-
Category: มิสซังสยามในอดีต อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน
-
Published on Wednesday, 30 September 2015 02:32
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 11704
..... คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์
คำนำ
บทความนี้เป็นบทความสั้นๆ เกี่ยวกับมิสซังสยามในอดีต และอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ซึ่งเราคริสตชนจะทำการเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 25 ปีของการได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ในวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1990 ผมมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้อ่านได้รู้จักกับสภาพของมิสซังสยามมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความรู้ภาษาไทยด้านการเขียนของผมไม่ดีพอ จึงมีหลายคำที่ผมใช้เป็นภาษาฝรั่ง ทั้งนี้ก็เพราะผมเองก็ไม่ทราบว่าจะใช้คำใดในภาษาไทยจึงจะถูกต้อง เกรงว่าหากแปลออกมาแล้วจะผิดความหมายได้ อีกทั้งผมก็ยังไม่มีโอกาสดีพอที่จะปรึกษาผู้รู้ก่อนที่จะลงมือเขียน จึงขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
มิสซังสยามในอดีต
H.E. SMITH ในหนังสือ “HISTORICAL AND CULTURAL DICTIONARY OF THAILAND” กล่าวไว้ว่า ชื่อ “สยาม” (SIAM) ถูกใช้ครั้งแรกโดย SIR JAMES LANCASTER ในปี ค.ศ. 1952 อาจารย์รงค์ สยามนันท์ อาจารย์ประวัติศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้ยืนยันเช่นเดียวกัน ความจริง ชื่อ “สยาม” ต้องถูกใช้มาก่อนหน้านี้อย่างแน่นอน จากการตรวจสอบเอกสารและการศึกษาประวัติศาสตร์พระศาสนจักรในประเทศไทย เราจะพบว่า นักบุญฟรังซิสเซเวียร์ ได้เอ่ยถึงและใช้ชื่อ “สยาม” ในจดหมายของท่านที่ส่งมาให้เพื่อนของท่านที่ MALACCA ถึง 4 ฉบับ ในปี ค.ศ. 1552 นอกจากนี้ อาจารย์บุญยก ตามไท ได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจในวารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 5 ฉบับที่ 9 ไว้ดังนี้
“มีเกร็ดประวัติศาสตร์บันทึกโดยฝรั่งเศสว่าเมื่อ พ.ศ. 2087 (1544) ANTONIO DE PAIVA ชาวโปรตุเกส ได้เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระชัยราชาธิราช และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าและสนทนาเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนากับพระองค์ จนเลื่อมใส และพระองค์ทรงประกอบพิธี BAPTISE ได้รับพระราชทินนามเป็นภาษาโปรตุเกสว่าDOM JOAOซึ่งนับเป็นเหตุการณ์พิเศษอย่างยิ่ง”
เท่าที่ผมพยายามค้นหาเอกสารที่บันทึกโดยฝรั่งเศสตามที่อาจารย์บุญยก ตามไท ได้กล่าวไว้นี้ ก็ได้พบเอกสารที่รวบรวมอยู่ในหนังสือ DOCUMENTA INDICA I และ II และถูกนำมาอ้างอิงโดย JOSE MARIA RECONDO S.J. และ G. SCHURHAMMER, S.J. พระสงฆ์นักประวัติศาสตร์คณะเยซูอิต ชาวสเปน และเยอรมัน ตามลำดับเอกสารเหล่านี้ได้เอ่ยถึงชื่อ “สยาม” ไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นชื่อประเทศ “สยาม” ต้องถูกใช้มาแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1544 ผมยังเชื่อว่าคำว่า “สยาม” ต้องถูกใช้มาก่อนหน้านี้ด้วย SIMON DE LA LOUBERE ทูตพิเศษของกษัตริย์ฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1687 และ ค.ศ. 1688 ได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจมากไว้ดังนี้ว่า ชื่อสยามไม่ได้เป็นที่รู้จักของชาวสยามเป็นคำๆ หนึ่งที่พวกโปรตุเกสใน INDIES ใช้เป็นการยากที่จะสืบพบต้นกำเนิดของคำๆ นี้ เราอาจกล่าวได้ว่าชื่อสยาม ถูกใช้มาตั้งแต่พวกโปรตุเกสได้เข้ามาถึงหมู่เกาะ INDIES ในปี ค.ศ. 1511
ชาวยุโรปได้เรียกแผ่นดินของเราว่า “สยาม” เป็นชื่อประเทศในศตวรรษที่ 17 และในการติดต่อกับชาวยุโรปสมัยนั้น พวกเราก็ได้ใช้ชื่อสยามเช่นเดียวกัน แม้ว่าเราจะไม่ได้เรียกประเทศของเราว่า “สยาม” ก็ตาม เพราะว่าสมัยก่อนคนไทยเราเรียกประเทศของตนตามชื่อนครหลวง เช่น กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยาหรือมิฉะนั้นก็จะเรียกว่า “เมืองไทย” ซึ่งเราก็นิยมใช้กันมาจนถึงตอนนี้
