-
Category: ประวัติบ้านเณรในประเทศไทย
-
Published on Tuesday, 10 May 2016 03:38
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 4837
วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2508 สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระฐานานุกรม ในประเทศไทยจากระดับมิสซัง (เทียบสังฆมณฑล) เป็นสังฆมณฑล (Diocese) และแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และภาคอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง แต่ว่างานการอบรมสำหรับผู้ที่จะเตรียมตัวเป็นบาทหลวงคาทอลิกนั้นยังไม่มีความชัดเจน โดยขึ้นกับนโยบายของแต่ละสามเณราลัยเล็กในแต่ละสังฆมณฑล ซึ่งมีระยะเวลาการอบรม วิธีการ และเนื้อหา หลักสูตรที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป ทั้งยังไม่มีสามเณราลัยใหญ่สำหรับการศึกษาขั้นอุดมศึกษาในหลักสูตรวิชาปรัชญาและเทววิทยาจึงต้องส่งสามเณรไปรับการศึกษาต่อในต่างประเทศ อาทิเช่น มาเลเซีย (ปีนัง) อิตาลี (โรม) อินเดีย สหรัฐอเมริกา ฯลฯ อันก่อให้เกิดความหลากหลาย ขาดเอกภาพ ทั้งยังไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของสังคมไทย
ดังนั้น เพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของสภาสังคายนาวาติกัน ที่ 2 ซึ่งย้ำเน้นในเรื่องการจัดตั้งสถานอบรมบาทหลวงคาทอลิกขึ้นในแต่ละประเทศ โดยคำนึงถึงภูมิภาคประเทศและชนชาติแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพแวดล้อมและความต้องการพิเศษของสังคม สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้ประชุมปรึกษาหารือกัน และได้ตัดสินใจเปิดสามเณราลัยใหญ่ขึ้น เลขที่ 20 ถนนเพชรเกษม กม. 29 ตำบลท่าข้าม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม บนเนื้อที่เกือบร้อยไร่ในปี พ.ศ. 2515 โดยให้ชื่อว่า “สามเณราลัยแสงธรรม” ( LUX MUNDI SEMINARY) การก่อสร้างแล้วเสร็จ และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 และพร้อมๆ กันนี้ “วิทยาลัยแสงธรรม” (SAENGTHAM COLLEGE) ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วย โดยมีวัตถุประสงค์หลักข้อหนึ่งในการตั้งวิทยาลัยแสงธรรมระบุว่า “มุ่งผลิตบาทหลวงและนักบวช เพื่อช่วยพัฒนาสังคมไทย โดยเฉพาะด้านศาสนาและจิตใจ” ทบวงมหาวิทยาลัยได้รับรองมาตฐานการศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาปรัชญา และหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาปรัชญา และหลักสูตรศาสนศาสตร์บัณฑิต สาขาเทววิทยา ซึ่งได้รับอนุญาตจากทบวงมหาวิทยาลัยให้เป็นวิทยาลัยเอกชน โดยเปิดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2519
ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 ทบวงมหาวิทยาลัยได้ให้การรับรองมาตรฐานการศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี สาขาปรัชญา และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ) ได้มีมติรับรองคุณวุฒิ ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต (ปรัชญา) หรือ ศศ.บ. (ปรัชญา) มีศักดิ์และสิทธิเทียบเท่ามหาวิทยาลัย ของรัฐทุกประการ ในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2522
