-
Category: มิสซังสยามในอดีต อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน
-
Published on Friday, 16 October 2015 07:01
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3696
โครงการของสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ ได้จัดส่งพระสังฆราชชุดแรกจำนวน 3 องค์ โดยมีพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต เป็นพระสังฆราชองค์แรกที่เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1662 พร้อมกับ คุณพ่อยัง เดอ บูร์ช และคุณพ่อเดดีเอร์ เดินทางมาในฐานะผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปา ในภูมิภาคตะวันออกไกลเป็นชุดแรกโครงการของสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ มีเป้าหมายให้พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อตและคณะไปที่ประเทศจีนและเวียดนาม แต่ยังไม่สามารถไปได้จึงจำเป็นต้องพักอยู่ที่สยามก่อน ดั้งนั้นประเทศสยามจึงกลายเป็นฐานของธรรมฑูต ที่อยุธยามีคนต่างชาติเดินทางมามากเพื่อมาทำการค้าขาย มีพระสงฆ์คณะเยสุอิตชื่อ ยวง การโดโซ ประจำอยู่ที่วัดตะนาวศรี ท่านได้ต้อนรับพระสังฆราชและพระสงฆ์ที่ร่วมเดินทางมาด้วยดี คุณพ่อได้ขอให้พระสังฆราชโปรดศีลกำลังแก่คริสตังที่ยังไม่ได้รับด้วย พระสังฆราชเดอ ลาม็อตรู้สึกประทับใจในอิสรภาพที่ชาวสยามให้แก่คริสตังในการปฏิบัติศาสนา ในสมัยนั้นสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงรับคนต่างชาติด้วยดี และให้อิสรภาพในการปฏิบัติศาสนาของเขา ที่จริงคริสตังในประเทศสยามได้รับอิสรภาพในการปฏิบัติศาสนามานานแล้ว ตั้งแต่เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงอนุญาตเป็นทางการให้คริสตังปฏิบัติศาสนา ใน ค.ศ. 1622 พระองค์เองได้ทรงขอร้องให้พระสังฆราชโกงซาลเวส ดา ซิลวา แห่งมะระกา ส่งพระสงฆ์มาดูแลชาวโปรตุเกสที่อยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ดั้งนั้นในประเทศสยามจึงมีพระสงฆ์มานานแล้ว ทำให้เห็นได้ว่าแท้จริงนั้นความขัดแย้งที่เคยมีมานั้น เกิดจากพวกผู้ใหญ่ทั้งนั้น เมื่ออยู่ที่อยุธยาพระสังฆราชเดอ ลาม็อตรู้สึกเสียใจที่คริสตชนที่เป็นชาวโปรตุเกสประมาณ 2,000 คน ดำเนินชีวิตไม่ดี รวมทั้งพวกธรรมทูตทั้ง 11 คน ก็บกพร่องหน้าที่ในการดูแลอภิบาลคริสตชน เช่น ด้านการสอนคำสอน ด้านจารีตพิธีกรรม และมีแต่มุ่งการค้าขาย พระสังฆราชเดอ ลาม็อต ท่านเป็นคนร้อนรนอย่างมาก จึงเขียนจดหมายถึงสมเด็จพระสันตะปาปา วันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1663 ให้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเรียกตัวพวกนักบวชทั้งหมดกลับยุโรป