ชื่อ “สยาม” กลายมาเป็นชื่อทางการของประเทศในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ใช้คำว่า “สยาม” แทนคำว่า “เมืองไทย” ในการแก้ไขสนธิสัญญา BOWRING ของวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1856 และชื่อ “สยาม” ก็ถูกเรียกใช้เรื่อยมาตั้งแต่ตอนนั้น จนมาถึงวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1939 เมื่อประเทศของเราเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (MONARCHY) มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (แบบไทยๆ) และจอมพล ป. พิบูลสงคราม เปลี่ยนชื่อประเทศจากคำว่า “สยาม” มาใช้คำว่า “ประเทศไทย” ในรัฐธรรมนูญ “ประเทศไทย” จึงเป็นชื่อทางการของประเทศตั้งแต่นั้นมา คำภาษาอังกฤษจึงใช้คำว่า “THAILAND” การเปลี่ยนนี้นับว่าเหมาะสม เพราะตรงกับการปฏิบัติจริงของประชาชน ที่เรียกประเทศของตนเสมอมาว่า “เมืองไทย”
ส่วนความหมายของคำว่า “สยาม” นั้นยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่ว่าคำนี้หมายความว่าอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่าคำถามนี้ไม่มีคำตอบ ปัญหามาอยู่ตรงที่ว่ามีคำตอบมากเกินไป มีความ เห็นที่แตกต่างกันอยู่และยังไม่เป็นที่ลงเอย ผมจะยกมาเป็นตัวอย่างดังนี้ คำว่า “สยาม” หมายถึง ผิวคล้ำ ผิวดำ ยังหมายถึง ทองคำ ได้ด้วย ดังนั้นหากนำเอาคำนี้มาใช้กับประชาชน ก็น่าจะหมายความว่าคนผิวคล้ำ ผิวดำ แต่หากนำมาใช้กับประเทศหรือแผ่นดิน ก็น่าจะหมายความถึง แผ่นดินทองคำ มากกว่าแผ่นดินคล้ำแน่ๆ และโดยที่ลักษณะรูปร่างของแผ่นดินไทยเป็นแหลม แหลมทองที่เรารู้จัก ก็อาจจะทำให้คิดได้ว่าสยาม อาจใช้เรียกแทนแหลมทองก็ได้ บางท่านให้ความเห็นว่า คำว่า “สยาม” เป็นคำในภาษาเขมร หมายถึง สีน้ำตาล บางท่านถือว่าเป็นคำภาษาบาลี แปลว่า ดำ บางท่านเชื่อว่าเป็นคำภาษาพม่า แปลว่า อิสระ เมื่อเราพิจารณาความเห็นเหล่านี้และสืบประวัติศาสตร์ไทยดูแล้ว จะพบว่าเขมร, ภาษาบาลี, พม่า ต่างก็มีความสัมพันธ์กับเราไม่น้อยเลย ความเป็นไปได้จึงมีอยู่ในทุกความเห็นทางที่ดีที่สุดก็คือ เราจะไม่ตัดสินอะไรลงไปในสิ่งที่เรายังรู้ไม่แน่ชัด
เหตุผลที่ผมกล่าถึงคำว่า “สยาม” ในบทความนี้ ก็เพราะว่าพระศาสนจักรในแผ่นดินไทยของเราเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวตะวันตก และในหมู่คริสตชนในประเทศเราเอง โดยใช้คำว่า “มิสซังสยาม” บทความนี้แม้จะไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะเขียนบรรยายถึงประวัติศาสตร์พระศาสนจักรในประเทศสยาม แต่บางครั้งก็มีความจำเป็นที่จะต้องสอดแทรกประวัติบางตอนเข้ามาเล็กน้อย เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจอะไรชัดเจนขึ้น อันที่จริงยังมีคำอีกหลายคำที่น่าจะเข้าใจ ผมขออนุญาตเก็บเอาไว้ก่อน เพราะมิฉะนั้นจะทำให้ยาวเกินไปจนไม่มีใครอยากอ่าน แต่ก็อดไม่ได้ ที่จะยกตัวอย่างมาให้ผู้อ่านตรวจสอบตัวเอง ดูว่ารู้จักคำเหล่านี้ที่มีบทบาทอยู่ในพระศาสนจักรของเรามากน้อยเพียงใด เช่น ความหมายและบทบาทของ PADROADO (หรือ PATRONAGE ในภาษาอังกฤษ), PROPAGANDA FIDE เป็นต้น มิชชันนารีของ PADROADO และมิชชันนารีของ PROPAGANDA FIDE ต่างก็เข้ามาในแผ่นดินสยาม และก็เกิดความขัดแย้งกันเองในเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจในดินแดนส่วนนี้
หันมาพูดถึงคำว่า “มิสซังสยาม” บ้าง หากเปิดดูหนังสือประวัติพระศาสนจักรสากลและพระศาสนจักรในประเทศไทย จัดพิมพ์โดย สำนักงานสารสาส์นในปี ค.ศ. 1967 หรือ พ.ศ. 1510 หน้า 196 จะพบว่าผู้เขียนได้ให้ข้อสังเกตว่า คำว่า “มิสซัง” เป็นคำภาษาโปรตุเกส
ในความเห็นส่วนตัวของผมเอง ผมเชื่อว่า คำนี้น่าจะมาจากอิทธิพลของภาษาฝรั่งเศสมากกว่า เพราะเหตุว่า แม้ว่าพวกโปรตุเกสจะเข้ามาถึงแผ่นดินสยามเป็นพวกแรก แต่ก็มีบทบาทอยู่ในประวัติพระศาสนจักรในสยามน้อยกว่าพวกฝรั่งเศส พวกมิชชันนารีโปรตุเกสเข้ามาถึงอยุธยาในปี ค.ศ. 1567 เพื่ออภิบาลชาวโปรตุเกสที่ตั้งหลักแหล่งที่อยุธยา จนถึงปี ค.ศ. 1783 เราไม่พบพวกมิชชันนารีโปรตุเกสในสยามอีกเลย อีกทั้งในช่วงระยะเวลาระหว่างปี ค.ศ. 1567 ถึง ค.