-
Category: คณะนักบวชหญิง
-
Published on Friday, 15 September 2017 04:43
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3053
ประวัติของมารี ยูจีนี แห่งพระเยซูเจ้า
นักบุญมารี ยูจีนี เกิดที่ เม็ตส์ วันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1817 ในช่วงเยาว์วัย เธอเจริญชีวิตระหว่างคฤหาสน์มิลเลอเรต เดอ บรู และที่ดินที่กว้างใหญ่ของ เปรช ซึ่งอยู่ติดกับเมืองลุกเซมเบอร์ก ระหว่างประเทศเยอรมันนีกับฝรั่งเศส เธอเจริญชีวิตที่ไม่มีความเชื่อ บิดาของเธอเป็นข้าราชการมียศสูง และเป็นผู้ติดตามแนวคิดของวอลแตร์ (Valtaire) คุณแม่ของเธอผู้ให้การศึกษาที่ดีเลิศ ปฏิบัติศาสนกิจแต่เพียงผิวเผิน มารี ยูจีนี ได้สัมผัสกับพระเยซูเจ้าอย่างลึกลับ ในวันที่เธอได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรก คือ ในวันสมโภชพระคริสตสมภพ ค.ศ. 1829 เป็นวันเวลาที่ประทับใจอย่างลึกซึ้ง
หลังปี ค.ศ. 1830 บิดาของเธอล้มละลาย ทำให้เขาต้องขายที่ดินที่เมืองเปรช และต่อมาต้องขายคฤหาสน์ที่เม็ตส์ บิดามารดาของเธอแยกทางกัน เธอไปอยู่กับมารดาที่ปารีส มารดาต้องจากเธอไปเพราะอหิวาต์ ในปี ค.ศ. 1832 เธอได้รับการต้อนรับให้อยู่กับครอบครัวที่ร่ำรวยซึ่งเธอรู้จักที่เมืองชาลองส์ (Chalons) วัยรุ่นอายุ 17 ปี ผู้นี้ต้องเผชิญกับความสับสนและความโดดเดี่ยว ในชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อซึ่งอยู่ล้อมรอบเธอ “ดิฉันใช้เวลาหลายปีถามตัวเอง บนพื้นฐานและผลของการมีความเชื่อที่ดิฉันไม่เข้าใจ ดิฉันไม่รู้เรื่องข้อความเชื่อและคำสอนของพระศาสนจักรอย่างไม่น่าเชื่อ แม้ว่าดิฉันจะไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนในเรื่องความเชื่อเหมือนกับคนอื่น” (จดหมายถึงลาคอร์แดร์ ค.ศ. 1841)
บิดาของเธอบอกให้เธอกลับไปที่ปารีส ในเทศกาลมหาพรต ค.ศ.1836 เธอได้รับความสว่างในขณะที่ฟังคุณพ่อลากองแดร์ (Lacordaire) ผู้เทศน์ที่อาสนวิหาร โนเตรอดาม (Notre Dame) ในปีนั้น เธอกล่าวกับคุณพ่อว่า “คำพูดของคุณพ่อช่วยให้ลูกมีความเชื่อ ซึ่งแต่นี้ไปจะไม่มีอะไรมาทำให้สั่นคลอนได้อีก” ต่อมาเธอกล่าวว่า “กระแสเรียกของข้าพเจ้าเริ่มต้นที่โนเตรอดาม” เธอได้รับการดลใจอาศัยการฟื้นฟูความเชื่อของ ลามังเนส์, เดอ มงตาล ลังแบรต์ (de Montalembert) และเพื่อนๆ ของเขา หนึ่งในจำนวนนี้คือ คุณพ่อกอมบาโลต์ เธอได้ฟังบทเทศน์ของท่านในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1837 ที่วัดแซงต์ ซุลปีซ (Saint Sulpice) เธอพบท่านเป็นครั้งแรกที่วัดยูสตัช แซงต์ ท่านมีความใฝ่ฝันที่จะตั้งคณะนักบวชที่อุทิศตนให้กับแม่พระยกขึ้นสวรรค์ (อัสสัมชัญ) เพื่ออบรมเยาวสตรีที่อยู่ในสังคมระดับสูง ซึ่งไม่ได้รับพระธรรมคำสอนของศาสนา เธอใฝ่ฝันที่ตอบสนองพระกระแสเรียกให้เป็นนักบวชครั้งแรก เธอลังเลใจที่จะติดตามท่าน แต่แล้วเธอก็ตกลงใจ
ท่านส่งเธอไปอบรมที่อารามแม่พระเสด็จเยี่ยมฯ ที่โกต แซงต์ อังเดร (Cote Saint Andre) ( อีเซอเร Isere) ซึ่งช่วยให้เธอได้รับจิตตารมณ์ และชีวิตจิตของนักบุญฟรังซิส เดอ ซาลล์ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1938 เธอได้พบกับคุณพ่อดัลซอง ซึ่งต่อมาภายหลังเป็นผู้ตั้งคณะนักบวชชายแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ของ (พระสงฆ์คณะอัสสัมชัญ) ใน ค.ศ. 1845 มิตรภา พอันยิ่งใหญ่นี้เกิดขึ้นเป็นเวลา 40 ปี บัดนี้เธอแน่ใจเกี่ยวกับพื้นฐานของวิธีการสอนของเธอเธอท้าทายการให้การศึกษาตามแนวทางของโลกว่าอยู่ในระดับที่รองลงมา เธอปรารถนาที่จะสอนคริสต์ศาสนา ที่ถูกต้อง มิใช่เป็นเสมือนผักชีโรยหน้า เธอปรารถนาที่จะให้การอบรมคนทั้งครบอาศัยแสงสว่างของพระคริสตเจ้า
