วันนี้ในอดีต/เดือนมิถุนายน

  • Print
1 มิถุนายน พ.ศ.2523 : สถานีโทรทัศน์ ซีเอ็นเอ็น แพร่สัญญาณเป็นครั้งแรก
 
1 มิถุนายน พ.ศ. 2523 ซีเอ็นเอ็น (Cable News Network : CNN) สถานีเครือข่ายโทรทัศน์เคเบิลของสหรัฐอเมริกา เริ่มแพร่สัญญาณเป็นครั้งแรก สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ก่อตั้งโดย เท็ด เทอร์เนอร์ (Ted Turner) ปัจจุบัน ซีเอ็นเอ็นเครือข่ายโทรทัศน์ที่เสนอข่าวสารตลอด 24 ชั่วโมง บริหารโดย Turner Broadcasting System (บริษัทในเครือ Time Warner) มีศูนย์ข่าวกลางอยู่ที่เมืองแอทแลนตา รัฐจอร์เจีย ซีเอ็นเอ็นเริ่มได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียในช่วงปี 2533-2534 แต่หลังจากที่ได้แสดงจุดยืนเป็น กระบอกเสียงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ในช่วงสงครามสหรัฐฯ-อิรักเมื่อปี 2546 ซีเอ็นเอ็นก็ได้รับการวิพากษ์วิจารย์เป็นอย่างมากถึงความเป็นกลางในฐานะสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม จากสถิติเมื่อปี 2547 มีผู้ชมชาวอเมริกันประมาณ 88.2 ล้านหลังคาเรือนรับชมข่าวจากซีเอ็นเอ็น มากเป็นอันดับต้นๆ ของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ซีเอ็นเอ็นยังแพร่ภาพออกไปยังต่างประเทศ มีผู้ชมประมาณ 1.5 พันล้านคน ใน 212 ประเทศ
 

1 มิถุนายน พ.ศ.2451 : รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศใช้ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127
 
1 มิถุนายน พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศใช้ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ซึ่งนับเป็น ประมวลกฎหมาย ฉบับแรกของไทย โดยมี พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเป็นประธานคณะกรรมการการตรวจพระราชกำหนด บทอัยการที่ใช้อยู่ และจัดวางระเบียบไว้ เป็นบรรทัดฐาน ทรงเริ่มทำตั้งแต่ปี 2440 สำเร็จในปี 2451 ใช้เวลาถึง 11 ปี ประเทศไทยใช้ประมวลกฎหมายฉบับนี้มาเป็นเวลานานถึง 49 ปี ถือว่าเป็นต้นแบบของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งประกาศให้ใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2500
 

2 มิถุนายน พ.ศ.2522 : สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จเยี่ยมประเทศโปแลนด์
 
2 มิถุนายน พ.ศ. 2522 สมเด็จพระสันตปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 (Pope John Paul II) เสด็จเยี่ยม ประเทศโปแลนด์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระองค์ โดยทรงเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่เสด็จเยือนประเทศคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้ตลอดเวลาทีทรงดำรงตำแหน่งประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก พระองค์ได้พระองค์ทรงเดินทางไปพบคริสตศาสนิกชนในทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ รวมเป็นระยะทางกว่า 1,247,613 กิโลเมตร ประเมินว่าพระองค์ได้เดินทางรอบโลกแล้ว 27 รอบ ทรงใช้เวลา 822 วัน หรือกว่า 2 ปี 3 เดือน ในการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ นอกกรุงโรม ทรงกล่าวสุนทรพจน์กว่า 20,000 ครั้ง หรือกว่า 100,000 หน้า ทรงเข้าประชุมร่วมกับผู้นำทางการเมืองกว่า 1,600 ครั้ง รวมไปถึงการเข้าพบกับประมุขของรัฐ 776 คน และนายกรัฐมนตรีอีก 246 คน ทรงเดินทางไปเทศนาและต่อต้านสงคราม คอมมิวนิสต์ ฟาสซิสต์ เผด็จการ ทุนนิยม วัตถุนิยม การทำแท้ง และการกระทำอันผิดศีลธรรม ขณะเดียวกันพระองค์ก็ส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำของศาสนาต่างๆ
 

 2 มิถุนายน พ.ศ.2496 : สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2 ทรงเข้าพิธีราชาภิเษก
 
2 มิถุนายน พ.ศ. 2496 สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2 (Queen Elizabeth II) ทรงเข้าพิธีราชาภิเษก ณ วิหารเวสมินเตอร์ กรุงลอนดอน โดยครองบัลลังก์สืบต่อจากพระบิดา พระเจ้าจอร์จ ที่ 6 (King George VI) ในขณะมีพระชนม์ 27 พรรษา พระราชพิธีราชาภิเษกครั้งนี้ได้มีการแพร่ภาพออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในสหราชอาณาจักร พระองค์ทรงมีพระนามเดิมว่า อลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี (Elizabeth Alexandra Mary) ประสูติเมื่อ 21 เมษายน 2469 ทรงเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าจอร์จ ที่ 6 กับพระนางเจ้าอลิซาเบธ (Queen Elizabeth) ทรงอภิเษกสมรสกับ มกุฎราชกุมารฟิลิป (The Prince Philip, Duke of Edinburgh) ในปี 2490 เสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2495 หลังจากที่พระบิดาเสด็จสวรรคตด้วยโรคมะเร็งปอด ทรงเป็นประมุขของรัฐต่างๆ ในเครือจักรภพอังกฤษ 16 ประเทศ ทรงปกครองประชาชนกว่า 128 ล้านคน ซึ่งเป็นผลเมืองกว่าหนึ่งในสามของประชากรโลก
 

 3 มิถุนายน พ.ศ.2516 : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเปิด เขื่อนจุฬาภรณ์
 
3 มิถุนายน พ.ศ. 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมรากุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ วลัยลักษณ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด เขื่อนจุฬาภรณ์ เดิมชื่อว่า เขื่อนน้ำพรม เป็นเขื่อนอเนกประสงค์เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลัก สร้างปิดกั้นลำน้ำพรมบนเทือกเขาขุนพาย บริเวณภูหยวกที่ ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและเริ่มก่อสร้างในปี 2512 แล้วเสร็จในปี 2515 ลักษณะเขื่อนเป็นแบบหินถม แกนกลางเป็นดินเหนียวบดอัดทับแน่นด้วยกรวดและหิน มีความยาวสันเขื่อน 700 เมตร กว้าง 8 เมตร ฐานกว้าง 250 เมตร ความสูงจากฐานราก 70 เมตร ความจุของอ่างเก็บน้ำ 188 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ 165 ล้านลูกบาศก์เมตร ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 20,000 กิโลวัตต์จำนวน 2 ชุด สามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละ 95 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง บริเวณที่ตั้งของเขื่อนมีทิวทัศน์สวยงาม จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ ในการสร้างเขื่อนแห่งนี้ได้มีการทำลายพื้นที่ป่าไปมากกว่าผืนป่าที่ถูกน้ำท่วมกลายเป็นอ่างเก็บน้ำถึง 20 เท่า อีกทั้งน้ำจากลำน้ำพรมที่เคยมีเพียงพอและหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในเขต อ.เกษตร-สมบูรณ์, อ.ภูเขียว, อ.บ้านแท่น ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากปริมาณน้ำพรมที่เคยมีใช้อย่างเพียงพอได้ลดลง เกือบตลอดปีลำน้ำพรมก็จะแห้งขอด ส่งผลให้พันธุ์สัตว์น้ำสูญหาย และวิถีชีวิตของคนตลอดลำน้ำพรมเปลี่ยนไป ตลอดเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เดือดร้อนต้องเดินทางไปเขื่อนจุฬาภรณ์เพื่อขอให้เขื่อนปล่อยน้ำมาให้เพียงพอกับการทำการเกษตรอย่างน้อยปีละ 3–4 ครั้งจนเกิดเป็น "ประเพณีการตามน้ำของคนน้ำพรม" กลุ่มเกษตรกรลุ่มน้ำพรมได้รวมตัวเป็น "คณะกรรมการชาวบ้านแก้ไขปัญหาลำน้ำพรม" (คกพ.) และยืนยันข้อเรียกร้องในการแก้ปัญหาลำน้ำพรมต่อนายสาวิตต์ โพธิวิหค รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2542 เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาลำน้ำพรมอย่างจริงจัง แต่จนถึงปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข
 

3 มิถุนายน พ.ศ.2442 : โยฮันน์ สเตราส์ จูเนียร์ ราชาเพลงวอลซ์ เสียชีวิต
 
3 มิถุนายน พ.ศ. 2442 โยฮันน์ สเตราส์ จูเนียร์ หรือ โยฮันน์ สเตราส์ ที่ 2 (Johann Strauss Junior) คีตกวีชาวออสเตรียที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "ราชาแห่งเพลงวอลซ์" (The Waltz King) เสียชีวิต สเตราส์ จูเนียร์เป็นลูกชายคนแรกของ โยฮันน์ สเตราส์ ที่ 1 (Johann Strauss I) คีตกวีผู้เป็น "บิดาแห่งเพลงวอลซ์" (Father of Waltz) ชาวออสเตรีย สเตราส์ จูเนียร์เกิดที่กรุงเวียนนาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2368 ในขณะที่วงดนตรีของบิดากำลังมีชื่อเสียง ด้วยชีวิตนักดนตรีที่ต้องต่อสู้อย่างหนักกว่าจะมีชื่อเสียงและยังต้องทำงานหนัก พ่อของเขาจึงไม่อยากให้ลูกชายเดินตามทางนี้ แต่ลูกไม่หรือจะให้หล่นไกลต้น สเตราส์ผู้ลูกรู้ตัวว่ามีเลือดแห่งดนตรีอยู่เต็มตัว จึงแอบหัดไวโอลินตั้งแต่เด็กๆ ตอนหกขวบได้ลองเล่นเพลงวอลซ์ที่แต่งเอง เมื่อพ่อรู้จึงไม่ชอบใจอย่างยิ่ง และห้ามเขาแตะต้องไวโอลินอย่างเด็ดขาด แต่เขาก็ยังแอบเรียนดนตรีอย่างลับต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนจากแม่ เนื่องจากพ่อของเขาใช้เวลาและทรัพย์สินส่วนใหญ่ไปกับเมียน้อยแม่ของเขาจึงยอมอดออมสนับสนุนลูกชายอย่างเต็มที่ เขาพัฒนาฝีมือจนแก่กล้าขึ้นและได้เปิดการแสดงครั้งแรกที่ Dommayer’s Casino ที่เมืองไฮท์ซิง (Hietzing) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2387 สเตราส์ในวัย 19 ปีประสบความสำเร็จมาก ชาวเวียนนาแห่ไปดูกันเนืองแน่น จนในที่สุดก็ได้พบว่าจ้าวแห่งเพลงวอลซ์คนใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว ภายหลังชื่อเสียงของสเตราส์ผู้พ่อเริ่มลดความนิยมลง ลูกชายของเขาก็เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาแทน และได้เล่นเพลงของพ่อเพื่อเป็นการขออภัย ซึ่งพ่อของเขาก็ภูมิใจในตัวลูกชายคนนี้ไม่น้อย แต่ก็ไม่เคยพบหน้ากันจนกระทั่งพ่อของเขาป่วยเสียชีวิตในปี 2392 สเตาส์ลูกชายจึงได้รวมวงของพ่อเข้ากับวงของตน ตลอดชีวิตเขาแต่งเพลงไว้จำนวนมาก ทั้งโอเปรา โอเปอเร็ทตา มาร์ช บัลเลต์ โพลกา และเพลงวอลซ์ เพลงวอลซ์ของเขามีลักษณะเหมือนซิมโฟนี มีผลงานที่ยิ่งใหญ่หลายเพลง อาทิ The Blue Danube, Wine Woman and Song, Tales from Vienna Woods, Voises of Spring, Arstist’s Life และ Emperor Waltz
 

3 มิถุนายน พ.ศ.2379 : หมอบรัดเลย์พิมพ์สิ่งพิมพ์ฉบับแรกในประเทศไทย
 
3 มิถุนายน พ.ศ. 2379 หมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) มิชชันนารีชาวอเมริกัน ให้กำเนิดสิ่งพิมพ์ฉบับแรกในประเทศไทยคือ หนังสือบัญญัติสิบประการ (The Commandments) ซึ่งเป็นหนังสือสอนคริสตศาสนามีทั้งหมด 8 หน้า ทั้งนี้การพิมพ์ในสยามเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่หมอบรัดเลย์เดินทางมาถึงสยามเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2478 พร้อมกับตัวพิมพ์อักษรไทย และแท่นพิมพ์ไม้ที่ซื้อมาจากสิงคโปร์ หมอบรัดเลย์และคณะอเมริกันบอร์ด (American Board of Commisionary of Forein Missions : A.B.C.F.M.) ได้ตั้งสำนักงานและโรงพิมพ์ขึ้นที่ตรอกกัปตันบุช ย่านถนนเจริญกรุง และได้ดำเนินการพิมพ์ใบปลิว ปฏิทิน และหนังสือต่างๆ ออกมาจำนวนมาก ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการเริ่มต้นยุคสมัยแห่งการพิมพ์ในสยาม ต่อมาหมอบรัดเลย์ได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งการพิมพ์สยาม"
 

4 มิถุนายน พ.ศ.2532 : เกิดเหตุการณ์นองเลือดที่ จตุรัสเทียนอันเหมิน
 
4 มิถุนายน พ.ศ. 2532 เกิดเหตุการณ์นองเลือดที่ จตุรัสเทียนอันเหมิน (Tiananmen Square Massacre) กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในยุคที่เติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้นำระบอบคอมมิวนิสต์ โดยกองกำลังทหารติดอาวุธพร้อมรถถังเข้าระดมยิงเพื่อสลายการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนที่ชุมนุมประท้วงต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ การชุมนุมเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2532 นำโดยปัญญาชนและนักศึกษาชาวจีน มีผู้เข้าร่วมชุมนุมนับหมื่นคน การปราบปรามของทหารทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 2,000 คน บาทเจ็บอีกราว 7,000- 10,000 คน การเรียกร้องของนักศึกษาประชาชนครั้งนี้ล้มเหลว ส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์อยู่รอดแข็งแกร่งมาจนทุกวันนี้ แต่เหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนี้ก็ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า รัฐบาลจีนได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
 

4 มิถุนายน พ.ศ.2516 : เครื่องฝาก-ถอนเงินสดอัตโนมัติได้รับการจดสิทธิบัตร
 
4 มิถุนายน พ.ศ. 2516 ดอน เวทเซล (Don Wetzel), ทอม บาร์นส์ (Tom Varnes) และ จอร์จ เชสเทน (George Chastain) จดสิทธิบัตร เครื่องฝาก-ถอนเงินสดอัตโนมัติ หรือ ATM (Automatic Teller Machine) โดยใช้บัตรพลาสติกที่มีแถบแม่เหล็กบันทึกรหัสประจำบัตรในการฝาก-ถอนกับเครื่องเอทีเอ็ม อีก 4 ปีต่อมา ธนาคารซิตี้แบงก์ (City Bank) ก็ได้ติดตั้งตู้เอทีเอ็มเครื่องแรกที่สำนักงานในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เปิดให้บริการฝากและถอนเงินอัตโนมัติแก่ลูกค้า 24 ชั่วโมง ตลอดทุกวันไม่มีวันหยุด ในเวลาประมาณ 6 เดือนบริการเอทีเอ็มของซิตี้แบ็งค์ก็สามารถดึงลูกค้าจากธนาคารอื่นมาเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดขึ้นเกือบสามเท่าตัว ก่อนที่ธนาคารคู่แข่งจะไหวตัวทันและให้บริการเอทีเอ็มบ้าง สำหรับประเทศไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นเจ้าแรกที่นำเอทีเอ็มมาใช้เมื่อปี 2526 เรียกว่า "บริการเงินด่วน" ให้บริการนำฝาก ถอน โอนเงิน และสอบถามยอดบัญชี ยุคแรกเอทีเอ็มเบิกใช้ได้เฉพาะในบัญชีธนาคารนั้นๆ จนกระทั่งมีระบบเอทีเอ็มพูล (ATM Pool) ซึ่งบัตรเอทีเอ็มของทุกธนาคารสามารถถอนเงินหรือฝากเงินจากตู้ของธนาคารใดก็ได้
 

4 มิถุนายน พ.ศ.2513 : ราชอาณาจักรตองกาได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร
 
4 มิถุนายน พ.ศ. 2513 ราชอาณาจักรตองกา (Kingdom of Tonga) ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร ตองกา หรือตามภาษาถิ่นอ่านว่า "โตงา" แปลว่าทิศใต้ เป็นประเทศหนึ่งในมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งอยู่ระหว่างประเทศนิวซีแลนด์และมลรัฐฮาวาย ของสหรัฐอเมริกา ราวพุทธศตวรรษที่ 14 ตองกาได้พ้นจากการปกครองของทั้งสองประเทศ โดยพระเจ้าอะโฮอิตู (‘Aho’eitu) ได้สถาปนาตัวเป็นกษัตริย์องค์แรกของตองกา ปกครองสืบต่อมาหลายรัชกาล จนถึงปี 2316 กับตันเจมส์ คุก (James Cook) นักสำรวจชาวอังกฤษได้เดินเรือมาพบและตั้งชื่อว่า “หมู่เกาะแห่งมิตรภาพ” (Friendly Islands) ต่อมาปี 2443 ในสมัยพระเจ้าจอร์จ ตูปูที่ 2 (King George Tupou II) ได้ทรงทำสนธิสัญญาให้ตองกาเป็นรัฐภายใต้การคุ้มครองของสหราชอาณาจักร มาถึงสมัยพระเจ้าเตาฟาอาเฮาตูปูที่ 4 (Taufa’ahau Tupou IV) ได้ทรงขออำนาจปกครองตนเองคืนทั้งหมด พร้อมกับเข้าร่วมเป็นสมาชิกในเครือจักรภพ ตองกาแบ่งการปกครองออกเป็น 3 หมู่เกาะคือ ตองกาตาปู (Tongatapu), ฮาอะไป (Ha’apai) และวาวาอู (Vava’u) มีเมืองหลวงคือนูกูอะโลฟา มีพื้นที่ทั้งหมด 748 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 114,689 คน (พ.ศ.2549) รายได้หลักคือฟักทองและการท่องเที่ยว ชาวตองกามีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง และมีภาษาพูดเป็นของตนเอง คือภาษาตองกา และใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ
 

5 มิถุนายน พ.ศ.2515 : วันสิ่งแวดล้อมโลก 
 
5 มิถุนายน พ.ศ. 2515 วันสิ่งแวดล้อมโลก มีการประชุม "สหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์" (UN Conference on the Human Environment) ที่กรุงสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน 2515 มีผู้เข้าร่วมประชุม 1,200 คน จาก 113 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมพิจารณาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่แต่ละประเทศสมาชิกกำลังประสบอยู่อย่างเร่งด่วน ซึ่งประเด็นสำคัญในการหารือก็คือ ทุกๆ ประเทศสมาชิกต่างต้องสรรหาวิธีการดูแลแก้ไขปัญหา และให้ความตื่นตัวเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของทุกภูมิภาคทั่วโลกอย่างจริงจัง ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การสหประชาชาติ (UN) และเพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือระหว่างชาติทั่วโลกในด้านสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดให้วันนี้ของทุกปีเป็น "วันสิ่งแวดล้อมโลก" (World Environment Day)
 

