-
Category: ประวัติวัดในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เขต 1
-
Published on Tuesday, 08 December 2015 03:05
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 11897
ตั้งอยู่เลขที่ 23 ถ.เจริญกรุง 40
เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
โทร. 0-2233-7120, 0-2234-8556 FAX. 0-2234-3414
E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Website : assumption-cathedral.com
พุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี
“ข้าพเจ้าขอเพียงสิ่งเดียวจากพระยาห์เวห์ สิ่งเดียวนี้ข้าพเจ้าแสวงหา
คือการได้พำนักอยู่ในพระเคหาของพระยาห์เวห์ทุกวันตลอดชีวิต
เพื่อชมความงามของพระยาห์เวห์ และคอยเฝ้าอยู่ในพระวิหารของพระองค์”
(สดด 27:4)
การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือสถานที่อันสำคัญซึ่งเป็นศูนย์กลางของสังคม เป็นสิ่งอันจะทำให้ผู้คนในสังคมนั้นมีความเข้าใจรากกำเนิดแห่งตน ภูมิใจในการสร้างสรรค์ของบรรพชน และเคารพตัวตนของตัวเอง ดังนั้นในห้วงเวลาของการครบรอบ 100 ปีอาสนวิหารอัสสัมชัญหลังปัจจุบัน (ค.ศ. 1919-2019) รวมถึงการครบรอบ 350 ปีแห่งการสถาปนามิสซังสยาม (ค.ศ. 1669-2019) จึงเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสมที่จะกลับมาทบทวนเรื่องราวต่างๆในอดีตของมิสซังสยาม โดยมุ่งเน้นที่ความเป็นมาของอาสนวิหารอัสสัมชัญ เพื่อทำให้เรื่องราวและภาพจำที่ลบเลือนไปของเรื่องราวอันทรงคุณค่าต่างๆ ได้มีโอกาสฟื้นคืนกลับมาโลดแล่นอีกครั้งในห้วงคำนึงของคริสตชนไทยปัจจุบัน
ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ตรงกับรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ชุมชนคริสตชนกระจายตัวอยู่ตามริมแม่น้ำเจ้าพระยาคือ วัดคอนเซ็ปชัญ (วัดเขมร) ถูกสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์โดยพระสังฆราชหลุยส์ ลาโน (Louis Laneau) ผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปาแห่งมิสซังสยามท่านแรก คริสตชนส่วนใหญ่เป็นชาวโปรตุเกส วัดซางตาครู้ส ถูกสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโดยคุณพ่อฌาคส์ กอรร์ (Jacques Corre) มิชชันนารีฝรั่งเศส คริสตชนส่วนใหญ่เป็นชาวโปรตุเกส และชุมชนชาวโปรตุเกสที่แยกตัวออกจากวัดซางตาครู้ส ได้รับพระราชทานที่ดินจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต่อมาจะก่อร่างสร้างตัวขึ้นเป็นวัดแม่พระลูกประคำ กาลหว่าร์ และวัดหลังถัดมาซึ่งพระสังฆราชเอสปริต์-มารีย์ ฟลอรังส์ (Esprit-Marie Florens) สร้างขึ้น จะถูกจารึกถึงในนามของ “วัดอัสสัมชัญ”
1. ความเป็นมาของวัดอัสสัมชัญหลังแรก
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของวัดอัสสัมชัญเริ่มปรากฏขึ้นใน ค.ศ.1809 โดยคุณพ่อยอห์นบัปติส ปาสกัล ได้รวบรวมเงินจำนวน 1,500 เปียสต์ มอบแด่คุณพ่อเอสปริต์ ฟลอรังส์ซึ่งพำนักอยู่ ณ กรุงเทพฯ ผ่านทางคุณพ่อโค๊ลด-ฟรังซัวส์ เลอต็องดัล (Claude-François Letondal) ด้วยจุดประสงค์ของคุณพ่อปาสกัลที่ถวายเงินก้อนนี้คือ “สำหรับก่อสร้างวัดเพื่อถวายเกียรติแด่พระนางพรหมจารีย์มารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ”
คุณพ่อฟลอรังส์ได้เขียนจดหมายถึงคุณพ่อเลอต็องดัลลงวันที่ วันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1810 กล่าวถึงการเริ่มโครงการสร้างวัดดังกล่าวไว้ว่า
“ ข้าพเจ้าได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งราคา 250 เปียสต์ คงจะต้องขยายสักหน่อยในภายหลัง เพื่อจะได้สร้างวัดให้สมกับความปรารถนาของผู้บริจาค เพื่อพระเกียรติมงคลของพระเป็นเจ้าและพระนางพรหมจารีย์ ที่ดินแปลงนี้อยู่ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามวัดซางตาครู้สของเรา ค่อนไปทางเหนือจากวัดของพวกกิสมาติกเล็กน้อย (หมายถึงวัดน้อยของกลุ่มผู้ไม่นบนอบพระสังฆราชที่ย้ายมาจากวัดซางตาครู้ส ปัจจุบันคือวัดกาลหว่าร์)”
และจดหมายลงวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1810 คุณพ่อฟลอรังส์เขียนข้อความสั้นๆถึงคุณพ่อเลอ ต็องดัลว่า "ขณะนี้กำลังเตรียมที่ดินแปลงนี้เพื่อที่จะได้สร้างวัดแห่งพระนางพรหมจารีย์ตามความปรารถนาของผู้บริจาคที่ได้ถวายเงิน 1,500 เปียสต์แล้วนั้น และซึ่งข้าพเจ้าได้รับเมื่อปีที่แล้วจากคุณพ่อปาสกัล"
ค.ศ. 1810 พระสังฆราชอาร์โนด์ การ์โนลต์เริ่มมีสุขภาพที่ถดถอยลงอย่างมาก เนื่องจากอาการป่วยเรื้อรังด้วยโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ จึงได้แต่งตั้งคุณพ่อฟลอรังส์เป็นพระสังฆราชผู้สืบตำแหน่ง ตามอำนาจที่ได้รับจากสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 6 แต่เมื่ออาการป่วยทุเลาแล้ว พระสังฆราชการ์โนลต์ได้เดินทางไปวัดจันทบุรีเพื่อโปรดศีลกำลัง ในโอกาสที่มีภคินีเชื้อสายญวนจำนวนหนึ่งปฏิญาณตน แต่ท่านได้ล้มป่วยกระทันหันและมรณภาพในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1811 เมื่อได้ทราบว่าพระสังฆราชการ์โนลต์ป่วยหนัก พระสังฆราชฟลอรังส์จึงได้เดินทางไปจันทบุรี คุณพ่อฟลอรังส์ได้ออกเดินทางไปรับการบวชเป็นพระสังฆราชที่โคชินจีนโดยพระสังฆราชฌอง ลาบาร์แต๊ต (Jean Labartette) ในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1811
ค.ศ. 1819 พระสังฆราชฟลอรังส์ได้เดินทางไปเยี่ยมคริสตชนที่ปีนัง เมื่อทราบข่าวว่าเงินที่คุณพ่อปาสกัลมอบให้ไม่เพียงพอต่อการก่อสร้างวัด คริสตชนที่ปีนังจึงรวบรวมเงินมาทำบุญ รวมกับเงินจำนวน 500 เปียสต์จากคุณพ่อโฆเซ่ บาเร็ตโต (José Baretto) ชาวโปรตุเกส ซึ่งปรารถนาจะสมทบทุนการสร้างวัดแม่พระเพื่อเพิ่มพูนความเชื่อของชาวสยาม การดำเนินงานต่างๆ ก็เริ่มทันทีใน ค.ศ.1820 คือซื้อที่ดินสวนมะม่วงและกล้วย เพิ่มอีกหนึ่งแปลง โดยแปลงแรกที่ซื้อไว้ใน ค.ศ. 1809 จะอยู่บริเวณโรงเรียนอัสสัมชัญในปัจจุบัน และแปลงที่สองซึ่งซื้อเมื่อ ค.ศ. 1820 เป็นที่ตั้งของอาสนวิหารอัสสัมชัญปัจจุบัน โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา โรงเรียน อัสสัมชัญคอนแวนต์ สำนักพระสังฆราช อาคารคาทอลิกแพร่ธรรม (ตึกเก่าของธนาคารอินโดจีน) บริษัทอีสต์ เอเซียติก ฯลฯ จากนั้นจึงเริ่มปรับที่ดินให้เรียบ และลงมือสร้างวัดอัสสัมชัญด้วยเป็นอิฐ มีลักษณะสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างไทยกับยุโรป แล้วเสร็จใน ค.ศ.1821 โดยมีชื่อที่เรียกแต่เดิมว่า “วัดอัสซมซีโอ” หรือ “วัดสวนท่าน” เพราะเป็นวัดที่ตั้งท่ามกลางสวนมะม่วงของพระสังฆราช จากนั้นได้ย้ายบ้านเณรจากวัดซางตาครู้สมาบริเวณนี้ (พื้นที่บ้านเณรปัจจุบันอยู่ในบริเวณโรงเรียนอัสสัมชัญ)
พิธีเสกวัดอัสสัมชัญกระทำอย่างสง่าในวันฉลองแม่พระลูกประคำ ค.ศ. 1822 โดยพระสังฆราชฟลอรังส์เป็นประธานในพิธี ต่อมา ได้มีการแต่งตั้งพระสงฆ์ผู้สอนเทววิทยาประจำบ้านเณรอัสสัมชัญขึ้นเป็นพระสังฆราชผู้ช่วยแห่งมิสซังสยาม คือ พระสังฆราชบาเธเลมี บรือเกียร์ (Barthélemy Bruguière) พิธีบวชพระสังฆราชจัดขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1829 ณ วัดอัสสัมชัญ จากนั้นไม่นาน พระสังฆราชบรือเกียร์ได้ถูกส่งไปดำรงตำแหน่งผู้แทนพระสันตะปาปาแห่งมิสซังเกาหลีท่านแรก
สมัยของพระสังฆราชยัง บัปติสต์ ปัลเลอกัวซ์ (Jean Baptiste Pallegoix) ได้เขียนถึงวัดอัสสัมชัญไว้ในหนังสือเล่าเรื่องกรุงสยามของท่านดังนี้
...แห่งแรกชื่อค่ายอัสสัมชัญ ซึ่งสามเณราลัยตั้งอยู่ที่นั่น ใกล้กับตัวโบสถ์อันงามก่ออิฐถือปูน สร้างมาได้เกือบสี่สิบปีแล้ว ตัวโบสถ์นั้นมีสวนอันกว้างล้อมรอบอยู่โดยรอบ มีบ้านเรือนของพวกคริสตชนกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำลึกไปประมาณ หนึ่งร้อยเมตร จะเห็นสำนักพระสังฆราชอันสูงเด่นซึ่งสิ้นค่าก่อสร้างไปถึงสามพันฟรังก์เศษ ชั้นล่างของอาคารหลังนี้จัดสรรให้เป็นที่ทำการของโรงพิมพ์ชั้นบนซึ่งมีอยู่เพียงชั้นเดียวประกอบ ด้วยห้องนอน 2 ห้อง และห้องรับแขกอันกว้างใหญ่...
ในยุคแรกเริ่ม วัดอัสสัมชัญยังคงขึ้นตรงกับวัดกาลหว่าร์ เมื่อเมืองได้ขยายไปจนถึงบริเวณชุมชนวัด และจำนวนคริสตชนได้เพิ่มขึ้นจึงจำเป็นต้องตั้งบริเวณนั้นให้เป็นกลุ่มคริสตชน ดังนั้นใน ค.ศ. 1864 พระสังฆราชแฟร์ดิน็อง-ออกุสแตง-ยอแซฟ ดือปองด์ (Ferdinand-Aimé-Augustin-Joseph Dupond) จึงตั้งวัดอัสสัมชัญเป็นกลุ่มคริสตชนอย่างเป็นทางการ มอบหมายให้คุณพ่อฟรังซัวส์ ชมิตต์ (François Schmitt) เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก และเปิดบัญชีศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกเล่มตั้งแต่ ค.ศ. 1864 เป็นต้นมา
กระทั่งถึง ค.ศ. 1866 คุณพ่อฌอง-หลุยส์ เวย์ (Jean-Louis Vey) ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสถึง ค.ศ. 1872 คุณพ่อปิแอร์-หลุยส์ รุสโซ (Pierre-Louis Rousseau) จึงดำรงตำแหน่งแทนถึง ค.ศ. 1874 คุณพ่อรุสโซได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบ้านเณรพระหฤทัยบางช้าง คุณพ่อเวย์จึงกลับมาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสอีกหนึ่งวาระ ในค.ศ. 1875 คุณพ่อเวย์ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชประจำมิสซังสยาม เจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญจึงต้องถึงคราวเปลี่ยนอีกครา โดยครั้งนี้คุณพ่อปลัดจากวัดกาลหว่าร์ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสที่วัดอัสสัมชัญ โดยที่ไม่มีใครล่วงรู้ในกาลนั้นเลยว่า คุณพ่อท่านนี้จะเป็นเจ้าอาวาสยาวนานถึง 58 ปี คือ คุณพ่อเอมิล-ออกุสต์ กอลมเบต์ (Emile-Auguste Colombet) ผู้นำวัดอัสสัมชัญสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกคำรบหนึ่ง
2. สมัยคุณพ่อเอมิล กอลมเบต์เป็นเจ้าอาวาส
ยุคสมัยที่คุณพ่อกอลมเบต์รับหน้าเป็นอาวาสวัดอัสสัมชัญ ถือเป็นช่วงเวลาที่มิสซังสยามเป็นที่ยอมรับของบุคคลโดยมากในสังคม โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกลุ่มชนชั้นนำสยาม เพราะเนื่องจากการผ่านบทพิสูจน์ในเรื่องของการวางตนเป็นกลางในหลายสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างสยามและฝรั่งเศส อีกทั้งเวลานั้นเป็นช่วงที่สยามกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในหลายอย่าง ทั้งเรื่องของการคมนาคม การปกครอง การศึกษา การสาธารณสุข ซึ่งมิสซังสยามนำโดยพระสังฆราชหลุยส์ เวย์และเหล่าบุคคลากรของมิสซังก็ได้ช่วยเป็นฟันเฟืองเล็กๆที่จะขับเคลื่อนชุมชนคริสตชนในสยามให้ก้าวหน้าไปพร้อมกับสังคมโดยรวม
2.1 การสร้างโรงเรียน
จากจิตตารมณ์ธรรมทูต ซึ่งสมณกระทรวงเผยแผ่ความเชื่อ (Propaganda Fide) ได้เน้นย้ำถึงการอบรมเยาวชนในสถานศึกษา บรรดามิชชันนารีจึงยึดถือเรื่องนี้เป็นสำคัญ ก่อเกิดเป็นสถานศึกษาจำนวนมากมาย ที่วัดอัสสัมชัญก็เช่นเดียวกัน การจะฟื้นฟูและพัฒนาวัดนี้อย่างจริงจัง ต้องดำเนินงานให้การศึกษาอบรมเด็กๆด้วยจิตตารมณ์คริสตชน ขณะเมื่อคุณพ่อกอลมเบต์เริ่มปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสนั้นวัดอัสสัมชัญยังไม่มีโรงเรียนประจำวัด คุณพ่อกอลมเบต์จึงปรารถนาจะจัดตั้งโรงเรียนแห่งหนึ่งขึ้น อาคารเดิมต่างๆ ของบ้านเณร ซึ่งพวกนักเรียนเพิ่งถูกส่งไปอยู่ที่บางช้าง ไม่มีใครใช้ คุณพ่อกอลมเบต์จึงขอพระคุณเจ้าเวย์ และใช้เป็นโรงเรียนประจำวัดของท่านใน ค.ศ. 1877 รู้จักกันในนาม “โรงเรียนไทย-ฝรั่งเศส วัดสวนท่าน” ต่อมาใน ค.ศ.1885 ได้เปลี่ยนโรงเรียนประจำวัดนี้เป็น "วิทยาลัย" เปิดรับเด็กๆ ทุกคนในกรุงเทพฯ วันเปิดเรียนมีนักเรียนมา 33 คน และเมื่อนักเรียนเพิ่มมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนของพระสังฆราชเวย์ ในวันที่ 6 มกราคม ค.ศ.1887 คุณพ่อกอลมเบต์ได้เสนอแผนผังของวิทยาลัยในอนาคตของท่านต่อสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระองค์ท่านเห็นชอบด้วยทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 4,000 ฟรังก์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 2,000 ฟรังก์ ตามด้วยบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นสูงก็ร่วมโดยเสด็จพระราชกุศลครั้งนี้ด้วย
ในการวางศิลาเอกของอาคารเรียนของโรงเรียนอัสสัมชัญ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเด็จเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาเอก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1887 และตอนต้นปี ค.ศ.1889 วิทยาลัยแห่งใหม่ก็เปิดทำการสอน ในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1901 ภราดาคณะเซนต์คาเบรียล 5 ท่านได้เดินทางมาถึงสยาม ตามคำเชิญของคุณพ่อกอลมเบต์เพื่อมารับผิดชอบดูแลโรงเรียนอัสสัมชัญต่อไป
2.2 การสร้างวัดอัสสัมชัญหลังปัจจุบัน
