วันนี้ในอดีต/เดือนพฤษภาคม

  • Print
1 พฤษภาคม พ.ศ.2503 : การบินไทย สายการบินประจำชาติของประเทศไทยเริ่มบินเที่ยวแรก
 
 
     1 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 การบินไทย สายการบินประจำชาติของประเทศไทยเริ่มบินเที่ยวแรก โดยเครื่องบินใบพัด ดักลาส ดีซี-6 บี (Douglas DC-6B) พร้อมผู้โดยสารเต็มลำจำนวน 60 คน ออกเดินทางจากท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ไปสู่ฮ่องกง ไทเป และโตเกียว การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ดำเนินกิจการในด้านการบินพาณิชย์ในประเทศและระหว่างประเทศ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2502 โดยการร่วมทุนระหว่าง บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด กับ สายการบินสแกนดิเนเวียน แอร์ไลน์ ซิสเต็ม (Scandinavian Airlines System : SAS) มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจการบิน ระหว่างประเทศ ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2503 ภายหลัง เอส. เอ. เอส. ได้โอนหุ้นทั้งหมดให้บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ในปี 2531 ได้เพิ่มทุนจดทะเบียเป็น 2,230 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ปีต่อมาได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) มาจนทุกวันนี้ การบินไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งของเครือข่ายพันธมิตรสายการบินสตาร์อัลไลแอนซ์ (Star Alliance) มีฉายาว่า เจ้าจำปี การบินไทยได้ระดับความปลอดภัย A ซึ่งเป็นระดับที่ปลอดภัยที่สุด วัดจากสถิติสะสมตั้งแต่ปี 2513 การบินไทยถือเป็นรัฐวิสาหกิจที่สามารถทำกำไรต่อเนื่องเรื่อยมาทั้งยังได้รับการยกย่องในด้านความปลอดภัยและการบริการให้อยู่ในระดับสายการบินชั้นนำของโลกเสมอมา
 

1 พฤษภาคม พ.ศ.2454 : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา กองเสือป่า
 
 
     1 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา กองเสือป่าขึ้น โดยพระองค์เองเป็นผู้บัญชาการ เพื่อให้พลเรือนซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในราชสำนักได้มีโอกาสฝึกหัดระเบียบวินัย มีการบังคับบัญชาเป็นหมู่เหล่าเช่นเดียวกับทหาร อีกทั้งยังฝึกให้จงรักภักดียอมสละชีวิต เพื่อป้องกันภัยอันตราย ที่จะมีแก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในระยะแรกมีสมาชิกเพียงร้อยกว่าคน จากนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสโมสรกองเสือป่าและเสด็จที่สโมสรเกือบทุกวันเพื่อทอดพระเนตรการฝึกพระองค์ทรงทุ่มเททั้งกำลังพระวรกายกำลังพระสติปัญญาและพระราชทรัพย์ให้กับกิจการเสือป่าอย่างเต็มที่แต่กองเสือป่าที่ตั้งขึ้นมีลักษณะซ้ำซ้อนกับทหาร หลายครั้งเสือป่าของพระองค์มีเรื่องมีราวกับทหารในกองทัพ ปมขัดแย้งเริ่มเกิดขึ้นในหมู่ทหารจำนวนหนึ่ง กระทั่งประทุเป็นการก่อกบฎใน ร.ศ. 130 ที่เรียกว่า กบฎ ร.ศ. 130 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต กิจการของเสือป่าได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมการรักษาดินแดน ในปี 2497 รับผิดชอบโดยกระทรวงกลาโหม ภายหลังได้เปลี่ยนเป็น หน่วยบัญชาการกำลังสำรอง ดำเนินกิจการมาจนถึงทุกวันนี้
 
1 พฤษภาคม พ.ศ.2429 : กรรมกรในชิคาโก สหรัฐอเมริกา เดินขบวนเรียกร้องสิทธิ ขอทำงานวันละ 8 ชั่วโมง
 
 
     1 พฤษภาคม พ.ศ. 2429 กรรมกรในชิคาโก สหรัฐอเมริกา เริ่มเดินขบวนเรียกร้องสิทธิจากนายจ้าง ขอทำงานวันละ 8 ชั่วโมง จนได้ชัยชนะในที่สุด ภายหลังได้มีการหลังในประเทศต่าง ๆ จึงได้ถือให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น วันกรรมกรสากล หรือ วันกรรมกรโลก (May Day หรือ Labor Day) ส่วนความเคลื่อนไหวของกรรมกรในประเทศไทย ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลถือเอาวันกรรมการสสากลเป็นวันกรรมกรแห่งประเทศไทย ให้กรรมกรเฉลิมฉลองในวันนี้ได้ รวมทั้งให้กรรมกรทั่วประเทศหยุดงานโดยไม่ถูกตัดค่าแรง จนในที่สุด รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้อนุญาติให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น วันกรรมกร โดยเริ่มในปี 2499 เป็นปีแรก ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น วันแรงงานแห่งชาติ
1 พฤษภาคม พ.ศ.2383 : ออกจำหน่ายดวงตราไปรษณีย์ หรือ แสตมป์ (Stamp) ดวงแรกของประเทศและของโลก
 
 
     1 พฤษภาคม พ.ศ. 2383 ไปรษณีย์อังกฤษนำ ดวงตราไปรษณีย์ หรือ แสตมป์ (Stamp) ดวงแรกของประเทศและของโลกออกจำหน่ายและเริ่มใช้ได้ในวันที่ 6 พฤษภาคม แสตมป์ดวงนี้เป็นความคิดของ โรว์แลนด์ ฮิลล์ (Rowland Hill) พนักงานไปรษณีย์ผู้ริเริ่มให้ปรับปรุงระบบการขนส่งไปรษณีย์ภันฑ์ของอังกฤษเขาเสนอให้มีการใช้ซองจดหมายและตราไปรษณีย์เป็นค่าขนส่งล่วงหน้าในปี 2380 อีกสามปีต่อมาแสตมป์ดวงแรกจึงออกจำหน่าย ออกแบบโดย วิลเลียม มูลเรดี (William Mulready) มีพระบรมฉายาลักษณ์ของ สมเด็จพระราชินีวิคทอเรีย (Queen Victoria) เรียกว่า เพ็นนีแบล็ค (Penny Black) เนื่องจากพิมพ์สีดำและมีราคา 1 เพ็นนี ด้วยเหตุที่เป็นแสตมป์ดวงแรกของโลก จึงไม่ปรากฏชื่อประเทศอังกฤษอยู่บนแสตมป์
 

1 พฤษภาคม พ.ศ.2484 : ซิติเซน เคน (Citizen Kane) ออกฉายรอบปฐมฤกษ์ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
 
 
      1 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ซิติเซน เคน (Citizen Kane) ภาพยนตร์เรื่องเอกของ ออร์สัน เวลส์ (Orson Welles) ออกฉายรอบปฐมฤกษ์ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซิติเซน เคนเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับความรุ่งเรืองและความตกต่ำของเจ้าพ่อแห่งวงการหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันผู้ไร้คุณธรรม นามว่า ชาร์ลส์ ฟอสเตอร์ เคน (Charles Foster Kane) แสดงโดยเวลส์ ตัวละครนี้มีเค้าโครงมาจาก วิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิร์สต์ (William Randolph Hearst) นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกัน เวลส์ใช้เทคนิคเล่าเรื่องแบบย้อนกลับสู่อดีต (Flashback) โดยใช้เทคนิคอันชาญฉลาดมากมาย นักวิจารณ์ต่างพากันยกย่องว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์  หนังเรื่องนี้ส่งอิทธิพลต่อวงการศิลปภาพยนตร์เป็นอย่างมาก โดยเป็นภาพยนตร์เรื่องแตกของเวลส์ ซึ่งเขาได้ร่วมเขียนบท กำกับ และอำนวยการสร้างในปี 2484 ด้วยวัยเพียง 26 ปี
 
2 พฤษภาคม พ.ศ.2526 : นายปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรม
 
 
       2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกฯ 3 สมัยและรัฐบุรุษอาวุโส ถึงแก่อสัญกรรมที่บ้านพักชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ท่านเกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2443 ที่อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียนมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และต่อที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม จากนั้นสอบชิงทุนไปเรียนต่อด้านกฎหมายจนสำเร็จปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปารีส ในปี 2469 ในช่วงนั้นกรุงปารีสกลายเป็นที่รวมของแนวคิดทฤษฎีทางการเมืองของค่ายต่าง ๆ เดือนกุมภาพันธ์ 2469 ท่านได้ร่วมประชุมกับกลุ่มผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เดินทางกลับเมืองไทยขณะอายุได้ 26 ปี ถือเป็นคนไทยคนแรกที่จบดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยปารีส เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ท่านเป็นหนึ่งในคณะราษฎร์ ได้ทำการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยปราศจากการนองเลือด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จากนั้นได้เข้าร่วมเป็นคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย เพื่อต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ส่งผลให้ไทยไม่ตกเป็นประเทศพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผู้ผลักดันให้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของไทย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านเป็นผู้ประศาสน์การ (อธิการบดี) คนแรกของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่ง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ในบั้นปลายชีวิตท่านต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ จีน และย้ายไปฝรั่งเศสกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม ต่อมาปี 2543 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้บรรจุชื่อนายปรีดี พนมยงค์ไว้ใน ปฏิทินบุคคลสำคัญของโลก ในช่วงปี 2543-2544 ท่านเป็นสามัญชนคนหนึ่งที่ได้สร้างคุณูปการให้แก่ชาติบ้านเมืองไว้จำนวนมาก แต่สังคมไทยกลับปฏิบัติต่อท่านต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ไม่เพียงแต่ไม่ยกย่องเท่านั้น แต่นายปรีดี พนมยงค์ กลับกลายเป็นบุคคลที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
 

2 พฤษภาคม พ.ศ.2062 : ลิโอนาร์โด ดาวินชิ ศิลปินชาวอิตาเลียน เสียชีวิต
 
 
      2 พฤษภาคม พ.ศ. 2062 ลิโอนาร์โด ดาวินชิ (Leonarde da Vinci) ศิลปินเอกชาวอิตาเลียน เสียชีวิต ที่เมืองอัมบัวส์ (Amboise) ประเทศฝรั่งเศส ดา วินชีเกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน 1995 ที่เมืองวินชี แคว้นทัสคานีตอนเหลือของอิตาลี ในยุค ฟื้นฟูศิลปวิทยาการ หรือ เรอเนซองซ์ (Renaissance) ซึ่งเป็นยุคที่ปัญญาชนหวนกลับไปศึกษาภูมิปัญญาในยุคคลาสสิกของกรีกและโรมัน ครอบครัวชนชั้นสูงจึงสนับสนุนให้ลูกเรียนภาษากรีกและละติน แต่ลีโอนาร์โดเป็นเด็กรักสันโดษ ไม่ชอบทำตามกติกาของสังคม ช่างสังเกตและช่างบันทึก เขามักออกไปศึกษาความจริงในธรรมชาติรอบตัวและฟังชาวนาเล่านิทานและภูมิปัญญาเก่าๆ “ครู” คนที่สำคัญที่สุดของเขาก็คือ “ธรรมชาติ” ตอนอายุ 17 ปี พ่อพาเขาไปฝึกงานในสตูดิโอของศิลปิน ด้วยความใฝ่รู้ กระตือรือร้น ช่างคิดช่างฝันและทดลองฝึกฝน และเป็นคนที่มีความสนใจหลากหลาย หลังจากย้ายไปเมืองมิลานเขาเริ่มสนใจวิชาการแขนงอื่นๆ ทุกเรื่องที่อยากรู้ จนกลายเป็นผู้ที่มีความชำนาญหลากหลาย ทั้ง ศิลปิน นักดนตรี นักกีฬา นักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ นักพฤกษศาสตร์ เป็นวิศวกร นักออกแบบการชลประทาน เครื่องจักรกล รวมทั้งเครื่องร่อน เฮลิคอปเตอร์ เรือดำน้ำ และสิ่งประดิษฐ์อีกจำนวนมากที่ล้ำยุคไปหลายร้อยปี เป็นคนแรกที่ศึกษากายภาพมนุษย์อย่างละเอียด เลโอนาร์โดเสียชีวิตที่เมืองออมบัวซ์ ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2062 ทิ้งเค้าร่างสิ่งประดิษฐ์ล้ำสมัย สมุดบันทึก และงานศิลปะชิ้นสำคัญของโลกคือ The Last Supper และ Mona Lisa เขาได้รับยกย่องให้เป็น "ผู้รอบรู้จักรวาล" (universal man)
 

3 พฤษภาคม พ.ศ.2534 : ยูเนสโกเสนอให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
 
 
      3 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลกคือเสรีภาพในการคิดและการแสดงออกเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เสนอข้อเท็จจริงโดยเสรีและปลอดภัย เพราะในระยะหลังๆ นักข่าวที่ลงพื้นที่ภาคสนามได้มีจำนวนผู้เสียชีวิต ถูกจับเป็นตัวประกัน และถูกจับกุมเพิ่มมากขึ้น ต่อมาจึงได้ถือเอาวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น "วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก"
 

3 พฤษภาคม พ.ศ.2480 : นิยายเรื่อง Gone with the Wind ได้รับ รางวัล พูลิเซอร์
 
 
      3 พฤษภาคม พ.ศ. 2480  วิมานลอย (Gone with the Wind) นิยายขายดีของ มาร์กาเร็ต มิตเชลล์ (Margaret Mitchell) ได้รับ รางวัล พูลิเซอร์ สาขานิยาย (Pulitzer Prize for Fiction) อีกสองปีต่อมาได้มีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เป็นเรื่องชีวิตรักผจญภัยของสาวงามชื่อ สการ์เล็ตต์ โอ’ฮารา (Scarlett O’Hara) แสดงโดย วิเวียน ลี (Vivian Leigh) ในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกัน อำนวยการสร้างโดย เดวิด โอ. เซลส์นิก (David O. Selzinck) ต่อมาปี 2483 ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงนำหญิง ยอดเยี่ยม ฯลฯ รวม 8 รางวัลจากการเข้าชิง 13 รางวัล นับเป็นหนังสีเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
 

3 พฤษภาคม พ.ศ.2012 : วันเกิด นิกโกโล มาคิอาเวลลี นักปรัชญาการเมืองชาวอิตาลี
 
 
       3 พฤษภาคม พ.ศ. 2012 วันเกิด นิกโกโล มาคิอาเวลลี (Niccolo Machiavelli) นักปรัชญาการเมืองชาวอิตาลี เกิดที่กรุงฟลอเรนซ์ เริ่มรับราชการเป็นเลขาธิการฝ่ายการทูตในปี 2037 การงานก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ จนได้เป็นหนึ่งในคณะทูตไปเจรจากับพระเจ้าหลุยส์ ที่ 12 (Louis XII) แห่งฝรั่งเศส และนักการเมืองคนสำคัญๆ อยู่เสมอ ระหว่างทำงานที่นี่เขาได้สังเกตธรรมชาติทางการเมืองของมนุษย์มาตลอด เขาเขียนจดหมายและหนังสือหลายเล่ม ผลงานที่สำคัญที่สุดคือ เจ้าผู้ปกครอง (The Prince) ซึ่งสนับสนุนแนวคิดที่ว่า "อำนาจการเมืองย่อมไม่สนใจศีลธรรม" ประชาชนจึงต้องระมัดระวังในการที่จะมอบสวัสดิภาพของตนให้อยู่ในมือของคนคนเดียว เพราะผู้เป็นทรราชนั้นหากไม่เห่อเหิมจนเกินเลย ก็ย่อมจะเกรงกลัวภัยที่จะคุกคามตนเอง จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อตนเองมากกว่าปฏิบัติเพื่อประชาชน เขาเป็นคนแรกที่วางพั้นฐานของความคิดทางการเมืองด้วยการศึกษาธรรมชาติของมนุษย์ ต่อมาเขาได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งรัฐศาสตร์สมัยใหม่
 

4 พฤษภาคม พ.ศ.2522 : มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษ
 
 
       4 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher) หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษ และเป็นนายกฯ ติดต่อกันถึง 3 สมัย ตั้งแต่ปี 2522-2533 เธอใช้นโยบายปฏิรูปที่รุนแรงหลายอย่าง เช่น การจัดบทบาทของสหภาพแรงงาน ลดภาษีเงินได้ สนับสนุนวิสหกิจเอกชน และแปรรูปรัฐวิสหกิจที่รัฐเคยยึดมากระจายให้เอกชน เธอได้รับการสนับสนุนมากขึ้นหลังจากสนับสนุนให้อังกฤษทำสงครามจนได้รับชัยชนะใน สงครามหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ (Falkland War) ในปี 2525 และการออกกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้เช่าบ้านสามารถซื้อบ้านที่ตนเช่าได้ แต่ด้วยวิธีการทำงานแบบเบ็ดเสร็จยึดมั่นในความคิดของตัวเองอย่างมั่นคงไม่ว่าจะถูกคัดค้านจากนักวิจารณ์ว่าอย่างไร คัดค้านการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป นโยบายภาษีผู้มีสิทธิ์ออกเสียง (Poll Tax) และขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน ในที่สุดเธอก็หมดอำนาจและลาออกในปี 2533 เธอได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำที่กล้าตัดสินใจและกล้าเผชิญหน้า จนได้รับฉายาว่า "หญิงเหล็ก” (The Iron Lady) เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20
 

4 พฤษภาคม พ.ศ.2533 : สาธารณรัฐลัตเวีย (Republic of Latvia) ได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียต
 
 
      4 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 ประเทศลัตเวีย (Latvia) ชื่อทางการคือ สาธารณรัฐลัตเวีย (Republic of Latvia) ได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียต ลัตเวียเป็นประเทศในภูมิภาคยุโรปเหนือ เมืองหลวงคือกรุงริกา (Riga) ปกครองแบบสาธารณรัฐ ระบอบประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญ แบ่งการปกครองออกเป็น 26 เขต และอีก 7 เมือง มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 64,589 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบอุดมสมบูรณ์สลับกับเนินสูง มีแม่น้ำสายเล็กใหญ่มากมายและมีทะเลสาปจำนวนมากกว่า 3 พันแห่ง มีประชากรประมาณ 3.2 ล้านคน (ปี 2546) มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยตั้งแต่ปี 2535 เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2547
 

4 พฤษภาคม พ.ศ.2197 : วันพระราชสมภพ จักรพรรดิคังซี (Kangxi) กษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์ชิง
 
 
     4 พฤษภาคม พ.ศ. 2197 วันพระราชสมภพ จักรพรรดิคังซี (Kangxi) กษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์ชิง หรือราชวงศ์แมนจู (Manchu Qing dynasty) เป็นจักรพรรดิยิ่งใหญ่องค์หนึ่งของจีน ครองราชย์ ยาวนานถึง 61 ปี ตั้งแต่ปี 2204-2265 ทรงเป็นโอรสฮ่องเต้ชุนจื้อซึ่งมีเชื้อสายมาจากผู้นำชนเผ่าแมนจู ฮ่องเต้คังซีครองราชวงศ์ตอน 7 พรรษา ทรงว่าราชการด้วยพระองค์เองในวัยเพียง 13 พรรษา ซึ่งเป็นช่วงเวลาวิกฤตของบ้านเมือง เนื่องจากชาวฮั่นต้องการกอบกู้ราชวงศ์หมิงคืน รวมถึงชนเผ่าอื่น ๆ ก่อกบฏ ฮ่องเต้คังซีทำสงครามภายในประเทศยาวนานถึง 8 ปี จึงพิชิตแคว้นต่างๆ ได้ราบคาบ อีกทั้งขยายอาณาเขตถึงมองโกเลียและทิเบต ทรงเป็นผู้ที่เฉลียวฉลาดมากองค์หนึ่ง ทรงศึกษาความผิดพลาดของพวกมองโกลช่วงที่ปกครองชาวฮั่น จึงเปลี่ยนจากวิธีการใช้ไม้แข็งเป็นไม้อ่อน เกลี้ยกล่อมให้เหล่าปราชญ์ราชบัณฑิตที่หนีภัยช่วงหมิงสิ้นอำนาจให้กลับมารับราชการใหม่ ทรงสถาปนากรมจิตรกรรม นอกจากนี้ทรงดูแลเหล่าปราชญ์และศิลปินอย่างเกษมสำราญ ในสมัยของพระองค์ศิลปวิทยาการจึงเจริญรุ่งเรืองมาก ทรงครองราชย์นานถึง 61 ปี นับเป็นจักรพรรดิที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาตร์จีน พระองค์ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนักรักพระองค์หนึ่ง ทรงมีสนมราว 35 คน พระโอรสและธิดาราว 55 องค์ จนเกิดชิงบัลลังก์เป็นที่วุ่นวาย หลังจากสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2265 องค์ชาย 4 ได้ขึ้นครองราชย์เป็น ฮ่องเต้หย่งเจิ้น 
 

4 พฤษภาคม พ.ศ.2496 : The Old Man and The Sea ได้รับ รางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize)
 