5 มิถุนายน พ.ศ.2510 : สงคราม 6 วัน (Six Day War) เริ่มต้นขึ้น
 
5 มิถุนายน พ.ศ. 2510 สงคราม 6 วัน (Six Day War) เริ่มต้นขึ้นเมื่ออิสราเอล เริ่มโจมตี อียิปต์ จอร์แดน และ ซีเรีย ทางอากาศ สงครามครั้งนี้นับเป็นสงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งที่ 3 หลังจากเกิดวิกฤติการณ์คลองสุเอซ (Suez Crisis) เมื่อปี 2499 กาเมล อับเดส นัสเซอร์ (Gamal Abdel Nasser) ประธานาธิบดีของอียิปต์ได้เข้ายึดฉนวนกาซา (Gaza Strip) และปิดล้อมอ่าวอกาบา (Gulf of Agaba) พร้อมทั้งห้ามเรือสินค้าของอิสราเอลแล่นผ่าน แล้วเริ่มโจมตีอิสราเอล เป็นผลให้อิสราเอลเริ่มตอบโต้ตั้งแต่วันที่ 5-10 มิถุนายน 2510 สงครามจบลงด้วยชัยชนะของอิสราเอล ซึ่งสามารถยึดครองคาบสมุทรซีนาย (Sinai Peninsula) บริเวณฉนวนกาซา ดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนหรือเขตเวสต์แบงค์ (West Bank) และที่ราบสูงโกลัน (Golan Heights) ซึ่งนับเป็นการสร้างความมั่นคงทางดินแดนให้กับอิสราเอล แต่ฝ่ายอาหรับและปาเลสไตล์ก็พยามตอบโต้และกลายเป็นสงครามกันอยู่เสมอ จนถึงปัจจุบันนี้ สันติภาพถาวรก็ยังไม่บังเกิด อีกทั้งสงครามครั้งนี้ทำให้คลองสุเอซถูกปิด ไม่มีการใช้งาน ก่อนจะเปิดอีกครั้งในวันที่ 5 มิถุนายน 2518
 

5 มิถุนายน พ.ศ.2231 : เจ้าพระยาวิชเยนทร์ ถึงแก่กรรม
 
5 มิถุนายน พ.ศ. 2231 เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (วิชาเยนทร์ หรือ วิไชเยนทร์) ขุนนางคนสนิทของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชถูกพระเพทราชา ใช้อุบายหลอกไปประหารที่วัดซาก ข้างทะเลชุบศร เมืองลพบุรี เจ้าพระยาวิชเยนทร์เป็นฝรั่งชาวกรีกเดิมชื่อ คอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantine Phaulkon) เกิดเมื่อปี 2190 ที่เกาะเคฟาโลเนีย (Cephalonia) ประเทศกรีก เข้าทำงานกับบริษัท East India Company ของอังกฤษแล้วออกมาเสี่ยงโชคในสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเป็นสมัยที่สยามทำการค้าทางทะเลกับต่างประเทศ เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองมากด้วยความเก่งกาจสามารถและฉลาดเฉลียว ทำเขาก้าวขึ้นจากคนตัวเปล่า กลายเป็นอัครมหาเสนาบดีได้ภายในระยะเวลาเพียง 8 ปี ได้บรรดาศักดิ์และราชทินนามว่า "เจ้าพระยาวิชเยนทร์" ดำรงตำแหน่ง สมุหนายก บังคับบัญชาข้าราชการพลเรือนทุกกรมกองของไทย ซึ่งเปรียบได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ฝรั่งชาวกรีกผู้เริ่มมีอำนาจและได้รับความไว้วางพระทัยจากสมเด็จพระนารายณ์ ก็เริ่มนำพรรคพวกชาวอังกฤษ และกองทหารฝรั่งเศสเข้าสู่กรุงสยามเป็นจำนวนมาก ด้วยความหวังลับ ๆ ที่จะยกประเทศสยามถวายให้เป็นประเทศราชของ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เจ้ากรุงฝรั่งเศส ในสมัยนั้นสมเด็จพระนารายณ์ทรงเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลในสยามทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจและศาสนา ในภายหลังพระองค์ประชวร ส่งผลให้สยามเข้าสู่ภาวะอันตรายสุ่มเสี่ยงที่ชาวต่างชาติจะเข้ามายึดอำนาจ ในที่สุดพระเพทราชาและพระเจ้าเสือได้ร่วมกันก่อกบฎแย่งชิงอำนาจราชบัลลังก์ แล้วก็ทำการปราบและขับไล่ชาวต่างชาติ กองทัพฝรั่งเศส และนักบุญคริสตังออกจากแผ่นดินสยาม
 

5 มิถุนายน พ.ศ.2460 : รัชกาลที่ 6 ทรงให้รวม กรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้ขึ้นกับกรมรถไฟหลวง
 
5 มิถุนายน พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมรถไฟสายเหนือ และกรมรถไฟสายใต้ ขึ้นกับ กรมรถไฟหลวง เนื่องจากทรงพิจารณาเห็นว่ากิจการของกรมรถไฟทั้งสองกรมแยกกันอยู่ ไม่สะดวกแก่การบริหารงาน และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงพระองค์แรก ปีต่อมา ได้มีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมทางรถไฟสายใต้กับายเหนือ และเริ่มเปลี่ยนรางในทางสายเหนือและโคราช ให้กว้าง 1 เมตรเท่ากับสายใต้เพื่อความสะดวกที่จะใช้รถไฟขนาดเดียวกันทั่วประเทศ  อีกทั้ง  กรมพระกำแพงเพชรฯ ทรงสั่งรถจักรดีเซล 2 คันมาจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์เข้ามาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในปี 2494 กรมรถไฟหลวงได้เปลี่ยนเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย มาจนทุกวันนี้ ปัจจุบันการรถไฟฯ มีระยะทางเปิดการเดินรถแล้วรวมทั้งสิ้น 4,346 กิโลเมตร
 

6 มิถุนายน พ.ศ.2487 : วันเริ่มต้นของ ยุทธการนอร์มังดี
 
6 มิถุนายน พ.ศ. 2487 วันดี-เดย์ (D-day) วันเริ่มต้นของยุทธการนอร์มังดี (Battle of Normandy) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองกำลังทหารฝ่ายพันธมิตรจำนวน 155,000 นาย นำโดยนายพลดไวท์ ดี. ไอเซนเฮาว์ (Dwight D. Isenhower) พร้อมด้วยเรือรบ 5,000 ลำ และเครื่องบินอีก 12,000 ลำ ยกพลขึ้นบกที่ชายฝั่งเมืองนอร์มังดี (Normandy) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ในการยึดครองของกองทัพนาซีเยอรมัน ส่งผลให้กองทัพเยอรมันต้องถอยร่นและทหารจำนวนมากถูกจับเป็นเชลย ปฏิบัติการครั้งนี้ใช้รหัสว่า Operation Overlord ปฏิบัติการครั้งนี้ดำเนินต่อไปจนถึงปลายเดือนสิงหาคม 2478 จนสามารถปลดปล่อยปารีสได้ในที่สุด นับเป็นการรุกโต้ครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปของฝ่ายสัมพันธมิตร และนับเป็นการยกพลขึ้นบกครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์โลก
 

6 มิถุนายน พ.ศ.2418 : วันเกิด โทมัส มันน์ กวีชาวเยอรมัน
 
6 มิถุนายน พ.ศ.2418 วันเกิดโทมัส มันน์ (Thomas Mann) นักเขียนนวนิยายกวีชาวเยอรมัน เขาได้รับรางวัลโนเบลจากเรื่อง Magic Mountain ในปี 2472
 

7 มิถุนายน พ.ศ.2391 : วันเกิด พอล โกแกง จิตกรชาวฝรั่งเศส
 
7 มิถุนายน พ.ศ. 2391 วันเกิดพอล โกแกง (Paul Gauguin) ศิลปินคนสำคัญของฝรั่งเศสในกลุ่ม โพสต์-อิมเพรสชั่นนิสม์ (Post-Impressionism) เกิดที่กรุงปารีส ตอนอายุ 3 ขวบครอบครัวต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่ประเทศเปรู แต่พ่อของเขาเสียชีวิตระหว่างทาง เขากับพี่สาวและแม่ได้อาศัยอยู่กับลุงทีเมืองลิมา (Lima) ซึ่งเมืองนี้ได้สร้างภาพประทับใจให้เขาได้แสดงออกในผลงานศิลปะในเวลาต่อมา ตอน 7 ย้ายกลับไปฝรั่งเศสอีกครั้ง ตอน 17 ปีเขาทำงานลูกเรือในเรือเดินสมุทร และเข้ารับราชการทหารกับราชนาวีฝรั่งเศส จากนั้นก็เล่นหุ้น แต่งงานและมีลูก 5 คน นับว่าเป็นครอบครัวที่มีความสุข เขาใช้เวลาว่างในการเขียนรูป และสะสมงานศิลปะ กระทั่งได้รู้จักกับ กามีล ปิซาโร (Camille Pissarro) ศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้แนะนำเขาให้รู้จักกับศิลปินคนอื่นๆ และแนะนำให้เขาเขียนรูปของตัวเองต่อไป โกแกงจึงเช่าสตูดิโอและเขียนรูปแนวอิมเพรสชั่นนิสม์อยู่ระหว่างปี 2424-2425 อีกสองปีต่อมาเขาพาครอบครัวย้ายไปอยู่ที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก แล้ววันหนึ่งเขาก็ตัดสินใจละทิ้งการงานที่มั่นคง ชีวิตที่สะดวกสะบายและครอบครัวเพื่อออกมาเขียนรูปอย่างจริงจัง เขาออกไปเขียนรูปกับปิซาโร, เซซาน (Paul Czanne) และแวนโก๊ะห์ (Vincent Van Gogh) ในปี 2432 โกแกงได้แสดงงานศิลปะที่ปารีสและเริ่มมีชื่อเสียง ในระยะนั้นศิลปะตะวันออกและแอฟริกาเริ่มเข้ามาเผยแพร่ในตะวันตก โดยเฉพาะงานพื้นบ้าน (folk art) และภาพพิมพ์ญี่ปุ่น โกแกงมีความสนใจงานศิลปะพื้นบ้านอยู่แล้วจึงตัดสินใจไปใช้ชีวิตเขียนรูปที่เกาะตาฮิติ (Tahiti) ที่นี่เองเขาได้เกิดแรงบันดาลใจ พัฒนาฝีมือสร้างสรรค์งานศิลปะออกมาให้โลกชื่นชมเป็นจำนวนมาก ภายหลังชีวิตเขาไปใช้ชีวิตที่เกาะมาร์เควซาส์ (Marquesas) ในบั้นปลายชีวิตเขาตาบอด ป่วยด้วยโรคซิฟิลิส และเสียชีวิตที่เกาะแห่งนี้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2446 ก่อนจะถูกนำศพไปฝังที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งบนเกาะตาฮิติ ซึ่งเป็นสถานที่ ที่เขารักมากที่สุด ภาพวาดของโกแกงหลังจากที่เป็นชาวเกาะ มักเต็มไปด้วยสีสันสดจัด รูปทรงเรียบง่าย บิดเบี้ยว แบนเพราะไม่มีเงา แต่เต็มไปด้วยเรื่องราวและวิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวเกาะ ต่อมาเรียกสไตล์ศิลปะแบบนี้ว่า Synthetism โกแกงเชื่อว่าศิลปินสามารถสร้างงานที่ดีได้ หากได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ โกแกงเป็นศิลปินในกลุ่มโพสต์-อิมเพรสชั่นนิสม์ ร่วมกับเซ ซาน และ ฟาน ก๊อก ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) และนับเป็นศิลปินหัวขบถขนานแท้ที่กล้าละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อทำงานศิลปะที่ตนรัก
 

7 มิถุนายน พ.ศ.2472 : รัฐวาติกัน กำเนิดขึ้น
 
7 มิถุนายน พ.ศ. 2472 กำเนิดรัฐวาติกัน ซึ่งเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีพระสันตะปาปาเป็นประมุข บริหารด้วยคณะสงฆ์แห่งคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก
 

8 มิถุนายน พ.ศ.2552 : วันมหาสมุทรโลก (World Oceans Day)
 
 
วันมหาสมุทรโลก (World Oceans Day) ตรงกับวันที่ 8 มิถุนายน ของทุกปี เพื่อเฉลิมฉลองและเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้คนทั้งโลกหันมาใส่ใจ ร่วมกันอนุรักษ์ท้องทะเล กำหนดขึ้นมาอย่างเป็นทางการโดยสหประชาชาติ เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2552 แนวความคิดนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 จากแนวความคิดของประเทศแคนาดา ในการประชุมความร่วมมือของกลุ่มประชาคมโลก (The Earth Summit) ที่เมืองริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล โดยหลังจากนั้นมีการเฉลิมฉลองอย่างไม่เป็นทางการมาทุกปี จนกระทั่งกำหนดเป็น วันมหาสมุทรโลก
 

8 มิถุนายน พ.ศ.2547 : ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์
 
 
8 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ (Transit of Venus) เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นในรอบ 122 ปี โดยดาวศุกร์จะปรากฏตัวเป็นจุดดำกลมที่สมบูรณ์เคลื่อนที่อย่างช้าๆ ผ่านด้านหน้าของดวงอาทิตย์ มีลักษณะคล้ายๆ สุริยุปราคาขนาดย่อม ซึ่งดวงจันทร์จะโคจรมาบดบังดวงอาทิตย์จนเต็มดวงโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที แต่ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์อาจใช้เวลานานถึง 6 ชั่วโมง และดาวศุกร์จะบังดวงอาทิตย์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากดาวศุกร์มีขนาดใหญ่กว่าดวงจันทร์มาก แต่มันอยู่ไกลจากโลกถึง 100 เท่า สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดของเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อดาวศุกร์เคลื่อนที่เข้า-ออกที่ขอบของดวงอาทิตย์ จะปรากฎภาพเงาดำของดาวศุกร์ ซึ่งดูคล้ายหยดน้ำ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ปรากฏการณ์หยดสีดำ (black drop effect) นักดาราศาสตร์ได้คำนวณไว้ว่าปรากฎการณ์นี้จะเกิดขึ้นครั้งต่อไปในวันที่ 6 มิถุนายน 2555
 

8 มิถุนายน พ.ศ.2518 : สหภาพโซเวียตส่งยานเวเนอรา 9 ขึ้นสู่อวกาศ
 
 
8 มิถุนายน พ.ศ. 2518 สหภาพโซเวียต ส่งยานเวเนอรา 9 (Venera 9) ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อปฏิบัติการสำรวจดาวศุกร์โดยบรรทุกลูกซึ่งเป็นยานลงจอด (Lander) ลงสู่พื้นผิว ดาวศุกร์ ได้สำเร็จในวันที่ 22 ตุลาคม 2518 โดยยานลงจอดของเวเนอรา 9 ได้เป็นยานอวกาศจากโลกลำแรก ที่ส่งภาพถ่ายสภาพพื้นผิวดาวศุกร์ให้มนุษย์โลกได้เห็นอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก เป็นเวลา 53 นาที เผยให้เห็นสภาพพื้นผิวดาวศุกร์ที่แห้งผาก เต็มไปด้วยหินระเกะระกะ เวเนอรา 9 กลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัยในวันที่ 26 ธันวาคม 2518
 

8 มิถุนายน พ.ศ.2514 : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้าง ถนนรัชดาภิเษก
 
 
8 มิถุนายน พ.ศ. 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างถนนรัชดาภิเษก ณ บริเวณเชิงสะพานกรุงเทพตัดกับถนนเจริญกรุง ถนนสายนี้เป็นถนนวงรอบจากสี่แยกท่าพระผ่านสะพานกรุงเทพ ถนนพระรามที่ 4 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถนนวิภาวดีรังสิต และมาบรรจบที่สี่แยกท่าพระ (วงแหวนรอบใน) อีกครั้งมีความยาวประมาณ 45 กิโลเมตร มีพิธีเปิดในปี 2519 ถนนรัชดาภิเษกสร้างขึ้นตามกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเมื่อปี 2514 จอมพลถนอม กิติขจร นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นได้เข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลเรื่องพระราชพิธีรัชดาภิเษก (Silver Jubilee) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก โดยมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนเพิ่มขึ้นเป็นถนนวงแหวนเพื่อพระราชทานเป็นของขวัญแก่ประชาชนแทนการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2514 จากนั้นรัฐบาลได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อถนนวงรอบว่า "ถนนรัชดาภิเษก" ปัจจุบันถือเป็นถนนวงแหวนรอบใน โดยมี ถนนกาญจนาภิเษก หรือทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 เป็นถนนวงแหวนรอบนอก
 

8 มิถุนายน พ.ศ.2417 : วันพระราชสมภพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์
 
 
8 มิถุนายน พ.ศ. 2417 วันพระราชสมภพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์พระองค์แรกพระนามเดิมคือ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล "กิติยากร" เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 12 ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาอ่วม ทรงเป็นพระราชโอรสรุ่นแรกที่เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2428 ร่วมกับ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์), กรมหลวงปราจิณกิติบดี (พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม) และ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช (พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช) ทรงสำเร็จสาขาบูรพคดีศึกษา (Oriental Studies) จากวิทยาลัยแบเลียล (Balliol College) มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ในปี 2437 ทรงเริ่มรับราชการในกรมราชเลขานุการ ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็น กรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในปี 2463 สมัยรัชกาลที่ 6 ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์พระองค์แรก ทรงปรีชาสามารถในด้านการคลังและการเศรษฐกิจ ส่งเสริมการออมทรัพย์โดยจัดตั้งคลังออมสินให้ราษฎรได้นำเงินมาฝาก ทรงร่างกฎหมายวางระเบียบวิธีการศุลกากร ทรงแก้ไขปรับปรุงภาษีสรรพากรให้ทันสมัย และทรงจัดให้สุราและฝิ่นเป็นสิ่งผูกขาดของรัฐบาล เพื่อเตรียมการที่จะบังคับให้การสูบฝิ่นเป็นสิ่งต้องห้ามในเวลาต่อมา ปลายปี 2473 กรมพระจันทบุรีนฤนาถได้เสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีสและสิ้นพระชนม์ที่นั่นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2474
 

