-
Category: ประวัติ 10 อาสนวิหารในประเทศไทย
-
Published on Monday, 23 November 2015 02:05
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 6108
225 ถนนเจริญประเทศ ตำบลช้างคลาน
อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50100
โทร.0-5327-1859 โทรสาร. 0-5327-1861
อาสนวิหารพระหฤทัยเป็นวัดคาทอลิกแห่งแรกในเขตภาคเหนือตอนบน เป็นวัดศูนย์กลางของสังฆมณฑลเชียงใหม่ และเป็นวัดประจำตำแหน่งของพระสังฆราชมิสซังเชียงใหม่ มีเขตการปกครอง 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน ประวัติอันยาวนานของวัดพระหฤทัยเริ่มจากการที่ประเทศสยามได้ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ทุกคน จึงทำให้นักบวชในศาสนาต่างๆ ได้เผยแพร่ธรรมอย่างอิสระ ศาสนาคริสต์ก็เช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จาก ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกซึ่งได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาตั้งแต่ธรรมทูตยุคแรก ราวปี ค.ศ.1565 มีการขอธรรมทูตจากมะละกาเข้ามาเผยแพร่ศาสนาด้วยสาเหตุทางการเมือง ธรรมทูตชุดแรกเป็น คณะดอมินิกัน ชื่อคุณพ่อเยโรนิโม ดา กรูส และคุณพ่อเซบัสติอาโน ดี กันโต ท่านทั้งสองเดินทางมาถึงอยุธยาราว ปี ค.ศ.1567 และพำนักอยู่กับพ่อค้าชาวโปรตุเกส ที่มาตั้งรกรากอยู่ในอยุธยา ซึ่งให้การต้อนรับคุณพ่อเป็นอย่างดี คุณพ่อได้พยายามเรียนรู้การใช้ภาษาไทยและเมื่อเห็นว่าสามารถสื่อสารกับคนไทยได้จึงเริ่มการสอนคำสอนในทันที การเผยแพร่ศาสนาเป็นไปในทางที่ดี มีชาวไทยจำนวนมากที่มาฟังคำสอนจากท่านและตัดสินใจหันมานับถือศาสนาคริสต์ จนกระทั่งในปี ค.ศ.1669 ประเทศสยามจึงได้รับการยกฐานะเป็นมิสซังอย่างเป็นทางการโดยสมเด็จพระสันตะปาปา เคลเมนต์ที่ 9 จากเอกสารทางการของพระศาสนจักร ชื่อ Cum Sicut ลงวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1669 และ Speculatores ลงวันที่ 13 กันยายน ค.ศ.1669 ปีเดียวกัน พระสังฆราช ฟรังซัว ปัลลือ และ พระสังฆราชปิแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลาม็อต ซึ่งเป็นผู้เสนอเรื่องต่อกรุงโรม หลังจากรับการยกฐานะขึ้นเป็นเขตมิสซังแล้ว ได้มีการเรียกดินแดนแห่งนี้ใหม่อย่างเป็นทางการ ว่า “มิสซังสยาม”
300 ปีต่อมา หลังจากการเผยแพร่ศาสนาในภาคกลางของประเทศไทยประสบความสำเร็จ ภารกิจของพระเจ้าในเขตภาคเหนือได้เริ่มขึ้นราวปี ค.ศ.1843 โดย พระสังฆราช ปัลเลอกัว มอบหมายให้ คุณพ่อกรังยังค์ และคุณพ่อวากัลป์ คณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส(M.E.P.) เดินทางไปเชียงใหม่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ.1843 ท่านทั้งสองต้องเดินทางรอนแรมตามป่าเขาและเสี่ยงภัยอันตรายจากสัตว์ป่าเป็นเวลานานถึง 45วัน จึงมาถึงเชียงใหม่ ในบ่ายวันที่ 18 มกราคม ค.ศ.1844 ในระยะแรกคุณพ่อทั้งสองได้รับการต้อนรับจากเจ้าเมืองเป็นอย่างดีแต่หลังจากนั้นไม่นานเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็เริ่มมีท่าทีที่เปลี่ยนไป จึงทำให้คุณพ่อทั้งสองท่าน ต้องล้มเลิกภารกิจงานแพร่ธรรมในภาคเหนือทั้งหมด และเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในปี ค.ศ.1913 พระสังฆราชมารี โยเซฟ แปร์รอส ได้ฟื้นฟูจัดตั้งศูนย์แพร่ธรรมทางภาคเหนืออีกครั้งหนึ่ง แต่กว่าจะหาผู้เหมาะสมกับงานในครั้งนี้ได้ก็ต้องใช้เวลาถึง 1 ปี ในเดือนมกราคม ค.ศ.1914 ได้มอบหมายให้คุณพ่อฟูยัง และคุณพ่อบรัวซาต์
ซึ่งเป็นพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสเดินทางไปสำรวจหาข้อมูล และดูสถานการณ์ การแพร่ธรรมในเชียงใหม่อีกครั้ง หลังจากนั้นไม่นานคุณพ่อทั้งสองท่านได้เขียนรายงานพระสังฆราชว่าสถาน การณ์ในเชียงใหม่ดีขึ้นมาก มีบรรยากาศที่เอื้ออำนวยในการจัดตั้งศูนย์แพร่ธรรมเป็นอย่างยิ่ง ท่านทั้งสองได้ซื้อที่ดินสองแปลง ติดริมแม่น้ำปิงที่สวยงาม เป็นเงินจำนวนแปดพันบาท ที่ดินตั้งอยู่ทิศใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 6 เฮกตาร์ (60,000 ตารางเมตร 37.5 ไร่) ภารกิจของท่านดูเหมือนจะราบรื่น ทว่าพระผู้เป็นเจ้าก็ทรงทดลองในภารกิจการแพร่ธรรมในภาคเหนือนี้อีกครั้ง สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เริ่มขึ้น ภารกิจดังกล่าวต้องเลื่อน ออกไปอย่างไม่มีกำหนด คุณพ่อทั้งสองจึงถูกเรียกกลับกรุงเทพฯ อย่างรีบด่วน อันเนื่องมาจากการขยายตัวของสงคราม อุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นหาได้เป็นสิ่งบั่นทอนจิตใจ อันร้อนรนในการเผยแพร่ศาสนาของมิชชันนารีเหล่านี้ไม่
ต่อมาในปี ค.ศ.1926 พระสังฆราชมารี โยเซฟ แปร์รอส ได้เดินทางไปเชียงใหม่ด้วยตัวเอง เพื่อหาทางก่อตั้งมิสซังในภาคเหนือแต่ก็มีอุปสรรคต่างๆ จึงต้องรอเวลาอีก 4 ปี จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1931 คุณพ่อยอร์ช มิราแบล ได้รับมอบหมายให้ไปเริ่มงานที่เชียงใหม่อีกครั้ง โดยมีคุณพ่อนิโกเลา ร่วมเดินทางไปด้วย
คุณพ่อยอร์ช มิราแบล เป็นพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ที่มีใจศรัทธา ร้อนรนที่ต้องการ เข้าอารามฤาษีเพื่อดำเนินชีวิตในการภาวนาและรำพึงให้เงียบสงบ ตามพระกระแสเรียกของพระเป็นเจ้า ก่อนได้รับอนุญาต ผู้ใหญ่ของคณะได้ทดลองคุณพ่อ โดยให้ทำงานแพร่ธรรมเป็นเวลา 3 ปี คุณพ่อก็นบนอบยอมทำตามความต้องการของผู้ใหญ่ คุณพ่อนิโกเลา เป็นพระสงฆ์ใจร้อนรน และเสียสละตนเองเพื่อประกาศพระวรสาร สามารถเทศน์ หรือสอนคำสอนได้ตลอดวันโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่าย พระสงฆ์ทั้งสองเดินทางถึงเชียงใหม่ วันที่18 มกราคม ค.ศ. 1931 โดยพักที่บ้านของตระกูล เดอซูซ่า จึงถือได้ว่าเป็นการเริ่มงานแพร่ธรรมในเชียงใหม่อย่างสมบูรณ์ในวันนั้นเอง จากบันทึกของ พระสังฆราช ลูเซียน ลากอสต์ ที่ได้บันทึกประวัติมิสซังเชียงใหม่ และงานบุกเบิกมิสซังเชียงใหม่ในช่วงแรกๆ อย่างน่าสนใจไว้ดังนี้ “การก่อตั้งมิสซังเชียงใหม่ : คุณพ่อมิราแบลผู้มีความกระตือรือร้นได้ทำงานร่วมกับพระสงฆ์ไทยองค์หนึ่ง (คุณพ่อนิโคลาส) ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่มีใจร้อนรน มีความสามารถในการเทศน์และสอนศาสนาได้ตลอดทั้งวัน อีกทั้งเป็นพระสงฆ์ที่ศรัทธามากด้วย ทันทีที่มิสชันนารีทั้งสองไปถึง ท่านก็รีบดำเนินการก่อสร้างโบสถ์หลังเล็กๆ ขึ้นหลังหนึ่ง