 
     4 พฤษภาคม พ.ศ. 2496  The Old Man and The Sea นิยายขนาดสั้นเรื่องเอกของ เออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ (Ernest Miller Hemingway) ได้รับ รางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize) นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องของชายประมงชาวคิวบาชื่อ ซานติเอโก ชายเฒ่าผู้เป็นไม้ใกล้ฝั่งที่กำลังสิ้นหวังหลังจากจับปลาไม่ได้มาหลายเดือนวันหนึ่งมีเด็กหนุ่มมาให้แกสอนวิธีจับปลา แกจึงออกเรืออีกครั้งเพื่อพิสูจน์ตนเอง ระหว่างที่กำลังนั่งรอด้วยความสิ้นหวังปลาโทงเทง (Marlin) ขนาดใหญ่ 18 ฟุตก็มากินเบ็ด แกต้องทุ่มเทกำลังทั้งหมดทั้งตัวและหัวใจในการต่อสู้ ในระหว่างที่สู้กับปลาอยู่หลายวันผลัดกันดึงผลัดกันลาก ต่างฝ่ายต่างต่อสู้กันด้วยชีวิต แกก็ได้เรียนรู้ชีวิตและได้มองเห็นคุณค่า ความหมายและความงดงามของชีวิต ก่อนจะกลับคืนสู่ฝั่งอีกครั้ง นิยายเรื่องนี้เป็นนิยายขนาดสั้น เขียนด้วยภาษาสั้น ๆ กระชับตามสไตล์ของเฮมมิงเวย์ ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นนิยายเรื่องเล็กที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งในศตวรรษที่ 20 นอกจากได้รับรางวัลพูลิตเซอร์แล้ว ยังได้รับ รางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ในปี 2497 อีกด้วย นิยายเรื่องนี้เฮมมิงเวย์เขียนที่ประเทศคิวบาในปี 2494 ได้แรงบันดาลใจมากจากชาวประมงคิวบาชื่อ เกรกอริโอ ฟูเอนเตส (Gregorio Fuentes) ซึ่งเฮมมิงเวย์เคยจ้างให้คอยดูแลเรือตกปลาของเขาระหว่างพำนักอยู่ในคิวบา ฟูเอนเตสเสียชีวิตในปี 2545 โดยที่ไม่เคยอ่าน The Old Man and The Sea
 

5 พฤษภาคม พ.ศ.2509 : วันเปิดทำการ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
 
 
     5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 วันเปิดทำการ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี โดยมี จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นมาเป็นประทานในพิธีเปิด หอสมุดแห่งนี้เป็นอาคารใหญ่สูง 4 ชั้น ปัจจุบันได้ขยายการบริการค้นคว้าออกไปมาก เช่น หอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งอยู่ในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ใช้เป็นสถานที่เก็บศิลาจารึกและตู้พระธรรม ห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมบริพัตร ห้องหนังสือโบราณศูนย์นราธิปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ห้องโสตทัศนวัสดุสุนทราภรณ์ นอกจากนี้ยังมีบริการฉายภาพยนตร์สารคดี และจัดอภิปรายที่ห้องประชุมหอสมุดฯ และจัดนิทรรศการต่างๆ ขึ้นเป็นประจำ เปิดบริการให้ใช้ห้องสมุดเวลา 9.30-19.30 น. ทุกวัน เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
 

5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 : รัชกาลที่ 9 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
 
 
      5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ หลังจากที่เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ 9 มิถุนายน 2489 เฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร" ในโอกาศนั้นได้ทรงพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ต่อมาทางราชการจึงกำหนดในวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปีเป็น วันฉัตรมงคล เพื่อเป็นการระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
 

5 พฤษภาคม พ.ศ.2509 : จิตร ภูมิศักดิ์ ถึงแก่อสัญกรรม
 
 
      5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนนักปฏิวัติคนสำคัญของสยาม ถึงแก่อสัญกรรม จิตรเกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2473 ที่ อ.ประจันตาคม จ.ปราจีนบุรี ย้ายเข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ และเรียนต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มเขียนบทความทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์มาตั้งแต่อยู่ปี 1 พอขึ้นปีที่ 3 เมื่อปี 2496 เขาได้เป็นบรรณาธิการหนังสือ มหาวิทยาลัย 23 ตุลา ซึ่งเป็นหนังสือประจำปีของจุฬาฯ ด้วยเห็นว่ามีเนื้อหาและรูปแบบซ้ำซากมานาน จิตรจึงเปลี่ยนแปลงใหม่และเขียนบทความวิจารณ์การเมือง ส่งผลให้หนังสือถูกสั่งระงับการพิมพ์ จิตรจึงถูกรุ่นพี่จับ “โยนบก” ลงจากเวทีหอประชุมใหญ่จุฬาฯ จนถูกส่งเข้าโรงพยาบาลและถูกพักการเรียน 1 ปี ระหว่างนั้นเขาจึงไปรับสอนภาษาไทยและทำงานหนังสือพิมพ์ เมื่อกลับเข้ามาเรียนหนังสืออีกครั้งเขารวมกลุ่มกับเพื่อนก่อตั้งสหพันธ์นักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย รวมทั้งแต่เพลงปลุกใจต่างๆ อาทิ มาร์ชเยาวชนไทย, ธรรมศาสตร์-จุฬา ชิงชัย, มาร์ชกรรมกรไทย จิตรเรียนจบแล้วมาเป็นครูที่โรงเรียนเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ และสอนพิเศษที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่นี่เขาเริ่มปลูกฝังแนวคิด ศิลปะเพื่อชีวิต หลังจากที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจในปี 2501 จิตรถูกจับข้อหาคอมมิวนิสต์ ขังคุกลาดยาวอยู่ 6 ปี ระหว่างนี้เขาได้เขียนและแปลหนังสือไว้หลายเล่ม อาทิ โคทาน, แม่, คนขี่เสือ, พจนานุกรมภาษาละหุหรือมูเซอร์ และความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ รวมทั้งเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา และเพลงอื่น ๆ อีกหลายเพลง หลังออกจากคุกไม่นานเขาก็ตัดสินใจเดินทางเข้าป่าในช่วงปลายปี 2508 เข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในนาม สหายปรีชา ปฎิบัติการในพื้นที่เทือกเขาภูพาน อ.เมืองสกลนคร ในช่วงนั้นฝ่ายรัฐบาลเริ่มกวาดล้างโจมตีหนักหน่วงขึ้น มีกองกำลังทหารผสมตำรวจมาตั้งฐานอยู่ใกล้ๆ จนในที่สุดจิตรก็ถูกกองกำลังชาวบ้านผสมทหารล้อมยิงเสียชีวิต ที่ทุ่งนากลางป่าละเมาะ บ้านหนองกุง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ภายหลังจาการเสียชีวิต จิตรได้รับการยกย่องในฐานะนักเขียน นักภาษาศาสตร์ และศิลปินนักรบของประชนชน จิตรได้กลายเป็นวีรบุรุษที่คนหนุ่มสาวในยุคต่อมาได้ยึดถือเป็นแรงบันดาลใจในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่ยุค 14 ตุลา 16 มาจนทุกวันนี้
 

5 พฤษภาคม พ.ศ.2364 : นโปเลียน โบนาปาร์ต แห่งฝรั่งเศส เสด็จสวรรคต
 
 
     5 พฤษภาคม พ.ศ. 2364 นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) หรือสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (Napolean I) แห่งฝรั่งเศษ เสด็จสวรรคต นโปเลียนเกิดที่เมืองอายัคซิโอ (Ajaccio) เมืองหลวงของเกาะคอร์ซิกา (Corsica) อาณานิคมฝรั่งเศสในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2312 ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนนายร้อย Ecole Royale Militaire กรุงปารีส ฝรั่งเศส แล้วเข้าเป็นทหารในกองทัพฝรั่งเศสตั้งแต่อายุ 16 ปี ก้าวหน้าขึ้นจนได้เป็นนายพลในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) ในปี 2332 ดำรงตำแหน่งผู้ปกครองประเทศฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปลายปี 2342 แล้วสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส   เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2347 นโปเลียนได้ทำสงครามกับดินแดนต่างๆ จนสามารถเข้าปกครองดินแดนส่วนใหญ่ของยุโรป แล้วแต่งตั้งให้แม่ทัพและญาติพี่น้องขึ้นครองบัลลังก์ในราชอาณาจักรยุโรปหลายแห่ง ภายหลังประเทศตรงข้ามได้รวมตัวกันเป็นกองทัพนานาชาติเพื่อต่อต้านกองทัพของนโปเลียน พระองค์จึงพ่ายแพ้ที่สมรภูมิที่เมืองไลป์ซิก (Leipzig) เปิดทางให้ข้าศึกบุกเข้าสู่ฝรั่งเศสในปี 2357 พระองค์จึงต้องสละราชสมบัติและถูกเนรเทศไปอยู่ที่เกาะเอลบา (Elba) ของอิตาลีก่อนจะหวนคืนสู่อำนาจอีกครั้ง แต่อยู่ได้ไม่นานก็พ่ายแพ้แก่กองทัพนานาชาติอีกครั้ง ในที่สุดนโปเลียนถูกเนรเทศไปอยู่ที่เกาะเซนต์ เฮเลนนา (Saint Helena) และสิ้นพระชนม์ด้วยโรคมะเร็งที่นั่น พระเจ้านโปเลียนได้รับการยกย่องว่าเป็นแม่ทัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ แม้ด้านหนึ่งจะได้ชื่อว่าเป็นผู้กระหายในอำนาจและชัยชนะ แต่นโปเลียนก็ได้สร้างรัฐธรรมนูญและปฏิรูประบบกฎหมายฝรั่งเศสขึ้นอย่างเป็นระบบยกเลิกระบบเจ้าขุนมูลนายให้การอุปถัมภ์ทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วรรณคดีและศิลปะ
 

5 พฤษภาคม พ.ศ.2356 : วันเกิด เซอเรน โอบึย คีร์เคกอร์ด (Seren Aabye Kierkegaard)
 
 
     5 พฤษภาคม พ.ศ. 2356 วันเกิด เซอเรน โอบึย คีร์เคกอร์ด (Seren Aabye Kierkegaard) นักปรัชญาชาวเดนมาร์ก เกิดในครอบครัวเคร่งศาสนาในกรุงโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของเดนมาร์ก เรียนศาสนาเปรียบเทียบที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน เริ่มเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ตั้งแต่นั้น คีร์เคกอร์ดเห็นว่านักปรัชญาในอดีตมักจะค้นคว้าถกเถียงกันแต่สิ่งสากล ยิ่งค้นคว้าก็ยิ่งห่างออกไปจากชีวิตจริงมากขึ้นทุกที เขาจึงมุ่งค้นหาปรัชญาใหม่ที่สามารถอธิบายชีวิตได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาศึกษาปัญหา อัตถิภาวะ (Existence) คีร์เคกอร์ดเติบโตมาด้วยความเชื่อว่าตนเองมีบาปกำเนิดและถูกลงโทษจากพระเจ้างานของเขาส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับปัญหาทางศาสนา เช่น ธรรมชาติของศรัทธา ความเป็นสถาบันของคริสต์ศาสนจักร และเรื่องจริยธรรมและเทววิทยาคริสเตียน เคียร์เคอกอร์เชื่อว่า หน้าที่ของปรัชญาหรือหน้าที่ของมนุษย์คือการเผชิญหน้ากับความทุกข์โศกและความสิ้นหวัง ในขณะนั้นเอง มนุษย์จะมีสติปัญญาและเข้าใจว่าชีวิตคืออะไร และเสนอว่าทางออกของมนุษย์คือการเข้าหาพระเจ้า ด้วยเหตุนี้ ปรัชญาของเคียร์เคอกอร์จึงถูกจัดอยู่ในประเภท "อัตถิภาวนิยมคริสเตียน" ผลงานที่สำคัญได้แก่ Fear and Trembling Edifying, Discourses in Diverse Spirits และ Christian Discourses งานเขียนของเขาแม้จะใช้ภาษาวรรณกรรมที่น่าอ่าน แต่ก็ซ่อนความคิดทางปรัชญาที่ลึกซึ้งไว้ให้ผู้อ่านต้องขบคิด คีร์เคกอร์ดได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Father of Existentialism) และเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อความคิดทางปรัชญาในศตวรรษที่ 20 อย่างมาก คีร์เคกอร์ดเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2398
 

5 พฤษภาคม พ.ศ.2361 : วันเกิด คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Heinrich Marx)
 
 
     5 พฤษภาคม พ.ศ.2361 วันเกิด คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Heinrich Marx) นักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์การเมือง และนักปฏิวัติชาวเยอรมัน เกิดในครอบครัวชาวยิวหัวก้าวหน้าในเมืองเทรียร์ (Trier) แคว้นปรัสเซีย (Prussia) เรียนนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งเมืองบอนน์ (University of Bonn) ต่อมาก็ย้ายไปที่มหาวิทยาลัยฟรีดริช-วิลเฮล์ม (Friedrich-Wilhelms-Universitat) ที่กรุงเบอร์ลิน เขาสนใจปรัชญาและวรรณกรรม จึงเข้าร่วมกลุ่ม Young Hegelians ซึ่งเป็นกลุ่มของคนหนุ่มสาวที่สนใจปรัชญาของเฮเกล (Georg Wilhelm Friedrich Hegel) ซึ่งมีอิทธิพลต่อเขามาก หลังจากเรียนจบเขาทำงานเป็นนักข่าว และเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Rheinische Zeitung หนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าแห่งเมืองโคโลญน์ แต่ไม่นานก็ถูกสั่งปิดเพราะมีปัญหากับทางการ เขาหันกลับไปสนใจปรัชญาอีกครั้ง เริ่มทำกิจกรรมทางการเมืองและเป็นนักข่าวอิสระ เขาเริ่มสนใจเศรษฐศาสตร์การเมืองและปัญหาเรื่องชนชั้น เขาเป็นคนที่มีความคิดแบบถอนรากถอนโคน มาร์กซ์เชื่อว่าชนชั้นแรงงานจะต้องรวมตัวกันเพื่อโค่นล้มนายทุนและลัทธิทุนนิยม เพื่อนำมาซึ่งสังคมที่ยุติธรรมและปราศจากชนชั้น ผลงานที่สำคัญคือ ทุน (Das Kapital) และ แถลงการณ์คอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto) ซึ่งมาร์กซ์เขียนร่วมกับเองเกลส์ (Friedrich Engels) เป็นหนังสือที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาของระบอบสังคมนิยม (Socialism) เป็นอย่างมาก แนวคิดของเขาเป็นพื้นฐานของลัทธิมาร์กซิสม์ (Marxism) ซึ่งพัฒนาต่อมาเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ (Communist) และเป็นแรงบันดาลใจให้นักปฏิวัติคนสำคัญๆ อาทิ เลนิน, เหมา เจ๋อ ตง, โฮ จิ มินห์ และฟิเดล คาสโตร และขบวนการปฏิรูปสังคมซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลกในศตวรรษที่ 20 อย่างใหญ่หลวง มาร์กซ์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2426
 

6 พฤษภาคม พ.ศ.2537 : อุโมงค์ Channel Tunnel เปิดใช้งานเป็นทางการ
 
 
     6 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 อุโมงค์ Channel Tunnel (ภาษาฝรั่งเศสคือ le tunnel sous la Manche) เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ โดยมีพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 (Elizabeth II) แห่งอังกฤษ และประธานาธิบดีฝรั่งเศส ฟรองซัวส์ มิตเตอร์รองด์ (Francois Mitterrand) ร่วมกันเป็นประธานในพิธีเปิด อุโมงค์แห่งนี้ขุดลอดใต้ช่องแคบอังกฤษและช่องแคบโดเวอร์ เพื่อเชื่อมระหว่างเมืองเคนท์ ประเทศอังกฤษกับเมืองคอแกลส์ (Coquelles) ประเทศฝรั่งเศส ขุดโดยบริษัท Eurotunnel เป็นอุโมงค์สำหรับรถไฟฟ้ายาว 51.5 กิโลเมตร ช่วงที่ลอดใต้ทะเลยาว 39 กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอุโมงไซกัน (Seikan Tunnel) ของญี่ปุ่น แต่นับเป็นอุโมงค์ที่ลอดใต้ทะเลที่ยาวทีสุดในโลก
 

6 พฤษภาคม พ.ศ.2399 : วันเกิด โรเบิร์ต เพียรี (Robert Edwin Peary)
 
 
      6 พฤษภาคม พ.ศ. 2399 วันเกิด โรเบิร์ต เพียรี (Robert Edwin Peary) นักสำรวจชาวอเมริกัน มนุษย์คนแรกที่เดินทางไปถึงขั้วโลกเหนือ (North Pole) เกิดที่รัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา เข้าเป็นนาวิกโยธินสหรัฐในปี 2424 เขาเคยสำรวจทวีปอาร์คติก (Arctic) บริเวณเกาะกรีนแลนด์ ระหว่างปี 2429-2434 เขาได้เรียนรู้เทคนิคการดำรงชีพอยู่ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นในทวีปน้ำเข็งจากชาวเผ่าอินนุยท์ (Inuit) แล้วเริ่มออกสำรวจขั้วโลกเหนือระหว่างปี 2441-2448 แต่ไม่สำเร็จ วันที่ 1 มีนาคม 2452 เขาได้ออกสำรวจขั้วโลกเหนืออีกครั้งและสามารถไปตั้งแคมป์ที่ขั้วโลกเหนือได้สำเร็จในวันที่ 6 เมษายน 2454 พร้อมกับเพื่อนชาวอเมริกัน Matthew Henson ชาวเอสกิโม 4 คนได้แก่ Ootah, Egigingwah, Seegloo, Ooqueah และสุนัขลากเลื่อนอีก 40 ตัว
 

6 พฤษภาคม พ.ศ.2399 : วันเกิด ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Schlomo Freud)
 
 
      6 พฤษภาคม พ.ศ. 2399 วันเกิด ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Schlomo Freud) แพทย์และนักจิตวิทยาชาวออสเตรีย บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) เกิดในครอบครัวชาวยิวที่เมือง Pribor ส่วนหนึ่งของอาณาจักรออสเตรเลีย-ฮังการีในสมัยนั้น ปัจจุบันคือประเทศเชค เข้าเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งเมืองเวียนนา จบแล้วออกมาเปิดคลินิกรักษาโรคประสาทและสมอง จากนั้นก็เริ่มศึกษาจิตไร้สำนึก แล้วนำเสนอทฤษฎีจิตวิเคราะห์ในปี 2433 ฟรอยด์เขียนบทความและหนังสือหลายเล่ม ในปี 2473 เขาได้รับรางวัลเกอเธ่ (Goethe Prize) สามปีต่อมานาซีเยอรมันเริ่มเรืองอำนาจ หนังสือของฟรอยด์ถูกเผา เริ่มกวาดล้างชาวยิว และบุกยึดออสเตรียในเดือนมีนาคม 2481 ฟรอยด์และครอบครัวจึงต้องอพยพไปอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ฟรอยด์เป็นคนที่สูบซิการ์จัดหมาก เขาจึงเป็นโรคมะเร็งและต้องผ่าตัดกว่า 30 ครั้ง หลังจากอ่านนิยายเรื่อง La Peau de chagrin ของ บัลซัค (Balzac) จบ เขาก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2482 ฟรอยด์เชื่อว่าสาเหตุหลักของพฤติกรรมมนุษย์มาจากแรงขับทางเพศ (Sex drive) และสัญชาติญาณในการอยู่รอดหรือจิตไร้สำนึก (Unconscious) ฟรอยด์จำแนกบุคลิกภาพของบุคคลออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ อิด (Id) คือจิตไร้สำนึก อีโก (Ego) จิตสำนึกหรือเหตุผลและซูเปอร์อีโก (Super Ego) คือ ส่วนที่เป็นมโนธรรมสำนึก นอกจากนี้เขายังแบ่งขั้นตอนพัฒนาการบุคลิกภาพของมนุษย์ออกเป็น 5 ขั้น คือขั้นปาก (oral stage) ขั้นทวารหนัก (anal stage) ขั้นอวัยวะเพศ (phallic or oedipal stage) ขั้นแฝง (latency stage) และขั้นสนใจเพศตรงข้าม (genital stage) ทฤษฎีของเขาแม้จะไม่ได้รับการยอมรับในระยะแรก แต่ต่อมาเริ่มมีการศึกษาและนำมาประยุกต์ใช้และอธิบายทฤษฎีทางสังคมได้ ความคิดและผลงานของฟรอยด์มีอิทธิพลอย่างมาก ทั้งต่องานวรรณกรรม โดยเฉพาะ ฟรานซ์ คาฟกา (Franz Kafka) ภาพยนตร์ ลัทธิมาร์กซิสต์และเฟมินิสต์ วรรณคดีวิเคราะห์ ปรัชญาและจิตวิทยา นับว่าเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดมากที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20
 

