-
Category: ประวัติบ้านเณรในประเทศไทย
-
Published on Tuesday, 10 May 2016 03:39
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 5691
1. ที่มาและชื่อของสามเณราลัย
บ้านเณรแห่งแรกในประเทศไทยตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1666 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยพระสังฆราช ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต (Mgr.Pierre Lambert de la motte) ท่านได้ให้ชื่อบ้านเณรแห่งนั้นว่า “บ้านเณรนักบุญยอแซฟ” ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1765 ได้ย้ายไปอยู่ที่จันทบุรี และในเดือนธันวาคมในปีเดียวกัน จึงได้ย้ายไปตั้งที่ฮอนดัตในเวียดนาม ภายหลังในเดือนธันวาคม ค.ศ.1769 จึงย้ายไปตั้งที่วีรัมปัตนัมในอินเดีย และในที่สุดได้ปิดกิจการลงเมื่อปลายปี ค.ศ.1783 ในขณะที่บ้านเณรได้ย้ายไปตั้งอยู่นอกประเทศไทยแล้วนั้น คุณพ่อการ์โนลต์ (Mgr.Garnault) ได้ตระหนักถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบ้านเณร
ในประเทศไทยต่อไปดังนั้นในปี ค.ศ.1771 ท่านจึงได้เริ่มตั้งบ้านเณรแห่งใหม่ขึ้นที่กรุงเทพฯ เรียกว่า “บ้านเณรซางตาครู้ส” และภายหลังเมื่อท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชในปี ค.ศ.1787 แล้ว ท่านก็ได้พยายามรวบรวมเณรจากบ้านเณรที่ตะกั่วป่าและจันทบุรีเข้ากับบ้านเณรซางตาครู้ส ซึ่งเป็นทั้งบ้านเณรใหญ่และบ้านเณรเล็ก ต่อมาในปี ค.ศ.1822 บ้านเณรซางตาครู้สได้ย้ายมาตั้งในบริเวณโรงเรียนอัสสัมชัญ (อัสสัมชัญบางรักในปัจจุบัน) เรียกว่า “บ้านเณรอัสสัมชัญ” และในปี ค.ศ.1872 ก็ได้ย้ายไปตั้งที่บางช้าง เรียก “บ้านเณรพระหฤทัยแห่งพระเยซู” ซึ่งเป็นทั้งบ้านเณรใหญ่และบ้านเณรเล็กด้วย ในปี ค.ศ.1913 ได้เริ่มส่งเณรไปศึกษาปรัชญาและเทววิทยาที่ปีนัง ส่วนเณรใหญ่บางคนที่ได้ศึกษาปรัชญาและเทววิทยาไปบ้างแล้ว ก็ให้ศึกษาต่อไปจนจบที่บ้านเณรบางช้าง ดังนั้นเมื่อถึงปีค.ศ.1919 บ้านเณรบางช้างซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นทั้งบ้านเณรใหญ่และบ้านเณรเล็ก ก็มีสภาพเป็นบ้านเณรเล็กเท่านั้น นอกจากนั้นในปี ค.ศ.1927 ก็ได้เริ่มส่งเณรใหญ่ไปศึกษาต่อที่กรุงโรม ควบคู่กับการส่งไปที่ปีนังอีกด้วย
และในที่สุด เมื่อปี ค.ศ. 1934 จึงได้ย้ายไปตั้งที่ศรีราชา ซึ่งขณะนั้นยังคงเป็นเขตปกครองของมิสซังกรุงเทพฯ (ต่อมาในปี ค.ศ. 1944 จึงมีการแยกมิสซังจันทบุรีออกจากมิสซังกรุงเทพฯ ดังนั้นบ้านเณรศรีราชาจึงอยู่ในเขตมิสซังจันทบุรีตั้งแต่นั้นมา) ให้การศึกษาและฝึกอบรมแก่เณร 2 มิสซัง ได้แก่ มิสซังกรุงเทพฯ และมิสซังลาว โดยเหตุที่จำนวนเณรเพิ่มมากขึ้นทุกปี และบ้านเณรตั้งอยู่ในเขตมิสซังจันทบุรี ดังนั้น ในวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ.1964 พระสังฆราชหลุยส์ เคลเมนต์ โชแรง(Mgr.Louis Chorin) ซึ่งเป็นพระสังฆราชแห่งมิสซังกรุงเทพฯ จึงได้มอบหมายให้ พระสังฆราช ยอแซฟ เคียมสูน นิตโย ซึ่งเป็นพระสังฆราชผู้ช่วยในเวลานั้น ให้ดำเนินการก่อสร้างบ้านเณรแห่งใหม่ของมิสซังกรุงเทพฯ ขึ้น บ้านเณรแห่งใหม่นี้ได้รับชื่อว่า “สามเณราลัยนักบุญยอแซฟ” เพื่อให้เป็นชื่อเดียวกับบ้านเณรแห่งแรกของมิสซังกรุงสยามเมื่อ 300 กว่าปีก่อน ที่พระนครศรีอยุธยา
2.พระสังฆราช ยอแซฟ เคียมสูน นิตโย (สร้างสามเณราลัยนักบุญยอแซฟ)
การรับมอบฉันทะให้สร้างบ้านเณรใหม่ : กุมภาพันธ์ ค.ศ.1964
บ้านเณรของมิสซังกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ที่ศรีราชา ซึ่งในปี ค.ศ.1944 ได้กลายเป็นเขตของมิสซังจันทบุรี และรับเณรทั้งของมิสซังกรุงเทพฯ และจันทบุรีควบคู่กันไป อีกทั้งจำนวนเณรเพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงได้มีการพิจารณาว่า ควรสร้างขยายบ้านเณรหรือไม่? หรือว่าจะยกบ้านเณรปัจจุบันที่ศรีราชาให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมิสซังจันทบุรีแล้วสร้างบ้านเณรใหม่ในเขตมิสซังกรุงเทพฯ พระสังฆราชหลุยส์ เคลเมนต์ โชแรง (Mgr.Louis Chorin) ได้ขอให้ พระสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย ซึ่งเป็นพระสังฆราชผู้ช่วยในเวลานั้นเป็นผู้เลือกว่าจะเอาวีธีใด
