คณะรักกางเขนแห่งจันทบุรี

 
 
ประวัติและจิตตารมณ์ของ พระสังฆราช ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต
ในต้นศตวรรษที่ 17 พระศาสนจักรในประเทศฝรั่งเศส มีความกระตือรือร้นในด้านการแพร่ธรรมและการฟื้นฟูชีวิตสงฆ์มาก  ในขณะเดียวกันพระสันตะสำนักที่โรมได้ขอให้มีพระสังฆราชธรรมทูตชาวฝรั่งเศส ไปช่วยแพร่ธรรมทางดินแดนเอเชียอาคเนย์ พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต จึงถือกำเนิดมาในสภาพแวดล้อมที่อำนวยให้ท่านมีความใฝ่ฝันจะเป็นธรรมทูตให้ได้ นอกจากท่านเป็นผู้ช่วยให้โครงการไปแพร่ธรรมสำเร็จลุล่วงไปแล้ว ท่านเองก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในจำนวนพระสังฆราชธรรมทูตชาวฝรั่งเศส 3 องค์แรก ไปประกาศพระวรสารในดินแดนทางภาคใต้ของประเทศจีน และประเทศเวียดนาม ท่านเป็นคนแรกที่ออกเดินทางไปทำหน้าที่ในต่างแดน แต่เนื่องจากสภาพของประเทศเวียดนามในขณะนั้นไม่สงบ พระสังฆราชลังแบรต์ และเพื่อนธรรมทูตจึงเลือกเอากรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติ งานที่ได้รับมอบหมาย และต่อมาทางกรุงโรมได้รวมเอากรุงศรีอยุธยาเข้าอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของบรรดาธรรมทูตด้วย 
 
ประวัติ...พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต 
1.ชีวิตในฝรั่งเศสตั้งแต่เยาว์วัยจนถึงการได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช (ค.ศ. 1624-1660)
ก. วัยเยาว์และการศึกษาเบื้องต้น
พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต เกิดที่เมืองลีซีเออร์ ในแคว้นนอร์มังดี ดินแดนทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1624 บิดาของท่านชื่อ นายปีแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลาม็อต มารดาชื่อ นางกาเตอริน เดอ เออเด เดอ ปอแม็งวิล บรรพบุรุษของท่านเป็นคริสตชนที่ศรัทธา ตั้งแต่ยังเด็กท่านชอบไปเยี่ยมเยียนสนทนากับบรรดาชาวนาและคนยากจน และแบ่งปันสิ่งของหรืออาหารที่ท่านมีให้แก่พวกเขา ท่านชอบเดินเล่นในป่าเพื่อจะมีโอกาสภาวนาตามลำพังท่านยังชอบอ่านหนังสือ “จำลองแบบพระคริสต์” ซึ่งประพันธ์โดยท่านโทมัส อา เคมปีส เมื่อมีอายุได้ 9 ปี (ค.ศ. 1633)  ท่านได้รับการไขแสดงพิเศษจากพระเจ้าให้รวบรวมบรรดาผู้มีใจรักภักดีต่อกางเขนของพระเยซูเจ้า ท่านปรารถนาที่จะรวบ รวมบรรดาคนเหล่านี้ให้เป็นหมู่คณะและใช้นามว่า “ผู้รักกางเขน” อันเป็นนามที่ท่านได้อ่ านพบในหนังสือจำลองแบบพระคริสต์เล่มที่ 2 บทที่ 11 
 
ท่านลังแบรต์เป็นกำพร้าบิดาเมื่ออายุ 11 ปี และต่อมาเมื่อท่านอายุ 16 ปี มารดาก็ถึงแก่กรรม ท่านต้องรับผิดชอบครอบครัวอย่างเต็มที่ จึงไม่เคยคิดที่จะเป็นพระสงฆ์หรือนักบวช อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ได้รับการศึกษาระดับมัธยมปลายในสถาบันของคณะเยสุอิตที่เมืองกัง (Caen) ท่านได้รับอิทธิพลฝ่ายจิตจากพระสงฆ์หลายองค์ ท่านฝึกฝนตนเองด้วยความพยายามอย่างซื่อสัตย์สม่ำเสมอ เพื่อให้มีความประพฤติที่ดีงามและเติบโตในคุณธรรม
 
ข. ชีวิตการทำงานและความโน้มเอียงด้านชีวิตจิต
ท่านลังแบรต์ศึกษาต่อด้านกฎหมายหลังจากเรียนจบระดับมัธยมปลาย เมื่อจบการศึกษาด้านกฎหมายแล้วมาฝึกงานเป็นทนายความ อันเป็นธรรมเนียมของครอบครัวที่ปฏิบัติกันมาแต่ยาวนาน หลังจากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาศาลสูง อันเป็นศาลพิจารณาคดีเกี่ยวกับภาษีที่เมืองรูอัง (Rouen) ในปี ค.ศ. 1946
 
แม้จะอยู่ในตำแหน่งที่มีเกียรติและประสบความสำเร็จในหน้าที่ แต่ท่านลังแบรต์กลับมีใจฝักใฝ่ในด้านชีวิตวิญญาณมาก ก่อนไปทำงานท่านมักจะไปที่วัดน้อยของคณะเยสุอิตเพื่อสวดทำวัตร รำพึงภาวนาและร่วมบูชามิสซาเป็นประจำ ท่านรำพึงวันละสองชั่วโมงและจำศีลสัปดาห์ละหลายครั้ง ท่านไปรับศีลมหาสนิททุกวัน อันเป็นการปฏิบัติที่หายากในศตวรรษที่ 17 ท่านมีที่ปรึกษาด้านชีวิตจิตหลายคน ที่สำคัญได้แก่
 
- คุณพ่อเอเนิฟ (Hayneuve) ผู้แนะนำท่านให้เปิดดวงใจสู่การภาวนาและแสวงหาการนำทางชีวิตจากองค์พระจิตเจ้าอยู่เสมอ คุณพ่อเอเนิฟนี้ เป็นศิษย์ของคุณพ่อหลุยส์ ลาลเลอมังต์ (Louis Lallemant) 
- คุณพ่อฮัลเล (Halle) แห่งคณะมีนิม (Minims) ได้แนะนำท่านให้ดำเนินชีวิตบำเพ็ญตบะ ท่านได้สมัครเข้าเป็นสมาชิ กประเภทที่สามของคณะมีนิมด้วย
- นายยัง เดอ แบร์นีแอร์ (Jean de Bernieres) เป็นฆราวาสท่านหนึ่งที่มีอิทธิพลในชีวิตของท่านลังแบรต์ ด้านการเข้าเงียบและการบำเพ็ญจิตภาวนา งานเมตตาจิต และการแสวงบุญ
- คุณพ่อยอห์น เอิ๊ดส์ (Jean Eudes) สอนว่าความเชื่อเป็นรากฐานแรกของชีวิตศักดิ์สิทธิ์ และท่านลังแบรต์ได้ยึดจิตตารมณ์ในชีวิตที่คล้ายกับคุณพ่อเอิ๊ดส์นี้มากที่สุด
 
ค. การรับศีลบรรพชาเป็นพระสงฆ์
ในปี ค.ศ. 1655 หลังจากทำงานได้ 9 ปีแล้ว ท่านลังแบรต์ต้องการทำตามความใฝ่ฝันในการมุ่งไปสู่ความเสียสละตน เมื่อได้ปรึกษากับคุณพ่อเอนิฟ ผู้แนะนำวิญญาณแล้ว ท่านจึงไปเข้าเงียบที่อาศรมของแบร์นีแอร์ที่เมืองกัง เพื่อขอความสว่างและความมั่นใจในแผนการที่พระเป็นเจ้าทรงมีไว้ให้ท่านในการอุทิศตนเพื่อวิญญาณ เมื่อมั่นใจแล้วท่านทำการเข้าเงียบอีกครั้งหนึ่งเป็นเวลา 30 วัน ที่เมืองกังนั้นเอง หลังจากนั้นท่านได้แสวงบุญครั้งสำคัญเพื่อใช้โทษบาป ด้วยทำตัวเหมือนขอทาน และเดินทางเท้าระยะไกล แม้สุขภาพไม่สู้ดี ทั้งนี้เพื่อมีประสบการณ์ที่พระคริสตเจ้าได้รับการสบประมาท โดยเฉพาะก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ท่านได้รับศีลบรรพชาเป็นพระสงฆ์วันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1655 ที่เมืองกูตังส์ และถวายมิสซาแรก วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1656
 
หลังจากการบวชเป็นพระสงฆ์แล้ว ท่านได้รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลสถานสงเคราะห์คนจนที่เมืองรูอัง เป็นเวลา 2 ปี ท่านดูแลความเป็นอยู่ของผู้อยู่ในความรับผิดชอบ ทั้งด้านร่างกายและจิตวิญญาณ ท่านยังเอาใจใส่ช่วยเหลือคนยากจนที่อยู่นอกสถานสงเคราะห์ด้วย ท่านใช้อิทธิพลและชื่อเสียงอันดีงามที่มีอยู่ เพื่อขอความช่วยเหลือด้านต่างๆ สำหรับสถานสงเคราะห์ที่ท่านดูแล จากคนร่ำรวยและผู้มีอำนาจทางการเมือง ท่านได้ริเริ่มตั้งสำนักที่พักพิงที่เมืองนี้สำหรับหญิงโสเภณีที่สำนึกผิดและต้องการเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตด้วย
 
นอกจากเอาใจใส่คนจนและคนตกทุกข์ได้ยากนานาประการแล้ว ท่านยังร่วมมือกับการฟื้นฟูชีวิตสงฆ์และการอบรมสามเณร ท่านให้ความช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและใช้อิทธิพลที่มีทุกทางเพื่อช่วยคุณพ่อยอห์น เอิ๊ดส์ ตั้งสามเณราลัยคณะเออดิสต์ขึ้นหลายแห่ง บางแห่งตั้งขึ้นสำเร็จหลังจากท่านเดินทางไปแดนมิสซังแล้ว
 
ง. ระบบปาโดรอาโดและสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ
ระบอบการปกครองสิทธิพิเศษอุปถัมภ์ศาสนา หรือที่เรียกว่า ปาโดรอาโด ซึ่งพระศาสนจักรได้ให้แก่ประเทศโปรตุเกสและประเทศสเปน ในช่วงแรกๆ ดูเหมือนจะช่วยในการเผยแพร่ศาสนา มีพระสงฆ์คณะนักบวชหลายชาติที่ไปช่วยในอาณานิคมของโปรตุเกส เป็นธรรมทูตทำงานแพร่ธรรมภายใต้การนำของกษัตริย์ พวกเขาไม่ได้อบรมคริสตชนพื้นเมืองให้เป็นพระสงฆ์ เพื่อจะได้ทำงานในกลุ่มชนของตน มีแต่ครูคำสอนชาวพื้นเมืองเท่านั้น ต่อมาในบางแห่งเกิดการเบียดเบียนศาสนาขึ้น บรรดาธรรมทูตชาวต่างชาติถูกขับไล่ออกจากประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้การดูแลวิญญาณคริสตชนจึงไม่ทั่วถึง
 
นอกจากปัญหาใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกหลายประการที่เกี่ยวกับการครองชีพอันไม่เหมาะสมกับการเป็นพระสงฆ์และนักบวช เมื่อทางกรุงโรมได้ทราบปัญหา ทั้งหมดแล้ว ก็เห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งมิสซังในตะวันออกไกล สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อจึงได้รับการสถาปนาขึ้น โดยพระสันตะปาปาเกรโกรี่ ที่ 15 ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1622 เพื่อจัดให้มีพระสังฆราชขึ้นกับกรุงโรมโดยตรงและทำงานประกาศพระวรสารอย่างแท้จริง ไม่ใช่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์ส่วนตัว และต้องอบรมคริสตชนพื้นเมืองเพื่อบวชพระสงฆ์พื้นเมืองให้เร็วที่สุด และมีคุณภาพด้วย จึงต้องจัดหาพระสังฆราชจากประเทศที่ไม่ได้อยู่ในอาณัติของโปรตุเกสและสเปน ขณะนั้นในประเทศฝรั่งเศสมีผู้ใจศรัทธาร้อนรนทั้งที่เป็นฆ ราวาสและเป็นสงฆ์ ทางกรุงโรมจึงหวังพึ่งกำลังความช่วยเหลือจากพระสงฆ์ในประเทศฝรั่งเศส
 
พระสงฆ์คณะเยสุอิตชาวฝรั่งเศสองค์หนึ่ง ชื่อ คุณพ่อเดอ โรดส์ เคยทำงานในแถบประเทศจีนและตังเกี๋ยมาก่อน ในปี ค.ศ.1653 ท่านได้รับมอบหมายจากสันตะสำนักให้หาพระสงฆ์ในฝรั่งเศสที่สมัครใจไปแพร่ธรรมในตะวันออกไกล ตามจุดมุ่งหมายของสมณกระทรวงฯ นิโกลัส  น้องชายของท่านลังแบรต์ได้รับทราบข่าวนี้ และได้บอกให้พี่ชายทราบเมื่อพี่ชายไปเยี่ยม ท่านลังแบรต์เคยมีความปรารถนาเป็นธรรมทูตไปประเทศแคนาดา แต่ไม่ได้ไปเนื่องจากมีการจัดการให้พระสงฆ์อื่นไปแล้ว ถึงกระนั้นความคิดเรื่องการเป็นธรรมทูตนี้ยังอยู่ในใจของท่าน ดังนั้นเมื่อท่านได้ยินน้องชายพูดถึงโครงการจัดตั้งมิสซังโดยมิชชันนารีฝรั่ งเศสในตะวันออกไกล ท่านจึงสนใจโครงการนี้มาก
 
