1. ศาสนสัมพันธ์
“โดยการเสวนากับศาสนาเหล่านั้น เราจึงจะค้นพบว่า ในแต่ละศาสนามีเชื้อแห่งพระวาจาของพระเจ้าอยู่” (Ad Gentes บทที่ 1 ข้อ 9)
จากการเสวนากับศาสนาต่างๆ เราต้องยอมรับว่า ศาสนาอื่นก็มีความหมาย และมีส่วนส่งเสริมให้เกิดความรอดตามแผนการไถ่กู้ของพระเป็นเจ้าด้วย เราเคารพและรับรู้ในคุณค่าทางจิตใจ และทางศีลธรรมตามหลักศาสนาเหล่านั้น คุณค่าและความหมายดังกล่าวเป็นขุมทรัพย์ประเสริฐ อันเกิดจากประสบการณ์ทางศาสนาที่ได้รับสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ แต่ในการติดต่อสัมพันธ์กันของแต่ละศาสนา ยังขาดพื้นฐานแห่งความจริงใจ เห็นได้ชัดจากการที่ยังมีการหวาดระแวงซึ่งกันและกันของชนบางกลุ่ม
2. การประกาศข่าวดีและการเป็นพยาน
การประกาศข่าวดีคือ การปฏิบัติตนของพระศาสนจักรโดยวาจาและด้วยกิจการ เป็นตัวอย่างการประกาศคำสอนของพระคริสตเจ้า การประกาศข่าวดีโดยวาจาและกิจกรรมนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาในพระศาสนจักรท้องถิ่น เพราะโดยอาศัยพระศาสนจักรท้องถิ่นนี้ เราสามารถประกาศพระคริสตเจ้าให้ประชาชนทราบ อีกทั้งการเป็นพยานของพระสงฆ์นักบวชและคริสตชนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะบุคคลเหล่านั้นเปรียบเสมือนผู้ถือสาส์นหรือตัวแทนของพระคริสตเจ้าโดยตรงความประพฤติทุกอย่างของเขาเหล่านั้นย่อมมีผลต่อความสำเร็จในการแพร่ธรรมด้วย พระพันธกิจของพระองค์พระผู้ไถ่ข้อ 42 ยังได้กล่าวว่า “รูปแบบแรกของการแพร่ธรรมคือ การเป็นประจักษ์พยานถึงชีวิต คริสตชน” อีกด้วย
แต่ในปัจจุบันคริสตชนใคร่จะเห็นการสอนด้วยแบบฉบับมากกว่าด้วยตัวอักษร ดังนั้นการที่จะดึงดูดใจคริสตชนเหล่านี้ได้ก็ต้องอาศัยการเป็นพยานด้วยชีวิต หลายครั้งเหลือเกิน ในเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ เรายังคงติดอยู่กับเจตนารมณ์ของการบังคับขู่เข็ญ แทนที่จะเป็นสภาพผู้รับใช้ตามแบบอย่างของพระคริสตเจ้า แม้กระทั่งในหมู่พระสงฆ์ และกลุ่มนักบวชต่างๆ ก็มักจะมิได้เห็นถึงการรับผิดชอบร่วมกันอย่างแท้จริงเท่าใดนัก ในกลุ่มของเขตวัดและสังฆมณฑลก็จะพบว่ามิได้มีการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งความรักกันเท่าใดนัก ซึ่งทั้งนี้มีเหตุผลมากมายหลายประการด้วยกัน บางทีอาจจะเป็นเพราะลักษณะโครงสร้างของกลุ่มที่ขัดขวางมิให้เป็นอย่างนั้น โครงสร้างต่างๆ ขององค์กรในพระศาสนจักรของเรา (ซึ่งบางครั้งใหญ่โตกว้างขวางเหลือเกิน ไม่เป็นรูปเป็นร่าง ที่แน่นอนและดูเหมือนไม่ค่อยใส่ใจในความเป็นบุคคล) ทำให้เกิดภาพพจน์แบบ “สถาบัน” ในลักษณะที่ไม่คอยจะงามเท่าใดนัก ทั้งไม่ทำให้เห็นถึงความเป็นกลุ่มชนด้วย กลุ่มต่างๆ ของสังฆมณฑลและของวัดมักจะคงเป็นแบบกลุ่มใครกลุ่มมัน ทั้งในทางหลักการและในทางปฏิบัติ
3. งานด้านการอบรมผู้แพร่ธรรม
