คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร

คณะภคินีเซนต์ ปอลเดอ  ชาร์ตร
 
The congregation of the sisters of the Saint Paul de Chartres
 
ผู้สถาปนาคณะ
คุณพ่อหลุยส์ โชเวต์ และคุณแม่มารี-อานน์ เดอ ติยี
 
พระพรพิเศษ
อุทิศชีวิตเพื่อการศึกษา การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยและคนยากไร้ โดยมีพระมารดาแห่งชาร์ตร และนักบุญเปาโลเป็นองค์อุปถัมภ์ของคณะ 
 
ภารกิจ
คณะตอบสนองการเรียกร้องของพระศาสนจักร และของเพื่อนมนุษย์โดยทำงานในโรงเรียน 33 แห่ง โรงพยาบาล 2 แห่ง คลินิก 1 แห่ง สถานทูต 1แห่ง รวมทั้งงานสงเคราะห์ต่างๆ ดูแลเด็กกำพร้า เด็กติดเชื้อเอดส์ คนชรา ชาวไทยภูเขา ชุมชนแออัด 
 
จิตตารมณ์
พื้นฐานจิตตารมณ์ของภคินีเซนต์ปอล มาจากจิตตารมณ์ของนักบุญเปาโล กล่าวคือมี     พระคริสต์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งแสดงออกด้วยความรักอย่างลึกซึ้งในองค์พระคริสต์ใส่ใจอย่าง   ร้อนรนในพระวรสารของพระองค์     จิตตารมณ์ซึ่งเชื่อมั่นในการฟื้นคืนชีวิตขององค์พระคริสต์แสดงออกด้วยการน้อมรับพระธรรมล้ำลึกแห่งความทรมานกาย และความตายในชีวิตของตน  อันเป็นทางไปสู่การเริ่มเจริญของชีวิตใหม่และความชื่นชมยินดีนิรันดร คณะได้รับการกำหนดให้อุทิศชีวิตเพื่อการศึกษา การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยและคนยากไร้ ภคินีจึงพร้อมเสมอที่จะประกอบกิจกรรมทุกแบบซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติในภาระหน้าที่ดังกล่าวทั้งนี้ ด้วยความซื่อสัตย์ต่อความสุภาพถ่อมตนและความราบเรียบอันเป็นรากฐานดั้งเดิมของคณะ
 
ตราของคณะ
รวงข้าวตั้งตรงสูงเท่ากัน 4 รวง บ่งบอกถึงความซื่อสัตย์ ความราบเรียบ และความเท่าเทียมกันในหมู่ภคินี 4 คนแรก ซึ่งมาจากครอบครัวผู้ใช้แรงงาน
 
รวงข้าวสีเขียวสด คือ การเริ่มต้นของพวกเธอ ซึ่งแม้จะเยาว์วัยแต่ก็อาจหาญรับงานหนักเกินกำลังเพื่อเป็นการพลีชีพ ประดุจเมล็ดพืชเล็กๆที่ตกลงสู่พื้นดิน
 
พื้นสีทอง หมายถึง ความสว่างที่เจิดจ้าหลังวันแห่งความมืด ณ ที่ราบโบส
 
สีฟ้า เป็นสีของพระมารดาที่ภคินีรัก เธอพิสูจน์ความรักนี้ด้วยการสวดสายประคำและเลียนแบบพระมารดา
 
“เดอ ชาร์ตร” เป็นชื่อที่สองของเรา บอกถึงบ้านแม่ซึ่งเป็นหัวใจและศูนย์รวมเอกสารของภคินี ตั้งอยู่ใกล้อาสนวิหารแห่งชาร์ตร
 
