-
Category: การก่อตั้งคณะสงฆ์พื้นเมือง (วิทยาลัยกลาง)
-
Published on Wednesday, 30 September 2015 02:31
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2235
ในสมัยพระสังฆราชเลอบ็อง ซึ่งตรงกับในสมัยของพระเจ้าตากสิน ได้เกิดเหตุการณ์หลายอย่าง เช่น เกิดความยุ่งยากในเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อนอกรีต ในเรื่องการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามากมาย ข้าราชการคริสตังถูกเบียดเบียน พวกมิชชันนารีถูกใส่ความและถูกขังคุก และที่สุดพระสังฆราชและพวกมิชชันนารีก็ถูกขับไล่ออกจากสยาม
วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1779 พวกมิชชันนารีส่งเรือไปมะละกา และจากนั้นพระสังฆราชเลอ บ็อง เดินทางต่อไปยังเมืองกัวในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1780 ส่วนคุณพ่อการโน กับคุณพ่อ กูเด เดินทางไปเมืองปอนดีเชรี แต่มีความปรารถนาจะพบเรือที่นั่นสักลำ เพื่อเดินทางไปเกาะถลาง (ภูเก็ต)
เป็นอันว่า ไม่มีพระสงฆ์คาทอลิกสักองค์เดียวในพระราชอาณาจักรสยามแล้ว วิทยาลัยกลางก็ล้มสูญไปแล้ว เหลือแต่คริสตังไม่ดีไม่ชั่วไม่กี่ร้อยคน เป็นประจักษ์พยานผลงาน และความยากลำบากที่พวกมิชชันนารีได้สู้ทนมาเป็นเวลากว่าหนึ่งศตวรรษบนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อนิจจา ! เป็นผลงานที่นับว่าน้อย น้อยเต็มที ! เดชะบุญที่พระเป็นเจ้ามิได้ทรงวัดพระคุณของพระองค์ตามผลงานที่เกิด และเมื่ออุตสาห์ทำ แต่ทำไม่ได้ผล หรือมีน้ำใจทำ แต่ทำไม่ได้ พระองค์ก็ยังประทานบำเหน็จให้อยู่
ที่สุดแล้ว เมื่อพระสังฆราชเลอบ็อง เดินทางไปถึงเมืองกัวเพียงไม่กี่เดือน ก็ถึงแก่มรณภาพ ท่านสิ้นใจในอาราม “พระมารดาของพระเจ้า” เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1780 ผู้สำเร็จราชการอาณานิคมโปรตุเกสได้จัดการปลงศพท่านอย่างมโหฬาร พระสังฆราชที่เมืองกัว เป็นผู้นำถวายมหาบูชามิสซาและประกอบพิธีหน้าศพ แม่พระสังฆราชผู้วายชนม์จะได้รับเกียรติในการปลงศพเช่นนี้ เราท่านอาจนึกถามในใจว่า หลุมที่บรรจุร่างอันหาชีวิตไม่แล้วของพระสังฆราช เลอบ็อง มิได้บรรจุมิสซังสยามทั้งมิสซัง ซึ่งดูเหมือนตายแล้ว และเกือบไม่มีทางจะกลับเป็นขึ้นมาใหม่ ด้วยละหรือ
และเหตุการณ์ต่อไปนี้เป็นเหตุการณ์ช่วงสุดท้ายสำหรับวิทยาลัยกลาง
คุณพ่อปิโญ เดอ เบแฮน เป็นอธิการวิทยาลัยกลาง
ในเวลาช่วงนี้เอง บังเอิญมีเหตุการณ์หลายเรื่องเกิดขึ้นพร้อมกันอย่างน่าเจ็บปวดรวดร้าวใจยิ่งนัก กล่าวคือ วิทยาลัยกลาง ซึ่งในศตวรรษที่ 17 เป็นมูลเหตุสำคัญให้ประมุขมิสซังองค์แรกๆ มาตั้งอยู่ในกรุงสยามนั้น เกิดมาล้มสูญไปพร้อมกับพระสังฆราชเลอบ็อง วัดและกิจการต่างๆ ที่ตั้งขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบปี ต่อไปนี้ คือลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1767 จนถึงปี 1782 ทำให้วิทยาลัยกลางต้องถูกยุบไปชั่วคราว
ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น วิทยาลัยกลางย้ายจากกรุงศรีอยุธยาไปตั้งที่ฮอนดัต ในแคว้นโคจินจีน อธิการของวิทยาลัยในปี ค.ศ.1767 คือ คุณพ่อปีโญ เดอ เบแฮน ท่านเป็นมิชชันนารีหนุ่มที่กำหนดให้ไปอยู่แคว้นโคจินจีน แต่เพราะขาดอาจารย์จึงได้รับคำสั่งให้มาอยู่ที่วิทยาลัยนี้ คุณพ่อบัวเรต์ เขียนไว้ว่า “ท่านเป็นสมบัติมีค่ายิ่งสำหรับวิทยาลัย มีคุณสมบัติสูงสำหรับปกครองและมีคุณธรรมอันหาได้ยาก ซึ่งจะเป็นตัวอย่างเตือนใจเด็กเหล่านี้” ไม่กี่ปีต่อมาคุณพ่อปีโญ เดอ เบแฮน ทำให้มิสซังต่างๆ และประเทศฝรั่งเศสที่หาอาณานิคมมีชื่อขจรขจายไปทั่ว ส่วนคุณพ่ออาร์โตด์ นั้น แม้จะสูงอายุกว่าและเคยปกครองสำนักนี้มาแล้ว ก็ขอเป็นผู้ช่วยอธิการใหม่เท่านั้น คุณพ่อปีโญ เอาใจใส่งาน ซึ่งท่านมีความรู้เข้าใจเป็นอย่างดีตั้งแต่ต้นมาแล้ว ท่านเขียนไว้ว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่า งานนี้เป็นงานที่น่าสนใจกว่าหมดในบรรดางานของมิสซัง เป็นเรื่องสำคัญต้องเตือนให้บรรดามิชชันนารีหนุ่มตระหนักในข้อนี้” และเพื่อป้องกันให้กิจการดังกล่าวคงอยู่ ไม่ช้าท่านจะต้องแสดงความเฉลียวฉลาดและความมานะอดทนให้เป็นที่ประจักษ์
เจ้าศรีสังข์-อาจารย์วิทยาลัยกลางต้องเข้าคุก
วันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ.1767 มีคริสตังค์คนหนึ่งมาที่วิทยาลัย เป็น “คนมีเลห์เหลี่ยมเท่าๆ กับเป็นคนเสียสละ” เขามาในนามของเจ้าไทยองค์หนึ่ง ซึ่งหนีมาจากกรุงสยามชื่ อ เจ้าศรีสังข์ เจ้าองค์นี้ของร้องให้มิชชันนารีทั้งสองรับตน ตนจะมาชี้แจงแผนการซึ่งคริสตังผู้นั้นล่วงหน้ามาเล่าให้ทราบแล้ว กล่าวคือ เจ้าศรีสังข์เคยอ่านเรื่องทูตไทยและฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 17 ในหนังสือตำนานของพระราชอาณาจักร จึงใฝ่ฝันที่จะไปประเทศฝรั่งเศส และแม้จะไม่พูดถึงก็เข้าใจว่าคงใฝ่ฝันที่จะขอกำลังประเทศฝรั่งเศสมากู้ราชบัลลังก์กลับคืนมาด้วยเจ้าชายองค์นี้เป็นชายหนุ่มเฉลียวฉลาดและรอบคอบ พวกมิชชันนารีพรรณนาลักษณะชมเชยไว้มาก แม้ว่าแผนการของเจ้าชายเป็นที่น่าเลื่อมใสหลายด้าน คุณพ่อปีโญ และคุณพ่ออาร์โตด์ กลัวเจ้าเมือง ท่าเตียนจะโกรธ จึงปฏิเสธไม่ยอมรับ เจ้าศรีสังข์เดินทางต่อไปโดยไม่ได้พบมิชชันนารีทั้งสอง ไปขอพำนักลี้ภัยในพระราชสำนักเขมร และก็ได้รับการต้อนรับอย่างดี