ในปีการศึกษา 2536 สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทยได้โอนหน่วยงานศูนย์ค้นคว้าทางศาสนาและวัฒนธรรม เข้าเป็นองค์กรส่วนหนึ่งของวิทยาลัยแสงธรรมภายใต้การดำเนินงานของคณะผู้บริหารวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการวิจัยและค้นคว้าให้ทุกๆ เรื่องที่อยู่ในขอบข่ายการเรียนการสอนของวิทยาลัย และในด้านศาสนาและวัฒนธรรม
ปีการศึกษา 2537 สภาวิทยาลัยแสงธรรม ในการประชุมครั้งที่ 2/2537 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2537 ได้อนุมัติให้วิทยาลัยปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรเดิมที่กำลังใช้อยู่ ให้สอดคล้องกับการอบรมผู้ที่ประสงค์จะบวชเป็นบาทหลวง และนักบวชในคริสตศาสนา ดังนี้คือ ปรับปรุงหลักสูตรปรัชญา พ.ศ. 2529 เป็นหลักสูตรปรัชญาและศาสนา
ปีการศึกษา 2538 ทบวงมหาวิทยาลัยได้อนุมัติหลักสูตรปรัชญาและศาสนา ตามหนังสือที่ ทม 0207/14650 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปีการศึกษา 2538 เป็นต้นไป และสำนักงาน ก.พ. ได้รับทราบแล้ว
ปีการศึกษา 2541 สภาวิทยาลัยแสงธรรม ในการประชุมครั้งที่ 1/2541 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2541 อนุมัติให้วิทยาลัยปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิตและศาสนศาสตร์บัณฑิต ตามที่วิทยาลัยเสนอขอปรับปรุงแก้ไขและได้เสนอหลักสูตรทั้งสองคณะให้ทบวงมหาวิทยาลัยพิจารณา ทบวงมหาวิทยาลัยพิจารณาและอนุมัติให้ปรับปรุงแก้ไขได้ ตามหนังสือ ทม. 0207/22942 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 254 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปีการศึกษา 2542 เป็นต้นไป และสำนักงาน ก.พ. รับทราบแล้ว
ปัจจุบันในแผนปฏิรูปการศึกษานั้น บุคลากรที่ควรจะได้รับการพัฒนาอย่างยิ่ง คือ บุคลากรครู ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของโรงเรียนและการเรียนการสอน ดังนั้น วิทยาลัยแสงธรรมร่วมกับศูนย์อบรมคริสตศาสนธรรม จึงดำเนินการเปิดหลักสูตรใหม่ คือ หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิตสาขาวิชาคริสตศาสนศึกษา คณะศาสนศาสตร์ เพื่อผลิตบุคลากรครูในสาขาวิชาทางด้านศาสนา ให้เป็นผู้มีความสามารถ ในการถ่ายทอดคุณธรรม จริยธรรม ตามหลัก คำสอนของคริสตศาสนาให้เด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ และบิดามารดาอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้โดยการอนุมัติจากสภาวิทยาลัยแสงธรรม และได้รับการพิจารณาจากทบวงมหาวิทยาลัยอนุมัติให้เปิดดำเนินการเรียนการสอนได้ในปีการศึกษา 2543 เป็นต้นไป...
วิทยาลัยแสงธรรม “ช่วงบุกเบิก” ปี พ.ศ. 2515 - 2518
