พระร่วงมีเรื่องเล่า ภาวะผู้นำ การบริหารจัดการน้ำ ผู้ให้กำเนิดสัตว์-พืช-แร่ธาตุ และประกาศเอกราชของไทย

  • Print
ผู้เขียนรู้จักพระร่วงครั้งแรกเมื่อเรียนหนังสือในวัยเด็กเล็กจากนิทานเรื่องขอมดำดิน มีภาพประกอบลายเส้นรูปพระกำลังวาดลานวัด ใกล้ๆ กันมีชาวขะแมร์โพกผ้าโผล่ศีรษะพ้นดินขึ้นมา การรับรู้ในวัยนั้นก็คือ พระร่วงช่างมีวาจาสิทธิ์อย่างน่าอัศจรรย์ (อันที่จริงก็ยังงงๆ ว่าทำไมร่วง จึงไม่ได้หมายถึงหล่น) ต่อมาได้รับรู้ว่าพระร่วงน่าจะหมายถึงพระขุนรามคำแหง ผู้ประดิษฐ์ลายสือไท นอกจากนี้ยังเคยรู้สึกขบขันแกมกระดากเมื่อทำงานภาคสนามในท้องถิ่นเมืองเก่าสุโขทัยราว พ.ศ. ๒๕๑๘ จากนิทานเฉี่ยวอนาจารของชาวบ้าน แสดงว่าเรื่องเล่าของพระร่วงนั้นมีสาระย่อยๆ อยู่หลายแง่มุม บ้างเรียบง่าย บ้างซับซ้อน บ้างก็ผิดเพี้ยนจนสับสน
 
แต่เรื่องพระร่วงที่คนไทยรู้จักกันดีก็คือ ขอมดำดิน เพราะแม้สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า  (ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖) ก็ยังทรงนำมาแต่งเป็นบทละครร้อง ทั้งทรงแสดงเองด้วย คลี่คลายไปสู่การตั้งชื่อเรือรบลำแรกของสยามว่าเรือรบหลวงพระร่วง
 

จินตนาการของคนรุ่นหลังที่ถ่ายทอดเรื่อง
เขียนเป็นภาพขอมดำดิน มาถามหาพระร่วงจนถูกสาบให้เแข็งเป็นหินอยู่ตรงนั้น 
 
สาระหลากหลายเหล่านี้ ควรที่เราชาวไทยจะต้องฟื้นฟูความรู้กันหน่อยให้สมสมัยกับยุคปฏิรูปประเทศชาติ แม้จะสับสนเกี่ยวกับสถานที่ ตัวบุคคล เช่น พระร่วง หมายถึงพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ บ้างก็ว่าหมายถึงพ่อขุนรามคำแหง บ้างก็ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์สุโขทัยทุกพระองค์ แต่สิ่งนี้ก็เป็นธรรมดาของตำนาน (Myth) หรือเรื่องเล่าชาวบ้าน (Folk tales) ที่จะผิดพลาดคลาดเคลื่อนเสมอเมื่อผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานอย่างที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเขียนไว้ในสาส์นสมเด็จว่าเรื่องของพระร่วงนั้น “แต่งเมื่อวานซืนนี้ทั้งนั้น เรื่องที่กล่าวจึงเลอะเทอะถึงปานนี้” สอดคล้องกับที่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ ตรัสว่าเป็น “นิทานยายแก่” ในขณะที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ซึ่งทรงได้รับการศึกษาอย่างสมัยใหม่ในซีกโลกตะวันตกกลับทรงมีทัศนะอย่างนักวิชาการที่น่าใส่ใจใคร่ครวญอย่างมาก โดยทรงเห็นว่า “จะว่าเป็นนิทานไปหมดทีเดียวไม่ได้ คงจะมีเรื่องจริง แต่หากเล่าต่อเติมเพิ่มความอัศจรรย์ขึ้น... ความจริงอันควรเชื่อได้ในเรื่องนี้นั่นคือ พระร่วงนี้ได้เป็นทั้งพระเจ้าแผ่นดินและเป็นวีรบุรุษผู้มีสติปัญญาไหวพริบ เช่น การคิดภาชนะอย่างใหม่ขึ้นใช้ตักน้ำ...เป็นของคิดขึ้นใหม่ จึงพากันตื่นเต้นเห็นเป็นผู้วิเศษ ที่ว่าวาจาสิทธิ์นั้น ก็ท่าจะอธิบายได้ว่า พระร่วงเป็นผู้ที่พลเมืองนิยมนับถือมาก จะมีบัญชาสั่งอะไรก็เป็นไปตามบัญชาทุกประการ”
 
