“ไม่มีการแพร่ธรรมใดที่ปราศจากกางเขน” นับตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อบรรดามิชชันนารีเข้ามาเพื่อประกาศข่าวดีเรื่องความรอดนั้น เราจะเกิดอุปสรรคและปัญหามากมาย จนต่อเนื่องมาถึงสมัยปัจจุบันนี้ อุปสรรคต่างๆ ก็ยังไม่จบสิ้นตราบเท่าที่ยังมีการแพร่ธรรม แต่พระศาสนจักรก็ยังยืนยัน ที่จะก้าวหน้าต่อไปในการประกาศข่าวดีในองค์กรต่างๆ ที่เราสามารถเข้าไปมีบทบาทได้ เพื่อให้คำพูดของพระคริสตเจ้าที่ตรัสว่า “ไปและยังเกิดผลที่คงอยู่ถาวร” (ยน. 15:16) ได้สำเร็จไป
เพราะฉะนั้นเพื่อให้บรรลุผลดังกล่าว เราผู้เป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักรได้คิดค้นและค้นคว้าขอเสนอแนะต่างๆ ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์และอาจเป็นวิธีเป็นไปได้สำหรับนำไปใช้เป็นแนวทางในการแพร่ธรรมพระอาณาจักรของพระเป็นเจ้า และเป็นพยานถึงพระองค์ในองค์กรต่างๆ ดังนี้
1. การแพร่ธรรมกับศาสนาอื่น
ข้อเสนอแนะ
1.1 พยายามเตรียมสร้างคนให้สามารถยืนหยัดความเชื่อตามแบบคริสตชน ตั้งแต่แรก (เด็ก-ผู้ใหญ่) จนกระทั่งสุดท้ายแห่งชีวิต
1.2 ส่งเสริมการอบรมศึกษาอย่างต่อเนื่องให้แก่ผู้แพร่ธรรม เป็นต้นการอ่าน การฝึกฝน เพื่อให้เกิดการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง
1.3 พระสงฆ์-นักบวช ควรให้กำลังใจและเข้าใจกันและกันมากขึ้น เพื่อร่วมมือกันแพร่ธรรม
1.4 ควรประชาสัมพันธ์ และสนับสนุนให้ร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างคนต่างศาสนากับคาทอลิก เช่น ทำกิจกรรมวันสันติภาพ
1.5 เป็นแบบอย่างที่ดีท่ามกลางคนต่างศาสนา มีความรักความสามัคคีกันในท่ามกลางเขา
2. การประกาศข่าวดีกับการเป็นพยานและการกลับใจ
ข้อเสนอแนะ
2.1 ให้กลับใจด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอถึงบทบาทของการเป็นผู้รับใช้แล้วดำเนินชีวิตสอดคล้องกับคำสอน คือ เป็นพยานด้วยชีวิตและประกาศข่าวดีด้วยความรอบคอบตามแต่เวลาและโอกาส
2.2 เมื่อประกาศข่าดี ก็ต้องทำให้ถูกต้อง
2.3 สร้างความเป็นหนึ่งเดียวในกลุ่มเดียวกัน ให้กำลังใจแก่กันและกัน ชีวิตกลุ่มจะสนับสนุนให้เราสามารถดำเนินงานได้เป็นอย่างดี เราควรมองบุคคลด้วยทรรศนะที่ดี
2.4 หยิบยกเอาสิ่งที่ดี ที่มีมา มีส่วนในการประกาศข่าวดี และเป็นพยานและนำสู่การกลับใจ
3. งานด้านพัฒนา
ข้อเสนอแนะ
3.1 ควรจัดให้มีหน่วยงานที่คล้ายคลึงกัน ได้ประชุมปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนประสบการณความคิดเห็นแก่กันและกัน
3.2 ให้ความรู้ทางด้านสาธารณสุขมูลฐาน และการเกษตรรวมทั้งการศึกษาเพื่อชาวบ้านจะได้รู้เท่าทัน และหลีกเลี่ยงการถูกเอารัดเอาเปรียบ