และส่งธรรมทูตของสมณกระทรวงมาแทน ต่อมาอีก 4 เดือน มีคำสั่งจากเมืองกัว ให้จับท่านและส่งท่านกลับไปที่ลิสบอน เมื่อหัวหน้าค่ายได้รับคำสั่งแล้วจึงไปจับท่าน แต่ชาวโคชินไชนาที่ได้ทราบข่าวได้มาช่วยท่านเอาไว้และพาท่านไปอาศัยอยู่ในค่ายของพวกเขา เมื่อท่านไม่มีอำนาจในการปกครองคริสตังในสยาม ท่านก็พบว่ามีคนจีนและเวียดนามมาอยู่ที่อยุธยาด้วย ในค่ายโคชินไชนาท่านก็ได้ทราบจากครูเวียดนามคนหนึ่งว่ามีคริสตังประมาณ 100 คน อยู่ในค่าย ท่านจึงถือว่าคริสตังเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ท่านต้องดูแลอภิบาล ท่านได้สอนคำสอน และทำมิสซาให้พวกเขา พระสังฆราชเดอ ลาม็อตยังคงอยู่ในค่ายของชาวไคชินไชน่า เมื่อพระสังฆราชปัลลือและคณะมาถึงที่อยุธยา วันที่ 27 มกราคม ค.ศ.1664 โดยตั้งใจจะไปตั๋งเกียแต่ไม่สามารถเข้าได้ เพราะมีการเบียดเบียนศาสนา ดั้งนั้นพระสังฆราชทั้งสองและคณะทั้ง 8 ท่านจึงทำการประชุมสมัชชาเพื่อกำหนดหลักปฎิบัติของธรรมทูตในอนาคตและประยุกต์ใช้คำแนะนำที่ได้รับจากกระทรวง เกี่ยวกับชีวิตฝ่ายจิตของธรรมทูต หน้าที่ประกาศข่าวดี การอบรมผู้สมัครเป็นคริสตตัง เมื่อการประชุมสิ้นเสร็จแล้ว ที่ประชุมมีความเห็นว่าพระสังฆราชปัลลือเป็นผู้เหมาะสมที่สุดที่จะไปที่กรุงโรม พระสังฆราชปัลลือจึงกลับไปโรมเพื่อรายงานถึงสภาพความเป็นอยู่ของมิสซังในภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอให้รับรองคณะแพร่ธรรม "รักไม้กางเขน" รายงานเกี่ยวกับการที่คณะนักบวชทำการค้าขาย เพื่อขออำนาจในการปกครองสยาม และขอให้สยามเป็นศูนย์กลางของมิสซังในเอเชีย และขอธรรมทูตมาช่วยทำงาน หลังจากอยู่ในประเทศไทยได้ 1 ปี พระสังฆราชปัลลือก็ออกเดินทางเมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1665 ท่านกลับไปทางเส้นทางเดียวกัน ถึงกรุงโรมวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1667 ใช้เวลาเดินทาง 2 ปี กับ 3 เดือน เมื่อพระสังฆราชปัลลือเดินทางกลับมาถึงกรุงโรม พระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ ที่ 7 ทรงประชวรหนัก และสวรรคตในเวลา 2 เดือนต่อมาท่านจึงต้องรอเป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่จะมีการรับรอง ในปี ค.ศ. 1669 ได้มีสมณกฤษฎีกาออกมาดังนี้
1. ประกาศแต่งตั้งสังฆมณฑลสยาม ให้อยู่ในการปกครองของธรรมทูตของสมณกระทรวง และห้าม นักบวชทำการค้าขาย
2. ต่ออายุการขออนุญาตบวชพระสงฆ์ที่ไม่เข้าใจภาษาลาติน
3. รับรอง "คำแนะนำธรรมทูต" ที่ได้ร่างในการประชุมสมัชชาที่อยุธยา
4. คณะแพร่ธรรม "รักไม้กางเขน" สมณกระทรวงไม่รับรอง เพราะทางกรุงโรมไม่อยากให้ธรรมทูตมีศีลบนเหมือนนักบว