ศ. 1783 นั้น มิชชันนารีชาวโปรตุเกสก็มิได้มีอยู่ในสยามอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นคณะ DOMINICAN, FRANCISCAN,หรือ JESUIT ก็ตาม เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือคำว่า “มิสซัง (MISSION)” หมายถึงขอบเขตการปกครองของสังฆราชที่ปกครองในนามของพระสันตะปาปาหรือที่เรียกกันในภาษาลาตินว่า VICARIUS APOSTOLICUS, ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า APOSTOLIC VICAR การปกครองในลักษณะเช่นนี้ถูกเรียกว่า VICARIATUS หรือ VICARIATE บางท่านได้พยายามแปลเป็นภาษาไทยโดยใช้คำว่า “เทียบสังฆมณฑล” ซึ่งก็เป็นการแปลเพื่อให้เข้าใจเพียงว่า ขอบเขตนั้นๆ ยังไม่ใช่ สังฆมณฑลเท่านั้น จะเรียกว่าเป็นการแปลคงไม่ถูก น่าจะเรียกว่าเป็นการให้ความหมายมากกว่า อันที่จริง VICARIATE หรือ MISSION และสังฆมณฑล (DIOCESE) เป็น 2 สถาบันที่มีลักษณะแตกต่างกัน บางสังฆมณฑลอาจถูกแต่งตั้งขึ้นโดยไม่ได้เป็น MISSION มาก่อนก็ได้ อย่างไรก็ตามใน COMMENTARY ของกฎหมายพระศาสนจักรภาษาอิตาเลี่ยน ได้บอกไว้ว่า VICARIATE มีความคล้ายคลึงกับสังฆมณฑล เอาเป็นว่าในขณะที่เรายังไม่มีคำอื่นที่ดีกว่าคำว่า “เทียบสังฆมณฑล” เพื่อใช้แทนคำว่า VICARIATE หรือ MISSION เราก็ใช้คำนี้กันไปก่อน ประเทศสยามได้รับการยกขึ้นเป็นประเทศมิสซังอย่างเป็นทางการโดย พระสันตะปาปา CLEMENT IX โดยเอกสารทางการของพระศาสนจักร ชื่อ CUM SICUT ของวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1699 และ SPECULATORES ของวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1669 พระสังฆราช PALLU และ LAMBERT DE LA MOTTE เป็นผู้เสนอเรื่องต่อ ROME หลังจากรับการยกขึ้นเป็นมิสซังแล้ว จึงเรียกดินแดนสยามนี้ว่า มิสซังสยาม อย่างเป็นทางการ
มิสซังสยามถูกปกครองโดย APOSTOLIC VICAR คนแรกคือ พระสังฆราชLANEAU ดังนั้นการที่สยามถูกยกขึ้นเป็น “มิสซัง” จริงๆ นั้นเกิดมาจากการวิ่งเต้นของพวกมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส และก็เป็นบรรดามิชชันนารีคณะ M.E.P. นี้เองที่ได้ทำงานอยู่ในมิสซังสยามอย่างต่อเนื่อง (เกือบตลอด) มาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นพระสงฆ์คณะนี้เองที่ได้ก่อตั้งบ้านเณรขึ้น พระสงฆ์พื้นเมืองก็ได้เกิดขึ้นมาภายใต้การอบรมสั่งสอนของพวกพระสงฆ์คณะ M.E.P. ชาวฝรั่งเศส แน่นนอนที่สุดอิทธิพลด้านภาษาฝรั่งเศสย่อมต้องเข้ามามีบทบาทอยู่ในชีวิตประจำวัน แม้ในปัจจุบันนี้อิทธิพลนี้ก็ยังคงมีอยู่ เช่น บรรดาพระสงฆ์ที่ได้รับการอบรมจากคณะสงฆ์ M.E.P. ได้เรียนรู้ภาษาฝรั่งเศส บรรดาพระสงฆ์มักเรียกสำนักมิสซังว่า โปรกือร์ (PROCURE) ซึ่งมาจากภาษาฝรั่งเศส เป็นต้น นอกจากนั้นคำว่า MISSION (มิสซีออง) ในภาษาฝรั่งเศสก็ไม่ยากแก่การเพี้ยนมาเป็นคำว่า “มิสซัง” ผมได้สอบถามเพื่อนๆ ที่พูดภาษาโปรตุเกสเกี่ยวกับการออกเสียงคำว่า “MISSAON” ได้ความว่า คำนี้ออกเสียงว่า “มิส-ซาว” โดยเน้นเสียงพยางค์สุดท้าย เมื่อเทียบดูการออกเสียงคำนี้ระหว่างภาษาโปรตุเกส และภาษาฝรั่งเศสแล้ว ก็ได้ผลใกล้เคียงกัน ภาษาฝรั่งเศสก็เน้นเสียงพยางค์หลังเช่นเดียวกัน แต่เมื่อคำนึงดูอิทธิพลของพวกฝรั่งเศสแล้ว คำว่า “มิสซัง” ที่เราใช้กันอยู่นี้ก็น่าที่จะมาจากภาษาฝรั่งเศสมากกว่าภาษาโปรตุเกส
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1669 มิสซังสยามถูกปกครองโดย APOSTOLIC VICAR แต่ APOSTOLIC VICAR คนแรก คือ พระสังฆราช LANEAU ได้รับการอภิเษกเป็นสังฆราชในวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1674 มิสซังสยามอยู่ในการปกครองแบบนี้มาจนถึง ค.ศ.1965 ซึ่งได้มีการแบ่งมิสซังสยามและยกขึ้นมาสู่ระดับสังฆมณฑล โดยแบ่งเป็น 2 แขวงทางพระศาสนจักร (ECCLESIASTICAL PROVINCES) คือแขวงกรุงเทพฯ และแขวงท่าแร่-หนองแสง ดังนั้น กรุงเทพฯ และ ท่าแร่-หนองแสง จึงถูกยกขึ้นมาสู่ระดับอัครสังฆมณฑล และในแต่ละอัครสังฆมณฑล ก็มีสังฆมณฑลลูก (SUFFRAGAN DIOCESE) ประกอบไว้ด้วย แต่ละสังฆมณฑลก็มีสังฆราชของตนเป็นผู้ปกครองเพื่อให้เข้าใจถึงความเป็นมาตั้งแต่สยามยังเป็น “มิสซังสยาม” จนมาเป็นอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ โปรดดูตารางต่อไปนี้
มิสซังสยาม
|
ลำดับที่
|
รายชื่อพระสังฆราช
|
พระสังฆราชแห่ง
|
ระยะเวลา
|
1.
|
พระสังฆราช LANEAU
|
METELLOPOLIS
|
1674-1696
|
2.
|
พระสังฆราช FERREUX
|
|
1696-1698
|
3.
|
พระสังฆราช DE CICE
|
SABULE
|
1700-1727
|
4.
|
พระสังฆราช DE QUERALAY
|
ROSALIA
|
1727-1736
|
5.
|
พระสังฆราช LEMAIRE
|
|
1736-1738
|
6.
|
พระสังฆราช DE LOLIERE
|
JULIOPOLIS
|
1738-1755
|
7.
|
พระสังฆราช BRIGOT
|
TABRACA
|
1755-1767
|
8.
|
พระสังฆราช LE BON
|
METELLOPOLIS
|
1768-1780
|
9.
|
พระสังฆราช COUDE
|
RHESI
|
1782-1785
|
10.