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1964 ในการประชุมสภาสงฆ์ พระสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย บรรยายถึงปัญหายุ่งยากซึ่งอาจจะเกิดขึ้นมาในกรณีใช้บ้านเณรเดียวร่วมสองมิสซัง ท่านแสดงความคิดเห็นว่า คงเป็นการดีกว่าอย่างแน่นอนถ้ามิสซังกรุงเทพฯ สร้างบ้านเณรใหม่ ย้ายจากศรีราชาไปสร้างใหม่ที่นครชัยศรี
วันที่ 10 มีนาคม ค.ศ.1964 พระสังฆราชหลุยส์ เคลเมนต์ โชแรง (Mgr.Louis Chorin) และสภาที่ปรึกษาซึ่งเห็นดีเป็นเอกฉันท์ จึงยกบ้านเณรศรีราชา พร้อมด้วยโรงเรียนดาราสมุทรให้มิสซังจันทบุรีเป็นทางการและมอบการสร้างบ้านเณรใหม่ให้ พระสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย บ้านเณรมิสซังกรุงเทพฯ จะใช้ชื่อว่า “สามเณราลัยนักบุญยอแซฟ” เพื่อให้เป็นชื่อเดียวกันกับบ้านเณรแรกของมิสซังกรุงสยามเมื่อ 300 กว่าปีก่อน ที่พระนครศรีอยุธยา
วันที่ 19 มีนาคม ค.ศ.1964 ลงมือปรับที่นาให้เรียบ และสร้างถนนเข้ามา แยกจากทางหลวงเพชรเกษม ระหว่าง กม. ที่ 29-30 ซึ่งเป็นที่ดินในความดูแลของวัดนครชัยศรี (วัดนักบุญเปโตร) วันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ.1964 เริ่มก่อสร้างอาคารบ้านเณร
พิธีเสกศิลาฤกษ์
การเสกศิลาฤกษ์นี้ไม่ได้ทำในตอนแรกเริ่มการก่อสร้าง เนื่องจาก พระสังฆราชหลุยส์ เคลเมนต์ โชแรง ต้องการให้เกียรติ พระสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย เป็นผู้เสก แต่พระสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย ต้องไปกรุงโรม เข้าร่วมประชุมพระสังคายนาวาติกัน 2 สาระที่ 2 จึงตัดสินใจเลื่อนวันเสกศิลาฤกษ์ และให้ก่อสร้างต่อไป ดีกว่าจะหยุดงานเพื่อรอ เมื่อพระสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย กลับมาถึงเมืองไทยแล้ว ก็ได้เลือกเอาวันที่เหมาะสม คือ วันที่ 3 มกราคม ค.ศ.1965 พระสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย ประกอบพิธีเสกท่ามกลางสัตบุรุษจำนวนมากในบรรยากาศแห่งวันฉลอง โดย วงดุริยางค์ ของโรงเรียนดอนบอสโก กรุงเทพฯ เฉพาะพิธีเสกก็ไม่ยืดยาวอะไร คือเมื่อเสกศิลากฤษ์แล้ว ก็บรรจุเอกสารการสร้างบ้านเณรเป็นภาษาลาติน กับเหรียญรูปพระและเหรียญเงินบ้าง แล้วอัดศิลาดังกล่าวไว้ติดหน้าตึก
เสกบ้านเณร ส่วนตัว : เมษายน ค.ศ. 1965
ในเดือนเมษายน ค.ศ.1965 พระสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย ประกอบพิธีเสกสามเณราลัยนักบุญยอแซฟ เป็นพิธีธรรมดา และย้ายเณรของมิสซังกรุงเทพฯ จากศรีราชามาอยู่สามพรานให้ทัน เริ่มปีการศึกษาใหม่ ทุกสิ่งทุกอย่างยังไม่เสร็จเรียบร้อยทีเดียว คุณพ่อฟรังซิสเซเวียร์ ทองดี กฤษเจริญ ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการองค์แรก การเสกบ้านเณรกับโรงเรียนอย่างสง่าจะกระทำในภายหลัง
เสกและเปิดบ้านเณรเป็นทางการอย่างสง่า : 6 มีนาคม ค.ศ.1966
วันที่ 6 มีนาคม ค.ศ.1966 พระอัครสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย ซึ่งได้เลื่อนเป็นพระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯแล้ว ได้ประกอบพิธีเสกอย่างสง่าที่สุด และเปิดสามเณราลัยนักบุญยอแซฟ เป็นทางการ มีสัตบุรุษคริสตังกว่า 10,000 คน ยินดีกับพระอัครสังฆราช บรรดาพระสงฆ์ และเณรทุกคนเข้าใจความสำคัญของบ้านเณรนี้ เพื่อการบำรุงรักษาและเพื่อเสถียรภาพของพระศาสนจักรในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ สามเณราลัยนักบุญยอแซฟนั้นเป็นความหวังที่จะมีกรรมกรอาสาสมัครทำงานในผืนนาของพระเป็นเจ้า เพื่อขยายพระราชัยของพระองค์ในประเทศที่รักของเรา