การดำเนินการของโครงการนี้ในตอนแรกมีอุปสรรคและชะงักไประยะหนึ่ง แต่ด้วยน้ำใจของสตรีใจเร่าร้อนคนหนึ่ง ชื่อ ท่านผู้หญิง เดคียอง โครงการนี้ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใน ปี ค.ศ. 1657 นางได้ขอให้คุณพ่อปัลลือซึ่งมีธุระเดินทางไปโรม ได้เป็นธุระดำเนินการเรื่องนี้ใหม่กับสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 7 และกับสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ เมื่อคุณพ่อปัลลือดำเนินการไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว รู้สึกว่าเรื่องดำเนินไปช้ามากจึงมีจดหมายเชิญ คุณพ่อลังแบรต์ให้รีบไปกรุงโรมเพื่อช่วยสมทบอีกแรง เพราะท่านมีประสบการณ์ในกิจการต่างๆ มาก คุณพ่อลังแบรต์ไม่รอช้ารีบเดินทางไปกรุงโรม  และท่านยกสมบัติส่วนตัวทั้งหมดที่ยังเหลืออยู่ ให้เป็นปัจจัยสำหรับค่าเลี้ยงดูประมุขมิสซังทั้ง 3 องค์ที่กรุงโรมต้องการแต่งตั้ง ที่สุดคณะกรรมการพิเศษที่พิจารณาโครงการนี้ก็ลงมติเห็นชอบด้วย 
 
คุณพ่อทั้งสองยังมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมพระสงฆ์ ไปช่วยงานดินแดนที่ได้รับมอบหมายร่วมกับพวกท่านด้วย จึงได้ขออนุญาตจากสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ เพื่อจะตั้งสามเณราลัยที่กรุงปารีสสำหรับการนี้และสำหรับจัดหาสิ่ง จำเป็นต่างๆเพื่อส่งไปจุนเจือผู้ที่ทำงานในแดนมิสซัง นี่คือต้นกำเนิดของคณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ซึ่งได้รับการอนุมัติจากกรุงโรมเป็นทางการในปี ค.ศ. 1663 หลังจากที่ท่านลังแบรต์ไปถึงอยุธยาแล้ว
 
จ. รับมอบหมายงานธรรมทูตและการเดินทาง
เมื่อสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อเห็นชอบแล้ว ใน ปี ค.ศ.1658 มีคำสั่งแต่งตั้ง คุณพ่อฟรังซัว ปัลลือ เป็นพระสังฆราชแห่งเอลีโอโปลีส และคุณพ่อปีแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต เป็นพระสังฆราชแห่งเบริธ และคุณพ่อโกโตแลนตี เป็นพระสังฆราชแห่งเมเตลโลโปลีส ท่านลังแบรต์ได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชที่กรุงปารีสในวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1660 ท่านได้รับมอบหมายให้ปกครองประเทศโคชินจีน (เวียดนามใต้) หลายมณฑลทางภาคใต้ของจีน เกาะไหหลำและเกาะใกล้เคียงอื่นๆ หลังจากการอภิเษกแล้วท่านไม่รอช้า แต่เตรียมตัวเดินทางไปสู่ดินแดนที่ได้รับมอบหมายให้ทำการอภิบาลวิญญาณโดยเร็วที่สุด
 
ท่านออกจากปารีสวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1660 พร้อมกับคุณพ่อฌักส์ (หรือยาโกเบ) เดอ บูรฌ์ เมื่อถึงเมืองลีออง ท่านป่วยหนักเป็นเวลานานถึง 52 วัน และเมื่อท่านยังไม่หายดีก็ออกเดินทางต่อไปยังเมืองมาร์แชย์ ที่เมืองนี้มีคุณพ่อฟรังซีส เดดีเอร์ มาร่วมสบทบด้วย และทั้งสามออกเดินทางจากท่าเรือมาร์แชย์ วันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1660 ระยะแรกเป็นการเดินทางด้วยเรือไปยังเกาะมอลตา เกาะไซปรัส และสิ้นสุดการเดินทางด้วยเรือที่เมือง อเล็กซังเดรต ซึ่งอยู่ในประเทศตุรกีปัจจุบัน
 
จากเมืองอเล็กซังเดรต คณะธรรมทูตทั้งสามต้องใช้ทางบกและหลีกเลี่ยงดินแดนที่อยู่ในปกครองของประเทศโปรตุเกสและสเปน เพื่อไม่ให้เกิดการขัดแย้งอันไม่จำเป็น ท่านลังแบรต์เดินทางถึงเมืองอิสปาฮัน ในวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1661 ด้วยใจร้อนรน ท่านตั้งใจว่าจากเมืองนี้จะหาทางลัดผ่านธิเบต เพื่อเดินทางไปประเทศจีนได้รวดเร็วขึ้น แต่ได้ข้อมูลว่าไม่มีความปลอดภัย ท่านจึงเปลี่ยนแผนการกลับไปลงเรือเดินทางไปยังเมืองสุรัต จากนั้นเดินทางบกผ่านประเทศอินเดียจนถึงเมืองมาสุลิปาตัม จากเมืองนี้ลงเรือไปยังเมืองมะริด หลังจากนั้นนั่งเรือทวนกระแสน้ำในแม่น้ำ เป็นสองช่วง ช่วงสุดท้ายนั่งเรือทวนน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นไปกรุงศรีอยุธยา หลังจากเดินทางด้วยความเหนื่อยยากลำบากกายนานาประการ และไม่มีการประกันความปลอดภัยใดๆ ทั้งสิ้นเป็นเวลาถึง 21 เดือน ท่าน ลังแบรต์พร้อมด้วย คุณพ่อเดอบูรฌส์ และคุณพ่อเดดีเอร์ ก็ถึงกรุงศรีอยุธยา เมืองหลวงแห่งราชอาณาจักรสยาม ในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1662
 
2. พระสังฆราชลัมแบรต์ เดอ ลาม็อต กับการแพร่ธรรมในประเทศจีนและประเทศเวียดนาม
ภารกิจหลักของพระสังฆราชลัมแบรต์อาจจำแนกออกเป็น 3 ประการใหญ่ๆ ได้แก่
1. การทำงานแพร่ธรรมในเนื้อนาที่ได้รับมอบหมาย
2. การติดต่อกับผู้มีอำนาจฝ่ายบ้านเมืองเท่าที่จำเป็น และ
3.การติดต่อกับสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อที่กรุงโรม และคณะสงฆ์ที่ฝรั่งเศส
 
พระสังฆราชลังแบรต์มีอายุได้ 38 ปี เมื่อเดินทางถึงอยุธยา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1662 โดยไม่ชักช้าท่านเริ่มจัดการทุกอย่าง ที่ต้องทำให้เรียบร้อยก่อน หลังจากนั้นท่านใช้เวลาเข้าเงียบ 40 วัน เพื่อเตรียมตัวทำงานโดยอาศัยความช่วยเหลือจากพระเป็นเจ้า และพักผ่อนจากการเดินทางอันเหนื่อยยากด้วย ขณะนั้นที่กรุงศรีอยุธยามีพระสงฆ์นักบวชอยู่ 11 ท่าน และคริสตชนประมาณ 2 พันคน ในความคิดของท่านลังแบรต์พวกเขามีสภาพชีวิตวิญญาณที่อ่อนแอ ต้องได้รับการอภิบาลเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ปัญหาที่คาดไว้ล่วงหน้าก็เกิดขึ้น เมื่อพระอัครสังฆราชแห่งกัว (อยู่ใต้อำนาจของโปรตุเกส) ทราบว่าบรรดาธรรมทูตมาถึงอยุธยา ได้มีคำสั่งให้เรียกท่านลัมแบรต์ไปขึ้นศาลศาสนาที่เมืองกัว แต่ท่านลัมแบรต์ไม่ปฏิบัติตามเนื่องจากท่านอยู่ในอาณัติของกรุงโรมไม่ได้อยู่ใต้อำนาจของอัครสังฆราชแห่งกัว ตั้งแต่บัดนั้นท่านลังแบรต์ก็เห็น ชัดแจ้งว่า อนาคตการทำงานของท่านจะมีอุปสรรคมากเพียงไร
 
สำหรับพระสังฆราชปัลลือ ท่านเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา วันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1664 พร้อมกับพระสงฆ์ธรรมทูต 3 ท่าน คุณพ่อท่านหนึ่งมีชื่อว่า คุณพ่อลาโน (ซึ่งต่อมาได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชองค์แรกของประเทศสยาม) ส่วนพระสังฆราชโกโตแลนตี สิ้นชีวิตระหว่างเดินทาง
 
ท่านลังแบรต์เริ่มเรียนภาษาจีนและเวียดนามกับคริสตชนที่อยุธยาทันที่ที่มีโอกาส นี่เป็นการทำตามคำแนะนำอีกประการหนึ่งของสมณกระทรวงเผยแพร่ศาสนา เพื่อจะได้พูดคุยกับคริสตชนในภาษาที่เขาเข้าใจ ซึ่งจะยังผลในการประกาศพระวรสารมากกว่า ตลอดระยะการทำงานท่านมีโอกาสเดินทางไปประเทศจีนและเวียดนามรวม 4 ครั้งด้วยกันดังต่อไปนี้
 
การเดินทางครั้งแรกไปประเทศจีน ในวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1663 ท่านลงเรือสำเภาเพื่อไปยังทางใต้ของประเทศจีนพร้อมกับธรรมทูต 2 ท่าน แต่พายุซัดเรืออับปาง จึงต้องขึ้นบกที่เขมร และเดินทางกลับอยุธยา
 
ครั้งที่ 2 ในวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1669 ท่านเดินทางไปตังเกี๋ย (เวียดนามเหนือ) กับโคชินจีน (เวียดนามใต้) พร้อมกับ คุณพ่อฌักส์ เดอ บูรฌจ์ ท่านได้ส่งคุณพ่อเดดีเอร์ไปที่นั่นแล้วตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1666 และบัดนี้เป็นเวลาเหมาะสมที่ท่านจะไปเพื่อติดตามงานต่างๆ ท่านพำนักอยู่ประมาณ 6 เดือน เดินทางไปเยี่ยมคริสตชนในที่ต่างๆ และได้จัดรากฐานของมิสซังในโคชินจีนไว้อย่างดี โดยจัดให้มีการประชุมสมัชชาสงฆ์ครั้งแรกในตังเกี๋ย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1670 จัดแบ่งเขตการอภิบาลและได้จัดตั้งกลุ่มนักบวชหญิงให้ชื่อว่า “สตรีรักไม้กางเขน” แห่งแรกที่ตังเกี๋ย ในปี ค.ศ. 1970 ด้วย
 
ครั้งที่ 3 วันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1671 ท่านเดินทางไปโคชินจีนอีก พร้อมกับธรรมทูต 2 องค์ ในครั้งนี้ตัวท่านเองและคุณพ่ออีกองค์หนึ่งถูกวางยาพิษและป่วยหนักเป็นเวลากว่า 20 วัน เมื่อฟื้นจากการเจ็บป่วยแล้ว ท่านลังแบรต์เริ่มปฏิบัติภารกิจต่อโดยเดินทางที่เมืองกวางงาย และตั้งอารามคณะรักไม้กางเขนขึ้นอีกหลังหนึ่ง ท่านได้ปลุกปลอบใจสัตบุรุษให้มีความปรองดองกัน ไม่แยกว่าฝ่ายนี้ขึ้นกับพระสงฆ์สังกัดกษัตริย์โปรตุเกส และอีกฝ่ายขึ้นกับพระสงฆ์สังกัดสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ และให้มีความอดทนต่อการเบียดเบียนต่างๆ หลังจากทำหน้าที่เป็นผู้นำแล้ว ก็เดินทางกลับสยามในวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1972
 
ครั้งที่ 4 และครั้งสุดท้าย ท่านเดินทางไปเมืองฟายในโคชินจีน เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1676 ครั้งนี้ท่านสามารถเดินทางไปเยี่ยมเยียนสัตบุรุษทั่วประเทศได้ ที่เมืองเว้ท่านได้โปรดศีลกำลังแก่คริสตชนใหม่ถึง 10,000 คน ท่านยังได้ตั้งบ้านคณะรักกางเขนอีก 6-7 บ้านที่โคชินจีนในครั้งนี้ด้วย ท่านจึงได้รับกำลังใจมากที่เห็นพระศาสนจักรก้าวหน้า และมีความเข้มแข็งในดินแดนแห่งนี้
 
3. พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต กับการแพร่ธรรมในประเทศสยาม 
ขณะที่พระสังฆราชลังแบรต์พำนักอยู่ในค่ายของพวกญวณ ท่านได้สร้างโรงเรียนและโรงสวดอย่างละหลังและถวายแด่นักบุญยอแซฟในค่ายนั้น และท่านได้ใช้โอกาสที่พระสังฆราชปัลลือ อยู่จัดประชุมร่วมกับเพื่อนสงฆ์ธรรมทูตอื่นๆ ช่วยกันแต่งคู่มือสำหรับธรรมทูต เรียกว่า “คำแนะเตือนมิสชันนารี” ส่งให้สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อที่กรุงโรมรับรอง และได้รับการอนุมัติและจัดพิมพ์ในปี ค.ศ. 1669 
 
นอกจากนี้ท่านยังได้จัดการตามคำแนะนำของสมณกระทรวงฯที่ท่านเห็นว่าเร่งด่วนที่สุด นั่นคือ การจัดตั้งสถานที่อบรมคริสตชนพื้นเมืองให้มีคุณสมบัติเป็นพระสงฆ์ได้ ท่านทูลขอพระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งจากสมเด็จพระนารายณ์ ในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1665 พระนารายณ์ได้ประทานที่ดินที่หมู่บ้านมหาพราหมณ์ (หรือหมู่บ้านปลาเห็ด) อยู่ห่างจากกรุงศรีอยุธยาประมาณ 4 กิโลเมตรให้และได้ประทานวัสดุในการก่อสร้างให้ด้วย เมื่อสร้างเสร็จแล้วท่านให้ชื่อว่า “บ้านเณรนักบุญโยเซฟ” มีคุณพ่อลาโนเป็นอธิการองค์แรก
 