8 พฤษภาคม พ.ศ.2488 : สงครามโลกครั้งที่ 2 ในทวีปยุโรปยุติลงอย่างเป็นทางการ
 
 
     8 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 ในทวีปยุโรปยุติลงอย่างเป็นทางการ (Victory in Europe Day : V-E Day or VE Day) หลังจากประเทศเยอรมนีประกาศยอมแพ้ แต่สงครามในเอเชียยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งญี่ปุ่นยอมจำนนในวันที่ 25 สิงหาคมปีเดียวกัน สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ชื่อว่าเป็นสงครามที่สร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก คาดว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมดประมาณ 57 ล้านคน สาเหตุเกิดจากการที่เยรอมนีต้องลงนามใน สนธิสัญญาแวซายส์ (The Treaty of Versailles) หลังจากพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำเป็นอย่างมาก ฮิตเลอร์จึงละเมิดสนธิสัญญาแล้วบุกโปแลนด์ในวันที่ 1 กันยายน 2482 ส่วนในเอเชีย เริ่มจากญี่ปุ่นรุกรานจีนในวันที่ 7 กรกฎาคม 2480 เป็นจุดเริ่มต้นของ สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 (Second Sino-Japanese War) ก่อนจะร่วมมือกับเยอรมันกลายเป็นฝ่ายอักษะ (Axis powers) สู้กับฝ่ายสัมพันธมิตร (Allied powers)
 

8 พฤษภาคม พ.ศ.2457 : บริษัท พาราเมาท์ พิกเจอร์ส ถูกก่อตั้งขึ้น
 
 
     8 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 บริษัท พาราเมาท์ พิกเจอร์ส (Paramount Pictures) บริษัทผลิตภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของอเมริกา ก่อตั้งขึ้นที่ ฮอลลีวูด ซานฟราสซิสโก ผู้ร่วมก่อตั้งได้แก่ อดอล์พ ซูเคอร์ (Adolph Zukor), ดาเนียล ฟรอฮ์แมน (Daniel Frohman) และ ชาร์ลส์ ฟรอฮ์แมน (Chales Frohman) ปัจจุบันยังคงผลิตภาพยนตร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง
 

8 พฤษภาคม พ.ศ.2371 : วันเกิด อองรี ดูนังต์ นักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวสวิส
 
 
      8 พฤษภาคม พ.ศ. 2371 วันเกิด อองรี ดูนังต์ (Jean Henri Dunant) นักธุรกิจและนักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวสวิส ผู้ริเริ่มก่อตั้ง สภาการกาชาดสากล (International Committee of the Red Cross : ICRC) เกิดที่เมืองเจนีวา ในครอบครัวนักธุรกิจที่เคร่งศาสนาและรักการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ดูนังต์จึงอุทิศตนเพื่อสังคมมาตั้งแต่เด็ก ในระหว่างทำงานธนาคาร เขาถูกส่งไปดูงานต่างประเทศและได้ผ่านไปที่สมรภูมิซอลเฟริโน (Battle of Solferino) ประเทศอิตาลี เขาเห็นทหารบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก เขาจึงกลับไปเขียนบทความพยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อดูแลทหารและผู้ที่ได้รับบาทเจ็บในสงคราม ภายหลังจากดูนังต์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2453 ก็ ได้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อบรรเทาทุกข์ทหารบาดเจ็บ (International Committee for the Relief of Wounded Combatants) เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2406 ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นสภากาชาดสากล (International Commitee of the Red Cross) และเจริญเป็นปึกแผ่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ สัญลักษณ์ของกาชาดคือเครื่องหมายกากบาทแดง ซึ่งเป็นการให้เกียรติ์ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นต้นกำเนิดกาชาด ต่อมาได้ถือเอาวันที่ 8 พฤษภาคมของทุกปีซึ่งตรงกับวันเกิดของอังรี ดูนังต์ เป็น วันที่ระลึกกาชาดสากล
 

8 พฤษภาคม พ.ศ.2427 : วันเกิด แฮร์รี เอส. ทรูแมน
 
 
     8 พฤษภาคม พ.ศ. 2427 วันเกิด แฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) ประธานาธิบดีคนที่ 33 ของสหรัฐอเมริกา เกิดที่เมืองลาร์มาร์ (Lamar) รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา เริ่มสนใจดนตรี ประวัติศาสตร์และรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก เรียนจบกฏหมายที่ Kansas City Law School เข้าเป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากนั้นได้เป็นผู้พิพากษาที่เมืองแจ็คสัน เคาน์ตี (Jackson County) ปี 2477 ลงสมัครสมาชิกสภาสูงของสหรัฐอเมริกา การงานก้าวหน้าขึ้นจนได้เป็นรองประธานาธิบดีของ แฟรงคลิน รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) หลังจากที่รูสเวลต์เสียชีวิตทรูแมนก็ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อมา ในช่วงที่กำลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาเป็นผู้สั่งให้ใช้ระเบิดนิวเคลียร์กับญี่ปุ่น กระทั่งชนะสงครามในที่สุด หลังสงรามเขาได้เสนอแผนช่วยเหลือมาร์แชลล์ (Marshall Plan) เพื่อช่วยฟื้นฟูยุโรป และบัญญัติ "หลักของทรูแมน” (Truman Doctrine) ให้สหรัฐฯ ยึดเป็นนโยบายในากรป้องกันการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ เขาเป็นผู้ส่งทหารอเมริกันไปช่วยรบในสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนามด้วย เขาสนับสนุนให้มีการก่อตั้งองค์การนาโต (NATO) ทรูแมนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2515
 

8 พฤษภาคม พ.ศ.2429 : เครื่องดื่ม Coca-Cola สูตรต้นตำรับถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก
 
 
     8 พฤษภาคม พ.ศ. 2429 เครื่องดื่ม Coca-Cola หรือ Coke สูตรต้นตำรับถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา โดยเภสัชกรชื่อ จอห์น ไสตท์ เพมเบอร์ตัน (Dr. John Styth Pemberton) ได้ทดลองชงน้ำหวานชนิดนี้ที่สวนหลังบ้าน โดยผสมในกาน้ำทองเหลืองขนาด 30 แกลลอน แล้วใส่เหยือกไปวางขายที่ร้านขายยาชื่อ Jacob’s Pharmacy ในวันนี้ โดยโฆษณาว่าเป็นยาบำรุงสมองและประสาท แก้ปวดหัวและอาการเมาค้าง ในครั้งนั้นยังไม่มีส่วนผสมของโซดา ปรากฏว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ต่อมาพนักงานบัญชีของจอห์นก็ตั้งชื่อว่า Coca-Cola เพราะใช้ส่วนผสมหลักมาจากใบของต้นโคคาและลูกโคล่า (Kola nut) ต่อมาได้มีการผสมโซดาลงไปด้วย เรียกว่า น้ำอัดลม (carbonated soft drink) และเติมกาเฟอีนเป็นสารกระตุ้นให้เกิดความสดชื่นและกระปรี้กระเปร่า ส่วนใบโคคาก็เลิกใช้แล้ว เนื่องจากเป็นแหล่งวัตถุดิบของยาเสพติดประเภทโคเคน ปัจจุบัน Coca-Cola เป็นเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในเครื่องหมายการค้าที่มีคนจดจำได้มากที่สุด
 

9 พฤษภาคม พ.ศ.2537 : เนลสัน แมนเดลา ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีประเทศแอฟริกาใต้
 
 
     9 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) เป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของประเทศแอฟริกาใต้ ที่ได้รับการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตย เขาเป็นที่รู้จักในฐานะนักต่อต้านนโยบายแยกคนต่างผิวออกจากกัน ที่เริ่มจากเคลื่อนไหวโดยใช้สันติวิธีตามแนวทางของมหาตมะ คานธี ต่อมาเขาเป็นผู้นำกองกำลังติดอาวุธ กระทั่งถูกจับ และติดคุกเป็นเวลา 27 ปี ที่เกาะร็อบเบ็น (Robben Island) ได้รับการปล่อยตัวในปี 2537 นโยบายประสานไมตรีของเขาได้นำมาใช้ทำให้แอฟริกาใต้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งประชาธิปไตย ซึ่งนับเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ ปัจจุบันได้มีคนยกย่องเขาในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี 2536
 

9 พฤษภาคม พ.ศ.2513 : ชาวอเมริกันชุมนุมคัดค้านสงครามเวียดนาม
 
 
     9 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ชาวอเมริกัน จำนวน 75,000 - 100,000 คน ร่วมชุมนุมคัดค้านสงครามเวียดนาม (Vietnam Wars) บริเวณหลังทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี หลังจากกองทัพประเทศอเมริกาในสมัยรัฐบาล ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Milhous Nixon) ได้ร่วมสนับสนุนประเทศเวียดนามใต้ในการทำสงครามกับเวียดนามเหนือ ซึ่งมีประเทศจีนและสหภาพโซเวียตหนุนหลัง การประท้วงสงครามเวียดนามในอเมริกาครั้งนี้ได้ส่งผลให้เกิดกระแสประท้วงสงครามเวียดนามออกไปทั่วโลกก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะถอนกำลังออกไปในปี 2516 และสงครามเวียดนามได้ยุติลงอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2518 หลังจากที่ทหารเวียดนามเหนือเข้ายึดเมืองไซ่ง่อนได้สำเร็จ ในสงครามครั้งนั้นทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิตจำนวน 58,226 นาย และบาทเจ็บอีกจำนวน 153,303 นาย ส่วนทหารฝ่ายเวียดนามคาดว่าเสียชีวิตกว่าล้านคนและบาทเจ็บอีกจำนวนมากคาดว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในสงครามครั้งนี้ประมาณ 900,000 – 4,000,000 คน
 

9 พฤษภาคม พ.ศ.2472 : รัชกาลที่ 7 เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ปัตตานี
 
 
     9 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมกับ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระราชินีนาถ เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นบริเวณที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด กินเวลามืดนาน 6 นาที สุริยุปราคาคราวนั้น เซอร์ เอฟ. ดับเบิลยู. ไดสัน (Sir F. W. Dyson) นายกกรรมการร่วมประจำในเรื่องสุริยุปราคาของสมาคมนักดาราศาสตร์แห่งประเทศอังกฤษ ได้มีหนังสือแจ้งรัฐบาลไทย โดยและได้คำนวณและพยากรณ์ไว้ว่าในวันที่ 9 พฤษภาคม 2472 จะเกิดสุริยุปราคาเป็นบูรณคราสเห็นได้ในบางตำบลในมณฑลปัตตานี ซึ่งจะเกิดเกิดผ่านมหาสมุทรอินเดีย เกาะสุมาตรา ภาคใต้ของไทย และประเทศฟิลิปปินส์ เหตุการณ์ลักษณะนี้คาดว่าประมาณ 400 ปี จึงจะเกิดขึ้นในตำแหน่งเดิมอีกครั้งหนึ่ง รัชกาลที่ 7 กับพระราชินีจึงได้เสด็จมาทอดพระเนตร พร้อมกับทีมนักดาราศาสตร์จากประเทศอังกฤษ ในครั้งนั้นได้มีข้าราชการผู้ใหญ่และประชาชนมาถวายการต้อนรับ และชมสุริยุปราคากันจำนวนมาก นับเป็นสุริยุปราคาครั้งที่สองในกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนหน้านี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4
 

10 พฤษภาคม พ.ศ.2527 : สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จเยือนประเทศไทยครั้งแรก
 
 
     10 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 (Pope John Paul II) ประมุขแห่งวาติกัน เสด็จเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม ในระหว่างการเยือนไทยนี้สมเด็จพระสันตะปาปาได้มีพระราชปฏิสันฐานกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นได้เสด็จไปเยี่ยมค่ายผู้อพยพที่พนัสนิคม และทรงรณรงค์เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพเหล่านั้น อีกทั้งยังทรงบริจาคเงินสดช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอินโดจีนเป็นจำนวน 1 ล้านบาทอีกด้วย หลังจากเยือนประเทศไทยพระองค์ยังได้เสด็จเยือนสาธารณรัฐเกาหลี ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะโซโลมอน
 

10 พฤษภาคม พ.ศ.2046 : คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ค้นพบ หมู่เกาะเคย์แมน
 
 
     10 พฤษภาคม พ.ศ. 2046 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) นักสำรวจชาวสเปนพร้อมลูกเรือ เป็นชาวยุโรปคณะแรกที่ค้นพบ หมู่เกาะเคย์แมน (Cayman Islands) ในระหว่างการเดินทางค้นหาดินแดนโลกใหม่ (New world) ตอนนั้นโคลัมบัสตั้งชื่อเกาะแห่งนี้ว่า Las Tortugas เนื่องจากพบเต่าทะเลจำนวนมาก ภายหลัง เซอร์ ฟรานซิส เดรก (Sir Francis Drake) นักสำรวจชาวอังกฤษได้ขึ้นบกและยึดเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี 2129 พร้อมกับตั้งชื่อว่าเคย์แมน หมู่เกาะเคย์แมนอยู่ในทะเลแคริบเบียน ระหว่างประเทศจาไมก้าและคิวบา ถือเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ (Offshore Financial Center) หรือ Tax Havens เนื่องจากเป็นดินแดนที่มีระบบกฎหมายภายใน หรือระบบกฎหมายภาษีพิเศษเป็นของตนเองที่เรียกว่า No-tax Jurisdiction คือเป็นดินแดนที่ปราศจากภาษี ซึ่งเอื้อต่อการโยกย้าย หรือเก็บกักเงินทุนของกลุ่มทุนข้ามชาติ เพื่อประโยชน์ในการหลีกเลี่ยงภาระภาษีระหว่างประเทศ ถือเป็นแหล่งสำคัญในการฟอกเงินของนักการเมืองทั่วโลก และกลุ่มธุรกิจทุนข้ามชาติจำนวนมากก็มาตั้งบริษัทที่นี่ มีธนาคารจากทั่วโลกมาตั้งอยู่ที่นี่กว่า 500 แห่ง บริษัทอีกกว่า 2 หมื่นบริษัท และบริษัทประกันภัยอีกกว่า 300 แห่ง
 

11 พฤษภาคม พ.ศ.2345 : วันเกิด แฝดสยาม อิน-จัน
 
 
     วันเกิด แฝดสยาม อิน-จัน (Eng-Chang Bunker) ฝาแฝดที่มีหน้าอกติดกันและใช้ตับร่วมกัน คู่แรกของโลกที่สามารถดำรงชีพเหมือนคนธรรมดาได้ตลอดชีวิต เกิดที่ ต. แม่กลอง อ. เมืองสมุทรสงคราม ในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่ออายุได้ 8 ขวบ มีพ่อค้านักเดินเรือชาวอเมริกันคือ กัปตันคอฟฟิน (Captain Coffin) และ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) มาพบเข้า จึงขอตัวไปเลี้ยงดูและมอบเงินให้มารดาจำนวนหนึ่ง อิน-จันถูกนำออกแสดงในคณะละครสัตว์จนมีชื่อเสียงไปทั่วอเมริกาและยุโรป ภายหลังทั้งคู่แยกตัวออกมาและเปิดแสดงเองจนร่ำรวย ต่อมาอินได้แต่งงานกับซาราห์ เยตส์ (Sarah Anne Yates) ส่วนจันแต่งกับอะเดเลด เยตส์ (Adelaide Yates) น้องสาวของซาราห์ ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่รัฐนอร์ธ แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา มีบุตรรวมกัน 21 คน อิน-จันได้สัญชาติอเมริกันเมื่อปี 2382 และใช้นามสกุลว่า บังเกอร์ (Bunker) มีลูกหลานสืบตระกูลมาจนถึงทุกวันนี้ ชื่อเสียงของอิน-จัน ทำให้เกิดคำเรียกแฝดตัวติดกันว่า แฝดสยาม (Siamese twins) ตามชื่อเรียกประเทศไทยในเวลานั้น ทั้งคู่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2417 ภายหลังได้มีการสร้างอนุสรณ์สถานแฝดสยามอิน-จัน ที่ ต. ลาดใหญ่ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่ฝาแฝดสยามอิน-จันที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยไปทั่วโลก
 

11 พฤษภาคม พ.ศ.2524 : บ็อบ มาร์เลย์ ราชาเพลงเร็กเก ถึงแก่กรรม
 
 
     บ็อบ มาร์เลย์ (Robert Nesta "Bob” Marley) ราชาเพลงเร็กเก (reggae) ชาวจาไมกาเสียชีวิตที่ไมอามี สหรัฐอเมริกา ในวัยเพียง 36 ปี มาร์เลย์เกิดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2488 ที่เมืองเซนต์ แอนน์ ปาริช (Saint Ann Parish) ประเทศจาไมกา พ่อเป็นคนผิวขาวเสียชีวิตตอนเขาอายุ 10 ขวบ เขาจึงอยู่กับแม่ซึ่งเป็นคนผิวดำมาตั้งแต่เด็ก มาร์เลย์ได้รับความกดดันจากสังคมมาตั้งแต่เด็กเนื่องจากเป็นลูกผสม หลังจากพ่อตายเขากับแม่ย้ายไปอยู่ในย่ายสลัมของเมืองเทร็นช์ทาวน์ (Trenchtown) และเริ่มหัดเล่นดนตรีกับเพื่อนบ้านมาตั้งแต่นั้น เขาออกจากโรงเรียนตอนอายุ 14 ปีมาทำงานที่ร้านขายลวดเชื่อมโลหะ และใช้เวลาว่างซ้อมดนตรี ก่อนจะได้อัดแผ่นเสียงสองเพลงแรกในปี 2506 คือ Judge Not และ One Cup of Coffee ปีต่อมาเขาก็ร่วมกับเพื่อน ๆ ตั้งวงดนตรีแนวสกา (Ska) และร็อคสเตรดี (Rocksteady) ชื่อว่า The Teenagers ต่อมาเปลี่ยนเป็น The Wailers โดยมาร์เลย์รับหน้าที่ร้องนำและเขียนเพลง จนวงของเขาโด่งดังไปทั่วจาไมกา ในปี 2518 วงของเขาได้ไปแสดงคอนเสิร์ตที่อเมริกา จากนั้นเขาก็ทำให้ดนตรีเร็กเกซึ่งพัฒนามาจากดนตรีพื้นเมืองของจาไมกาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกพร้อมๆ กับลัทธิ ราสตาฟารี (Rastafari) ภายหลังเขาแยกตัวออกมาเป็นศิลปินเดี่ยวออกทัวร์คอนเสิร์ตไปทั่วโลก ในช่วงนั้นยังมีความขัดแย้งเรื่องสีผิวอยู่สูง มาร์เลย์จึงใช้บทเพลงเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน เรียกหาความเท่าเทียมกันทางสังคม ต่อต้านสงครามและการกดขี่ เนื้อเพลงของเขามักสะท้อนมุมมองทางสังคมการเมืองและชีวิตที่เฉียบแหลมและลึกซึ้ง ในช่วงปี 2503 ดนตรีเร็กเกและทรงผมเดร็ดล็อคส์ (dredlocks) ก็เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่คนขาว เพลงฮิตของเขาได้แก่ No Woman No Cry, One Love, I Shot the Sheriff, Get Up, Stand Up, Jamming, One Love, Exodus เขาได้รับรางวัล Peace Medal of the Third World จากองค์การสหประชาชาติในปี 2521 บ็อบ มาร์เลย์เป็นนักต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลคนหนึ่งของโลก
 

11 พฤษภาคม พ.ศ.2470 : วันก่อตั้ง สถาบันศิลป์และศาสตร์แห่งภาพยนตร์
 
 
      วันก่อตั้งสถาบันศิลป์และศาสตร์แห่งภาพยนตร์ (Academy of Motion Picture Arts and Sciences : AMPAS) ซึ่งเป็นสถาบันทางภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งโดย เซดริก กิบบอนส์ (Cedric Gibbons) ผู้กำกับศิลป์อาวุโสของบริษัทเอ็มจีเอ็ม (MGM) ต่อมาสถาบันแห่งนี้ได้มีการมอบรางวัลสำหรับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสาขาต่างๆ เป็นประจำทุกปี รู้จักกันในชื่อ อะคาเดมี อวอร์ดส์ (Academy Awards) หรือ ออสการ์ (Oscar) มอบรางวัลครั้งแรกในปี 2472 สำหรับหนังที่ฉายในปี 2470-2471 ภาพยนตร์รางวัลออสการ์ยอดเยี่ยมเรื่องแรกคือ Wings ปัจจุบันได้มีการมอบรางวัลใน 16 สาขาได้แก่ Actors Art Directors Cinematographers Directors Documentary Executives Film Editors Makeup Music Producers Public Relations Short Films and Feature Animation Sound Visual Effects Writers และในปี 2516 ได้มีการเพิ่มรางวัลออสการ์สำหรับนักเรียนนักศึกษา (Student Academy Awards) อีกด้วย รางวัลออสการ์ประกาศทุกปีที่ฮอลลีวูดซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดให้รับชมกันทั่วโลก นับเป็นรางวัลที่มีอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์มากที่สุดรางวัลหนึ่ง
 

11 พฤษภาคม พ.ศ.2461 : วันเกิด ริชาร์ด ไฟน์แมน นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน
 