3. สมัยอธิการฟรังซิสเซเวียร์ ทองดี กฤษเจริญ (ค.ศ.1964-1965)
คุณพ่อทองดี กฤษเจริญ ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการองค์แรกของบ้านเณร โดยมีคุณพ่อจำเนียร กิจเจริญ เป็นอาจารย์บ้านเณร และคุณพ่อเสวียง ศุระศรางค์ เป็นทั้งอาจารย์บ้านเณรและดูแลโรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ นอกนั้นยังมีคุณพ่อดืออาร์ตเป็นอาจารย์ที่บ้านเณรอีกท่านหนึ่งด้วย ปีแรกที่ทำการเปิดสอนอบรมเณรนั้น มีเณรทั้งหมด 138 คน ในระยะแรกๆ ที่พักอาศัยของเณรก็มีเพียงตึก 4 ชั้น (หลังเก่า) 1 หลัง โรงครัวก็เล็กเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของหลังปัจจุบัน ส่วนอาคารโรงเรียนนั้น ก็มีเพียงครึ่งหนึ่งของตัวตึก “ยอแซฟ” เท่านั้นเอง สำหรับอาณาบริเวณนั้นก็ยังเป็นทุ่งนาอยู่นั่นเอง แต่ค่อยๆ กลายสภาพเป็นที่อยู่อาศัย พื้นที่จึงโล่งเตียนและร้อนจัดในเวลากลางวัน คุณพ่ออธิการและเณรจึงลงมือปลูกต้นไม้เพื่อความร่มรื่นเป็นการใหญ่ หลังจากลงต้นไม้ไปได้มากแล้ว คุณพ่ออธิการก็อ่อนแรงลง และในวันหนึ่งขณะที่กำลังยกกระถางต้นไม้ ท่านก็มีอาการหน้ามืด และไม่กี่วันต่อมาท่านได้เสียชีวิต ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ.1965
หลังจากงานปลงศพคุณพ่อทองดีที่วัดนครชัยศรีประมาณ 1 เดือน พระอัครสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย จึงแต่งตั้งอธิการคนใหม่ คือ คุณพ่อฮั่วเซี้ยง กิจบุญชู (ปัจจุบันคือ พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู)
4. สมัยอธิการมีคาแอล ฮั่วเซี้ยง กิจบุญชู (ค.ศ.1965-1973)
เมื่อคุณพ่อฮั่วเซี้ยง กิจบุญชู เป็นอธิการบ้านเณรนั้น คุณพ่อเสวียง และคุณพ่อดืออาร์ตยังคงทำงานตำแหน่งเดิมต่อไปอีกประมาณ 2 ปี หลังจากนั้นคุณพ่อคมทวน มุ่งสมหมาย จึงเข้ารับหน้าที่แทนคุณพ่อเสวียง ทุกอย่างและคุณพ่อชุมภาซึ่งเพิ่งจะบวชได้ใหม่ๆ กลับมาจากกรุงโรม จึงเข้ารับหน้าที่แทนคุณพ่อดืออาร์ต จนกระทั่งถึงเวลาไปศึกษาต่อที่กรุงโรมอีก แต่คุณพ่อประวิทย์ พงษ์วิรัชไชย ก็เข้ามารับหน้าที่แทนได้พอดี จนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม ค.ศ.1973 สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 จึงได้ทรง แต่งตั้ง คุณพ่อฮั่วเซี้ยง กิจบุญชู เลื่อนพระสมณศักดิ์เป็นพระอัครสังฆราช ดำรงตำแหน่งประมุขของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ สืบต่อจาก พระอัครสังฆราชยอแซฟ เคียมสูน นิตโย
ซึ่งขอลาพักเนื่องจากอายุมาก ตลอดเวลา 7-8 ปี ที่คุณพ่อฮั่วเซี้ยง กิจบุญชู เป็นอธิการ ท่านได้ปรับปรุงบ้านเณรให้เจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ มากมาย เริ่มด้วยการขยายอาคารเรียน (ตึกยอแซฟ) ออกไปอีก ต่อเติมอาคารโรงครัวให้กว้างขวางพอที่จะรับนักเรียนประจำได้ ต่อมาตึกฟรังซิสฯซึ่งใช้เป็นอาคารเรียนหลังที่สองก็สำเร็จ ที่ตั้งชื่อว่า “ตึกฟรังซิสเซเวียร์” ก็คงจะเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่คุณพ่อฟรังซิสเซเวียร์ ทองดี กฤษเจริญ อธิการองค์ก่อนนั่นเอง ในเวลาเดียวกัน อาณาบริเวณก็ได้รับการปรับปรุงตกแต่งให้สวยงาม โรงครัวได้รับการปรับปรุงขนาดใหญ่ ตึกอีก 2 หลังสำหรับเด็กและคนครัวก็สำเร็จ ต่อมานั้นก็หันมาทางบ้านเณร ห้องน้ำใหม่สะดวกสบายพอเพียงแก่ความต้องการและจำนวนเณร ในระหว่างนี้เอง ทางบ้านเณรได้ขยายอาณาเขตออกไปอีก 50 กว่าไร่ เบิกเป็นสวนและลงไม้ผลต่างๆ ได้แก่ มะพร้าว ละมุด ส้ม มะม่วง กล้วยหอม มะละกอ ฯลฯ ในที่สุด งานชิ้นสำคัญและดูเหมือนว่าเป็นความภาคภูมิใจของพวกเณรทุกคน นั่นคือ วัดประจำบ้านเณร และตึกพวกมาสเตอร์ ซึ่งทำการเปิดไปเมื่อปี ค.ศ. 1973 งานชิ้นนี้เป็นเครื่องพิสูจน์และแสดงว่า เหนือสิ่งอื่นใดหมด คุณพ่ออธิการต้องการอย่างยิ่งที่จะให้เณรมีความรักพระและความศรัทธาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งพวกเณรยังคง สำนึกอยู่เสมอในคำอบรมต่างๆ ที่คุณพ่อได้ให้ไว้
