การหนังสือพิมพ์

ในด้านหนังสือพิมพ์ หมอบรัดเลย์ ได้ริเริ่มออกหนังสือพิมพ์แถลงข่าวรายปักษ์เป็นภาษาไทยชื่อ บางกอกรีคอร์เดอร์ (Bangkok Recorder) มีเรื่องสารคดี ข่าวราชการ ข่าวการค้า ข่าวเบ็ดเตล็ด ฉบับแรกออกเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๘๗ ต่อมาจึงออกหนังสือรายปีเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ บางกอกกาเล็นเดอร์ (Bangkok Calendar) หนังสือพิมพ์ที่เริ่มดำเนินงานโดยมิชชันนารีอเมริกัน ได้เป็นตัวอย่างของการทำหนังสือพิมพ์ในเมืองไทยในสมัยต่อมา
 
หนังสือพิมพ์ศรีกรุงฉบับวันอังคารที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ 
ตัวอย่างหนังสือพิมพ์สมัยก่อน
 
กิจการหนังสือพิมพ์ ซึ่งเริ่มโดยมิชชันนารีอเมริกันมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ขยายตัวเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับมา การพิมพ์หนังสือช่วยให้เกิดหนังสือพิมพ์รายวันขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกหนังสือพิมพ์ยังไม่สู้จะมีบทบาทต่อความคิดอ่านของคนไทยเท่าใดนัก เพราะจำนวนคนอ่านหนังสือออกยังมีน้อย ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๗ ถึง ๒๔๑๘  พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ ทรงออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์อีกฉบับหนึ่งชื่อ ดรุโณวาท แจ้งความ โคลงกลอน นิยาย จดหมายเหตุ ฯลฯ เปิดทางให้นักเขียนได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานต่อประชาชน หลังจากนั้นก็ได้มีการออกหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ ทั้งประเภทรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน
 

หมอแซมมวล โจนส์ สมิท ผู้บุกเบิก
วงการหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย
 
 
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยงานด้านหนังสือพิมพ์และพระราชทานเสรีภาพแก่หนังสือพิมพ์อย่างกว้างขวาง กิจการหนังสือพิมพ์ได้เจริญเติบโตขึ้นในสมัยของพระองค์ มีหนังสือพิมพ์และวารสารรายวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน ภาษาไทย จีน และอังกฤษ รวมถึง ๑๔๙ ฉบับ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์หนังสือพิมพ์ ไทย รายวัน ที่ออกมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๑ มีทั้งบทกวี ข่าวราชการ ข่าวกีฬา สังคม บันเทิงคดี สารคดี และจดหมายจากผู้อ่าน ในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มักจะมีบทความซึ่งรัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์ โดยใช้พระนามแฝงว่า “รามจิตติ” “อัศวพาหุ” เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงตั้งทวีปัญญาสโมสร ก็โปรดให้ออกหนังสือพิมพ์ทวีปัญญา เมื่อ ร.ศ. ๑๒๓ ถึง ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๗ ถึง ๒๔๔๙) และเมื่อทรงตั้งดุสิตธานีขึ้นก็ได้ทรงออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ชื่อ ดุสิตสมิต ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๑ ถึง ๒๔๖๔ และหนังสืออื่นๆ อีกหลายฉบับ
 
ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา หนังสือพิมพ์เริ่มแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากยิ่งขึ้นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกที่หันความสนใจไปแนวนี้คือ บางกอกการเมือง มีพระสันทัดอักษรสารเป็นบรรณาธิการ จัดทำรูปเล่มตามแบบหนังสือในยุโรป
 
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีหนังสือพิมพ์เกิดขึ้นอีกถึง ๑๔ ฉบับ ที่สำคัญคือ ศรีกรุงไทยหนุ่ม เดลิเมล์วันจันทร์
 
                                                                                    ข้อมูลจากหนังสือ ๑๐๐ รอยอดีต หน้า ๑๗๐-๑๗๑