สีแดง สีแห่งความรัก สีเลือด เลือดแห่งความตายและความกล้าหาญของนักบุญเปาโล มรณสักขี องค์อุปถัมภ์ของเรา ผู้ถือดาบแห่งพระวาจา ชูขึ้นสู่ความมีชัย บทจดหมายของท่านที่เปิดอยู่ มีคำจารึกว่า “จงเป็นทุกอย่างสำหรับทุกคน” บ่งบอกถึงฐานะ “ผู้รับใช้” ของภคินีในการนำมนุษย์ให้รอดเพื่อเทิดพระเกียรติพระเจ้า
 
เจ้าคณะแขวงคนปัจจุบัน
 
ที่อยู่ของคณะ
7 ถนนคอนแวนต์ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
โทร. 02-266-3605, 02-0236-1343
โทรสาร 02-631-0189
 
ประวัติการก่อตั้งคณะ
ซ.ภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร กำเนิดในประเทศฝรั่งเศสซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่รักสวยรักงามและมีความเจริญก้าวหน้า แต่ก็ยังมีความอดอยากยากไร้ และคนไม่มีการศึกษาเป็นจำนวนไม่น้อยนิดในประเทศฝรั่งเศส   
      
ในศตวรรษที่ 17 พระศาสนจักรเริ่มมีทัศนะที่กว้างขวางยิ่งขึ้น เกี่ยวกับการถวายตัวของนักบวช ว่ามิใช่จะเก็บตัวอยู่ในอารามอย่างเดียว แต่ควรอุทิศตนเพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วย เพราะมนุษย์มีทั้งร่างกาย วิญญาณ และสติปัญญาที่รอคอยความรอด 
 
ค.ศ. 1696 ภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร จึงได้กำเนิดขึ้น โดยมีคุณพ่อหลุยส์ โชเวต์ (Louis CHAUVET) พระสงฆ์พื้นเมือง เจ้าอาวาสประจำตำบล เลอเวส์วิลล์-ลา-เชอนาร์ด (Levesville-la-Chenard) เป็นผู้รวบรวมหญิงสาวชาวนา 4 คน ที่มีความศรัทธาและปรารถนาจะรับใช้เพื่อนมนุษย์ ให้มาทำงานช่วยวัด นอกจากสมาชิก 4 คนแรกนี้แล้วยังมีลูกสาวของขุนนางอยู่อีกผู้หนึ่งด้วย คือ คุณแม่มารี อานน์  เดอ ตียี (Demoiselle Marie-Anne de Tilly) ซึ่งคุณพ่อหลุยส์ โชเวต์ ได้ให้เป็นผู้อบรมหญิงสาวรุ่นแรกนั้น ให้พร้อมสำหรับเมตตาธรรมตามความต้องการของยุคนั้น คือการพัฒนาหมู่บ้านใกล้เคียง ทั้งในด้านมนุษยธรรมและด้านวิญญาณ ให้การศึกษาอบรมเด็กหญิงโดยไม่คิดมูลค่า พร้อมทั้งเอาใจใส่รักษาพยาบาล บริการคนเจ็บตามโรงพยาบาล เยี่ยมเยียนคนยากจน คนเจ็บตามบ้าน และอบรมหญิงสาวให้รู้จักทำงาน
 
งานของคณะดำเนินการเรื่อยมาอย่างเรียบๆ ในละแวกวัดเลอเวส์วิลล์นั้นเอง ควบคู่ไปกับการทรมานกายอย่างเคร่งครัด และการทำงานหนักที่ต่ำต้อยที่สุดเพื่อเลี้ยงชีพ สัตบุรุษเรียกเราว่า "ภคินีเมตตา" ค.ศ. 1707 คุณพ่อหลุยส์ โชเวต์ ได้มอบภคินีของท่านให้อยู่ในความรับผิดชอบของพระสังฆราชปอล โกเดต์ เดมาเรส์ (Mgr Paul Godet des Marais) ผู้ได้ตั้งชื่อให้เราว่า "ภคินีเซนต์ปอล" ให้มีนักบุญเปาโลเป็นองค์อุปถัมภ์และแบบอย่างแห่งความกระตือรือร้นในการแพร่ธรรม พระคุณเจ้ายังได้แต่งตั้งให้คุณพ่อมาเรโชว์ (Père Maréchaux) เป็นอธิการคนแรกของคณะ ซึ่งเป็นผู้ปลูกฝังจิตตารมณ์ของคณะให้แก่ภคินีรุ่นแรก 
 