5. สมัยอธิการยอแซฟ สังวาล ศุระศรางค์ (ค.ศ. 1973-1976)
เมื่อคุณพ่อสังวาลย์ ศุระศรางค์ ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบ้านเณรสืบต่อจากคุณพ่อฮั่วเซี้ยง ซึ่งได้รับเลื่อนพระสมณศักดิ์เป็นพระอัครสังฆราชสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ในเวลาเดียวกันนั้น คุณพ่อจำเนียร กิจเจริญ ก็ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่กรุงโรม จึงเหลือพระสงฆ์ประจำบ้านเณรเพียง 3 องค์เท่านั้น คือ คุณพ่ออธิการ คุณพ่อคมทวน มุ่งสมหมาย (ดูแลโรงเรียน) และคุณพ่อประวิทย์ พงษ์วิรัชไชย (เป็นอาจารย์บ้านเณร และดูแลวัดท่าจีน) หลักสูตรการศึกษาเล่าเรียน และระเบียบวินัยต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปบ้างเพื่อความเหมาะสมยิ่งขึ้นกับกาลสมัย อย่างไรก็ตาม แม้สิ่งภายนอกต่างๆ เหล่านี่จะเปลี่ยนแปลงไป แต่จิตตารมณ์ที่แท้จริงของเณรยังคงอยู่และจะคงอยู่ตลอดไป นั่นคือ “เป็นเณรเพื่อเป็นพระสงฆ์” มิใช่เพื่อจุดประสงค์อื่นใดทั้งสิ้น
6. สมัยอธิการยอแซฟ ประวิทย์ พงษ์วิรัชไชย (ค.ศ. 1976-1983)
เมื่อคุณพ่อสังวาล ศุระศรางค์ ได้รับหน้าที่ในตำแหน่งใหม่ คุณพ่อประวิทย์ พงษ์วิรัชไชย ซึ่งทำหน้าที่เป็นอาจารย์บ้านเณรอยู่ก่อนแล้ว ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบ้านเณรต่อจากท่าน ในเวลานั้นมีคุณพ่อปิยะ โรจนะมารีวงศ์ เป็นอาจารย์บ้านเณร และคุณพ่อวีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช เป็นผู้ดูแลโรงเรียน ต่อมาภายหลัง คุณพ่อเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช จึงมาช่วยงานบ้านเณรอีกท่านหนึ่ง ในช่วง 7-8 ปีที่ค่อยๆ ผ่านไปนั้น คุณพ่ออธิการพยายามอย่างยิ่งในการเอาใจใส่อบรมฝึกฝนสามเณรให้มีความศรัทธาร้อนรน เอาใจใส่ในการสวดภาวนา โดยที่ท่านได้ดำเนินชีวิตปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง นอกนั้นท่านก็ได้พยายามอบรมให้สามเณรมีความกระตือรือร้นและขยันหมั่นเพียรในการศึกษาหาความรู้ และปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กนักเรียนทั่วไป ในด้านการบริหารงานนั้น คุณพ่ออธิการได้เน้นหนักและให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการอบรมฝึกฝนสามเณร ซึ่งถือเป็นหน้าที่อันดับแรกที่สำคัญอย่างยิ่ง อีกทั้งเอาใจใส่ต่อกิจการของโรงเรียนอย่างจริงจัง เพื่อให้การศึกษาได้มีส่วนช่วยเสริมและสนับสนุนการอบรมฝึกฝนชีวิตสามเณรให้บังเกิดผลอย่างเต็มที่ ในด้านการพัฒนาสถานที่ ก็ได้ขยายต่อเติมอาคารหอพักสำหรับนักเรียนประจำชั้นเล็ก ปรับปรุงอาคารโรงอาหาร และอาคารแผนกนักเรียนอนุบาล รวมทั้งต่อเติมโรงยิมฯ ให้สามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
7. สมัยอธิการยอแซฟพิบูลย์ วิสิฐนนทชัย (ค.ศ. 1983-1992)
คุณพ่อพิบูลย์ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบ้านเณรต่อจากคุณพ่อประวิทย์ พงษ์วิรัชไชย โดยมีคุณพ่อสานิจ สถะวีรวงส์ (ปีค.ศ. 1987) ไปศึกษาต่อต่างประเทศ) และคุณพ่อพงษา สุภาษิต เป็นอาจารย์บ้านเณ ในด้านโรงเรียนก็มีคุณพ่อชวลิต กิจเจริญ เป็นผู้จัดการ คุณพ่อศรีปราชญ์ ผิวเกลี้ยง และคุณพ่อประเสริฐ ตรรกเวศม์ เป็นผู้ช่วยผู้จัดการและอาจารย์บ้านเณรด้วย ในด้านการพัฒนาสถานที่ มีการสร้างหอพักสำหรับนักเรียนประจำชั้นโตเพิ่มขึ้นอีก 1 หลัง สร้างศาลากลางน้ำ และอาคารอนุบาลเพิ่มเติม 1 หลัง มีฟาร์มเลี้ยงสัตว์หลายชนิด และสวนผลไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ สำหรับเหตุการณ์พิเศษอย่างยิ่ง ซึ่งถือเป็นสุดยอดแห่งความภาคภูมิใจของบรรดาสามเณร ก็คือ
