แรกมีประชาธิปไตยในสยาม

  • Print
ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมาชาวตะวันตกเริ่มเข้ามาประเทศไทยมีการสมาคมกับคนไทยทำให้แนวคิดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเริ่มก่อตัวในหมู่ปัญญาชนต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงเปิดประเทศรับอารยธรรมตะวันตกอย่างเต็มที่มีหนังสือพิมพ์เกิดขึ้นเป็นฉบับแรก โดยหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกัน เผยแพร่แนวความคิดตะวันตก และวิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยโดยใช้วัฒนธรรมตะวันตกเป็นบรรทัดฐาน กล้าวิจารณ์แม้แต่พระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งสร้างความตื่นตะลึงให้สังคมไทยพอควร
 
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นอกจากระบบการศึกษาจะเปิดกว้างสู่สามัญชนมากกว่าแล้วในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๒๗ พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางที่ศึกษาอยู่ในยุโรปรวมทั้งคณะทูตไทยประจำกรุงปารีสและลอนดอน ได้ร่วมกันเข้าชื่อถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเรียกร้องรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า นโยบายต่างประเทศที่ใช้วิธีผ่อนปรนกับนักล่าอาณานิคม ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เพียงผ่อนสั้นเป็นยาว การใช้กำลังต่อสู้ก็ไม่ได้ผล เพราะไทยยังด้อยกว่ามหาอำนาจในเรื่องอาวุธ ครั้นจะหวังพึ่งกฎหมายระหว่างประเทศให้ช่วยรักษาเอกราช ก็ไม่ได้ผลอีกเช่นกัน เพราะสยามยังไม่เจริญพอให้เป็นที่ยอมรับในสังคมระหว่างประเทศ การจะให้ประเทศชาติรอดพ้นจากการยึดครองของนักล่าอาณานิคม ซึ่งมักจะใช้ข้ออ้างว่าประเทศที่เข้าครอบครองเป็นประเทศด้อยพัฒนาจะต้องปรับปรุงการบริหารประเทศเสียใหม่ การเลิกทาสและเลิกธรรมเนียมหมอบคลาน ก็ยังไม่พอทำให้สยามเจริญทัดเทียมยุโรปได้ จะต้องใช้รัฐธรรมนูญเป็นหลักในการบริหารประเทศ กระจายพระราชอำนาจให้คณะรัฐมนตรี โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประธานคณะรัฐมนตรี แต่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
 
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ หนังสือพิมพ์ได้เฟื่องฟูขึ้นสุดขีดทรงร่วมแสดงความคิดเห็นในหลายนามปากกา และมีผู้กล้าเขียนตอบโต้อย่างรุนแรง ทั้งที่รู้กันดีว่าเป็นนามปากกาของใคร อีกทั้งยังทรงตั้งเมืองจำลอง “ดุสิตธานี” ขึ้น เพื่อปลูกฝังให้รู้จักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
 
ในสมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับรู้กระแสประชาธิปไตย ที่รุนแรงยิ่งขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ทรงมีพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ราษฎรในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ อันเป็นวันครบ ๑๕๐ ปีของราชวงศ์จักรี แต่พูดคัดค้านโดยพวกหัวเก่าว่าเสียงเรียกร้องรัฐธรรมนูญเป็นของคนเพียงกลุ่มเดียวไม่ใช่เสียงของคนส่วนใหญ่ รัฐธรรมนูญ ที่ทรงร่างไว้แล้วจึงแท้งไป
ทหารตระเวนอ่านประกาศคณะราษฎร 
 
แต่ประเทศไทยก็มีระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นจนได้ ในเช้าตรู่ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อคณะราษฎรซึ่งเริ่มก่อตัวในฝรั่งเศส กลับมาเผยแพร่แนวความคิดในประเทศไทย มีนายทหารหัวก้าวหน้าเข้าร่วมด้วย จนยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ
 
แรกมีประชาธิปไตยในสยาม จึงไม่ใช่คณะราษฎรทำให้เกิดขึ้นในทันทีทันใด หรือเป็นผู้นำรูปแบบสำเร็จรูปจากต่างประเทศมาให้ แต่ได้มีกา รตื่นตัวและพัฒนาความคิดในกลุ่มปัญญาชน รวมทั้งพระมหากษัตริย์เองมาหลายรัชกาลแล้ว
 