8 มิถุนายน พ.ศ.2353 : วันเกิด โรเบิร์ต อเล็กซานเดอร์ ชูมันน์ คีตกวีชาวเยอรมัน
 
 
8 มิถุนายน พ.ศ. 2353 วันเกิดโรเบิร์ต อเล็กซานเดอร์ ชูมันน์ (Robert Alexander Schumann) คีตกวียุคโรแมนติกชาวเยอรมัน เกิดที่เมืองซวิคเคา (Zwickau) แคว้นซักโซนี (Saxony) ของเยอรมัน พ่อเป็นนักเขียน ที่บ้านจึงมีหนังสืออยู่มากมายให้ชูมันน์อ่าน นอกจากเล่นเปียโนแล้วเขายังแต่งเพลงได้ตั้งแต่ 7 ขวบ อีกทั้งยังชอบเขียนนิยายและบทกวีมา ตอนอายุ 16 ปีพ่อเสียชีวิต ชูมันน์ลังเลว่าจะเป็นนักดนตรีหรือนักเขียนดี แต่แม่ก็ตัดสินใจให้เขา โดยส่งไปเรียนกฎหมายที่เมืองไลพ์ซิก แต่ด้วยบรรยากาศของเมืองกลับเต็มไปด้วยเสียดนตรี ชูมันน์จึงมักจะนั่งเล่นเปียโนให้เพื่อนๆ ฟังเสมอ หรือไม่ก็อ่านนิยายของเชคสเปียร์หรือเกอเธ เขาเริ่มเรียนเปียโนอย่างจริงจังตอนอายุ 20 ปีกับ ฟริดริช วิค (Friedrich Wieck) ซึ่งมีลูกสาวสวยและเป็นนักเปียโนอนาคตไกล ชูมันน์มุ่งมั่นฝึกฝนเปียโนอย่างจริงจัง โดยผูกนิ้วนางแขวนไว้จนชาและพิการ เขาจึงต้องหยุดเล่นเปียโนและหันมาแต่งเพลงอย่างจริงจัง เพลงแรกคือ Abegg Variations และเริ่มเขียนวิจารณ์เพลงลงในนิตยสารดนตรี เขาแต่งงานกับ คลารา วิค (Clara Wieck) ลูกสาวของครูเปียโนของเขาในปี 2383 ช่วงนี้เป็นช่วงที่ชูมันน์มีความสุขมาก เขาเขียนเพลงที่สวยงามออกมาจำนวนมาก อาทิ Spring Symphony ชูมันน์เริ่มประสบปัญหาเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีลูกเพิ่มขึ้นถึง 8 คน ขณะที่ยังยังไม่ประสบความสำเร็จมากนักเขาจึงคิดหนักและเครียด ในที่สุดก็เริ่มมีอาการของโรคประสาท จนต้องพักงาน ภรรยาของเขาต้องยอมทิ้งอนาคตทางดนตรีมาคอยดูแลให้กำลังใจเขา ภายหลังเขาพาครอบครัวย้ายไปอยู่ที่เมืองเดรสเด็น (Dresden) ซึ่งเงียบสงบและอากาศดี อาการของเขาเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ จนกลับมาแต่งเพลงได้อีกครั้ง ปี 2893 เขาย้ายไปเป็นผู้อำนวยการดนตรีที่เมืองดึสเซลดอล์ฟ (Düsseldorf) แต่ไม่นานก็เริ่มกระทบกระทั่งกับผู้ร่วมงานซึ่งหาว่าเขาสติไม่ดี จึงต้องออกจากงาน สุขภาพของเขาเริ่มทรุดโทรมลงเรื่อยๆ จนต้องเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลโรคประสาทที่เมืองเอ็นเด็นนิช (Endenich) จนถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2399 เขาก็สิ้นใจในอ้อมแขนของภรรยา ผลงานของชูมันน์มักจะผิดแผกออกไปจากขนบ โดยมีลักษณะราวกับงานจิตรกรรมอิมเพรสชันนิสม์ ที่เขาบรรจงแต่งแต้มสีสันอันเป็นอารมณ์ของเพลงลงไป นับว่าเป็นการช่วยเพิ่มความงามให้แก่ดนตรีในยุคโรแมนติกยิ่งขึ้น ชูมันน์เป็นคนอ่อนไหวอย่างยิ่ง ตอนช่วงสุดท้ายของชีวิต เขาเริ่มเห็นภาพลวงตาและได้ยินเสียงประหลาดจนต้องกระโจนออกจากเตียงรีบจดเอาไว้ บางครั้งเขาลุกขึ้นไปเล่นเปียโนตอนดึกๆ แล้วร้องให้ ดนตรีของชูมันน์มักดำเนินไปบนแบบแผนใหม่ๆ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้คนหัวจารีตไม่น้อย ผลงานของเขามักถูกเปรียบเปรยว่าเป็นผลงานของคนบ้าโดยแท้ ตลอดชีวิตเขาดำรงอยู่อย่างยากลำบาก จนป่วยเป็นโรคประสาทและตายไปอย่างอนาถา แต่หลังเขาจากไปแล้ว โลกนี้ถึงประจักษ์ว่าบทเพลงของเขายิ่งใหญ่เพียงใด
 

8 มิถุนายน พ.ศ.2352 : โธมัส เพน นักปฏิวัติเสรีประชาธิปไตยชาวอังกฤษถึงแก่กรรม
 
 
8 มิถุนายน พ.ศ. 2352 โธมัส เพน (Thomas Paine) ถึงแก่กรรม เพนเป็นนักปฏิวัติเสรีประชาธิปไตยชาวอังกฤษผู้มีอิทธิพลต่อการประกาศเอกราชของอเมริกา  เพนเกิดที่เมืองนอร์โฟล์ค ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2280 ในครอบครัวยากจน เริ่มทำงานมาตั้งแต่เด็กๆ ขณะเดียวกันก็สนใจปัญหาบ้านเมืองและอ่านหนังสือโดยเฉพาะผลงานของจอห์น ล็อค (John Locke) ในปี 2317 ได้พบกับ เบนจามิน แฟลงคิน (Benjamin Flankin) ซึ่งเห็นแววของเพน จึงชักชวนให้ไปเสี่ยงโชคที่อเมริกา เขาไปถึงอเมริกาในยุคที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เข้าทำงานเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Pennsylvania Magazine เริ่มเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์การใช้คนผิวดำเป็นทาส สิทธิสตรี และสนับสนุนให้อเมริกาแยกตัวเป็นอิสระจากอังกฤษในยุคที่สังคมอเมริกายังสับสน ผลงานที่สำคัญที่สุดของเขาคือหนังสือเล่มเล็กชื่อ Common Sense ซึ่งพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2319 ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจชาวอเมริกันทำสงครามกู้อิสรภาพจากอังกฤษจนสำเร็จ เพนคือผู้คิดชื่อประเทศสหรัฐอเมริกาว่า United States of America ในปี 2334 เขาเขียนหนังสือเรื่อง Right of Man เพื่อสนับสนุนการปฏิวัติฝรั่งเศส และยังมีหนังสือเล่มที่สำคัญอีก เช่น Age of Reason และ Agrarian Justice ในช่วงบั้นปลายเขากลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกาอย่างยากลำบาก ถูกเกลียดชัง ถูกโจมตีแต่ความคิดของเพนมีอิทธิพลต่อนักปฏิวัติอเมริกันรุ่นแรกและกลุ่มหัวก้าวหน้าในอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก และเป็นผู้จุดชนวนให้อเมริกาเป็นอิสระจากอังกฤษ
 

8 มิถุนายน พ.ศ.2410 : วันเกิด แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ สถาปนิกชาวอเมริกัน
 
 
8 มิถุนายน พ.ศ.2410 วันเกิดแฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ (Frank Lloyd Wright) ไรท์เกิดที่เมืองริชแลนด์ เซนเตอร์รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา เข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แต่เรียนได้แค่ 2 ปีก็ลาออกไปทำงานด้านสถาปัตยกรรม เขาออกแบบบ้านตามแนวคิด “Prairie Houses” ซึ่งหมายถึง “อาคารคือสิ่งมีชีวิตที่งอกขึ้นจากผืนดิน” แทนที่จะเป็นเพียงอาคารที่วางตั้งอยู่อย่างแปลกแยกกับธรรมชาติ ผลงานที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคือการออกแบบบ้านที่ตั้งอยู่เหนือน้ำตกแห่งหนึ่ง ชื่อว่าบ้าน Falling Water สร้างเสร็จในปี 2482 ตั้งอยู่ที่รัฐเพนซิลวาเนีย นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์ Solomon R. Guggenheim Museum ซึ่งเป็นรูปทรงหมุนวนต่อเนื่องเหมือนที่เปิดจุกก๊อก ไรต์เปิดสำนักงานและอาศัยอยู่ที่เมืองโอกพาร์ก (Oak Park) ชานเมืองชิคาโก รัฐอิลินอยล์ ซึ่งมีอาคารที่เขาออกแบบไว้กว่า 50 แห่ง จากผลงานทั้งหมดประมาณ 362 ชิ้น ซึ่งประมาณกันว่ายังคงเหลืออยู่ 300 ชิ้น ไรต์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2502 แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ได้รับการยกย่องให้เป็นสถาปนิกที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในคริสตศตวรรษที่ 20
 
9 มิถุนายน พ.ศ.2500 : ทีมนักปีนเขาชาวออสเตรียสามารถไต่ขึ้นยอดบอร์ดสำเร็จ
 
 
9 มิถุนายน พ.ศ. 2500 ทีมนักปีนเขา ชาวออสเตรีย นำโดย Hermann Buhl สามารถไต่ขึ้นยอดบอร์ด (Broad Peak) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อยอด k3 ที่สูงถึง 8,047 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โดยยอดเขานี้อยู่บนเทือกเขาคาราโครัม (Karakoram) รอยต่อระหว่างจีนกับปากีสถาน และมีความสูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก
 

10 มิถุนายน พ.ศ.2429 : ภูเขาไฟ ทาราวีรา เกิดระเบิดขึ้น
 
 
10 มิถุนายน พ.ศ. 2429 ภูเขาไฟทาราวีรา (Mount Tarawera) ในนิวซีแลนด์ เกิดระเบิดขึ้น มีผู้เสียชีวิต 153 คน และลาวาไหลทำลาย “เทอเรสสีขาวและชมพู (Pink and White Terraces) ซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่งดงาม ตั้งอยู่ใกล้ทะเลสาบโรโตมาฮานา (Lake Rotomahana) ไปเป็นบางส่วน
  

11 มิถุนายน พ.ศ.2507 : จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย
 
 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507 จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย ณ บ้านพักที่ตำบลซากามิโอโน ชานกรุงโตเกียว ขณะลี้ภัยการเมืองไปอยู่ประเทศญี่ปุ่น รวมอายุได้ 67 ปี จอมพลป. เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2440 นามเดิม แปลก ขีตตะสังคะ เกิดที่อำเภอเมืองนนทบุรี ศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนเสนาธิการ และไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ประเทศฝรั่งเศส จากนั้นได้กลับมารับราชการจนกระทั่งได้ยศพันตรี มีบรรดาศักดิ์และราชทินนามเป็น "หลวงพิบูลสงคราม" ท่านเป็นหนึ่งในคณะราษฎร ที่ทำการอภิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อีกสองปีต่อมาได้เลื่อนยศเป็นพันเอกและดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก จอมพลป. เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของไทย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2481 โดยการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพลป. ตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร หลังจากสงครามสิ้นสุดลงจอมพลป. จึงติดคุกในฐานะอาชญากรสงครามและต้องยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมด ท่านกลับไปพำนักที่บ้าน อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ก่อนจะคืนสู่อำนาจอีกครั้งในปี 2491 เมื่อทหารกลุ่มหนึ่งทำรัฐประหารแล้วเชิญท่านมาเป็นนายกรัฐมนตรี คราวนี้ท่านครองตำแหน่งนานถึง 9 ปี จอมพลป. ต้องพัฒนาประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศ โดยใช้นโยบาย ชาตินิยม อาทิ ส่งเสริมความเป็นชนชาติไทยเน้นนโยบายเศรษฐกิจแบบ “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ” ประกาศรัฐนิยม เพื่อปฏิวัติวัฒนธรรมของสังคมไทยเสียใหม่ ทั้ง เรื่องภาษา ชีวิตความเป็นอยู่ ดนตรี การละเล่น การแต่งกาย คตินิยม และเปลี่ยนชื่อประเทศสยามมาเป็นประเทศไทย โดยมีคำขวัญว่า "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" ถือว่าจอมพล ป. ได้ทำการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่ไม่พอใจได้พยายามลอบสังหารท่านหลายครั้ง แต่ก็รอดหวุดหวิดทุกครั้ง จนได้รับฉายาว่า “จอมพลกระดูกเหล็ก” จนในที่สุด พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ท่านจึงต้องลี้ภัยทางการเมืองไปที่ประเทศญี่ปุ่น และพำนักอยู่ที่นั่นจนวาระสุดท้ายของชีวิต
 

11 มิถุนายน พ.ศ.2313 : กัปตัน เจมส์ คุก นักสำรวจชาวอังกฤษ  ควบคุมเรือไปชนแนวหินปะการัง เกรตแบร์เรียรีฟ
 
11 มิถุนายน พ.ศ. 2313 กัปตัน เจมส์ คุก (Captain James Cook) นักสำรวจชาวอังกฤษควบคุมเรือ Endeavour ไปชนแนวหินปะการังขนาดใหญ่ที่เรียกว่า เกรตแบร์เรียรีฟ (Great Barrier Reef) ที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย ส่งผลให้เรือเสียหายจนต้องซ่อมแซมนานถึง 7 สัปดาห์ เกรตแบร์เรียรีฟเป็นแนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลกคือ 2,600 กิโลเมตร กินพื้นที่ถึง 344,400 ตารางกิโลเมตร แบ่งแยกออกเป็นเกาะเล็กเกาะน้อยกว่า 900 เกาะ มีการสำรวจพบปะการังกว่า 3 พันชนิด สัตว์น้ำชนิดต่างๆ อีกกว่า 1,500 ชนิด แนวปะการังนี้ตั้งอยู่ที่รัฐควีนส์แลนด์ตอนภาคเหนือของออสเตรเลีย ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของอุทยานแห่งชาติทางทะเลเกรตแบร์เรียรีฟ (Great Barrier Reef Marine Park) เมื่อปี 2524 องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้เป็นมรดกโลก (World Heritage Site) ทว่า กิจกรรมการพัฒนาด้านต่างๆ ของมนุษย์ เช่น การขยายตัวของฟาร์ม เมือง และโรงงานอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวดำน้ำดูปะการัง และสภาวะโลกร้อน ได้ทำลายแนวปะการังเพิ่มขึ้นทุกปีๆ
 

11 มิถุนายน พ.ศ.2502 : เครื่องโฮเวอร์คราฟ์ เปิดตัวเป็นครั้งแรก
 
11 มิถุนายน พ.ศ. 2502 เครื่องโฮเวอร์คราฟ์ (Hovercraft) ที่สามารถวิ่งได้ทั้งบนบกและในน้ำ เปิดตัวเป็นครั้งแรกที่เมือง แฮมเชียร์ (hampshire) ประเทศอังกฤษ
 

12 มิถุนายน พ.ศ.2363 : วันเกิด หม่อมราโชทัย
 
12 มิถุนายน พ.ศ. 2363 วันเกิด หม่อมราโชทัย หรือ ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูล ณ อยุธยา บุคคลสำคัญของไทย เป็นโอรสของกรมหมื่นเทวานุรักษ์ (หม่อมเจ้าชะอุ่ม) เมื่อเจริญวัยบิดาได้นำไปถวายตัวอยู่กับเจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงศ์ พงศาอิศวรกระษัตริย์ขัตติยราชกุมาร เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวช หม่อมราชวงค์กระต่ายก็ได้ตามเสด็จไปอยู่รับใช้โดยตลอด ครั้นเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงสนพระราชหฤทัยภาษาอังกฤษ หม่อมราชวงค์กระต่ายก็ได้ศึกษากับมิชชันนารีจนมีความรู้ภาษาอังกฤษอย่างดี เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หม่อมราชวงค์กระต่ายก็ได้ติดตามสมัครเข้ารับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณและด้วยความสามารถทางการใช้ภาษาอังกฤษ จึงได้เลื่อนยศเป็น "หม่อมราโชทัย” ในปี 2400 รัชกาลที่ 4 ได้มีพระราชดำริให้จัดส่งราชทูตเชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการไปเจริญพระราชไมตรีกับอังกฤษ ในสมัยสมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย โดยให้หม่อมราโชทัยเป็นล่าม เมื่อกลับมาแล้วก็ทรงโปรดเกล้าให้เป็นอธิบดีพิพากษาศาลต่างประเทศเป็นคนแรก ในระหว่างเดินทางไปอังกฤษหม่อมราโชทัยได้เขียนจดหมายเหตุบันทึกการเดินทางไว้ตลอด เมื่อกลับมาแล้วก็ได้แต่งเป็น "นิราศลอนดอน” นับเป็นนิราศเรื่องแรกที่กล่าวถึงบ้านเมืองในประเทศตะวันตก นิราศลอนดอนเป็นทั้งวรรณคดี และจดหมายเหตุพงศวดารชิ้นสำคัญ ภายหลังหม่อม ราโชทัยขายลิขสิทธิ์ให้แก่หมอบรัดเลย์ในราคา 400 ซึ่งนับเป็นการขายกรรมสิทธิหนังสือครั้งแรกในเมืองไทย ตีพิมพ์ออกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2404 หม่อมราโชทัยถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2410 เมื่ออายุได้ 43 ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าให้จัดการรับพระราชทานเพลิง ณ เมรุวัดอรุณราชวราราม เมื่อ วันที่ 19 กันยายน 2410
 

12 มิถุนายน พ.ศ.2506 : ภาพยนตร์เรื่อง คลีโอพัตรา ออกฉายเป็นครั้งแรก
 
12 มิถุนายน พ.ศ. 2506 ภาพยนตร์เรื่อง คลีโอพัตรา (Cleopatra) ออกฉายเป็นครั้งแรก โดย เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ (Elizabeth Taylar) รับบทเป็นคลีโอพัตรา ริชาร์ด เบอร์ตัน (Richard Burton) เล่นเป็น มาร์ค แอนโทนี และ เรกซ์ แฮริสัน (Rex Harrison) เป็น จูเลียส ซีซาร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์ทางด้านการถ่ายภาพ และอื่นๆ รวม 5 รางวัล
 

13 มิถุนายน พ.ศ.2535 : พุ่มพวง ดวงจันทร์ เสียชีวิต
 
13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 พุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีเพลงลูกทุ่งเสียชีวิต ชื่อเดิมคือ รำพึง จิตรหาญ มีชิ่อเล่นว่า ผึ้ง เกิดที่ อ. สองพี่น้อง จ. สุพรรณบุรี ครอบครัวรับจ้างทำไร่อ้อย เธอชอบร้องเพลงลูกทุ่งมาตั้งแต่เด็กๆ เริ่มเดินสายประกวดร้องเพลงในชื่อ น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย ตอนอายุ 15 ปีพ่อพาไปฝากเป็นบุตรบุญธรรมของ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ซึ่งได้แต่งเพลงและอัดแผ่นเสียงเพลงแรกคือ “แก้วรอพี่” ในปี 2519 ใช้ชื่อว่า น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ จากนั้นได้ย้ายไปอยู่กับวงของ ธีระพล แสนสุข, ศรเพชร ศรสุพรรณ และ ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด ตามลำดับ โดยเป็นทั้งนักร้องและหางเครื่อง ภายหลัง มนต์ เมืองเหนือ ได้ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ตั้งวงดนตรีของตัวเอง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก จนต้องยุบวง มาตั้งใหม่ร่วมกับ เสรี รุ่งสว่าง ในชื่อวง “เสรี-พุ่มพวง” และเริ่มประสบความสำเร็จตามลำดับ พุ่มพวงเริ่มมีชื่อเสียงที่สุดช่วงปี 2525-2530 จากฝีมือการแต่งเพลงของ ลพ บุรีรัตน์ ซึ่งเป็นเพลงสนุกๆ จึงได้รับการตอบรับจากแฟนเพลงทั่วสารทิศ เช่นเพลง สาวนาสั่งแฟน, นัดพบหน้าอำเภอ, อื้อฮือหล่อจัง, กระแซะเข้ามาซิ, ดาวเรืองดาวโรย, คนดังลืมหลังควาย, นักร้องบ้านนอก, หม้ายขันหมาก นอกจากนี้ ยังได้เป็นผู้ร้องเพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีคือเพลง “ส้มตำ” และได้แสดงหนังอีกหลายเรื่องเช่น สงครามเพลงและมนต์รักนักเพลง ภายหลังพุ่มพวงป่วยเป็นโรคเอสแอลอี (SLE : Systemic Lupus Erythematosus) หรือโรคภูมิแพ้ตัวเอง เสียชีวิตในวัยเพียง 31 ปี ได้มีพระราชทานเพลิงศพที่วัดทับกระดาน อ.สองพี่น้อง จ. สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2535 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธี พุ่มพวง ดวงจันทร์ได้ชื่อว่าเป็นนักร้องลูกทุ่งที่มีน้ำเสียงออดอ้อน หวานฉ่ำ จำเนื้อร้องได้แม่นยำทั้งที่ไม่รู้หนังสือ ซึ่งได้กลายเป็นแรงบันดาลใจและเป็นแม่แบบให้กับนักร้องรุ่นต่อมา
 

