-
Category: มิสซังสยามในอดีต อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน
-
Published on Friday, 16 October 2015 07:03
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2873
จากการสังคายนาเตรนโต ค.ศ. 1545-1563 มีการปฏิรูปในพระศาสนาจักรมากมาย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในพระศาสนจักรคาทอลิก ทั้งด้านความเชื่อและด้านการปกครองของพระศาสนจักร เกิดมีแนวความคิดที่แตกต่างกัน ศาสนาคริสต์จึงเกิดการแยกตัวเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อกัน เช่น แองกลิกัน ลูเธอราน คาลวิน ซวิงลี พระศาสนจักรคาทอลิกเองจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปในด้านต่างๆ เหมือนกัน เพื่อความอยู่รอดของพระศาสนาจักร ดังนั้นการสังคายนาที่เมืองเตรนโต จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในการปฏิรูปด้านต่างๆ ของพระศาสนจักรทั้งด้านข้อคำสอน เทวศาสตร์ ระเบียบวินัย และการอภิบาลแพร่ธรรม การสังคายนาที่เมืองเตรนโตดำเนินการในพระศาสนจักรยาวนาน ด้วยเหตุนี้บรรดามิชชันนารีที่จะออกไปแพร่ธรรมตามที่ต่างๆ ทั่วโลกจึงได้รับการสั่งสอน เรียนรู้ ด้วยข้อคำสอนของสังคายนาที่เมืองเตรนโตจุดประสงค์สำคัญของการการสังคายนาก็คือ การลงโทษพวกพวกเฮเรติ๊ก ปฏิรูปพระศาสนจักร และเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรในการต่อต้านพวกเติร์ก
จากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับการเผยแผ่ศาสนาของพระศาสนจักรคาทอลิก และความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากระบบปาโดรอาโด การสังคายนาเตรนโตนี้ พระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 15 จึงได้ก่อตั้งสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ(Propaganda Fide) นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์พระศาสนจักรอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในประวัติศาสตร์ของการแพร่ธรรม แม้ว่าระบบปาโดรอาโดนี้ ด้านหนึ่งก็เป็นการช่วยพระศาสนจักรในการแพร่ธรรมก็จริง แต่อีกด้านหนึ่งการแพร่ธรรมได้รับผลกระทบกระเทือน และเกิดปัญหาความขัดแย้งในหมู่บรรดามิชชันนารมากมาย สำหรับการก่อตั้งสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ มีจุดประสงค์คือ ต้องการเอาอำนาจในการแพร่ธรรมกลับคืนมาในมือของพระศาสนจักร การจัดการกับสิทธิพิเศษต่างๆ ที่โปรตุเกสและสเปนได้รับจากสิทธิของปาโดรอาโด ประกอบกับเวลานั้นประเทศโปรตุเกสเองก็กำลังเสื่อมอำนาจลง รวมทั้งโปรตุเกสเองก็ยังไม่สามารถบริหารงานแพร่ธรรมในดินแดนต่างๆ ที่ตนยึดครองได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย แต่สมณกระทรวงก็ได้พยายามกระทำอย่างไม่ล่วงล้ำสิทธิพิเศษของโปรตุเกส สมณกระทรวงจึงมีการจัดส่ง Apostolic Vicar ผู้แทนพระสันตะปาปา ไปตามที่ต่างๆ ของโลก เพื่อการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในนามของพระสันตะปาปา แต่อย่างไรก็ตามสมณกระทรวงก็ยังคงยอมรับสิทธิพิเศษปาโดรอาโด แต่ในเวลาเดียวกันก็ได้มีเงื่อนไขในบางพื้นที่ คือ ในดินแดนที่ยังไม่เคยถูกโปรตุเกสครอบครองมาก่อน