ในเดือนเมษายน ค.ศ.1839 มีสตรีสองท่านมารวมตัวกันโดยมีจุดประสงค์ดังกล่าวนี้ในบ้านหลังเล็กๆ ที่ถนนเฟรู เมื่อถึงเดือนตุลาคมจำนวนก็เพิ่มเป็นสี่คน ที่ มาศึกษาเทววิทยาด้วยกัน มีทั้งการศึกษาพระคัมภีร์และวิชาการทั่วไป ในบ้านที่ถนน เดอ วอยีราร์ด หนึ่งในจำนวนนั้นคือ เคธ โอ นีล ซึ่งเป็นสตรีชาวไอรีซ ซึ่งต่อมาได้รับชื่อว่า เทเรส เอมมานูแอล เธอจะติดตาม มารี ยูจีนี แห่งพระเยซูเจ้าตลอดชีวิตของเธอ ด้วยมิตรภาพและการให้การสนับสนุน
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1841 ซิสเตอร์ทั้งหมดได้แยกตัวออกจากคุณพ่อกองบาโลต์ การแนะนำที่ไม่ค่อยแน่ใจของท่าน และความขัดแย้งระหว่างท่านกับพระอัครสังฆราชแห่งปารีส ทำให้โครงการทั้งหมดต้องเสี่ยง พระอัครสังฆราชอัฟเฟร (Affre) ได้มอบให้อุปสังฆราชของท่าน คือมงซินญอร์ โครส (Mgr. Gros) มาช่วยเหลือ บรรดาซิสเตอร์เริ่มการศึกษาต่อและทำการ ปฏิญาณตัว เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1841
พวกซิสเตอร์ยากจนมาก และหมู่คณะมิได้เพิ่มจำนวน แต่นี่มิได้เป็นอุปสรรคให้ซิสเตอร์มารี ยูจีนี เปิดโรงเรียนแห่งแรกในฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ. 1842 ที่แองปัสเซ เด วินส์ สถานแห่งนี้ในปัจจุบันไม่มีแล้ว เนื่องจากหมู่คณะเริ่มเติบโตและเข้าสู่ระดับนานาชาติ พว กเขาจึงย้ายไปอยู่ในที่ใหม่ที่ปารีส บางครั้งเธอบ่นเกี่ยวกับพระสงฆ์และฆราวาสว่า เขาเอาความศรัทธาของพวกเขาเข้าไปภายในตัวเอง “หัวใจพวกเขาไม่เต้นหาสิ่งที่ใหญ่โต”
อารามที่ตั้งขึ้นใหม่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทั่วโลก ทางโรมได้ให้การรับรองคณะแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ (คณะอัสสัมชัญ) ในปี ค.ศ. 1867 พระวินัยของคณะได้รับการรับรอง เมื่อวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1888
การสิ้นชีวิตของคุณพ่อดัลซอง ในปี ค.ศ. 1880 เป็นจุดเริ่มต้นของความสันโดษ ซึ่งเธอเห็นว่ามีความจำเป็น ในปี ค.ศ. 1854 “พระเ จ้าทรงมีพระประสงค์ให้ทุกสิ่งรอบตัวข้าพเจ้าล้มระเนระนาด” ซิสเตอร์เทเรส เอมมานูแอล จากเธอไปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1888 และความโดดเดี่ยวยิ่งทวีมากขึ้น
การเติบโตของคณะ นับว่าเป็นความรับผิดชอบที่หนักหน่วงสำหรับเธอ ในช่วงปี ค.ศ. 1854 และ ค.ศ. 1895 เริ่มมีอารามใหม่ในฝรั่งเศส แล้วยังมีการตั้งอารามใหม่ที่อังกฤษ สเปน ที่ นิวคาลีโดเนีย ที่อิตาลี ลาตินอเมริกาและที่ฟิลิปปินส์ เธอหันจากการเดินทางไปสู่การก่อสร้าง ไปสู่การสำรวจดูพื้นที่ในที่สุดสู่การตัดสินใจ
แต่สิ่งที่เธอให้ความสนใจอย่างสม่ำเสมอ ความสำนึกตัวในขั้นแรก ซิสเตอร์ทุกคนที่มีความซื่อสัตย์ต่อพระกระแสเรียกของพระเจ้าต้องตอบสนองคือ “ให้การศึกษา ปรัชญา รูปแบบ ความมุ่งมั่น มุ่งมั่นอะไร มุ่งมั่นแห่งความเชื่อ ความรัก การปฏิบัติตามพระวรสาร” หรืออีกแห่งหนึ่ง “นับเป็นความโง่เขลาที่จะไม่เป็นสิ่งที่ตนเป็นอยู่อย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้” “นักบวชจะเป็นผู้ให้การศึกษา ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการอันสืบเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงในชีวิต และในพระศาสนจักรแต่โดยทอดทิ้งการปฏิบัติต่างๆ ขอ งการถือตามพระวินัยของอารามนักบวช”
เมื่อเธอพบว่าการก้าวสู่วัยชรามักจะทำให้หมดพลัง “เป็นสภาพที่ความรักเท่านั้นที่เหลืออยู่” เธอหลังโค้งงอลงที่ละเล็กทีละน้อย “ข้าพเจ้าต้องเป็นคนดีเท่านั้น” สุขภาพของเธอเสื่อมลง เธอเป็นอัมพาตเมื่อปี ค.ศ. 1897 มีแต่ปากของเธอเท่านั้นที่สามารถพูดได้ วันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1898 เธอพบกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพ ซึ่งในโลกนี้พระองค์ทรงเป็นผู้เดียวที่เป็นยอดปรารถนาของเธอ เธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบุญราศี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1975 ที่กรุงโรม โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16
