16 มกราคม พ.ศ.2501 : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงวางศิลาฤกษ์ สถาบันราชประชาสมาสัย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงวางศิลาฤกษ์ สถาบันราชประชาสมาสัย ที่สถาบันโรคเรื้อนพระประแดง จ. สมุทรปราการ ซึ่งชื่อสถาบันราชประชาสมาสัยนั้นทรงพระราชทานนามในปี 2503 หมายความว่าพระมหากษัตริย์และประชาชนย่อมต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ตั้งขึ้นเพื่อเร่งรัดโครงการควบคุมโรคเรื้อนให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย ต่อมาได้กำหนดวันนี้ของทุกปี เป็น "วันราชประชาสมาสัย" เพื่อรณรงค์เรื่องโรคเรื้อน เผยแพร่ความรู้ และหาทุนในการดำเนินการอีกด้วย
16 มกราคม พ.ศ.2464 : วันสถาปนา กรมอุทกศาสตร์
วันสถาปนา กรมอุทกศาสตร์ กิจการอุทกศาสตร์เริ่มมีครั้งแรกในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี 2399 โดยรัฐบาลได้ได้อนุญาตให้อังกฤษส่งเรือหลวงซาราเซน เข้ามาสำรวจอุทกศาสตร์ในอ่าวไทย เพื่อจัดทำแผนที่เดินเรือที่สำคัญบริเวณอ่าวไทย ต่อมาในปี 2439 ได้มีการก่อตั้งกองแผนที่ทะเล ขึ้นตรงต่อกรมทหารเรือ ในปี 2457 ได้เปลี่ยนชื่อกองแผนที่ทะเลเป็น “กองอุทกศาสตร์ทหารเรือ” ในปี 2464 ได้ยกขึ้นเป็น “กรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ” วันนี้ของทุกปีจึงถือเป็นวันสถาปนากรมอุทกศาสตร์
16 มกราคม พ.ศ.2336 : ไทยเสียเมือง มะริด ทวาย และ ตะนาวศรี ให้แก่พม่า
ไทยเสียเมือง มะริด ทวาย และ ตะนาวศรี ให้แก่พม่า หลังจากที่รัฐบาลอังกฤษและรัฐไทยได้ทำสนธิสัญญา กำหนดเส้นเขตแดน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ส่งผลให้คนไทยประมาณ 30,000 คนในขณะนั้น กลายเป็นบุคคลที่สูญเสียสัญชาติ ไปพร้อมกับการเสียพื้นที่ไปประมาณ 55,000 ตารางกิโลเมตร แต่รัฐบาลพม่าเองก็ไม่ยอมรับว่าคนเหล่านี้เป็นคนพม่า จึงถูกกดขี่ข่มแหง ถูกละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงไม่ต่างจากชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ล่าสุดเมื่อปลายปี 2549 คนไทยกว่า 3,000 คนได้หลบหนีเข้ามาพึ่งแผ่นดินไทยบริเวณจังหวัดระนอง-ชุมพร แต่เนื่องจากไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีบัตรประชาชน จึงต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ถูกข่มขู่รีดไถ ถูกกด-โกงค่าแรงเหมือนแรงงานพม่า โดยที่ไม่มีสิทธิแจ้งความ และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2549 ตัวแทนคนไทยกลุ่มนี้ก็ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลอังกฤษ ผ่านเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ให้รับผิดชอบเรื่องสัญชาติไทยให้กับคนไทยพลัดถิ่นกลุ่มนี้
16 มกราคม พ.ศ.2488 : วันประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เป็นวันครูวันแรก
"วันครู" คณะรัฐบาลนำโดย นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น "วันครู" โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2488 เป็นวันครูวันแรก เนื่องจากต้องการจะสนับสนุนและยกย่องเกียรติของครูให้มีสิทธิเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือนทั่วไป ทางราชการได้กำหนดให้วันนี้เป็น "วันครู" ขึ้นเป็นครั้งแรก