สามเณราลัยพระหฤทัย ศรีราชา

 
บ้านเณรพระหฤทัย ตั้งเป็นสง่าอยู่บนเนินเตี้ยๆ ริมถนนซูเปอร์ไฮเวย์สุขุมวิทบริเวณเดียวกับโรงเรียนดาราสมุทร ถ้ามาจากกรุงเทพฯ จะอยู่ทางด้านซ้ายมือ อีกประมาณ 4 กม. ก็จะเข้าตัวเมืองศรีราชา จุดเดินของสิ่งปลูกสร้าง ก็คือ อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น หันด้านหัวสกัดหรือด้านกว้างสู่ถนน แทนที่จะเป็นด้านยาว เหตุผลก็คือ ต้องการให้อยู่สบาย ให้ถูกแดดเฉพาะหัวท้าย ตรงกลางไม่ถูกแดดและได้รับลมตลอดเวลา มองผิวเผินจะไม่รู้สึกว่าเป็นอาคารใหญ่โตอะไร มีแต่ป้ายสีน้ำเงินขนาดใหญ่ ตัวหนังสือถือปูน เขียนเป็นภาษาลาตินว่า “SEMINARIUM  SANCTISSIMI CORDIS JESU 1935” แปลเป็นภาษาไทยว่า “บ้านเณรแห่งดวงพระหฤทัยอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซู ค.ศ.1935”  
 
อันที่จริงบ้านเณรพระหฤทัยถือกำเนิดมาช้านานกว่านี้มากนัก ลำพังช่วงเวลาที่ตั้งอยู่ที่บ้านช้าง ก็ใช้เวลาถึง 62 ปีแล้ว(ค.ศ. 1872-1934) ก่อนหน้านั้นยังตั้งอยู่ที่อื่นๆ อีก หากไล่เวลาย้อนหลังจริงๆ อาจถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีก็เป็นได้  แต่บทความนี้  ตัดตอนเฉพาะสมัยบางช้างตอนปลาย และสมัยศรีราชาตอนต้นจนถึงปัจจุบัน  เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 50 ปี  ซึ่งยังพอหาประจักษ์พยานบุคคลยืนยันได้ 
 
เนื่องจากเป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนานมาแล้ว และไม่มีบันทึกใดอ้างอิง ต้องอาศัยเขียนจากความทรงจำคำบอกเล่า และเอกสารประกอบบางอย่างเท่านั้น ทางคณะอนุกรรมการการจัดงานจึงมอบหมายให้มีคนเขียนหลายคน แบ่งกันเขียนคนละตอน ใครอยู่ในเหตุการณ์ตอนไหนก็เขียนตอนนั้น แล้วนำมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน สำนวนโวหารหรือลีลาการเขียนคงแตกต่างกันออกไป แบบอ่านหนังสือหลายรส น่าจะได้ทั้งสาระและบันเทิงพอสมควร
 
สมัยบางช้าง 
บางช้างคือตำบลหนึ่งของอำเภอบางคณฑี จังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ปัจจุบันรู้จักกันในนามบางนกแขวกมากกว่า ตัวบ้านเณรตั้งอยู่ตรงข้ามวัดคาทอลิกบางนกแขวก บนเนื้อที่สิบกว่าไร่ รายล้อมไปด้วยสวนมะพร้าวและผลไม้นานาชนิด ประกอบด้วยอาคารก่ออิฐ ถือปูนขนาดใหญ่สองหลัง ตรงกลางคืออาคารประธาน มีลักษณะเป็นรูปตัวที (T) เส้นนอนคือตัวบ้านเณร เป็นอาคารก่ออิฐปูนสองชั้น  ทรงโรมัน ชั้นบนพื้นเป็นไม้สัก ชั้นล่างปูกระเบื้อง  ชั้นบนใช้เป็นห้องนอน  ชั้นล่างใช้เป็นห้องเรียน ตรงกลางเป็นหน้ามุขเชื่อมต่อกับเส้นตั้ง คือ ส่วนอาคารที่ใช้เป็นวัด พระแท่นบุด้วยหินอ่อน หน้าต่างเป็นกระจกสีงดงามมาก ภายในมีระเบียงกว้างเชื่อมห้องต่างๆ ทั้งสองชั้นอยู่สบายและอากาศถ่ายเทสะดวก สถาปนิกที่ออกแบบและวิศวกรที่คำนวณต้องเป็นคนเก่งมากทีเดียว 
 
เมื่อหันหน้าลงแม่น้ำ ทางด้านขวามือคืออาคารหลังที่สอง ชั้นบนคือที่พักพระสงฆ์ ชั้นล่างคือห้องรับประทานอาหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนเช่นเดียวกัน ส่วนทางด้านซ้ายมือคือความร่มรื่นไปทั่ว ถัดไปตรงริมแม่น้ำ  คือ ถ้ำแม่พระเมืองลูรด์จำลอง สร้างด้วยหินก้อนใหญ่ๆ ด้านซ้ายของถ้ำเป็นที่ประดิษฐานรูปแม่พระ ตรงกลางเป็นพระแท่น ใช้เป็นที่ตั้งศีลมหาสนิทในวันฉลองพระกายา สุดเขตตรงขวาสุดติดแม่น้ำ คือ โรงครัวและที่อยู่ของภคินี พูดโดยสรุปแล้ว ทั้งสิ่งปลูกสร้างทั้งสิ่งแวดล้อม ให้บรรยากาศของอาศรมหรือสำนักบวชอย่างแท้จริง สงบและวิเวกวังเวง 
 
ระบบบริหารของพระศาสนจักรในขณะนั้น แบ่งออกเป็นเพียงสองมิสซัง เรียกว่า มิสซังไทยกับมิสซังลาว มิสซังไทยครอบคลุมภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้   ส่วนมิสซังลาวครอบคลุมภาคอีสานและประเทศลาว บ้านเณรบางช้างจึงเป็นสถานศึกษาของทั้งสองมิสซัง  ต่อมาในปี ค.ศ.1930 ได้มีการตั้งมิสซังราชบุรี ครอบคลุมภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดราชบุรีลงไป มีพระสงฆ์คณะซาเลเซียนเป็นผู้ดูแล บ้านเณรจึงกลายเป็นตั้งผิดที่ จึงต้องมีการย้ายในเวลาต่อมา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี คือเป้าหมายแห่งใหม่ 
 
เนื่องจากพระศาสนจักรขยายตัวไม่หยุดยั้ง  ต่อจากนั้นไม่ช้าไม่นาน  ก็มีการตั้งมิสซังอีก คือมิสซังจันทบุรี ศรีราชาอยู่ในเขตการปกครองของมิสซังใหม่นี้ บ้านเณรจึงกลายเป็นตั้งผิดที่อีกคราวนี้ไม่มีการย้ายแล้ว คงยกบ้านเณรพระหฤทัยให้เป็นของมิสซังจันทบุรี ส่วนมิสซังกรุงเทพฯ ไปเปิดบ้านเณรใหม่ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ในปี ค.ศ.1965 ขนานนามว่า บ้านเณรนักบุญ ยอแซฟ สามพราน 
 
โดยที่บ้านเณรพระหฤทัยเป็นบ้านเณรประจำมิสซังไทยเป็นแห่งแรก ย่อมมีศักดิ์และสิทธิ์แห่งบ้านเณรแม่ สรรพวิทยากรและวิวัฒนาการต่างๆ  ถือกำเนิดและเริ่มต้นจากที่นี่ทั้งสิ้น ดังนั้น  สิ่งที่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบ้านเณรพระหฤทัย ก็คือ เสมือนเกิดขึ้นกับบ้านเณรอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยหลังๆ ด้วยความผูกพันอันนี้จะดำรงคงอยู่ชั่วฟ้าดินสลาย 
 

โอกาสบวชพระสงฆ์
คุณพ่อประพล ธรรมพิชัย 8 พ.ย.1931

พระสังฆ์และเณร
ที่บ้านเณรบางนกแขวก ปี 1932 
 
ย้ายบ้าน
ย้ายบ้าน  คือสองคำสั้นๆ แต่เมื่อนำไปปฏิบัติแล้ว  จึงรู้ว่ามันไม่สั้นเหมือนคำพูดเลย เชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ย่อมมีประสบการณ์เกี่ยวกับการย้ายบ้านมาแล้ว และต้องยอมรับว่า เป็นปฏิบัติการที่ยากเย็นแสนเข็นเพียงไร ยิ่งการย้ายบ้านใหญ่ๆ เช่น  บ้านเณรพระหฤทัยบางช้าง ที่ผู้ก่อสร้าง ตั้งใจฝังรากฝังโคนชนิดจะไม่มีการย้ายกันอีกประการหนึ่ง  กับการที่อยู่มานานถึงหกสิบกว่าปีอีกประการหนึ่ง การย้ายย่อมยากลำบากเป็นทวีคุณ ผู้เขียนยังเป็นเด็กเล็กขณะที่เขาย้ายบ้านกันจึงไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร ตรงข้ามกับรู้สึกสนุกและตื่นเต้น แต่เมื่อมาคิดได้ในตอนหลัง ต้องยอมยกนิ้วให้กับบรรดาคณาจารย์ผู้วางแผนและผู้ปฏิบัติการว่า เป็นผู้มีมานะ  และน้ำอดน้ำทนยอดเยี่ยม ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ลำพังหนังสือเพียงอย่างเดียวก็ไม่ทราบว่าจะหาอะไรมาบรรจุแล้ว นอกจากนั้นก็มีตู้โต๊ะ แต่ละใบล้วนใหญ่และหนักอึ้ง  เครื่องใช้ไม้สอยสารพันสารเพ ช่างมากมายอะไรเช่นนั้น สิ่งเหล่านี้ถ้าตั้งอยู่ในที่ของมัน จะไม่สู้รู้สึกเกะกะ แต่เมื่อรื้อลงมาแล้ว  จะเห็นว่ารกรุงรังไปหมด  พวกอาจารย์และเณรใหญ่ใช้เวลาเป็นเดือน จัดเก็บข้าวของเหล่านี้ให้เป็นหมวดหมู่ 
 
ที่สุด วันนัดหมายก็มาถึง เรือลากจูงของบริษัทอีสท์เอเชียติกชื่อแม็กคองตอช ก็ลากจูงเรือลำเลียงเปิดระวางชื่อ คิว.เค18 ที่บริษัทเขาใช้บรรทุกซุงมาเทียบท่าที่บ้านเณร  การขนของจึงเริ่มขึ้นโดยคนงานแข็งแรงที่ว่าจ้างมากับพวกเณรใหญ่  ของหนักของใหญ่ลงก่อน ของอื่นทยอยลงไปทีหลัง โดยเริ่มงานแต่เช้า ไปเลิกเอาค่ำทุกวัน  เป็นเช่นนี้อยู่เจ็ดวันเห็นจะได้ แต่ทุกคนต้องแปลกใจที่ว่า  ของลงไปหมดแล้ว  เรือไม่เตี้ยน้ำลงที่มากน้อยเลย กัปตันเห็นเข้า สีหน้าไม่สบาย เพราะเรือเบาก็คือลุกบอล์ลอยน้ำ คลื่นจะโยกเรือมาก ผู้โดยสารคงจะยิ้มไม่ออกเป็นส่วนใหญ่ จะเป็นดังที่กัปตันคาดการณ์ไว้หรือไม่ ค่อยดูกันต่อไป 
 
วันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ.1934 อันตรงกับวันคริสตมาส คือวันดีเดย์ เวลาประมาณ 07.00 น. เรือ คิว.เค.18  ถอนสมอ เรือแม็กคิงตอชลากจูง ระฆังวัดคาทอลิกบางนกแขวกเริ่มส่งเสียงกังวาล  พระสงฆ์และสัตบุรุษเป็นจำนวนมากยืนออที่ท่าน้ำโบกมืออำลา พวกเราซึ่งประกอบด้วย คุณพ่อ มอรีส การ์ตอง อธิการ,  คุณพ่อโรเชอโร อาจารย์, ครูเณรสองคนคือ คุณครูเศียร  โชติพงศ์  กับคุณครูกิมฮั้ง  แซ่เล้า ภคิณีสามคน คือ  ฟีโลแมน โรซารี และกอแลตตา กับแม่ครัว เณรใหญ่เล็ก 82 รวม 90  ชีวิต ไม่นับกัปตันและลูกเรือ โบกมือตอบด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดี คุณพ่ออธิการและอีกหลายๆ คน น้ำตาคลอ  เพราะสถาบันที่มีอายุถึง 62 ปีกำลังจะถูกปล่อยให้เป็นอดีต พูดอีกนัยก็คือ  กำลังจะทิ้งประวัติอันยาวนานไว้ข้างหลัง เรากำลังฝากอนาคตไว้กับเรือสองลำ ที่จะฝ่าคลื่นลมนำเราไปสู่จุดหมายปลายทางใหม่ 
 