ช่วงเวลา 4 ปีแรก ระหว่างปี ค.ศ. 2515-2518 (ค.ศ. 1972-1975) ถือเป็นช่วงบุกเบิกของวิทยาลัยแสงธรรม แม้จะยังไม่เป็นทางการก็ตามที ในช่วงแรกเริ่มนั้น เนื่องจากการก่อสร้างอาคารของวิทยาลัยยังไม่เสร็จตามกำหนด บรรดาศิษย์เก่าแสงธรรมรุ่นแรกจึงต้องไปใช้สถานที่ศึกษาอบรมที่หัวหินวิทยาลัย ของคณะนักบวชซาเลเซียน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเวลา 6 เดือน จนการก่อสร้างแล้วเสร็จ และในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) บรรดานักศึกษาพร้อมด้วยคณาจารย์ที่มีอยู่ จึงย้ายสถานศึกษามาที่วิทยาลัยแสงธรรม จังหวัดนครปฐม ในที่ปัจจุบัน สภาพและบรรยากาศของวิทยาลัยแสงธรรมในช่วงนั้น ประกอบด้วยอาคาร 6 หลัง คือ อาคารที่พักอาศัย 2 หลัง ห้องอาหาร โรงครัว บ้านพักซิสเตอร์และพนักงาน และอาคารเรียน 1 หลัง อาคารเรียนของวิทยาลัยเป็นอาคารสามชั้นรูปแบบทันสมัย ตั้งอยู่กลางทุ่งนาบริเวณโดยรอบๆ เริ่มปลูกต้นไม้ชนิดต่างๆ เช่น ปาล์มขวด มะพร้าว ชมพู พันธุ์ทิพย์ ประดู่ พฤกษ์ จามจุรี อินทนิล มะฮอกกานี นนทรี พิกุล ฯลฯ อากาศดี ลมพัดแรงเนื่องจากบริเวณโดยรอบของวิทยาลัยเป็นเรือกสวนไร่นา ยังไม่มีบ้านเรือนหรือโรงงานต่างๆ มากนัก ด้านหน้าวิทยาลัยมีถนนเพชรเกษมตัดผ่านขณะนั้นยังเป็นถนนลาดยางแคบๆ มีสองช่องทาง พอให้รถวิ่งสวนกันได้เท่านั้น รถที่วิ่งก็ไม่มากนัก แต่ในช่วงเย็นและค่ำมักมีรถบรรทุกแล่นผ่านเป็นจำนวนมาก เนื่องจากถนนเพชรเกษมเป็นถนนสายหลักเส้นเดียวที่เชื่อมกับภาคใต้ของประเทศ
การเรียนการสอนในสมัยแรก คณาจารย์ประจำของสถาบันแสงธรรมในปีแรกมี บาทหลวงบรรจง อารีพรรค (อดีตมุขนายกสังฆมณฑลนครสวรรค์) เป็นอธิการ บาทหลวงสมศักดิ์ นามกร เป็นรองอธิการ และบาทหลวงนรินทร์ ศิริวิริยานนท์ เป็นอาจารย์ ในปีการศึกษาที่ 2 มีอาจารย์เพิ่มขึ้นคือ บาทหลวงเอก ทับปิง (อดีตมุขนายกสังฆมณฑลราชบุรี ซึ่งเสียชีวิตแล้ว) และ บาทหลวงยัง มารี ดังโตแนล (MEP) ชาวฝรั่งเศส ส่วนในปีที่ 3 มี บาทหลวง ชุมภาคูรัตน์ และในปีที่ 4 บาทหลวง สำราญ วงศ์เสงี่ยม มาเป็นอาจารย์ประจำด้วย นอกจากนี้ ยังมีอาจารย์พิเศษจากสถาบันต่างๆ มาช่วยในเรื่องการเรียนการสอนอีกด้วยการเรียนการสอนในสมัยแรก คณาจารย์ประจำของสถาบันแสงธรรมในปีแรกมี บาทหลวงบรรจง อารีพรรค (อดีตมุขนายกสังฆมณฑลนครสวรรค์) เป็นอธิการ บาทหลวงสมศักดิ์ นามกร เป็นรองอธิการ และบาทหลวงนรินทร์ ศิริวิริยานนท์ เป็นอาจารย์ ในปีการศึกษาที่ 2 มีอาจารย์เพิ่มขึ้นคือ บาทหลวงเอก ทับปิง (อดีตมุขนายกสังฆมณฑลราชบุรี ซึ่งเสียชีวิตแล้ว) และ บาทหลวงยัง มารี ดังโตแนล (MEP) ชาวฝรั่งเศส ส่วนในปีที่ 3 มี บาทหลวง ชุมภาคูรัตน์ และในปีที่ 4 บาทหลวง สำราญ วงศ์เสงี่ยม มาเป็นอาจารย์ประจำด้วย นอกจากนี้ ยังมีอาจารย์พิเศษจากสถาบันต่างๆ มาช่วยในเรื่องการเรียนการสอนอีกด้วย
แนวการจัดการศึกษา ของวิทยาลัยแสงธรรมในช่วงแรกตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของพระศาสนจักรคาทอลิกในสังคายนาวาติกันที่ 2 ได้เป็นอย่างดี โดยอาจสรุปได้ คือ
1. จัดการศึกษาอย่างมีบูรณาการในทุกด้าน ทั้งทางด้านสติปัญญา จิตวิญญาณ วุฒิภาวะการเป็นผู้ใหญ่ การรู้จักใช้เสรีภาพความรับผิดชอบ มีวินัยในตนเอง มีชีวิตหมู่คณะ เพื่อรับใช้ผู้อื่นด้วยความรักอย่างแท้จริง
2. เน้นเนื้อหาวิชาเทววิทยาที่สัมพันธ์กับชีวิต เน้นศึกษาพระคัมภีร์ พระธรรมล้ำลึกเรื่องต่างๆ พิธีชีวิตจิต เป็นต้น