ขอย้ำเรื่องความมีไหวพริบ สติปัญญา ซึ่งผู้เขียนขีดเส้นไว้ เพื่อตอบโจทย์จากหัวเรื่องที่ให้ไว้ ว่าเรื่องราวหลากหลายของพระร่วงนั้นสะท้อนภาวะผู้นำอย่างไร ตามนิทานยายแก่ดังนี้
 
นิทานเรื่องขอมดำดิน (เล่ากันมาอย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่าเจ็ดร้อยปีมาแล้ว) ณ เมืองละโว้หรือลวะปุระ ตามสำเนียงขอม ปัจจุบันคือลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของกษัตริย์ขอม มีนายร่วง ทำหน้าที่เป็นนายกส่วยน้ำหรือคนจัดหาน้ำจากทะเลชุบศรส่งให้ราชอาณาจักรขอมทุกๆ สามปี แทนนายคงเคราผู้บิดาผู้หาชีวิตใหม่แล้ว เล่ากันว่านายร่วงนั้นมีวาจาสิทธิ์มาแต่เยาว์วัย (จากอานิสงส์ที่ชาติก่อนได้เอาผลมะชางทำน้ำอัฐบานน้ำปานะ ถวายพระพุทธเจ้าโกนาคม) คราวหนึ่งนายร่วงเห็นว่าการตักน้ำใส่ตุ่มดินเผาบรรทุกเกวียนไปเมืองเขมรนั้น เป็นเรื่องลำบากนักจึงคิดหาภาชนะเบาๆ มาใส่แทน ว่าแล้วก็สั่งให้ลูกน้องสานกระออม (ลักษณะคล้ายชะลอม) ด้วยไม้ไผ่ เมื่อเอาไปตักน้ำที่ทะเลชุบศร นายร่วงก็สำทับด้วยวาจาว่า “วารีเอ๋ย เจ้าจงอย่าได้ไหลรั่วออกมาจากกระออมนี้” น้ำก็มิ ได้เล็ดรอดออกมาแม้สักหยาดเดียว เป็นที่น่ามหัศจรรรย์แก่ “นักคุ้ม” คนของขอมที่มาบัญชาการขนน้ำ นักคุ้มจึงทดสอบนายร่วงโดยให้กล่าวกลับกันตอนนี้น้ำเลยไหลทะลักออกจากกระออมจนหมดสิ้น นักคุ้มตกใจมากและแน่นอนว่าเรื่องนี้ล่วงรู้ไปถึงพระเจ้าแผ่นดินขอมว่า นายร่วงมีวาจาสิทธิ์ ต่อไปจะเป็นภัยแก่ตนเป็นแน่แท้ ว่าแล้วพระเจ้าแผ่นดินก็ให้ขุนนางคนหนึ่งผู้มีความรู้ทางคาถาอาคมเดินทางไปลพบุรี เพื่อจัดการเสี้ยนหนามแผ่นดินโทษฐานที่มีวาจาสิทธิ์ ข่าวนี้รั่วไปถึงนายร่วง จึงหนีไปบวชอยู่ที่เมืองสุโขทัย เช้าหนึ่งขณะกำลังกวาดลานวัด ขอมคนนี้ก็ดำดินโผล่ขึ้นมาใกล้ๆ ถามหาพระชื่อร่วง ท่านจึงรู้ทันทีว่าเป็นคนของขอมมาตามจับ จึงบอกว่า “รออยู่ที่นี่แหละ เดี๋ยวจะไปตามตัวมาให้ โยมไม่ต้องไปไหนนะ” นายคนนี้จึงกลายเป็นสิ่งที่คนไทยเรียก ขอมดำดิน แน่นิ่งเป็นหิน มาแต่เวลานั้น ต่อมาพระร่วงจึงได้รับโอกาสให้ขึ้นครองเมืองแทนเจ้าเมืองสุโขทัยที่สิ้นชีวิตลง ได้พระนามว่า พระเจ้าศรีจันทราธิบดีหรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ต้นราชวงศ์สุโขทัยตามประวัติศาสตร์


