-
Category: คณะนักบวชหญิง
-
Published on Tuesday, 20 October 2015 01:44
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 1956
การเข้ามาของนักบวชรุ่นแรกในประเทศไทย เริ่มในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยการเข้ามาของชาวโปรตุเกส ตั้งแต่ ค.ศ. 1511/พ.ศ. 2054 ซึ่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งประเทศโปรตุเกสชื่อ อัลโฟโซ ดาลบูเคอร์ก เข้ามายึดครองเมืองมะละกาและได้ส่งทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย ในสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 2 ชาวโปรตุเกสนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกดังนั้นความสัมพันธ์ทางการค้า และการเข้ามาอยู่อาศัยของชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา ก็ย่อมต้องนำเอาคริสต์ศาสนาเข้ามาปฏิบัติในหมู่บ้านโปรตุเกสด้วย แต่ก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานชี้ชัดเลยว่ามีมิชชันนารีผู้เผยแพร่ศาสนาเข้ามาทำงานในประเทศไทย จนกระทั้ง ค.ศ. 1567/พ.ศ. 2110 ก็ปรากฏหลักฐานว่ามิชชันนารี คณะโดมินิกัน ซึ่งเป็นชาวโปรตุเกส 2 รูป คือ คุณพ่อเยโรนิโม ดาครู้ส และคุณพ่อเซบาสตีอาว ดิ กันโต เข้ามาทำหน้าที่ดูแลวิญญาณของชาวโปรตุเกสที่กรุงศรีอยุธยา ในเวลาเดียวกันก็เริ่มมีการสนทนาธรรมกับชาวไทยในเวลานั้น
หลังจากนั้นไม่นาน (ประมาณ ปี ค.ศ. 1568/พ.ศ. 2111) คุณพ่อเยโรนิโมถูกพวกมุสลิมฆ่าตาย เนื่องจากพวกมุสลิมได้จ้างชาวบ้านโดยยุยงให้ไปก่อความวุ่นวายขึ้นกับพวกโปรตุเกสด้วยการดูหมิ่นเขาและศาสนาของเขา เมื่อคุณพ่อเยโรนิโมได้ยินเสียงต่อสู้และเสียงร้องดังขึ้นก็ได้ออกจากที่อยู่ของท่าน และได้พยายามหยุดการต่อสู้ อันเป็นเหตุให้คุณพ่อเยโรนิโมถูกแทงด้วยหอกและถึงแก่กรรม
ฝ่ายไม่มีใครคอยห้ามปรามคุณพ่อเซบาสตีอาว นำเอาศพคุณพ่อเยโรนิโมไปฝังที่มะละกา และได้ขอผู้ร่วมงานท่านกลับมาที่กรุงศรีอยุธยา พร้อมกับคุณพ่ออีกสอง (หรือสาม) องค์ ชื่อของท่านไม่ปรากฏในหลักฐาน ผู้แพร่ธรรมทุกท่านคงเสียชีวิตในช่วงที่เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ในปี ค.ศ. 1569/พ.ศ. 2112 อย่างไรก็ดี ธรรมทูตจากมะละกาได้จัดตั้งกลุ่มคริสตชนขึ้นหลายกลุ่มทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู เช่น ที่ภูเก็ต ตะกั่วทุ่ง มะริด ตะนาวศรี เป็นต้น
ใน ค.ศ. 1582 /พ.ศ. 2125 ตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระสงฆ์ฟรังซิสกัน 2 องค์ คือ คุณพ่อฟรังซิส เดอ มอลติลลา และคุณพ่อดิเอโก ซิเมเนส ได้เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา
ใน ค.ศ. 1607/พ.ศ. 2150 ช่วงรัชสมัยพระเจ้าเอกาทศรถ (ค.ศ. 1605-1610/พ.ศ. 2148-2153) คุณพ่อบาลทาซาร เซเคเรีย สมาชิกคณะเยสุอิตเดินทางจากประเทศอินเดียพร้อมกับเพื่อนพ่อค้าชาวโปรตุเกสคนหนึ่งเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา แต่ท่านอยู่ได้นานเพราะสบายจึงพยายามกลับไปประเทศอินเดียแต่ก็สิ้นชีวิตที่เพชรบุรีปลาย ปี ค.ศ. 1609/พ.ศ.2152 ช่วงปลายรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม (ค.ศ. 1610-1628/พ.ศ. 2153-2171) คุณพ่อสมาชิกคณะเยสุอิตหลายท่านได้เข้ามาเพื่อดูแลคริสต์ศาสนิกชนชาวญี่ปุ่นซึ่งบางคนได้อพยพหนีมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา
คุณพ่อยูลิโอ เซซาเร มาร์จีโก ได้เข้ามาในปี ค.ศ. 1624/พ.ศ. 2167 แต่ช่วงเริ่มรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ค.ศ. 1629-1656/พ.ศ. 2172-2199) ท่านก็ถูกจับติดคุกและเสียชีวิต (ค.ศ. 1630/พ.ศ. 2173) เพราะถูกวางยาพิษ
ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง คุณพ่อโทมัส วัลกวาเนรา สมาชิกคณะเยสุอิตได้เข้ามา (ค.ศ. 1655 / พ.ศ. 2198) เพื่อดูแลคริสตชนชาวญี่ปุ่นที่กรุงศรีอยุธยาท่านได้สร้างวัดและบ้านคณะแต่เกิดไฟไหม้วัด (ค.ศ. 1658 / พ.ศ.2201) จึงต้องสร้างใหม่
ใน ค.ศ. 1622/พ.ศ. 2165 ทางกรุงโรมได้ก่อตั้งสมณกระทรวงใหม่ขึ้นมา มีชื่อว่า “สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ” สมณกระทรวงนี้ต้องดูแลเขตในทวีปแอฟริกา อเมริกาและเอเชียทั้งหมด ก่อนนั้นกษัตริย์แห่งประเทศสเปนและโปรตุเกสทรงใช้ระบบที่เรียกว่า “ปาโตรนาโต (Patronato)” หรือ “ปาโดรอาโด (Padroado)” คุณพ่ออาเล็กซานเดอร์ เดอ โรดส์ สมาชิกคณะเยสุอิต ได้เป็นธรรมทูตในเขตประเทศเวียดนามท่านได้ไปกรุงโรม (ค.ศ. 1649/พ.ศ. 2192) โดยหวังว่าจะขอให้สมเด็จพระสันตะปาปาส่งพระสังฆราชไปที่เวียดนามและจีนเพื่ออบรมคนท้องถิ่น เตรียมตัวเขาให้รับการบวชเป็นพระสงฆ์หรือเป็นพระสังฆราช ในปี ค.ศ. 1654/พ.ศ. 2197 ความหวังยังไม่ได้รับการตอบสนอง แต่ทางคณะได้ส่งท่านไปทำงานในอาณาจักรเปอร์เซีย
เสียงเรียกขอความช่วยเหลือได้เข้าหูคนใจศรัทธาที่ประเทศฝรั่งเศส พวกเขาปรารถนาสนับสนุนโครงการของคุณพ่อเดอ โรดส์ จึงได้เสนอทั้งบุคลากรและทรัพย์สินให้กรุงโรม ช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1659/พ.ศ. 2202 สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้ส่งเอกสาร “คำสั่งสอน” มาถึงพระสังฆราชทั้งสามองค์ที่ได้รับเลือกไว้เพื่อจะส่งไปประเทศจีนและประเทศเวียดนาม โดยมีพระสังฆราชฟรังซัว ปัลลือ เป็นผู้นำ (อธิการ) ของคณะชีวิตแพร่ธรรม ซึ่งภายหลังเรียกว่า คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (Missions Etrangeres de Paris (M.E.P.)) ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1663/พ.ศ. 2206 ได้มีการเปิดบ้านเณรของคณะนี้ที่กรุงปารีสอย่างเป็นทางการ
ในปี ค.ศ. 1660/พ.ศ. 2203 พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต พร้อมกับธรรมทูตกลุ่มแรก ซึ่งทุกท่านเป็นธรรมทูตของสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ ได้ออกจากประเทศฝรั่งเศส พวกเขาตั้งใจจะไปประเทศจีน ตังเกี๋ยและโคชินไชนา ธรรมทูตอีกสองกลุ่มจะตามมาในปี ค.ศ. 1661/พ.ศ. 2204 และ ค.ศ. 1662/พ.ศ. 2205 พระสังฆราชลังแบรต์และเพื่อนถึงกรุงศรีอยุธยาเดือนมกราคม ค.ศ. 1664/พ.ศ. 2207 เมื่อเห็นว่าเดินทางต่อไปไม่ได้ จึงตัดสินใจจัดประชุมสมัชชาขึ้นมา