3. เน้นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสังคมมากขึ้น วิชาศึกษาทั่วไป เช่น ภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ปรัชญา สังคมศาสตร ์การพัฒนาสังคม ฯลฯ เพื่อมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล มีความเข้าใจธรรมชาติของตนเองและผู้อื่นในสังคม สามารถคิดอย่างมีเหตุผล มีคุณธรรม ตระหนักในคุณค่าศิลปวัฒนธรรมทั้งของประเทศไทยและนานาชาติ
4. จัดให้มีการศึกษาศาสนาต่างๆ เพื่อการมีศาสนสัมพันธ์ที่ดีกับศาสนิกชนของศาสนาอื่นๆ
5. จัดให้มี “วิธีการศึกษา” ที่ดี เน้นการสร้างลักษณะนิสัยแก่นักศึกษาให้รับการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต รู้จักศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง สามารถประยุกต์ความรู้เพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดผลดีต่อชีวิตของตนเองได้ และสามารถแบ่งปันความรู้นั้นเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นด้วย
วิทยาลัยแสงธรรม “ช่วงแห่งการเติบโต” ปี พ.ศ. 2525-2536
วิทยาลัยแสงธรรมในช่วงเวลานี้ หากเปรียบกับคนก็คงอยู่ในช่วงวัยเด็กซึ่งเป็น “วัยแห่งการเรียนรู้และเติบโต” แม้ว่าจำนวนนักศึกษาของวิทยาลัยแสงธรรมดูเหมือนจะขึ้นๆ ลงๆ ไม่ค่อยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับวิทยาลัยแห่งอื่น แต่ว่าประสบการณ์ในชีวิตการเดินทางของ “ชาวแสงธรรม” ทุกคนได้ก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ ในปีการศึกษา พ.ศ.2525 วิทยาลัยแสงธรรมมีอธิการคนใหม่ นับเป็นอธิการคนที่ 3 คือ บาทหลวง วีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งนี้ยาวนานถึง 11 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2525-2536 สภาพและบรรยากาศของวิทยาลัยแสงธรรมในช่วงนี้ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว แต่ที่สำคัญคือ ในปี พ.ศ.2530 ได้เริ่มสร้างหอประชุม อาคาร “มารดาพระผู้ไถ่” พร้อมทั้งตกแต่งดูแลสถานที่ให้อยู่ในสภาพที่น่าอยู่มีการปลูกต้นไม้เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความร่มรื่นลักษณะการเรียนการสอนก็ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากหลักสูตรต่างๆ นั้น เพิ่งจะเริ่มต้นได้ไม่นานนัก และใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย เพียงแต่พยายามดูแลให้เป็นไปตามที่แต่ละหลักสูตรได้กำหนดไว้เท่านั้น
ในช่วงนี้มีการปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรใหม่ โดยยกเลิกระบบการแบ่งหลักสูตรเป็นระดับต้นและระดับปลาย ที่ทุกวิชา มี 2 หน่วยกิต เป็นระบบสากล เพื่อความเหมาะสมสำหรับการเทียบโอนหน่วยกิตกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ นับเป็นการปรับปรุงหลักสูตรครั้งแรกของวิทยาลัยแสงธรรม ในปี พ.ศ. 2528 ทางวิทยาลัยแสงธรรมได้นำระบบการพิมพ์ออฟเซทเข้ามาใช้ เพื่อสนับสนุนการพิมพ์ตำราเรียน งานธุรการ ฯลฯ