เมื่อภคินีอุทิศตนทำงานดังกล่าวข้างต้นมาได้ 30 ปี คือ ค.ศ. 1727 ท่านเค้าท์เดอ โมเรอปาส์ (M.le comte de Maurepas) เลขาธิการของรัฐสภา ได้ขอพระสังฆราชแห่งชาร์ตร ให้ส่งภคินีไปรับใช้คนเจ็บในโรงพยาบาลที่กาเยนน์ และอบรมสั่งสอนเด็กที่นั่น ซึ่งนับเป็นก้าวแรกที่คณะเริ่มออกแพร่ธรรมในต่างแดน 
 
ชีวิตความเป็นมาและการทำงานของคณะได้ดำเนินไปในพระญาณสอดส่องของพระเป็นเจ้า มีพระศาสนจักรให้การสนับสนุนมาโดยตลอด อาศัยประมุขของพระศาสนจักรท้องถิ่น พระสงฆ์และสัตบุรุษ จนกระทั่งวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ.1931 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ทรงโปรดเกล้าฯ อนุมัติเห็นชอบให้ตั้งคณะอย่างเป็นทางการถาวร และทรงรับรองธรรมนูญของคณะ
 
ประวัติการก่อตั้งคณะในประเทศไทย
เริ่มต้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปในคราวแรก สยามในสมัยนั้นมีชุมชนชาวตะวันตกมากกว่าสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยชาวตะวันตกซึ่งเป็นผู้ชำนาญการด้านต่างๆ อาทิ การเงินการคลัง กฎหมาย วิศวกร สถาปนิก ช่างสำรวจ และรังวัด ช่างไฟฟ้า มาช่วยวางโครงสร้างการบริหารและพัฒนาประเทศ ให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก
 
ชุมชนชาวตะวันตกที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วแถบตรอกโอเรียนเต็ล สุรวงศ์ บางรัก สีลม สาทร บ้านทวายจึงเกิดความต้องการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่ทันสมัยเพิ่มขึ้นด้วย โรงพยาบาลที่ทันสมัยแบบตะวันตก เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องการเพิ่มขึ้นมากในสมัยนั้นนอกจากบางกอกเนิร์สซิ่งโฮม อันเป็นสถานพยาบาลขนาดเล็กบนถนนคอนแวนต์แล้ว ที่หัวถนนสีลม ด้านบางรัก ก็มีโรงพยาบาลบางรัก ในความดูแลของนายแพทย์เฮย์ แห่งกระทรวงทหารเรือ และฝั่งธนบุรีมีโรงพยาบาลวังหลัง หรือที่ได้รับการสถาปนาเป็นศิริราชพยาบาล เมื่อ พ.ศ. 2431 เท่านั้น ดังนั้น ในปี ค.ศ. 1898 ฯพณฯ พระสังฆราช หลุยส์ เวย์ (Mgr. Louis Vey) ผู้แทนพระสันตะปาปาประจำราชอาณาจักรสยาม จึงประสงค์จะสร้างโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ที่กรุงเทพฯ และได้ขอความร่วมมือไปยังคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร แขวงไซ่ง่อน ซึ่งมีพันธกิจด้านการพยาบาล และการศึกษา ให้ส่งภคินีเข้ามาช่วยงานโรงพยาบาล แมร์กังดิ๊ด (Mère Candide) เป็นอธิการิณีเจ้าคณะแขวงไซ่ง่อน จึงได้ส่งเซอร์ 7 ท่าน เข้ามาดังนี้ เซอร์อิกญาส เดอ เยซู, เซอร์ดอนาเซียน, เซอร์คามิล เดอ เยซู, เซอร์เซราฟิน เดอมารี,เซอร์เอดมองค์, เซอร์เออเชนี ดู ซาเครเกอ, เซอร์ชอง แบร์ฆมันส์ เข้ามาปฏิบัติงานในสยาม และมีนายแพทย์ปัวซ์ (ซึ่งต่อมาเป็นแพทย์ประจำราชสำนัก) เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาล นี่เป็นก้าวแรกของคณะภคินีในประเทศไทย 
 
