บ้านเณรบางช้างหรือบ้านเณรบางนกแขวก

ในสมัยพระสังฆราชดือปองด์
พระสังฆราชปัลเลอกัวได้ถึงแก่มรณภาพ  เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.1862 อายุ 58 ปี อยู่ในตำแหน่งพระสังฆราช 24 ปี คุณพ่อดือปองด์ได้รับหน้าที่ดูแลมิสซังต่อมา จนกระทั่งได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราช เมื่อวันที่  9 กันยายน ค.ศ.1865 ท่านได้ขยายงานของมิสซังออกไปอย่างกว้างขวางมาก อาศัยพระสังฆราชปัลเลอกัวได้วางรากฐานไว้อย่างดีมาก ในทำนองเดียวกัน ท่านก็พยายามขยับขยายบ้านเณรด้วย แต่บริเวณของบ้านเณรนั้นคับแคบมาก ไม่สามารถขยายออกไปได้อีก เนื่องด้วยบ้านเณรนี้ตั้งขึ้นในสมัยพระสังฆราชการ์โนลต์ ปี ค.ศ.1802 และในปี ค.ศ.1820  พระสังฆราชฟลอรังส์ ได้สร้างวัดอัสสัมชัญขึ้นเป็นหลังแรก สำหรับสัตบุรุษชาวจีนที่ทำสวนอยู่ข้างๆ บ้านเณร มาในปี ค.ศ.1865  จำนวนสัตบุรุษเพิ่มขึ้นมากแล้ว พระสังฆราชดือปองด์ได้ตั้งคุณพ่อสมิธเป็นเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญเป็นองค์แรก 
 
แต่เดิมมาพระสงฆ์ที่ปกครองเณรและอุปสังฆราช  ช่วยดูแลสัตบุรุษด้วย เพราะมีคริสตังไม่กี่ครอบครัว แต่บัดนี้จำนวนคริสตังเพิ่มขึ้น จึงต้องขยับขยายบ้านเณรไปอยู่ที่อื่น
 
บรรดาพระสงฆ์จึงออกความคิดเห็น แนะนำให้ย้ายบ้านเณรไปอยู่ที่บางช้าง บางนกแขวก เพราะที่ดินกว้างขวาง เป็นที่สงบและอาหารข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ คุณพ่อราบาแดล เจ้าวัดบางนกแขวกได้รับธุระสถานที่ และช่วยจัดสร้างบ้านเณรให้ เมื่อปี ค.ศ.1871 และในปี ค.ศ.1872  ได้ย้ายเณรจากบ้านเณรอัสสัมชัญไปอยู่ที่บ้านเณรใหม่ ที่บางช้าง  โดยมีพิธีเสก "บ้านเณรพระหฤทัย"  ในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1872  ผู้ประกอบพิธีคือ พระสังฆราชดือปองด์ร่วมกับคุณพ่อมาร์แตง , ลาบาร์แดล, เวย์, แปร์โรซ์, ฟ็อก, ดอนต์, เชอวิลลาร์ด, โรมิเออ, แกงตริค, กลอมเบต์และโชเเมต์ 
 

บางช้างคือ ตำบลหนึ่งของอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำกลอง ปัจจุบันรู้จักกันในนามบางนกแขวกมากกว่า ตัวบ้านตั้งอยู่ตรงข้ามวัดคาทอลิกบางนกแขวก บนเนื้อที่สิบกว่าไร่ รายล้อมไปด้วยสวนมะพร้าวและผลไม้นานาชนิด ประกอบด้วยอาคารก่ออิฐ ถือปูนขนาดใหญ่สองหลัง ตรงกลางคืออาคารประธาน มีลักษณะเป็นรูปตัวที (T) เส้นนอน คือ ตัวบ้านเณร เป็นอาคารก่ออิฐปูนสองชั้น ทรงโรมัน ชั้นบนพื้นเป็นไม้สัก ชั้นล่างปูกระเบื้อง ชั้นบนใช้เป็นห้องนอน ชั้นล่างใช้เป็นห้องเรียน ตรงกลางหน้าเป็นหน้ามุขเชื่อมต่อกับเส้นตั้งคือส่วนอาคารใช้เป็นวัด พระแท่นบุด้วยหินอ่อน หน้าต่างเป็นกระจกสีงดงามมาก   
 
ภายในมีระเบียงกว้างเชื่อมห้องต่างๆ ทั้งสองชั้นอยู่สบาย และอากาศถ่ายเทสะดวก สถาปนิกที่ออกแบบ และวิศวกรที่คำนวณต้องเป็นคนเก่งมากทีเดียว
 
เมื่อหันหน้าลงแม่น้ำทางด้านขวามือ คือ อาคารหลังที่สอง  ชั้นบนคือที่พักพระสงฆ์  ชั้นล่างคือห้องรับประทานอาหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนเช่นเดียวกัน ส่วนทางด้านซ้ายมือคือ โรงพลศึกษา ตรงกลางคือสนามเอนกประสงค์ มีต้นจามจุรีขนาดใหญ่ปลูกเป็นแถวขึ้นครึ้ม ให้ความร่มรื่นทั่วไป ถัดไปตรงริมแม่น้ำ คือถ้ำแม่พระเมืองลูรด์จำลองสร้างด้วยหินก้อนใหญ่ๆ ด้านซ้ายของถ้ำเป็นที่ประดิษฐานของรูปแม่พระ ตรงกลางเป็นพระแท่น ใช้เป็นที่ตั้งศีลมหาสนิทในวันฉลองพระกายา สุดเขตตรงขวาสุดติดแม่น้ำคือ โรงครัวและที่อยู่ของภคินี พูดโดยสรุปแล้ว ทั้งสิ่งปลูกสร้างทั้งสิ่งแวดล้อมให้บรรยากาศของอาศรม หรือสำนักนักบวชอย่างแท้จริง สงบ และวิเวกวังเวง 
 
