-
Category: มิสซังสยามในอดีต อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน
-
Published on Friday, 16 October 2015 07:00
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2525
มิชชันนารีเหล่านี้ได้รับพระบรมราชานุญาตให้กลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่งใน ค.ศ.1851 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ใน ค.ศ. 1856 สยามได้ทำสนธิสัญญากับประเทศฝรั่งเศสสนธิสัญญานี้อนุญาตให้ชาวสยามมีเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา อนุญาตให้บรรดามิชชันนารีประกาศศาสนาโดยเสรี ให้สร้างบ้านเณรก่อตั้งโรงเรียน และโรงพยาบาล และสามารถเดินทางไปในที่ต่างๆ ในประเทศได้ สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 ทรงทราบเรื่อง จึงทรงมีพระสมณสาสน์ฉบับแรกลงวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1852 ส่วนฉบับที่สองลงวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1861 มาแสดงความขอบพระทัยที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อบรรดาคริสตังไทยเป็นอย่างดียิ่ง ตลอดสมัยการปกครองของพระสังฆราชปัลเลอกัว มิสซังได้รับสันติสุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อมิสซังและต่อพระสังฆราช พระองค์ได้มีพระบรมราชโองการให้จัดงานศพของพระสังฆราชอย่างสมเกียรติที่สุด
พระสังฆราชดือปองด์
พระสังฆราชปกครองมิสซังสยามเป็นเวลา 7 ปี จำนวนคริสตังได้เพิ่มขึ้นทุกแห่ง ท่านได้สร้างวัดใหม่ 8 แห่ง จำนวน มิชชันนารีทั้งหมดที่เข้ามาในสยามในสมัยของท่านมีถึง 21 องค์ เนื่องด้วยพระสังฆราชดือปองด์เป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้น และสามารถพูดภาษาสยามและภาษาจีนพื้นเมืองได้ดี ท่านสามารถทำงานท่ามกลางชาวสยามและชาวจีนได้ดี มีการกลับใจมากมายโดยเฉพาะจากบรรดาชาวจีน มีการเปิดกลุ่มคริสตชนในที่ใหม่หลายแห่ง โดยเฉพาะในย่านที่มีคนจีนอาศัยอยู่ เมื่อพระสังฆราชดือปองด์ถึงแก่มรณภาพในวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1872 มิสซังสยาม มีคริสตชนจำนวน 10,000 คน มีมิชชันนารีชาวยุโรปจำนวน 20 องค์ และมีพระสงฆ์พื้นเมือง 8 องค์ ประเทศสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังอยู่ในระหว่างการปฏิรูป มีการนำเอาความรู้ทางตะวันตกใหม่ๆ เข้ามาในประเทศ เรียกได้ว่ามีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ประเทศชาติกำลังเจริญก้าวหน้าขึ้น ในสมัยเดียวกันนี้
พระสังฆราชยัง หลุยส์ เวย์
พระสังฆราชเป็นผู้ปกครองมิสซังสยาม นอกจากพระสังฆราชเวย์จะมีความสัมพันธ์อันดีกับพระเจ้าแผ่นดินและกับทางราชการแล้ว การแพร่ธรรมของมิสซังก็เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมากด้วย ท่านได้ริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังมีอยู่ในประเทศโดยก่อตั้งโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ก่อตั้งวิทยาลัย และโรงเรียนต่างๆ ได้เชิญคณะนักบวชต่างๆ เข้ามาทำงาน เช่น คณะแซงต์โมร์ คณะเซนต์ ปอล เดอ ชาร์ตร, คณะเซนต์คาเบรียล เป็นต้น ให้เข้ามาช่วยงานในมิสซัง นับเป็นความคิดริเริ่มที่บังเกิดผลอย่างมหาศาลต่อมิสซัง มีการพิมพ์หนังสือขึ้นใช้ในการสอนศาสนาจำนวนมาก พระสังฆราชเวย์ได้แต่งหนังสือขึ้นมาหลายเล่ม และส่งเสริมให้บรรดามิชชันนารี แต่งหนังสือเพิ่มขึ้นด้วย พระสังฆราชเวย์มีความรู้ความสามารถทางด้านภาษา ท่านจึงได้นำหนังสือ "สัพะ พะจะนะ พาสา ไท" ของพระสังฆราชปัลเลอกัวมาแก้ไขปรับปรุงใหม่ นับเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่มีคุณค่าทั้งต่อมิสซังสยามและต่อประเทศไทย หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า "ศริพจน์ภาษาไทย์" พิมพ์ใน ค.ศ. 1896