ขณะที่ขบวนเรือยังแล่นอยู่ในแม่น้ำ พวกเราได้รับอนุญาตให้นั่งตามขอบปากระว่าง และกราบ เรือ สามารถสูดอากาศบริสุทธิ์กับมองเห็นทิวทัศน์สองฟากทาง ทำให้ได้รับความสนุกสนานเพลิด เพลิน เจ้าแม็คคิงตอช คงใช้ฝีจักรปานกลาง เพื่อมิให้เกิดคลื่นใหญ่เกินไป  เป็นอันตรายต่อเรือเล็ก เนื่องจากเป็นเดือนธันวาคมกลางคืนยาวกว่ากลางวัน แม้จะเป็นเวลาร่วม 08.00 น. ท้องฟ้าเพิ่งจะสางและมีหมอกบางๆ ปกคลุมทั่วไป ชาวบ้านร้านถิ่นยังคงนอนหลับกันอยู่  มีเพียงบางบ้านเท่านั้นที่ตามไฟ  ผู้คนเริ่มตื่นขึ้นมาเริ่มธุรกิจของวันใหม่ เวลาประมาณ 10.00 น. เรามาถึงบริเวณปากแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำค่อยกว้างเข้าๆ ที่สุด  ทั้งฝั่ง ทั้งทิวทัศน์ต่างก็ลับสายตาไปหมด คลื่นลมเริ่มแรง  เรือเริ่มโคลงเคลง พวกเราได้รับคำสั่งให้ลงใต้ท้องเรือ เพราะนั่งข้างบนไม่ปลอดภัยแน่ การผจญภัยได้เริ่มต้นแล้ว 
 
เนื่องจากเรือลำเลียงที่เราโดยสารมานี้ สร้างไว้ใช้บรรทุกซุง จึงไม่มีหน้าต่างหรือช่องระบายลม อากาศจึงร้อน และอบอ้าว มองไม่เห็นอะไรนอกจากผนังเรือกับท้องฟ้า ความสุขสดชื่นอันเกิดจากการสูดอากาศบริสุทธิ์ยามเช้า เมื่อสักครู่นี้ค่อยๆ ละลายหายไป โดยมีความอึดอัด และคลื่นเหียนอาเจียนมาแทนที่ คนที่ประสาทอ่อนเริ่มไปก่อน  ต่อจากนั้นก็ค่อยล้มพับไปที่ละคนสองคน ส่วนน้อยที่ยังสามารถนั่งชูคออยู่ได้  ก็กระปกกระเปลี้ยเหลือประมาณ 
 
ตามหมายกำหนดเดิม  เราควรจะมาถึงศรีราชาอย่างช้าไม่เกินสี่โมงเย็น แต่มาถึงจริงๆ ตอนเจ็ด โมงเย็น  เกินเวลาไปอย่างน้อยสามชั่วโมง สาเหตุเพราะกระแสน้ำเชี่ยว  และคลื่นลมแรงผิดปกติ  อีกประการหนึ่ง  เรือเบาและโคลงมากแล่นเร็วไม่ได้ เดือนธันวาคม เจ็ดโมงก็มืดสนิทแล้ว  เนื่องจากทั้งมืดทั้งคลื่นลมแรงกว่าเรือจะเทียบท่า เพื่อให้พวกเราลงได้ก็ใช้เวลาอีกอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง คนที่ว่า ประสาทแข็งแรงและรอดพ้นการเมาคลื่นมาได้ในช่วงกลางวัน ต้องมายกธงขาว ตอนนี้อีกหลายคน  เพราะเรือที่ไม่แล่นแต่ถูกคลื่นโยน ทำให้เมาคลื่นง่ายกว่าเรือที่แล่นอยู่  เข้าตำราเรือล่มเมื่อจอดยังไงยังงั้น 
 
การขึ้นจากเรือต้องทำด้วยความระมัดระวังมาก เพราะแต่ละคนล้วนกะปลกกะเปลี้ย แถมยังมืดและสะพานลาดชัน ที่สุดทุกคนขึ้นจากเรือได้โดยปลอดภัยพร้อมด้วยสัมภาระที่จำเป็น โดยรวมตัวกันบนเกาะลอย  เวลาประมาณสามทุ่ม ต่อจากนั้น จะเป็นการเคลื่อนขบวนจากเกาะลอยเดินตามสะพานรางรถไฟถึงฝั่งศรีราชา  ระยะทางประมาณ 1 กม. จากนั้นยังต้องเดินอีกอย่างน้อย 3-4 กม. ไปตามทางเกวียน จึงจะถึงบ้านเณร 
 
ตะเกียงเจ้าพายุถูกจุดขึ้นให้คนถือเดินนำหน้าขบวน เนื่องจากต้องเดินไปตามสะพานแคบๆ ตามแผ่นกระดานที่ปูระหว่างรางรถไฟ  อย่างมากก็ได้แค่เรียงสองหรือเรียงสามคนที่อยู่แถวต้นๆ กว่าจะหลุดพ้นสะพานได้ก็แทบย่ำแย่ ทุกคนหายใจโล่งอกไปตามๆ กัน เมื่อเท้าสัมผัสกับผืนแผ่นดินอีกครั้งหนึ่ง  เรียกว่าได้ผ่านพ้นการผจญภัยขึ้นที่สองมาได้อย่างน่าตื่นเต้นพอสมควร ต่อไปคือการผจญภัยขั้นที่สาม แม้ระยะทางจะยาวสักหน่อย แต่ก็เสี่ยงอันตรายน้อยกว่าเดินตามสะพานรางรถไฟ ซึ่งถ้าพลาดพลั้งอาจหมายถึงชีวิตหรือทุพพลภาพ นี่เป็นทางบกอย่างมากก็แค่ถลอกปอกเปิก ตะเกียงเจ้าพายุคงเดินนำหน้าตามเคย เดินตามทางเกวียนบางตอนเป็นร่องลึก หรือไม่ก็มีรากไม้ ตอไม้ให้สะดุดหกล้มตลอดทาง แต่แล้วที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างก็รอดพ้นมาได้โดยปลอดภัย กว่าทุกคนจะถึงที่ตั้งก็เป็นเวลาสองยามเข้าไปแล้ว 
 
สิ่งปลูกสร้างชุดแรก
เมื่อมาถึงที่ตั้ง จึงรู้ว่า สิ่งที่กำลังรอคอยอยู่นั้น ห่างไกลจากจินตนาการที่วาดไว้มากมายนัก จากตึกทรงโรมันอันใหญ่โตระโหฐาน ย่อลงมาเหลือเรือนปั้นหยาไม้สองชั้นขนาดประมาณ 40 เมตรคูณ 20 เมตร  ชั้นบนกั้นฝามีหน้าต่างโดยรอบ สี่มุมกั้นเป็นห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ สำหรับพระสงฆ์ นอกนั้นเปิดโล่ง ใช้เป็นห้องนอนสำหรับเณรเล็กกับเณรชั้นสาม ชั้นล่างไม่กั้นฝา แต่ใช้ไม้ระแนงตีตารางรูปข้าวหลามตัด มีประตูใหญ่สองบานตรงกลาง ซีกหนึ่งเป็นห้องนอนของเณรกลาง และเณรใหญ่ มีเตียงไม้แผ่นเดียวตั้งเป็นแถว อีกซีกหนึ่งเป็นห้องอาหาร และใช้เป็นห้องเรียนด้วย  เนื่องจากไม่มีฝา ฝนมาทีก็คอยอพยพกันที น่าตื่นเต้นพอสมควร 
 
ทางทิศเหนือ ห่างจากเรือนปั้นหยาประมาณ 20 เมตร  คือโรงครัว  เลยไปอีกประมาณ 80 เมตร คือบ้านพักภคินี โรงครัวคือลำธารแห่งชีวิต แม้นว่าอาหารที่ปรุงจะมิใช่แบบเหลาหรือภัตตาคารดังๆ  แต่แกงเลียงหัวปลีปลาทู  แกงส้มมะละกอปลาทู ต้มยำปลาทู แกงฉู่ฉี่ปลาทู  ยังคงเป็นที่ติดอกติดใจบรรดาเราทั้งหลายจนถึงบัดนี้แน่นอน ทางทิศตะวันออก มีส้วมทำด้วยไม้ เป็นส้วมหลุม ตอนแรกๆ ก็ดีอยู่หรอก เพราะอะไรต่ออะไรยังใหม่อยู่  แต่พออยู่ๆ ไปวัตถุดิบที่สะสมไว้มีมากขึ้นเกิดปฏิกิริยาทางเคมี  ส่งกลิ่นอบอวนไปทั่ว ผู้ที่เข้าไปประกอบธุรกิจ  กลิ่นจะติดเสื้อผ้าออกมา เป็นความทุกข์ทรมานอย่างหนึ่ง เพื่อช่วยระงับกลิ่นอันไม่น่าพิสมัยนี้บ้าง  หลายคนหันเข้าหายาสูบ  คือยามวนใบตองหรือใบจาก  และกลายเป็นติดบุหรี่จากสาเหตุนี้ 
 
ถัดจากส้วมไปคือโรงตากผ้า ใช้ไม้เบญจพรรณธรรมดาทำเสาและโครงหลังคา หลังคามุงจาก ข้างในขึงลวดเป็นราวตากผ้า รอบๆ คือที่ตั้งโต๊ะเครื่องแป้งที่ทำด้วยลังไม้ฉำฉาบ้าง  กล่องกระดาษแข็งบ้าง ใช้เป็นที่เก็บสบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน  กับมีที่สำหรับตั้งกระป๋องน้ำขันน้ำ  โดยต่างคนต่างทำตามมีตามเกิด จึงหาระเบียบแบบแผนอะไรไม่ได้เลย 
 
ย้ายเข้ามาอยู่ได้เพียงสามวัน  รุ่งขึ้นวันที่สี่ ตอนเช้าตื่นขึ้นมา ต่างก็ตรงไปที่โรงตากผ้า  เพื่อแปรงฟันล้างหน้า สิ่งที่ปรากฏต่อหน้าต่อตาก็คือ สภาพอันโล่งเตียนของโรงตากผ้า เสื้อผ้าที่ตากไว้ถูกขโมยเก็บกวาดไปเรียบ  ไม่เหลืออะไรไว้ให้ดูต่างหน้าเลย ผ้าเช็ดหน้าสักผืนก็ไม้เหลือ  จึงต้องมีการกั้นฝ้าด้วยไม้จริงเป็นต้นๆ โดยทำอย่างแข็งแรง แต่ขโมยได้กลายเป็นปัญหายืดเยื้อต่อมาอีกหลายปีเพราะข้างหลังเป็นที่โล่งและเป็นเทียนซือ   มีทางเกวียนสาธารณะตัดผ่าน ผู้คนร้อยแปดพันเก้าสัญจรผ่านไปมา   ยากแก่การป้องกันเป็นอย่างยิ่ง   วันหนึ่งเป็นเวลากลางวันแสกๆ มีเจ้าหนุ่มคนหนึ่ง  ใช้ผ้าขาวม้าคลุมหน้าคลุมตาเดินเข้ามา  แถวโรงตากผ้า  คุณพ่อโรเชอโรรู้เข้าก็ทิ้งการสอนชั่วคราว วิ่งไปจัดการกับเจ้าหนุ่มนั่นทันที ชะรอยเป็นเพราะไม่คาดฝันหรือตกใจแล้วก็ไม่ทราบ เพราะคุณพ่อเป็นฝรั่งและรูปร่างใหญ่โต   เพียงใช้แขนข้างเดียวก็สามารถหิ้วเจ้าหนุ่มนั่นตัวปลิว  เจ้าหนุ่มนั่นวิ่งไม่ออกหน้าซีดเผือด พอประชิดตัว คุณพ่อก็คว้าแขนไว้แล้วร้องถามว่ามาทำอะไรแถวนี้ เจ้าหนุ่มตอบว่ามาเที่ยว  คุณพ่อก็ซักว่า  มาเที่ยวทำไมต้องปิดบังหน้าตาอย่างนี้  เจ้าหนุ่มของเราก็ไม่ยอมลดละแก้ตัวว่าเพราะแดดมันร้อน คุณพ่อก็หึ้มห้ำหึ้มห้ำ ทำท่าจะลากตัวไปให้ตำรวจ  เจ้าหนุ่มก็ตกใจกลัวและหาทางออกว่า เป็นพี่น้องกับนายป๊อก นายป๊อกเป็นคาทอลิกมีร้านนาฬิกาอยู่ในตลาดศรีราชา  เมื่อคุณพ่อโดนเข้าไม้นี้  ต้องปล่อยให้เป็นอิสระไป 
 
