรัวซาต์ เริ่มทำบัญชีคริสตังค์ไว้แล้วตั้งแต่ ค.ศ.1920 คุณพ่อตาปีเริ่มสร้างวัดเป็นอาคารไม้ยาว ครึ่งหนึ่งของอาคารใช้เป็นวัด ถวายแด่แม่พระสกลสงเคราะห์ ตามความตั้งใจเดิมของคุณพ่อบรัวซาต์ อีกครึ้งหลังใช้เป็นห้องเรียน และยังได้สร้างบ้านพักพระสงฆ์พร้อมกันไปด้วย พระสังฆราชแปร์รอสได้เสก เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927 โดยที่คุณพ่อตาปีเห็นว่า มีคริสตังค์จากสามเสนไปอยู่เป็นกลุ่มไม่ใหญ่นัก จึงได้ชักชวนครอบครัวชาวจีนไปอยู่ด้วย
คุณพ่อตาปีเป็นพระสงฆ์องค์หนึ่งที่มีสายตามองการไกลในด้านการศึกษา คุณพ่อได้รวมโรงเรียนของวัด 2 โรงเรียน ซึ่ง คุณพ่อบรัวซาต์ได้สร้างไว้ แยกเป็นโรงเรียนยออันนาด๊าร์ค และโรงเรียนเทเรซาเยซูกุมาร มารวมเป็นโรงเรียนเดียวกัน ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนยออันนาด๊าร์ค” เปิดรับนักเรียนทั่วไป ตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ป.4 ทั้งหญิงและชายไม่จำกัดศาสนา ได้สร้างอาคารหลังหนึ่ง ทางด้านทิศใต้ของวัด เป็นอาคารครึ่งคอนกรีต ครึ่งไม้ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 25 เมตร ยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน
การเตรียมงานฉลอง 100 ปี นับจากชาวสามเสน อพยพเข้ามาอยู่ คุณพ่อตาปีจึงเตรียมปฎิสังขรณ์วัด ในการนี้ คุณพ่อได้รับความร่วมมือจากผู้ที่เคยเป็นลูกวัดสามเสนท่านหนึ่ง คือ ป.เหวียน วัลลา สละทุนทรัพยจำนวนมากช่วยเหลือ งานเริ่มตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1933 ซ่อมแซมหน้ามุขวัด สร้างหอเพื่อประดิษฐานพระรูปนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ เหนือหน้ามุขวัด ทำประตูหน้าวัดเสียใหม่ให้แข็งแรง เปิดด้านข้างของวัดทำบันไดขึ้นลง เปลี่ยนพื้นข้างหน้าและรอบพระแท่น ทาสีวัดทั้งภายนอกและภายใจ ก่อนวัดฉลองได้มีคุณพ่อวัง ชาวไซ่ง่อน ได้มาเทศน์อบรมเป็นภษาญวน เป็นเวลา 8 วัน คุณพ่ออันเดร เทศน์อบรมเป็นภาษาไทย งานภายนอกมีการแสดง ละครปะวัติศาสตร์ การอพยพจากถิ่นฐานเดิมเข้าอยู่ในที่ปัจจุบัน งานต่างๆ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยทุกประการ
ปี ค.ศ. 1949 คุณพ่อตาปี ได้จัดสร้างหอระฆังติดกับห้องหลังวัด (ซาคริสเตีย) นำระฆังซึ่งแขวนไว้ชั่วคราวทางด้านทิศใต้ของวัดขึ้นไปไว้บนหอใหม่ ใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน ได้ติดต่อกับเทศบาล ขอความร่วมมือกับทางวัด ทำพื้นถนนคอนกรีต ตั้งแต่ถนนสามเสนจนถึงตัววัด ได้ปรับปรุงและขยายบ้านซิสเตอร์ของวัด ให้มีสถานที่เพียงพอ สำหรับการรับทำการฝีมือ เย็บปักถักร้อย ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวคิสตังค์โดยทั่วไป
ในปีเดียวกันนี้ คือปี ค.ศ. 1949 คุณพ่อตาปี ได้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นที่หน้าวัดวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ เพื่อประดิษฐานพระรูปพระเยซูเจ้าทรงรักษาคนตาบอด ซึ่งทำด้วยทองสัมฤทธิ์ ได้มีพิธีเสกพระรูปนี้ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1949 มีผู้คนมาร่วมงานมากมาย ตั้งแต่นั้นมา ทั้งชาวคาทอลิก และผู้ที่มิใช้คาทอลิก ได้มาขอพึ่งพระรูปตราบเท่าทุกวันนี้
ประวัติพระรูปพระเยซูเจ้าทรงรักษาคนตาบอด
