-
Category: ประวัติการพิมพ์ในประเทศไทย
-
Published on Monday, 18 September 2017 03:04
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 20199
“วันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.1836 วันนี้ เรเวอเรนต์รอบินสัน ได้ส่งหนังสือพิมพ์แผ่นหนึ่งเป็นตัวอักษรไทยให้หมอบรัดเลย์ พิมพ์แยกถ้อยคำถูกต้องดีมาก หนังสือฉบับนี้ หมอบรัดเลย์ว่าเป็นหนังสือไทยฉบับแรกที่พิมพ์ขึ้นในเมืองไทย”
ใจความข้างต้นคัดมาจาก “จดหมายเหตุรายวันของหมอบรัดเลย์” ซึ่งได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ในสมุดไดอารีเป็นภาษาอังกฤษ และได้มีการถอดแปลเป็นภาษาไทย และจัดพิมพ์ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 31 ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชัดแจ้งว่า การจัดพิมพ์ตัวหนังสือไทยในเมืองไทยเป็นครั้งแรก ในวันดังกล่าวนับมาจนถึงบัดนี้ก็เป็นเวลาได้ 150 ปี การพิมพ์หนังสือในเมืองไทยนั้นได้มีการพิมพ์มาก่อนแล้วอย่างน้อยพอมีหลักฐานอ้างอิงได้ว่า การพิมพ์น่าจะมีมาแล้วตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ก็ไม่หลักฐานใดๆ จะอ้างได้ว่ามีการพิมพ์หนังสือด้วยตัวหนังสือไทย การพิมพ์ยุคก่อนๆ ขึ้นไปจึงคงเป็นการพิมพ์ที่เอาตัวพิมพ์อักษรโรมันมาใช้พิมพ์
มีหลักฐานพออ้างได้ว่าเมื่อ ค.ศ.1662 คณะมิชชันนารีคาทอลิกฝรั่งเศสที่เข้ามา ในประเทศไทยในระยะเวลานั้นมีบาทหลวงสังฆราชองค์หนึ่ง ชื่อ หลุยส์ลาโน (Louis Laneau) ได้แปลแต่งและพิมพ์หนังสือคำสอนทางคริสต์ศาสนาเป็นภาษาไทยจำนวน 26 เล่ม หนังสือไวยากรณ์ไทยและบาลี 1 เล่ม และพจนานุกรมไทยอีก 1 เล่มด้วย สังฆราชลาโน ได้สร้างศาลาเรียนขึ้นในที่พระราชทานที่ตำบลเกาะมหาพราหมณ์เหนือกรุงเก่าขึ้นไป และได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่โรงเรียนนี้ นัยว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพอพระทัยการพิมพ์ตามวิธีฝรั่งเศส ของสังฆราชลาโน ถึงกับทรงโปรดให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่เมืองลพบุรีเป็นส่วนของหลวงอีกโรงหนึ่งต่างหาก ต่อมาใน ค.ศ.1670 มิชชันนารีอีกผู้หนึ่งชื่อ ลองกลัวส์ ได้เข้ามาร่วมงานด้วย ลองกลัวส์ก็ได้คิดจัดตั้งโรงพิมพ์เพื่อพิมพ์หนังสือไทย เพราะเห็นว่ากระดาษในประเทศไทยมีราคาถูกมากและคนงานก็จ้างได้ด้วยราคาถูก จึงขอให้ทางประเทศฝรั่งเศสจัดส่งช่างแกะตัวพิมพ์มาให้เพื่อจะได้ทำการพิมพ์คำสอนทางคริสต์ศาสนาเป็นภาษาไทยโดยใช้ตัวพิมพ์อักษรโรมัน ในสมัยนี้ได้มีคนไทยที่รู้เรื่องการพิมพ์หนังสืออยู่บ้าง เช่น ราชทูตโกษาปาน หลวงกัลยาราชไมตรี และขุนศรีวิสารวาจา ท่านทั้งสามโดยเฉพาะท่านราชทูตได้รู้เรื่องการพิมพ์เมื่อคราวเป็นทูตไปฝรั่งเศส และได้เคยลองพิมพ์ด้วยตนเองด้วย ดังจะเห็นได้จากรายละเอียดของการไปดูโรงพิมพ์หลวงดังต่อไปนี้
รุ่งขึ้นวันหลังราชทูตได้ไปดูโรงพิมพ์หลวงซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของ มงเซียร์ เดอ ครามวาซี อาศัยเหตุที่เป็นเวลาหนาว ท่านผู้จัดการในโรงพิมพ์หลวงนั้นได้จัดตั้งเตาไฟไว้ในห้องต่างๆ ทั่วไปเพื่อราชทูตจะได้รอดูการพิมพ์โดยสะดวกสบาย ชั้นแรกผู้จัดการได้พาราชทูตไปดูเขาเรียงตัวหนังสือ พอราชทูตเห็นช่างหยิบตัวหนังสือจากช่องที่ไว้ตัวพิมพ์เป็นแผนกๆ ทีละตัวๆ มาเรียงไว้ในรางเหล็กที่ถือไว้ในมือซ้ายด้วยความรวดเร็วจนดูแทบไม่ทันก็แปลกใจ ท่านราชทูตสังเกตได้ทันทีว่าตัวหนังสือในช่องเหล่านั้นต่างชนิดกัน คือในช่องแถวบนเป็นช่องสำหรับตัวหนังสือตัวโป้งๆ ส่วนช่องแถวล่างเป็นช่องสำหรับตัวเล็ก ซึ่งผิดกับตัวหนังสือไทย ที่มีเพียงขนาดเดียวในสำรับหนึ่งไม่มีเล็กไม่มีใหญ่ นอกจากจะเป็นตัวหนังสือต่างชุดต่างสำรับกัน ท่านราชทูตหยิบตัวพิมพ์ออกมาพิเคราะห์ดูเป็นตัวๆ แล้วซักถามถึงวิธีหล่อแม่พิมพ์และวัสดุที่ใช้ทำ แล้วจึงกล่าวว่า “เมืองฝรั่งเศสนี้ช่างดีจริงไม่ว่าอะไรหมด ล้วนแต่มีขึ้นในเมืองนี้ทั้งสิ้นไม่ต้องพึ่งประเทศอื่น” ถัดจากการดูเรียงตัวพิมพ์ต่อไป มงเซียร์ เดอ ครามวาซี ได้พาราชทูตไปดูวิธีการพิมพ์ต่อไป ชั้นแรกให้ดูว่าเมื่อเรียงตัวหนังสือจนครบหน้าแล้วเขาก็มัดตัว หนังสือนั้นได้เป็นหน้าๆ อย่างไร แล้วจึงเอาแท่นอัดไว้ให้ติดๆ กันคราวเดียวหลายๆ หน้าอย่างไรเพื่อจะได้พิมพ์เร็ว ต่อจากนั้นได้ไปดูแท่นพิมพ์ในเวลานั้นมีอยู่ 12 แท่น กำลังอยู่ในระหว่างพิมพ์หนังสือทั้ง 12 เครื่อง มีคนประจำแท่นเครื่องละสองคน..ต่อจากนั้นมงเซียร์ เดอ ครามวาซี ได้แนะนำให้พวกราชทูตดูอีกว่า เมื่อเอาตัวหนังสือขึ้นแท่นพิมพ์แล้วเขาพิมพ์กันด้วยวิธีอย่างใด ท่านราชทูตดูแล้วจึงกล่าวว่า “แหม ทำง่ายเสียจริง ดูเหมือนฉันทำได้เหมือนกัน” แล้วท่านก็ลองพิมพ์ ปรากฏว่าแผ่นกระดาษที่พิมพ์ออกมางามเหมือนกับเมื่อคนงานเขาทำเอง ท่านราชทูตมีความพอใจมาก
พอดูเครื่องพิมพ์แท่นนี้แล้วก็ไปดูเครื่องพิมพ์แท่นอื่นเรื่อยๆ ไปจนครบ แล้วท่านอรรคราชทูตไต่ถาม มงเซียร์ เดอ ครามวาซี ถึงวิธีผสมหมึก วิธีจัดทำลูกหมึกสำหรับกลิ้งไปกลิ้งมาบนแผ่นกระดาษ ฯลฯ แล้วก็ซักถามถึงวิธีทำกระดาษตั้งแต่ต้นจนกระทั่งใช้พิมพ์ได้ตลอด วันนั้นราชทูตได้ดูเข้าใจวิธีการพิมพ์และวิธีพับกระดาษแล้วรวมเข้าเล่ม และใส่ปกจนกระทั้งสำเร็จเป็นหนังสือเล่มหนึ่งใช้อ่านกันได้