การประกาศคำสอนของพระคริสตเจ้าทุกวันนี้ ด้วยวิธีต่างๆ นั้น มันท้าทายเราเรียกร้องเราให้มีสมรรถภาพมีความศรัทธา ถวายตน และมีความพยายาม แน่นอนเรามีความจำเป็นต้องฟื้นฟูอบรมผู้แพร่ธรรมเสียใหม่ การมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับค่านิยมในสังคมปัจจุบันที่นิยมชมชอบและหลงไหล รู้จักนำเอาวิชาสังคมและจิตวิทยาประยุกต์มาใช้ เข้าใจอย่างถ่องแท้ในตัวการ รวมทั้งเรื่องการเมืองด้วย ที่เข้ามามีส่วนในการเคลื่อนไหว ด้านการพัฒนาประเทศชาติ การรู้จักใช้หลักวิชาและวิธีการในการอบรมบุคคลหรือกลุ่มชน และนำเอาวิชาการเช่นว่านั้นมาใช้ในการอบรมด้านการอภิบาลสัตบุรุษ อย่างไรก็ตาม การไม่สามารถทำได้อย่างเพียงพอตามเสียงเรียกร้องดังกล่าว จะทำให้เราท้อแท้ใจ หากพวกเราไม่มอบความไว้วางใจของเราไว้กับพระเป็นเจ้าผู้ทรงเป็นพละกำลังของเรา
4. งานสังคมพัฒนา
เป็นที่แจ้งชัดแก่เราแล้วว่า แผนต่างๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน เท่าที่เห็นใช้ดำเนินการอยู่ทั่วๆ ไปในประเทศของเรานี้ ต่างก็ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยที่เป็นส่วนน้อยกับคนยากจนซึ่งเป็นส่วนมากนั้นยิ่งกว้างขึ้นไปอีก และยังส่งเสริมระบบการเมือง สังคมที่ไม่ยุติธรรม ให้เข้มแข็งขึ้นอีกด้วย งานสังคมพัฒนาจึงนับเป็นงานที่จำเป็นและเป็นการแพร่ธรรมอย่างหนึ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของสภาพสังคมปัจจุบัน อย่างไรก็ตามบุคลากรที่ทำงานด้านสังคมพัฒนา ยังไม่รู้จักสภาพความเป็นจริงของชีวิต ไม่ไวต่อความต้องการความทุกข์ร้อนของคนยากจน อาจเป็นความเคยชินหรืออย่างไรไม่ทราบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นอุปสรรคอย่างมากที่จะทำงานในด้านนี้เพื่อสามารถปลุกจิตสำนึกของชาวบ้าน ให้เข้าใจปัญหาและร่วมมือหาทางแก้ไขที่เหมาะสมได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลดปล่อยพวกเขาในแผนการไถ่กู้ของพระองค์
5. งานด้านอภิบาลและการแพร่ธรรม
“คริสตชนทั้งหลายในฐานะสมาชิกของพระศาสนจักรโดยอาศัยศีลล้างบาป จะต้องรับผิด ชอบ ร่วมกันในกิจการแพร่ธรรม” (พระพันธกิจขององค์พระผู้ไถ่ ข้อ 77)
การปฏิบัติงานด้านอภิบาลและการแพร่ธรรมนั้น มีขอบเขตกว้างขวาง ซึ่งภายในพระศาสนจักรเองก็มีการบริหารหลายประเภทต่างๆ กัน ทั้งการปฏิบัติหน้าที่ศาสนบริการ และรูปแบบต่างๆ ของการส่งเสริมชีวิตคริสตชนให้มีชีวิตชีวา โดยร่วมมือกับพระศาสนจักรท้องถิ่น เพื่อให้คริสตชนทุกคนได้เดินทางไปสู่หนทางแห่งความรอด
แต่ในงานแพร่ธรรมในปัจจุบันนี้ส่วนมากทำไป โดยปราศจากความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเช่นบางอย่างมุ่งหนักทางจิตใจมากเกินไป จนไม่มีความสัมพันธ์กับงานและเศรษฐกิจ ไม่รู้จักขอบเขตแห่งหน้าที่ในการทำงานของตนทำให้เกิดการก้าวก่าย และความเข้าใจผิดซึ่งกันและกัน อีกทั้งผู้อภิบาลในปัจจุบันยังขาดความกระตือรือร้น และความเสียสละอย่างแท้จริง
6. งานด้านเยาวชน