พูดถึงคุณพ่อโรเชอโร มีเรื่องขำขันและเรื่องน่ายกย่องมากมาย  คุณธรรมประการแรก คือ ท่าน มีความรักเณรเป็นที่สุด พยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้เณรเป็นคนดี และมีความสุข ทุกครั้งที่ท่านไปกรุงเทพฯ ท่านจะไปพบคุณพ่อโชแรง (ภายหลังได้เป็นสังฆราช) ซึ่งขณะนั้นของเล่นแปลกๆ ใหม่ๆ มาฝากมิได้ขาด ท่านใช้คำว่า “ไปตีคอพ่อโชแรงได้มา” ขากลับขณะนั่งมาในรถโดยสาร ผู้คนสมัยนั้นไม่สู้เคยเห็นฝรั่ง  ต่างก็จ้องมองมาทางคุณพ่อเป็นจุดเดียว มีเจ้าหนุ่มปากคันคนหนึ่งคงไม่นึกว่าคุณพ่อฟังภาษาไทยเข้าใจ พูดกับเพื่อนขึ้นมาดังๆ ว่า  “เฮ่ยๆ ดูซิว่า ฝรั่งคนนี้ตีนใหญ่จังเลย” คุณพ่อก็สวนไปทันควันว่า “คุณมีปากใหญ่” โดนเข้าไม้นี้เท่านั้น  เจ้าหนุ่มก็หน้าม้วนไปเลย 
 
ทางด้านทิศใต้ สร้างขนานกับเรือปั้นหยา  คือโรงเล่น  เป็นอาคารมุงสังกะสี ชั้นเดียวโล่งๆ พื้นถมลูกรังยกสูงจากพื้นดิน ประมาณ 30 ซม.  มีสนามฟุตบอลคั่นกลาง ใช้เป็นห้องเรียนสำหรับเณรเล็กและโรงเก็บสัมภาระเป็นพวกตู้โต๊ะหนักๆ ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งปลูกสร้างที่คุณพ่อยาโกเบ ท่านจัดเตรียมไว้ให้ล่วงหน้า เมื่อไปถึงใหม่ๆ ท่าน ยังส่งรถกุดังมาประจำไว้ให้หนึ่งคัน  เพื่อลำเลียงสิ่งของจากท่าเกาะลอย นับเป็นความกรุณา และการมองเห็นการณ์ไกลของคุณพ่อเป็นอย่างยิ่ง  คุณพ่อรักเณรมาก  ตอนนั้นท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวไผ่ ท่านมักสละเวลามาเยี่ยมเยียนบ้าง  มาเทศน์เข้าเงียบให้บ้าง บางครั้งก็เชิญให้ไปเที่ยวที่วัดหัวไผ่ และให้การเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ที่ดินอันเป็นที่ตั้งของบ้านเณร ไม่มีใครกล้าเถียงว่า ไม่ใช่ที่ชั้นหนึ่ง คุณพ่อ ยาโกเบเป็นผู้ซื้อให้ทั้งสิ้น และด้วยสายตาที่มองเห็นการณ์ไกลเป็นที่สุด เมื่อ 50 ปีมาแล้ว ที่ดินแถวนั้นยังเป็นป่าละเมาะ  เปลี่ยวและกันดารน้ำ แถมยังผีดุอีกด้วย  เพราะอยู่ติดกับเทียนซือ ท่านจึงซื้อได้ถูกอย่างไม่น่าเชื่อ 
 
น้ำคือปัญหาใหญ่
คุณพ่อยาโกเบได้สร้างแท้งค์น้ำฝนไว้สองแท้งค์ บรรจุได้แท้งค์ละไม่เกิน 10 ม. ตั้งอยู่ตรงสอง มุมของเรือนปั้นหยา ลำพังใช้ดื่มเพียงอย่างเดียวก็ไปไม่ได้กี่น้ำ แล้วน้ำอาบและน้ำใช้เล่า  เอามาจากไหน? นี่คือปัญหาใหญ่  กว่าจะแก้ได้ก็ล่วงเลยไปสิบกว่าปี  และโดยบังเอิญแท้ๆ ได้พบตาน้ำตรงใกล้ๆ บ้านนั่นเองก่อนหน้านั้น การแก้ปัญหาทำดังนี้ 
 
น้ำอาบกับน้ำซักผ้า ใช้น้ำทะเล  สะอาดและไม่เปลืองสบู่ด้วย ทะเลอยู่ห่างไปแค่กิโลเมตรเศษๆ  ทุกเย็นเดินไปอาบสบายมาก การอาบน้ำทะเลแล้วไม่มีน้ำจืดล้างตัว ผู้มีประสบการณ์เท่านั้น จึงบอกได้ว่า อาบแล้วสบายตัวแค่ไหน เสื้อผ้าที่ซักด้วยน้ำทะเลกลางคืนในที่มืด จะเห็นแสงฟอสโฟรัส  เวลาแห้งแล้ว สลัดขี้เกลือจะร่วงพรู ด้วยเหตุนี้  หลายคนสละสิทธิ์ที่จะอาบน้ำทะเลโดยใช้วิธีซักแห้งแทน รอครบเจ็ดวันไปอาบน้ำจืดที่คันทดครั้งหนึ่ง คันทด คือฝายน้ำล้นของบริษัทอีสท์เอเชียติก กักน้ำจืด ไว้ใช้ในกิจการโรงเลื่อยอยู่ที่บางพระ ห่างจากบ้านเณร 4 กม.ครึ่ง เดินไปกลับ 9 กม. 
 
การเดินทางไปอาบน้ำ  คือ มหกรรมอย่างหนึ่งแต่ละคนจะมีสัมภาระประจำกาย คือ กระป๋อง  สบู่และเสื้อผ้าที่ต้องซัก บางคนก็ใส่ในถุงผ้า บางคนก่อด้วยผ้าขาวม้า  หอบหิ้วกระโตงกระเตงไปตามมีตามเกิด บางคนเทินไปบนหัว บางคนแบกไปบนบ่า บางคนสะพายบ่าไป  เดินแถวเรียงสองไปตามถนนสุขุมวิท ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงถนนโรยหินแคบๆ พอรถสองคันหลีกกันได้ไม่ราบเรียบ และกว้าง ขวางเช่นปัจจุบัน รถรามีวิ่งแต่น้อย นานๆ จึงมีผ่านมาสักคัน แต่รถทุกคัน เมื่อเจอเข้ากับกองคาราวานของเราจะต้องชะลอฝีจักร และมองดูพวกเราด้วยความทึ่ง พยักพเยิดหัวร่อต่อกระซิกด้วยความสนุกสนาน เพราะเป็นของแปลกใหม่สำหรับพวกเขาจริงๆ จะว่าแม้วก็ไม่ใช่ มูเซอก็ไม่ใช่ ดูเผินๆ  ก็ไม่ผิดจากกองคาราวานขนฝิ่นแถวสามเหลี่ยมทองคำเท่าใด 
 
คันทดหรือฝายน้ำล้นนี้ สร้างเป็นกำแพงคอนกรีตกั้นลำห้วยที่มีน้ำจืดไหลตลอดปี  ความกว้าง ของกำแพงประมาณ 15 ม.  สูงประมาณ 1.50 ม. ฤดูฝนน้ำล้นแรงมาก  คนแข็งแรงเท่านั้นจึงสามารถเดินผ่านไปได้ แต่หน้าแล้งน้ำไหลเพียงเอื่อยๆ ใต้เขื่อนมีแอ่งน้ำสลับหินก้อนโตๆ ใช้เป็นที่ซักผ้าได้อย่างดีเมื่อมาถึง สิ่งแรกที่ทำคือ รีบซักผ้าแล้วเอาขึ้นตากตามยอดไม้และยอดหญ้า เพื่อให้สะเด็ดน้ำให้มากที่สุด จะได้ไม่ต้องแบกหนักตอนขากลับ แต่ได้อย่างมากก็แค่หมาดๆ ก็ถึงตอนขัดสีฉวีวรรณ ต้องคอยหลบพวกซักแห้ง โดยไม่ยอมอยู่ใต้น้ำเป็นอันขาด ขณะอยู่ที่บางช้างการลงอาบน้ำในแม่น้ำแม่กลองถือเป็นความสุขที่สุด  เพราะน้ำใสสะอาดและราบเรียบสมชื่อแม่กลอง ครั้นมาเจอความอัตคัดน้ำที่ศรีราชาเข้า  ถือเป็นการทรมานกายได้อย่างหนึ่ง เมื่อมาเจอน้ำคันทดเข้า แม้นจะเทียบแม่น้ำแม่กลองไม่ได้  แต่ก็เป็นเหมือนสวรรค์   เมื่อเทียบกับน้ำบ่อปลาเข็มหรือน้ำทะเล ทุกคนจึงดำผุดดำว่าย  เพื่อใช้น้ำให้คุ้มที่สุดนั่นเอง 
 
เสียงนกหวีดดังขึ้น  พวกเราก็รีบขึ้นจากน้ำ แต่งตัว  เก็บเสื้อผ้า  เข้าแถวเดินทางกลับด้วยความกระปรี้กระเปร่า เนื่องจากสัมภาระที่แบกกลับมีน้ำปนด้วยจึงหนักกว่าขาขนมา เพียงไม่กี่นาที  เหงื่อเริ่มออกและเริ่มต้นสะสมจนกว่าจะครบเจ็ดวัน วนเวียนเป็นวัฎจักร เช่นนี้ไม่รู้จบสิ้น  จนล่วงถึงสมัยท่านยวง  นิตโย เป็นอธิการ สวรรค์ทรงโปรดให้พบตาน้ำแค่บันไดบ้านนั่นเอง ฉากของกองคาราวาน ความทุกข์ทรมานจากการที่ต้องซักแห้งหรืออาบน้ำทะเล จึงได้อันตธาน  สำหรับตาน้ำที่พบนี้อยู่ใกล้จอมปลวกใหญ่ตรงปากทางเข้า มีต้นมะขามสูงใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ใช้เป็นที่ปักธงเมื่อมีการเฉลิมฉลอง กับใช้เป็นที่ทดสอบวิชาปีนป่ายและห้อยโหน เนื่องจากกิ่งมะขามมีความเหนียวมาก  การห้อยโหนสามารถทำได้แบบท้ามฤตยูจริงๆ การกระโดดจากกิ่งหนึ่งไปสู่อีกกิ่งหนึ่ง ถือเป็นท่าธรรมดาที่สุด   นอกจากจอมปลวกอันเป็นสัญลักษณ์ว่ามีน้ำข้างใต้แล้ว ดินแถวนั้นชื้น หญ้าขึ้นเขียวตลอดปี  ไม่มีใครเฉลียวใจ  ได้แต่หาและขุดก้นรอบนอก นักหาน้ำคนไหนว่าเก่ง  จะถูกเชิญมาสำรวจ  แต่พอขุดไปหลุมแล้วหลุมเล่า  เจอแต่ความแห้งผาก เรียกว่ากรรมจำบังแท้ๆ 
 
ปันส่วนน้ำ
การพูดเรื่องน้ำคงจะไม่สมบูรณ์ถ้าหากไม่ได้เล่าเรื่องการปันส่วนน้ำ  เพราะเป็นครั้งแรกที่เรารู้จักคำว่า “ปันส่วน” วิธีปฏิบัติก็คือ  คนหนึ่งมีสิทธิ์ใช้น้ำฝนได้สองขันต่อวัน โดยกำหนดเอาเวลาเย็นก่อนอาหารค่ำเป็นเวลาปันส่วน   เมื่อระฆังอาณัติสัญญาณดังขึ้น ทุกคนมีหน้าที่วิ่งไปที่โรงตากผ้า คว้ากระป๋องคู่ชีพได้ก็รีบมาเข้าแถวเรียงหนึ่ง ครูเศียร โชติพงษ์ (คุณพ่อเศียร) ทำหน้าที่ผู้ปันส่วนอย่างเคร่งครัดคนละสองขัน ขาดได้ เกินไม่ได้ เมื่อได้น้ำแล้ว  ก็บรรจงหิ้วไปเก็บ ณ ที่ตั้ง  มีฝาครอบอย่างดี ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำคือ น้ำหาย ตอนเช้าพอตื่นขึ้นมาจะล้างหน้าปรากฏว่าน้ำพร่องไปผิดปกติ ต้องเข้าใจทันที่ว่าถูกนักเลงมือดีลองของเข้า จะอุทธรณ์ฏีกาอะไรก็ไม่ได้ เพราะเป็นเวลาถือเงียบ  อย่างดี  ถ้าเจอกระป๋องไหน เจ้าของยังไม่มาก็จ้วงเอามาขันครึ่งขัน น้ำก็เหมือนน้ำ ใครจะอ้างเป็นเจ้าของได้?  เรียกว่าหนามยอกเอาหนามบ่ง 
 