และรู้สึกว่าเคร่งเกินไป กลัวว่าจะมีคนสมัครและจำนวนสมาชิกไปเป็นธรรมทูตน้อยกรุงโรมก็ได้ตั้งมิสซังสยามขึ้นด้วยเอกสารทางการที่ชื่อว่า "Speculatores" ในวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1669 ผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปาที่หน้าที่ดูแลมิสซังสยามนี้ ก็คือ พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน ท่านได้รับการแต่งตั้งและอภิเษกเป็นพระสังฆราช ในวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1674 พระสังฆราช ลาโนจึงเป็นพระสังฆราชองค์แรกของมิสซังสยามผลหลังจากที่พระสังฆราชทั้งสองและบรรดามิชชันนารีที่ได้จัดการสัมมนาที่เรียกว่า ซีโน้ด (Synod) มีผลคือ
การก่อตั้งคณะนักบวชแห่งอัครสาวกขึ้น อันมีนักบวชชาย-หญิงรวมทั้งฆราวาส
ขณะที่พระสังฆราช เดอ ลาม็อต อยู่ในกรุงศรีอยุธยา มีพระภิกษุอยู่มากมาย ท่านได้สังเกตเห็นว่า ทุกคนตั้งแต่พระมหากษัตริย์ จนถึงคนธรรมดาต่างก็เคารพนับถือพระภิกษุเป็นอย่างมากพระสังฆราช เดอ ลา ม็อต เขียนจดหมายถึงอธิการคณะฟรังซิสกันในเมืองตุลูส ประเทศฝรั่งเศสเพื่อขอพระสงฆ์ฟรังซิสกัน เพราะพระสงฆ์ฟรังซิสกันมีชีวิตคล้ายพระภิกษุ เหมาะที่จะทำงานในประเทศสยาม แต่ไม่สำเร็จพระสังฆราชเดอ ลาม็อตจึงคิดว่า ถ้าอยากแพร่ธรรมให้ได้ผลดี จำเป็นที่จะต้องมีคณะ "แพร่ธรรม" ที่มีชีวิตศักดิ์สิทธิ์ คนจะกลับใจอาศัยการภาวนา อดทนทรมานตน พระสังฆราชได้ตั้งชื่อคณะนั้นว่าชื่อ "คณะรักไม้กางเขน" พระสังฆราชได้จัดตั้งคณะผู้รักกางเขนชาย โดยยึดเอาพระธรรมวินัยของพระภิกษุเป็นหลัก แต่สมณกระทรวงไม่รับรองคณะนี้ เพราะมีความเคร่งครัดมากเกินไป หลังจากนั้นพระสังฆราชได้ตั้งภคินีรักกางเขนกลุ่มแรกที่ตั๋งเกีย กลุ่มที่สองที่โคชินไชน่า และกลุ่มที่สามที่อยุธยา ผลของคณะนี้เรายังคงสามารถเห็นได้จากคณะนักบวชพื้นเมืองของสังฆมณฑลต่างๆ ในประเทศไทย
มีการจัดพิมพ์พิมพ์คำแนะนำธรรมทูต
พระสังฆราชทั้งสองไม่มีความรู้เรื่องงานมิสซัง และไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับธรรมทูตแพร่ธรรม ท่านทั้งสองจึงรวบรวมกฎทั่วๆ ไป ที่เหมาะสำหรับแนวทางในการปฏิบัติของผู้แพร่พธรรม ท่านปรึกษาความคิดนี้แก่บรรดาพระสงฆ์ คือ คุณพ่อเดดีเอร์ คุณพ่อลาโนคุณพ่อแฮงก และคุณพ่อแบร็งโด เพื่อให้มีการจัดพิมพ์เป็นคำสั่งสอนตามสมณกระทรวงโปรปากันดาฟีเด และทำการจัดส่งให้แก่บรรดาผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปา โดยเฉพาะคำสั่งที่ออกมาใน ค.ศ. 1659 รวมทั้งคำแนะนำต่างๆ สำหรับบรรดามิชชันนารีสำหรับงานธรรมทูต หนังสือคู่มือนี้ประกอบไปด้วย 10 บท ซึ่งเต็มไปด้วยหลักวิชา Missiologie เพื่อเป็นแนวทางในการแพร่ธรรม ร่างคู่มือมิชชันนารีเล่มนี้ พระสังฆราชปัลลือได้นำไปขออนุญาตจัดพิมพ์ที่กรุงโรม และได้รับอนุมัติใน ค.