รูปนักบุญมารี ยูจีนี แห่งพระเยซูเจ้า
รูปนี้ไม่เพียงแต่เป็นงานศิลปะ แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงบุคคลหรือสิ่งเร้นลับที่ทำให้แน วทางชีวิตจิต การอธิษฐานภาวนาหน้ารูปใดรูปหนึ่งที่วาดขึ้นตามแนวทางด้านเทคนิคและเทววิทยา สามารถช่วยให้ความรู้กับพระคริสตเจ้าของเราลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
รูปนี้ช่วยให้เราระลึกถึงนักบุญมารี ยูจีนี ท่านอยู่ในโลกที่ท่านรักเพราะเป็นแหล่งที่ประสูติขององค์พระบุตร และเป็นที่ซึ่งมนุษยชาติสามารถถวายพระเกียรติมงคลแด่พระบิดาเจ้า
ท่านถือสิ่งที่ท่านมีความมุ่งมั่นไว้ในมือของท่าน นั่นคือ การประกาศพระวรสาร อันเป็นพลังที่สามารถเปลี่ยนแปลงและพระคริสตเจ้าในพระธรรมล้ำลึกแห่งศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นพระธรรมล้ำ ลึกที่เปลี่ยนความเป็นจริงโลกทูนถวายแด่พระบิดาเจ้ามารี ยูจีนี ปล่อยให้พระจิตเจ้าทรงนำและปั้นแต่งท่าน สภาพอันสงบนิ่งและการมองลึกซึ่งสะท้อนถึงความรุ่งเรือง ทำให้พระธรรมล้ำลึกแห่งการยกขึ้นสวรรค์ของพระนางมารีย์เป็นจริงขึ้นมาในตัวของท่าน รูปนี้วาดโดยซิสเตอร์ เซลีน คณะอัสสัมชัญ ชาวอิตาลี
ข้อเชื่อของมารี ยูจีนี แห่งพระเยซูเจ้า (Credo)
จากจดหมายที่ท่านเขียนถึงคุณพ่อลากองแดร์ ระหว่างปี ค.ศ. 1841-1844 การปรับให้เป็นปัจจุบัน
- ข้าพเจ้าเชื่อว่าเราอยู่ในโลกนี้และในช่วงเวลานี้ เพื่อจะได้ช่วยให้พระบิดาเจ้าทรงครอบครองเราและผู้อื่น
- ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงช่วยให้เราพ้นจากอดีต เดชะกางเขนของพระองค์ เพื่อเราจะได้ทำงานอย่างมีอิสระให้พระวาจาของพระเจ้าสำเร็จไปในที่ที่เราอยู่
- ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าโลกนี้เป็นดินแดนแห่งการถูกเนรเทศ ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเป็นเจ้า
- ข้าพเจ้าเชื่อว่าเราแต่ละคนมีพันธกิจในโลก เพียงแต่เป็นการแสวงหาว่าพระเป็นเจ้าทรงใช้เราอย่างไร เพื่อทำให้พระวรสารของพระองค์เป็นที่รู้จักและนำไปใช้ในชีวิต
- ข้าพเจ้าเชื่อว่าเราต้องประกอบพันธกิจนี้อย่างกล้าหาญ และอาศัยความเชื่อ อาศัยวิถีอันเรียบง่าย
ชีวิตจิตของมารี ยูจีนี แห่งพระเยซูเจ้าและคณะอัสสัมชัญ
ตั้งแต่เยาว์วัย มารี ยูจีนี มิลเลอเรต์ ได้รับกระแสเรียกให้ตั้งคณะนักบวชเพื่อให้สังคมในสมัยของท่านเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน อาศัยหลักเกณฑ์ คุณค่า และวิสัยทัศน์ แห่งพระอาณาจักรของพระเป็นเจ้า ซึ่งพระเยซูคริสตเจ้าทรงประกาศไว้และให้เกิดขึ้นในโลก สำหรับนักบวชคณะอัสสัมชัญ และสำหรับผู้ที่ได้รับการโน้มนำจากพระเป็นเจ้าในกระแสเรียกเดียวกัน พระอาณาจักรของพระเป็นเจ้าเป็นวิถีชีวิต และเป็นพันธกิจที่จะต้องดำเนินในชีวิตแห่งการติดตามพระเยซูเจ้า และภายใต้การดลใจจากพระจิตเจ้า
การอวตารมาบังเกิดเป็นมนุษย์ (Incarnation)
โลกที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงอาศัยการอวตารมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระเยซูคริสตเจ้า โลกที่พระศาสนจักรกระทำภารกิจในแต่ละวัน คือหัวใจแห่งวิสัยทัศน์ของมารี ยูจีนี ตั้งแต่นั้นมาท่านได้วางจุดมุ่งหมายที่ต่อเนื่องกัน กล่าวคือ การรู้จักและรักพระเยซูคริสตเจ้า ทำให้พระเยซูคริสตเจ้าและ พระศาสนจักรของพระองค์เป็นที่รู้จักและรัก แผ่ขยายการปกครองของพระองค์ในสังคมท่านให้โครงการแก่คณะจากส่วนหนึ่งของบทข้าแต่พระบิดาที่ว่า“พระอาณาจักรจงมาถึง”
ท่านทราบดีว่าพลังของโครงการนี้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของชีวิตและการอธิษฐานภาวนาของบรรดาซิสเตอร์ตลอดจนการนมัสการศีลมหาสนิท ซึ่งจะต้องเขียนไว้ในพระวินัย ปี ค.ศ. 1866 พระอาณาจักรของพระเจ้ามิได้มาจากความมุ่งมั่นหรือกิจการของมนุษย์ แต่มาจากพระหรรษทานที่หลั่งไหลลงมา พระหรรษทานนี้นำดวงใจไปยังพระเจ้าอาศัยความรักซึ่งทำให้พระเจ้าและประชากรของพระองค์ เป็นจุดศูนย์กลางแห่งความสนใจ มุมมองด้านสังคมของพระอาณาจักรมิใช่ด้านการเมือง หรือเป็นอุดมคติที่ถูกบังคับจากภายนอก หากแต่เป็นวิถีชีวิตซึ่งก่อให้เกิดระบบภายในเกี่ยวกับความเร่งด่วน หรือคุณค่าซึ่งเสริมสร้างบุคคลและสังคมในความรัก ความยุติธรรมและสันติ