เมื่อดูโรงพิมพ์หลวงทั่วแล้ว มงเซียร์ เดอ ครามวาซี ได้พาราชทูตไปดูแม่ตัวหนังสือที่ทำไว้แต่ก่อนหลายชนิดหลายภาษาเป็นต้นว่า ได้พาไปดูแม่ตัวหนังสือภาษากรีก ซึ่งทำตั้งแต่ครั้งรัชสมัยของพระเจ้าฟรังซัวที่หนึ่งเมื่อร้อยห้าสิบปีก่อนแล้วยังได้ดูตัวพิมพ์ภาษาอาหรับซึ่งเพิ่งทำใหม่ๆ ราชทูตได้ถามว่า “ไม่ได้ทำเฉพาะตัวพิมพ์ฝรั่งดอกหรือ อย่างนี่ตัวหนังสือไทยเห็นจะทำพิมพ์ขึ้นได้เหมือนกันกระมัง” มงเซียร์ เดอ ครามวาซี ตอบว่า “ไม่ว่าภาษาอะไรถ้าตั้งใจอยากทำจริงๆ ก็ทำได้ทั้งนั้น และตัวพิมพ์ภาษาไทยก็คงทำได้ไม่ยาก หากท่านราชทูตจะไปตั้งโรงพิมพ์ขึ้นเองในเมืองไทยก็ทำได้ง่ายๆ”
การตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในประเทศไทยครั้งแรก ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ท่านเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ สันนิษฐานจากจดหมายเหตุของบาทหลวงซึ่งได้เขียนไว้ในสมัยนั้น ปรากฏว่าครั้งนั้นบาทหลวงลังคลูอาส์ มีจดหมายบอกบุญไปยังหัวหน้ามิชชันนารีต่างประเทศในกรุงปารีส กล่าวถึงเรื่องการพิมพ์เป็นใจความว่า “ถ้าท่านอยากได้รับส่วนแบ่งในการช่วย แผ่พระศาสนาคริสตังให้แพร่หลายในเมืองไทยแล้ว ขอท่านได้โปรดช่วยซื้อหาเครื่องพิมพ์ส่งมาให้สักเครื่องหนึ่งเถิด มิซซังเมืองไทยนี้จะได้มีโรงพิมพ์สำหรับพิมพ์หนังสือเหมือนกับที่เขาทำกันแล้วในเมืองมะนิลา เมืองคูอา และเมืองมะเกานั้น”
จดหมายเหตุฉบับนี้มิได้บ่งชัดว่าเครื่องพิมพ์ได้ถูกส่งเข้ามาในประเทศไทย แต่กระนั้นก็ดีพอเป็นพยานให้เห็นชัดว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา มิชชันนารีคริสตัง ได้คิดที่จะตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในประเทศอยู่แล้ว ทั้งจดหมายบอกบุญขอเครื่องพิมพ์ฉบับนี้ยังได้เขียน เมื่อ ค.ศ.1674 อันเป็นเวลาก่อนสมัยจลาจลคราวพระเพทราชาชิงราชสมบัติถึง 14 ปีและขณะนั้นบ้านเมืองก็เรียบร้อยเป็นปกติ การค้าขายกำลังเจริญรุ่งเรือง จึงนับเป็นโอกาสอันดีสำหรับมิชชันนารีจะได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นสมตามความดำริดั้งเดิม นอกจากนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงอำนวยความสะดวกแก่บาทหลวงฝรั่งเศสทุกประการ จนเป็นทางให้สำคัญผิดไปว่าพระองค์ทรงเลื่อมใสคริสต์ศาสนา นอกจากนี้จะเห็นได้จากอนุสนธิสัญญาเรื่องศาสนาซึ่งไทยทำกับผู้แทนฝรั่งเศสในเดือนธันวาคม ค.ศ.1685 ลงนามกันที่เมืองลพบุรี มีใจความสรุปโดยย่อว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยทรงอนุญาตให้พวกมิชชันนารีทำการสั่งสอนคริสตศาสนาได้ทั่วราชอาณาจักร และทรงมอบให้คนไทยเจ้ารีตได้ตามใจสมัคร และยังได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำงานในวันอาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ของคริสตศาสนา ทรงอนุญาตให้พวกมิชชันนารีทำการสั่งสอนวิชาแก่คนไทย มีสิทธิ์สั่งสอนวิทยาศาสตร์ กฎหมายและวิชาอื่นๆ ที่ไม่ขัดต่อรัฐบาล และกฎหมายบ้านเมืองของไทย เป็นต้น
เมื่อมีการสอนวิทยาการต่างๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเรียนการสอนก็คือ หนังสือที่จะใช้เห็นคู่มือประกอบการศึกษาหาความรู้ การพิมพ์จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลิตหนังสือออกมาเป็นจำนวนมากตามความต้องการของผู้เรียน แต่ถึงแม้ว่าจะได้มีการพิมพ์หนังสือเกิดขึ้นในสมัยนั้นจริง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าหนังสือเหล่นั้นหายสาบสูญไปหมดไม่เหลือร่องรอยไว้ให้ปรากฏ เพราะเหตุว่าหนังสือของพวกมิชชันนารีถูกทำลายมาหลายครั้ง เช่นถูกริบในแผ่นดินพระเพทราชา ครั้งหนึ่งในแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1767 พม่าก็เผาผลาญเสียอีกครั้งหนึ่งจึงได้แต่อ้างหลักฐานแวดล้อมกรณีพอเป็นทางดำริให้เห็นได้ว่าได้ มีการพิมพ์หนังสือเกิดขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การพิมพ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนี้ คงจะเป็นการพิมพ์โดยใช้ตัวพิมพ์โดยใช้ตัวพิมพ์ อักษรโรมันเรียงพิมพ์ให้อ่านออกเป็นภาษาไทย ไม่ได้ใช้ตัวพิมพ์เป็นตัวหนังสือไทย
ในยุคธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์นี้ การพิมพ์ได้ถูกนำเข้ามาในเมืองไทยอีกครั้ง เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ ได้เขียนไว้ในหนังสือดรุณศึกษา เล่ม 5 เรื่องการพิมพ์หนังสือในประเทศไทยว่า ในสมัยพระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรี เมื่อบ้านเมืองเป็นปกติแล้ว บาทหลวงคาทอลิก ชื่อการ์โนลต์ ได้กลับเข้ามาตั้งสอนศาสนาอีก และได้จัดตั้งโรงพิมพ์และพิมพ์นังสือขึ้นที่วัดซังตาครูซ ตำบลกุฎีจีนในจังหวัดธนบุรีหนังสือที่พิมพ์ครั้งนั้น มีจ่าหน้าว่า
“คำสอนคฤศตัง พิมพ์ขึ้นในวัดซังตาครูซ
ณ บางกอก
ศักราชแต่ไถ่ชาติมนุษย์ 1796”