บ้นเณรพระหฤทัยแห่งพระเยซูเจ้า เริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1872 โดยมีคุณพ่อฟ็อกเป็นอธิการ มีคุณพ่อซาลาแดง กับคุณพ่อโกโลมเบต์  เป็นผู้ช่วย ใน ค.ศ.1874 วันที่ 6 มกราคม คุณพ่อปิแอร์ รุสโซ ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบ้านเณร มีเณรใหญ่ 7 คน เณรเล็ก 31 คน  และยังมีเณรใหญ่ที่ปีนังอีก 11 คน ในปี ค.ศ.1880 ได้มีการบวชพระสงฆ์เป็นองค์แรกที่บ้านเณรพระหฤทัยบางช้างคือ คุณพ่อยอแซฟ พริ้ง  หลานของสมภารปาน ผู้ก่อตั้งวัดพระหฤทัย วัดเพลง  พระสงฆ์องค์นี้ได้สมัครไปทำงานที่ภาคอีสาน  และถึงแก่กรรมที่นั่น  ในปี ค.ศ.1881 คุณพ่อโปรดิน และคุณพ่อยอแซฟ พริ้ง ได้สมัครไปทำงานในปีนี้ด้วย
 
ในปี ค.ศ.1883 คุณพ่อฟ็อก ซึ่งไปทำงานอยู่ในประเทศจีนชั่วคราว ได้กลับมาอยู่กับพวกเณรที่บางช้างอีก และได้อยู่ทำงานที่นี่ถึง 10 ปี ในปี ค.ศ.1886  มีการบวชพระสงฆ์ใหม่ที่บ้านเณร เป็นรุ่นที่ 2 อีก 4 องค์  เวลานั้นมีเณรทั้งหมดในบ้านเณร 42 คน และที่กำลังฝึกงานตามวัดอีก 15 คน
 
ในสมัยพระสังฆราชหลุยส์ เวย์
พระสังฆราชดือปองด์ได้ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ.1872  ตำแหน่งพระสังฆราชว่างอยู่เป็นเวลานาน  คุณพ่อหลุยส์ เวย์  ได้เป็นผู้ดูแลมิสซังตลอดมา  จนกระทั่งทางกรุงโรมได้แต่งตั้งคุณพ่อเวย์เป็นพระสังฆราช และมีพิธีอภิเษก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ.1875 พระสังฆราชเวย์ได้สนใจปรับปรุงบ้านเณรให้ดีขึ้น ทั้งในด้านจิตใจ การศึกษา  และสิ่งประกอบภายนอกด้วย
 
ในปีค.ศ.1893 พระสังฆราชเวย์ ได้จัดให้พระสงฆ์ช่วยทำงานในบ้านเณรมากขึ้น  เพี่อคุณภาพของเณรจะได้เหมาะสม ได้ตั้งคุณพ่อแบร์นารต์ เป็นอธิการ คุณพ่อกูอิกนาร์ด คุณพ่อบูล  คุณพ่อแปร์รอส คุณพ่อมาตรา  เป็นผู้ช่วยในการสอนและในการปกครองเณร  ในปีเดียวกันนี้เอง ทางภาคอีสานได้ตั้งบ้านเณรขึ้นที่หนองแสง เณรภาคอีสานจะไม่มาเรียนที่บ้านเณร บางนกแขวก และเณรที่เรียนในบ้านเณรนี้ได้พระสงฆ์องค์หนึ่ง คือ คุณพ่ออันตนหมุน ต่อมาไม่นานบ้านเณรนี้ก็ยุบไป เณรทางภาคอีสานก็กลับมาเรียนที่บ้านเณรบางนกแขวกอย่างเดิม 
 
ในปี ค.ศ.1899 กรุงโรมได้ประกาศแต่งตั้งมิสซังใหม่ เรียกว่า มิสซังลาว มีเนื้อที่ของประเทศไทย เขตภาคอีสานและประเทศลาวรวมกัน คุณพ่อกืออาส ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชปกครอง มิสซังลาว ภาคอีสานจึงแยกออกจากมิสซังไทยหรือกรุงเทพฯ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไป  แต่เณรของภาคอีสานยังไปร่วมเรียนที่บ้านเณรบางนกแขวกอยู่
 
พระสังฆราชเวย์  มีใจร้อนรนในการประกาศพระศาสนา และยังเป็นนักก่อสร้างด้วย ในสมัยของท่านได้สร้างวัดขึ้นมากมาย จำนวนคริสตังทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้คงเพราะอาศัยความลำบากของพระสังฆราชองค์ก่อนๆ ได้วางพื้นฐานไว้ดีด้วย และอาศัยความสามารถของพระสังฆราชเวย์ ร่วมกับพระหรรษทานของพระเจ้าช่วยด้วย ท่านได้จัดการสร้างบ้านเณร ที่บางนกแขวกเป็นตึกถาวร ซึ่งแต่ก่อนเป็นเรือนไม้ขนานกับลำน้ำแม่กลอง เป็นตึกสองชั้นยาวมาก ได้ทำการเสกเปิดอาคารหลังใหม่นี้ ในปี ค.ศ.1906 มีงานฉลองอย่างสง่ามโหฬาร และได้ใช้เป็นสถานศึกษาของเณรตลอดมาจนถึงสมัยที่มีการโยกย้ายไปอยู่ที่ตัวเมืองราชบุรี 
 