พระราชนิพนธ์ บทละครร้องเรื่องพระร่วง สะท้อนการนำอดีตมาปรับเพื่อรับใช้ปัจจุบัน (ขณะนั้น)
โดยยังทรงรักษารากหรือของเดิมไว้ นั่นคือแนวคิดของความรักบ้านเมือง
ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจากการมีผู้นำที่อุดมด้วยไหวพริบ สติปัญญา เข้มแข็งควบคู่กับความเมตตากรุณา
 
ส่วน “ขอมดำดิน” นั้นยังปรากฏในรูปของขลัง นอกจากนี้ยังมีข้าวตอกพระร่วง  เชื่อกันว่าเป็นของสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีไว้บูชา บ้างก็เรียกข้าวตอกพระร่วงหรือข้าวพระร่วง ตามตำนานผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าสืบต่อกันมาและไปเกี่ยวข้องกับประเพณีตักบาตรในเทศกาลออกพรรษาว่า
 
ในวันใส่บาตรเทโวที่บนลานวัดเขาพระบาทใหญ่ เมื่อร่วงฉันภัตตาหารเสร็จ ข้าวที่เหลือจากก้นบาตร ท่านได้โปรยลงบนบานวัดและทรงอธิษฐานว่า ให้ข้าวตอกดอกไม้นี้กลายเป็นหินชนิดหนึ่ง และมีอายุยั่งยืนนานชั่วลูกชั่วหลาน ดังนั้นข้าวตอกพระร่วงที่ชาวบ้านเรียกขานกันจึงหมายถึงหินรูปสี่เหลี่ยม โดยธรรมชาติที่ฝังตัวอยู่ในก้อนใหญ่ ส่วนข้าวพระร่วงหรือข้าวก้นบาตรพระร่วงนั้นจะมีลักษณะคล้ายเมล็ดข้าวสุกฝังตัวอยู่ในหินสีดำ
 

 


                          ข้าวตอกพระร่วง

นิทานตอนนี้บอกว่าพระร่วงบวชอยู่ที่สุโขทัยและจำพรรษาที่วัดเขาพระบาทใหญ่ มิใช่วัดมหาธาตุลพบุรี ในมิติทางประวัติศาสตร์ (ดังจะเล่าต่อไป) ซึ่งเราผู้เป็นคนหลังคือหลังจากเจ็ดร้อยกว่าปีมาแล้วก็ไม่ควรทุ่มเถียงวิวาทะกัน อย่างที่ย้ำเสมอว่าเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมานั้นย่อมผิดเพี้ยนจากของเดิมไม่มากก็น้อย
 
คนเฒ่าคนแก่ที่กินหมากนั้น จะนิยมนำข้าวตอกพระร่วง มาใส่ในตลับสีผึ้งทาปากตลับละหนึ่งหรือสองเมล็ด เชื่อว่ามีเมตตามหานิยมดี นี่ก็เป็นเรื่องความศรัทธาหรือ “มีใจ” ก็ย่อมประสบสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้ สิ่งของหรือแร่ธาตุของพระร่วงเหล่านี้ จะจริงแท้หรือไม่อย่างไร ก็นับว่าพระร่วงได้ทิ้งมรดกไว้ให้ลูกหลานไทยอยู่ไม่น้อย ดังที่ ธิดา สาระยา แสดงความเห็นว่า “เชื่อกันว่าพระร่วงมีฤทธิ์ให้ชีวิตแก่พืชพันธุ์ ครั้งหนึ่งพระองค์เสด็จประพาสป่าลงพระบังคน ใช้ไม้ชำระแล้วโยนทิ้งไปไม้ชนิดนี้ส่งกลิ่นเหม็นมากเมื่อถูกเหงื่อ กิ่งไม้ที่พระร่วงทิ้งไปได้เติบโตเป็นต้นขยายพันธุ์แพร่หลายเรียกว่าไม้ชำระพระร่วง หรือแก้งขี้พระร่วง...”
 
ขอย้ำว่า “นิทานยายแก่” เหล่านี้ เราไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์ว่าจริงไม่จริง แต่ที่น่าใส่ใจคือ นี่เป็นการผูกเรื่องของคนโบราณบรมสมกัลป์เพื่ออธิบายให้ลูกหลานฟังว่า ทำไมธรรมชาติสิ่งนั้นจึงเป็นอย่างนี้ แปลกประหลาดอย่างนี้ ไม่ว่า ขอมดำดิน ข้าวตอกพระร่วง ไม้แก้งขี้พระร่วง ปลาก้างพระร่วง (จะเล่าภายหลัง) ทำไมจึงเรียกสถานที่นั้นๆ ว่าโซกพระร่วง เป็นต้น นี่เป็นภูมิปัญญาของคนโบราณทุกชาติทุกภาษา ปู่ยาตายายของพวกเราก็เฉลียวฉลาดไม่ได้ด้อยไปกว่าบ้านอื่นเมืองอื่นเขา
 
ขอย้อนกลับมาเรื่องขอมดำดินอีกครั้ง เพราะเรื่องนี้กลับไปละม้ายกับจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ หรือจารึกวัดศรีชุม ข้อความตอนหนึ่งออกชื่อ ขอมสบาดโขลญลำพง ที่ปกครองเมืองสุโขทัยอยู่ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และถูกพ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาวมาช่วยกันรบชิงเมืองไว้ได้ในอำนาจแทน ขอมสบาดโขลญลำพง นี้คงเป็นชื่อของบุคคลที่มีอำนาจเกี่ยวพันโดยตรงกับ ขอม-เขมร ที่อยู่ที่เมืองลพบุรีทางภาคกลางและเมืองพระนครหลวงในกัมพูชาด้วย ในฐานะผู้เก็บรวบรวมทรัพยากรจากดินแดนแคว้นสุโขทัยโบราณลงไปยังศูนย์กลางที่เมืองพระนครหลวง ของเขมร
 
ตรงนี้ที่ว่ายังสับสนอยู่ จากตำนานว่าเอาน้ำจากละโว้หรือลพบุรีส่งไปถึงเมืองเขมรเลย ในขณะที่หลักฐานจากจารึกวัดศรีชุมว่านำน้ำจากสุโขทัยส่งไปลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองในอาณัติของราชอาณาจักรขอม  แต่จะนำน้ำจากไหนไม่สำคัญเท่ากับว่าในสมัยโบราณนั้นทั้ง ๒ เมืองนี้ต้องมีน้ำธรรมชาติที่รสชาติอร่อยกินดีอย่างแน่นอน ที่ลพบุรียังมีชื่อเรียกสถานที่อย่างทะเลชุบศร (ตามที่ขีดเส้นใต้ไว้) หรือซับสมอคอน น้ำซับก็คือน้ำใต้ดินที่ผ่านการกลั่นกรองด้วยวิธีธรรมชาติ
 

ขอมดำดิน ก้อนหินสีเขียว ที่ยังเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย
เพราะชาวบ้านต่อยเอาไปฝนเข้าตัวยารักษาโรคตามความเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์
ปัจจุบันเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง
 
ข้อความ “เก็บรวบรวมทรัพยากรจากดินแดนแคว้นสุโขทัยโบราณ” ซึ่งหนึ่งในทรัพยากรของสุโขทัยจากจารึกวัดศรีชุมที่ว่านี้ น่าจะเป็นน้ำ ตามที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๓ (ที่เรียกจารึกพ่อขุนรามคำแหง)
 
“กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีน้ำตระพังโพย สิใสกินดี ดังกินน้ำโขงเมื่อแล้ง” 
 
หรือนวัตกรรม (ในสมัยนั้น) ที่เกี่ยวข้องด้วยน้ำคือ สรีดภงส์
 
“เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฎีพิหารปู่ครูอยู่ มีสรีดภงส์” 
 
สรีดภงส์ ตามจารึกหลักที่ ๑ นี้ ตามจารึกหลักที่ ๑ นี้ จะหมายถึงทำนบกั้นน้ำหรือจะเป็นฝายน้ำล้นก็ตาม แต่สิ่งนี้แสดงถึงพระปรีชาของพ่อขุนรามคำแหงที่ทรงสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างน่าคิด
 
ก่อนหน้านี้ได้เคยพูดถึงปลาก้างหรือปลาพระร่วง เล่ากันว่าครั้งหนึ่งเมื่อพระร่วงกินปลาตัวหนึ่งแล้วโยนก้างทั้งตัวทิ้งน้ำ ตรัสว่าให้ว่ายน้ำต่อไป ก้างปลานั้นก็กลับมีชีวิตขึ้นมาอีกแล้วแหวกว่ายไปตามคำสั่งอย่างว่าง่าย นิทานตอนนี้นักวิชาการทางคติชนวิทยาบอกว่าเป็นการอธิบายลักษณะธรรมชาติของปลาชนิดหนึ่งในถิ่นนี้ ที่มีลักษณะประหลาดคือตัวใสแจ๋ว (เป็นปลาธรรมาภิบาล) มองทะลุเห็นโครงหรือก้างปลา ชาวบ้านเรียกกันว่าปลาพระร่วง หรือปลาก้างพระร่วง คนปัจจุบันอาจเรียก ปลากระจก หรือปลาผี ซึ่งชื่อหลังนี้ฟังดูน่ากลัว จึงขอแสดงความเห็นว่าจะเรียกอย่างเดิมดีกว่า จะได้มีนิทานเล่าให้ลูกหลานฟังต่อๆไป
 
รัชกาลที่ ๖ ทรงเพิ่มตัวละคร นายมั่นปืนยาว และทรงแสดงเอง
นับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงเล่นละครให้พสกนิกรชม อาจจะทรงค่อยๆ
ละลายความรู้สึกนึกคิดของชาวไทยให้เข้าใจความเสมอภาค ลดช่องว่างทางชนชั้นลง
 
เรื่องสุดท้ายที่ขอกล่าวถึงพระร่วง อันหมายถึงเฉพาะพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ก็คือผู้นำชาติที่สถาปนาเอกราชให้สยามประเทศจากการไม่ต้องยืมอักษรของเพื่อนบ้านมาใช้ จากจารึกที่ว่า
 
“เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี ๑๒๐๙ ศกปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจแลใส่ลายสือไทยนี้ ลายสือไทยนี้จึงมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้” 
 
ตัวอักษร ไม่ได้มีประโยชน์แค่ใช้สื่อสารเท่านั้นแต่บงชี้ถึงความมีตัวตน มีเอกราชของชาติ ตราบใดที่พวกเรายังไม่ต้องแอบเรียนหนังสือไทย (เหมือนที่ชาวไทยใหญ่เคยแอบเรียนภาษาไทย-ใหญ่โดยไม่ให้รัฐบาลเมียนม่ารู้) เราก็คงยังใช้ภาษาไทยอย่างไม่ทะนุถนอม ไม่เห็นคุณค่า ใช้อย่างทิ้งๆ ขว้างๆ ต่อเมื่อไรก็ตามที่เราทุกคนต้องหลบๆ ซ่อนๆ ใช้ภาษาไทยกัน วันนั้นจะเป็นวันที่พวกเราทุกคนน้ำตาเช็ดหัวเข่า เพราะตัวอักษรของชาติย่อมสำแดงความเป็นกลุ่มก้อนชาติไทย ความเป็นพวกพ้องเดียวกัน ขอย้ำเรื่องนี้เพราะเคยตรวจงานเด็กวัยรุ่นไทยที่ใช้ภาษาไทยผิดๆ พลาดๆ อย่างไม่น่าเชื่อ เช่น “พ่อไปไถ่นาทุกวัน” หรือ “เทศกาลเทกระจาด” เทศกาลแห่งการเกิดอุบัติเหตุเสียหายร้อยเปอร์เซนต์
 
นิทานหรือตำนานชาวบ้าน ดีตรงสะท้อนความนึกคิดของชาวบ้านต่อ “ข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” และสังคมของตน เป็นการสะท้อนตัวตนอย่างซื่อสัตย์ เพราะไม่มีผลประโยชน์จากอำนาจรัฐ แต่จะผิดเพี้ยนเสมอ เพราะถ่ายทอดจากคำบอกเล่า ไม่เชื่อเราลองเล่นเกมส์กระซิบจากคนหนี่งไปถึงคนที่สิบ ข้อความว่า “นกสีแดงจับที่กิ่งไม้ขนาดใหญ่สีน้ำตาล กำลังจู่จี๋กับนกสีเหลืองอย่างน่าอิจฉา”
 
ยังมีตำนานเรื่องพระร่วงกับมะกโท (รามัญ) หรือพญาร่วงเป็นลูกนางนาคกับกษัตริย์ขอม (ในพงศาวดารเหนือ) ซึ่งซับซ้อนมากจนต้องขอจบเท่านี้ก่อน แต่เรื่องเล่าเหล่านี้อย่างน้อยก็สะท้อนความเป็นอาเซียนที่มีการทำประชาคมมานานมากแล้ว โดยผ่านประเพณีบอกเล่า (Oral Teadition)
 
ข้อมูลจากหนังสือ เซนส์แอนด์ซีน หน้า 66-70