|
พระสังฆราช GARNAULT
|
METELLOPOLIS
|
1786-1811
|
11.
|
พระสังฆราช FLORENS
|
SOZOPOLIS
|
1811-1834
|
12.
|
พระสังฆราช COURVEZY
|
BIDE
|
1834-1841
|
13.
|
พระสังฆราช PALLEGOIX
|
MALLOS
|
1841-1862
|
14.
|
พระสังฆราช DUPOND
|
AZOTH
|
1865-1872
|
15.
|
พระสังฆราช L.VEY
|
GERAZA
|
1875-1909
|
16.
|
พระสังฆราช PERROS
|
ZOARA
|
1909-1947
|
17.
|
พระสังฆราช L.CHORIN
|
POLISTYLOS
|
1947-1965
|
|
พระสังฆราช ยวง นิตโย (ผู้ช่วย)
|
OBBA
|
1963-1965
|
อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
|
1.
|
พระอัครสังฆราช ยวง นิตโย
|
BANGKOK
|
1965-1973
|
2.
|
พระอัครสังฆราช มีชัย กิจบุญชู
|
BANGKOK
|
1973 - 2009
|
3.
|
พระอัครสังฆราช เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช
|
BANGKOK
|
2009-ปัจจุบัน
|
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 ที่มิสซังสยามได้รับการแบ่งและยกขึ้นเป็นสังฆมณฑลต่างๆ มาจนถึงปี ค.ศ. 1990 ก็เป็นเวลา 25 ปี สำหรับเรื่องการแบ่งแยกและการยกมิสซังสยามเช่นนี้เพื่อให้มีการปกครองและบริหารแบบฐานันดรของพระศาสนจักร (ECCLESIASTICAL HIERARCHY) ในปี ค.ศ. 1990 นี้ จะยังไม่พูดในบทความนี้ ขอให้สังเกตว่าในขณะที่พระศาสนจักรในเมืองไทยยังคงเป็นมิสซังสยามอยู่นี้ มิสซังสยามอยู่ในระบบการปกครองบริหารโดยมี APOSTOLIC VICAR เป็นประมุข เราอาจจะแปลได้ว่า “รองอัครสาวก” หรือ “ผู้แทนพระสันตะปาปา” โดย APOSTOLIC VICAR นี้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นสังฆราชของสังฆมณฑลใดสังฆมณฑลหนึ่ง ซึ่งถือเป็นตำแหน่งทางการของพระศาสนจักร เวลาเดียวกันถูกถือว่าเป็นผู้ที่ถูกส่งมาในฐานะผู้แทนพระสันตะปาปา ในลักษณะเช่นนี้ APOSTOLIC VICAR จึงเป็น TITULAR BISHOP (IN PARTIBUS INFIDELIUM) ซึ่งหมายความว่าเป็นสังฆราช แต่ไม่ต้องประจำ (RESIDENCE) ในท้องที่ที่ถูกกำหนดไว้ตามตำแหน่ง (สังคายนาที่เมือง TRENT กำชับเรื่องนี้อย่างแข็งขัน) แต่ให้ไปทำหน้าที่เป็นผู้แทนพระสันตะปาปาแทน TITLE ที่ได้รับมาจึงเป็นแค่เพียงเกียรติศักดิ์เท่านั้น
เหตุผลที่สมณกระทรวง PROPAGANDA FIDE ต้องส่ง APOSTOLIC VICAR ออกมาทำงานในลักษณะเช่นนี้หากไม่ทำเช่นนี้ มันจะไม่สิ้นเรื่องอย่างว่า แต่จะกลายเป็นก่อเรื่องมากขึ้น เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและน่าสนใจ ผมจะขอสรุปเหตุผลให้ฟังย่อๆ โดยใช้ภูมิหลัง (BACKGROUND) บางอย่างมาประกอบ ดังนี้
ในศตวรรษที่ 14 และ 15 แขกมุสลิม หรือพวกเติร์ก (TURK) กำลังมีอำนาจมากและรุกรานยุโรป และเมื่อเมืองสำคัญเช่น CONSTANTINOPLE ถูกตีแตกในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1453 ชาวยุโรป และพระศาสนจักรเองก็เริ่มกลัวกันว่า ยุโรปจะรอดพ้นมือของพวกเติร์กหรือไม่ ในยุโรปตอนนั้นก็มีเพียงประเทศ 2 ประเทศที่มีอำนาจและเข้มแข็งเพียงพอที่จะต้านทานการรุกรานของพวกแขกมุสลิมได้ ได้แก่ โปรตุเกส และสเปน นอกจากมีอำนาจและกำลังเพียงพอแล้ว ยังมีความก้าวหน้าในการสำรวจดินแดนใหม่ๆ อีกด้วย กษัตริย์ของทั้ง 2 ประเทศ (ซึ่งเป็นประเทศคริสตัง) ต่างก็ขออำนาจจากพระสันตะปาปา ที่จะทำหน้าที่เผยแพร่ความเชื่อไปยังดินแดนที่เพิ่งค้นพบใหม่ๆ เหล่านั้นบรรดาพระสันตะปาปาในสมัยนั้น ต่างก็เห็นถึงประโยชน์ทั้งด้านวิญญาณและด้านวัตถุด้วย ก็ได้มอบสิทธิพิเศษมากมายแก่พวกนักสำรวจของ โปรตุเกส และสเปน และมอบหมายให้ทั้ง 2 ประเทศนี้ทำหน้าที่เผยแพร่ความเชื่อ ในลักษณะเช่นนี้ สิทธิพิเศษเหล่านี้ทำให้ประเทศโปรตุเกส และสเปน กุมบังเหียนการแพร่ธรรมเอาไว้ รวมทั้งยังประโยชน์ต่างๆ ด้วย เราเรียกรวมๆ ว่า PADROADO หรือ PATRONAGE ผมขอยกตัวอย่างเล็กๆ น้อย ของสิทธิพิเศษเหล่านี้ เช่น
- โปรตุเกส และสเปน มีสิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียวที่จะเผยแพร่ศาสนาคาทอลิกในดินแดนที่ค้นพบใหม่ๆ
- มีสิทธิ์กำหนดผู้ที่จะเป็นสังฆราช พระสงฆ์ ประจำตามสถานที่ต่างๆ มีสิทธิ์สร้างวัดวาอารามและอื่นๆ