 
ในสมัยพระสังฆราชแปร์รอส
ในปี ค.ศ.1909  พระสังฆราชเวย์ถึงแก่กรรม คุณพ่อกอลัมเบต์ได้รับหน้าที่ดูแลมิสซัง ต่อมาได้ตั้งคุณพ่อแปร์รอสเป็นอธิการบ้านเณร คุณพ่อแปร์รอสเป็นอธิการได้เพียงปีเดียว  ท่านได้รับเลือกเป็นพระสังฆราชแทนพระสังฆราชเวย์ คุณพ่อแฟร์แล ได้รับหน้าที่เป็นอธิการบ้านเณรแทนคุณพ่อมาตราด ซึ่งได้รับหน้าที่เป็นอธิการแทนคุณพ่อแบร์นาร์ด เมื่อปี ค.ศ.1901 
 
พระสังฆราชแปร์รอสได้รับตำแหน่งประมุขมิสซังไทย ในปี ค.ศ.1901 ท่านได้มีความสนใจเรื่องบ้านเณรมาก ทุกปีเวลาสอบไล่ครั้งสุดท้ายของปี ท่านจะไปเป็นกรรมการสอบภาษาลาตินด้วยตัวท่านเองเป็นประจำ ไม่เคยขาดเลย วันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ.1910 พระสังฆราชแปร์รอส  ได้ประกอบพิธีบวชพระสงฆ์ใหม่ 9 องค์ ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านสมัยเป็นอาจารย์ และอธิการบ้านเณร ในจำนวนพระสงฆ์ 9 องค์นี้มีพระสงฆ์องค์หนึ่งชื่อคุณพ่อยาโกเบ แจง เกิดสว่าง ซึ่งต่อมาได้เป็นพระสังฆราช ประมุขมิสซังจันทบุรีองค์แรกและได้รับการอภิเษกจากพระสังฆราชแปร์รอส  เช่นกัน 
 
ปี  ค.ศ.1913  คุณพ่อเลตเชอร์  เอวเยน เป็นอธิการบ้านเณรแทนคุณพ่อแฟร์แล เริ่มรับเด็กเข้าบ้านเณรสองปีต่อครั้ง สงครามโลกครั้งที่หนึ่งระเบิดขึ้น พระสงฆ์ฝรั่งเศสโดนเรียนกลับไปเป็นทหารช่วยป้องกันประเทศจำนวนมาก กิจการทางบ้านเณรจึงซบเซาลงบ้าง เพราะขาดพระสงฆ์ช่วยสอน  และดูแลเณรดังแต่ก่อน  คุณพ่อยาโกเบ  คุณพ่อซีมอน เป็นผู้ช่วย 
 
ปี ค.ศ.1917 คุณพ่อการ์ตอง รับหน้าที่เป็นอธิการบ้านเณร  โดยมีคุณพ่อลูกา บาร์บีเออร์ คุณพ่อยาโกเบ เป็นผู้ช่วย ปี ค.ศ.1918 ทางบ้านเณรได้สร้างถ้ำแม่พระเมืองลูรด์ ที่หน้าบ้านเณร เพื่อช่วยให้เณรมีความรักต่อแม่พระ งานนี้สำเร็จได้ด้วยการวิ่งเต้นของคุณพ่อยาโกเบ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง  ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์จนพระทั่งทุกวันนี้  ปี ค.ศ.1919 คุณพ่อดาวิด มาช่วยที่บ้านเณรอีกองค์หนึ่ง ปี ค.ศ.1920 คุณพ่อลูกา บาร์บีเอออร์ ถึงแก่ความตาย ปี ค.ศ.1921 คุณพ่อฟีเกต์ มาช่วยบ้านเณรแทนคุณพ่อลูกา
 
ปี ค.ศ.1922  มีเหตุการณ์สำคัญอันควรจารึก ในประวัติศาสตร์ของบ้านเณรบางนกแขวก คือ  งานฉลอง 50 ปีกึ่งศตวรรษ ตั้งแต่ตั้งบ้านเณรที่บางนกแขวก มีงานฉลองใหญ่ ในวันที่ 23 มิถุนายน พระสังฆราชแปร์รอส  พร้อมกับพระสงฆ์ 30 องค์  จากทุกแห่งของประเทศไทย ยินดีสละเวลาไปร่วมงานฉลองอันยิ่งใหญ่ ระยะ 50 ปีนี้  บ้านเณรได้ผลิตพระสงฆ์ให้แก่มิสซังไทย 35 องค์  ในปีนี้มีเณร  6 คน ไปเรียนต่อที่วิทยาลัยกลาง มีเณรเล็กและเณรใหญ่  69 คน ในจำนวนนี้มีหลายคนเป็นเณรของมิสซัง  ที่มิสซังใหม่ของลาวได้มอบให้มิสซังแม่เป็นผู้อบรมพระสงฆ์รุ่นแรกๆ ของมิสซังลาว 
 
ปี ค.ศ.1923 พระอัครสังฆราชเลกรออารต์  สมณทูตของสมเด็จพระสันตะปาปาได้มาเยี่ยมบ้านเณรที่บางนกแขวก ได้ตรวจดูงานของบ้านเณร ได้สั่งให้มีการฝึกงานของเณร  ที่ไปอยู่ตามวัดต่างๆ เป็น 2 ปีแทน  4 ปี  ซึ่งเคยปฏิบัติกันมาเป็นเวลานานแล้ว
 