เนื่องจากกลุ่มคริสตชนได้ขยายตัวมากขึ้นอีกทั้งยังวางมือจากโรงเรียนอัสสัมชัญ เนื่องจากภราดาเซนต์คาเบรียลได้รับหน้าที่ดูแลโรงเรียนต่อไป คุณพ่อกอลมเบต์จึงได้ปรึกษาหารือกับคุณพ่อปิแอร์-ฌอง-หลุยส์ โรมิเออ (Pierre Jean Louis Romieu) ซึ่งขณะนั้นเป็นเหรัญญิกของมิสซังสยาม รับผิดชอบโรงพิมพ์อัสสัมชัญ และเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการก่อสร้าง ตกลงกันว่าจะดำเนินการก่อสร้างวัดอัสสัมชัญขึ้นใหม่เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความศรัทธาของคริสตชนในยุคสมัยนั้น โดยคุณพ่อกอลมเบต์รับหน้าที่เป็นผู้หาทุน คุณพ่อโรมิเออเป็นผู้ออกแบบโครงสร้างและควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งจากการประชุมตกลงกันได้ข้อสรุปสำหรับการจัดสร้าง จะยึดกรอบความคิดที่นำเสนอความหมายในทุกองค์ประกอบของอาคาร และรูปแบบสถาปัตยกรรมของวัดจะเป็นแบบโรมาเนส-ไบเซนไทน์ แม้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลนในเวลาต่อมาก็ยังคงยึดกรอบความคิดนี้อยู่ ที่เลือกใช้รูปแบบของโรมาเนสก์-ไบเซนไทน์ เนื่องจากสะท้อนให้คำนึงถึงจิตใจที่มั่นคงซึ่งเพ่งพิศไปยังพระเป็นเจ้า สัดส่วนโครงสร้างของวัดถูกให้ความหมายเปรียบดังเสาศิลาแห่งหลักคำสอนในพระศาสนจักรที่ไม่มีสิ่งใดมาสั่นคลอนได้ พื้นวัดที่เป็นหินสีเทาอ่อนเลียนแบบกระเบื้องโมเสคเน้นความเรียบง่าย ห้องใต้ดิน (Crypt) ที่ใช้ฝังร่างของพระสังฆราชและพระสงฆ์ถูกนิยามว่าเป็นเสมือนเตียงนอนเพื่อรอการเสด็จกลับมาอีกครั้งขององค์พระผู้เป็นเจ้า หอสูงด้านหน้าวัดเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เดินเรือต่างชาติเมื่อเข้ามาในอาณาจักรสยามได้รำลึกนึกถึงพระเป็นเจ้าและยินดีในความเป็นคริสตชนของตนอีกทั้งความยิ่งใหญ่ของตัวอาคารนี้ยังจะเป็นความภาคภูมิของกรุงเทพมหานครสืบไป
ต้นแบบภายนอกของตัวอาคารวัดซึ่งคุณพ่อกอลมเบต์ได้ศึกษาและปรึกษากับคุณพ่อโรมิเออ จึงได้ข้อสรุปว่าจะลอกแบบอาสนวิหารแม่พระแห่งเมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม ส่วนหัวเสาภายในวัด คุณพ่อกอลมเบต์ได้รับภาพถ่ายจากวัดที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งแบบหัวเสานั้นยังปรากฏอยู่เป็นสัญลักษณ์ของผู้นิพนธ์พระวรสารบริเวณสองข้างของพระแท่น
การก่อสร้างวัดอัสสัมชัญหลังใหม่เริ่มต้นขึ้นภายหลังจากการสร้างอาคารโรงเรียนอัสสัมชัญเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยใน ค.ศ. 1904 ได้เริ่มการรื้อถอนวัดหลังเก่าลง จากนั้นจึงเริ่มวางรากฐานของวัด จากสมุดบันทึกของคุณพ่อกอลมเบต์ ท่านได้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นเพื่อช่วยหาทุนสนับสนุนการก่อสร้างโดยเริ่มประชุมครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1905 เวลา 9 นาฬิกา ณ ห้องโถงรับแขกสำนักพระสังฆราช (ปัจจุบันคือ หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ) ปรากฏรายนามดังนี้
1. ฯพณฯ ออกุสต์ ริโฟต์ (Auguste Riffault) ราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม เป็นประธานกรรมการ
2. บารอน เอ. เดล มาร์โมล (Baron A. del Marmol) รองกงศุลเบลเยี่ยมประจำสยาม
3. นาย ออกุสต์ ซีร์ (Auguste Sire) ผู้จัดการธนาคารอินโดจีน
4. นาย ชาร์ลส โรเบิตส์ (Charles Roberts) ผู้จัดการบริษัทสแตนดาร์ด ออยส์
5. นายเจมส์ (James) ครูสอนภาษาอังกฤษ
6. นายอิสอัค ฟรานเชสโก โกลาโซ (Isaac Francesco Collaço) ผู้ประเมินราคาประจำศุลกสถาน
7. นายเดชา เลขานุการสถานทูตอิตาลี
8. นายฟีโลเมโน วินเซนต์ เดอ เยซู (Filomeno Vincent de Jesus) ที่ปรึกษาบริษัทอีสต์ เอเชียติก
9. หลวงสรรพพัศดุกิจ (พี. อี. ชมิท) ที่ปรึกษาด้านคลังสินค้าแห่งกรมรถไฟหลวง
10. นายเอฟ. ดอนโน (F. Donno) ที่ปรึกษาบริษัทอีสต์ เอเชียติก
11. นายลอเรนโซ ยุสตินิอานี เซเกอีรา (Lorenzo Eustiniani Sequeira) ผู้ขายสินค้าทอดตลาด
12.นายหลุยส์ วินเซอร์ (Louis Windsor) ที่ปรึกษาบริษัทกิมเซ่งหลี
13. นายย่งหลีเซ้ง พ่อค้า
14. เถ้าแก่จ้อย
15.นายเฉียบ พ่อค้า
16. เสมียนหล่า ประธานกลุ่มสัตบุรุษวัดอัสสัมชัญ
17. นายหลุยส์ ช้อย พ่อค้า
18. นายตัน บุญเอก
19. นายกากาเช พ่อค้า
20. นางเฮียะ
21. นางง้อ
มติที่ประชุมครั้งแรกสรุปได้ดังนี้
1. ให้กรรมการแต่ละคน หรือรวมกัน 2-3 คน ออกบอกบุญเรี่ยไรสร้างวัดใหม่
2. ควรแจ้งให้ผู้บริจาครู้ตัวก่อน และไปขอรับเงินตามโอกาสอันควร
3. ให้มีสมุดเรี่ยไร ซึ่งมีแผนผังของวัดที่จะสร้าง มีลายเซ็นของคุณพ่อกอลมเบต์ และประทับตราวัด
4. เงินที่ได้มาจะเข้าบัญชีธนาคารอินโดจีนในนาม “ทุนวัดพระสังฆราช”
5. ให้มีการประชุมทุกวันอาทิตย์ที่สามของเดือน
ยอดการบริจาคในสิ้น ค.ศ. 1905 รวมทั้งสิ้นได้ 26,896 บาท โดยการลงรากฐานวัดนี้ เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1907 ต่อมาใน ค.ศ. 1908 ที่ประชุมได้ลงมติให้กู้ยืมเงิน 7,000 บาทเพื่อลงรากฐานวัดให้สำเร็จเนื่องจากขาดทุนทรัพย์ในการทำงานขั้นตอนนี้ให้สำเร็จ เมื่อได้รับเงินแล้วจึงรีบเทพื้นเพื่อกลบท่อนซุง (รากฐานวัดแทนการตอกเสาเข็ม) เพื่อไม่ให้ท่อนซุงถูกฝนในฤดูฝน คนงานจำนวน 50 คนเริ่มทำงานปูน วันที่ 13 กรกฎาคมก็สามารถกลบฐานรากเสร็จ พร้อมกับก่ออิฐสูงจากพื้นดิน 1 ฟุต แต่งานก็ต้องหยุดชะงักอีกครั้งเพราะขาดทุนทรัพย์
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1909 พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ถึงแก่มรณภาพ คุณพ่อเรอเน-มารีย์-ยอแซฟ แปร์รอส (René-Marie-Joseph Perros) จึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปาประจำมิสซังสยามองค์ต่อมา กำหนดพิธีบวชพระสังฆราชใหม่อยู่ที่เดือนมกราคม ค.ศ. 1910 โอกาสนี้ คุณพ่อกอลมเบต์จึงปรารถนาจะจัดพิธีเสกศิลาเอกของวัดใหม่ที่กำลังก่อสร้าง จึงจำเป็นต้องจัดทำพื้นวัดให้สำเร็จ แม้จะขาดเงินแต่ก็ยังมีคริสตชนชาวจีนสัตบุรุษวัดกาลหว่าร์นามว่า ยาโกเบ โลว เคียก เชียง (Jacobe Low Kiok Chiang) เจ้าของกิจการห้างเคียมฮั้วเฮง (Kiam Hoa Heng) ได้บริจาคเงินจำนวน 16,000 บาท เพื่อสามารถทำพื้นวัดให้เรียบร้อยก่อนพิธีวางศิลาเอก
พิธีบวชพระสังฆราชใหม่ได้จัดขึ้นที่วัดกาลหว่าร์ในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1910 ประธานและผู้ช่วยในพิธีคือ พระสังฆราชมารีย์-ลุค-อัลฟองส์-เอมิล บาริยอง (Marie-Luc-Alphonse-Emile Barillon) ผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปาประจำมิสซังมะละกา (สิงคโปร์) และพระสังฆราชยัง-โคล้ด บูชือต์ (Jean-Claude Bouchut) ผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปาประจำมิสซังพนมเปญ เมื่อภายหลังจากเสร็จพิธีแล้ว พระสังฆราชแปร์รอสได้เชิญพระสังฆราชบูชือต์ให้เป็นประธานในพิธีเสกศิลาเอกของอาสนวิหารอัสสัมชัญอย่างสง่า พิธีจัดขึ้นในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1910 และพระสังฆราชบาริยองมาร่วมเป็นเกียรติในพิธีด้วย ระหว่างพิธีพระสังฆราชบูชือต์ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับผลอันประเสริฐของการสร้างวิหารถวายพระเป็นเจ้า อันเป็นกิจกุศลอันยิ่งใหญ่ อีกทั้งได้อวยพรให้วัดอัสสัมชัญถึงการสำเร็จบริบูรณ์ในเวลาอันสมควร
เหตุการณ์ดังกล่าวพระสังฆราชแปร์รอสได้เขียนบันทึกไว้ในรายงานประจำปีว่า
…หลังจากพิธีอภิเษกพระสังฆราชแปร์รอส ในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ.1910 ที่วัดกาลหว่าร์ ผ่านพ้นไปแล้ว ในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1910 ได้มีพิธีเสกศิลาเอกก้อนแรกของอาสนวิหารในอนาคต พิธีเป็นไปอย่างสง่า มีการประดับประดาบริเวณพื้นที่ที่จะใช้สร้างวัดด้วยธงทิวหลากสีสวยงาม ก่อนเริ่มพิธีเสกศิลาเอก พระสังฆราชบูชือต์ ประมุขมิสซังเขมร ได้เทศน์สอนผู้มาร่วมพิธีด้วยคำพูดเตือนใจและเร้าใจในความศรัทธาขณะนี้การสร้างวิหารกำลังดำเนินงานอยู่ กำแพงทุกด้านสร้างขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อไรหนอเราจะได้เห็นวิหารนี้สำเร็จ ขอให้พระญาณสอดส่องโปรดประทานปัจจัยที่จำเป็นในการสร้างวัดที่เหมาะสมนี้ถวายแด่พระองค์…
ในวันเสกศิลาเอกมีสัตบุรุษบริจาคเงินเป็นจำนวนมากพอที่จะดำเนินการสร้างวัดต่อไปได้ นอกจากนั้นยังมีคนใจบุญจากยุโรปส่งเงินมาสมทบด้วย ค.ศ. 1911 ปรากฏมีผู้บริจาคทรัพย์ 87 ราย เป็นเงิน 2,468 บาท คุณพ่อโดมินิโก ดงปาเล่อ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสและนายหินได้ออกสำรวจสำมะโนครัวคริสตชนจึงถือโอกาสเรี่ยไรเงินไปในตัว เพราะการก่อสร้างวัดใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายในสถานการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 นอกจากนี้การคมนาคมต่างๆ ในสมัยนั้นก็ยังไม่สะดวก อุปกรณ์การก่อสร้างส่วนมากต้องสั่งจากต่างจังหวัด เช่น หิน ทรายต้องสั่งมาจากราชบุรี และเครื่องประดับอาสนวิหารต้องสั่งซื้อมาจากประเทศฝรั่งเศส, อิตาลี และสิงคโปร์ ฯลฯ แต่คุณพ่อกอลมเบต์ก็ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากต่างๆ คุณพ่อได้ออกเรี่ยไรอิฐ ทราย ปูนได้ครั้งละกระบุงสองกระบุง และไม้ทีละท่อนสองท่อน คุณพ่อมีผู้ช่วยในการหาเงินสร้างวัดอัสสัมชัญอีกสองท่านคือ นายปอล มีคาลีพ และหลวงสรกิจเกษตรการ (ปีเตอร์ พอล เซเกวร่า) ทั้งสองท่านต้องมาประชุมกันทุกวันอาทิตย์หลังมิสซาเพื่อวางโครงการหาเงินในสัปดาห์ต่อๆไป
การประชุมของคณะกรรมการดำเนินอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ วันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1915 มีผู้เสนอรายนามผู้บริจาคตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไปบนบนหินและติดภายในวัด (ไม่ปรากฏว่ามีการทำ) ได้ลงมติให้มุงหลังคาวัดที่กำลังสร้างอยู่ด้วยสังกะสี และที่ประชุมลงมติว่าไม่เห็นชอบที่จะทำยอดแหลมเหนือหอระฆังทั้งสองข้างเพราะแบบเดิมก็สวยงามดีแล้ว วันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1916 เนื่องจากสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 ยังไม่ยุติ ทำให้นายอา. เกอทเท่อ (R. Götte) ผู้รับเหมาชาวเยอรมันต้องลาออก ดังนั้นในเดือนสิงหาคมปีดังกล่าว จึงได้ว่าจ้างนายมารีโอ ตามัญโญ่ (Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาเลียนมาดูการก่อสร้างวัดต่อไป
ใน ค.ศ. 1916 พระสังฆราชแปร์รอสได้ทราบมรณกรรมของคุณพ่อเซบาสเตียน-อิกญาส เยิง (Sébastien-Ignace Jung) ที่จันทบุรี ซึ่งคุณพ่อท่านนี้ได้บริจาคเงินในการสร้างวัดอัสสัมชัญทุกปีตลอดมา และในปีเดียวกันนี้เอง นายโจวานนี สกวานชิ (Giovanni Sguanci) จิตรกรจากเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ซึ่งอยู่ในกลุ่มของนายกาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) จิตรกรชาวอิตาเลียนที่วาดภาพฝาผนังในพระที่นั่งอนัตสมาคม ได้เริ่มวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังในอาสนวิหารอัสสัมชัญ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน เป็นต้นมา ซึ่งนอกเหนือจากภาพเทวดา ลวดลายพรรณพฤกษา และสัญลักษณ์ทางคริสตศิลป์ต่างๆแล้ว จุดเด่นที่สุดของวัดอัสสัมชัญคือบริเวณเหนือพระแท่นซึ่งวาดเรื่องราวจากชีวประวัติของแม่พระ เริ่มจากภาพการแจ้งสารของอัครเทวดาคาเบรียลต่อพระนางมารีย์เรื่องการรับเอากายของพระบุตร มีภาษาลาตินกำกับด้านล่างว่า AVE MARIA (วันทามารีย์) ภาพที่สองคือพระนางมารีย์ได้รับสวมมงกุฎเป็นพระราชินีสวรรค์จากพระเยซูเจ้า มีภาษาลาตินกำกับด้านล่างว่า GRATIA PLENA (เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน) ภาพที่สามคือพระนางมารีย์ในวัยเยาว์ที่ถวายตัวต่อพระเป็นเจ้า โดยมีมหาสมณะยืนอยู่ด้านหน้าประตูพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม โดยมีภาษาลาตินกำกับด้านล่างว่า DOMINUS TECUM (พระเจ้าสถิตย์กับท่าน) นอกจากภาพวาดต่างๆแล้ว ตามเสาทุกต้นในวัดยังถูกวาดเลียนแบบหินอ่อนโดยมีสีเขียวหยก สีเทาและสีฟ้าน้ำทะเล
ส่วนสิ่งประดับตัวอาคารและรูปพระต่างๆสามารถแบ่งออกเป็นสองส่วนคือของเก่าจากวัดหลังเดิม และของใหม่ที่คุณพ่อกอลมเบต์ได้สั่งมาจากประเทศฝรั่งเศส อิตาลี รวมถึงเป็นสิ่งของบริจาคทั้งสิ้นโดยรูปพระบางส่วนและอาภรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ถูกส่งมาถึงในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ.1917 และชำระค่าสิ่งของเหล่านั้นเป็นจำนวน 48,000 บาท ในส่วนของเดิมซึ่งตกทอดมาจากคือ พระแท่นไม้สั่งทำจากร้านแกะสลักชื่อ J. J. Dwucel et Fils กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทำขึ้นใน ค.ศ. 1875 ถัดมาคือ กางเขนไม้ฝังมุกแบบญวนอายุประมาณรัชกาลที่ 3 บรรจุพระธาตุไม้กางเขนซึ่งยังคงนำออกมาใช้ในการเดินรูปสิบสี่ภาคช่วงมหาพรต