 
      วันเกิด ริชาร์ด ไฟน์แมน (Richard Phillips Feynman) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน เกิดในครอบครัวชาวยิวที่เมืองนิวยอร์ก เริ่มฉายแววอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็กๆ เข้าเรียนฟิสิกส์ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเส็ตต์ส (Massachusetts Institute of Technology : MIT) เขาเริ่มสนใจ ฟิสิกส์ทฤษฎี (theoretical physics) และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ผลงานที่สร้างชื่อให้เขาคือ ทฤษฎีควอนตัม อิเล็กทรอไดนามิกส์ (quantum electrodynamics) ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ในปี 2508 ร่วมกับ จูเลียน สวิงเกอร์ (Julian Schwinger) และ สินอิทิโร โทมานากา (Sin-Itiro Tomonaga) ไฟน์แมนได้ทำให้เรียนการสอนฟิสิกส์สามารถเข้าใจง่ายขึ้นโดยการเขียนหนังสือ Feynman Lectures on Physics ซึ่งได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้สอนวิชาฟิสิกส์จำนวนมาก เขาเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของโลกในโครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) เป็นหนึ่งในผู้ตรวจสอบการระเบิดของกระสวยอวกาศแชลแลนเจอร์ (Challenger disaster) และเป็นผู้ริเริ่มเสนอแนวคิดของ นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) นอกจากความสามารถด้านวิทยาศาสตร์แล้วเขายังชอบเขียนภาพและเล่นบ็องโกด้วย ไฟน์แมนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2531 ไฟน์แมนได้รับการยกย่องให้เป็นนักฟิสิกส์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในศตวรรษที่ 20
 

11 พฤษภาคม พ.ศ.2414 : จอห์น เฮอร์เชล นักคณิตศาสตร์ นักเคมี ถึงแก่กรรม
 
 
      จอห์น เฮอร์เชล (Sir John Frederick Herschel) นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์และนักเคมีชาวอังกฤษ ถึงแก่กรรม เฮอร์เชลเกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2334 ที่เมืองบัคกิงแฮมไชร์ ประเทศอังกฤษ เป็นลูกชายของ วิลเลียม เฮอร์เชล (Sir William Herschel : นักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบดาวยูเรนัส) เรียนคณิตศาสตร์ที่วิทยาลัยเซนต์จอห์น มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จบมาทำงานวิชาการด้านดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ ในสมัยนั้นการบันทึกข้อมูลต้องเขียนด้วยลายมือ หากต้องการสำเนาก็ต้องคัดลอกซ้ำให้เหมือนเดิม ทำให้สิ้นเปลืองเวลามาก เฮอร์เชลจึงพยายามคิดวิธีการทำสำเนาขึ้น ในที่สุดก็ค้นพบ กระบวนการไซยาโนไทป์ (Cyanotype) ซึ่งเป็นต้นแบบของกระบวน พิมพ์เขียว (Blue Print) หรือ กระดาษคาร์บอน ที่ใช้ในการพิมพ์ดีดปัจจุบัน นอกจากนั้นเขายังคิดค้นกระบวนการถ่ายภาพ คิดค้น น้ำยาคงสภาพภาพ (photographic fixer) โดยใช้สาร hyposulphite of soda หรือ hypo นอกจากนั้นยังเป็นผู้บัญญัติคำศัพท์ในวงการถ่ายภาพ คือคำว่า "photograph" "negative" และ "positive" นับว่าเขาเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาศาสตร์ของการถ่ายภาพ
 

12 พฤษภาคม พ.ศ.2363 : วันเกิด ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้บุกเบิกการพยาบาลสมัยใหม่
 
 
       วันเกิด ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) สตรีชาวอังกฤษผู้บุกเบิกด้านการพยาบาลสมัยใหม่ เกิดในครอบครัวเศรษฐีชาวอังกฤษที่กรุงฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ด้วยความศรัทธาต่อพระเจ้า ซึ่งเธอกล่าวว่าได้ยินเสียงจากพระองค์ให้เธอช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ในปี 2380 ซึ่งสมัยนั้นสังคมยังกำหนดบทบาทให้ผู้หญิงเป็นเพียงแม่บ้านและภรรยาเท่านั้น เธอปฏิเสธความเชื่อดังกล่าว เริ่มออกช่วยรักษาคนป่วยที่ยากจน ในปี 2389 เธอเดินทางไปศึกษาพยาบาลที่เมืองไคเซอร์เวิร์ธ (Kaiserswerth) ประเทศเยอรมนี และเริ่มอาชีพพยาบาลตั้งแต่ปี 2394 ในช่วงสงครามไครเมีย (Crimean War) ประเทศตุรกี ระหว่างรัสเซียกับฝรั่งเศสและอังกฤษ หลังจากพบว่ามีทหารล้มตายและบาทเจ็บจำนวนมาก โดยไม่มีหน่วยงานเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง เธอจึงรวมตัวกับเพื่อน 38 คนเป็นพยาบาลอาสาตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวในสนามรบโดยใช้มาตรฐานอย่างเข้มงวดทั้งการรักษาสุขภาพอนามัยและอาหาร เธอดูแลคนป่วยอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยแม้ในยามมืดค่ำ เธอยังคงรักษาคนไข้ใต้แสงตะเกียง จนได้รับการยกย่องว่า "สตรีผู้ถือตะเกียง" (The Lady with the Lamp) หลังสงครามเธอกลับอังกฤษในฐานะวีรสตรี และได้รับอิสริยาภรณ์เชิดชูคุณความดีของอังกฤษ (British Order of Merit) เป็นคนแรก อีกทั้งในช่วงสงครามเธอยังได้ทำการบันทึกสถิติทหารที่บาทเจ็บ ซึ่งกลายเป็นแบบอย่างในการบันทึกสถิติทางการแพทย์ในปัจจุบัน ภายหลังเธอได้ตั้งองค์กรเพื่อสอนวิชาพยาบาลในประเทศตุรกีและก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลอีกหลายแห่ง นอกจากนั้นเธอยังจัดหน่วยรักษาพยาบาลไปรักษาที่ต่างประเทศ เช่น สงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา และทำกิจกรรมสาธารณกุศลจนวาระสุดท้ายของชีวิตเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2453
 

13 พฤษภาคม พ.ศ.2524 : สมเด็จพระสันตปาปา จอห์น ปอลที่ 2 ถูกลอบสังหาร
 
 
      13 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 สมเด็จพระสันตปาปาจอห์น ปอลที่ 2 (Pope John Paul II) ประมุขแห่งคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ถูกลอบสังหารโดย มาห์เหม็ด อาลี อักกา (Mehmet Ali Agca) มือปืนชาวมุสลิมเชื้อสายตุรกี ที่บริเวณจตุรัสเซนต์ปีเตอร์ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ท่ามกลางศาสนิกชนกว่า 20,000 คน สมเด็จพระสันตปาปาได้รับการนำส่งโรงพยาบาลและรับการผ่าตัดโดยด่วน แล้วแพทย์ก็สามารถรักษาพระชนม์ชีพไว้ได้ ส่วนมือปืนถูกจับและตัดสินจำคุกตลอดชีวิต สาเหตุยังไม่แน่ชัด แต่แพทย์ได้ระบุว่ามาห์เหม็ดขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง ในระหว่างอยู่ในคุก สมเด็จพระสันตปาปาได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมมือปืน พร้อมทั้งให้อภัยมือปืนผู้นี้
 

13 พฤษภาคม พ.ศ.2501 : จอร์จ เดอ เมสทรัล วิศวกรสวิส จดสิทธิบัตรเวลโคร
 
 
         13 พฤษภาคม พ.ศ. 2501 จอร์จ เดอ เมสทรัล (Georges de Mestral) วิศวกรชาวสวิส จดสิทธิบัตร เวลโคร (VELCRO) หรือ ตีนตุ๊กแก ซึ่งแถบพลาสติกสำหรับใช้ยึดเกาะ วันหนึ่งในปี 2491 ขณะที่จอร์จเดินเล่นในป่าละเมาะหลังบ้าน เขาสังเกตเห็นว่ามีดอกหญ้าเจ้าชู้ (Burdock) เกาะอยู่ตามถุงเท้าและตามขนสุนัขของเขา เขาจึงสงสัยว่าเหตุใดหญ้าเหล่านี้ถึงติดได้แน่น เมื่อลองส่องกล้องจุลทรรศ์ดูก็พบว่าที่ปลายดอกหญ้าเหล่านั้นมีตะขอเล็กจิ๊วคล้องอยู่กับขนสัตว์ ต่อมาเขาก็คิดวิธีการผลิตตะขอและห่วงไนลอนติดแถบผ้าได้ และเรียกชื่อสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ว่า “เวลโคร” ซึ่งมาจากคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศสคือ velours แปลว่าตะขอ และ crochet แปละว่าห่วง แถบเวลโครนี้มีความทนทาน สามารถติดและแกะออกได้กว่าพันครั้ง แม้จะใช้แกะหลุดได้ง่ายแต่มันสามารถทนแรงบิดหรือแรงดึงจากข้างๆ ได้สูงมาก โดยแถบเวลโครขนาด 5 ตารางนิ้วสามารถรับแรงดึงได้ถึง 1 ตัน แถบเวลโครนี้ได้มีประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมเสื้อผ้า วิทยาศาสตร์และวงการแพทย์ แม้ว่าสิทธิบัตรชิ้นนี้จะหมดอายุไปแล้วตั้งแต่ปี 2521 แต่ก็ยังมีผู้ผลิตขึ้นมาเลียนแบบมากมาย และใช้ชื่อว่าเวลโครเหมือนเดิม
 

14 พฤษภาคม พ.ศ.2516 : องค์การนาซาส่งสถานีอวกาศสกายแล็บขึ้นสู่ชั้นอวกาศ
 
 
         14 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 องค์การนาซา (NASA) ส่ง สถานีอวกาศสกายแล็บ (Skylab space station) ขึ้นสู่ชั้นอวกาศโดยจวรดแซทเทิร์น 5 (Saturn V) สกายแล็บนับเป็นสถานีอวกาศขนาดใหญ่แห่งแรกของสหรัฐอเมริกา ที่มนุษย์อวกาศสามารถเดินทางไปปฏิบัติการได้ ตอนส่งสกายแล็บขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้เกิดแรงสั่นสะเทือนมาก ทำให้ชิ้นส่วนหลายชิ้นหลุดออกจากตัวยาน อีก 11 วันต่อมานักบินอวกาศชุดแรกก็ได้เดินทางมาถึงและซ่อมแซมส่วนต่างๆ จนสำเร็จ โดยใช้เวลาทั้งหมด 28 วัน สถานีอวกาศสกายแล็บมีจุดประสงค์หลักเพื่อทดลองการใช้ชีวิตในระยะยาวของมนุษย์ท่ามกลางสภาวะไร้แรงดึงดูดในอวกาศและใช้เป็นสถานีศึกษาด้านอวกาศและดาราศาสตร์ สถานีอวกาศสกายแล็บมีน้ำหนัก 75 ตัน ภายในประกอบด้วยห้องทดลองสภาวะไร้แรงดึงดูด (Weightlessness) และกล้องโทรทรรศน์สำรวจอวกาศ มีมนุษย์อวกาศขึ้นมาปฏิบัติการ 3 ครั้ง อยู่ในชั้นบรรยากาศทั้งหมด 2,249 วัน โคจรรอบโลกทั้งหมด 34,981 รอบ หมดอายุในปี 2522 และตกลงสู่พื้นโลกบริเวณมหาสมุทรอินเดียและแถบตะวันตกของประเทศออสเตรเลียเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2522
 

14 พฤษภาคม พ.ศ.2491 : ประเทศอิสราเอลประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ
 
 
        14 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ประเทศอิสราเอล (State of Israel) ประกาศอิสรภาพจากเครือจักรภพอังกฤษ โดยชาวยิวจากทั่วโลกได้สถาปนาประเทศใหม่สำหรับชาวยิวขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ เพื่อรวบรวมชาวยิวที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกมาอยู่รวมกันในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขาเชื่อว่าพระเจ้าประทานให้ตามประวัติศาสตร์นั้นก่อนการประสูตรของพระเยซูชาวยิว ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า ชาวฮิบรู (Hebrew) เป็นชนผิวขาวเผ่าเซมิติก (Semitic) ใช้ชีวิตร่อนเร่เลี้ยงสัตว์ปลูกพืชอยู่ในดินแดนอาระเบีย (Arabia) เมื่อเกิดความแห้งแล้งจึงได้อพยพกระจัดกระจายสู่ดินแดนปาเลสไตน์ (Palestine) และประเทศอียิปต์ ต่อมาถึงยุคของโมเสส (Moses) ได้เห็นว่าชาวฮิบบรูถูกกดขี่และใช้แรงงานอย่างทารุณในการก่อสร้างปิรามิดจึงนำชาวฮิบบรูอพยพมาสู่ดินแดนปาเลสสไตน์ ซึ่งชาวฮิบรูเชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งพันธสัญญา ที่พระเจ้าทรงประทานให้ ต่อมากษัตริย์เดวิด (King David) ได้ทำสงครามจนสถาปนาอาณาจักรฮิบรูได้เป็นครั้งแรกเมื่อกว่า 1,000 ปี ก่อนคริสตกาล จากนั้น กษัตริย์โซโลมอน (King Solomon) บุตรของกษัตริย์เดวิดได้ปกครองอาณาจักรฮิบรูจนรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากสิ้นพระองค์ อาณาจักร์นี้ก็แตกในช่วงประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล ชาวเปอร์เซีย กรีก โรมัน อาหรับ ตุรกี และชาวยุโรปก็ทยอยเข้ามาปกครองดินแดนแห่งนี้ ขณะเดียวกันชาวยิวที่กระจัดกระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของโลกก็ได้ รวมตัวภายใต้ขบวนการ ไซออนนิสม์ (Zionism) พยายามเรียกร้องดินแดนปาเลสไตน์คืนได้สำเร็จในที่สุด จากนั้นได้มีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นบริหารประเทศ โดยมี เดวิด เบน-กูเรียน (David Ben-Gurion) เป็นประธานาธิบดีคนแรก สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้ให้การรับรองรัฐบาลชุดนี้ในทันที เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศพร้อมๆ กับที่สันนิบาตอาหรับก็ได้ประกาศสงครามกับประเทศเกิดใหม่แห่งนี้อย่างไม่รอช้า การก่อตั้งประเทศอิสราเอลได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งและกลายเป็นสงครามอาหรับ-อิสราเอลอยู่หลายครั้ง ปัจจุบันอิสราเอลปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาถือเป็นรัฐยิว มีประชากรประมาณ 7.1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวยิว และมีชนกลุ่มน้อยเป็นชาวอาหรับทั้งที่นับถือศาสนาอิสลามและคริสตศาสนา มีพื้นที่ทั้งหมด 22,145 ตารางกิโลเมตร เมืองหลวงคือกรุงเยรูซาเล็ม
 

15 พฤษภาคม พ.ศ.2533 : โครงการก่อสร้างเขื่อนปากมูลได้รับการอนุมัติงบประมาณ
 
 
     15 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 รัฐบาล พ.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ อนุมัติงบประมาณโครงการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ที่ อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดย สำนักงานพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เริ่มศึกษาตั้งแต่ปี 2510 จากนั้นในปี 2522 กฟผ. รับโอนโครงการนี้มาดำเนินการต่อ ได้ศึกษาและสำรวจเพิ่มเติม สำเร็จในปี 2528 พบว่าประโยชน์ที่ได้คุ้มค้าแม้จะต้องโยกย้ายราษฎร 284 ครัวเรือน กฟผ. เริ่มก่อสร้างในปี 2534 และเสร็จสิ้นในปี 2537 วงเงินเริ่มต้นที่ขอกู้ยืมจากธนาคารโลก 3,880 ล้านบาท แต่ภายหลังเพิ่มเป็น 6,600 ล้านบาท (โดยยังไม่รวมต้นทุนผลกระทบทางสังคมอีกมหาศาล) ข้อมูลของ กฟผ. บอกว่า เขื่อนปากมูลมีลักษณะเป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สร้างกั้นแม่น้ำมูลที่ อ. โขงเจียม สันเขื่อนสูง 17 ม. ยาว 300 ม. กว้าง 6 ม. มีช่องทางระบายน้ำ 8 ช่อง ระบายน้ำ สูงสุด 18,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีเครื่องผลิตไฟฟ้า 4 เครื่อง รวมกำลังผลิต 136,000 กิโลวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้โดยเฉลี่ยปีละ 280 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง มีประโยชน์ด้านชลประธาน 160,000 ไร่ แต่ในระหว่างการก่อสร้างได้มีการชุมนุมประท้วงจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อเรียกร้องค่าชดเชย จากการเรียกร้องตลอด 3 ปี ในที่สุดชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจึงได้รับเงินชดเชยครอบครัวละ 90,000 บาท จำนวน 3,195 ครอบครัว การศึกษาคณะกรรมการเขื่อนโลกระบุว่า ในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมเขื่อนปากมูลผลิตไฟฟ้าได้ไม่เกิน 5 ล้านหน่วย หากเทียบเป็นกำลังการผลิตติดตั้งแล้วเท่ากับไม่เกิน 40 เมกกะวัตต์จากกำลังการผลิตสูงสุด 136 เมกกะวัตต์ (สามารถเดินเครื่องได้เกิน 40 เมกกะวัตต์ได้ แต่จะเดินเครื่องได้ไม่ถึงวันละ 4 ชั่วโมง) และเมื่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้นมากๆ ก็ต้องหยุดเดินเครื่อง เนื่องจากระดับน้ำแตกต่างกันน้อยจนไม่สามารถหมุนกังหันได้ ส่วนประโยชน์ทางด้านชลประทานปัจจุบันก็ยังไม่มีโครงการโดยตรงในการใช้ประโยชน์ในทางชลประทานส่วนพันธุ์ปลาที่เคยมีก่อนสร้างเขื่อนประมาณ 240 แต่หลังจากสร้างเขื่อนเหลือพันธุ์ปลาเพียง 96 ชนิดและมีปลาถึง 56 ชนิดที่ปรากฏว่าไม่สามารถจับได้อีกเลย ขณะที่บันไดปลาโจนซึ่งสูงถึง 15 เมตรก็ไม่ได้ช่วยให้ปลาอพยพจากแม่น้ำโขงเข้าสู่ลุ่มน้ำชีและมูลได้ ชาวบ้านแต่เดิมที่มีอาชีพประมงเป็นหลักต่างได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ ทุกวันนี้ชาวบ้านเขื่อนปากมูลยังคงปักหลักต่อสู้เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเขื่อน และเร่งแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนแต่ยังไม่มีรัฐบาลไหนให้ความจริงใจในการแก้ปัญหา
 

15 พฤษภาคม พ.ศ.2524 : พบภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ผาแต้ม จ. อุบลราชธานี
 
 
     15 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 ศรีศักร วัลลิโภดม และ พรชัย สุจิตต์ แห่งภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่าได้ค้นพบ ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ ขนาดยาวประมาณ 200 เมตร ที่หน้าผาริมแม่น้ำโขง อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี ต่อมาได้มีการสำรวจศึกษาเพิ่มเติมพบภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์อายุกว่า 3,000 ปีกว่า 300 ภาพ นับเป็นกลุ่มภาพเขียนสีโบราณที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ลักษณะของภาพแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ ภาพฝ่ามือ ภาพสัตว์ ภาพคน ภาพวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ และภาพรูปทรงเรขาคณิต ในอดีตชาวบ้านเชื่อว่าผาแต้มเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ต้องห้าม เป็นแหล่งอาศัยของภูตผีปีศาจ เรียกว่า "ภูผาแห่งความตาย” หลังจากคณะของ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม มาสำรวจพบก็ได้มีผู้คนเดินทางมาศึกษาและเที่ยวชมมากขึ้น ในปีเดียวกันนั้นทางราชการจึงประกาศให้ผาแต้มและป่าภูโหล่นรวมถึงพื้นที่โดยรอบเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ และขึ้นทะเบียนผาแต้มเป็นโบราณสถานในปี 2525 แต่เนื่องจากบริเวณผาแต้มอยู่ห่างจาก อช. แก่งตะนะ อีกทั้งมีพื้นที่กว้างใหญ่ กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงแยกผาแต้มและพื้นที่โดยรอบ จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติผาแต้ม เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2534 มีเนื้อที่ประมาณ 12,500 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 74 ของประเทศ
 

 15 พฤษภาคม พ.ศ.2394 : รัชกาลที่ 4 เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์
 
 
     15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 4 ในราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากที่เสด็จขึ้นครองราชย์ภายหลังจากที่รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคตคือวันที่ 2 เมษายน 2394 ข้าราชกาลชั้นผู้ใหญ่ก็ได้ไปทูลเชิญ สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้ามงกุฏ (พระนามเดิมของรัชกาลที่ 4) ที่ทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ให้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ ก่อนจะมีพิธีบรมราชาภิเษกในเดือนพฤษภาคมต่อมา รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ได้แก่ ทรงแก้ไขธรรมเนียมข้าราชการเข้าเฝ้าให้สวมเสื้อเช่นประเทศตะวันตก ทรงทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการต่างประเทศกับชาติตะวันตก (สนธิสัญญาเบาว์ริง) ทรงนำสยามรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก ทรงสนพระทัยเรียนรู้ภาษาตะวันตกและวิชาการของตะวันตก เช่น วิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ จนทรงสามารถทำนายการเกิดสุริยุปราคาที่ ต.หว้ากอ จ. ประจวบคีรีขันธ์ ได้อย่างแม่ยำ จนได้รับการขนานพระนามว่า “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นเวลา 18 ปี จึงเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411
 