ปี ค.ศ.1927  สามเณราลัยเริ่มใช้หลักสูตรใหม่ ที่ได้รับการอนุมัติจากพระสมณทูต สำหรับสามเณราลัยเล็กทุกแห่งในอินโดจีน ชั่วโมงเรียนยาวขึ้น  และวิชาทั้งหลายที่จะต้องเรียนก็มีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย  ในระยะเดือนแรกๆ ที่ใช้หลักสูตรใหม่นั้น  เป็นที่น่าพอใจ  ปีนี้สามเณราลัยมีเรื่องน่าเศร้า  อันเนื่องมาจากการตายของนักเรียน 2  คน  และได้ส่งสามเณรของสยามคนแรกไปเรียนปรัชญาและเทวศาสตร์ต่อที่กรุงโรม 
 
ในปี ค.ศ.1927 นี้เอง  พระสังฆราชแปร์รอส ได้ติดต่อขอคณะซาเลเซียนมาช่วยประกาศศาสนาในประเทศไทย โดยผ่านทางกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ เพื่อมอบเขตราชบุรีลงไปสุดแดนประเทศไทยทางใต้ แก่คณะซาเลเซียน สมาชิกคณะซาเลเซียนได้เดินทางมาถึงบางนกแขวก ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางของมิสซังราชบุรี  เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ.1927  สมาชิกส่วนใหญ่เป็นเณร มีพระสงฆ์ไม่กี่องค์  ฉะนั้น  การตั้งบ้านเณรซาเลเซียนที่บางนกแขวกจึงมีขึ้นโดยปริยาย  ใช้ตึกซึ่งคุณพ่อเปาโล ซัลมอน   ได้สร้างเป็นที่รักษาคนไข้ และที่พักคนชรา เป็นบ้านเณร 
 
ปี  ค.ศ.1929  พระสงฆ์ของมิสซังกรุงเทพฯ  ได้มอบกิจการงานของวัดต่างๆ  ในมิสซังใหม่ให้แก่คณะซาเลเซียน แล้วกลับไปทำงานในมิสซังกรุงเทพฯ คณะซาเลเซียนซึ่งมีคุณพ่อกายาตาโน  ปาซอตตี  เป็นหัวหน้าคณะ  และหัวหน้ามิสซังด้วย  เป็นผู้ดำเนินงานปกครองต่อไป
 
ปี ค.ศ.1930  คุณพ่อปาซอตตี ซึ่งมีสายตายาวเห็นการณ์ไกล ได้ตั้งบ้านเณรพื้นเมืองประจำมิสซังราชบุรีนั้น  แม้ท่านจะยังเป็นนักบวช  และเป็นหัวหน้าคณะนักบวชซาเลเซียนอยู่  ก็ยังได้คิดตั้งบ้านเณรพื้นเมืองขึ้น เพื่ออนาคตของมิสซังได้เริ่มด้วยมีเณร 2 คน เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ครั้นต่อมา ในวันที่  20 มีนาคม  ได้มีเด็กมาสมัครอีก 6  คน  ปีแรกจึงมีเณรทั้งหมด  8 คน  ใช้บ้านซึ่งทางวัดได้ซื้อจากสัตบุรุษ  อยู่ริมแม่น้ำกลองหน้าวัดบางนกแขวกนั่นเอง เป็นที่พักอาศัย กินอยู่หลับนอน ส่วนการเรียนวิชาต่างๆ ไปเรียนรวมกับนักเรียน  ในโรงเรียนของวัดบางนกแขวก โดยมีคุณพ่อยวง กาแซตตา  ซึ่งเป็นเจ้าวัดบางนกแขวก  เป็นอธิการของบ้านเณรด้วย 
 
ปี  ค.ศ.1931 จำนวนเณรได้ทวีขึ้นเป็น 12  คน  และในปี ค.ศ.1932  มีเณร 25  คน  ปี ค.ศ.1933 มีเณร  36  คน  
 
ปี ค.ศ.1931 คุณพ่อการ์ต็อง อธิการสามเณราลัยบางช้างขอบคุณพระเป็นเจ้า  ที่เหตุการณ์ปีนี้ผ่านพ้นไปอย่างสงบเรียบร้อย หลักสูตรการเรียนที่พระคุณเจ้าได้อนุมัติเห็นชอบ เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.1928 นั้น  เหมาะสมกับกำลังและสติปัญญาของเณรเรา ปีนี้ได้ส่งเณรไทยคนที่ 4 ไปเรียนที่กรุงโรม และมีเณร 11  คน  เรียนอยู่ที่ปีนัง
 
ปี  ค.ศ.1934  วันที่ 1 เมษายน พระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ได้ประกาศแต่งตั้งบุญราศี ยวง  บอสโก เป็นนักบุญ วันที่ 24 พฤษภาคม พระสันตะปาปาปีโอที่ 11  ได้ประกาศแต่งตั้งคุณพ่อกาเยตาโน  ปาซอตตี เป็นพระสังฆรักษ์ ปกครองมิสซังราชบุรีโดยเต็มอำนาจ วันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1934   ได้มีงานฉลองมโหฬาร  ฉลองนักบุญยวง บอสโก  พระสังฆรักษ์  ปาซอตตี เข้ารับตำแหน่ง ด้วยการถวายบูชามิสซาอย่างสง่า และมีพิธีสวมเสื้อหล่อให้แก่เณร  8 รูป ซึ่งมาจากบ้านเณรประจำมิสซังราชบุรี ที่ได้ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1930 เณรทั้งหมดนี้ได้เข้าอยู่ในคณะซาเลเซียน  และได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ 2 องค์ คือ คุณพ่อสนิท ลุลิตานนท์ และคุณพ่อสนม วีระกานนท์
 
วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.1934   ทางบ้านเณรบางนกแขวก ได้จัดให้มีการฉลองแม่พระนิรมลอย่างสง่ามโหฬาร และได้เชิญเณรซึ่งอยู่ที่บ้านเณรบางช้าง ซึ่งเป็นเณรของมิสซังกรุงเทพฯ มาร่วมฉลองด้วยและเป็นการอำลาจากมิสซังราชบุรี ไปตั้งบ้านเณรใหม่ที่ศรีราชา 
 
วันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1934  อันตรงกับวันคริสตมาส  คือ วันดีเดย์ เวลาประมาณ 07.00 น. เรือ คิว, เค 18 ถอนสมอ เรือแม็กคิงตอชลากจูง ระฆังวัดคาทอลิกบางนกแขวกเริ่มส่งเสียงกังวาน วงดุริยางค์ของโรงเรียนดรุณานุเคราะห์ บรรเลงเพลงไพเราะ พระสงฆ์และสัตบุรุษเป็นจำนวนมากออกมายืนที่ท่าน้ำ โบกมืออำลาพวกเราซึ่งประกอบด้วย คุณพ่อมอริส การ์ตอง อธิการ คุณพ่อโรเชอโร อาจารย์  ครู เณร 2 คน  คือ คุณครูเศียร โชติพงศ์ กับคุณครูกิมฮั้ง แซ่เล้า  ภคินี 3 คน คือ ฟีโลแมน  โรซารี  และกอแลตตา กับแม่ครัวอีกคนหนึ่ง   เณรใหญ่เล็ก 82 รวม 90  ชีวิต ไม่นับกัปตันและลูกเรือโบกมือตอบด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดี คุณพ่ออธิการและอีกหลายๆ คน  น้ำตาคลอเพราะสถาบันที่มีอายุถึง 62 ปี กำลังถูกปล่อยให้เป็นอดีต พูดอีกนัยก็คือ กำลังจะทิ้งประวัติอันยาวนานไว้ข้างหลัง เรากำลังฝากอนาคตไว้กับเรือสองลำ ที่จะผ่านคลื่นลม นำเราไปสู่จุดหมายปลายทางใหม่  คณะของเราเดินทางจากทิศตะวันตกผ่านอ่าวไทยไปอำเภอศรีราชา  ทางทิศตะวันออก เราถึงอำเภอศรีราชาพลบค่ำพอดี 
 
คุณพ่อลออ สังขรัตน์  ได้กล่าวถึงชีวิตในบ้านเณรบางช้างว่า เป็นชีวิตที่สงบเรียบง่าย  ท่ามกลางสิ่งแวดล้อม เอื้ออำนวยต่อการอบรมเณรพระสงฆ์ในอนาคตเป็นอย่างดี  หน้าตึกเณรมีแม่น้ำแม่กลอง ทุกเย็นเณรอาบน้ำ ซักเสื้อผ้า แหวกว่ายในสายน้ำใสสะอาดอย่างสนุกสนาน ด้านหลังเป็นสวนมะพร้าว เจ้าของสวนเป็นคาทอลิกบางคนใจดี ให้เณรเก็บมะพร้าวมาให้โรงครัวของบ้านเณรทำอาหาร ซิสเตอร์คณะพระหฤทัยคลองเตยมีหน้าที่ทำอาหารเลี้ยงเณร การศึกษาของเณรสมัยนั้นเน้นหนักเรื่องภาษาลาตินและฝรั่งเศส ภาษาลาตินจำเป็นเพราะที่บ้านเณรใหญ่ปีนัง ใช้ภาษาลาตินเป็นภาษากลาง   เนื่องจากมีเณรหลายชาติ  อาจารย์สอนใช้ภาษาลาติน  ภาษาฝรั่งเศส  มีประโยชน์เพราะหนังสือบำรุงความศรัทธา  คู่มีการเทศน์เป็นภาษาฝรั่งเศสทั้งหมด 
 
วันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ.1935 บรรดาเณรซาเลเซียน  ซึ่งเคยตั้งสำนักที่อยู่ที่บางนกแขวก ได้อพยพข้ามลำน้ำแม่กลองมาอยู่บ้านเณรเก่าของมิสซังกรุงเทพฯ  เรียกว่า  บ้านเณรบางนกแขวก  ไม่เรียกว่า บ้านเณรบางช้างแล้ว 
 
ในปี  ค.ศ.1936 คุณพ่อยวง กาแซตตา ซึ่งเป็นพ่อเจ้าวัดบางนกแขวก  และเป็นอธิการบ้านเณรพื้นเมืองมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1930 ได้ออกจากหน้าที่อธิการบ้านเณร มอบให้คุณพ่อบาร์เบโร เป็นอธิการบ้านเณรแทนต่อไป เณรพื้นเมืองได้เข้าไปอยู่ในบ้าน ซึ่งเณรซาเลเซียนเคยอยู่ก่อน  คือ อาคารที่คุณพ่อเปาโลซัลมอน ได้สร้างเป็นที่รักษาคนไข้ และเป็นบ้านพักคนชราในสมัยโน้น   จำนวนเณรได้ทวีขึ้นทุกปี จนถึง  60 คนในบางปี 
 
