สังฆมณฑลนครราชสีมา อาสนวิหารแม่พระประจักษ์ที่เมืองลูร์ด

 
 
386 ถนนมุขมนตรี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 30000
โทร. 0-4424-2312, 0-4426-2281  โทรสาร 0-4425-5667 ถึง 9
 
 
ตามหลักฐานที่เชื่อถือได้ กลุ่มคริสตชนโคราชเริ่มถือกำเนิดขึ้นในปี  ค.ศ.1905 ก่อนนั้นไม่มีคริสตชนคนใดปรากฏเป็นที่รู้จักในเขตเมืองโคราช ผู้บุกเบิกงานแพร่ธรรมและก่อตั้งพระศาสนจักรขึ้นในเขตนครราชสีมา ก็คือ พระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส พระสงฆ์องค์แรก ที่มาประจำคือ คุณพ่อแอสส์กอฟองส์ ตามทะเบียนล้างบาปของวัดโคราชมีบันทึกไว้ว่ามีการประกอบศีลล้างบาปแก่คริสตชนคนแรกเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ.1905 และต่อมาก็มีจำนวนคริสตชนเพิ่มขึ้นเป็น 20 คน (4 ครอบครัว) ในปี ค.ศ.1908 มีคาทอลิก 36 คน ได้รับศีลกำลัง 
 
ต่อมาในปี ค.ศ.1910 คุณพ่อร็องแดล ได้มาอยู่ประจำที่วัดโคราชแทนคุณพ่อแอสส์กอฟองส์ ความเร่าร้อนได้ผลักดันให้คุณพ่อทำงานด้วยความมานะอดทนเพื่อบุกเบิกงานแพร่ธรรม ทำให้กลุ่มคริสตชนเติบโตขึ้น จำนวนคริสตังทวีขึ้นตามลำดับ 
 
ในปี ค.ศ.1912 มีคาทอลิก 42 คน  คุณพ่อร็องแดลได้จับจองที่ดินในเขตโคราชไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เวลานั้นยังเป็นป่าและที่ว่างเปล่า คุณพ่อได้สร้างโรงสวดตามหมู่บ้านต่างๆ หลายแห่ง คุณพ่อได้ตรากตรำทำงานหนัก ทั้งๆ ที่สุขภาพไม่ค่อยสมบูรณ์ คุณพ่อได้ถึงแก่กรรมบนเส้นทางรถไฟกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในปี ค.ศ.1927
 
 
ในระหว่างที่คุณพ่ออยู่ประจำที่โคราช ก็มีพระสงฆ์อื่นมาอยู่ช่วยเป็นช่วงๆ อาทิ คุณพ่อไบเลและคุณพ่อแอสเตวัง ต่อมาปี ค.ศ.1972 นั้นเอง คุณพ่อเบอนัว นิโกเลา ได้มาอยู่ประจำแทน อยู่ได้ประมาณปีเศษก็ย้ายไปที่อื่น คุณพ่อโทมา (พระสงฆ์ไทย) มารับหน้าที่แทน และอยู่ประจำจนถึง ค.ศ.1934
 
เมื่อคุณพ่อโทมาย้ายไป คุณพ่ออัมโบรซีโอได้รับหน้าที่แทนจนถึงปี ค.ศ.1936 และปี ค.ศ.1936 ตอนปลายปี คุณพ่อโอลลีเอมารับหน้าที่แทนชั่วคราว ต้นปี ค.ศ.1937 คุณพ่อเบอนัว นิโกเลา ก็กลับมาประจำอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงถัดมา พระสงฆ์ที่มาประจำหรือมาช่วยชั่วคราว มีดังนี้ คือ
 
1. คุณพ่อเลโอ นาร์ด (พระสงฆ์ไทย) ปี ค.ศ.1939-1940
2. คุณพ่อลาร์เก ปี ค.ศ.1941-1942
3. คุณพ่อเดอชังป์ ปี ค.ศ.1943-1944
4. คุณพ่อพิจิตร กฤษณา ปี ค.ศ.1945-1947
5. คุณพ่อซีริล หัวใจ ปี ค.ศ.1949-1954
 
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  (ปี ค.ศ.1938-1945)  กลุ่มคริสตชนชาวโคราชต้องระส่ำระส่าย แตกกระจายไป อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ทางการเมือง ชาวต่างประเทศ ชาวจีน ชาวอเมริกันและชาวยุโรป ต้องอพยพออกจากนครราชสีมา ทหารญี่ปุ่นได้เข้ามายึดครองพื้นที่บริเวณตรงข้ามสถานีรถไฟ ในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ สัมพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดสถานีรถไฟโคราช วัดคาทอลิกซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ นี้ ก็พลอยถูกถล่มด้วยระเบิดหลายสิบลูก ทะเบียนต่างๆ ของวัดตั้งแต่ปี ค.ศ.1934-1945 ได้สูญหายไป คริสตชนตามละแวกวัดก็หลบภัยไปอาศัยตามเขตนอกเมืองหรือตามบ้านนอก ขาดการติดต่อไปเป็นจำนวนมาก  อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามโลกสงบลงแล้ว จำนวนคริสตชนเพิ่มขึ้นตามลำดับ ตามรายงานของคุณพ่อพิจิตร ปี ค.ศ. 1945 มีคาทอลิก 113 คน
 
