-
Category: ประวัติบ้านเณรในประเทศไทย
-
Published on Tuesday, 10 May 2016 03:37
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3729
เมื่อพระสังฆราชฟรังซัวปัลลือ (Mgr. Francois Pallu) และพระสังฆราชปิแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลาม็อต (Mgr. Pierre Lambert de la Motte) ซึ่งเป็นผู้แทนขององค์สมเด็จพระสันตะปาปา (Apostolic Vicar) ในทวีปเอเชียได้เดินทางมาถึงสยามในปี ค.ศ. 1662 ก็ได้รีบหาคนเพื่อเข้ารับการอบรมสำหรับเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ตามเป้าหมายของกรุงโรม
ในปี ค.ศ. 1666 ก็ได้สร้างบ้านเณรนักบุญยอแซฟ (Gnral College) ที่บางปลาเห็ด (Bang pla het) ในที่ดินที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชทานให้ ซึ่งในเวลานั้นมีเณร 10 คน โดยมีคุณพ่อหลุยส์ ลาโน (Mgr. Louis Laneau) เป็นผู้รับผิดชอบ และภายหลังคุณพ่อหลุยส์ ลาโน ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งมิสซังสยาม ใน ปี ค.ศ. 1674 คุณพ่อปีแอร์ ลังคลัวส์ จึงเป็นผู้รับผิดชอบแทน มีเณรทั้งสิ้น 60 คน และในจำนวนเณรเหล่านี้มีชาวสยามเป็นจำนวนมากซึ่งแยกอยู่ในที่เฉพาะต่างหาก
ในปี ค.ศ. 1675 เกิดไฟไหม้ขึ้นที่บ้านเณรของกรุงสยาม พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน จึงได้ย้ายส่วนหนึ่งของบ้านเณรไปอยู่ที่มหาพราหมณ์ (Mahaphram) ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงศรีอยุธยาห่างออก ไป 8 กิโลเมตร และเป็นที่ดินพระราชทาน ในปี ค.ศ. 1679
หลังจากที่พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน สร้างบ้านเณรที่มหาพราหมณ์แล้ว คอนสแตนติน ฟอลคอน (Constance Falcon) ก็ไปที่มหาพราหมณ์และตั้งวิทยาลัยชื่อ "Constantin College" ที่อยุธยาในปี ค.ศ. 1686 แต่พระสังฆราชลาโนยังคงให้เณรอยู่ที่บ้านเณรนักบุญยอแซฟต่อไป คือผู้ที่เป็นเณรเรียน เทววิทยาจบแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 80 คน
ในปี ค.ศ. 1688 มีการปฏิวัติของพระเพทราชา สมเด็จพระนารายณ์ทรงสวรรคตและคอนสแตนติน ฟอลคอนเสียชีวิต บ้านเณรนักบุญยอแซฟและที่มหาพราหมณ์ถูกยึด พระสังฆราชลาโน, พระสงฆ์มิชชันนารี และบรรดาสามเณร ถูกจับจำคุกและได้กลับเข้าบ้านเณรใหม่อีกครั้งหนึ่งในเดือนเมษายน
ค.ศ.1691 ซึ่งในเวลานั้นบ้านเณร ได้ย้ายมาอยู่ที่มหาพราหมณ์โดยมี คุณพ่ออาเล็กซังดร์ ป๊อกเกต์ (M. Alexandre Pocquet) เป็นผู้รับผิดชอบ
