ช่วงเวลาและศักราช

  
เวลาในเอกสารไทย
เดิมไทยเราใช้วันเวลาทางจันทรคติในการบันทึกเรื่องราวต่างๆ โดยใช้เวลาตามที่ดวงจันทร์หมุนรอบโลก  เริ่มต้นนับเดือนจันทรคติตั้งแต่ขึ้นค่ำหนึ่ง  สองค่ำ  สามค่ำ ไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำ เรียกว่า  วันเพ็ญ ต่อด้วยแรมค่ำหนึ่ง สองค่ำ สามค่ำไปจนถึงแรม 15 ค่ำ  ซึ่งเรียกว่าวันเดือนดับ รวมเป็นเดือนหนึ่ง  เนื่องจากดวงจันทร์หมุนรอบโลกหนึ่งรอบเป็นเวลา  29  วันครึ่ง หรือสองรอบจะได้ประมาณ 59 วัน จึงกำหนดเดือนทางจันทรคติให้มี 29 วันในเดือนคี่  (เรียกเดือนขาด) และ  30  วัน ในเดือนคู่ (เรียกเดือนถ้วน) สองเดือน รวมเป็น 59  วันพอดี ตรงกับข้างขึ้น และข้างแรมตามจันทรคติ
 
 
ปฏิทินจันทรคติระบบสุริยยาตร์
 
เวลาตามจันทรคติในปฏิทิน 1 ปี   มี 12 เดือน  เท่ากับ 354  วัน ซึ่งเมื่อเทียบกับปฏิทินสากล (ซึ่งใช้วันเวลาแบบสุริยคติ คือ วันเวลาที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบเท่ากับ 365 1/4 วัน) จึงสั้นไป 11 วันเศษ ดังนั้นใน 3 ปี จึงเพิ่มเดือนพิเศษอีก 1 เดือน ที่หลังเดือน 8 เรียกว่า เดือน 8 หลังมี 30 วัน ทำให้ปีจันทรคติที่มี  13  เดือน หรือ  384 วัน เป็นปีอธิกมาส  และในรอบ 19 ปีทางจันทรคติ  จะเพิ่มวันพิเศษอีก 1 วัน ในเดือนเจ็ดทำให้มี 30 วัน (ปกติเดือนคี่มี 29 วัน) เรียกว่า ปีอธิกวาร ก็จะทำให้เวลาทางจันทรคติตามทันเวลาทางสุริยคติได้
 
ส่วนวันเวลาตามแบบสุริยคติซึ่งเป็นปีที่ตรงตามฤดูกาล  ปีปกติมี  365 วัน หรือ 12 เดือน ในหนึ่งเดือนมี 28 - 30- 31 วัน ในทุก 4 ปี เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน เพิ่มขึ้น 1 วัน (ทุกปี ค.ศ.ที่หารด้วย 4 ลงตัว) ปีนั้นมี 366 วัน เรียกว่า ปีอธิกสุรทิน  เช่น  เมื่อ ค.ศ. 2000 หรือ พ.ศ. 2543
 
เดิมวันปีใหม่ในสมัยอยุธยา คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย ในสมัยปัจจุบันวันปีใหม่ทางจันทรคติเป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 (เดือนเมษายน) ซึ่งเป็นวันที่เปลี่ยนนักษัตร (ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง  มะเส็ง  มะเมีย  มะแม วอก  ระกา  จอ  กุน เป็นการรับวัฒนธรรมจากขอม)  เมื่อ พ.ศ. 2484  เป็นต้นมา ประเทศไทยจึงได้ใช้ 1 มกราคม เป็นปีใหม่ตามแบบสากล
 
ปฏิทินไทย
 
ศักราชที่ใช้ในเอกสารไทย
        ศักราชที่ใช้ในเอกไทยได้แก่
1. มหาศักราช (ม.ศ.) สันนิษฐานว่าผู้ที่ตั้งมหาศักราชคือ พระเจ้านิษกะ กษัตริย์จากเอชียกลางที่ยึดครองอินเดียภาคเหนือได้ทั้งหมด  เมื่อ พ.ศ. 622 และถือว่าเป็นวันเริ่มต้นมหาศักราช ศักราชนี้ได้แพร่หลายใช้ในไทย พม่า เขมร และอินโดนีเซีย (มหาศักราช + 621 เท่ากับพุทธศักราช)
 
2. จุลศักราช  (จ.ศ.) เป็นศักราชที่อดีตพระภิกษุ  “บุปผะอรหันต์”  ภายหลังได้เป็นพระเจ้าอนิรุทธมหาราช กษัตริย์พุกามได้ยกเลิก มหาศักราชและตั้งจุลศักราชขึ้นเมื่อ พ.ศ.  1182 (จุลศักราช+1181  เท่ากับพุทธศักราช)
 
3. รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ใช้รัตนโกสินทร์ศก ถือเป็นศักราชไทยอย่าง แท้จริง โดยกำหนดให้ พ.ศ. 2325  เป็นรัตนโกสินทร์ศกที่ 1 (รัตนโกสินทร์ศก + 2324 = พ.ศ.)  และโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ปฏิทินสุริยคติแบบเกรกกอเรียน ตามสากลด้วย แต่วันปีใหม่ไทยยังคงใช้ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5  อยู่  รัตนโกสินทร์ศกใช้มาจนถึงรัชกาลที่ 6 จึงเปลี่ยนเป็นพุทธศักราชแทน
 
4. พุทธศักราช (พ.ศ.) เป็นศักราชทางพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นในประเทศอินเดียนิยมใช้กันแพร่หลายในประเทศที่นับถือพระพุทธ ศาสนา เช่น ไทย พม่า ลาว  ขมร ลังกา เริ่มต้นนับปีพุทธสักราชที่ 1 หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ตามข้อมูลที่ถูกต้องพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วเมื่อ 483 ปีก่อนคริสต์ศักราช แต่พุทธศาสนิกชนที่ใช้ในลังกาและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เชื่อว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพาน เมื่อ 543 ปีก่อนคริสต์ศักราช  ซึ่งคลาดเคลื่อนไป 1 รอบพฤหัสบดีจักร หรือ 60 ปี
 
ในระยะแรกการใช้ปีพุทธศักราชของไทยยังสอดคล้องกับประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท นิกายลังกาวงศ์ แต่ต่อมาพุทธศักราชของไทยกลับช้ากว่าประเทศอื่นๆ 1 ปี เช่น ไทยพุทธศักราช 2549 แต่ลังกา พม่า เขมร นับเป็นพุทธศักราช  2550  แล้ว  นั้น อาจมาจากวิธีนับ คือ ไทยนับปีเต็ม เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 1 ปี เป็น พ.ศ. 1 แต่ลังกา  พม่า  เขมร  ลาว นับปีย่าง  คือ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน  เป็น  พ.ศ. 1
 
การใช้พระพุทธศักราชในการบันทึกเรื่องราวในอดีตตามเอกสารไทยมีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยสุโขทัยแต่นิยมใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเท่านั้น ในสมัยอยุธยา  (รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)  ก็มีการใช้พุทธศักราชในการบันทึกพงศาวดาร ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 ได้ประกาศให้ใช้พุทธศักราชเป็นศักราชประจำชาติแทนรัตนโกสินทร์ศก
 
5. คริสต์ศักราช (ค.ศ.) เป็นศักราชสากลที่มีวิวัฒนาการยาวนาน  และแพร่หลายตั้งแต่จักรพรรดิคอนสแตนตินของโรมันรับนับถือศาสนาคริสต์ ในสมัยจูเลียส  ซีซาร์ ได้ปฏิรูประบบปฏิทินทั้งหมด เรียกว่า ปฏิทินจุเลียน โดยใช้สุริยคติเป็นเกณฑ์  ต่อมาในราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 ราชสำนักวาติกันได้พบว่า ปฏิทินจุเลียนมีความคลาดเคลื่อน  สันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13  จึงประกาศให้ใช้ปฏิทินใหม่ใน ค.ศ. 1582 ปฏิทินใหม่นี้เรียกว่า ปฏิทินเกรกกอเรียน
 
การตั้งคริสต์ศักราชเริ่มต้นเมื่อค.ศ. 525 สันตะปาปาเซนต์พอลที่ 1 ได้มอบหมายให้ไดโอนิซิอุส เอซิกุอุส (Dionysius Exiguus)  คำนวณวันประสุติของพระเยซู  ได้เป็นวันที่ 25 ธันวาคม  ศักราชโรมัน 753 แต่ธรรมเนียมเดิมถือว่า ปีใหม่เริ่มต้นเดือนมกราคม จึงถือว่า  วันที่ 1 มกราคม  ศักราชโรมัน 745 เป็นวันเริ่มต้นปีที่ 1 แห่งคริสต์ศักราช  (คริสต์ศักราช + 543 = พุทธศักราช)
 
           เกณฑ์การเทียบศักราช
                              ม.ศ. + 621  = พ.ศ.
                              จ.ศ. +  1181  = พ.ศ.
                              ร.ศ. +  2324  = พ.ศ.
                              ค.ศ. + 543  = พ.ศ.