ระหว่างที่คุณพ่อซีริล หัวใจ อยู่ประจำสถิติคาทอลิกสูงขึ้น คือ ปี ค.ศ.1949 มีคาทอลิก 192 คน และในปี ค.ศ.1954 คาทอลิกมีมากกว่า 200 คน เมื่อคุณพ่อซีริล หัวใจ ถึงแก่กรรม คุณพ่อเรอเน บริสซอง และคุณพ่อถาวร กิจสกุล ได้มาช่วยดูแลชั่วคราวจนถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1954  คุณพ่อมารีอูส เบรย์ ก็ได้มารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโคราช
 
คุณพ่อเบรย์ได้ลงมือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัดอย่าจริงจัง ในระหว่างสงครามโลก ที่ดินของวัดถูกบุกรุกเพราะขาดผู้ดู โรงแรมถูกสร้างขึ้นหลายแห่งเพื่อเป็นที่พักของคนโดยสารรถไฟ ระหว่างกรุงเทพฯ-โคราช, โคราช-อุบลฯ สมัยนั้นผู้โดยสารรถไฟ จำต้องหยุดพักที่โคราช กิจการโรงแรมในที่ดินของวัดจึงเฟื่องฟูเพราะตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟ คุณพ่อเบรย์ต้องค่อยๆ ขยับขยายให้ผู้อาศัยในสลัมไปอาศัยที่อื่น ต้องชดใช้ค่ารื้อถอน ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อต่อสู้ คดีเรื่องที่ดิน ต้องซื้อโรงแรมเพื่อรื้อถอน จนได้ที่ดินของวัดคืนมาในบางส่วน ซึ่งยังคงอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้
 
คุณพ่อเบรย์ได้ลงมือริเริ่มกิจการต่างๆ เพื่อพัฒนาสภาพของวัดให้ดีขึ้น คุณพ่ออุทิศตนทำงานเพื่อรับใช้สังคมรอบข้าง งานสำคัญที่สุดของคุณพ่อ คือ 
 
1. การตั้งโรงเรียนมารีย์วิทยา ในปี ค.ศ.1956  โดยได้รับความร่วมมือจากภคินี คณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ต คุณพ่อได้ดัดแปลง “โรงแรม” ชั้นบนเป็นห้องเรียน โรงเรียนได้เจริญก้าวหน้าเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้
2. โดยคำเชิญของคุณพ่อ คณะภราดาเซนต์คาเบรียล ได้มาเปิดโรงเรียนอัสสัมชัญขึ้นที่โคราช
3. บ้านแมรี่โฮม คุณพ่อเริ่มรับเด็กหญิงทั้งคาทอลิกและไม่ใช่คาทอลิกซึ่งมาจากครอบครัวที่ยากจนให้ได้ รับการอบรมศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด บ้านแมรี่โฮมนี้รับเด็กหญิงมาอยู่อาศัยได้ประมาณ 35 คน ให้การศึกษาจนจบชั้นสูงสุดของโรงเรียน (ม.6 ) บ้านแม่รี่โฮมยังดำเนินอยู่ถึงปัจจุบัน
4. โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ สร้างขึ้นด้วยความบากบั่นมุมานะของคุณพ่อ แม้จะมีอุปสรรคมากมาย งานก็บรรลุผลสำเร็จสมประสงค์  ในปัจจุบันกลายเป็นโรงพยาบาลชั้นนำในเมืองโคราช 
 
คุณพ่อเบรย์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสของวัดโคราชนานถึง 23 ปี กระทั่งถึงปี 1978 คุณพ่อย้ายไปประจำที่วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล  ปากช่อง
 
ปี ค.ศ.1978  คุณพ่อประยูร  นามวงศ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแทน เนื่องจากวัดเก่ามีสภาพเสื่อมโทรม  ทางสังฆมณฑลมีดำริสร้างวัดขึ้นใหม่ และได้รับความเห็นชอบพร้อมทั้งความร่วมมือจากทุกฝ่าย งานสร้างตัวโบสถ์ใหม่เริ่มขึ้นวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1979 มีพิธีวางศิลาฤกษ์ โดย พระสังฆราชยออากิม พเยาว์ มณีทรัพย์  เป็นประธาน มีบุคคลสำคัญฝ่ายศาสนาและฝ่ายบ้านเมือง เช่น พระสังฆราชอาแลง วัง กาแวร์ (อดีตพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลนครราชสีมา) ผู้ว่าราชการจังหวัด (สมัยนั้น) มาร่วมพิธีกันมากมาย  งานก่อสร้างดำเนินอยู่เป็นเวลา 2 ปี จึงแล้วเสร็จ
 