มารี ยูจีนี สำนึกดีว่าท่านกำลังเริ่มต้นสิ่งใหม่ แต่ในขณะเดียวกันท่านก็ปรารถนาที่จะนำเอามาจากความมั่งมีด้านชีวิตของพระศาสนจักร จากคำสอนของบรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักร และจากชีวิตของบรรดานักบุญ ท่านเขียนไว้ว่า “เราต้องรักพระศาสนจักร ในการสอน การปฏิบัติจากประวัติศาสตร์ ธรรมเนียมประเพณีและกิจศรัทธาต่างๆ เราต้องรักพระศาสนจักรในทุกๆ สิ่งที่พระศาสนจักรเสนอ ในสิ่งที่พระศาสนจักรเคยเป็นในอดีตและเป็นอยู่ในปัจจุบัน”
ระบบการสอน
มารี ยูจีนี เป็นทั้งผู้มีชีวิตฝ่ายจิตและผู้ให้ความรู้โครงการเกี่ยวกับการศึกษาของท่านเกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์สองขั้นของท่าน กล่าวคือ พระอาณาจักรของพระเป็นเจ้า จุดเริ่มต้นและจุดจบของมนุษย์ และของจักรวาลในแง่มุมหนึ่งและอีกมุมหนึ่งก็คือ สังคมคริสตชนที่น้อมรับ รัก และรับใช้พระเจ้า มารี ยูจีนี เน้นถึงความสำคัญของการฝึกอบรมสติปัญญา ที่มีความเชื่อเป็นแสงสว่างนำทางสติปัญญา พยายามที่จะเข้าใจเหตุการณ์ สถานการณ์ และการท้าทายความเชื่อ ช่วยมนุษย์ให้ตัดสินตามแนวพระวรสารแล้วจึงตัดสินใจ ท่านกล่าวว่า การศึกษามีจุดมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนบุคคลทั้งครบ ส่งเสริมเสรีภาพ ให้แต่ละคนพัฒนาอุปนิสัยใจคอของตนเอง ตามแผนการของพระเป็นเจ้าที่มีไว้สำหรับเขา
มารี ยูจีนี อธิบายกระแสเรียกของท่านให้อุทิศตนเองเพื่อให้พระอาณาจักรของพระเป็นเจ้ามาถึงว่า เป็นเครื่องหมายแห่งการมีส่วนในนครของพระเป็นเจ้า นักบุญเอากุสตินสอนเราว่า มีการดำเนินชีวิตแห่งความรักของพระเป็นเจ้า และลืมตนเองว่าเป็นการช่วยแผ่ขยายพระอาณา จักรของพระเป็นเจ้าในตัวเราและในโลก (นครแห่งความชั่วเป็นผลสืบเนื่องมาจากการรักตนเอง จนถึงกับลืมพระเป็นเจ้า) หนทางนี้และคำสอนนี้ทำให้ท่านเป็นนักบุญผู้นำทางเรา มิใช่ด้วยความศรัทธาและความสุขส่วนตัว และความรอดพ้นเท่านั้นแต่ให้เข้าสู่พันธกิจอันยิ่งใหญ่ของพระเยซูเจ้า เพื่อความรอดพ้นของโลก
นักบวชคณะอัสสัมชัญในโลก
ในปัจจุบันมีคณะอัสสัมชัญอยู่ที่ไหนบ้าง
คณะอัสสัมชัญมีอยู่ใน 34 ประเทศ ในยุโรป 8 ประเทศ ในเอเชีย 5 ประเทศ ในอเมริกา และในอัฟริกา 11 ประเทศ
มีนักบวชคณะอัสสัมชัญ จำนวน 1,200 คน ในจำนวน 170 หมู่คณะ
แผนกฆราวาสมีกลุ่ม “อัสสัมชัญรวมกัน” (Assumption Together) ซึ่งประกอบด้วยบรรดามิตรสหายของคณะอัสสัมชัญ และหมู่คณะฆราวาสอัสสัมชัญ หรือกลุ่มพี่น้องของคณะ อัสสัมชัญนั้นมีจำนวนมากที่เป็นมิตรของคณะนับจำนวนเป็นพันๆ และสมาชิกที่เป็นฆราวาสอีกหลายร้อยคนผู้อุทิศตนในการดำเนินชีวิตตามวิถีทางนี้
การศึกษาที่ฝังรากอยู่กับวัฒนธรรมท้องถิ่น
คณะดำเนินชีวิตตามแนวกระแสเรียกที่เกี่ยวกับการศึกษา และด้วยจิตตารมณ์แห่งการเป็นธรรมทูตซึ่งได้รับการเสริมด้วยการงานแพร่ธรรมและวัฒนธรรม ปัจจุบันการให้การศึกษานั้นกระทำโดยผ่านทางโรงเรียน ศูนย์การอบรมสตรี ศูนย์ฝึกอาชีพให้การศึกษา ศูนย์ให้การอบรมในด้านเทคนิคและการพาณิชย์ หอพักตามมหาวิทยาลัย คลินิกเพื่อสุขภาพชีวิตจิตและศูนย์เข้าเงียบ บ้านพัก (หอพัก) การอภิบาลบุคคลพื้นเมือง การดูแลผู้อพยพ งานด้านคริสตศาสนสัมพันธ์และงานศาสนสัมพันธ์กับศาสนาอื่น จากงานอภิบาลหลากหลายเหล่านี้มีจุดประสงค์และพันธกิจหนึ่งเดียวกันกล่าวคือ การให้การศึกษาเพื่อช่วยมนุษย์เปลี่ยนวิถีความคิดของตน และดำเนินชีวิตตามแนวคุณค่าแห่งพระวรสาร เมื่อได้รับการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากพระ วรสารแล้ว คนเหล่านี้ก็จะสามารถเปลี่ยนสังคมรอบตัวเขา “ให้การศึกษาเพื่อเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงเพื่อให้การศึกษาและให้มีการเปลี่ยนแปลงต่อไป”