ศ. 1669 ได้มีการจัดพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1669 หนังสือเล่มนี้ได้รับการจัดพิมพ์อีก 11 ครั้ง รวมเป็น 12 ครั้ง เป็นภาษาลาติน 10 ครั้ง และเป็นภาษาฝรั่งเศส 2 ครั้ง หนังสือเล่มนี้มีชื่อเสียงมากในประวัติศาสตร์ทีเดียว ไม่ใช่เฉพาะสำหรับสยามเท่า นั้น แต่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักศึกษา นอกจากนี้ยังออกคำสั่งสอนแก่มิชชันนารีอีกหลายฉบับ
การจัดตั้งวิทยาลัยนักบุญยอแซฟ
การจัดตั้งบ้านเณรนี้เกิดขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา บ้านเณรสร้างสำเร็จใน ค.ศ. 1665 บ้านเณรนี้เป็นวิทยาลัยแห่งแรกของคณะสงฆ์ M.E.P เพื่อผลิตพระสงฆ์พื้นเมืองอันเป็นเป้าหมายแรก พระสังฆราชเดอ ลาม็อต ได้รับสามเณร 3 คนจากมาเก๊า และ 1 คนจากสยาม ต่อมาก็มีมาจากเวียดนามด้วย อธิการองค์แรกของวิทยาลัยดังกล่าวก็คือ คุณพ่อลาโน ท่านเป็นคนขยัน ทำงานด้วยความเอาใจใส่และร้อนรน อย่างมากใน ค.ศ.1670 หรือ 1671 คุณพ่อลาโนได้มีคุณพ่อลังคลัวส์ ซึ่งเป็นคนขยันและเป็นคนเก่งมาเป็นผู้ช่วย ใน ค.ศ.1672 คุณพ่อลังคลัวส์ได้รับตำแหน่งอธิการวิทยาลัยต่อจากคุณพ่อลาโน คุณพ่อลังคลัวส์มีผู้ช่วยคนหนึ่งเป็นฆราวาสซึ่งเราไม่รู้จักชื่อ กับผู้ชายอีกคนหนึ่งเป็นสงฆ์ชาวโปรตุเกสคณะฟรังซิสกันชื่อ คุณพ่อหลุยส์ ท่านเข้ากับพวกมิชชันนารีฝรั่งเศสได้ดี ท่านมีความสามารถพิเศษในด้านการให้แนะนำเยาวชนและการสอน ใน ค.ศ. 1680 พระสังฆราชลาโน ได้ตัดสินใจย้ายวิทยาลัยกลางไปอยู่ที่หมู่บ้านมหาพราหมณ์ และมอบวิทยาลัยนี้ให้อยู่ในความอุปถัมภ์ของอารักขเทวดา สาเหตุที่ย้ายวิทยาลัยครั้งนี้ เป็นเพราะมีลิ้นและยุงชุกชุม จนนักเรียนไม่สามารถเรียนหนังสือได้ และสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น เนื่องจากวิทยาลัยกลางอยู่รวมกับสำนักพระสังฆราช บ้านพักพระสงฆ์ และโบสถ์ มีความวุ่นวาย ทำให้นักเรียนจึงไม่มีความสงบ ท่านจึงขอพระราชทานที่ดินแห่งหนึ่งที่มหาพราหมณ์ใน ค.ศ. 1686 เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เสนอพระสังฆราชลาโนให้ย้ายวิทยาลัยมาอยู่ที่อยุธยา ซึ่งท่านลาก็เห็นด้วย แต่ก็อยู่ที่อยุธยาได้ไม่นาน ก็ย้ายกลับมาอยู่ที่เดิมอีกครั้งหนึ่งเพื่อความสงบเงียบ วิทยาลัยนี้อยู่ที่สยามจนถึง ค.ศ. 1760 เมื่อพม่ายกทัพมาบุกกรุงศรีอยุธยา และทำลายกรุงศรีอยุธยาใน ค.ศ. 1767 วิทยาลัยแห่งนี้ ก็ถูกย้ายไปที่ฮอนดัทต่อมาก็ย้ายไปที่ประเทศอินเดีย และสุดท้ายก็ย้ายมาที่ปีนัง ใน ค.ศ. 1808