ต่อมาคือรูปแม่พระปฏิสนธินิรมลสีทอง มีที่มาโดยหลวงอุปเทศทวยหาญ (เอมิล-โอโนเร ลามาช) ครูฝึกทหารอย่างฝรั่งเศสใน “กรมทหารน่า” สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งภายหลังได้ลาออกจากราชการและเปิดบริษัทนำเข้าสินค้าจากฝรั่งเศส บังเกิดจิตศรัทธาและสั่งพระรูปแม่พระขนาดใหญ่เข้ามาเพื่อถวายแก่วัดคอนเซ็ปชัญ แต่เมื่อรูปปั้นมาถึงสยาม พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ได้ขอพระรูปนี้มาตั้งเป็นประธานของวัดอัสสัมชัญ (หลังเก่า) เนื่องจากวัดดังกล่าวไม่มีรูปปั้นแม่พระ และแม้ว่าพระรูปจะไม่ตรงกับนามของวัด แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีรูปแม่พระเลย เมื่อมีการสร้างวัดหลังใหม่ คุณพ่อกอลมเบต์ได้เชิญพระรูปนี้ไปตั้งไว้ตรงช่องด้านหน้าของวัด สุดท้ายคือระฆังจำนวน 3 ใบ สั่งหล่อจากบริษัท Fonderie de Bollée ตั้งอยู่ที่เมืองออร์เลอ็อง ประเทศฝรั่งเศส โดยทั้งสามใบแล้วเสร็จใน ค.ศ. 1890
1. ใบใหญ่ที่สุดเป็นเสียง “ซอล” สร้างถวายเป็นเกียรติแด่พระนางพรหมจารย์มารีย์ผู้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ (IN HONOREM ASSUMPTIONIS B. M. V.) องค์อุปถัมภ์ของอาสนวิหาร
2. ใบขนาดกลางเป็นเสียง “โด” สร้างถวายเป็นเกียรติแด่นักบุญยอแซฟ (IN HONOREM STI. JOSEPH) ผู้เป็นองค์อุปถัมภ์ของมิสซัง
3. ใบเล็กที่สุดเป็นเสียง “มี” สร้างถวายเป็นเกียรติแด่นักบุญหลุย์ กษัตริย์ฝรั่งเศส (IN HONOREM STI. LUDOVICI) ผู้เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของพระสังฆราชหลุยส์ เวย์
แต่เดิมหอระฆังจะอยู่ที่บริเวณด้านข้างอาสนวิหาร ด้านหน้าอาคารสำนักพระสังฆราชปัจจุบัน โดยหอระฆังสร้างเป็นหอไม้ ต่อมาได้มีการย้ายไปอยู่บริเวณที่เคยเป็น “ศาลาสงบ” ในบริเวณโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา และสุดท้ายในสมัยพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้สร้างหอระฆังหอที่สามบริเวณที่เคยเป็นโรงพิมพ์เก่า ปัจจุบันอยู่ด้านหน้าของวัดน้อยวัดอัสสัมชัญ มีพิธีเสกในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1975
ส่วนสิ่งของใหม่ที่ได้จัดหามาเมื่อสร้างอาสนวิหารหลังที่สองเช่น รูปปั้นแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์เหนือพระแท่นและรูปพระอื่นๆในอาสนวิหาร สั่งมาจากร้าน La Maison Raffl Paris และร้าน H. NICOT Statuaire ส่วนพระแท่นยังคงเป็นของเดิมจากวัดหลังแรก ในส่วนของกระจกสี มีเพียงหลักฐานเพียงไม่มาก เช่นในคราว ค.ศ. 1919 โอกาสเตรียมสุวรรณสมโภชชีวิตสงฆ์คุณพ่อกอลมเบต์ ลูกศิษย์ของท่านได้มอบเงินจำนวน 700 บาท เพื่อซื้อกระจกสีหนึ่งบานติดในอาสนวิหาร หรือรูปกระจกสีบานหนึ่งบริเวณด้านขวาของรูปแม่พระใหญ่เหนือพระแท่น เป็นรูปพระสังฆราชแปร์รอส บาริยอง และบูชือต์พร้อมด้วยพระสงฆ์และคริสตชนกำลังสวดภาวนา และรายละเอียดโดยรวมของกระจกสีบานอื่นคือเป็นภาพพระประวัติของพระเยซูเจ้าและเรื่องราวในพระคัมภีร์
สุดท้ายคืออ่างสำหรับประกอบพิธีโปรดศีลล้างบาป พระคาร์ดินัลฟรังซิส-โจเซฟ สเปลแมน (Francis Joseph Spell-man) พระอัครสังฆราชแห่งนิวยอร์กได้ถวายให้วัดอัสสัมชัญ
นอกจากสิ่งของศาสนภัณฑ์ที่มีผู้บริจาคหรือจัดซื้อมาในภายหลัง อาสนวิหารอัสสัมชัญยังมีสิ่งของทรงคุณค่าอีกสิ่งหนึ่งคือ เชิงเทียนพระราชทานอันเป็นเครื่องสังเค็ดเนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน ค.ศ. 1911 โดยเชิงเทียนคู่นี้ มีสัญลักษณ์ จปร. ประดับอยู่ พร้อมทั้งปรากฏมีเอกสารการพระราชทานเชิงเทียนนี้จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระอนุสรคำนึงถึงที่ประชาชน ทั้งหลายได้มีความจงรักภักดีต่อสมเด็จ พระบรมชนกนารถ อันได้เห็นประจักษ์โดยเฉภาะเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต คนทั้งหลายทุกชาติทุกชั้นบรรดาศักดิ์ ได้แสดงความกตัญญูกะตะเวที พร้อมกันบำเพ็ญการกุศล สนองพระเดชพระคุณตามลัทธิสาสนาแลความสามารถ แห่งตนทุกแห่งหนทั่วไปในพระราชอาณาจักร์ เปนที่ต้องพระราชหฤไทย ยิ่งนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะทรงอนุโมทนา ความกตัญญูกะตะเวทีของมหาชนเปนพระราชกุศลพิเศษส่วนหนึ่งในงานพระบรมศพสมเด็จพระบรมชนกนารถ
ทรงพระราชดำริห์ว่า
วัดอาซัมซาน เปนที่ประชุมในสาสนกิจของประชาชน ซึ่งเลื่อมไสยคฤศต์สาสนาฝ่ายโรมนิกายแห่ง ๑ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเชิงเทียนคู่ ๑ เปนเครื่องตั้งไว้ในโบสถ์วัดอาซัมซาน ให้เปนที่ดำรงความรฤกถึง สมเด็จพระบรมชนกนารถ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแก่ประชาชนผู้นับถือคฤศต์สาสนาสืบไป”
2.3 การเสกวัดอัสสัมชัญ ค.ศ. 1919
อาสนวิหารอัสสัมชัญหลังนี้สร้างเสร็จเรียบร้อย และเริ่มเปิดใช้ในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1918 โดยพระสังฆราชแปร์รอสได้ประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ ต่อมาในวันที่ 15 สิงหาคม ได้จัดพิธีฉลองอาสนวิหารขึ้น โดยพระสังฆราชแปร์รอสทำมิสซาอย่างสง่า คุณพ่อจือส์ กิยู (Jules Guillou) คุณพ่อยัง-อองรี กาลิเอ (Jean-Henri Carrié) คุณพ่ออังเดร พลอย โรจนเสน ทำหน้าที่ช่วยบริเวณพระแท่น และคุณพ่อหลุยส์ โชแรง (Louis Chorin) เป็นนายจารีต นอกจากนั้นยังมีคุณพ่อกอลมเบต์ คุณพ่อยอแซฟ-อามาบล์ ฟ็อก (Joseph-Amable Fauque) มิชชันนารีผู้อาวุโสที่สุดในสยามเวลานั้น คุณพ่อปอล-อเล็กซองด์ซัลม็อง (Paul-Alexandre Salmon) คุณพ่อกาเบรียล ฮุย (Gabriel Houille) คุณพ่อยอแซฟ บรัวซาต์ (Joseph Broizat) คุณพ่อยวง เฮียง นิตตะโย คุณพ่อกูเลียนโม กิ๊น ดาครู้ส และคุณพ่อเบเนดิก จี๋ ร่วมพิธี ส่วนในอาสนวิหารก็ประดับประดาดอกไม้เช่น ดอกซ่อนกลิ่น ดอกพุด ดอกบัว ดอกกล้วยไม้ ดอกจำปี ดอกกุหลาบส่งกลิ่นกำจายไปทั่วบริเวณ รวมถึงการประดับผ้าแพรสีขาวแดง และธงจำนวนมาก คณะนักขับร้องของโรงเรียนอัสสัมชัญพร้อมด้วยวงดนตรีนักบุญเซซีลีอากำกับโดยภราดาไมเกิ้ล (Frère Michel) บรรเลงเพลงตลอดพิธี รวมถึงช่วงการขับแวสเปรัส (ทำวัตรเย็น) ด้วย ในปีดังกล่าวได้เริ่มมีการตั้งไฟฟ้าเพื่อใช้ในอาสนวิหาร
วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1919 ตรงกับวันฉลองสมโภชแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ คุณพ่อกอลมเบต์ถือโอกาสนี้มอบอาสนวิหารอัสสัมชัญแด่แม่พระ ผู้ประกอบพิธีเสกคือพระสังฆราชแปร์รอส ท่ามกลางนักบวชชายหญิง ทูตานุทูตต่างประเทศ และคริสตชนจำนวนมาก
ปลายปี ค.ศ.1919 อาสนวิหารอัสสัมชัญได้มีพิธีบูชาขอบพระคุณอย่างสง่าอีกครั้ง หลังจากพิธีเสกในเดือนสิงหาคมแล้ว รายงานประจำปี ค.ศ.1919 หน้า 183 พระสังฆราชแปร์รอส บันทึกไว้ว่า
...ปิดท้ายการเข้าเงียบประจำปีของเราในเดือนพฤศจิกายน ด้วยการจัดพิธีกรรมอย่างสง่าที่อาสนวิหารเพื่อระลึกถึงวิญาณผู้ล่วงลับไปในสงคราม มิชชันนารีเกือบทุกองค์เข้าร่วมพิธีนี้ ผู้รักษาการณ์สถานทูตฝรั่งเศส เนื่องจากอัครราชทูตไม่อยู่ ชาวฝรั่งเศส ส่วนมากที่กรุงเทพฯ และชาวต่างชาติอื่นๆ หลายคนมาร่วมพิธีนี้ด้วย วันอาทิตย์หลังจากการเซ็นสัญญาสงบศึก มีมิสซาใหญ่อย่างสง่า เพื่อโมทนาคุณพระเป็นเจ้า ตามด้วยเพลง เต เดอุม ที่อาสนวิหาร และที่วัดอื่นๆ ทั้งหลายของมิสซังด้วย...
ภายหลังจากการเสกอาสนวิหารได้ผ่านพ้นไปคณะกรรมการของวัดได้หารือถึงเรื่องการหารายได้ช่วยเหลือวัด เนื่องจากในเวลานั้นยังไม่มีม้านั่งยาวในอาสนวิหาร คุณพ่อกอลมเบต์จึงเสนอให้ฝั่งผู้ชาย (ด้านขวา) มีเก้าอี้ตัวเล็กแบบเคลื่อนย้ายได้ ส่วนฝั่งของผู้หญิง (ด้านซ้าย) ให้ว่างโล่งเอาไว้ โดยระหว่าง ค.ศ. 1920-1921 ได้มีการให้สัตบุรุษเช่าเก้าอี้นั่ง ซึ่งก็ได้การตอบรับอยู่ระยะเวลาหนึ่งจนภายหลังมีการสร้างม้านั่งยาวจึงยกเลิกวิธีเช่าเก้าอี้ไป และท้ายที่สุด ในวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1924 คุณพ่อกอลมเบต์ได้ยุบคณะกรรมการซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1905 ลงอย่างถาวร
แต่ภายหลังจากการเสกอาสนวิหารเพียงไม่กี่ปี ก็มีเหตุให้ต้องซ่อมแซมวัดอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากตัวอาคารไม่สามารถทานน้ำหนักของเพดานซึ่งมีน้ำหนักมากได้จึงเกิดการทรุดตัวของเพดาน เพราะในการออกแบบของคุณพ่อโรมิเออ ท่านได้เน้นย้ำว่าต้องใช้วัสดุเพดานเป็นเหล็กหรือไม้ เพื่อให้มีน้ำหนักเบา แต่เนื่องจากเวลาต่อมาคุณพ่อโรมิเออป่วยต้องไปพักรักษาตัว อีกทั้งต่อมาต้องเดินทางไปดูแลโรงพิมพ์ที่เกาะฮ่องกง ผู้ควบคุมการก่อสร้างต่อจากคุณพ่อได้คิดต่างจากคุณพ่อ จึงออกแบบเพดานให้เป็นดังเช่นปัจจุบัน วิศกรผู้รับหน้าที่ซ่อมแซมแก้ไขปัญหาเรื่องเพดานนี้คือ นายชาร์ลส โบดาต์ (Charles Baudart) นายช่างใหญ่และที่ปรึกษากรมนคราทร
2.4 มรณกรรมของคุณพ่อกอลมเบต์
ในวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ.1933 มิสซังสยาม และสัตบุรุษอาสนวิหารอัสสัมชัญต้องสูญเสียบุคคลผู้ความสำคัญและมีพระคุณไป ในรายงานประจำปี ค.ศ.1933 พระสังฆราชแปร์รอสได้เขียนถึงการสูญเสียคุณพ่อกอลมเบต์ มิชชันนารีอาวุโสดังนี้
...วันที่ 23 สิงหาคม เราสูญเสียมิชชันนารีอาวุโสคือ คุณพ่อกอลมเบต์ที่นับถือของเราซึ่งมรณภาพเมื่ออายุ 85 ปี หลังจากทำงานมิสซังได้ 62 ปี งานของคุณพ่อผู้ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญนี้ นับเป็นงานอันยิ่งใหญ่น่าสรรเสริญ ท่านได้รับมอบหมายให้ปกครองอาสนวิหา
รอัสสัมชัญตั้งแต่ ค.ศ.1875 ก็ท่านนี้แหละคือผู้บันดาลให้อาสนวิหารอัสสัมชัญเป็นดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ความเจริญรุ่งเรืองในงานทั่วๆ ไปอย่างมากของมิสซังนั้นเป็นผลอันเกิดจากความคิดริเริ่มอันเพียรพยายามโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของคุณพ่อ ท่านเป็นรองประมุขมิสซังตั้งแต่ ค.ศ.1907 และรั้งตำแหน่งประมุขมิสซังชั่วคราวหลังการมรณภาพของพระสังฆราชเวย์ ท่านสามารถทำให้การติดต่อกับรัฐบาลซึ่งดำเนินการมาหลายปีแล้ว เพื่อมุ่งจะให้มีพระราชบัญญัติอนุมัติให้มิสซังคาทอลิกมีสิทธิ์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นผลสำเร็จ คุณพ่อองค์นี้เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ ได้มีส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้บุคคลสำคัญผู้หนึ่ง ขนานนามอย่างเปิดเผยว่า "บรรยากาศคริสตังในกรุงสยาม" มรณภาพของท่านเป็นโอกาสให้หลายคนมาแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อมิสซัง และแสดงความรู้คุณ ความรัก ต่อผู้ซึ่งทุกคนถือว่าเป็นนักอบรมผู้ยิ่งใหญ่ ชาวสยามจะคิดถึงท่านตลอดไป...
2.5 สมัยคุณพ่อเลออง แปร์รูดง
คุณพ่อเลออง-ฟรองซัวส์ แปร์รูดง (Léon-François Perroudon)ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสอาสนวิหารอัสสัมชัญตั้งแต่ ค.ศ.1934 จนถึง ค.ศ.1960
รายงานประจำปี ค.ศ.1935 บันทึกไว้ว่า
...กิจการคาทอลิกเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา คุณพ่อกิยู ผู้ดูแลวัดกาลหว่าร์เห็นผลงานขั้นต้นของความอุตสาหะของท่านหลังจากประกอบการดีมานานที่อัสสัมชัญ คุณพ่อแปรูดงซึ่งเพิ่งกลับจากฝรั่งเศส ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับงานของกลุ่มกิจการคาทอลิกจึงให้ดำเนินงานทันที คุณพ่ออยู่ในสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยคือ มีเยาวชนจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งเพียงต้องการทำกิจการและทำตัวให้เป็นประโยชน์...
รายงานประจำปี ค.ศ.1936 บันทึกไว้ว่า
...คุณพ่อแปร์รูดงผู้ดูแลอาสนวิหารรายงานความเจริญของโรงเรียนของวัดด้วยความยินดีว่า ปีที่แล้วมีนักเรียน 116 คน ส่วนปีนี้มีถึง 168 คน การจัดวิชาภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น น้ำใจดีของสมาชิก "คณะกิจการคาทอลิก" การแสดงความสนใจในงานโรงเรียนของเราจากท่านอธิการิณีอัสสัมชัญคอนแวนต์ ทั้งหมดนี้ช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้โรงเรียนของวัดเจริญยิ่งขึ้น งานโรงเรียนนี้มีความสำคัญอันยิ่งยวดต่ออนาคตของวัดนี้...
และรายงานประจำปี ค.ศ.1937 บันทึกไว้ว่า
...ที่อัสสัมชัญ คุณพ่อแปร์รูดง รองประมุขมิสซังคนใหม่เขียนรายงานผลสำเร็จที่ได้รับด้วยความยินดีดังนี้ กิจการคาทอลิกใหม่ของเราดูเหมือนว่าเริ่มต้นด้วยดี และเราหวังว่าวันหนึ่งกิจการนี้จะมีส่วนช่วยพัฒนาความเชื่อของคริสตังให้เจริญขึ้นในกรุงสยามได้มาก วันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ.1936 คณะกิจการคาทอลิกจัดงานรื่นเริงขึ้น ถึงแม้ว่าได้มีปัญหามากมาย แต่ก็ช่วยโรงเรียนของวัดได้เป็นอย่างดี โรงเรียนต่างๆ ดำเนินงานไปได้ด้วยดี...