โดยได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัวคาทอลิก 2-3 ครอบครัว ผู้ที่กลับใจมาเรียนคำสอนจากคุณพ่อทั้งสอง พวกแรกคือ พวกโปรแตสแตนท์และในปีต่อมาบางคนในจำนวนคนเหล่านี้ก็ได้ รับศีลล้างบาปจากคุณพ่อทั้งสอง และบางคนก็ได้มีส่วนช่วยคุณพ่อทั้งสองในการเผยแพร่พระวรสาร และเปิดกลุ่มคริสตชนในที่ใหม่ ตามหมู่บ้านต่างๆ ในภูมิภาคแถบนั้น แต่กระนั้นคุณพ่อทั้งสองก็พยายามที่จะทำให้คนต่างศาสนากลับใจ และท่านก็ประสบความสำเร็จในบางครั้ง ผู้ที่กลับในในตอนแรกๆ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่ศาสนาคาทอลิก ความกระตือรือร้นของพวกเขาในบางครั้งรุนแรงและแข่งขันกัน พวกเขาเข้าใจในพระคัมภีร์และนำพระคัมภีร์มาใช้ในการโต้วาทีกับพวกผู้นำคนเก่าและเพื่อนๆ ของเขา ผู้นำศาสนานิกายเปรสบิเตเรียนคนหนึ่ง(ไม่ใช่คนไทย) ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งในเดือนเมษายน ค.ศ.1933 ถึงมิสซังคาทอลิกแสดงความรู้สึกขมขื่นใจที่ได้เห็นการเป็นศัตรูต่อกัน และการแข่งขันกัน ระหว่างคริสเตียนทั้งสองนิกาย เมื่อเรื่องราวต่างๆ ตกลงกันได้อย่างรวดเร็ว ความรู้สึกของทั้งสองฝ่ายก็จะสงบลง บรรดามิชชันนารีที่เดินทางมาถึงภาคเหนือของสยาม ได้พบว่ามีชนเผ่ามากมายหลายเผ่า อยู่ที่นั่นซึ่งสามารถเพิ่มทวีความเชื่อเป็นทั้งความโชคดีและความลำบากในการเผยแพร่พระวรสาร แต่เดิมพวกเขาเป็นกลุ่มเชื้อชาติที่มีเสียงข้างมาก ซึ่งเรียกตัวเองว่า “ประชากรของประเทศ” ในลักษณะตรงข้ามกับคนไทยที่อยู่ทางภาคกลางและภาคใต้ เราเรียกพวกเขาว่าคนลาวอยู่เสมอๆ เพราะในอดีตอาณาเขตศักดินานี้อยู่ในความปกครองของลาวตะวันตก...” “คุณพ่อยอร์ช มิราแบล และคุณพ่อนิโคลาส มีความคิดเห็นเหมือนกับพระสังฆราชแปร์รอสว่า การเผยแพร่พระวรสารจะต้องเริ่มต้นมาจากโรงเรียน นี่คือเหตุผลว่าทำไมหนึ่งปีหลังจากการมาถึงของคุณพ่อทั้งสอง วิทยาลัยสำหรับเด็กหญิงแห่งหนึ่ง (โรงเรียนเรยีนา) ซึ่งดำเนินงานโดยซิสเตอร์คณะอุร์สุลิน และวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งสำหรับเด็กชาย (โรงเรียนมงฟอร์ต) ดำเนินงานโดยภราดาคณะเซนต์คาเบรียล วิทยาลัยทั้งสองแห่งนี้ก่อตั้งที่เชียงใหม่ ตั้งอยู่ข้างๆ วัดในย่านที่พักอาศัย...”
....... ต่อมาไม่นานคุณพ่อทั้งสองมีความต้องการจะจัดตั้งโรงเรียนของวัดขึ้น ด้วยความช่วยเหลือของบรรดานักบวชพื้นเมือง คือ ภคินีคณะพระหฤทัยแห่งพระเยซูเจ้า คุณพ่อทั้งสองจึงได้ช่วยกันสร้างโรงเรียนขึ้นมาหลังหนึ่ง รับเด็กนักเรียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของคริสตัง โรงเรียนนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางและปัจจุบันนี้สามารถแข่งขันกับวิทยาลัยทั้งสองแห่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ในสถานศึกษาทั้งสามแห่งนี้เต็มไปด้วยนักเรียนที่เป็นคนพุทธ ซึ่งสามารถทำให้เกิดความหวังที่จะชักจูงคนต่างศาสนาให้มาเป็นคริสตังได้.......
ได้บันทึกไว้ว่าคุณพ่อทั้งสองได้ก่อตั้งโรงเรียนเล็กๆ ในหมู่บ้านต่างๆ 2-3 แห่ง แต่โรงเรียนเหล่านี้ก็ตั้งอยู่ได้ไม่นาน ในสามปีแรกของการก่อตั้งมิสซังเชียงใหม่ พวกโปรแตสแตนท์ที่อยู่ในเมืองและชนบทได้มาขอเรียนคำสอนกับมิชชันนารี และได้กลับใจมาเป็นคาทอลิกในที่สุด มีครอบครัวชาวพุทธ 2-3 ครอบครัว ที่นี้ก็ได้กลับใจด้วย ตั้งแต่ปี ค.ศ.1933 ที่แม่ริมและเวียงป่าเป้า มีการกลับใจเพิ่มมากขึ้น ต่อมามีการกลับใจ ที่พร้าว เมืองพาน และเชียงดาว นับตั้งแต่การเริ่มต้น ในเวลานั้นมิชชันนารีทั้งสองได้พยายามไปเผยแพร่พระวรสาร กับชาวพุทธที่เวียงป่าเป้าเป็นพิเศษ ก่อนที่กลุ่มคาทอลิกที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นจะมั่นคงถาวร คุณพ่อมิราแบล ซึ่งมาทดลองงานที่มิสซังเชียงใหม่ก็ต้องจากไปเพื่อดำเนินชีวิตด้วยการสวดภาวนาและการรำพึงในอารามฤาษี ซึ่งท่านมีความตั้งใจที่จะเข้าอารามนี้มาหลายปีแล้ว คุณพ่อจากมิสซังเชียงใหม่ไปในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1934
คุณพ่อมิราแบลและคุณพ่อนิโคลาสได้ปฎิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี มีคนต่างศาสนามาฟังคำสอนของท่านทั้งสอง เป็นต้นคริสเตียนนิกายเปรสบิเตเรียน ความจริงคุณพ่อทั้งสองต้องการแพร่ธรรมท่ามกลางชาวพุทธมากกว่า แต่กระนั้นก็ตามเมื่อมีคริสเตียนมาติดต่อขอเรียนคำสอนด้วยใจซื่อเพื่อจะกลับใจมาเป็นคาทอลิกท่านก็ยินดีต้อนรับ ในปี ค.ศ.1931 นั่นเอง มีผู้รับศีลล้างบาปบ้าง ซึ่งบางคนในภายหลังได้มีส่วนช่วยคุณพ่อทั้งสองในการเผยแพร่ศาสนาต่อไป คุณพ่อทั้งสองได้ช่วยกันสร้างวัดหลังเล็กๆ หลังหนึ่งโดยได้รับความช่วยเหลือจากคาทอลิก 2-3 ครอบครัว วัดหลังนี้ได้ทำพิธีเสกอย่างสง่า ในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.1932 ได้รับชื่อว่า “วัดพระหฤทัย” พระสังฆราชแปร์รอส เขียนบันทึกไว้ในรายงานประจำปี ของปี ค.ศ.1932 ว่าดังนี้ “ความหวังของเราที่เชียงใหม่เริ่มสำเร็จเป็นจริง โบสถ์ได้รับการเสกอย่างสง่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.1932 ในวันฉลองพระหฤทัยมีคนมาเต็มโบสถ์แต่ส่วนใหญ่เป็นคนต่างศาสนา และในวันนั้นคนรับศีลล้างบาป 12คน ทำให้ฝูงแกะน้อยของเรามีจำนวนเพิ่มขึ้น