13 มิถุนายน พ.ศ.2529 : เบนนี กูดแมน ราชาเพลงสวิง เสียชีวิต
 
13 มิถุนายน พ.ศ. 2529 เบนนี กูดแมน (Benjamin David “Benny” Goodman) นักคลาริเน็ตชาวอเมริกัน เจ้าของฉายา “ราชาเพลงสวิง” (King of Swing) เสียชีวิต กูดแมนเกิดในครอบครัวชาวยิวอพยพจากโปแลนด์ ที่รัฐชิคาโกเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2452 เริ่มเรียนดนตรีตอนสิบขวบพร้อมกับพี่ชายอีกสองคน ปีต่อมาก็ตั้งวงบอยแบนด์ แล้วเป็นนักร้องรับจ้างตามห้องอัด แต่แล้วเขาก็ทนความยั่วยวนของดนตรี นิวออร์ลีนส์ แจ๊ส (New Orleans Jazz) ไม่ไหว ออกมาตั้งวงบิ๊กแบนด์ของตัวเอง ในระยะแรกวงของเขาไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เพราะเล่นเพลงเต้นรำนุ่มๆ ไม่หวือหวา จนเขาเกือบจะเลิกล้มความตั้งใจ แต่ในคืนวันที่ 21 สิงหาคม 2478 ที่ พาโลมาร์ บอลรูม (palomar ballroom) ในลอสเองเจลลิส เขาลองเล่นดนตรีแบบใหม่ ในจังหวะร้อนแรง ปรากฏว่าถูกใจแฟนเพลงรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก ถึงกลับมีคนกล่าวว่า ในคืนนั้นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของยุคสวิงแจ๊ส (Swing Jazz) ในระยะเวลาเพียง 5 ปีหลังจากนั้นเขาก็ก้าวขึ้นเป็นศิลปินแจ๊สระดับนานาชาติ ชื่อเสียงของเขาขจรขจายไปทั่วอเมริกาและยุโรป และได้รับการยกย่องในฐานะ “ราชาแห่งสวิงแจ๊ส” แนวทางการบรรเลงในวงของกูดแมนจะเน้นความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการซ้อมกันมาอย่างดีก่อนขึ้นเวที ซึ่งแตกต่างจากวงบิ๊กแบนด์ที่นำโดยนักดนตรีผิวดำอื่นๆ อยู่พอสมควร ในช่วงด้นสดหรืออิมโพรไวซ์ (Improvise) เขามักจะเล่นเดี่ยวเพื่อให้นักดนตรีคนอื่นได้พัก หรือไม่ก็ไปพักอยู่หลังเวทีเพื่อให้สมาชิกคนอื่นในวงได้โชว์ฝีมือ เช่นกรณี จีน ครูปา (Gene Krupa) มือกลองคนแรกในวงการแจ๊สที่มีโอกาสได้โซโลกลอง และพัฒนาบทบาทของกลองให้เป็นมากกว่าเครื่องให้จังหวะเท่านั้น และที่สำคัญกูดแมนเป็นหัวหน้าวงบิ๊กแบนด์คนแรก ๆ ที่เปิดใจกว้างรับนักดนตรีสีผิวเข้ามาร่วมวง ทั้งๆ ที่บรรยากาศในสังคมอเมริกันตอนนั้นยังมีการแบ่งแยกสีผิวอย่างเข้มเข้น นักดนตรีผิวสีหลายคนได้แจ้งเกิดจากวงของเขา เช่น ชาร์ลี คริสเชียน (Charlie Christian) มือกีตาร์ไฟฟ้าคนแรกที่โดดเด่นในวงการแจ๊ส ไลโอเนล แฮมพ์ตัน (Lionel Hampton) นักไวบราโฟน เท็ดดี วิลล์สัน (Teddy Wilson) นักเปียโน รวมไปถึงเอลลา ฟิทซ์เจอรัลด์ (Ella Fitzgerald) นักร้องผิวสีตำนานอีกคนหนึ่งของแจ๊ส แม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ยังเคยเสด็จไปทรงดนตรีกับเบนนี กูดแมนที่อเมริกาหลายครั้ง วงบิ๊กแบนด์ของกูดแมนด์เป็นวงดนตรีผสม (Mixed Race Band) วงแรกๆ เพราะเขาเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างสรรค์และคุณค่าของศิลปะ โดยไม่แยแสต่อค่านิยมเดิมๆ ทำให้เขาได้รับเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวาง ทำให้แจ๊สกลายเป็นดนตรีที่มี “อิสระ” และยุคสวิงมีพัฒนาการต่อมา ส่งผลต่อแจ๊สในรุ่นหลังเป็นอย่างมาก
 

13 มิถุนายน พ.ศ.2471 : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ เสด็จทิวงคต
 
13 มิถุนายน พ.ศ. 2471 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระบิดาแห่งไปรษณีย์ไทย เสด็จทิวงคต พระนามเดิมคือ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล “ภาณุพันธุ์” เป็นพระโอรสองค์ที่ 45 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2402 ทรงเป็นพระอนุชาร่วมครรโภทรเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ตอนปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 4 สยามได้มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น มีสถานกงสุลต่างประเทศเข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ หลายแห่ง กงสุลอังกฤษจึงได้เปิดรับจดหมายที่ส่งไปติดต่อกับต่างประเทศ โดยใช้ตราไปรษณียากรของสหพันธรัฐมลายาและอินเดีย แล้วส่งไปประทับตราวันที่ที่สิงคโปร์ โดยฝากไปกับเรือสินค้าของอังกฤษ ในปี 2418 สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ทรงจัดทำหนังสือพิมพ์ข่าวรายวันชื่อว่า “หนังสือค๊อตข่าวราชการ” หรือ “COURT” โดยจัดคนส่งหนังสือให้แก่สมาชิกทุกเช้า เมื่อไปส่งหนังสือให้สมาชิกคนไหน เขาสามารถฝากจดหมายกับคนส่งหนังสือพิมพ์ เพื่อส่งไปหาสมาชิกคนอื่นๆ ได้ โดยจะติดแสตมป์และเขียนชื่อที่อยู่ผู้รับ-ผู้ส่งให้เรียบร้อย คนส่งหนังสือข่าวราชการจึงนับเป็น บุรุษไปรษณีย์ คนแรกและเริ่มมีการติดแสตมป์บนจนดหมาย ต่อมารัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชประสงค์ให้มีการไปรษณีย์และโทรเลขขึ้นในประเทศไทย ทรงเห็นว่ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช มีพระทัยใส่ในเรื่องการไปรษณีย์ จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชร่วมกับเจ้าหมื่นเสมอใจราช จัดตั้งกรมไปรษณีย์ และกรมโทรเลข ขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2426 โดยทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขพระองค์แรก ต่อมาในปี 2441 ได้ยุบทั้ง 2 กรมรวมเป็นกรมเดียวกันชื่อว่า “กรมไปรษณีย์โทรเลข” นับว่ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชทรงเป็นผู้บุกเบิกกิจการไปรษณีย์ในประเทศไทย ภายหลังทรงได้รับการยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งการไปรษณีย์ไทย”
 

13 มิถุนายน พ.ศ.2408 : วันเกิด วิลเลียม ยีตส์ กวีชาวไอริช
 
13 มิถุนายน พ.ศ. 2408 วันเกิดวิลเลียม ยีตส์ (William Butler Yeats) กวีและนักเขียนบทละครชาวไอริช เกิดที่เมืองดับลิน (Dublin) พ่อและน้องชายเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง ส่วนน้องสาวทั้งสองคนก็ทำงานศิลปะและงานฝีมือ ยีตส์จึงเติบโตมาในบรรยากาศของศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กๆ แม่ของเขามักจะเล่าเรื่องราวและนิทานพื้นบ้านให้ฟังเสมอ ยีตส์เริ่มเขียนบทกวีชิ้นแรก เมื่อปี 2482 ตอนเรียนไฮสคูล บทกวีเล่มแรกคือ Mosada : A Dramatic Poem ตีพิมพ์ในปี 2429 ผลงานในช่วงแรกมักเป็นบทกวีแนวโรแมนติกอิงประวัติศาสตร์และตำนานปรัมปราของชาวไอริช ในช่วงหลังเขาเริ่มเขียนงานที่หนักแน่นและลึกซึ้งยิ่งขึ้น อาทิ บทกวีเรื่อง Sailing to Byzantium, The Tower และ The Second Coming ซึ่งเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ อดีตอันเก่าแก่ และความตาย เขาร่วมก่อตั้งโรงละครแห่งชาติไอร์แลนด์ (Irish Literary Theatre) ในปี 2442 เป็นวุฒิสมาชิกของ Irish Senate ระหว่างปี 2465-2471 ยีตส์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2466 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2482 ขณะอายุ 73 ปี ยีตส์นับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูวรรณกรรมไอริชใจช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20
 

14 มิถุนายน พ.ศ.2479 : แมกซิม กอร์กี นักประพันธ์ชาวรัสเซียถึงแก่กรรม
 
14 มิถุนายน พ.ศ. 2479 แมกซิม กอร์กี (Maxim Gorky) นักประพันธ์ชื่อดังชาวรัสเซีย ถึงแก่กรรม กอร์กีชื่อจริงคือ อเล็กเซย์ เอ็ม. เปชคอฟ (Alexei M. Peshkov) เกิดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2411 ที่เมืองนอฟโกรอด (Novgorod) ประเทศรัสเซียเป็นเด็กกำพร้าตอนอายุ 11 จึงมาอยู่กับยาย หลังจากนั้นจึงออกเดินทางไปทั่วรัสเซียเป็นเวลา 5 ปีโดยเปลี่ยนงานทำไปเรื่อยๆ ช่วงเวลานี้เขาได้สะสมประสบการณ์ชีวิตซึ่งนำมาใช้กับงานเขียนในเวลาต่อมา เขาเริ่มเป็นนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจากนั้นจึงเริ่มเขียนงานวรรณกรรม นวนิยายเรื่องแรก Essays and Stories ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2441 เขาเริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่นั้น ผลงานของกอร์กีมักจะสะท้อนความจริงทางสังคม ความทุกข์ยากของคนจนและคนชั้นล่างในสังคม นอกจากนั้นกอร์กียังเป็นผู้สถาปแนวคิดสัจนิยมสังคมนิยม (socialist realism) ในช่วงปี 2449-2456 ผลงานที่สำคัญได้แก่นวนิยายเรื่อง แม่ (Mother) The Lower Depths และ My Universities กอร์กีเป็นนักเขียนที่มีอิทธิพลมากคนหนึ่งแห่งศตวรรษที่ 20
 

14 มิถุนายน พ.ศ.2463 : แมกซ์ เวเบอร์ นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันเสียชีวิต
 
 
14 มิถุนายน พ.ศ. 2463 แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) นักสังคมวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวเยอรมัน เสียชีวิต เวเบอร์เป็นผู้ก่อตั้งวิชาสังคมศาสตร์สมัยใหม่ และรัฐประศาสนาศาสตร์ เกิดเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2407 ที่เมืองเออร์เฟิร์ต (Erfurt) ชื่อเดิมคือ Maximilian Carl Emil Weber ตอนอายุ 13 ปีเขาเขียนความเรียง 2 ชิ้นคือ "ทิศทางของประวัติศาสตร์เยอรมัน พร้อมกับการอ้างอิงพิเศษถึงจุดยืนของจักรพรรติและสันตะปาปา" (About the course of German history, with special reference to the positions of the emperor and the pope) และ "อาณาจักรโรมัน ตั้งแต่ช่วงของคอนสแตนตินที่หนึ่ง จนถึงช่วงของการอพยพของประเทศ" (About the Roman Imperial period from Constantine to the migration of nations) ในปี 2425 เข้าเรียนนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก (University of Heidelberg) และมหาวิทยาลัยเบอร์ลินจนจบปริญญาเอกด้านกฎหมาย นอกจากนั้นเขายังสนใจวิชาเศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ยุคกลาง (medieval history) และเทววิทยา (theology) เขาทำงานเป็นทนายและเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย นอกจากนั้นก็ยังทำงานวิชาการและเขียนบทความออกมาอีกจำนวนมาก ผลงานชิ้นของเขาคือความเรียง “จริยธรรมโปรเตสแตนต์และจิตวิญญาณทุนนิยม” (The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism) ซึ่งเขาโยงศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์เข้ากับระบบทุนนิยม เพราะอุดมคติในนิกายโปรเตสแตนต์คือการทำงานหนักและกินอยู่อย่างประหยัด ซึ่งเป็นมูลเหตุให้เกิดการสะสมทรัพย์เพื่อใช้ในการลงทุน งานที่มีชื่อเสียงอีกชิ้นคือ “การเมืองในฐานะที่เป็นอาชีวะ" (Politics as a Vocation) ซึ่งเขาได้นิยาม "รัฐ" ว่าคือหน่วยองค์ (entity) ซึ่งผูกขาดการใช้กำลังทางกายภาพที่ถูกกฎหมาย การเมืองจึงเป็นเรื่องของอำนาจ นิยามนี้ได้ถูกนำมาใช้ในการศึกษาวิชารัฐศาสตร์ตะวันตกสมัยใหม่มาจนถึงทุกวันนี้
 

14 มิถุนายน พ.ศ.2354 : วันเกิด แฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ นักประพันธ์ชาวอเมริกัน
 
 
14 มิถุนายน พ.ศ. 2354 วันเกิด แฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ (Harriet Elizabeth Beecher Stowe) นักประพันธ์ชาวอเมริกัน เกิดในครอบครัวเคร่งศาสนาที่รัฐคอนเน็คติคัต ได้รับการศึกษาอย่างครบถ้วนเช่นเดียวกับผู้ชายในสมัยนั้น เมื่อเรียนจบเธอย้ายไปเป็นครูอยู่ที่รัฐโอไฮโอพักใหญ่ เมื่ออายุได้ 24 ปีก็แต่งงานกับพ่อม่ายซึ่งเป็นอาจารย์ทางด้านเทววิทยา และครองรักกันอย่างยากไร้ ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในการเขียนนวนิยายเรื่องแรกที่โด่งดังและอื้อฉาว เรื่อง กระท่อมน้อยของลุงทอม (Uncle Tom’s Cabin) ซึ่งตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ระหว่างปี 2394-2395 ก่อนจะรวมเล่มพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2395 นิยายเรื่องนี้ว่าด้วยชีวิตของ ลุงทอม ทาสชรานิสัยอ่อนโยนผู้ถูกขายและซื้อต่อถึงสามทอด ก่อนจะถูกนายคนสุดท้ายทุบตีจนตาย นวนิยายเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันใหญ่โตจนกลายเป็นแรงกระตุ้นให้สังคมอเมริกันหันมาสนใจปัญหาการค้าทาสอย่างจริงจัง เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเลิกทาสในยุคประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น และเกิดเป็นสงครามกลางเมืองในเวลาต่อมา นิยายเล่มนี้ขายได้ถึง 300,000 เล่มภาย 3 เดือน ส่งผลให้สโตว์สามารถใช้ชีวิตหรูหรา เดินทางไปยุโรปถึง 3 ครั้ง สโตว์ได้เขียนหนังสืออีกหลายเล่ม อาทิ Dred: A Tall Of Dismal Swamp, The Minister’s Wooing และ Old Town Folks บั้นปลายชีวิตเธอป่วยเป็นโรคชราและมีอาการเลอะเลือน สโตว์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2439 เธอมีนวนิยายตีพิมพ์ 10 เรื่อง นอกจากนั้นยังมีเรื่องสำหรับเด็ก ความเรียงและงานศึกษา งานเขียนของเธอได้รับคำชมว่าเป็นการบุกเบิกงานเขียนแนวสมจริงของวงการวรรณกรรมอเมริกัน ลินคอล์นเคยกล่าวกับเธอว่า “คุณเป็นเพียงสุภาพสตรีตัวเล็กๆ ทว่างานเขียนของคุณได้ก่อให้เกิดสงครามครั้งใหญ่”
 

14 มิถุนายน พ.ศ.2471 : วันเกิด เช เกวารา นักปฏิวัติแห่งละตินอเมริกา
 
14 มิถุนายน พ.ศ. 2471 วันเกิดเช เกวารา (Che Guevara หรือชื่อจริง Ernesto Rafael Guevara de la Serna) นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่แห่งละตินอเมริกา (ข้อมูลบางแห่งบอกว่าเชเกิดวันที่ 14 พฤษภาคม 2471 เพราะมารดาต้องการปกปิดว่าเธอตั้งครรภ์ก่อนแต่ง) เชเป็นลูกครึ่งไอริช-สเปน เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางแห่งเมืองโรซาริโอ (Rosario) ประเทศอาร์เจนตินา เรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยบูเอโนสไอเรส (University of Buenos Aires) ตอนที่เรียนอยู่ปีสุดท้ายเขากับเพื่อน อัลเบอร์โต กรานาโด (Alberto Granado) ได้ขี่มอร์เตอร์ไซค์ (Norton 1939, 500 cc.) ท่องเที่ยวไปทั่วแถบละตินอเมริกา ทำให้เขาได้พบเห็นความยากลำบากของผู้คนในชนบท ความยากจน การเอารัดเอาเปรียบและการกดขี่ข่มเหงที่เลวร้ายล้วนแต่มีสาเหตุมาจากความแตกต่างทางชนชั้น และรัฐบาลเผด็จการ (บันทึกการเดินทางในครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ แปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 2539 และสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2547 ในชื่อเดียวกันว่า The Motorcycle Diaries แล้วการเดินทางครั้งนี้ก็ได้เปลี่ยนชีวิตของว่าที่นายแพทย์หนุ่มอนาคตไกลให้กลายเป็นนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมาเชตัดสินใจทิ้งเสื้อกราวน์ เข้าร่วมกับขบวนการปฏิวัติในประเทศต่างๆ จนได้พบกับ ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) ที่ประเทศแมกซิโกในปี 2498 ร่วมกันก่อตั้งกลุ่ม “26th of July Movement” เข้าปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลเผด็จการของประเทศคิวบาได้สำเร็จในปี 2502 คาสโตรขึ้นเป็นประธานาธิบดี เชได้เป็นรัฐมนตรีดูแลนโยบายด้านการเงินการคลัง โดยใช้นโยบายสังคมนิยม-มาร์กซิสม์สะสางปัญหาเศรษฐกิจของคิวบาจนเริ่มฟื้นจากวิกฤติ ในปี 2508 เชก็ละจากคิวบาเดินทางไปร่วมปฏิวัติในประเทศต่างๆ เช่น คองโก เวเนซูเอลา เปรู เวียดนาม กัวเตมาลา และที่สุดท้ายคือประเทศโบลิเวีย ในที่สุดเชก็ถูกทหารฝ่ายรัฐบาลโบลิเวีย (ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก CIA ของสหรัฐอเมริกา) จับกุมตัวได้และยิงเสียชีวิตในวันที่ 9 ตุลาคม 2510 ข่าวการตายของเชได้สร้างความเศร้าสลดใจมาให้ชาวละตินอเมริกา และหลังจากนั้นเขาก็ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักต่อสู้เพื่อเอกราช สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนหนุ่มสาวต่อสู้กับความอยุติธรรมมาจนทุกวันนี้
 