บางท่านอาจนึกแปลกใจว่า มีการขโมยน้ำด้วยหรือ อันที่จริงมิได้เกิดจากเจตนาอะไรหรอก  แต่เกิดจากภาวะจำยอมมากกว่า เช่น รับปันส่วนไม่ทันหนึ่ง ทำน้ำหกอีกหนึ่ง พวกนี้สังเกตได้ง่ายตรงที่ว่า พอระฆังปลุกดังเก๊ง จะกระวีกระวาดลุกขึ้นแล้วลงไปที่โรงตากผ้าอย่างเร็ว คนไหนที่มัวแต่งุ่มง่ามนั่นแหละ คือ เหยื่ออันโอชะปัญหากระเตื้องขึ้นนิดหนึ่งเมื่อตึก 50 ปีสร้างเสร็จ เพราะบริษัทคริสเตียนได้สร้างแท้งค์น้ำขนาดใหญ่ไว้ใต้ดิน การปันส่วนเพิ่มเป็นสามขันต่อวัน เรียกว่าเพิ่มขึ้น 50% 
 

พระสงฆ์และสามเณรที่บ้านเณรพระหฤทัยศรีราชา 1937
 


คุณพ่อยอลี คุณพ่อเมอนิเอร์  คุณพ่อลาร์เก
คุณพ่อมีแชล
และคณะสามเณร 1938


คุณพ่อยอลลี และ
สามเณร ปี 1938-1939

คุณพ่อมีแชล คุณพ่อเมอนีเอร์ คุณพ่อบุญชู
และสามเณร ปี 1939-1940  
 
หลักสูตรการเรียน
หลักสูตรการเรียนยังคงใช้ระบบเดิมคือ  มี 4 ชั้น ชั้นเล็ก (ปี 1-2) ชั้นสาม (ปี 3-4) ชั้นรอง (ปี 5-6) และชั้นใหญ่ (ปี 7-8) เรียนภาษาลาติน ฝรั่งเศส ไทย คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศีลธรรม เป็นวิชาหลัก พระสงฆ์ประกอบด้วยคุณพ่อมอรีส การ์ตอง  เป็นอธิการ  คณาจารย์  ประกอบด้วย  คุณพ่อดาวิด คุณพ่อโรเชอโร  คุณพ่อปิลยัง (จากมิสซังลาว) คุณพ่อนอแอล (พระสงฆ์ไทย) เนื่องจากขาดแคลนสถานที่ ห้องเรียนไม่สมประกอบ แต่การเรียนการสอนเป็นไปอย่างเข้มข้น ฝ่ายบริหารพยายามปรับปรุงระเบียบและระบบต่างๆ ให้ทันสมัยและเจริญก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ศรีราชาเป็นเมืองเปิดจึงไวต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่กบดานในลักษณะอาศรมแบบที่อยู่บางช้าง ถ้าหากไม่ก้าวทันเขาก็ต้องอยู่ล้าหลังเขา คือ ปรัชญาง่ายๆ เริ่มตั้งแต่หลักสูตรการเรียน ขณะนี้ได้รับเอาหลักสูตรของรัฐบาลบรรจุไว้ในตารางเรียนมากขึ้น และสามารถไปสมัครสอบร่วมกับนักเรียนสามัญทั่วไปได้ 
 
งานโยธาก็เป็นกิจกรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เพราะมีที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาก หากไม่หักล้างถางพงเสียบ้าง อันตรายจากไฟป่าและสัตว์มีพิษตลอดจนขโมย ขโจรจะมีมาก เมื่อถางแล้วก็ปลูกพืชล้มลุกและไม้ยืนต้น ทำให้ได้รับประทานผักสด และผลไม้สดโดยไม่ต้องซื้อหา  ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากอีกด้วย 
 
ปี ค.ศ.1936  เปิดรับสมัครเณรรุ่นใหม่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ย้ายบ้านมาอยู่ที่ศรีราชา มีผู้สมัครจากทั้งสองมิสซังรวม 31 คน ทำให้จำนวนเณรทั้งหมดเกือบร้อยคน นับว่าสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา 
 
 
 
เปลี่ยนอธิการ
คุณพ่อเรอน เมอนิเอร์  ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการคนใหม่ กับมีคณาจารย์ใหม่ติดตามมาด้วยคือ คุณพ่อวิกเตอร์ ลาร์เก คุณพ่อมอรีส  ยอลี  กับคุณพ่อแฟร์ จากมิสซังลาวมาแทนคุณพ่อปิลยัง เมื่อคณะผู้บริหารเปลี่ยนใหม่เกือบทั้งชุดนี้ นโยบายและระเบียบต่างๆ ก็ย่อมต้องเปลี่ยนไปด้วย เรียกว่าเริ่มเข้าสู่ยุคเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการ  และแล้วเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดฝันก็อุบัติขึ้น 
 
สมัยอพยพ
ในปี ค.ศ.1938  ซึ่งเป็นสมัยของอธิการ เรอเน เมอนิเอร์ ท่านเป็นคนมีระบบที่เคร่งครัดตรงไปตรงมา และดูเหมือนท่านจะมีชื่อเป็นเจ้าของโรงเรียนสามเณราลัย ซึ่งมีครูวิลาส สามิภักดิ์ เป็นครูใหญ่  อาจจะไม่ได้ทำตามระเบียบของทางราชการบางอย่าง ก็ถูเพ่งเล็งจากศึกษาธิการจังหวัด ในที่สุด ก็ถูกทางการสั่งปิดประมาณกลางปีของปีการศึกษานั้น ทางผู้ใหญ่ก็ไม่ต้องการให้สามเณรขาดทางด้านการศึกษา  จึงตกลงส่งสามเณรไปอยู่วัดแปดริ้ว  ที่นั่นมีโรงเรียนเซนต์ปอลรับผิดชอบโดยคณะภราดาเซนต์คาเบรียล โดยมีคุณพ่อบุญชู ระงับพิษติดตามไปด้วย สามเณรมีประมาณ 20 คน คุณพ่อเจ้าวัดแปดริ้ว คือ คุณพ่อการิเอร์  ที่โรงเรียนก็มีบราเดอร์ หลุยส์ ลูโดมีโก บราเดอร์เคลเมนต์ มี ครูถนอมเป็นครูใหญ่ พักที่บ้านของคณะบราเดอร์ สภาพของผู้อพยพจากบ้านมานั้น ได้รับความกระทบกระเทือนทั้งร่างกายและจิตใจ  ต้องอาศัยในบ้านของคนแปลกหน้า  กับผู้ใหญ่ที่ไม่คุ้นเคย รวมกับเด็กอื่นที่มีการอบรมศึกษาต่างกัน ก็ย่อมได้รับความยากลำบากแน่นอน แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในเทอมสุดท้ายของปีการศึกษา  พอเปิดเทอมสามเณรก็กลับบ้าน และให้คอยฟังข่าวว่าจะกลับเข้าบ้านเณรได้อีกเมื่อไร ซึ่งก็เป็นการเปิดเทอมที่ยาว นานมาก 
 
ในปลายปี ค.ศ.1939 ทางบ้านเณรเปิดกิจการใหม่ มีคุณพ่อเมอนีเอร์  เป็นอธิการ คุณพ่อ มิแชล อ่อน และคุณพ่อเดอฌัง เป็นอาจารย์   ทางโรงเรียนก็มีครูวิลาส สามิภักดิ์ เป็นครูใหญ่ มีเณรอยู่ประมาณ 30 คน ชีวิตของสามเณรทั่วๆ ไปก็แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม อย่างไม่เป็นทางการ แต่ก็เรียกรุ่นพี่ และ รุ่นน้อง คนที่เข้ามาใหม่ก็เรียกรุ่นน้อง รุ่นพี่ก็พยายามช่วยเหลือรุ่นน้องทุกอย่าง คุณพ่อเมอนีเอร์ เป็นคนมีระเบียบ การงานสมัยนี้ไม่ค่อยจะมี อาทิตย์หนึ่งก็มีวันหยุดคือวันพฤหัสและวันอาทิตย์  วันพฤหัสก็ไปเดินขึ้นเขา หรือไปคันทด  ส่วนวันอาทิตย์ต้องไปทะเล  เรื่องการเรียน  รุ่น ม.1-2-3  สมัยนั้นก็อยู่ด้วยกันในห้องเรียน ถ้ามีเสียงอะไรที่ไม่พึงปรารถนา พ่ออธิการไม่ได้ทำโทษเด็กแต่ทำโทษรุ่นโต ฉะนั้น พอออกจากห้องเรียนรุ่นน้องก็อานไปเหมือนกัน 
 
ปลายปี ค.ศ.1940  เกิดกรณีพิพาทอินโดจีน ไทยเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส บรรดาผู้ใหญ่ของบ้านเณรส่วนใหญ่เป็นฝรั่งเศส ถูกทางราชการเพ่งเล็งวันหนึ่งคุณพ่อเมอนิเอร์ ไม่ได้ไปเดินตรวจสามเณรตอนกลางคืนตามปกติ ยังความแปลกใจและสงสัยว่าจะมีอะไรผิดปกติ สักครู่ก็มีตำรวจจำนวนหนึ่งขึ้นมาที่ห้องนอน และไปประจำตามหน้าต่าง ขณะที่สามเณรเข้านอนกันหมดแล้ว ประกาศมิให้เคลื่อนไหว ทุกคนตกใจกลัวมาก วันนั้นเองก็มีการตกลงกัน ขณะนั้นเองมีคุณพ่อเดวิด ซึ่งเป็นคุณพ่อจากวัดจันทบุรีมาฟังแก้บาปเณรและพักอยู่ชั้นล่าง ทางตำรวจก็ให้คุณพ่อที่เป็นชาวฝรั่งเศสทุกคนเข้ามากรุงเทพฯ จึงเหลือคุณพ่อมิแชลอ่อนอยู่ประมาณเดือนธันวาคม คุณพ่อมิแชล อ่อน ก็ให้สามเณรกลับบ้าน  บ้านเณรปิดสามเณรกลับบ้านโดยยังไม่ได้สอบ โดยให้รุ่นโตบางคน  เช่นครูวิลาส ครูเพิ่ม ครูชันกี่ และคนจีนที่อยู่ใกล้บ้านเณรมาเฝ้าระยะหนึ่ง  คณะเลือดไทยและพระภิกษุกลุ่มหนึ่งก็มาที่ตึกเก่า เรียกให้เปิดประตู คนจีนที่เฝ้าก็ออกไปพบ  จึงถูกจับมัด  ที่เหลือจึงไม่ยอมเปิดบ้านออกมา ครูวิลาสเห็นท่าไม่ดี เลยโหนเชือกลงมาตรงห้องน้ำหลังบ้านวิ่งหลบหนีไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ   เมื่อตำรวจมาพวกนั้นก็กลับไปหมดแล้ว  บรรดารูปพระ ข้าวของ เครื่องใช้ศักดิ์สิทธิ์ก็เอาไปฝังดินไว้ เพราะกลัวถูกทำลาย 
 
ขณะที่กิจการบ้านเณรหยุดดำเนินการ  อาคารทรัพย์สินต่างๆ ที่ศรีราชาจำเป็นต้องมีการเฝ้ารักษาและดูแล คุณพ่อเอดโตโร  ฟรีเยรีโอ แห่งคณะซาเลเซียน ชาวอิตาเลียน ซึ่งโดยทางการเมืองประเทศไทยกับประเทศอิตาลีเป็นมิตรประเทศกัน  ชาวอิตาลีจึงสามารถไปไหนมาไหนได้สะดวก  คุณพ่อจึงได้รับแต่งตั้งให้มาประจำอยู่ที่บ้านเณรศรีราชา   และโดยความร่วมมือของคุณพ่อประพล เจ้าอาวาสวัดพนัสนิคมได้รวบรวมเด็กลูกชาวบ้านจากวัดหัวไผ่ ชลบุรี และพนัสนิคมซึ่งถูกมรสุมโหมอย่างหนักได้ประมาณยี่สิบคนมาเป็นเพื่อนคุณพ่อฟรีเยรีโอ  คุณพ่อได้สอนคำสอนและอบรมศีลธรรมจรรยา  และฝึกวิชาชีพ ตอนกลางวันก็ส่งไปสมทบกับเด็กๆ ที่คณะภราดารวบรวมไว้ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา  ซึ่งขณะนั้นมีฐานะเพียงเป็นบ้านพักตากอากาศมีภราดาคณะเซนต์คาเบรียล  เป็นผู้ดูแล และเปิดการสอนหนังสือขึ้น จำนวนเด็กทั้งหมดมี 80 กว่าคน ด้วยวิธีดำเนินนโยบายอันแยบยลนี้ ทั้งทางบ้านเณรทั้งบ้านพักคณะภราดาต่างอยู่รอดมาได้ด้วยความปลอดภัย  เด็กของคุณพ่อฟรีเยรีโอ หลายคนได้สมัครเข้าเป็นเณร เมื่อบ้านเณรกลับเปิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในปี ค.ศ.1943 และได้บวชเป็นสังฆราชและพระสงฆ์  อาทิ พระสังฆราชเทียนชัย สมานจิต,  คุณพ่อประสิทธิ์ คุณพ่อชนะ เป็นต้น  กิจกรรมอันเป็นประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่คุณพ่อฟรีเยรีโอเริ่มต้นไว้คือ การทำสวนปลูกผักและพืชต่างๆ ที่ช่วยให้เณรได้บริโภคอาหารที่มีคุณสมบัติทางโภชนาการครบถ้วน และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก 
 