นอกจากการสร้างวัดแล้ว ท่านยังได้ช่วยสร้างโรงเรียนของวัดขึ้น ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนพระหฤทัย” โดยเชิญคณะภคินีคณะพระหฤทัยแห่งกรุงเทพฯ มาช่วยดูแลโรงเรียน ในวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.1932 คุณพ่อเรอเน เมอนิเอร์ พระสงฆ์ฝรั่งเศส คณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.)ได้มาช่วยงานคุณพ่อมิราแบล จนถึงวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.1934 เป็นเวลา 2 ปี ต่อมาคุณพ่อมิราแบลได้เดินทางกลับประเทศฝรั่งเศสเพื่อบวชเป็นฤาษีตามที่ตั้งใจไว้ ดังนั้นหน้าที่เจ้าอาวาสวัดพระหฤทัยองค์ที่ 2 จึงเป็นของคุณพ่อเรอเน เมอนิเอร์ และมีคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง และ คุณพ่ออาทานาส (จากเวียงป่าเป้า) เป็นผู้ช่วย
ในระหว่าง ค.ศ.1947 – 1954 มีคุณพ่อหลายท่านมาช่วยงานชั่วคราว คุณพ่อเหล่านี้ดต้องพบกับอุปสรรคปัญหาและความลำบากมากมาย (เนื่องจากอยู่ระหว่างการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2) แต่ก็ยังมีพระสงฆ์ไทยและมิชชันนารีคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.) มาช่วยงานเผยแพร่ศาสนาในเขตภาคเหนือ บางท่านอยู่ได้เพียงช่วงระยะหนึ่งเท่านั้นก็ย้ายกลับไป
ในปี ค.ศ.1950 คุณพ่อแซงกีลี เจ้าคณะเบธารามที่ต๋าลี้ มณฑลยูนานประเทศจีนได้เขียนจดหมายติดต่อมายัง พระสังฆราช หลุยส์ โชแรง พระสังฆราชมิสซังกรุงเทพฯ เพื่อขอนำพระสงฆ์ คณะพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าแห่งเบธารามเข้ามาแพร่ธรรมในประเทศไทยเนื่องจากมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่ในประเทศจีน พระสงฆ์ต่างชาติถูกบังคับให้ออกจากประเทศ ทำให้การประกาศพระวรสารในประเทศจีนต้องหยุดชะงักลง ขณะ นั้นยังมีพระสงฆ์คณะ (M.E.P.) คือ คุณพ่อกวางช์ ได้เดินเท้าจากประเทศจีนมาช่วยงานแพร่ธรรมที่วัดพระหฤทัยเชียงใหม่ แต่เมื่ออยู่ได้ระยะหนึ่งท่านก็ขออนุญาตจากพระสังฆราช หลุยส์ โชแรง ย้ายไปประจำที่วัดลำปางในวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ.1951 พระสงฆ์คณะเบธารามองค์แรกคือ คุณพ่อแซงกีลี ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย อีกสามสี่เดือนต่อมา คุณพ่อเซกีน๊อต ก็เดินทางมาถึงพร้อมกับคุณพ่อเปเดบิโด และเพื่อนพระสงฆ์ของคณะอีก 2 องค์ และพระสงฆ์คณะเบธารามก็เดินทางมาสมทบอีกสิบกว่าองค์ ประมุขมิสซังกรุงเทพฯ จึงอนุญาตให้อยู่ที่เชียงใหม่ และจัดให้พำนักอยู่ที่กงสุลประเทศฝรั่งเศสเพื่อเรียนภาษาไทย และฝึกงานแพร่ธรรมในประเทศไทย ในขณะนั้น คุณพ่อมารีอูส เบรย์ (Bray) ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเชียงใหม่ องค์ที่ 3 ต่อจาก คุณพ่อยอร์ช มิราแบล และ คุณพ่อ เรอเน เมอร์นีเอร์ โดยพระสงฆ์ที่ถูกส่งมาในช่วงนั้นเป็นของคณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส(M.E.P) เป็นส่วนใหญ่ในช่วงยี่สิบปีนี้มีพระสงฆ์ทั้งไทยและต่างประเทศหลายท่านผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาประ จำที่เชียงใหม่จนถึงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1954 พระสังฆราช หลุยส์โชแรง เห็นความมุ่งมั่นและความตั้งใจในงานแพร่ธรรมของคณะเบธาราม ท่านจึงตัดสินใจมอบวัดพระหฤทัยเชียงใหม่ให้อยู่ในการดูแลของพระสงฆ์คณะเบธาราม โดยมี พระสังฆราช ลูเซียน ลากอสต์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งพระสังฆราชแห่งมิสซังต๋าลี้ มณฑลยูนานเป็นผู้รับมอบ มี คุณพ่อซาเวอร์ ลองไดซ์ ซึ่งเป็นพระสงฆ์คณะเบธารามที่เป็นเจ้าอาวาสวัดพระหฤทัยองค์ที่ 4 โดยมี คุณพ่อเปเดโด เป็นผู้ช่วย ในสมัยนั้นการดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างยากลำบาก สัตบุรุษฐานะค่อนข้างยากจนด้วย เพราะคุณพ่อเคยอยู่เมืองจีนมาก่อนจนสามารถติดต่อสื่อสารกับชาวจีนในเชียงใหม่ได้ อีกทั้งท่านเป็นผู้มีอัธยาศัยดี มีความเอาใจใส่ต่อสัตบุรุษเป็นอย่างมาก เหล่าสัตบุรุษ จึงขนานนามท่านว่า “พ่อใหญ่” ภาพที่คุ้นเคยตาของชาวบ้านในสมัยนั้นคือภาพคุณพ่อปั่นจักรยานไปเยี่ยมสัตบุรุษ และนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ
ต่อมาในปี ค.ศ.1959 มิสซังคาทอลิกได้แบ่งเขตการปกครอง และประกาศแต่งตั้งแขวงเชียงใหม่ให้เป็น มิสซังเชียงใหม่ โดยมีพระสังฆราชลูเซียน ลากอสต์ เป็นประมุของค์แรก ท่านและพระสงฆ์คณะเบธารามได้ร่วมมือร่วมใจกันก่อสร้างวัดพระหฤทัยขึ้นมาใหม่แทนวัดไม้หลังเดิม ที่มีขนาดคับแคบไม่เพียงพอกับจำนวนสัตบุรุษที่มา ร่วมมิสซา โดยเฉพาะเมื่อมีพิธีสำคัญทางศาสนา และวันฉลองใหญ่วัดพระหฤทัยหลังที่สองได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส ดังนั้นวัดหลังนี้จึงมีลักษณะสวยงามตามแบบสถาปัตยกรรมทางยุโรป เป็นที่ภาคภูมิใจของชาวพระหฤทัยเป็นอย่างมาก วัดหลังใหม่เป็นวัดก่ออิฐถือปูน มีพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ.1964 และทำการเสกอย่างสง่าเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1965 รวมระยะเวลาการก่อสร้าง 1 ปี โดย ฯพณฯ สมณทูต จอห์น กอร์ดอน เป็นประธาน ในพิธี ท่ามกลางความปิติยินดีของสัตบุรุษที่มาร่วมพิธี การก่อสร้างครั้งนั้นมีนายช่างที่เป็นคาทอลิกจากจังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 3 คน เป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง คือ นายช่างวิรัช ตรีมรรคา นายช่างไสว ธูปเทียน และนายช่างสำรวย สิงห์โตทอง
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1964 คุณพ่ออ๊อกซิบาร์มิชชันนารีคณะเบธารามองค์แรก ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็ง รวมอายุ 67 ปี ศพของท่านถูกบรรจุไว้ที่สุสานพระหฤทัยเชียงใหม่ หลายปีที่ผ่านมาสถานกงสุลประเทศฝรั่งเศสได้อนุเคราะห์ให้ใช้สถานทูตเป็นบ้านพักชั่วคราวของคณะเบธาราม ต่อมาพระสังฆราช ลูเซียน ลากอสต์ ตัดสินใจซื้อที่ดินแปลงหนึ่งที่ถนนสามล้านตำบลพระสิงห์ ซึ่งอยู่ห่างจากตัววัดพระหฤทัยไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร เพื่อสร้างเป็นสำนักของประมุขมิสซังเชียงใหม่ โดยสร้างเสร็จและเปิดใช้ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1965