การที่มิชชันนารีทั้งสองไม่ยอมรับเจ้าศรีสังข์นั้น นับเป็นความคิดถูกต้องเหมาะสม เพราะเหตุว่าพอเจ้าไทยองค์นั้นจากไป คนของพระเจ้าตากสินก็มาถึงห่าเตียน พร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการมาถวายมักเทียนตูขอให้มอบเจ้าชายที่หนีมาแก่เขา ครั้นทราบว่า เจ้าศรีสังข์ผ่านมาทางฮอนดัต มักเทียนตูก็สั่งให้จับมิชชันนารีทั้งสอง พามาที่ห่าเตียน วันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1768 คุณพ่อปีโญ คุณพ่ออาร์โตด์ และคุณพ่อจาง ก็ถูกจับนำไปขังคุก และถูกสอบถามถึงเจ้าไทยองค์นั้นที่มาหา คุณพ่ออาร์โตด์ ผู้สูงอายุและรู้ภาษาดีกว่าทุกคน อธิบายของเท็จจริงให้ฟัง เขาก็เชื่อ แต่ใคร่จะใช้ท่านล่อให้เจ้าศรีสังข์มาที่ห่าเตียน เขาขอร้องให้ท่านไปเชิญเจ้าชายมา ท่านก็ยินยอม แต่มีข้อแม้ว่า ต้องปล่อยคุณพ่อปีโญ และคุณพ่อจาง เป็นอิสระ
ความจริงท่านก็เตือนพวกข้าราชการแล้วว่า เจ้าไทยคงไม่ยินยอมมาแน่ และท่านจะไม่รับอาสาชักชวนให้มา ท่านเพียงแต่จะไปด้วยกับพวกข้าราชการผู้ถือสารของเจ้าผู้ครองนครเมืองห่าเตียนเท่านั้น เมื่อบังคับให้มิชชันนารีทำตามที่ต้องการไม่ได้ ในที่สุดเขาก็ทำตามที่มิชชันนารีขอ คุณพ่อปีโญ และคุณพ่อจาง ก็กลับไปที่ฮอนดัต ส่วนคุณพ่ออาร์โตด์ เดินทางไปประเทศเขมรพร้อมกับผู้ไปเจรจา เหตุการณ์เป็นไปตามที่คุณพ่ออาร์โตด์คาดไว้ กล่าวคือ เจ้าศรีสังข์ไม่ยอมไปที่ห่าเตียน และคุณพ่ออาร์โตด์ก็เดินทางกลับไปที่ฮอนดัต
พอท่านเดินทางไปถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ทหารคนหนึ่งก็ไปหา กล่าวว่า “คุณพ่อโปรดมากับผม ท่านอุปราชสั่งให้เอาคุณพ่อใส่คุกและติดคา” “ขอขอบพระคุณพระเป็นเจ้า” มิชชันนารีตอบ “ข่าวที่มาบอกนี้เป็นข่าวดี ขอบใจ เราไปกันเดี๋ยวนี้ที่เดียวด้วยความเต็มใจที่สุด”
เมื่อถึงคุก ท่านก็คุกเข่ารับคา ย้ำถ้อยคำที่พระสงฆ์สวดเมื่อสวมเสื้อกาซูลาว่า “ข้าแต่พระเป็นเจ้า ผู้ตรัสว่า แอกของเราอ่อนนุ่ม” คุณพ่อปีโญ เดอ เบแฮน กับคุณพ่อจาง ก็ถูกจำคุกอีกครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากโดยแท้ที่จริงเขาไม่มีอะไรจะตำหนิติโทษท่าน เจ้าหน้าที่ห่าเตียนก็ไม่มีใจเป็นอริศัตรูกับพวกมิชชันนารี ไม่ช้าเขาก็ปล่อยท่านทั้งสามกลับไปบ้าน
วิทยาลัยถูกเผา
ขณะที่อาจารย์ไม่อยู่ สามเณรที่ฮอนดัตคงถือวินัยต่อไปเท่าที่จะถือได้ด้วยความสงบ อันเป็นธรรมดาขอคนญวน เมื่ออาจารย์กลับมาแล้ว เขาก็เริ่มเรียนต่อไปตามเดิม แม้ว่ายิ่งวันยิ่งมีความแร้นแค้นหนักขึ้น
วิทยาลัยขณะนั้นทรุดโทรมมาก ฝนตกในห้องรับประทานอาหารและในห้องนอนเกือบเหมือนๆ กับข้างนอก ทั้งอาจารย์และสามเณรพากันไปตัดไม้ไผ่ ใบและกิ่งไม้ในป่ามาทำกระท่อมใหม่ คุณพ่ออาร์โตด์ ไปอยู่บ้านเล็กๆ อีกหลังหนึ่ง ห่างจากวิทยาลัยเป็นระยะทางเดินไม่กี่วินาที ท่านเอาธุระในการปกครองดูแลสัตบุรุษคริสตังค์เป็นต้น