การที่สามเณราลัยนักบุญยอแซฟได้มีโอกาสรับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 เมื่อครั้งเสด็จเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม ค.ศ.1984 และในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ.1984 พระองค์ทรงเป็นประธาน สหบูชามิสซาที่จัดขึ้นบริเวณสนามกีฬาของบ้านเณร ท่ามกลางประชาสัตบุรุษที่มาร่วมชุมนุมอย่างคับคั่งเป็นประวัติ การณ์และในโอกาสนั้นก็ได้ทรงโปรดศีลบรรพชาแก่พระสงฆ์ใหม่ชาวไทยจำนวนถึง 23 องค์ นับเป็นความปิติยินดี และตราตรึงใจของบรรดาสัตบุรุษที่มาร่วมในพิธีอย่างไม่อาจลืมเลือนได้ ส่วนบรรดาสามเณรผู้เป็นเจ้าภาพด้านสถานที่ก็สุดที่จะชื่นชมยินดี และจดจำเหตุการณ์สำคัญครั้งนั้นไปตราบนานเท่านาน ต่อมาเมื่อมีการโยกย้ายพระสงฆ์อีกครั้งในปี ค.ศ.1989 คุณพ่อพิบูลย์ วิสิฐนนทชัย ยังคงเป็นอธิการเช่นเดิม คุณพ่อสานิจ สถะวีรวงส์ (กลับจากต่างประเทศ) และคุณพ่อสมสุข แดงแดช เป็นอาจารย์บ้านเณร ส่วนโรงเรียนก็มีคุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม และคุณพ่อวิวัฒน์ แพร่สิริ คอยดูแล ในด้านกิจการโรงเรียนก็เจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ ได้รับรางวัลต่างๆ ทั้งในฐานะโรงเรียนพระราชทานดีเด่น และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนจำนวนนักเรียนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยมา สำหรับปีการศึกษา 1990 นี้ ทางสังฆมณฑลได้ย้ายคุณพ่อประทีป กีรติพงศ์ และคุณพ่อสุมขุม กิจสงวน เข้ามาประจำบ้านเณรแทนคุณพ่อวิวัฒน์ แพร่สิริ สำหรับปีการศึกษา 1991 นี้ ทางสังฆมณฑลได้ย้ายคุณพ่อสุรสิทธิ์ ชุ่มศรีพันธุ์ มาช่วยดูแลบ้านเณรเพิ่มขึ้นอีกท่านหนึ่ง โดยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยอธิการ
การอบรมสามเณรในปัจจุบันนี้ นอกจากมีพระสงฆ์คอยเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิดแล้ว คุณพ่ออธิการยังได้จัดให้ครูเณรดูแลเอาใจใส่เณรแต่ละชั้นเป็นพิเศษอีกด้วย อีกทั้งเณรแต่ละชั้นก็มีโอกาสพบปะกับอธิการอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เป็นประจำ นอกจากนั้นยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มศรัทธา กลุ่มศึกษา กลุ่มวินัย และกลุ่มกีฬา แต่ละกลุ่มมีมาสเตอร์เป็นหัวหน้า อีกทั้งทุกๆ ค่ำหลังจากทำวัตรค่ำแล้ว พระสงฆ์ประจำบ้านเณรจะผลัดเปลี่ยนกันให้การอบรมด้านจิตใจแก่สามเณรอีกด้วย
8. สมัยอธิการเปโตร สุรสิทธิ์ ชุมศรีพันธุ์ (ค.ศ. 1992-1996)
คุณพ่อสุรสิทธิ์ ชุ่มศรีพันธุ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบ้านเณร ต่อจากคุณพ่อพิบูลย์ วิสิฐนนทชัย โดยมีคุณพ่อปรีชา รุจิพงษ์ เป็นทั้งผู้ช่วยอธิการและดูแลพนักงานของบ้านเณร ในด้านโรงเรียนก็มีคุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม เป็นผู้จัดการและคุณพ่อประทีป กีรติพงศ์ เป็นทั้งผู้ช่วยผู้จัดการและดูแลบ้านสวน ต่อมามีการโยกย้ายพระสงฆ์อีกครั้ง ในปี ค.ศ.1993 คุณพ่อสุรสิทธิ์ยังคงเป็นอธิการเช่นเดิม มีคุณพ่อปรีชา รุจิพงษ์ และคุณพ่อธีระ กิจบำรุง เป็นผู้ช่วยอธิการ ส่วนโรงเรียนก็ยังคงเป็นคุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม และคุณพ่อประทีป กีรติพงศ์ ดูแลตามเดิม สำหรับการโยกย้ายพระสงฆ์ครั้งนี้ ทางสังฆมณฑลได้ย้ายคุณพ่อธีระ กิจบำรุง มาช่วยดูแลบ้านเณรเพิ่มขึ้นอีกท่านหนึ่ง โดยรับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยอธิการ ในเดือนกันยายน ค.ศ.1993 นี้เอง คุณพ่อสุรสิทธิ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการสุสานอีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งคุณพ่อก็ได้ควบคุมการก่อสร้างสุสานด้วยตนเองต่อมามีการโยกย้ายพระสงฆ์อีกครั้งในปี ค.ศ.1994 คุณพ่อสุรสิทธิ์ยังคงเป็นอธิการเช่นเดิม มีคุณพ่อปรีชา รุจิพงษ์ คุณพ่อธีระ กิจบำรุง และคุณพ่อสุรนันท์ กวยมงคล เป็นผู้ช่วยอธิการ ส่วนโรงเรียนก็ยังเป็นคุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม และคุณพ่อประทีป กีรติพงศ์ ดูแลตามเดิม