ดินแดนซึ่งเคยถูกโปรตุเกสครอบครอง แต่ได้รับเสรีภาพแล้วและมีผู้ปกครองของตนเอง และดินแดนที่ถูกยึดครองโดยชาวฮอลแลนด์ และชาวอังกฤษ โดยดินแดนเหล่านี้ ธรรมทูตหรือผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปาของสมณกระทรวงมีสิทธิและสามารถที่จะไปเผยแผ่ศาสนาได้อย่างอิสระ สมณกระทรวงเห็นว่าสิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือ การแสวงหาความคิดทั่วๆ ไปเกี่ยวกับงานแพร่ธรรมของพระ ศาสนจักร ซึ่งเป็นงานที่สมเด็จพรสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 15 ได้มอบหมาย จึงได้ขอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปยังบรรดาสมณทูต พระสังฆราช มหาอธิการของคณะนักบวชต่าง ๆ และคำแนะนำจากผู้มีความรู้ในเรื่องนี้ พระคาร์ดินัลที่เป็นเลขาธิการของสมณกระทรวงในเวลานั้น ได้รวบรวมความคิดเห็นต่างๆ และได้แต่งเป็นบันทึกความทรงจำขึ้นมา 3 เล่ม บรรยายเกี่ยวกับความยากลำบากต่างๆ ที่บรรดามิชชันนารีประสบในตะวันออกไกล และอินเดียตะวันตก พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นและแนวทางแก้ไขต่างๆ เอาไว้ โดยท่านเองก็มีความคิดด้านการแพร่ธรรมอันยิ่งใหญ่ขึ้นมาด้วย นั่นคือ อบรมและเตรียมคณะสงฆ์พื้นเมือง และจัดตั้งฐานันดรของพระศาสนจักรท้องถิ่นด้วยแผนงานต่างๆ ของสมณกระทรวงตามที่มีอยู่ในกฤษฎีกาและข้อคำสั่งสอนต่างๆ ที่จัดทำขึ้นในปีแรกๆ ของการก่อตั้งรวมทั้งงานเขียนต่างๆ ของพระคาร์ดินัลอินโกลี ค่อยๆ ถูกจัดทำขึ้นมาโดยวางพื้นฐานอยู่บนแนวทางที่สมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 15 มอบไว้ รวมทั้งบทประสบการณ์และบทสะท้อนของพระคาร์ดินัลอินโกลี เอกสารรูปแบบของเรื่องนี้ได้แก่ ข้อคำสอนที่มีชื่อเสียงมากซึ่งเราเรียกกันว่า "ข้อคำสั่งสอน ปี ค.ศ. 1659" มอบให้แก่บรรดาผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปา เอกสารมีอยู่ 3 ตอนคร่าว ๆ ดังนี้
ก่อนออกเดินทาง
คุณสมบัติของผู้ที่จะร่วมงานเป็นผู้มีความร้อนรนในทางศาสนา และความเลื่อมใสศรัทธาเป็นผู้ที่มีอายุ และสุขภาพที่เหมาะสมกับงานที่ต้องพบกับความยากลำบากต่างๆ ได้เมื่อเลือกแล้วต้องส่งรายชื่อผู้มีคุณสมบัติที่ถูกเลือกเหล่านั้นให้แก่สมณทูตแห่งปารีสเพื่อให้สมณทูตลงชื่อบุคคลเหล่านั้นในจดหมายที่จะอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่คณะผู้แทนพระสันตะปาปาได้ สำหรับการติดต่อสื่อสารกันระหว่างผู้แทนพระสันตะปาปานั้น สมณกระทรวงและสมณทูต ต่างต้องกระทำด้วยความแน่นอนและปลอดภัย ทั้งวิธีการที่ใช้ รวมทั้งใช้คน
การเดินทาง
เพื่อหลีกเลี่ยงแคว้นและสถานที่ต่างๆ ภายใต้การยึดครองของโปรตุเกส ใช้เส้นทางผ่านซีเรียและเมโสโปเตเมีย ไม่ใช่เส้นทางที่ผ่านมหาสมุทรแอตแลนติก และแหลมกู๊ดโฮป พวกเขาต้องเขียนบรรยายการเดินทาง รวมทั้งบรรยายถึงแคว้นต่างๆ ที่พวกเขาผ่านไปด้วย ให้สังเกตสิ่งต่างๆ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการประกาศความเชื่อ า พวกเขาจะต้องสังเกตสภาพของคริสตศาสนาที่มีอยู่แล้วด้วยว่าเป็นอย่างไร และเขียนสิ่งต่างๆ เหล่านี้และส่งกลับไปให้สมณกระทรวง
ภารกิจจำเป็นที่ต้องกระทำ