ในเดือนกันยายน ค.ศ.1769 มักเทียนตูเกิดเรื่องบาดหมางกับพระเจ้าตากสิน จึงสั่งให้จัดทัพเรือโดยให้อยู่ในบังคับบัญชาของบุตรเขย อ้างว่า จะนำข้าวไปส่งที่เมืองบางกอก แต่ที่แท้ตั้งใจจะจับตัวพระเจ้าตากสินโดยมิให้ทันรู้พระองค์ ฝ่ายพระเจ้าตากสินทรงทราบก่อน เพราะมีสายลับรายงาน จึงสั่งให้ยึดข้าวและจับผู้บังคับการเรือทุกลำไว้ มักเทียนตูมีความยุ่งยากลำบากมาก เขมรและจีนหลายพวกหลายฝ่ายได้ถือโอกาสรุกเข้าไปทำลายรัฐส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮอนดัต คุณพ่อปีโญ และคุณพ่อาร์โตด์ หนีไปที่ห่าเตียน สงฆ์ฟรังซัสกันองค์หนึ่ง ชื่อ มาร์แต็ง เดอ รอบเบส กับหญิงต่างศาสนาร่ำรวยคนหนึ่งรับให้อยู่อาศัย ทันทีมักเทียนตูใช้ทหารไปที่วิทยาลัย สั่งให้เผาเสีย เพื่อป้องกันมิให้พวกกบฏเข้าไปหลบอาศัย
คุณพ่ออาร์โดต์ ถึงแก่มรณภาพ
ในระหว่างที่เกิดเหตุร้ายต่างๆ นี้ คุณพ่ออาร์โดต์ก็มาถึงแก่มรณภาพที่ห่าเตียน เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1769 คุณพ่ออาร์โดต์องค์นี้เป็นพระสงฆ์ที่ทำงานแข็งขันมาก “ท่านนั่งฟังสารภาพได้ทั้งวันๆ โดยไม่รับประทานอะไร เวลาค่ำรับประทานข้าวกับถั่วต้มเค็มนิดหน่อย แล้วก็นั่งฟังสารภาพบาปต่อไป “ท่านยกจิตใจขึ้นหาพระเป็นเจ้า โดยสวดภาวนาสั้นๆ บ่อยๆ จนเกิดความเป็นความเคยชินติดนิสัยตราบจนกระทั่งวาระสุดท้าย”
ย้ายวิทยาลัยกลางไปที่วีรัมปัตนัม
เมื่อรู้ว่าคุณพ่อาร์โตด์ ถึงแก่มรณภาพแล้ว คุณพ่อปีโญ กับมิชชันนารีหนุ่มอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ช่วยชื่อ คุณพ่อมอรวัง เห็นว่าสถานที่แห่งนั้นมีความวุ่นวาย และน่ากลัวจะเกิดความอดอยาก จึงได้ตัดสินใจพาสามเณรไปเมืองปอนดิเชรี เมื่อได้หนังสือเดินทางแล้ว เขาทั้งหมดมีจำนวน 43 คน ก็ลงเรือจีนลำหนึ่ง เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1769 เขาแวะที่เมืองมะละกา เปลี่ยนเรือ แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม บางคนจึงไปถึงเมืองตรังเกอบาร บางคนก็ไปถึงเมืองมาสุลีปาตัม แล้วไปรวมกันที่เมืองปอนดิเชรี
คุณพ่อปีโญ พาสามเณรไปอาศัยอยู่ที่วีรัมปัตนาม ในที่ดินซึ่งเป็นของชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง ห่างจากเมืองไปไม่กี่กิโลเมตร ที่ดินแปลงนี้คุณพ่อมาต็อง เหรัญญิกคณะมิสซังต่างประเทศที่อินเดีย ได้ซื้อไว้เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ.1771 และได้สร้างอาคารหลายหลัง ซึ่งยังมีซากเป็นอิฐใหญ่ให้เห็นอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ทั้งที่ดินและอาคารทั้งหมด ราคา 40,000 ฟรังก์
อาศัยการวิ่งเต้นของคุณพ่อดาวุสต์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชเกียรตินามแห่งเซรัม แต่ยังอยู่ที่กรุงโรมเสมอ พระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 14 โปรดให้อธิการของวิทยาลัยกลางมีอำนาจเท่ากับเจ้าอาวาสบางอย่างตั้งแต่เวลาได้รับแต่งตั้ง เช่น สิทธิที่จะให้อนุญาตบางอย่างแก่อาจารย์ และสิทธิที่จะให้ประมุขมิสซัง ซึ่งผ่านมาที่วิทยาลัย มีอำนาจประกอบพิธีศีลกำลังและศีลบวช การที่ขอและได้รับอำนาจเหล่านี้ ก็เพื่อมิให้พระสังฆราชที่เมืองซานโทเม ซึ่งเมืองปอนดิเชรีขึ้นกับท่านทางฝ่ายวิญญาณนั้นไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวในวิทยาลัยกลาง
วิทยาลัยกลางในขณะนั้นมีสามเณรอยู่ 39 คน อธิการกล่าวชมเชยเขาว่าดังนี้ “ปัจจุบัน เรามีชายหนุ่มเป็นจำนวนมากอยู่ที่นี่ ล้วนมีความศรัทธาร้อนรนยิ่งนัก เขาถือความเชื่อ ความนอบน้อมเชื่อฟัง และจิตตารมณ์ความถ่อมตัวและความยากจนดียิ่งกว่าในยุโรปเสียอีก”
อย่างไรก็ตาม จำนวนสามเณรลดน้อยลงไปอย่างรวดเร็ว สามเณรที่มาจากแคว้นตังเกี๋ยและโคจินจีนพากันกลับไปมิสซังของเขา บ้างก็เพราะทนอากาศร้อนจัดทางทิศใต้ของอินเดียไม่ไหว บ้างก็เพราะเรียนจบแล้ว สามเณรที่เหลือเป็นชาวจีนจากเสฉวนเกือบหมด จนอธิการพูดออกมาว่า “แต่ก่อน วิทยาลัยนี้ เรียกว่า วิทยาลัยกลางสำหรับทุกชาติ อีกหน่อยจะกลายเป็นวิทยาลัยเฉพาะสำหรับคนจีนไปเสียแล้ว”
ฉะนั้น ในบรรดาประมุขมิสซังต่างๆ ประมุขมิสซังเสฉวน คือ พระสังฆราชป็อตจีเอร์ เป็นประมุของค์เดียวที่แสดงความห่วงใยต่อวิทยาลัยกลางอย่างแท้จริง และนานๆ ทีก็ส่งคำแนะนำในการปกครองมาฝาก ท่านเขียนว่า “ข้าสำคัญ ต้องหาคนที่มีอายุ มีความศรัทธา ใจมั่นคง มีประสบการณ์และตั้งใจแน่วแน่จะอยู่ในหน้าที่นี้ตลอดไป มาเป็นอธิการ อาจารย์ฝรั่งที่จะส่งมาช่วยอธิการนั้น ความจะเป็นมิชชันนารีที่ได้รับการฝึกอบรมมาจากสามเณราลัยที่กรุงปารีส มีคุณสมบัติเหมาะสม และตั้งใจจะอยู่ประจำวิทยาลัย โดยไม่หวังจะไปอยู่ตามมิสซังต่างๆ เว้นแต่จะมีเหตุการณ์พิเศษ”
คุณพ่อมาต็อง เป็นอธิการวิทยาลัยกลาง
เมื่อได้เป็นพระสังฆราชเกียรตินามแห่งอาดรังและประมุขมิสซังโคจินจีนในปี ค.ศ.1771 และได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราชที่เมืองมาดรัส เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1774 แล้ว ท่านปีโญ เดอ เบแฮน ได้มอบการปกครองวิทยาลัยกลางแก่คุณพ่อมาต็อง ซึ่งเป็นเหรัญญิกของคณะมิสซังต่างประเทศที่เมืองปอนดิเชรี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1743 อธิการใหม่ได้คุณพ่อสรีซีเอร์ ซึ่งเป็นชาวเมืองลาโรแซล เป็นอาจารย์สอนปรัชญาและเทวศาสตร์กับท่าน ส่วนอาจารย์วรรณคดี คือ คุณพ่อมาญี
ปี ค.ศ.1776 คุณพ่อมาต็อง กล่าวสรุปสภาพของวิทยาลัยกลางว่าดังนี้ “วิทยาลัยเจริญดีพอสมควร สามเณรของเราน้อยคนได้รับปริญญาเอก แต่นั่นไม่ใช่ความผิดของเขา เขาพากันเป็นวัณโรคกันหมด” เราจึงพยายามถนอมกำลังของสามเณรไว้ คุณพ่อสรีซีเอร์อยากซื้อโรงพิมพ์เล็กๆ แห่งหนึ่ง เพื่อลดงานของสามเณรให้น้อยลง
พระเมตตาของพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 6