ในหน้าสองของหนังสือเล่มนี้ พิมพ์เป็นรูปนักบุญ หลุยส์ เดอ คงชาคา รูปร่างหน้าตาดูคล้ายคนไทยโบราณ ลักษณะแห่งรูปนั้นเห็นได้ง่ายว่าเป็นฝีมือของนายช่างชาวไทย แกะแม่พิมพ์ไม้ใช้พิมพ์เอง หาใช่ฝีมือภาพที่ทำด้วยฝั่งชาวต่างประเทศไม่ แต่ปีศักราชที่อ้างถึงนั้นเป็นสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว อาจมีการผิดพลาดในการคำนวณปี ทำให้ผิดรัชสมัยไปก็ได้ หรือการพิมพ์อาจมีมาแล้ว ในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีและติดต่อกันมาจนถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หนังสือเล่มที่อ้างถึงนั้น เป็นหนังสือที่พิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 นายขจร สุขพานิช เขียนไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานแสดงการพิมพ์ครั้งที่ 2 แห่งประเทศไทย ว่าคงมีการพิมพ์มาแล้วในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่เป็นการพิมพ์ในวงแคบ และวิธีใช้แกะเป็นตัวพิมพ์จากบล็อกไม้หรือที่เรียกว่า Xylo-Graph ยังไม่มีแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์ใช้ การพิมพ์ลักษณะดังกล่าวเป็นไปในลักษณะการพิมพ์แบบบล็อกไม้ หรือ wood Block Printing นางสาวอำไพ จันทร์จิระ เขียนในหนังสือวิวัฒนาการการพิมพ์หนังสือในประเทศไทยว่า หนังสือที่พิมพ์ในครั้งนั้น คงจะใช้ตัวอักษรโรมันสำหรับพิมพ์หนังสือไทย เพราะเท่าที่ปรากฏมีหลักฐานของหนังสือ ซึ่งคณะสอนศาสนาคาทอลิกตีพิมพ์ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ล้วนแต่ใช้อักษรโรมัน สำหรับตีพิมพ์หนังสือภาษาไทยแทบทั้งสิ้น
ตามข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ.1982 ลงข่าวว่า ม.ล. มานิจ ชุมสาย ได้แถลงข่าวว่า เมื่อต้นเดือนตุลาคม ค.ศ.1982 ได้เดินทางกลับไปฝรั่งเศสได้พบหลักฐานประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ เกี่ยวกับการพิมพ์หนังสือในประเทศไทยว่าได้พบหนังสือและจดหมายอันยืนยันระบุว่าการพิมพ์หนังสือครั้งแรกในประเทศไทยนั้น เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1796 สมัยรัชกาลที่ 1 หลังจากสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เพียง 4 ปี หนังสือดังกล่าวชื่อ “คำสอนคริสตัง” ระบุการพิมพ์ในปี ค.ศ. 1796 พิมพ์โดย คณะบาทหลวงเจซูอิสต์ ชาวฝรั่งเศส ที่โบสถ์ซังตาครูซ ฝั่งธนบุรี ที่หน้าปกของหนังสือ ซึ่งเป็นอักษรโรมันนั้นพิมพ์เป็นคำภาษาไทยอ่านได้ว่า “คำสอน คริสตังภาคต้น บรรดาได้รับคำสอน จะรุ่งเรืองเท่าเสมอเยี่ยงท้องฟ้า แลผู้ซึ่งฝึกสอนคนเป็นอันมากให้ถือความชอบธรรมนั้นเล่าก็ประดุจดั่งดาว ดาราจำเริญอยู่เป็นนิจนิรันดรไป ดาเนียล บท 12 เลข 3 ในวัดซังตาครูซ ณ บางกอก ศักราชแต่ไถ่ชาติมนุษย์ 1796 ปี”
ม.ล. มานิจ ยังแถลงว่า นอกจากได้พบหนังสือต้นฉบับตัวจริงแล้ว ยังได้จดหมายยืนยันของบาทหลวงการ์โนลต์ มีไปถึงบาทหลวงเดกูวริแอร์ ความว่า “กรุงเทพฯ 3 กรกฏาคม ค.ศ.1978 ข้าพเจ้าขอเริ่มด้วยการขอบคุณท่านที่ได้กรุณาส่งเครื่องพิมพ์เล็กๆ มาให้ข้าพเจ้า ในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้รับเครื่องนี้เมื่อสองปีก่อน และพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานมิให้มันต้องรับกรรมเช่นของอื่น ที่ส่งมาในปีก่อนซึ่งถูกโจรสลัดมาปล้นเอาไป โชคร้ายอันนี้ได้เกิดแก่ข้าพเจ้าถึงสามครั้งแล้ว ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้กลับมาอยู่ในกรุงเทพฯ”
เครื่องพิมพ์ในขณะนั้นต้องใช้ตัวอักษรโรมัน และต้องหล่อตัวพิมพ์ทีละตัว โดยทำแม่พิมพ์ด้วยดินเหนียว เมื่อหยดตะกั่วแล้วก็ต้องต่อยแม่พิมพ์ทิ้งทุกครั้ง
การค้นพบของ ม.ล. มานิจ เป็นหลักฐานยืนยัน บทความที่เจษฏาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ เขียนไว้ เป็นอันว่าการพิมพ์ได้มีผู้นำเข้ามาในเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองแล้ว คงจะเป็นสมัยคาบเกี่ยวระหว่างรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กับสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และได้มีการจัดพิมพ์หนังสือ คำสอนคริสตังใน ค.ศ.1796 ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกที่พิมพ์ในเมืองไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จากหลักฐานที่ ม.ล. มานิจ ค้นพบก็คิดว่าพอจะเชื่อถือได้ แต่การเป็นหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่มแรกในเมืองไทยนั้น คงจะอ้างเต็มที่ไม่ได้ เพราะถ้าจะพูดถึงการเอาตัวหนังสือโรมันมาพิมพ์เป็นภาษาไทยเป็นเล่มหนังสือขึ้นมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มหาราช ก็มีหลักฐานพอสมควรที่จะทำให้สันนิษฐานได้ว่ามีการพิมพ์มาก่อนแล้ว การอ้างเรื่องหมอบรัดเลย์เป็นผู้นำการพิมพ์ตัวหนังสือไทยเข้ามาพิมพ์ในเมืองไทยเป็นครั้งแรกก็ยังคงเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องอยู่ เพราะการพิมพ์ก่อนนั้นพิมพ์ด้วยตัวอักษรโรมัน จากการค้นพบของ ม.ล.มานิจ ในการหล่อตัวพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นเรื่องที่ไม่เคยรู้กันมาก่อน และเทคนิคการใช้ดินเหนียวเป็นแม่แบบหล่อตัวพิมพ์ทีละตัวเป็นแบบเดียวกับการหล่อตัวพิมพ์ด้วยโลหะยุคแรกซึ่งได้เริ่มมีที่เกาหลีใน ค.ศ.1390