ปี ค.ศ.1941  มรสุมแห่งความยุ่งยากได้เกิดทั่วประเทศไทย เนื่องจากเรื่องกรณีพิพาทอินโดจีน เกี่ยวพันไปถึงเรื่องศาสนาด้วย มีการกีดกันการปฏิบัติศาสนาคาทอลิก วัดหลายแห่งโดนปิด  บ้านเณรที่ศรีราชาและที่ภาคอีสานโดนกลั่นแกล้งจนเณรอยู่ไม่ได้ ต้องปิดแบบอัตโนมัติ สงฆ์ฝรั่งเศสโดนกักกัน ออกทำงานไม่ได้สังฆรักษ์ปาซอตตี ได้รับการอภิเษกเป็นสังฆราชที่อารามคาร์แมล กรุงเทพฯ อย่างเงียบๆ และเป็นผู้ดูแลศาสนาทั่วประเทศไทย ในฐานะที่ท่านเป็นชาวอิตาเลียน  มิใช่ฝรั่งเศส ท่านได้รวบรวมเณรที่พอจะพบได้จากบ้านเณรกรุงเทพฯ และภาคอีสาน  ไปรวมกันที่บ้านเณรบางนกแขวก 
 
เนื่องจากมรสุม  ข้อพิพาทอินโดจีน  เณรต่างด้าวต้องอพยพไปเรียนกันที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน พระสังฆราชปาซอตตีได้บูรณะบ้านเณร  ที่เณรซาเลเซียนเคยอยู่ให้ดีขึ้นด้วยการปรับปรุงพื้นให้สูงขึ้น ทำประตู  หน้าต่างใหม่  ซ่อมกำแพง อาคาร ทาสีใหม่ให้น่าอยู่ เณรพื้นเมืองของมิสซังราชบุรี เณรของมิสซังกรุงเทพฯ และภาคอีสานไปเรียนกันที่บ้านเณรนี้  มีการสอนเทวศาสตร์ ปรัชญาศาสตร์ และเณรเล็กที่เรียนมัธยมด้วย  อยู่รวมกันหมด เพราะไม่สามารถออกไปเรียนต่างประเทศได้  คุณพ่อยอบ การ์นีนี เป็นอธิการบ้านเณร 
 
ปี  ค.ศ.1942  สถานการณ์ยุ่งยากมากขึ้น เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง กันดาร ข้าวปลาอาหารเสื้อผ้า เครื่องใช้ไม้สอยแพง ราคาสูงลิบ พวกเณรต้องประหยัดกันจนตัวลีบ ในด้านอาหารการกินและของใช้  แต่เณรทุกคนก็ยินดีอดทนอยู่กันด้วยความสุข  การเล่าเรียนดำเนินไปอย่างราบรื่น  แม้ต้องอดอยากบ้าง และเณรสมัยนั้นได้เป็นพระสงฆ์จำนวนมากด้วย คงเป็นพระพรของพระ ความลำบากก่อให้เกิดผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยจริงๆ 
 
ปี  ค.ศ.1944 ภัยแห่งสงครามยิ่งรุนแรงใหญ่  พวกเณรคิดว่าหนีมาอยู่ในชนบทบางนกแขวก ดงมะพร้าวคงปลอดภัย พวกเณรหลายครั้งต้องหนี หลบลูกระเบิด ซึ่งตกในเมืองราชบุรี ทำลายทางรถไฟ ทำลายสะพานข้ามแม่น้ำ เณรต้องหนี กลัวลูกหลง เป็นต้น เวลากลางคืน  และสุดท้ายก็เจอลูกระเบิดเข้าจนได้  ทหารอเมริกันทิ้งลูกระเบิดที่ประตูน้ำบางนกแขวก พวกเณรต้องวิ่งหนีกันหัวซุกหัวซุน แต่ทุกคนก็ปลอดภัย 
 
ในปี ค.ศ.1944 นี่เอง  พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 ได้แต่งตั้งพระสังฆราชไทยองค์แรก  คือพระสังฆราชยาโกเบ แจง เกิดสว่าง เป็นประมุขมิสซังจันทบุรี   เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองไม่อำนวย พระสังฆราช พระสงฆ์ต่างด้าวอาจจะทำงานไม่สะดวกในอนาคต วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1945   เป็นวันประกาศสงบศึกทุกคนต่างยินดี ที่โลกกลับมีสันติสุขอีกครั้งหนึ่ง  หลังจากได้รับความระทมทุกข์มาเป็นเวลา  3 ปีกว่า   แต่ผลของสงครามก็ยืดเยื้อไปอีกนานปี นั่นคือ ความยากจนอดอยาก กันดารอาหาร ขัดสนเครื่องใช้ ของจำเป็นแก่ชีวิตทุกอย่างโดนภัยสงครามทำลายแทบทั้งสิ้น 
 
ปี  ค.ศ.1946  เณรของมิสซังกรุงเทพฯ  เดินทางกลับไปเรียนที่บ้านเณรของตนเอง ทางมิสซัง กรุงเทพฯ เริ่มเปิดบ้านเณรของตนใหม่ โดยเอาเณรที่อยู่บางนกแขวกกลับไป และหากระแสเรียกเพิ่มเติม ส่วนเณรของภาคอีสานยังคงเรียนต่อที่บางนกแขวก คุณพ่อซิลวีโอ โปรเวรา  รับหน้าที่อธิการบ้านเณร แทนคุณพ่อยอบ  การ์นีนี
 