ในปี ค.ศ. 1702 พระสังฆราชหลุยส์ ชังปีอ็อง เดอ ซีเซ (Mgr. Louis Champion de Cice) ได้สืบตำแหน่งต่อจากพระสังฆราชหลุยส์ ลาโน ซึ่งถึงแก่มรณภาพวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1696 ในเวลานั้นที่บ้านเณรมีเณร 40 คน เป็นชาวตะวันออกทั้งหมด แต่สภาพของบ้านเณรยากจนและลำบากมาก ดังนั้น
พระสังฆราชจึงตัดสินใจส่งเณรเวียดนามใต้ (Cochinchina) และเณรเวียดนามเหนือ (Tonkin) กลับประเทศของเขาในปี ค.ศ. 1707
ปี ค.ศ. 1713 มีพระสังฆราชเดอ บูรญ์ (Mgr. de Bourges) ซึ่งเป็นพระสังฆราชของเวียดนามเหนือ (Tonkin) ได้ถูกขับไล่ออกจากเวียดนามและมาลี้ภัยในสยามพร้อมกับเณร 22 คน ท่านได้นำเงินมาช่วยเหลือและได้ให้กำลังใจพระสังฆราชเดอ ซีเซ ในการที่จะเริ่มก่อสร้างบ้านเณรใหม่
ปี ค.ศ. 1714 จึงเริ่มสร้างบ้านเณรใหม่ โดยมีคุณพ่ออังเดร รุสต์ (M. Andre Roost) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการบริหารวิทยาลัยเป็นผู้รับผิดชอบ พระสังฆราชเดอ ซีเซ ได้เขียนไว้ว่า "วิทยาลัยของเราอยู่ในระดับเดียวกันกับมหาวิทยาลัยของปารีส มีระเบียบเรียบร้อย ทั้งในแง่ของความศรัทธาและวิชาการ ผมถือว่าการเริ่มบ้านเณรใหม่มีคุณค่ามากกว่าเงินมากทอง"
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1718 ในบ้านเณรมีเณรทั้งสิ้น 50 คน เป็นชาวสยาม 14 คน เวียดนามเหนือ 24 คน เวียดนามใต้ 5 คน และจีน 7 คน
พระสังฆราชเดอ ซีเซ ได้ถึงแก่มรณภาพในปี ค.ศ. 1727 สิ่งแรกที่พระสังฆราชแตสซีเอร์ เดอ เกราเล (Mgr.Tessier de Queralay) ผู้ซึ่งมารับตำแหน่งแทนได้กระทำก็คือย้ายบ้านเณรจากมหาพราหมณ์กลับมาที่กรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ปี ค.ศ.1730 มิสซังคาทอลิกถูกเบียดเบียนบ้างทำให้มีเณรบางคนทิ้งความเชื่อ พระสังฆ์มิชชันนารี และเณรบางคนต้องขึ้นศาล คุณพ่อฟรังซัว เลอแมร์ (M. Francois Lemaire) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบต่อจากพระสังฆราชเดอ เกราเล ซึ่งถึงแก่มรณภาพใน ปี ค.ศ. 1736 ได้สร้างบ้านเณรใหม่ขึ้นมหาพราหมณ์
ระหว่างการปกครองของพระสังฆราชเดอ โลลิแอร์ (Mgr. de Lolire 1740-1755) บ้านเณรได้รับความยากลำบากเพราะต้องย้ายหลายครั้ง ระหว่างมหาพราหมณ์และอยุธยา และเปลี่ยนผู้รับผิดชอบ มีจำนวนเณร 20-35 คน
ที่ฝรั่งเศส พระอนุชาของกษัตริย์ฝรั่งเศสก็ได้ตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือบ้านเณรใหญ่ของมิสซังสยาม
ในปี ค.ศ. 1756 พระสังฆราชบรีโกต์ (Mgr. Brigot) ได้สืบตำแหน่งประมุขมิสซังสยามต่อจากพระสังฆราชโลลิแอร์ ปี ค.ศ. 1760 ทหารพม่าได้เริ่มเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาแล้ว บ้านเณรได้รับความเสียหาย ถูกไฟไหม้ และหลังจากที่ทหารพม่ายกทัพกลับไปแล้ว บ้านเณรก็ได้เริ่มเปิดใหม่ที่มหาพราหมณ์อีกครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากที่นี่ขาดแคลนน้ำ จึงได้ย้ายกลับมาอยู่ที่อยุธยา