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของคณะภคินีในเขตแดนของฝรั่งเศส ไม่ใคร่จะดีนัก เนื่องจากรัฐบาลฝรั่งเศสในขณะนั้น ได้ออกกฎหมายให้โอนทรัพย์สินของคณะนักบวชที่ทำงานของฆราวาส เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นของรัฐ แมร์กังดิ๊ด ได้ทราบว่ากฎหมายที่บังคับ ให้โอนทุกสิ่งให้ฆราวาสนั้น จะใช้บังคับครอบคลุมไปถึงอาณานิคมทุกแห่งของฝรั่งเศสด้วย รวมทั้งดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศสที่ท่านดูแลอยู่ ท่านเห็นความจำเป็นที่จะต้องส่งภคินีไปทำงานใน ดินแดนที่มิได้เป็นของฝรั่งเศส เพื่อภคินีจะเลี้ยงชีพตนเองได้ และสยามเป็นดินแดนปลอดภัยที่อยู่ใกล้ที่สุด 
 
ในขณะนั้น ภคินี 2 ท่านกำลังจัดระเบียบนวกสถานของคณะธิดารักกางเขน - นักบวชหญิงพื้นเมือง ของมิสซังกรุงเทพฯ (ปัจจุบัน คือ คณะพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าแห่งกรุงเทพฯ) ที่วัดเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์ สามเสน ดังนั้น ฯพณฯ พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ จึงยินดีรับภคินีเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยงานนี้ 
 
ต่อมาเมื่อ ต้นปี ค.ศ. 1905 แมร์แซงต์ซาเวียร์ ได้รับการแต่งตั้งจากแขวงไซ่ง่อนให้เป็นผู้ดูแลกิจการคณะในประเทศไทย คุณพ่อกอลอมเบต์ พระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส มีความต้องการให้ภคินีมาช่วยสอนเด็กยากจนและดูแลเด็กกำพร้า จึงได้ขอภคินี มาดูแล โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ซึ่งเป็นโรงเรียนคาทอลิกหญิงแห่งแรกภคินีสอนภาษาต่างประเทศ ดนตรี และการเย็บปัก ถักร้อย 
 
ปี ค.ศ.1906 ภคินีเปิดโรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนต์ ที่กุฎีจีน ธนบุรี 
 
ปี ค.ศ.1907 ภคินีจัดการศึกษาที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ที่ถนนคอนแวนต์   สีลม
 
โรงเรียนสตรีทั้ง 3 แห่งนี้ มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสังคมไทย เพราะสอนหนังสือ ให้กับกุลสตรีไทยตามมาตรฐานตะวันตก ทำให้กุลสตรีไทยตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา มีความรู้ภาษาต่างประเทศเป็นอย่างดี แม้จะไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศไทยมาก่อนเลย และในสมัยต่อมาเมื่อกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ต้องสอนภาษาไทยในโรงเรียนจึงจะได้รับการรับรองวิทยฐานะ โรงเรียนสตรีในความดูแล ของคณะภคินีฯ ก็รักษาคุณภาพไว้ได้เป็นอย่างดี 
 