ยุคเปิดบ้านเณรใหม่ 
สมัยอธิการสงวน สุวรรณศรี  และอธิการมีแชล  อ่อน
 
ในปี ค.ศ.1943 บ้านเมืองสงบ บ้านเณรเปิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง มีคุณพ่อสงวน สุวรรณศรี  เป็นอธิการ คุณพ่อดูรังด์ กับคุณพ่อมีแชล อ่อน เป็นผู้ช่วย สภาพบ้านเณรในขณะนั้นเสมือนคนเพิ่งตื่นจากฝันร้าย สามปีแห่งสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด และไม่มีการรับเณรใหม่  เมื่อรวมตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าจำนวนเณรลดไปกว่าครึ่ง คุณพ่อมีแชล  อ่อน  เป็นปราชญ์ร่วมกับคุณพ่อสงวน สุวรรณศรี  ผู้สำเร็จจากโรมทั้งคู่ได้จัดทำโครงสร้างใหม่ทั้งหมด ปฏิบัติเป็นขั้นตอนแบบค่อยเป็นค่อยไป กรณีพิพาทอินโดจีนได้ให้บทเรียน และข้อคิดในทางสร้างสรรค์เป็นอันมาก เฉพาะอย่างยิ่งอธิการเองได้ประสบการณ์มากกว่าเพื่อน 
 
ในปี ค.ศ.1946 อธิการสงวน สุวรรณศรี  ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช คุณพ่อมีแชล อ่อน ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำที่บ้านเณรอยู่แล้ว  เป็นอธิการแทน  มีคุณพ่อยอลี  เป็นผู้ช่วย มีสามเณรทั้งหมดประมาณ  80  คน 
 
ในสมัยนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของสามเณรเรียกได้ว่าลำบากมากในเรื่องการกินการอยู่ น้ำขาดแคลน ไฟฟ้าไม่มีใช้ เงินทองไม่ค่อยพอใช้จ่าย ฉะนั้น จึงต้องช่วยตัวเองเต็มที่ สามเณรต้องทำงานหนักมาก จะต้องคอยปราบหญ้าที่ขึ้นรวดเร็วสูงเหมือนเป็นป่า ทุกๆ วันเณรทั้งเล็กและใหญ่ต้องเข้าแถวเรียงหน้ากระดานถางหญ้าเรื่อยไป ไม่ว่าโตหรือเล็กต้องทำให้ได้ระยะเท่ากัน คนที่เข้าใหม่ไม่ชินหรือตัวเล็กๆ ก็อานไปเหมือนกัน  แต่ก็เป็นการฝึกฝนให้เข้มแข็ง นอกจากถางหญ้าแล้วเณรก็ต้องปลูกพืชสวนครัว เพื่อเป็นอาหารด้วย ที่ปลูกกันมากๆ ก็คือ  ผักกู๋ไช่ ถั่วพู ถั่วฝักยาว มะเขือยาว  บางช่วงก็ปลูกถั่วลิสงได้ต้มกิน  ซึ่งมีการแจกคนละกาละมัง เณรก็เอาไปเก็บไว้ในโต๊ะเรียนของตน  และเพราะมีที่กว้างขวางจึงเอาวัวจากวัดหัวไผ่มาเลี้ยงหลายตัว  ถือโอกาสหรือเทศกาลฉลอง  ก็ได้อิ่มหมี พีมันกันครั้งหนึ่ง มีช่วงหนึ่งมีสามเณรจากภาคอีสานมาอยู่ร่วมด้วย ก็มีการรู้จักรับประทานสิ่งสร้างของพระเป็นเจ้าเพิ่มขึ้นอีก คือ พวกตั๊กแตน  แย้ กิ้งก่า ตุ๊กแก  เป็นต้น   สามเณรที่เข้ามาใหม่และโตแล้วบ้างครั้งก็มีวิชาความรู่ในด้านต่างๆ สามารถช่วยให้มีวิธีใหม่ๆ ในการหาอาหารได้ เช่น เณรจากวัดจันทบุรีที่เข้าตอนโตแล้ว  ก็เห็นว่าไม่คอยมีอะไรกินกันนัก  เวลาไปชายทะเล นอกจากจะไปอาบน้ำแล้ว  ยังหาปลา หาหอยเสียบเอามาดองน้ำปลา เก็บไว้ทานได้นานทีเดียว 
 
พูดถึงการทำงานของสามเณรแล้ว ใครที่อยู่สมัยนั้นคงจำกันได้ดี เพราะความยากลำบากนั้นสอนให้ชีวิตมีความเข้มแข็ง มีน้ำอดน้ำทน  ก่อนปิดเทอมทุกครั้งหรือโอกาสหยุดอะไรก็แล้วแต่จะมีงานใหญ่รอเป็นโปรแกรมไว้ หรือโอกาสธรรมดา ถ้าสามเณรอยากขออนุญาตไปไหนเป็นพิเศษ  พวกเณรก็จะตั้งใจทำงานเป็นพิเศษไม่ให้มีบกพร่อง ให้อธิการพอใจ เพื่อจะได้รับความต้องการมีครั้งหนึ่งในปี ค.ศ.1950 พระรูปของแม่พระฟาติมาเสด็จมาประเทศไทยเป็นครั้งแรก  และพวกเณรก็ปรารถนาจะไปต้อนรับพระแม่ที่กรุงเทพฯ  เป็นอันมาก ก็มีการวางแผนการทำงานกันทีเดียว ทำงานให้มากที่สุด ไม่มีการทำผิดระเบียบ เพื่อจะได้รับอนุญาต อย่างไรก็ดีพวกเณรมิได้ขยันทำงานหรือถือระเบียบวินัยอย่างดีที่สุด เพื่อต้องการได้รับอนุญาตพิเศษจากอธิการเท่านั้น  แต่ตลอดเวลาที่บ้านเณรทุกอย่างก็หนักอยู่แล้ว เพราะอธิการเคร่งครัดและเอาจริงเอาจังในทุกๆ เรื่อง 
 
สมัยนั้นเรื่องน้ำเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะจำนวนคนมากแต่ไม่มีแหล่งน้ำพอ บางครั้งก็มีน้ำฝนนิดหน่อย พอแบ่งปันกันไปคนละกระป๋อง บางครั้งก็ต้องไปอาบน้ำ ซักเสื้อผ้าที่ทะเล ได้มีการเสาะหาแหล่งน้ำหลายครั้งในบริเวณนี้  มีผู้ชำนาญมาหาน้ำโดยการถือไม้เดินไป  ไม้ตกตรงไหน สามเณรก็ขุด  ดินก็แห้ง เล่นเอามือไม้บวมกันเป็นแถว ขุดในช่วงมหาพรตซึ่งต้องอดอาหาร เรียกว่าได้บุญหลายชั้น  ด้วยใจอยากจะมีแหล่งน้ำไว้ใช้ 
 
เรื่องการเล่นของสามเณรก็ใช่ย่อย มิใช่แต่เก่งทำงานอย่างเดียว ทีมฟุตบอลเก่งๆ แถบศรีราชาเณรปราบหมด คู่รักคู่แค้นมากับอัสสัมชัญศรีราชาเลยที่เดียว ไม่ว่าเป็นพวกนักเรียนหรือครู  เป็นที่ขึ้นชื่อลือชากันมาก  แต่เพราะความยากจน รองเท้าเตะฟุตบอลก็ไม่มี มีแต่เท้าเปล่าๆ ทุกครั้ง อุปกรณ์กีฬายิ่งไม่ต้องพูดถึง ฟุตบอลเย็บแล้วเย็บอีก  บางครั้งบางโอกาสได้ฟุตบอลใหม่ก็เสมือนมีงานฉลองใหญ่เลยทีเดียว และมิใช่ว่าจะได้เล่นออกกำลังกายได้ทุกวัน เพราะเรื่องสำคัญกว่าคือการทำงาน นานๆ จึงจะมีโอกาสได้เล่นจริงๆ สักครั้ง แต่ที่เล่นได้ดีก็เพราะทำงานหนักทำให้ร่างกายบึกบึนแข็งแรง  เมื่อมีการแข่งขันจึงไม่กลัวใคร 
 
การศึกษาเฟื่องฟู
เริ่มแรกในสมัยอธิการ สงวน สุวรรณศรี นั้น ก็ส่งเณรไปเรียนที่โรงเรียนดาราสมุทร  เดิมซึ่งตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชาปัจจุบัน เมื่อคณะภราดาเซนต์คาเบรียลเปิดสอนที่นั่น   โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนอัสสัมชัญ  บางรัก โรงเรียนดาราสมุทรจึงได้ย้ายออกมา  ในขณะนั้นมีนายประยูร เป็นเจ้าของเมื่อย้ายโรงเรียนออกมาแล้ว นายประยูรได้โอนกิจการโรงเรียนให้มิสซัง และมาตั้งที่บริเวณบ้านเณร  ในตอนแรกๆ ต้องอาศัยบ้านพักซิสเตอร์  และบ้านเณรเป็นห้องเรียน จำนวนนักเรียนในขณะนั้นคุณพ่อมิแชล อ่อน (มงคล ประคองจิต) เป็นอาจารย์สอนภาษาไทย ใช้วิธีการสอนแบบถอนรากถอนโคน คือเข้าถึงรากศัพท์เลยทีเดียวว่าเป็นอย่างไร วิวัฒนาการไปอย่างไร การเรียนจึงเข้าถึงภาษาบาลีสันสกฤต ลาตินและกรีก เนื่องจากท่านศึกษามาด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ท่านจึงมีหลักการสอนให้นักเรียนเข้าใจวิธีเรียน  คือเรียนด้วยความเข้าใจถึงแก่นรวมทั้งเหตุผลประกอบ วิชาความรู้จึงแน่นอนและแม่น จดจำได้ตลอดเวลา จึงไม่เป็นการแปลกอะไรที่ส่งเข้าสอบกี่รุ่นๆ เป็นสอบได้ยกชั้นหมด เป็นที่เลื่องลือ และเกรงขามของบรรดาโรงเรียนอื่นๆ สมัยนั้นมีคุณพ่อฝรั่งบางองค์ที่เพิ่งเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยก็ได้มาเรียนภาษาไทยกับท่านด้วย 
 
สามเณรเรียนที่โรงเรียนดาราสมุทรจนจบชั้นสูงสุด คือ ม.3 ในสมัยนั้น ส่วน ม.4, 5, 6, ก็ไปเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา แรกๆ ก็ต้องการนำอาหารเที่ยงไปทานกันเอง ผลัดเปลี่ยนเวรกันถือหมอข้าวและปิ่นโตไป  สมัยต่อมามีคนช่วยหาบไปส่งก่อนเที่ยงทุกวัน อาหารหลักสมัยนั้นคือ ปลาเค็ม หมี่ผัด สมัยอธิการมิแชล อ่อน ท่านได้ซื้อรถคันหนึ่งสำหรับกิจการของบ้านเณร และช่วยนำอาหารไปส่งให้ในตอนเที่ยงด้วย มีบางครั้งที่รถไปรับมาทานอาหารเที่ยงที่บ้านและนำไปส่งที่โรงเรียน 
 