พระสังฆราชบรีโกต์ได้รับพระราชทานที่ดินซึ่งอยู่ริมแม่น้ำ และในที่ดินผืนนี้เองก็ได้สร้างบ้านเณรใหม่ โดยมีคุณพ่อฌัง-บัปติสต์ อาร์โตด์ (M. Jean-Baptiste Arthaud) เป็นอธิการซึ่งเป็นคุณพ่อองค์สุดท้ายของมิสซังสยามที่เป็นผู้รับผิดชอบบ้านเณร
ปี ค.ศ. 1765 ทหารพม่าเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง พระสังฆราชบรีโกต์จึงส่งเณรไปอยู่ที่จันทบูรณ์ (จันทบุรี) ส่วนที่กรุงศรีอยุธยาถูกทำลายหมด เนื่องจากไม่มีความปลอดภัยในสยามแล้ว บ้านเณรจึงได้ย้ายไปลี้ภัยอยู่ในโคชินไชน่า ที่เมืองฮอนดัต (Hon Dat) ใกล้ๆ กับเมืองห่าเตียน (Hatien) ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1765
ในปี ค.ศ. 1767 คุณพ่ออาร์โตด์ ซึ่งเป็นอธิการบ้านเณรก็ได้มอบตำแหน่งให้กับคุณพ่อปินโญ เดอ เบแฮน (Mr. Pigneau de Behaine) ซึ่งคุณพ่อได้ย้ายบ้านเณรไปเณรไปอยู่ที่อินเดีย
ปี ค.ศ. 1782 บ้านเณรที่อินเดียต้องถูกปิดลงเนื่องจากสภาพอากาศไม่ดี ทำให้สามเณรและพระสงฆ์เจ็บป่วยไม่สบาย
ปี ค.ศ. 1807 จึงได้เปิดบ้านเณรขึ้นใหม่ที่ปีนัง โดยคุณพ่อเลอต็องแดล (M. Letondel) ซึ่งเป็นเหรัญญิกของคณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.) ที่มาเก๊า (Macao) เป็นผู้สร้าง
ตั้งแต่นั้นมาบ้านเณรก็อยู่ที่ปีนัง และอยู่ในความรับผิดชอบของคณะ M.E.P. (ในปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของสภาพระสังฆราชแล้ว)
-------------------------------------------------------
บ้านเณรเล็กของมิสซังสยาม
ในปี ค.ศ. 1786 พระสังฆราชการ์โนลต์ (Mgr. Garnault) ประจำอยู่ที่ปีนังซึ่งในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสยาม ท่านได้นำเด็กหลายคนมาอยู่รวมกันเพื่ออบรมให้เป็นพระสงฆ์
ปี ค.ศ. 1792 พระสังฆราชได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ และมีพระสงฆ์พื้นเมืององค์หนึ่งมาอยู่กับท่านที่กรุงเทพฯ ด้วย รวมทั้งเณรใหญ่ 2 คน และเณรเล็กอีกบางคน พระสังฆราชได้เปิดโรงเรียนสงฆ์ (บ้านเณรเล็ก) ขึ้นที่จันทบุรี โดยมีเณรของเวียดนามใต้ซึ่งลี้ภัยอยู่ที่นั่น แห่งที่สองที่ตะกั่วทุ่ง และแห่งที่สามที่กรุงเทพฯ โดยเริ่มทีละเล็กทีละน้อย ที่จันทบุรีมีเณร 6 คน ในปี ค.ศ. 1788 ที่ตะกั่วทุ่งมีเณร 9 คนในปี 1792 และที่กรุงเทพฯ มีเณร 11 คน ในปี ค.ศ. 1792 และผู้ที่สอนบรรดาเณรเหล่านั้นก็เป็นเณรรุ่นพี่ โดยมีพระสงฆ์มิชชันนารี (คุณพ่อเจ้าอาวาส) เป็นผู้ดูแล เมื่อบ้านเณรที่กรุงเทพฯ มีความมั่นคงแล้ว พระสังฆราชการ์โนลต์จึงย้ายเณรเล็กจากทั้งสามแห่งมาอยู่รวมกันที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 23 คน