อัตราการเพิ่มที่สูงของประชากรของเรา ประชาชนส่วนใหญ่จึงเป็นคนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว เป็นที่ยอมรับว่า เยาวชนเหล่านี้เป็นวัยที่มีพลัง และความคิดสร้างสรรค์ หากพวกเขาได้แสดงออกในทางที่ถูกต้อง พระศาสนจักรจึงควรเข้ามามีบทบาทอย่างจริงจังในส่วนนี้ เพื่อพัฒนาให้เยาวชนได้เติบโตเป็นเหมือนพระฉายาของพระเป็นเจ้า และแสดงออกซึ่งศักยภาพของตนในทางที่สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงการทวนกระแสค่านิยมในโลกปัจจุบัน เป็นที่น่าเสียดายว่าเยาวชนในโลกปัจจุบันยังมิได้รับการเอาใจใส่ให้เกิดความสำนึกถึงบทบาทที่พึงมีในวัยของตน โดยเฉพาะเยาวชนในชนบทต่างย้ายถิ่นไปทำงานตัวเมือง แล้วนำค่านิยมที่ไม่เหมาะสมกลับมายังท้องถิ่นของตน
7. งานด้านการศึกษา
โรงเรียนคาทอลิกเป็นตัวอย่างที่ดีในระบบการศึกษา ที่ตอบสนองนโยบายการศึกษาของรัฐและเป็นสถานที่ที่มีส่วนกระตุ้นและพัฒนาความรู้ ความสามารถของคนไทยในยุคสมัยต่างๆ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ก็ได้แสดงตนให้เป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไปถึงการนำเอาความรู้ ความสามารถ มารับใช้ชาติบ้านเมือง อย่างไรก็ตามสถานศึกษาในปัจจุบันนี้มิได้ทำให้บุคลากรและทรัพยากรต่างๆ มุ่งไปสู่การแพร่ธรรมทางการศึกษาแบบที่จัดขึ้นเพื่อหมู่ชนโดยหมู่ชน เราควรจะหาวิธีอันมีประสิทธิภาพ ที่จะทำให้ผลของการศึกษาได้แผ่ไปถึงมวลชนอันไพศาลของเรา โดยกระตุ้นให้บุคลากรมีความกระตือรือร้น ในการกำหนดทิศทางใหม่สำหรับกระบวนการอบรมศึกษา
8. บทบาทฆราวาสในพระศาสนจักร
ในปัจจุบันพระศาสนจักรได้มุ่งเน้นความสำคัญของฆราวาส ที่จะต้องรับผิดชอบงานของพระศาสนจักรมากขึ้น ดังจะเห็นได้จาก พระพันธกิจขององค์พระผู้ไถ่ข้อ 149 ว่า “สัตบุรุษฆราวาสย่อมเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติหน้าที่ของพระเยซูเจ้าทั้งสามลักษณะด้วยกัน คือด้านความเป็นสงฆ์ ประกาศก และกษัตริย์” ดังนั้น คริสตชนทุกคนจึงมีหน้าที่ในการประกาศถึงพระอาณาจักรของพระเจ้า ไม่ว่าบทบาททางพระศาสนจักรโดยตรง หรือบทบาททางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ฯลฯ แต่ภายหลังที่ฆราวาสบางส่วนตอบสนองโดยให้ความสำคัญในเรื่องนี้แล้ว เขาเหล่านั้นมิได้รับการสนับสนุนจากผู้รับผิดชอบเท่าที่ควร ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะยอมให้ฆราวาสเข้ามารับผิดชอบในงานสร้างพระอาณาจักรของพระเจ้า
สังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ได้กล่าวไว้ว่า “พระศาสนจักรบนโลกนี้โดยธรรมชาติแล้วก็ คือ การแพร่ธรรม ทั้งนี้โดยแผนการของพระบิดาเจ้า อันมีปฐมเหตุมาจากการแพร่ธรรมของพระบุตรและวิญญาณศักดิ์สิทธิ์”
ฉะนั้น การแพร่ธรรมในอนาคตจะเป็นเช่นไร อนาคตของพระศาสนจักรจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับความศรัทธาร้อนรนของคริสตชน ที่เหลือพระจิตจะสอนเราให้พูดให้ทำเอง ดังนั้นอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งก็คือคริสตชนมิได้เชื่อ และเปิดใจรับพระจิตเจ้าเท่าที่ควร