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 ร.ศ. 116 หรือ ค.ศ. 1897 ขณะที่พระองค์ทรงเยี่ยมโรงงานช่างหล่อช่างปั้นและช่างเขียนที่เมืองโฟลแรงซ์ ประเทศอิตาลี เมื่อได้ทอดพระเนตร พระรูปนี้ ทรงพอพระทัยโปรดให้ไถ่มาตั้งแต่ครั้นนั้น ครั้งแรกโปรดให้นำมาประดิษฐาน ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อสร้างพระราชวังดุสิตเสร็จ จึงโปรดให้นำพระรูปมาไว้ ณ พระที่นั่งอัมพร ประดิษฐานไว้ในหอฯ หนึ่ง พระราชทานนาม “หอพระเยซู” หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีการย้ายพระรูปมาไว้ที่สนามหญ้าในสวนอัมพร ในที่สุดเทศบาลนครกรุงเทพฯ ได้มอบพระรูปนี้ แก่นายประสาน ศรจิตติ ไปประดิษฐานยังวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1949 อยู่จนกระทั่งบัดนี้
โดยที่คุณพ่อตาปี ต้องมีภาระดูแลคริสตังค์สามเสน และยังต้องดูแลวัดขึ้นอีก 3 วัด คือ วัดเกาะใหญ่ วัดบางบัวทอง และวัดบางภาษี คุณพ่อจึงจำต้องมีปลัดช่วยดูแล ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1940 วัดเกาะใหญ่ มีเศรษฐกิจดีขึ้น และเช่นเดียวกัน ปี ค.ศ. 1942 วัดบางบัวทอง สามารถเลี้ยงตัวเองได้ คุณพ่อจึงจัดให้ทั้งสองวัดไม่ต้องขึ้นกับวัดสามเสนต่อไป วัดบางภาษีให้คงอยู่กับวัดบางบัวทองต่อไป
คุณพ่อตาปี ได้ขอลาปลดเกษียณ จาก มุขนายกมิซซังกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1967 เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว อาจารย์สมัย ชะนะผา ได้รับคุณพ่อไปพักผ่อนที่โรงเรียนเซนต์จอห์น โดยจัดบ้านหลังหนึ่งให้อยู่สบาย คุณพ่อตาปี ล้มป่วยตั้งแต่ปี ค.ศ.1972 มรณภาพ ปี ค.ศ. 1973 รวมอายุ 92 ปี ศพของคุณพ่อฝังในวัดสามเสน เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1973
คุณพ่อตาปี เป็นพระสงฆ์องค์สุดท้ายของคณะพระสงฆ์มิซซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ที่ปกครองวัดสามเสน
คุณพ่อยวง บัปติสตา บุญเลิศ ธาราฉัตร
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสปี ค.ศ. 1967-1974
เมื่อคุณพ่อตาปีเกษียณ คุณพ่อบุญเลิศ ซึ่งทำหน้าที่ปลัดผู้ช่วย มา 2 ปีแล้ว ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นเจ้าอาวาส เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1967 คุณพ่อดำเนินตามนโยบายของคุณพ่อตาปี ต่อเนื่องจากอาคารเรียนของโรงเรียนยออันนาด๊าร์ค ไม่เพียงพอกับ จำนวนนักเรียน คุณพ่อจึงได้สร้างอาคารเรียนหลังใหม่เป็นตึก 4 ชั้น ตั้งชื่ออาคารเรียนหลังนี้ว่า อาคารตาปีอนุสรณ์ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงคุณพ่อตาปี อาคารหลังนี้ทำการเสกวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1970 โดย คุณพ่อตาปีและเพื่อให้ชื่อของโรงเรียนถูกต้องตามภาษา คุณพ่อจึงเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากเดิมว่า โรงเรียนยออันนาด๊าร์ก เป็น โรงเรียนโยนออฟอาร์ค เมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ.1971
คุณพ่อ อังเดร ลออ สังขรัตน์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในปี ค.ศ. 1974-1976
คุณพ่อได้ขยายการศึกษาระดับก่อนวัยเรียนขึ้นให้ชื่อว่า โรงเรียนนักบุญโยนออฟอาร์คแผนกอนุบาล เมื่อปี ค.ศ. 1975
คุณพ่อ ยอแซฟ สังวาลย์ ศุระศรางค์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในปี ค.ศ. 1976-1979
คุณพ่อมุ่งเน้นงานด้านอภิบาลสัตบุรุษและการแพร่ธรรม
คุณพ่อ มีคาแอล คมทวน มุ่งสมหมาย
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในปี ค.ศ. 1979-1983