สำหรับการโยกย้ายพระสงฆ์ครั้งนี้ ทางสังฆมณฑลได้ย้ายคุณพ่อสุรนันท์ กวยมงคลช่วยดูแลบ้านเณรเพิ่มอีกท่านหนึ่ง โดยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยอธิการและดูแลหอพัก ต่อมามีการโยกย้ายพระสงฆ์อีกครั้งในปี ค.ศ.1995 คุณพ่อสุรสิทธิ์ ยังคงเป็นอธิการเช่นเดิม มีคุณพ่อประมวล พุฒตาลศรี คุณพ่อธีระ กิจบำรุง คุณพ่อสุรนันท์ กวยมงคล เป็นผู้ช่วยอธิการ ในส่วนของโรงเรียน คุณพ่อศุภกิจ เลิศจิตรเลขา ได้ย้ายมาเป็นผู้จัดการแทนคุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม และคุณพ่อสมเกียรติ บุญอนันตบุตร ย้ายมาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ และดูแลบ้านสวนแทนคุณพ่อประทีป กีรติพงศ์
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1995 นี้เอง ทางโรงเรียนได้ทำพิธีเปิดอาคารสันตะมารีย์ ซึ่งเป็นอาคารอำนวยการหลังใหม่ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้มาติดต่อตลอดระยะเวลา 4-5 ปี ที่คุณพ่อสุรสิทธิ์เป็นอธิการ ท่านได้ปรับปรุงบ้านเณรให้เจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ มากมาย เริ่มด้วยการสร้างสำนักงานของบ้านเณร โดยแบ่งเป็นห้องทำงานอธิการ ห้องประชาสัมพันธ์ และห้องรับแขก ส่วนถนนหน้าบ้านเณรได้จัดให้มีการปูตัวหนอนเพื่อความสวยงามและความเป็นระเบียบ นอกจากนี้ยังมีการสร้างวัดน้อย สร้างห้องออกกำลังกายสำหรับเณร เพื่อใช้ออกกำลังกายและฝึกฝนทักษะให้เป็นคนมีระเบียบวินัย
9. สมัยอธิการยวง สุเทพ พงษ์วิรัชไชย (ค.ศ.1996-1999)
ในการโยกย้ายพระสงฆ์ในปี ค.ศ.1996 คุณพ่อสุเทพ พงษ์วิรัชไชย ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบ้านเณรต่อจากคุณพ่อสุรสิทธิ์ ชุ่มศรีพันธุ์ โดยมีคุณพ่อประมวล พุฒตาลศรี คุณพ่อสุพัฒน์ สรรค์สร้างกิจ คุณพ่อธีระ กิจบำรุง (ไปศึกษาต่อที่ St. Louis University ต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1996) เป็นผู้ช่วยอธิการ ในด้านโรงเรียนคุณพ่อศุภกิจ เลิศจิตรเลขา ยังคงเป็นผู้จัดการตามเดิม แต่ได้มอบหมายให้คุณพ่อสุรนันท์ กวงมงคล ไปเป็นผู้ช่วยผู้จัดการแทนคุณพ่อสมเกียรติ บุญอนันตบุตร ในส่วนของบ้านสวนคุณพ่อสมชาย อัญชลีพรสันต์ เป็นผู้ดูแล การโยกย้ายพระสงฆ์ในปี ค.ศ.1997 คุณพ่อสุเทพ พงษ์วิรัชไชย เป็นอธิการเช่นเดิม โดยมีคุณพ่อสุชาติ อุดมสิทธิพัฒนา ย้ายมาเป็นผู้ช่วยอธิการ ส่วนคุณพ่อประมวล พุฒตาลศรี คุณพ่อสุพัฒน์ สรรค์สร้างกิจ คงเป็นผู้ช่วยอธิการดังเดิม ในด้านโรงเรียนคุณพ่อศุภกิจ เลิศจิตรเลขา ยังคงเป็นผู้จัดการตามเดิม และคุณพ่อสุรนันท์ กวยมงคล เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ ในส่วนของบ้านสวนคุณพ่อสมชาย อัญชลีพรสันต์ เป็นผู้ดูแล การโยกย้ายพระสงฆ์ในปี ค.ศ.1998 คุณพ่อสุเทพ เป็นอธิการเช่นเดิม โดยมีคุณพ่อประมวล พุฒตาลศรี คุณพ่อสุชาติ อุดมสิทธิพัฒนา คุณพ่อสุพัฒน์ สรรค์สร้างกิจ ส่วนคุณพ่อสุรนันท์ กวยมงคล ย้ายออกไป โดยมี คุณพ่อธีระ กิจบำรุง สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศมาเป็นผู้ช่วยแทน ในด้านโรงเรียนคุณพ่อศุภกิจ เลิศจิตรเลขา ยังคงเป็นผู้จัดการตามเดิม ในส่วนของบ้านสวนคุณพ่อสมชาย อัญชลีพรสันต์ เป็นผู้ดูแล ในสมัยคุณพ่อสุเทพ พงษ์วิรัชไชย เป็นอธิการบ้านเณร ได้มีการรื้อกางเขนใหญ่ตรงมุมสนามฟุตบอลออก และสร้างอนุสาวรีย์ POPE JOHN PAUL II และสร้างถนนรอบอนุสาวรีย์ใหม่ ปรับปรุงถนนเส้นหัวตึกบ้านเณร (ตัดใหม่) มีการย้ายกรงนกยูงออกไปไว้ตรงหอพักเล็ก มีการสร้างสนามกีฬาใหม่ เช่นสนามฟุตบอล สนามบาสเกตบอล และสนามตะกร้อ เพื่อให้สามเณรมีสนามเล่นกีฬาเพิ่มขึ้น มีการปรับปรุงห้องน้ำบ้านเณรใหม่ เปลี่ยนไฟฟ้าในวัดบ้านเณรใหม่ มีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นในบริเวณเขตบ้านเณร