ช่วงที่คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสเข้ามานั้น มีคริสตชนอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาราว 2 พันคน ส่วนใหญ่เป็นชาวโปรตุเกสหรือลูกครึ่ง มีชาวญวนและญี่ปุ่นบ้าง มีพระสงฆ์ดูแลคริสตชนเหล่านี้ 11 องค์ พวกท่านมาจากหลายเชื้อชาติและหลายคณะ อาทิเช่น คณะเยสุอิต 2 องค์ คณะโดมินิกัน 2 องค์ คณะฟรังซิสกัน 3 องค์ พระสงฆ์สังกัดสังฆมณฑล 3 องค์ ทุกองค์ทำงานใต้ระบบปาโดรอาโด แต่ละกลุ่มคณะมีวัดของตน แต่วัดของคณะเยสุอิตและวัดของคณะโดมินิกันมีสถานะเป็นวัดของเขตสังฆมณฑล
สภาพทางการเมืองในช่วงเสียกรุงแก่พม่าครั้งที่ 2 ค.ศ. 1767/พ.ศ. 2310 ช่วงเริ่มแรกของการก่อตั้งคณะรักกางเขนแห่งสยามและการก่อตั้งกลุ่มคริสตชนครั้งที่สอง
ในการประชุมสมัชชาที่กรุงศรีอยุธยา ช่วงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1664/พ.ศ.2207 พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต ได้เสนอจัดตั้งคณะธรรมทูตเผยแพร่พระวรสารที่พระสังฆราช พระสงฆ์และฆราวาสชายหญิงสามารถเป็นสมาชิกได้ คณะนี้มีชื่อว่า “ผู้รักไม้กางเขน” พระสังฆราชปัลลือต้องไปที่กรุงโรมเพื่อขอการรับรองคณะนี้ แต่ในที่สุดท่านไม่ได้ยินเรื่องนี้ อย่างไรก็ดีบรรดาหญิงสาวที่ดำเนินชีวิตตามวินัยที่พระสังฆราชลังแบรต์ได้มอบให้ (ในประเทศเวียดนามก่อน ส่วนในประเทศไทยนั้นมอบให้ปี ค.ศ. 1672/พ.ศ. 2215) ก็ได้ดำเนินชีวิตแบบนักบวช (ชีวิตที่ถวายแล้ว) และพวกเขาเป็นจุดเริ่มต้นของคณะนักบวชหญิงที่สังกัดสังฆมณฑลในประเทศหลายคณะคือ คณะรักกางเขนแห่งจันทบุรี คณะรักกางเขนแห่งอุบล และคณะรักกางเขนแห่งท่าแร่ ซึ่งผู้เขียนจะขอกล่าวถึงในภายหลัง
การเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 2 (ค.ศ.1767/พ.ศ.2310) เป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่สำหรับประเทศสยามและสำหรับพระศาสนาจักรในประเทศสยามเอง พระสังฆราช พระสงฆ์ทุกองค์ นักบวชทุกรูป และคริสตศาสนิกชนส่วนใหญ่ถูกกวาดต้อนไปอยู่ประเทศพม่า บางคนได้หลบหนี้จากเงื้อมมือของพวกพม่า ไปอยู่ประเทศเวียดนาม รอโอกาสที่จะกลับประเทศสยาม นอกจากกลุ่มคริสตชนที่จันทบุรีและภูเก็ตแล้ว มีคริสตชนจำนวนน้อยมากที่ยังเหลืออยู่สมาชิกคณะรักกางเขนหลบไปอยู่ที่จันทบุรีได้ และตั้งแต่นั้นมานอกจากกลุ่มนี้แล้วไม่มีคณะนักบวชทำงานในประเทศสยามเป็นเวลาประมาณ 120 ปี
คุณพ่อกอร์ จากคณะมิสซังต่างประเทศได้รอโอกาสอยู่ในประเทศเวียดนาม และท่านก็ได้กลับมาที่บางกอกในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1769/พ.ศ. 2312 ได้พบคริสตชนประมาณหนึ่งร้อยคนพร้อมกับกลุ่มนี้ ท่านได้เริ่มสร้างพระศาสนจักรอีกครั้งหนึ่ง สมาชิกคณะมิสซังต่างประเทศได้อบรมบรรดาชายหนุ่ม เพื่อให้เขาบวชเป็นพระสงฆ์ ได้อบรมสั่งสอนพวกสาวๆที่จะดำเนินชีวิตแบบนักบวช ด้วยความร่วมมือของพระสงฆ์ชาวสยาม หญิงสาวรักกางเขนและครูคำสอนได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มคริสตชนขึ้นมา คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลายาวนานถึง 340 ปี
พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ได้ปกครองมิสซังสยามตั้งแต่ ค.ศ. 1875 / พ.ศ. 2418 จนถึง ค.ศ. 1909 / พ.ศ. 2452 ช่วงเวลานั้นจำนวนคริสตชนได้ทวีมากขึ้น แม้ว่าจะพบปัญหาหนักมากหลายเรื่องด้วยกัน พระสังฆราชเวย์ก็ไม่ได้ท้อใจ ยังคงทำงานอย่างเข็มแข็งต่อไป ในระยะนี้ได้มี คณะนักบวชจากต่างประเทศเข้ามาและอีกหลายคณะได้ถือกำเนิดขึ้นมาในประเทศไทย และมีภารกิจหลากหลายตามพระพรของแต่ละคณะ
ชีวประวัติพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต
พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต เกิดที่เมืองลีซีเออร์ ในแคว้นนอร์มังดี ดินแดนทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1624 / พ.ศ. 2167 บิดาของท่านชื่อ นายปีแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลาม็อต มารดาชื่อ นางกาเตอริน เดอ เออเด เดอ ปอแม็งวิล บรรพบุรุษของท่านเป็นคริสตชนที่ศรัทธา ตั้งแต่ยังเด็กท่านชอบไปเยี่ยมเยียนสนทนากับบรรดาชาวนาและคนยากจน และแบ่งปันสิ่งของหรืออาหารที่ท่านมีให้แก่พวกเขา ท่านชอบเดินเล่นในป่าเพื่อจะได้มีโอกาสสวดภาวนาตามลำพัง ท่านชอบอ่านหนังสือ “จำลองแบบพระคริสต์” ซึ่งประพันธ์โดยท่านโทมัส อา เคมปีส เมื่อมีอายุได้ 9 ปี ท่านได้รับการไขแสดงพิเศษจากพระเจ้า ให้รวบรวมบรรดาผู้มีใจรักภักดีต่อกางเขนของพระเยซูเจ้า ท่านปรารถนาที่จะรวบรวมบรรดาคนเหล่านี้ให้เป็นหมู่คณะและใช้นามว่า “ผู้รักกางเขน” อันเป็นนามที่ท่านได้อ่านพบในหนังสือจำลองแบบพระคริสต์เล่มที่ 2 บทที่ 11 “ผู้รักราชัยสวรรค์ของพระเยซูมีมาก แต่ผู้แบกกางเขนของพระองค์มีน้อย คนจำนวนมากชอบความบรรเทาใจของพระเยซู แต่คนจำนวนน้อยชอบความลำบากของพระองค์ พระองค์มีเพื่อนร่วมกินมาก แต่มีเพื่อนร่วมอดน้อย ...”
ท่านลังแบรต์เป็นกำพร้าบิดาเมื่อมีอายุ 11 ปี และต่อมาเมื่อท่านอายุ 16 ปี มารดาก็ถึงแก่กรรม ท่านต้องเริ่มรับผิดชอบครอบครัวอย่างเต็มที่ จึงไม่เคยคิดที่จะเป็นพระสงฆ์หรือนักบวช อย่างไรก็ตามในขณะที่รับการศึกษาระดับมัธยมปลายในสถาบันของคณะเยสุอิตที่เมืองกัง ท่านได้รับอิทธิพลฝ่ายจิตจากพระสงฆ์หลายองค์ ท่านฝึกฝนตนเองด้วยความพยายามอย่างซื่อสัตย์สม่ำเสมอ เพื่อให้มีความประพฤติที่ดีงามและเติบโตในคุณธรรม
การต้อนรับพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต จากชาวโปรตุเกสและเริ่มงานแพร่ธรรม
พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต มาถึงกรุงศรีอยุธยาวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1662 / พ.ศ. 2205 การเดินทางมาถึงของท่านได้สร้างความประหลาดใจเป็นอย่างมากให้ชาวโปรตุเกสเพราะไม่เคยได้ข่าวมาก่อน ท่านคิดว่าต้องไปเยี่ยมหัวหน้าค่ายชาวโปรตุเกส เขาต้อนรับท่านด้วยความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก และจัดให้พักที่บ้านหลังหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ที่พักของเขา หัวหน้าค่ายได้แจ้งข่าวให้พระสงฆ์และนักบวชที่อยู่ในค่ายทราบ ท่านเหล่านั้นจึงมาคำนับผู้แทนพระสันตะปาปา