- ผู้ที่จะเข้ามาในดินแดนเหล่านี้ ที่ถูกค้นพบเพื่อเผยแพร่ศาสนา ต้องได้รับอนุญาตจากโปรตุเกส หรือสเปน เสียก่อนและต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ในสถานที่ที่กำหนดไว้ เช่น โปรตุเกส กำหนดให้กรุงลิสบอนเป็นจุดตรวจ เป็นต้น
และเนื่องจากทั้งโปรตุเกส และสเปนต่างก็เป็นมหาอำนาจด้วยกันทั้งคู่ในสมัยนั้น เพื่อมิให้ทะเลาะวิวาทและบาดหมางกันเอง โลกใบนี้กว้างใหญ่ พระสันตะปาปา ALEXANDER VI จึงได้ออกกฤษฏีกา INTER CAETERA วันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1493 แบ่งโลกออกเป็น 2 ซีก โดยการขีดเส้นจากขั้วโลกหนึ่งไปยังอีกขั้วโลกหนึ่ง ซีกโลกตะวันตกมอบให้สเปน, ด้านตะวันออกมอบให้โปรตุเกส ทั้งโปรตุเกส และสเปน ต่างก็หวงแหนสิทธิพิเศษเหล่านี้ ซึ่งได้รับการเพิ่มพูนมากขึ้นในสมัยของพระสันตะปาปายุคต่อๆ มา ใครจะมาล่วงล้ำสิทธิพิเศษนี้ในดินแดนของตนไม่ได้ เรื่องราวของการหวงแหนสิทธิเหล่านี้มีมาจนถึงศตวรรษที่ 19 แม้ในสมัยที่หมดความเป็นมหาอำนาจไปแล้วก็ตาม เราจะเห็นว่าในระบบนี้ พระสันตะปาปาสูญเสียอำนาจในการแพร่ธรรมไปอย่างมากมายในดินแดนใหม่ๆ เพราะตกอยู่ในมือของโปรตุเกสและสเปน (ใครดูภาพยนตร์เรื่อง THE MISSION ก็คงจะพอเข้าใจ เป็นเห็นภาพชัดเจนขึ้น แต่กรุณาอย่าเชื่อภาพยนตร์ทั้งหมดว่าเป็นเรื่องจริง) ดังนั้นหลังจากการสังคายนาสากลที่เมือง TRENT ระหว่างปี ค.ศ. 1545-1563, ทางกรุงโรมเห็นว่าระบบนี้ไม่เหมาะสม และมีหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการแพร่ธรรม จึงหาหนทางที่จะเอาอำนาจการแพร่ธรรมกลับคืนมาและเพื่อมิให้มีข้อบาดหมางกับทั้ง 2 ประเทศนั้นด้วย ก็ต้องหาทางออกที่เหมาะสมโดยการก่อตั้งสมณกระทรวง PROPAGANDA FIDE ขึ้นในปี ค.ศ. 1622 เพื่อรับผิดชอบในการแพร่ธรรมในส่วนต่างๆ ของโลก บังเอิญในช่วงปี ค.ศ. 1622 นั้น ประเทศโปรตุเกสกำลังอยู่ในสภาพสูญเสียความเป็นมหาอำนาจ อย่างไรก็ตาม การที่ PROPAGANDA FIDE จะทำอะไรสักอย่างเพื่อการแพร่ธรรม ก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อมิให้เกิดเรื่องขึ้นได้ เพราะอาจจะไปล่วงล้ำสิทธิพิเศษต่างๆ เหล่านั้น การแต่งตั้งสังฆราชปกติเป็นไปไม่ได้เพราะเป็นสิทธิพิเศษประการหนึ่ง แต่ก็ไม่มีสิทธิพิเศษข้อใดที่ขัดแย้งกับการส่งผู้แทนพระสันตะปาปา เข้ามาดูงานในเขตดินแดนเหล่านั้น รวมถึงในเขตที่ยังไม่ถูกยึดครองโดย โปรตุเกส และสเปน ดังนั้นทางเดียวที่ทำได้คือ แต่งตั้งพระสังฆราชและมอบหมายให้เป็น APOSTOLIC VICAR ดังกล่าว ถึงกระนั้นก็ดี ทั้ง 2 ประเทศนั้นต่างก็ถือว่า บรรดามิชชันนารีของ PROPAGANDA FIDE ได้เข้ามาล่วงล้ำสิทธิพิเศษของตน จึงไม่ยอมรับอำนาจของพระสังฆราชที่ถูกส่งมา เรื่องของเรื่องก็คือ บรรดามิชชันนารีของ PADROADO และของ PROPAGANDA FIDE ก็ต้องทะเลาะกัน และบาดหมางกันในทุกภาคของโลกก็ว่าได้ (สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าศึกษาอยู่มาก ในมิสซังสยามเองก็มีการทะเลาะกันเรื่องนี้เช่นเดียวกัน)
ในส่วนที่เกี่ยวกับมิสซังสยามบรรดา APOSTOLIC VICAR ที่ทาง PROPAGANDA FIDE ส่งมาจากคณะพระสงฆ์ M.E.P. (MISSIONS ETRANGERES DE PARIS) ทั้ง 3 ท่านแรกคือ พระสังฆราช LAMBCRT DE LA MOTTE, พระสังฆราช PALLU และพระสังฆราช LGNATIUS COTOLENDI มิได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพระสันตะปาปาในมิสซังสยาม แต่เนื่องจากในดินแดนที่ถูกกำหนดมาคือ จีน, ตังเกี๋ย และโคจินจีน กำลังมีการเบียดเบียนศาสนา พระสังฆราช LAMBERT และพระสังฆราช PALLU จึงต้องตั้งหลักอยู่ที่อยุธยา ส่วนท่าน COTOLENDI เสียชีวิตไป พระสังฆราชทั้ง 2 เห็นว่าประเทศสยามให้อิสระต่อการประกาศพระศาสนา สถานการณ์ต่างๆ ก็เอื้ออำนวย จึงขออนุญาตจากโรม ทำงานในดินแดนนี้ รวมทั้งขอให้โรม ยกดินแดนนี้ขึ้นเป็นเขตปกครองโดยมี APOSTOLIC VICAR เป็นประมุขดูแล ซึ่งการขอนี้ก็สำเร็จเป็นไปในปี ค.ศ. 1669 และปี ค.ศ. 1674 มิสซังสยามก็มีพระสังฆราช LANEAU เป็น APOSTOLIC VICAR คนแรกแน่นอนที่สุดบรรดามิชชันนารีของ PADROADO ซึ่งอยู่ในสยามเวลานั้น ย่อมไม่ยอมรับอำนาจของพระสังฆราช