10. สมัยอธิการอิกญาซิโอ อดิศักดิ์ สมแสงสรวง (ค.ศ. 1999-2004)
ในการโยกย้ายพระสงฆ์ในปี ค.ศ.1999 คุณพ่ออดิศักดิ์ สมแสงสรวง ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบ้านเณรต่อจากคุณพ่อสุเทพ พงษ์วิรัชไชย โดยมีคุณพ่อประมวล พุฒตาลศรี คุณพ่อสุพัฒน์ สรรค์สร้างกิจ คุณพ่อสุชาติ อุดมสิทธิพัฒนา คุณพ่อธีระ กิจบำรุง เป็นผู้ช่วยอธิการ ด้านโรงเรียนคุณพ่อศุภกิจ เลิศจิตรเลขา ยังคงเป็นผู้จัดการ ส่วนบ้านสวน คุณพ่ออนุศักดิ์ กิจบำรุง เป็นผู้ดูแล
การโยกย้ายพระสงฆ์ปี ค.ศ.2000 คุณพ่ออดิศักดิ์ สมแสงสรวง ยังคงเป็นอธิการดังเดิม โดยมีคุณพ่อธีระ กิจบำรุง คุณพ่อธนากร เลาหบุตร คุณพ่อสุพัฒน์ สรรค์สร้างกิจ คุณพ่ออนุชา ชาวแพรกน้อย เป็นผู้ช่วยอธิการ ส่วนคุณพ่อสุชาติ อุดมสิทธิพัฒนา ศึกษาต่อวิชาคำสอนที่กรุงโรม ด้านโรงเรียน คุณพ่อศักดิ์ชัย ทรัพย์อัประไมย เป็นผู้จัดการ ส่วนบ้านสวน มีคุณพ่ออนุศักดิ์ กิจบำรุง เป็นผู้ดูแล การโยกย้ายพระสงฆ์ปี ค.ศ.2001 คุณพ่ออดิศักดิ์ สมแสงสรวง ยังคงเป็นอธิการ โดยมีคุณพ่อธีระ กิจบำรุง คุณพ่อธนากร เลาหบุตร คุณพ่อทนุ เจษฎาพงศ์ภักดี คุณพ่อยอดชาติ เล็กประเสริฐ เป็นผู้ช่วยอธิการ ด้านโรงเรียน คุณพ่อศักดิ์ชัย ทรัพย์อัประไมย เป็นผู้จัดการ ส่วนบ้านสวน คุณพ่ออนุศักดิ์ กิจบำรุง เป็นผู้ดูแล
การโยกย้ายพระสงฆ์ปี ค.ศ. 2002 คุณพ่ออดิศักดิ์ สมแสงสรวง ยังคงเป็นอธิการ มีคุณพ่อธนากร เลาหบุตร คุณพ่อทนุ เจษฎาพงศ์ภักดี คุณพ่อสุวนารถ กวยมงคล คุณพ่อยอดชาย เล็กประเสริฐ เป็นผู้ช่วยอธิการด้านโรงเรียน คุณพ่อศักดิ์ชัย ทรัพย์อัประไมย เป็นผู้จัดการ ส่วนบ้านสวน คุณพ่ออนุศักดิ์ กิจบำรุง เป็นผู้ดูแล
การโยกย้ายพระสงฆ์ปี ค.ศ. 2003 คุณพ่ออดิศักดิ์ สมแสงสรวง ยังคงเป็นอธิการ โดยมีคุณพ่อธนากร เลาหบุตร คุณพ่อทนุ เจษฎาพงค์ภักดี คุณพ่อสุวนารถ กวยมงคล คุณพ่อสหพล ตั้งถาวร เป็นผู้ช่วยอธิการด้านโรงเรียน คุณพ่อศักดิ์ชัย ทรัพย์อัประไมย เป็นผู้จัดการ ส่วนบ้านสวน คุณพ่ออนุศักดิ์ กิจบำรุง เป็นผู้ดูแล
ในสมัยของคุณพ่ออดิศักดิ์ สมแสงสรวง เป็นอธิการบ้านเณร ในด้านอาคารสถานที่ คุณพ่อได้ดำเนินการทาสีภายในบ้านเณรใหม่ทั้งหมด ปรับปรุงส่วนต่างๆ ภายในบ้าน ห้อง ตู้ ได้ทำการเจาะดำแพงด้านหลังในบริเวณชั้น 2 ตึกเก่าใส่ประตูหลัง เพื่อความสะดวก และความเหมาะสมของสามเณรในการเดินไปใช้ห้องอาบน้ำ นอกจาก นี้ ยังมีการสร้างโรงยิมหลังใหม่ในบริเวณด้านข้างโรงอาหารของโรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ และได้มีการปรับปรุงวัดน้อยของสามเณราลัย เพราะเนื่องจากสภาพหลังคาที่รั่วจึงได้มุงกระเบื้องใหม่ และได้รื้อโดมบนหลังคาด้านเหนือ พระแท่นออกและปรับเปลี่ยนเป็นหลังคาที่เท่ากันตามปกติ ภายในวัดได้ปรับปรุงพระแท่นเพดานฝ่าใหม่ นอกจาก นี้ คุณพ่อได้เปิดโอกาสให้สามเณรได้ใช้คอมพิวเตอร์ โดยจัดให้มีห้องคอมพิวเตอร์ไว้ใช้เพื่อการศึกษา และทำราย งานต่างๆ คุณพ่อได้ส่งเสริมสามเณรทางด้านความรู้ภาษาอังกฤษให้มีชั่วโมงเรียนเพิ่มขึ้น และด้านทักษะทางดนตรี จัดซื้อคีย์บอร์ดและไวโอลิน เพื่อให้สามเณรได้ฝึกซ้อม คุณพ่อได้จัดทำหนังสือเพลงและภาวนาขึ้นใหม่สำหรับสามเณรในการร่วมพิธีกรรม การสวดภาวนาหนังสือเหล่านั้นได้แก่ หนังสือเพลง Joseph Hymn หนังสือเพลง Praises ot the Lord หนังสือเพลง Christmas Hymn หนังสือทำวัตร (เพลงสดุดีร้อยแก้ว ตามคำแปลของคณะกรรมการพระคัมภีร์ฯ) และหนังสือภาวนา
11. สมัยอธิการยอห์น วิชชุกรณ์ เกตุภาพ (ค.ศ. 2004-2009)