ไม่มีผู้ใดอยู่นอกวงจรของกิจการนี้ เพียงให้แต่ละคนเปิดใจรับข่าวดีและรับไว้ด้วยความยินดี หรือเปิดใจรับคุณค่าการเป็นมนุษย์และคุณค่าแห่งพระวรสาร นี่คือคุณค่าที่เสริมสร้างมนุษย์และเปลี่ยนให้เขาเป็นบุคคลแห่งความเชื่อและการกระทำ
พลังจากการรำพึง และชีวิตหมู่คณะ
คณะอัสสัมชัญทั้งในอดีตและปัจจุบันมิได้เจริญชีวิตอยู่กับการทำงานเท่านั้น คณะอัสสัมชัญเป็นคณะที่มีการรำพึงภาวนา มีชีวิตการอธิษฐานภาวนาส่วนตัวและส่วนรวมที่เข้มข้น เป็นชีวิตแห่งการนมัสการและรวมกันเป็นหมู่คณะ ตั้งแต่แรกเริ่ม มารี ยูจีนี แห่งพระเยซูเจ้าปรารถนาให้ชีวิตของนักบวชแต่ละคนเป็นชีวิตที่มีความร่าเริง เรียบง่าย จริงใจ และมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเหตุการณ์ และความเป็นจริงของชีวิต นี่คือสิ่งที่โดดเด่นแห่งการทำงานของนักบวชคณะอัสสัมชัญ
ตอบรับการท้าทายที่จะทำให้โลกเป็นสถานที่แห่งความรุ่งโรจน์ของพระเป็นเจ้า
ความกล้าของมารี ยูจีนี ยังอยู่กับคณะในปัจจุบัน การประชุมใหญ่ครั้งสุดท้ายที่ผ่านมาเน้นว่า ปรัชญาการศึกษาจะต้องนำทาง และงานแพร่ธรรมต้องให้กำลังใจ เมื่อสำนึกถึงพระอาณาจักรของพระเป็นเจ้าที่กำลังจะมาถึง การเลือกงานแพร่ธรรมที่จะต้องยังทำเหมือนเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบันจะต้องดำเนินต่อไป อาศัยการศึกษาเพื่อให้เกิดความยุติธรรม เคารพบรรดาสิ่งสร้างสันติและความเป็นหนึ่งเดียว การฝึกอบรมชายและหญิงเป็นผู้ชอบธรรม รักสันติ โดยอยู่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน นับเป็นการบริการที่ดีที่สุดที่การศึกษาสามารถให้แก่สังคมที่กำลังแสวงหาความหวังได้
ลำดับขบวนการแต่งตั้ง คุณแม่มารี ยูจีนี แห่งพระเยซูเจ้าเป็นนักบุญ
ก. ขบวนการแต่งตั้งเป็นนักบุญ
ค.ศ. 1932 คุณแม่มารี โยอันนา มหาอธิการิณีคนที่ 4 ได้เริ่มต้นขบวนการ เพื่อนำไปสู่การแต่งตั้งให้ผู้สถาปนาคณะเป็นนักบุญ ในเดือนพฤศจิกายน โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากพระคาร์ดินัล แวร์ดีเอ พระอัครสังฆราชแห่งปารีส
ค.ศ. 1932-1934 เริ่มต้นขบวนการแต่งตั้งเป็นบุญราศีการเตรียมการเพื่อการสอบถาม
ค.ศ. 1934-1936 ขบวนการในระดับสังฆมณฑล-ปารีส
เริ่มต้นขบวนการระดับสังฆมณฑล และการสอบสวน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1935 เกี่ยวกับได้รับการรักษาของซิสเตอร์ มารี เควิน (RA)
ค.ศ. 1936 เริ่มขบวนการที่โรม
ค.ศ. 1937-1939 ขบวนการเสริม
วันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1938 พระคาร์ดินัลปาเชลลี เป็นผู้ปกป้องคณะ
วันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1939 รับรองเป็นเอกฉันท์ถึงงานประพันธ์ต่างๆของคุณแม่มารี ยูจีนี
วันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1939 การเลือกตั้งสมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 12 (พระคาร์ดินัลปาเชลลี Pacelli)
วันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1939 สมณกฤษฎีกาที่บ่งว่ามีการเริ่มต้นขบวนการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ
ค.ศ. 1941-1943 ขบวนการของสันตะสำนักวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1942 เปิดหลุมศพของมารี ยูจีนี จากป่าช้าคล้อด ลอเรน และภายหลังได้ย้ายไปที่ลูเบ็ก ปารีส
ธันวาคม ค.ศ. 1945 สมณกฤษฎีกา รับรองการสอบถามและการเผยแพร่เกี่ยวกับข้อมูลและขบวนการ ของสันตะสำนักอย่างถูกต้อง
ค.ศ. 1950-1951 เตรียมการศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์กุศลของท่าน
วันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1961 สมณกฤษฎีกาอย่างสง่า (Super virtutibus) ของสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 23 ประกาศว่าฤทธิ์กุศลของผู้รับใช้พระเจ้า มารี ยูจีนี ผู้น่านับถือนั้นอยู่ในระดับวีรสตรี
วันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1973 ตั้งคณะกรรมการเทววิทยาชุดพิเศษ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับอัศจรรย์แห่งการรักษา
วันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1973 ตั้งคณะกรรมการเทววิทยาชุดธรรมดา
วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1974 สมณกฤษฎีกาของสมเด็จพระสันตะปาปา เปาโลที่ 6 ประกาศให้มารี ยูจีนี ผู้น่านับถือเป็นบุญราศี
วันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1974 ย้ายศพของมารี ยูจีนี จาก ลูเบ็กไปยังโอเตย
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1975 สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโลที่ 6 ประกาศให้มารี ยูจีนี เป็นบุญราศี วันฉลองในแต่ละปีของท่านคือ วันที่ 10 มีนาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบการเกิดใหม่ในสวรรค์ของท่าน
ข.ขบวนการแต่งตั้งเป็นนักบุญ
ตุลาคม ค.ศ. 1996
- ซิสเตอร์คริสตีนา มารีอา มหาอธิการิณีคนที่ 8 ด้วยความเห็นชอบของคณะที่ปรึกษาของท่าน เริ่มขบวนการแต่งตั้งคุณแม่มารี ยูจีนี แห่งพระเยซูเจ้าให้เป็นนักบุญในสันตะสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2
- สมณกฤษฎีกาแจ้งให้ทราบถึงการเริ่มต้นขบวนการอย่างเป็นทางการ
- มงซินญอร์ ฟรังซัว ดือเธล (Duthel) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ยื่นเรื่องราวอย่างเป็นทางการของขบวนการแต่งตั้งให้เป็นนักบุญ
ตุลาคม ค.ศ. 2003
ขบวนการในระดับสังฆมณฑล – มะนิลา ฟิลิปปินส์
- ค.ศ. 2003 เริ่มต้นขบวนการระดับสังฆมณฑลและการตรวจสอบเกี่ยวกับอัศจรรย์ของมารี ยูจีนี ที่ได้ช่วยเหลือ ริสา บอนโดก
- พระสังฆราชโสเดรติส วิลเลกาส (Socrates Villegas) พระสังฆราช ผู้ช่วยของมนิลาได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชผู้แทนศาลของอัครสังฆมณฑล ผู้ดูแลความก้าวหน้าเกี่ยวกับเรื่อง ริสา บอนโดก (คาร์เมลาเทรีส ยูจีนี บอนโดก)
วันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 2003 สิ้นสุดขบวนการระดับสังฆมณฑล
เมษายน ค.ศ. 2005 สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 สิ้นพระชนม์และเลือกตั้งสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16
วัันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 2005 ขบวนการที่โรม
คณะกรรมการทางการแพทย์ประกาศว่า เห็นด้วยกับอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับริสา บอนโดก โดยอาศัยคำเสนอวิงวอนของมารี ยูจีนี
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006
คณะกรรมการเทววิทยาพิเศษได้ตั้งขึ้นเพื่อการศึกษาเกี่ยวกับอัศจรรย์นี้
วันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 2003
สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงรับรองอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นอาศัยคำเสนอวิงวอนของบุญราศี มารี ยูจีนี มิลเลอเรต์ และอนุมัติให้กระทรวงว่าด้วยขบวนการเกี่ยวกับการแต่งตั้งนักบุญให้ร่างสมณกฤษฎีกา แต่งตั้งบุญราศียูจีนี มิลเลอเรต์ เป็นนักบุญ
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ได้เรียกประชุมอย่างเป็นทางการ มีพิธีลงพระนามในพระราชกฤษฎีกา ประกาศให้ มารี ยูจีนี แห่งพระเยซูเจ้าเป็นนักบุญ วันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 2007
พิธีแต่งตั้ง นักบุญมารี ยูจีนี แห่งพระเยซูเจ้า เป็นนักบุญ ที่กรุงโรม
วันสำคัญในชีวิตของมารี ยูจีนี แห่งพระเยซูเจ้า
วันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1817 วันเกิดของ แอน ยูจีนี มิลเลอเรต์ ที่เม็ตช์ (ฝรั่งเศส) เป็นครอบครัวที่ไม่มีความเชื่อในพระเจ้า ไม่รู้จักพระศาสนจักร มีความทุกข์ทรมานพยายามแสวงหาความหมายของชีวิต นี่คือส่วนประกอบแห่งประสบการณ์ด้านมนุษย์และด้านจิตวิญญาณของแอน ยูจีนี