15 มิถุนายน พ.ศ.2524 : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปิด เขื่อนศรีนครินทร์
 
15 มิถุนายน พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชดำเนินไปทรงเปิดเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนแห่งนี้เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเดียวที่ใหญ่และมีความจุมากที่สุดในประเทศไทย สร้างปิดกั้นแม่น้ำแควใหญ่ บริเวณบ้านเจ้าเณร ต. ท่ากระดาน อ. ศรีสวัสดิ์ จ. กาญจนบุรี เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2516 สร้างเสร็จในปี 2523 แต่เดิมมีชื่อว่า "เขื่อนเจ้าเณร" หลังจากสร้างเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาขนานนาม ตัวเขื่อนมีความสูงจากฐานราก 140 เมตร สันเขื่อนยาว 610 เมตร กว้าง 15 เมตร อ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ 419 ตารางกิโลเมตร มีความจุ 17,745 ล้านลูกบาศก์เมตร ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 5 เครื่อง มีกำลังผลิต 720,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละประมาณ 1,250 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง เขื่อนศรีนครินทร์เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ มีวัตถุประสงค์ด้านผลิตกระแสไฟฟ้า การชลประทาน บรรเทาอุทกภัย ผลักดันน้ำเค็ม ประมง และการท่องเที่ยว รัฐบาลได้อนุมัติค่าใช้จ่ายในการสร้างเขื่อนเป็นจำนวนเงิน 1,800 ล้านบาท แต่เมื่อก่อสร้างเสร็จสิ้นจำนวนเงินได้เพิ่มขึ้นเป็น 4,623 ล้านบาท ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแห่งนี้ส่งผลให้พันธุ์ปลาลดลงจากเดิม 20 ชนิด พื้นที่ป่าถูกทำลายมากกว่าบริเวณป่าที่ถูกน้ำท่วมถึง 2 เท่า เขื่อนศรีนครินทร์ได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาและเงินกู้ยืมจากประเทศญี่ปุ่น โดยมีข้อตกลงว่า จะต้องซื้ออุปกรณ์จากบริษัทญี่ปุ่น อีกทั้งบริษัทที่รับเหมาก่อสร้างและรับช่วงต่อเกือบทั้งหมดก็เป็นบริษัทญี่ปุ่น นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของการผูกขาดอย่างครบวงจรของอุตสาหกรรมเขื่อนจากญี่ปุ่น
 

15 มิถุนายน พ.ศ.2504 : หมอบรัดเลย์ซื้อลิขสิทธิ์ นิราศลอนดอน
 
15 มิถุนายน พ.ศ. 2504 หมอบรัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley)  มิชชันนารีชาวอเมริกันซื้อลิขสิทธิ์  นิราศลอนดอน ของหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูล ณ อยุธยา) ในราคา 400 บาท  นับเป็นการขายลิขสิทธิ์ครั้งแรกในเมืองไทย หมอบรัดเลย์พิมพ์เสร็จและวางแผงในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2404 นิราศเรื่องนี้ หม่อมราโชทัยเขียนขึ้นระหว่างเดินทางเป็นล่ามให้กับคณะทูตสยามไปเจริญพระราชไมตรีกับประเทศอังกฤษ ในสมัยพระราชินีวิคตอเรีย เมื่อปี 2400 นับเป็นนิราศเรื่องแรกที่กล่าวถึงบ้านเมืองในประเทศตะวันตก นิราศลอนดอนเป็นทั้งวรรณคดี และจดหมายเหตุพงศาวดารชิ้นสำคัญของสยาม
 

15 มิถุนายน พ.ศ.2505 : ศาลโลกพิพากษาให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชา
 
15 มิถุนายน พ.ศ.2505 ศาลโลก หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์พิพากษาชี้ขาด คดีปราสาทเขาพระวิหาร ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศกัมพูชา ปราสาทหินแห่งนี้เป็นศิลปะขอม สร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะ ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ราวปี 1545-1593 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ของขอม ภาษาเขมรเรียกว่า "เปรี๊ยะ วิเฮียร์" (Phrea vihear) ตัวปราสาทสูง 657 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่บนทิวเขาพมนดงรักซึ่งกั้นระหว่างประเทศกัมพูชากับไทย ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศเหนือ ด้านหน้าและทางขึ้นอยู่ในเขตประเทศไทย แต่ตัวปราสาทส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกัมพูชา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ค้นพบปราสาทแห่งนี้เมื่อปี 2442 แล้วทรงจารึกพระนามของพระองค์และปีที่ค้นพบไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดีว่า “118 สรรพสิทธิ์” เนื่องจากเขาพระวิหารตั้งอยู่ตรงรอยต่อของไทยกับกัมพูชา ซึ่งผลัดกันยึดครองดินแดนแถบนี้ จนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยได้ส่งทหารเข้ายึดครองพื้นที่บริเวณเขาพระวิหาร เจ้านโรดม สีหนุ จึงยื่นฟ้องต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2502 การไต่สวนพิจารณาคดีเป็นไปอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ปี มีการนัดพิจารณาสืบพยานทั้งหมด 73 ครั้ง จนในที่สุด ศาลโลกก็ตัดสินให้กัมพูชาเป็นฝ่ายชนะคดีด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียง ยังผลให้ประเทศไทยต้องยินยอมทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 2 ข้อของกัมพูชา นับเป็นการเสียดินแดนครั้งล่าสุดของประเทศไทยในยุครัตนโกสินทร์ เสียพื้นที่ไปทั้งหมดประมาณ 150 ไร่ หลังจากแพ้คดีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยินยอมให้นักศึกษาเดินขบวนประท้วงคำตัดสิน และปิดทางขึ้นปราสาทซึ่งอยู่ในเขตประเทศไทย เป็นการตอบโต้กัมพูชา เหลือเพียงทางขึ้นเป็นช่องเขาแคบๆ สูงชันและอันตราย ในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของกัมพูชา เขาพระวิหารก็ถูกส่งปิด-เปิดให้เข้าชมอยู่หลายครั้งตามสถานการณ์ภายในประเทศ ก่อนจะเกิดความร่วมมือกันอีกครั้งระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบันนี้ เขาพระวิหารนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของ จ. ศรีสะเกษ
 

15 มิถุนายน พ.ศ.2295 : เบนจามิน แฟรงคลิน ค้นพบประจุไฟฟ้าในอากาศ
 
 15 มิถุนายน พ.ศ. 2295 เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) ค้นพบประจุไฟฟ้าในอากาศ และต่อมาเขาได้ประดิษฐ์สายล่อฟ้า เขาเกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2249 และเสียชีวิต วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2333 ที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา
 

16 มิถุนายน พ.ศ.2518 : วันสถาปนา วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฏเกล้า
 
16 มิถุนายน พ.ศ. 2518 วันสถาปนาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฏเกล้า (วพม.) วิทยาลัยแพทย์ทหารแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ปัจจุบันเป็นวิทยาลัยสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยแห่งนี้ร่วมมือกับโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกันวพม. เปิดดำเนินการเรียนการสอนตามหลักสูตรของทบวงมหาวิทยาลัย ใช้เวลาศึกษา 7 ปี ผลิตบัณฑิตแพทย์เพื่อจัดสรรกระจายไปให้เหล่าทัพต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อช่วยเหลือกำลังพล ครอบครัว และประชาชนที่อยู่ในชนบทห่างไกล
 

16 มิถุนายน พ.ศ.2517 : กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถึงแก่อสัญกรรมที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
 
16 มิถุนายน พ.ศ.2517 กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา ศรีบูรพา นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์และนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคนสำคัญของไทย ถึงแก่อสัญกรรมที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เกิดเมื่อวันที่ที่ 31 มีนาคม 2448 ที่กรุงเทพฯ เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ เริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่อายุ 17 ปี ปีต่อมาก็เริ่มส่งบทกวี นิยายโดยใช้นามปากกาศรีบูรพา เป็นหนึ่งใน คณะสุภาพบุรุษ ออกหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ รายปักษ์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2472 ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จากนั้นก็ทำหนังสือพิมพ์รายวันอีกหลายฉบับ อาทิ บางกอกการเมือง ไทยใหม่ ศรีกรุง และ สยามราษฎร์ ท่านได้เขียนบทความทางการเมืองลงตีพิมพ์หลายชิ้น โดยเฉพาะเรื่องมนุษยภาพ ซึ่งเป็นการจี้จุดอ่อนของ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และกลายเป็นบทความที่มีความสำคัญที่สุดในวงการหนังสือพิมพ์ไทยชิ้นหนึ่ง ในยุคแท่นพิมพ์ถูกล่ามโซ่ ปี 2495 ถูกจับกุมด้วยข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร หรือ กบฏสันติภาพ ได้รับอภัยโทษในปี 2500 นอกจากหนังสือพิมพ์แล้ว ท่านยังเขียนนิยายอมตะไว้หลายเล่ม เช่น แลไปข้างหน้า, จนกว่าเราจะพบกันอีก, ลูกผู้ชาย, สงครามชีวิตและ ข้างหลังภาพ ท่านถึงแก่กรรมด้วยโรคปอดบวมและเส้นโลหิตหัวใจตีบตันที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2517 และในวาระครบ 100 ปีชาติกาลในปี 2548 ท่านได้รับการยกย่องจากยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลดีเด่นของโลก ในฐานะผู้สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศไทยและสร้างสันติภาพทั่วโลก คำอมตะจากหนังสือ เล่นกับไฟ ประโยคหนึ่งกล่าวว่า "ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น"
 

16 มิถุนายน พ.ศ.2448 : วันเกิด ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา เจ้าของนามปากกาไม้ เมืองเดิม
16 มิถุนายน พ.ศ. 2448 วันเกิด ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา เจ้าของนามปากกา "ไม้ เมืองเดิม” นักประพันธ์คนสำคัญของไทย เกิดที่กรุงเทพฯ เรียนหนังสือที่โรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธ แต่ก็เกเรจนไม่เป็นอันได้เรียน เริ่มทำงานที่กรมบัญชาการมหาดเล็ก จากนั้นลาออกไปทำงานอิสระและเดินทางท่องเที่ยวไปตามจังหวัดต่างๆ แถบภาคกลาง ประสบการณ์ในช่วงนี้ได้กลายเป็นวัตถุดิบให้งานเขียนของเขาในเวลาต่อมา สมัยหนุ่มๆ เขารักการอ่านหนังสืออย่างหนักจนแตกฉาน โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์ โคลงกลอน รวมถึงพระราชนิพนธ์ทุกเล่ม เริ่มเขียนหนังสือเมื่ออายุ 30 ปีคือ "เรือโยงเหนือ" และ "ห้องเช่าเบอร์ 13” แต่ไม่มีสำนักพิมพ์ใดสนใจ ด้วยใจที่แนวแน่ เขาจึงเขียนมาเรื่อยๆ อย่างไม่ย่อท้อ จนในที่สุดก็ได้รับการตีพิมพ์เรื่องแรกคือ "แผลเก่า" เมื่อปี 2479 นักอ่านยอมรับและเขาในฐานะนักประพันธ์เอกผู้มี "สำนวนลูกทุ่ง” ผลงานที่มีชื่อเสียงเรื่องอื่นๆ ได้แก่ แสนแสบ, บางระจัน และนวนิยายเชิงประวัติศาสตร์เรื่องยิ่งใหญ่คือ ขุนศึก ชีวิตนักประพันธ์ของไม้ เมืองเดิมลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด เมื่อประสบความผิดหวัง สุราจึงเป็นที่พึ่ง อีกทั้งยังที่มีเพื่อนฝูงมาก ในบั้นปลายชีวิตจึงป่วยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังแต่ก็ยังเขียนหนังสือจนถึงวินาทีสุดท้าย โดยบอกให้ภรรยาคู่ทุกคู่ยากจดให้ เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2485 ทิ้งผลงานไว้กว่า 30 เรื่อง ไม้เมืองเดิมได้รับการยกย่องว่าเป็นนักประพันธ์ผู้เป็นต้นธารสำคัญของนวนิยายแนวลูกทุ่งและอิงประวัติศาสตร์
 

16 มิถุนายน พ.ศ.2442 : วันเกิด หลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต)
16 มิถุนายน พ.ศ. 2442 วันเกิดหลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) ช่างถ่ายภาพยนตร์มืออาชีพที่มีบทบาทมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เกิดในครอบครัวที่มพี่น้องสนใจเรื่องภาพยนตร์ เช่นพี่ชาย มานิต วสุวัต ผู้สร้างโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงแห่งแรกของไทย ปี พ.ศ. 2465 ได้ทดลองถ่ายภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นภาพยนตร์เชิงข่าวสารสารคดีคือ "น้ำท่วมซัวเถา" ต่อมา พ.ศ. 2470 ได้ทำภาพยนตร์บันเทิงเรื่อง "โชคสองชั้น" ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์บันเทิงเรื่องแรกที่ทำเพื่อการค้า และทำต่อมาอีกหลายเรื่อง ร่วมกับพี่น้องก่อตั้ง "บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง" เพื่อสร้างภาพยนตร์เสียงในฟิล์มเรื่องแรก คือ "หลงทาง" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ กิจการเจริญรุดหน้าตามลำดับจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 หลวงกลการเจนจิตก็เสียชีวิตกลการเจนจิตในปี พ.ศ. 2491 แต่พี่น้องที่เหลือก็ยังคงสร้างภาพยนตร์ต่อมา
 

 16 มิถุนายน พ.ศ.2451 : วันเกิด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
 
 
16 มิถุนายน พ.ศ. 2451 วันเกิดจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 11 และผู้นำจอมเผด็จการของไทย เกิดที่ย่านพาหุรัด กรุงเทพฯ จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เริ่มประจำการที่กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ในปี 2484 ได้เข้าร่วมสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) ได้เลื่อนยศเป็นพันเอกในปี 2495 และได้รับพระราชทานยศเป็นจอมพลในเวลาต่อมา จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารยึดอำนาจ จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 (ซึ่งได้ตกลงกันไว้แล้ว) ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502 ในช่วงที่บริหารประเทศได้สร้างผลงานไว้มากมายได้แก่ การออกกฎหมายเลิกการเสพและจำหน่ายฝิ่นโดยเด็ดขาด, กฎหมายปราบปรามนักเลง อันธพาล, กฎหมายปรามการค้าประเวณี จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศฉบับที่ 1และเป็นผู้ที่รื้อฟื้นกิจกรรมที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น จัดงานเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพ, การสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ และการประดับไฟบนถนนราชดำเนินในวันฉลองพระชนม์พรรษา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ จนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2506 หลังจากนั้นไม่นานก็มีการขุดคุ้ยเรื่องการคอร์รัปชั่น อนุภรรยาจำนวนมากของท่าน และปกครองแบบเผด็จการ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 17 เพื่อปราบปรามปัญญาชนและนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าคนสำคัญหลายคน เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์, จิตร ภูมิศักดิ์ และเป็นผู้ออก "พรบ. คอมมิวนิสต์" ส่งผลให้เกิดการปราบปรามผู้นำชาวนาในข้อหามีการกระทำอั้นเป็นคอมมิวนิสต์ ที่นำมาซึ่งกรณี "ถีบลงเขา เผาลงถึงแดง" อันลือลั่นทั่วทุกพื้นที่ในชนบท และเป็นผู้สถาปนาระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหาร ที่ปกครองประเทศไทยตั้งแต่ปี 2500-2516
 

18 มิถุนายน พ.ศ.2507 : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดสอนสามคณะแรก
 
 
18 มิถุนายน พ.ศ.2507 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดสอนสามคณะแรก คือ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย ปัจจุบันเปิดสอน 19 คณะ มีพื้นที่ในความดูแลทั้งหมดรวม 8,502 ไร่ ดอกไม้ประจำสถาบันคือ ดอกทองกวาว สีประจำสถาบันคือสีม่วง คำขวัญของมหาวิทยาลัยคือ "อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา" แปลว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตนเอง

18 มิถุนายน พ.ศ.2455 : เรือรบหลวงเสือคำรณสินธุ์ ขึ้นระวางประจำการในกองทัพเรือ
 
 
18 มิถุนายน พ.ศ. 2455 เรือรบหลวงเสือคำรณสินธุ์ (H.T.M.S. Sua Khamronsin) ขึ้นระวางประจำการในกองทัพเรือในสมัย รัชกาลที่ 6 เป็นเรือรบระดับเรือพิฆาตที่ต่อจากอู่กาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น และเป็นเรือลำแรกที่ทหารเรือไทยขับเรือแล่นมาจากญี่ปุ่น ร.ล. เสือคำรณสินธุ์มีระวางขับน้ำ 375 ตัน ยาว 75.66 เมตร กว้าง 7.15 เมตร กินน้ำลึก 2 เมตร ติดตั้งอาวุธปืนกล 57 มม. 5กระบอก ปืนกล 36 มม. 1 กระบอก และท่อยิงตอร์ปิโด 45 มม. 2 ท่อยิง ใช้เครื่องยนต์กังหันไอน้ำ (เคอร์ติส) จำนวน 2 เครื่อง มีกำลัง 6,000 แรงม้า มีกำลังพลประจำเรือ 73 นาย
 

18 มิถุนายน พ.ศ.2443 : พระนางซูสีไทเฮารับสั่งให้พวกขบวนการ อี้ เหอ ถวน เข่นฆ่าชาวต่างชาติในเมืองต่างๆของจีน
 