3.3 บทบาทของเราควรจะเป็นบทบาทของการเชื่อมระหว่างคนกับคน และคิดว่าคงจะต้องมีการจัดพบปะกันในระหว่างพระสงฆ์-นักบวชที่มีหัวข้อเฉพาะเรื่อง เช่น เรื่องบทบาทพระสงฆ์ นักบวชในการทำงานพัฒนา
3.4 การสนับสนุนการปฏิบัติศาสนกิจและความเข้าใจในศาสนามากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้หลุดพ้นจากความเชื่อถือ และข้อห้ามที่ไม่ถูกต้องต่างๆ
3.5 เตรียมและพัฒนาบุคลากร จะได้มีคุณธรรมและเป็นผู้นำที่ดีในหมู่บ้าน
3.6 ปลุกจิตสำนึกของชาวบ้านให้เข้าใจปัญหาและร่วมกันหาทางแก้ไขที่เหมาะสม
3.7 ต้องเรียนรู้ความเป็นจริงของสภาพชีวิต ไวต่อความต้องการ ความทุกข์และความเดือด ร้อนของคนยากจน เห็นอกเห็นใจและร่วมในความทุกข์ ความเดือดร้อนนั้น
3.8 ช่วยปลดปล่อยเขาจากสภาพดังกล่าว โดยการสนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจ กำลังใจและแนวคิดทางด้านคุณธรรม เพื่อให้เกิดสำนึกภาพในกลุ่มถึงความจะเป็นที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันมีความเป็นปึกแผ่น ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นการร่วมมือกับพระเป็นเจ้าในแผนการไถ่กู้ของพระองค์
4. งานด้านการอบรมพระสงฆ์-นักบวช
ข้อเสนอแนะ
แบ่งออกได้เป็น 2 หัวข้อใหญ่ๆ คือ
1. ตัวผู้ฝึกหัด (ผู้รับการอบรม เณร เณรี)
2. ตัวผู้ให้การอบรม
1. ตัวผู้รับการอบรมต้องได้รับการศึกษาความเป็นจริงของสังคม ศาสนา และค่านิยมต่างๆ พอสมควร ควรมีประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตจริง นอกเหนือจากความรู้ทางด้านทฤษฎี ควรมีโอกาสออกไปสัมผัสความจริงของสังคม เพื่อจะได้เข้าใจปัญหาและสภาพความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น ควรมีการร่วมมือกันระหว่างสังฆมณฑล คณะนักบวช ผู้รับการอบรมจากเขตสังฆมณฑล จากคณะนักบวช ควรมีโอกาสฝึกงานร่วมกัน และควรจะมีช่วงระยะ Probatio ในช่วงเวลาของการเตรียมตัวเพื่อผู้รับการอบรมจะได้มีโอกาสฝึกงานเข้าใจเรียนรู้สังคมและตัวเองมากยิ่งขึ้น พร้อมกับเปลี่ยนทัศนคติเรื่อง Probatio ว่ามิใช่เป็นการลงโทษ และเมื่อเข้าสู่ชีวิตการถวายตัวแล้ว ควรให้มีการศึกษาต่อเนื่องแก่ผู้รับการอบรม
2. ผู้ให้การอบรม ควรมีประสบการณ์จริงบ้างในงานอภิบาล งานพัฒนาและสังคมนอกเหนือ จากความรู้ทางทฤษฎี ควรจะทันต่อเหตุการณ์ ปรับปรุงตัวเองทางด้านความคิด วิธีการถ่ายทอดความรู้ และแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ควรจะมีใจเปิดกว้าง ในการเข้าใจผู้รับการอบรมและพยายามช่วยเหลือเขา รู้จักใช้จิตวิทยาในการอบรม
5. งานด้านอภิบาลและงานแพร่ธรรม
ข้อเสนอแนะ
+ คุณสมบัติของผู้อภิบาลและแพร่ธรรม