ปี  ค.ศ.1947  เป็นปีแห่งความยินดี อันควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของบ้านเณรบางนกแขวก คือ  หลังจากได้ก่อตั้งบ้านเณรประจำสังฆมณฑลราชบุรีมา 17 ปี  ก็ได้เก็บผล  คือ ได้พระสงฆ์รุ่นแรก  ซึ่งเข้ามาเรียนในบ้านเณรนี้ วันที่ 16 มีนาคม พระสังฆราชกาเยตาโน ปาซอตตี  ได้ทำพิธีบวชพระสงฆ์แรกของมิสซังราชบุรี 2 องค์ คือ คุณพ่อสมกิจ  นันทวิสุทธิ์  และคุณพ่อซุนเอ็ง  ก๊กเครือ พระสังฆราชกายเยตาโน  ปาซอตตี   คงเป็นผู้มีความชื่นชมยินดีมากกว่าใครหมด เพราะได้เชยชมผลงานที่ท่านได้ลงแรงทำมาตั้งแต่เริ่มงานของมิสซังราชบุรี และผลงานของท่านก็ทยอยกันมาเรื่อยๆ  กล่าวคือ  วันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1948   ท่านได้ประกอบพิธีบวชพระสงฆ์ของท่านเป็นรุ่นที่ 2 อีกสามองค์ คือ คุณพ่อสุเมธ วัชรศักดิ์ไพศาล  คุณพ่อวิศิษฐ์ สินสมรส  คุณพ่อบุญนาค  ทองอำไพ วันที่ 31  มกราคม  ค.ศ.1949 พระสังฆราชปาซอตตีได้ประกอบพิธีบวชพระสงฆ์ของท่านเป็นรุ่นที่ 3 คือ คุณพ่อรัตน์  บำรุงตระกูล ซึ่งพระญาณสอดส่องก็ได้จัดการไว้ล่วงหน้าแล้วพระสงฆ์องค์นี้  ต่อมาได้รับเลือกเป็นพระสังฆราชไทยองค์แรก ประมุขของมิสซังราชบุรีด้วย 
 
วันที่ 3 กันยายน  ค.ศ.1950  เป็นวันแห่งเศร้าโศกสุดซึ้ง สำหรับมิสซังราชบุรีและคริสตทั่วประเทศไทย พระเจ้าได้เรียกพระสังฆราชกาเยตาโน ปาซอตตี ออกจากโลกนี้ไปหาพระองค์ อายุ 60  ปี ได้ทำงานในประเทศจีน 9  ปี  คุณพ่อเปโตร คาเร็ตโต เจ้าคณะซาเลเซียน ได้รับเลือกเป็นพระสังฆราชสืบแทนต่อมา ได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราช  เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.1951 หลังจากได้รับการอภิเษกแล้ว  วันรุ่งขึ้น คือวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ.1951 พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต  ได้ประกอบพิธีบวชพระสงฆ์ใหม่ คือ คุณพ่อไกรศรี  ทัพศาสตร์ และคุณพ่อชวลิต วินิตกุล เป็นพระสงฆ์รุ่นที่ 4 ของมิสซังราชบุรี  ในประเทศไทย 23 ปี  รับอภิเษกเป็นพระสังฆราชเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1941  อยู่ในตำแหน่งพระสังฆราช 9  ปี 
 
ในปี ค.ศ. 1951 คุณพ่อบุญเลื่อน  หมั้นทรัพย์ ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม และต่อมาได้รับแต่งตั้งและอภิเษกเป็นพระสังฆราชสังฆมณฑลอุบลฯ  เมื่อวันที่ 12  สิงหาคม และต่อมาในปี ค.ศ.1956 คุณพ่อสมบูรณ์  แสงประสิทธิ์  และคุณพ่อวิโรจน์ ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 
 
ในสมัยของพระสังฆราช เปโตร  คาเร็ตโต โดยคุณพ่อซิลวิโอ โปรเวรา เป็นอธิการบ้านเณรได้ยกระดับบ้านเณรให้เจริญขึ้นในด้านการอบรมจิตใจ  การศึกษา  พลานามัยของบ้านเณรเป็นอย่างดียิ่ง จัดพิมพ์ตำราเรียนภาษาลาติน ภาษาอังกฤษ ดนตรี การขับร้อง พิมพ์หนังสือภาวนาประจำบ้านเณร  พิธีกรรม ฯลฯ  คุณภาพของเณรสมัยนั้นเป็นที่เชื่อถือและเป็นนิยมมากในทุกด้าน 
 
วันที่  4 พฤษภาคม ค.ศ.1957  พระสังฆราชเปโตรคาเร็ตโต ได้ประกอบพิธีบวชพระสงฆ์ใหม่คือ คุณพ่อประเสริฐ นพคุณ ที่วัดพระหฤทัย วัดเพลง  โอกาสฉลองวัดนับเป็นพระสงฆ์รุ่นที่ 5 ของมิสซัง
 
ปี ค.ศ.1959 คณะเณรแห่งมิสซังราชบุรี  ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านเณรราชบุรี  ซึ่งพระสังฆราช เปโตร คาเร็ตโต ได้วิ่งเต้นหาทุนก่อสร้างบ้านเณรใหม่ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1956  มาแล้ว  การก่อสร้างได้ดำเนินไปตลอดหนึ่งปีจึงแล้วเสร็จ ต้นปีการศึกษา ค.ศ.1959 พวกเณรได้อพยพ ขนข้าวของทุกอย่างจากบ้านเณรบางนกแขวก ไปอยู่ที่บ้านเณรราชบุรี  โดยการนำของคุณพ่ออธิการซิลวีโอ  โปรเวรา และในปี ค.ศ.1969 นี้เอง คุณพ่อเอ็บ ทับปิง ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เอก ทับปิง  ได้รับศีลบวชเป็นพระสังฆราช  โดยพระคาร์ดินัล อากายาเนียน  ที่กรุงโรม  เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ต่อมา คุณพ่อได้รับการแต่งตั้งและอภิเษกเป็นพระสังฆราช และได้ทำพิธีรับตำแหน่งที่อาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก 
 