หนังสือเล่มที่พบนี้อยู่ในมือของเอกชน ซึ่งอ้างว่าเป็นหนังสือที่พิมพ์เล่มแรกในเมืองไทย และยังคงมีเหลือเพียงเล่มเดียวในโลก ซึ่งเขาเสนอขายเป็นราคา เมื่อคิดเป็นเงินไทยแล้วถึงเจ็ดหมื่นกว่าบาท รูปร่างของหนังสือเจ้าของไม่อนุญาตให้ถ่ายมาแต่เท่าที่มีภาพร่างคร่าวๆ ของปกที่ลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และที่ ม.ล.มานิจ ได้ สเก็ตซปกในแจก ให้คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติดูมีลักษณะรูปร่างดังนี้
อย่างไรก็ดี ม.ล.มานิจ ชุมสายได้ซื้อหนังสือเล่มนี้เข้ามาไว้เป็นสมบัติของคนไทย และได้พิมพ์เอกสารให้รายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ว่า
“หนังสือเล่มนี้ เท่าที่ข้าพเจ้าได้สอบสวนมาปรากฏว่าเป็นหนังสือเล่มแรก ที่พิมพ์ขึ้นในประเทศไทย มีเพียง 64 หน้า ขนาดเท่าหนังสือ เล่มนี้ หนังสือนี่พิมพ์ขึ้นเมื่อ ปี ค.ศ.1796 โดย บาทหลวงชื่อการ์โนลต์ ที่โบสถ์ซังตาครูซ ฝั่งธนบุรี ในสมัยของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
คณะบาทหลวงฝรั่งเศสที่ได้เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ไม่เห็นชอบด้วยการที่จะให้ขุนนางไทยที่นับถือคริ สต์ศาสนาไปดื่มน้ำพระพิพัฒสัตยา โดยถือว่าน้ำมนต์ที่จิ้มด้วยหอกดาบ เป็นพิธีทางลัทธิเดียรถีย์ จึงเกิดเป็นปฏิปักษ์กับสมเด็จพระเจ้าตากสินขึ้นสมเด็จพระตากสินจึงสั่งเนรเทศบาทหลวงการ์โนลต์กับคณะออกไปนอกประเทศ ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้น ครองราชย์สมบัติ พระองค์ทรงมีรับสั่งให้คณะบาทหลวงกลับเข้ามาสอนศาสนาตามเดิมได้ บาทหลวงการ์โนลต์กับคณะจึงเข้ามาอยู่ที่กรุงธนบุรีตามเดิม และได้นำเครื่องพิมพ์เข้ามาเมื่อ ปี ค.ศ.1976 /พ.ศ.2339 และได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นที่โบสถ์ซังตาครูซ
ข้าพเจ้าไปค้นพบประวัติเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ในเอกสาร โต้ตอบระหว่าง บาทหลวง การ์โนลต์ กับบาทหลวงเดกูวริแอร์ ในหนังสือ Documents Historiques และได้นำมาลงไว้ในหนังสือ Popular History of Thailand ของข้าพเจ้าเมื่อ ปี ค.ศ. 1972 หน้า 433-6 คือเมื่อตอนกลับจากปารีส การพิมพ์ในขณะนั้นลำบากมาก ตัวพิมพ์ภาษาไทยยังไม่มีต้องใช้ตัวอักษรโรมัน ออกเสียงเป็นภาษาไทยแทน และการหล่อตัวพิมพ์ก็ลำบาก เพราะต้องใช้แม่พิมพ์ปั้นด้วยดินเหนียว เอาเผาแล้วหลอมตะกั่วหยอด ฉะนั้นหลอมได้ตัวเดียวก็ต้องทำแม่พิมพ์ใหม่ทุกครั้ง ทำให้ตัวพิมพ์ไม่สม่ำเสมอ และการพิมพ์ก็ไม่เรียบร้อย เส้นขาดๆ วิ่นๆ และบางทีก็หายไป หมึกเลอะเทอะ ข้าพเจ้า ได้ใช้วิธีถ่ายรูปเพื่อพิมพ์เหมือนต้นฉบับเดิมทุกอย่าง”
แหม่มแอนน์ ยัดสัน ผู้ร่วมกับ
ช่างพิมพ์เฮาห์ก่อกำเนิดตัวพิมพ์ภาษาไทย
ตามที่ได้มีการค้นความตัวหนังสือไทยได้มีการสร้างเป็นตัวพิมพ์ จัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในพม่าใน ปี ค.ศ. 1813 มิชชันนารีอเมริกา สามีภรรยาคู่หนึ่ง สามีเป็นบาทหลวง ชื่อ Reverend Adoniram Judson และภรรยาชื่อ Ann หรือ Nancy ชื่อเต็มว่า Ann Hazeltine Judson ได้เดินทางเข้าไปเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ในสังกัดของคณะแบบคริสต์ นางจัดสันได้พบเชลยไทย และลูกหลานที่ถูกกว่าต้อนไปตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา ใน ค.ศ. 1767 ได้ศึกษาภาษาไทยและหนังสือไทยจนเข้าใจดี ในปี ค.ศ. 1816 คณะแบบติสต์ได้ส่ง George H. Hough ผู้เป็นช่างพิมพ์ ได้นำแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์ภาษาอังกฤษมาตั้งโรงพิมพ์แบบคริสต์ในพม่า บาทหลวงจัดสันได้ออกแบบตัวหนังสือพม่าให้เป็นตัวพิ มพ์ ในขณะเดียวกันนางจัดสันได้ออกแบบตัวหนังสือไทยเพื่อให้จัดพิมพ์ขึ้นเช่นกัน ตัวพิมพ์ไทยที่ออกแบบขึ้นมานี้คงจะอาศัยแบบจากลายมือเชลยไทยในย่างกุ้ง ที่เขียนหนังสือ มีลายมือดีเป็นแบบ To the Golden Shore, the Life of Adoniram Judson พิมพ์ที่ Boston อเมริกา ใน ค.ศ. 1956 หน้า 197 ระบุ ว่า พ.ศ. 2360 ตรงกับ ค.ศ. 1817 นาย Hough ได้ทำการพิมพ์หนังสือจากตัวพิมพ์ที่ออกแบบโดย Nancy Judson ซึ่งอาจถือว่าเป็นการพิมพ์ตัวหนังสือไทยจากตัวพิมพ์เป็นครั้งแรกในปีนั้น การพิมพ์นี้พิมพ์ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า หนังสือที่พิมพ์ในตอนนั้นเป็นหนังสืออะไร เรื่องอะไรบ้าง ไม่มีหลักฐานเหลือมาให้ตรวจสอบ
ในปี ค.ศ. 1783 กรุงอังวะผลัดแผ่นดิน สถานการณ์คับขัน ช่างพิมพ์ Hough ได้อพยพครอบครัวกลับเมืองกัลกัตตา ได้นำแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์ภาษาต่างๆ รวมทั้งตัวพิมพ์ไทยไปเมืองกัลกัตตาด้วยเพื่อรักษามิให้สูญหาย เมืองกัลกัตตาเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของคณะแบบติสต์ในทวีปเอเชีย