มิสซังสยามจึงต้องถูกนับว่าเป็นมิสซังแรกที่มีมิชชันนารี M.E.P. ได้มาทำงาน และถูกนับว่าเป็นมิสซังแรกของคณะสงฆ์คณะนี้ด้วย นอกจากนี้ที่อยุธยาเองยังเป็นแห่งแรกที่มีการจัดประชุม SYNOD ปี ค.ศ. 1664 ผลของการประชุมนี้ ทำให้เกิดมีการพิมพ์คู่มือที่รวบรวมคำสั่งสอน และวิธีการแพร่ธรรมสำหรับพวกมิชชันนารีขึ้น คู่มือนี้ถูกจัดพิมพ์ขึ้นถึง 12 ครั้ง มิสซังสยามยังเป็นสถานที่แห่งแรกที่ก่อตั้งบ้านเณร หรือวิทยาลัยกลางขึ้นมาเป็นแห่งแรกของคณะ M.E.P. เพื่อผลิตพระสงฆ์พื้นเมืองขึ้นมาทำงานโดยจัดตั้งขึ้นแห่งแรกที่มหาพราหมณ์ (ต่อมาย้ายไปที่อันนาม, อินเดีย และปีนัง ตามลำดับ) ในการประชุม SYNOD ครั้งนั้นยังได้ตกลงกันก่อนที่จะก่อตั้งคณะนักบวชพื้นเมืองที่เรียกกันว่า “คณะรักไม้กางเขน AMANTES DE LA CROIX” ขึ้นมาด้วย โดยที่จะให้มีสมาชิก มีทั้งชายและหญิง รวมถึงพระสงฆ์ นักบวช และฆราวาสด้วย แต่เท่าที่สามารถจัดตั้งได้ก็เป็นแค่นักบวชหญิงเท่านั้น
มิสซังสยามเจริญก้าวหน้าขึ้นมาเป็นลำดับ แม้ว่าจะมีอุปสรรคนานัปการ แต่ก็เรียกได้ว่าก้าวหน้าแม้จะเป็นความก้าวหน้าอย่างช้าๆ ก็ตาม ในสมัยต่อๆ มา ก็มีการแยกมิสซังลาวออกจากมิสซังสยามและมีการเผยแพร่ศาสนาออกไปตามส่วนต่างๆ ของประเทศ จนในที่สุดก็มีการแบ่งการปกครองออกเป็นสังฆมณฑลต่างๆ ในปัจจุบันเราก็ยังเรียกติดปากว่า สังฆมณฑลต่างๆ นั้นเป็นมิสซัง เช่น เรียกสังฆมณฑลจันทบุรีว่า มิสซังจันทบุรี ซึ่งถ้าหากจะเรียกกันตามฐานะที่ถูกต้องแล้ว ก็คงจะเรียกเป็น มิสซังไม่ได้ APOSTOLIC VICAR คนสุดท้ายของมิสซังสยาม ได้แก่ พระสังฆราชยวง นิตโย เป็น TILULAR PROSHOP ของ OBBA และเป็นพระสังฆราชยวง นิตโย นี้เองที่เป็นพระอัครสังฆราชองค์แรกแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ในปี ค.ศ. 1965
อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
เมื่อเราเข้าใจคำว่า “มิสซังสยาม” คำนี้แล้ว ก็ควรจะหันมาสนใจเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างมิสซัง กับ อัครสังฆมณฑล ซึ่งก็คงหลีกไม่ได้ที่จะต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่าง สังฆมณฑล และอัครสังฆมณฑลด้วย
ในวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1965 โดยอาศัยแรงสนับสนุนจากพระสังฆราช JOHN GORDON และพระสังฆราช ANGELO PEDRONI สมณทูตวาติกันประจำคาบสมุทรอินโดจีน โรมได้แต่งตั้งและแบ่งแยกมิสซังสยาม ออกเป็นแขวงการปกครองของพระศาสนจักร 2 แขวงด้วยกัน คือ แขวงกรุงเทพฯ และแขวงท่าแร่-หนองแสง คำว่าแขวงนี้ใช้คำภาษาอังกฤษว่า ECCLESIASTICAL PROVINCE หรืออาจเรียกเป็น METROPOLITANS แห่งกรุงเทพฯ มีสังฆมณฑลอื่นๆ ประกอบด้วย สังฆมณฑลราชบุรี, สังฆมณฑลจันทบุรี, สังฆมณฑลเชียงใหม่ ส่วน METROPLITAN แห่งท่าแร่-หนองแสง มีสังฆมณฑลอื่นๆ ประกอบด้วย สังฆมณฑลอุดรธานี, สังฆมณฑลอุบลราชธานี และสังฆมณฑลนครราชสีมา
โปรดสังเกตว่า เขตจันทบุรีถูกยกขึ้นมาเป็นมิสซังแล้ว ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1994 และสังฆมณฑลอุบลราชธานีก็อยู่ในระดับมิสซังแล้วตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1953 สังฆมณฑลที่ถูกยกขึ้นมาในวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ.1965 จึงมีเพียง 6 สังฆมณฑลดังกล่าวข้างบนแล้ว ส่วนสังฆมณฑลนครสวรรค์ได้รับการยกขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1967 และสังฆมณฑลสุราษฏร์ธานี เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1969
หนังสือพิมพ์ทางการของรัฐวาติกัน (L’OSSERVATORE ROMANO) ได้ประกาศว่าพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 โปรดให้สถาปนาพระฐานานุกรมในประเทศไทย (ECCLESIASTICAL HIERARCHY) ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1965 และในหนังสือประวัติพระศาสนจักรไทยได้กล่าวไว้ว่าข่าวนี้ย่อมจะยังความยินดีอย่างใหญ่หลวงมาสู่ชาวคาทอลิกในประเทศไทย เป็นอันว่าพระศาสนจักรในประเทศได้ย่างขี้นสู่ระดับเดียวกันกับพระศาสนจักรในประเทศที่เจริญแล้ว แน่นอน! ความยินดีนี้ย่อมต้องมีเหตุผลจึงจะดีใจกันได้ เหตุผลที่ว่านี้ก็คงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากว่าเป็นเพราะต้องมีความแตกต่างกันระหว่าง การปกครองมิสซังสยามโดย APOSTOLIC VICAR กับ การปกครองของสังฆมณทลโดยมีพระสังฆราชเป็นประมุข