- เป็นเพื่อนพูดคุย เป็นตัวอย่างที่ดีแก่พวกเขา
- ให้เวลากับพวกเขา เป็นผู้ฟังที่ดี ทำตัวให้เป็นคนอยู่ง่าย กินง่าย คนง่าย (เข้าใจง่าย)
- ต้องเป็นฝ่ายเข้าไปหาเขาก่อน เราต้องเปิดตัวเอง
- มีการเสี่ยงแบบมีจุดมุ่งหมาย เพื่อจะได้พบพลังสร้างสรรค์ หรือพัฒนาพลังสร้างสรรค์ให้ก้าวหน้า
- เป็นคนไวต่อความต้องการของคนอื่น มีความจริงใจมองคนอื่นในแง่ดี ไม่ทำตัวเหนือเขา ไม่ซ้ำเติมในความผิด
- รู้จักตัดสินใจ กล้าที่จะพูดในสิ่งที่ถูกต้อง ต้อนรับทุกคนที่มาหาด้วยอัธยาศัยอันดีงาม
- รู้จักให้อภัย อย่าทำตัวให้เขาเสียศรัทธา
+ งานอภิบาลและงานแพร่ธรรม
- ไปเยี่ยมสัตบุรุษ ทำให้เราเข้าใจปัญหา และสัตบุรุษรู้จักเราและเป็นกันเองกับเรา
- โปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ที่ต้องไม่ละเลย
- ก่อตั้งองค์กรต่างๆ เช่น พลศีล วายซีเอส พลมารี
- สนใจกลุ่มที่มีอยู่แล้ว ส่งเสริม และต่องาน รวมทั้งมีการประเมินผล
- สอนคำสอนให้การศึกษาอบรม เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์
- ติดตามแกะที่หายไป หมายถึงผู้ทิ้งวัด
- ปลูกฝังให้เขารู้จักคุณค่าของ Sense of belonging ของตนเอง คือสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้ว เราจะส่งเสริมให้เขารู้จักกับสิ่งที่เขามี และเป็นสิ่งที่ดีให้เขารู้จักรักษา และพัฒนาพลังสร้างสรรค์ที่เขามีอยู่แล้วให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
- สนใจคนที่มีปัญหาต่างๆ ทั้งกาย-ใจ
- หาวิธีการใหม่ๆ ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ บุคคล รู้กาลเทศะ
- ส่งเสริมชีวิตภายในแก่เด็ก เยาวชน
- ส่งเสริมให้ฆราวาสเข้ามามีบทบาทและรับผิดชอบงานของพระศาสนจักร
6. งานเยาวชน
ข้อเสนอแนะ
- ผู้ทำงานเยาวชนอยู่ในขบวนการของการเจริญเติบโตเหมือนต้นไม้ แต่กลุ่มเน้นมากในการเจริญเติบโตในด้านจิตตารมณ์พระคริสต์ “เราคือต้นองุ่น ท่านเป็นกิ่งก้าน” (ยน.15:5)
- ต้องอยู่ในขบวนการแห่งการตัด ริดกิ่ง พร้อมที่จะยอมเจ็บ เพื่อจะมีชีวิตใหม่ เป็นขบวนการแห่งการกลับใจ และมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์แห่งความรอด
- ทำงานด้วยใจรัก อุทิศตนและพากเพียรอดทน
- อยู่ร่วมกับเยาวชน และเข้าใจเขา เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เขา
- มีความสัมพันธ์กับเขาเป็นการส่วนตัว (Personal Relationship)
- พัฒนาตัวเอง เป็นต้น ด้านจิตวิทยา การแนะแนวด้วยการศึกษาและฝึกฝนตนเอง ในการช่วยเหลือเยาวชน จะได้เข้าใจเขา แล้วไม่เอาตัวเราเป็นเกณฑ์ในการทำงานกับเขา
7. งานด้านการศึกษา
ข้อเสนอแนะ
+ เกี่ยวกับผู้บริหาร