ตลอดระยะเวลานี้ คณะภคินีทำงานภายใต้การดูแลของอธิการิณีเจ้าคณะแขวงไซ่ง่อน ตราบจนกระทั่งได้ดำเนินงานในประเทศสยาม อย่างสม่ำเสมอและมั่นคงแล้ว ประมาณ 21 ปี จึงมีการสถาปนาคณะภคินีเแขวงประเทศสยามขึ้น เมื่อปี ค.ศ.1923 มีแมร์ฟรังซัวส์ เดอ แซงมิเชล (Mère François de St. Michel) เป็นอธิการิณีเจ้าคณะแขวงคนแรก 
 
เราอาจเปรียบพันธกิจของภคินีได้กับเมล็ดแก่จัดของต้นไม้ แห่งเมตตาธรรม ที่ปลิดปลิวมาจากแดนไกลแล้วตกลงบนผืนดินสยามตามความต้องการของพระเป็นเจ้างอกและเจริญเติบโตอย่างมั่นคงในดินแดนที่เปี่ยมด้วยน้ำพระราชหฤทัยแห่งองค์พระมหากษัตริย์ไทย ผู้มีขันติธรรมทางศาสนา และทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ของทุกศาสนาในประเทศ
 
ประวัติการเริ่มงานด้านการศึกษาของภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตรในประเทศไทย
คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ดำเนินการเปิดโรงเรียนสตรี 3 แห่ง โดยเริ่มจาก 
 
ค.ศ. 1905 คุณพ่อกอลอมเบต์ พระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสมีความต้องการให้ภคินีมาช่วยสอนเด็กยากจนและดูแลเด็กกำพร้า จึงได้ขอภคินีมาดูแลโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ บางรัก กรุงเทพฯ
 
ค.ศ. 1906 ภคินีเปิดโรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนท์ ธนบุรี กรุงเทพฯ 
 
ค.ศ. 1907 ภคินีจัดการศึกษาที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ สีลม กรุงเทพฯ ณ บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของคณะนักบวชหญิงแซงต์มอร์
โรงเรียนสตรีทั้ง 3 แห่งนี้มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสังคมไทย เพราะสอนหนังสือให้กับกุลสตรีไทยตามมาตรฐานตะวันตก ทำให้กุลสตรีไทยตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา มีความรู้ภาษาต่างประเทศเป็นอย่างดีแม้จะไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศไทยมาก่อนเลย และในสมัยต่อมา เมื่อกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ต้องสอนภาษาไทยในโรงเรียนจึงจะได้รับการรับรองวิทยฐานะ โรงเรียนสตรีในความดูแลของคณะภคินีฯก็รักษาคุณภาพไว้เป็นอย่างดี หลังจากที่ได้ก่อตั้ง 3 โรงเรียนแรกขึ้น คณะฯก็ได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นอีกหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
 
ปัจจุบันมีโรงเรียนอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของคณะฯทั้งสิ้น 33 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนของสังฆมณฑล 13 แห่ง และโรงเรียนของคณะฯ 20 แห่ง
 
การจัดการศึกษาเป็นงานอภิบาลหลักของคณะฯ และเป็นไปตามจิตตารมณ์ดั้งเดิมของคณะฯ ซึ่งจะดำเนินต่อไปในอนาคตทั้งนี้เพราะเป็นงานขององค์พระผู้เป็นเจ้าและเป็นพระพรพิเศษที่ได้ทรงมอบให้แก่ผู้ก่อตั้งคณะฯมานานกว่าสามศตวรรษแล้ว
 
คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร กับงานด้านสังคมสงเคราะห์
 
คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร เป็นคณะนักพรตหญิง ในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ภารกิจสำคัญของคณะคือ การให้การรักษาพยาบาลและการศึกษาอบรม
 
คณะภคินีทำงานอยู่ในโรงเรียน และโรงพยาบาล รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือแก่ ผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยอาศัยความร่วมมือจากผู้ปกครอง และคณะนักเรียนของโรงเรียนในเครือเซนต์ปอล
 
