แรกใช้พุทธศักราชในสยาม

 
ก่อนที่จะใช้  “พุทธศักราช” ในวันนี้ ไทยเราเคยใช้  “มหาศักราช” และ “จุลศักราช” มาก่อน เช่นเดียวกับอาณาจักรใกล้เคียงในย่านนี้
 
“มหาศักราช”  แพร่เข้ามาถึงไทยก่อนศักราชอื่น ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกของกรุงสุโขทัยและศิลาจารึกของอาณาจักรใกล้เคียงในย่านนี้เป็นส่วนใหญ่ เข้าใจว่าไทยเราเลิกใช้ในปี พ.ศ. ๒๑๑๒  มหาศักราชตรงกับพุทธศักราช ๖๒๑ ใช้วันที่ ๒๙ มีนาคม เป็นวันขึ้นปีใหม่
 
ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ทรงชวนพม่าลบมหาศักราชออก ๓ ปี เปลี่ยนเป็น  “ศักราชจุฬามณี”   เพื่อลบปีที่มีคำทำนายว่าจะเกิดเหตุร้ายแต่พม่าไม่เล่นด้วยและไม่ได้รับความนิยมจึงกลับมาใช้จุลศักราชอย่างเดิมและใช้มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
 
“จุลศักราช” ที่ใช้ตัวย่อว่า “จ.ศ.” เป็นศักราชที่เริ่มเมื่อปีพุทธศักราช ๑๑๘๑ กำหนดวันที่ ๑๖ เมษายน  เป็นวันขึ้นปีใหม่ ใช้มาตั้งแต่ปลายสมัยสุโขทัย ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์
 
ในพงศาวดารของไทยที่บันทึกเป็นจุลศักราช จะพบว่ามีคำเรียกศกตามเลขท้ายของปีจุลศักราชเป็นภาษาบาลีไว้ด้วย คือ
 
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข  ๑ เรียก “เอกศก”
 
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข  ๒ เรียก “โทศก”
 
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข  ๓ เรียก “ตรีศก”
 
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข  ๔ เรียก “จัตวาศก”
 
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข  ๕ เรียก “เบญจศก”
 
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข  ๖ เรียก “ฉศก”
 
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข  ๗ เรียก “สัปตศก”
 
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข  ๘ เรียก “อัฐศก”
 
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข  ๙ เรียก “นพศก”
 
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข  ๑๐ เรียก “สัมฤทธิศก”
 
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าควรจะใช้ศักราชแบบไทยจะเหมาะกว่า  ทรงออกพระราชบัญญัติให้ใช้วันอย่างใหม่ ในวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ เลิกใช้จุลศักราช หันมาใช้  “รัตนโกสินทรศก” โดยให้ปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ที่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นรัตนโกสินทรศก ๑ หรือ ร.ศ. ๑  แต่ในทางพุทธศาสนาให้ใช้  “พุทธศักราช” หรือ  “พ.ศ.”  ตามแบบธรรมเนียมที่ใช้มาแต่กรุงศรีอยุธยา
 
พระบรมราชานุสาวรีย์ ร. ๖
 
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชดำริว่า 
“...ศักราชรัตนโกสินทร์ที่ใช้อยู่ในราชการเดี๋ยวนี้  มีข้อบกพร่องสำคัญอยู่ คือเป็นศักราชที่สั้นนัก จะกล่าวถึงเหตุการณ์ใดๆในอดีตภาคก็ขัดข้อง ด้วยว่าพอกล่าวถึงเรื่องราวที่ก่อนสร้างกรุงขึ้นไปแล้ว  ก็ต้องหันไปใช้จุลศักราชบ้าง มหาศักราชบ้างและข้างในวัดใช้พุทธศักราช ฝ่ายคนไทยสมัยที่อยากจะกล่าวถึงเหตุการณ์อันมีมาก่อนสร้างกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ก็มักหันไปใช้คฤสตศักราช ซึ่งดูเปนการเสียรัศมีอยู่ จึงเห็น ว่าควรใช้พุทธศักราชจะเหมาะดีด้วยประการทั้งปวงเปนศักราช ที่คนไทยเราซึมทราบดีอยู่แล้วทั้งในประกาศใช้พุทธศักราชอยู่แล้วและอีกประการ ๑ ในเวลานี้ก็มีแต่เมืองเดียวที่มีพระเจ้าแผ่นดินถือพระพุทธศาสนา...” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มใช้พุทธศักราช เป็นศักราชในทางราชการมาตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