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1981 พระสังฆราชยออากิม พเยาว์ มณีทรัพย์ เป็นประธานในพิธีเสกโบสถ์หลังใหม่นี้ โดยพระสมณทูต (สมัยนั้น) แห่งวาติกันประจำประเทศไทย ให้เกียรติมาร่วมพิธีด้วย
 
โบสถ์ใหม่นี้ ได้รับสถาปนาให้เป็น “อาสนวิหาร” ประจำสังฆมณฑลนครราชสีมา โดยใช้ชื่อว่า “อาสนวิหารแม่พระประจักษ์ที่เมืองลูร์ด” เป็นศูนย์กลางของกลุ่มคริสตชนโคราช ซึ่งในวันนี้เรามีความชื่นชมยินดีเฉลิมฉลองครบรอบ 85 ปี นับตั้งแต่เริ่มกลุ่มคริสตชนในเมืองโคราช  จากการสำรวจล่าสุดเมื่อปี ค.ศ.1990  จำนวนคริสตชนที่เป็นปัจจุบัน มีอยู่ประมาณ 950 คน มีผู้สนใจเรียนคำสอนเตรียมตัวรับศีลล้างบาปเป็นจำนวนมาก หวังว่าจำนวนคาทอลิกของวัดโคราช คงจะทวีขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งนี้ด้วยการร่วมแรงร่วมใจของพระสงฆ์และสัตบุรุษในงานแพร่ธรรมตามฐานะและหน้าที่ของตน 
 
ก่อนจบ ขอนำถ้อยคำของพระสงฆ์องค์หนึ่งมาแบ่งปันดังนี้ “วัดจำเป็นต้องมีกิจกรรมคาทอลิกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้คอยปลุกและกระตุ้นความร้อนรนของสัตบุรุษที่พร้อมจะอุทิศตนรับใช้ผู้อื่น กิจกรรมคาทอลิกไม่ว่ากลุ่มไหนก็ดีทั้งนั้น เพียงแต่ว่าต้องมีคนคอยแนะนำดูแลและสนับสนุนอย่างใกล้ชิด กิจกรรมคาทอลิกของวัด คือ คณะพลมารี และคณะวินเซนต์ เดอ ปอล” 
 
พระสงฆ์องค์นี้ยังกล่าวต่อไปอีกว่า “ข้าพเจ้าขอรับว่า งานอภิบาลสัตบุรุษเป็นงานที่น่าสนใจและน่าหลง ไหลจริงๆ วัดเป็นศูนย์กลางในชีวิตของคริสตชน วัดเป็นชีวิตของพระสงฆ์ เป็นที่มาของสัมพันธ์ความรักอักลึกซึ้ง ระหว่างสัตบุรุษลูกวัดกับพระสงฆ์ พระสงฆ์เป็นบุคคลที่ใครๆ ต้องหันเข้าพึ่งในชีวิตประจำวัน...ประสบการณ์ในด้านอภิบาลสัตบุรุษนี้ บันดาลให้ข้าพเจ้าปิติยินดีดื่มอย่างไม่มีที่เปรียบ ซึ่งหาที่อื่นไม่ได้ในโลกนี้...”
 
 
“กิจกรรมต่างๆ   ของวัดของพระสงฆ์จะต้องมุ่งไปสู่เป้าหมายที่แน่นอน คือ การแพร่พระวรสาร สำหรับข้าพเจ้า  การแพร่พระวรสารในทางปฎิบัติคือ การสอนคำสอน ซึ่งจะทำให้ชีวิตคริสตชนและงานแพร่ธรรมเจริญงอกงามขึ้นในวัด” 
 
“อันที่จริง เครื่องหมายที่บ่งชี้ว่าวัดใดเจริญหรือไม่นั้นเป็นอะไร? จำนวนคนรับศีลมหาสนิทเพิ่มขึ้นหรือ?  มีคนมาร่วมมิสซามากขึ้นหรือ?  คณะกิจกรรมคาทอลิกและองค์กรพัฒนาด้านต่างๆ มีสมาชิกทวีขึ้นหรือ?  ขบวนการเยาวชนขยายตัวกว้างขึ้นหรือ?  เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นเครื่องหมายที่หลอกลวงทั้งสิ้น ถ้าสัตบุรุษไม่สนใจฟังคำสอน” 
 
ถ้อยคำเหล่านี้เป็นข้อคิดสำหรับทุกคน หากไตร่ตรองพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว เราทุกคนทั้งพระสงฆ์และฆราวาส จะต้องทบทวนการกระทำและชีวิตของเราว่า ตรงเป้าหมายหรือผิดเป้าไปมากน้อยเพียงไร.
  
จากหนังสือ อนุสรณ์ 25 ปีสังฆมณฑลนครราชสีมา (ค.ศ.1965-1990)
85 ปีกลุ่มคริสตชนนครราชสีมา (ค.ศ.1905-1990)