ใน ค.ศ. 1939 คุณพ่อแปร์รูดงได้จัดซื้อพระแท่นทำด้วยหินอ่อนขนาดใหญ่มาจากประเทศฝรั่งเศสแทนพระแท่นไม้เก่าแก่ โดยวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ.1940 พระสังฆราชเรอเน แปร์รอสได้ถวายอาสนวิหารอัสสัมชัญอย่างสง่าภายหลังจากการซ่อมแซม ส่วนการเสกพระแท่นใหญ่ได้ทำในวันพฤหัสที่ 4 กรกฎาคมปีเดียวกัน คุณพ่อแปร์รูดงยังได้จัดซื้อออร์แกนไฟฟ้าด้วย นอกจากนั้นคุณพ่อยังได้ตั้ง “คณะธิดาแม่พระ” ขึ้นที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ คณะนี้เป็นสมาคมของหญิงสาวคาทอลิกตั้งขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1953 จุดประสงค์เพื่อบำรุงความศรัทธาตามแบบอย่างของแม่พระ เมื่อมีการฉลองหรือขบวนแห่ทางศาสนา สมาชิกของคณะนี้จะสวมชุดขาวกรอมเท้า คาดโบว์สีฟ้าที่เอว มีสร้อยห้อยรูปแม่พระสวมที่คอ ก่อนหน้านี้ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญได้มีกลุ่มส่งเสริมความศรัทธาต่อแม่พระที่ชื่อว่า “จำพวกแม่พระมหาชัย” ตั้งขึ้นในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 โดยพระสังฆราชเรอเน แปร์รอส
3. เหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของอาสนวิหารอัสสัมชัญ
3.1 การฉลองวัด ค.ศ.1938
วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1938 ซึ่งเป็นวันฉลองอาสนวิหารอัสสัมชัญ ทางวัดได้จัดงานฉลองอย่างเอิกเกริก หนังสือสารสาสน์ได้เขียนรายงานข่าวและเล่าถึงบรรยากาศในงานฉลองวันนั้นไว้อย่างละเอียด ซึ่งเป็นบรรยากาศที่แตกต่างจากสมัยนี้มาก จึงขอคัดมาให้อ่านเปรียบเทียบกับในสมัยปัจจุบัน ความว่า "วันที่ 15 สิงหาคม เป็นวันฉลองครบรอบคล้ายวันแม่พระเสด็จขึ้นสวรรค์ซึ่งเป็นนามของวัดอัสสัมชัญ การฉลองวัดปีนี้ได้เป็นไปอย่างเอิกเกริกมโหฬารยิ่ง ตามบริเวณ ภายนอกโบสถ์ได้ถูกประดับประดาไปด้วยธงทิวและผ้าแพรพรรณต่างๆ สี ซุ้มไม้ไผ่ซึ่งพันด้วยผ้าเป็นลายแดงขาวทำเป็นรั้วกั้นเปิดช่องทางไปจนถึงประตูวัดคล้ายกับเป็นการบอกนำทางให้คริสตศาสนิกชนพากันเดินไปตามทาง เพื่อจะได้เข้าไปสู่โบสถ์เพื่อร่วมใจกันสรรเสริญและแสดงความชื่นชมยินดีต่อพระแม่เจ้าความว่ากระนั้น ภายในโบสถ์ก็ได้ประดับประดาไปด้วยผ้าแพรสีต่างๆ ห้อยย้อยระย้าตามโคมญี่ปุ่นและชวาลาประดิษฐ์ขึ้นโดยปราณีต จากนักประดิษฐ์ผู้มีฝีมือ ณ ท่ามกลางโบสถ์ มีรูปปั้นจำลองของแม่พระซึ่งลอยอยู่เหนือก้อนเมฆอันงดงาม ทำให้แลดูงามวิจิตรยิ่ง เสียงระฆังบอกเวลาอยู่หง่างๆ บรรดาคริสตศาสนิกชนทั้งใกล้และไกล ต่างก็พากันมาประชุมในโบสถ์จนล้นหลาม ท่วมชานชาลาหน้ามุขและบริเวณวัด
เมื่อได้เวลาแล้ว ก็มีพิธีถวายบูชามิสซาปอนติฟิกัล โดยพระสังฆราชแปร์รอส มีคุณพ่อแปร์รูดงเป็นอัครดีอาโกโน, คุณพ่ออังแซลโมเป็นดีอาโกโน พร้อมด้วยมีบรรดาพระสงฆ์เจ้าอาวาส และพระสงฆ์ประจำวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ มาร่วมงานด้วยโดยพร้อมมูล มีการขับร้องประสานเสียงมิสซานักบุญเทเรซา การขับร้องได้เป็นไปอย่างดีและไพเราะจับใจยิ่ง โดยความอำนวยการของคณะภราดาโรงเรียนอัสสัมชัญ และนางชีโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และมีวงสังคีตคณะนักบุญเซซิลบรรเลงเพลงด้วย มิสซาแล้วได้มีการตั้งศีลมหาสนิทเพื่อให้สัตบุรุษได้มีโอกาสเข้าเฝ้าอ้อนวอนขอพระคุณอานิสงค์แด่พระองค์ เวลาบ่ายสี่โมงเย็น หลังจากสวดลูกประคำแล้ว ได้มีพิธีขับร้องแวสเปรัส และอวยพรศีลมหาสนิท ต่อจากนั้นก็ได้ตั้งขบวนแห่รูปแม่พระ ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ขบวนแห่ได้เดินไปตามบริเวณวัดและถนนโอเรียลเต็ล พร้อมทั้งมีการร้องเพลงสรรเสริญแม่พระเป็นภาษาไทยด้วย เช่น บทเพลง "แม่พระเมืองไทย" เป็นต้น การแห่ได้เป็นไปโดยมีระเบียบเรียบร้อยน่าชมยิ่ง โดยความอำนวยการของคุณพ่อแปรูดง ซึ่งเป็นผู้พูดกระจายเสียงให้ออกขบวนแห่เป็นลำดับ..."
3.2 การเสด็จเยือนอาสนวิหารของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
เหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งสำหรับอาสนวิหารอัสสัมชัญ และเป็นที่ภาคภูมิใจสำหรับบรรดาคริสตชนทั้งมวลได้แก่การเสด็จมาเยือนอาสนวิหารอัสสัมชัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเป็นการส่วนพระองค์ ในวันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1946
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จพระราชดำเนินจากพระบรมมหาราชวัง เวลา 16.30 น. โดยรถยนต์พระที่นั่ง (ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต) ถึงบริเวณอาสนวิหารอัสสัมชัญ เวลา 16.45 น. พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) มีผู้ตามเสด็จคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ผู้เฝ้ารับเสด็จมีสัตบุรุษจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่านักเรียนหญิงชายกำลังเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ หน้าลานอาสนวิหาร พระสังฆราชเรอเน แปร์รอส ในชุดประจำตำแหน่งสีม่วง รับเสด็จยังรถยนต์พระที่นั่ง นำเสด็จพระราชดำเนินประทับหน้าอาสนวิหาร พระสังฆราชได้กราบบังคมทูลอย่างสั้นๆแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเสด็จมาเยือน และพระองค์ได้มีพระราชดำรัสตอบพอสมควร (ระหว่างนั้นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ตลอดเวลา) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระหัตถ์สัมผัสแก่พระสงฆ์ทุกองค์ที่เข้าเฝ้ารับเสด็จ เช่น คุณพ่อแปร์รูดง เจ้าอาวาสอาสนวิหาร คุณพ่อหลุยส์ โชแรง ที่คุ้นเคยกับพระองค์เจ้าธานีนิวัติ คุณพ่อมอลิส ยอลี คุณพ่ออาทานาส ย้อ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสชาวไทย ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่ภายในอาสนวิหารสักพักหนึ่ง โดยพระสังฆราชแปร์รอสได้ทูลเกล้าฯ หนังสือถวายพระพร โดยมีใจความดังต่อไปนี้
ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระราชสมภารเจ้า
ในการที่มหาบพิตรพระราชสมภารเจ้า ได้ทรงแผ่พระมหากรุณาธิคุณเสด็จมาเยี่ยมโบสถ์อัสสัมชัญในวาระนี้ ย่อมนับว่าเปนเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ของคณะสงฆ์ และบรรดาคริสตชนทั้งหลายแห่งวัดอัสสัมชัญ และคริสตชนทั่วราชอาณาจักร์ด้วย นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปิติยินดีหย่างล้นพ้น คริสตชนต่างรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ อาตมภาพจึงขอนำความรู้สึกเหล่านี้ มาถวายแด่มหาบพิตรพระราชสมภารเจ้า ในนามของคริสตชนทั้งหลาย โดยฉะเพาะอย่างยิ่งคริสตชนแห่งวัดอัสสัมชัญ
พระคริสตธรรมย่อมกำหนดให้บรรดาคริสตชนถือเปนหน้าที่ของตนในอันที่จะกราบบังคมทูลวิงวอนพระผู้เปนเจ้า ขอให้ทรงคุ้มครองบรรดาวงศาคณาญาติตลอดจนบรรดาผู้มีพระคุณทั้งหลาย อันมีพระมหากษัตริย์เปนพิเศษทุกๆวัน คริสตชนจึงพากันวิงวอนขอพระผู้เปนเจ้าขอให้ทรงปกปักรักษา และทรงอำนวยพระพรพิเศษแด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พร้อมที่จะสนองพระมหากรุณาธิคุณ โดยพยายามแสดงตนเปนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ที่จงรักภักดีต่อประเทศชาติและพระมหากษัตริย์ของตน
ในที่สุดนี้ อาตมภาพพร้อมด้วยคณะสงฆ์และคริสตชน ขอวิงวอนพระผู้เปนเจ้าจงทรงพระกรุณาโปรดประสิทธิประสาทพระวรพรชัย ให้มหาบพิตรพระราชสมภารเจ้า พร้อมด้วยพระประยูรญาติทรงพระเกษมสำราญ เจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเปนประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ประเทศชาติสืบไปเทอญ
ขอถวายพระพร
ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับนั้น คุณพ่อโชแรงได้นำเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมโรงเรียนอัสสัมชัญด้วย การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมครั้งนี้มิได้กระทำอย่างเป็นทางการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องแบบสากลธรรมดา พระสนับเพลายาวสีขาว ฉลองพระบาท มิได้ทรงพระมาลาหรือแม้แต่ถุงรองพระบาทตามที่พระสังฆราชแปร์รอสได้บันทึกเอาไว้
3.3 การเปิดโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา
การศึกษานับเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญสำหรับกลุ่มคริสตชนของวัด เพราะนอกจากจะเป็นสถานที่อบรมดูแลและให้ความรู้แก่เด็กๆ แล้ว ยังทำให้พวกเขาเหล่านั้นได้มีโอกาสเรียนคำสอนด้วย ดังนั้น เมื่อสร้างบ้านพักพระสงฆ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ค.ศ.1934 คุณพ่อแปร์รูดงจึงคิดที่จะเปิดโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษาให้เป็นโรงเรียนของวัด และได้ขอให้ภคินีคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ของโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ร่วมมือโดยให้รับโรงเรียนของวัดนี้เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์อย่างเป็นทางการ และขอให้ส่งภคินีมาช่วยบริหารสักหนึ่งคน คุณพ่อแปร์รูดงต้องสร้างอาคารเรียนเป็นไม้ถึง 3 หลัง เพราะจำนวนนักเรียนที่ฝากบัญชีโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาคุณพ่อปอล สวัสดิ์ กฤษเจริญ ซึ่งเป็นปลัดของคุณพ่อแปรูดงได้ขอให้แยกโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษาออกจากโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ให้มีฐานะเป็น 2 โรงเรียนซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ออกใบอนุญาตให้เมื่อ ค.ศ.1953
3.4 สงครามโลกครั้งที่ 2
ตั้งแต่ ค.ศ.1942 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดกลางชื่อว่า บี 25 มิตเชลล์ ได้ทิ้งระเบิดในบริเวณอาสนวิหารอัสสัมชัญ ทั้งระเบิดทำลายและระเบิดเพลิง อาคารต่างๆ รอบอาสนวิหารได้รับความเสียหายมาก หมู่บ้านคริสตังก็ถูกเผาผลาญหมด อาสนวิหารด้านซ้ายได้ถูกระเบิดทำให้ได้รับความเสียหายมาก กำแพงด้านในแตกหลายแห่ง รวมทั้งประตูหน้าต่าง, กระจก, เก้าอี้ ฯลฯ รูป 14 ภาคหลายรูปได้รับความเสียหาย นายช่างชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งได้มาสำรวจ และเสนอให้ใส่เหล็กยึดโยงกลางวัด คุณพ่อยวงบัปติสตา ตาปี ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า “วันที่ลูกระเบิดตกที่บางรัก ขณะนั้นพ่ออยู่ที่วัดเกาะใหญ่ แต่ได้ยินเสียงระเบิดชัดเจน จนพ่อต้องอุทานพร้อมกับรำพึงออกมาเบาๆว่า อัสสัมชัญคงต้องโดนเข้าแล้ว แล้วท่านก็รีบลงเรือมอเตอร์มุ่งสู่บางกระบือแล้วตรงเข้าบางรัก เมื่อมาถึง คุณพ่อก็พบคนชรายืนร้องไห้อยู่ข้างวัดและเห็นกำแพงวัดพังไปแถบหนึ่ง ตามรายงานประจำปี ค.ศ. 1941-1947 ได้บันทึกไว้ว่า "...กรุงเทพฯ ถูกลูกระเบิดอยู่บ่อยๆ อาสนวิหารอัสสัมชัญถูกระเบิดเข้าลูกหนึ่ง ทำให้ผนังวัดเป็นรูโต อาคารทั้งหลังสั่นสะเทือนเกิดความเสียหายมาก โรงเรียน วัด และบ้านเรือนของพวกคริสตังกลุ่มหลัก กลายเป็นเถ้าถ่านไปหมด..."