งานสังคมสงเคราะห์ ได้แก่
 
1. บ้านมิตราทร จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1998 เป็นสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าที่บิดามารดาเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ เด็กถูกทอดทิ้งเนื่องจากติดเชื้อจากแม่ คณะภคินีรับเด็กเหล่านี้มาอยู่ที่บ้านมิตราทร ให้ความรัก ความอบอุ่น การดูแลรักษาพยาบาล เด็กทุกคนได้เรียนหนังสือเหมือนเด็กปกติทั่วไป โดยมีครูมาสอนที่บ้าน ปัจจุบันมีเด็กอยู่ในความดูแลของบ้าน      มิตราทรทั้งหมดประมาณ 50 คน
 
2. บ้านพรแดนสรวง จังหวัดอำนาจเจริญ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2003 เป็นศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุและพัฒนาเด็กเล็ก โดยรับสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่ถูกลูกหลานทอดทิ้ง ไร้ที่อยู่อาศัย และรับเลี้ยงบุตรของผู้ต้องขังหญิง โดยคณะภคินีไปเยี่ยมนักโทษหญิงที่เรือนจำ และเมื่อพบเด็กเล็กที่แม่คลอดในเรือนจำและแม่ยังต้องโทษอยู่ ภคินีจะรับเด็กเหล่านี้มาเลี้ยงดูจนกว่าแม่จะพ้นโทษและสามารถรับคืนไปเลี้ยงเองได้
 
3. บ้านรวงสาลี จังหวัดสกลนคร เริ่มก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2000 เป็นบ้านที่ให้ความช่วยเหลือนักเรียนชายที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนตำรวจชายแดนให้ได้ศึกษาต่อ โดยจัดตั้งโครงการเกษตรเพื่อการศึกษา เด็กนักเรียนที่อยู่ในโครงการจะได้รับความรู้ด้านเกษตรกรรม สามารถหารายได้จากการเกษตรเพื่อเป็นทุนการศึกษาของตนเอง และเพื่อประกอบอาชีพเกษตรต่อไปได้ในอนาคต ปัจจุบันมีเด็กนักเรียนในโครงการทั้งสิ้น 44 คน
 
4. ศูนย์พัฒนาการศึกษาเขตปูแป้ จังหวัดตาก ซึ่งประกอบด้วย 
- โรงเรียนเปาโลอุปถัมภ์ (สามหมื่นทุ่ง) อนุบาล-ป.4 จำนวนนักเรียน 90 คน
- โรงเรียนมารีย์อุปถัมภ์ (บ้านไม้ไผ่) อนุบาล- ป.4 จำนวนนักเรียน 110 คน
-  ศูนย์คุณพ่อกียูอนุสรณ์ (ปูแป้) จำนวน 50 คน
 
โรงเรียนสามหมื่นทุ่งและที่บ้านไม้ไผ่ เป็นโรงเรียนบนดอยที่ให้การศึกษาแก่เด็กชาวไทยภูเขาที่ไม่สามารลงมาเรียนที่พื้นที่ราบได้ โดยคณะภคินีเป็นผู้สอนและดำเนินงาน เด็กที่มาเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและเสียค่าเล่าเรียนเพียงปีละ 100 บาท
 
หลังจากเรียนจบชั้น ป.4 แล้วจึงส่งไปที่ศูนย์คุณพ่อกียู เพื่อเข้าเรียนต่อในโรงเรียนรัฐบาล ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 5 จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเด็กจะพักอยู่ที่ศูนย์
 
องค์กรในเครือคณะภิคนีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร และปีที่ก่อตั้ง
 