ในปี พ.ศ. 2532 บาทหลวงวีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช อธิการวิทยาลัย ได้ขอลาพักจากตำแหน่งเพื่อไปศึกษาเพิ่มเติมในระยะสั้นๆ ณ มหาวิทยาลัยโลโยลา ประเทศสหรัฐอมเริกา ระหว่างนี้ได้มอบหมายหน้าที่ให้บาทหลวงวิชา หิรัญญการ คณบดีคณะศาสนศาสตร์ในขณะนั้นเป็นผู้รักษาการแทนอธิการวิทยาลัย
จุดเด่นของช่วงนี้คือเรื่องของกิจกรรมนักศึกษา ทั้งในระหว่างนักศึกษาภายในเอง และการเปิดตัวเองไปสร้างความสัมพันธ์กับสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ด้วย โดยมีกลุ่มสโมสรนักศึกษาเป็นหลักในการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ของทางวิทยาลัย ซึ่งกลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ในแต่ละปีต่างก็ได้ทุ่มเทเสียสละ เพื่อทำงานรับใช้เพื่อนนักศึกษา ได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพเสมอมา ในยุคนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการและกิจกรรมต่างๆ มากมาย ได้แก่ ส่งนักศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาวิทยาลัยเอกชนในหลายๆ ครั้ง ได้เหรียญรางวัลมาเป็นกอบเป็นกำ นำความภูมิใจและชื่อเสียงมาสู่วิทยาลัยแสงธรรมได้ไม่น้อย ทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์วิทยาลัยอีกทางหนึ่งด้วย กีฬา ที่สร้างชื่อเสียงในสมัยนี้ก็คือ บาสเกตบอลและฟุตบอล นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2528 วิทยาลัยแสงธรรมได้จัดให้มีการแข่งขันฟุตบอล “Saengtham Cup” ขึ้นเป็นครั้งแรก
โดยทีมวิทยาลัยแสงธรรมสามารถคว้าถ้วยรางวัลชนะเลิศ มาครองได้สำเร็จในปีแรก และหลังจากนั้นก็ได้มีการจัดการแข่งขันขึ้นอีกเป็นระยะๆโดยเชิญทีมต่างๆ ที่อยู่รอบข้าง รวมทั้งสถาบันอื่นๆ มาร่วมด้วย
กิจกรรมนักศึกษาอีกอย่างที่สร้างสีสันชีวิตชีวาให้แก่วิทยาลัยแสงธรรมก็คือ การแข่งขันทางดนตรี “Coke Music Award” จากโครงการนี้เองได้ปลุกเร้าให้นักศึกษาวิทยาลัยแสงธรรม ได้หันมาสนใจการแสดงออกถึงความสามารถทางด้านดนตรีควบคู่กับการศึกษาหาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งยังเป็นการเปิดตัวเองออกไปสร้างความสัมพันธ์กับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ “สภากาแฟ” ถือเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมในสมัยนี้ บริเวณใต้ตึกของวิทยาลัยในช่วงพักจึงมักเป็นศูนย์รวมของบรรดานักศึกษา ณ ที่นี้เองเป็นแหล่งเกิดความคิดทางปรัชญาใหม่ๆ เทววิทยาภาคประยุกต์ แหล่งบันเทิงทางความคิดในรูปแบบต่างๆ ของบรรดานักศึกษา
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์สำคัญๆ ในยุคนี้ด้วย ได้แก่ การรวมตัวกันของบรรดาศิษย์เก่าของวิทยาลัยแสงธรรมและได้จัดตั้ง “ชมรมศิษย์เก่าวิทยาลัยแสงธรรม” ขึ้นในปี พ.ศ. 2532 โดยประธานชมรมศิษย์เก่ารุ่นแรกคือ บาทพลวง ไพฑูรย์ หอมจินดา เป็นประธานศิษย์เก่าฝ่ายสงฆ์ ส่วน คุณมนูญ วิสิฐนนทชัย เป็นประธานศิษย์เก่าฝ่ายฆราวาส นอกจากนี้สภาพระสังฆราชแห่งประเทศไทยได้โอนหน่วยกิตศูนย์ค้นคว้าทางศาสนาและวัฒนธรรม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยแสงธรรมด้วย