ในเหตุการณ์ครั้งนี้คุณพ่อแปร์รูดงต้องซ่อมแซมหมดทุกอย่างภายในอาคาร สิ้นเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมด 77,200 บาทในสมัยนั้น ถึงแม้คุณพ่อแปรูดงจะได้จัดการซ่อมแซมอาสนวิหารที่เสียหายเพราะระเบิดของสงครามแล้วก็ตาม แต่ร่องรอยของระเบิดยังปรากฎอยู่มาก ในการซ่อมแซมครั้งนั้น นายบัว ประคองจิต (บิดาของพระสังฆราชมีแชล มงคล ประคองจิต) ได้เป็นผู้สำรวจท่อนซุงรากฐานของวัด ซึ่งได้รับการวางไว้ในคราวสร้างวัดสมัยคุณพ่อกอลมเบต์ และพบว่ายังคงอยู่ในสภาพดี นายบัว ประคองจิตได้ศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมจากนายช่างชาวอิตาเลียน และได้ใช้วิชาความรู้สร้างวัดวาอารามหลายแห่ง นับเป็นผู้มีพระคุณต่ออาสนวิหารอัสสัมชัญด้วย นายบัวได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1968 รวมอายุได้ 88 ปี มิสซาปลงศพได้กระทำที่อาสนวิหารอัสสัมชัญเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ.1968
3.5 ต้อนรับพระรูปแม่พระฟาติมา
ในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ.1950 พระรูปแม่พระฟาติมาได้เสด็จมาถึงกรุงเทพฯ โดยทางเครื่องบิน ในโอกาสนี้คุณพ่อแปร์รูดง เจ้าอาวาสอาสนวิหารอัสสัมชัญ ซึ่งเป็นประธานการต้อนรับ ได้จัดรายการให้พระรูปนี้ไปเยือนโบสถ์ใหญ่ โบสถ์น้อยต่างๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดด้วย มีขบวนแห่ยาวเหยียดทั้งทางเรือและทางรถ ล้อมรอบพระรูปซึ่งประดับประดาอย่างสวยงามยิ่ง อาศัยความร่วมมือจากอธิบดีกรมตำรวจ ขบวนแห่อันงดงามยิ่งจึงเคลื่อนไปตามถนนต่างๆ ในกรุงเทพฯ อย่างปลอดโปร่งเป็นระยะทาง 3 กม. คริสตังนับพันๆ คนเดินแห่พร้อมทั้งร้องเพลง และสวดภาวนา ส่วนฝูงชนคนต่างศาสนาประมาณ 50,000 คน มาเฝ้าดูด้วยความพิศวงและเลื่อมใส ในขณะที่ขบวนแห่ผ่านไปตามทาง การเสด็จมาเยือนของพระรูปแม่พระฟาติมานี้ได้ผลเกินคาด และผลด้านความเชื่อความศรัทธายังคงจารึกอยู่ต่อไปอีก
ส่วนที่อาสนวิหารอัสสัมชัญนั้น นับเป็นแห่งแรกที่มีโอกาสได้ต้อนรับพระรูปแม่พระฟาติมา ต้นขบวนแห่มาถึงวัดเวลา17.35 น. ของวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ.1950 ส่วนท้ายขบวนมาถึงภายหลังราวหนึ่งชั่วโมง ต่อมาในเวลา 24.00 น. พระสังฆราชหลุยส์ โชแรง ประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณอย่างยิ่งใหญ่กลางแจ้งบริเวณลานหน้าอาสนวิหารอัสสัมชัญ มีสัตบุรุษทุกมิสซังมาประชุมคับคั่ง
3.6 พิธีอภิเษกพระสังฆราชสงวน สุวรรณศรี
วันที่ 22 เมษายน ค.ศ.1953 อาสนวิหารอัสสัมชัญได้มีพิธีอภิเษก พระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี ผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปาแห่งมิสซังจันทบุรีต่อจากพระสังฆราชยาโกเบ แจง เกิดสว่าง โดยมีพระสมณทูตยอห์น ดูลี่ พระสังฆราชหลุยส์ โชแรง พระสังฆราชเกลาดิอุส บาเยต์ และพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต มาร่วมในพิธี พร้อมกับพระสังฆราชปิแอร์ มาร์ติน โง ดิน ถุก (Pierre Martin Ngô Đình Thục) แห่งมิสซังวิลลอง ประเทศเวียดนาม และบรรดาพระสงฆ์ประมาณ 100 องค์
เวลา 08.15 น. ขบวนพระสงฆ์ผู้ช่วยในพิธีประกอบด้วย คุณพ่อประพล ธรรมพิชัย คุณพ่อบุญชู ระงับพิษ คุณพ่อห้อง คุณพ่อเศียร โชติพงษ์ คุณพ่อคาร โสรินทร์ คุณพ่อวินทร์ และคุณพ่อเลออง (นายจารีตใหญ่) พร้อมทั้งเด็กช่วยมิสซาก็ได้มาที่สำนักพระสังฆราช (เก่า) เพื่อเชิญพระสมณทูตและพระสังฆราชเข้าทำพิธีในอาสนวิหาร แล้วจากนั้นพระสงฆ์ก็ได้นำหน้าขบวนผู้รับการบวชเป็นพระสังฆราชเข้าอาสนวิหาร คณะสามเณรภายใต้ความควบคุมของคุณพ่อมีแชล อ่อน ประคองจิต เริ่มประสานเสียงเพลงสดุดีพระสันตะปาปาต้อนรับ
เวลา 8.30 น. เริ่มพิธีบวชพระสังฆราชโดยมีการอ่านสาสน์ตราตั้งพระสังฆราชของสมเด็จพระสันตะปาปา แล้วพระสมณทูตสอบถามความตั้งใจและความเชื่อตามธรรมเนียม ต่อจากนี้ผู้รับเลือกได้แต่งตัวสวมอาภรณ์มิสซาอย่างพระสังฆราช เริ่มถวายมิสซาจนถึงอัลเลลูยา เนื่องจากวันนี้ตรงกับวันสมโภชนักบุญยอแซฟ บทมิสซาที่ขับร้องจึงเป็นไปตามวันฉลองด้วย คณะสามเณรได้ขับร้องเพลงอย่างไพเราะจับใจและชวนศรัทธา ทั้งเพลงทำนองราบ (Piana) และบทหลายเสียง เช่น กีรีเอ กลอรีอา เกรโด และเตเดอุม อันดับต่อไปคือการขับบทเร้าวิงวอนนักบุญทั้งหลาย ผู้รับการบวชนอนราบลงบนพื้นเชิงพระแท่น เมื่อจบบทเร้าวิงวอนแล้วทุกคนลุกขึ้น ประธานในพิธีเอาหนังสือพระวรสารเปิดออกวางบนศีรษะและบ่าของผู้รับการบวช แล้วพระสังฆราชผู้ประกอบพิธีทั้ง 3 ปกมือเหนือศีรษะเพื่ออัญเชิญพระจิตเจ้ามาสู่วิญญาณของพระสังฆราชใหม่โดยบริบูรณ์
ต่อจากนี้ประธานในพิธีได้พันศีรษะของผู้รับการอภิเษก และร้องนำบท “เวนี เกรอาตอร์ สปิริตุส” (เชิญพระจิต) พลางเอาน้ำมันคริสมาเจิมศีรษะและมือ ต่อไปคือการเสกไม้เท้าและมอบให้ แล้วจึงเสกแหวนสอดใส่ในนิ้วนางข้างขวา เอาพระวรสารออกจากบ่ามอบให้แก่พระสังฆราชใหม่ แล้วพิธีบูชาขอบพระคุณดำเนินต่อไปจนถึงภาคถวาย คราวนี้ผู้รับเลือกถวายเทียน 2 เล่ม ปัง 2 ก้อน เหล้าองุ่น 2 ถังน้อยๆ แก่ประธานแล้วทำพิธีต่อจนถึงตอนรับศีลมหาสนิท ประธานรับพระกายและพระโลหิตแล้ว ส่งให้พระสังฆราชใหม่รับทั้ง 2 เพศด้วย ตอนปลายพิธีประธานเสกมาลาสูงและถุงมือมาสวมให้แล้วมีการขับบทเตเดอุมอย่างสง่า ระหว่างนั้นพระสังฆราชใหม่มีพระสังฆราชผู้ช่วยอยู่ซ้ายขวา ดำเนินไปท่ามกลางสัตบุรุษเพื่ออวยพรแก่ทุกคน กลับมายังพระแท่นแล้วพระสังฆราชใหม่ยืนกลางพระแท่น ถือไม้เท้าเต็มยศ ได้อวยพรอย่างสง่าตามพิธีของสังฆราชใหม่อีกครั้งหนึ่ง แล้วถวายพรประธานในพิธีให้อายุยืนยาว 3 ครั้ง จากนั้นทำมิสซาต่อจนจบในเวลา 10.45 น. นับเป็นเสร็จพิธีอภิเษกเป็นพระสังฆราช
3.7 พิธีอภิเษกพระสังฆราชมีแชล อ่อน ประคองจิต
วันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.1953 อาสนวิหารอัสสัมชัญได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ใช้ทำพิธีอภิเษกพระสังฆราชใหม่แห่งมิสซังท่าแร่-หนองแสง แทนพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเยต์ ซึ่งจะย้ายไปปกครองมิสซังอุบลราชธานี พระสังฆราชใหม่ท่านนี้คือ พระสังฆราชมีแชล มงคล (อ่อน) ประคองจิต สัตบุรุษของอาสนวิหารอัสสัมชัญ เป็นบุตรนายบัวและนางเนื่อง ประคองจิต มีพี่น้อง 16 คนน้องสาวคนหนึ่งเป็นภคินีคณะคาร์แมลไลท์ หน้าที่สุดท้ายของท่านก่อนได้รับการแต่งตั้งคือ อธิการบ้านเณรพระหฤทัยศรีราชา โดยในวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ.1953 คุณพ่อได้รับโทรเลขด่วนฉบับหนึ่งจากพระอัครสังฆราชยอห์น ดูลี่ ความว่า “สมเด็จพระสันตะปาปาทรงจัดตั้งมิสซังท่าแร่ มอบให้คณะสงฆ์ไทย และโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคุณพ่อเป็นพระสังฆราชเกียรตินามแห่งเบราเดนุส ทำการแทนพระสันตะปาปาในมิสซังใหม่นี้ ส่วนพระสังฆราชบาเยต์จะปกครองมิสซังอุบลราชธานี โปรดโทรเลขตอบยอมรับ ขอแสดงความยินดีและอวยพร ดูลี่”
ในวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.1953 พระสังฆราชบาเยต์ และคณะสงฆ์จากภาคอีสานราว 20 องค์ และเณร 12 คน ก็ทยอยเดินทางสู่กรุงเทพฯ นอกนั้นพระสังฆราชยัง อาร์โนต์ (Jean Arnaud) แห่งมิสซังท่าแขก กับคุณพ่อเล็ก แห่งมิสซังลาวก็ได้สมทบมาเป็นเกียรติ ขณะเดียวกันคณะสามเณรพระหฤทัยศรีราชาก็มาถึง และเข้าพัก ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ ต่อมาในวันที่ 18 สิงหาคม ภายในและบริเวณอาสนวิหารอัสสัมชัญประดับไปด้วยพวงระย้า ผ้าสายรุ้ง และธงทิว ปลูกบรรยากาศให้คำนึงถึงความสำคัญในวันรุ่งขึ้น
ในวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.1953 มหาชนพากันมาสู่อาสนวิหารอัสสัมชัญแต่ก่อนเริ่มพิธีถึงชั่วโมงเศษ มีทั้งพระสงฆ์ ภราดา ภคินี ทุกคณะในประเทศไทย ตลอดจนทูตานุทูต พ่อค้าคหบดี ท่านผู้มีเกียรติ และประชาชนสัตบุรุษ ท่านเหล่านี้มาจากทั้งในและนอกพระนครโดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยาก
ราว 8.30 น. ขบวนผู้รับการอภิเษกเริ่มเข้าอาสนวิการ ประกอบด้วยพระสงฆ์นับร้อยเดินนำหน้าต่อมาเป็นพระสงฆ์ที่ช่วยในพิธีคือ คุณพ่อสมุห์ คุณพ่อเสนห์ คุณพ่อเลออง คุณพ่อกูรุเน คุณพ่อศรีนวล คุณพ่อแท่ง คุณพ่อวินทร์ คุณพ่อสมชาย และคุณพ่อบริสซอง แล้วนั้นถึงพระสมณทูตผู้เป็นประธานในพิธี รวมถึงพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง และพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเยต์ผู้ช่วยในพิธี ส่วนพระสังฆราชสงวน สุวรรณศรีและพระสังฆราชยัง อาร์โนด์ รั้งท้ายขบวน สังฆราชมิแชล มงคล (อ่อน) ประคองจิต ประนมมือสงบเสงี่ยมน่าเกรงขาม เมื่อเข้าประจำที่ในวัดเรียบร้อยแล้ว พิธีอภิเษกก็เริ่มต้น สลับกับการถวายมหาบูชามิสซามโหฬาร โดยมีคณะสามเณรและยุวนิสขับร้องประสานเสียงต่างๆอย่างไพเราะจับใจ คุณพ่อยวง เคียมสูน ทำหน้าที่กระจายเสียงอธิบายจารีตตลอดพิธี
สองชั่วโมงเศษแห่งพิธีล่วงไปรวดเร็วทุกคนชวนกันมาขอจูบแหวนท่านกันเนืองแน่น ตอนเที่ยงและตอนเย็นคณะพระสังฆราช พระสงฆ์และภราดาราว 150 ท่าน ได้มาร่วมรับประทานอาหารที่โรงแรมโอเรียนเต็ลเพื่อเป็นเกียรติแด่พระสังฆราชใหม่ และถ่ายรูปหมู่ไว้เป็นอนุสรณ์ ในโอกาสนี้พระสมณทูตได้กล่าวแสดงความยินดีที่มีโอกาสมาทำการบวชพระสังฆราชอีกวาระหนึ่ง ซึ่งผู้รับอภิเษกก็เป็นสัตบุรุษอาสนวิหารอัสสัมชัญ เคยเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญรุ่นเดียวกับนายควง อภัยวงศ์ และได้รับการบวชเป็นพระสังฆราชในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นเดือนสมโภชแม่พระได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณด้วย
3.8 คุณพ่อแปรูดง และเหตุการณ์อื่นๆ
วันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ.1954 สัตบุรุษวัดอัสสัมชัญได้พร้อมใจกันจัดงานฉลองสุวรรณสมโภชแห่งการบวชเป็นพระสงฆ์ให้กับคุณพ่อแปรูดง มีพิธีมิสซาอย่างสง่า มีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ มาแสดงความเคารพต่อคุณพ่อ มีการแสดงของนักเรียน ผู้จัดได้ตั้งชื่องานวันนั้นว่า "งานวันพ่อ"
วันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ.1958 วัดอัสสัมชัญได้มีพิธีมิสซาอย่างสง่าอุทิศแด่วิญญาณของสมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 12 พิธีดำเนินไปอย่างสมเกียรติ พระสมณทูตยอห์น กอร์ดอน เป็นประธานและผู้ถวายมิสซา ร่วมด้วยพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง พระสังฆราชเปโตร คาแร็ตโต พระสังฆราชสงวน สุวรรณศรี พระสังฆราชลากอสต์ และพระสังราชดูฮาร์ต พร้อมกับพระสงฆ์ และนักบวชชายหญิงคณะต่างๆ, บรรดาสัตบุรุษจากวัดต่างๆ, ผู้แทนพระองค์, บรรดาทูตานุทูตประเทศต่างๆ รวมทั้งพระภิกษุ 5 รูปที่เคยเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา ที่กรุงโรม ก็มาร่วมในพิธีด้วย
ในวันที่ 14 เมษายน ค.ศ.1961 สัตบุรุษวัดอัสสัมชัญต้องสูญเสียเจ้าอาวาสที่รักของพวกเขาไป นับเป็นเวลาถึง 26 ปีเต็ม ที่คุณพ่อแปรูดงได้ทำหน้าที่เจ้าอาวาสปกครองดูแลวัดอัสสัมชัญ คุณพ่อได้ทะนุบำรุงความศรัทธาของสัตบุรุษ ส่งเสริมและจัดตั้งคณะกิจการคาทอลิก ต่างๆ ทางด้านภายนอก คุณพ่อได้จัดสร้างตึกพระสงฆ์หลังใหม่ 3 ชั้นให้ความสนใจต่อการศึกษาอบรมเด็กๆ และเยาวชน เป็นต้นลูกหลานของคริสตังที่ยากจน คุณพ่อเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนของวัด และโรงเรียนของมิสซังฯ
ในปี ค.ศ.1960 คุณพ่อได้ขอลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญ แต่ด้วยความรักและห่วงใยวิญญาณของสัตบุรุษของท่าน คุณพ่อยังอุตส่าห์ลงฟังแก้บาป ถวายมิสซา และทำหน้าที่อื่นๆ เท่าที่จะสามารถทำได้ จนกระทั่งล้มป่วยหนักครั้งสุดท้าย ทุกสิ่งที่คุณพ่อได้ทำแสดงออกถึงความรักความห่วงใยที่คุณพ่อมีต่อวัดอัสสัมชัญ และสัตบุรุษของท่าน
4.สมัยพระสงฆ์เจ้าอาวาสคนไทย
คุณพ่อวิลเลียม ตัน ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสอาสนวิหารอัสสัมชัญ ใน ค.ศ.1960 ถึง ค.ศ.1969 ซึ่งก่อนหน้านี้คุณพ่อได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสอาสนวิหารอัสสัมชัญในสมัยของคุณพ่อเลออง แปร์รูดง ตั้งแต่ค.ศ. 1953 ถือเป็นเจ้าอาวาสที่เป็นชาวไทยท่านแรกของอาสนวิหารอัสสัมชัญ โดยในสมัยของคุณพ่อวิลเลียมได้มีเหตุการณ์สำคัญต่างๆเกิดขึ้นดังนี้
วันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.1961 อาสนวิหารอัสสัมชัญได้จัดงานฉลองหิรัญสมโภชให้แก่ ฯพณฯ ยอห์น กอร์ดอน พระสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย พระสมณทูตถวายบูชามิสซาอย่างสง่า ท่ามกลางพระสังฆราช 5 องค์ พระสงฆ์ราว 60 องค์ ร่วมด้วยนักบวชชายหญิง และสัตบุรุษมาร่วมพิธีอย่างมากมาย คณะสามเณรจากบ้านเณรพระหฤทัยศรีราชาเป็นผู้ขับร้องในพิธี ตอนค่ำมีพิธีจัดเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติแด่ ฯพณฯ ที่ตึกโรงเรียนอัสสัมชัญ
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1963 อาสนวิหารอัสสัมชัญได้รับเกียรติเป็นที่จัดพิธีสุวรรณสมโภช ครบรอบ 50 ปีแห่งการบวชเป็นพระสงฆ์ของพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง พิธีในวันเป็นไปอย่างสง่า มีพระสังฆราชทุกมิสซังในประเทศไทยมาร่วมพิธีกันอย่างพร้อมเพรียง รวมทั้งพระสงฆ์ นักบวชชายหญิง และสัตบุรุษจำนวนมาก โดยมีพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี เป็นผู้เทศน์ในพิธี
วันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ.1963 อาสนวิหารอัสสัมชัญได้มีพิธีไว้อาลัยแด่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 อย่างเป็นทางการ โดยมีพระอัครสังฆราชยอห์น กอร์ดอน พระสมณทูต และมองซินญอร์เอเนาดี เลขานุการเป็นเจ้าภาพ พระสังฆราชหลุยส์ โชแรง แห่งมิสซังกรุงเทพ เป็นผู้ถวายบูชามิสซา โดยมีคุณพ่อโรเชอโร คุณพ่อหลุยส์ เลออง คุณพ่อบัณฑิต ปรีชาวุฒิ และคุณพ่อบุญเลิศ ธาราฉัตร เป็นผู้ช่วย พร้อมด้วยพระสังฆราชสงวน สุวรรณศรี แห่งมิสซังจันทบุรี พระสังฆราชคลาเรนซ์ ดูฮาร์ต แห่งมิสซังอุดรธานี และบรรดาพระสงฆ์อีกราว 50 องค์ ภราดา ภคินี ผู้แทนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แขกผู้มีเกียรติฝ่ายบ้านเมือง ฝ่ายทูตานุทูตต่างประเทศ และสัตบุรุษจากที่ต่างๆ มาร่วมพิธีอย่างเนืองแน่น ทั้งชั้นบนและชั้นล่างของอาสนวิหาร
1. พิธีสถาปนาพระอัครสังฆราชยวง นิตโยและอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ
ในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ.1966 อาสนวิหารอัสสัมชัญได้มีพิธีสถาปนาพระอัครสังฆราชยวง นิตโย และอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯอย่างเป็นทางการ ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ได้ทรงทำการสถาปนาพระฐานานุกรมพระศาสนจักรไทยขึ้นเป็นสังฆมณฑลในวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ.1965 มีผลให้พระสังฆราชยวง นิตโยแห่งมิสซังกรุงเทพได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นพระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพอย่างเป็นทางการ มีพระอัครสังฆราชอันเจโล เปโดรนี พระสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธี โดยเริ่มพิธีเวลา 17.00 น. พระอัครสังฆราชยอแซฟ ยวง เป็นประธานในพิธีบูชาขอบพระคุณร่วมกับพระสังฆราชทุกองค์ในประเทศไทยท่ามกลางพระสงฆ์ของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ผู้แทนคณะนักบวช ผู้แทนคณะกิจการคาทอลิก และสัตบุรุษจากวัดต่างๆ มาร่วมพิธีอย่างเนืองแน่น หลังมิสซา พระสมณทูตอ่านสารตราตั้งสถาปนาพระฐานานุกรมในประเทศไทย แล้วเชิญพระอัครสังฆราชยวงขึ้นนั่งบัลลังก์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมในพิธีทุกคนเข้าแสดงความยินดีและความเคารพ
2. พิธีอภิเษกพระสังฆราชอแลง วังกาแวร์
ในช่วงบ่ายของวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1965 อาสนวิหารอัสสัมชัญได้มีพิธีอภิเษกพระสังฆราชอาแลง วังกาแวร์ ประมุขมิสซังนครราชสีมา มีพระสงฆ์และสัตบุรุษจำนวนมากมายมาร่วมในพิธีอภิเษกนี้ ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ ท่านอธิบดีกรมการศาสนา พันเอก ปิ่น มุทุกันต์ พร้อมด้วยบรรดาพระภิกษุก็มาร่วมในพิธีด้วย พระสังฆราชผู้เป็นประธานในพิธีคือ พระสังฆราชเกลาดิอุส บาเยต์ แห่งมิสซังอุบลราชธานี ผู้ช่วยในพิธีคือ พระสังฆราชลูเซียน ลากอสต์ แห่งมิสซังเชียงใหม่ และพระสังฆราชยวง นิตโย แห่งมิสซังกรุงเทพ รวมถึงพระอัครสังฆราชอันเจโล เปโตรนี พระสมณทูต และมองซินญอร์โมเรนรี เลขานุการพระสมณทูต พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต พระสังฆราชสงวน สุวรรณศรี พระสังฆราชคลาเรนซ์ ดูฮาร์ต คุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุล อุปสังฆราชแห่งมิสซังท่าแร่ (ผู้แทนพระสังฆราชเกี้ยน เสมอพิทักษ์ ซึ่งติดภารกิจไปต่างประเทศ) พระสังฆราชยัง อาร์โนด์ แห่งมิสซังท่าแขก คุณพ่อเลอดือ อธิการสามเณาลัยปีนัง พระสงฆ์จากมิสซังต่างๆในประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศมาเลเซีย รวมเกือบ 100 องค์ คณะทูตานุทูตต่างประเทศ และประชาสัตบุรุษมาร่วมชุมนุมอย่างคับคั่ง
เวลา 14.00 น. สัตบุรุษต่างทยอยกันเข้าจองที่นั่ง มาถึงเวลา 16.30 น. เริ่มขบวนแห่ผู้รับการบวชเป็นพระสังฆราชเข้ายังอาสนวิหาร นักร้องของวัดคอนเซ็ปชัญขับร้องเพลงมาร์ชสันตะปาปาต้อนรับ ช่างภาพ ทีวีทั้งช่อง 4 ช่อง 7 ตากล้องอาชีพและสมัครเล่น พยายามจับภาพในพิธี โดยมีคุณพ่อเศียร โชติพงศ์ ทำหน้าที่โฆษก เมื่อเข้าประจำที่ในอาสนวิหารเรียบร้อยแล้ว พิธีก็เริ่มขึ้น เริ่มจากคุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุล อ่านสารตราตั้งของสมเด็จพระสันตะปาปา แล้วประธานในพิธีสอบถามความตั้งใจ และความเชื่อตามธรรมเนียมแต่โบราณ ครั้นปฏิญาณเสร็จแล้วผู้รับอภิเษกสวมอาภรณ์ถวายมิสซาแบบพระสังฆราช เริ่มพิธีบูชาขอบพระคุณจนถึงบท “อัลเลลูยา” เนื่องจากวันนี้ตรงกับฉลองนักบุญมารีอา มักดาเลนา มิสซาที่ขับร้อง จึงเป็นไปตามวันฉลอง พิธีแล้วเสร็จในเวลา 17.25 น. จากนั้นจึงออกจากอาสนวิหารเพื่อถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึก คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงรับรองที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และเลี้ยงอาหารค่ำ พระสงฆ์ นักบวชที่โรงเรียนอัสสัมชัญ โอกาสนี้พระสมณทูตและบรรดาพระสังฆราช กล่าวสุนทรพจน์แสดงความยินดี แล้วพระสังฆราชใหม่จึงกล่าวตอบขอบคุณ
3. การฉลองครบรอบ 50 ปีของอาสนวิหารอัสสัมชัญ
ใน ค.ศ.1968 คุณพ่อวิลเลียม ตันได้ทำการซ่อมแซมอาสนวิหารอัสสัมชัญครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยใช้เงินจำนวนราว ห้าแสนบาท โดยกระเทาะปูนออกเพื่อทาสีใหม่ เปลี่ยนหินปูพื้นและเปลี่ยนหลังคาใหม่ งานชิ้นนี้สำเร็จลงได้เพราะความช่วยเหลือของสัตบุรุษอาสนวิหารอัสสัมชัญ จุดมุ่งหมายของการซ่อมแซมครั้งนี้เพื่อให้สมศักดิ์ศรีของการเป็นอาสนวิหารและเพื่อเตรียมการล่วงหน้าสำหรับงานฉลองครบ 50 ปีของอาสนวิหารอัสสัมชัญ อีกทั้งเพื่อฉลองครบรอบ 25 ปีการบวชเป็นพระสงฆ์ของคุณพ่อวิลเลียน ตัน ซึ่งจะจัดการฉลองในปีต่อไปคือ ค.ศ.1969 โดยมีคุณพ่อสมศักดิ์ ธิราศักดิ์เป็นผู้ดำเนินงานจัดการฉลองในครั้งนี้ พิธีการฉลอง 50 ปีอาสนวิหารอัสสัมชัญ จัดขึ้นในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1969 สำหรับเหตุการณ์นี้ ขอยกตัวอย่างข้อความแสดงความยินดีของคุณพ่อหลุยส์ เลออง เจ้าคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสประจำประเทศไทยในขณะนั้น ความว่า
....วิหารนี้อาจจะเป็นเครื่องหมาย 2 อย่าง อย่างหนึ่งคือ เครื่องหมายแห่งความรุ่งโรจน์ของพระศาสนจักรในประเทศไทยซึ่งเกิดมาเป็นเวลานานราวสามศตวรรษแล้ว ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และปัจจุบันแพร่หลายทั่วประเทศเป็นลำดับมา
อีกอย่างหนึ่งวิหารนี้ ซึ่งมีพระนามว่า แม่พระเสด็จขึ้นสวรรค์ แสดงความศรัทธาเลื่อมใสแห่งคริสตชนชาวไทยต่อพระแม่เจ้า ถึงแม้ว่าพระศาสนจักรได้ประสบอุปสรรคต่างๆ แม่พระก็ทรงคุ้มครองรักษาชาวคาทอลิกอยู่เสมอ และจะคุ้มครองเขาอีกต่อไปเป็นแน่....