ในปี ค.ศ.1961  คุณพ่อมนัส  จวบสมัย ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ที่วัดบ้านเณรราชบุรี  เมื่อวันที่ 10  พฤษภาคม และต่อมาได้รับการแต่งตั้งและอภิเษกเป็นพระสังฆราชที่มหาวิหารนักบุญเปโตร  ที่กรุงโรม  โดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น  ปอลที่  2 เมื่อวันที่  6 มกราคม  ค.ศ. 1985 
 
ในปี  ค.ศ.1965  คุณพ่อชัยศักดิ์ ศรีทิพยอาสน์ ได้สำเร็จการศึกษาบ้านเณรปูนามัลลี  อินเดีย และกลับมารับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ ที่วัดบ้านโป่ง  เมื่อวันที่ 25  เมษายน  และในปีต่อมา  คุณพ่อวงศ์สวัสดิ์ แก้วเสนีย์ ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากบ้านเณรปูนามัลลี  อินเดีย ก็เดินทางกลับมารับศีลบวชที่วัดบางนกแขวก เมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ.1966 และในปลายปีนี้เองคุณพ่อสุรินทร์  ชุนฟุ้ง ก็ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ที่บ้านเณรปูนามัลลี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 
 
ในปี ค.ศ.1968 คุณพ่อดำรง บุญรติวงศ์ และคุณพ่อดำรัส ลิมาลัย  ก็สำเร็จการศึกษาจากบ้านเณรปูนนามัลลี  อินเดีย และได้เดินทางกลับมารับศีลบวชที่ราชบุรี  เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม  และในปลายปี คุณพ่อสุชิน  คันฉ่อง ก็สำเร็จการศึกษาจากบ้านเณรใหญ่ปีนัง และเดินทางกลับมารับศีลบวช  เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม  ในโอกาสฉลองบ้านเณรราชบุรี 
 
ในปี ค.ศ.1969 คุณพ่อวิจิตร สัตย์สมบูรณ์   ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ที่กรุงโรม   เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม และในปี ค.ศ.1973 คุณพ่อประดิษฐ์ ว่องวารี ซึ่งเป็นเณรคนสุดท้ายที่ก้าวเข้าบ้านเณรบางนกแขวก ก็ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์  จากสมเด็จพระสันตะปาปา ปอลที่ 6  ที่มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม  เมื่อวันที่ 6  มกราคม  และในปลายปีคุณพ่อวิชัย  แสนสุดสวาท  ก็สำเร็จการศึกษาจากบ้านเณรใหญ่ ปีนัง  และรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์   เมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่บ้านเณรราชบุรี เณรบ้านเณรบางนกแขวกคนสุดท้ายที่ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ก็คือ คุณพ่อเสรี สินสมรส  ซึ่งได้รับศีลบวช  เมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ.1974  ที่อาสนวิหารแม่พระบังเกิด บางนกแขวก 
 
สรุปแล้ว  จากประวัติของบ้านเณรแห่งประเทศไทยมาเป็นบ้านเณรประจำสังฆมณฑลราชบุรีนั้น  แบ่งได้ดังนี้    
 
ยุคแรก  ที่บ้านเณรที่กรุงศรีอยุธยา 115 ปี 
 
ยุคที่ 2  บ้านเณรที่กรุงเทพฯ 86 ปี    
 
ยุคที่ 3  บ้านเณรบางช้าง หรือบางนกแขวก  85  ปี  และบ้านเณรที่บางช้าง  หรือบางนกแขวกนี้  เป็นบ้านเณรของมิสซังกรุงเทพฯ เณรซาเลเซียน และเณรของมิสซังราชบุรี เณรสามกลุ่มอยู่ต่อกันสามสมัยในระยะ 85 ปี และเห็นบ้านเณรที่มีความสำคัญยิ่งยวด ได้ผลิตพระสงฆ์ให้แก่ประเทศไทยเป็นจำนวนร้อยๆ เช่น พวกคุณพ่อนิโกลาส บุญเกิด  กฤษบำรุง รวมทั้งบุญราศี ฟิลิป สีฟอง มรณะสักขีแห่งสองคอน ก็เคยผ่านการอบรมจากบ้านเณรบางช้างแห่งนี้ด้วย ตลอดเวลาช้านาน และพระสังฆราชแห่งประเทศไทยก็เคยเข้าเรียน  รับการอบรมจากบ้านเณรนี้ก็คือ 
 
1. พระสังฆราชยาโกเบ   แจง   เกิดสว่าง 
2. พระสังฆราชเปโตร  คาเร็ตโต 
3. พระสังฆราชมงคล   ประคองจิตร์ 
4. พระสังฆราชสงวน   สุวรรณศรี 
5. พระสังฆราชยวง  นิตโย 
6. พระสังฆราชเกี้ยน   เสมอพิทัก 
7. พระสังฆราชรัตน์  บำรุงตระกูล 
8. พระคาร์ดินัลมีชัย  กิจบุญชู 
9. พระสังฆราชบุญเลื้อน  หมั้นทรัพย์ 
10. พระสังฆราชเอก  ทับปิง 
11. พระอัครสังฆราชคายน์  แสนพลอ่อน 
12. พระสังฆราชประพนธ์  ชัยเจริญ 
13. พระสังฆราชมนัส   จวบสมัย 
 
นับว่าบ้านเณรแห่งนี้ได้ให้ประโยชน์แก่พระศาสนจักรในประเทศไทยมากมาย ควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์พระศาสนจักรประเทศไทย อย่างไม่ลบเลือน แม้ว่าตัวอาคารบ้านเณรนั้น จะพังทลายไปแล้ว  เพราะเก่าแก่ชำรุดทรุดโทรมก็ตาม