ตั้งโรงพยาบาล

 
เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อจัดสร้างโรงพยาบาล ได้ตกลงใช้พื้นที่ทางทิศเหนือของโรงเรียนแหม่มโคล ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งธนบุรีเป็นที่ตั้งโรงพยาบาล ในคราวเดียวกันนั้นโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกุธภัณฑ์ที่ท้องสนามหลวง และอาคารต่างๆ ในงานนี้ได้รื้อไปก่อสร้างบางส่วนของโรงพยาบาลด้วย เมื่อสร้างเสร็จได้ไปทรงกระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๑ พระราชทานนามว่า ศิริราชพยาบาล นับเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของไทยที่รักษาพยาบาลตามแผนปัจจุบัน
 
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก 
หรือที่เรียกทั่วไปว่า สมเด็จพระราชบิดา ทรงทำให้การแพทย์
แผนปัจจุบันเจริญแพร่หลายในประเทศไทย
 
โรงเรียนฝึกหัดวิชาแพทย์แผนปัจจุบันของรัฐบาล มีชื่อเรียกครั้งแรกว่า โรงเรียนแพทยากร ต่อมาได้พระราชทานนามใหม่ว่า “โรงเรียนราชแพทยาลัย” โดยมีหมอจอร์จ บี. แม็กฟาร์แลนด์ ทำหน้าที่ฝึกสอนด้วยความอุตสาหะจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระอาจวิทยาคม
 
โรงพยาบาลศิริราชในสมัยแรกตั้งเป็นเรือนใช้ไม้ที่รื้อมาจากอาคาร
ที่ปลูกล้อมพระเมรุในงานถวายพระเพลิงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ
 เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ สร้า้งขึ้นเมื่อแรกเริ่ม ๑๕ หลัง 
 
ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”  และทรงรวมโรงเรียนราชแพทยาลัยเข้าในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย การศึกษาวิชาแพทย์ได้วิวัฒนาการเป็นลำดับ
 
และผู้ที่เป็นกำลังสำคัญของศิริราชพยาบาลในสมัยต่อมา ก็คือ สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้าชายมหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (ในรัชกาลปัจจุบันได้สถาปนาเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก) ซึ่งได้ทรงเสียสละทั้งพระราชทรัพย์และพระวรกายส่งเสริมสนับสนุนให้การแพทย์ของไทยเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว จนได้รับการถวายพระนามว่า พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน และถือเอาวันที่ ๒๔ กันยายน (พ.ศ. ๒๔๗๒) อันเป็นวันที่ตรงกับวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ท่านเป็น “วันมหิดล”