นอกจากนี้คุณพ่อวิลเลียม ตัน ยังทำการเทปูนบริเวณลานหน้าวัด ได้รื้ออาคารไม้ของโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา และสร้างเป็นตึกใหญ่ 4 ชั้น 2 หลัง และ 3 ชั้น 1 หลังพร้อมกับโรงอาหาร ฯลฯ รวมถึงในสมัยของคุณพ่อยังได้มีการจัดตั้งสภาวัดขึ้นครั้งแรก โดยมีการประชุมในวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1969 ซึ่งที่ประชุมได้เลือกเจ้าหน้าที่บริหารงานสภาวัด โดยประธานสภาคือ นายแสวง เตียวไพบูลย์ รองประธานคือ พันตรี สุนทร สันธนะวนิช เลขานุการคือ นายทิวา บุณยะวณิช และนางสาวพัชรินทร์ เจือเสถียรรัตน์ เหรัญญิกคือ นางมาเรีย เลาหะวัฒนะ รวมทั้งตำแหน่งต่างๆ โดยคณะกรรมการสภาวัดชุดนี้จะอยู่ในตำแหน่งชั่วคราว 1 ปี หลังจากนั้นจะจัดให้มีการเลือกตั้งชุดใหม่
ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนเจ้าอาวาสเป็นคุณพ่อดาเนียล ธานี วงศ์พานิช ใน ค.ศ.1969-1975 เนื่องจากการเทปูนบริเวณลานหน้าวัดในสมัยคุณพ่อวิลเลียม ตัน ทำให้ต้นมะขามขนาดใหญ่หน้าอาสนวิหารตาย คุณพ่อดาเนียลจึงได้ปลูกต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ขึ้นทดแทน คุณพ่อยังได้ปรับปรุงสนามใหญ่และขยายตึกเรียน "มารีอา" โดยต่อปีกออกมาทั้งซ้ายและขวา และชั้นล่างมีศาลาสงบ นอกจากนี้ยังได้สร้างหอระฆังระหว่างวัดและโรงเรียน คุณพ่อดาเนียลได้เริ่มมีพิธีบูชาขอบพระคุณช่วงเย็นขึ้นในเวลา 17.15 น. ซึ่งเป็นความคิดของคุณพ่อเมอร์นิเอที่ต้องการให้นักเรียนและผู้ที่ทำงาน มีโอกาสได้ร่วมมิสซาในช่วงเย็นได้
ในสมัยคุณพ่อคมทวน มุ่งสมหมาย เป็นเจ้าอาวาสในระหว่าง ค.ศ.1975-1979 ได้ริเริ่มแบ่งสายงานบริหารและปรับปรุงวิชาการของโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา ให้มีชื่อเสียงดีขึ้นจนเป็นที่ยอมรับจากสำนักงานการศึกษาเอกชน (สช.) รวมถึงเมื่อคราวที่สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 สิ้นพระชนม์ ในนามคณะศิษย์ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ได้จัดพิธีสวดสังเวคกถาเพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระสันตะปาปา ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ ในวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 1978 ในเวลา 17.00 น. โดยมีพระพรหมคุณาภรณ์ วันสระเกศ (ต่อมาคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)) เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยพระภิกษุจากวัดต่างๆอีก 19 รูป เพื่อร่วมไว้อาลัยและรำลึกในโอกาสที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ขณะที่ยังทรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระวันรัต ได้ทรงเคยเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ณ พระราชวังวาติกัน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1972
ต่อจากนั้นอาสนวิหารอัสสัมชัญก็ได้รับเจ้าอาวาสองค์ใหม่ได้แก่ คุณพ่อสังวาลย์ ศุระศรางค์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในระหว่าง ค.ศ.1979-1983 และในเวลาเดียวกันก็ดำรงตำแหน่งอุปสังฆราช คุณพ่อเป็นผู้ที่มีความสามารถมาก คุณพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ.1987 คุณพ่อชุมภา คูรัตน์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในระหว่าง ค.ศ.1983-1989 ท่านเล็งเห็นว่าภายในอาสนวิหารอัสสัมชัญจำเป็นต้องได้รับการตกแต่งเสียใหม่จึงได้ทำการตกแต่งและซ่อมแซมวัดไปในเวลาเดียวกัน พร้อมทั้งได้จัดทำพระแท่นบูชาและพื้นบริเวณพระแท่นเสียใหม่
4. การเสด็จเยือนของสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2
ในระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม ค.ศ. 1984 สมเด็จพระสันตะปาปายอนห์ ปอลที่ 2 ได้เสด็จเยือนประเทศไทย พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้ทูลเชิญสมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จมาเยือนอาสนวิหารอัสสัมชัญและอวยพระพรแก่บรรดาพระสงฆ์ นักบวชชายหญิงทุกคณะพร้อมด้วยบรรดาคริสตังที่มาเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่น
เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาทรงเสด็จพระดำเนินถึงอาสนวิหารอัสสัมชัญในเวลาประมาณ 11.45 น. ของวันที่ 11 พฤษภาคม ระหว่างสองข้างทางมีนักเรียนจากทั้งสามโรงเรียนรับเสด็จ อันดับแรกเสด็จเข้าไปยังสำนักพระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เมื่อเสด็จเข้าสู่อาสนวิหาร มีพระสงฆ์นักบวชชายหญิงยืนรอเข้าเฝ้าอยู่จำนวนมาก ด้านบนข้างพระแท่นเป็นเหล่าพระสังฆราช อธิการเจ้าคณะของคณะนักบวชคณะต่างๆ เมื่อเสด็จถึงหน้าพระแท่นทรงย่อพระชานุลงกับพื้นเพื่อนมัสการศีลมหาสนิทและสวดภาวนา พระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชูกล่าวถวายรายงาน ต่อจากนั้นทุกคนภายในอาสนวิหารได้ร้องเพลง “แฮปปี้เบิร์ธเดย์” ถวาย เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติในวันที่ 18 พฤษภาคม เมื่อเพลงจบลง พระองค์ทรงตรัสว่า “ยังไม่มีอายุมากเท่าที่ท่านคิด” เมื่อมีการภาวนาแล้ว ทรงตรัสเป็นภาษาไทยว่า “ขอถวายพรแด่พระเยซูคริสตเจ้า” แล้วจึงมีพระดำรัสต่อไปว่า ดีใจที่ได้พบทุกคนที่มีความศรัทธายิ่งใหญ่ ณ ที่นี้ ยินดีที่ได้เป็นผู้รับใช้พระเป็นเจ้า ณ ที่นี้ และทรงหวังไว้ซึ่งความสันติสุข พร้อมทั้งทรงอวยพรให้ทุกคนมีความสุข การเยือนเมืองไทยครั้งนี้เป็นการดีที่ได้พบกับบรรดาคริสตชนชาวไทย เพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเยซูเจ้า และภาวนาให้พระองค์เองสามารถทำหน้าที่ของนักบุญเปโตรได้อย่างเต็มที่เพื่อพระเป็นเจ้า อีกทั้งทรงตรัสถึงหน้าที่และความสำคัญของการเป็นนักบวชในพระศาสนจักร แล้วจึงมีพระดำรัสเป็นภาษาไทยอีกว่า “ขอขอบใจประชาชนชาวไทยทุกคน ขออวยพรลูกๆทุกคน ขอบใจ” ต่อด้วยการร้องเพลงสรรเสริญแม่พระ อีกทั้งพระองค์ยังทรงประทานจอกกาลิกส์เป็นที่ระลึกแด่พระคาร์ดินัลมีชัย
นอกจากนั้นพระองค์ทรงอวยพรเยาวชนที่อยู่ด้านนอกว่า ทรงขอบใจอย่างลึกซึ้งและจะระลึกถึงผู้ที่เป็นกำลังให้แก่ชาติและโลก และขอให้พระเป็นเจ้าอวยพรให้กับเขาเหล่านั้น จากนั้นพระคาร์ดินัลมีชัยได้ถวายของที่ระลึกประกอบไปด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปวัฒนธรรมจากช่างชาวเชียงใหม่ โต๊ะเก้าอี้ทำจากย่านลิเภา และศิลาจารึกหลักที่หนึ่งจำลอง แล้วทรงเสด็จลงจากบริเวณพระแท่น ลงทางด้านขวาเพื่อพบปะกับเหล่านักบวชอย่างใกล้ชิด และทรงตรัสว่าเพื่อความยุติธรรมจึงทรงเสด็จไปด้านซ้ายของอาสนวิหารเช่นกัน ด้านนอกของอาสนวิหารมีประชาชนมารอต้อนรับอย่างเนืองแน่น เมื่อถึงเวลาอันสมควรจึงเสด็จขึ้นรถยนต์พระที่นั่งบริเวณด้านหน้าโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์กลับยังสถานเอกอัครสมณทูตวาติกันในเวลาประมาณ 12.45 น.
สมัยคุณพ่อสนัด วิจิตรวงศ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสระหว่าง ค.ศ.1989 - 1994 เป็นผู้ดำเนินงานจัดตั้งเครื่องเสียงภายในวัดให้มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นผู้เริ่มต้นว่าจ้างยามรักษาความปลอดภัยและดูแลการจราจรรอบๆบริเวณอาสนวิหาร รวมถึงได้จัดความเรียบร้อยบริเวณหน้าบ้านพักพระสงฆ์เสียใหม่
สมัยคุณพ่อปิยะ โรจนะมารีวงศ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสระหว่าง ค.ศ.1994 - 1999 ในสมัยนี้ได้มีการฉลองครบรอบ 75 ปีอาสนวิหารอัสสัมชัญ คุณพ่อได้พยายามสานต่องานของคุณพ่อเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ เช่น ส่งเสริมเยาวชนในการร่วมกิจกรรมของวัด สานต่องานอภิบาลทุกๆด้าน ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์บางชิ้นภายในวัด ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1995 ได้จัดส่งผู้แทนเยาวชนเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนไทย-เยอรมัน งานที่สำคัญที่สุดด้านหนึ่งของวัด ได้แก่ การศึกษา ซึ่งคุณพ่อได้มีหน้าที่ด้านนี้โดยตรงอยู่แล้ว และได้มีโครงการหลายโครงการ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นระหว่าง 3 โรงเรียนที่อยู่ภายในเขตวัด ต่อมาในวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ.1995 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภา เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีบูชาขอบพระคุณถวายแด่ดวงพระวิญญาณสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ โดยพระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู และพระอัครสังฆราชลุยจิ แบรสซาน พระสมณทูต เป็นประธานในพิธีบูชาขอบพระคุณ และในสมัยนี้ได้เริ่มมีการติดตั้งกระจกสีบริเวณชั้นสองของอาสนวิหารตามดำริของพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู รวมถึงเริ่มทำการสำรวจค่าระดับการทรุดตัวของอาคาร
สมัยคุณพ่อสำรวย กิจสำเร็จ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในระหว่าง ค.ศ.1999 - 2003 ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองเปิดปีศักดิ์สิทธิ์ ปีปิติมหาการุญคริสตศักราช 2000 อย่างยิ่งใหญ่ อีกทั้งในวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 2000 เวลา 9.00 น. ได้มีการเปิดหลุมศพของคุณพ่อนิโคลาสบุญเกิด กฤษบำรุง และนำอัฐิของคุณพ่อไปตั้งไว้ในบริเวณด้านซ้ายภายในอาสนวิหาร เพราะในวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 2000 คุณพ่อจะได้รับการสถาปนาเป็นบุญราศีที่มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม และเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม ค.ศ. 2003 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามบรมราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเยือนอาสนวิหารอัสสัมชัญ ในเวลา 18.20 น.พระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชูได้นำเสด็จเข้าสู่อาสนวิหาร เมื่อถึงพระแท่น เซอร์มารีอองส์ นะตะวงศ์ ถวายพวงมาลัยเพื่อให้พระองค์ถวายแด่แม่พระ และก่อนที่จะประทับรถยนต์พระที่นั่งเพื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับได้ตรัสกับพระคาร์ดินัลว่า “มีโอกาสจะเสด็จฯมาเยี่ยมอีก”
สมัยคุณพ่อเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสระหว่าง ค.ศ. 2003 - 2007 ในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2003 ได้มีพิธีเคลื่อนย้ายอัฐิของบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุงจากอาสนวิหารอัสสัมชัญ ไปยังสักการสถานที่บริเวณวัดนักบุญเปโตร สามพราน ในวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 2004 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จทอดพระเนตรคอนเสิร์ตการกุศล “เกรท แมส อิน ซี ไมเนอร์” ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ ในวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 2005 เวลา 17.00 น. ได้มีพิธีมิสซาอุทิศแด่ดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นผู้แทนพระองค์เข้าร่วมพิธี รวมถึงนายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แทนรัฐบาลไทย คณะทูตานุทูต ผู้แทนศาสนา และสัตบุรุษกว่า 3,000 คนร่วมพิธี ต่อมาในวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 2005 ได้มีพิธีบูชาขอบพระคุณเพื่อภาวนาเป็นพิเศษแด่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ในโอกาสสมณภิเษก โดยพระสังฆราชยอด พิมพิสาร เป็นประธานในพิธี
สมัยคุณพ่อทวีศักดิ์ กิจเจริญ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสระหว่าง ค.ศ. 2007 - 2009 ได้มีการปรับปรุงเครื่องเสียงภายในอาสนวิหารใหม่ทั้งหมด ในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 2008 ได้มีพิธีถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยพระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู เป็นประธานในพิธี และได้มีการพิธีบูชาขอบพระคุณถวายเป็นพระราชกุศลอีกครั้งในวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 2008
สมัยคุณพ่อสุรสิทธิ์ ชุ่มศรีพันธุ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสระหว่าง ค.ศ. 2009 - 2012 ในสมัยนี้เองได้มีพิธีเข้ารับตำแหน่งพระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ของพระอัครสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ในวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 2009 เวลา 10.00 น. ต่อมาได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณหน้าอาสนวิหาร เปิดเสกรูปหล่อนักบุญเปโตรและสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เพื่อจัดตั้งบริเวณด้านหน้าของอาสนวิหารอัสสัมชัญ ได้ปรับปรุงบ้านพักพระสงฆ์และทำวัดน้อยบริเวณชั้นหนึ่งของบ้านพักพระสงฆ์เพื่อใช้เพื่อประกอบศาสนกิจในวันธรรมดา โดยในวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 2012 ได้มีพิธีเสกวัดน้อยโดยพระอัครสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช
สมัยคุณพ่อสานิจ สถะวีระวงส์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสระหว่าง ค.ศ. 2012 - 2016 โดย ในวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 2012 บริษัทมรดกโลกเริ่มงานสำรวจและบูรณะอาสนวิหารอัสสัมชัญ การบูรณะโครงสร้างทั้งภายในและภายนอก เริ่มโครงการตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 2012 (แต่ยังใช้ประกอบพิธีมิสซาในวัดตามปกติ จนกว่าจะมีการปรับภูมิทัศน์บริเวณพระแท่นบูชา) เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 2014 อาสนวิหารอัสสัมชัญหยุดการประกอบศาสนกิจชั่วคราว เพื่อทำการบูรณะในส่วนภายใน โดยใช้หอประชุมชั้น 4 อาคารเลโอ แปรูดง โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา เป็นสถานที่ประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ รอบวันเสาร์เวลา 17.00 น. และรอบวันอาทิตย์เวลา 07.00 น., 08.30 น. , 10.00 น. และ 17.00 น. โดยการบูรณะครั้งนี้ได้มีการปรับปรุงบริเวณ สักการสถานนำพระแท่น บรรณฐาน และอาสนะของพระสังฆราชมาติดตั้งใหม่ ซ่อมแซม และบูรณะภาพเขียนเฟรสโก ซ่อมแซมรูปพระต่างๆ บูรณะและย้ายตู้ศีล ซ่อมแซมรูปสิบสี่ภาค ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เปลี่ยนกระเบื้องปูพื้น ย้ายหุ่นขี้ผึ้งบุญราศีนิโคลาส บุญเกิดไปยังห้องใต้พระแท่น เปลี่ยนกระเบื้องหลังคา และติดตั้งกระจกสีบริเวณชั้นล่างของอาสนวิหาร เป็นต้น
วันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 2015 ต้อนรับการเดินทางกลับมาจากโรมของ พระอัครสังฆราช ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช โอกาสได้รับแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล เวลา 07.00 น.
วันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 2015 มีพิธีเสกระฆังใหม่ทั้ง 12 ใบโดยพระคาร์ดินัลเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช เวลา 08.15 น. โดยระฆังนี้หล่อขึ้นที่บริษัท Roberto Trebino S.N.C. เมืองเจโนวา ประเทศอิตาลี ซึ่งคุณปราณี กรองทอง เป็นผู้บริจาคระฆัง ในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 2015 ระฆังใหม่ทั้ง 12 ใบ ถูกยกขึ้นสู่หอระฆังของอาสนวิหาร และระฆังเดิมที่อยู่บนหอระฆังเดิมของอาสนวิหารก็ได้เลิกใช้นับแต่บัดนั้น
วันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 2015 มีพิธีเปิดประตูศักดิ์สิทธิ์ ก้าวสู่ปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม และถวายอาสนวิหารอัสสัมชัญภายหลังจากที่ได้บูรณะเป็นที่เรียบร้อย พิธีได้เริ่มขึ้นเวลา 18.00 น. โดย พระคาร์ดินัลเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช เป็นประธาน
คุณพ่อวีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสระหว่าง ค.ศ. 2016 - 2022 เพื่อเตรียมการสำหรับฉลองครบรอบ 100 ปีอาสนวิหารอัสสัมชัญหลังปัจจุบัน ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2017 เป็นต้นมา ได้รณรงค์ให้พี่น้องสัตบุรุษนำส่งภาพ อาสนวิหารอัสสัมชัญ ทั้งก่อนบูรณะและหลังบูรณะ เพื่อเตรียมจัดทำหนังสือครบรอบ 100 ปี ใน ค.ศ. 2019 ได้มีการบูรณะบ้านพักพระสงฆ์ รวมถึงสร้างอาคารเพิ่มเติมในบริเวณเดียวกันเพื่อเป็นที่พักของเจ้าหน้าที่ และสาหรับทำกิจกรรมขององค์กรต่างๆ วันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 2017 มีพิธีเปิดเสก วัดน้อยใหม่ของอาสนวิหารอัสสัมชัญ โดยย้ายมาจากที่เดิมบริเวณชั้นหนึ่งของบ้านพักพระสงฆ์ ซึ่งที่ใหม่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของอาคารโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา วันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2017 ได้จัดให้มีพิธีบูชาขอบพระคุณ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดลุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในนามของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย โดยพระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช เป็นประธาน วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 2019 ได้จัดให้มีการ เฉลิมฉลอง “หนึ่งศตวรรษ สิริสวัสดิ์ วัดอัสสัมชัญ” ครบรอบ 100 ปีของอาสนวิหารอัสสัมชัญ หลัง ปัจจุบัน โดยพระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช เป็นประธานในพิธี พร้อมทั้งมีการ โปรดพระคุณการุณย์โอกาส 100 ปี
วันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 พิธีบูชาขอบพระคุณโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10
วันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 พระคาร์ดินัล แฟร์นันโด ฟีโลนี สมณมนตรีแห่งสมณกระทรวงประกาศพระวรสารสู่ปวงชน เดินทางมาเยี่ยมชมอาสนวิหารอัสสัมชัญร่วมโอกาสเป็นประธานพิธีบูชาขอบพระคุณ เปิดปีฉลอง 350 ปี มิสซังสยาม (ค.ศ. 1669-2019)
วันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019 ในโอกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ได้เสด็จมาเพื่อประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณสำหรับเยาวชน
ปี ค.ศ. 2020
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ มิสซาวันนักบวชสากล ฉลอง 25 ปี 50 ปี 60 ปี ชีวิตนักบวชอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
วันที่ 19 มีนาคม ประกาศเรื่องแนวทางปฏิบัติงานอภิบาลสัตบุรุษเขต 1 อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯในสถานการณ์วิกฤติไวรัสโควิด-19 ประกาศจากอาสนวิหาร เรื่อง “การจัดมิสซาแบบระบบปิด” และ “งดกิจกรรมทุกชนิดในอาสนวิหาร โดยขอให้พี่น้องงดการมาร่วมพิธีมิสซาภายในอาสนวิหารเชิญชวนให้ร่วมพิธีมิสซาแบบออนไลน์ที่บ้านแทน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคจนกว่าสถานการณ์ดีขึ้น โดยเข้าไปที่ Youtube: Search: Assumption mass
วันที่ 5 เมษายน เสกและแห่ใบลาน (แบบระบบปิด)
วันที่ 9-12 เมษายน สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ สมโภชปัสกา (แบบระบบปิด)
วันที่ 18 พฤษภาคม ประกาศอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เรื่อง “มาตรการ” และ “แนวทางภาคปฏิบัติ” การเข้าร่วมพิธีกรรมของคริสต์ศาสนิกชนคาทอลิก โดยอนุญาตให้พี่น้องสัตบุรุษเข้าร่วมพิธีมิสซาได้ ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม รอบ 17.00 น. โดยมีมาตรการการป้องกัน และจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมพิธี รอบละไม่เกิน 150 คน อนุญาตให้เข้าร่วมพิธีได้เพียงครั้งเดียวต่อท่าน งดกิจกรรมอื่นๆ จนกว่าสถานการณ์ปกติ
วันที่ 2 สิงหาคม เริ่มเรียนคำสอน เยาวชนและผู้ใหญ่ ที่สนใจเรียนคำสอนศาสนาคริสต์ รวมทั้งคริสตชนที่ยังมิได้รับศีลกำลัง เรียนทุกวันอาทิตย์
วันที่ 15 สิงหาคม สมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ (ฉลองภายในโดย คุณพ่ออนุชา ไชยเดช โอกาสบวชครบรอบ 25 ปี ชีวิตสงฆ์)
วันที่ 16 สิงหาคม สมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ และพิธีบวชพระสงฆ์ ได้แก่ สังฆานุกรดอมินิก ซาวีโอ อวิรุทธ์ พันธ์ขาว, สังฆานุกร เปโตร ณัฐพล เอี่ยมเศรษฐี และสังฆานุกร ยอห์น บัปติสต์ ธงชัย ทองรส (คณะธรรมทูตแห่งมารีนิรมล(O.M.I.))
วันที่ 1-31 เดือนตุลาคม รณรงค์สวดสายประคำตลอดเดือนตุลาคม ตามโครงการ "เดือนสายประคำโลก" จำนวน 1,000,000 สาย
วันที่ 1 ตุลาคม มิสซาปิดเดือนแม่พระ
วันที่ 2 ตุลาคม มิสซาครบรอบ 22 ปี มรณภาพ ของพระคุณเจ้ายอแซฟ ยวง นิตโย
วันที่ 4 ตุลาคม พิธีมิสซาและรับพรพระสงฆ์ใหม่ โดย คุณพ่อดอมินิกซาวีโอ อวิรุทธ์ พันธ์ขาว และคุณพ่อเปโตร ณัฐพล เอี่ยมเศรษฐี
วันที่ 18 ตุลาคม พิธีมิสซาวันแพร่ธรรมสากล
วันที่ 31 ตุลาคม พิธีมิสซาปิดเดือนแม่พระ
วันที่ 22 พฤศจิกายน ครบรอบ 1 ปี สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จเยือนไทย และพิธีเปิดปีเยาวชน
วันที่ 13 ธันวาคม พิธีมิสซาโอกาสครบรอบปีการถวายอาสนวิหารอัสสัมชัญ
วันที่ 21 ธันวาคม ประกาศเรื่อง "มาตรการ" และ "แนวทางภาคปฏิบัติ" การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (การแพร่ระบาดรอบใหม่) เพื่อการเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาในโอกาสวันคริสต์มาสและปีใหม่ งดกิจกรรมต่างๆ, งดการสัมผัสรูปพระกุมารและรูปปั้นอื่นๆ
วันที่ 24 ธันวาคม มิสซาสมโภชพระคริสตสมภพ เวลา 22.00 น.
วันที่ 25 ธันวาคม มิสซาสมโภชพระคริสตสมภพ เวลา 09.00 น. ภาษาไทย และ 10.30 น. ภาษาอังกฤษ
วันที่ 31 ธันวาคม ประกาศงดการมาร่วมพิธีมิสซา เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด -19 มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น เชิญชวนพี่น้องร่วมพิธีมิสซาผ่านทางออนไลน์ที่บ้านจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น
ปี ค.ศ. 2021
วันที่ 1 มกราคม มิสซาสมโภชพระนางมารีย์พระชนนีของพระเป็นเจ้า และขอพรพระเจ้าโอกาสวันปีใหม่ เวลา 09.00 น. ภาษาไทย และ 10.30 น. ภาษาอังกฤษ
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พิธีบูชาขอบพระคุณโอกาส ครบรอบ 325 ปี ของคณะภคินีเซนต์ปอล เดอชาร์ตร เวลา 09.30 น.
วันที่ 14 มีนาคม มิสซาฉลองครบรอบปีที่ 8 แห่งสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
วันที่ 20 มีนาคม พิธีบูชาขอบพระคุณโอกาส สุวรรณสมโภช 50 ปี ชีวิตสงฆ์ คุณพ่อชาร์ลส์ปิยะ โรจนะมารีวงศ์ และร่วมฉลองศาสนนามและวันเกิดครบ 75 ปี คุณพ่อยอแซฟวีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช
วันที่ 28 มีนาคม เสกและแห่ใบลาน
วันที่ 9 เมษายน วันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ (งดพิธีล้างเท้า)
วันที่ 10 เมษายน วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (งดการสัมผัสหรือจูบกางเขน)
วันที่ 11 เมษายน วันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ ล้างบาปคริสตชนใหม่ (เริ่มมีมาตรการที่เคร่งครัดในการมาร่วมพิธีที่วัดเนื่องจากมีการกลับมาระบาดของโควิด-19 หนักอีกระรอก)
วันที่ 12 เมษายน สมโภชปัสกา แจกไข่/ต้อนรับคริสตชนใหม่
วันที่ 25 เมษายน การจัดมิสซาแบบปิด งดการมาร่วมมิสซาของสัตบุรุษ ณ อาสนวิหาร ตามประกาศของ กทม. เรื่องการจัดกิจกรรมที่เกินกว่า 20 คน และงดจัดกิจกรรมทุกชนิดในอาสนวิหาร
เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมพิธีสมรส ณ อาสนวิหาร ตามประกาศของ กทม. สำหรับคู่แต่งงานที่สมัครใจและทำตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
วันที่ 1 สิงหาคม เริ่มเรียนคำสอน เยาวชนและผู้ใหญ่ ที่สนใจเรียนคำสอนศาสนาคริสต์รวมทั้งคริสตชนที่ยังมิได้รับศีลกำลัง เรียนทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00 น. -12.00 น.
วันที่ 14 สิงหาคม สมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ์ (ฉลองภายใน โดย คุณพ่อปิยะชาติ มะกรครรภ์) แบบจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม
วันที่ 15 สิงหาคม สมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ แบบจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมตามมาตรการประกาศของ กทม.
วันที่ 4 กันยายน พิธีบูชาขอบพระคุณโอกาส ครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งคณะพลมารีย์ (ค.ศ.1921-2021) ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ (แบบระบบปิด)
วันที่ 1-31 ตุลาคม รณรงค์สวดสายประคำตลอดเดือนตุลาคม ตามโครงการ “เดือนสายประคำโลก”
วันที่ 1 ตุลาคม มิสซาเปิดเดือนแม่พระ
วันที่ 2 ตุลาคม มิสซาครบรอบ 23 ปี มรณภาพ ของพระคุณเจ้ายอแซฟ ยวง นิตโย
วันที่ 17 ตุลาคม พิธีบูชาขอบพระคุณ โอกาสบวชพระสงฆ์ (จำนวน 5 ท่าน) และเปิดซีนอดอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เวลา 10.00 น. โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมพิธีเฉพาะญาติพระสงฆ์ใหม่เท่านั้น
วันที่ 7 พฤศจิกายน เปิดให้สัตบุรุษมาร่วมพิธีมิสซา ณ อาสนวิหาร ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยจำนวนผู้เข้าร่วมพิธีเป็นไปตามประกาศของรัฐบาล ณ เวลานั้นๆ และการพิจารณาความเหมาะสมจากทางวัด สำหรับมิสซาในวันธรรมดาสงวนไว้เฉพาะนักบวชเท่านั้น
วันที่ 18 ธันวาคม พิธีมิสซาโอกาสครบรอบการถวายอาสนวิหารฯ และการลงคะแนนโหวตข้อเสนอซีนอดอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เวลา 16.30 น.
วันที่ 19 ธันวาคม พิธีมิสซาและรับพรพระสงฆ์ใหม่ โดยคุณพ่อเปโตร กิตติศักดิ์ กิจสำเร็จ และคุณพ่อเปโตร สมศักดิ์ ตู้สำราญ เวลา 08.30 น.
วันที่ 24 ธันวาคม มิสซาสมโภชพระคริสตสมภพ โดยพระอัครสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช เวลา 22.00 น. จำกัดผู้เข้าร่วมพิธี โดยให้ลงทะเบียนรับบัตรสำหรับการร่วมพิธีในอาสนวิหาร
วันที่ 25 ธันวาคม มิสซาสมโภชพระคริสตสมภพ เวลา 09.00 น. และ 10.30 น. ภาษาอังกฤษ (มิสซารอบ 17.00 น. มีตามปกติ)
คุณพ่ออดิศักดิ์ สมแสงสรวง ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ปี ค.ศ. 2022 - ปัจจุบัน
ปี ค.ศ. 2022
วันที่ 1 มกราคม มิสซาสมโภชพระนางมารีย์พระชนนีของพระเป็นเจ้า และขอพรพระเจ้าโอกาสปีใหม่
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ มิสซาวันตรุษจีน
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ มิสซาเสกและแห่เทียน
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พิธีบูชาขอบพระคุณ และพิธีปลงศพพระสังฆราชยอแซฟ สังวาล ศุระศรางค์
วันที่ 19 มีนาคม มิสซาฉลองครบรอบปีที่ 9 แห่งสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
วันที่ 10 เมษายน เสกและแห่ใบลาน
วันที่ 17 เมษายน สมโภชปัสกา แจกไข่/ต้อนรับคริสตชนใหม่
วันที่ 30 เมษายน รับศีลกำลังเขต 1
วันที่ 8 พฤษภาคม พิธีบูชาขอบพระคุณโอกาส หิรัญสมโภช 25 ปี ชีวิตสงฆ์ คุณพ่ออันแซล์ม อดิศักดิ์ กิจบุญชู, คุณพ่อยอแซฟทนุ เจษฎาพงษ์ภักดี, คุณพ่อยอห์น บอสโก สุชาติ อุดมสิทธิพัฒนา, คุณพ่อฟิลิป ชูศักดิ์ บุญอนันตบุตร, คุณพ่อเปโตร ธนากร เลาหบุตร และคุณพ่อฟรังซิสเซเวียร์ อภิเดช สุภาจักร
วันที่ 15 พฤษภาคม มิสซาอำลา คุณพ่อวีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช , คุณพ่ออนุชา ไชยเดช และคุณพ่อสหพล ตั้งถาวร
วันที่ 22 พฤษภาคม มิสซาต้อนรับ คุณพ่ออดิศักดิ์ สมแสงสรวง และคุณพ่ออนุรัตน์ ณ สงขลา
เดือนมิถุนายน - สิงหาคม วัดในเขตปกครอง เขต 1 รณรงค์บริจาค เพื่อซื้อข้าวสารมอบให้ ศูนย์อบรมเด็กชาวเขา แม่ปอน จ.เชียงใหม่
วันที่ 19 มิถุนายน สมโภชพระกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้า แห่ศีล เวลา 17.00 น.
