บ้านหลวงรับราชทูต

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) ลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงครั้งใหญ่ สืบเนื่องมาจากการคุกคามของชนชาติฮอลันดาที่ติดต่อค้าขายกับไทย...
 
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นว่า กรุงศรีอยุธยานั้นไม่สู้ปลอดภัยจากการปิดล้อมระดมยิงของข้าศึกหากเกิดสงคราม จึงได้สร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีที่สองขึ้น เพราะลพบุรีมีลักษณะทางยุทธศาสตร์เหมาะสม
 
ในการสร้างลพบุรีขึ้นใหม่ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงได้รับความช่วยเหลือจากช่างชาวฝรั่งเศสและอิตาเลียน และได้สร้างพระราชวังและป้อมปราการเป็นแนวป้องกันอย่างแข็งแรง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ประทับอยู่ที่ลพบุรีเป็นส่วนใหญ่ และโปรดให้ทูตและชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าพระองค์ที่เมืองนี้หลายครั้ง
 
เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ แล้ว ลพบุรีก็หมดความสำคัญลง สมเด็จพระเพทราชาได้ทรงย้ายหน่วยราชการทั้งหมดกลับกรุงศรีอยุธยาและในรัชกาลต่อๆมา ก็ไม่ได้เสด็จมาประทับที่เมืองนี้อีก
 
จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในพ.ศ. ๒๔๐๖ โปรดฯให้บูรณะเมืองลพบุรี ซ่อมกำแพง ป้อม และประตูพระราชวังที่ชำรุดทรุดโทรม และสร้างพระที่นั่งพิมานมงกุฎขึ้นในพระราชวังเป็นที่ประทับพร้อมกับพระราชทานว่า “พระนารายณ์นิเวศน์” ลพบุรีจึงแปรสภาพเป็นเมืองสำคัญวาระหนึ่ง
           
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงอีกครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งได้สร้างเมืองลพบุรีใหม่อันเป็นเมืองทหาร อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทางรถไฟ มีอาณาเขตกว้างขวาง
           
ส่วนเมืองเก่านั้นอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของทางรถไฟ เมืองลพบุรีจึงเป็นศูนย์กลางสำคัญทางยุทธศาสตร์เมืองหนึ่งในปัจจุบันนี้
         
“บ้านวิชาเยนทร์” หรือ “บ้านหลวงรับราชทูต” ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื่องจากสถานการณ์ที่นี้เป็นที่พำนักของ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ขุนนางสำคัญในสมัยนั้น จึงได้ชื่อว่า “บ้านวิชาเยนทร์”
           
นอกจากนี้เนื่องจากเมื่อครั้งทูตจากประเทศฝรั่งเศสชุดแรกที่เข้ามาเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๒๘ ก็ได้พัก ณ สถานที่แห่งนี้ จึงได้ชื่อว่า “บ้านหลวงรับราชทูต” อีกชื่อหนึ่ง...
           
พื้นที่ในบริเวณบ้านหลวงรับราชทูต แบ่งเป็น ๓ ส่วน สังเกตได้จากประตูเข้าด้านหน้าซึ่งสร้างไว้สำหรับเป็นทางเข้า-ออก แต่ละส่วน คือ ส่วนทิศตะวันตกส่วนกลาง และส่วนทางทิศตะวันออก
           
ทางด้านทิศตะวันตกเป็นกลุ่มอาคาร ได้แก่ ตึก ๒ ชั้น หลังใหญ่ก่อด้วยอิฐ และอาคารชั้นเดียว แคบยาว ซุ้มประตูทางเข้าเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม ส่วนกลางมีอาคารสำคัญ คือ ฐานของสิ่งก่อสร้าง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นหอระฆังและโบสถ์คริสต์ศาสนาซึ่งอยู่ทางด้านหลัง ซุ้มประตูทางเข้าเป็นรูปจั่ว
         

บ้านวิชาเยนทร์ หรือ บ้านหลวงรับราชทูต
 
ส่วนทิศตะวันออก ได้แก่ กลุ่มอาคารใหญ่ ๒ ชั้น มีบันไดขึ้นทางด้านหน้าเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม ซุ้มประตูทางเข้ามีลักษณะเช่นเดียวกับทางทิศตะวันตก
           