วิทยาลัยแสงธรรม “ช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลง” ปี พ.ศ. 2537-2538
ในช่วงเวลานี้ วิทยาลัยแสงธรรมเริ่มเติบโตใหญ่เข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนปลายๆ ซึ่งถือเป็น “วัยแห่งการเปลี่ยนแปลงและแสวงหา” ได้มีการปรับเปลี่ยนอธิการวิทยาลัยคนใหม่ นับเป็นคนที่ 4 คือ บาทหลวง บรรจง สันติสุขนิรันดร์ (คณะซาเลเซียน) ซึ่งอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลา 2 ปี ในช่วง พ.ศ. 2537-2538 แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ถือเป็นช่วงที่มีการปรับเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างในวิทยาลัยแสงธรรม ทั้งในเรื่องของอาคารสถานที่หลักสูตรและการเรียนการสอน รวมถึงกิจกรรมของนักศึกษา ทั้งนี้เพื่อปรับให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม และกระแสของกระบวนการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวทางของทบวงมหาวิทยาลัย
ด้านอาคารสถานที่ของวิทยาลัยแสงธรรมในช่วงนี้ได้มีการปรับปรุงห้องโสตทัศนูปกรณ์ให้มีความทันสมัย ปรับปรุงห้องสมุดให้มีบรรยากาศเหมาะสมกับการค้นคว้าและเป็นแห่งความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ มากขึ้น นอกจากนี้ยังได้นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในระบบสารนิเทศของวิทยาลัย รวมทั้งติดตั้งระบบเครือข่ายข้อมูล (Intermet) เพื่อเป็น แหล่งค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมสำหรับนักศึกษาอีกด้วย
ในส่วนของการเรียนการสอน ได้มีการปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกันที่สำคัญคือปรับปรุงหลักสูตรปรัชญาของ พ.ศ.2529 เป็นหลักสูตรปรัชญาและศาสนา และทบวงมหาวิทยาลัยได้อนุมัติหลักสูตรดังกล่าวในปี พ.ศ.2538ในช่วงนี้ยังได้มีการปรับปรุงห้องเรียนให้มีบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น มีการปรับปรุงระบบเครื่องขยายเสียงของอาจารย์ นอกจากนี้ยังได้พยายามแบ่งแยกการจัดการให้ชัดเจนระหว่างวิทยาลัยแสงธรรมกับสามเณราลัยแสงธรรม เพื่อเป็นประโยชน์และมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ในการจัดการด้านต่างๆ
ในยุคนี้ ทางวิทยาลัยแสงธรรมได้สนับสนุนกิจการของสโมสรนักศึกษา โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันอื่นๆ ทั้งยังเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์วิทยาลัยแสงธรรมของเราให้เป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วๆ ไปอีกด้วย มีการเริ่มส่งตัวแทนนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมค่ายร่วมของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ภายใต้ชื่อ “ค่ายประสานใจสู่ไทยชนบท” ซึ่งได้มีการจัดติดต่อกันเรื่อยมาทุกปี ในปีการศึกษา พ.