วันที่ 26 มิถุนายน บร.ฤทธิ์กรณ์ เวหาภูจันทร์ สามเณราลัยแสงธรรม ปี 7 สังกัดสังฆมณฑลเชียงราย สำหรับช่วยงานอภิบาล
วันที่ 3 กรกฎาคม เริ่มเรียนคำสอน เยาวชนและผู้ใหญ่ที่สนใจเรียนคำสอนศาสนาคริสต์ รวมทั้งคริสตชนที่ยังมิได้รับศีลกำลัง เรียนทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.
วันที่ 10 กรกฎาคม พิธีมิสซาและรับพรพระสงฆ์ใหม่ คุณพ่อยอห์น บอสโก รัฐพล งามอัชฌา, คุณพ่ออันเดร ธนบูรณ์ พูนผล, คุณพ่อยอแซฟ ณัฐชัย อิ่มไพร และคุณพ่อมัทธิว สาโรช เมธีพิทักษ์กุล
วันที่ 15 สิงหาคม สมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ เวลา 17.00 น.
วันที่ 24-25 กันยายน คณะวินเซนเดอปอล คณะแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ เก็บถุงทานรอบ 2 หลังมิสซา เพื่อนำไปช่วยเหลือบรรดาผู้ขัดสนและยากจนต่อไป
วันที่ 1-31 ตุลาคม รณรงค์สวดสายประคำตลอดเดือนตุลาคม ตามโครงการ “เดือนสายประคำโลก”
วันที่ 1 ตุลาคม วัดในเขตปกครอง เขต 1 ร่วมเปิด เดือน “สายประคำโลก” และมิสซาเปิดเดือนแม่พระ
วันที่ 2 ตุลาคม มิสซาครบรอบ 24 ปี มรณภาพของพระสังฆราช ยวง นิตโย
วันที่ 23 ตุลาคม พิธีบูชาขอบพระคุณ โอกาสวันแพร่ธรรมสากล เวลา 08.30 น.
วันที่ 30 ตุลาคม สหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชีย FABC กำหนดให้มีพิธีบูชาขอบพระคุณโอกาสปิดการประชุมครบรอบ 50 ปี เวลา 09.00 น. และปิดเดือนแม่พระ พิธีมิสซา เวลา 17.00 น.
วันที่ 2 พฤศจิกายน พิธีมิสซาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ เวลา 19.00 น.
วันที่ 17 ธันวาคม พิธีมิสซาโอกาสครบรอบการถวายอาสนวิหารฯ และโอกาสวันฉลองศาสนนามพระคาร์ดินัลเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช เวลา 10.00 น.
วันที่ 24 ธันวาคม มิสซาสมโภชพระคริสตสมภพ โดยพระคาร์ดินัลเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช เวลา 22.30 น.
วันที่ 25 ธันวาคม มิสซาสมโภชพระคริสตสมภพ มิสซารอบวันอาทิตย์ตามปกติ
วันที่ 31 ธันวาคม เวลา 21.30 น. ตั้งศีลและอวยพรศีลมหาสนิท และมิสซาส่งท้ายปีเก่า เวลา 22.00 น. โดยคุณพ่อปิยะชาติ มะกรครรภ์ อุปสังฆราช
ปี ค.ศ.2023
วันที่ 1 มกราคม มิสซาสมโภชพระนางมารีย์พระชนนีพระเป็นเจ้า และขอพรพระเป็นเจ้าโอกาสปีใหม่ เวลา 07.00 น., 08.30 น. และ 17.00 น . ภาษาไทย และ 10.00 น. ภาษาอังกฤษ
วันที่ 21 มกราคม รับศีลกำลังนักเรียน เขต 1 เวลา 10.00 น.
วันที่ 22 มกราคม มิสซาวันตรุษจีน ตามเวลารอบมิสซาวันอาทิตย์
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ มิสซาเสกและแห่เทียน เวลา 19.00 น.
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ วันพุธรับเถ้า เวลา 19.00 น.
เดือนกุมภาพันธ์ รณรงค์บริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในประเทศตุรกีและซีเรีย
วันที่ 5 มีนาคม วันครบรอบการสถาปนาคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เป็นบุญราศี เชิญชวนพี่น้องสัตบุรุษวางดอกไม้และสวดภาวนาที่หลุมศพของคุณพ่อ
วันที่ 19 มีนาคม มิสซาฉลองครบรอบปีที่ 10 แห่งสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
วันที่ 2 เมษายน เสกและแห่ใบลาน
วันที่ 6 เมษายน วันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ (งดพิธีล้างเท้า)
วันที่ 7 เมษายน วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (งดการสัมผัสหรือจูบกางเขน)
วันที่ 8 เมษายน วันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ ล้างบาปคริสตชนใหม่
วันที่ 9 เมษายน สมโภชปัสกา แจกไข่/ต้อนรับคริสตชนใหม่/รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ เนื่องในโอกาสวันสงกรานต์/เริ่มกลับมาเปิดบริการสภากาแฟ
เดือนเมษายน เชิญชวนพี่น้องได้ร่วมแสดงความยินดีด้วยการเขียนคำอวยพรโอกาสครบรอบ 50 ปี การอภิเษกเป็นพระอัครสังฆราช และ 40 ปี การรับตำแหน่งพระคาร์ดินัล ของพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู
วันที่ 11 มิถุนายน สมโภชพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า แห่ศีล เวลา 17.00 น.
เดือนมิถุนายน อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ กำหนดให้ทุกวัดจัดตั้งคณะกรรมการสภาภิบาลวัด
วันที่ 2 กรกฎาคม สามเณรธีระชัย แสงโสม กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปี 7 และสามเณรสิทธิศกดิ์ บุญเชิด กำลังศึกษาอยู่ชั้นปี 5 มาช่วยงานอภิบาลและสอนคำสอน
เริ่มเรียนคำสอน เยาวชนและผู้ใหญ่ ที่สนใจเรียนคำสอนศาสนาคริสต์รวมทั้งคริสตชนที่ยังมิได้รับศีลกำลัง และคำสอนเด็ก เรียนทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00 -12.00 น.
วันที่ 13 สิงหาคม มิสซาเตรียมจิตใจฉลองวัด โดยคุณพ่อชวลิต กิจเจริญ
วันที่ 15 สิงหาคม สมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ และพิธีบวชพระสงฆ์ เวลา 17.00 น. (สังฆานุกร ฟรังซิสเซเวียร์อัครนนท์ กิจเจริญ สัตบุรุษวัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด หัวตะเข้ และสังฆานุกร คามิลโล พรสรร สิงห์ชัย สัตบุรุษวัดพระแม่มหาการุณย์ นนทบุรี)
วันที่ 23-24 กันยายน คณะวินเซนเดอปอล คณะแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ เก็บถุงทานรอบ 2 หลังมิสซา เพื่อนำไปช่วยเหลือบรรดาผู้ขัดสนและยากจน
วันที่ 24 กันยายน มิสซารับพรพระสงฆ์ใหม่ คุณพ่อคามิลโล พรสรร สิงห์ชัย และคุณพ่อฟรังซิสเซเวียร์ อัครนนท์ กิจเจริญ
วันที่ 1-31 ตุลาคม รณรงค์สวดสายประคำตลอดเดือนตุลาคม ตามโครงการ “เดือนสายประคำโลก”
วันที่ 2 ตุลาคม มิสซาครบรอบ 25 ปีมรภาพ ของพระคุณเจ้ายอแซฟ ยวง นิตโย
วันที่ 29 ตุลาคม มิสซาเปิดเดือนแม่พระ เวลา 17.00 น.
วันที่ 2 พฤศจิกายน พิธีมิสซาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ เวลา 19.00 น.
เดือนธันวาคม เชิญชวนพี่น้องจัดมุมคริสต์มาสที่บ้านของตนเอง โดยให้สมาชิกในบ้านร่วมกันตกแต่งสร้างบรรยากาศคริสต์มาสที่บ้าน และแบ่งปันภาพถ่ายเพื่อรับของขวัญพิเศษจากทางวัด
วันที่ 3,10 และ 17 ธันวาคม ตรีวารพระคริสตสมภพ หลังมิสซารอบเย็น โดยจะมีวจนพิธีกรรมเตรียมจิตใจสั้นๆ ดนตรี และกิจกรรมเล็กน้อยบริเวณด้านหน้าอาสนวิหาร
วันที่ 17 ธันวาคม พิธีมิสซาโอกาสครบรอบการถวายอาสนวิหาร เวลา 8.30 น.
วันที่ 24 ธันวาคม มิสซาสมโภชพระคริสตสมภพ โดยพระอัครสังฆราช เวลา 22.30 น.
วันที่ 25 ธันวาคม มิสซาสมโภชพระคริสตสมภพ เวลา 9.00 น. ภาษาไทย และ 11.00 น. ภาษาอังกฤษ
วันที่ 31 ธันวาคม เวลา 21.30 น. ตั้งศีลและอวยพรศีลมหาสนิท และมิสซาส่งท้ายปีเก่า เวลา 22.00 น. โดยคุณพ่อปิยะชาติ มะกรครรภ์ อุปสังฆราช
ประวัติรูปแม่พระที่ประทับหน้ายอดมุขวัดอัสสัมชัญ
พระรูปแม่พระเก่าแก่คู่กับอาสนวิหารอัสสัมชัญ ได้รับการซ่อมแซมเป็นครั้งแรกหลังจากสร้างวัดมาเกือบร้อยปี ได้รับการเสกและอัญเชิญขึ้นสู่ที่ประทับหน้ายอดมุขของวัดดังเดิม ในโอกาสฉลองแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1990 ที่ผ่านมา พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู พร้อมกับบรรดาพระสังฆราชเกือบ 10 องค์ ได้ร่วมพิธีฉลองแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ ซึ่งเป็นฉลองอาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก ซึ่งในปีนี้คุณพ่อสนัด วิจิตรวงศ์ ได้อัญเชิญพระรูปแม่พระที่ประทับ อยู่หน้ามุขของวัดลงมาซ่อมแซมในส่วนที่ชำรุดบริเวณใบหน้า ซึ่งได้รับความเสียหายเล็กน้อยเนื่องมาจากแรงระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้ทำการลงรักปิดทองให้ดูสวยงามและเหมือนเดิม และได้ทำการเสกใหม่โดยพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ท่ามกลางพี่น้องสัตบุรุษที่ไปร่วมพิธีกันอย่างเนืองแน่น
จากการเปิดเผยของคุณพ่อสนัด วิจิตรวงศ์ กล่าวว่า นายโรเช่ ลามาช ต้นตระกูลลามาช (ที่เมืองไทย) เป็นผู้บริจาคให้ อดีตเป็นครูฝึกสอนทหารไทยในสมัยรัชการที่ 4 ได้รับพระราชทานยกเป็นหลวงอุปเทศทวยหาร หลังจากลาออกจากราชการ ตอนต้นรัชกาลที่ 5 ได้ตั้งบริษัทสั่งของจากประเทศฝรั่งเศสมาขาย การสนิทสนมกับคุณพ่อเจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญ จึงได้สั่งรูปแม่พระปฏิสนธินิรมลเพื่อถวายแก่วัด เมื่อประมาณ 128 ปีมาแล้ว แต่ขณะนั้นวัดอัสสัมชัญหลังเก่า ซึ่งมีชื่อว่า แม่พระยกขึ้นสวรรค์ แต่ขณะนั้นที่วัดอัสสัมชัญยังไม่มีรูปแม่พระ พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ จึงได้ขอไว้เมื่อรูปแม่พระมาถึงเมืองไทย ถึงแม้จะเป็นองค์ละปางก็ตาม ยังดีกว่าไม่มีรูปแม่พระ ต่อมาได้มีการสร้างวัดอัสสัมชัญหลังใหม่ขึ้น (หลังปัจจุบัน) คุณพ่อกลอมเบต์ จึงได้อัญเชิญรูปแม่พระประทับหน้ายอดมุข เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น วัดอัสสัมชัญได้ถูกลูกระเบิดตกข้างวัดด้านขวา (ด้านหอระฆัง) ทำให้ผนังวัดเป็นรูโบ๋ ได้เอาไม้มาปิดรูโบ๋นี้ไว้ ด้วยแรงระเบิดจึงทำให้กระจกสี และกระจกต่างๆ ภายในวัดแตก รูปแม่พระข้างบนนี้ ถูกความร้อน และถูกน้ำฝนจึงทำให้รูปแม่พระดำ ภายหลังสงครามสงบ คุณพ่อเปรูดอง จึงขอให้ คุณหมง วังตาล ปิดทองให้ใหม่ แต่ด้วยกาลเวลาและช่วงสมัยสงครามสงบลงยังไม่มีกระจกหนาๆ จึงทำให้กระจกแตกอีก รูปแม่พระจึงดูเก่าและดำ จึงได้มีการบูรณะลงรักปิดทองขึ้นใหม่ โดยนายโรเช่ ลามาช ซึ่งเป็นเหลนโดยตรงของท่าน (ต้นตระกูล ลามาช ที่เมืองไทย) ในสมัยคุณพ่อสนัด วิจิตรวงศ์ เป็นเจ้าอาวาส คุณพ่อได้ตั้งตู้ทานเพื่อเป็นค่าซื้อกระจกหนาๆ พร้อมขอร้องกับบริษัทก่อสร้าง ซึ่งเจ้าของเป็นคาทอลิก ได้อนุเคราะห์เอารถกระเช้ามายกรูปแม่พระลงมาขัด และลงรักปิดทอง เมื่อทำเสร็จจึงได้อัญเชิญขึ้นที่เก่า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1990 วันแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์
ในการเชิญพระรูปแม่พระลงและขึ้นนั้นทาง บริษัท ช.นนทชัยก่อสร้าง ได้นำรถเครนขนาดใหญ่มาใช้ ซึ่งทำให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยความเรียบร้อยและรวดเร็วแต่เป็นที่น่าเสียดายที่ในระหว่างพิธีฝนได้ตกลงมาอย่างหนักทำให้ไม่สามารถทำพิธีแห่ได้ เนื่องจากบริเวณรอบวัดที่จะแห่มีน้ำท่วม พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ได้ทำพิธีสวดภาวนาและถวายดอกไม้แด่แม่พระในวัด
สำหรับการฉลองวัดในปีนี้ในตอนกลางวัน ทางคุณพ่อเจ้าอาวาส พร้อมกับบราเดอร์หลุยส์ ชาแนล อธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรักและมาเซอร์วาแลนติน อธิการโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และซิสเตอร์สมพร กตัญญู ได้จัดพิธีฉลองในตอนกลางวันสำหรับนักเรียนคาทอลิกทั้งสามโรงเรียน โดยเริ่มด้วยการถวายมิสซา โดยคุณพ่อจำเนียร กิจเจริญ อุปสังฆราช เป็นประธานถวายบูชามิสซาและหลังจากนั้นเป็นการแสดงบนเวทีของนักเรียน ในโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก
ส่วนในวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม ซึ่งหลายๆ วัดถือว่าเป็นการฉลองแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์เลื่อนมาจากวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันตรงทางวัดได้จัดให้เป็นวันรับศีลกำลังของเด็กนักเรียนคริสตังของทั้งสามโรงเรียนพร้อมกัน คุณพ่อสนัด วิจิตรวงศ์ เจ้าอาวาส ได้กล่าวแก่ อุดมสารว่า สำหรับการฉลองแม่พระนี้ทางอาสนวิหารอัสสัมชัญ จะจัดในวันตรงคือ วันที่ 15 สิงหาคม ของทุกปี จะไม่เลื่อนไปวันอาทิตย์ อยากให้ทางวัดได้ถือเหมือนเดิมและเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวัด และคิดว่าแม้ฉลองตรงวันทำงาน ก็ไม่มีอุปสรรคมากนักเพราะเราฉลองตอนเย็น สำหรับคนกรุงเทพฯ คงไม่ลำบากนักและในโอกาสฉลองวัด สภาอภิบาลวัดได้จัดงานอัสสัมชัญสังสรรค์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในระหว่างพี่น้องสัตบุรุษของวัด และพี่น้องที่ไปร่วมงาน เพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งช่วยเหลือคนยากจน โดยผ่านทางสมาคมวินเซน เดอ ปอล ทางวัดเพื่อช่วยเหลือ คนยากจน และเป็นค่าใช้จ่ายกิจกรรมของสภาอภิบาลในการดำเนินงานสนับสนุนกิจกรรมของทางวัดอีกด้วย ในวันที่ 18 สิงหาคมในบริเวณโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษาโดยมีการแสดงของนักเรียนและคณะเยาวชนของวัดและจับฉลากของรางวัลสำหรับผู้ร่วมงานด้วย.
แผนที่การเดินทาง