เมื่อกลับจากโคชินจีนครั้งที่ 3 แล้ว ท่านได้รวบรวม สตรีใจศรัทธาประมาณ 4-5 คนและตั้งกลุ่มแรกของคณะรักกางเขนในสยามที่ค่ายนักบุญโยเซฟ เมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1672 จุดมุ่งหมายพื้นฐานของคณะรักกางเขนที่พระสังฆราชลัมแบรต์เขียนไว้มีดังนี้ “จุดมุ่งหมายของคณะนี้ก็คือ ให้มีการทำสัตย์ปฏิญาณเป็นพิเศษ ที่จะรำพึงถึงมหาทรมานของพระคริสตเจ้าทุกวัน เพราะเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุดเพื่อจะได้รู้จักพระองค์และความรักของพระองค์” จากจุดมุ่งหมายนี้ท่านได้มอบหมายหน้าที่ให้สมาชิก 5 ประการ และประการที่สำคัญที่สุดคือการสอนและอบรมหญิงสาว สมาชิกยังช่วยพระสงฆ์ในงานต่างๆ ของวัด ดูแลคนป่วยในโรงพยาบาลที่ธรรมทูตได้ตั้งขึ้น และช่วยสอนเรียนเด็กหญิงในโรงเรียนของวัด เป็นต้น
 
ในด้านการติดต่อกับผู้มีอำนาจฝ่ายบ้านเมือง แม้สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อจะมีคำแนะนำมิให้ธรรมทูตยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นไปไม้ได้ที่จะไม่มีความสัมพันธ์กันบ้างกับกษัตริย์หรือผู้มีอำนาจฝ่ายบ้านเมือง ท่านลังแบรต์ได้ใช้การติดต่อสัมพันธ์เพียงเพื่อประโยชน์ทางศาสนาเท่านั้น เมื่อท่านไปโคชินจีนครั้งที่สอง และประสบปัญหาในการแพร่ธรรม ท่านได้จัดส่งเครื่องบรรณาการไปทูลถวายพระเจ้าแผ่นดิน สำหรับในประเทศสยามการขัดแย้งกับชาวโปรตุเกส ทำให้ท่านลังแบรต์เห็นความจำเป็นที่จะต้องได้รับพระเมตตาจากพระเจ้าแผ่นดิน แห่งกรุงสยาม เพื่อความปลอดภัย ท่านจึงขอเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ และได้รับการรับรองด้วยไมตรีอันดี จากการเข้าเฝ้าครั้งนี้ สมเด็จพระนารายณ์ได้รับสั่งให้ท่านภาวนาของพระเป็นเจ้าทรงโปรดรักษาพระอนุชาคนหนึ่งซึ่งมือเท้าพิการหมดท่านลังแบรต์และบรรดาคริสตชนได้ร่วมกันภาวนาต่อหน้าศีลมหาสนิท และอดอาหารเป็นเวลาติดต่อกันสามวันสามคืน และพระเจ้าทรงฟังคำภาวนาบันดาลให้พระอนุชาเคลื่อนไหวได้ เหตุการณ์ในครั้งนี้ได้เป็นผลทำให้ธรรมทูตชาวฝรั่งเศสได้รับพระอนุเคราะห์จากพระเจ้าแผ่นดินอยู่เสมอ
 
ท่านลังแบรต์ ยังทำตนเป็นชาวฝรั่งเศสที่รักชาติ ในเวลาเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสยาม กรุงโคชินจีน และตังเกี๋ยได้พูดเพิ่มพูนบารมีของกษัตริย์ฝรั่งเศสมีพระอานุภาพและมั่งคั่งมาก และได้ให้ท่านปัลลือบอกเล่าถึงความเป็นไปได้ทางการค้าในแถบนี้ให้ทางการฝรั่งเศสทราบด้วย สมเด็จพระนารายณ์เองก็ทรงเห็นว่า การมีพระราชไมตรีสัมพันธ์กับฝรั่งเศสจะเป็นการถ่วงดุลอำนาจของประเทศฮอลันดา ดังนั้นต่อมา พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงมีพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระเจ้ากรุงสยาม โอกาสนี้ พระสังฆราชทั้ง 3 ได้เข้าเฝ้าอย่างสง่าเป็นทางการด้วย สมเด็จพระนารายณ์เองทรงมีความโปรดปรานเป็นส่วนพระองค์ต่อพระสังฆราชลังแบรต์ โดยส่งแพทย์หลวงมารักษาท่านเมื่อเจ็บป่วยหลายครั้ง และเมื่อท่านจะเดินทางไปโคชินจีน ต้องอธิบายเหตุผลของการเดินทางเป็นพิเศษให้พระองค์ทราบด้วยในการขออนุญาต
 
ในด้านการติดต่อกับสมณกระทรวงฯ ที่กรุงโรมและคณะสงฆ์ที่ฝรั่งเศส ท่านลังแบรต์ซื่อสัตย์และปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ แม้การสื่อสารในสมัยนั้นจะล่าช้าและไม่สะดวก ท่านไม่เคยทำอะไรโดยไม่ได้ปรึกษาและจะรอการตัดสินใจจากผู้ใหญ่เสมอ แม้จะต้องรอคอยเป็นเวลานาน ตั้งแต่แรกที่ท่านลังแบรต์มาถึงกรุงศรีอยุธยาได้พบปัญหาหลายๆ ด้านจากพระสงฆ์ชาวโปรตุเกส ท่านจึงไม่รอให้ท่านปัลลือมาถึงสยามก่อน แต่ส่งคุณพ่อฌักส์ เดอ บูรฌจ์ ไปกรุงโรมทันที ประมาณเดือนตุลาคม ค.ศ. 1663 เพื่อชี้แจงสภาพที่แท้จริงที่เกิดขึ้นให้สมณกระทรวงได้รับทราบ และขอแนวทางมาแก้ไขให้สถานการณ์ดีขึ้นเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวในกลุ่มคริสตชน และเพื่อประโยชน์ในการประกาศพระวรสาร
 
สำหรับท่านปัลลือเอง ในช่วง 10 ปีแรกของการทำงานธรรมทูต ท่านไม่ค่อยได้อยู่ในแดนมิสซัง เนื่องจากท่านต้องไปกรุงโรมถึง 3 ครั้ง เพื่อชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง และเพื่อขออนุญาตเรื่องต่างๆ บางประการที่เกี่ยวข้องกับการแพร่พระวรสารในแดนมิสซัง ท่านลังแบรต์จึงเป็นผู้ที่พบปัญหาการต่อต้านโดยตรงมากที่สุด ในช่วงแรกเริ่มของการก่อตั้งมิสซังในดินแดนเหล่านี้
 
ตามความเป็นจริงแล้ว ประเทศสยามไม่ได้อยู่ในเขตปกครองที่ทางกรุงโรมมอบหมายให้แก่ธรรมทูตกลุ่มใหม่ และท่านลังแบรต์ก็คิดเพียงแต่จะพำนักอยู่ชั่วคราวจนกว่าจะเดินทางไปยังดินแดนที่ได้รับมอบหมายได้ แต่เมื่อท่านเห็นว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาเพียงพอ และมีน้ำพระทัยเผื่อแผ่ต่อบรรดาธรรมทูต ท่านจึงขอให้สมณกระทรวงที่กรุงโรมรวมประเทศสยามเข้าในความดูแลของธรรมทูตด้วย นอกจากนี้ในทางปฏิบัติแล้วท่านลังแบรต์พำนักอยู่ที่กรุงศรีอยุธยามากกว่าในดินแดนที่ได้รับมอบอำนาจให้ดูแล และท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ทำงานแพร่ธรรมในกรุงสยามควบคู่ไปกับที่ประเทศจีนและโคชินจีนด้วย
 
ผลจากการที่สันตะสำนักได้รับทราบปัญหาโดยตรงจากท่านปัลลือมาเป็นระยะๆ ทำให้สันตะสำนักแก้ปัญหาเรื่องอำนาจการปกครองมิสซัง ในดินแดนแถบนี้ในรูปแบบที่ปฏิบัติได้ โดยสันตะสำนักได้จัดตั้งของเขตมิสซังเสียใหม่เป็น 6 มิสซังใหญ่ และแต่งตั้งพระสังฆราชปกครองเพิ่มขึ้น ในการนี้ท่านลังแบรต์ ได้รับอำนาจปกครองอาณาจักรโคชินจีน จัมปา และกรุงสยาม ท่านปัลลือปกครองภาคใต้ของจีนกับเกาะต่างๆ ทั้งหมด ท่านลาโน ปกครองญี่ปุ่นและอาณาจักรใกล้เคียง นอกจากนี้ยังมีคำสั่งแต่งตั้งท่านปัลลือกับท่านลังแบรต์เป็นผู้บริหารทั่วไปที่ขึ้นกับสมณกระทรวงฯโดยตรงและมีพระสังฆราชผู้ช่วยท่านทั้งสองด้วย แต่ท่านลังแบรต์ไม่ได้ ทำหน้าที่ประการหลงนี้ เนื่องจากในช่วงนั้นสุขภาพของท่านเสื่อมโทรมมากแล้ว
 
4. กางเขนและสิริมงคลที่ท่านได้รับในชีวิต
พระสังฆราชลังแบรต์มีสุขภาพไม่แข็งแรงมาตั้งแต่อยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสแล้ว และการดำรงชีวิตในต่างแดนอีกทั้งการทรมา นกายของท่าน ทำให้สุขภาพของท่านเสื่อมลงตามลำดับ ท่านเริ่มป่วยในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1673 ต่อมาในปี ค.ศ. 1677 เมื่อกลับจากโคชินจีน โรคนิ่ว  ในไตกำเริบ ทำให้เจ็บป่วยมาก ท่านมักเก็บตัวในห้องเพื่อภาวนาและทรมานตน ในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1678 โรคกำเริบกะทันหัน สมเด็จพระนารายณ์ทรงส่งแพทย์มารักษา แต่ไม่สามารถบรรเทาความเจ็บปวดของท่านได้ ท่านป่วยหนักตั้งแต่บัดนั้น ท่านถวายมิสซาสุดท้าย วันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1978 ในจดหมายที่ท่านลังแบรต์เคยเขียนถึงท่านปัลลือ ท่านเคยเขียนว่า “ชีวิตของนักแพร่ธรรมต้องเป็นการตายตลอดเวลา” ท่านเคยสวดขอให้ตายบนกางเขน และในวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านได้รับพระคุณตามที่ขอจากการทรมานอันแสนปวดร้าวถึง 10 เดือนก่อนจะตาย ท่านลาโนซึ่งดูแลท่านในช่วงเวลานั้นเล่าว่า ท่านลังแบรต์น่าสงสารจริงๆ ท่านปวดมากจนร้องเสียงดัง และเป็นอย่างนี้ทุก 15 หรือ 30 นาที ถึงกระนั้นท่านก็ยังภาวนาว่า “ข้าแต่พระเจ้า ของพระองค์โปรดทวีความปวดทรมานของข้าพเจ้าหากว่าพระองค์โปรดทวีความอดทนของข้าพเจ้าพร้อมด้วย” ท่านมีสติดีจนวาระสุดท้าย และได้มอบวิญญาณคืนแด่พระเป็นเจ้า ในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1679 เวลาตีสามครึ่ง หลังจากทำงานธรรมทูตได้ 17 ปี
 
จิตตารมณ์ของพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต
1. บุคคลที่เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นและความกระตือรือร้น
ลักษณะชีวิตของพระสังฆราชลังแบรต์ที่เรามองเห็นนั้น มีความประสมประสานความเรียบง่ายและความสง่าผ่าเผยของน้ำใจที่เด็ดเดี่ยว และจิตใจที่เฉียบแหลมผิดธรรมดา ตั้งแต่วัยเยาว์ท่านได้แสดงออกให้เห็นว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความสุขุม สุภาพถ่อมตน ขยันหมั่นเพียร มั่นคง และไม่ลำเอียงในการตัดสินความ ท่านมีความฉลาด และความระมัดระวัง พระสังฆราชบี จ็าคเกอลีน บรรยายว่า “พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต เป็นบุคคลที่มีปรีชาสามารถในการตัดสินความ มีความซื่อดั่งชาวชนบท มีความกระตือรือร้นเยี่ยงประกาศก และมีสง่าราศีของผู้สืบต่ออำนาจจากอัครสาวก” ความรู้ทางด้านกฎหมายและทักษะที่มีจากอาชีพทนาย ความฝึกฝนให้ท่านเป็นบุคคลที่มีความเฉียบคมและเหตุผลที่ชัดเจน ท่านมีความสามารถในการชักชวนให้ผู้อื่นคล้อยตามความคิดเห็นของท่านและเชื่อในท่านอย่างน่ามหัศจรรย์ คุณสมบัติพื้นฐานต่างๆ เหล่านี้เป็นหลักยึดในชีวิตจิตและภารกิจทั้งมวลในการดำเนินชีวิตของท่านเสมอ
 
2. วิถีชีวิตจิตของพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต
พระสังฆราชลังแบรต์ฟังเสียงของพระจิตเจ้าอยู่เสมอ ท่านมอบตนเองเป็นพลีพร้อมกับพระคริสตเจ้าและมอบถวายชีวิตของท่านไว้ในพระหัตถ์ของพระบิดาเจ้าสวรรค์ ชีวิตจิตของท่านมีจุดศูนย์กลางอยู่ในพระตรีเอกภาพ ท่านได้บทสอนข้อคำสอนเกี่ยวกั บพระตรีเอกภาพ จากบุคคลที่สำคัญ 3 ท่าน ด้านชีวิตจิตในศตวรรษที่ 17 ดังต่อไปนี้
 
- นักบุญฟรันซิส เดอ ซาล เน้นเป็นพิเศษให้เราวางใจในพระเจ้า และยอมมอบตนไว้  พลานุภาพพระญาณสอดส่อง และความรักของพระเป็นเจ้าพระบิดา
 
