ประวัติความเป็นมาหอจดหมายเหตุ

สืบค้นเอกสารหอจดหมายเหตุ

ห้องหนังสือ


History of the Church

วันนี้ในอดีต


26 เมษายน พ.ศ.2456 : รัชกาลที่ 6 ทรงเปิดปาสตุรสภา (Pasteur Institute)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด ปาสตุรสภา (Pasteur Institute) ก่อนหน้านี้ ปี 2455 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระดำริที่จะจัดตั้งสถานที่ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจาก หม่อมเจ้าหญิงบันลุศิริสาร ดิศกุล พระธิดาได้สิ้นชีพิตักษัยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นก็ได้นำความกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อาศัยตึกหลวงที่ถนนบำรุงเมืองเป็นที่ทำการผลิตและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อสร้างเสร็จให้เรียกชื่อว่า "ปาสตุรสภา" ตามชื่อ หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis pasteur) นักเคมีชาวฝรั่งเศสผู้พบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต่อมาปี 2460 รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้โอนจากกระทรวงมหาดไทยไปสังกัดสภากาชาดไทย และเปลี่ยนชื่อเป็น "สถานปาสเตอร์" ต่อมาในปี 2463 ได้ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่สภากาชาดไทย เพื่อจัดสร้างที่ทำการของสถานปาสเตอร์แห่งใหม่ขึ้นที่ถนนพระราม 4 และได้พระราชทานนาม "สถานเสาวภา" เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง และได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2465 จัดตั้งเป็นที่ทำการของสถานเสาวภา สภากาชาดไทยสืบมาจนถึงทุกวันนี้
26 เมษายน พ.ศ.2436 : วันสถาปนา สภากาชาดไทย
วันสถาปนา สภากาชาดไทย ซึ่งพัฒนามาจาก สภาอุณาโลมแดง ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้นในวันนี้ ทั้งนี้ในปี 2436 (ร.ศ. 112) ได้เกิด กรณีพิพาท ร.ศ. 112 ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสเรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มีการสู้รบเป็นเหตุให้ทหารได้รับบาทเจ็บล้มตายจำนวนมาก แต่ปรากฎว่าไม่มีองค์กรใดเข้าไปช่วยเหลือพยาบาล ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ จึงได้รวบรวมสตรีอาสาสมัครขึ้น แล้วนำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูล พระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้ง สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม ขึ้นเพื่อช่วยเหลือด้านการพยาบาลแก่ทหารที่ได้รับบาทเจ็บ รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชกระแสว่า เป็นความคิดอันดีตามแบบอย่างประเทศที่เจริญแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งสภาอุณาโลมแดงขึ้น ต่อมา รัชกาลที่ 5 ทรงทรงบริจาคทรัพย์รวมกับทุนของสภาอุณาโลมแดง สร้างโรงพยาบาลของสภากาชาดสยามขึ้นเมื่อปี 2457 ชื่อว่า "โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์" เพื่อเป็นอนุสรณ์ ในพระราชบิดา ต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อ “สภาอุณาโลมแดง” เป็น “สภากาชาดไทย” เพื่อมิให้เรียกชื่อสับสน เมื่อปี 2463 คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ได้รับรองสภากาชาดไทย ปีต่อมาสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (เดิมคือ สันนิบาตสภากาชาด) ได้รับสภากาชาดไทยเข้าเป็นสมาชิก
26 เมษายน พ.ศ.2431 : รัชกาลที่ 5 ทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลศิริราช
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีเปิด โรงศิริราชพยาบาล นับเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของสยาม ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2424 เกิดการระบาดของอหิวาตกอย่างหนัก รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวขึ้นในชุมชนต่างๆ แม้เมื่อโรคระบาดเริ่มลดลงก็ยังคงให้โรงพยาลเหล่านี้ดำเนินการต่อไป ด้วยทรงตระหนักว่ากิจการโรงพยาบาลเป็นสิ่งจำเป็น ต่อมาปี 2429 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างโรงบยาบาลถาวรแห่งแรกขึ้น ณ บริเวณที่ดินของกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข (วังหลัง) ที่ฝั่งธนบุรี ในระหว่างเตรียมการก่อสร้าง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรส ได้ประชวรด้วยโรคบิด สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2430 รัชกาลที่ 5 ทรงเศร้าโศกเป็นอย่างมาก ถึงกับทรงมีพระราชปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะสร้างโรงพยาบาลขึ้นให้สำเร็จ เมื่อเสร็จงานพระเมรุแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อโรงเรือนและเครื่องใช้ต่างๆ ไปสร้างโรงพยาบาล อีกทั้งยังพระราชทานทรัพย์ของเจ้าฟ้าสิริราชกกุธภัณฑ์ แก่โรงพยาบาลอีกด้วย ต่อมาได้พระราชทานนามว่า โรงศิริราชพยาบาล ตามพระนามของเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า โรงพยาบาลวังหลัง ต่อมาได้เปลี่ยนเชื่อเป็น โรงพยาบาลศิริราช มาจนทุกวันนี้