วันที่ 28 มีนาคม ค.ศ.1956 คุณพ่อปีเตอร์ ซัลลา ได้รับหน้าที่เป็นผู้ช่วยคุณพ่อลองไดซ์ คุณพ่อมีหน้าที่ทำทะเบียนของวัด และสอนเพลงภาษาลาติน ในช่วงนั้นวัดพระหฤทัยมีสัตบุรุษประมาณ 300 คน(ส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมือง) สมัยนั้นมิสซาจะทำกันที่วัดไม้หลังเก่า โดยใช้ภาษาลาติน มีการเทศน์เป็นภาษาไทย มีสัตบุรุษจำนวนมากเข้าวัดเพื่อฟังมิสซา แก้บาปและรับศีล พิธีมิสซาจัดขึ้นในวันอาทิตย์ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือเวลา 6.00 น. และ 8.30 น. ส่วนวันธรรมดาจะมีในตอนเช้า เป็นที่สังเกตว่าผู้มาร่วมพิธีมิสซาในสมัยนั้นจะเป็นนักเรียนประจำของโรงเรียนพระหฤทัย และนักเรียนประจำที่อยู่หอพักของครูสวัสดิ์ ซึ่งเป็นอดีตสามเณร ซึ่งส่วนมากนักเรียนเหล่านี้ไม่ใช่คริสตัง ก่อนที่คุณพ่อซัลลาจะมาประจำอยู่ที่วัดพระหฤทัย ได้มีคุณพ่อแปร์ลินี มาช่วยงานที่วัดอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว ท่านได้ดูแลการรื้อวัดไม้หลังเก่า เพื่อการก่อสร้างวัดหลังใหม่ วันที่ 15 มีนาคม ค.ศ.1966 คุณพ่อปีเตอร์ ซัลลา ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดพระหฤทัยองค์ที่ 5 โดยมีค ุณพ่อแปร์ลินี ได้รับมอบหมายมาเป็นผู้ช่วยงานของท่าน นอกจากการดูแลสัตบุรุษวัดพระหฤทัยแล้ว คุณพ่อปีเตอร์ ซัลลา ยังได้เดินทางไปทำพิธีมิสซาที่เขตสันป่าตอง และบ้านช่างคำให้กับคริสตัง 2-3 ครอบครัว เดือนละครั้ง สภาพทั่วไปของสัตบุรุษวัดพระหฤทัยสมัยนั้น แม้คริสตังส่วนใหญ่จะมีความเชื่อความศรัทธา แต่ก็ยังมีสัตบุรุษบางคนที่ยังชอบเล่นการพนันทำให้เกิดปัญหาในครอบครัว ซึ่ง คุณพ่อซัลลา และคุณพ่อแปร์ลินี ได้พยายามต่อสู้ในเรื่องของการพนันนี้มาก เพราะไม่อยากให้ครอบครัวของสัตบุรุษมีหนี้สินอันจะก่อให้เกิดปัญหากับครอบครัว ในส่วนการก่อสร้าง เนื่องจากวัดพระหฤทัยเป็นวัดที่เพิ่งจะสร้างเสร็จได้ไม่นาน ประกอบกับสถานะทางการเงินยังต้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ สิ่งก่อสร้างอื่นๆ จึงหยุดชะงักและไม่มีการขยายต่อ มีเพียงการเปลี่ยนหน้าต่างของวัดเท่านั้น ต่อมาสัตบุรุษได้ร้องเรียนว่าอากาศภายในวัดร้อนมาก อากาศไม่มีการถ่ายเท คุณพ่อจึงให้เปลี่ยนหน้าต่างของวัดเสียใหม่เป็นอิฐบล็อก เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ในส่วนของโรงเรียน คุณพ่อปีเตอร์ ซัลลา ได้มอบหมายให้คุณพ่อแปร์ลินี เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดเนื่องจากท่านมีความสามารถและเข้าใจระบบการบริหารโรงเรียน ส่วนคุณพ่อปีเตอร์ ซัลลา จะได้รับผิดชอบงานอภิบาลของวัดอย่างเต็มที่ ในช่วงนั้นจะมีกลุ่มกิจกรรมของวัด ที่ส่งเสริมความเชื่อความศรัทธา มีการสวดภาวนาพิธีกรรม และมีการประชุมใหญ่เกี่ยวกับความเชื่อของคริสตชนจากบนดอย ซึ่งเทศน์ โดย พระสังฆราช คายน์ แสนพลอ่อน จาก มิสซังท่าแร่-หนองแสง การเทศน์นี้ยังถือว่าอยู่ในระดับมิสซัง (ขณะนั้นไม่เป็นสังฆมณฑล) อธิการที่อยู่ในสมัยนั้น คือ ซิสเตอร์ ลำไย กิจสำเร็จ และ ซิสเตอร์อลิส ซึ่งมาประจำอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ซิสเตอร์สมัยนั้นยังสวมชุดดำในการทำงาน และชุดขาวในพิธีสำคัญ เช่น เข้าวัดหรือทำงานในโรงเรียนงานอภิบาลสัตบุรุษ คุณพ่อพยายามรักษาความเชื่อของคริสตังเดิมเอาไว้ เนื่องจากไม่ค่อยมีการกลับใจใหม่ ซึ่งแตกต่างจากการประกาศข่าวดีให้แก่ชาวปาเกอะญอ ที่อยู่บนดอย โดยเห็นได้จากจำนวนคริสตชนที่เพิ่มขึ้นทุกปี สมัยนั้น สัตบุรุษส่วนใหญ่มีฐานะค่อยข้างยากจนจะคิดจะสร้างสิ่งใดจึงต้องขอเงินบริจาคจากสัตบุรุษในประเทศฝรั่งเศส สมัยพระสังฆราช ลูเซียน ลากอสต์ เงินทำบุญ แม้เพียง 50 สตางค์ ก็ยังมีค่า ท่านก็บอกให้รับไว้การฉลองใหญ่ เช่น งานคริสต์มาส สมโภชปัสกา ได้รับการร่วมมือจากโรงเรียนคาทอลิกทั้งสามโรงเรียน โดยจัดให้มีการแสดงของนักเรียน การร้องเพลงเพื่อมาร่วมงานเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนสิงหาคมจะเกิดน้ำท่วมทุกปี เพราะวัดอยู่ใกล้แม่น้ำปิง สมัยนั้นบ้านพักพระสงฆ์จะอยู่ที่ตึกมิราแบลในปัจจุบัน
ในวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ.1966 ได้มีการสถาปนาเขตมิสซังเชียงใหม่เป็นเขตมิสซังอย่างเป็นทางการโดย ฯพณฯ สมณทูต เปโดรนี เป็นประธานในพิธี พระสังฆราช ลูเซียน ลากอสต์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประมุขอีกสมัยหนึ่ง ปี ค.ศ.1968 มีการภาวนาเพื่อเอกภาพระหว่างคาทอลิกกับพี่น้องโปรแตสแตนท์เป็นครั้งแรก และปี ค.ศ.1969 คุณพ่อมีร์โก ตรุสนัก ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระหฤทัยเป็นองค์ที่ 6 โดยมี คุณพ่อแปร์ลินี เป็นผู้ช่วย มีการก่อตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน กลุ่มเยาวชน กลุ่มนักขับร้อง และกลุ่มวินเซนต์เดอปอล ปี ค.ศ.1974 พระสังฆราช ลูเซียน ลากอสต์ ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง โดยได้รับอนุญาตจากสมเด็จพระสันตะปาปาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1975