เมื่อมาถึงกรุงศรีอยุธยา พระสังฆราชลังแบรต์พบว่าชุมชนคริสตังมีแต่ชาวต่างชาติและลูกครึ่งเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะชาวโปรตุเกส ญี่ปุ่น และโคชินจีน จำนวนคริสตังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีผู้ลี้ภัยที่ถูกกษัตริย์แห่งหมู่เกาะเซลีเบสขับไล่ออกนอกอาณาจักร เมื่อแปดหรือสิบปีก่อนเพราะถูกฮอลันดาบีบบังคับหลั่งไหลเข้ามา ค.ศ. 1662 / พ.ศ. 2205 ที่กรุงศรีอยุธยามีพระสงฆ์ 11 องค์ พระสงฆ์ 2 องค์ เป็นชาวสเปน องค์อื่นๆ ล้วนเป็นชาวโปรตุเกส ในตอนนั้นที่กรุงศรีอยุธยามีคริสตังประมาณ 2,000 คนที่เมืองมะริดและเมืองตะนาวศรีอาจมีประมาณ 100 คน ที่นครศรีธรรมราชและภูเก็ตมีเพียงคริสตังกลุ่มเล็กๆ จำนวนคริสตังทั้งหมดในสยามมีไม่เกิน 2,500 คน เมื่อฤดูกาลเดินเรือเพื่อไปจีนผ่านไปแล้ว พระสังฆราชลังแบรต์จึงตัดสินใจอยู่ที่เมืองหลวงของสยามในฤดูหนาว
หลังจากจัดที่พักชั่วคราวแล้ว พระสังฆราชลังแบรต์และเพื่อนร่วมทางทั้งสองเริ่มเข้าเงียบเป็นเวลา 40 วัน เพื่อขอความสว่างจากพระเป็นเจ้าเกี่ยวกับงานเผยแผ่ศาสนาที่ได้รับมอบหมายมา จากนั้นจึงเริ่มเรียนภาษาจีนและภาษาโคชินจีนโดยไม่รอช้า เพราะเป็นภาษาของประเทศที่พวกท่านจะต้องไปทำงาน คริสตัง 2 คน คนหนึ่งเป็นชาวจีนอีกคนเป็นชาวโคชินจีนที่รู้ภาษาโปรตุเกสอาสาสอนให้ พระคุณเจ้าลังแบรต์ทราบจากคริสตังสองคนนี้ว่า ที่กรุงศรีอยุธยาทีค่ายโคชินจีนซึ่งมีคริสตังอยู่จำนวนหนึ่ง บางคนทิ้งศาสนาไปแล้ว บางคนเป็นคนต่างศาสนา ท่านจึงตัดสินใจเริ่มงานประกาศพระวรสารให้คนเหล่านั้นทันที เพราะท่านถูกส่งมาเพื่อคนเหล่านี้อยู่แล้ว ก่อนอื่นท่านไปหาคริสตังซึ่งพบประมาณ 100 คน รวมทั้งหัวหน้าค่าย ท่านสังเกตเห็นได้ทันทีว่า คริสตังเหล่านี้ได้รับการสอนเรื่องข้อความเชื่อน้อย ดังนั้น ท่านจึงตัดสินใจไปสอนพวกเขาที่บ้านหลังหนึ่งในค่ายโคชินจีนสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และรู้สึกประทับใจความขยันหมั่นเพียรในการเรียนและความศรัทธาของคริสตังเหล่านี้ คืนวันพระคริสตสมภพ พระสังฆราชลังแบรต์ถวายมิสซาในค่ายโคชินจีนและเทศน์เป็นภาษาโปรตุเกส
ในไม่ช้า มีคนต่างศาสนามาร่วมฟังคำสอนพร้อมคริสตัง มีบางคนขอรับศีลล้างบาป กำหนดว่าผู้สมัครใจเป็นคริสตังต้องเรียนคำสอนเป็นเวลาหลายเดือน ผู้สมัครใจสามคนแรกรับศีลล้างบาปวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2206/ค.ศ. 1663 คนแรกเป็นชายอายุ 30 ปี ได้ศาสนานามว่ายอแซฟ ต่อมาไม่นาม มีคนอีกกลุ่มหนึ่งพร้อมจะรับศีลล้างบาป “ตามธรรมเนียมดั้งเดิมของพระศาสนาจักรคือวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ และรับศีลกำลังและศีลมหาสนิทวันอาทิตย์ถัดไป”
มีคนเข้าเป็นคริสตังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนที่ทิ้งศาสนากลับใจปฏิบัติตนเป็นที่ดีคริสตังมิชชันนารีมิได้โอดครวญต่อความยากลำบาก พวกท่านออกเยี่ยมคนป่วยและชักชวนคนที่พบในค่ายให้มาเป็นคริสตัง และคอยช่วยเหลือพวกเขาทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ แม้กระทั้งช่วยไกล่เกลี่ยกับผู้มีอำนาจ พวกโคชินจีนไม่ค่อยมีเวลาว่าง เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงส่งพวกเขาไปรบมีสงครามเป็นบางครั้ง ทหารคริสตังไม่กลัวถูกตำหนิ พวกเขาสวดภาวนาต่อหน้าผู้คนและแสดงตัวว่าเป็นคริสตัง