- พระคาร์ดินัล เดอ เบรีล เป็นผู้ก่อตั้งวิถีชีวิตจิตที่เรียกกันว่า “วิถีชีวิตจิตแบบฝรั่งเศส” ท่านผู้นี้ส่งเสริมความสนิทสัมพันธ์กับพระคริสต์ แต่ละคนต้องเลือกพระเยซูคริสต์เป็นรูปแบบแต่อันเดียวของวิญญาณ และเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์ ท่านลังแบรต์ได้รับอิทธิพลจากวิถีชีวิตจิตแบบนี้ผ่านทางนักบุญยอห์น เอิ๊ด ผู้ซึ่งเป็นมิตรสนิทของท่านและเป็นศิษย์ของพระคาร์ดินัลเบรีล ท่านลังแบรต์มีความศรัทธาเป็นพิเศษต่อรหัสธรรมของกางเขนอันศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว ความสนิมสนมกับนักบุญยอห์น เอิ๊ด มีอิทธิพลโดยตรงที่ทำให้ความศรัทธานี้ก้าวหน้าไปสู่ความล้ำลึกสูงสุด วิธีการลับของท่านลังแบรต์ คือ การพึ่งพาพระคริสตเจ้าอยู่เสมอ ท่านกล่าวว่า “ก่อนที่จะลงมือกระทำการใดๆ เราต้องมีความสุภาพพอที่จะขออนุญาตจากพระเยซูคริสตเจ้า ดังนักบวชไปขออนุญาตจากอธิการของตน” 
 
- คุณพ่อหลุยส์ ลาลเลอมองต์ สงฆ์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ท่านหนึ่งของคณะเยสุอิต ท่านกล่าวอยู่เสมอว่า “ผู้เป็นสานุศิษย์ของพระเยซูเจ้าต้องทำตามการดลใจของพระจิตเจ้าอย่างล้ำลึก และต้องถือว่าคำดลใจของพระจิตเจ้านั้น เปรียบเหมือนคำสั่งที่พระองค์มีต่อ วิญญาณของตน” ท่านลังแบรต์ ได้รับบทสอนนี้ และมีทัศนคติที่นอบน้อมต่อการกระทำของพระจิตเจ้าอยู่เสมอ
 
3. จิตตารมณ์แห่งการนมัสการและความรักต่อกางเขนอันศักดิ์สิทธิ์
ท่านลังแบรต์ มีความศรัทธาเป็นพิเศษต่อศีลมหาสนิท ท่านใช้เวลาสวดภาวนาเป็นเวลานานต่อหน้าศีลมหาสนิทเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่านต้องการคำตอบสำหรับสถานการณ์ที่ยุ่งยาก ท่านให้ความเคารพต่อพิธีกรรมมาก ท่านปรารถนาให้มีการประกอบพิธีบูชามิสซาและการทำวัตรอย่างสง่าเปี่ยมไปด้วยความเคารพเป็นพิเศษในวันฉลองใหญ่ต่างๆ เพื่อจะได้นมัสการพระเป็นเจ้าอย่างเหมาะสม
             
ท่านมีความรักอย่างดูดดื่มต่อกางเขนศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า และปรารถนาที่จะมีส่วนร่วมในพระทรมานเพื่อการไถ่กู้ของพระองค์ ท่านต้องการเจริญชีวิตเพื่อทำให้พระมหาทรมานของพระคริสต์พระผู้ไถ่ดำเนินต่อไปและท่านพร้อมจะมอบชีวิตของตนเพื่อเป็นบูชา ท่านเคยแบ่งปันกับพระสงฆ์ของท่านว่า “จงเรียนจากพระคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขน เพราะพระองค์ให้แบบอย่างอันแน่นอนที่นำเราไปสู่ความปรีชาฉลาดและความรัก”
 
ท่านลังแบรต์ มีความรัก ความศรัทธาเป็นพิเศษต่อพระนางมารีย์และนักบุญโยเซฟด้วย ท่านสวดลูกประคำและทำนพวาร ท่านยกย่องพระนางมารีย์ด้วยตำแหน่งที่มีเกียรติว่าพระนางเป็น “ผู้สถาปนามิสซังทั้งหลาย” ท่านเลือกนักบุญโยเซฟเป็นองค์อุปถัมภ์ของคณะรักกางเขน ของสามเณราลัย ของโรงพยาบาลที่อยุธยาของพระศาสนจักรในเวียดนาม และพระศาสนจักรในภาคตะวันออกไกล
 
4. จิตตารมณ์แห่งการถวายบูชาเป็นพลีและความยากจน
ท่านลังแบรต์ดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย ท่านทรมานร่างกายด้วยการลงโทษตนเองบ่อยๆนอกจากนี้ท่านจำศีล อดเนื้อและไม่ดื่มเหล้าองุ่น ยกเว้นในวันฉลองสมโภช 3 วันอันได้แก่ วันพระคริสตสมภพ วันปัสกา และวันฉลองพระจิตเจ้าเสด็จลงมา ท่านได้รับอิทธิพลในการปฏิบัติเหล่านี้จากคุณพ่อฮัลเล จากนายยัง เดอแบนิแอร์ และภิกษุสงฆ์ในประเทศไทย จิตตารมณ์ การพลีตนเองของท่านปรากฏแจ้งชัดในกฎเกณฑ์ขององค์กรงานแพร่ธรรมและในสมาคมรักกางเขน และในหมู่คณะรักกางเขนสำหรับสตรี
             
ในขณะที่เป็นพระสงฆ์อยู่ ท่านลังแบรต์เต็มใจยกทรัพย์สมบัติของท่านให้แก่โครงการแพร่ธรรมในตะวันออกไกล ใน ปี ค.ศ. 1660 เมื่อท่านเดินทางไปถึงเมืองลีอองส์ ท่านขอยกตำแหน่งพระสังฆราชให้แก่พระสงฆ์อื่น คุณพ่อลาโนให้ความเห็นว่า คุณสมบัติที่ยอดเยี่ยมที่สุดของพระสังฆราชลังแบรต์ ได้แก่ การแสวงหาโอกาสที่จะถ่อมตนและดำรงชีวิตในความสุภาพถ่อมตน เพื่อเป็นการเลียนแบบพระเยซูคริสตเจ้าผู้บริสุทธิ์และยากจน เมื่อท่านยังเป็นทนายความอยู่นั้น ครั้งหนึ่งขณะที่กำลังเดินทางไปร่วมงานแต่งงาน ท่านตกจากหลังม้า หมวกหายไปแม้ว่าเสื้อผ้าจะเปรื้อนเปรอะ ท่านรู้สึกมีความสุขเนื่องจากได้รับการดลใจในทันใดนั้นว่า “จงเข้มแข็งไว้” และท่านเข้าไปร่วมงานนั้นในสภาพดังกล่าว บรรดาแขกรับเชิญอื่นๆ ต่างมองดูท่านด้วยความดูหมิ่นและประหลาดใจ ในวันนั้นท่านได้มีชัยชนะตนเองด้วยความปิตียินดี อีกคราวหนึ่ง   ท่านปลอมกายเป็นขอทานที่เมืองแรนส์ในแคว้นบริทาน  และหลังจากที่ถูกเยาะเย้ยตลอกวันแล้วท่านได้รับทาน 1 เหรียญเพ็นนี ท่านถือว่ากิจการเยี่ยงนี้แสดงชัยชนะฝ่ายจิตที่นำความสุขอันเหลือจะพรรณนาได้ให้แก่จิตวิญญาณของท่าน ครั้งที่สามท่านได้จาริกแสวงบุญด้วยความลำบากยากเข็ญในปี ค.ศ. 1655
 
5. จิตตารมณ์แห่งการเป็นธรรมทูต 
ท่านลังแบรต์ได้รับการดลใจมากมายจากแบบอย่างของบรรดาอัครธรรมทูต ท่านถือว่าผู้ที่เป็นอัครสาวกต้องเป็นบุคคลที่มีความดีบริบูรณ์ยิ่งใหญ่ เพื่อทำให้ผู้อื่นไว้วางใจและเกิดผลดี  ในงานธรรมทูต เข้าต้องมีจิตตารมณ์แห่งการพลีตนเอง ดำรงชีวิตยากจน และพร้อมที่จะอุทิศตนเองเพื่อผู้ที่มีความเชื่อ อัครสาวกต้องรวมการพลีตนกับการภาวนาเสมอๆ หลายๆ ครั้งท่านได้ตักเตือนบรรดาธรรมทูตของท่านว่า “ก่อนที่จะหว่านคำสอนของพระวรสารท่านต้องใช้  คำภาวนาเพื่อขอให้เกิดฝนจากสวรรค์มารดผืนนานั้น”
 
ท่านลังแบรต์เชื่อว่าอัครสาวกแต่ละคนเป็นพระหัตถ์ที่มองเห็นได้ของพระคริสตเจ้า และเป็นคนกลางคอยปลอบโยนบรรดาคนที่ได้รับความทุกข์ เป็นผู้มอบความดีและพระพรของพระเจ้าให้แก่ผู้อื่น และคอยมอบถวายความปรารถนาและความทุกข์ของโลกนี้ให้แก่พระเป็นเจ้า
 
ประวัติคณะ
คณะรักกางเขนแห่งจันทบุรี เป็นคณะนักบวชหญิงสังกัดสังฆมณฑลจันทบุรี คณะถือกำเนิดมาอย่างเงียบๆ ด้วยความราบเรียบ เช่นเดียวกับการกำเนิดของสถาบันนักบวชทั่วๆไป  แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป กลุ่มผู้บุกเบิกและสมาชิกที่เพิ่มขึ้น ต่างได้เป็นประจักษ์พยานถึงการทรงนำของพระจิตเจ้าในการปฏิบัติภารกิจที่พระองค์ทรงประสงค์ และนำความรักความเมตตาของพระคริสตเจ้าไปสู่มนุษยชาติอย่างไม่หยุดหย่อน
 
ในประเทศไทยคณะรักกางเขนกลุ่มแรกได้รับการก่อตั้งขึ้นที่อยุธยา สำหรับคณะรักกางเขนแห่งจันทบุรี ได้ถือกำเนิดมาหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก ระหว่างสงครามไทยกับพม่า ในปี ค.ศ. 1767 เพื่อความชัดเจนและต่อเนื่องในประวัติของคณะ จึงขอเสนอเรื่องราว ความเป็นมาของคณะรักกางเขนแห่งจันทบุรี ดังนี้
 
1. พระสังฆราช ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต ผู้ให้กำเนิดสถาบันรักกางเขน
พระสังฆราช ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต เป็นธรรมทูตชาวฝรั่งเศสกลุ่มแรกที่กระทรวงเผยแพร่ศาสนา ส่งออกไปยังดินแดนตะวันออกไกลในกลางศตวรรษที่ 17 ท่านและเพื่อนธรรมทูต มีจุดมุ่งหมายในการทำงานที่ประเทศเวียดนามและประเทศจีน แต่ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศทั้งสอง ทำให้ท่านต้องตั้งศูนย์กลางการทำงานในอยุธยาแทน และเดินทางไปยังดินแดนที่ได้รับมอบหมายเมื่อโอกาสนั้นอำนวย
 
พระสังฆราชลังแบรต์ เดินทางมาถึงอยุธยาในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1662 ท่านสามารถเดินทางไปเวียดนามได้สำเร็จในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1669 และอยู่ที่นั่นถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1670 และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1670 นี้เอง ท่านได้ตั้งคณะรักกางเขนสำหรับสตรีใจศรัทธาขึ้นเป็นแห่งแรกที่ตังเกี๋ย ทางภาคเหนือของประเทศเวียดนาม ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1671 ท่านเดินทางไปโคชินจีนดินแดนทางภาคใต้ของเวียดนาม และได้ตั้งคณะรักกางเขนขึ้นที่เมืองกวางงายเป็นกลุ่มที่สอง สำหรับใน ประเทศไทย ท่านตั้งกลุ่มสตรีรักกางเขนกลุ่มแรกที่ค่ายนักบุญยอแซฟ อยุธยา เมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1672 สมาชิกรุ่นแรกของกลุ่มมี 5 คน เป็นชาวโคชินจีน (ญวณใต้) ทั้งหมด
 
เป็นการยากที่จะระบุวันเดือนปีที่แน่ชัด ในการเปิดบ้านของคณะรักกางเขนที่จันทบุรี มีบันทึกในหนังสือประวัติศาสตร์พระศาสนจักรในประเทศไทยว่า เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่าครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2310 (ค.ศ. 1767) นั้น บ้านเมืองถูกเผา รวมทั้งวัดวาอารามและโรงเรียนก็ถูกเผาไปด้วย ในขณะที่บ้านเมืองกำลังระส่ำระส่ายนั้นมีอารามภคินีรักไม้กางเขนที่จันทบุรีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นและยังมีบันทึกในพงศาวดารว่า บรรดาภคินีที่อยุธยาได้หนีภัยสงครามมากับกองทัพของพระเจ้าตาก ภคินีได้ช่วยพยาบาลทหารและชาวบ้าน รวมทั้งเด็กๆที่เจ็บป่วย และได้ดูแลรักษาพยาบาลมารดาของพระเจ้าตากให้ทุเลาจากความป่วยไข้ ในขณะที่แพทย์หลวงไม่สามารถรักษาได้ เมื่อพระเจ้าตากทรงทราบก็ได้เรียกให้ภคินีเข้าเฝ้าและประทานหมากพลูให้เป็นรางวัล
 
2. การกำเนิดคณะรักกางเขนในจันทบุรี
ประวัติศาสตร์ของคณะรักกางเขนที่พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต ก่อกำเนิดขึ้นที่อยุธยาในปี ค.ศ. 1672 ได้รับการบันทึกไว้ด้วยการดำเนินชีวิตของมวลสมาชิกเป็นเวลายาวนานกว่า 100 ปี จวบจนถึงปี ค.ศ.1803 ซึ่งถือได้ว่าเป็นปีกำเนิดคณะรักกางเขนที่จันทบุรี เนื่องจากมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ในสมัยพระสังฆราชการ์โนลต์ (Garnault) ค.ศ. 1786-1811  อันตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) คุณพ่อฟลอรังส์ (Florens) เจ้าอาวาสวัดจันทบุรีในขณะนั้นได้เขียนรายงานในปี ค.ศ. 1803 ว่า “ในชุมชนคริสตัง (วันจันทบุรี) มีความหวังจะตั้งคณะหญิงสาวที่มีความเสียสละเพื่อทำกิจการดี” และในปีเดียวกันมีรายงานของพระสังฆราชการ์โนลต์ ในทำนองเสริมกันว่า “มีการรวบรวมหญิงสาวหลายคน” บันทึกเหล่านี้เป็นข้อสันนิษฐานได้ว่า มีการเริ่มต้นคณะภคินีรักกางเขนที่จันทบุรี
             
