แรกมีการบินพาณิชย์ในสยาม

 

ก้าวแรกของสายการบินแห่งชาติ
 
เมื่อแรกเริ่มการบินในสยามนั้น  ส่วนใหญ่เป็นการบินทางทหาร จนในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ กรมอากาศยานทหารบกจึงเริ่มทำการทดลองทำการบินรับส่งไปรษณีย์ระหว่างดอนเมือง-จันทบุรี ต่อมาก็รับผู้โดยสารด้วยในเส้นทางนี้ นับว่าไทยได้เริ่มการบินพาณิชย์ก่อนใครๆในภูมิภาคนี้
 
ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้ขยายเส้นทางการบินพาณิชย์เพิ่มไปอีก ๒ จังหวัด  คือ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งใน ขณะนั้น ๒ จังหวัดนี้ยังไม่มีรถไฟไปถึง จากนั้นก็ขยายไปยังจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดหนองคาย   กับอีกเส้นทางไปยังจังหวัดพิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ซึ่งยังไม่มีรถไฟไปเช่นกัน แม้จะมีการรับผู้โดยสารบ้าง แต่ก็ถือการไปรษณีย์เป็นหลัก
 
ในปี ค.ศ.๒๔๖๘ จึงมีการจัดตั้งกองบินพลเรือนขึ้นในกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ดูแลการบินพลเรือนจนยกฐานะเป็นกรมการบินพาณิชย์ สังกัดกระทรวงคมนาคม ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ มีงานหลักคือพัฒนาท่าอากาศยานในจังหวัดต่างๆ เพื่อใช้ในกิจการพลเรือน
 
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้มีการจัดตั้ง บริษัทเดินอากาศ จำกัด แต่ก็ต้องหยุดดำเนินกิจการไปในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้น และกลับมาดำเนินกิจการใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ 
 
ต่อมาก็มีการจัดตั้งบริษัทการบินขึ้นอีกบริษัทหนึ่งคือ บริษัท การบินแปซิฟิค โอเวอร์ซี (สยาม) จำกัด โดยมีบริษัท เดินอากาศถือหุ้นด้วย
 
จนในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ บริษัทเดินอากาศ กับบริษัทการบินแปซิฟิคได้รวมกิจการเป็นบริษัทเดียวกันจดทะเบียนใหม่ใน ชื่อ บริษัทเดินอากาศไทย จำกัด
 
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ รัฐบาลมีนโยบายให้บริษัท เดินอากาศไทยดำเนินการบินไปต่างประเทศด้วย จึงซื้อเครื่องบินแบบ 1049 G Super Constellation  จำนวน 3 เครื่องมาจากสหรัฐอเมริกา  แต่ประสบการณ์ในการบินระหว่างประเทศยังไม่พอ จึงประสบภาวะขาดทุนจนต้องขายเครื่องบินไป
 
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ บริษัทเดินอากาศไทย จำกัด ได้ร่วมทุนกับบริษัท การบินสแกนดิเนเวียน แอร์ไลน์ส ซิสเต็ม จดทะเบียนบริษัทใหม่ใน ชื่อ บริษัท การบินไทย จำกัด ด้วยทุน ๒ ล้านบาท ดำเนินการขนส่งระหว่างประเทศตามเส้นทางของบริษัท เดินอากาศไทย ส่วนบริษัทเดินอากาศไทยคงเดินทางภายในประเทศ
 
จนในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ บริษัท เดินอากาศไทยได้ซื้อหุ้นในบริษัทการบินไทยจากบริษัท การบินสแกนดิเนเวียน แอร์ไลน์สทั้งหมด บริษัทการบินไทย จำกัด จึงเป็นบริษัทของคนไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์  โดยมีบริษัทเดินอากาศไทยและกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น
 
ต่อมาในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๑ บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด กับ บริษัท การบินไทย จำกัด ได้รวมกิจการเข้าด้วยกัน เป็นบริษัทการบินไทย  จำกัด (มหาชน)  จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔   ทำให้หุ้นจดทะเบียนของบริษัทเพิ่มจาก ๒,๒๓๐ ล้านบาท  เป็น ๑๖,๐๐๐ ล้านบาท มีจุดบินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ๕๐ จุดบิน  ถือได้ว่าเป็นสายการบินแห่งชาติของไทย.