แต่ระบอบประชาธิปไตยก็เป็นความเข้าใจในหมู่ปัญญาชนเท่านั้น ราษฎรทั่วไปยังไม่ซึมซับด้วย และไม่เข้าใจว่า “รัฐธรรมนูญ” ที่คณะราษฎรใส่พานตระเวนแสดงอยู่ทั่วไปนั้นคืออะไร ถึงกระนั้น การยึดอำนาจในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ก็ทำให้ประชาชนพากันดีใจไปทั่วหน้า ที่คิดว่าชีวิตในวันนี้จะมีเสรีภาพขึ้นกว่าวันวาน
 
ประชาชนในกรุงเทพฯ มีความรู้สึกต่อเรื่องนี้อย่างไร นสพ.ไทยใหม่  ฉบับวันจันทร์ที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้รายงานไว้พอให้เห็นภาพได้ว่า
 
เริ่มแต่รุ่งของวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕  สภาพการเมืองของชาติไทยก็เปลี่ยนแปลงไป ประชาชนที่ได้ทราบข่าวก็พากันเฮโลไปยังถนนสวนดุสิต และเสียงไชโย ! ชาติไทยไชโย! ก็ดังสนั่นหวั่นไหวตั้งแต่เช้าจนเย็น
 
กลางวันแลกกลางคืนมีรถของรัฐบาลคณะราษฎรพร้อมด้วยทหารสรรพด้วยอาวุธเที่ยวแล่นตามถนนเพื่อระวังเหตุการณ์ รักษาความปลอดภัย
 
ถนนราชดำเนินคับคั่งไปด้วยอาณาประชาราษฎร  ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าจนถึงหน้าวังปารุสกวันไม่ขาดสาย จนกระทั่งกลางคืนแลวันรุ่งขึ้นแลวันนี้
 
โรงมหรสพต่างๆ เจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกการแสดงแต่เวลา ๒๒ น. ประชาราษฎรในกรุงเทพฯ เท่าที่ปรากฏว่ามีความพอใจต่อวิธีดำเนินการของรัฐบาลคณะราษฎรนี้ทั่วกัน
 
เหตุการณ์ต่างๆ เช่น ฉกชิงวิ่งราวไม่ปรากฏว่าได้เกิดมีขึ้นในวันที่มีผู้คนคับคั่งเช่นนี้ ซึ่งเป็นเครื่องส่อให้เห็นว่าราษฎรพึงพอใจที่จะช่วยกันรักษาความสงบสุข
 
ประกาศทุกฉบับที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลใหม่เป็นผู้อ่านให้ประชาชนฟังนั้น กว่าจะจบ ก็ได้ไชโยกันหลายลา แลไชโยกันด้วยหน้าตาอิ่มเอิบ
 
กิจการทุกอย่างทั้งของรัฐบาลแลบริษัทตลอดจนของเอกชน คงได้ดำเนินการต่อไปโดยราบรื่นไม่กะโตกกะตาก
 
มีร้านขายทอง โรงรับจำนำ ปิดอยู่บ้างสองสามตำบล คือ นางเลิ้ง บางลำพู  บางรัก  บ้านหม้อ  แต่ก็ได้กลับเปิดค้าขายต่อไปโดยปกติแล้ว
 
เมื่อตอนกลางวันวันที่ ๒๖ ได้เกิดไฟไหม้ขึ้น ๑ แห่ง แต่ก็เพียงนิดเดียว สิ่งของที่เสียหายไปก็ไม่ปรากฏราคา (เพราะหมดราคา)
 
รถแท็กซี่ถึงคนโดยสารจะเกิดกำหนดเจ้าหน้าที่ก็คงไม่ว่า ซ้ำบางคันยอมให้โดยสารเปล่าก็มีคหบดีหลายท่านได้ส่งสิ่งของไปช่วยเหลือทหารผู้ทำการคราวนี้ เช่น  มะพร้าวอ่อน, ขนมปัง, หมากพลู, บุหรี่, ฯลฯ แต่ไม่ทราบนามเจ้าของ
 
พระภิกษุ สามเณร ก็พากันไปร่วมความครึกครื้นกับฆราวาสด้วย แต่ไม่ได้กระโดดโลดเต้นร้องไชโยอย่างฆราวาสด้วยเท่านั้น.