ในวันที่ 5 มกราคม ค.ศ.1975 ได้มีสามเณรไทยคนแรกของมิสซังเชียงใหม่ได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์ คือ คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ในปลายปีเดียวกัน วันที่ 14 กันยายน ค.ศ.1975 พระสังฆราช โรเบิร์ตรัตน์ บำรุงตระกูล ซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งพระสังฆราชสังฆมณฑลราชบุรี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประมุขมิสซังเชียงใหม่ โดยมี ฯพณฯ สมณฑูต โมเรตตี เป็นประธานในพิธี วันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ.1977 พระสังฆราช โรเบิร์ตรัตน์ บำรุงตระกูล ได้เชิญพระสงฆ์ 2 องค์และภคินี 2 ท่าน จากมิสซังราชบุรีขึ้นมาช่วยงานพระศาสนจักรทางภาคเหนือ โดยหนึ่งในนั้นคือ คุณพ่อวิโรจน์ อินทรสุขสันต์ เข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระหฤทัยเชียงใหม่เป็นองค์ที่ 7 ท่านเป็นพระสงฆ์ไทยองค์แรกที่สร้างความเจริญให้กับวัดพระหฤทัยเป็นอย่างมากทั้งทางด้านชีวิตฝ่ายจิต และในด้านวัตถุ ท่านได้ส่งเสริมความศรัทธาทุกๆ วิถีทางให้กับสัตบุรุษ เช่น จัดให้มีการเทศน์เข้าเงียบโดยพระสงฆ์คณะพระมหาไถ่เป็นประจำทุกปี จัดให้มีพิธีนพวารแม่พระนิจจานุเคราะห์ ตั้งกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน ตั้งสภาวัด เชิญพระรูปพระหฤทัยออกสวดตามบ้านคริสตชนทุกบ้าน ท่านได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาวัดและโรงเรียนพระหฤทัย สร้างบ้านพักพระสงฆ์ เปิดการเรียนการสอนระดับอนุบาล สร้างศาลาพระหฤทัย สร้างถ้ำแม่พระเมืองลูร์ดเพื่อเป็นอนุสรณ์สมโภชของวัด และได้สร้างอาคารเรียนใหม่ 4 ชั้น ด้วยเงินทุนจากต่างประเทศ พร้อมการสนับสนุนของพระสังฆราช โรเบิร์ตรัตน์ บำรุงตระกูล ในช่วงปิดภาคเรียน คุณพ่อได้นำภาพยนตร์เสริมศรัทธา ซึ่งเป็นภาพยนตร์ขนาด 16 มม. เดินทางไปฉายให้แก่สัตบุรุษที่อาศัยอยู่แถบชายแดนประเทศพม่าพร้อมกับครูภักดี สร้างสุขดี สัตบุรุษวัดพระหฤทัยที่มาช่วยภารกิจการแพร่ธรรมทุกครั้ง
ในปี ค.ศ.1982 คุณพ่อวิชัย แสนสุดสวาท รับหน้าที่ปกครองดูแลวัดพระหฤทัยต่อจากคุณพ่อวิโรจน์ อินทรสุขสันต์ เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 8 เนื่องจากท่านสำเร็จการศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านจึงมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนพระหฤทัยให้เป็นโรงเรียนชั้นนำแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ โดยจัดระบบการบริหารขยายห้องเรียน และสร้างอาคาร 8 ชั้น โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากซิสเตอร์สดับ พงศ์ศิริ พัฒน์ อธิการโรงเรียนพระหฤทัย จัดให้มีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย ในสมัยนี้โรงเรียนพระหฤทัยมีคุณภาพ ได้รับความศรัทธาเชื่อถือจากผู้ปกครองมากขึ้น คุณพ่อชุนเอ็ง ก๊กเครือ คุณพ่ออาวุโสจากเขตมิสซังราชบุรีได้มาช่วยงานของวัดพระหฤทัยในตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาส และดำเนินงานด้านอภิบาลตามนโยบายของเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ หน่วยงานส่งเสริมชีวิตครอบครัว และกลุ่มเซอร์ร่า ได้ถูกจัดตั้งโดยพระสงฆ์เท่านั้น
ในวันที่ 25 มกราคม ค.ศ.1987 เป็นช่วงที่พระสังฆราชยอแซฟ สังวาล ศุระศรางค์ รับตำแหน่งประมุข มิสซังเชียงใหม่สืบจากพระสังฆราช โรเบิร์ต รัตน์ บำรุงตระกูล ท่านมีคติพจน์ประจำตัวเป็นภาษาลาตินว่า “SIC NOS AMANTEM” ท่านเป็นพระสังฆราชองค์ที่สามที่ปกครองสังฆมณฑลเชียงใหม่ ในสมัยนี้ได้มีการพัฒนาสังฆมณฑลเชียงใหม่เป็นอย่างมาก ทั้งด้านงานอภิบาล งานบูรณะอาคารสถานที่ รวมทั้งการสร้างวัดใหม่ ทั้งในเขตพื้นราบและบนดอยเป็นจำนวนมากกว่าสองร้อยวัด ซึ่งงบประมาณการสร้างวัดเกือบทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากสัตบุรุษในเขตสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ที่มีจิตศรัทธาต่อการทำงานอภิบาลของพระสังฆราชตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเป็นอุปสังฆราชของท่าน พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ในเขตสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันท่านยังมีวิสัยทัศน์ในการจัดสร้างศูนย์สังฆมณฑลเชียงใหม่ ที่ถนนเจริญประเทศ ซอย 12 บริเวณบ้านพักคณะเบธาราม บนเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 19 ตารางวา เพื่อเป็นสำนักงานของสังฆมณฑลในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นที่พักสำหรับพระสงฆ์นักบวช และกลุ่มองค์กรฆราวาสใช้สำหรับประชุมสัมมนา และเป็นศูนย์รวมของหน่วยงานต่างๆ ของสังฆมณฑลอยู่ในที่เดียวกันด้วย ในช่วงที่พระสังฆราชเข้ามาปกครองสังฆมณฑลเชียงใหม่ ท่านได้สนับสนุนให้มีการปรับปรุงอาสนวิหารพระหฤทัยหลังที่ 3 เพื่อเป็นการสมโภชปีปิติมหาการุญ ด้วยบุคลากรนั้นท่านได้สนับสนุนให้บุคลากรโดยเฉพาะพระสงฆ์ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อ และเข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่องทั้งภายในและต่าง ประเทศ รวมทั้งได้เชิญคณะนักบวชทั้งชายหญิงเข้ามาร่วมงานในสังฆมณฑลเชียงใหม่หลายคณะ
ในวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ.1989 พระสังฆราช ลูเซียน ลากอสต์ ได้มรณภาพ นำความเศร้าโศกเสียใจมายังคริสตังในสังฆมณฑลเชียงใหม่เป็นอย่างมาก ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ท่านดำรงตำแหน่งประมุขมิสซังเชียงใหม่เป็นเวลานานถึง 21 ปี(ค.ศ. 1954–1975) ชีวิตของท่านทำงานและต่อสู้กับความยากลำบากทุกอย่าง ได้ทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังใจนำข่าวดีไปสู้ผู้ที่ไม่รู้จักพระเป็นเจ้า ให้ได้รู้จักพระองค์เป็นต้น ผู้ยากไร้ชาวเขาเผ่าต่างๆ ท่านลำบากตรากตรำอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อนำพระราชัยสวรรค์ไปสู่คนตามคำพูดของท่านที่ว่า “เราจะให้อายุของเราที่มีอยู่ ถวายพระพรแด่พระเป็นเจ้าในกิจการทั้งหมดที่พระองค์มอบให้” การอุทิศตนเป็นผู้รับใช้และการประกาศเผยแพร่พระวรสารอย่างมุ่งมั่นของท่าน นับเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พระสงฆ์ รวมทั้งคณะนักบวชทุกคณะในปัจจุบัน มิสซังเชียงใหม่ได้พิธีปลงศพของท่านที่วัดพระหฤทัยอย่างสมเกียรติ และได้บรรจุศพของท่านไว้ที่สุสานพระหฤทัยเชียงใหม่โดยมีสัตบุรุษ ทั้งในพื้นที่ราบและพี่น้องคริสตชนบนดอยรวมทั้งนักบวชคณะต่างๆ มาร่วมงานจำนวนมาก