ในไม่ช้า จึงเห็นว่าจำเป็นต้องสร้างวัดเล็กๆขึ้นซึ่งตั้งชื่อว่าวัดนักบุญยอแซฟ พระสังฆราชแบรต์เป็นคนหาเงินเพื่อซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ส่วนพวกโคชินจีนรับหน้าที่ก่อสร้าง มีห้องเล็กๆ ห้องหนึ่งด้านข้างใช้เป็นที่พักของคุณพ่อเดดีเยร์ ซึ่งรับหน้าที่สอนคำสอน คุณพ่อเดอบูรณ์ สรุปสถานการณ์ของมิชชันนารีสมัยนี้ว่า “พวกเราเป็นชาวต่างชาติในสยาม และเป็นที่ไม่พึงปรารถนาของคริสตังบางคนที่มองพวกเราแบบกล่าวโทษเพราะความรู้สึกชาตินิยม พวกเราฟังภาษาโคชินจีนไม่ออก และเริ่มเรียนภาษาโปรตุเกสได้นิดหน่อย และพยายามสอนรหัสธรรมแห่งความเชื่อให้ลูกแกะกลุ่มแรก ซึ่งเป็นหน้าที่ที่พวกเราได้รับมอบหมายมา”
การก่อตั้งคณะรักกางเขนแห่งสยาม “กว่าจะเป็นรักกางเขนอย่างเช่นปัจจุบัน”
เมื่อพระสังฆราชลังแบรต์ มาถึงกรุงศรีอยุธยาใน ปี ค.ศ. 1662 / พ.ศ. 2205 และในช่วงระหว่างการเข้าเงียบเป็นเวลา 40 วันนั้น ความคิดเกี่ยวกับคณะหนึ่งบังเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในใจของท่านขณะกำลังสวดภาวนา ท่านเขียนถึงโครงการนี้เป็นครั้งแรกในรายงานวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1662 / พ.ศ. 2205 ถึงแม้ว่าโครงการจะยังไม่ชัดเจนนัก แต่ท่านวางแนวทางใหญ่ๆ ของคณะผู้รักไม้กางเขนไว้แล้ว ซึ่งตกลงกันระหว่างการประชุมสมัชชาที่กรุงศรีอยุธยา ค.ศ. 1664 / พ.ศ. 2207 ตามความคิดของพระสังฆราชลังแบรต์ คณะนี้อาจจะเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปชีวิตคริสตังในดินแดนมิสซังต่างๆ ที่ประมุขมิสซังได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ คุณพ่อยวง โบนา อธิการใหญ่คณะเฟยยองต์ ผู้ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบธรรมนูญของคณะนี้เห็นว่าธรรมนูญไม่สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติของพระศาสนาจักรขณะนั้น จึงไม่ยื่นเรื่องให้คณะพระคาร์ดินัลรับรอง
หลังจากประชุมสมัชชาแล้ว พระสังฆราชลังแบรต์ทำงานอย่างมุ่งมั่น ท่านศึกษาภาษาเวียดนามและภาษาสยาม เทศน์ ฟังแก้บาป และไปเยี่ยมคนป่วย แต่ผลที่ได้ไม่คุ้มกับความพยายามที่ทุ่มเทไป ชาวกรุงศรีอยุธยาเข้ามาเป็นคริสตังแต่กลุ่มไม่ใหญ่นัก ท่านไม่ลืมคำสอนที่อยู่ใน “คำสั่งสอนสำหรับมิชชันนารี” ที่บอกว่า “ประสบการณ์ในแต่ละวันสอนเราว่า ทุกสิ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้เริ่มงานเผยแผ่ศาสนาโดยพลีกรรมและสวดภาวนา” มิฉะนั้นทุกอย่างจะพังทลายลง ด้วยเหตุนี้ “การพลีกรรมและสวดภาวนาจึงเป็นพื้นฐานแรกของงานเผยแผ่ศาสนา”
พระสังฆราชลังแบรต์ยังไม่ทราบว่าคณะผู้รักไม้กางเขนฝ่ายชายถูกปฏิเสธ เดือนตุลาคม ค.ศ. 1667 / พ.ศ. 2210 ท่านวางโครงการจะสถาปนา “คณะผู้รักไม้กางเขน” ฝ่ายหญิงขึ้นกฎข้อบังคับที่ท่านเตรียมไว้ไม่น่าเป็นปัญหาสำหรับนักกฎหมายที่กรุงโรม เพราะเป็นคณะนักบวชที่คำปฏิญาณ 3 ข้อ เช่นเดียวกับคณะนักบวชอื่นๆ พระสังฆราชลังแบรต์ปรารถนาจะตั้งนักบวชแบบนี้ไนแต่ละมิสซัง ท่านจะขอให้นักบวชเหล่านี้มีส่วนร่วมในการสวดภาวนาและพลีกรรมเพื่อการเข้าเป็นคริสตังของคนต่างศาสนา และการกลับใจของคริสตังที่ทำตัวไม่ดี นักบวชหญิงเหล่านี้จะทำงานทุกอย่างที่ประเพณีท้องถิ่นอนุญาตให้ผู้หญิงทำ เช่น อบรมหญิงสาว พยาบาลผู้หญิงและเด็กที่ป่วย ช่วยเหลือผู้หญิงที่ประพฤติตัวไม่ดีให้กลับตัว และล้างบาปทารกใกล้ตาย