ขณะนั้น คุณพ่อปัวเรต์อยู่ที่กรุงโรม ท่านรำลึกขึ้นมาได้ว่าเคยเป็นอธิการวิทยาลัยกลางอยู่หลายเดือน และโดยที่มีความมุ่งมั่นจะทำคุณประโยชน์ให้แก่คณะและกิจการอันมีคุณทั่วไปของคณะ ท่านจึงขอให้อนุมัติรับรองวิทยาลัยกลาง โดยพระสมณสารของพระสันตะปาปาปีโอที่ 6 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ.1775 พระสันตะปาปาองค์เดียวกันนี้ยังทรงอนุญาตให้วิทยาลัยกลางตั้งศีลมหาสนิทในวันฉลองบางวัน ทรงย้ำคำสั่งให้สามเณรต้องผูกมัดตนเองกับคณะมิสซังต่างประเทศ จะไปเข้าคณะอื่นซึ่งสมาชิกเขาชวนไป ง่ายนักไม่ได้ วันที่ 27 สิงหาคม และ 13 กันยายน ค.ศ.1780 พระองค์ประทานพระการุณบริบูรณ์แก่สามเณรในวันฉลองพระคริสตสมภพ วันฉลองพระคริสตเจ้าแสดงองค์ วันปัสกา วันพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ วันเกิดและวันถือศีลชำระของแม่พระ วันฉลองเทวดา วันฉลองนักบุญโยเซฟ วันฉลองนักบุญเปโตรและเปาโล และวันฉลองนักบุญฟรังซิส เซเวียร์
วิทยาลัยกลางล้ม
แม้จะรับพระเมตตาจากพระสันตะปาปาเช่นนี้จำนวนของสามเณรก็ยังลดน้อยลงอยู่นั่นเอง ยิ่งวันยิ่งมีคนคัดค้านการที่วิทยาลัยมาตั้งอยู่ที่วีรัมปัตนามมากขึ้น กล่าวว่า อากาศร้อนเกินไป อาหารแพงมาก แพงกว่าที่ฮอนดัตถึงสามสี่เท่า สถานที่ตั้งเล่าก็ไม่อยู่กึ่งกลางพอ สามเณรต้องเดินทางไกล ได้พบกับสิ่งที่น่าเกรงจะเกิดอันตราย และการอยู่ปะปนกับพวกโปรแตสแตนท์ก็น่ากลัวจะทำให้เขาเสียความเชื่อ
ในปี ค.ศ.1779 คุณพ่อมาญี เขียนไว้ว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่า ตราบใดที่วิทยาลัยยังตั้งอยู่ที่ปอนดิเชรี เราจะได้รับประโยชน์อะไรไม่มากนัก” ขณะนั้นมีสามเณรอยู่เพียง 18 คนเท่านั้น ได้มีผู้คิดจะย้ายวิทยาลัยไปที่เมืองมะละกา แต่ปัญหาเรื่องนี้ซึ่งจะได้รับการพิจารณาในภายหลัง ไม่ได้รับพิจารณาในขณะนั้น ปี ค.ศ.1782 เมื่อจำนวนสามเณรลดลงเหลือ 4-5 คนทางสามเณราลัย คณะมิสซังต่างประเทศที่กรุงปารีสจึงเขียนถึงคุณพ่อมาญีและสรีซีเอร์ ให้ส่งสามเณรที่เหลือกลับไปเมืองมาเก๊า ซึ่งจากนั้นเขาจะได้กลับไปเมืองจีน และยังส่งหนังสือบรรดาประมุขมิสซังต่างๆ แจ้งให้ทราบถึงความเสื่อมโทรมของวิทยาลัย และสั่งให้ปิดเสียอย่างน้อยก็ชั่วคราว ความในหนังสือมีดังนี้ “แต่นานมาแล้ว วิทยาลัยกลางของเราที่เมืองปอนดิเชรีเสื่อมโทรม จนเวลานี้เกือบจะไม่มีอะไรเหลือ จึงเห็นความจำเป็นต้องยุบและถอนไปจากเมืองปอนดิเชรี แต่เรายังตั้งใจจะตั้งขึ้นใหม่ในที่อื่น เมื่อจะพบสถานที่ที่ดีกว่า ตามที่ท่านจะเห็นจำเป็น”
“บัดนี้ วิทยาลัยกลางเป็นอันล้มไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อไรหนอจะได้ตั้งขึ้นใหม่” เป็นอันว่าวิทยาลัยกลางปิดในตอนปลายปี ค.ศ. 1783 หลังจากตั้งมาได้ 115 ปี
**********************************************************