15 พฤษภาคม พ.ศ.2483 : ร้าน แม็คโดนัลด์ เปิดให้บริการครั้งแรก
 
 
     15 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 ริชาร์ด แม็คโดนัลด์ (Richard "Dick" J. McDonald) และ มาไรซ์ แม็คโดนัลด์ (Maurice "Mac" McDonald) สองพี่น้องตระกูลแม็คโดนัลด์ (McDonald) ได้เปิดให้บริการร้านแม็คโดนัลด์ร้านแรก เป็นบาร์บีคิวแบบไดร์ทรู (Drive-through) ซึ่งลูกค้าสามารถขับรถเข้าไปสั่งอาหารแล้วขับรถออกมาได้เลย ที่เมืองซาน เบอร์นาร์ดิโน (San Bernardino) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา อีก 8 ปีต่อมาอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ก้าวหน้ามากขึ้น ในสหรัฐอเมริกามีผู้ใช้รถยนต์มากขึ้น ร้านแม็คโดนัลด์เริ่มหันมาขายเฟรนไฟร์ ไก่ทอด แฮมเบอร์เกอร์ มิลค์เชคและเครื่องดื่ม นับเป็นธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ประสบความสำเร็จ ปี 2496 สองพี่น้องเริ่มขายเฟรนไชส์ ขยายสาขาออกไปต่างเมือง จน เรย์มอนด์ อัลเบิร์ต คร็อค (Raymond Albert Kroc) หรือ เรย์ คร็อค (Ray Kroc) ได้มาซื้อกิจการต่อและขยายสาขาจนทั่วอเมริกา และแพร่กระจายไปทั่วโลก จนทุกวันนี้มีร้านแมคโดนัลด์กว่า 30,000 สาขา ในกว่า 120 ประเทศทั่วโลก แม็คโดนัลด์กลายเป็นบริษัท McDonald’s Corporation ซึ่งเป็นบริษัทเครือข่ายธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
 

16 พฤษภาคม พ.ศ.2409 : ชาร์ลส์ ไฮร์ส ผลิตเครื่องดื่มรูทเบียร์ ได้สำเร็จ
 
 
     16 พฤษภาคม พ.ศ. 2409 ชาร์ลส์ ไฮร์ส (Charles Elmer Hires) นักปรุงยาชาวเมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา สามารถผลิตเครื่องดื่มรูทเบียร์ (root beer) ได้สำเร็จ โดยค้นพบเครื่องดื่มชนิดนี้ในระหว่างดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กับภรรยาที่เมืองนิวเจอร์ซีย์ ขณะที่พักอยู่ในโรงแรม เขาได้สั่งเครื่องดื่มรูทที (root tea) ระหว่างนั้นเขาก็คิดขึ้นเล่นๆ ว่าถ้ามีเครื่องดื่มรูทเบียร์บ้างล่ะ มันคงน่าเย้ายวนใจใช่เล่น เมื่อกลับมาถึงบ้านเขาก็ลองผสมน้ำกับน้ำตาล ยีสต์และรากไม้บางชนิดจนได้น้ำหวานชนิดใหม่ที่มีกลิ่นและสีเหมือนเบียร์ เขาตั้งชื่อมันว่า “รูทเบียร์” ระยะแรกเขาลองเอาไปขายให้แม่บ้านโดยผสมน้ำโซดาลงไปด้วย ในระยะแรกไม่ค่อยประสบความสำเร็จทางธุรกิจมากนัก ในที่สุดเขานำเครื่องดื่มชนิดใหม่ไปเปิดตัวในงาน Centennial Exposition ที่เมืองฟิลาเดลเฟียในปี 2419 โดยเขาใช้สโลแกนว่า "The Temperance Drink" และ "the Greatest Health-Giving Beverage in the World." อีก 3 ปีต่อมาบริษัท Cadbury Schweppes เจ้าของเครื่องดื่ม Dr Pepper และ Seven Up ได้เข้ามาซื้อกิจการต่อและจัดจำหน่ายมาจนทุกวันนี้
 

16 พฤษภาคม พ.ศ.2472 : จัดพิธีประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งแรก
 
 
     16 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 สถาบันศิลปะและศาสตร์แห่งภาพยนตร์ (Academy of Motion Picture Arts and Sciences : AMPAS) ได้จัดพิธีประกาศผลรางวัลออสการ์ (Oscar) หรือ อะคาเดมี อะวอร์ดส์ (Academy Awards) ครั้งแรกที่โรงแรมฮอลลีวูด รูสเวลท์ (Hollywood Roosevelt Hotel) สหรัฐอเมริกา สำหรับภาพยนตร์ที่ฉายในปี 2470-2471 ภาพยนตร์ออสการ์ยอดเยี่ยมคือเรื่อง Wings ภาพยนตร์เงียบเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่คว้ารางวัลหนังออสการ์ได้สำเร็จ ส่วนรางวัลนักแสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยมได้แก่ เอมิล แจนนิงส์ (Emil Jannings) จากภาพยนตร์เรื่อง The Way of All Flesh และ The Last Command นักแสดงนำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยมได้แก่ เจเน็ต เกย์เนอร์ (Janet Gaynor) จากภาพยนตร์เรื่อง Seventh Heaven, Street Angel และ Sunrise นอกจากนี้ก็ยังมีรางวัลอื่น ๆ อีกหลายรางวัล รางวัลออสการ์นับเป็นรางวัลทางภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุด ปัจจุบันได้มีการมอบรางวัลใน 16 สาขาได้แก่ Actors Art Directors Cinematographers Directors Documentary Executives Film Editors Makeup Music Producers Public Relations Short Films and Feature Animation Sound Visual Effects Writers และในปี 2516 ได้มีการเพิ่มรางวัลออสการ์สำหรับนักเรียนนักศึกษา (Student Academy Awards) อีกด้วย รางวัลออสการ์ประกาศทุกปีที่ฮอลลีวูดซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดให้รับชมกันทั่วโลก
 

16 พฤษภาคม พ.ศ.2313 : พระนางมารีอองตัวแนตต์ อภิเษกสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ ที่ 16
 
 
 
     16 พฤษภาคม พ.ศ. 2313 พระนางมารี อองตัวแนตต์ (Marie Antoinette) อาร์คดัชเชสส์แห่งออสเตรีย เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับ มกุฏราชกุมารแห่งฝรั่งเศส หลุยส์ ออร์กุสต์ (Louis-Auguste) ณ พระราชวังแวร์ซายส์ ขณะมีพระชนมายุ 15 ชันษา ส่วนพระนางมารี อองตัวเนตต์มีพระชันษา 14 ปี ต่อมามกุฏราชกุมารหลุยส์ ออร์กุส์ได้ขึ้นครองราชในปี 2317 เป็นพระเจ้าหลุยส์ ที่ 16 (Louis XVI) และสถาปนาพระนางมารีเป็นพระราชินี พระนางพยายามมีอิทธิพลทางการเมืองเหนือพระมหากษัตริย์ ด้วยการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีเป็นว่าเล่นและต่อต้านการปฏิรูปการคลังขณะเดียวกันใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยในพระราชวังทั้งซื้อทรัพย์สินเครื่องแต่งตัวเครื่องประดับราคาแพงจำนวนมากปรับปรุงพระตำหนัก และมักจัดงานเลี้ยงหรูหราฟุ่มเฟือยอยู่บ่อยครั้ง การที่พระนางทรงนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย ส่งผลให้รัฐบาลฝรั่งเศสยิ่งต้องเก็บภาษีขูดรีดประชาชนมากขึ้น จนเกิดปัญหาเศรษฐกิจ ประชาชนอดอยากขาดแคลนอย่างมาก พระนางมารี อองตัวแนตต์จึงเป็นที่เกลียดชังของประชาชนจำนวนมาก มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีผู้กราบทูลพระนางว่า ขณะนี้บ้านเมืองกำลังถึงวิกฤติ ประชาชนไม่มีขนมปังจะกินแล้ว แต่พระนางกลับตอบว่า “ก็ให้เขากินเค้กแทนสิ” ในที่สุดประชาชนทั้งประเทศก็พร้อมใจกันทำการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) ในช่วงปี 2332-2342 ล้มล้างระบอบกษัตริย์เปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตย ทำการไต่สวนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และตัดสินประหารชีวิตในวันที่ 21 มกราคม 2336 ส่วนพระนางมารีก็ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยตีนในวันที่ 16 ตุลาคม 2336
 

17 พฤษภาคม พ.ศ.2509 : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปิดเขื่อนภูมิพล
 
 
     17 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกของไทย และเป็นเขื่อนเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างกั้นแม่น้ำปิงที่บ้านยันฮี ต.เขาแก้ว อ.สามเงา จ.ตาก เขื่อนแห่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลัก ชื่อเดิม เขื่อนยันฮี ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2500 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระปรมาภิไธยให้เป็นชื่อเขื่อนว่า “เขื่อนภูมิพล” วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2504 สร้างเสร็จปี 2507 เขื่อนภูมิพลมีลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งเพียงแห่งเดียวของประเทศไทย มีรัศมีความโค้ง 250 เมตร สูง 154 เมตร ยาว 486 เมตร สันเขื่อนกว้าง 6 เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุสูงสุด 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร จัดเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งที่ใหญ่และสูงที่สุดในอุษาคเนย์ ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ 5,602 ล้านลูกบาศก์เมตร ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 8 เครื่อง ขนาดกำลังผลิต 731,200 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 1,062 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ความยาวของลำน้ำจากเขื่อนถึง อ.ฮอด จ. เชียงใหม่ เป็นระยะทาง 207 กิโลเมตร ด้านบนเขื่อนเป็นจุดชมวิวที่สวยงามนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของ จ.ตาก แต่ความจริงอีกด้านที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การสร้างเขื่อนภูมิพลทำให้พันธุ์ปลาในแม่น้ำปิงลดลงจาก 68 ชนิดเหลือเพียง 34 ชนิด และชาวบ้านท้ายเขื่อนไม่สามารถจับปลาได้เหมือนเดิมเนื่องจากไม่เกิดภาวะน้ำหลาก และตัวเขื่อนได้ดักดินตะกอนที่เคยพัดพามาจากต้นน้ำปิงประมาณ 75 % ซึ่งมีทั้งทรายและปุ๋ยธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ (เช่นเดียวกับเขื่อนทุกแห่งในโลก) ไม่ให้ไหลลงไปสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้พื้นที่ใต้เขื่อนและสร้างแผ่นดินใหม่ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเกิดปัญาการกัดเซาะชายฝั่งเข้ามาหลายกิโลเมตรในทุกวันนี้ นอกจากนี้การสร้างเขื่อนทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นท่วมโบราณสถานหลายแห่งที่เคยตั้งอยู่ริมน้ำปิง อีกทั้งต้องอพยพประชาชนจำนวนมาก
 

17 พฤษภาคม พ.ศ.2477 : โรงเรียนนาฎศิลป์ เปิดสอนเป็นวันแรก
 
 
     17 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 โรงเรียนนาฎศิลป์ เปิดสอนเป็นวันแรก โดยครั้งนั้นยังชื่อว่า โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ โดย พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีคนแรกของกรมศิลปากรเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น สถาบันแห่งนี้นับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่ให้การศึกษาทั้งวิชาสามัญและวิชาศิลป์ โรงเรียนนาฏศิลป์ตั้งงอยู่บริเวณท่าช้าง วังหน้า ติดกับโรงละครแห่งชาติ ต่อมาในปี 2488 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนนาฎศิลป์” จนถึงปัจจุบันนี้ พร้อมทั้งขยายการศึกษาครอบคลุมทั้งนาฏดุริยางคศิลป์ไทยและสากล เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2515 ได้ยกฐานะขึ้นเป็น “วิทยาลัยนาฏศิลป" เข้าเป็นสถาบันสมทบของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ต่อมาเมื่อมีการสถาปนาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ขึ้น วิทยาลัยนาฏศิลปจึงได้ย้ายมาสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์จนถึงปัจุบัน จัดการศึกษาเป็น 3 ระดับ คือ ระดับนาฏศิลป์ชั้นต้น รับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หลักสูตร 3 ปี ได้รับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นต้น ระดับนาฏศิลป์ชั้นกลาง รับนักเรียนต่อเนื่องจากระดับนาฏศิลป์ชั้นต้นปีที่ 3 และนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3)หลักสูตร 3 ปีได้รับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นกลางและระดับนาฏศิลป์ชั้นสูง รับนักเรียนต่อเนื่องจากระดับนาฏศิลป์ชั้นกลางเข้าศึกษาต่อ 2 ปีได้รับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นสูง หรือเทียบเท่าอนุปริญญา
 

17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 : เกิดเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ (Black May)
 
 
     17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 กิดเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ (Black May) นักศึกษาและประชาชนราว 500,000 คนร่วมชุมนุมที่สนามหลวงตั้งแต่เวลา 15.00 น. เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เวลา 21.00 น. เริ่มเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกเจ้าหน้าตำรวจและทหารสกัดกั้นไว้ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งผู้ชุมนุมเรียกกันว่า "กำแพงเบอร์ลิน" ผู้ชุมนุมพยายามขอร้องเจ้าหน้าที่ให้เปิดทางแต่ได้รับการปฏิเสธ บางส่วนจึงเริ่มรื้อรั้วลวดหนาม เจ้าหน้าที่รัฐจึงใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำเข้าใส่จนน้ำหมด แล้วสูบน้ำจากคลองรอบกรุงซึ่งเป็นน้ำเน่าเหม็นฉีดใส่ฝูงชน จากนั้นก็ได้เกิดความโกลาหล ผู้ชุมนุมตอบโต้กันด้วยการขว้างปาสิ่งของใส่ เจ้าหน้าที่จึงตอบโต้ด้วยการทุบตีทำร้ายประชาชน เวลา 00.30 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม รัฐบาลจึงประกาศภาวะฉุกเฉิน หลังจากนั้นได้มีกลุ่มชายหัวเกรียนสวมเสื้อเกราะในราชการสงคราม บุกเข้าทำลายและเผา สน.นางเลิ้ง โดยรัฐบาลได้ระบุว่าเป็นฝีมือของนักศึกษารามคำแหงและธรรมศาสตร์ รัฐบาลจึงตัดสินใจใช้แผนไพรีพินาศขั้นที่ 3 คือปราบปรามขั้นเด็ดขาด เวลา 15.00 น. ทหารและตำรวจกว่า 6,000 คนพร้อมรถถังและรถหุ้มเกราะได้เข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าฯ โดยเรียงหน้าระดมยิงผู้ชุมนุมไล่ไปจนถึงกรมประชาสัมพันธ์และโรงแรมรัตนโกสินทร์ เป็นเหตุให้มีนักศึกษาและประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตหลายร้อยคนสูญหายและบาดเจ็บอีกจำนวนมาก เช้าวันที่ 19 พฤษภาคม ภาพดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก ผู้รอดชีวิตบางส่วนจึงย้ายไปชุมนุมต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ 20 พฤษภาคม ช่วงค่ำกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเคอร์ฟิวส์ ห้ามประชาชนออกจากบ้านในเวลา 21.00-04.00 น. แต่กลุ่มผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังคงปักหลักและเพิ่มจำนวนขึ้นกว่าแสนคน เวลา 23.30 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยได้แพร่ภาพ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นำ พล.ต.จำลอง และ พล.อ.สุจินดา เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความยินดีของประชาชน วันที่ 23 พฤษภาคม พล.อ.สุจินดาได้ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่ตนเอง วันต่อมาได้ประกาศลาออก จากนั้นได้ลี้ภัยไปต่างประเทศระยะหนึ่ง ก่อนจะกลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทยตามปรกติ ตราบจนทุกวันนี้
 

18 พฤษภาคม พ.ศ.2523 : ภูเขาไฟ เซนต์ เฮเลนส์ เกิดระเบิดอย่างรุนแรง
 
 
     18 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 ภูเขาไฟเซนต์ เฮเลนส์ (Mount St. Helens) ที่รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เกิดระเบิดอย่างรุนแรง ภูเขาไฟแห่งนี้เป็นภูเขาไฟขนาดใหญ่อายุกว่า 40,000 ปี รู้จักกันในอีกชื่อว่า "ฟูจิแห่งอเมริกา” เพราะมีลักษณะคล้ายภูเขาไฟฟูจิในญี่ปุ่น สาเหตุของการระเบิดครั้งนี้เป็นผลจากแผ่นดินไหวอย่างต่เนื่องเมื่อสองเดือนก่อน ส่งผลให้ลาวาใต้ผิวโลกดันตัวขึ้นมา เมื่อมีแผ่นดินไหวอีกครั้งในตอนเช้าวันนี้ ภูเขาไฟเซนต์ เฮเลนส์จึงเกิดระเบิดอย่างรุนแรง ส่งผลให้ละอองลาวาและเถ้าภูเขาไฟพุ่งสูงขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศ สร้างความเสียหายแก่สิ่งมีชีวิตและสิ่งก่อสร้างในรัศมี 650 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่ถึง 11 รัฐ มีผู้เสียชีวิตและสูญหายราว 57 คน และสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินอีกกว่า3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นหายนภัยทางภูเขาไฟครั้งใหญ่ในศตวรรษที่ 20 ของสหรัฐอเมริกา
 

18 พฤษภาคม พ.ศ.2517 : อินเดียทดลองระเบิดนิวเคลียร์สำเร็จเป็นครั้งแรก
 
 
     18 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 ประเทศอินเดีย ประสบความสำเร็จในการทดลองระเบิดนิวเคลียร์เป็นครั้งแรก ในโครงการ "พระพุทธองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์" (Smiling Buddha) บริเวณทะเลทรายธาร์ (Thar Desert) ที่เมืองโพคะราน (Pokhran) โดยเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2515 นางอินธิรา คานธี นายกรัฐมนตรีอินเดียในสมัยนั้นได้อนุญาติให้นักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์พาบา (Bhabha Atomic Research Centre : BARC) ทำการศึกษาทดลองระเบิดนิวเคลียร์ ในระยะแรกโครงการนี้มีชื่อว่าว่า "ระเบิดนิวเคลียร์เพื่อสันติ" (Peaceful Nuclear Explosive) หลังจากที่การทดลองประสบความสำเร็จ ดร. รามันนะ (Dr Ramanna) ได้โทรศัพท์สายตรงไปหาอินธิราทันที บอกนางด้วยปลื้มปิติเป็นล้นพ้นว่า "ท่านนายหญิง พระพุทธองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์แล้ว" (Madam, Buddha has finally smiled) ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้อินเดียก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจประเทศที่ 6 ผู้มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง การทดลองนิวเคลียร์ของอินเดียได้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศปากีสถานซึ่งต่อมาได้ศึกษาและทำการทดลองบ้าง จนเกือบจะกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์กันอยู่หลายครั้ง
 

18 พฤษภาคม พ.ศ.2463 : วันประสูติ สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2
 
 
     18 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 วันประสูติ สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 (Pope John Paul II) ประมุขแห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิก ประสูติที่เมืองวาโดไวซ์ (Wadowice) ประเทศโปแลนด์ เดิมชื่อว่า คาโรล โยเซฟ วอยตีวา (Karol Jozef Wojtyla) เข้าเรียนการละครที่หมาวิทยาลัยจากีโลเนียน (Jagiellonian University) เมืองคราโคฟ (Krakow) และได้ศึกษาภาษาต่างประเทศถึง 18 ภาษา ตอนเป็นหนุ่ม คาโรลเป็นนักฟุตบอล นักแสดงและเขียนบทละคร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (2482-2488) กองทัพนาซีเยอรมันได้บุกโปแลนด์ จับกุมนักวิชาการ ปัญญาชนและสั่งปิดสถานศึกษาจำนวนมาก คาโรลต้องทำงานเป็นคนส่งอาหาร คนงานเหมืองแร่ และเซลล์แมนของบริษัทผลิตสารเคมี หลังจากบิดาเสียชีวิตในปี 2484 เขาก็หันมาสนใจศาสนา อีกห้าปีต่อมาก็ตัดสินใจบวชเป็นบาทหลวงคาทอลิกและศึกษาศาสนาอย่างลับๆ และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเทววิทยาจากกรุงโรม ประเทศอิตาลี ต่อมาก็ได้รับเลือกเป็นอาร์กบิชอป แห่งเมืองคราโคฟในปี 2507 อีกสามปีต่อมาก็ได้เลื่อนขั้นเป็นพระคาร์ดินัล ท่านได้ร่วมกับพระคาร์ดินัลอาวุโสต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่กำลังคุกคามยุโรปในเวลานั้นอย่างแข็งขัน หลังจากที่สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 1 (Pope John Paul I) ได้มรณภาพเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2521 ท่านก็ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาขณะอายุ 58 ชันษา ทรงเป็นประมุขแห่งนิกายโรมันคาธอลิกคนที่ 264 เป็นคนแรกที่ไม่ใช่ชาวอิตาเลียนในรอบ 466 ปี หลังจากรับตำแหน่ง ท่านได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเมื่อวันที่ 10-11 พฤศภาคม 2527 ทรงเดินทางไปเทศนาและต่อต้านสงคราม คอมมิวนิสต์ ฟาสซิสต์ เผด็จการ ทุนนิยม วัตถุนิยม การทำแท้ง และการกระทำอันผิดศีลธรรม ขณะเดียวกันพระองค์ก็ส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำของศาสนาต่างๆ พระองค์ทรงสถาปนานักบุญ 446 องค์ และบุญราศีอีก 996 องค์ ท่านประชวรและเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2548 ทรงปกครองศาสนจักรรวมระยะเวลาทั้งสิ้น 26 ปี 15 วัน ซึ่งยาวนานที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ตามประวัติศาสตร์ของศาสนจักรนิกายโรมันคาทอลิก จากนั้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่16 (Pope Benedict XVI) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขแห่งศาสนจักรองค์ต่อมา
 