ต่อมาในปี ค.ศ. 1806 พระสังฆราชการ์โนลต์ได้รายงานว่า “นักบวชหญิงพื้นเมืองนี้ อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าอาวาส เขาได้รับแต่งตั้งขึ้นเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์แก่ตนเอง เพื่อสอนหญิงสาวเตรียมผู้สมัครเป็นคริสตังให้รับศีลล้างบาป เป็นผู้แปลคำสอนเขาดำเนินชีวิตร่วมกัน แต่ไม่มีการปฏิญาณตนอย่าสง่า”
             
ในปี ค.ศ. 1811 มีรายงานว่า พระสังฆราชการ์โนลต์ซึ่งเริ่มฟื้นจากการป่วยได้รับเชิญไปจันทบุรีเพื่อโปรดศีลกำลัง ในโอกาสนี้พระสังฆราชการ์โนลต์ ได้รับรองคณะภายใต้ชื่อว่า “คณะรักไม้กางเขน” และท่านได้เป็นประธานรับคำปฏิญาณของภคินีด้วย ท่านไปถึงจันทบุรี วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1811 และสิ้นชีวิตวันที่ 4 มีนาคม ปีเดียวกัน ก่อนที่ท่านจะสิ้นชีวิต ท่านได้แต่งตั้งคุณพ่อฟลอรังส์ให้เป็นพระสังฆราชสืบต่อจากท่าน จากบัญชีของวัดในปีนี้มีภคินีถึงแก่กรรม 1 คน ชื่อ ภคินีอันนา
             
สมัยพระสังฆราชฟลอรังส์ (ค.ศ.1811-1834) ตรงกับรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ค.ศ. 1824-1851) เป็นช่วงที่มิสซังยากจนมาก เพราะไม่ได้รับปัจจัยช่วยเหลือจากภายนอกเลย อีกทั้งทางการยังห้ามคนต่างชาติออกจากกรุงเทพฯ ด้วย เพราะเป็นช่วงที่อังกฤษล่าอาณานิคม บรรดามิสชันนารีจึงถูกเพ่งเล็งมากไม่มีรายงานใดๆ เกี่ยว กับภคินี
 
3. วิวัฒนาการของคณะในยุคแรก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1834-1909
ในปี ค.ศ. 1834 สมัยพระสังฆราชกูรเวอซี (Courvezy  ค.ศ. 1843-1841) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ในจดหมายที่พระสังฆราชรายงานถึงผู้ใหญ่ที่ปารีส วันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1834 ได้กล่าวถึงการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอธิการิณีคนใหม่ และในจดหมายรายงานปีต่อมา ท่านได้รายงานเกี่ยวกับคณะภคินีมาโดยตลอด ในปี ค.ศ. 1839 คุณพ่อรังแฟง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรีและวิญญาณรักษ์ของคณะภคินี ท่านได้จัดให้กลุ่มภคินีเล็กๆ นี้มีระเบียบมาก และช่วยให้ภคินีก้าวหน้าด้านชีวิตภายใน จำนวนสมาชิกในปี ค.ศ. 1839 มี 18 คน บางคนได้ทำปฏิญาณตนแล้ว ดำเนินชีวิตตามวินัยที่มิสซังโคชินไนรับรอง บรรดาภคินีสอนหญิงสาวโดยไม่คิดค่าเล่าเรียน และเลี้ยงชีพด้วยการงานของตนเอง ได้แก่ การทอเสื่อกกอย่างประณีตสวยงาม ทำกะปิ ทำสวนผลไม้ และมิสซังมีส่วนช่วยเหลือบรรดาภคินีบ้าง
             
ในปี ค.ศ. 1854 สมัยพระสังฆราชปัลเลอกัว (Pallegoix ค.ศ. 1841-1862) ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 4 จากรายงานของพระสังฆราช ปี ค.ศ. 1842 มีภคินี 14 รูป ปี ค.ศ. 1843-1848 มีภคินี 12 รูป ภคินีเหล่านี้ทำการรื้อฟื้นการปฏิญาณตนอย่างสง่าทุก 3 ปี ไม่มีเขตพรต ในปี ค.ศ. 1848 พระสังฆราชได้ส่งเงินจำนวนหนึ่งให้คุณพ่อรังแฟง เจ้าอาวาสวัดจันทบุรีในขณะนั้น จัดสร้างอาราม ขึ้นใหม่ เนื่องจากอารามเดิมคับแคบ อีกทั้งยังได้มีการปรับปรุงฟื้นฟูกฎระเบียบวินัยของคณะเพื่อความเหมาะสมกับชีวิตนักบวชด้วย ต่อมาในปี ค.ศ. 1852 พระสังฆราชปัลเลอกัว ได้รับรองกฎวินัยของคณะเป็นทางการ และได้เปลี่ยนชื่อคณะใหม่ว่า “ข้าปรนนิบัติของพระแม่เจ้า” เครื่องแบบของสมาชิกในขณะนั้นคล้ายชุดแต่งกายของสตรีชาวเวียดนาม เว้นแต่ตัดผมสั้น กางเกงขายาวสีดำ เสื้อแขนยาวสีดำ ตัวเสื้อยาวเลยเข่า ผ้าคลุมบ่าสีเทา และสวมรองเท้าแตะคีบ
             
ในปี ค.ศ. 1898 สมัยพระสังฆราชหลุยส์ เวย์ (ค.ศ. 1875-1909) ตรงกับรัชกาลที่ 5 ภคินียังอยู่ในการอบรมดูแลของเจ้าอาวาส เมื่อคุณพ่อกูอาส เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้จัดสร้างอารมขึ้นใหม่ เป็นเรือนไม้ 2 ชั้นต่ำๆ ชั้นบนเป็นที่พัก ชั้นล่างเป็นที่ทำงาน ( ภคินีใช้เรือนหลังนี้จนถึงปี ค.ศ. 1950) ต่อมาในปี ค.ศ. 1900 คุณพ่อเปรีกัลป์ เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้สร้างบ้านเด็กกำพร้าและให้ภคินีดูแล ท่านเอาใจใส่ภคินีดีมาก
 
4. ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ ค.ศ. 1909-1944
สมัยพระสังฆราช แปร์รอส (ค.ศ. 1909-1947) เป็นช่วงเวลายาวนานถึง 4 รัชกาล คือ ตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ถึง ต้นรัชกาลที่ 9 ในสมัยพระสังฆราช แปร์รอส มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของโลก และของประเทศไทย รวมทั้งพระศาสนจักรไทยหลายประการ คือ ปี ค.ศ. 1914-1918 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ปี ค.ศ. 1932 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย ปี ค.ศ. 1940-1945 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เอง ก็เกิดสงครามอินโดจีน ทำให้เกิดมรณสักขีแห่งบ้านสองคอน ซึ่งในจำนวนมรณสักขีทั้งเจ็ดนี้ก็มีภคินีรักกางเขน 2 ท่านคือ ภคินีอักแนส พิลา และภคินีลูซีอา คำบาง สังกัดคณะรักกางเขนแห่งเชียงหวาง  ในปัจจุบัน 
             
ในปี ค.ศ. 1912 พระสังฆราชได้รายงานถึงสมณกระทรวงว่า ที่จันทบุรีมีภคินี 50 รูป ต่อมาในปี ค.ศ. 1913 พระวินัยฉบับที่ 2 ได้รับการรับรอง ภคินีทำการถวายศีลบนทุก 3 ปี
             
ภคินีสมัยนี้ ใช้ภาษาญวณ เพราะเกิดในแวดวงของชาวเวียดนาม ภคินีไม่มีความรู้ภาษาไทย จนถึงปี ค.ศ. 1937 พระสังฆราชจึงอนุญาตให้ส่งภคินีไปศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการในโรงเรียนของรัฐบาล ขณะนั้นคุณพ่อซีมอนเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี
             
ปี ค.ศ. 1940 มีการเปลี่ยนเครื่องแบบเป็นเสื้อชุดยาวสีดำ มีผ้าคลุมสีเดียวกัน แขวนสร้อยเงินห้อยกางเขน ภคินียังคงหาเลี้ยงชีพเองด้วยการทอเสื่อ ตกปู จับปลาขาย สีข้าวกินเอง อาหารการกินค่อนข้างอดยาก ทำงานหนักด้านหน้าที่การงาน ภคินีทำการสอนคำสอน ช่วยงานวัดและรักษาโรคด้วยสมุนไพร
 
5. ยุคพัฒนา ค.ศ. 1944-1971 
ปี ค.ศ. 1944 พระสังฆราชยาโกเบ แจง เกิดสว่าง ได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชไทยองค์แรก ให้ดำรงตำแหน่งประมุขสังฆมณฑลจันทบุรี ซึ่งแยกจากสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ท่านได้ปรับปรุงคณะให้เหมาะสมตามกาลสมัย ดังนี้ คือ
                       
1. ปี ค.ศ.1947 ย้ายนวกสถานจากจันทบุรีไปที่วัดเซนต์ปอล แปดริ้ว ทำให้มีผู้มาสมัครเป็นนักบวชมากขึ้น เนื่องจากการคมนาคมที่สะดวกกว่า
                       
2. ท่านได้ให้มีการก่อสร้างอารามฯขึ้นใหม่ เป็นตึกสูง 3 ชั้น ภา ยใต้การควบคุมดูแลของคุณพ่อบุญชู ระงับพิษ เจ้าอาวาสวัดจันทบุรี อารามใหม่ได้ชื่อว่า “อารามแม่พระฟาติมา” ได้รับการเสกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1951 (ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมมากแล้ว) 
                       
3. มีการปรับปรุงพระวินัยใหม่ เป็นฉบับที่ 3 ซึ่งได้รับการอนุมัติใช้ วันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1951
 
การปรับปรุงพัฒนาคณะฯได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนถึงสมัยพระสังฆราช ฟรังซิสเซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี (ค.ศ.1952-1969) ท่านได้ดำเนินการให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงดังนี้ 
 
1. ในปี ค.ศ. 1953 ท่านได้มอบหมายให้คุณพ่อบุญชู ระงับพิษ สร้างวัดถาวรของคณะด้วยเงินของสังฆมณฑลฯ
 
2. ในปี ค.ศ. 1958 ย้ายนวกสถานจากแปดริ้วไปอยู่ที่วัดนักบุญฟิลิปและยาก็อบ หัวไผ่ ชลบุรี
 
3. จัดให้มีการปรับปรุงพระวินัยของคณะเป็นฉบับที่ 4 ให้ตรงกับสังคายนาวาติกันที่ 2 และดำเนินการให้คณะได้รับการรับรอง จากสมณกระทรวงนักบวชที่กรุงโรม   เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1963 และเปลี่ยนชื่อคณะเป็น “คณะธิดากางเขน ณ จันทบุรี” (ปัจจุบัน เปลี่ยนมาใช้ “คณะรักกางเขน แห่งจันทบุรี” ตามนามเดิมเมื่อแรกตั้งที่อยุธยา) 
 
4. ท่านได้โอนโรงเรียนของวัด 3 แห่ง ให้คณะดำเนินการบริหาร เพื่อเป็นทุนเลี้ยงดูสมาชิกต่อไป โรงเรียนทั้งสามแห่งนั้น คือ โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จันทบุรี โรงเรียนยอแซฟวิทยา ท่าใหม่ จันทบุรี และโรงเรียนมารีวิทยา ปราจีนบุรี
 
5. นอกจากนั้น ท่านยังได้ดูแลเอาใจใส่ให้สมาชิก ได้รับการศึกษาอบรมเพิ่มขึ้น ทั้งทางโลก และทางด้านชีวิตจิต ในการไปศึกษาต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ
                     
ในปี ค.ศ. 1971 พระสังฆราชฟรังซิส เซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี ลาออกจากตำแหน่งด้วยปัญหาสุขภาพ พระสังฆราชลอเรนซ์ เทียนชัย สมานจิต ได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชประมุขสังฆมณฑลจันทบุรีสืบต่อมา ท่านดูแลคณะอย่างใกล้ชิด และดำเนินการให้คณะได้รับการฟื้นฟูปรับปรุงอย่างต่อเนื่องดังนี้
 
1. ค.ศ. 1973 มีการปรับปรุงพระวินัยให้ตรงตามคำสอนของพระสังคายนาวาติกัน ที่ 2 มีการทดลองใช้พระวินัยฉบับนี้ ถึง ปี ค.ศ. 1980
 
2. ค.ศ. 1980 เปิดประชุมสมัชชาใหญ่เป็นครั้งแรก  คณะฯเริ่มศึกษาประวัติและจิตตารมณ์ของพระสังฆราชลัมแบรต์ เดอ ลา ม็อต ผู้สถาปนาคณะ
 
3. ค.ศ. 1982 ให้มีการยกร่างพระวินัยฉบับใหม่ เป็นฉบับที่ 6 ซึ่งได้รับการรับรองจากสมณกระทรวง ในปี ค.ศ. 1986 และใช้พระวินัยฉบับนี้จนถึง ปี ค.ศ. 2000
 
4. ค.ศ. 2000 ในสมัยสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 8 ได้มีการยกร่างพระวินัยใหม่เป็นฉบับที่ 7 เปลี่ยนจากคำว่า “พระวินัย” เป็น “พระธรรมนูญ” เป็นพระธรรมนูญที่ยึดถือจิตตารมณ์ของพระสังฆราชลัมแบรต์ เดอ ลา ม็อต อย่างสมบูรณ์ และใช้ร่วมกันในคณะรักกางเขนทุกแห่งทั้งในประเทศเวียดนามและประเทศไทยและลาว
                       