ในสมัยพระสังฆราชฟลอรังส์ (Mgr. Florens) ปี ค.ศ. 1811-1834 และพระสังฆราชกูรเวอซี (Mgr. Courvesy) ในปี ค.ศ. 1834-1841 ได้เกิดการปฏิวัติขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส ทำให้ขาดแคลนบุคคลากรในเอเชีย เป็นต้นที่ประเทศสยาม หลังจากที่บรรดาสามเณรได้เรียนรู้นิดหน่อยเท่าที่ทำได้ในประเทศสยามแล้ว ก็ได้ไปศึกษาต่อที่ปีนัง แต่พระมหากษัตริย์ได้มีคำลั่งห้ามส่งนักศึกษาไปที่ปีนัง ดังนั้น พระสังฆราชปัลเลอกัว (Mgr. Pallegoix) ปี ค.ศ. 1841-1862 ซึ่งเป็นพระสังฆราชผู้ช่วยของพระสังฆราชกูรเวอซีจึงได้ตั้งบ้านเณรใหญ่ขึ้นที่กรุงเทพฯ
ในปีเดียวกันนี้เองได้มีการแบ่งเขตของมิสซังสยาม เป็นมิสซังสยามตะวันออก และมิสซังสยามตะวันตก มิสซังสยามตะวันออก ได้แก่ กรุงเทพฯ, ลาว, ราชบุรี มีพระสังฆราชปัลเลอกัว เป็นผู้ปกครอง ส่วนมิสซังสยามตะวันตก (ซึ่งในปี ค.ศ. 1888 คือ สังฆมณฑลมะละกา) มีพระสังฆราชกูรเวอซี เป็นผู้ปกครอง และเมื่อพระสังฆราชปัลเลอกัวถึงแก่มรณภาพในปี ค.ศ. 1862 พระสังฆราชดือปองด์ (Mgr. Dupond 1864-1872) ก็มารับตำแหน่งประมุขมิสซังในปี ค.ศ. 1864 และได้ขอให้ คุณพ่อหลุยส์ เวย์ (Louis Vey) เป็นผู้ดูแลบรรดาสามเณรซึ่งมีไม่กี่คน
เนื่องจากที่กรุงเทพฯ ไม่เหมาะสำหรับเป็นที่ตั้งของบ้านเณรด้วยเหตุผลหลายประการ ดังนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1872 จึงได้สร้างอาคารไม้ขึ้น เพื่อใช้สำหรับเป็นบ้านเณรที่บางนกแขวก บางช้าง) โดยมีคุณพ่อราบาร์แดล (M. Rabardelle) เป็นผู้ดูแล และผู้รับผิดชอบบ้านเณร ต่อมาพระสังฆราชหลุยส์ เวย์ (Mgr. Louis Vey) ในปี ค.ศ. 1872-1909 ได้สร้างบ้านเป็นอิฐ หลังคามุงกระเบื้อง แทนบ้านไม้หลังเก่าในปี ค.ศ. 1895-1903 ซึ่งใช้เวลาและเงินมากพอสมควร
ปี ค.ศ. 1927 พระสังฆราชแปร์รอส (Mgr. Perros 1909-1947) ได้ขอให้ทางกรุงโรมส่งคณะนักบวชซาเลเซียน (Salesiens de Don Bosco) จากเมืองตูริน (Turin) มาช่วยทำงานในเขตมิสซังที่ใหญ่มาก ในปี ค.ศ. 1930 มิสซังราชบุรีก็ได้แยกตัวออกจากมิสซังกรุงเทพฯ ดังนั้นบ้านเณรบางนกแขวก (บางช้าง) ซึ่งอยู่ในเขตของราชบุรีจึงเป็นของคณะซาเลเซียน ทางมิสซังกรุงเทพฯ จึงได้ไปสร้างบ้านเณรใหม่ขึ้นที่ศรีราชา เป็นบ้านไม้หลังหนึ่ง และในปี ค.ศ. 1935 ก็ได้สร้างอาคารหลังแรกของบ้านเณร ซึ่งก็คือบ้านเณรศรีราชาในปัจจุบัน.