ใน ค.ศ. 1828 ได้มีการใช้ตัวพิมพ์ไทยจัดพิมพ์หนังสือ A Grammar of The Thai or Siamese Languaga แต่งโดย Captain James Low พิมพ์ที่ The Baptist Mission Press ในเมือง Serampore ใน Calcutta หนังสือเล่มนี้มีความหนา 102 หน้า ขนาดใหญ่กว่าหนังสือ 8 หน้ายกของเราเล็กน้อย เนื้อเรื่องส่วนใหญ่พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ มีที่พิมพ์ด้วยอักษรไทยไม่กี่หน้า เป็นทั้งตัวเขียนพิมพ์ด้วยบล็อก และตัวพิมพ์ที่เรียงตามตัวอย่างภาพถ่ายที่ได้พิมพ์ให้เห็นแล้วในตอนต้นของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นตัวพิมพ์ไทยแบบแรกที่ได้มีการหล่อขึ้นเพื่อใช้พิมพ์หนังสือเล่มนี้ยังมีปรากฏหลักฐานเหลืออยู่หลายแห่ง และได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือที่มีตัวพิมพ์อักษรไทยพิมพ์เป็นครั้งแรก ตัวเล่มหนังสือเป็นหนังสืออังกฤษที่สอนไวยากรณ์ไทยแก่ฝรั่ง มีบางหน้าที่เป็นลายมือเขียนอักษรไทยพิมพ์ด้วยบล็อกแสดงให้เห็นลายมือ เขียนภาษาไทย และบางหน้าที่พิมพ์ด้วยตัวเรียงอักษรไทย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นตัวพิมพ์ที่แหม่มจัดสันได้จัดทำขึ้น
ภาพหน้าปกตำราไวยกรณ์ ของ ร.อ.โลว์ ซึ่งระบุว่าตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์ของคณะแบปติสต์นครกัลกัตตา ค.ศ.1828
ตัวอย่างตัวพิมพ์ภาษาไทยชุดแรก ซึ่งปรากฎในตำราไวยกรณ์ไทยของ ร.อ.โลว์ ค.ศ.1828
เมื่ออังกฤษสถาปนาสิงคโปร์เป็นเมืองใหม่ ใน ปี ค.ศ. 1819 พวกมิชชันนารีคณะ London Missionary Society สองคน คือ Robert Burn และ Thomson ได้ร่วมกันจัดตั้งโรงพิมพ์ภาษาต่างๆ ขึ้นที่เมืองสิงโปร์ และได้ซื้อตัวพิมพ์ภาษาไทยจากเมืองกัลกัตตามาด้วย เข้าใจว่าจะเป็นตัวพิมพ์ที่ใช้พิมพ์หนังสือ A Grammar of The Thai และต่อมาก็ได้มีการหล่อตัวพิมพ์ไทยอีกอย่างน้อยก็หนึ่งแบบในสิงคโปร์ คือ แบบที่นำมาใช้พิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่นในรัชกาลที่ 3
หลักฐานการที่ตัวพิมพ์ไทยได้ถ่ายทอดจากัลกัตตา มาสิงคโปร์ คุณขจร สุขพานิช เขียนไว้ในเรื่องกำเนิดแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์ภาษาไทย ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ประจำวันที่ 8-14 ตุลาคม ค.ศ. 1965 ว่า Reverend Robert Burn และ Thomson ได้ซื้อตัวพิมพ์ไทยจากกัลกัตตามาสิงคโปร์ มาจัดตั้งโรงพิมพ์ และรับจ้างพิมพ์หนังสือไทยอยู่ที่นั่น และต่อมา Burn ถึงแก่กรรมจึงได้ขยายตัวพิมพ์อักษรไทยให้มิชชันนารีคณะ A.B.C.F.M.หรือ American Board of Commissioners for Foreign Missions ในปี ค.ศ.1832 พวกมิชชันนารีคณะ A.B.C.F.M. ได้ซื้อตัวพิมพ์จากโรงพิมพ์ของ Burn
วันที่ 18 กรกฏาคม ค.ศ. 1835 William Dean มิชชันนารีคณะแบบติสต์ และ Dan Beach Bradley มิชชันนารีคณะ A.B.C.F.M. และภรรยาได้เดินทางเข้ามาถึงกรุงเทพฯ โดยมาจากสิงคโปร์ หมอบรัดเลย์ ได้นำเอาตัวพิมพ์ไทยและแท่นพิมพ์แบบเก่าทำด้วยไม้และหิน ซึ่งเป็นแท่นพิมพ์ที่ทำมาจากเมืองเบงกอลแท่นหนึ่งเข้ามาด้วย พวกมิชชันนารีคงใช้เวลานานพอสมควร ในการจัดติดตั้งและเตรียมการพิมพ์ จนกระทั่ง วันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.1836 หมอบรัดเลย์ได้บันทึกไว้ว่า Reverend Charles Robinson ได้พิมพ์หนังสือไทย ในเมืองไทยได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ในวันที่ 2 กรกฏาคม ปีเดียวกัน Rober D. Davenport ช่างพิมพ์อเมริกันคนแรก ได้ถูกส่งมาอยู่ประจำกับคณะมิชชันนารีในเมืองไทย และในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1937 ปีถัดไป เรือใบเจมมะดิลดาได้นำแท่นพิมพ์โลหะยี่ห้อ Otis1 แท่น Standing 1 แท่น ซึ่งเป็นแท่นพิมพ์ทำด้วยโลหะสามารถพิมพ์ได้ดีกว่าแท่นพิมพ์เก่ามากพร้อมกระดาษ100 รีม มาจากเมืองสิงคโปร์ ซึ่งแสดงให้ เห็นว่าโรงพิมพ์ของมิชชันนารี มีผู้รู้วิชา การพิมพ์และเครื่องไม้เครื่องมือดีพอสมควรก่อนที่จะรับจ้างราชการไทย พิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่น
กระดาษที่ใช้พิมพ์นั้นตอนเริ่มแรก พวกมิชชันนารีใช้กระดาษสั่งผ่านเข้ามาทางสิงคโปร์ แต่บางคราวกระดาษขาดมือ Charies Robinson รายงานว่า ในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1838 ทางโรงพิมพ์มิชชันนารีได้ทดลองใช้กระดาษที่จีนผลิตสั่งมาจากเมืองจีน ราคาถูกกว่ากระดาษฝรั่งเท่าตัวแต่ให้คุณภาพทางการพิมพ์ไม่ดีเท่า อย่างไรก็ดีได้มีการใช้กระดาษผลิตในประเทศตะวันออกนี้พิมพ์หนังสือหลายเล่ม ตลอดจน ประกาศห้ามสูบฝิ่น ก็พิมพ์ด้วยกระดาษที่ผลิตในเอเชียในเดือนมกราคม ค.ศ. 1839 พวกมิชชันนารีคณะแบบติสต์หลายคนได้เดินทางไปอยุธยา คงเป็นการทำกระดาษข่อย แต่ไม่มีในรายงานว่าได้เอากระดาษของไทยมาใช้ในการพิมพ์หรือไม่