ในการโยกย้ายพระสงฆ์ในปี ค.ศ. 2004 คุณพ่อวิชชุกรณ์ เกตุภาพ ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบ้านเณรต่อจากคุณพ่ออดิศักดิ์ สมแสงสรวง โดยมีคุณพ่อศักดิ์ชัย ทรัพย์อัประไมย เป็นผู้จัดการโรงเรียน ส่วนคุณพ่อสุวนารถ กวยมงคล คุณพ่อธนากร เลาหบุตร คุณพ่อทนุ เจษฎาพงศ์ภักดี คุณพ่อสมหมาย มธุรสสุวรรณ เป็นผู้ช่วยอธิการ ส่วนบ้านสวน คุณพ่อกนก สิทธิสันต์ เป็นผู้ดูแล
การโยกย้ายพระสงฆ์ปี ค.ศ.2005 คุณพ่อวิชชุกรณ์ เกตุภาพ ยังคงเป็นอธิการ มีคุณพ่อศักดิ์ชัย ทรัพย์อัประไมย เป็นผู้จัดการโรงเรียน ส่วนคุณพ่อสุวนารถ กวยมงคล คุณพ่อทนุ เจษฎาพงศ์ภักดี คุณพ่อสมหมาย มธุรสสุวรรณ คุณพ่ออนุสรณ์ แก้วขจร เป็นผู้ช่วยอธิการ ส่วนบ้านสวน คุณพ่อกนก สิทธิสันต์ เป็นผู้ดูแล
การโยกย้ายพระสงฆ์ปี ค.ศ.2006 คุณพ่อวิชชุกรณ์ เกตุภาพ ยังคงเป็นอธิการ มีคุณพ่อเอกพร นิตตะโย เป็นผู้จัดการโรงเรียน ส่วนคุณพ่อสุวนารถ กวยมงคล คุณพ่ออนุสรณ์ แก้วขจร เป็นผู้ช่วยอธิการ ส่วนบ้านสวนยอแซฟคุณพ่อกนก สิทธิสันต์ เป็นผู้ดูแล การโยกย้ายพระสงฆ์ปี ค.ศ.2007 คุณพ่อวิชชุกรณ์ เกตุภาพ ยังคงเป็นอธิการ มีคุณพ่อเอกพร นิตตะโย เป็นผู้จัดการโรงเรียน ส่วนคุณพ่อสุวนารถ กวยมงคล คุณพ่ออนุสรณ์ แก้วขจร คุณพ่อสหพล ตั้งถาวร คุณพ่อยอดชาย เล็กประเสริฐ คุณพ่อสมหมาย มธุรสสุวรรณ เป็นผู้ช่วยอธิการ ส่วนบ้านสวนยอแซฟ คุณพ่อกนก สิทธิสันต์ เป็นผู้ดูแล สมัยคุณพ่อวิชชุกรณ์ เกตุภาพ ได้ปรับปรุงอาคารสามเณราลัย ทำความสะอาดตึก และทาสีใหม่
12. สมัยอธิการยอแซฟ ประทีป กีรติพงศ์ (ค.ศ.2009-2013 )
การโยกย้ายพระสงฆ์ ปี ค.ศ.2009 ได้เปลี่ยนอธิการองค์ใหม่ ส่วนคุณพ่อเอกพร นิตตะโย เป็นผู้จัดการโรงเรียนเหมือนเดิม และย้ายคุณพ่อสุวนารถ กวยมงคล , คุณพ่ออนุสรณ์ แก้วขจร และมีคุณพ่อเข้ารับตำแหน่งใหม่ คือ คุณพ่ออดิศักดิ์ กิจบุญชู ( ถึง 30 เม.ย. 2010) เป็นผู้ช่วยอธิการสามเณราลัยนักบุญยอแซฟ และคุณพ่อที่ยังคงอยู่ประจำปี 2010 คุณพ่อสหพล ตั้งถาวร , คุณพ่อยอดชาย เล็กประเสริฐ คุณพ่อสมหมาย มธุรสสุวรรณ (ผู้ช่วยอธิการ) ปี ค.ศ. 2012 คุณพ่อสมหมาย มธุรสสุวรรณ ย้ายไปช่วยเจ้าอาวาสวัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด หัวตะเข้ และวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 2012 คุณพ่อสมภพ เรืองวุฒิชนะพืช เป็นผู้ช่วยอธิการบ้านเณร
มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสถานที่ภายในบ้านเณร อาทิ ยกพื้นล้างทั้งหมดเพื่อป้องกันน้ำท่วม วัดน้อยชั้น 3 ตึกใหม่ ห้องทำงานอธิการ และรองอธิการ ห้องอาหารพระสงฆ์ ห้องรับแขก ห้องสมุด ห้องอาหาร ห้องน้ำ เป็นต้น
13. สมัยอธิการยอแซฟ ไชโย กิจสกุล (ค.ศ. 2013-ปัจจุบัน)
คุณพ่อดำรงตำแหน่งอธิการ เมื่อปี ค.ศ. 2013 โดยมีคุณพ่ออดิศักดิ์ กิจบุญชู เป็นรองอธิการ คุณพ่ออุทัย พาแฮ คุณพ่อธนายุทธ ผลาผล คุณพ่อวีรยุทธ เกียรติสกุลชัย เป็นผู้ช่วยอธิการ และนอกจากนี้ยังมีคุณพ่อธีรพล กอบวิทยากุล เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ กับคุณพ่อศวง วิจิตรวงศ์ เป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียน
โดยในปีนี้ คุณพ่อได้รณรงค์ให้สร้างบรรยากาศของธรรมชาติบริเวณบ้านเณรและรอบ ๆ โรงเรียนโดยเน้นให้ปลูกต้นกล้วย และต้นมะฮอกกานี ในบริเวณต่าง ๆ เช่น รอบสนามฟุตบอลบ้านเณร บริเวณสวนหลังห้องอาหารสามเณรและบริเวณรอบ ๆ โรงเรียนเพื่อสร้างร่มเงา และผลผลิตตามฤดูกาล นอกจากนี้คุณพ่อยังได้ปรับปรุงห้องพักพระสงฆ์ทุกห้องในบ้านเณรให้น่าอยู่และเพื่อรองรับพระสงฆ์ที่มาพักอยู่บ้านเณร และได้เปลี่ยนบานเกร็ดเป็นกระจกบานเลื่อน เปลี่ยนตู้เสื้อผ้าและโต๊ะเรียนใหม่ และในโอกาสเตรียมฉลอง 50 ปี สามเณราลัยนักบุญยอแซฟ คุณพ่อได้จัดทำหนังสืออนุสรณ์ และหนังสือทำเนียบศิษย์เก่าสามเณราลัย โดยร่วมมือกับคณะกรรมการศิษย์เก่าสามเณราลัย