- รวมกลุ่มผู้บริหาร เพื่อให้มีอำนาจการต่อรองได้ เมื่อมีการรวมกลุ่ม ควรจะเข้าร่วม ถ้าหากเป็นไปได้ ควรส่งตัวแทน
- จัดสัมมนา ประชุม วางแผน ฯลฯ โดยทีประชุมเน้นเรื่องจริยศึกษาในโรงเรียน ปลุกจิตสำนึก-ตื่นตัว เพื่อให้เห็นความสำคัญของคุณธรรม
- มีการตกลงร่วมกัน และแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกัน
- มีคุณธรรมของผู้บริหาร ไม่ลำเอียง เสียสละ ฯลฯ
- การบริหารดี เช่น การคัดเลือกครู ควบคุมการทำงานของครู ประสานงานต่างๆ เช่น ครูเก่า ครูใหม่ ครูดี ครูไม่ดี
+ เกี่ยวกับครู
- ซาบซึ้งในจิตตารมณ์ของโรงเรียนคาทอลิก
- ปลุกจิตสำนึกในจรรยาบรรณครู
- ร่วมกันแก้ปัญหาต่างๆ ของครู เช่น ปัญหาการครองชีพ การทำงานตามจรรยาบรรณครู ร่วมกับผู้บริหาร
- ติดตามผลการเรียนการสอน
- สอดแทรกคุณธรรมได้ทุกวิชา แม้วิชาเลขคณิต
- ครูกับเด็กควรมีบทบาทในสังคม และการพัฒนาชุมชน
- ครูควรเป็นปูชนียบุคคล สำหรับนักเรียนด้วย
+ เกี่ยวกับนักเรียน
- นักเรียนควรรู้จริยะขั้นมูลฐานของชาติ (แบบกว้างๆ)
- นักเรียนควรรู้ว่า ศาสนาไม่ขัดแย้งกับวิชาการ
- นักเรียนควรได้รับการฝึกคุณธรรมต่างๆ ที่ช่วยในการอบรม เช่น กีฬา ศึกษานอกสถานที่ กิจกรรมในโรงเรียน ฯลฯ
- นักเรียนควรมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนและพัฒนาตนเอง
- นักเรียนควรมีโอกาสใช้ระบบประชาธิปไตยในโรงเรียน
+ เกี่ยวกับผู้ปกครอง
- เราต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองทราบในเรื่องต่างๆ ข้างต้น
- ผู้ปกครองควรมีคุณธรรมที่สอดคล้องกันกับโรงเรียน ของครู และของนักเรียน มีโอกาสทำความเข้าใจกันตามโอกาสต่างๆ เช่น วันครู วันนักเรียน วันผู้ปกครอง วันปฐมนิเทศ ฯลฯ
+ เกี่ยวกับด้านอื่น
- โรงเรียนที่ใหญ่กว่าก็ให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนที่เล็กกว่า อาจเป็นในรูปโรงเรียนพี่ ช่วยโรงเรียนน้อง
- ช่วยเหลือกันเองในกลุ่มโรงเรียนต่างๆ ของคณะนักบวชเดียวกัน
- ช่วยเหลือกันในกลุ่มโรงเรียนเขตมิสซังเดียวกัน
ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจอยู่ งานแพร่พระอาณาจักรของพระเป็นเจ้าก็ยังคงอยู่กับเรา เพราะแผนการของพระนั้นยังไม่จบสิ้นในองค์พระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งพระองค์เองได้บอกกับเราว่า “จงไปและประกาศข่าวดีแก่นานาชาติ” (มก.16:15) เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราคริสตชน ที่จะประสานของพระองค์ต่อไป ด้วยวิธีการต่างๆ และแนวทางที่อาจจะเป็นไปได้ และต้องเป็นไปได้อย่างแน่นอนด้วยความช่วยเหลือขององค์พระจิตเจ้า ผู้ทฟรงประทับออยู่กับพระศาสนจักรมาตั้งแต่เริ่มมีพระศาสนจักรเลยก็ว่าได้.