อุปสรรคประการสำคัญในการทำงานประกาศศาสนาในสมัยของพระสังฆราชเวย์ ได้แก่ การเผชิญหน้ากับสมาคมลับของชาวจีน ซึ่งเรียกกันว่า "อั้งยี่" หรือ "ตั่วเฮีย" ทำให้การประกาศศาสนากับชาวจีนต้องประสบกับปัญหาอยู่เสมอๆ นอกจากนี้ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งคือ สยามมีปัญหาทางการเมืองกับประเทศฝรั่งเศสด้วยเรื่องการเรียกร้องดินแดนฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขงในปี ค.ศ. 1894 (ร.ศ.112) เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชาวสยามถือว่าชาวฝรั่งเศสเป็นศัตรู รวมทั้งคริสตศาสนาซึ่งเป็นศาสนาของชาวฝรั่งเศสก็เป็นศาสนาของศัตรูด้วย สยามและประเทศฝรั่งเศสต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมืองนี้ไปจนถึง ค.ศ.1907สยามได้ยกดินแดนพระตะบอง ศรีโสภณ และเสียมราฐ ให้แก่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งหมายความว่าตลอดช่วงสมัยของพระสังฆราชเวย์ มิสซังสยามต้องประสบกับความกดดันทางการเมืองเหล่านี้อยู่เสมอมา ต้องทำงานกับประชาชนซึ่งมองดูมิชชันนารีด้วยสายตาแห่งความเป็นศัตรู
การเปลี่ยนแปลงประการหนึ่งที่ทำให้เห็นว่ามิสซังสยาม เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมากได้แก่การแต่งตั้งมิสซังลาว แยกออกจากการปกครองของมิสซังสยามในปี ค.ศ. 1889 มีพระสังฆราชกืออาส เป็นผู้แทนสันตะปาปา ทำหน้าที่ปกครองดูแลมิสซังใหม่นี้เป็นองค์แรก นอกจากนี้พระสังฆราชเวย์ยังได้เริ่มบุกเบิกงานแพร่ธรรมไปสู่ส่วนต่างๆ ของประเทศมากขึ้นทั้งทางภาคเหนือและภาคใต้ งานต่างๆ เหล่านี้ได้รับการส่งเสริมอย่างดียิ่งและบังเกิดผลมากขึ้นในสมัยพระสังฆราชเรอเน แปร์รอส มิสซังสยามเจริญก้าวหน้าขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ช้าๆ แต่มั่นคงในสมัยของพระสังฆราชแปร์รอสนี้เอง มีการขยายงานแพร่ธรรมออกไปอย่างกว้างขวางทั้งทาภาคเหนือและภาคใต้ เขตปกครองทางราชบุรีได้ถูกแต่งตั้งขึ้นเป็นดินแดนอิสระ และได้มอบให้พระสงฆ์คณะซาเลเซียนเป็นผู้ทำงานในเขตใหม่นี้ใน ค.ศ.1930 ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี มิสซังราชบุรีได้รับการยกขึ้นเป็นกิ่ง มิสซังมีพระสังฆรักษ์เป็นผู้ปกครอง เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1934 และที่สุดได้รับการยกขึ้นอีกครั้งเป็นมิสซังหรือเทียบสังฆมณฑลเมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1941 เขตปกครองทางจันทบุรีก็ได้รับการยกขึ้นเป็นมิสซังหรือเทียบสังฆมณฑลเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ 1944
พระสังฆราชแปร์รอส
พระสังฆราชมีความคิดที่ว่าเมื่อมีวัดคาทอลิกที่ไหน ก็ต้องมีโรงเรียนที่นั่นด้วย เพื่อเป็นสถานที่สำหรับอบรมสั่งสอน และให้การศึกษาแก่ลูกหลานคริสตังและลูกคนต่างศาสนา ดังนั้นในสมัยของท่านจึงมีโรงเรียนต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะโรงเรียนของวัด นอกจากนี้ยังมีคณะนักบวชต่างๆ จากต่างประเทศเดินทางเข้ามาทำงานอย่างมากมายหลายคณะ เช่น คณะอูรสุลิน เข้ามาใน ค.ศ. 1924 จัดตั้งโรงเรียนมาร์แตร์เดอี และโรงเรียนวาสุเทวีขึ้นที่กรุงเทพฯ จัดตั้งโรงเรียนเรยีนาเชลีขึ้นที่เชียงใหม่ ต่อมาใน ค.ศ. 1925 ภคินีคณะคาร์เมไลท์เดินทางเข้ามาทำงานในด้านต่างๆ คณะซาเลเซียนเข้ามาใน ค.