การเปลี่ยนระบบการปกครองจากมิสซัง มาเป็นสังฆมณฑล หากจะให้เปรียบเทียบก็อาจเปรียบได้เหมือนกับกรุงศรีอยุธยาที่ถูกปกครองโดยกษัตริย์ที่กษัตริย์พม่าแต่งตั้งขึ้นหลังจากชนะกรุงศรีอยุธยาแล้ว กับการปกครองโดยอิสระโดยกษัตริย์ไทย การเปรียบเทียบแบบนี้อาจจะไม่ดีพอ แต่ผมยกขึ้นมาก็เพื่อให้เข้าใจจริงขึ้นเท่านั้น และเพื่อให้เป็นหลักเป็นเกณฑ์สักหน่อย ผมก็จะขอยกเอากฎหมายของพระศาสนจักรฉบับปี ค.ศ. 1983 มาแสดงถึงความแตกต่างกันนี้สักเล็กน้อย ความจริงผมน่าจะเอากฎหมายฉบับปี ค.ศ. 1917 มาใช้มากกว่าแต่เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย กฏหมายฉบับใหม่นี้ก็น่าจะเหมาะสมมากกว่า
1. การปกครองแบบ
APOSTOLIC VICARIATE และ APOSTOLIC PREFECTURE
กฎหมายมาตรา 371 กล่าวไว้มีใจความว่า APOSTOLIC VICARIATE และ APOSTOLIC PREFECTURE ได้แก่ส่วนที่แน่นอนส่วนหนึ่งของประชากรของพระซึ่งยังไม่ได้ถูกยกขึ้นเป็นสังฆมณฑล เนื่องมาจากสภาพแวดล้อมเฉพาะเจาะจง และซึ่งถูกมอบหมายให้อยู่ในการอภิบาลของ APOSTOLIC VICAR หรือ APOSTOLIC PREFECT ซึ่งปกครองส่วนนี้ในนามของพระสันตะปาปา
โดยทั่วๆ ไปแล้วก่อนที่ดินแดนมิสซังจะกลายมาเป็นสังฆมณฑล ก็จะมีขบวนการดังต่อไปนี้ คือ
ก. จัดตั้งขึ้นเป็นมิสซัง (MISSION)
ข. จากนั้น มิสซังจะถูกยกขึ้นเป็น APOSTOLIC PREFECTURE (ในกรณีนี้ มิสซังราชบุรี ได้เคยถูกยกขึ้นมาถึงขั้นนี้ โดยพระสงฆ์ซาเลเซียน (SALESIAN)
ค. และที่สุด จะกลายมาเป็น APOSTOLIC VICARIATE ปกครองโดย TILUAR BISHOP
ในกฎหมายปี ค.ศ. 1917 (CANN. 293-311) จะกล่าวถึงฐานะทางกฎหมายของ APOSTOLIC VICAR และ PREFECT ไว้อย่างชัดเจน แต่ในกฎหมายใหม่นี้มิได้กระทำเช่นนั้น อาจเป็นเพราะการปกครองแบบนี้ในสมัยปัจจุบันเกือบหมดไปแล้วก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่ก็พูดถึงการทำหน้าที่ต่างๆ ของพวกผู้แทนพระสันตะปาปานี้ว่าพวกเขาจะกระทำหน้าที่ในนามของพระสันตะปาปาเอง ตามปกติแล้ว จะทำงานผ่านทางสมณกระทรวง PROPAGANDA FIDE และเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภพ กฎหมายมาตรา 495 และมาตรา 502 ยังสั่งให้มีสภามิสซัง (MISSIONARY COUNCILS) เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับงานแพร่ธรรมด้วย พวกผู้แทนพระสันตะปาปา มีหน้าที่ที่จะต้องมาเคารพหลุมศพ นักบุญเปโตร และนักบุญเปาโล พร้อมทั้งปรากฎตัวต่อหน้าพระสันตะปาปาตามเวลาที่กำหนด ซึ่งเรียกว่า AD LIMINA VISIT. (CAN.400) แต่หากไม่สามารถมาได้ ก็สามารถส่งผู้แทนซึ่งอาจเป็นคนหนึ่งคนใดที่อาศัยอยู่ที่โรงแรมแล้ว ทำหน้าที่แทนได้ส่วน APOSTOLIC PREFECT ไม่ถูกบังคับให้ทำตามกฎหมายข้อนี้ (ในกรณีของสังฆมณฑล หากสังฆราชมา AD LIMINA VISIT ไม่ได้ ผู้แทนจะต้องเป็นบุคคลในคณะสงฆ์ที่อาศัยอยู่ในสังฆมณฑลนั้นๆ) ความจริงยังมีกฎหมายอีกหลายข้อที่กล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ ของผู้แทนพระสันตะปาปา แต่ยังไม่จำเป็นต้องกล่าวอย่างละเอียดทั้งหมด
2. การปกครองแบบ
สังฆมณฑล (DIOCESE)
กฎหมายมาตรา 369 กล่าวไว้มีใจความว่า สังฆมณฑลได้แก่ส่วนหนึ่งของประชากรของพระ ซึ่งถูกมอบหมายให้อยู่ภายใต้การอภิบาลของสังฆราช โดยความร่วมมือของคณะสงฆ์ เพื่อว่าการร่วมมือร่วมใจภายใต้นายชุมภาบาลผู้นี้ในองค์พระจิตเจ้า โดยผ่านทางพระวรสารและศีลมหาสนิทจะเป็นการสร้างพระศาสนจักรเฉพาะ ในที่ซึ่งจะสามารถพบพระศาสนจักรหนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์สากล และสืบจากอัครสาวก ของพระเยซูคริสตเจ้าได้