ในจดหมายที่เขียนถึงพระสังฆราชปัลลือ พระสังฆราชลังแบรต์ได้เสนอโครงการต่างๆ ของท่านโดยเฉพาะโครงการ “กลุ่มหญิงสาวพรหมจารี ซึ่งอาจมีจำนวนเท่ากับหรือมากกว่าสามเณร” ท่านยังได้เสนอให้เชิญนักบวชหญิงสองหรือสามคนมาจากฝรั่งเศส เพื่อทำหน้าที่อบรมนักบวชหญิงชาวสยามรุ่นแรกนี้ ท่านคิดว่าปัญหาเรื่องการเดินทางโดยเรือของคณะนักบวชหญิงเหล่านั้น สามารถแก้ไขได้ เพราะมีนักบวชหญิงชาวโปรตุเกสที่อินเดีย และนักบวชหญิงชาวสเปนที่ฟิลิปปินส์อยู่แล้ว คุณพ่อลังกลัวส์ไม่เห็นด้วยกับความคิดของพระสังฆราชลังแบรต์ เมื่อมิสซังในเอเชียยังขาดความปลอดภัย และอาจถูกขับไล่ออกนอกประเทศได้ตลอดเวลา ท่านจึงไม่เห็นด้วยกับการส่งนักบวชหญิงชาวยุโรปมา และกล่าวสรุปเพิ่มเติมว่า “เมื่อมีหญิงสาวพื้นเมืองมาสมัครเป็นนักบวชเราจะพยายามใช้กฎระเบียบแบบเดียวกับที่ใช้กับนักบวชหญิงในยุโรป หรืออย่างน้อยให้ใช้กฎระเบียบที่เราคิดว่าพวกเขาจะสามารถปฏิบัติตามได้”
คณะสตรีผู้รักไม้การเขนก่อตั้งครั้งแรกที่ตังเกี๋ยในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1670 / พ.ศ. 2213 โอกาสที่พระสังฆราช ลังแบรต์ไปเยี่ยมมิสซังตังเกี๋ยในฐานะผู้อภิบาลแทนพระสังฆราชปัลลือ ซึ่งยังอยู่ในยุโรป คณะนี้เกิดขึ้นขณะกำลังมีการเบียดเบียนศาสนา เนื่องจากสถานการณ์กำลังยุ่งยาก นักบวชหญิงจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ คือ แต่ละกลุ่มจะเป็นอิสระ ไม่มีบ้านศูนย์กลาง นักบวชหญิงต้องขึ้นตรงต่อพระสังฆราช และได้รับอนุญาตไม่ต้องปฏิบัติตนตามคำปฏิญาณ ระยะเริ่มแรก นักบวชหญิงคณะนี้จึงเป็นเพียง “กลุ่มสตรีใจศรัทธา” เท่านั้น เมื่อการเบียดเบียนศาสนาทวีความรุ่นแรงขึ้น อาจต้องปิดอารามและให้นักบวชหญิงกลับไปอยู่กับครอบครัว แต่จะกลับมารวมตัวกันใหม่ทันทีที่สถานการณ์ดีขึ้น การแต่งกายของนักบวชหญิงเหล่านี้เหมือนการแต่งกายของชาวนาสมัยนั้น
ภคินีคณะรักกางเขนสมัยแรกเริ่ม
ก่อนเดินทางออกจากตังเกี๋ยพระสังฆราชลังแบรต์ รับพระสงฆ์และครูคำสอนไว้ในคณะผู้รักกางเขนเป็นลำดับที่สาม ซึ่งต่อมา ค.ศ. 1678 / พ.ศ. 2221 ได้รับการรับรองให้เป็นคณะฆราวาส ค.ศ. 1671 / พ.ศ. 2214 ระหว่างที่ไปเยี่ยมมิสซังโคชินจีน เป็นเวลานาน 7 เดือน พระสังฆราชลังแบรต์ตั้งกลุ่มสตรีผู้รักไม้กางเขนตามแบบที่ตั้งในตังเกี๋ยจำนวน 6-7 กลุ่ม รายงานประจำปีฉบับหนึ่ง ทำให้เราทราบวันเดือนปีในการก่อตั้งคณะผู้รักกางเขนในสยาม รวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆ ว่า “สถานสงเคราะห์คนป่วยไม่ได้เป็นเพียงสถาบันเดียวที่เริ่มต้นเท่านั้น แต่ยังมีคณะหญิ งสาวพรหมจารีคริสตัง ซึ่งพระสังฆราชลังแบรต์วางโครงการไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1667 / พ.ศ. 2210 แต่มาดำเนินการใน ค.ศ. 1672 / พ.ศ. 2215 เพราะโชคดีที่พบผู้สมัครหลายคนที่พร้อมสำหรับโครงการดังกล่าวและดำเนินชีวิตร่วมกันอยู่แล้ว ช่วงปลายปีเดียวกันนี้ ได้ดำเนินการเช่นเดียวกับที่เคยทำในโคชินจีนและตังเกี๋ย เมื่อปีก่อนๆ” กลุ่มแรกนี้มีสมาชิก 3-4 คน และเป็นชาวโคชินจีนทั้งหมด