คณะสงฆ์พื้นเมือง ต้องได้รับการก่อตั้งขึ้และนี่ต้องถือว่าเป็นเหตุผลหลักของการเดินทางครั้งนี้มิชชันนารีถูกห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและการค้าขาย พวกเขาต้องอยู่ห่างๆ จากเรื่องต่างๆ ทางการ เมืองและธุรกิจ และมิให้เข้ารับหน้าที่บริหารเรื่องราวทางบ้านเมือง การประยุกต์ต่างๆ ต้องถูกนำมาใช้กับวัฒนธรรมและประเพณีของประชาชน พวกเขาต้องไม่วิจารณ์การกระทำและการปฏิบัติใดๆ ของประชาชน ไม่ว่าในส่วนตัวหรือในที่สาธารณะ พวกเขาต้องไม่ถกเถียงอย่างรุนแรงรวมทั้งต้องไม่ให้ความเห็นใด ๆ ด้วย แต่พวกเขาต้องสอนความเชื่อซึ่งไม่โจมตี และทำร้ายพิธีการและประเพณีของชนชาติใดเลย ต้องจัดตั้งการศึกษาทั้งทางศาสนาและทางวิทยาการ ต้องจัดตั้งโรงเรียนขึ้นทุกแห่งด้วยความเอาใจใส่อย่างที่สุด และด้วยความมานะอย่างที่สุด บรรดามิชชันนารีต้องพยายามหากระแสเรียกทางศาสนาท่ามกลางเยาวชนเหล่านั้น หากเห็นว่าเขามีความศรัทธาและใจกว้าง
คณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส
เป็นคณะสงฆ์ที่มีความสำคัญต่อมิสซังสยามมากที่สุด และเป็นผู้ริเริ่มรวมทั้งก่อตั้งมิสซังสยามขึ้นมาบุคคลแรกได้แก่ คุณพ่ออเล็กซานเดอร์ เดอ โรดส์ สงฆ์มิชชันนารีคณะเยซูอิต เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา เดินทางมาทำงานแพร่ธรรมในหลายประเทศของตะวันออกไกล เช่น ประเทศจีน, โคจินจีน, ตังเกี๋ย, ญี่ปุ่น, มาเก๊า การทำงานในประเทศเหล่านี้ประสบกับปัญหาหลายประการคือ ปัญหาการเบียดเบียนศาสนา ปัญหาการขาดแคลนมิชชันนารี และดูเหมือนว่าปัญหาการขาดแคลนมิชชันนารีจะยิ่งใหญ่กว่าปัญหาการเบียดเบียนด้วยซ้ำ คุณพ่ออเล็กซานเดอร์ เดอ โรดส์ เห็นว่าควรจะเสนอกรุงโรมให้ก่อตั้งสงฆ์พื้นเมือง คุณพ่อจึงเดินทางไปกรุงโรมเพื่อขออนุญาตเรื่องนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 10 และสมณกระทรวงก็มีเห็นด้วย จึงมีความประสงค์ที่จะแต่งตั้ง คุณพ่ออเล็กซานเดอร์ เดอ โรดส์ให้เป็นพระสังฆราช แต่ท่านปฏิเสธ
คุณพ่อปัลลือและคุณพ่อลังแบรต์ และพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสหลายองค์ที่แสดงเจตจำนงต่อ กรุงโรมเพื่อการทำงานด้านนี้ อาศัยเงินสนับสนุนจากขุนนางสตรีผู้นี้และสมบัติของคุณพ่อลังแบรต์ คณะสงฆ์คณะนี้จึงได้รับการก่อตั้งขึ้นมา ที่สุดวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1658 สมเด็จพระสันตะปาปาได้ลงนามในใบแต่งตั้งพระสังฆราช 3 องค์ เพื่อไปแพร่ธรรมในเอเชีย ในนามของผู้แทนพระสันตะปาปาเป็นพระสังฆราช คณะสงฆ์ M.E.P. จึงถือกำเนิดขึ้นมาและเป็นผู้นำพระวรสารไปยังมุมต่างๆ ของโลกในเวลาต่อมาอย่างมีประสิทธิภาพ จุดหมายปลายทางของการเดินทางมาตะวันออกไกลของ ฯพณฯ ลังแบรต์ และ ฯพณฯปัลลือ ได้แก่ ประเทศจีน โคจินจีน และตังเกี๋ย แต่เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีการเบียดเบียนศาสนาอยู่ ประเทศสยามเป็นประเทศที่สงบสุขและเอื้ออาทรแก่ศาสนาต่างๆ หลังจากที่พระสังฆราชและมิชชันนารีได้มองเห็นสถานการณ์ทั่วๆ ไปของประเทศสยาม และมองเห็นท่าทีที่เป็นมิตรของพระมหากษัตริย์ และเห็นชัดว่าเป็นผลดีต่อการตั้งมั่นเพื่อใช้เป็นฐานในการเดินทางต่อไป เวลาเดียวกันก็เริ่มประกาศเทศนาสั่งสอนพระวรสารไปด้วย จึงตัดสินใจที่จะอยู่ที่อยุธยา