ในปี “ปีติมหาการุณ” ได้มีการสร้างศูนย์อบรบรักกางเขนที่ศรีราชา ซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะสมทางด้านการคมนาคม การแพร่ธรรม และงานอบรม ศูนย์อบรมประกอบด้วย บ้านสันตะมารีย์ เป็นศูนย์รวมของยุวภคินี บ้านเบธานี เป็นบ้านอบรมผู้สนใจขั้นเข้มข้น (จบชั้น ม. 6) บ้านลัมแบรต์ปีติมหาการุณ เป็นบ้านอบรมผู้ที่กำลังศึกษาในชั้น ม.4 -ม.6 และนวกสถาน บ้านอบรมของนวกเณรี
 
6. การอบรมในคณะรักกางเขน แห่งจันทบุรี
พระสังฆราชลังแบรต์ ได้สอนสมาชิกตั้งแต่แรกเริ่มให้ดำรงชีวิตตามคำสอนของนักบุญเปาโลเหมือนดังว่าเขาทำทุกสิ่งต่อจากพระเยซูเจ้า “ส่วนการทนทุกข์ของพระคริสต์ที่ยังขาดอยู่นั้น ข้าพเจ้าก็รับทนจนสำเร็จในเนื้อหนังของข้าพเจ้า เพราะเห็นแก่พระกายของพระองค์ คือพระศาสนจักร” (คส:24) ท่านยังเตือนพวกเขาให้อบรมสั่งสอนผู้ที่เตรียมตัวเป็นนักบวชด้วยความรักและเอาใจใส่มากๆ ด้วย
                     
สมาชิกดำเนินชีวิตฝ่ายจิต ตามแนวทางที่พระสังฆราชลังแบรต์วางไว้ให้ตลอดมาจนถึงช่วงเวลากรุงศรีอยุธยาแตก หลังจากนั้นเมื่อมีการตั้งกลุ่มคณะรักกางเขนขึ้นใหม่ที่จันทบุรี สมาชิกก็ได้รับการอบรมชีวิตฝ่ายจิตจากบรรดาพระสงฆ์เจ้าอาวาสวัดจันทบุรี ซึ่งไม่ใช่นักบวชและอาจไม่ทราบชัดเจน ถึงจิตตารมณ์ที่พระสังฆราชลังแบรต์ ได้สอนบรรดาสมาชิกตั้งแต่แรกเริ่ม ถึงกระนั้น ก็ยังมีจิตตารมณ์ดั้งเดิมของคณะที่ส่งผ่านต่อมาถึงสมาชิกปัจจุบันอยู่มาก โดยเฉพาะในความศรัทธาพิเศษต่อพระเยซูเจ้าผู้ถูกตรึง เนื่องจากบรรดาภคินีรุ่นพี่ๆ ได้รับจิตตารมณ์ซึมซับอย่างลึกซึ้ง และปฏิบัติสืบต่อกันมานาน จนเป็นประเพณีตกทอดมาถึงภคินีรุ่นน้อง
                       
สังคายนาสากลวาติกันครั้งที่ 2 มีคำแนะนำให้นักบวชศึกษาประวัติชีวิตดั้งเดิมของคณะ และฟื้นฟูจิตตารมณ์เดิม ในขณะเดียวกัน ก็ปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในปัจจุบันด้วย ในช่วงนี้คณะก็ได้ปรับปรุงและฟื้นฟูชีวิตของคณะในทุกด้าน โดยเน้นด้านชีวิตนักบวชเป็นหลักสำคัญเสมอ การมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างพี่น้องคณะนักบวชด้วยกันในประเทศไทยทั้งหญิงและชาย เป็นพลังเสริมชีวิตนักบวชของคณะให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงแน่วแน่และถูกต้องยิ่งขึ้นด้วย
                     
หลังจากที่คณะได้ทำการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมด้านการอบรมมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ปัจจุบันนี้ได้จักแบ่งการอบรมในคณะออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ 
 
การอบรมเบื้องตน และการอบรมต่อเนื่อง
1. การอบรมเบื้องต้น การอบรมระดับนี้แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ 
 
1.1 ขั้นผู้สนใจ ในขั้นนี้แบ่งการอบรมผู้สมัครออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ดังนี้ 
ก. กลุ่มเล็ก ได้แก่ผู้สนใจที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 
ข. กลุ่มกลาง ได้แก่ผู้สนใจที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6
ค. กลุ่มเข้มข้นได้แก่ผู้สนใจที่เตรียมตัวเข้าสมัครภาพ มีอายุไม่เกิน 30 ปี และมีระยะเวลาการอบรมไม่น้อยกว่า 1 ปี
 
1.2  ขั้นสมัครภาพ ผู้สมัครภาพเป็นผู้ที่ผ่านการอบรมกลุ่มเข้มข้นมาแล้ว ต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปีบริบูรณ์ ระยะเวลาการอบรมในขั้นนี้อย่างน้อย 6 เดือน และไม่เกิน 2 ปี
 
1.3 ขั้นนวกภาพ ผู้สมัครเข้านวกภาพเป็นผู้ที่ผ่านขั้นสมัครภาพมาแล้ว ในขั้นนี้ระยะเวลาการอบรม 2 ปี ปีแรกเป็นปีบังคับตามกฎหมายของพระศาสนจักร
 
1.4 ขั้นยุวภาพ ขั้นนี้เป็นการอบรมภคินีที่ถวายตัวปฏิญาณชั้วคราว ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ
ก. ระยะแรกเป็นการปฏิญาณตน 1 ปี 3 ครั้ง
ข. ระยะที่สองเป็นการปฏิญาณตน 3 ปี 1 ครั้ง
                     
2. การอบรมต่อเนื่อง เป็นการอบรมพิเศษ ที่จัดขึ้นสำหรับภคินีที่ปฏิญาณตนตลอดชีพแล้ว ในหัวข้อหลากหลาย สำหรับกลุ่มต่างๆตามความเหมาะสม มีระยะเวลาสั้น-ยาวแตกต่างกันไป และจัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อฟื้นฟูชีวิตสมาชิกให้มีพลังมากขึ้นในการดำรงชีวิตในคณะตลอดชีวิตของตน
                     
สมาชิกคณะรักกางเขนแห่งจันทบุรี ยืนหยัดมาได้จนถึงปัจจุบันนี้ โดยการนำชีวิตภายใต้การนำของพระจิตเจ้า และด้วยดวงใจอันเปี่ยมล้นในความรักต่อพระคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขน ด้วยความสำนึกในพระคุณเหลือคณนาของพระเจ้าที่มีต่อคณะ และมั่นใจในความค้ำจุนของพระองค์ สมาชิกจะก้าวต่อไปในหนทางชีวิตของคณะโดยไม่หวั่นเกรงต่ออุปสรรคต่างๆ ที่อาจพานพบ โดยถือตามคำสั่งสอนของนักบุญเปาโลที่สอนให้ทำงานของพระเจ้าเต็มกำลังโดยไม่ต้องหวังผลสำเร็จ เมื่อท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าปลูก อปอลโลรดน้ำ เพราะฉะนั้นคนที่ปลูกและคนที่รดน้ำไม่สำคัญอะไร แต่พระเจ้าผู้ทรงโปรดให้เติบโตนั้นต่างหากที่สำคัญ” (1 คร 3:6-7)
 
พระพรพิเศษและจิตตารมณ์ของคณะ
การให้พระคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขนทรงดำเนินชีวิตในตัวสมาชิก โดยการดำเนินพันธกิจของคณะให้สอดคล้องกับพระวรสาร ที่ต้องหยั่งรากลึกลงในวัฒนธรรมท้องถิ่น และอยู่ใน  คำสอนของพระศาสนจักร
 
คติพจน์ของคณะ
                     
กางเขน นำสู่  สิริมงคล 
 
PER   CRUCEM  AD  LUCEM
 
ภารกิจ
ารสอนคำสอน งานแพร่ธรรม การสอนเรียน การช่วยเหลืองานในสังฆมณฑล โดยร่วมงานกับพระสงฆ์ภายใต้การปกครองของพระสังฆราชประจำสังฆมณฑล
 
วิสัยทัศน์
สมาชิกรักกางเขนแห่งจันทบุรี สืบทอดในภารกิจไถ่กู้ของพระเยซูคริสตเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขน ตามจิตตารมณ์ที่พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต มอบให้แก่สถาบัน
 
พันธกิจ
1. เจริญชีวิตสนิทสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขน ด้วยการรำพึงภาวนา พลีกรรม เจริญชีวิตเรียบง่ายตามแบบอย่างของผู้ตั้งคณะ
2. พัฒนาศักยภาพทุกมิติของตน อย่างเต็มความสามารถและต่อเนื่อง เพื่อความมีประสิทธิภาพในการทำงาน 
3. เป็นผู้ร่วมในงานอภิบาลของพระศาสนจักรท้องถิ่น
4. ให้การศึกษาอบรมเยาวชนในโรงเรียนและนอกโรงเรียน ช่วยเหลือสตรีและเด็กที่ด้อยโอกาส
 
ที่อยู่ของคณะ
บ้านศูนย์กลางคณะรักกางเขน แห่งจันทบุรี
108หมู่ 5 ตำบลจันทนิมิต อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี 22000
โทร. 0-3931-2424 , 0-3932-5305  โทรสาร. 0-3932-4545
 
พระสังฆราช ลังแบรต์  เดอ ลา ม็อต 
ตรงกับรัชสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา
“ขอขอบพระทัยเจ้าพี่ยิ่งนักที่มุ่งหวังจะเป็นทองปฐพีเดียวกัน ทั้งทางโลกและทางธรรม แต่ในส่วนของศาสนานั้น  เห็นว่าเป็นเรื่องของพระเป็นเจ้าที่จะทรงบันดาล แต่น้องสัญญาว่า  เมื่อใดก็ตามที่พระเจ้าทรงดลพระทัยให้เปิดรับศีล  การที่จะบิดพลิ้วนั้นหาไม่เลย แต่บัดนี้ความรู้สึกนั้น  ยังไม่ บังเกิดขึ้น จึงยังรับไม่ได้”
                       
ข้อความข้างต้นเป็นศุภอักษรที่สมเด็จพระนารายณ์แห่งราชธานีศรีอยุธยาทรงตอบ เมื่อครั้งที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ทรงส่งราชทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีเนื้อหาใจความแห่งการผูกไมตรี คือ ขอให้เจ้ากรุงสยามเปิดโอกาสให้บาทหลวงแห่งคริสต ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก เผยแพร่หลักธรรมคำสอน และรับคนในราชอาณาจักรสยามเข้ารีตได้  อีกทั้งขอสิทธิพิเศษในเรื่องที่เกี่ยวพันกับการดำเนินชีวิตสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และถ้าเป็นไปไมตรีของทั้งสองอาณาจักร จะผูกพันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น  หากสมเด็จพระนารายณ์จะทรงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ด้วย
                       
สาเหตุใดที่ทำให้กรุงฝรั่งเศสมั่นใจเรื่องการปลูกฝังรากลึก ของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในกรุงสยาม ถึงขั้นกล้าที่จะชวนพระมหากษัตริย์ไทยให้ทรงหันไปนับถือในต่างศาสนาแห่งมาตุภูมิ คำตอบ  คือ เหตุแห่งอดีตผสานกับการณ์ในปัจจุบัน
 
ในอดีต นับแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่  2 แห่งกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2054 จนถึง  พ.ศ. 2150 เป็นระยะเวลาเกือบ  100 ปี ที่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้เข้ามาเผยแพร่ และเจริญรุ่งเรือง ในกรุงสยามโดยชาวโปรตุเกส ในครั้งนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสกับราชสำนักศรีอยุธยาเป็นไปอย่างราบรื่น  ชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาค้าขาย และรับราชการเป็นทหาร  โดยเฉพาะในสมัยของพระชัยราชาธิราช  ความสามารถในการรบ และความจงรักภักดีของทหารชาวโปรตุเกสเป็นที่กล่าวขานสืบต่อมาช้านาน
 
พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาตอบแทนคุณงามความดีของชาวโปรตุเกส โดยเปิดโอกาสให้ชาวโปรตุเกสดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระ พระราชทานที่ดินและที่ทำกันให้ ให้สิทธิในการเผยแพร่ศาสนา การณ์เป็นเช่นนี้ สืบมาจนกระทั่งถึงสมัยพระนเรศวรผู้เป็นเจ้า  เมื่อชาวฮอลันดาและอังกฤษขยายอิทธิพลทั้งทางการค้าการ ทหารเข้ามาสู่สุวรรณภูมิ กิจการของชาวโปรตุเกสก็ถูกราชสำนัก ลดชั้นความสำคัญลง ส่งผลให้งานเผยแพร่ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก พลอยชะงักงันไปด้วย  ยุคของศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ ซึ่งเป็นศาสนาของของชาวฮอลันดา  และชาวอังกฤษกลับได้รับการส่งเสริม
 
ภาพจากอดีตจะเห็นได้ว่า กรุงสยายเป็นถิ่นทองสำหรับการเผยแพร่ศาสนา ไพร่ฟ้าปรีดา และยอมรับการเกิดขึ้นของศาสนาใหม่ๆ พระมหากษัตริย์พระราชทานโอกาส  เปิดกว้างสำหรับการประกอบกิจกรรมด้านศาสนา
 
เมื่อผสานกับการณ์ปัจจุบัน ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยุคนี้ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกกลับฟื้นฟูโดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศส สมเด็จพระนารายณ์ทรงสนพระทัยในเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก  พระองค์ทรงเชิญให้บาทหลวงเข้าร่วมสนทนาธรรมบ่อยครั้ง  และในห้องบรรทมของพระองค์ถึงกับติดรูปไม้กางเขนไว้ด้วย
 