 
ระเบียบวินัย
เมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้  ในสมัยนั้นเด็ดขาดมาก  แต่การที่สามเณรรู้จักระเบียบวินัยได้ช่วยให้ชีวิตมีคุณค่า  รู้จักทำอะไรตามกาลเทศะ  รับผิดชอบตัวเองได้  ถ้าอธิการสั่งแล้วต้องคำไหนคำนั้น  แต่ก่อน ที่ศรีราชามีขโมยชุกชุม  มีข้าวของอะไรต้องระมัดระวัง อธิการจึงให้ตากเสื้อผ้าได้เฉพาะกลางวัน ตกเย็น ต้องเก็บใครไม่เก็บครั้งแรกจะถูเรียกไปตักเตือน  ถ้ายังไม่เก็บอีกครั้งจะต้องถูกเรียกค่าปรับ สามเณรนั้นเป็นผู้ชาย กำลังอยู่ในวัยเด็ก วัยรุ่น จนถึงเป็นครู  การเจริญชีวิตอยู่ด้วยกันบางครั้งก็มีการกระทบกระทั่งกันตามประสาลิ้นกับฟัน แต่เพราะว่าเป็นสามเณรได้รับการอบรม และต้องบังคับอารมณ์ได้ดีกว่าคนอื่น ถ้าเกิดมีใครเบรกแตกเกิดชกต่อยกันขึ้น  ก็จะถูกทำโทษ บางครั้งให้ทานข้าวกับเกลือ  เวลาเข้าวัดจะนั่งอยู่ในที่ของตนไม่ได้ ต้องมาคุกเข่ากลางวัด เพื่อให้ทุกคนเห็นและมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป 
 
อธิการได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช
ในปี ค.ศ.1953 ได้รับข่าวอย่างเป็นทางการว่า คุณพ่ออธิการมงคล ประคองจิต  (มิแชล อ่อน) ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งท่าแร่-หนองแสง ตอนเย็นหลังเลิกเรียน บรรดาสามเณรโดยการนำของคุณครูเณรบุญเลิศ ธาราฉัตร   ขึ้นไปแสดงความยินดีกับคุณพ่อหน้าห้องทำงานของท่าน โดยหวังที่จะได้รับคำสั่งว่า “เออ...เย็นนี้ไม่ต้องทำงาน ทานอาหารว่างแล้วไปเล่นบอลได้” ทุกคนเดินยิ้มกลับแต่เป็นยิ้มเหยๆ พิกล ตั้งแต่วันนั้นทุกคนก็กำลังรอข่าวใหม่ว่า ใครจะมาเป็นอธิการคนต่อไปแทนพระสังฆราชมงคล แต่ที่แน่ๆ ต่างก็มุ่งมายังพระสงฆ์มิสซังกรุงเทพฯ 
 
สมัยอธิการยวง  นิตโย (ปี ค.ศ. 1953-1963)
คุณพ่อร่างเตี้ยเป็นมะขามข้อเดียว จากวัดนครศรี นามว่า คุณพ่อยอแซฟ ยวง (เคียมสูน) นิตโย  ผู้มีปริญญาจากมหาวิทยาลัยปรอปากันดา ฟีเด กรุงโรม รุ่นเดียวกับพระสังฆราช สงวน สุวรรณศรี  เข้ามารับหน้าที่อธิการบ้านเณร โดยที่ท่านเป็นสงฆ์หนุ่มวัยฉกรรจ์ ความรู้หลักแหลมหาผู้เสมอเหมือนได้ยากในสมัยนั้น ประกอบด้วยมีใจร้อนรนเป็นพิเศษ เหตุการณ์ของบ้านเณรก็เริ่มจะเปลี่ยนแปลง ดังจะได้กล่าวเป็นตอนๆ ไป
 
เคลียร์พื้นที่
ก่อนหน้าที่อธิการเคียมสุนจะมาอยู่  อธิการมงคลชอบให้เณรปลูกผลหมากรากไม้ไว้เป็นอาหาร เพื่อทุ่นค่าใช้จ่ายของโรงครัวได้ทางหนึ่ง  อาทิเช่น  กล้วย มะละกอ ขนุน ทุเรียนเทศ น้อยโหน่ง  ฝรั่ง มะม่วง  มะเฟือง มะนาวควาย  เป็นต้น เรียกว่ามีผลไม้แทบทุกชนิดให้เณรกิน  ประเภทสวนครัวก็มีผักบุ้งจีน ผักกึ้นไช่ (เณรเรียกว่าผักไม้กวาด) ฯลฯ ปุ๋ยที่ใช้ใส่ก็เป็นปุ๋ยธรรมชาติที่พวกเณรช่วยกันผลิตขึ้นมา พืชอีกอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นอาหารว่างได้ดีก็คือ  ถั่วลิสง  กินเข้าไปมากๆ ก็สร้างบรรยากาศวิปริตได้อีกแบบหนึ่ง ครั้งอธิการเคียมสุน มาอยู่ได้ไม่นาน คงจะมองเห็นว่าพืชผลพวกนี้ จะเป็นพิษเป็นภัยเป็นโอกาสให้เณรผิดระเบียบวินัยอยู่บ่อยๆ หรืออาจจะคิดว่าที่นครชัยศรีมีมาก จะเอาเมื่อไรก็ย่อมได้ คุณพ่อก็เริ่มติดต่อขอเช่ารถแทรคเตอร์จากกรมป่าไม้ขนาดใหญ่มาหลายตัว ปฏิบัติการจองเวรไม่กี่วัน  ไม้ป่าไม้ผลต่างๆ ก็ราบพนาสูญ รวมทั้งเล้าไก่หน้าตึกก็ไม่ละเว้น ทำให้คนเลี้ยงไก่ที่ชอบแอบกินไข่ไก่คนเดียวพลอยเดือดร้อนไปด้วย  (ไม่มีไข่จะกินอีก) เมื่อเคลียร์พื้นที่บริเวณรอบๆ เรียบร้อยแล้ว คุณพ่อก็หันมาเคลียพื้นที่ภายในบ้าง (พวกเณร) ชั่วระยะเพียงปีเศษๆ ไม่ว่าเล็กว่าโต  จะถูกกวาดกลับบ้านเห็นว่าเณรคนไหนไม่มีแววที่จะเป็นพระสงฆ์  คุณพ่อคงถือคติที่ว่า “คุณภาพย่อมดีกว่าปริมาณ” เณรที่ถูกกวาดออกไปก็ได้แต่ปลงว่า “คำตัดสินของอธิการคือคำตัดสินของพระ” 
 
การศึกษาอบรม
อธิการเคียมสุน หมายมั่นปั้นมือที่จะให้เณรทุกคนมีความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านกิจกรรมโรงเรียนของบ้านเณร เริ่มขยายตัวรับนักเรียนเพิ่มขึ้น ตัดสินใจรับบุคคลภายนอกที่มิใช่เณรเข้าเป็นครูใหญ่เป็นครั้งแรกในปีการศึกษา ค.ศ.1955 คือครูวินัย ไตรภพ ประกอบด้วยเณรที่เคยเป็นครูใหญ่ไม่มีวุฒิทางครู และในปีการศึกษานี้เอง คุณพ่ออธิการได้อนุมัติให้เณรที่เป็นครูสอนเรียนมีโอกาสไปสมัครสอบวุฒิครูที่จังหวัดชลบุรี เณรที่ได้วุฒิครู พ.ป. เป็นคนแรก  คือ เณรฟุกหยุน  แซ่อึ้ง (คุณพ่อวิศิษฎ์  หริพงศ์)  ไปสอบทีเดียวก็ได้เลย  หลังจากนั้นเณรระดับครูสอนเรียนก็ได้รับการสนับสนุนให้ไปสอบวิชาครูทุกคน ใครที่ยังไม่เป็นครูก็ไปสมัครสอบเทียบความรู้มัธยมปลาย ก็ปรากฏว่าทางวิชาการสู้เข้าได้สบายมาก  จึงถือเป็นนโยบายจนถึงทุกวันนี้ว่า  เณรควรจะต้องมีวุฒิทางครูทุกคน 
 
ภาษาลาติน  ภาษาฝรั่งเศสต้องถือเป็นหัวใจของเณรที่จะต้องเรียนรู้  อย่างใช้งานได้  โดยมี คุณพ่อวินทร์  เจริญวงศ์ กับคุณพ่อสวัสดิ์ กฤษเจริญ รับหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนอีกแรงหนึ่ง พูดถึง คุณพ่อทั้งสองแล้ว ทุกคนต้องยอมรับว่า ท่านเชี่ยวชาญจริงๆ สามารถพูดภาษาลาตินได้อย่างคล่องแคล่วเหมืนกับเทน้ำออกจากขวดอย่างไงอย่างงั้น ส่วนคุณพ่ออธิการเองรับหน้าที่เคี่ยวทางด้านหลักภาษาและบทประพันธ์  ซึ่งท่านถนัดอยู่แล้ว ต่อมาระยะหลังๆ เรื่องภาษาฝรั่งเศสชักจะซบเซาลงพร้อมกับการจากไปของคุณพ่อสวัสดิ์  ซึ่งท่านเสียชีวิตไปเมื่อวัยยังไม่สมควรเมื่อปี ค.ศ.1958 
 
ใครก็ตามที่สมองไม่ยอมรับในเรื่องภาษาต่างประเทศ มักจะรู้รสชาตของการเรียนภาษาลาติน จนพูดติดปากว่า “ลาตินคือยาหม้อใหญ่” แต่ก็จำเป็นสำหรับพระสงฆ์ในสมัยนั้นมาก อีกภาษาหนึ่งที่ทิ้งไม่ได้คือภาษาอังกฤษ  ถึงกับมีการบังคับให้เณรพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองรองจากลาติน  ก่อนที่เณรจะกลับบ้านพักร้อนปลายปี จะมีการสอบใหญ่ทั้งข้อเขียนและสอบปากเปล่า การสอบปากเปล่าจะกระทำในห้องอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากัน คุณพ่อผู้สอบจะนั่งเรียงหน้าให้ผู้ถูกสอบได้ดีทีเดียว บางคนถึงกับลืมตัวพูดเสียงประสานได้โดยไม่ตั้งใจ   การสอบแบบนี่  ในสมันนั้นถือว่าเป็นการทรมานใจอย่างร้ายกาจที่สุด เท่ากับเป็นการประจานคนสมองนิ่มไปในตัว  แต่ก็ดีไปอีกอย่างที่สร้างความกล้าหาญให้กับเณรไปในตัว 
 
เห็นไหมครับว่า  สมัยนั้นพวกเณรจะต้องเรียนกันอย่างไร เมื่อประเมินผลเสร็จ  คุณพ่อก็เรียกเณรเข้าพบทีละคน เพื่อฟังผลสอบ  ตอนนี้ละจะได้รู้กัน และอาจจะต้องรับซองขาวซึ่งสรุปผลสอบสั้นๆ ว่า  “ไม่มีกระแสเรียกแล้ว”
 
โรงเรียนของบ้านเณรเองก็มีเพียงชั้นมัธยมปีที่ 3 (ป.7 สมัยหนึ่ง) เมื่อจบ ม.3 ก็ต้องไปเรียนต่อที่อัสสัมชัญ แต่สมัยอธิการเคียมสุนดีกว่าเก่าก่อนหน่อยตรงที่ว่า เณรไม่ต้องเอากาละมังกับช้อนไปโรงเรียนด้วย  เพราะมีรถบริการรับส่งกลับกินข่าวเที่ยงที่บ้านเณร 
 
เรื่องอาหารการกิน
พูดถึงเรื่องอาหารการกินแล้ว เณรรุ่นแรกๆ คงจะซาบซึ้งกันดีอยู่แล้ว แต่จะขอพูดถึงสมัยอธิการเคียมสุนอีกเล็กน้อย  เพราะเณรสมัยนี้พอจะมีเนื้อหมู เห็ด เป็ด ไก่กินบ้างแล้ว  คุณพ่ออธิการบอกว่าถ้าเณรอดมากๆ คงเรียนไม่ไหวแน่ จำเป็นต้องเพิ่มคุณค่าทางอาหารให้บ้าง การเรียนคงจะดีขึ้น ว่าแล้วคุณพ่อก็ซื้อวัว จากหัวไผ่มาฝูงหนึ่ง 10 ตัว เอามาเลี้ยง พอวัวตกลูกแล้วก็ฆ่าแม่เป็นอาหาร บางทีวัวยังไม่ตกลูกก็ฆ่าทั้งแม่ทั้งลูก(ในท้อง) เพราะเณรดูไม่ออกว่าวัวท้อง เณรวิโอลารับบทหัวหน้าเพชฌฆาต นอกจากวัวก็มีหมูเนื้อที่โรงครัวเลี้ยงไว้เป็นเล้าๆ วันหยุดที่ก็ฆ่าทันที และเก็บไว้กินเป็นอาทิตย์ๆ เมื่ออาหารมีป้อนโรงครัว ซิสเตอร์ประจำครัวก็ยิ้มออกไม่ต้องปวดหัวเรื่องซื้อหา แต่อาหารที่เณรโปรดมากเห็นจะได้แก่น้ำพริกปลาทู  อาหารไทยของเรา 
 