สมโภชพระคริตสมภพ ค.ศ. 1829 เมื่อรับศีลมหาสนิทครั้งแรก มีเสียงภายในกระซิบบอกเธอว่า “วันหนึ่งเธอจะละทิ้งทุกสิ่งเพื่อรับใช้พระศาสนจักรซึ่งเธอยังไม่รู้จัก”
มหาพรต ค.ศ. 1836 แอน ยูจีนี อายุ 19 ปี เธอได้ยินบทเทศน์ของคุณพ่อลาคอร์ แด ซึ่งเป็นผู้เทศน์ในเทศกาลมหาพรต ที่อาสนวิหารโรเตรอ ดาม (Notre Dame) แห่งปารีส ที่เปิดหนทางแห่งแสงสว่างให้แก่เธอ
ฉันได้กลับใจจริงๆ ฉันเริ่มมีความกระหายที่จะอุทิศพลังทั้งสิ้นของฉัน หรือความอ่อนแอทั้งหมดของฉันให้แก่พระศาสนจักร ตั้งแต่วินาที่นั้นฉันเห็นว่าความรู้และการบรรลุถึงสิ่งที่ดีงามนั่นแหละ คือ กุญแจดอกเดียว”
มหาพรต ค.ศ. 1837 แอน ยูจีนี พบคุณพ่อกองบาโลต์ (Combalot) ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความคิดเกี่ยวกับการตั้งคณะใหม่ให้แก่เธอ
ตุลาคม ค.ศ. 1838 แอน ยูจีนี พบคุณพ่อเอมมานุแอล ดัลซอง ที่บ้านของคุณพ่อกองบาโลต์ ความคิดริเริ่มเข้มข้น เป็นจุดเริ่มต้นแห่งมิตรภาพ เริ่มด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต่อจากนั้นก็เป็นมิตรภาพ ซึ่งยาวนานมากกว่า สี่สิบปี
วันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1839 เมื่ออายุ ได้ 22 ปี แอน ยูจีนี ได้เริ่มตั้งนักบวชคณะแม่พระได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ (คณะอัสสัมชัญ) โดยมีพันธกิจเกี่ยวกับการศึกษา
“พระเยซูคริสตเจ้าจอมกษัตริย์แห่งนิรันดรกาล ทรงดำเนินพระชนมชีพอยู่ในตัวเรา และในพระศาสนจักรของพระองค์ เป็นการเผยแพร่พระอาณาจักรของพระองค์ในตัวเราและในโลก เป็นจิตตารมณ์อันยิ่งใหญ่แห่งการอธิฐานภาวนา เป็นเสรีภาพฝ่ายจิตวิญญาณ เป็นจิตตารมณ์หมู่คณะและความรักฉันท์พี่น้อง รูปแบบการศึกษาของเราหลั่งมาจากชีวิตแห่งการรำพึงภาวนาของเรา”
ช่วงปี ค.ศ. 1841 และ ค.ศ. 1842 นักศึกษากลุ่มแรกเข้ามา
วันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1841 ซิสเตอร์กลุ่มแรก ถวายตัวเป็นครั้งแรก
สมโภชพระคริสตสมภพ การปฏิญาณตัวตลอดชีวิต ซึ่งรวมถึงคำปฏิญาณข้อที่ 4 คือ “การเผยพระอาณาจักรของพระเยซูคริสตเจ้าตลอดชีวิตของข้าพเจ้า”
วันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1855 การรับรองจากกรุงโรม ด้วยสมณกฤษฎีกาชมเชย
วันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 1867 คณะได้รับการรับรอง
วันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1888 รับรองวินัยของคณะ
คณะขยายกิจการไปยังประเทศอังกฤษ ริชมอนด์ (ค.ศ. 1850) มะละกา สเปน (ค.ศ. 1865) นิวคาโดเนีย (ค.ศ. 1873) โรม อิตาลี ( ค.ศ. 1885) ฟิลิปินส์ (ค.ศ. 1892) นิคารากัว (ค.ศ. 1892) เอลซัสวาดอร์ (ค.ศ. 1895)
วันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1895 มารี ยูจีนี มรณภาพที่ปารีส ในช่วงปีศักดิ์สิทธิ์
วันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 2007 สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงแต่งตั้งให้มารี ยูจีนี แห่งพระเยซูเจ้าเป็นนักบุญที่กรุงโรม ในวันสมโภชพระตรีเอกภาพ
คณะซิสเตอร์อัสสัมชัญในประเทศไทย
ประวัติของคณะในประเทศไทย
คณะอัสสัมชัญแขวงฟิลิปปินส์ ได้รับคำเชิญของพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต พระสังฆ ราชแห่งสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานีขณะนั้น ด้วยการส่งซิสเตอร์ 3 ท่าน มาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1980 หลังจากได้เรียนภาษาแล้วก็ได้ไปอยู่ ในหมู่บ้านเล็กๆ ในสุราษฎร์ธานี ท่ามกลางชาวพุทธและมุสลิม เรียนรู้บทเรียนที่มีค่าต่างๆ จากชาวบ้านทั้งด้านวัฒนธรรม และประเพณีทางศาสนา การเจริญชีวิตพระวรสารในภาพที่มีความแตกต่าง แปลกใหม่ และไม่คุ้นเคยมาก่อน ซิสเตอร์ได้อบรมเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ในเขตวัด และหมู่บ้านต่างๆ โดยประสานกับบรรดาคุณพ่อเจ้าวัด ซิสเตอร์ ได้สอนภาษาอังกฤษ ดูแลหอพักหญิงของสังฆมณฑล ในเวลาเดียวกันก็ซึมซาบความเข้าใจด้านวัฒนธรรมและศาสนาของประเทศ และประชาชนที่ใหม่ต่อซิสเตอร์