ด้วยเหตุนี้ เจ้ากรุงฝรั่งเศสจึงได้กล้าหาญพอ ที่จะเชิญพระองค์ให้นับถือศาสนาคริสต์ แต่ถึงแม้พระองค์จะทรงสนพระทัยในกิจการงานของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมากเพียงใด แต่พระองค์ก็ยังคงยึดมั่นในศาสนาพุทธเช่นเดิม  ส่วนข้อเรียกร้องอันจะนำมาซึ่งไมตรีอื่น พระองค์ทรงยินยอมและให้การสนับสนุนตามพระเจ้าหลุยส์ทุกประการ
 
ครั้งแรกที่พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์  พระองค์ทรงพระราชาทานเกียรติยศ และความเป็นกันเองให้แก่พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต และคณะเป็นอย่างมาก ทรงให้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ทรงซักถามทั้งเรื่องส่วนตัวเรื่องเกี่ยวกับเมืองฝรั่งเศส และเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ด้วยความสนพระทัย
 
“พระเจ้ากรุงสยามผู้นี้เป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลม แต่ไม่ถือพระองค์ ก่อนที่จะสนทนาเรื่องอื่น ได้ทรง ขี้บังคับช้างตกมันให้พวกเราได้ชมด้วย และเห็นว่าพระองค์เป็นผู้ที่เก่งทางบังคับช้างมาก  เห็นจะมีผู้เทียบยากมาก” เป็นบันทึกของบาทหลวงที่ได้เข้าเฝ้าพระนารายณ์  และยังมีบันทึกต่ออีกว่า “หลังจากเจรจาเรื่องต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว พระองค์ยังได้โปรดให้เจ้าพนักงาน เอาผลไม้และขนมหวาน ใส่ชามเงินใบใหญ่ถึง 40 ใบ  มาเลี้ยง  นับว่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง” 
 
ความอัศจรรย์ที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีไมตรี และโปรดปรานบาทหลวงชาวฝรั่งเศสเหล่านี้ ทำให้เกิดความประหลาดใจแก่เหล่าเสนาอำมาตย์เป็นอย่างยิ่ง  เพราะพระองค์ไม่เคยพระราชทานเกียรติยศให้กับชนชาติใดมากถึงเพียงนี้มาก่อน  นอกจากนี้ยังสร้างความขัดเคืองให้แก่บรรดาพวกแขกมัวร์ พวกฮัอลันดา และอังกฤษเป็นอย่างมากที่พวกตนไม่ได้รับเกียรติยศเทียบเท่า
 
นอกจากอัธยาศัยไมตรีในการโปรดปรานให้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดที่เจ้ากรุงสยาม ทรงมีให้กับคณะบาทหลวงชาวฝรั่งเศสแล้ว พระองค์ยังทรงพระราชทานความช่วยเหลือทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับการปฎิบัติศาสนกิจ และเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ พระองค์ทรงสร้างบ้านพักให้สังฆราช และบรรดาบาทหลวงบนที่ดินที่ทรงพระราชทาน  ทรงพระราชทานสิ่งของที่จำเป็นทั้งเรือและเสลี่ยงสำหรับการเดินทาง  และเมื่อสังฆราชทูลขอพระราชทานที่ดินสำหรับสร้างโรงเรียนและสร้างวัด นอกจากจะพระราชทานที่ดินที่เหมาะสมบริเวณบ้านเกาะมหาพราหมณ์ให้แล้ว  พระองค์ยังทรงโปรดให้ช่างนำเครื่องก่อสร้างของบาทหลวงไปดำเนินการให้จนเสร็จอีกด้วย
 
ในเรื่องเกี่ยวกับการเผยแพร่ศาสนา พระองค์ทรงเอื้อเฟื้อมีไมตรีพระราชทานพระบรมราชา อนุญาตให้สังฆราชตั้งคณะบาทหลวงเพิ่มอีก 5 แห่ง ดังบันทึกตอนหนึ่งที่ว่า  “เจ้าแผ่นดินกรุงสยามไม่ขัดข้องจึงได้จัดตั้งคณะขึ้นอีก 5 ที่ คือ เมืองหลวง ที่หนึ่ง เมืองบางกอกที่หนึ่ง  เมืองตะนาวศรีที่หนึ่ง ค่ายมอญที่หนึ่ง และเมืองสองแคว  (พิษณุโลก)  อีกที่หนึ่ง”
 
มีบันทึกเป็นหลักฐานปรากฎหลายแห่งว่า  วัตรปฏิบัติของพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต และบรรดาบาทหลวงในยุคนี้เป็นที่ถูกพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนารายณ์เป็นอย่างมาก พระองค์ทรงโปรดปรานที่เห็นความเสียสละ และความตั้งใจ จริงในการปฏิบัติงานของคณะบาทหลวง พระองค์ได้เห็นผู้คนจำนวนมากกว่า 80 คน  ที่บาทหลวงต้องเลี้ยงดู  อีกทั้งบรรดาคนต่างชาติต่างภาษากว่า 700 คน ที่บรรดาบาทหลวงต้องอบรมสั่งสอนทั้งงานศาสนาและวิชาการตะวันตก และพระองค์ยังได้เห็นเหล่าคนเจ็บไข้ได้ป่วยจำนวนมากต่างเข้ารับการรักษาพยาบาล  จากสถานพยาบาลที่คณะบาทหลวงตั้งขึ้นโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
 
ความประทับใจที่พัฒนาเป็นความโปรดปรานนี้เอง ทำให้พระนารายณ์ส่งข้าราชบริพารในพระองค์ จำนวน 10 คน  เข้าเรียนในโรงเรียนของบาทหลวง และทรงโปรดเกล้าให้พระสังฆราชลังแบรต์เดอ ลา ม็อต และคณะเข้าถวายความรู้เรื่องของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แด่เจ้าฟ้าอภัยทศพระอนุชา เมื่อ พระอนุชาธิราชทรงแสดงความสนพระทัยที่จะศึกษาธรรมของคริสตศาสนา
 
เหตุการณ์เกี่ยวกับเจ้าฟ้าอภัยทศนี้ สมควรจะได้รับการบันทึกไว้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความ สัมพันธ์ระหว่างเจ้ากรุงสยามกับพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต เพราะมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบางประการ เป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรือง ถึงขีดสุดของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในสมัยอยุธยา แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่นำมาสู่ความตกต่ำ และโรยราของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในสมัยอยุธยาเช่นกัน
 
เหตุการณ์ช่วงนี้ หากได้อ่านเอาความจากบันทึกภาษาโปรตุเกสที่สอดแทรกอยู่ในเรื่อง ราวของเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ (คอนสแตนตันฟอนคอล) ซึ่งได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยในสมัยรัชกาลพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้เรียบเรียงตรวจสอบใหม่ในปีพุทธศักราช 2465 จะเห็นภาพชัดเจน ดังนี้
 
“พระมหากษัตริย์ได้ให้พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต  เข้าสอนศาสนาแก่พระอนุชา ภายหลังพระอนุชาทรงสนใ จใคร่เข้ารีตถือคริสต์  พระองค์เห็นเป็นเรื่องใหญ่ การที่เจ้านายจะเปลี่ยนศาสนาน่าจะโกลาหล จึงประวิงไว้ พระมหากษัตริย์ตรัสสัญญาว่า หากพระเจ้าช่วยให้พระอนุชาพ้นจากอาการพระวรกายพิการได้ (เจ้าฟ้าอภัยทศทรงประชวรเป็นโรคอัมพาต พระวรการส่วนล่างเคลื่อนไหวไม่ได้) จะยอมให้เข้ารีตล้างบาป”
 
ข้อความข้างบนนี้ พอจะวิเคราะห์ได้ว่า พระนารายณ์ต้องทรงใช้พระสติปัญญา และการวางแผนจัดการเรื่องเหล่านี้มากพอสมควร พระองค์ทรงโปรดปรานและเชื่อใจในคณะบาทหลวง อีกทั้งต้องรักษาไว้ซึ่งพระราชไมตรีกับฝรั่งเศส แต่ในขณะเดียวกัน พระองค์ก็คำนึงถึงการเมืองในราชสำนักและในกรุงสยาม เพราะพระองค์ไม่ทรงเชื่อว่าการที่เจ้านายชั้นสูงระดับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินหันไปนับถือศาสนาอื่น
 
นอกจากศาสนาพุทธ  จะเป็นเรื่องที่ข้าราชการในราชสำนัก และพสกนิกรชาวสยามจะรับได้  อีกทั้งพระองค์ทรงไม่เชื่อว่า อัมพาตที่เกาะกินเจ้าฟ้าอภัยทศมากกว่า 12 ปี และหมอหลวงต่างรามือยอมแพ้  จะหายได้เพราะปาฏิหารย์แห่งพระเจ้า หากเป็นเช่นนี้ เหตุผลของพระองค์ที่จะยังไม่นับถือคริสต์ และไม่อนุญาตให้ราชสำนักนับถือคริสต์ก็มีน้ำหนัก และคณะบาทหลวงคงจะยอมรับได้
 
“สัญญานี้  พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต  รับไว้ด้วยความยินดี นำความนั้นมาสู่ชนชาวคริสต์ ให้ร่วมกันสวดภาวนาขอพรเจ็ดวันติดกัน  เจ้าฟ้าอภัยทศก็ทุเลา”
 
เหตุการณ์ตอนนี้  ปรากฏว่า พระสังฆราชลังแบรต์และคณะบาทหลวงต่างดีใจเป็นอย่างยิ่ง  ได้เข้าเฝ้าเพื่อทวงสัญญา ความตอนนี้มีบันทึกเรื่องราวของเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ กล่าวไว้ว่า “พระองค์ทรงโสมนัสที่พระอนุชาทุเลาโรค แต่การจะให้ไปนับถือคริสต์เข้ารีตนั้น  เห็นพระองค์กังวล  ได้เรียกเมอร์ซิเออร์คอนสตันซ์ (เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์)  เข้าเฝ้าและปรึกษา เมอร์ซิเออร์คอนสตันซ์ ซึ่งเป็นคริสต์ที่ดี  ได้ทูลให้พระองค์ปฏิบัติตามสัญญายินยอมให้ข้าแผ่นดินทุกคนล้างบาปนับถือคริสต์ได้ พระมหากษัตริย์ทรงนิ่งอยู่  เมอร์ซิเออร์สตันซ์  ยังได้ทูลว่า ขณะนี้คนทั่วไปแม้แต่ราชสำนักข้างใน (ส่วนที่เป็นนางสนมกำนัล) ก็เห็นดีงามกับศาสนาคริสต์  ด้วยเห็นว่าเป็นศาสนาที่งดงาม  ส่วนศาสนพุทธเป็นของไม่จริง” 
 
หากศึกษาประวัติของเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ ข้าราชการที่ปรึกษาคนสำคัญที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์จะเห็นว่าท่านเป็นคนกรีก  แต่เดิมนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมัน คาทอลิกได้ไม่นาน แต่เมื่อเปลี่ยนแล้วก็ทุ่มเทแรงกาย  แรงใจ  แรงศรัทธาและทุนทรัพย์ในการอุดหนุนกิจการงานของคาทอลิกอย่างมากมาย
 
ท่านเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์คนนี้เอง ที่เป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูและประสานให้ความช่วยเหลือระหว่างราชสำนักกับคณะบาท หลวงตลอดเวลาจนตัวตาย แต่ก็เป็นเจ้าพระยาท่านนี้นี่เอง ที่เป็นปัจจัยทำให้ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเกือบจะล่มสลายในราชอาณาจักรสยาม (อัจฉริยภาพของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช : เอกสารประกอบการบรรยาย ณ ภาควิชาประวัติศาสตร์ สมาคมประวัติศาสตร์, /2538  โดย บำรุง งามการ)
 
ไม่ปรากฏว่าสมเด็จพระนารายณ์จะได้ทรงอนุญาตให้เจ้าฟ้าอภัยทศ หรือข้าราชบริพารคนใดให้ล้างบาปนับถือคริสต์หรือไม่ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับบรรดาบาทหลวง ก็ยังคงดำเนินไปด้วยดี  ดังจะเห็นได้เมื่อครั้งที่พระสังฆราชลังแบรต์ ป่วยหนัก และทนทุกข์ทรมานจากอาการนิ่ว ในไต พระองค์ทรงพระราชทานหมอหลวงให้ไปดูแลรักษา และเมื่อมรณภาพลง พระองค์ก็ทรงพระราชทานทรัพย์ช่วยในงานศพ  อีกทั้งส่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้งพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ มาร่วมงานศพตลอดงาน
 
เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระนารายณ์  หลังจากที่เกิดการปฏิวัติ มีการจับเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์  ตัดคอ แล้วแผ่นดินสยามก็ผลัดยุคเป็นแผ่นดินพระเพทราชา กิจการงานของศาสนาคริสต์ก็เริ่มถดถอยในสมัยนี้  แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ขัดขวางกิจการของคริสตศาสนา  แต่พระองค์ก็ไม่สนับสนุน ในช่วงนี้การณ์กลับเป็นว่า บาทหลวงบางคนได้ดำเนินการเผยแพร่ศาสนาที่ขัดต่อความเชื่อของราชสำนักเสียเอง และเมื่อแผ่นดินของพระจ้าอยู่หัวท้ายสระ (พ.ศ. 2273) ทุกสิ่งทุกอย่างก็มาถึงจุดบรรจบ เมื่อคณะบาทหลวงถูกฟ้องร้องจากนายเต็ง บุตรหลวงไกรโกษา ในข้อกล่าวหาร้ายแรงหลายกระทง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับคำสอนของศาสนาที่ถูกกล่าวหาว่า บาทหลวงติเตียนดูหมิ่นศาสนาพุทธของพระเจ้ากรุงสยาม และในการใต่สวนของศาล แทนที่จะช่วยแก้ข้อกล่าวหา ท่านสังฆราช เตเซีย เดอ เคราเล  กลับกล่าวยอมรับว่าที่คณะบาทหลวงกล่าวเช่นนั้น “เหตุเพราะโลกนี้มีแต่พระเจ้าองค์เดียวที่เป็นผู้สร้างฟ้าและดิน และปกครองการทั่วไป  เพราะฉะนั้นสำหรับมนุษย์เรานี้ ก็ควรจะมีศาสนา  อันเดียว  จึงจะพาเราไปสู่ที่ดีเท่านั้น” 
 
คำตอบนั้น เป็นเสมือนการปิดประตูโบสถ์ของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกในราชอาณาจักรสยาม แต่บังเอิญในช่วงเวลาดังกล่าว กรุงศรีอยุธยาเริ่มติดศึกสงครามกับกรุงหงสาวดีอีกครั้ง และในการศึกแต่ละครั้งทหารและพลเรือนที่เป็นคริสตชน ได้เข้าร่วมรบอย่างกล้าหาญและเข้มแข็ง ทำให้ข้อติฉินและข้อกินแหนงระหว่างคณะบาทหลวง และราชสำนักผ่อนคลายลงไปได้บ้าง แต่จะให้แน่นแฟ้นดุจดั่งสมัยของสมเด็จพระนารายณ์กับพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต เห็นจะไม่ได้  เป็นได้เพียงความสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ มาจนกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่าในปี พ.ศ. 2310
 
พันธกิจคณะรักกางเขน  แห่งจันทบุรี
พระสังฆราช ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต  ผู้สถาปนา สถาบันรักกางเขน ในประเทศเวียดนาม  ประเทศไทย และประเทศลาว  เป็นผู้มอบจิตตารมณ์ให้แก่สมาชิกรักกางเ ขน จิตตารมณ์ที่ท่านมอบให้นี้ คือ จิตตารมณ์ไม้กางเขน ซึ่งเป็นจิตตารมณ์ของท่านเอง  ที่ได้มาจากการเพ่งพิศรำพึงภาวนา และแสวงหาตั้งแต่วัยเด็ก  ในชีวประวัติของท่าน มีเขียนไว้ว่า  นับตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ที่ลีซีเออร์ ท่านได้รับการดลใจให้ก่อตั้งคณะนักบวชคณะหนึ่ง  ในนามของบรรดาผู้ที่มีความรักความศรัทธาพิเศษต่อไม้กางเขนของพระเยซูเจ้า และในเดือนสิงหาคม  ค.ศ. 1662 เมื่อเดินทางมาถึงอยุธยา ท่านได้ทำการเข้าเงียบ 40 วัน  และได้ยินเสีย งเรียกร้องในใจ ให้ก่อตั้งคณะนักบวชอีก ตั้งแต่นั้นท่านรำพึงรำพันกับตัวเองตลอดเวลาว่า “พระเยซูเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขน จะต้องเป็นเป้าหมายของความรักของเรา” และท่านมักใช้ข้อความนี้ขึ้นต้นจดหมายทุกฉบับของท่าน
 
หลังจากการเข้าเงียบครั้งนั้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นพันธกิจอันเนื่องมาจากจิตารมณ์ที่ลึกซึ้งในความรักต่อไม้กางเขนงานแรกที่ท่านลงมือทำ  คือ สร้างบ้านพักพระสงฆ์  สร้างวัด และสร้างโรงเรียน เพื่อสอนหนังสือให้แก่เด็กๆ และเปิดโรงพยาบาลสำหรับผู้ยากไร้
 
จากจุดนี้เอง สมาชิกรักกางเขน จึงเชื่อโดยไม่ลังเลใจว่า คณะนักบวชที่ท่านต้องการตั้งขึ้นนี้ มีจุดประสงค์เพื่อสอนหนังสือให้แก่เด็กๆ และช่วยเหลือผู้ยากไร้
 
พันธกิจที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่ง  คือ การร่วมงานอภิบาลกับพระสงฆ์ ในชีวประวัติของท่าน ยังมีบันทึกไว้ว่าท่านเป็นผู้ชอบเดินทางแสวงบุญเพื่อแสวงหาน้ำพระทัยของพระ ทั้งก่อนบวชและเมื่อได้บวชแล้ว ในการเดินทางแสวงบุญครั้งหนึ่ง ที่หลุมฝังศพของนักบุญฟรังซิส เดอ ซาล และนักบุญฌาน ฟรังซัว เดอ ชังตัล  ท่านได้รับการดลใจให้เห็นว่า  ในพระศาสนจักร  พระสงฆ์และนักบวชหญิง  คือ  มือซ้ายและมือขวาในการเผยแพร่ความเชื่อและความรัก ในสถานที่ใดก็ตาม พระสงฆ์คืออาสา สมัครที่เด็ดเดี่ยว  เผชิญกับอันตราย ดังเช่น นักรบในสนามรบที่เต็มด้วยอันตราย ส่วนนักบวชหญิงคือแนวหลัง  สนับสนุนเพื่อความใสสะอาด และประสบผลของแนวหน้า โดยการภาวนาพร้อมกับงานด้านเมตตาจิต ส่วนของพระสงฆ์คือการดูแลเอาใจใส่วิญญาณ ส่วนนักบวชหญิงเป็นผู้ดูแลด้านความขาดเหลือของประชาสัตบุรุษ นี่คือ ภารกิจหลักของพระศาสนจักร ซึ่งพระสงฆ์รับบทบาทเป็นอัศวิน  ส่วนนักบวชหญิงรับบทเป็นเทวดา นางฟ้า รูปแบบงานอภิบาลทั้งสองด้านนี้จำเป็นจะต้องได้รับการเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เพื่อให้คำสอนของพระคริสตเจ้าได้โดดเด่นขึ้นในสังคม คือภาพพจน์ของพลัง และความอ่อนหวา นเช่นเมื่อก่อนบนภูเขาหัวกำโหลก สตรีพรหมจรรย์ยืนเคียงข้างกับอัครสาวกในการร่วมกับการไถ่กู้มนุษยชาติ
 
พันธกิจด้านการสอนและงานอภิบาล
คณะรักกางเขน แห่งจันทบุรี ได้รับการฟื้นฟูและก่อตั้งขึ้นในจันทบุรี เมื่อ ค.ศ. 1803 โดยคุณพ่อเจ้าอาวาสในขณะนั้น คือ คุณพ่อฟลอรังส์  พันธกิจในสมัยเริ่มแรกก็คือการสอนหนังสือ และช่วยเหลือพระสงฆ์ในงานอภิบาล
 
พระสังฆราชปัลเลอกัว  เป็นผู้ที่ทำให้เรารู้ความเป็นมาของคณะฯ  หลายอย่าง ในหนังสือของท่านคำบรรยายเรื่องอาณาจักรสยาม เล่ม 2 หน้า 305-307  ตีพิมพ์ในฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1854  ท่านเล่าว่า “บรรดาพระสังฆราชฝ่ายสมัยแรก  ได้รู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องตั้งสถาบันนักบวชหญิงเพื่ออบรมหญิง ท่านจึงได้ตั้งสถาบันสำหรับหญิงใจศรัทธา ที่ท่านเรียกว่า  “ภคินีรักไม้กางเขน” สถาบันนั้นได้เผยแพร่ไปถึงประเทศจีนตังเกี๋ย และประเทศใกล้เคียง  แต่ภคินีของเราเดี๋ยวนี้  เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า“ข้าปรนนิ บัติของพระแม่เจ้า” เครื่องแบบของภคินีในขณะนั้น คล้ายชุด แต่งกายของสตรีชาวเวียดนาม  นอกจากกำหนดตามพระวินัยแล้ว เขาใช้เวลาว่างในการทอเสื่อกก ทอผ้า เพื่อขาย เงินที่ได้จากการขาย เขาใช้เลี้ยงนักบวช 25 รูป แบ่งเป็น 4 แห่ง  เป็นบ้านที่ทำด้วยไม้ไผ่ เสริมแผ่นไม้ ไม่แตกต่างจากบ้านชาวบ้านทั่วไป บ่อยครั้งงานของภคินี 4 แห่ง  บ่อยครั้งงานของภคินีไม่เพียงพอเพื่อการยังชีพ  มิสซังฯต้องช่วยเขา ซึ่งก็เป็นการยุติธรรม  เพราะเขามีหน้าที่อบรมหญิงสาว ทำการส อนโดยไม่คิดค่าตอบแทน เขาช่วยงานของมิสซังมาก นอกจากการสอนเรียน  เขายังแปลคำสอนให้แก่ผู้หญิงที่สมัครเป็นคริสตัง  และเตรียมเขาให้รับศีลล้างบาป  นอกนั้นเขาใช้เวลาด้วยความเสียสละอย่าง  น่าสรรเสริญในการรับใช้มิสชันนารี ภคินีบางคนมีความชำนาญในการปรุงยาทา ยาเม็ด ยาทั่วไป บางคนมีความชำนาญในการรักษาคนป่วยด้วยยา ฉะนั้นตู้ยามีไว้ที่บ้านภคินี เพื่อช่วยเหลือคนจนที่เจ็บป่วย และใช้บริการให้แก่ผู้มีหน้าที่ล้างบาปเด็กที่ใกล้ตาย”
 
คณะรักกางเขน แห่ง จันทบุรี ยังซื่อสัตย์ต่อจิตตารมณ์ และพันธกิจที่ผู้ตั้งคณะมอบให้ ในการทำงานด้านการสอน และงานอภิบาลร่วมกับพระสงฆ์  นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คณะฯ ได้ส่งภคินีไปปฏิบัติพันธกิจตามจิตตารมณ์ของคณะฯ ใน 5 สังฆมณฑล  ดังนี้ :-
 
สังฆมณลจันทบุรี
               1. สำนักสังฆมณฑลจันทบุรี  อำเภอศรีราชา  จังหวัดชลบุรี
               2. สามเณราลัยพระหฤทัย อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 
               3. วัดพระหฤทัยแห่งพระเยซูเจ้า อำเภอศรีราชา  จังหวัดชลบุรี
               4. วัดพระนามเยซู/โรงเรียนปรีชานุศาสน์ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
               5. มูลนิธิสงเคราะห์เด็กพัทยา/โรงเรียนอนุบาลโสตพัฒนา พัทยา  จังหวัดชลบุรี 
               6. วัดพระมารดานิจจานุเคราะห์/มารีย์เนอสเซอรี่ อำเภอเมือง  จังหวัดระยอง
               7. วัดนักบุญฟิลิปและยากอบ/โรงเรียนประชาสงเคราะห์  อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี
               8. วัดนักบุญยอแซฟ/โรงเรียนวัฒนานุศาสน์  อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี 
               9. วัดเซนต์ปอล/โรงเรียนสันติภาพ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
               10. วัดแม่พระประจักษ์ที่ลูร์ด/โรงเรียนดาราจรัส  อำเภอบางคล้า  จังหวัดฉะเชิงเทรา
               11. วัดอารักขเทวดาโคกวัด/โรงเรียนเทวรักษ์   อำเภอศรีมโหสถ   จังหวัดปราจีนบุรี 
               12. วัดน้อยครอบครัวศักดิ์สิทธิ์/โรงเรียนปัญจทรัพย์  กรุงเทพฯ
               13. วัดพระผู้ไถ่ เสาวภา/โรเรียนคริสตสงเคราะห์ อำเภอองครักษ์  จังหวัดนครนายก
               14. วัดพระหฤทัยแห่งพระเยซูเจ้า  ขลุง/โรงเรียนศรีหฤทัย อำเภอขลุง  จังหวัดจันทบุรี 
               15. วัดธรรมาสน์นักบุญเปโตร  ท่าแฉลบ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
               16. อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
               17. วัดนักบุญยอแซฟกรรมกร  อำเภอท่าใหม่  จังหวัดจันทบุรี 
               18. วัดแม่พระรับสาร อำเภอเมือง จังหวัดตราด
               19. วัดอัครเทวามีคาแอล  อำเภอเมือง  จังหวัดปราจีนบุรี
               20. วัดน้อยมารีสมภพ อำเภอกบินทร์บุรี   จังหวัดปราจีนบุรี
               21. ฝ่ายงานอภิบาล-แพร่ธรรม  โรงเรียนดาราสมุทร   อำเภอศรีราชา  จังหวัดชลบุรี
               22. หน่วยงานคำสอน สังฆมณฑทลจันทบุรี  อำเภอศรีราชา  จังหวัดชลบุรี
               23. ศูนย์สังคมพัฒนา สังฆมณฑทลจันทบุรี  อำเภอศรีราชา  จังหวัดชลบุรี 
               24. บ้านเด็กเร่ร่อน พัทยา  (เริ่มงานปี ค.ศ. 2004)  จังหวัดชลบุรี
                       
สังฆมณฑลนครสวรรค์
               1. วัดเซนต์นิโกลาส/โรงเรียนเซนต์นิโกลาส อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
               2. วัดนักบุญยอแซฟพิจิตร/โรงเรียนยอแซฟพิจิตร อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร
               3. สามเณราลัยเซนต์ปอล อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
 
สังฆมณฑลนครราชสีมา
              1. โรงเรียนมารีย์อนุสรณ์  อำเภอเมือง  จังหวัดบุรีรัมย์ 
              2. โรงเรียนมารีพิทักษ์  อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
 
สังฆมณฑลสุราษฏร์ธานี
               1. วัดนักบุญมาร์ติน เดอ ตูรส์/โรงเรียนอนุบาลมารีรักพังงา/
                   ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเซนต์เมรี่  อำเภอเมือง จังหวัดพังงา 
               2. โรงเรียนดรุโณทัย อำเภอเมือง จังหวัดตรัง  (เริ่มงานปี ค.ศ. 2004)
 
สังฆมณฑลเชียงใหม่
               1. ฝ่ายงานอบรม อารามแพร่ธรรมแห่งพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรล (แม่ปอน) อำเภอจอมทอง  จังหวัดเชียงใหม่
               2. ศูนย์คาทอลิก พระวิสุทธิวงศ์ อำเภอแม่สาย  จังหวัดเชียงราย (เริ่มงานปี ค.ศ. 2004)
 
 
จากหนังสือ ฉลองครบรอบ 200 ปี การก่อตั้งคณะรักกางเขนในจันทบุรี