 
 
การพักผ่อนหย่อนใจ
การพักผ่อนหย่อนใจก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเณร เพราะการกีฬาทำให้หายเครียดได้แน่นอน ฟุตบอลเป็นกีฬาหลักของเณร ซึ่งก็ไม่มีเทคนิคการเล่นเหมือสมัยนี้  ใครเตะแรง กำลังปะทะดีกว่าก็ได้เปรียบ เรียกว่าซดแหลก สมัยนี้ก็เริ่มกีฬาบาสเกตบอลเพิ่มขึ้น แต่ใช้สนามทรายเล่นกัน อีกอย่างหนึ่งที่ฮิตก็คือ กีฬาวอลเล่ย์บอล  แบดมินตัน ซึ่งคุณพ่ออธิการมักจะยืนเชียร์เป็นประจำ 
 
นอกจากกีฬาก็มีการแสดงละครในโอกาสสำคัญๆ เช่น ฉลองบ้านเณร ฉลองอธิการ เป็นต้น พวกเณรมิได้แสดงเพื่อพวกเณรเท่านั้น ยังเชิญเพื่อนบ้านใกล้เคียงมาชมด้วย เช่น เณร บราเดอร์ และนักเรียนโรงเรียนวัจนคาม (โรงเรียนเซนต์ปอลในปัจจุบัน) มาชมด้วย พวกเณรก็แสดงกันขาดใจสุดดิ้น  ตอนนั้นมีคุณพ่ออาทร  พัฒนภิรมย์ เป็นผู้ฝึกสอน  ทำให้สัตบุรุษได้รู้จักเณรดีขึ้น มิใช่เณรจะต้องเก็บตัวอย่างสมัยก่อนเมื่อคุณพ่ออาทรย้ายไป คุณพ่อศวง  ศุระศรางค์  เพิ่งบวชใหม่ๆ ก็มาอยู่บ้านเณรแทนคุณพ่อศวง องค์นี้เป็นผู้แทนของอธิการในการร่วมประชุมศิษย์เก่าของบ้านเณรในสมัยแรกๆ ที่ก่อตั้งศูนย์ขึ้นมา โดยที่คุณพ่อเป็นนักฟุตบอลอยู่แล้ว คุณพ่อก็ได้พัฒนาการกีฬาของบ้านเณรขึ้นเรื่อยๆ ตามสมควรแก่โอกาส 
 
การก่อสร้างอาคารวัตถุถาวร
ในช่วงระยะเวลา 10 ปี (1953-1963) แม้คุณพ่ออธิการเคียมสุนจะไม่ใช่นักก่อสร้าง แต่เมื่อมีคู่ใจเช่น คุณพ่อสวัสดิ์  และครูเณรยุทธิชัย เป็นแรงสนับสนุนจึงเร่งก่อสร้างงานต่างๆ ขึ้นมาหลายชิ้นหลายอย่าง เรื่อจากการสร้างกางเขนหินอ่อนขนาดใหญ่หน้าห้องพักของคุณพ่อ  เป็นสักการะวัตถุ ที่สวยงามมากชิ้นหนึ่ง ต่อมาก็สร้างเรือนไม้ชั้นเดียวยาว 20 เมตร เป็นที่ผึ่งเสื้อผ้า เก็บจอบเสียม มีดพร้าต่างๆ ซึ่งก่อนนั้นเก็บไว้ที่ห้องใต้บันไดตึกเก่า เวลาเดินขึ้นเดินลงมักจะได้กลิ่นไม่สะอาด  จึงต้องหาทางย้ายไปในเรือนไม้ที่สร้างขึ้น ต่อจากเรือนไม้ ก็เป็นเรือนนอนสองชั้นสำหรับพวกเณรระดับกลาง (คุณพ่ออธิการมงคล ชอบเรียกว่าพวกสะเทินน้ำสะเทินบก) ตอนที่กำลังสร้างมีเสากับหลังคา โดนพายุทดลองความแข็งแรง  โย้ไปเกือบ 80 องศา  เล่าเอาครูเณรยุทธิชัยใจหายใจคว่ำ  เกือบเสียชื่อสถาปนิก  แต่อาศัยแรงช่วยดึงกลับเข้าที่ได้ดังเดิม เมื่อเรือนไม้นี้เสร็จเรียบร้อยก็หันมาสร้างหอคอยวางถังน้ำ สูบน้ำขึ้นจากบ่อ ทำเป็นน้ำประปาเทียมได้ใช้กันสะดวกขึ้น พวกเราเรียกกันว่าวอเตอร์ซัพพลาย เณรก็ไม่ต้องหิ้วกระป๋องไปอาบน้ำที่บ่อหลังสวนอีก 
 
เมื่อสร้างแท้งค์น้ำแล้ว ถ้าไม่มีน้ำให้สูบขึ้นไปก็หาประโยชน์อันใดมิได้ คุณพ่อจึงระดมแรงงานจากเณรกลาง เณรใหญ่ ช่วยกันขุดบ่อน้ำเดิมให้ใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นบ่อเหลี่ยมๆ กลมๆ ในตัวของมันเอง ซึ่งไม่ซ้ำแบบใคร การขุดบ่อก็ทำกันทั้งกลางวันกลางคืน กล่าวคือต้องการให้เสร็จก่อนที่เณรกลับบ้านตอนปิดภาคฤดูร้อน เสร็จจากการขุดบ่อน้ำก็หันมากลบบ่อฝนข้างตึก อ้าว.... และจะเอาน้ำฝนที่ไหนใช้ดื่ม  เปล่าครับ เขาเพียงเอาดินมากลบบนฝาบ่อแล้วเอาหญ้าญี่ปุ่นมาปลูก เพื่ออำพรางว่าตรงนี้คือสนามหญ้านะ  ก็ดูเก๋ไปอีกแบบหนึ่ง 
 
ในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี ที่แม่พระประจักษ์ที่ลูร์ด คุณพ่ออธิการได้สร้างถ้ำแม่พระเพื่อถวายเป็นเกียรติและที่ระลึกสำหรับแม่พระด้วยใกล้ๆ กับบ่อน้ำนั้นเอง นับเป็นถ้ำแม่พระที่สวยงามมากแห่งหนึ่งที่เป็นสถานที่สักการะจนกระทั่งทุกวันนี้  เรื่องอาหารการกินก็ได้ปรับปรุงแล้ว ซิสเตอร์และคนครัวก็อยู่บ้านเก่าแก่มานานเต็มทนแล้ว น่าจะสร้างใหม่ได้แล้ว  เมื่อคุณพ่อคิดแล้ว ก็ต้องลงมือทำในที่อาคารที่พักซิสเตอร์  และครัวหลังใหม่งดงามสมฐานะก็สำเร็จอีกชิ้นหนึ่ง  และยังใช้งานได้ดีจนกระทั่งทุกวันนี้อีกเช่นกัน งานก่อสร้างใหญ่ๆ ก็หมดไปแล้ว  ก็เหลืองานอดิเรกที่ยังทำต่อไป  ก็คือ การย้ายรูปพระหฤทัยไปตั้งไว้ในที่ต่างๆ เพื่อดูความเหมาะสม ย้ายไปย้ายมาได้สามสี่ที่  ในที่สุดก็มาตั้งอยู่ตรงบริเวณหน้าเรือนไม้นอนเก่า  หรือโรงอาหารเดิม  ซึ่งบัดนี้เรือนไม้หลังนั้นไม่มีให้เราได้เห็นกันอีกแล้ว  แต่งานต่างๆ ที่อธิการเคียมสุนทำไว้ ดูเหมือนไม่มีงานใดที่ท่านภูมิใจเท่ากรงเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่หลังตึกเสมียนารีอุม เพราะเปรียบเสมือนสวนสัตว์ดุสิตจำลอง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้อย่างดี  แม้ท่านจะย้ายไปเป็นพระสังฆราชแล้วก็ตาม  ท่านยังแอบมาชมผลงานชิ้นนี้ของท่านอยู่เสมอ 
 
ในปี ค.ศ.1960 บ้านเณรพระหฤทัยมีโอกาสฉลองหิรัญสมโภชพร้อมกับท่านอธิการเคียมสุน  ซึ่งเป็นวาระที่หาได้ยากสำหรับโอกาสอย่างนี่   จึงมีศิษย์เก่ามากหน้าหลายตามาร่วมฉลอง และถือเป็นการชุมนุมศิษย์เก่าครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่ง เป็นงานประวัติศาสตร์วันหนึ่งของบ้านเณรโดยมีพระสังฆราช หลุยส์โชแรง  มิสซังกรุงเทพฯ และพระสังฆราช ฟ.สงวน สุวรรณศรี  (อดีตอธิการ)  แห่งมิสซังจันทบุรี  ร่วมเป็นประธานในงาน  และเป็นที่คาดหมายกันว่า อธิการบ้านเณรมักจะต้องเป็นพระสังฆราชในอนาคต  เหตุการณ์ก็เป็นจริง เพราะในวันที่ 28 กันยายน ค.ศ.1965  คุณพ่ออธิการเคียมสุน ได้รับเลือกเป็นพระสังฆราช  ผู้ช่วยแห่งมิสซังกรุงเทพฯ เรียบร้อยตามที่คาดหวังไว้และเป็นทายาทสืบตำแหน่งของพระสังฆราชหลุยส์  โชแรง โดยอัตโนมัติ 
 
คุณพ่อฟรังซิสทองดี กฤษเจริญ (ปี ค.ศ.1963-1965)                                                                                                            
คุณพ่อทองดี กฤษเจริญ ก่อนที่จะมารับตำแหน่งเป็นอธิการแทนพระสังฆราชยวง นิตโย  เคยไปเทศน์เข้าเงียบให้เณรก่อนหน้านั้นเพียงปีเดียว เณรทุกคนยอมรับว่าคุณพ่อเป็นสงฆ์ของพระคริสต์ที่แท้จริง เพราะท่านเป็นคนยิ้มแย้ม  พูดจาอ่อนหวานถ่อมตน ทำตัวเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือมาก ซึ่งเป็นช่วยระยะที่เณรกำลังต้องการบุคคลเช่นนี้มาก พระสังฆราชโชแรงคงรู้ใจเณรดี  จึงส่งมาเป็นอธิการสืบแทน แม้คุณพ่อจะไม่ได้ไปศึกษาถึงกรุงโรม แต่ท่านก็ได้คุณพ่อหนุ่มสมองเปรื่องมาช่วยถึงสามองค์ คือ คุณพ่อทัศไนย์ คมกฤส  กับคุณพ่อแหวน  ศิริโรจน์ เป็นอาจารย์ประจำ
 
เมื่อกิจการบ้านเณรไปได้ด้วยเช่นนี้ จำนวนเณรของทั้งสองมิสซังก็เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ  จนถึง 136 คนในปี ค.ศ.1965 ทำให้สถานที่พักคับแคบลงถนัดใจ แม้จะแยกเณรใหญ่  เณรกลาง เณรเล็ก  แล้วก็ตาม คณะผู้ใหญ่ของทั้งสองมิสซังจึงได้ปรึกษาหารือกันที่จะแยกสามเณรของกรุงเทพฯ ไปอยู่ในที่แห่งใหม่ โดยยกบ้านเณรศรีราชาให้กับมิสซังจันทบุรีดำเนินการต่อไป การย้ายเณรไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ เพราะจะต้องหาสถานที่ที่เหมาะสม หาทุนก่อสร้างที่พักเณร โรงครัว โรงเรียน ซึ่งต้องทำพร้อมกันในเวลาเดียวกัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็อยู่ไม่ได้ อาศัยพระสังฆราช ยวง นิตโย  เคยอยู่นครชัยศรีมาก่อน ท่านและคุณพ่อทองดี ก็มีความเห็นชอบที่จะสร้างบ้านเณรแห่งใหม่ของมิสซังกรุงเทพฯ ที่ ตำบลท่าข้าม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม อยู่ห่างจากวัดนักบุญเปโตร ไม่กี่กิโลเมตร และที่สำคัญก็ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ด้วย 
 