การต้องพึ่งตัวพิมพ์จากต่างประเทศ ได้มีความรู้สึกว่าตัวพิมพ์ที่หล่อมาจากต่างประเทศไม่มีความถูกต้อง แน่นอนและไม่สมบูรณ์ จะต้องชี้แจงแก้ไขมาก อธิบายกันโดยจดหมายไม่ได้ การหล่อตัวพิมพ์ไทยทางคณะมิชชันนารีได้ส่งคนในคณะไปสั่งทำแม่แบบที่เมืองปีนังและนำไปหล่อที่เมืองมะละกาโดยการควบคุมของ Samuel Dyer ช่างหล่อตัวพิมพ์ของคณะลอนดอนมิชชันนารีเมืองปีนัง แต่ก็ได้ตัวพิมพ์ที่ยังไม่ถูกต้องและไม่ได้ตัวครบสมบูรณ์ จึงได้มีการคิดที่จะหล่อตัวพิมพ์ไทยเองในเมืองไทย โดยสั่งเครื่องไม่เครื่องมือที่จะใช้หล่อตัวพิมพ์จาก สิงคโปร์ ซึ่งมีรายการที่ Alfred North ทำไว้ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1840/พ.ศ.2383 เป็นรายการอุปกรณ์ที่จะมาจัดตั้งโรงหล่อตัวพิมพ์ขึ้นในกรุงเทพฯ ตามบันทึกของหมอบรัดเลย์ ว่าคณะมิชชันนารีได้ทำการหล่อตัวพิมพ์ไทยขึ้นใช้เองได้สำเร็จในปี ค.ศ.1841 แบบตัวที่หล่อในเมืองไทยนี้มีแบบสวยงานกว่าตัวที่หล่อจากสิงคโปร์ ขนาดตัวพิมพ์สามา รถย่อลงมาได้เล็กกว่าเดิมมากซึ่งเป็นประมาณหนึ่งในสามของตัวเดิมเท่านั้น เป็นตัวขนาด สองไพกา หรือเท่ากับตัว 24 พอยท์ เท่านั้น ซึ่งเป็นตัวที่เราเรียกกันว่าขนาดตัวกลางในปัจจุบัน ส่วนตัวอักษรโรมัน ตัวตรงและตัวเอน ตลอดจนเครื่องหมายประดับต่างๆ สั่งมาจากต่างประเทศโดยตรงในการพิมพ์ภาพได้จัดทำบล็อกไม้ โดยจ้างช่างแกะไม้ชาวไทยและชาวจีนซึ่งสามารถแกะบล็อกภาพได้ดีเหมือนกัน
ในรายงานของมิชชันนารี A.B.C.F.M ลงวันที่ 1ตุลาคม ค.ศ.1843 กล่าวว่าหนังสือไวยากรณ์ไทยแต่งโดยสังฆราชปัลเลอกัว พิมพ์ที่โรงพิมพ์ของมิชชันนารีคณะแบบติสต์ เป็นหนังสือที่พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์อักษรไทย ที่หล่อเป็นครั้งแรกในเมืองไทย
ในปี ค.ศ.1839 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จ้างโรงพิมพ์ของมิชชันนารี A.B.C.F.M. พิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่น 9,000 ฉบับ ซึ่งนับเป็นเอกสารทางราชการไทยฉบับแรกที่จัดพิมพ์ขึ้น ประกาศห้ามสูบฝิ่นนี้จะมีใจความว่าอย่างใด พิมพ์ด้วยตัว พิมพ์อย่างใด ไม่มีใครทราบ เพราะเวลาล่วงเลยมานาน ไม่มีสิ่งพิมพ์ชิ้นนั้นเหลืออยู่ ได้คิดกันว่าคงสูญหายไม่อาจหานักศึกษาได้แล้ว จนกระทั่งในปี ค.ศ.1982 นาย Michael Winship นักศึกษาชาวอเมริกันทำงานอยู่ที่ The Houghton Library, Harvard University, Cambridge, Massachusetts ได้เข้ามาศึกษาและสืบหาหนังสือไทยเก่าๆ เพื่อค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติการพิมพ์ไทย เพื่อนำไปเขียนวิทยานิพนธ์เพื่อรับปริญญาชั้นสูงในอเมริกา นาย Winship ได้จดรายชื่อหนังสือไทยเก่าๆ และสั่งพิมพ์ไทยที่มีอยู่ในห้องสมุดของ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มาถึง 79 รายการ เป็นหนังสือที่พิมพ์ในสมัยหมอบรัดเลย์ทั้งสิ้น และได้เล่าให้ฟังว่าหนังสือเหล่านี้ได้มาจากห้องสมุดของสำนักงานใหญ่ของคณะมิชชันนารี A.B.C.F.M. ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ อยู่ที่เมืองบอสตัน หนังสือต่างๆ ที่พวกมิชชันนารีคณะนี้พิมพ์ขึ้นใ นภูมิภาคต่างๆ ของโลกต้องส่งตัวอย่างไปเก็บไว้ทางห้องสมุดของสำนักงานใหญ่นี้ทุกเล่ม ดังนั้น หนังสือต่างๆ ที่หมอบรัดเลย์พิมพ์ขึ้นในเมืองไทย ก็ได้ถูกส่งไปเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดของคณะมิชชันนารีที่บอสตันด้วย เมื่อได้มีการยุบเลิกคณะมิชชันนารีนี้แล้วก็ได้มีการยกหนังสือใน ห้องสมุดของคณะมิชชันนารีนี้ให้แก่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หนังสือไทยเหล่านี้ถูกเก็บไว้ในมุมหนึ่งของห้องใต้ติดในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในรายชื่อหนังสือและสิ่งพิมพ์ที่นาย Winship จดมามีประกาศห้ามสูบฝิ่นอยู่ด้วย จึงได้ขอให้เขาได้ช่วยถ่ายเอกสารชิ้นนี้มาให้ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี
ประกาศแผ่นนี้พิมพ์หน้าเดียวบนกระดาษ 2 แผ่น ผนึกติดกันด้วยกาว ขนาดวัดได้ 781x284 มม. และด้านบนมีลายมือเขียนไว้ว่า “The King of Siam’s late proclaimation against opium May 18 th 1839 it Being the first official document ever printed in Saim D.B.B.” อักษรย่อข้างหลังนั้นคงเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจาก Dan Beach Bradley ลายมือเขียนบนหัวเอกสารนี้ จึงเป็นลายมือของหมอบรัดเลย์เอง จากหลักฐานทางห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ว่าประกาศ ห้ามสูบฝิ่นนี้พิมพ์จำนวน 10,700 ฉบับ และพิมพ์เมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ.1839 ซึ่งจากหลักฐานฝ่ายไทยเราว่าจ้างพิมพ์เพียง 9,000 ฉบับ และใช้เวลาเดือนเศษจึงพิมพ์เสร็จ
จากเอกสารประกาศห้ามสูบฝิ่นที่ได้รับนี้ ตัวพิมพ์ที่ใช้พิมพ์เป็นตัวพิมพ์ที่สั่งซื้อมาจากสิงคโปร์
ตัวจริงพิมพ์บนกระดาษขนาดตัด 4. จำนวน 2 แผ่น
แล้วผนึกต่อกันด้วยกาวเป็นแผ่นยาว ภาพนี้ได้ถ่ายย่อขนาดลงตัวจริงตัวหนังสือแต่ละตัว
จะเป็นขนาดเดียวกับที่ปรากฎในหนังสือคำภิร์ ครรภ์ทรักษา
จากประวัติที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงอาจกล่าวได้ว่าคนสำคัญที่นำกิจการพิมพ์เข้ามาในเมืองไทยเริ่มก่อให้เกิดการพิมพ์ขึ้นและแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางจะต้องยกให้ว่า คือ หมอบรัดเลย์ ชื่อเต็ม Dr. Dan Beach Bradley M.D. เกิดในวันที่18 กรกฏาคม ค.ศ.1808
