ล็อตเตอรี่แห่งกรุงสยาม

กิจการสลากกินแบ่งรัฐบาล เริ่มมีขึ้นครั้งแรกในปีพุทธศักราช ๒๔๑๗ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕...

เดิมสลากกินแบ่งรัฐบาลเรียกว่า “ล็อตเตอรี่” ชาวอังกฤษ ชื่อ “ครูอัลบาสเตอร์” เป็นผู้นำวิธีการออกรางวัลแบบนี้เข้ามาเผยแพร่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย  เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือพ่อค้าชาวต่างชาติ ที่นำสินค้ามาร่วมแสดงในการจัดพิพิธภัณฑ์ (โรงมิวเซียม) ที่ตึกคองคาเดีย ในพระบรมมหาราชวัง (ศาลาสหทัยสมาคม)
         
ตามตำนานการเล่นหวยหรือล็อตเตอรี่   เริ่มต้นในประเทศจีนเมื่อประมาณ ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว เมื่อชาวจีนอพยพเข้ามาในประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงได้นำหวย “จับยี่กี” เข้ามาเล่นกันในหมู่คนจีนด้วยกันจนค่อยๆเป็นที่รู้จักกระทั่งแพร่หลายในหมู่คนไทยในสมัยรัชกาลที่ ๒ ในยุครัตนโกสินทร์ เป็นต้นมา
         
คำว่า “จับยี่กี” มีความหมายว่า “หมาก ๑๒ ตัว” ลักษณะเหมือนหมากรุกจีนและไทย คือมีทั้งรถ ม้า และเรือ มีตัวจอมพล นายพล และที่ปรึกษา
       
วิธีเล่น เจ้ามือจะเลือกออกมาตัวหนึ่งโดยที่ลูกค้าไม่รู้ว่าเจ้ามือเลือกตัวไหนแน่  จากนั้นลูกค้าจะเลือกแทงบนแผ่นที่แบ่งไว้ทั้งหมด ๑๒ ช่อง ชอบช่องไหน กะเก็งว่าตัวที่เจ้ามือหยิบออกไปจะต้องเป็นช่องนี้แน่ๆ ก็วางเบี้ยลงไปแทง 
         
ลักษณะการเล่น  “จับยี่กี”  ก็เหมือนแทงม้ากระดาษซึ่งมี ๑๒ ตัว ถ้าแทงครบเจ้ามือก็จะจ่ายแค่ ๑๐ ตัว ได้กำไรแน่นอนอยู่แล้ว ๒ ตัว เมื่อแทงครบทุกตัว ใครถูกเจ้ามือก็จะจ่ายตั้งแต่ ๗-๙ เท่าด้วยเหตุนี้ยิ่งลูกมือแทงกันมากเล่นกันมาก เจ้ามือก็ยิ่งมีกำไร
         
เจ้ามือจับยี่กีในสมัยก่อนจะเป็นคนจีนมีฐานะดี การเล่นในช่วงนั้นยังไม่มีกฎหมายให้จับกุม เมื่อเจ้ามือได้กำไรก็มีการนำมาบริจาคเข้าหลวง หลวงท่านก็ยกย่องให้ใช้คำว่า “ขุนบาล” ซึ่งแปลว่าผู้ดูแลหรือผู้รักษาเหมือนกับนักเรียนชั้นอนุบาลซึ่งจะต้องมีผู้คอยดูแลให้ความคุ้มครองนั่นเอง
 
 
ล็อตเตอรี่สยาม ครั้งที่ ๑ กำหนดออกในเดือนสิงหาคม ๒๔๗๗
 
จึงกลายเป็น “ขุนบาลหวย” ที่ชาวไทยรู้จักกันมานาน
         
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ  ให้กรมทหารมหาดเล็กเป็นผู้ดำเนินการออกล็อตเตอรี่ (เรียกทับศัพท์จากฝรั่ง) วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือชาวต่างชาติที่นำสินค้ามาร่วมแสดงในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา  โดยให้พระยาภาสกรวงศ์และนายเฮนรี่ อาล บาสเตอร์ ไปศึกษาวิธีการออกล็อตเตอรี่จากยุโรป
         