19 พฤษภาคม พ.ศ.2433 : วันเกิด โฮ จิ มินห์ นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ของเวียดนาม
 
 
     19 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 วันเกิดโฮ จิ มินห์ (Ho Chi Minh) นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ของเวียดนาม เกิดที่มณฑลเงียอาน (Nghe An Province) สมัยที่เวียดนามยังเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เดิมชื่อว่า เหวียน ชิง กุง (Nguyen Sinh Cung) ตอนอายุ 21 ปีได้ทำงานในเรือเดินสมุทร จึงมีโอกาสเดินทางไปอเมริกาและยุโรป จากนั้นได้ทำงานเป็นพ่อครัวในโรงแรมที่ประเทศอังกฤษ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 (2457-2461) สงบลง ลุงโฮได้ยื่นข้อเสนอต่อที่ประชุมแวร์ซายส์ เรียกร้องให้เวียดนามมีสิทธิ์ในการปกครองตนเอง แต่ไม่มีใครสนใจ ลุงโฮผิดหวังมาก จึงแยกตัวออกมาเข้าร่วมจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส จากนั้นได้ไปศึกษาการเมืองที่กรุงมอสโคว์ ประเทศรัสเซีย ปลายปี 2467 เดินทางไปมณฑลกวางโจว ประเทศจีน เริ่มรวบรวมชาวเวียดนามในจีน ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ในปี 2473 เดินทางกลับเวียดนามในฐานะผู้นำ ขบวนการปลดปล่อยประชาชาติเวียดนาม (Viet Minh independence movement) ในปี 2484 และเริ่มใช้ชื่อว่า "โฮจิ มินห์" แปลว่า "ผู้ส่องแสงสว่าง" ในที่สุดก็ประกาศเอกราชเวียดนามได้สำเร็จและก่อตั้ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม (Democratic Republic of Vietnam) ขึ้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2489 แต่สงครามระหว่างฝรั่งเศสกับฝ่ายเวียดมินห์ยังคงเกิดขึ้นยืดยื้อต่อมาอีกเกือบ 9 ปี จนในที่สุด กองทัพเวียดนามมีชัยเหนือฝรั่งเศสในสมรภูมิเดียนเบียนฟู มีการเจรจาสงบศึก โดยลงนามในสนธิสัญญาเจนิวา (Geneva Conference) เมื่อปี 2497 และได้กำหนดให้เส้นรุ้งที่ 17 เป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ ลุงโฮก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม (เวียดนามเหนือ) และพยายามจะรวบรวมเวียดนามให้เป็นหนึ่งเดียวไม่นานเวียดนามใต้ได้ประกาศตนเป็นสาธารณรัฐขึ้นโดยการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา กลายเป็นสงครามเวียดนาม (Vietnam War ปี 2502-2518) ยืดเยื้อยาวนานกว่าสิบปีก่อนจะจบลงพร้อมกับความพ่ายแพ้ของอเมริกา และเวียดนามทั้งสองรวมเป็นหนึ่งเดียว ลุงโฮถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2512 ลุงโฮเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง มุ่งมั่น และเป็นนักอุดมคติที่ไม่เคยมักใหญ่ใฝ่สูงใช้ชีวิตเรียบง่ายสมถะสวมเสื้อผ้าง่ายๆอาศัยในบ้านไม้หลังเล็ก ใช้เวลาว่างวาดรูปและเขียนบทกวี อ่อนน้อมถ่อมตน แต่มั่นคงในอุดมการณ์ ด้วยเหตุนี้ ชาวเวียดนามจึงรักและศรัทธาลุงโฮมาก และได้ยกย่องให้เป็น บิดาแห่งเวียดนาม ปี 2530 องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้ลุงโฮเป็นบุคคลสำคัญของโลก ทุกวันนี้ชาวเวียดนามและคนจากทั่วโลกยังคงไปเคารพสุสานแและพิพิธภัณฑ์โฮ จิ มินห์อย่างไม่ขาดสาย ในโรงเรียนก็ยังมีการปลูกฝังเรื่องราวของลุงโฮ ต่อมาได้กำหนดให้วันเสียชีวิตของท่าน คือวันที่ 2 กันยายนของทุกปีเป็น วันชาติของเวียดนาม และเปลี่ยนชื่อเมือง ไซ่ง่อน (Saigon) เป็น โฮ จิ มินห์ ซิตี้ (Ho Chi Minh City) เพื่อเป็นเกียรติแก่ลุงโฮด้วย
 

20 พฤษภาคม พ.ศ.2049 : คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจชาวอิตาเลียน ผู้ค้นพบทวีปอเมริกา
 
 
     คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) นักสำรวจชาวอิตาเลียนผู้ค้นพบทวีปอเมริกาในยุคใหม่ เสียชีวิต  โคลัมบัสเกิดที่เมืองเจนัว ประเทศอิตาลีเมื่อปี 1994 ในสมัยนั้นผู้คนยังเชื่อว่าโลกแบน แต่โคลัมบัสต้องการค้นหาดินแดนแห่งเครื่องเทศและผ้าไหม ที่เรียกว่าอินเดียและจีน เขาจึงเสนอเป็นผู้สำรวจดินแดนดังกล่าวให้กษัริย์โปรตุเกสแต่ไม่สำเร็จ จึงเดินทางไปประเทศสเปนและเสนอตัวต่อ พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ ที่ 2 (Ferdinand II of Aragon) และ พระนางอิสซาเบลลา ที่ 1 (Isabella of Castile) เพื่อออกสำรวจอินเดียและจีน เพื่อทำการค้าเครื่องเทศและผ้าไหม ในที่สุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2035 โคลัมบัสและลูกเรือ 90 คนและเรืออีก 3 ลำออกเดินเรือค้นหาทวีปเอเชียและจีน โดยแล่นเรือไปทางทิศตะวันตกข้ามมหาสมุทรแอตแลนติค และไปถึง เกาะบาฮามาส์ (Bahamas) ทางตะวันออกของฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกาปัจจุบัน และตั้งชื่อว่า "ซาน ซัลวาดอร์" (San Salvador) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2035 ซึ่งเขาคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของเอเชีย จากนั้นเขาเดินเรือต่อไปจนถึงคิวบา ฮิสปานิโอลา เปอร์โตริโก จาเมกา ตรินิแดด เวเนาซุเอลา และคอคอดปานามา โคลัมบัสเชื่อมาตลอดจนเสียชีวิตว่าดินแดนที่เขาค้นพบนั้นคือทวีปเอเชีย ภายหลังได้มีการกำหนดให้วันที่ 12 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่โคลัมบัสมาถึงอเมริกาเป็น "วันโคลัมบัส" มีการเฉลิมฉลองกันในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาใต้
 

20 พฤษภาคม พ.ศ.2041 : วาสโก ดา กามา นักสำรวจชาวโปรตุเกสพร้อมลูกเรือ ค้นพบอินเดีย
 
 
     วาสโก ดา กามา (Vasco da Gama) นักสำรวจชาวโปรตุเกสพร้อมลูกเรือ 265 คน เป็นชาวยุโรปคณะแรกที่ค้นพบ อินเดีย วาสโก ดา กามาได้รับมอบหมายจาก พระเจ้ามานูเอล ที่ 1 แห่งโปรตุเกส (Manuel I of Portugal) ให้เดินเรือไปค้นหาอินเดียซึ่งชาวตะวันตกสมัยนั้นเชื่อเป็นดินแดนคริสเตียน และเพื่อการค้าเครื่องเทศกับโลกตะวันออก โดยออกจาเมืองท่าในกรุงลิสบอนเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2040 เดินเรือไปตามเส้นทางที่ บาโทโลมิว ไดแออส (Batolomeu Dias) ได้เคยสำรวจไว้ก่อนหน้า ผ่าน แหลมกู๊ดโฮป (Cape of Good Hope) จนมาถึงชายฝั่งมาลาบาร์ (Malabar Coast) เมืองคาลิคัต (Calicut) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ในสมัยที่อินเดียยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโมกุล (Mughal Empire) จากนั้นได้กลับมาอินเดียอีก 2 ครั้ง ก่อนจะป่วยและเสียชีวิตที่เมืองโคชิ (Kochi) ประเทศอินเดียเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2067
 

21 พฤษภาคม พ.ศ.2432 : ธนาคารฮ่องกงและเซียงไฮ้ เริ่มนำบัตรธนาคาร ออกใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
 
 
     21 พฤษภาคม พ.ศ. 2432 ธนาคารฮ่องกงและเซียงไฮ้ (ปัจจุบันคือ HSBC) ซึ่งเป็นธนาคารต่างประเทศที่เข้ามาดำเนินการในประเทศไทย เริ่มนำ "บัตรธนาคาร" หรือเรียกทับศัพท์ว่า "แบงก์โน้ต" (Bank Note) ออกใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ตามพระบรมราชานุญาตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ต้องการให้พิมพ์บัตรธนาคารขึ้นใช้เป็นเงินตราเพื่อบรรเทาปัญหาที่โรงกษาปณ์ผลิตเหรียญเงินของไทยไม่ทันกับความต้องการ ในช่วงที่การค้าระหว่างประเทศกำลังขยายตัว ภายหลังธนาคารต่างประเทศอื่นๆ ก็ได้พิมพ์แบงก์โน้ตออกมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมในวงกว้างนัก แบงก์โน้ตเป็นตั๋วเงินชนิดหนึ่งที่ธนาคารออกให้ เป็นตั๋วสัญญาจะจ่ายเงินตราโลหะแก่ผู้ที่นำบัตรนี้มาขึ้นเมื่อทวงถาม แต่ไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ประชาชนทั่วไปจึงไม่ยอมรับชำระหนี้ การใช้แบงก์โน้ตจึงจำกัดอยู่ในวงแคบ คงใช้เฉพาะในหมู่พ่อค้าชาวต่างชาติ และประชาชนชั้นสูงในพระนครเท่านั้น เมื่อใช้ไปได้ระยะหนึ่ง รัฐบาลก็ได้สั่งพิมพ์เงินกระดาษจากประเทศเยอรมนี และพิมพ์เองจนกลายเป็นธนบัตรอย่างในปัจจุบัน คำว่า "แบงก์โน้ต" ทำให้ประชาชนคุ้นเคยกับการใช้เงินกระดาษ จึงเรียกธนบัตรว่า "แบงก์" มาจนทุกวันนี้
 

21 พฤษภาคม พ.ศ.2475 : เอมิเลีย เอียร์ฮาร์ท นักบินผู้หญิงคนแรกที่บินเดี่ยวข้ามมหาสมุทรแอตแลนติค
 
 
     21 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 เอมิเลีย เอียร์ฮาร์ท (Amelia Mary Earhart) เป็นนักบินผู้หญิงคนแรกที่บินเดี่ยวข้ามมหาสมุทรแอตแลนติคได้สำเร็จ โดยออกบินจากท่าเรือเกรซ เมืองนิวฟาวด์แลนด์ ประเทศแคนนาดา มุ่งหน้าสู่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ด้วยเครื่องบินเครื่องยนต์เดี่ยว Lockheed Vega 5b ย้อนรอยเส้นทางที่ ชาร์ลส ลินด์เบิร์ก (Charles Lindbergh) ได้เคยทำสำเร็จก่อนหน้าในวันเดียวกันนี้เมื่อปี 2470 หลังจากที่บินมาได้ 14 ชั่วโมง 56 นาที เธอต้องพบกับสภาวะอากาศไม่ดีจึงต้องลงจอดกลางทุ่งหญ้าในเมือง Culmore ตอนเหนือของประเทศไอร์แลนด์ หลังจากนั้นเธอก็ได้แสดงฝีมือการบินเดี่ยวระยะไกลอีกหลายครั้ง พร้อมกับทำกิจกรรมรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ความฝันของเธอคือการบินเดี่ยวรอบโลก เธอออกบินจากแคลิฟอร์เนียเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2480 ก่อนจะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยพร้อมเครื่องบิน Lockheed L-10E Electra บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2480
 

21 พฤษภาคม พ.ศ.2231 : วันเกิด อเล็กซานเดอร์ โปป กวีชาวอังกฤษ
 
 
     21 พฤษภาคม พ.ศ. 2231 วันเกิด อเล็กซานเดอร์ โปป (Alexander Pope) กวีชาวอังกฤษ เกิดที่กรุงลอนดอน เริ่มหลงใหลการอ่านหนังสือตอนอายุ 8 ขวบโดยเฉพาะผลงานของโฮเมอร์ (Homer) เขียนบทกวีบทแรกตอนอายุ 12 ปี ในปี 2253 รวมบทกวีเล่มแรก The Pastorals ของเขาก็ได้รับการตีพิมพ์ ส่งผลให้เขาเริ่มมีชื่อเสียง จากนั้นก็มีผลงานทยอยออกมาเรื่อยๆ โปปพยายามนำฉันทลักษณ์ของบทกวีคลาสสิกของกรีกละตินเข้ามาใช้ในภาษาอังกฤษ จนกลายเป็นบทกวีแบบอังกฤษที่ไพเราะสวยงาม ผลงานเด่นๆ ได้แก่ Essay on Criticism และ The Rape of the Lock ในช่วงปลายของชีวิตบทกวีของเขาจะค่อนข้างลึกซึ้ง จริงจัง แฝงเนื้อหาทางปรัชญาให้ครุ่นคิด เช่น Essay on Man นอกจากเขียนบทกวีแล้วเขายังทำงานแปล โดยเฉพาะผลงานของโฮเมอร์และเชคสเปรียร์ โปปเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2287 โปปได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีชาวอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 18
 

22 พฤษภาคม พ.ศ.2527 : สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จสวรรคต
 
 
      22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคต พระนามเดิมคือ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ ประสูติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2477 เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี ในปี 2460 อภิเษกสมรสกับ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ซึ่งต่อมาได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ภายหลังจากที่คณะราษฎรทำการอภิวัตน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประเทศอังกฤษ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พระองค์ก็ได้พระราชทานพระกรุณาช่วยเหลือกิจการของเสรีไทยในประเทศอังกฤษมาตลอด ในปี 2492 รัฐบาลได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เชิญเสด็จกลับสู่กรุงเทพฯ พร้อมกับพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จสวรรคต ณ พระตำหนักวังศุโขทัย พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ 9 เมษายน 2528 ณ เมรุมาศ ท้องสนามหลวง
 

22 พฤษภาคม พ.ศ.2362 : เรือกลไฟ เอสเอส สะวันนาห์ แล่นออกจากท่าเรือเพื่อเดินทางไปเมืองลิเวอร์พูล
 
 
    22 พฤษภาคม พ.ศ. 2362 เรือกลไฟ เอสเอส สะวันนาห์ (SS Savannah) เริ่มแล่นออกจากท่าเรือสะวันนาห์ เมืองจอเจีย สหรัฐอเมริกา มุ่งหน้าสู่มหาสมุทรแอทแลนติก เพื่อเดินทางไปเมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ถึงเป้าหมายเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน กลายเป็นเรือกลไฟลำแรกที่แล่นข้ามมหาสมุทรแอทแลนติกได้สำเร็จ ใช้เวลาทั้งหมด 18 วัน เรือลำนี้ควบคุมโดยกับตันมอเรส โรเจอร์ส (Moses Rogers)
 

23 พฤษภาคม พ.ศ.2458 : จอห์น ร็อคกีเฟลเลอร์ นักธุรกิจน้ำมันชาวอเมริกันเสียชีวิต
 
 
     23 พฤษภาคม พ.ศ. 2458 จอห์น ร็อคกีเฟลเลอร์ (John Davison Rockefeller) นักธุรกิจน้ำมันชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้ง มูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) เสียชีวิต ร็อคกีเฟลเลอร์เกิดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2382 ที่กรุงนิวยอร์ก เริ่มรู้จักหาเงินมาตั้งแต่เด็กๆ โดยการขายลูกกวดที่โรงเรียน หลังจากจบไฮสคูลเขาเข้าเรียนบริหารธุรกิจซึ่งเป็นคอร์สสั้นๆ ในปี 2048 เขาเริ่มทำธุรกิจน้ำมันร่วมกับ แซมมวล แอนดรู (Samuel Andrews) และ เฮนรี แฟลกเลอร์ (Henry M. Flagler) ต่อมากลายเป็นบริษัท Standard Oil ผู้ผลิตน้ำมัน ESSO โดยร็อคกีเฟลเลอร์เป็นประธานบริษัท หลังจากแอนดรูค้นพบเทคนิคการกลั่นน้ำมันที่ใช้ต้นทุนต่ำ ธุรกิจของเขาจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากนั้นก็เริ่มซื้อกิจการโรงกลั่นและอุตสาหกรรมน้ำมัน จนสามารถควบคุมธุรกิจน้ำมันเกือบทั้งหมดในสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จในปี 2423 แต่เขาต้องแบ่งออกเป็นหลายบริษัทเนื่องจากกฎหมายอเมริกาห้ามการผูกขาด ร็อคกีเฟลเลอร์กลายเป็นเศรษฐีคนแรกที่ร่ำรวยที่สุดในโลก คือประมาณ 14,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เขาดำเนินธุรกิจน้ำมันจนกระทั่งกระเกษียณอายุในปี 2454 ในอีกด้าน ร็อคกีเฟลเลอร์เป็นนักการกุศลคนสำคัญของอเมริกา เขาได้บริจาครายได้ 10% ให้แก่โบสถ์ สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล สถาบันวิทยาศาสตร์ หอศิลป์ และกิจกรรมสาธารณกุศลอื่นๆ รวมเงินที่เขาบริจาคทั้งหมดกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์เพื่อทำงานด้านสาธารณกุศลในปี 2456
 

23 พฤษภาคม พ.ศ.2482 : เรือดำน้ำ ยูเอสเอส สควอลัส จมลงระหว่างทดลองดำน้ำ
 
 
     23 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 เรือดำน้ำ ยูเอสเอส สควอลัส (USS Squalus) ของสหรัฐอเมริกา เกิดอุบัติเหตุจมลงไปใต้น้ำระหว่างทำการทดลองดำน้ำบริเวณชายฝั่งเมืองนิวแฮมไชร์ มลรัฐนิวอิงค์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เป็นเหตุให้มีลูกเรือเสียชีวิต 26 นาย จากทั้งหมด 58 นาย สาเหตุเนื่องจากมีน้ำรั่วที่ห้องเก็บระเบิดตอร์ปิโดและที่ห้องเครื่อง เรือจมน้ำอยู่ที่ระดับความลึก 73 เมตร จากนั้นได้มีการกู้เรือกลับคืนมาและซ่อมแซมเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติการในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และสมรภูมิอื่นๆ อีกหลายครั้ง เรือดำน้ำลำนี้สร้างในปี 2480 ปล่อยลงน้ำเมื่อเดือนกันยายน 2481 เข้าประจำการเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2482 และปลดประจำการเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2488 ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของอู่ต่อเรือพอร์ทเมาท์ (Portsmouth Naval Shipyard)
 

24 พฤษภาคม พ.ศ.2492 : สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีอัญเชิญพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 7 กลับถึงประเทศไทย
 
 
     24 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 รัฐบาลไทย ได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 จากประเทศอังกฤษกลับมาถึงประเทศไทย เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ในที่อันสมควรแก่พระบรมราชอิสริยยศ ร่วมกันกับพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ หอพระบรมอัฐิ ที่ชั้นบนของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง และได้อัญเชิญพระสรีรางคารเข้าบรรจุในแท่นฐานชุกชีพระพุทธคีรส พระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งทรงถือเป็นวัดประจำรัชกาล ทั้งนี้รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จสวรรคตที่ประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2484
 

24 พฤษภาคม พ.ศ.2387 : แซมมวล มอร์ส ทดลองส่งโทรเลขฉบับแรกสำเร็จ
 
 
     24 พฤษภาคม พ.ศ. 2387 แซมมวล มอร์ส (Samual F. B. Morse) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ได้ทดลองส่ง โทรเลข (Telegraph) ฉบับแรกจากบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ ไปยังกรุงวอร์ชิงตัน ดี.ซี. โดยทดลองใช้เครื่องส่งสัญญาณไฟฟ้าส่งข่าวสารผ่านรหัสที่ใช้แทนตัวหนังสือ หรือ รหัสมอร์ส (Morse Code) ความสำเร็จครั้งนี้เกิดจากแรงผลักดันสำคัญเมื่อ 11 ปีก่อน หลังจากที่เขาทราบข่าวการเสียชีวิตของภรรยาล่าช้าไปถึง 3 วัน ทำให้เขาตั้งใจแน่วแน่ว่าจะต้องคิดค้นวิธีการสื่อสารที่รวดเร็วยิ่งกว่าจดหมายขึ้นมาให้ได้ หลังจากนั้นจึงทุ่มเทศึกษาหาเกี่ยวกับแม่เหล็กไฟฟ้า พร้อมเก็บเงินทีละเล็กทีละน้อยซื้ออุปกรณ์เพื่อสร้างเครื่องส่งโทรเลข และทำการทดลองจนประสบความสำเร็จในที่สุด ระบบโทรเลขของมอร์สได้กลายเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่คนทั่วโลกใช้กันอย่างกว้างขวางในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่โทรศัพท์ ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมและอินเตอร์เน็ตจะกำเนิดขึ้นในโลก
 