ปี ค.ศ.1991 คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสอาสนวิหารพระหฤทัยเชียงใหม่ องค์ที่ 9 นับเป็นพระสงฆ์ท้องถิ่นองค์แรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ โดยมีคุณพ่อสมควร ป้องศรี เป็นผู้ช่วย ท่านได้พัฒนางานด้านอภิบาล โดยเปลี่ยนโครงสร้างจากสภาวัดเป็นสภาอภิบาล ซึ่งแบ่งงานของวัดออกเป็น 6 ฝ่าย มีการกำหนดนโยบายและเป้าหมายของฝ่ายงานอย่างชัดเจน และยังได้แบ่งงานอภิบาลสัตบุรุษตามทำเลที่ตั้งบ้านเรือนเป็น 4 เขต คือ เขตบ้านเหนือ เขตบ้านใต้ เขตในเมือง เขตหนองประทีป-หนองหอย มีตัวแทนเขตเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสภาอภิบาล เขตละ 2 คน อีกทั้งจัดให้มีการอบรมสมาชิกของสภาฯ ให้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ และจิตตารมณ์ในการทำงานเป็นอย่างดี ท่านได้สืบทอดการนำ รูปแม่พระไปสวดตามบ้านสัตบุรุษในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเดือนแม่พระ ในปี ค.ศ.1994 คุณพ่อพงศ์เทพ ประมวลพร้อม จากมิสซังกรุงเทพฯ และคุณพ่อทัศน์ศิลป์ นวลคำมา มาเป็นผู้ช่วย สิ่งที่เกิดประโยชน์เป็นอย่างยิ่งทั้งทางด้านการศึกษาและความช่วยเหลือ บุตรหลานเยาวชนชาวเขา ได้มีที่พึ่งพิงก็คือการสร้างอาคารนาซาแรธ และอาคารเบ็ธเลเฮม เพื่อเป็นที่พักสำหรับเยาวชนชาย-หญิง ที่เป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ และได้ทำการเปิดโรงเรียนผู้ใหญ่พระหฤทัยขึ้น เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ.1995 เพื่อให้เยาวชนได้ศึกษาหาความรู้และรับการอบรมในทุกๆ ด้าน เป็นการให้โอกาสเยาวชนเหล่านั้นได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น โดย คุณพ่อทัศน์ศิลป์ นวลคำมา ดำรงตำแหน่งครูใหญ่คนแรก คุณพ่อวีระวิทย์ สาสาย ดำรงดำแหน่งครูใหญ่คนที่สอง ซึ่งในการเปลี่ยนโครงสร้างสภาวัด การสร้างอาคารนาซาแรธและเบ็ธเลเฮม รวมถึงการเปิดโรงเรียนผู้ใหญ่พระหฤทัย ได้รับความร่วมมือ และการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากซิสเตอร์โนรา ระดมกิจ ครูใหญ่โรงเรียนพระหฤทัย ในด้านโรงเรียน ท่านได้ปลูกฝังจิตตารมณ์มหาพรต และการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ด้อยโอกาส มีการจัดให้ คณะครูและนักเรียนไปสัมผัสชีวิตและร่วมงานกองบุญข้าวกับพี่น้องบนดอย ซึ่งงานดังกล่าวได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมศาสนาและวัฒนธรรมชุมชน ตั้งอยู่ที่ตำบลสันปูเลย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งท่านเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งขึ้น
ปี ค.ศ.1996 คุณพ่อทัศน์ศิลป์ นวลคำมา รับหน้าที่เจ้าอาวาสอาสนวิหารพระหฤทัยเป็นองค์ที่ 10 โดยมี คุณพ่อวิริยะ สู้เสงี่ยม และคุณพ่อเจษฎา บุญระติวงศ์ จากมิสซังราชบุรี คุณพ่อคำมา อำไพพิพัฒน์ และคุณพ่ออุทัย พาแฮ เป็นผู้ช่วยงานสำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยนี้คือ การสร้างสระน้ำ และอาคารเรียนหลังใหม่ 2 หลัง คือ อาคารยอแซฟ และอาคารพระหฤทัย เพื่อเปิดการขยายชั้นเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนพระหฤทัย โดยได้รับความร่วมมือสนับสนุนอย่างดียิ่งจากซิสเตอร์วิมล สุขสวัสดิ์ ครูใหญ่โรงเรียนพระหฤทัย นอกจากนั้นยังมีการบูรณะวัดพระหฤทัยเชียงใหม่ขึ้นมาใหม่ โดยการสร้างซ้อนทับวัดหลังเดิม ที่สร้างขึ้นในสมัย พระสังฆราช ลูเซียน ลากอสต์ เพื่อให้เสร็จทันฉลอง ปีปิติมหาการุญ ค.ศ.2000 โดยมีคุณพ่ออเลนสซานโดร บอร์ดิญอง เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง
การบูรณะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ.1997 เสร็จเรียบร้อยในเดือนตุลาคม ค.ศ.1999 และทำการเสกโดย พระสังฆราช ยอแซฟ สังวาล ศุระศรางค์ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ.1999 พร้อมทั้งมีพิธีบวชพระสงฆ์คณะเบธารามชาวไทย 2 องค์แรก คือ คุณพ่อสุบัญชา ยินดีงาม และคุณพ่อติดคำ ใจเลิศฤทธิ์
ในวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ.1999 ทางมิสซังได้จัดให้มีพิธีเปิดปีปิติมหาการุญคริสตศักราช 2000 และโปรดศีลล้างบาป จำนวน 2,000 คน เป็นพิธีที่สง่างามและยิ่งใหญ่ มีพระสงฆ์และสัตบุรุษในมิสซังเชียงใหม่มาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้วัดพระหฤทัยเชียงใหม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นวัดที่รับพระคุณการุญบริบูรณ์ จึงมีสัตบุรุษจากที่ต่างๆ เดินทางมาแสวงบุญเป็นจำนวนมาก ตลอดปี ค.ศ.2000
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2000 ทางวัดพระหฤทัย ได้จัด พิธีฉลอง บุญราศี นิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง โดยทางวัดได้รับมอบพระธาตุของท่านจากกรุงเทพฯ นำมาประดิษฐานอยู่ภายในวัดเพื่อให้สัตบุรุษได้อธิษฐานภาวนา เนื่องจากวัดพระหฤทัยแห่งนี้ ครั้งหนึ่งท่านได้มาแพร่ธรรมและมีสัตบุรุษกลับใจจำนวนมาก ในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.2000 ได้จัดให้มีพิธีปิดปีปิติมหาการุญ คริสตศักราช 2000 คุณพ่อทัศน์ศิลป์ ยังให้การสนับสนุนกลุ่มฆราวาส แพร่ธรรมทุกกลุ่มเป็นอย่างดี ทำให้ทุกคนมีกำลังใจ พร้อมที่จะอุทิศตนเพื่อช่วยงานของวัดและพระศาสนจักรด้วย ความเต็มใจ ในปีนี้นอกจากจะเป็นปีแห่งความชื่นชมยินดีแล้วยังมีเหตุการณ์ที่นำความเศร้าโศกมาสู่สัตบุรุษในมิสซังเชียงใหม่ คือการมรณภาพของพระสังฆราช โรเบิร์ต รัตน์ บำรุงตระกูล เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ.2000 ซึ่งท่านได้ดำรงตำแหน่งประมุขของมิสซังเชียงใหม่เป็นระยะเวลา 12 ปี คือ ตั้งแต่ ค.ศ.1975 จนถึง ค.ศ.1987