ศ. 2538 ได้เริ่มมีการจัดการแข่งขัน “กีฬาสัมพันธ์ 4 สถาบัน” คือ มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ วิทยาลัยแสงธรรม และวิทยาลัยทองสุข และในปีต่อๆ มาได้ขยายผลเป็น 5-6 สถาบันคือรวม วิทยาลัยคริสเตียนและวิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรี เข้ามาร่วมด้วยตามลำดับ ทั้งสโมสรนักศึกษาวิทยาลัยแสงธรรม รับเป็นเจ้าภาพค่ายร่วม 12 สถาบัน “ชุมชนกองขยะหนองแขม” ขึ้น โดยเชิญสโมสรนักศึกษาต่างสถาบันที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ได้รับความร่วมมืออันดีจาก ทุกฝ่าย และประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ นี่แหละคือช่วงหนึ่งของชีวิต “แสงธรรม” ซึ่งจำเป็น ต้องเปลี่ยนแปลงปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพการณ์ในสังคมที่แปรเปลี่ยนอย่างไม่หยุดยั้ง แม้ว่าวิทยาลัยแสงธรรมจะตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เฉพาะก็ตาม แต่นักศึกษาที่จบจากวิทยาลัยแสงธรรมไปก็ต้องออกไปทำงานกับกลุ่มต่างๆ ในสังคม จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารและนักศึกษาของวิทยาลัยแสงธรรมทุกคนจะต้องตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเองต่อสังคม โดยที่ไม่เสียเอกลักษณ์ ของนักศึกษาแสงธรรมและไม่ขัดกับจุดประสงค์ในการตั้งวิทยาลัยแสงธรรม
วิทยาลัยแสงธรรม “ช่วงหนุ่มแน่น ไฟแรง” ปี พ.ศ. 2539-ปัจจุบัน
วิทยาลัยแสงธรรมในช่วงนี้ มีการเปลี่ยนอธิการวิทยาลัยคนใหม่ นับเป็นคนที่ 5 คือ บาทหลวงวิทยา คู่วิรัตน์ (ศิษย์เก่าวิทยาลัยแสงธรรม รุ่นที่ 5) ซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ.2539 จนถึงปัจจุบัน ในยุคนี้ถือว่าเป็น “ยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร” วิทยาลัยแสงธรรมเองแม้จะเป็นเพียงสถาบันเล็กๆ แต่เราก็ยังไม่ย่อท้อที่จะพัฒนาปรับเปลี่ยนตนเองให้เข้ากับสังคมที่แปรเปลี่ยนไป จึงมีการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาเกิดขึ้นในด้านและมิติต่างๆ ในด้านสภาพและบรรยากาศของวิทยาลัยในช่วงนี้ มีการต่อเติมอาคารสำนักอธิการจากเดิม 1 ชั้น เป็น 2 ชั้น พร้อมทั้งจัดให้มีห้องประชุม ห้องพักสำหรับอาจารย์ และห้องอาจารย์ที่ปรึกษาสำหรับพบปะกับนักศึกษา มีการปรับปรุงห้องสมุดอีกครั้ง ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เพิ่มเติมพร้อมทั้งจัดให้มีห้องปรับอากาศเพื่อให้นักศึกษาใช้ในการศึกษาค้นคว้าได้อย่างสะดวกสบายและมีบรรยากาศมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงห้องเรียนโดยติดตั้งเครื่องปรับอากาศรวมทั้งจัดให้มีห้องโสตทัศนูปกรณ์เพิ่มขึ้นเพื่อบริการแก่นักศึกษา ในช่วงปีการศึกษา พ.ศ. 2542 ได้มีการสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กรอบสถาบันแสงธรรม ทำที่จอดรถของบรรดาอาจารย์และนักศึกษา พร้อมทั้งปรับปรุงสวนย่อมปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ทำให้บรรยากาศของวิทยาลัยดูแปลกตาจากเดิม แต่ก็ดูสวยงาม ร่มรื่น และเป็นระเบียบเรียบร้อยยิ่งขึ้น