การจัดตั้งโรงพยาบาล
พระสังฆราชเดอ ลาม็อตมีความเห็นว่า หากต้องการที่จะทำให้ชาวสยามเข้ามาเป็นศาสนาคริสตนั้น จะต้องมีกิจการบางอย่างที่มีประโยชน์ต่อสังคม ดังนั้นใน ค.ศ. 1671 พระสังฆราชได้ใช้ศาลาของวัดนักบุญยอแซฟ ทำเป็นที่รักษาพยาบาล ภายหลังก็ได้มีการสร้างโรงพยาบาลเล็ก ๆ อีกสองแห่ง หลังหนึ่งสำหรับผู้ป่วยชาย อีกหลังหนึ่งสำหรับผู้ป่วยหญิงขณะนั้นคุณพ่อลาโนได้เป็นบุรุษพยาบาล จริง ๆ แล้วพระสังฆราชเดอ ลาม็อตเสนอให้มีการสร้างโรงพยาบาลเหมือนในยุโรป แต่ทางราชสำนักไม่อนุญาตเพราะเกรงว่าศาสนาคริสตจะมีอำนาจมากเกินไป นอกจากนี้แล้วยังมีการส่งธรรมทูตออกไปรักษาชาวบ้านตามที่ต่าง ๆ จากการทำงานของธรรมทูตเหล่านี้ ก็ทำให้ชาวสยามเริ่มรู้จักและนิยมชมชอบบรรดาธรรมทูตมากขึ้น
เมื่อทางกรุงโรมทราบว่าพระสังฆราชเดอ ลาม็อตล้มป่วยหนัก วันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1679 ก็ออกกฤษฎีกามอบอำนาจของประมุขมิสซังโคชินจีนแก่พระสังฆราชลาโน หลังจากพระสังฆราชเดอ ลาม็อตวายชนม์แล้ว ทางกรุงโรมก็แต่งตั้งพระสังฆราชลาโนเป็นผู้ปกครองมณฑลต่างๆ ในประเทศจีน โดยดำรงตำแหน่งนี้ร่วมกับพระสังฆราชปัลลือ พระสังฆราชลาโนเดินทางไปประเทศโคชินจีนเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1682 การที่ เดินทางไปครั้งนี้ก็เพื่อ จะได้ทำงานที่ท่านได้รับมอบหมาย ท่านได้เลือกคุณพ่อมาโอต์ เป็นประมุขมิสซังโคชินจีน และอภิเษกคุณพ่อเป็นสังฆราชหลังจากนั้นท่านก็เดินทางกลับกรุงสยาม และจะไม่กลับไปประเทศจีนอีก เพราะท่านรักและเป็นห่วงมิสซังสยามเป็นอย่างมาก ใน ค.ศ. 1679 ทางสามเณราลัยคณะมิสซังต่างประเทศส่งพระสงฆ์มาช่วยพระสังฆราชลาโนในงานงานแพร่ธรรมอีก 11 องค์ และในกลุ่มนี้มีพระสงฆ์ 2 องค์ คือ คุณพ่อเฌอนูด์ กับคุณพ่อโฌเรต์ จะไปเป็นมรณสักขีในประเทศพม่า ในกรุงศรีอยุธยานั้น นับเป็นแหล่งรวมคริสตชน ที่อยู่ที่อาศัยของคริสตชนที่สำคัญตลอดมาในประวัติศาสตร์ มีการสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน และโบสถ์ เหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่มีความสำคัญและยิ่งใหญ่ คือ การพิธีฉลองทางศาสนา ที่กรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1682 ได้ดึงดูดคนต่างคนศาสนาเป็นจำนวนมาก มาร่วมในพิธีดังกล่าวคือ พิธีอภิเษกพระสังฆราชเดอ บูรฌฺ ซึ่ง เมื่อ 20 ปีก่อน ท่านเป็นพระสงฆ์มิชชันนารีรุ่นแรกที่เข้ามาในสยามพร้อมกับพระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต และในเวลาต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขมิสซังตังเกี๋ยภาคตะวันตก ซึ่งได้รับการอภิเษกโดยพระสังฆราชลาโน