อธิการประพล  ธรรมพิชัย (ค.ศ.1965) 
หลังจากแยกสามเณรของสังฆมณฑลกรุงเทพฯ แล้ว ก็มีคุณพ่อประพล ธรรมพิชัย  มาเป็นอธิการ  มีคุณพ่อแหวน ศิริโรจน์ คุณพ่อยุทธิชัย  ปัญจทรัพย์ เป็นอาจารย์ ได้มีการรับเณรเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เพราะปีก่อนหน้านี้เมื่อสามเณรหลายสังฆมณฑลยังรวมกันอยู่ จึงไม่มีที่เพียงพอ ในสมัยของคุณพ่อประพล ท่านเป็นอธิการที่ใจดีแม้จะมีอายุมาก แต่ก็เป็นเหมือนบิดาผู้ใจดี มีการเปลี่ยน แปลงมากมาย อาทิเช่น แต่ก่อนเณรกลับเยี่ยมบ้านปีละครั้ง  เปลี่ยนเป็นทุกเทอมที่มีการหยุดเทอม  แต่ก่อนนั้นสามเณรมีความเกรงกลัวที่จะพบหน้าอธิการ ท่านก็จัดให้มีการติดตั้งโทรศัพท์ภายในติดไว้ประจำที่ห้องเรียนแต่ละพวก ใครต้องการขออนุญาตเรื่องอะไรก็สามารถใช้ได้เลย ท่านเอาใจใส่สามเณรอย่างดีทุกคน โดยเฉพาะคนเจ็บคนป่วย และครั้งหนึ่งอธิการขับรถมอเตอร์ไซด์เพื่อไปซื้ออาหารให้คนป่วย ท่านได้ประสบอุบัติเหตุจนซี่โครงหัก 
 
อธิการบรรจง  อารีพรรค  (ค.ศ.1966-1969)
คุณพ่อเป็นอธิการบ้านเณรพระหฤทัย ศรีราชา  ในปี ค.ศ.1966 โดยมีคุณพ่อแหวน  ศิริโรจน์ และคุณพ่อยุทธิชัย  ปัญจทรัพย์  เป็นอาจารย์  มีสามเณรทั้งหมด 102 คน  ทำให้สถานที่คับแคบไปถนัดตา  จึงได้มีการสร้างตึกสำหรับพวกมาสเตอร์ขึ้น คือตึก “เพื่อเพิ่มเกียรติมงคล”  ปัจจุบันใช้เป็นตึกสำหรับนักเรียนประจำ นอกจากนั้นแล้ว เรือนไม้ซึ่งเป็นหลังแรกเมื่ออพยพจากบางนกแขวก ซึ่งชำรุดทรุดโทรมและไม่พอเพียงสำหรับจำนวนสามเณร จึงทำการรื้อและสร้างตึกอาคาร 3 ชั้น ทำให้ บริเวณดูสวยงามเป็นระเบียบ อีกทั้งคุณพ่ออธิการเป็นผู้ที่ชอบปลูกต้นไม้พิเศษ ฉะนั้น ตรงไหนที่มีที่ว่าง ท่านจึงปลูกต้นไม้ ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า เวลาผ่านไปต้นไม้เหล่านั้นก็เจริญเติบโต   ทำให้บริเวณบ้านร่มรื่นร่มเย็นน่าอยู่ 
 
อธิการเทพศิริ  (แหวน)  ศิริโรจน์ (ค.ศ.1970-1972)
หลังจากที่คุณพ่อทำงานเป็นผู้จัดการโรงเรียนดาราสมุทร มาเป็นเวลานานพอสมควร คุณพ่อก็รับหน้าที่ใหม่โดยเป็นอธิการต่อจากอธิการบรรจง อารีพรรค มีคุณพ่อวีระ ผังรักษ์ และคุณพ่อยุทธิชัย  เป็นผู้ช่วยและเป็นอาจารย์ สมัยของคุณพ่อมีความเคร่งครัด เรื่องระเบียบเป็นพิเศษ ตรงไปตรงมาว่ากันตามเกณฑ์ ครั้งหนึ่งทางโรงเรียนอัสสัมชัญซึ่งเณรของเราไปเรียนที่นั่นในชั้น ม.ศ. 4-5 เคร่งในเรื่องการไว้ผมยาว  คุณพ่อถึงกับลงมือเองในการวัดความยาวข้างหน้า ใครเกิน 4 ซม. ไม่ได้คุณพ่อบอกว่าเณรต้องดีกว่าคนอื่น  แม้คุณพ่อจะเคร่งไม่ค่อยยิ้ม  แต่คุณพ่อก็ใจดี ได้ให้โอกาสกับทุกคนที่ผิดพลาด  เพื่อจะได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น 
 
อธิการยุทธิชัย ปัญจทรัพย์ (ค.ศ.1973-1974)
คุณพ่อเทพศิริ   ศิริโรจน์ ไปศึกษาต่อต่างประเทศ คุณพ่อยุทธิชัย ซึ่งเป็นผู้ช่วยและอาจารย์อยู่แล้วก็รับหน้าที่เป็นอธิการในปี ค.ศ.1973 แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ เพียงปีเศษ  เพราะสาเหตุสุขภาพของคุณพ่อไม่ดี คุณพ่อก็ทำให้บ้านเณรก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะการศึกษาของบรรดาสามเณร   เป็นปีแรกที่มีการส่งเณรเข้าสอบเอนทรานส์ เพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัย โดยแบ่งเป็นระดับต่างๆ คือ  สองคนให้สอบและเลือกเรียนในกรุงเทพฯ นอกนั้นให้เลือกเรียนที่บางแสน  เพราะอยู่ใกล้บ้าน ที่เหลือก็สมัครเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในสมัยคุณพ่อ มีคุณพ่อวิโรจน์  สมหมายเป็นผู้ช่วยอธิการ   และมีคุณพ่อประยูร นามวงศ์  เป็นผู้จัดการโรงเรียนดาราสมุทร 
 
อธิการเมธี วรรณไชยวงศ์  (ค.ศ.1975) 
หลังจากกลับมาจากการเป็นอาจารย์บ้านเณรใหญ่ที่ปีนังแล้ว คุณพ่อก็มารับหน้าที่เป็นอธิการบ้านเณรเล็ก แม้จะเป็นเพียงปีเดียว แต่ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป เช่น ระบบการปกครอง ในบ้านเณร ให้ยกเลิกระบบครูเณร  ซึ่งเป็นพวกมาสเตอร์ที่ดูแลพวกเด็ก หรือพวกกลางแทนคุณพ่ออธิการอีกทีหนึ่ง เปลี่ยนมาเป็นแต่ละพวกเลือกหัวหน้าของตนขึ้นมาเอง ดูแลกันเอง มีอะไรก็ช่วยเหลือกันแบบพี่แบบน้อง  และหัวหน้าของแต่ละพวกก็ประชุมกัน  เพื่อปรับปรุงชีวิตที่ยังขาดตกบกพร่องให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้สามเณรได้พัฒนาตัวเองอย่างอิสระ เรียนรู้และรับผิดชอบตัวเองมากยิ่งขึ้น 
 
อธิการวีระ ผังรักษ์   (ค.ศ. 1975-1976)
คุณพ่อเมธี  เป็นอธิการได้เพียงปีเดียวก็ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวไผ่ ทางบ้านเณรก็ได้คุณพ่อวีระ ผังรักษ์ ซึ่งเพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร มารับหน้าที่อธิการ (ค.ศ.1975-1976)   มีคุณพ่อไพบูลย์  นัมคณิสรณ์  เป็นผู้ช่วย พร้อมกับตำแหน่งอธิการบ้านเณร  คุณพ่อวีระ ก็รับผิดชอบกิจการโรงเรียน อีกด้วย ต่อมาอีกไม่นานคุณพ่อสมศักดิ์ พรประสิทธิ์ ก็เข้ามารับหน้าที่อธิการในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1977 โดยมีคุณพ่อประกอบ อนันตพันธ์  เป็นผู้ช่วย   คุณพ่อวีระ ผังรักษ์ ยังคงเป็นผู้จัดการโรงเรียนดาราสมุทร อันที่จริงบ้านเณร และโรงเรียนก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ทั้งในด้านการบริหาร และการทำงานในด้านต่างๆ 
 
บ้านเณรพระหฤทัยก็พยายามขยายการให้บริการให้มากขึ้นแก่สามเณรและชุมชน ในด้านการอบรมสามเณรได้ให้อิสระมากขึ้นที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ กว้างขวางออกไป เพื่อการพัฒนาตน  และสร้างความพร้อมสำหรับการอยู่ในสังคม และการทำหน้าที่พระสงฆ์ในวันหน้า  ได้ขายระดับการศึกษาขึ้นไปจนครบ เพื่อสามเณรของเราจะได้ไม่ต้องไปเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่อื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับบริการด้านนี้  อาคาร 40 ปี  จึงได้ถูกสร้างขึ้นมา  นอกนั้นยังได้ให้บริการแก่นักเรียนต่างจังหวัดมากขึ้น โดยขยายหอพักหญิงและชายเพื่อสามารถรับนักเรียนต่าง จังหวัดมาอยู่ประจำได้ เมื่อมีจำนวนคนมากขึ้นในบริเวณบ้านเณร อาคารใช้สอยและของใช้อื่นๆ ก็ต้องมีมากขึ้นตามตัว สถานที่อาบน้ำ  ตากเสื้อผ้า ซึ่งแต่เดิมใช้บ้านพวกกลางเก่ามาเรื่อยๆ และทรุดโทรมมากแล้ว ทำให้เราต้องสร้างอาคารใหม่ขึ้นมาแทน สถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเล่นกีฬา  ก็ต้องมีเพิ่มขึ้น สนามบาสเกตบอลด้านหอพักหญิง และสนามเทนนิสจึงตามมา อุปกรณ์เพื่อการหย่อนใจก็เปลี่ยนแปลงตามสมัยนิยม สามเณรได้ชมโทรทัศน์สีได้เล่นเครื่องดนตรีสมัยใหม่มากขึ้น เพื่อหย่อนใจและเพื่อพัฒนาตน 
 
งานด้านการอบรมสร้างเสริมและสร้างสรรค์ของบ้านเณรพระหฤทัยดูเหมือนว่าจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะบ้านเณรของเราเติบโตขึ้นมาตามวันเวลาในขณะที่บ้านเณรให้บริการแก่ชุมชนกว้าง ขวางขึ้นในด้านการศึกษา บ้านเณรยังยึดจุดประสงค์แรกอย่างจริงจัง คือ การให้การศึกษา อบรม และสร้างความพร้อมให้กับสามเณร เพื่อเป็นพระสงฆ์ที่ศักดิ์สิทธิ์และมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ในอนาคต  ดังนั้น ภาระหน้าที่ของพระสงฆ์ประจำบ้านเณรจึงมีมาก และมีความสำคัญยิ่งยวดต่อสามเณรและต่อสังฆมณฑล เพราะว่า ด้วยพระพระและพลังในทีมพระสงฆ์ผู้ดูแลนี่แหละที่บ้านเณรพระหฤทัยจะเจริญต่อไป เป็นหัวใจของสังฆมณฑล และเป็นหน่วยบริการชุมชนอย่างแท้จริง 
 
คุณพ่อสมศักดิ์ พรประสิทธิ์  (ค.ศ.1977-1981)
         คุณพ่อสมศักดิ์  พระประสิทธิ์  ดำรงตำแหน่งอธิการบ้านเณรจนถึง ปี ค.ศ.1981-1985   ก็ไปศึกษาต่อที่กรุงโรม  
 
คุณพ่อสมชัย  พิทยาพงศ์พร (ค.ศ.1981-1985)
         คุณพ่อสมชัย พิทยาพงศ์พร  เข้ามารับหน้าที่อธิการบ้านเณร
 
คุณพ่อประสาน พงศ์ศิริพัฒน์  (ค.ศ.1986-1989)
         คุณพ่อประสาน  พงศ์ศิริพัฒน์   เข้ามารับหน้าที่อธิการบ้านเณร 
 
คุณพ่อสุดเจน ฝุ่นเรือง (ค.ศ.1990-2000)
         คุณพ่อสุดเจน  ฝุนเรือง  เข้ามารับหน้าที่อธิการบ้านเณร 
 
คุณพ่อชาติชาย  เวฬุรัตนกูล (ค.ศ.2000-2005)
         คุณพ่อชาติชาย เวฬุรัตนกูล  เข้ามารับหน้าที่อธิการบ้านเณร
 
คุณพ่อประวิช หอมวิไลย  (ค.ศ.2005- )
         คุณพ่อประวิช  หอมวิไลย  เข้ามารับหน้าที่อธิการบ้านเณร 
 
 
 
จากหนังสือ 50 ปี  
บ้านเณรพระหฤทัย  ศรีราชา ค.ศ. 1935-1985  
 
หมายเหตุ ข้อมูลไม่ได้อัพเดตตั้งแต่ปี 2005 จนถึงปัจจุบัน