จึงถือว่าเป็นล็อตเตอรี่ชุดแรก หรือครั้งแรกที่ออกจำหน่ายในประเทศสยาม  พิมพ์ออกมาเพียง ๒ หมื่นฉบับ ฉบับละ ๑ ตำลึง หรือ ๔ บาท โดยรางวัลที่ ๑ จ่าย ๑๐๐ ชั่ง รางวัลที่ ๒ จ่าย ๕๐ ชั่ง และรางวัลที่ ๓ จ่าย ๒๕ ชั่ง ไม่มีเลขท้าย ๒ หรือ ๓ ตัว ตัวเลขมีเพียง ๔ หลัก
       
รางวัลที่ ๑ ในงวดแรกของประวัติศาสตร์ล็อตเตอรี่ไทย ได้แก่เลข ๑๖๗๒ รางวัลที่ ๒ คือเลข ๑๔๒๕ และรางวัลที่ ๓ เลข ๓๖๖๒ ไม่มีเลขล็อกปรากฏให้ข้องใจ
         
ตลอดรัชสมัยของรัชกาลที่ ๕  มีการออกล็อตเตอรี่เพียงครั้งนั้นครั้งเดียว จนกระทั่งถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ รัฐบาลอังกฤษเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้องขอกู้เงินจากไทยผ่านประชาชนชาวไทย ด้วยวิธีการออกล็อตเตอรี่ขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ โดยไม่มีการเปิดเผยจำนวนขายหรือรายได้
         
หลังจากนั้นมีการออกล็อตเตอรี่อีกครั้ง ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ปี ๒๔๖๑ เป็นการนำเงินไปช่วยกาชาดและเสือป่า อีก ๕  ปีถัดมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้พระยานนทิเสน สุเรนทรภักดี  ออกล็อตเตอรี่เสือป่า ๑ ล้านบาท เพื่อหารายได้บำรุงกองเสือป่า ออกได้เพียงปีเดียวก็หายเงียบไปเพราะเกิดภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง
         
จนกระทั่งมาถึงปีที่สร้างสะพานพุทธ ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ ๒ (สะพานแรกสุดคือ สะพานพระราม ๖ ในปี ๒๔๖๐ ปัจจุบันอนุรักษ์ไว้โดยสร้างสะพานพระราม ๗ ขึ้นใช้ทดแทน)
         
ในปี ๒๔๗๗  ล็อตเตอรี่เริ่มเป็นรูปร่าง  มีการเปลี่ยนจากการจับตลับในไหมาเป็นวงล้อ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลพลเอกพระ ยาพหลพลหยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒ ของไทย อนุมัติให้ก่อสร้างสถานที่ทำงานและออกรางวัล มีคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ทำงานกันเป็นสัดส่วน ยอดการจำหน่ายทำท่าจะไปด้วยดีทีเดียว
         
แต่ไม่นานก็ได้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองของโลกขึ้นเสียก่อน นั่นคือ มหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้คนไทยไม่มีเงินซื้อล็อตเตอรี่ รัฐบาลจึงรณรงค์ทุกวิถีทาง ต้องใช้เวลานานหลายปี กระทั่งเมื่อสงครามสิ้นสุด คนไทยก็เฮมาซื้อล็อตเตอรี่หวังรวยทางลัดกันอีกครั้งหนึ่ง
         
การออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลยังคงดำเนินตลอดมา แต่เป็นอย่างไม่สม่ำเสมอ สุดแต่วัตถุประสงค์และความจำเป็น ซึ่งส่วนมากเป็นการหารายได้ เพื่อการสาธารณกุศลและสาธารณประโยชน์
         
 
ล็อตเตอรี่เสือป่าล้านบาท ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๓
 
 
สลากกินแบ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๘๓
 
จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยมติคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลขึ้นตรงต่อกระทรวงการคลัง ถือเอาวันที่ ๕ เมษายน ๒๔๘๒ เป็นวันสถาปนา...
         
วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖  เกิดเหตุวันมหาวิปโยคในรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลโดนเผา แต่กองสลากก็ยังกัดฟันออกรางวัลมาตลอด
         
ในปีถัดมา จึงมีการตราพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล  โดยให้ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานโดยตำแหน่ง ดำเนิน งานหารายได้ให้แผ่นดิน จนเมื่อเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ กองสลากฯ โดนเผาอีกครั้งแต่ยังดำเนินการออกรางวัลอย่างต่อเนื่อง
         
การออกรางวัลเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ  กิจการสลากกินแบ่งรัฐบาลเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ดำเนินกิจการภายใต้พระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อออกสลากกินแบ่งรัฐ บาลโดยจัดสรรรายได้จากการจำหน่ายสลาก แบ่งเป็นเงินรางวัลร้อยละ ๖๐ เป็นรายได้แผ่นดินไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๘ และเป็นค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายสลากฯไม่เกินร้อยละ ๑๒
         
สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลยังได้บริจาคเงินช่วยเหลือสังคมอีกมากมาย รวมทั้งการบริจาคเพื่อสาธารณกุศล สาธารณประโยชน์ ทุนการศึกษา ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การสังคมสงเคราะห์ ทูลเกล้าถวายฯและอื่นๆอีก
         
แต่จะมีใครสักกี่คนที่เห็นความสำคัญและคุณค่าของ “ล็อตเตอรี่” กระดาษแห่งความหวังใบเล็กๆ ใบหนึ่ง ที่มีตัวเลข ๖ หลัก อยู่มุมขวามือซึ่งอาจจะกลายเป็นเศษกระดาษที่ไร้ค่าทันที หากหมายเลขไม่ตรงกับรางวัลในแต่ละงวด
         
จะมีใครสักกี่คนที่มองเห็นคุณค่าของลวดลายศิลปะที่ปรากฏโฉมอยู่บนล็อตเตอรี่ ซึ่งหากถ้าเรามองให้ดีก็จะเห็นคุณค่าและความหมาย เป็นการบอกเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นความรู้ไว้มากมายทีเดียว
         
การนำเสนอเรื่องราวบนแผ่นล็อตเตอรี่ในแต่ละปี จะมีการวางแผนการออกแบบประจำปีก่อน ซึ่งทางสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้นำเสนอเรื่องราวศิลปะที่บอกความเป็นไทยมาโดยตลอด
         
ลวดลายที่ปรากฏในแต่ละปีกำหนดให้มี ๒ เรื่องราว โดยจะนำเสนอสลับกันไปในแต่ละงวด เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับนางในวรรณคดีเอกของไทยของดีประจำจังหวัดต่างๆ หรือภาพเกี่ยวกับเทศกาลสำคัญต่างๆ
         
ลวดลายอันงดงามที่ถูกแต่งแต้มสีสันไว้อย่างวิจิตรบรรจงบนล็อตเตอรี่แต่ละฉบับ ล้วนเกิดจากฝีมือของนักออกแบบ หรือช่างศิลป์กองงานออกแบบแม่พิมพ์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ผ่านมาหลายยุคหลายรุ่น
         
เทคนิคในการทำแบบต้นฉบับนั้น ช่างเขียนจะใช้ความสามารถจากปลายพู่กัน บวกกับสีน้ำ สีโปสเตอร์ ดินสอสี หรือจะเป็นสีและเทคนิคอื่นๆ ตามแต่ความถนัดของช่างเขียน โดยจะระบายสีเหล่านั้นลงบนแผ่นกระดาษสีขาวตามรูปแบบที่กำหนดไว้
         
ในอดีต การออกแบบจะใช้ฝีมือของช่างเขียนล้วนๆ แต่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างคอมพิวเตอร์ เข้ามาผสมผสานกับงานฝีมือจากปลายพู่กันอย่างลงตัว
         
เทคนิคการพิมพ์ล็อตเตอรี่ พิมพ์ด้วยระบบ DRY OFFSET คือพิมพ์แบบแห้ง ไม่ต้องใช้น้ำเพื่อประหยัดเวลาในการพิมพ์ โดยในแต่ ละครั้งต้องพิมพ์คราวละหลายล้านฉบับ เพื่อให้พอเพียงต่อการจำหน่ายในแต่ละงวด
         
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน คนไทยจำนวนไม่น้อยยังคงมีความหวังว่าจะถูกหวยรวยเบอร์  ได้รับเงินรางวัลก้อนใหญ่จากการออกสลากกินแบ่ง หรือ การออกหวยของสำนักงานกินแบ่งรัฐบาลไม่สร่างซา
       
และตราบใดที่ความหวังยังมี ตราบนั้นเราท่านก็คงซื้อหวยต่อไป แม้ชั่วชีวิตยังไม่เคยถูกหวยเลยสักครั้งก็ตาม...