ศ. 1927 เป็นต้น การเข้ามาของคณะนักบวชต่างๆ เหล่านี้ ทำให้งานทางด้านการศึกษาเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้พระสังฆราชแปร์รอสมีบุคลากรเพิ่มขึ้น และสามารถขยายงานออกไปยังที่ต่างๆ ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม สงครามอินโดจีนซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองก็เป็นอุปสรรค สำคัญที่ทำให้งานประกาศพระศาสนาต้องหยุดชะงักลง ชาวไทยมองดูมิชชันนารีฝรั่งเศสและคริสตศาสนาเป็นศัตรูอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้มีเหตุการณ์รุนแรงมาก คณะเลือดไทยซึ่งต่อสู้อย่างเต็มที่กับอิทธิพลของฝรั่งเศสในประเทศไทยได้ทำหน้าที่ในการปกป้องประเทศคริสตศาสนาอ่อนแอลงมาก บรรดามิชชันนารีฝรั่งเศสหลายองค์ต้องเดินทางออกนอกประเทศ และถูกห้ามทำการเผยแพร่ศาสนา เหตุการณ์ในครั้งนั้นคริสตชนชาวไทยหลายคนถูกจับ พระสงฆ์ 5 องค์ ถูกจำคุกเพราะความเข้าใจผิด คริสตชนบางคนถูกฆ่าตาย แต่พระสังฆราชแปร์รอสก็มิได้ท้อถอย พยายามที่จะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น คอยดูแลเอาใจใส่มิชชันนารีและพระสงฆ์พื้นเมืองไม่ให้เสียกำลังใจมิสซังสยามได้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ในครั้งนั้นมาด้วยดีเนื่องจากความชราภาพ ท่านได้ลาออกจากประมุขมิสซังใน ค.ศ. 1947 และเลือกไปทำงานกับกลุ่มคริสตชนเล็กๆ ที่เชียงใหม่ต่อไป
การก่อตั้งพระฐานานุกรมพระศาสนาจักรไทย
ในสมัยพระสังฆราชหลุยส์โชแรง การแบ่งแยกการปกครองเช่นนี้ก็ยังคงมีอยู่ เพราะในค.ศ. 1960 เขตปกครอง ทางเชียงใหม่ได้รับการยกขึ้นเป็นสังฆรักษ์ การทำงานแพร่ธรรมในสมัยนี้ดีขึ้นมาก เนื่องจากจำนวนมิชชันนารีและพระสงฆ์พื้นเมืองเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งคณะนักบวชต่างๆ ก็เข้ามาช่วยทำงานมากขึ้นด้วยพระศาสนจักรในเมืองไทยเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา เพราะอาศัยความร้อนรนและความขยันขันแข็งของบรรดาพระสังฆราชและบรรดามิชชันนารี รวมทั้งพระสงฆ์พื้นเมืองและนักบวชคณะต่างๆ มีแนวโน้มที่จะสามารถเจริญก้าวหน้าต่อไปได้อย่างดี สมณกระทรวงโปรปากันดา ฟีเด จึงตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรจะสถาปนาพระฐานานุกรมพระศาสนจักรในประเทศไทย ให้มีฐานะและศักดิ์ศรีเทียบเท่าพระศาสนจักรท้องถิ่นอื่นๆ ของประเทศต่างๆ ในยุโรป ด้วยความสนับสนุนของผู้แทนพระสันตะปาปาประจำประเทศไทย 2 องค์ ได้แก่ ฯพณฯ ยอห์น กอร์ดอน และ ฯพณฯ อันเยโล เปโดรนี สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ได้ทรงสถาปนาพระฐานานุกรม
พระศาสนจักรในเมืองไทยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ.1965 โดยแบ่งแยกเขตปกครองออกเป็น 2 แขวงใหญ่ๆ ได้แก่ แขวงปกครองของกรุงเทพฯ และแขวงปกครองของ ท่าแร่-หนองแสง มีพระสังฆราชเป็นผู้ปกครองโดยตรง ซึ่งมีรายละเอียดพอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้
1. แขวงปกครองพระศาสนจักรแห่งกรุงเทพฯ ประกอบด้วย
- อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ มี ฯพณฯ ยวง นิตโย เป็นอัครสังฆราช มีสังฆมณฑล 3 สังฆมณฑล อยู่ภายใต้แขวงปกครองนี้ ได้แก่
1. สังฆมณฑลราชบุรี
2. สังฆมณฑลจันทบุรี
3. สังฆมณฑลเชียงใหม่
2. แขวงปกครองพระศาสนจักรแห่ง ท่าแร่-หนองแสง ประกอบด้วย
- อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง มี ฯพณฯ มีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ เป็นอัครสังฆราช มีสังฆมณฑล 3 สังฆมณฑล อยู่ภายใต้แขวงปกครองนี้ ได้แก่
1. สังฆมณฑลอุบลราชธานี
2. สังฆมณฑลนครราชสีมา
3. สังฆมณฑลอุดรธานี