ท่านได้เสียสละและอุทิศตนในการบุกเบิกงานแพร่ธรรมในมิสซังเชียงใหม่ ท่านบุกป่าผ่าดงไปเยี่ยมเยียน และโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แก่ชาวเขาและคริสตชนกลุ่มอื่นๆ ทั่วเขตมิสซัง ตลอดชีวิตที่ยาวนานและมากด้วยกิจการที่ดีงามในการรับใช้พระเป็นเจ้าของท่าน ยังอยู่ในความทรงจำของสัตบุรุษในมิสซังเชียงใหม่ตลอดไป พิธีปลงศพของท่านจัดอย่างเรียบง่ายที่วัดแม่พระบังเกิด บางนกแขวก จังหวัดราชบุรี
ปี ค.ศ.2001 คุณพ่อปิยะ โรจนมารีวงศ์ รับหน้าที่เจ้าอาวาสวัดพระหฤทัยองค์ที่ 11 โดยมี คุณพ่อวีระวิทย์ สาสาย เป็นผู้ช่วยงานสำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ คือการสร้างโดมอเนกประสงค์ที่บริเวณหน้าเสาธงโรงเรียนพระหฤทัย สร้างทางเดิน ที่มีหลังคาจากที่จอดรถไปยังอาคารเรียน ท่านได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาโรงเรียนพระหฤทัยให้เจริญขึ้นในหลายๆด้าน ส่วนงานด้านอภิบาลท่านได้แก้ไขระเรียบข้อบังคับและปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสภาอภิบาลวัดพระหฤทัย ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ ให้การส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ของวัดอย่างดี ในวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ.2001 ได้มีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ที่ตระหนักและเห็นความสำคัญในสถานการณ์เปลี่ยนแปลงและปัญหาต่างๆ ของผู้สูงอายุ ท่านให้ความรักความเมตตาต่อเยาวชนบ้านนาซาแรธ และบ้านเบ็ธเลเฮม จนเป็นที่รักใครของ เยาวชนทุกคน นอกจากนั้นยังได้ทำการบูรณะบ้านพักคนงาน บูรณะสุสานพระหฤทัย ตั้งกฎ ระเบียบการใช้สุสานและศาลาพระหฤทัยให้ชัดเจน จัดซื้อโลงเย็นบรรจุศพเพื่อความสะดวกและความทันสมัย ท่านยังได้อนุมัติให้มีการจัดเลี้ยงน้ำชา กาแฟ และเครื่องดื่มแก่ผู้มาร่วมพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณในวันอาทิตย์ เพื่อเป็นการส่งเสริมความรักความสามัคคีระหว่างสัตบุรุษ นอกจากนั้นวัดพระหฤทัยได้รับเกียรติเป็นสถานที่จัดพิธีฉลอง 50 ปี การแพร่ธรรมในประเทศไทยของคณะเบธาราม เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ.2001 ซึ่งเป็นพิธีที่สง่างาม มีพระสงฆ์นักบวช และสัตบุรุษมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก ท่านได้ทำการปรับปรุงภายในวัดโดยติดตั้งเครื่องบอกเลขหน้าบทเพลงเป็นระบบดิจิทัล ติดตั้งพัดลมไอน้ำและปูพรมบริเวณพระแท่นทั้งหมด และในระหว่างวันที่ 1-3 สิงหาคม ค.ศ.2003 ทางสังฆมณฑลเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพจัดงานวันสื่อมวลชนสากลครั้งที่ 37 โดยจัดที่วัดและโรงเรียนพระหฤทัย ซึ่งได้รับความสนใจจากพระสงฆ์ นักบวช และสัตบุรุษ อีกทั้งมีโรงเรียนคาทอลิกทุกโรงเรียนในสังฆมณฑลเชียงใหม่มาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกัน
ในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ.2003 ได้ฉลองปีที่ 25 แห่งสันตะสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ได้ถวายพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณในวันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม ค.ศ.2003 เวลา 08.30 น. เงินร่วมทำบุญจากถุงทานและเงินของผู้ที่ประสงค์จะถวายเป็นส่วนตัว ทางวัดได้นำถวายแด่สมเด็จพระสันตะปาปาทั้งหมด คุณพ่อปิยะ โรจนะมารีวงศ์ ได้ให้ความสำคัญแก่บุคลากรครูคาทอลิกเป็นอย่างมาก โดยได้ริเริ่มตั้งชมรมครูคาทอลิกสังฆมณฑลเชียงใหม่ และถือเอาวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ.2004 เป็นวันก่อตั้งของชมรมฯ นอกนั้นท่านยังมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลได้จัดให้มีพิธีมิสซาภาษาอังกฤษขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ชาวต่างประเทศได้ร่วมพิธีในภาษาของตนเอง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจาก คุณพ่ออันเยโล กัมปาญอลี เป็นผู้ดำเนินการ และเป็นประธานมิสซาคนแรก โดยใช้สถานที่วัดน้อย ซึ่งติดตั้งเครื่องปรับอากาศ และสามารถรองรับสัตบุรุษได้ประมาณ 100 คน ตลอดสมัยที่ประจำอยู่วัดพระหฤทัย คุณพ่อได้ทุ่มเททั้ง กำลังใจ กำลังกายเพื่องานอภิบาลของสังฆมณฑลเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง นอกเหนือจากการดูแลวัดพระหฤทัย ท่านยังได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งอุปสังฆราชของสังฆมณฑลเชียงใหม่อีกด้วย ปัจจุบันคุณพ่อได้ย้ายกลับไปมิสซังกรุงเทพฯ และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ที่กรุงเทพฯ
ปี ค.ศ.2004 จนถึงปัจจุบัน คุณพ่อยอแซฟ วุฒิเลิศ แห่ล้อม พระสงฆ์จากสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เข้ารับหน้าที่ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระหฤทัยองค์ที่ 12 โดยมี คุณพ่อวีระวิทย์ สาสาย และ คุณพ่ออนุพงศ์ ดำรงอุษาศีล เป็นผู้ช่วย คุณพ่อได้พัฒนาโรงเรียนพระหฤทัยให้เจริญก้าวหน้า อีกทั้งยังร่วมงานและให้ความเป็นกันเองกับคณะครู จนเป็นที่เคารพรักของคณะครู ส่วนงานด้านอภิบาลในช่วงแรกที่ท่านมารับหน้าที่ คุณพ่อได้ออกเยี่ยมบ้านสัตบุรุษเพื่อไต่ถามทุกข์สุขและทำความรู้จักกับสัตบุรุษ ให้การสนับสนุนและเข้าร่วมประชุมกับกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ของวัดอย่างสม่ำเสมอ ให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาที่ดี ด้วยบุคลิกที่ไม่ถือตัวและมีความเป็นกันเองจึงทำให้สัตบุรุษให้ความร่วมมือร่วมใจกับท่านอย่างเต็มที่ หลังจากคุณพ่อมารับตำแหน่งไม่นานก็มีข่าวการเสียชีวิตของ คุณพ่ออเลส ซานโดร บอดีญอง ท่านเป็นมิชชันนารีคณะปีเมที่สมัครมาทำงานที่มิสซังเชียงใหม่และท่านเป็นผู้บูรณะวัดพระหฤทัยหลังที่ 2 คุณพ่อประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิตที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และนำศพของคุณพ่อมาประกอบพิธีที่วัดพระหฤทัย ท่ามกลางสัตบุรุษที่มาร่วมพิธีจำนวนมาก ศพของท่านนำไปบรรจุที่สุสานพระหฤทัย นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์สำคัญที่ต้องจารึกไว้ อีกเหตุการณ์หนึ่ง คือ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ.2004 พระคาร์ดินัลเครสเซนซีโอ เซเป พร้อมคณะผู้ติดตามอีก 6 องค์ ได้มาเยี่ยมวัดพระหฤทัย ซึ่งนำความปลาบปลื้มยินดีแก่สัตบุรุษในมิสซังเชียงใหม่เป็นอย่างมาก
ในวันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม ค.ศ.2004 มีพิธีปฎิญาณตนตลอดชีพครั้งแรกของซิสเตอร์คณะแพร่ธรรมแห่งแม่พระปฎิสนธินิรมล(ซิสเตอร์แม่ปอน) โดยประกอบพิธีที่วัดพระหฤทัย ในวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ.2004 ได้เกิดธรณีพิบัติสึนามิที่ภาคใต้ ทางวัดและโรงเรียนพระหฤทัยได้รณรงค์ให้บริจาคปัจจัยสิ่งของต่างๆ โดยสามารถรวบรวมเงินได้ถึงสองแสนบาทเพื่อนำไปช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบภัยในภาคใต้ วันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ.2005 สภาอภิบาลและสัตบุรุษวัดพระหฤทัยได้จัดพิธีแสดงความยินดีแก่ คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม ในโอกาสรับศีลบวชครบรอบ 25 ปี โดยมี พระสังฆราช ยอแซฟ สังวาล ศุระศรางค์ เป็นประธาน ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ค.ศ.2005 ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 40 ปี ของเชียงใหม่ ทำให้โรงเรียนพระหฤทัย โรงเรียนเรยีนาเชลี และโรงเรียนมงฟอร์ตทั้งแผนกประถมและแผนกมัธยม ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก แต่พระเป็นเจ้ายังอวยพร แม้น้ำจะท่วมหนักแต่น้ำก็ยังขึ้นไม่ถึงภายในวัด จึงไม่ได้รับความเสียหายเลย วันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.2005 คณะเยสุอิต จัดทำพิธีบวชพระสงฆ์ของคณะที่วัดพระหฤทัย ซึ่งเป็นพระสงฆ์ปาเกอะญอองค์แรกของคณะ คือ คุณพ่อวินัย บุญลือ มีพระสงฆ์ นักบวช และสัตบุรุษทั้งใกล้และไกลมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก ในช่วงกลางปี ค.ศ.2006 คุณพ่อวุฒิเลิศ แห่ล้อม ได้รับการแต่งตั้งจากพระสังฆราชให้ดำรงตำแหน่ง อุปสังฆราชประจำสังฆมณฑลเชียงใหม่อีกตำแหน่ง ส่วนงานด้านงานอภิบาล คุณพ่อได้จัดให้มีการประกอบพิธีมิสซาบูชาในทัณฑสถานหญิง ในทุกวันศุกร์ที่ 2 ของเดือน ซึ่งนอกจากทำพิธีมิสซาแล้วยังมีการสอนคำสอน และนำของใช้ที่จำเป็นไปมอบแก่ผู้ต้องขังด้วย และยังมีภารกิจที่คุณพ่อกำลังดำเนินการอีกอย่างคือ การสร้างวัดใหม่ที่อำเภอดอยสะเก็ด ซึ่งเป็นวัดที่มีผู้มีน้ำใจดีสร้างถวายโดยตั้งชื่อวัดว่า วัดนักบุญยอแซฟ ตามเจตนาของผู้บริจาค และนับเป็นวัดน้อยของวัดพระหฤทัยฯ นอกนั้น คุณพ่อยังมีโครงการที่จะเปิดวัดน้อยที่จังหวัดลำพูน และอำเภอหางดง อย่างละหนึ่งวัดในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งแน่นอนที่สุด นี่คือพระหรรษทานที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่มิสซังเชียงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตบุรุษวัดพระหฤทัยในโอกาสวัดครบรอบ 75 ปี ในการประกาศพระราชัยของพระ องค์ในถิ่นล้านนาแห่งนี้
สภาอภิบาลอาสนวิหารพระหฤทัยเชียงใหม่ (หรือสมัยก่อนเรียกว่า “สภาวัด”) มีสำนักงานตั้งอยู่ (บ้านพักพระสงฆ์) ก่อตั้งขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.1991 ในสมัยของคุณพ่อซีริล นิพจน์ เทียนวิหาร เป็นเจ้า อาวาส ช่วงระหว่างก่อตั้งสภาอภิบาลใหม่ๆ คุณพ่อเจ้าวัดและคณะกรรมการในสมัยนั้น ได้ร่วมกันศึกษาและค้นคว้าประวัติศาสตร์ ของอาสนวิหารพระหฤทัยฯ เพื่อจะได้เข้าใจความเป็นมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน คือตั้งแต่สมัย คุณพ่อยอร์ช มิราแบล ในปี ค.ศ.1931 เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ใช้เวลาในเรื่องนี้ ประมาณ 1 ปี 3 เดือน เมื่อศึกษาเสร็จสมบูรณ์พอสมควรแล้ว คุณพ่อเจ้าวัดและคณะกรรมการ ได้ร่วมกันกำหนดกฎข้อบังคับของสภาอภิบาลพระหฤทัยฯ เพื่อใช้เป็นข้อบังคับตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม ค.ศ.1992 เป็นต้นมา
ในสมัยปัจจุบันสภาอภิบาลอาสนวิหารพระหฤทัยฯ ขึ้นตรงกับอาสนวิหารพระหฤทัย โดยมี บาทหลวงยอแซฟ วุฒิเลิศ แห่ล้อม เป็นเจ้าอาวาส และประธานสภาอภิบาลฯ โดยตำแหน่ง ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 2012 และในปัจจุบันมีคุณพ่อเปโตรสุรสิทธิ์ ชุ่มศรีพันธุ์ เป็นเจ้าอาวาส วันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 2012
สภาอภิบาลอาสนวิหารพระหฤทัย แบ่งการปกครองออกเป็น 4 เขต คือ
1. เขตบ้านเหนือ
2. เขตบ้านใต้
3. เขตบ้านเวียง
4. เขตหนองประทีป-หนองหอย
สภาอภิบาลอาสนวิหารพระหฤทัยตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อสร้างสรรค์พระศาสนจักรท้องถิ่น
2. ให้คำปรึกษาและร่วมงานกับเจ้าอาวาสในกิจการของอาสนวิหาร
3. ส่งเสริมความสัมพันธ์และความสามัคคีในระหว่างสัตบุรุษ
4. ส่งเสริมและประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ของอาสนวิหาร
5. ดำเนินการใดๆ เพื่อความเจริญของอาสนวิหาร และพระศาสนจักร โดยส่วนรวม
สภาอภิบาลอาสนวิหารพระหฤทัยแบ่งงานบริหารออกเป็น 4 ฝ่าย ดังนี้
1. ฝ่ายอภิบาล
2. ฝ่ายพิธีกรรม
3. ฝ่ายทรัพย์สิน
4. ฝ่ายศาสนสัมพันธ์
สภาอภิบาลอาสนวิหารพระหฤทัยมีองค์ประกอบคณะกรรมการ ดังต่อไปนี้
1. ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากตัวแทนทั้ง 4 เขต
2. ผู้แทนองค์กรกิจกรรมฆราวาส และผู้แทนคณะนักบวชที่ดำเนินการของคณะในเขตการปกครองของอาสนวิหาร
3. ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยเจ้าอาวาส
4. กรรมการโดยตำแหน่ง (เป็นต้นคุณพ่อเจ้าวัด, คุณพ่อปลัด)
5. สภาอภิบาลอาสนวิหารพระหฤทัยในปัจจุบันมีคณะกรรมการ ทั้งหมดจำนวน 25 ท่าน
จากหนังสือ 75 ปี อาสนวิหารพระหฤทัยเชียงใหม่ ค.ศ.1931-2006