ตั้งแต่เริ่มต้น พระสังฆราชแบรต์คิดถึงปัญหาเรื่องการรับรองคณะผู้รักไม้กางเขนจากกรุงโรม ท่านมอบเรื่องนี้ให้เป็นธุระของพระพระสังฆราชปัลลือซึ่งตอบว่า “สำหรับสตรีคริสตังใจศรัทธาซึ่งพระสังฆราชลังแบรต์รวบรวมให้มาอยู่ด้วยกันภายใต้กฎระเบียบบางอย่าง และปฏิญาณตน 3 ข้อ คือ ความบริสุทธิ์ ความยากจน และการนบนอบเชื่อฟังนั้น ยังไม่ควรขอการรับรองในฐานะเป็นคณะนักบวชเพราะยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ ถ้ายืนยันว่าถึงขั้นนั้นแล้ว จะเห็นว่ายังอยู่อีกไกล เพราะยังเป็นเพียงคณะธรรมดาเหมือนที่มีอยู่มากมายในยุโรป จำเป็นต้องรายงานเรื่องนี้ตามความเป็นจริงต่อสันตะสำนัก ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงคิดว่าควรขอพระการุณย์สำหรับคณะหญิงสาวที่พระสังฆ ราชลังแบรต์จัดตั้งขึ้น” พระสังฆราชปัลลืออ้างถึงนโยบายของสมณกระทรวงว่าด้วยเรื่องนักบวช ที่คัดค้านการเพิ่มจำนวนคณะนักบวช ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงขอรับการรับรองทางอ้อมอ ย่างเป็นทางการโดยขอพระการุณย์ ท่านทำหนังสือขอการรับรองวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1678 / พ.ศ. 2221 กฤษฎีการับรองร่างขึ้นวันเดียวกัน สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 11 ทรงลงพระนามอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1679 /พ.ศ. 2222 มอบพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์อย่างถาวรแก่บ้านทุกแห่งของคณะสตรีผู้รักไม้กางเขน ที่ประมุขและผู้ช่วยสถาปนาขึ้นในเอเชีย ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาจึงทรงยอมรับการดำรงอยู่ของคณะนี้และทรงประทานพระพรให้
พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต ผู้ก่อตั้งภคินีคณะรักกางเขน
อ้างอิง
- กรรมการจัดทำหนังสือนักบวชหญิงและชายแห่งประเทศไทย, นักบวชหญิงและ ชายในประเทศไทย. หน้า 42.
- โกสเต โรแบต์, ประวัติการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในสยามและลาว. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อัสสัมชัญ, 2549), หน้า 85.
- โกสเต โรแบต์, ประวัติการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในสยามและลาว. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อัสสัมชัญ, 2549), หน้า 112.
- คณะนักบวชคณะหนึ่งอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส
- กรรมการจัดทำหนังสือนักบวชหญิงและชายแห่งประเทศไทย, นักบวชหญิงและ ชายในประเทศไทย. หน้า 276.
- สำราญ วงศ์เสงี่ยม, อัครสังฆมณฑลท่าแร่หนองแสง ประวัติ ข้อมูล และการดำเนินงาน. (สกลนคร : เอส.พี.เซอร์วิส. 2000), หน้า 331.
- กรรมการจัดทำหนังสือนักบวชหญิงและชายแห่งประเทศไทย, นักบวชหญิงและ ชายในประเทศไทย. หน้า 418.