 
ค.ศ. 1898 หลังจากที่จักรพรรดิกวางสูของราชวงศ์ชิงล้มเหลวกับการปฏิรูป 100 ที่จะจัดการปรับเปลี่ยนสังคมจีนให้ทันสมัยและรับมือกับการรุกรานของจักรวรรดินิยมตะวันตกที่เข้ามาคุกคามจีนอย่างหนักหลังสงครามฝิ่นเป็นต้นมา เมื่อการปฏิรูป 100 วัน ถูก พระนางซูสีไทเฮา ล้มคว่ำไป ความไม่พอใจที่ได้เห็นแนวคิดตะวันตกแพร่หลายอย่างมาก (รวมทั้งขบถไท่ผิง) ก็เลยสะสมและแสดงออกมาในรูปเปิดทางให้กลุ่มอำนาจนอกระบบ รวมตัวกันเป็นกองทัพนักมวยที่ใช้ไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือ เข่นฆ่าคนจีนที่เป็นคริสเตียน และชาวต่างชาติในเมืองต่างๆของจีน เรียกว่าขบวนการอี้ เหอ ถวน หัวหน้าของขบถนักมวย อดีตเป็นโจรมาก่อน ชื่อ ตุง ฟู เสียง ได้รับการหนุนหลังอย่างลับๆจากราชสำนักของพระนางซูสีไทเฮา และกำเริบยกพวกเข้าไปในปักกิ่ง เข่นฆ่าชาวต่างชาติและล้อมเผาสถานทูตอย่างอุกอาจ
 

18 มิถุนายน พ.ศ.2358 : นโปเลียน โบนาปาร์ต ต่อสู้และพ่ายแพ้ในการรบครั้งสุดท้ายใน ยุทธภูมิวอเตอร์ลู
 
นโปเลียน โบนาปาร์ต ต่อสู้และพ่ายแพ้ต่อกองกำลังพันธมิตรในการรบครั้งสุดท้ายใน ยุทธภูมิวอเตอร์ลู ประเทศเบลเยียม
 

19 มิถุนายน พ.ศ.2521 : ตัวการ์ตูนการ์ฟิลด์ ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือพิมพ์
 
 
19 มิถุนายน พ.ศ. 2521 การ์ฟิลด์ (Garfield) ตัวการ์ตูนแมวอ้วนจอมกวน ปรากฏตัวครั้งแรกในหน้าหนังสือพิมพ์ พร้อมกับหมาน้อย โอดี (Odie) คู่กัด และจอน อาร์บัคเคิล (Jon Arbuckle) เจ้านายจอมเปิ่น การ์ตูนเรื่องนี้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยง เรื่องและภาพประกอบโดยจิม เดวิส (Jim Davis) นักเขียนการ์ตูนชาวอเมริกัน ของโปรดของการ์ฟิลด์คืออาหารโดยเฉพาะลาซานญา การดูทีวี นอนและการแกล้งคนอื่นการ์ฟิลด์เป็นการ์ตูนอเมริกันที่ประสบความสำเร็จที่สุดเรื่องหนึ่ง ได้รับการตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารกว่า 2,570 ฉบับกินเนส เวิร์ลด์ เร็คคอร์ด (Guinness World Records) ได้บันทึกไว้ว่า การ์ฟิลด์เป็นการ์ตูนช่อง (Comic strip) ที่ได้รับการตีพิมพ์มากที่สุดในโลก
 

19 มิถุนายน พ.ศ.2166 : วันเกิด แบลส ปาสกาล นักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส
 
 
19 มิถุนายน พ.ศ. 2166 วันเกิดแบลส ปาสกาล (Blaise Pascal) นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์และนักปรัชญาศาสนาชาวฝรั่งเศส เกิดที่เมืองแคลร์มงต์ (Clermont) ฝรั่งเศส เรียนหนังสือกับบิดาซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์และผู้พิพากษา เขามีความเป็นอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 12 ปี ได้พัฒนาเรขาคณิตเบื้องต้นด้วยตนเอง อายุ 16 ปี พัฒนาทฤษฎีบทที่สำคัญในวิชาเราขาคณิตโพรเจคตีฟ (projective geometry) และสามารถพัฒนาเครื่องคิดเลขได้ตั้งแต่อายุ 19 ปี ในปี 2197 เขากับ ปีแอร์ เดอ แฟร์มาต์ (Pierre de Fermat) ร่วมกันพัฒนาทฤษฎีความน่าจะเป็น (Probability theory) ผลงานที่สำคัญได้แก่ Essay pour les coniques และ Traite du traingle arithmetique ซึ่งมีอิทธิพลต่อวงการคณิตศาสตร์เป็นอย่างมาก ภายหลังจากประสบอุบัติรถม้าจนเกือบเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2197 เขาได้พบประสบการณ์ทางศาสนา จึงหันความสนใจไปทางศาสนาและปรัชญา ผลงานชิ้นหลังๆ ที่สำคัญได้แก่ Provincial Letters และ The Pensees (Thoughts) ผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนที่จะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2205 ปาสกาลเป็นคณิตศาสตร์ผู้หนึ่งในยุคการพัฒนาวิชาคณิตศาสตร์ในช่วงศตวรรตที่ 16 – 17 ภายหลังนิคลอส เวิร์ธ (Niklaus E. Wirth) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวสวิส ได้พัฒนาภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์และตั้งชื่อว่า "ภาษาปาสกาล” (Pascal programming language) ในปี 2513 เพื่อเป็นเกียรติแก่แบลส ปาสกาล
 

19 มิถุนายน พ.ศ.2488 : วันเกิด ออง ซาน ซู จี ผู้นำการเรียกร้องเสรีภาพชาวพม่า
 
 
19 มิถุนายน พ.ศ. 2488 วันเกิดออง ซาน ซู จี (Aung San Suu Kyi) หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy:NLD) ผู้นำการเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยด้วยสันติวิธีเกิดที่กรุงย่างกุ้ง เป็นบุตรของ นายพลออง ซาน (Aung San) ผู้นำในการเจรจาเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ และนายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่า ซึ่งถูกลอบสังหารขณะซู จูอายุเพียง 2 ขวบ วัย 15 ปี เธอตามมารดาไปรับตำแหน่งฑูตพม่าประจำประเทศอินเดีย และเรียนมัธยมที่นั่น และเรียนปริญญาตรีสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ พบรักและแต่งงานกับ ไมเคิล อริส (Michael Vaillancourt Aris) นักวิชาการวิชาอารยธรรมทิเบต ในปี 2515 ซู จีเริ่มงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิจัยกระทรวงการต่างประเทศพม่า ณ องค์การสหประชาชาติ ปี 2531 กลับพม่าเพื่อดูแลแม่ซึ่งป่วยหนัก ขณะนั้นบ้านเมืองกำลังร้อนระอุ นักศึกษาประชาชนกำลังต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของ นายพลเน วิน (Ne Win) ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ซู จีเข้าร่วมปลุกเร้าประชาชนให้มีขวัญกำลังใจ เรียกร้องเอกราชคืนจากรัฐบาลเผด็จการ โดยใช้หลักอหิงสาเผชิญหน้ากับกระบอกปืนอย่างไม่เกรงกลัว ซู จีปราศรัยครั้งแรกต่อประชาชนนับหมื่นที่เจดีย์ชเวดากองเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2531 ก่อให้เกิด “พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย” หรือ “เอ็นแอลดี” และพรรคการเมืองอื่นๆ จำนวนมาก เดือนกรกฎาคม 2532 ซู จีถูกทหารกักตัวไว้ที่บ้านพัก พฤษภาคม 2533 พรรคเอ็นแอลดีชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น แต่ทหารปฏิเสธการถ่ายโอนอำนาจแล้วกักบริเวณซู จีพร้อมจับกุมสมาชิกพรรคจำนวนมากไปคุมขังไว้ที่คุกอินเส่งอันโหดร้ายทารุณ ทหารยื่นข้อเสนอให้เธอยุติบทบาททางการเมือง ออกนอกประเทศไปพร้อมครอบครัว แต่เธอปฏิเสธ และเลือกที่จะอยู่เป็นกำลังใจให้ประชาชนพม่าในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย วันที่ 14 ตุลาคม 2534 คณะกรรมการโนเบลประกาศชื่อออง ซาน ซู จีเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ อเล็กซานเดอร์และคิม บุตรชายทั้งสองประคองภาพถ่ายมารดาขึ้นรับรางวัลที่กรุงออสโล ท่ามกลางเสียงปรบมือให้เกียรติกึกก้อง เงินรางวัล 1.3 ล้านเหรียญ ที่ได้ เธอมอบให้เป็นกองทุนเพื่อสุขภาพและการศึกษาของประชาชนพม่า ทุกวันนี้ ซู จียังถูกควบคุมตัว ไม่ได้รับอนุญาติให้ไปร่วมพิธีศพสามีซึ่งจากไปด้วยโรคมะเร็ง แม้จะมีเสียงเรียกร้องของนานาชาติให้คืนอิสรภาพแก่ออง ซาน ซู จี แต่รัฐบาลทหารของพม่าก็ยังไม่สนใจ
 

20 มิถุนายน พ.ศ.2520 : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มแปลนวนิยายเรื่อง นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ
 
 
20 มิถุนายน พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มแปลนวนิยายเรื่อง "นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ" หรือ "A Man Called Intrepid” ของ วิลเลียม สตีเวนสัน (Sir William Stevenson) หน้าแรก ก่อนจะสำเร็จในวันที่ 23 มีนาคม 2523 วรรณกรรมเรื่องนี้เขียนจากชีวิตจริงของ "นายอินทร์" หรือ "Intrepid" ซึ่งเป็นนามรหัสของวิลเลียม สตีเวนสัน หัวหน้าหน่วยราชการลับอาสาสมัครของอังกฤษ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านแผนร้ายของ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) จนประสบชัยชนะในที่สุด นิยายเรื่องนี้มีเนื้อหาอิงประวัติศาสตร์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่ามีประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างยิ่ง จึงทรงใช้เวลาและพระราชวิริยะอุตสาหะแปลถ่ายทอดจากต้นฉบับภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย นิยายเรื่องนี้มีความยาวกว่า 600 หน้า ผู้อ่านต้องใช้เวลาอ่านนานแต่ก็ไม่ทำให้เกิดความเบื่อ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกสรรกลวิธีในการถ่ายทอดการแปลได้อย่างยอดเยี่ยม
 

20 มิถุนายน พ.ศ.2498 : เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
 
20 มิถุนายน พ.ศ. 2498 เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นได้ในกรุงเทพ และจังหวัดใกล้เคียง เดิเมื่อเวลา 10.19 น. นาน 7.08 นาที จังหวัดที่เห็นได้ เช่น กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปรากฎการณ์สุริยุปราคาครั้งนั้นมีนักดาราศาสตร์ต่างประเทศเดินทางมาประเทศไทย หนังสือพิมพ์สารเสรี พาดหัวข่าวหน้า 1 และในโอกาสนั้น สมเด็จพระราชชนนี พร้อมด้วย สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา เสด็จทอดพระเนตรอาทิตย์ดับที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย ปรากฎการณ์สุริยคราสครั้งนี้ประชาชนไทยมีโอกาสเห็นกันมากที่สุดและนานที่สุดอีกด้วย
 

20 มิถุนายน พ.ศ.2420 : อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ให้บริการโทรศัพท์ในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก
 
 
20 มิถุนายน พ.ศ. 2420 อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) ได้ให้บริการโทรศัพท์ (Telephone) ในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกที่เมืองฮามิลตัน มลรัฐออนตาริโอ ประเทศแคนาดา (Hamilton, Ontario) ทั้งนี้ เบลล์ได้ประดิษฐ์โทรศัพท์เครื่องแรกเมื่อปี 2419 ปีต่อมาเขาได้ก่อตั้งบริษัท เบลล์ เทเลโฟน (Bell Telephone company) ก่อนจะเริ่มเปิดบริการโทรศัพท์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ภายในปี 2429 ได้มีผู้ใช้โทรศัพท์กว่า 150,000 เครื่องทั่วอเมริกา ในระยะหลังเขาประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างมาก จนกลายเป็นมหาเศรษฐี แต่ก็ได้ทำงานเพื่อสังคมโดยก่อตั้งสมาคมแนะนำและสอนคนหูพิการ ชื่อว่า American Association to Promote the Teaching of spech to Deaf นอกจากนี้เขายังมีความสำคัญในงานวิจัยทางด้านอากาศยาน นับว่าโทรศัพท์ที่เขาพัฒนาขึ้น ได้ส่งผลให้การสื่อสารเจริญก้าวหน้าขึ้น จนโทรศัพท์กลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญของมนุษย์ในปัจจุบัน
 

20 มิถุนายน พ.ศ.2380 : สมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียเสด็จเสวยราชสมบัติ
 
 
20 มิถุนายน พ.ศ. 2380 สมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria) แห่งสหราชอาณาจักร และเครือจักรภพเสด็จเสวยราชสมบัติ สืบทอดจาก สมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 (King William IV) พระราชปิตุลา เมื่อพระชนมพรรษา 18 พรรษา รัชสมัยของพระองค์เรียกว่า "ยุควิคตอเรีย" (Victoria Era) ซึ่งถือเป็นยุคแห่งความเจริญถึงขีดสุดทางด้านการเมือง การทหาร สังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีของสหราชอาณาจักร เกิด การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ในคริสตศรตวรรษที่ 18 ส่งผลให้จักรวรรดิได้แผ่ขยายกว้างไกลไปทั่วโลก จนกระทั่งกลายเป็นมหาอำนาจของโลก พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2444 เมื่อพระชนมพรรษา 81 พรรษา ทรงเป็นกษัตริย์ราชวงฮาโนเวอร์ (House of Hanover) พระองค์สุดท้าย และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ คือ 63 ปี 7 เดือน 2 วัน
 

20 มิถุนายน พ.ศ.2369 : รัฐบาลสยามลงนามในสนธิสัญญาเบอร์นี
 
 
20 มิถุนายน พ.ศ. 2369 รัฐบาลสยาม ลงนามในสนธิสัญญาเบอร์นี (Burney Treaty) กับอังกฤษ นับเป็นสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ฉบับแรกที่ไทยได้ทำกับประเทศตะวันตก ในสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้ ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) ทูตของอังกฤษ เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยในปี 2368 ตรงกับรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยมีความประสงค์ที่จะขอเปิดสัมพันธไมตรีกับไทย และขอความสะดวกในการค้าได้โดยเสรี เขาต้องใช้เวลาถึง 5 เดือนจึงสามรถทำสนธิสัญญากับไทยได้สำเร็จ โดยจัดทำขึ้น 4 ภาษาได้แก่ ไทย อังกฤษ โปรตุเกส และมลายู สนธิสัญญาเบอร์นีมีสาระสำคัญได้แก่ อนุญาตให้พ่อค้าไทยทำการค้ากับพ่อค้าอังกฤษได้อย่างเสรี รัฐบาลไทยจะเก็บภาษีจากพ่อค้าอังกฤษตามความกว้างของปากเรือ เจ้าพนักงานไทยมีสิทธิ์ลงไปตรวจสอบสินค้าของพ่อค้าชาวอังกฤษ และชาวอังกฤษที่เข้ามาค้าขายในเมืองไทยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยทุกประการ การทำสนธิสัญญาเบอร์นีก่อให้เกิดการขยายตัวด้านการค้าต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย 2 ประการคือ ทำให้รัฐต้องปรับวิธีการหารายได้และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในรูปภาษีมากขึ้น และก่อให้เกิดการผลิตเพื่อการค้าส่งออกเพิ่มขึ้น ในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 รัฐได้หันกลับมาใช้นโยบายการค้าผูกขาดอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการละเมิดข้อตกลงในสนธิสัญญาเบอร์นี ก่อให้เกิดปัญหาทางการค้าระหว่างไทยกับอังกฤษ นำไปสู่การทำสนธิสัญญาเบาริง (Bowring treaty) ในปี 2398 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งไทยต้องยอมรับระบบการค้าเสรีของอังกฤษในที่สุด
 

20 มิถุนายน พ.ศ.2362 : เรือจักรกลไอน้ำ ซาวันนาห์ เดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นลำแรก
 
 
20 มิถุนายน พ.ศ. 2362 เรือจักรกลไอน้ำ ซาวันนาห์ (Savannah) สามารถเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก จากอเมริกาถึงอังกฤษ เป็นลำแรก แม้ว่าการเดินทางโดยส่วนใหญ่จะใช้ใบเรือก็ตาม
 

21 มิถุนายน พ.ศ.2405 : วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
 
 
21 มิถุนายน พ.ศ. 2405 วันประสูติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 57 ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาชุ่ม ทรงเป็นต้นราชสกุล "ดิศกุล” ประสูติในพระบรมมหาราชวัง ทรงเริ่มเรียนหนังสือชั้นต้นในพระบรมมหาราชวัง และเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนหลวง เมื่อพระชนม์ได้ 13 พรรษา ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จากนั้นได้ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตรีทหารมหาดเล็ก บังคับกองแตรวง พระชนมายุได้ 15 พรรษา การงานก้าวหน้ามาโดยตลอด จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อน พระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ" เมื่อปี 2472 พระองค์ทรงเริ่มงานจัดการศึกษาเป็นครั้งแรกในปี 2425 โดยเปลี่ยน "โรงเรียนทหารมหาดเล็ก” เป็นโรงเรียนสำหรับพลเรือน "โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ” ทรงขยายการศึกษาโดยอาศัยวัดเป็นพื้นฐาน ส่งผลให้การศึกษาขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ทรงก่อตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน” ในปี 2442 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนมหาดเล็ก” และ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย ในที่สุด ในด้านสาธารณสุข ทรงมีพระดำริริเริ่มให้มี "โอสถศาลา” สำหรับรับหน้าที่ผลิตยาแจกจ่ายให้ราษฎรในตำบลห่างไกล ปัจจุบันคือ "สถานีอนามัย” และทรงจัดตั้ง "ปาสตุรสภา” สถานที่ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในปัจจุบันโอนไปอยู่ในสังกัดของ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย นอกจากนั้นยังทรงเป็นผู้วางรากฐานกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และหอสมุดแห่งชาติ พระองค์ท่านได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือ ตำราต่างๆ ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ไว้เป็นจำนวนมาก กรมพระยาดำรงราชานุภาพสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2486 พระองค์ได้รับการยกย่องเป็น "บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย" องค์การยูเนสโกได้ถวายสดุดีให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ท่านได้สร้างผลงานไว้จำนวนมาก ซึ่งเป็นมรดกทางปัญญาของคนไทยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2544 คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้ วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปีเป็น "วันดำรงราชานุภาพ" เพื่อน้อมนำให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงพระองค์ ผู้ทรงมีคุณูปการต่อแผ่นดินไทยเป็นอเนกอนันต์สืบไป
 

21 มิถุนายน พ.ศ.2189 : วันเกิด ก็อตต์ฟรีด ไลบ์นิซ นักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมัน
 
 
21 มิถุนายน พ.ศ. 2189 วันเกิดก็อตต์ฟรีด ไลบ์นิซ (Gottfried Wilhelm von Leibniz) นักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ และนักปรัชญาสำนักเหตุผลนิยมชาวเยอรมันเชื้อสายเซิร์บ เกิดที่เมืองไลป์ซิจ ประเทศเยอรมนี เข้าเรียนมหาวิทยาลัยตั้งแต่อายุ 15 ปี จบปริญญาตรีด้านปรัชญาและตรรกศาสตร์ตอนอายุ 17 ปี จากนั้นเรียนกฎหมายและเริ่มเขียนบทความเกี่ยวกับกฎหมาย เขาเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องคิดเลขที่สามารถบวก ลบ คูณ หาร และถอดกรณฑ์ได้ เขาตีพิมพ์ผลงานเล่มแรกในปี 2227 ชื่อ "Nova Methodus Pro Maximis et Minimis" (New Method of the Greatest and the Least) ไลบ์นิซเป็นผู้คิดค้น แคลคูลัส ร่วมกับ ไอแซก นิวตัน แต่ต่างคนก็ต่างเถียงกันว่าใครเป็นคนพบก่อนจนกระทั่งทั้งสองตายจากกัน ไลบ์นิซเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2259
 