หลังจากได้ไตร่ตรองเป็นเวลานาน ในปี ค.ศ.1992 คณะได้ย้ายไปที่บ้านมารีย์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดระนอง ที่นั่นบรรดาซิสเตอร์ได้รับประสบการณ์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในการเจริญชีวิตนักบวชท่ามกลางชาวบ้าน รับใช้พวกเขาที่ศูนย์เด็กเล็ก วัดและสัตบุรุษที่อยู่ห่างไกล รวมถึงการให้บริการด้านอื่นๆ ที่จำเป็น เมื่อศูนย์เด็กเล็กได้รับการจัดตั้งเข้าที่เข้าทางหมดแล้ว ทางคณะฯ ก็ได้ยุติงานที่ระนอง และสนองเสียงเรียกให้รับใช้ที่อื่นต่อไป
ในปีเดียวนั่นเองทางซิสเตอร์ก็ได้มาช่วยงานของสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนาฯ (CCTD) และคณะกรรมการยุติธรรมและสันติอีก 1-2 คนได้ทำงานสอนที่โรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยา ในปี ค.ศ. 1995 คณะซิสเตอร์ได้เข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ซึ่งเป็นที่พำนักด้วยในปัจจุบัน โดยเจริญชีวิตภาวนา โดยขณะที่ทำงานครูและงานอภิบาลในโรงเรียนในอนาคตอันใกล้ ด้วยความร่วมมือกับเซนต์จอห์นจะเปิดบ้านใหม่ในภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือ
ตราสัญลักษณ์
สัญลักษณ์ MR พร้อมด้วยมงกุฎ ย่อมาจากคำว่า Maria Regina แปลว่า พระแม่มารี ราชินีแห่งอัสสัมชัญ ซึ่งได้นำมาเป็นชื่อของคณะ ซิสเตอร์คณะนี้สวมหมวกกางเขนบรอนซ์ที่มีคำว่า IESUS CHRISTUS เพื่อประกาศว่าพระเยซูคริสตเจ้าผู้กลับคืนพระชนม์ ทรงเป็นศูนย์ กลางของชีวิตและในกิจการทั้งสิ้นของคณะ
จิตตารมณ์
ด้วยการผนวกรำพึงภาวนาและการทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน บรรดาซิสเตอร์ก็ได้พบในองค์พระคริสตเจ้า ผู้เป็นศูนย์กลางและแหล่ งชีวิตและพันธกิจของคณะ ชีวิตหมู่คณะที่เข้มแข็งถือเป็นหัวใจของการฝึกอบรม และเจริญเติบโตในด้านชีวิตฝ่ายจิต และภารกิจต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดบรรดาซิสเตอร์จะให้ความสำคัญทางด้านนี้ในพันธกิจของคณะอยู่เสมอ กล่าวคือ การฝึกอบรมบุคคลผู้สามารถสัมพันธ์กับผู้อื่น ในการร่วมกันสร้างหมู่คณะขึ้นโดยให้ความต่างของกระแสเรียกของแต่ละคน มาช่วยให้อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนและเอื้อประโยชน์ให้กันและกันได้ สมาชิกของคณะทำงานเพื่อความดีงามร่วมกัน และร่วมกับผู้อื่นในการทำงาน เพื่อเปลี่ยนแปลง สังคมโดยอาศัยคุณค่าของพระอาณาจักร
ชีวิตฝ่ายจิต
ชีวิตที่เต็มด้วยการภาวนา ซึ่งประกอบด้วยพิธีกรรมต่างๆโดยมีมหาบูชามิสซาเป็นจุดศูนย์กลาง มีเวลายาวนานในการภาวนาส่วนตัว เฝ้าศีลมหาสนิทเป็นประจำทุกวัน สวดทำวัตร ความศรัทธาต่อแม่พระในฐานะตัวอย่างและผู้ร่วมทางชีวิต ชีวิตภาวนาที่ได้รับการเส ริมด้วยเวลาเข้าเงียบ การทำงานบ้าน ศึกษาหาความรู้ (จากพระวรสาร คำสอนของพระศาสนจักร มนุษย์วิทยา ฯลฯ) สมาชิกต้องรู้และรักยุคสมัยของตนเพื่อรำพึงถึงกิจการของพระเจ้าในความเป็นจริงต่างๆของโลก จะได้สามารถสนองความจำเป็นและเสียงเรียกต่างๆที่มีต่อพระศาสนจักร
พันธกิจ
งานหลักของคณะ คือ การศึกษา คณะมีโรงเรียน วิทยาลัย หอพัก ศูนย์เยาวชนและสตรี บ้านเข้าเงียบ ศูนย์ชีวิตภายใน คลินิก ศูนย์สังคม สถาบันอบรมครู คณะมีกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การสอนคำสอน งานพัฒนา อบรมให้กลุ่มและชุมนุม งานที่ทำร่วมกับนักบวชและฆราวาสศาสนาต่างๆ
ที่อยู่ในประเทศไทย
มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น
1110/5 ถนนวิภาวดี-รังสิต
เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
โทร. 0-2938-7077
โทรสาร 0-2513-5525