ในส่วนของการเรียนการสอน ช่วงนี้เน้นมากถึงคุณภาพทางด้านวิชาการที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในชีวิต ส่งเสริมด้านภาษาอังกฤษ เริ่มจากนำสถาบันที่ชำนาญทางภาษาอังกฤษมาสอนแก่นักศึกษาในวิทยาลัย เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพด้านการเรียนการสอน และเพื่อเป็นฐานสำคัญในการศึกษาเพิ่มเติมและการศึกษาที่ต่อเนื่องต่อไปในอนาคต ส่งเสริมคณาจารย์ให้สอนนักศึกษาโดยใช้ภาษาอังกฤษในบางรายวิชาพร้อมทั้งเสริมความรู้ในแบบเรียน TOEFL (Test of English as a Foreign Language) ให้แก่นักศึกษาที่สนใจ โดยมีอาจารย์พิเศษผู้ชำนาญการมาช่วยในการเรียนการสอน นอกจากนี้ทางวิทยาลัยแสงธรรมยังได้จัดหาอุปกรณ์ในการเรียนการสอนให้เพียงพอ ทันสมัย และเหมาะสมกับการเรียนการสอน พร้อมทั้งเน้นให้นักศึกษาได้มีโอกาสค้นคว้าเพิ่มเติมนอกช่วงเวลาเรียนอีกด้วย เพื่อสร้างสำนึกและนิสัยของผู้ที่รักการอ่านและค้นคว้าด้วยตนเอง
ในช่วงปีการศึกษา พ.ศ. 2543 (2000) วิทยาลัยแสงธรรมได้ร่วมกับศูนย์อบรมคริสตศาสนธรรม (ศูนย์ C.C) ดำเนินการเปิดหลักสูตรใหม่ คือ หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต คณะศาสนศาสตร์ สาขาคริสตศาสนศึกษา เพื่อผลิตบุคลากรครูทางด้านศาสนาที่มีความสามารถ นำความรู้ ความเชื่อ และคุณธรรมที่ได้รับไปถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่นในสังคมต่อไป ในปีการศึกษานี้จึงถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวิทยาลัยแสงธรรม ที่เปิดโอกาสให้บรรดานักบวชฆราวาส และนักศึกษาคาทอลิกทั้งชายหญิงที่สนใจได้เข้ามาศึกษาในวิทยาลัย ทำให้วิทยาลัยแสงธรรมของเรามีลักษณะที่เป็นสากลมากยิ่งขึ้น แม้ว่า “บรรยากาศแบบเดิมๆ” จะเปลี่ยนไป แต่ “จุดยืนของวิทยาลัยแสงธรรม” ของเราที่จะต้องเป็น “แสงสว่างส่องโลก” นั้นไม่เคยเปลี่ยนไป นอกจากนนี้ในปีการศึกษา พ.ศ. 2543 นี้ วิทยาลัยแสงธรรมได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐานประกันคุณภาพทางการศึกษาอีกด้วย นี่เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของวิทยาลัยที่ทบวงมหาวิทยาลัยได้กำหนดขึ้น วิทยาลัยแสงธรรมจึงมุ่งมั่นไปสู่ความก้าวหน้า พัฒนาคุณภาพของนักศึกษาแสงธรรมอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อมุ่งสู่การรับรองมาตรฐานทางการศึกษาของวิทยาลัยต่อไป
ในส่วนของกิจกรรมนักศึกษา ทางวิทยาลัยแสงธรรมผ่านทางสโมสรนักศึกษาก็ยังคงดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ซึ่งรุ่นพี่ๆ ได้ริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นอย่างมีคุณค่า เพียงแต่อาจมีการปรับเปลี่ยนบ้างเพื่อประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย ดังนั้น กิจกรรมต่างๆ ของวิทยาลัยแสงธรรมจึงมีอยู่เสมอไม่เคยขาด ดำเนินไปตามปฏิทินของแต่ละปีการศึกษาอย่างมีชีวิตชีวา ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมวันไหว้ครู ซึ่งมักจะรวมกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่เข้าไปด้วย เอกลักษณ์การรับน้องใหม่ของวิทยาลัยแสงธรรมก็คือ “Senior Charity” เน้นบรรยากาศความรัก อบอุ่น สนุกสนาน สามัคคีของความเป็นพี่เป็นน้อง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมกีฬาสัมพันธ์ วันวิชาการ รวมทั้งกิจกรรมตามโครงการต่างๆ ของชมรมนักศึกษาทั้ง 7 ชมรม