21 มิถุนายน พ.ศ.2448 : วันเกิด ฌอง ปอล ซาร์ตร์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส
 
 
21 มิถุนายน พ.ศ. 2483 วันเกิดฌอง ปอล ซาร์ตร์ (Jean Paul Sartre) นักปรัชญาสำนักอัตถิภาวินิยม (Existentialism) ชาวฝรั่งเศส เกิดที่กรุงปารีส พ่อเสียตั้งแต่ยังเด็กๆ เขาจึงอยู่ในความอุปการะของตา ซึ่งสอนให้เขาอ่านวรรณกรรมคลาสสิกตั้งแต่เด็ก เข้าเรียนที่ Ecole Normale Superieure เขาสนใจปรัชญาของ คานท์ (Immanuel Kant), เฮเกล (Georg Wilhelm Friedrich Hegel) และ ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger) เป็นพิเศษ ที่นี่เขาได้พบกับ ซีโมน เดอ โบวัว (Simone de Beauvoir) คู่ชีวิตในอนาคต เมื่อเรียนจบปริญญาเอกสาขาปรัชญา เขาได้เป็นอาจารย์สอนปรัชญาที่มหาวิยาลัย Le Havre ในปี 2486 เขาเขียนตำราปรัชญาเรื่องแรก Being and Nothingness ผลงานที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ งานวิชาการ เช่น L’etre et le neant (Being and Nothingness), Existentialism is a Humanism นิยาย เช่น La Nausee (Nausea), Les mouches (The Flies) ซาร์ตร์เป็นต้นแนวคิดปรัชญาอัตถิภาวะนิยม ซึ่งให้ความสำคัญกับเสรีภาพของมนุษย์ในฐานะปัจเจก เขาเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับเสรีภาพในการ "เลือก" (และ "เลือกที่จะไม่เลือก”) ที่จะเป็นหรือทำอะไรก็ได้ตามที่ตนเองปรารถนา ในขณะเดียวกัน "เสรีภาพ" ก็ย่อมต้องมาพร้อมกับ "ความรับผิดชอบ" เมื่อมนุษย์ได้ "เลือก" แล้วเขาก็ย่อมต้องรับผิดชอบในผลจากสิ่งที่เขาเลือกด้วย โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แนวคิดของเขาส่งผลให้เกิดการต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพของผู้คนทั่วโลกจนถึงปัจจุบันซาร์ตร์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2507 แต่ปฏิเสธเพราะต้องการประท้วงการให้คุณค่าจากสังคมคนชั้นกลาง ซาร์ตร์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2523 ขณะอายุได้ 74 ปี ซาร์ตร์เป็นนักปรัชญาตะวันตกที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของศตวรรษที่ 20
 

22 มิถุนายน พ.ศ.2415 : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) มรณภาพ
 
 
22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญแห่งต้นสมัยรัตนโกสินทร์ มรณภาพ ท่านสมภพเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2331 ที่ จ.พิจิตร บวชเป็นสามเณรที่วัดเกศไชโย จ.พิจิตรเมื่ออายุ 13 ปี ภายหลังได้ย้ายไปศึกษาธรรมะกับ พระอรัญญิก เถระ (ด้วง) ที่ วัดบางขุนพรหมนอก (วัดอินทรวิหาร) จากนั้นได้ย้ายไปศึกษาพระปริยัติธรรมต่อที่ วัดระฆังโฆษิตาราม ท่านเป็นเณรนักเทศน์ที่หาตัวจับยาก แสดงธรรมได้ลึกซึ้งเข้าถึงจิตใจชาวบ้าน ในปี 2352 กลับไปอุปสมบทที่ วัดตะไกร อ.เมืองพิจิตร โดยมีท่าน เจ้าคุณพระธรรมาจารย์ วัดท่าหลวง เป็นประธานที่พระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้น พระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง ได้นิมนต์พระภิกษุโตกลับบางกอก เพื่อเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดระฆังฯ ต่อไป พระภิกษุโตมีความรู้แตกฉานลึกซึ้งในพระไตรปิฎก เป็นที่เคารพเลื่อมใสของประชาชนทั่วไปรวมถึงเจ้านายชั้นผู้ใหญ่และพระเจ้าแผ่นดิน ในสมัยรัชกาลที่ 3 ท่านได้ธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพรเพื่อฝึกจิตนานถึง 15 ปี เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงนิมนต์ท่านกลับบางกอกมาเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตาราม หลังจากที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) วัดสระเกศฯ ถึงแก่มรณภาพ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ องค์ที่ 5 ในสมัยรัตนโกสินทร์ ในวัย 76 พรรษา ท่านเป็นผู้ค้นพบคัมภีร์โบราณที่วัดเก่าแห่งหนึ่งต่อมาเรียกว่า คาถาชิญบัญชร ท่านเป็นภิกษุขึ้นชื่อในเรื่องการเทศนาธรรม โดยจะเลือกเทศให้เหมาะกับบุคคล กาละและเทศะเสมอ บางครั้งก็เทศเป็นปริศนาธรรม สามารถเทศให้คนฟังถึงกับหัวเราะ ร้องให้ หรือให้เข้าใจธรรมะ
 

23 มิถุนายน พ.ศ.2411 : คริสโตเฟอร์ ลาทาม โชลส์ นักวิทยาศาสตร์ชาวสหรัฐฯ จดสิทธิสิ่งประดิษฐ์ เครื่องพิมพ์ดีด
 
 
23 มิถุนายน พ.ศ. 2411 คริสโตเฟอร์ ลาทาม โชลส์ นักวิทยาศาสตร์ชาวสหรัฐฯ จดสิทธิสิ่งประดิษฐ์ “เครื่องพิมพ์ดีด”
 

23 มิถุนายน พ.ศ.2437 : คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ถูกก่อตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส
 
 
23 มิถุนายน 2437 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ถูกก่อตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยปารีส (ชื่อเดิมคือมหาวิทยาลัยซอร์บอน) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
 

23 มิถุนายน พ.ศ.2403 : สหรัฐฯ สถาปนาหน่วยสืบราชการลับขึ้นและพัฒนาจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลกในนาม หน่วยซีไอเอ
 
 
23 มิถุนายน พ. ศ. 2403 สหรัฐฯ สถาปนาหน่วยสืบราชการลับขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะพัฒนาและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลกในนาม หน่วยซีไอเอ ในเวลาต่อมา
 

24 มิถุนายน พ.ศ.2485 : พิธีเปิด อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
     
 
24 มิถุนายน พ.ศ. 2485 มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเป็นอนุสรณ์ของผู้ที่กล้าหาญของชาติ ที่ได้เสียชีวิตไปในการรบ เรียกร้องการปรับปรุงเส้นเขตแดนกับอินโดจีนฝรั่งเศส ชื่อของวีรชนไทยดังกล่าวจำนวน ๑๖๐ คน ได้จารึกไว้ ณ อนุสาวรีย์แห่งนี้
 

24 มิถุนายน พ.ศ.2498 : พิธีเปิดและแพร่สัญญาณ สถานีโทรทัศน์ ช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่งเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย
 
สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม นับว่าเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้การบริหารของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 โดยมีพิธีเปิดและแพร่สัญญาณ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2498 มีชื่อเรียกขานตามอนุสัญญาสากลว่าด้วยวิทยุโทรทัศน์ว่า HS1-TV ตั้งอยู่ที่วังบางขุนพรหม ที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน ราวเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2517 ได้หยุดทำการออกอากาศในระบบ 525 เส้น ทางช่อง 4 โดยได้ย้ายห้องส่งโทรทัศน์ไปที่ถนนพระสุเมรุ แขวงบางลำพู และราว พ.ศ. 2519 ได้เปลี่ยนระบบการออกอากาศ จากภาพขาวดำ เป็นภาพสี ในระบบ 625 เส้น ทางช่อง 9 อย่างสมบูรณ์ พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 9 ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 คณะรัฐมนตรี มีมติให้ยุบเลิกกิจการ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด
 

24 มิถุนายน พ.ศ.2483 : ก่อตั้งโรงเรียนข้าราชการฝ่ายปกครอง ต่อมาคือวิทยาลัยการปกครอง
     
 
วิทยาลัยการปกครอง เป็นสถาบันการฝึกอบรมข้าราชการฝ่ายพลเรือน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้นเรียกว่า "โรงเรียนข้าราชการฝ่ายปกครอง" รับนักศึกษาที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้ารับการฝึกอบรมเป็นเวลา 2 ปี โดยใช้พระตำหนักสุวัทนาเป็นหอนอนของนักเรียน และพระที่นั่งนงคราญสโมสรเป็นสถานที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ มีการศึกษาวิชาที่ว่าด้วยลักษณะกฎหมายอาญา หลักการจับกุม สืบสวน สอบสวนคดีอาญา ประวัติศาสตร์ จรรยาของนักปกครอง ขับรถยนต์ ขี่ม้า และยิงปืน เป็นต้น ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนมารับผู้สำเร็จการศึกษาอนุปริญญา และปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต เข้ามาเป็นปลัดอำเภอ
 

24 มิถุนายน พ.ศ.2437 : คณะกรรมาธิการโอลิมปิกสากล มีมติให้จัดกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ ในทุกๆ 4 ปี
 
 
24 มิถุนายน พ.ศ. 2437 คณะกรรมาธิการโอลิมปิกสากล มีมติให้จัดกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ ในทุกๆ 4 ปี
 

24 มิถุนายน พ.ศ.2475 : คณะราษฎรก่อการปฏิวัติยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ
 
 
วันที่ 24 มิถุนายน 2475  คณะราษฎร ได้ทำการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งยั่งยืนมา 150 ปี ไปเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) การเปลี่ยนแปลงการปกครองกระทำได้สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน การปกครองของประเทศจึงเปลี่ยนไป คือ มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ จนบัดนี้กำลังล่วงเข้าสู่ปีที่ 76 ในวันที่ 24 มิถุนายน 2551
 

24 มิถุนายน พ.ศ.2052 : เจ้าชายเฮนรี ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ในพระนามว่า พระเจ้าเฮนรี ที่ 8 แห่งอังกฤษ
 
24 มิถุนายน พ.ศ. 2052 เจ้าชายเฮนรี ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ในพระนามว่า พระเจ้าเฮนรี ที่ 8 แห่งอังกฤษ พระเจ้าเฮนรีที่ 8 ประสูติที่พระราชวังกรีนิช ลอนดอน ในราชอาณาจักรอังกฤษ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเฮนรีที่ 7 ทันทีที่เสด็จขึ้นครองราชย์ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงแคเธอรีนแห่งอารากอน ซึ่งเป็นหม้ายของพระเชษฐาอาเธอร์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ไทย สมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษทรงครองราชย์ในเวลาเดียวกันกับระหว่างรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐาธิราช) กับพระยอดฟ้า (พระแก้วฟ้า) ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในช่วงหลังๆ แห่งรัชสมัยของพระองค์ได้มีการทำสงครามกับฝรั่งเศสและสกอตแลนด์บ่อยครั้งก่อนการสงบศึกกับฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2089 พระราชโอรสคือ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แทน
 

25 มิถุนายน พ.ศ.2493 : หนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ฉบับปฐมฤกษ์ออกวางแผง
     
25 มิถุนายน พ.ศ. 2493 หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับปฐมฤกษ์ออกวางแผง หนังสือพิมพ์สยามรัฐเป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาคบ่าย เสนอข่าวทั่วไป มีแปดหน้า ราคา 50 สตางค์ ก่อตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2493 โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นผู้อำนวยการและนักเขียนประจำคอลัมน์ “หน้า 5 ซอยสวนพลู” และ นายสละ ลิขิตกุล ซึ่งเป็นบรรณาธิการคนแรก มีคำขวัญประจำหนังสือพิมพ์ว่า "นิคฺคณฺเห นิคฺคหารหํ ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ" เป็นพุทธสุภาษิตแปลว่า "ชมคนที่ควรชม ข่มคนที่ควรข่ม" ปัจจุบันยังผลิตหนังสือพิมพ์รายวัน และรายสัปดาห์ สำนักงานตั้งอยู่ที่ เลขที่ 12 อาคาร 6 ถ. ราชดำเนิน เขตพระนคร กรุงเทพฯ ปัจจุบัน ชัชวาลย์ คงอุดม ได้ซื้อกิจการและเข้าประธานกรรมการและดำเนินการต่อมาจนทุกวันนี้
 

25 มิถุนายน พ.ศ.2459 : รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด สถานีรถไฟกรุงเทพ
 
25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด สถานีรถไฟกรุงเทพ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า สถานีรถไฟหัวลำโพง ตามชื่อคลองและฝูงวัววิ่งกันอย่างคึกคะนองอยู่กลางทุ่งจึงเรียกว่า "ทุ่งวัวลำพอง" และได้เพี้ยนเสียงมาเป็น "หัวลำโพง" ในภายหลัง บ้างก็สันนิษฐานว่าเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ "ต้นลำโพง" ซึ่งเคยมีมากในบริเวณนี้ สถานีรถไฟหัวลำโพงเริ่มก่อสร้างในปี 2453 ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 สถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นโดมสไตล์อิตาเลียนผสมกับศิลปะเรอเนซองซ์ มีความคล้ายคลึงกับสถานีรถไฟฟรังค์ฟูร์ท ที่เมืองแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เพราะออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อ มาริโอ ตามานโญ มีพื้นที่ประมาณ 120 ไร่ ด้านหน้ามีสวนหย่อมและน้ำพุ ซึ่งสร้างเป็นอนุสาวรีย์น้อมเกล้าฯ อุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระพุทธเจ้าหลวง ภายในประดับด้วยหินอ่อน เพดานมีการสลักลายนูนต่างๆ จุดเด่นอย่างหนึ่งคือ กระจกสีที่ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังซึ่งประดับไว้อย่างผสมผสานกลมกลืนกับตัวอาคาร โดยมีนาฬิกาขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 160 เซนติเมตรซึ่งสั่งทำเป็นพิเศษ ติดตั้งอยู่อย่างกลมกลืน ปัจจุบันเป็นสถานีรถไฟที่เก่าแก่ที่สุด เป็นสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย รองรับรถไฟประมาณ 200 ขบวนต่อวัน จากรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ สร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้โดยสารจากทั่วทุกสารทิศของประเทศ และปัจจุบันสถานีรถไฟหัวลำโพง มีทางเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้ามหานคร หรือ รถไฟฟ้าใต้ดิน
 

26 มิถุนายน พ.ศ.2471 : วันเกิด คำพูน บุญทวี นักเขียนซีไรต์คนแรกของไทย
 
26 มิถุนายน พ.ศ. 2471 วันเกิด คำพูน บุญทวี นักเขียนซีไรต์คนแรกของไทย เดิมชื่อ คูณ เกิดที่บ้านทรายมูล กิ่งอำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร เรียนหนังสือที่บ้านจนจบชั้นม. 6 เริ่มทำงานหลายอย่าง เช่น เป็นกรรมกรรับจ้าง หัวหน้าคณะรำวง ขายยาเร่ ต่อมาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาเป็นกรรมกร คนเลี้ยงม้าแข่ง สารถีสามล้อ กระทั่งได้เป็นครูที่ภาคใต้อยู่ 11 ปี ก่อนจะเปลี่ยนไปเป็นผู้คุมเรือนจำ และเริ่มเขียนหนังสือครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2513 เรื่องสั้นเรื่องแรก คือ "รักในเหวลึก" หรือ "นิทานลูกทุ่ง" นวนิยายเรื่องแรกคือ "มนุษย์ 100 คุก" ในปี 2520 นวนิยายเรื่อง "ลูกอีสาน" ได้รับรางวัลซีไรท์ เมื่อ 2520 ซึ่งเป็นนักเขียนรางวัลซีไรต์คนแรกของเมืองไทย คำพูน บุญทวี ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2544 ก่อนจะเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2546
 

26 มิถุนายน พ.ศ.2329 : วันเกิด พระสุนทรโวหาร (ภู่) กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
 
26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 วันเกิดพระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือ สุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 เริ่มเรียนหนังสือที่วัดชีปะขาว ปัจจุบันคือวัดศรีสุดาราม ที่บางกอกน้อย ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนในกรมพระคลังสวน แต่งานที่รักที่สุดคือการเขียนบทกลอน ในสมัยรัชกาลที่ 2 ระหว่างที่รับราชการในกรมอาลักษณ์ ต้องจำคุกเพราะเมาสุรา สมัยรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่ออกจากราชการไปบวช เมื่อลาสิกขาแล้วถวายตัวอยู่กับพระองค์เจ้าลักขณานุคุณได้ปีหนึ่ง ครั้นเจ้านายพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ จึงขาดที่พึ่งได้รับความลำบากมาก ต้องลอยเรืออยู่และแต่งหนังสือขายเลี้ยงชีวิต ในปี 2394 ได้เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ ฝ่ายพระราชวังบวร มีบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุนทรโวหาร" ตลอดชีวิตได้สร้างผลงานไว้มากมายทั้งนิทานคำกลอน กาพย์กลอนต่าง ๆ นิราศไว้เป็นจำนวนมากเช่น พระอภัยมณี, นิราศภูเขาทอง, นิราศพระบาท ฯลฯ องค์การยูเนสโกจึงได้ประกาศเกียรติคุณให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในปี 2539
 