24 พฤษภาคม พ.ศ.2086 : นิโคลัส โคเปอร์นิคัส นักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์เสียชีวิต
 
 
     24 พฤษภาคม พ.ศ. 2086 นิโคลัส โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus) นักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ เสียชีวิต โคเปอร์นิคัสเกิดที่เมืองตูรัน ประเทศโปแลนด์ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2016 ตอนอายุ 10 ขวบบิดาเสียชีวิต เขาต้องไปอาศัยอยู่กับลุง หลังจากเรียนจบปริญญาเอกนิติศาสตร์ เขากลับไปเรียนแพทย์และศึกษาวิชาดาราศาสตร์เพิ่มเติม เขาจึงมีความรู้หลากหลายสาขาวิชา ในสมัยนั้นมนุษย์ยังเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล แต่เขากลับเชื่อในทฤษฎีของ อาคีสทาร์คัส (Akistarchus) ซึ่งเชื่อว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล และทำการทดลองจนค้นพบความจริงว่า ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของสุริยจักรวาล โดยมีโลกและดาวเคราะห์อื่นๆ โคจรรอบๆ โลกมีสัณฐานเป็นทรงกลมและหมุนรอบตัวเอง ใช้เวลา 24 ชั่วโมง และหมุนรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลา 365 วัน แต่เขาก็ยังไม่ได้เผยแพร่ผลงานชิ้นนี้ออกไป ด้วยเกรงกลัวอิทธิพลของศาสนจักรซึ่งครองอำนาจอยู่ในยุโรป ต่อมาอีก 100 ปี กาลิเลโอ (Galileo Galilei) และเคปเลอร์ (Johannes Kepler) จึงสามารถหาหลักฐานมาสนับสนุนทฤษฎีของโคเปอร์นิคัสได้ ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติทางดาราศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ จากที่เคยยึดถือมาตั้งแต่สมัยปโตเลมี (Ptolemy) ในศตวรรษที่ 2 ว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล นับได้ว่าผลงานและทฤษฎีต่างๆ ของโคเปอร์นิคัสได้ช่วยบุกเบิกแนวทางให้กับนักดาราศาสตร์รุ่นต่อมาอย่างมาก
 

24 พฤษภาคม พ.ศ.2087 : วันเกิด วิลเลียม กิลเบิร์ต นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ
 
 
     24 พฤษภาคม พ.ศ. 2087 วันเกิดวิลเลียม กิลเบิร์ต (Sir William Gilbert) แพทย์ นักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาธรรมชาติชาวอังกฤษ เกิดที่เมืองโคลเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เรียนแพทย์ที่วิทยาลัยเซนต์จอห์น แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 (Queen Elizabeth I) แห่งอังกฤษ ตั้งแต่ปี 2103 จนเสียเขาชีวิต เขาเริ่มศึกษาทดลองเกี่ยวกับแม่เหล็กและไฟฟ้าในระหว่างที่ทำงานเป็นหมอ ทดลองสภาวะของแม่เหล็ก ค้นหาวัตถุต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็กนานกว่า 20 ปี จนในที่สุด ผลการทดลองของเขาได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ De Magnete (On the Magnet) ในปี 2103 ซึ่งเขาได้เสนอแนวคิดว่า โลกเป็นแม่เหล็กขนาดใหญ่ที่มีขั้วแม่เหล็ก แนวคิดนี้อธิบายว่าเหตุใดแม่เหล็ก (เข็มทิศ) จึงชี้ไปทางทิศเหนือและทิศใต้อยู่เสมอ ก็เพราะว่า แม่เหล็กถูกขั้วแม่เหล็กของโลกดึงดูดนั่นเอง นอกจากนี้เขายังค้นพบ ไฟฟ้าสถิต (Static Electricity) โดยใช้แท่งอำพันถูกับวัตถุต่างๆ แล้วจะเกิดอำนาจการดึงดูด ซึ่งเขาเรียกอำนาจดังกล่าวว่า อิเลกทริกซิตี (Electricity) ซึ่งต่อมาเป็นคำเรียกของไฟฟ้า กิลเบิร์ตเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2106 นับว่าเขาเป็นคนแรกที่ทำการศึกษาทดลองเกี่ยวกับแม่เหล็กและไฟฟ้า ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญให้แก่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรไฟฟ้าในรุ่นต่อมา เขาได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งไฟฟ้า และได้มีการตั้งชื่อหน่วยวัดแรงเคลื่อนของแม่เหล็ก (magnetomotive force) ว่า "กิลเบิร์ต" (Gilbert : Gi) เพื่อเป็นเกียรติแก่เขาด้วย
 

25 พฤษภาคม พ.ศ.2504 : จอห์น เอฟ. เคเนดี ประกาศจุดมุ่งหมายที่จะส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์
 
 
     25 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 จอห์น เอฟ. เคเนดี (John F. Kennedy) ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาประกาศจุดมุ่งหมายที่จะ "ส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์และส่งกลับมาสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย" ("landing a man on the Moon and returning him safely to the Earth") ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น โครงการ อะพอลโล (Project Apollo) และสามารถส่ง นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) และ เอดวิน "บัซ" อัลดริน (Edwin ’Buzz’ Aldrin) มนุษย์คู่แรกไปเหยียบดวงจันทร์สำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2512 กับยานอวกาศ อพอลโล 11 (Apollo 11)
 

25 พฤษภาคม พ.ศ.2411 : คลองดำเนินสะดวก เปิดใช้งานเป็นวันแรก
 
 
     25 พฤษภาคม พ.ศ. 2411 คลองดำเนินสะดวก เปิดใช้งานเป็นวันแรก หลังจากที่พระบาทมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระราชดำริ เมื่อปี 2409 เห็นว่าการคมนาคมที่ไปมาระหว่างกรุงเทพฯ-สมุทรสาคร โดยมีคลองภาษีเจริญเป็นเส้นทางคมนาคม ช่วยทำการสัญจรไปมาได้สะดวกดี ถ้ามีคลองระหว่างกรุงเทพฯ-สมุทรสงคราม และราชบุรีก็จะสะดวกขึ้นอีกเป็นอันมาก การไปมาหาสู่โดยทางน้ำก็จะมีความสามารถและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการขุดคลอง โดยมี สมเด็จพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้ควบคุมดูแล เริ่มขุดในปี 2409 เริ่มจากแม่น้ำท่าจีนบริเวณปากคลองบางยาง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ไปเชื่อมต่อกับแม่น้ำแม่กลอง ที่ ต. บางนกแขวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม โดยใช้กำลังของทหาร ข้าราชการ ประชาชน ตลอดจนแรงงานชาวจีนที่ร่วมกันขุด โดยใช้แรงงานคนล้วนๆ ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องทุ่นแรง ใช้เวลาในการขุดประมาณสองปีเศษจึงเสร็จ สิ้นงบประมาณในการขุด 1,400 ชั่ง หรือประมาณ 112,000 บาท คลองดำเนินสะดวกยาว 840 เส้นหรือประมาณ 32 กม. รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าคลองนี้ขุดได้ตรง สะดวกต่อการสัญจร จึงพระราชทานนามให้เป็นมงคลว่า "คลองดำเนินสะดวก" ปัจจุบันคลองแห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดราชบุรีคือ ตลาดน้ำดำเนินสะดวก
 

25 พฤษภาคม พ.ศ.2394 : พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์
 
     25 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2351 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2394 ขุนนางผู้ใหญ่ได้กราบทูลเชิญ เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมติเทวาวงศ์พงษ์อิศรกษัตริย์ ซึ่งขณะนั้นได้ผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ให้เสวยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จากนั้นพระองค์ได้ทรงมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจุฬามณี ทรงมีพระปรีชาสามารถรอบรู้ในการพระนคร และการต่างประเทศ ตลอดจนขนบธรรมเนียมต่างๆ อีกทั้งพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีนิยมนับถือมาก จึงโปรดเกล้าให้จัด พระราชพิธีอุปราชาภิเษก ขึ้นเป็น พระมหาอุปราช พระราชวังบวรสถานมงคล พร้อมทั้งพระราชทานพระนามอย่างพระเจ้าแผ่นดินว่า พระปวเรนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์ฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระเกียรติยศเป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดิน เหมือนเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกย่องสมเด็จพระเอกาทศรถ ราชอนุชามหาอุปราชครั้งกรุงเก่า ชาวต่างประเทศรู้จักพระองค์ในนาม "the second king" พระราชพิธีอุปราชาภิเษกให้มีพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์นี้ เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมา สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และปฏิรูประบบการปกครองใหม่ ให้มกุฎราชกุมารเป็นผู้สืบต่อราชสมบัติ
 

25 พฤษภาคม พ.ศ.2346 : วันเกิด ราล์ฟ วัลโด อีเมอร์สัน นักปรัชญาชาวอเมริกัน
 
 
     25 พฤษภาคม พ.ศ. 2346 วันเกิดราล์ฟ วัลโด อีเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson) กวี นักเขียนและนักปรัชญาชาวอเมริกัน ผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวปรัชญา จิตนิยมอุตรวิสัย (Transcendentalism) ในต้นศตวรรษที่ 19 อีเมอร์สันเกิดที่แมสซาชูเส็ตส์ ตอนแปดขวบบิดาเสียชีวิต เขาต้องทำงานส่งตัวเองเรียนจนจบมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เริ่มต้นทำงานเป็นครู ในปี 2372 ได้บวชเป็นบาทหลวงที่โบสถ์ยูนิทาเรียน (Unitarian) อีสองปีต่อมาภรรยาของเขาเสียชีวิต เขาเริ่มเกิดความคลางแคลงใจในศาสนา จึงลาออกในปี 2375 ปีต่อมาเขาเดินทางไปเที่ยวยุโรปอยู่หนึ่งปี ที่นี่เขาได้พบกับนักคิดนักเขียนคนสำคัญอย่าง เวิร์ดสเวิร์ธ (William Wordsworth) จอห์น มิลล์ (John Stuart Mill) และ โธมัส คาร์ลีลย์ (Thomas Carlyle) ก่อนจะกลับอเมริกามาเขียนหนังสืออย่างจริงจัง ในปี 2378 อีเมอร์สันกับพรรคพวกก่อตั้ง Transcendental Club ปีต่อมาเขาตีพิมพ์ Nature หนังสือรวมบทความเล่มแรก ซึ่งได้สะท้อนแนวคิดทางปรัชญาจิตนิยมอุตรวิสัย ซึ่งมีความเชื่อว่า สิ่งที่มนุษย์รับรู้จะต้องผ่านการทำงานของจิตเสียก่อน มนุษย์จะรับรู้ความจริงโดยไม่ผ่านการทำงานของจิตไม่ได้ และระบบการทำงานของจิตอยู่เหนือประสบการณ์ จากนั้นเขาได้ออกไปบรรยายตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และเริ่มมีชื่อเสียงในอเมริกา เขาเขียนบทความ และบทกวีไว้จำนวนมาก ผลงานที่สำคัญได้แก่ The Conduct of life, Nature and Other Writings และ Society and Solitude อีเมอร์สันเสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2425 นับเป็นนักปราชญ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของอเมริกา
 

26 พฤษภาคม พ.ศ.2439 : พระเจ้านิโคลัสที่ 2 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2
 
 
      26 พฤษภาคม พ.ศ. 2439 พระเจ้านิโคลัสที่ 2 (Nicholas II) ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 (Tsar Nicholas II) กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของรัสเซีย ทรงเป็นพระโอรสของพระเจ้าซาร์ อเล็กซานเดอร์ ที่ 3 แห่ง ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov Dynasty) ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2437 พระองค์ทรงเป็นจักรพรรดิที่อ่อนแอ ไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ของประเทศที่กำลังปั่นป่วน หลังจากพ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่นใน สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo–Japanese War) ระหว่างปี 2447-2448 ในช่วง สงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457-2461) ได้ทรงนำรัสเซียเข้าร่วมสงครามแต่ต้องพบกับความพ่ายแพ้อีกครั้ง ส่งผลให้ประชาชนเสื่อมความนิยมในพระองค์และคณะรัฐบาลมาก นอกจากนี้ยังทรงปล่อยให้ รัสปูติน (Gregori Rasputin) พระนอกรีตผู้ลึกลับเข้ามามีอิทธิพลในราชสำนัก ช่วงนั้นเกิดภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจตกต่ำมาก ขาดแคลนอาหาร ประชาชนอดอยาก เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง ส่งผลให้ประชาชนไม่พอใจจึงลุกขึ้นมาเดินขวบต่อต้านและบังคับให้พระองค์สละราชสมบัติในวันที่ 15 มีนาคม 2460 เรียกเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า "การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์" (February Revolution--เพราะนับตามปฏิทินแบบเก่า) จากนั้นถูกนำไปกักขังไว้และถูกปลงพระชนม์พร้อมพระราชวงศ์อีกหลายพระองค์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2461
 

27 พฤษภาคม พ.ศ.2480 : สะพานโกลเดนเกท เปิดใช้อย่างเป็นทางการ
 
 
     สะพานโกลเดนเกท (Golden Gate Bridge) เปิดใช้อย่างเป็นทางการ เริ่มก่อสร้างในปี 2476 ในสมัยประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสท์เวล วิศวกรคือ โจเซฟ สเตราส์ (Joseph Baermann Strauss) ในยุคนั้นกล่าวกันว่า สะพานแห่งนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมแห่งหนึ่งในโลกเลยทีเดียว โดยเป็นสะพานแขวน ข้ามอ้าวซานฟรานซิสโก เชื่อมซานฟรานฯ กับมารินเคาท์ตี รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีระยะทางยาว 2,740 เมตร ตอนกลางสะพานยาว 1,280 เมตร กว้าง 27 เมตร สูง 223.5 เมตร สูงจากระดับน้ำทะเล 67 เมตร มีทางรถยนต์ 6 ทาง รถบรรทุก 3 ทาง รถไฟ 2 ทาง ใช้งบประมาณก่อสร้างราว 35 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบัน (2550) สะพานโกลเดนเกตเป็นสะพานแขวนที่ยาวเป็นอันดับที่ 8 ของโลก อันดับหนึ่งคือสะพาน อะคาชิ-ไคเคียว (Akashi-Kaikyo Bridge) แห่งเมืองโกเบประเทศญี่ปุ่นที่ยาวถึง 3,911 เมตร
 

 27 พฤษภาคม พ.ศ.2474 : พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ สิ้นพระชนม์
 
 
     พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์พระองค์แรก สิ้นพระชนม์ พระนามเดิมคือ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล "กิติยากร" ประสูติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2417 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 12 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาอ่วม ทรงเป็นพระราชโอรสรุ่นแรกที่เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2428 ร่วมกับ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์), กรมหลวงปราจิณกิติบดี (พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม) และ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช (พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช) ทรงสำเร็จสาขาบูรพคดีศึกษา (Oriental Studies) จากวิทยาลัยแบเลียล (Balliol College) มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ในปี 2437 ทรงเริ่มรับราชการในกรมราชเลขานุการ ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็น กรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในปี 2463 สมัยรัชกาลที่ 6 ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์พระองค์แรก ทรงปรีชาสามารถในด้านการคลังและการเศรษฐกิจ ส่งเสริมการออมทรัพย์โดยจัดตั้งคลังออมสินให้ราษฎรได้นำเงินมาฝาก ทรงร่างกฎหมายวางระเบียบวิธีการศุลกากร ทรงแก้ไขปรับปรุงภาษีสรรพากรให้ทันสมัย และทรงจัดให้สุราและฝิ่นเป็นสิ่งผูกขาดของรัฐบาล เพื่อเตรียมการที่จะบังคับให้การสูบฝิ่นเป็นสิ่งต้องห้ามในเวลาต่อมา ปลายปี 2473 กรมพระจันทบุรีนฤนาถได้เสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีสและสิ้นพระชนม์ที่นั่น
 

27 พฤษภาคม พ.ศ.2449 : วันเกิด พุทธทาสภิกขุ มหาบุรุษแห่งสยามประเทศ
 
 
     วันเกิด พุทธทาสภิกขุ (พระธรรมโกศาจารย์--เงื่อม อินทปัญโญ) มหาบุรุษแห่งสยามประเทศ เดิมชื่อ เงื่อม พานิช เกิดที่พุมเรียง อ. ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ตอน 8 ขวบพ่อแม่พาไปฝากตัวเป็นเด็กวัดพุมเรียง (วัดใหม่) บวชพระเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2469 ได้ฉายาว่า "อินทปัญโญ" แปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ หลังจากสอบได้นักธรรมโท ท่านก็เดินทางมาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ ในช่วงเวลา 2 เดือนท่านได้พบเห็นความหย่อนวินัยของสงฆ์ พลอยให้รู้สึกเบื่อจนคิดจะกลับบ้านไปสึก ท่านกลับไชยาไปสอนนักธรรมที่วัดพระบรมธาตุไชยา ปี 2473 ก็ถูกรบเร้าให้ขึ้นกรุงเทพฯ อีกครั้ง จนสอบได้เปรียญ 3 ประโยคแต่สอบตกเปรียญ 4 เพราะมีความคิดเห็นไม่เหมือนกับครูและผิดหวังกับระบบการเรียนการสอนที่ขาดอิสระ จึงตัดสินใจกลับไชยาไปหาที่สงบเพื่อค้นคว้าธรรมะ วันที่ 12 พฤษภาคม 2475 ก่อนที่คณะราษฎรจะทำการอภิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระมหาเงื่อมกับ นายธรรมทาส (ยี่เกย) พานิช น้องชายได้ร่วมกันก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่วัดร้างสระตระพังจิก ตั้งชื่อว่า "สวนโมกขพลาราม" ท่านเริ่มศึกษาพระไตรปิฎกอย่างจริงจังจนถ่ายทอดออกมาเป็นงานเขียน "ตามรอยพระอรหันต์" โดยใช้นามปากกา "พุทธทาส” ทยอยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ พุทธสาสนา หนังสือพิมพ์พุทธศาสนาเล่มแรกของไทย ซึ่งท่านกับน้องชายได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2476 จากนั้นท่านได้ศึกษาปรัชญาตะวันออกทั้งเต๋าและเซนออกเผยแพร่ในเวลาต่อมา ในปี 2486 ท่านย้ายสวนโมกข์ฯ มายังวัดธารน้ำไหล เชิงเขาพุทธทอง (ริมถนนเอเชียปัจจุบัน) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ท่านใช้ปฏิบัติ ศึกษา สั่งสอน เขียนหนังสือเผยแพร่ธรรมะจนวาระสุดท้าย ท่านพุทธทาสมรณภาพวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 ท่านพุทธทาสเป็นผู้เปิดมิติใหม่ให้แก่พุทธศาสนาในเมืองไทย ปลุกคนจากความงมงายให้ตื่นขึ้นมาพบกับความสว่าง สะอาด สงบ พาผู้คนละจากเปลือกกระพี้มุ่งสู่แก่นแท้ของพุทธศาสนา และนำหลักคำสอนชั้นแก่นและหัวใจของพุทธศาสนาที่ถูกหลงลืม กลับมาสอนใหม่ให้เข้าใจง่ายขึ้น และสามารถเข้าถึงได้ "ที่นี่และเดี๋ยวนี้"
 

28 พฤษภาคม พ.ศ.2510 : ฟรานซิส ไชเชสเตอร์ แล่นเรือใบสองเสารอบโลกสำเร็จ
 
 
     28 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 ฟรานซิส ไชเชสเตอร์ (Sir Francis Chichester) นักเล่นเรือชาวอังกฤษวัย 65 ปี ประสบความสำเร็จในการแล่นเรือใบสองเสา (ketch) รอบโลกคนเดียว เรือใบขนาด 54 ฟุตของเขาชื่อว่า Gipsy Moth IV ออกจากท่าเรือที่เมืองพลีมัธ (Plymouth) ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2509 ใช้เวลาอยู่ในทะเลทั้งหมด 228 วัน โดยแวะพักที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียเพียงครั้งเดียว ภายหลังพระราชีนิอลิซาเบธ ที่ 2 ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น เซอร์ ฟรานซิส ไชเชสเตอร์ หลังจากที่เขาเสียชีวิตในปี 2515 เรือใบของเขาได้รับการซ่อมแซมและเก็บรักษาไว้ที่เมืองกรีนวิช ประเทศอังกฤษ
 