หมอบรัดเลย์หรือจะเรียกตามเสียงตลาดของไทยว่าปลัดเล และภรรยาได้ออกเดินทางจากเมืองบอสตัน ในรัฐแมสซาจูเซท สหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1834 โดยเรือใบ และใช้เวลาหกเดือนจึงมาถึงเมืองสิงคโปร์ และได้พักอยู่ที่สิงคโปร์เป็นเวลาหกเดือนรอคลื่นลมสงบ แล้วจึงลงเรือเข้ามาในเมืองไทยในปี ค.ศ.1845 ระหว่างที่อยู่ในสิงคโปร์ หมอบรัดเลย์ได้ศึกษาภาษาไทยไปบ้าง และได้ศึกษาคุ้นเคยกับแท่นพิมพ์ทำด้วยไม้ (wooden printing press) ซึ่งเมื่อมากรุงเทพฯ หมอบรัดเลย์ก็ได้ซื้อตัวพิมพ์ภาษาไทย และแท่นพิมพ์เข้ามาด้วยในกรุงเทพฯ ขณะนั้นมีมิชชันนารีแบบติสต์อเมริกันอยู่แล้ว และพวกมิชชันนารีเหล่านั้นเคยนำหนังสือที่พิมพ์แล้วจากทางใต้มาแจก หนังสือส่วนใหญ่พิมพ์เป็นตัวหนังสือจีน และที่เป็นภาษาไทยเขียนด้วยตัวโรมันก็มีบ้าง เมื่อหมอบรัดเลย์เข้ามากรุงเทพฯ นั้น บาทหลวงชารลส์ โรบินสัน (Reverend Charles Robinson) ได้อยู่ในกรุงเทพฯ แล้ว และได้แปลไบเบิลเป็นภาษาไทย เมื่อหมอบรัดเลย์เข้ามาเมืองไทย และได้นำตัวพิมพ์ภาษาไทยเข้ามาจากเมืองสิงคโปร์แล้ว ก็ได้ร่วมมือกับบาทหลวงโรบินสัน สร้างแท่นพิมพ์ไม้ขึ้น และได้จัดพิมพ์หนังสือไทยออกมาเป็นครั้งแรก
นายแพทย์ แดน บีช บรัดเลย์ บรรณาธิการคนแรก
และราชาหนังสือพิมพ์ในรัชกาลที่ 4
หมอบรัดเลย์เข้ามาเมืองไทย ในตอนแรกก็มีความตั้งใจมาเผยแพร่คริสต์ศาสนา โดยอาศัยการนำการแพทย์สมัยใหม่เป็นเครื่องมือจูงใจซึ่งหมอบรัดเลย์ก็ได้นำวิชาการแพทย์สมัยใหม่ เข้ามาหลายอย่าง เช่น การปลูกฝี การทำหนองฝี การฉีดยา การใช้ยาสลบในการผ่าตัด การตรวจรักษาตามวิชาการแพทย์สมัยใหม่ แต่เมื่อมาอยู่ในเมืองไทยได้ระยะหนึ่ง ได้จับงานการพิมพ์แล้ว หมอบรัดเลย์กลับมาสนใจในเรื่องการพิมพ์ และได้ดำเนินการริเริ่ มในด้านธุรกิจและกิจการทางการพิมพ์มากมายหลายอย่างในเมืองไทย จนแทบจะพูดว่าได้เริ่มต้นงานทุกอย่างเกี่ยวกับการพิมพ์ในเมืองไทยขึ้น เช่น
ค.ศ.1839 ได้ให้โรงพิมพ์มิชชันนารีอเมริกันรับจ้างพิมพ์หมายประกาศห้ามสูบฝิ่น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้จ้างพิมพ์จำนวน 9,000 ฉบับ นับว่าเป็นเอกสารทางราชการของไทยอันแรกที่จัดพิมพ์ขึ้น ต้องใช้เวลาพิมพ์อยู่เดือนเศษจึงเสร็จ
ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1841 ตัวพิมพ์ที่หล่อมาจากสิงคโปร์สึกหรอไป หมอบรัดเลย์ และพวกมิชชันนารีได้คิดหล่อตัวพิมพ์ขึ้นเอง โดยออกแบบตัวพิมพ์ขึ้นใหม่ดีกว่าตัวที่ซื้อมาจากสิงคโปร์ และจัดหล่อขึ้นได้สำเร็จ
ค.ศ.1842 หมอบรัดเลย์ได้จัดพิมพ์ปฏิทินตามสุริยคติขึ้นเป็นภาษาไทยเป็นครั้งแรก เป็นต้นตอของการพิมพ์ปฏิทินในเมืองไทย
4 กรกฏาคม ค.ศ.1844 ได้จัดออกหนังสือพิมพ์เป็นฉบับแรกขึ้นในเมืองไทย ชื่อ บางกอกรีคอร์เดอร์ (Bangkok Recorder) ซึ่งขณะนั้นเรียกว่าจดหมายเหตุอย่างสั้น ออกเดือนละ 2 ครั้ง ไม่มีตัวเอดิเตอร์ได้ออกอยู่ปีเดียวก็เลิกไป และออกใหม่อีกในวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ.1864 เป็นรายเดือนๆ ละฉบับ โดยมีหมอบรัดเลย์เป็น บรรณาธิการเอง เป็นหนังสือที่บรรจุสารคดี และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งใน และนอกประเทศในสมัยนั้นเป็นอย่างดี
15 มิถุนายน ค.ศ. 1861 หมอบรัดเลย์ ได้ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือนิราศลอนดอนของหม่อมราโชทัย จัดพิมพ์ขึ้นขายเป็นครั้งแรกนับว่าเป็นการเริ่มต้นของการซื้อขายลิขสิทธิ์ และการพิมพ์หนังสือเล่มออกจำหน่ายในเมืองไทย หมอบรัดเลย์ได้แต่งและแปลหนังสือเอง จัดออกมาหลายเล่ม เช่น หนังสือเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญอเมริกา หนังสือครรภ์รักษา เป็นต้น และที่ได้จัดพิมพ์หนังสืออื่นๆ ก็มากเล่ม เช่น หนังสือกฎหมายสยาม พิมพ์ใน ค.ศ.1862 สามก๊ก พิมพ์ใน ปี ค.ศ.1864 พงศาวดาร ค.ศ. 1864 และยังได้จัดพิมพ์วรรณคดีหลายเรื่อง การพิมพ์ในสมัยนั้นพิมพ์ได้ช้าปีหนึ่งพิมพ์หนังสือออกได้ไม่กี่เล่ม แต่หมอบรัดเลย์ก็ได้ผลิตผลงานพิมพ์ออกมามาก
โรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ ตอนแรกได้ตั้งอยู่ใต้ถุนบ้านพักของพวกมิชชันนารี ซึ่งได้เช่าจากเจ้าพระยาพระคลัง (ต่อมาได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และริมคลองหน้าวัดประยูรวงศ์แถวเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าในปัจจุบัน และในปี ค.ศ.1851 ในตอนหลังได้ย้ายไปอยู่ที่หลังป้อมวิชัยประสิทธิ์ ปากคลองบางหลวง ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นบริเวณกรมเสนาธิการทหารเรือ ชื่อว่า American Missionary Association Press หนังสือหมอบรัดเลย์ ได้เย็บเข้าเล่มเป็นสมุดซึ่งเป็นของใหม่สำหรับเมืองไทย เพราะแต่เดิมเรามีแต่สมุดพับ เช่น สมุดดำ สมุดข่อย ซึ่งรวมเรียกว่าสมุดไทย เมื่อหมอบรัดเลย์ทำหนังสือเย็บเล่มเป็นสมุดแบบหนังสือฝรั่ง จึงได้เรียกชื่อหนังสือเล่มของหมอบรัดเลย์ว่า สมุดฝรั่ง การพิมพ์หนังสือเรื่องต่างๆ ในสมัยนั้นถือเอาสมุดไทยเป็นหลัก เมื่อตีพิมพ์จบตอนหนึ่งๆ ในสมุดไทยก็ถือว่าจบหนึ่งเล่มสมุดไทย