26 มิถุนายน พ.ศ.2362 : ดับเบิลยู. เค. คลาร์กสัน จูเนียร์ จดสิทธิบัตรจักรยาน
 
26 มิถุนายน พ.ศ.2362 ดับเบิลยู. เค.คลาร์กสัน จูเนียร์ (W.K.Clarkson,jr.) จดสิทธิบัตรจักรยาน ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า "velocipede” ที่มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา แต่น่าเสียดายที่สิทธิบัตรชิ้นนี้สูญหายไปในคราวที่สำนักงานถูกไฟไหม้ จึงไม่ทราบว่าจักรยานของคลาร์กสันมีลักษณะอย่างไร ทั้งนี้ จักรยานเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสตศตวรรษที่ 18 และเริ่มแพร่หลายในคริศตศตวรรษที่ 19 ต้นกำเนิดของจักรยานนั้นมีหลายสายความเชื่อ สายหนึ่งเชื่อว่า จักรยานเริ่มต้นที่ฝรั่งเศสในปี 2330 โดย Chevalier de Sivrac มีลักษณะเหมือนม้ามีล้อหน้า-หลัง ทำด้วยไม้ ผู้ขับขี่จะต้องใช้ประคองวิ่งไป อีกสายหนึ่งเชื่อว่า จักรยานคันแรกกำเนิดขึ้นในเยอรมนี เมื่อปี 2360 โดย Baron Darl de Drais de Sauerbrun เรียกว่า "Laufmaschine" แปลว่าเครื่องวิ่ง มีลักษณะคล้ายจักรยานปัจจุบัน คือมีล้อหน้า-หลัง มีคันบังคับเลี้ยว และมีที่ห้ามล้อ แต่ก็ต้องใช้เท้าประคองวิ่งเหมือนกัน Baron Darl de Drais de Sauerbrun จึงได้ชื่อว่าเป็น “บิดาของจักรยาน” มาจนทุกวันนี้ ขณะที่ชาวอียิปต์เชื่อว่า จักรยานพัฒนามาจากความคิดของบรรพบุรุษพวกเขา โดยมีภาพเขียนโบราณที่ขุดพบเป็นหลักฐานอ้างอิง ส่วน เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ก็เคยออกแบบสิ่งประดิษฐ์ที่มีลักษณะคล้ายจักรยานในปัจจุบัน ใช้วิธีทุ่นแรงด้วยโซ่และรอก ซึ่งก้าวหน้ามากในยุคนั้น และในปี 2382 จักรยานคันแรกซึ่งมีลักษณะสมบูรณ์ก็สร้างเสร็จ โดย เคิร์กแพทริก แม็คมิลแลน (Kirkpatrick Macmillan) ช่างตีเหล็กชาวสก็อต มีตัวถังหรือเฟรม (Frame) ทำด้วยเหล็ก ล้อหน้าหลังขนาดต่างกันหุ้มยาง มีบันไดสำหรับถีบ จากนั้นจักรยานก็ได้รับการพัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ ในแถบยุโรป จนปัจจุบันนี้ ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ได้ทำให้จักรยานกลายเป็นพาหนะที่มีหลากหลายประเภท ทั้งรถจักรยานใช้งานทั่วไป “จักรยานถนน” หรือ “เสือหมอบ” (Rode Bike) "จักรยานเสือภูเขา” (Mountainbike) "จักรยานไฮบริด” (Hybrid Bike) "จักรยานทัวริง” (Touring Bike) "จักรยานแทนเด็ม” (Tandem Bike) ฯลฯ วัสดุในการผลิตก็มีอย่างหลากหลาย ตั้งแต่ ไม้ไผ่ หวาย (ในเวียดนาม) เหล็กธรรมดา ๆ โครโมลี (Chomoly) อลูมิเนียม สแกนเดียม คาร์บอนไฟเบอร์ ไปจนถึง ไททาเนียม (Titanium) มีเกียร์ให้ใช้ถึง 30 เกียร์ คาดกันว่าทั่วโลกมีจักรยานไม่ต่ำกว่าพันล้านคัน นิยมใช้กันมากในประเทศแถบยุโรป อเมริกา และเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม
 

27 มิถุนายน พ.ศ.2477 : วันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 วันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) (Thammasat University:TU) ชื่อเมื่อเริ่มก่อตั้งคือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ซึ่งเกิดจากความคิดริเริ่มของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (รัฐมนตรีว่าการ กระทรวง มหาดไทย ในขณะนั้น) โดยเล็งเห็นว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในขณะนั้นยังไม่เพียงพอ หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จึงต้องการบุคคลที่มีความรู้ทางกฎหมาย การปกครอง และสังคม มารับใช้ประเทศชาติโดยด่วน จึงได้เสนอร่าง "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476" โดยศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งเป็น "ผู้ประศาสน์การ” คนแรกของมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายที่จะให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร เป็น "ตลาดวิชา" หรือ "มหาวิทยาลัยเปิด" แห่งแรกของประเทศไทย ในปีแรกมีผู้สมัครเข้าศึกษาถึง 7,094 คน ในช่วงเริ่มต้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งอยู่ที่โรงเรียนกฎหมายเดิม เชิงสะพานผ่านฟ้าภิภพลีลา ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2478 มหาวิทยาลัยขอซื้อที่ดินบริเวณท่าพระจันทร์เพิ่มเติมและย้ายมาอยู่ที่นี่ ภายหลังจากคณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ศาสตราจารย์ ปรีดี พนมยงค์ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ชื่อมหาวิทยาลัยถูกตัดคำว่า "การเมือง" ออก เปลี่ยนเป็น "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" และความเป็นตลาดวิชาหมดไป จากนั้นในปี 2518 สมัย ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี ได้ขยายการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น และซื้อที่ดินเพิ่มเติมที่รังสิต นอกจากนี้ ยังขยายไปที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ด้วย โดยอยู่บนพื้นฐานการปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์ ดั่งเช่น “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์” ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดสอนกว่า 20 คณะ สีประจำมหาวิทยาลัยคือ เหลืองแดง หมายถึงศาสนาและชาติ ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยคือต้นหางนกยูง ปรัชญาของมหาวิทยาลัยคือ "...มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา..." มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแหล่งผลิตบัณฑิต ปัญญาชน นักวิชาการที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทยและเป็นสถาบันการศึกษาที่ยืนอยู่เคียงข้างประชาชนในเหตุการณ์สำคัญๆ ของบ้านเมืองมาโดยตลอด ทั้ง เหตุการณ์ "14 ตุลา 16" และ "6 ตุลา 19"
 

27 มิถุนายน พ.ศ.2404 : รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้คณะราชทูตไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับฝรั่งเศส
 
27 มิถุนายน พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (แพ บุนนาค) เป็นหัวหน้าคณะราชทูต เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสง-ชูโต) เป็นอุปทูต และ พระณรงค์วิชิต (วร บุนนาค) เป็นตรีทูต จำทูลพระราชศาสน์ และเครื่องมงคลราชบรรณาการไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับ พระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งประเทศฝรั่งเศส (Napoleon III of France) โดยขบวนเรือของกองทัพฝรั่งเศส พระเจ้านโปเลียนที่ 3 โปรดรับรองคณะทูตสยามอย่างดี
 

27 มิถุนายน พ.ศ.2475 : คณะราษฎรประกาศใช้รัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวพุทธศักราช 2475
 
27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎร ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งกฎหมายสูงสุดในการปกครองรัฐ หลังจากคณะราษฎรทำการอภิวัติน์การปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (Constitution) ฉบับนี้ ซึ่งนับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ร่างโดยนายปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะราษฎร โดยมีเจตนารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อให้ประเทศนี้เป็นของ "ประชาชน" อย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดเด่นที่ได้ระบุคุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรว่า จะต้องมีอายุ 20 ปี และจะต้องสอบไล่วิชาการเมืองได้ตามหลักสูตรซึ่งสภาได้ตั้งขึ้นไว้ (ต่อมาได้มีการตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นมารองรับ) และที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้เพศชายและหญิงมีสิทธิเท่ากันในการออกเสียงเลือกตั้ง ทั้งที่ในสมัยนั้น บางประเทศในยุโรป ผู้หญิงยังไม่มีสิทธิ์ทางการเมืองด้วยซ้ำ รัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้จะไม่กี่มาตรา แต่ก็นับเป็นต้นแบบของรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศภายหลังทั้งสิ้น "รัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475" จึงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศนี้ หาใช่ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามพุทธศักราช 2475" ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 อย่างที่คนส่วนมากเข้าใจไม่ ถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2550) ประเทศไทยอยู่ในระบอบประชาธิปไตยมาแล้ว 75 ปี แต่เราเขียนและฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้วถึง 17 ฉบับ ล่าสุด รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ฉบับที่ 18) กำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการร่าง ในขณะที่ประเทศต้นกำเนิดประชาธิปไตยอย่าง อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับถึงวันนี้ รัฐธรรมนูญของเขามีอายุ 792 ปี [นับที่ กฎบัตรแมกนาคาร์ตา (Magna Carta)] และ 220 ปี ตามลำดับ แต่ทั้งสองประเทศนี้กลับใช้รัฐธรรมนูญเพียงแค่ฉบับเดียว แต่อาจมีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมัย เพราะประชาชน นักการเมือง และทหารของเขาต่างเคารพกฎหมายและรู้หน้าที่ของตน
 

29 มิถุนายน พ.ศ.2481:เรือดำน้ำชุดแรกที่รัฐบาลไทยสั่งจากประเทศญี่ปุ่นเดินทางมาถึงประเทศไทย
 
29 มิถุนายน พ.ศ. 2481 เรือหลวงสินสมุทร, เรือหลวงพลายชุมพล, เรือหลวงมัจจาณุ (ลำที่ 2) และ เรือหลวงวิรุณ ซึ่งเป็นเรือดำน้ำชุดแรกที่รัฐบาลไทยสั่งต่อมาจากประเทศญี่ปุ่น ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำต่อที่อู่ต่อเรือ บริษัท มิตซูบิชิ ที่เมืองโกเบ เมื่อปี 2479 ในสนนราคาลำละ 882,000 บาท วางกระดูกงูและปล่อยลงน้ำไล่เลี่ยกันคือระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2479 หลังจากมาถึงประเทศไทย ก็ได้ขึ้นระวางประจำการพร้อมกันคือวันที่ 19 กรกฎาคม 2481 และปลดระวางประจำการพร้อมกันคือวันที่ 30 พฤศจิกายน 2494 เมื่อครั้งกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส หลังจาก เรือหลวงธนบุรี และ เรือตอร์ปิโด ถูกเรือฝรั่งเศสยิงจมแล้ว เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล ได้ไปลาดตระเวนเป็น 4 แนวอยู่หน้าบริเวณฐานทัพเรือเรียมของอินโดจีนฝรั่งเศส ใช้เวลาดำอยู่ใต้น้ำทั้งสิ้นลำละ 12 ชั่วโมง ขึ้นไปนับเป็นการดำที่นานที่สุด ตั้งแต่ได้เริ่มมีหมวดเรือดำน้ำมาจนกระทั่งได้ถูกยุบเลิกไป ปัจจุบันเรือหลวงมัจฉานุได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ
 

29 มิถุนายน พ.ศ.2445 : รัชกาลที่ 5 ประกาศใช้พระราชบัญญัติธนบัตร ร.ศ. 121
 
29 มิถุนายน พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประกาศใช้ พระราชบัญญัติธนบัตร ร.ศ. 121 เนื่องจากการค้าขายในพระราชอาณาจักรเริ่มเจริญขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อความสะดวกของประชาชน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดพิมพ์ธนบัตรขึ้นเพื่อความสะดวกในการใช้จ่าย ตรวจตรา และการพกพา ธนบัตรรุ่นแรกได้ว่าจ้างบริษัทโทมัส เดอ ลา รู (The De La Rue Company Limited) ของอังกฤษจัดพิมพ์ เรียกว่า "ธนบัตรแบบ ที่ 1" เป็นธนบัตรชนิดพิมพ์หน้าเดียว ออกใช้ครั้งแรกตามประกาศเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ลงวันที่ 7 กันยายน 2445 มีทั้งหมด 5 ชนิดราคา คือ 5 บาท, 10 บาท, 20 บาท, 100 บาท และ 1,000 บาท จนกระทั่งปี 2512 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรจึงเริ่มพิมพ์ธนบัตรใช้เองภายในประเทศ และดำเนินการมาจนปัจจุบันนี้ ทั้งนี้การจัดทำและนำธนบัตรออกใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของธนาคารแห่งประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว การออกใช้ธนบัตรจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ ต้องมีทุนสำรองเงินตราหนุนหลังเต็มมูลค่าของธนบัตรออกใช้เสมอ
 

29 มิถุนายน พ.ศ.2424 : วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
 
29 มิถุนายน พ.ศ. 2424 วันประสูติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระโอรสองค์ที่ 33 ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ทรงเป็นต้นราชสกุล บริพัตร ทรงศึกษาชั้นต้นที่พระตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อทรงพระเจริญวัยมีพระชนมยุได้ 13 พรรษา ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประทศอังกฤษ แล้วย้ายไปศึกษาวิชาทหารที่ประเทศเยอรมัน และใช้เวลาส่วนพระองค์ศึกษาวิชาด้านประสานเสียงและการประพันธ์เพลงก่อนการเสด็จกลับประเทศไทย เมื่อเสด็จกลับจากยุโรปทรงเริ่มรับราชการครั้งแรกในตำแหน่งเสนาะการทหารบก เมื่อปี 2446 ขณะพระชนมายุเพียง 23 พรรษา ทรงสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้แก่กิจการที่ทางด้านการทหาร การปกครอง การสาธารณสุข การศึกษา ทรงวางรากฐานความเจริญของกองทัพเรือไทย กองทัพบก กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย ขณะดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ได้เปลี่ยนชื่อ "กรมอากาศยานทหารบก" เป็น "กรมอากาศยาน" ทรงจัดหาเครื่องบินไว้ใช้ในราชการเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอันมาก จัดให้มีการแสดงการบิน มีการสร้างเครื่องบินขึ้นใช้เอง จัดตั้งกองบินต่างๆ สร้างสนามบินในต่างจังหวัด เปิดสายการบินไปรษณีย์ทางอากาศไปต่างจังหวัดทำการบินไปเจริญสัมพันธไมตรีอวดธงในต่างประเทศ และเชิญชวนประชาชนที่มีความนิยมศรัทธาบริจาคทร้พย์ซื้อเครื่องบินมาใช้ราชการได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังทรงพระปรีชาสามารถในงานดนตรี ทรงพระนิพนธ์เพลงไทย เพลงฝรั่ง และเพลงไทยเดิมไว้จำนวนมาก เช่น วอทซ์ปลื้มจิต, วอทซ์ชุมพล, สุดเสนาะ, เพลงมหาฤกษ์, เพลงมหาโศก ฯลฯ กระทั่งทรงได้รับการขนานพระนามเป็น "พระบิดาแห่งเพลงไทยเดิม" ในปี 2474 สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคไตและพระหทัย ณ ตำนักประเสบัน เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2487 รวมพระชนมายุได้ 63 ชันษา
 

30 มิถุนายน พ.ศ.2480 : การตูนเรื่อง ซูปเปอร์แมน ตอนแรกถูกตีพิมพ์
 
30 มิถุนายน 2480 การตูนเรื่อง “ซูปเปอร์แมน” ตอนแรกได้ถูกตีพิมพ์ขึ้นในนิตยสารแอคชั่น คอมมิคส์ (Action Comics)
 

30 มิถุนายน พ.ศ.2448 : อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เผยแพร่บทความ On the Electrodynamics of Moving Bodies
 
30 มิถุนายน พ.ศ. 2448 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เผยแพร่บทความ "On the Electrodynamics of Moving Bodies" ซึ่งนำเสนอ ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (The Special Theory of Relativity) เป็นการรวมกลศาสตร์ดั้งเดิมเข้ากับ electrodynamics ของ Clark Maxwell โดยกล่าวถึงการเคลื่อนที่ของสิ่งต่างๆ ในมิติของเวลา, สถานที่ และทิศทาง ต่อมาได้กล่าวถึงมวลสารที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ และพลังงานก็สามารถเปลี่ยนเป็นมวลสารได้ หรือมวลสารกับพลังงาน คือ สิ่งเดียวกัน (mass and energy equivalent) ดังสมการที่ลือชื่อคือ E = mc2 เมื่อ E เป็น พลังงาน m คือ มวลที่มีหน่วยเป็นกรัม c คือ ความเร็วของแสง มีหน่วยเป็นเซนติเมตรต่อวินาที
 

30 มิถุนายน พ.ศ. 2457 มหาตมะ คานธี ถูกจับกุมเป็นครั้งแรก ระหว่างรณรงค์เรียกร้องสิทธิของชาวอินเดียในแอฟริกาใต้
 
มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) มีชื่อเต็มว่า โมฮันดาส ครามจันทร์ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi) เป็นผู้นำและนักการเมืองที่มีชื่อเสียงชาวอินเดีย เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2412 และถูกลอบสังหารเสียชีวิตในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2491 รวมอายุได้ 78 ปี มหาตมะ คานธี เกิดในครอบครัวชาวฮินดู รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย บิดาเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ส่วนมารดาเป็นผู้ที่เคร่งครัดศาสนามาก แต่งงานกับกัสตูร์ คานธี การศึกษาเข้าเรียนด้านกฎหมายที่นครลอนดอน ประเทศอังกฤษ มหาตมะ คานธี เป็นผู้นำคนสำคัญในการเคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพของอินเดีย จากการเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร โดยใช้วิธี อหิงสา ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นต้นแบบของการประท้วงแบบสันติที่ได้รับการยกย่อง มหาตมะ คานธี เริ่มเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางความคิดทางการเมืองในปี พ.ศ.2449 เนื่องจากกฎหมายใหม่กำหนดให้ชาวอินเดียทุกคนจะต้องเข้ารับการจดทะเบียนและพิมพ์ลายนิ้วมือ ข้อบังคับนี้รวมถึงการให้หญิงชาวอินเดียต้องเปลื้องผ้าต่อหน้าตำรวจผิวขาว เพื่อกรอกตำหนิรูปพรรณลงในทะเบียนด้วย ด้วยความโกธรแค้น ชาวอินเดียประมาณ 3,000 คนมารวมตัวกันที่เมืองโยฮันเนสเบิรต์ เพื่อวางแผนการตอบโต้ เขาลุกขึ้นแล้วก็พูดว่า "เราจะสวดขอต่อพระเป็นเจ้าว่า เราจะเข้าคุก และเราจะอยู่ในนั้นจนกว่ากฎหมายนี้จะถูกเพิกถอน และเราจะยอม" คำพูดของเขาจุดประกายให้เกิดการต่อต้านครั้งยิ่งใหญ่เป็นประวัติการณ์ของมวลชน ผู้ประท้วงกระทำตามอย่างคานธี พวกเขาอดทนต่อการทุบตีของตำรวจ ยอมรับความเจ็บปวดอย่างกล้าหาญโดยไม่ตอบโต้ มหาตมะ คานธี เป็นผู้นำในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชของประเทศอินเดียจากเครือสหราชอาณาจักร จนประเทศอินเดียได้รับเอกราชในปี พ.ศ.2490 โดยเขามีความเชื่อที่มั่นคงเกี่ยวกับการประท้วงโดยไม่ใช้ความรุนแรง และความอดทนตามหลักศาสนา ที่เรียกว่าวิธี "อหิงสา" โดยเขาจะอดอาหารประท้วงจนความรุนแรงยุติลง ในขณะที่มือข้างหนึ่งเปิดฉากการประท้วง แต่อีกข้างหนึ่งก็ต้องปกป้องพวกพ้องไม่ให้พ่ายต่อความต้องการก่อเหตุนองเลือด หลายครั้งที่คานธียกเลิกการชุมนุม เมื่อเหตุการณ์ทำท่าจะบานปลายเป็นความรุนแรงของประชาชนในประเทศ ในฐานะผู้นำทางการเมือง คานธีได้แสดงให้เห็นว่า "อหิงสา" สามารถใช้ให้เกิดผลทางการเมืองได้ ไอน์สไตน์ กล่าวถึงคานธีว่า "คนรุ่นอนาคตจะไม่มีทางเชื่อเลยว่า มีคนแบบนี้อยู่จริงบนโลกมนุษย์นี้" มาร์ติน ลูเธอร์คิงส์ ได้กล่าวไว้ว่า "พระเยซูเจ้ามอบคำสอนแก่ข้าพเจ้า คานธีมอบวิธีการ"