28 พฤษภาคม พ.ศ.2386 : โนอาห์ เว็บสเตอร์ นักเขียนพจนานุกรมชาวอเมริกันถึงแก่กรรม
 
 
     28 พฤษภาคม พ.ศ. 2386 โนอาห์ เว็บสเตอร์ (Noah Webster) นักเขียนพจนานุกรม (lexicographer) ชาวอเมริกัน ถึงแก่กรรม เว็บเตอร์เกิดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2301 ที่รัฐคอนเน็คทิคัต จบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล แล้วทำงานเป็นทนายความ และเริ่มเขียนบทความทางการเมือง หลังจากเกษียรอายุเขาทุ่มเทความสนใจที่ด้านภาษาศาสตร์จนกระทั่งรวบรวมคำศัพท์และจัดพิมพ์เป็นพจนานุกรมภาษาอังกฤษชื่อว่า Webster’s dictionary of the English Language สำเร็จเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2371 ขณะอายุ 70 ปี พจนานุกรมของเว็บส์เตอร์แบ่งออกเป็น 2 เล่ม รวบรวมคำศัพท์ภาษาอังกฤษกว่า 70,000 คำ ซึ่งเขาใช้เวลารวบรวมกว่า 20 ปี ปัจจุบันพจนานุกรมนี้ได้มีการปรับปรุงและพิมพ์ซ้ำในชื่อ เมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ (Merriam-Webster) ภายหลังเว็บสเตอร์ได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งวิชาการและการศึกษาของอเมริกา"
 

29 พฤษภาคม พ.ศ.2496 : เอ็ดมุนด์ ฮิลลารี และ เทนซิง นอร์เกย์ พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จ
 
 
     29 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 เอ็ดมุนด์ ฮิลลารี (Sir Edmund Percival Hillary) ชาวนิวซีแลนด์ และ เทนซิง นอร์เกย์ (Tenzing Norgay) ลูกหาบชาวเชอร์ปา เป็นนักสำรวจคณะแรกที่สามารถพิชิตยอดเขา เอเวอเรสต์ (Mount Everest) ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกบนเทือกเขาหิมาลัย บริเวณชายแดนระหว่างประเทศเนปาลกับธิเบต (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจีน) ยอดเขานี้มีความสูง 8,848 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ทั้งนี้ ยอดเขาเอเวอเรสต์จะสูงขึ้นปีละประมาณ 6.7 เซนติเมตร เพราะเปลือกโลกยังคงเลื่อนมาชนกันอยู่ตลอดเวลา ชาวธิเบตเรียกยอดเขาแห่งนี้ว่า "โชโมลุงมา” (Chomolungma) ส่วนชาวเนปาลเรียกว่า "สการ์มาทา” (Sagarmatha) แปลว่า "มารดาแห่งจักรวาล” ในอดีตชาวตะวันตกเรียกว่า "ยอดเขาที่ 15” (Peak XV) ต่อมา แอนดรูว์ วอห์ (Andrew Scott Waugh) นักสำรวจชาวอังกฤษได้ตั้งชื่อว่า "เอเวอเรสต์” ตามชื่อสกุลของ จอร์จ อีฟเรสต์ (Sir George Everest—จอร์จอ่านนามสกุลของตัวเองว่า “อีฟเรสต์”) หัวหน้าเจ้าหน้าที่สำรวจอังกฤษประจำอินเดีย ชาวตะวันออกตามเทือกเขาหิมาลัยเคารพดินแดนแห่งนี้มาก ด้วยเชื่อว่ายอดเขาเอเวอเรสต์เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตของพระผู้เป็นเจ้า และเป็นดินแดนสำหรับการแสวงบุญ ขณะที่ชาวตะวันตกเชื่อว่า การพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกคือการพิสูจน์ศักยภาพของมนุษย์ สถิตินับถึงฤดูปืนเขาเมื่อปี 2549 มีนักปีนเขาจากทั่วโลก 2,062 คนได้เดินทางมาเยือนภูเขาหิมาลัยแล้วถึง 3,050 ครั้ง มีผู้ที่เดินทางไปพิชิตยอดเอเวอเรสต์แล้วกว่าพันคน และมีผู้สังเวยชีวิต 203 คน ทุกวันนี้สภาวะโลกร้อนได้ทำให้น้ำแข็งบนยอดเขาเอเวอเรสต์ละลายเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่กิจกรรมปีนเขาก็ได้ก่อให้เกิดขยะถึง 21 ตัน เช่น อุปกรณ์ปีเขาที่ชำรุด ถังออกซิเจน เศษอาหาร เชือก และศพนักปืนเขา รัฐบาลเนปาลเก็บค่าธรรมเนียมจากนักปืนเขาคนละประมาณ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
 

30 พฤษภาคม พ.ศ.2484 : รัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคตด้วยโรคพระหทัยวาย
 
 
     30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคตด้วยโรคพระหทัยวาย ณ ประเทศอังกฤษ ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2436 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 76 ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระนามเดิมคือ สมเด็จเจ้าฟ้าชายประชาธิปกศักดิ์เดชน์ฯ ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารปืนใหญ่ม้า จากโรงเรียนนายร้อยเมืองลูวิช ประเทศอังกฤษ จากนั้นได้เสด็จนิวัติประเทศไทยในปี 2457 ทรงเข้ารับราชการทหารบกมาตั้งแต่ต้น ทรงอุปสมบทเมื่อปี 2460 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปีต่อมาได้อภิเษกสมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 พระองค์ก็ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อ ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญได้แก่ ทรงฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมชั้นสูงของชาติ โดยทรงก่อตั้งกรมมหรสพ และทรงอุปถัมภ์ศิลปินโขนผู้มีฝีมือ ทรงส่งเสริมการศึกษาของชาติ โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอพระสมุดสำหรับพระนคร ทรงตั้ง ราชบัณฑิตยสภา ด้านเศรษฐกิจ ทรงแก้ปัญหาเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทรงตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นของราชการ ทรงยุบหน่วยราชการและลดจำนวนข้าราชการบางหน่วยที่พอจะยุบได้ ทรงเสียสละตัดทอนรายจ่ายส่วนพระองค์ โดยมิได้ขึ้นภาษีให้ราษฎรเดือดร้อน เพื่อแก้ไขการงบประมาณของประเทศให้สมดุลย์ ในระหว่างที่เสด็จไปประทับที่สวนไกลกังวล อ. หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ ในตอนเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร์ ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองและจับตัวพระบรมวงศ์และข้าราชการชั้นสูงไว้เป็นตัวประกัน จากนั้นได้มีหนังสือไปกราบบังคมทูลเชิญเสด็จกลับพระนคร เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระองค์ได้เสด็จกลับพระนครและพระราชทาน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ได้ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2478 ระหว่างที่ทรงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ รวมเวลาครองราชย์ 9 ปี และเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระหทัยพิการ รวมพระชนมายุ 48 พรรษาในปี 2491 รัฐบาลได้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระองค์กลับประเทศไทย
 

30 พฤษภาคม พ.ศ.2457 : รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ เปิด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
 
 
     30 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ เปิดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลแห่งนี้สร้างขึ้นโดยพระราชดำริของรัชกาลที่ 6 โดยหลังจากที่รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง สภาอุณาโลมแดง (ต่อมาเปลี่ยนเป็น "สภากาชาดไทย”) ขึ้นในวันที่ 26 เมษายน 2436 โดยรับการรักษาพยาบาลผู้เจ็บไข้ได้ป่วย ตามมติของนานาชาติที่เจริญแล้ว แต่การสภากาชาดไทยยังไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ ถ้าจะบริจาคทรัพย์สร้างโรงพยาบาลสภากาชาดขึ้น ก็จะเป็นพระกุศล อันประกอบด้วยถาวรประโยชน์ตามพระราชประสงค์แห่งองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ และเป็นเกียรติแก่ราชอาณาจักร โดยทรงพระดำริเห็นพ้องกันกับบรรดาพระราชโอรส พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงบริจาคทรัพย์รวมกัน สมทบกับทุนของสภากาชาด สร้างโรงพยาบาลขึ้นและพระราชทานนามตามพระปรมาภิไธย สมเด็จพระบรมชนกนาถว่า "โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์" ปัจจุบันถือเป็นหน่วยงานในสังกัดสภากาชาดไทย โดยดำเนินงานร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

 30 พฤษภาคม พ.ศ.2317 : ฟรองซัวส์ มารี อารูเอต์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเสียชีวิต
 
 
   30 พฤษภาคม พ.ศ. 2317 ฟรองซัวส์ มารี อารูเอต์ (Francois Marie Arouet) เจ้าของนามปากกา วอลแตร์ (Voltaire) นักประพันธ์และนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 18 เสียชีวิต วอลแตร์เกิดที่ปารีสเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2237 ในตระกูลคนชั้นกลาง เรียนหนังสือที่วิทยาลัย หลุยส์ เลอ กรองด์ (College Louis-le-Grand) จากนั้นได้เรียนกฎหมายเพิ่มเติม เริ่มทำงานเป็นทนายความ ในวัยหนุ่ม เขาคบหาสมาคมกับปัญญาชนในกรุงปารีส และได้เริ่มประพันธ์งานประเภทบทละคร และโคลงกลอนเสียดสีผู้มีอำนาจ และความงมงายทางศาสนา จนถูกจำคุก หลังจากเป็นอิสระเขาได้เขียนบทละครถวาย พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 (Louis XV of France) เป็นที่ถูกพระทัย จึงได้รับอุปถัมภ์เข้าเป็นกวีประจำราชสำนัก แต่เขาก็ไปมีเรื่องวิวาทกับขุนนางผู้หนึ่ง จึงต้องลี้ภัยไปอังกฤษอยู่สองปี ทำให้เขาประทับใจสังคมอังกฤษที่มีการคานอำนาจกันอย่างดี ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐสภา ส่งผลให้บ้านเมืองมีบรรยากาศของเสรีภาพมากกว่าในฝรั่งเศส เมื่อกลับมาเขาจึงเขียนผลงานสำคัญเล่มแรก Lettres Anglaises (จดหมายจากอังกฤษ) ตีพิมพ์ในปี 2277 ส่งให้วอลแตร์มีชื่อเสียงโด่งดังในวงการนักเขียนและปัญญาชน ในบั้นปลายชีวิต วอลแตร์ได้ซื้อปราสาทหลังหนึ่งใกล้พรมแดนสวิตเซอร์แลนด์ และปักหลักอยู่ที่นั่นนานถึง 20 ปีเศษ ในปี 2321 วอลแตร์เดินทางกลับมาเยือนกรุงปารีส ตามคำเชิญของราชบัณฑิตยสภา เขาได้รับการต้อนรับจากประชาชนอย่างยิ่งใหญ่ และได้จากโลกไปในปีนั้นเอง ผลงานที่สำคัญคือนิทานปรัชญาเรื่อง ก็องดิดด์ (Candide ou L’optimisme) ซาดิก (Zadig) ทั้งสองเล่มเป็นนิยายผจญภัยแนวเสียดสีสังคม วอลแตร์เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในความเคลื่อนไหวของ ยุคแสงสว่างทางปัญญา (Age of Enlightenment) ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 18 ซึ่งเน้นการใช้หลักเหตุผลตามแบบวิทยาศาสตร์ มาใช้วิเคราะห์วิจารณ์การปกครอง สถาบันศาสนา ระบบเศรษฐกิจ และขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาช้านาน อีกทั้งยังเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ให้แก่ประชาชน ความคิดและผลงานของเขานำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและศาสนา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม "การปฏิวัติฝรั่งเศส” (French Revolution) ในช่วงปี 2332-2333
 

30 พฤษภาคม พ.ศ.1974 : โยน ออฟ อาร์ก ถูกตัดสินประหารชีวิต
 
 
     30 พฤษภาคม พ.ศ. 1974 โยน ออฟ อาร์ก (Joan of Arc) วีรสตรีผู้กอบกู้ประเทศฝรั่งเศสในช่วงสงครามร้อยปีกับอังกฤษ (Hundred Years’ War) ถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการเผาทั้งเป็น ขณะอายุเพียง 19 ปี หลังจากที่เธอถูกกองทัพอังกฤษจับตัวได้ จอห์น ออฟ แลนแคสเตอร์ (John of Lancaster, 1st Duke of Bedford) ได้กล่าวหาว่าเธอเป็นพวกนอกรีตและเป็นแม่มด ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 1972 โจนได้นำกำลังฝรั่งเศสตอบโต้กองทัพอังกฤษ ปลดปล่อยเมือง ออร์เลอ็องส์ (Orleans) จนได้ชัยชนะในที่สุด โจนเป็นคนเคร่งศาสนา มักไปสวดมนต์ที่โบสถ์เป็นประจำ ในช่วงสงครามร้อยปี (พ.ศ. 1880-1996) ซึ่งอังกฤษได้ยึดครองฝรั่งเศส วันหนึ่งโจนในวัย 17 ปีได้ยินเสียงจากพระเจ้าสั่งให้เธอเป็นผู้ปลดปล่อยฝรั่งเศส เธอจึงได้นำทัพฝรั่งเศสออกรบกับกองทัพอังกฤษที่เข้ามารุกรานจนได้ชัยชนะในที่สุด 24 ปีหลังจากที่เธอถูกประหารชีวิต พระสันตปาปา แคลลิกตัสที่ 3 (Pope Callixtus III) ได้นำคดีของเธอขึ้นมาไต่สวนอีกครั้งและสรุปว่าเธอเป็นผู้บริสุทธิ์ จากนั้นได้ประกาศให้การตัดสินลงโทษเธอเป็นโมฆะ และในปี 2463 พระสันตะปาปาเบเนดิกที่ 15 (Pope Benedict XV) ได้แต่งตั้งเธอเป็นนักบุญโจนออฟอาร์ค (Saint Joan of Arc) ทุกวันนี้ นักบุญโจนได้รับการยกย่องให้เป็นวีรสตรีผู้ปลดปล่อยฝรั่งเศส และผู้มีศรัทธาอย่างมั่นคงต่อพระเจ้า
 

31 พฤษภาคม พ.ศ.2531 : องค์การอนามัยโลก ประกาศให้วันนี้เป็น วันงดสูบบุหรี่โลก
 
 
     31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้วันนี้เป็น วันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) เป็นครั้งแรก ด้วยเหตุผลที่บุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคถึง 25 โรค เช่น มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง และเส้นเลือดหัวใจตีบ ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่เฉลี่ยวันละ 11,000 คนและคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 10 ล้านคนหรือนาทีละ 20 คน
 

 31 พฤษภาคม พ.ศ.2423 : สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ เสด็จธิวงคต
 
 
     31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี (พระนางเรือล่ม) อัครมเหสีใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ฯ พระราชธิดา เสด็จธิวงคตในอุบัติเหตุเรือพระที่นั่ง เรือพระประเทียบ ล่มที่บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ระหว่างเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา สาเหตุที่เรือล่มเป็นเพราะนายท้ายเรือพระประเทียบเมาเหล้า ขณะที่แล่นแซงเรือลำอื่นก็ได้เกิดอุบัติเหตุเรือล่ม ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงว่ายน้ำเป็น แต่ทรงห่วงพระราชธิดา จึงเข้าไปช่วยและสิ้นพระชนม์ไปพร้อมกัน แม้ในบริเวณนั้นจะมีชาวมอญกำลังขุดทรายอยู่ แต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วย เพราะเกรงกลัวกฎมณเฑียรบาล ที่ห้ามให้ผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล ได้มีพิธีถวายพระเพลิงศพเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2423 ในงานนี้มีการแจก หนังสือสวดมนต์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้พิมพ์แจกเพื่อเป็นพระราชกุศล จำนวน 10,000 เล่ม นับเป็นหนังสืองานศพเล่มแรกของไทย นอกจากนั้นรัชกาลที่ 5 ยังทรงได้สร้างอนุสาวรีย์พระนางเรือล่มไว้ที่พระราชวังบางปะอินด้วย
 

31 พฤษภาคม พ.ศ.2325 : โจเซฟ ไฮเดิน คีตกวีชาวออสเตรียเสียชีวิต
 
 
     31 พฤษภาคม พ.ศ. 2325 โจเซฟ ไฮเดิน (Franz Joseph Haydn) คีตกวีชาวออสเตรียผู้บุกเบิกเพลงซิมโฟนี เกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2275 ที่เมืองโรห์เรา (Rohrau) ประเทศออสเตรีย พ่อเป็นช่างทำรถม้า แม่เป็นแม่ครัว ไอเดินเริ่มเรียนดนตรีตอนอายุ 6 ขวบ เขาเป็นเด็กที่มีน้ำเสียงไพเราะจึงมีผู้ชักชวนเข้าร่วมวงขับร้องประสานเสียงแห่งโบสถ์เซนต์สตีเฟน (St. Stephen’s Cathedral) ที่กรุงเวียนนา พออายุ 17 ปีเสียงของเขาเริ่มแตกจึงต้องออกจากวง เขาขาดญาติมิตรที่พึ่งพิงจึงทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพอย่างยากลำบากอยู่หลายปี โดยเล่นดนตรีข้างถนน ตามงานแต่งงานและงานศพ ในระยะนั้นบรรยากาศในกรุงเวียนนาเต็มไปด้วยเสียงดนตรี ไฮเดินมีความใฝ่ฝันที่จะประสบความสำเร็จในทางสายนี้ให้ได้ จึงฝึกฝนทฤษฎีดนตรีและฝึกแต่งเพลงคลาเวียร์ (Clavier) อย่างหนัก ในปี 2300 เขาเริ่มแต่งเพลงสำหรับวงสตริงควอเต็ตและแต่งเพลงซิมโฟนีบทแรก จากนั้นก็ได้เป็นหัวหน้าฝ่ายดนตรีและนักแต่งเพลงประจำวงของ เคาท์ มอร์ซิน (Count Ferdinand Maximilan Morzin) ต่อมาก็ได้เป็นหัวหน้าวงดนตรีของตระกูล เอสเตอร์ฮาร์ซีย์ (Eszterhazy family) ตระกูลที่มั่งคั่งและรักดนตรีแห่งประเทศฮังการี ไฮเดิลได้ควบคุมวงดนตรีทั้งหมดด้วยตนเอง และได้ประพันธ์เพลงขึ้นจำนวนมากทั้งคอนเซอร์โต สตริงควอเต็ต ซิมโฟนี เช่น Farewell Symphony และ D Major harpsichord Concerto ไฮเดินมีชื่อเสียงไปทั่วยุโรป ในวัย 50 ปีไฮเดินได้พบกับ โมซาร์ต (Wolfgang Amadeus Mozart) วัย 25 ปี ต่อมาทั้งคู่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยโมซาร์ตได้เรียนรู้ดนตรีจากไฮเดินและพัฒนาจนกลายเป็นคีตกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในโลกในเวลาต่อมา ในวัย 58 ปี ไฮเดินกลับไปทำงานอย่างเงียบๆ อยู่ที่กรุงเวียนนา ก่อนจะออกเดินทางไปพำนักที่กรุงลอนดอนอยู่ปีครึ่ง ได้แต่งเพลงซิมโฟนีไว้หลายเพลง ในบั้นปลายชีวิต ไฮเดินกลับมาพำนักอยู่ที่เมืองโรห์เราบ้านเกิด และเสียชีวิตลงที่นี่ ในช่วงที่นโปเลียนเข้ายึดครองกรุงเวียนนา ทิ้งผลงานบทเพลงซิมโฟนีไว้ประมาณ 104 บท สตริงควอเต็ต 68 บท และบทเพลงอื่นๆ อีกจำนวนมาก ไฮเดินได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งเพลงซิมโฟนี" และ "บิดาแห่งสตริงควอเต็ต" (Father of the Symphony" และ "Father of the String Quartet")
 

31 พฤษภาคม พ.ศ.2362 : วันเกิด วอลต์ วิตแมน กวีชาวอเมริกัน
 
 
     31 พฤษภาคม พ.ศ. 2362 วันเกิด วอลต์ วิตแมน (Walter "Walt" Whitman) กวีชาวอเมริกัน เกิดที่เมืองลองไอส์แลนด์ รัฐนิวยอร์ก ตอนเด็กๆ วิตแมนได้รับอิทธิพลทางความคิดแบบเสรีนิยม และทัศนคติด้านการเมือง จากพ่อของเขา ซึ่งเป็นช่างไม้ที่นับถือนิกายเควกเกอร์ (Quaker--นิกายย่อยของคริสตจักรโปรเตสแตนท์) ตอนอายุ 11 ขวบเขาทำงานเป็นเด็กรับใช้ประจำสำนักงานกฎหมาย จากนั้นย้ายมาเป็นเด็กเรียงพิมพ์ ก่อนจะได้ทำงานหนังสือพิมพ์และเป็นบรรณาธิการในที่สุด เขาได้เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายค้าทาสของรัฐบาลอย่างรุนแรง ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของประชาธิปไตยอย่างมาก ผลงานที่สร้างชื่อให้เขาได้แก่หนังสือรวมบทกวีชุด Leaves of Grass ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2398 บทกวีชุดนี้ได้แสดงออกถึงจิตวิญญาณอิสระแห่งวัยเยาว์ ผลงานของวิตแมนส่วนใหญ่จะสดุดีความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ คุณค่าของปัจเจกชน เสรีภาพและภาดรภาพ วิตแมนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2435 เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีชาวอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ผลงานของเขามีอิทธิพลต่อวงการวรรณกรรมมาจนทุกวันนี้