รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

  • Print
 
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
รัชกาลที่ 1
(พ.ศ. 2325-2352)

 
 
พระนามเดิม ทองด้วง เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (พระอักษรสุนทรทองดี) ทรงพระราชสมภพ เมื่อ วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2279 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ ได้สมรสกับธิดาคหบดีบ้านอัมพวา ตำบลบางช้าง จังหวัดสมุทรสงคราม หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ได้กู้อิสรภาพและสร้างกรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้เข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงพระปรีชาสามารถในการรบจนเป็นที่โปรดปราน นับเป็นขุนพลคู่พระทัยฝ่ายขวา ได้รับแต่งตั้งให้เป็น แม่ทัพในสงครามครั้งสำคัญหลายครั้ง ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ใน พ.ศ. 2319 และใน พ.ศ. 2325 เกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงปราบปรามจนราบคาบ ข้าราชการทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันอัญเชิญขึ้นปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์
 
 
ทรงรับอัญเชิญจากบรรดาเสนาพฤฒามาตย์ราษฎร
 ทั้งหลายทั้งปวงให้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
 เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325
 
ต่อมาโปรดให้สร้างราชธานีใหม่ขึ้น ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กรุงเทพมหานคร ทรงย้ายมาประทับในพระนครใหม่ใน พ.ศ. 2327 พระราชกรณียกิจส่วนใหญ่ในรัชกาลได้แก่ การสงครามเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุดคือ สงครามเก้าทัพในปีพ.ศ.2327
 
 ตำราพิชัยสงคราม
 

การปกครองประเทศทรงจัดแบ่งตามแบบกรุงศรีอยุธยา และโปรดให้ชำระกฎหมายบทต่างๆให้ถูกต้องและจาึรลงสมุดไว้เป็นหลักฐาน 3 ฉบับ ทางด้านศาสนาโปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎก พ.ศ. 2331 และจารฉบับทองประดิษฐานไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ยังทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามและพระพุทธรูปต่างๆ เป็นอันมาก 

 

ทางด้านวรรณคดีและศิลปกรรมทรงฟื้นฟูวรรณคดีไทย ซึ่งเสื่อมโทรมตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาแตกให้กลับคืนดีอีกวาระหนึ่ง ทรงส่งเสริมและอุปถัมภ์กวีในราชสำนัก บทพระราชนิพนธ์ที่สำคัญ เช่น บทละคร เรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น งานทางด้านศิลปกรรมนั้นเป็นผลเนื่องมาจากการที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์และสร้างพระอารามเป็นจำนวนมาก
 
เป็นการเปิดโอกาสให้ช่างฝีมือด้านต่างๆ มีงานทำและได้ผลิตงานฝีมือชิ้นเอกไว้ ปัจจุบันมีวันที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คือ วันที่ระลึกมหาจักรี ได้แก่วันที่ 6 เมษายนของทุกปี จะมีพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ณ  เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า
 
 
 
 
 
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปกครองพระราชอาณาจักรด้วยพระวิริยะอุตสาหะแม้ทรงเจริญพระชนมพรรษามากแล้ว ทรงออกว่าราชการมิได้ขาด ตราบเสด็จสวรรคต เมื่อ วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352  พระชนมพรรษา 73 พรรษา
 
 
                                                          จากหนังสือเหนือเกล้าชาวไทย