โรงเรียนของคณะ
- โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ค.ศ. 1905
- โรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนท์ ค.ศ. 1906
- โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ค.ศ. 1907
- โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ ค.ศ. 1925
- โรงเรียนเซนต์โยเซฟ นครสวรรค์ (โรงเรียนวันทามารีย์) ค.ศ. 1956
- โรงเรียนเซนต์ปอลคอนแวนต์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ค.ศ. 1963
- โรงเรียนเซนต์โยเซฟ ระยอง ค.ศ.1963
- โรงเรียนเซนต์โยเซฟ บางนา ค.ศ. 1968
- โรงเรียนเซนต์โยเซฟ ศรีเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ค.ศ. 1975
- โรงเรียนเซนต์โยเซฟ ทิพวัล ค.ศ. 1977
- โรงเรียนเซนต์โยเซฟ เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ค.ศ. 1983
- โรงเรียนเซนต์ปอล หนองคาย ค.ศ. 1984
- โรงเรียนโรซารีโอวิทยา จังหวัดหนองคาย ค.ศ. 1988
- โรงเรียนเซนต์โยเซฟ เพชรบุรี ค.ศ. 1989
- โรงเรียนเซนต์โยเซฟ ท่าแร่ จังหวัดสกลนคร ค.ศ. 1994
- โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ สีลม ค.ศ. 1995
- โรงเรียนเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ค.ศ. 1995
- โรงเรียนเซนต์โยเซฟ แม่ระมาด จังหวัดตาก ค.ศ. 1996
- โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์ เมืองทอง จังหวัดนนทบุรี ค.ศ. 1997
- โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ลำนารายณ์ จังหวัดลพบุรี ค.ศ. 1998
 
โรงเรียนของสังฆมณฑลที่คณะบริหาร และปีที่คณะฯเข้ารับงาน
- โรงเรียนเซนต์แอนโทนี จังหวัดฉะเชิงเทรา ค.ศ. 1947
- โรงเรียนมารดานฤมล บางวัว จังหวัดฉะเชิงเทรา ค.ศ. 1955
- โรงเรียนมารีย์วิทยา จังหวัดนครราชสีมา ค.ศ. 1956
- โรงเรียนพระแม่สกลสงเคราะห์ บางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ค.ศ.1969
- โรงเรียนภัทรวิทยา แม่สอด จังหวัดตาก ค.ศ. 1972
- โรงเรียนเซนต์หลุยส์ศึกษา ค.ศ. 1975
- โรงเรียนอนุบาลนิจจานุเคราะห์ จังหวัดหนองคาย ค.ศ. 1975
- โรงเรียนซางตาครู้สศึกษา ค.ศ. 1977
- โรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์ คลองกุ่ม ค.ศ. 1985
- โรงเรียนโยนออฟอาร์คเทคโนโลยี ค.ศ. 1985
- โรงเรียนเซนต์ไมเกิ้ล (วิริยาลัย) ค.ศ. 1986
- โรงเรียนศีลรวี อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ค.ศ. 1989
- โรงเรียนสันติวิทยา จังหวัดเชียงราย ค.ศ. 1990
- ศูนย์อบรมคริสต์ศาสนา ภาคอีสาน ค.ศ. 1996
  อำเภอสองคอน จังหวัดมุกดาหาร
 
สถานพยาบาลและศูนย์อบรมของคณะฯ
- นวกสถาน (เซนต์โยเซฟ บางนา) ค.ศ. 1973
- สถานรับเลี้ยงเด็กมารีย์อุปถัมภ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ค.ศ. 1979
- บ้านเซนต์ร็อค จังหวัดฉะเชิงเทรา ค.ศ. 1980
- บ้านมิตราทร ค.ศ. 1998
- บ้านพรแดนสรวง ค.ศ. 2002
- โรงเรียนวิชาชีพคนพิการ สีเกิด ลาว ค.ศ. 2000
 
โรงพยาบาลและศูนย์อบรมของสังฆมณฑล
- โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ค.ศ. 1899
- โรงพยาบาลเซนต์แมรี่ ค.ศ. 1972
- ศูนย์อบรมคริสต์ศาสนาธรรม (ซี.ซี.) ค.ศ. 1993
* สำนักเอกอัครสมณทูตวาติกัน ค.ศ. 1994