John Taylor Jones ได้เขียนไว้ในปี ค.ศ.1833 ว่ามีคนไทยคนหรือสองคนสนใจในวิชาการพิมพ์ คนหนึ่งไปฝึกเรียนงานมาจากสิงคโปร์หลายเดือน และได้พยายามจะจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นแต่ไม่ค่อยมีทุน ในวันที่ 1 กรกฏาคม ค.ศ.1843 ในรายงานของคณะมิชชันนารี A.B.C.F.M. ว่าเจ้าฟ้าใหญ่ คือ เจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งต่อมาได้ครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีโรงพิมพ์ที่เยี่ยมยอดมีตัวพิมพ์โรมันหลายแบบ มีแม่ทองแดงหล่อตัวพิมพ์ และเบ้าหล่อตัวพิมพ์เอง พระองค์ยังทรงสร้างตัวอักษรบาลีขึ้นชุดหนึ่ง Diehl เขียนใน Bangkok Recorder 1847 ว่าโรงพิมพ์ของเจ้าฟ้าใหญ่ มีแท่นพิมพ์ 1 แท่น ตัวอักษรไทย 1 ชุด ตัวบาลี และอังกฤษ มีอย่างละ 2 ชุด สิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นภาษาบาลี และกล่าวว่าเป็นโรงพิมพ์โรงแรกของคนไทย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่ดำเนินกิจการพิมพ์ ทรงตั้งโรงพิมพ์มาตั้งแต่สมัยก่อนขึ้นครองราชย์ เมื่อขึ้นเสวยราชย์สมบัติแล้วก็ยังสนพระทัยในกิจการพิมพ์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพิมพ์หลวงขึ้นในสำนักพระราชวัง และได้โปรดให้จัดพิมพ์หนังสือราชกิจจานุเบกษาขึ้น ซึ่งเป็นวารสารราชการฉบับแรก ที่ได้มีการจัดพิมพ์ในประเทศไทย และได้พิมพ์ติดต่อกันมาจนทุกวันนี้เป็นวารสารที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในปัจจุบัน หนังสือราชกิจจานุเบกษาเล่มแรก พิมพ์ออกมาใน ค.ศ.1858 ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้เห็น เมื่อปี ค.ศ.1953 และได้ถ่ายภาพเอาไว้ กระดาษแผ่นที่ 1 แผ่นที่ 2 ได้ขาดหายไปยังคงเหลือแต่แผ่นที่ 3 จึงได้ถ่ายภาพหน้านั้นไว้ดังนี้
ภายหลังที่หมอบรัดเลย์ได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทยแล้วก็ได้มีคนอื่นๆ ได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นตามลำดับ ตอนแรกๆ โรงพิมพ์ ที่ตั้งขึ้นใหม่เป็นโรงพิมพ์ของพวกฝรั่ง และเมื่อได้ตั้งขึ้นแล้วก็ได้ออกหนังสือพิมพ์แข่งขันกับหมอบรัดเลย์ เช่น หนังสือพิมพ์สยามไทม์ (Siam Times) ออกในปี ค.ศ. 1864 บางกอกเพรส (Bangkok Press) ออกในปีเดียวกันและมีอายุได้ปีเดียวทั้งสองฉบับ ในปี ค.ศ.1867 ก็มีสยามวีคลี่ โมนิเตอร์ (Siam Weelly Monitor) ออกมาอีกและล้มไปในปี ค.ศ.1868 หนังสือพิมพ์ในยุคแรกๆ นี้เป็นของฝรั่งเศสทั้งสิ้น ออกแล้วก็ล้มลุกคลุกคลานไปตามลำดับ หนังสือพิมพ์รายวันของคนไทยฉบับแรกที่ออกมาก็คือ หนังสือพิมพ์ Court ซึ่งเริ่มออกในวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1875 ซึ่งเจ้านายหลายพระองค์ได้ร่วมกันจัดขึ้น และ ในปี ค.ศ.1876 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นภาษา ไทยว่า “ข่าวราชการ” และก็เลิกกิจการไปในปีนั้น โรงพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือเล่มออกมาจำหน่ายมีหลายโรง เช่น โรงพิมพ์ของ Samuel John Smith ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่าโรงพิมพ์หมอสมิท ตั้งอยู่บางคอแหลม ในราวปี ค.ศ.1870 ซึ่งได้จัดพิมพ์บทกลอนนิราศ และสุภาษิตต่างๆ เรื่องสำคัญที่จัดพิมพ์ก็คือ เรื่องพระอภัยมณี พิมพ์ขายทีละเล่ม สมุดไทย ราคาเล่มละสลึง คนสมัยนั้นตื่นซื้อกันมาก และโรงพิมพ์แมกฟาแลนด์ซึ่งตั้งราวปี ค.ศ.1883 ได้พิมพ์หนังสือพงศาวดารอเมริกันและอื่นๆ ออกจำหน่าย จำนวนหนังสือที่พิมพ์ออกจำหน่ายในสมัยรัชกาลที่ 4 มีจำนวนพิมพ์เพียง 200-300 เล่ม แม้หนังสือพิมพ์ บางกอกรีคอร์เดอร์ของหมอบรัดเลย์รุ่นที่ 2 ก็พิมพ์เพียง 200 เล่ม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับ มีโรงพิมพ์ มากขึ้นทั้งไทย จีน และอังกฤษ แต่ปริมาณหนังสือที่พิมพ์ก็เป็นจำนวนเล่มหนึ่งอย่างสูง 1,500 ถึง1,700 ฉบับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในเรื่องหนังสือ ทรงพระราชนิพนธ์หลายเล่ม ทรงก่อตั้งโรงเรียนและสร้างระบบการศึกษาขึ้นใหม่ ซึ่งทำให้เกิดหนังสือมากขึ้นกว่าเดิม การพิมพ์ก็ได้เจริญขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นธีรราช สนพระทัยในหนังสือมาก ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือประเภทต่างๆ มากเล่ม การจัดพิมพ์ในยุคนี้สวยงามประณีต การเข้าเล่ม ทำปกแข็งเดินทองฝีมือประณีตสวยงามมาก การจัด พิมพ์หนังสือ ได้มีปริมาณมากขึ้น หนังสือพิมพ์ก็มีการจัดทำกันอย่างคึกคัก โรงพิมพ์ที่มีชื่อในยุคหลังๆ อาทิเช่น โรงพิมพ์พิพรรฒธนาการ โรงพิมพ์อักษร โสภณ โรงพิมพ์ อักษรนิติ ซึ่งได้จัดพิมพ์หนังสือดีๆ ออกมากมายในสมัยรัชกาลที่ 6 หลังจากสมัยรัชกาลที่ 6 มาแล้วการพิมพ์ของเมืองไทย ได้ขยายตัวเจริญขึ้นตามลำดับ ตามการขยายตัวของการศึกษา และความเจริญของบ้านเมือง เว้นแต่ตอนเศรษฐกิจตกต่ำ ในสมัยรัชกาลที่ 7 และตอนระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยรัชกาลที่ 8 การพิมพ์การผลิตหนังสือซบเซาลงเพราะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจหนังสือที่ผลิตออกมาคุณภาพต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กระดาษขาดแคลนมากต้องใช้กระดาษที่ผลิตภายในประเท ศในขณะนั้นพิมพ์ กระดาษมีคุณภาพต่ำมากและสีคล้ำหลังจากนั้นมาแล้วกิจการพิมพ์ของเมืองไทยก็ได้มีความเจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ.
จากหนังสือ งานแสดงการพิมพ์แห่งประเทศไทย ครั้ง 5 /หน้า 1-15