ด้วยเหตุที่มีสิ่งก่อสร้างหลายหลังดังกล่าว จึงต้องสันนิษฐานว่าส่วนใดเป็นที่พำนักของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ และส่วนใดเป็นที่พำนักของคณะทูตชาวฝรั่งเศส
           
จากแผนผังบริเวณบ้านวิชาเยนทร์พบว่า ส่วนกลางและส่วนทางทิศตะวันออก มีสิ่งก่อสร้างซึ่งถูกสร้างขึ้นให้มีความสัมพันธ์กัน คือ โบสถ์และตึกหลังใหญ่ ๒ ชั้น และได้รับการก่อสร้างอย่างมั่นคงแข็งแรง ดูสวยงาม บริเวณดังกล่าวจึงควรเหมาะสมใช้เป็นที่ต้อนรับทูตชาวต่าง ประเทศ
 

เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน)
 
โบสถ์คริสต์ศาสนา คงใช้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาของบาทหลวงคณะเจซูอิด ซึ่งเข้ามาพร้อมกับคณะทูตหลายรูป ส่วนอาคารบริเวณทางทิศตะวันตก คงเป็นที่พักอาศัยของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์
           
ลักษณะของสถาปัตยกรรมในบ้านวิชาเยนทร์ บางหลังเป็นแบบยุโรปอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอาคารใหญ่ทางทิศตะวันออก ก่ออิฐถือปูนสูง ๒ ชั้น หน้าต่างและซุ้มประตูของอาคารแสดงให้เห็นลักษณะศิลปะตะวันตกแบบเรอเนสซองค์ ซึ่งแพร่หลายในระยะเวลาเดียวกัน
           
ที่สำคัญอีก คือ อาคารที่เป็นโบสถ์คริสต์ศาสนา ผังและแบบของโบสถ์เป็นแบบยุโรป มีซุ้มประตู หน้าต่าง เป็นซุ้มเรือนแก้ว มีเสาปลายเป็นรูปกลีบบัวยาว ซึ่งเป็นศิลปะแบบไทย ถือว่าเป็นโบสถ์คริสต์ศาสนาหลังแรกในโลก ที่ตกแต่งด้วยลักษณะของโบสถ์ทางพระพุทธศาสนา
           
เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เป็นนักผจญภัยชาวกรีก ผู้กลายมาเป็นสมุหนายกในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา เกิดที่แคว้นเซฟาโลเนีย (ประเทศกรีซ)  เมื่อ ค.ศ. ๑๖๔๗ (พ.ศ. ๒๑๙๐)  โดยมีเชื้อสายของชาวกรีกและเวนิช เข้าทำงานให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ
           
ค.ศ. ๑๖๖๒ (พ.ศ. ๒๒๐๕) ฟอนคอนออกจากบ้าน และเดินเรือสินค้าไปค้าขายยังแดนต่างๆ ค.ศ. ๑๖๗๕ (พ.ศ. ๒๒๑๘) เดินทางมายังสยามในฐานะพ่อค้า เนื่องจากมีความสามารถพิเศษในการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศอย่างง่ายดาย
           
นอกจากภาษากรีกแล้ว ฟอลคอนมีความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาโปรตุเกส ฯลฯ และเรียนรู้การใช้ภาษาไทยอย่างคล่องแคล่วในเวลากี่ปี
           
ต่อมา ฟอลคอนเข้ารับราชการในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในตำแหน่งล่ามและเป็นตัวกลางการค้าระหว่างอยุธยากับฝรั่งเศส จนกระทั่งได้กลายมาเป็นสมุหเสนา ในสมัยพระนารายณ์มหาราชในเวลาอันรวดเร็ว
           
เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน จึงนับเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่เข้ามารับราชการในสมัยอยุธยา...
 
                                                                                                 ข้อมูลจากหนังสือ บันทึกสยาม หน้า ๑๕-๑๙