คุณพ่อได้เริ่มรับนักเรียนชาย และย้ายโรงเรียนนักบุญโยนออฟอาร์คแผนกมัธยม มารวมกับแผนกประถม เปลี่ยนชื่อใหม่ว่าโรงเรียนโยนออฟอาร์ค และที่สุดคุณพ่อได้เปิดโรงเรียนอาชีวะขึ้น ภายในบริเวณเดิมของโรงเรียนโยนออฟอาร์คแผนกมัธยม ตั้งชื่อใหม่ว่าโรงเรียนโยนออฟอาร์คพณิชยการ
คุณพ่อ เปโตร ศวง ศุระศรางค์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในปี ค.ศ. 1983-1989
คุณพ่อได้จัดฉลองครบรอบ 150 ปี ของกลุ่มคริสตชนสามเสนขึ้นในวันฉลองวัด เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1984 คุณพ่อได้จัดทำหนังสือทวีธาวัชรสมโภช วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ขึ้น พร้อมทั้งได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาในงานฉลองครั้งนี้ด้วย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์มาในงานในวันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1984 นอกจากงานสำคัญนี้แล้วเพื่อให้สัตบุรุษมีความรักเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน คุณพ่อได้ส่งเสริมกิจการเครดิตยูเนียนของวัดให้เจริญก้าวหน้า
คุณพ่อ ยอห์น ชุมภา คูรัตน์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในปี ค.ศ. 1989-1994
งานที่สำคัญของคุณพ่อได้แก่งานด้านอภิบาล และปรับปรุงงานบริหารโรงเรียน ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น
คุณพ่อ ยอแซฟ ประวิทย์ พงษ์วิรัชไชย
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในปี ค.ศ. 1994-1999
คุณพ่อ เปโตร สุรสิทธิ์ ชุ่มศรีพันธุ์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในปี ค.ศ. 1999-2004
คุณพ่อ ยอแซฟ ประทีป กีรติพงศ์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในปี ค.ศ. 2004-2009
คุณพ่อ ยอห์น สุเทพ พงษ์วิรัชไชย
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในปี ค.ศ. 2009-2014
คุณพ่อวิทยา คู่วิรัตน์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในปี ค.ศ. 2014-2016
วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน ค.ศ. 2015 สมโภช 180 ปีของวัด โดย พระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช
- ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงานสมโภช 180 ปี วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ “รักษ์บ้านญวณ” จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 12-13 กันยายน ค.ศ. 2015 ณ วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน
คุณพ่อสานิจ สถะวีรวงส์
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในปี ค.ศ. 2016-2021
ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
คุณพ่อนิพนธ์ สิริวราวุธ ในปี ค.ศ. 2020 - ปัจจุบัน
คุณพ่อทวีศักดิ์ กิจเจริญ
ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในปี ค.ศ. 2021-ปัจจุบัน
ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
คุณพ่อสมโภช พูลโภคผล ในปี ค.ศ. 2021- ปัจจุบัน
ชีวประวัตินักบุญองค์อุปถัมภ์
นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของผู้แพร่ธรรมทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็น “ธรรมทูตแห่งหมู่เกาะอินเดียตะวันอออก” เป็นพระกระแสเรียกและพระญาณสอดส่องของพระเป็นเจ้าอย่างแท้จริง ที่ทำให้ท่านนักบุญที่รักของเรากระทำภารกิจอันใหญ่ยิ่ง นี้คือ ประกาศพระราชัยสวรรค์มาถึงทวีปเอเชีย ประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย (รวมทั้งตอนใต้ของประเทศไทยบางส่วนด้วย) อันที่จริงก็เป็นเพราะพระวาจาประโยคเดียวนี้
มีประโยชน์อะไรสำหรับมนุษย์ ถ้าได้โลกนี้ทั้งสิ้นไว้ แต่ต้องสูญเสียวิญญาณของตนไป (มธ. 16:26)
ซีงนักบุญอิกญาซิโอ ได้พูดเตือนสติท่าน ท่านจึงได้เปลี่ยนแปลงชีวิตจากขุนนาง ผู้ต้อง การเกียรติยศ ชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติ ความรู้ทางวิชาการต่างๆ แล้วมาใช้ชีวิตที่สุภาพ เรียบร้อย ถ่อมตนเป็นพระสงฆ์ ผู้เสียสละ พลีกรรม อดทน และทรมานกาย เพื่อเจริญชีวิตจาริกแสวงบุญในการแพร่ธรรมเกือบทั่วโลก อันเป็นเพิ่มพระสิริมงคลแด่พระเป็นเจ้า
ชีวิตแรกเริ่มของท่าน
ฟรังซิส เกิดในปี ค.ศ. 1506 ที่ปราสาทเซเวียร์ (บ้านใหม่) ในตระกูลขุนนางเชื้อสายสเปนเป็นบุตรของ ดอกเตอร์ ยาสซู ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์แคว้นนาวาร์ และท่านผู้หญิง มาเรีย หนูน้อยฟรังซิสยังมีพี่ชายอีก 2 คน และพี่สาว 1 คน
ฟรังซิสน้อยเป็นเด็กเฉลียวฉลาด น่ารัก ช่างคิดช่างฝัน และมีความศรัทธาต่อแม่พระมาก บางครั้งก็คิดว่าโตขึ้นจะเป็นนักปรัชญาที่เก่งฉกาจ หรือเป็นทหารกล้าแบบพี่ชาย หรือเป็นนักวิชาการที่ปราดเปรื่อง แต่ก็มีความคิดที่จะเป็นพระสงฆ์ด้วย ความคิดอันหลังนี้เองที่ทำให้ท่านผู้หญิงมาเรียดีใจมาก พี่สาวของฟรังซิสเองก็ไม่เคยลืมจะสวดภาวนาให้น้องของตนในเรื่องดังกล่าวนี้เลย
ชีวิตงานธรรมทูตของท่าน
คณะธรรมทูตชุดแรกเดินทางไปประกาศแพร่ธรรมที่อิตาลี คุณพ่อฟรังซิสมีหน้าที่เป็นเลขานุการของนักบุญอิกญาซิโอ ที่กรุงโรมนั้น แต่แล้วพระญาณสอดส่องของพระเป็นเจ้าก็มาถึงท่านให้ออกมาแพร่ธรรมทางแถบตะวันออกไกล ตามคำขอร้องของกษัตริย์ยอห์นที่ 3 แห่ง ปอร์ตุเกส ท่านได้รับมอบหมายหน้าที่สำคัญนี้จากพระองค์ ที่สั่งผ่านทางนักบุญอิกญาซิโอ นั่นเอง ท่านได้ออกเดินทางจากกรุงโรมในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1540 และได้รับอุปสรรคต่างๆ ในกรุงลิสบอน ต้องเสียเวลาไปถึง 1 ปี ก่อนที่จะเริ่มเดินทางจริงๆ
ท่านมีความใฝ่ฝันอย่างมากที่จะไปประกาศพระวรสารที่ผืนแผ่นดินจีน แต่ท่านก็กลับป่วยสิ้นชีวิตอย่างกะทันหันที่เกาะซานเซียนนั้น ซึ่งห่างจากแผ่นดินใหญ่เพียง 150 กิโลเมตร เท่านั้น ในวาระสุดท้ายของท่านนี้ เพื่อนร่วมทางชาวจีนเล่าว่า “ตอนเที่ยงของวันพฤหัส ท่านเริ่มได้สติ แต่ท่านกลับเรียกขานหาพระตรีเอกภาพ เท่านั้น และพูดต่อไปอีกว่า “ข้าแต่พระคริสตเจ้าบุตรของกษัตริย์ดาวิด โปรดทางเมตตาข้าเถิด...” ท่านพูดเช่นนี้จนกระทั่งถึงคืนวันศุกร์และล่วงเลยมาถึงรุ่งอรุณของวันใหม่ แล้วท่านก็มอบวิญญาณคืนต่อพระบิดาเจ้าด้วยความสงบ”
ผลงานแพร่ธรรมอันยิ่งใหญ่ของท่าน ทำให้คนกลับใจเป็นจำนวนมาก กล่าวกันว่า ท่านโปรดศีลล้างบาปอย่างน้อย 30,000 คน ท่านสิ้นใจในวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1552 พระศาสนจักรประกาศแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญ เมื่อ ปี ค.ศ. 1622 ต่อมาในปี ค.ศ. 1927 พระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 11 ได้สถาปนาแต่งตั้งท่านเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของผู้แพร่ธรรมทั่วโลก พร้อมกับนักบุญ เทเรซาเห่งพระกุมารเยซู “ข้าแต่นักบุญฟรังซิสเซเวียร์องค์อุปถัมภ์ของเราช่วยวิงวอนเทอญ”
เป็นสิ่งที่น่าพิศวงมากกว่าท่านนักบุญได้เดินทางประกาศแพร่ธรรมนี้ เป็นระยะทางถึง 38,000 ไมล์ ด้วยทางทะเล และอีก 2-3,000 ไมล์ ทางบก ในระยะเวลา 11 ปี เริ่มตั้งแต่ออกจากกรุงลิสบอน ในปี ค.ศ. 1541 จนถึง ออกเดินทางไป ซานเซียน ในปี ค.ศ. 1552
แผนที่การเดินทาง