พระสังฆราชของสังฆมณฑลเป็นผู้แทนของพระศาสนจักรสากล (ไม่ใช่ของพระสันตะปาปาเท่านั้น) ทำงานร่วมกับคณะสงฆ์และมีฝ่ายงานต่างๆ เป็นระบบระเบียบบทบาทหน้าที่ของพระสังฆราชมีกำหนดไว้ในกฎหมายใหม่นี้อย่างกว้างขวางมาก จะเรียกว่าเป็นพระสันตะปาปาของสังฆมณฑลก็ไม่น่าจะผิดจากภาคปฏิบัติมากนัก
เราสามารถพูดได้ว่า การที่เขตหนึ่งๆ ถูกยกขึ้นมาอยู่ในระดับสังฆมณฑล ต้องถือว่ามีความสำคัญมากเพราะมีการปกครองที่อิสระมากกว่า มีระบบระเบียบ มีศักดิ์ศรีสูงมาก ไม่ถูกถือว่าเป็น SUBDIVSION หรือ ส่วนย่อยของพระศาสนจักรสากลอีกต่อไป แต่เป็นผู้แทน หรือภาพเหมือนของพระศาสนจักรสากล
เรื่องสุดท้ายที่ผมขอพูดสั้นๆ ก็คือ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1965 นั่นเอง กรุงเทพฯ และท่าแร่-หนองแสงได้ถูกยกขึ้นเป็น METROPOLITANS พระสังฆราชแห่งกรุงเทพฯ และท่าแร่-หนองแสง ถูกยกขึ้นเป็นมาเป็นอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑล การเป็นอัครสังฆมณฑลนี้มีความสำคัญอย่างไรและมีความหมายอย่างไร และอัครสังฆมณฑลมีบทบาทและหน้าที่ต่อสังฆมณฑลอื่นๆ ที่ประ กอบอยู่ในเขต METROPORLITAN ของตนอย่างไร ผมขอแนะนำผู้ที่สนใจให้ไปอ่านดูวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของคุณพ่อวิชา หิรัญญการ ซึ่งได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ความหมายของคำ ประวัติความเป็นมา หน้าที่และปัญหาที่เกิดขึ้น วิทยานิพนธ์เล่มนี้จะพบได้ที่ห้องสมุดสำนักพระสังฆราช (หากไม่มีก็น่าจะมีไว้) หรือมิฉะนั้นก็ต้องขอจากคุณพ่อวิชา คำว่า METROPOLITAN นี้ปรากฏขึ้นมาครั้งแรกในสังคายนาสากลที่เมือง NICEA ในปี 325 ใน CANON ที่ 4 สิทธิและหน้าที่ของ METROPOLITAN ได้ถูกขยายขอบเขตมากขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาต่อมา หัวหน้าของ METROPOLITAN มีหน้าที่ในการเรียกและเป็นประธานการประชุม SYNOD เยี่ยมเยียนสังฆมณฑลที่อยู่ในแขวงของตนและคอยดูแลเรื่องการเลือกสังฆราชใหม่ด้วย ในกรณีที่ตำแหน่งว่างลง อำนาจของ METROPORLITAN เคยมีมากจนกระทั่งว่าเกิดปัญหากับพระสันตะปาปาว่าอำนาจของ METROPOLITAN เป็นอำนาจเดียวกันกับของพระสันตะปาปาหรือไม่ ในที่สุดฝ่ายพระสันตะปาปาก็ชนะ และชัยชนะนี้ยังสามารถเห็นได้โดยอาศัย PALLIUM ซึ่งเป็นเครื่องหมายแทนอำนาจสูงสุดของพระสันตะปาปา และพระสันตะปาปาก็จะมอบอำนาจให้แก่บรรดาพระสังฆราชโดย PALLIUM นี้ แน่นอนอำนาจของ METROPOLITAN มีมากพอสมควรที่เดียว แต่หลายครั้งอำนาจนี้ก็ถูกขัดขวางเพราะไปกระทบกระเทือนคนอื่นด้วย บางครั้งก็อาจถูกถือว่าเป็นการก้าวก่ายในงานของสังฆมณฑลอื่นๆ เป็นต้น ในหน้า 123 ของวิทยานิพนธ์ของคุณพ่อวิชา ได้มีการเสนอแนะว่าคงจะเป็นการดีกว่าหากจะให้ METROPOLITAN เข้ามามีส่วนในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาด้วย นี่ก็ย่อมแสดงว่า การที่ได้รับการยกขึ้นมาเป็น METROPOLITAN ต้องมีความหมายพิเศษในพระศาสนจักร
อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้รับเกียรตินี้คือถูกยกขึ้นมาเป็น METROPOLITAN มาถึง 25 ปีแล้ว ย่อมต้องมีความหมายเป็นพิเศษสำหรับชาวเราทุกคน เราจะพูดว่าอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เป็นแม่ของอัครสังฆมณฑลอื่นๆ ในประเทศไทยก็ไม่ผิดอะไร นอกจากนี้ประมุขของอัครสังฆมณฑลปัจจุบันก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระคาร์ดินัล คือ พระคาร์ดินัล มีชัย กิจบุญชู อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จึงมีความสมควรด้วยประการทั้งปวง ที่จะเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี นี้อย่างมีความหมายมากที่สุด
ผมหวังว่าผู้อ่านที่ติดตามจนถึงบรรทัดนี้ คงจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง ไม่มากก็น้อย สำนวนภาษาการเขียนของผมมีข้อบกพร่องมากมาย ก็ขออภัยด้วย ความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในบท ความนี้ก็ขอความกรุณาจอกผู้รู้ช่วยแก้ไขให้ด้วย สุดท้ายนี้เบื้องหลังแท้จริงของความเป็นมาของอัครสังฆมณฑล ได้แก่ ความใจกว้าง ความเสียสละ ของบรรดามิชชันนารีทั้งหลาย ให้เรามอบคำภาวนาและน้ำใจของเราแด่พวกท่านเหล่านั้นด้วย.