แรกใช้ธนบัตร

 ธนบัตรในยุคแรก
 
ในสมัยกรุงสุโขทัย ได้ผลิต  “เงินพดด้วง”  ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของตนเองขึ้นใช้เป็นเงินตรา และใช้เบี้ยหอยแทนเงินปลีกย่อย  บางครั้งเบี้ย หอยขาดแคลนก็ผลิตเบี้ยโลหะและประกับดินเผาขึ้นใช้ร่วมด้วย ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ยังคงใช้เงินพดด้วง เพียงแต่ปรับปรุงให้สวยงามมีขนาดกะทัดรัดขึ้น  มีตรากงจักรซึ่งเป็นตราประจำแผ่นดินประทับด้านบน ส่วนด้านหน้าประทับตราประจำรัชกาลต่างๆ เช่น ตราช้าง ตราสังข์ ตราช่ออุทุมพร เป็นต้น
 
ในสมัยกรุงธนบุรีก็ยังคงใช้เงินพดด้วงเช่นกรุงศรีอยุธยา ประทับตราพระแสงจักรเป็นตราแผ่นดิน ตราตรีศูลและตราทวิวุธเป็นตราประจำรัชกาล
 
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังใช้เงินพดด้วง เพียงแต่เปลี่ยนตราประจำรัชกาล โดยสมัยรัชกาลที่ ๑ ใช้ตราบัวอุณาโลม รัชกาลที่ ๒ เป็นตราครุฑ ส่วนรัชกาลที่ ๓ เป็นตราปราสาท 
 
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ต้นรัชกาลก็ยังใช้เงินพดด้วงประทับตรามงกุฎ เป็นตราประจำรัชกาล แต่มีการค้ากับต่างประเทศมากจนเงินพดด้วงไม่พอ ใช้ จึงทรงแก้ไขโดยผลิตเป็นเงินกระดาษ เรียกว่า “หมาย” ซึ่งใช้วิธีพิมพ์ลงบนกระดาษอย่างง่ายๆ  ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของธนบัตรไทย แต่ราษฎรไม่นิยมใช้
 
ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๐๐ สมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย แห่งอังกฤษ ได้จัดส่งเครื่องผลิตเหรียญกษาปณ์ขนาดเล็ก มาถวายเป็นราชบรรณาการพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ผลิต เหรียญกษาปณ์จากเครื่องจักรขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นเหรียญกลมแบน เรียกกันว่า “เหรียญบรรณาการ” แต่เนื่องจากเครื่องจักรมีขนาดเล็ก ผลิตเหรียญไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงโปรดให้สั่งเครื่องผลิตเหรียญแรงดันไอน้ำมาใหม่ แล้วโปรดให้สร้างโรงงานผลิตเหรียญกษปณ์ขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ ในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า “โรงกระสาปน์สิทธิการ” เงินเหรียญชุดแรกที่ผลิตจากเครื่องจักรนี้  มีลักษณะคล้ายกับเหรียญชุดบรรณาการและให้ใช้ควบคู่ไปกับพดด้วง แต่ห้ามไม่ให้ผลิตพดด้วงเพิ่มขึ้นอีก
 
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ระยะแรกได้มีการผลิตเหรียญดีบุกโสฬออกใช้ในปี พ.ศ. ๒๔๑๘  โปรดให้สร้างโรงกษาปณ์แห่งใหม่ขึ้นและได้เริ่มผลิต เหรียญเงิน ตราพระบรมรูป-ตราอาร์ม (ตามแผ่นดิน)  ซึ่งนับเป็นเหรียญรุ่นแรกที่มีพระบรมรูปพระมหากษัตริย์บนหน้าเหรียญตามแบบสากลนิยมและได้ถือปฏิบัติมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน
 
สำหรับเงินพดด้วงซึ่งได้หยุดผลิตตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๔ แต่ก็ยังไม่มีประกาศเลิกใช้ จนในวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ จึงมีการประกาศยก เลิกการใช้พดด้วงทุกชนิดราคา หลังจากที่ใช้มาเป็นเวลานานกว่า ๖ ศตวรรษ  จึงถึงยุคสุดของเงินพดด้วง
 
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ทำ “อัฐกระดาษ” ออกใช้ระยะสั้นๆ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนเงินปลีกระยะหนึ่ง หลังจาก นั้นได้มีการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศออกตั๋วสัญญาใช้เงิน เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระหนี้ระหว่างธนาคาร และลูกค้า เรียกว่า “บัตรธนาคาร”
 
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๓๓  กระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้จัดพิมพ์  “เงินกระดาษหลวง” ขึ้น เพื่อใช้เป็นธนบัตร แต่มิได้นำออกใช้เพราะขาด ความพร้อม จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๔๕  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดทำตั๋วสำคัญที่ใช้แทนเงินตรา ประกาศออกใช้เมื่อวันที่ ๗ กันยายน  ธนบัตรไทยจึงถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา.